• Thailand (TH) language switcher
  • English (UK) language switcher

White Style normal-style white-yellow

decrease-font normal-font increase-font

Calendar  Youtube Youtube Facebook    
  • HOME
  • About Us
    • Company Profile
    • Vision / Mission / Value / Duty
    • Organization Structure
    • Contact US
    • Sitemap
  • Policy and Plan
    • Government Policy Statement
    • Thai Integrated Energy Blueprint TIEB
      • Thailand Power Development Plan
      • Thailand Energy Efficiency Development Plan
      • Alternative Energy Development Plan
      • Oil Plan
  • Related Laws
    • Acts / Royal ordinance
  • Energy Information Services
    • Energy Situation
      • Energy Situation in year 2015 and trend in year 2016
      • The energy situation in the first tenth months of 2015 and outlook for 2015
      • The energy situation in the first nine months of 2015 and outlook for 2015
      • The energy situation in the first eight months of 2015 and outlook for 2015
    • Xayaburi Hydroelectric Power Project
    • Thailand – Myanmar’s Energy Cooperation Projects
    • Electricity Trade between Thailand and Malaysia.
    • Power Purchased from Laos PDR.
    • Economic and Power Trading in the Greater Mekong Sub-region
    • Thailand energy report 2015
  • Energy Statistics
    • Summary Statistic
    • Petroleum Statistic
    • NGV Statistic
    • Coal and Lignite Statistic
    • Electricity Statistic
    • Energy Economy Statistic
    • Value Energy Statistic
    • Petroleum Price Statistic
    • CO2 Statistic
    • Indicators Statistic
Subscribe to this RSS feed
Super User

Super User

Monday, 19 November 2018 11:10

กบง. ครั้งที่ 58 - วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2561

 

eppo s

มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 11/2561 (ครั้งที่ 58)
เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2561 เวลา 13.30 น.

 


 


1.สถานการณ์พลังงานและแนวโน้มราคาพลังงานในตลาดโลก

2.รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558 – 2579 (Gas Plan 2015) ไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2561

3.แนวทางการดำเนินโครงการระบบโซล่า – ลอยน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

4.การทบทวนหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และกลไกการกำหนดราคาแนะนำของกรมการค้าภายใน

5.การขอทบทวนมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการมอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำกับดูแลค่าบริการขนส่งน้ำมันทางท่อ

6.กลไกบริหารการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)

7.การดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน เรื่อง การนำเงินทุนหมุนเวียนฝากกระทรวงการคลัง

8.การส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20

9.แนวทางการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของกลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล

10.การให้ความช่วยเหลือตามโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน (กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร)


ผู้มาประชุม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน                                               ประธานกรรมการ

(นายศิริ จิระพงษ์พันธ์)

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน                             กรรมการและเลขานุการ

(นายทวารัฐ สูตะบุตร)


เรื่องที่ 1 สถานการณ์พลังงานและแนวโน้มราคาพลังงานในตลาดโลก

สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก ดังนี้ (1) ราคาน้ำมันดิบในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 มีทิศทางปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกลาง และความตึงเครียดทางการเมืองจากการที่สหรัฐฯ มีมาตรการคว่ำบาตรประเทศอิหร่านและประเทศเวเนซุเอลา แต่ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2561 ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงเนื่องจากกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC มีท่าทีว่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ รวมทั้งปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (2) โครงสร้างราคาน้ำมันและค่าการตลาดในประเทศ ค่าการตลาดของน้ำมันแก๊สโซฮอล 95E10 และน้ำมันดีเซล เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 อยู่ที่ 2.10 และ 1.84 บาทต่อลิตร เฉลี่ยเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 1.86 และ 1.80 บาทต่อลิตร ส่วนค่าการตลาดเฉลี่ยในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2561 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.70 และ 1.58 บาทต่อลิตร ในขณะที่ค่าการตลาดที่เหมาะสมอยู่ที่ 1.85 และ 1.80 บาทต่อลิตร ตามลำดับ (3) ราคาก๊าซ LPG มีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาก๊าซ LPG (ราคา CP (Contract Price) เดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ 560 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน มีปัจจัยมาจากราคาโพรเพน (C3) และบิวเทน (C4) ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ราคาแนปทาปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณความต้องการ LPG เพิ่มขึ้น และโรงกลั่นในประเทศอิหร่านปิดซ่อมบำรุงทำให้ปริมาณการส่งออกน้อยลง (4) ราคาถ่านหินในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยมาจากปริมาณความต้องการของประเทศจีน ออสเตรเลีย และไทยเพิ่มสูงขึ้น (5) ราคาก๊าซ LNG ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น และความต้องการของประเทศจีน อินเดีย และสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น รวมทั้งผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรประเทศอิหร่านของสหรัฐฯ และโครงการ LNG หลายโครงการเกิดความล่าช้ากว่าแผน และ (6) สถานการณ์ไฟฟ้าในประเทศ ช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2561 ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak) อยู่ที่ 29,968 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 ซึ่งต่ำกว่า Peak ของปีที่แล้วอยู่ร้อยละ 1 โดย Peak ของเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 28,500 เมกะวัตต์

มติของที่ประชุม

ที่ประชุมรับทราบ


เรื่องที่ 2 รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558 – 2579 (Gas Plan 2015) ไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2561

สรุปสาระสำคัญ
1. การดำเนินงานตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558 – 2579 (Gas Plan 2015) ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 และตามการปรับปรุงการประมาณการความต้องการใช้และแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติตามแผน Gas Plan 2015 ที่ปรับปรุงใหม่ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 โดยวางเป้าหมายดำเนินการ 4 ด้าน คือ (1) ลดการใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งมีต้นทุนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการนำเข้า LNG (2) รักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศไทยให้ยาวนานขึ้น (3) หาแหล่งและบริหารจัดการ LNG อย่างมีประสิทธิภาพ และ (4) มีโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางด้านการแข่งขัน ทั้งทางกายภาพ (โครงข่ายท่อก๊าซธรรมชาติและท่าเรือรับ LNG) และกติกาที่สอดรับกับแผนจัดหา (Third Party Access, TPA)

2. ความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผน Gas Plan 2015 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 สรุปได้ดังนี้ (1) อัตราการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ยของปี 2560 อยู่ที่ระดับ 4,721 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในแผนร้อยละ 6 และสัดส่วนการใช้ก๊าซฯ ภาคไฟฟ้าเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงชนิดอื่นของปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 57.2 ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 อัตราการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 4,536 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 10 และสัดส่วนการใช้ก๊าซฯ ในภาคไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 35 ส่วนเรื่องการบริหารจัดการแปลงสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2565 – 2566 ได้มีพระราชบัญญัติปิโตรเลียมและพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้แจ้งเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมซึ่งเป็นเรื่องประกาศหลักเกณฑ์ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ส่วนกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับ PSC (สัญญาแบ่งปันผลผลิต) 4 ฉบับ ประกาศ ลงราชกิจจาฯ แล้วจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2561 ส่วนกฎกระทรวง เกี่ยวกับ SC (สัญญาจ้างผลิต) 4 ฉบับ รูปแบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 และอยู่ระหว่างการพิจารณาขอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในส่วนของการเตรียมการเปิดประมูลได้ดำเนินการเปิดประมูลขอสิทธิสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 โดยประกาศเชิญชวนผ่านทางเว็บไซต์ ชธ. (http://www.dmf.go.th/bidding2018) ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2561 เป็นต้นไป โดยกำหนดให้ยื่นแบบฟอร์มแสดงความจำนงในการเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-Qualification Evaluation) ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 และยื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 15 – 16 พฤษภาคม 2561 ชธ. ได้ประกาศผู้ผ่าน PQ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 และผู้ผ่าน PQ ลงทะเบียน Bidder Conference วันที่ 28 – 31 พฤษภาคม 2561 (2) การเปิดให้ยื่นขอสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ จะดำเนินการหลังจากได้ข้อสรุปเรื่องการจัดการกับแหล่งสัมปทานจะสิ้นอายุ แล้วเสร็จ (3) การบริหารจัดการก๊าซฯ ที่ไม่ผ่านโรงแยกก๊าซฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยในปี 2560 อัตราก๊าซฯ ที่ไม่ผ่านโรงแยกก๊าซฯ อยู่ที่ 451 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่ำกว่าแผนที่คาดการณ์ไว้ ในปี 2561 ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 อัตราก๊าซฯ ที่ไม่ผ่านโรงแยกอยู่ที่ 497 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เฉลี่ยต่ำกว่าแผนที่คาดการณ์ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปี 2559 สำหรับความก้าวหน้าเรื่องหาแหล่งการบริหารจัดการ LNG อย่างมีประสิทธิภาพ ชธ. ได้ดำเนินโครงการศึกษานโยบายด้านราคาและสัดส่วนของ LNG ที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ได้มีการรับฟังความคิดเห็นผลการศึกษาและอยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนา LNG สำหรับความคืบหน้างานด้านการมีโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางด้านการแข่งขัน โดยในส่วนของการขยายกำลังการผลิตของ LNG Terminal เดิมของ ปตท. เพิ่มเป็น 1.5 ล้านตันต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2561 สำหรับการก่อสร้าง LNG Terminal แห่งใหม่ของ ปตท. ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2565 ปัจจุบัน EIA ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการชำนาญการแล้วอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในส่วนของการก่อสร้างและติดตั้ง FSRU ของ กฟผ. (ขนาด 5 ล้านตันต่อปี) ในอ่าวไทยตอนบน ภายในปี 2567 สำหรับป้อนโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและพระนครใต้ เพื่อเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจ LNG และเสนอต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงในการจัดหาพลังงานปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำ EIA

มติของที่ประชุม

ที่ประชุมรับทราบ


เรื่องที่ 3 แนวทางการดำเนินโครงการระบบโซล่า – ลอยน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

สรุปสาระสำคัญ
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ประชุมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นให้ กฟผ. สนับสนุนผู้ประกอบการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศ และให้ กฟผ. พิจารณาควบรวมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นโครงการทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ ให้ราคาค่าไฟฟ้าจากโครงการฯ อยู่ที่ 2.40 - 2.50 บาทต่อหน่วย ต่อมา เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 กฟผ. ได้ประชุมหารือกับ สนพ. และได้เสนอแนวทางการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ ขนาดใหญ่ จำนวน 3 โครงการ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ โดยแนวทางดำเนินโครงการการแบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 : EGAT-SCG Collaboration Project เป็นความร่วมมือระหว่าง กฟผ. กับบริษัท SCG เคมิคอลส์ จำกัด ระยะที่ 2 : Pilot Solar Floating Project กำลัง การผลิตมากกว่า 30 เมกะวัตต์ เพื่อต่อยอดผลการศึกษา โดยพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ (Economy of scale) ในเขื่อนของ กฟผ. และระยะที่ 3 : Commercial Project เพื่อกำหนดศักยภาพพื้นที่ติดตั้งทั่วประเทศ เช่น เขื่อน กฟผ. เขื่อนกรมชลประทาน และอ่างเก็บน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ เพื่อให้โครงการฯ สามารถแข่งขัน แบบ Firm ราคา 2.40 บาทต่อหน่วย พร้อมต่อยอดนวัตกรรม และขยายผลการพัฒนาโครงการสู่ภาคเอกชน สรุปสาระสำคัญของแต่ละโครงการได้ดังนี้

1. โครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์เขื่อน กฟผ. ระยะความร่วมมือ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ (1) วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาออกแบบและติดตั้งระบบทุ่นลอยน้ำและระบบยึดโยง จัดทำมาตรฐานระบบยึดโยง สำหรับระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ และรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหลังจากการติดตั้ง แลกเปลี่ยนความรู้ในแต่ละพื้นที่ และศึกษาวิจัยระบบทุ่นลอยน้ำและระบบยึดโยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (2) มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 300 - 500 kWac ติดตั้งในพื้นที่เขื่อนท่าทุ่งนา จ. กาญจนบุรี โดยมีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จเดือนธันวาคม 2561 กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้สามารถนำไปลดการใช้ไฟฟ้าในบริเวณ Camp Areas ของ กฟผ. (3) ระยะเวลาความร่วมมือตาม MOU: 2 ปี ตั้งแต่มิถุนายน 2561 ถึง พฤษภาคม 2563 (4) ใช้ทุนวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ของ กฟผ. เป็นหลัก โดย SCG Chemical จะมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน ส่วนภารกิจงาน EGAT: รับผิดชอบพื้นที่สำหรับพัฒนาโครงการ ออกแบบ จัดหา ติดตั้งระบบไฟฟ้าและระบบควบคุม SCG: ออกแบบ จัดหา ติดตั้งระบบของทุ่นลอยน้ำ และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ส่วนการออกแบบจัดหา ติดตั้งระบบยึดโยงดำเนินงานร่วมกัน (5) ค่าใช้จ่ายทั้งโครงการ ประมาณ 20 - 32 ล้านบาท (6) ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ ประกอบด้วย สนับสนุนผู้ประกอบการแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานทัดเทียมกับต่างประเทศ มาตรฐานระบบยึดโยง สำหรับระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว

2. โครงการผลิตไฟฟ้าเซลแสงอาทิตย์เขื่อน กฟผ. ระยะนำร่อง ตามที่ กฟผ. ได้ดำเนินการขออนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินโครงการการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ กฟผ. ระยะที่ 1 โครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำอ่างเก็บน้ำโรงไฟฟ้าวังน้อย และโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดินสถานีไฟฟ้าแรงสูงจอมบึง ขนาดกำลังผลิตรวมทั้งหมด 32 MWac ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับ ข้อหารือเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 กฟผ. จึงได้ปรับเปลี่ยนโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ที่อยู่ระหว่างการขออนุมัติจาก ครม. ทั้งหมด เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ เขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังผลิต 45 MWac (32 MWac+13 MWac) โดยกำลังผลิต 13 MWac ที่เพิ่มเติมเป็นโครงการในแผน PDP 2015 คือโครงการแสงอาทิตย์แม่เมาะ ขนาด 1 MWac COD ปี 2561 โครงการแสงอาทิตย์สิรินธร ขนาด 2 MWac COD ปี 2564 และโครงการแสงอาทิตย์สิรินธร ขนาด 10 MWac COD ปี 2565 สรุปสาระสำคัญของโครงการฯ ได้ดังนี้ (1) วัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศ เป็นต้นแบบการศึกษาแนวทางการพัฒนา Hydro - Solar Floating Hybrid Firm ช่วยรักษาระดับอัตราค่าไฟฟ้าให้เหมาะสมช่วยเสริมความต้องการไฟฟ้าในระบบ ลดการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (2) โครงการฯ มีกำลังผลิต 45 MWac (58.5 MWdc) ใช้พื้นที่ทั้งหมด 450 ไร่ กำหนด COD ปี 2564 (3) ทุ่นลอยน้ำทำจากวัสดุประเภทพลาสติก (HDPE:High Density Polyethylene) หรือวัสดุคอมโพสิต (Composite) มีการติดตั้งเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า และหม้อแปลงปรับแรงดันไฟฟ้าเพื่อให้มีระดับแรงดันที่เหมาะสมกับจุดเชื่อมต่อทางไฟฟ้า จุดเด่นของโครงการฯ คือการใช้พื้นที่ผิวน้ำให้เกิดประโยชน์และลดปัญหาการแย่งใช้พื้นที่เพาะปลูกกับภาคการเกษตร ช่วยลดการระเหยของน้ำ ระบบผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้นประมาณร้อยละ 10 เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดินติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน (c-Si) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ภายในประเทศที่ได้รับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) กระทรวงอุตสาหกรรม ติดตั้งแบบคงที่บนทุ่นลอยน้ำ ส่วนชุดโครงสร้างทุ่นลอยน้ำจะใช้ทุ่นลอยน้ำที่เป็นมาตรฐานสากลทั่วไปสำหรับรองรับแผงเซลล์แสงอาทิตย์เนื่องจากมีผู้ผลิตภายในประเทศน้อยราย โครงการฯ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยประมาณ 89.53 ล้านหน่วยต่อปี (Capacity Plant factor 18.74%) กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟผ. ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 (4) ค่าใช้จ่ายโครงการฯ ประกอบด้วย ค่าลงทุนอุปกรณ์หลัก ระบบควบคุม และอุปกรณ์ประกอบ ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในงานก่อสร้าง ในวงเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,268.99 ล้านบาท เทียบเท่า 65.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเงินตราต่างประเทศ 728.23 ล้านบาท และเงินบาท 1,540.76 ล้านบาท โดยมีแผนประมาณการเบิกจ่ายรายปีระหว่างปี 2562 – 2564 แบ่งเป็น 426.99 851.87 990.13 ล้านบาท ตามลำดับ โดยแหล่งเงินทุน ใช้จากเงินรายได้ของ กฟผ. และจากการออกพันธบัตร หรือการกู้เงินจากสถาบันการเงินตามความเหมาะสม และจากการวิเคราะห์ความเหมาะสมด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน สรุปได้ว่า โครงการฯ มีราคาขายไฟฟ้าที่ 2.41 บาทต่อหน่วย มีอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ร้อยละ 7.27 อัตราผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (ROE) ร้อยละ 8.76 และมีระยะเวลาคืนทุน 15 ปี (5) ประโยชน์ที่ได้รับ ประกอบด้วย โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 89.53 ล้านหน่วยต่อปี ทดแทนการใช้น้ำมันเตา 25.07 ล้านลิตรต่อปี หรือประมาณ 253.44 ล้านบาทต่อปี ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติในส่วนการผลิตไฟฟ้า ได้ประมาณ 753.37พันล้านบีทียูต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 171.35 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมได้ 48,956 ตันต่อปี และลดการระเหยของน้ำภายในอ่างเก็บน้ำของโรงไฟฟ้าได้ประมาณ 460,839 ลูกบาศก์เมตรต่อไป

3. โครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ เขื่อน กฟผ. ระยะขยายผลเชิงพาณิชย์ กฟผ. มีเขื่อนสำหรับผลิตไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค กว่า 11 เขื่อน มีกำลังการผลิตรวมกว่า 2,773.4 เมกะวัตต์ หากสามารถพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำในพื้นที่เขื่อนดังกล่าวได้ จะเป็นการใช้พื้นที่ผิวน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่เป็นการแย่งพื้นที่เกษตรกรรมอีกทั้งประสิทธิภาพแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิที่ลดลงจากการอยู่ใกล้ผิวน้ำ โดยปัจจุบัน กฟผ. ได้ดำเนินโครงการวิจัยทุ่นลอยน้ำเซลล์แสงอาทิตย์ เขื่อนสิรินธร 250 kW เป็นสถานีทดสอบอ้างอิง (Base Test) เพื่อศึกษาตัวแปรทางด้านเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ รวมถึง การเก็บข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างติดตั้งบนพื้นดินและติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ โดยได้เริ่มทดสอบการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา และ กฟผ. มีความตั้งใจที่จะขยายผลการดำเนินงานไปยังเขตเขื่อนต่างของ กฟผ. ซึ่งคาดว่าจะสามารถพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าบนทุ่นลอยน้ำได้มากกว่า 1,000 MW ในอนาคต

มติของที่ประชุม

1. รับทราบแนวทางการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ เขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระยะที่ 1 : โครงการความร่วมมือขนาดเล็กร่วมกับ SCG ระยะที่ 2 : โครงการนำร่องขนาดใหญ่พื้นที่เขื่อน กฟผ. โดยไม่เป็นภาระต่อระบบไฟฟ้าเดิม ระยะที่ 3 : โครงการขนาดใหญ่ (Commercial Project) ตามศักยภาพพื้นที่เขื่อน กฟผ. ซึ่ง มีศักยภาพเบื้องต้นมากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ โดยต้นทุนสามารถแข่งขันได้

2. รับทราบการพัฒนาโครงการนำร่อง Hydro – Floating Solar Hybrid ขนาด 45 MWac ที่เขื่อนสิรินธร ซึ่งเป็นการควบรวมโครงการที่บรรจุใน PDP 2015 และเห็นชอบให้เปิดประมูลแข่งขันแบบนานาชาติ เพื่อให้ได้ค่าไฟฟ้าต่ำที่สุด และมอบหมายให้ กฟผ. เสนอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเพื่อพิจารณาต่อไป

3. รับทราบศักยภาพเบื้องต้นในพื้นที่เขื่อน กฟผ. สำหรับการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ เพื่อให้ กฟผ. เตรียมการเพื่อเสนอให้พิจารณาบรรจุใน PDP ฉบับใหม่


เรื่องที่ 4 การทบทวนหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และกลไกการกำหนดราคาแนะนำของกรมการค้าภายใน

สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบ เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยเปลี่ยนหลักเกณฑ์การอ้างอิงราคาก๊าซ LPG นำเข้าจากเดิมที่อ้างอิงด้วยราคา CP ที่ประกาศรายเดือนเป็นอ้างอิงด้วยราคา LPG cargo จากข้อมูล Spot Cargo (FOB Arab Gulf) ของ Platts เฉลี่ยรายสัปดาห์แทน โดยกำหนดให้ราคานำเข้า เท่ากับ LPG cargo บวก X (ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า) รวมทั้ง เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 กบง. เห็นชอบให้ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซ LPG นำเข้าอ้างอิงด้วยราคา LPG cargo จากข้อมูล Spot Cargo (FOB Arab Gulf) ของ Platts เฉลี่ยรายสัปดาห์ต่อไปอีก 3 เดือน (เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2561)

2. สถานการณ์ตลาดก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน โดยในเดือนพฤศจิกายน 2560 ก๊าซ LPG บรรจุถังขนาด 15 กิโลกรัมของผู้ค้าแต่ละรายยังคงมีราคาเดียวกัน ซึ่งเท่ากับราคาจำหน่ายปลีกแนะนำของกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ (353 บาท) ไม่เปลี่ยนแปลงตามราคา LPG cargo รายสัปดาห์ แต่ในเดือนธันวาคม 2560 และเดือนมกราคม 2561 กลไกตลาดเริ่มเข้ามามีบทบาท ทำให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG บรรจุถังขนาด 15 กิโลกรัมเริ่มมีการเคลื่อนไหวสอดคล้องกับทิศทางของราคา LPG cargo รายสัปดาห์ที่กระทรวงพลังงานใช้อ้างอิง สำหรับในเดือนมกราคมถึงเมษายน 2561 ราคาตลาดโลกลดลงต่อเนื่องตามลำดับจาก 580 สู่ระดับ 470 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน แต่ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศอยู่ในระดับทรงตัวไม่ลดลงตามเนื่องด้วยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดอัตราเงินชดเชยลงอย่างต่อเนื่อง โดยต้นเดือนมกราคม 2561 ชดเชยอยู่ที่ 6.3525 บาทต่อกิโลกรัม ปลายเดือนมกราคม 2561 ชดเชยอยู่ที่ 4.7880 บาทต่อกิโลกรัมเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ชดเชยอยู่ที่ 3.3754 บาทต่อกิโลกรัม และเดือนมีนาคมและเมษายน 2561 ชดเชยอยู่ที่ 2.7424 บาทต่อกิโลกรัม

3. เดือนพฤษภาคม 2561 ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตามราคาน้ำมันดิบ ส่งผลให้ราคาขายปลีกในประเทศปรับตัวขึ้นตาม เนื่องจากกองทุนน้ำมันฯ คงการอุดหนุนไว้ในระดับเดิม (2.7424 บาทต่อกิโลกรัม) ต่อมาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการได้ประกาศยกเลิกราคาจำหน่ายปลีกแนะนำก๊าซปิโตรเลียมเหลวบรรจุถัง ทำให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG บรรจุถังขนาด 15 กิโลกรัม ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปรับตัวสูงถึง 395 บาท กบง. จึงได้มีมติเพิ่มอัตราเงินชดเชยจาก 2.7424 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 4.6584 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาขายปลีกขนาดถัง 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 363 บาท ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา ทั้งนี้ กรมการค้าภายในได้ติดตามตรวจสอบและกำกับดูแลให้ผู้จำหน่ายปลีกปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายปลีก ค่าบริการขนส่งถึงสถานที่ของผู้ซื้อ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้ชัดเจน หากผู้จำหน่ายปลีกมิได้ปิดป้ายราคา หรือจำหน่ายสูงกว่าราคาที่แสดงไว้ หรือจำหน่ายราคาสูงเกินสมควรผู้บริโภคสามารถแจ้งร้องเรียนได้ โดยกรมการค้าภายในจะมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจออกตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 กลุ่มผู้ค้าก๊าซ LPG (บ. สยามแก๊สฯ บ.ยูนิคแก๊สฯ บ. ดับบลิวพีฯ บ. PAP บ. บิ๊กแก๊สฯ บ. ไทยแก๊สฯ บ. ยูไนเต็ดแก๊สฯ บ. อูโน่แก๊สฯ และ บ. ทาคูนิฯ) ได้มีหนังสือถึง สนพ. ขอให้ทบทวนหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคา ก๊าซ LPG รายสัปดาห์ และเสนอให้เปลี่ยนกลับมาใช้การอ้างอิงรายเดือนดังเดิม โดยให้เหตุผลว่าการปรับราคาเป็นรายสัปดาห์ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคทั้งภาคครัวเรือนและขนส่ง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบในการประกอบกิจการ ควบคุมต้นทุนการผลิตได้ยากขึ้นจากความผันผวนของราคารายสัปดาห์ รวมถึง เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมมีหนังสือถึง สนพ. ขอให้พิจารณายกเลิกการเรียกเก็บค่า surcharge (0.70 บาทต่อกิโลกรัม) สำหรับก๊าซ LPG ที่ผลิตในประเทศและได้รับอนุญาตให้ส่งออกนอกราชอาณาจักรฝ่ายเลขานุการฯ ได้พิจารณาสถานการณ์ตลาดก๊าซ LPG และความเห็นของผู้ค้าก๊าซ LPG แล้วมีความเห็น ดังนี้ (1) การใช้ราคาตลาดโลกอ้างอิงเป็นรายเดือนหรือรายสัปดาห์ต่างมีข้อดีและข้อเสีย โดยการอ้างอิงเป็นรายเดือนทำให้การปรับราคาจะไม่บ่อยครั้งเท่ากับรายสัปดาห์ ส่งผลให้การบริหารจัดการของผู้ค้าและการตรวจสอบราคาของภาครัฐทำได้ง่ายขึ้น ปัญหาราคาขายปลีกขึ้นเร็วลงช้าเกิดขึ้นน้อยกว่า การรับรู้ข้อมูลด้านราคาของประชาชนผู้บริโภคมีความสับสนน้อยลง ในขณะที่การอ้างอิงเป็นรายสัปดาห์เป็นหลักเกณฑ์ที่สนับสนุนการแข่งขันในธุรกิจก๊าซ LPG ทั้งระบบ ผู้ค้ามีโอกาสในการกำหนดราคาบ่อยครั้งขึ้น และในช่วงราคาขาขึ้น ก็จะเป็นการทยอยปรับราคาขึ้นในแต่ละสัปดาห์ สร้างความคุ้นเคยให้กับประชาชน แต่ถ้าปรับราคาเดือนละครั้ง การปรับราคาขึ้นทันทีกิโลกรัมละหลายบาทก็อาจจะดำเนินการได้ยาก นอกจากนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวยังให้ความยืดหยุ่นต่อการปรับอัตรากองทุนน้ำมันฯ ที่สามารถปรับระหว่างเดือนได้ ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชนในช่วงราคา ก๊าซ LPG ขาขึ้น ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพราคาก๊าซ LPG ที่จำหน่ายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ด้วยหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG บรรจุถังขนาด 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 363 บาท ให้คำนวณโดยใช้สูตร อัตราเงินเท่ากับราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นลบ (ภาษีสรรพสามิตบวกภาษีเพื่อราชการส่วนท้องถิ่นบวกอัตราเงินกองทุนอนุรักษ์ บวก ราคา ณ โรงกลั่น) ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยก๊าซ LPG อยู่ที่ระดับ (4.6584 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นภาระ 414 ล้านบาท ต่อเดือน ในขณะที่ฐานะกองทุนน้ำมันสำหรับก๊าซ LPG ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2561 อยู่ที่ 493 ล้านบาท คาดว่าจะใช้ได้อีก 1 เดือน ก่อนที่กองทุนน้ำมันฯ จะมีสถานะติดลบ และ (2) ได้เสนอให้คงค่า surcharge ต่อไป สำหรับก๊าซ LPG ที่ผลิตในประเทศและได้รับอนุญาตให้ส่งออกนอกราชอาณาจักร เนื่องจากค่า surcharge เป็นกลไกของกองทุนฯให้ผู้ผลิต ในประเทศไม่ส่งออกหากไม่จำเป็น และช่วยเพิ่มระดับการแข่งขันของตลาดในประเทศ และเห็นว่าอาจจะยกเลิกมาตรการดังกล่าวเมื่อ พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีผลบังคับใช้แล้ว (ประมาณปลายปี 2561 หรือ ต้นปี 2562)

มติของที่ประชุม

1. รเห็นชอบให้คงหลักเกณฑ์โครงสร้างราคาก๊าซ LPG ตามหลักเกณฑ์ที่ กบง. เห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 ซึ่งอ้างอิงราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกด้วยราคา LPG cargo จากข้อมูล Spot Cargo (FOB Arab Gulf) ของ Platts เฉลี่ยรายสัปดาห์ ต่อไปในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2561

2. เห็นชอบให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาก๊าซ LPG ที่จำหน่ายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงด้วยระบบ Managed Float โดยกำหนดอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG บรรจุถังขนาด 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 363 บาท และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานรับไปดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานต่อไป โดยใช้หลักเกณฑ์ ดังนี้ ˝การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนและอัตราเงินชดเชย สำหรับก๊าซ LPG ที่จำหน่ายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ทั้งนี้ไม่รวมถึงก๊าซที่ซื้อหรือได้มาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ให้คำนวณโดยใช้สูตรดังต่อไปนี้ อัตราเงิน = ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น – (ภาษีสรรพสามิต + ภาษีเพื่อราชการส่วนท้องถิ่น + อัตราเงินกองทุนอนุรักษ์ + ราคา ณ โรงกลั่น) โดย อัตราเงิน หมายถึง อัตราเงินส่งเข้ากองทุนหรืออัตราเงินชดเชยสำหรับก๊าซ LPG ทั้งนี้ในกรณีที่ผลการคำนวณอัตราเงินมีค่าเป็นบวกให้หมายถึงอัตราเงินส่งเข้ากองทุน และหากผลการคำนวณมีค่าเป็นลบให้หมายถึงอัตราเงินชดเชย มีหน่วยเป็นบาทต่อกิโลกรัม ราคาขายส่ง หน้าโรงกลั่น หมายถึง ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการซื้อขายก๊าซ LPG ซึ่งเท่ากับ 17.1795 บาท/กก. ภาษีสรรพสามิต หมายถึง ภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากสินค้าและบริการ ตามกฎหมายว่าด้วย ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อราชการ ส่วนท้องถิ่น หมายถึง ภาษีที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นเพื่อราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วย ภาษีสรรพสามิต อัตราเงินกองทุน อนุรักษ์ หมายถึง อัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของก๊าซ LPG ราคา ณ โรงกลั่น หมายถึง ราคา ณ โรงกลั่นของก๊าซ LPG ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเห็นชอบ˝

3. มอบหมายสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานและกรมธุรกิจพลังงานวิเคราะห์ผลกระทบของการปรับเปลี่ยน Export Surcharge จากค่าปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 20 เหรียญสหรัฐต่อตัน


เรื่องที่ 5 การขอทบทวนมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการมอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำกับดูแลค่าบริการขนส่งน้ำมันทางท่อ

สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเรื่องการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีมติมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลค่าบริการขนส่งน้ำมันทางท่อ เพื่อป้องกันการมีอำนาจเหนือตลาด ป้องกันการผูกขาด ให้ความคุ้มครองผู้ค้าน้ำมันและประชาชนให้สามารถเข้าถึงและได้รับบริการที่เป็นธรรม จนกว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะทำการกำหนด ปรับปรุง หรือแก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุมการกำกับดูแลระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อแล้วเสร็จ เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเกี่ยวกับค่าบริการขนส่งน้ำมันทางท่อ การป้องกันการผูกขาดทางการค้า และการคุ้มครองผู้ค้าน้ำมันและประชาชนให้ได้รับบริการที่เป็นธรรม จึงเห็นควรให้ กกพ.

2. กกพ. ได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดยเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลค่าบริการขนส่งน้ำมันทางท่อตามมิต กพช. ดังกล่าว และได้นำร่างกฎหมายที่มีการแก้ไขไปรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ค้าน้ำมันและผู้ประกอบกิจการน้ำมันตามขั้นตอนของการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นได้ว่าบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (THAPPLINE) และบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งน้ำมันทางท่อมีการแข่งขันกันเองในกิจการดังกล่าวอยู่แล้ว และยังต้องแข่งขันกับผู้ประกอบกิจการขนส่งน้ำมันด้วยวิธีการอื่น ได้แก่ รถ เรือ และรถไฟ และเมื่อเกิดข้อพิพาทในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการค้า กิจการขนส่งน้ำมันเข้าข่ายที่จะต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า และปัจจุบันได้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 จึงถือว่ามีหน่วยงานที่กำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการพลังงานฯ แต่อย่างใด ส่วนอัตราค่าบริการในการขนส่งน้ำมันทางท่อ บริษัททั้งสองได้มี การประกาศราคากลางซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดที่จะควบคุมค่าบริการให้มีความเหมาะสม รวมทั้งมีการเปรียบเทียบกับอัตราค่าบริการของการขนส่งโดยวิธีการอื่น (รถ เรือ และรถไฟ) นอกจากนี้ ลูกค้าของบริษัทเป็นกลุ่มของผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัท จึงเป็นคนกำกับทั้งในเรื่องของอัตราค่าบริการและมาตรฐานในการให้บริการ ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้หน่วยงานภาครัฐกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว และเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 กบง. ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วมีความเห็นว่า เมื่อมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 จึงถือว่ามีหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของการประกอบกิจการขนส่งน้ำมันทางท่ออยู่แล้ว แต่เพื่อความรอบคอบในการพิจารณาเสนอเรื่องต่อ กพช. จึงเห็นควรให้ กกพ. หารือเรื่องดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

3. เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้มีหนังสือหารือสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ ได้ข้อสรุปผลการหารือว่า ธุรกิจการขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใดกำหนดอำนาจหน้าที่ดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ โดยตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ มีการกำกับดูแลพฤติกรรมด้านการแข่งขันทางการค้า ดังนี้ (1) การใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (2) การรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันในตลาดอย่างมีนัยสำคัญ หรืออาจก่อให้เกิดการผูกขาด หรือเป็นผู้มีอำนาจ เหนือตลาด (3) การกระทำร่วมกันระหว่างคู่แข่งขันที่ทำลายการแข่งขันอย่างรุนแรง (Hardcore cartel) และการกระทำร่วมกันที่ลดหรือจำกัดการแข่งขันที่ไม่ร้ายแรง (Non - Hardcore cartel) (4) การประกอบธุรกิจ ที่ไม่เป็นธรรม (5) การทำนิติกรรมหรือสัญญากับผู้ประกอบธุรกิจในต่างประเทศอย่างไม่มีเหตุผลอันสมควรที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและผลประโยชน์ของผู้บริโภคโดยรวม และตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ได้มีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด กระทำการในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดไว้ชัดเจนแล้ว ดังนั้น ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ประกอบกิจการขนส่งน้ำมันทางท่อ ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่เข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาด มีการกำหนดหรือรักษาระดับค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม หรือใช้อำนาจเหนือตลาด โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่กล่าวมาข้างต้น จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

มติของที่ประชุม

มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) รับไปศึกษาแนวทางที่จะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันสมบูรณ์ ในธุรกิจการขนส่งน้ำมันทางท่อและแนวทางการใช้ทรัพยากรของประเทศในการวางโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริโภค และเกิดการแข่งขันในวงกว้างของธุรกิจขนส่งทางน้ำมันทางท่อ โดยให้ ธพ. นำขอบเขตการศึกษามาเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ภายใน 2 เดือนต่อจากนี้ และให้ดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในปี 2561


เรื่องที่ 6 กลไกบริหารการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)

สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบให้ในช่วงปี 2558 เป็นต้นไป ให้ ปตท. ดำเนินการเพื่อจัดหา LNG ด้วยสัญญาระยะยาว และให้นำสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวเสนอต่อ กพช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นภายหลังจากที่การเจรจาสัญญามี ข้อยุติ อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้า LNG ด้วยสัญญา Spot และ/หรือสัญญาระยะสั้น โดยให้ปตท. ดำเนินการได้เอง โดยที่ราคา LNG จะต้องไม่เกินราคาน้ำมันเตา 2%S (ราคาประกาศหน้าโรงกลั่น รายเดือน) ที่ประกาศโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และในกรณีอื่นๆ มอบหมาย สนพ. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เป็นผู้พิจารณาอนุมัติการจัดหาระยะสั้น ทั้งนี้ เมื่อ ปตท. ได้มีการนำเข้า LNG ด้วยสัญญา Spot และ/หรือสัญญาระยะสั้นแล้ว ให้ ปตท. นำเสนอผลการจัดหาต่อ กพช. เพื่อทราบ เป็นระยะๆ ต่อไป

2. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2555 กพช. ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดหา LNG ระยะยาว โดยให้ ปตท. ดำเนินการจัดหาและนำเข้า LNG ตามแผนจัดหาก๊าซฯ ระยะยาว เพื่อตอบสนองความต้องการก๊าซฯ ของประเทศ โดย ปตท.จะจัดหา LNG ส่วนใหญ่ ในรูปแบบสัญญาระยะยาว และส่วนที่เหลือจะจัดหา ในรูปแบบสัญญา Spot และ/หรือ สัญญาระยะสั้น เพื่อลดโอกาสที่ปริมาณการจัดหาเกินความต้องการ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิด Take or Pay (ผู้จัดหาต้องชำระเงินล่วงหน้าไปก่อน) และเพื่อประโยชน์ในการกระจายความเสี่ยงเรื่องราคา ทั้งนี้ เมื่อ ปตท. มีการนำเข้า LNG แล้วให้ ปตท. รายงานผลการจัดหา ต่อ สนพ. เพื่อทราบต่อไป

3. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 กพช. ได้มีมติเห็นชอบแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558 (Gas Plan 2015) และเห็นชอบกรอบหลักการการบริหารจัดการด้านการนำเข้า LNG ให้มีการแข่งขันและ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต และ กพช. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ได้พิจารณาเรื่องแนวทาง การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ และได้มีมติดังนี้ (1) เห็นชอบหลักการและแนวทางการดำเนินงาน ระยะที่ 1 : ระยะดำเนินการโครงการนำร่อง โดยมอบหมาย กฟผ. ปตท. ชธ. และ กกพ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง (2) มอบหมายให้ สนพ. ร่วมกับ ชธ. และ กกพ. ศึกษาและจัดทำหลักเกณฑ์เพื่อกำหนดสัญญาซื้อและขายก๊าซฯ เก่า/ใหม่ (Old/New Supply and Demand) ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 และ (3) รับทราบหลักการและแนวทางการดำเนินงานระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ทั้งนี้ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาการดำเนินการ เพื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 และให้นำกลับมานำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. พิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับต่อไป และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 กบง. มีมติได้มอบหมายให้ ชธ. ร่วมกับ สนพ. พิจารณารายละเอียดและความจำเป็นของร่างสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวกับบริษัท MOZAMBIQUE LNG1 COMPANY PTE. LTD. ก่อนนำมาเสนอ ที่ประชุม กบง. อีกครั้ง

p>4. การกำหนดหลักเกณฑ์จำแนกสัญญาซื้อและขายก๊าซฯ เก่า/ใหม่ (Old/New Supply and Demand) ซึ่งคณะทำงานยกร่างหลักเกณฑ์ฯ ได้พิจารณาตามสัญญาซื้อและขายของ ปตท. โดยยึดการจัดหา (Supply) เป็นหลัก และกำหนดให้ Old Demand/Supply คือ การกำหนดราคาก๊าซฯ เป็นราคา Pool Gas และ New Demand/Supply คือ ราคาตลาด LNG นำเข้า เพื่อให้สัดส่วนของราคา Pool Gas ค่อยๆ ลดลงตามสัญญาเก่าที่ทยอยหมดอายุ และผู้ใช้ก๊าซฯ จะทยอยเข้าสู่ระบบแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ซึ่งมีรายละเอียดของร่างหลักเกณฑ์ฯ ดังนี้ (1) การพิจารณาจากปริมาณการจัดหา (Supply) โดยการจัดหาที่มีสัญญาผูกพันแล้วระยะยาวถือเป็น Old Gas ซึ่งรวมถึงก๊าซฯ ที่ผลิตได้จากแหล่งปัจจุบันในอ่าวไทยและก๊าซฯ จากแหล่งสัมปทานที่จะสิ้นอายุก๊าซฯ ที่ผลิตได้จากแหล่งบนบก สัญญากับ Qatar (2 MTPA) Shell (1 MTPA) BP (1 MTPA) Petronas (1.2 MTPA) และปริมาณ LNG ที่จะจัดหาใหม่เพื่อความมั่นคงของประเทศ (ในอนาคต) ส่วนปริมาณ LNG ที่จะจัดหาเพิ่มเติมให้ถือเป็น New Gas ซึ่งรวมถึง LNG ที่อาจจัดหาจากโมซัมบิก และ LNG 1.5 MTPA ที่มอบหมายให้ กฟผ. เป็นผู้นำเข้า (2) การพิจารณาจากปริมาณความต้องการใช้ (Demand) ประกอบด้วย ความต้องการในส่วนของโรงแยกฯ (Old Gas) ความต้องการก๊าซฯ ในภาคอุตสาหกรรมและก๊าซฯ สำหรับยานยนต์ (NGV) ซึ่งมีสัญญาผูกพัน (New Gas) โดยจะเริ่มดำเนินการเมื่อมีผู้นำเข้าก๊าซฯ ในตลาดการแข่งขันมากกว่า 1 ราย ส่วนความต้องการก๊าซฯ ในภาคไฟฟ้าแยกว่า Old Gas : โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ตามสัญญา Global DCQ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วและ SPP ที่มีสัญญาแล้ว และ New Gas : โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ใหม่และโรงไฟฟ้า SPP ที่มีสัญญาใหม่โดยคาดว่าสามารถเริ่มดำเนินการเมื่อมีผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติในตลาดการแข่งขันมากกว่า 1 ราย ทั้งนี้ ส่วนต่างระหว่างปริมาณการจัดหาก๊าซฯ ที่มีสัญญาแล้วและจากแหล่งสัมปทานสิ้นอายุ กับความต้องการก๊าซฯ โดยรวมทั้งหมดตามแผนการจัดหาก๊าซฯระยะยาว ถือเป็น Unmet Demand ที่สามารถนำมาเปิดให้มีการแข่งขัน (New Market) ได้

p>5. กลไกบริหารการนำเข้า LNG ปัจจุบันการจัดหา LNG ทั้งรูปแบบสัญญา spot/short – term/ long – term กพช. มีมติกำหนดให้ ปตท. เป็นผู้จัดหาแต่เพียงรายเดียว และสถานการณ์ปัจจุบันในปี 2560 และในไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 มีการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ย 4,721 และ 4,640 พันล้านบีทียูต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าแผนที่คาดการณ์ไว้ประมาณร้อยละ 6 และ 10 ตามลำดับ ปริมาณก๊าซฯ จากอ่าวไทย (ที่มีสัญญาในปัจจุบันและคาดว่าจะมีสัญญาในอนาคต) ยังเพียงพอสำหรับโรงแยกก๊าซฯ โรงไฟฟ้าของ กฟผ. และโรงไฟฟ้า IPP บางส่วน ส่วนการนำเข้า LNG ในอนาคตเป็นการนำเข้าเพื่อสนับสนุนโรงไฟฟ้า IPP บางส่วน โรงไฟฟ้า SPP ภาคอุตสาหกรรมและ NGV ส่วนราคา LNG นำเข้าส่วนใหญ่จะมีราคาสูงกว่าการจัดหาก๊าซฯ จากแหล่งอื่นๆ โดยประเทศไทยเริ่มนำเข้า LNG ตั้งแต่ปี 2554 และได้จัดทำ ข้อเสนอกลไกบริหารการนำเข้า LNG ดังนี้ (1) การจัดหา LNG เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ (Portfolio) โดยปริมาณและราคา LNG จะไม่สามารถนำมา คิดรวมในราคา Pool ผู้จัดหา (Shipper) ต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงทั้งด้านปริมาณและราคาเอง และผู้จัดหาสามารถจัดหาก๊าซฯ ด้วยสัญญา Spot สัญญาระยะสั้น หรือสัญญาระยะยาวได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก กพช. ทั้งนี้ ให้ผู้จัดหารายงานผลการจัดหาต่อ กบง./กพช. เพื่อทราบเป็นระยะๆ ต่อไป (2) การจัดหา LNG เพื่อความมั่นคง สามารถนำปริมาณและราคามาคิดรวมในราคา Pool โดยสัญญา Spot และสัญญา ระยะสั้น ให้ ปตท. ดำเนินการจัดหา ทั้งนี้ราคา LNG จะต้องไม่เกินราคาน้ำมันเตา 2%S ในกรณีอื่นๆ มอบหมาย สนพ. และ สกพ. เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ ส่วนสัญญาระยะยาว ให้กระทรวงพลังงานเสนอขอ ความเห็นชอบแผนการจัดหาก๊าซฯ และเงื่อนไขประกอบการจัดหา LNG (ปริมาณและระยะเวลาในสัญญา)ต่อ กพช. และให้หน่วยงานของรัฐ เช่น ชธ. กกพ. ปตท. กฟผ. ดำเนินการจัดหาด้วยวิธีการประมูลคัดเลือก (Bidding) โดยมีเงื่อนไขให้หน่วยงานของรัฐ เช่น ปตท. (หรือ กฟผ.) เป็นผู้ทำสัญญารับซื้อขาย LNG ระยะยาวกับผู้ชนะการประมูล ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้จัดหา (Shipper) มีการหารือถึงกรณีการจัดหานั้นเข้าข่ายเป็นการจัดหาเพื่อความมั่นคงหรือเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ ให้ กบง. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นเบื้องต้นก่อนเสนอ กพช. และ ครม. เพื่อพิจารณาตามลำดับต่อไป และในกรณีที่ประเทศเกิดความจำเป็นต้องใช้ LNG แล้ว ให้หน่วยงานที่จัดซื้อ LNG เชิงพาณิชย์นำ LNG มาใช้ในประเทศเป็นลำดับแรก ภายใต้เงื่อนไขการส่งเสริมการแข่งขัน ในกิจการก๊าซฯ และราคาเป็นไปตามราคาตลาดโลก

p>6. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 กบง. ได้มอบหมายให้ ชธ. ร่วมกับ สนพ. พิจารณารายละเอียดและความจำเป็นของร่างสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวกับบริษัท MOZAMBIQUE LNG1 COMPANY PTE. LTD. ก่อนนำมาเสนอที่ประชุม กบง. อีกครั้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 ปตท. ได้มีหนังสือถึงกระทรวงพลังงานขอให้พิจารณาการจัดหาและซื้อ LNG ระยะยาวจากโครงการ Mozambique LNG Area 1 ประเทศโมซัมบิกของ ปตท. ว่าจะให้เป็นการจัดหาเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ (ให้นำราคาไปรวมในราคา Pool) หรือเป็นการจัดหาและซื้อ LNG เพื่อการพาณิชย์ (Portfolio) และขอให้นำเสนอ กพช. พิจารณากำหนดแนวทางการจัดหาและซื้อ LNG ระยะยาวของ ปตท. ดังกล่าว ซึ่ง สนพ. ชธ. และ กกพ. ได้หารือในประเด็นที่ ปตท. ร้องขอ โดยได้พิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงเห็นควรให้การจัดหา LNG จากโครงการ Mozambique LNG Area 1 ประเทศโมซัมบิกเป็นการจัดหาเชิงพาณิชย์ของ ปตท. เองโดยไม่นำมาคิดรวมในราคา Pool

p>7. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 กพช. มีมติมอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินการเตรียมความพร้อม ทำหน้าที่เป็น Shipper รายใหม่ ในปริมาณการจัดหาไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าของตนเองที่กำหนด ซึ่งมีความก้าวหน้าการดำเนินงาน โดย กฟผ. ได้กำหนดแผนการดำเนินงาน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย (1) การขอใช้บริการสถานีแปรสภาพ LNG มาบตาพุด ตามสัญญาการให้บริการสถานีแอลเอ็นจี มาบตาพุด (Terminal Use Agreement: TUA) (2) การขอใช้บริการระบบท่อส่งก๊าซฯ ตามสัญญา Pipeline Capacity Contract (PCC) ระหว่าง กฟผ. กับ ปตท. และ (3) งานจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Cargo) เพื่อทดสอบระบบ Third Party Access (TPA) ปี 2561 โดยจัดหาในรูปแบบตลาดจร (spot market) สำหรับปี 2562 เป็นต้นไป จัดหาในรูปแบบสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาว (Sale and Purchase Agreement: SPA) และรูปแบบตลาดจรเพิ่มเติม (ถ้ามี) ทั้งนี้ มีประเด็นข้อจำกัดและผลกระทบในการดำเนินการตามมติ กพช. ประกอบด้วย (1) การทดลองนำเข้า LNG สำหรับโครงการนำร่อง (1st Cargo) ปตท. ต้องลดการจ่ายก๊าซฯ จากอ่าวไทยลง และเพิ่มอัตราการส่งก๊าซ LNG อีก 1,500 MMscfd ในเดือนสิงหาคม 2561 เพื่อสำรองพื้นที่สถานี LNG ให้ กฟผ. ส่งผลให้ต้นทุนก๊าซฯ เพิ่มสูงขึ้น และการนำเข้า LNG ในระยะโครงการนำร่องตามกำหนดการเดิมจะส่งผลให้ราคา Pool Price และต้นทุนสำหรับค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเดือนสิงหาคมและกันยายน 2561 เพิ่มสูงขึ้น (2) การนำเข้า LNG ในปริมาณ 1.5 ล้านตัน ในปี 2562 ทำให้ปริมาณการจัดหาก๊าซฯ สูงกว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ ส่งผลให้ต้องลดการรับก๊าซฯ จากอ่าวไทยลง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาระ Take or pay ในส่วนของผลกระทบหากจัดหา LNG ตามกำหนดการเดิม ประกอบด้วย (1) การนำเข้า LNG สำหรับโครงการนำร่อง (1st Cargo) จะทำให้ค่า Ft ในเดือนสิงหาคมและกันยายน 2561 เพิ่มขึ้นประมาณ 0.57 สตางค์ต่อหน่วย และ (2) การนำเข้า LNG ในปริมาณ 1.5 ล้านตัน ในปี 2562 ส่งผลให้ก่อให้เกิดภาระ Take or Pay กับผู้ผลิตประมาณ 6,700 ล้านบาท รายได้ภาครัฐที่ได้รับจากผู้ผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทยลดลง และปริมาณ LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ลดลง จึงเห็นควรกำหนดการนำเข้า LNG 1st cargo แบบ spot เพื่อการทดสอบการเตรียมความพร้อมของ กฟผ. จากเดือนกันยายน 2561 เป็นภายในปี 2562 และเห็นควรให้ กฟผ. เลื่อนการนำเข้า LNG 1.5 ล้านตันต่อปี ด้วยสัญญาระยะกลางหรือระยะยาวออกไปหลังปี 2563

p>8. เพื่อแยกงานนโยบาย งานกำกับดูแล และการประกอบกิจการพลังงานออกจากกันเพื่อสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติตามนโยบายที่ กพช. ให้ความเห็นชอบไปแล้ว จึงกำหนดบทบาท อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใหม่ ดังนี้ (1) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน มีบทบาท อำนาจหน้าที่ดังนี้ 1) จัดทำนโยบาย เป้าหมาย มาตรการ และแผนพัฒนาด้านก๊าซธรรมชาติ รวมถึงกำกับ ติดตาม บริหารจัดการการนำเข้าก๊าซฯ จากต่างประเทศทางระบบท่อส่งก๊าซฯ และจากการนำเข้าในรูปของ LNG และ 2) ศึกษาแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อติดตามและกำกับดูแลการจัดหา LNG ที่เหมาะสมทั้งในด้านราคาและปริมาณ เพื่อรองรับการแข่งขันในกรณีที่มีผู้จัดหา/นำเข้า LNG หลายราย (2) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีบทบาทหน้าที่ทางด้านเทคนิคในการสำรวจและพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงธรรมชาติในประเทศ พื้นที่พัฒนาร่วม พื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่น และกำหนดแนวทางการจัดหาการพัฒนาและการจัดการปิโตรเลียม

มติของที่ประชุม

1. เห็นชอบให้ กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 โดยการบริหารจัดการจะต้องไม่ส่งผลให้เกิดภาระ Take or pay

2. มอบหมายให้ กกพ. ไปศึกษาแนวทางการส่งผ่านค่าไฟฟ้าจากการนำเข้า LNG ของ กฟผ. และให้เสนอ กบง. และ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป


เรื่องที่ 7 การดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน เรื่อง การนำเงินทุนหมุนเวียนฝากกระทรวงการคลัง

สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน (คณะกรรมการ) อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ.2558 ได้ออกประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน เรื่อง มาตรฐานการเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารพัสดุ การบัญชี การรายงานทางการเงิน และการตรวจสอบภายในของทุนหมุนเวียน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 กำหนดให้ทุนหมุนเวียนดำเนินการเปิดบัญชีและนำเงินฝากที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัตินอกเหนือจากที่กำหนดให้ขออนุมัติต่อคณะกรรมการก่อน หรือ การนำเงินทุนหมุนเวียนไปดำเนินการเพื่อหาผลประโยชน์ อาทิ ฝากไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง เงินทุนหมุนเวียนใดที่ฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ก่อนประกาศฯนี้ และมีระบุเวลาฝากถอนไว้แน่นอน ให้นำกลับมาฝากที่กรมบัญชีกลาง เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการฝาก การนำเงินไปหาผลประโยชน์ และอื่นๆ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด

2. เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงานชี้แจงว่า การออกประกาศฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันจะต้องเปิดบัญชีและนำเงินไปฝากไว้กับกรมบัญชีกลาง ต่อไปจะทำให้ไม่สามารถนำเงินกองทุนน้ำมันไปหาผลประโยชน์ในรูปของดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันฯ ได้ ซึ่งประธาน กบง. ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าควรหารือกับกรมบัญชีกลาง เพื่อยืนยันว่ากองทุนน้ำมัน เป็นทุนหมุนเวียนที่สามารถบริหารจัดการเงินด้วยตัวเองได้ ซึ่งเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 สบพน. ได้มีหนังสือแจ้งกรมบัญชีกลาง เพื่อขอขยายระยะเวลาดำเนินการตามประกาศฯ ออกไปอีก 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ เพื่อดำเนินการแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับประกาศฯ ก่อนการเปิดบัญชีและนำเงิน กองทุนน้ำมันฯ ไปฝากไว้ที่กรมบัญชีกลาง และต่อมาวันที่ 8 มกราคม 2561 ได้มีหนังสือขอขยายเวลาการปฏิบัติตามประกาศฯ ออกไปจนกว่าพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่กำลังร่างอยู่มีผลบังคับใช้ แทนการขอขยายเวลาออกไป 90 วัน ซึ่งกรมบัญชีกลาง ได้แจ้งว่าคณะกรรมการนโยบายการพิจารณาแล้วไม่อนุมัติให้ขยายเวลาการนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปฝากไว้ที่กรมบัญชีกลาง ให้เร่งดำเนินการตามประกาศฯ ทันที เว้นแต่เงินที่ฝากธนาคารพาณิชย์ที่มีกำหนดระยะเวลาการฝากถอนไว้อย่างแน่นอน ให้นำกลับมาฝากกรมบัญชีกลางเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการฝากถอน

3. เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 สบพน. ได้เสนอร่างแก้ไขระเบียบกระทรวงพลังงาน ว่าด้วยการฝากและการเบิกจ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ต่อคณะกรรมการ สบพน. โดยที่ประชุมเห็นว่า สบพน. ควรขอยกเว้นการฝากเงินไว้ที่กรมบัญชีกลางตามประกาศฯ ด้วยเหตุผลว่า หากนำเงินไปฝากที่กรมบัญชีกลาง จะทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันฯ ให้เกิดดอกเบี้ยหรือดอกผลเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการให้นำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปใช้สำหรับการรักษาเสถียรภาพราคา รวมทั้งเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันฯ ด้วย ซึ่งประชาชนอาจร้องเรียนหรือฟ้องร้องได้ ที่ประชุมจึงมีมติให้ชะลอการแก้ไขร่างระเบียบฯ ไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติในเรื่องนี้ สบพน. จึงได้เสนอ กบง. เพื่อพิจาณาขอยกเว้นการนำเงินฝากที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของประธาน กบง. และคณะกรรมการ สบพน. โดยขอให้คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนพิจารณา ซึ่งอาศัยอำนาจตามข้อ 2 ของประกาศฯ ที่ว่า “ทุนหมุนเวียนใดมีความจำเป็นต้องปฏิบัตินอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ให้ขออนุมัติต่อคณะกรรมการก่อน” โดยมีเหตุผลและความจำเป็น คือ เงินกองทุนน้ำมันฯ เป็นเงินที่จัดเก็บจากประชาชนผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อสะสมไว้ใช้ในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันสามารถบริหารเงินกองทุนน้ำมันฯ ให้ได้รับดอกผลที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันฯ โดยไม่เป็นภาระกับประชาชนเพิ่มเติม ซึ่ง สบพน. ได้บริหารเงินโดยฝากไว้กับสถาบันการเงิน 5 แห่ง ประกอบด้วยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย โดยในปีงบประมาณ 2559 และ 2560 เกิดดอกผลจำนวน 761 และ 674 ล้านบาท ตามลำดับ รวมทั้งในช่วงที่ผ่านมามีการประเมินผลงานตามเกณฑ์ตัวชี้วัดของ ก.พ.ร. และกรมบัญชีกลาง ซึ่งมีผลการดำเนินงานอยู่ในเกณฑ์ดีมาโดยตลอด (ได้ 5 คะแนนเต็ม)

มติของที่ประชุม

1. เห็นชอบตามที่ สบพน. เสนอ โดยให้ดำเนินการขอยกเว้นการเปิดบัญชีและนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปฝากที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และขอฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยมอบให้ สบพน. นำเรื่องเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการนโยบายบริหารทุนหมุนเวียนต่อไป


เรื่องที่ 8 การส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20

สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานได้พิจารณา เรื่อง แนวทาง การส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 และมีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 โดยมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานไปดำเนินการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และ (2) เห็นชอบหลักการ การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 โดยมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานประสานกับกระทรวงการคลังไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

2. กรมธุรกิจพลังงาน ได้ดำเนินการตามมติ กบง. ดังกล่าว ซึ่งมีความคืบหน้าโดยได้จัดทำสรุปผลการทดสอบการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ในรถยนต์ รวมทั้งรายชื่อรุ่นและยี่ห้อรถยนต์ที่สามารถใช้ได้ และคำแนะนำในการบำรุงรักษารถยนต์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 จัดทำรายชื่อ ผู้จำหน่ายและสถานที่ตั้งของจุดจำหน่ายจัดทำหลักเกณฑ์และข้อกำหนดในการจัดตั้งสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 รวมทั้ง ได้มีการประชุมหารือกับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางการดำเนินการ และการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 และประชุมหารือผู้ประกอบการรถบรรทุกขนาดใหญ่ เพื่อสร้างความรับรู้ ประชาสัมพันธ์ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการว่าสามารถใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ได้โดยไม่กระทบต่อเครื่องยนต์

3. กรมธุรกิจพลังงาน กรมสรรพสามิต สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 และ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 และได้เห็นชอบในหลักการเรื่องการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ซึ่งใช้หลักการเดียวกับน้ำมันแก๊สโซฮอล โดยจัดเก็บภาษีเฉพาะน้ำมันที่ผลิตจากฟอสซิล ในส่วนน้ำมันที่ได้จากเชื้อเพลิงชีวภาพ จะได้รับการยกเว้นภาษี รวมทั้งกรมสรรพสามิตเสนอให้คิดภาษีจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เข้ารวมอยู่ในการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตในครั้งนี้ด้วย โดยให้จัดเก็บภาษี CO2 สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เท่ากับ 0.15 บาทต่อลิตร และนำไปรวมกับอัตราภาษีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี0 ทำให้มีอัตราภาษีเท่ากับ 6.2903 บวก 0.15 เท่ากับ 6.4403 บาทต่อลิตร ซึ่งเมื่อคำนวณอัตราภาษีสรรพสามิตลดหลั่นตามอัตราส่วน ไบโอดีเซลที่ผสมเพิ่มขึ้นแล้ว อัตราภาษีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ปรับเพิ่มขึ้นจาก 5.8500 บาทต่อลิตร เป็น 5.9895 บาทต่อลิตร และกำหนดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 เท่ากับ 5.1523 บาทต่อลิตร โดย กรมสรรพสามิตจะดำเนินการนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ต่อไป ส่วนเรื่องการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 และค่าการตลาดที่เหมาะสม โดยมีราคาขายปลีก ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ที่ 3 บาทต่อลิตร สนพ. จะเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป

มติของที่ประชุม

1. สนับสนุนการผลิตและการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 (ที่มีสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลไม่น้อยกว่าร้อยละ 19 และไม่เกินร้อยละ 20 โดยปริมาตร) ให้มีราคาต่ำ เพื่อลดภาระต้นทุนค่าบริการขนส่งและค่าโดยสารสาธารณะ จึงมีมติให้กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง พิจารณาเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ในอัตรา 5.152 บาทต่อลิตร โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับน้ำมันแก๊สโซฮอลซึ่งจัดเก็บภาษีเฉพาะน้ำมันที่ผลิตจากฟอสซิล ในส่วนน้ำมันที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชีวภาพจะได้รับการยกเว้นภาษี

2. เพื่อลดผลกระทบของการลดอัตราเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ตามข้อ 1 ต่อประมาณการรายรับของงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2561 และ 2562 จึงมีมติให้กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง พิจารณาเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 0.13 บาทต่อลิตร เป็น 5.980 บาทต่อลิตร

3. เพื่อไม่ให้ผู้ใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วได้รับผลกระทบจากการเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิต ตามข้อ 2 จึงมีมติให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จ่ายเงินชดเชยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 0.13 บาทต่อลิตร


เรื่องที่ 9 แนวทางการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของกลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล

สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบกรอบและแนวทางในการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) รับไปดำเนินการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในรายละเอียดภายใต้กรอบและแนวทางในการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 กบง. ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสมเฉลี่ยอยู่ที่ 1.85 บาทต่อลิตร

2. สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก โดยราคาน้ำมันตลาดโลกปิดตลาด ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2561 น้ำมันดิบดูไบ 73.56 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล น้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 84.51 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล 87.18 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32.0728 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ราคา ไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันวันที่ 4 – 11 มิถุนายน 2561 ลิตรละ 27.11 บาท และราคาเอทานอล ณ เดือนมิถุนายน 2561 ลิตรละ 23.59 บาท จากปัจจัยดังกล่าแล้วส่งผลให้โครงสร้างราคาน้ำมัน ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2561 มีราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 36.52 บาทต่อลิตร น้ำมันเบนซิน 95 E10 อยู่ที่ 29.25 บาทต่อลิตร น้ำมันเบนซิน 91 E10 อยู่ที่ 28.98 บาทต่อลิตร น้ำมันเบนซิน 95 E20 อยู่ที่ 26.74 บาทต่อลิตร น้ำมันเบนซิน 95 E85 อยู่ที่ 21.14 บาทต่อลิตร

3. ปัจจุบันรัฐยังคงชดเชยราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E20 และน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E85 ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีภาระในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอลประมาณ 341 ล้านบาทต่อเดือน ในขณะที่กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับจากน้ำมันดีเซลหมุนเร็วและน้ำมันเตาประมาณ 31 ล้านบาทต่อเดือน โดยภาพรวมกองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องติดลบ 309 ล้านบาทต่อเดือน สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2561 มีทรัพย์สินรวม 35,748 ล้านบาท หนี้สินรวม 5,372 ล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันฯ มีฐานะสุทธิ 30,376 ล้านบาท

4. ปัจจุบันภาครัฐมีการส่งเสริมให้มีการใช้เชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของพลังงานทดแทน (เอทานอล) โดยให้ราคาขายปลีกของเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเอทานอลมีราคาต่ำกว่าเชื้อเพลิงจากฟอสซิล และการใช้ ค่าการตลาดเป็นแรงจูงใจ โดยเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเอทานอลสูงจะมีค่าการตลาดที่สูงกว่าเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเอทานอลต่ำ ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับค่าการตลาดที่เหมาะสมจากมติที่ กบง. เห็นชอบแล้ว พบว่าค่าการตลาดของน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E20 น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E85 สูงกว่าค่าการตลาดที่เหมาะสม รัฐจึงใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯ ในการรับภาระส่วนต่างราคา โดยมีรายได้จากกลุ่มน้ำมันดีเซลมาช่วยชดเชย และเพื่อไม่ให้เกิดการชดเชยข้ามกลุ่มระหว่างผู้ใช้เบนซินและแก๊สโซฮอล และกลุ่มผู้ใช้ดีเซล (Cross subsidy) จึงมีแนวทางการแก้ไขโดย ระยะสั้น ใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯ รักษาระดับค่าการตลาดน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 (E20) ที่ 2 บาทต่อลิตร และ แก๊สโซฮอล 95 (E85) ที่ 3.50 บาทต่อลิตร และปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ให้สภาพคล่องกองทุนในน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล มีค่าใกล้ศูนย์ (กลยุทธุ์ ศูนย์-สุทธิ) สำหรับในระยะยาว ปรับราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอลให้สะท้อนค่าความร้อน ฝ่ายเลขานุการฯ จึงได้เสนอให้ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ (ลดการชดเชย) ของกลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอลโดยทยอยดำเนินการ 3 ครั้งในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องใกล้ศูนย์

มติของที่ประชุม

1. เห็นชอบแนวทางการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของกลุ่มน้ำมันเบนซินและ แก๊สโซฮอล ดังนี้ (1) ระยะสั้น ใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาระดับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงให้เหมาะสม และปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอลให้สภาพคล่องกองทุนในน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอลมีค่าใกล้ศูนย์ (กลยุทธ์ ศูนย์-สุทธิ) (2) ระยะยาว ปรับราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอลให้สะท้อนค่าความร้อน

เห็นชอบปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้ (หน่วย: บาทต่อลิตร) ชนิดน้ำมัน อัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ น้ำมันเบนซิน 6.68 น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 0.72 น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 E10 0.72 น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E20 -2.63 น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E85 -8.98

3. เห็นชอบร่าง ประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ฉบับที่ 36 พ.ศ. 2561 เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนกองทุน และอัตราเงินกองทุนคืนสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป


เรื่องที่ 10 การให้ความช่วยเหลือตามโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน (กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร)

สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบ ขอความร่วมมือให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน (ครัวเรือนรายได้น้อย ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร และอื่นๆ) ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีแนวทางอื่นมาทดแทน ต่อมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 เห็นชอบการเสนอของกระทรวงการคลัง (กค.) แนวทางการจัดประชารัฐสวัสดิการ การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเห็นชอบวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) กำหนดจำนวน 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน (ใช้ 1 ครั้งต่อ 3 เดือน) ซึ่ง กค. กำหนดเริ่มใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ทั้งนี้ การดำเนินการตามมติ ครม. ดังกล่าวซ้ำซ้อนกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย ในโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน ที่ ปตท.ให้ความช่วยเหลืออยู่ พน. จึงได้แจ้ง ปตท. ยกเลิกการช่วยเหลือและระงับการใช้สิทธิ์เฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย (18 กิโลกรัมต่อ 3 เดือน) ส่วนการช่วยเหลือร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร (150 กิโลกรัมต่อเดือน) ปตท. ยังดำเนินการตามเดิม ในอัตรากิโลกรัมละ 2.50 บาท ทั้งนี้สรุปผลการช่วยเหลือของ ปตท. ตามมติ กบง. ในโครงการดังกล่าว ดังนี้(1) ครัวเรือนรายได้น้อย ระหว่างวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 มีปริมาณการใช้ 14.98 ล้านกิโลกรัม จำนวนเงินชดเชย 48.40 ล้านบาท (2) ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ระหว่างวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ถึง วัน30 เมษายน 2561 มีปริมาณการใช้ 428.75 ล้านกิโลกรัม จำนวนเงินชดเชย 1,340.93 ล้านบาท ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้

2. เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 พน. แจ้ง ปตท. ขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน เฉพาะกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ในวงเงิน 500 ล้านบาท และ ปตท. ได้แจ้งมติคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการสนับสนุนโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน เฉพาะกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน 2561 ภายในกรอบวงเงิน 250 ล้านบาท ซึ่งระยะเวลาใกล้สิ้นสุดแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงเห็นชอบตามที่กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เสนอให้ขอความร่วมมือ ปตท. ให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน เฉพาะกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหารต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ในวงเงิน 500 ล้านบาท ซึ่ง ธพ. อยู่ระหว่างดำเนินการแจ้ง ปตท.

มติของที่ประชุม

ที่ประชุมรับทราบ


Published in มติกบง.
Tagged under
Be the first to comment!
Read more...
Monday, 19 November 2018 10:54

กบง. ครั้งที่ 57 - วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม 2561

 

eppo s

มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 10/2561 (ครั้งที่ 57)
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เวลา 16.00 น.

 


1. แนวทางบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันดีเซล

2. การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับก๊าซ LPG

3. รายงานแนวทางการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามประกาศกระทรวงการคลัง


ผู้มาประชุม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน                                               ประธานกรรมการ

(นายศิริ จิระพงษ์พันธ์)

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน                             กรรมการและเลขานุการ

(นายทวารัฐ สูตะบุตร)


เรื่องที่ 1 แนวทางบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันดีเซล

สรุปสาระสำคัญ
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยเดือนพฤษภาคม 2561 น้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 74.07 และ 76.89 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 5.80 และ 4.86 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดย ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2561 น้ำมันดิบดูไบปรับสูงขึ้นอีกไปอยู่ที่ 76.60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเบรนท์ปรับสูงขึ้นอีกไปอยู่ที่ 78.90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ในขณะที่ตลาดสิงคโปร์ ราคาน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 90.82 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 92.20 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนพฤษภาคม 2561อยู่ที่ 32.1172 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งอ่อนค่าลงจากเดือนที่แล้ว 0.6290 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ และวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32.2510 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ราคาไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันเฉลี่ยเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 21.35 บาทต่อลิตร โดยมีราคาเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 0.52 บาทต่อลิตร และวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ราคาไบโอดีเซลประเภทเมทิล เอสเตอร์ของกรดไขมันอยู่ที่ 24.17 บาทต่อลิตร โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีน้ำมัน ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2561 มีฐานะสุทธิ 30,505 ล้านบาท

2. โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2561 ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน น้ำมัน แก๊สโซฮอล 95E10 91E10 E20 E85 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว อยู่ที่ 37.52 30.25 29.98 27.74 21.74 และ 29.79 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ โดยปัจจุบันน้ำมันแก๊สโซฮอล E20 และน้ำมันแก๊สโซฮอล E85 รัฐยังคงชดเชยราคาส่งผลให้กองทุนน้ำมันมีภาระในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอลประมาณ 341 ล้านบาทต่อเดือน ในขณะที่กองทุนมีรายรับจากน้ำมันดีเซลหมุนเร็วและน้ำมันเตาประมาณ 31 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้นโดยภาพรวมกองทุนมีสภาพคล่องติดลบ 309 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในตลาดโลกผันผวนและปรับตัวมีราคาสูงเกิน 80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศมีราคาปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วมีราคา 28.29 บาทต่อลิตร และปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน (วันที่ 23 พฤษภาคม 2561) มีราคาที่ 29.79 บาทต่อลิตร ซึ่งมีราคาใกล้แตะที่ 30.00 บาทต่อลิตร รวมถึงน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 อยู่ที่ 30.25 บาทต่อลิตร ซึ่งเกินระดับราคา 30.00 บาทต่อลิตรเล็กน้อย ภาครัฐ จึงมีแนวทางบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมัน ดังนี้ (1) โครงการส่งเสริมน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (B20) เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในประเทศและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน รัฐจึงมีมาตรการในการช่วยเหลือให้มีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษหรือน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (B20) ที่มีราคาต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (B7) 3.00 บาทต่อลิตร เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและบริการ โดยแบ่งระยะการช่วยเหลือ ดังนี้ ระยะที่ 1 ก่อนมีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (B20) กระทรวงพลังงานจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจะนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่สะสมอยู่ 30,505 ล้านบาท พยุงราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไม่ให้เกิน 30.00 บาทต่อลิตร ซึ่งจะเป็นมาตรการระยะสั้นในระหว่างที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (B20) ยังไม่ออกมาจำหน่าย และระยะที่ 2 หลังมีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (B20) หากเริ่มมีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (B20) แล้ว แต่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ยังผันผวนในราคาสูงเกิน 80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล รัฐจะใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ช่วยลดภาระราคาขายปลีกน้ำมันครึ่งหนึ่งของราคาขายปลีกที่ควรจะเพิ่มขึ้น และให้ราคาขายปลีกปรับขึ้นไปอีกครึ่งหนึ่ง เช่น หากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วต้องปรับเพิ่มโดยมีราคามากกว่า 30.00 บาทต่อลิตร เป็น 31.00 บาทต่อลิตร ในส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้น 1 บาทนั้น กองทุนน้ำมันจะชดเชยให้ 0.50 บาทต่อลิตร และราคาขายปลีกจะปรับเพิ่มเพียง 0.50 บาทต่อลิตร ดังนั้นราคาขายปลีกจะเป็น 30.50 บาทต่อลิตร เป็นต้น แต่หากราคาขายปลีกดีเซลหมุนเร็ว ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร รัฐจะยังใช้กลไกปกติ ทั้งนี้ คาดว่าเงินกองทุนน้ำมันฯ จำนวน 30,505 ล้านบาท จะสามารถรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไม่ให้เกิน 30.00 บาทต่อลิตร ได้เป็นระยะเวลาประมาณ 10 เดือน (2) การเผยแพร่โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะประกาศราคาขายปลีกน้ำมันและค่าการตลาดล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ และผ่อนผันให้ผู้ค้าน้ำมันสามารถประกาศราคาขายปลีกล่วงหน้าได้เช่นเดิมจนกว่าจะผ่านพ้นช่วงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ผันผวนสูงกว่า 80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพื่อให้สามารถติดตามสถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิด

3. หลักเกณฑ์การคำนวณอัตราเงินส่งเข้ากองทุนและอัตราเงินชดเชยสำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในระยะที่ 1 ก่อนมีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (B20) เพื่อใช้กองทุนน้ำมันฯ ดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะ การขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง 2516 ประกอบคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงลงวันที่ 23 ธันวาคม 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 9/2549 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงลงวันที่ 7 ธันวาคม 2549 ข้อ 4 ให้ กบง. มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (1) กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการคำนวณราคา และกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้าเพื่อใช้ในราชอาณาจักร (2) กำหนดค่าการตลาดสำหรับการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิง (4) กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนหรืออัตราเงินชดเชยสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร น้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้าเพื่อใช้ในราชอาณาจักร น้ำมันเชื้อเพลิงที่ส่งออก และ (6) กำหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นและคำนวณราคาขายปลีก โดยหลักเกณฑ์การคำนวณอัตราเงินส่งเข้าและชดเชยกองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว คือ อัตราเงินส่งเข้าและชดเชยกองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เท่ากับราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น ลบ (ภาษีสรรพสามิต บวก ภาษีมหาดไทย บวก อัตราเงินกองทุนอนุรักษ์บวก ค่าเฉลี่ยราคา ณ โรงกลั่น)

มติของที่ประชุม

1. เห็นชอบแนวทางบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันดีเซล โดยมีเงื่อนไขว่าหากราคาขายปลีกอาจขยับสูง เกินกว่า 30 บาทต่อลิตร จึงจะให้มีการดำเนินงาน ดังนี้ 1.1) กำหนดค่าการตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไม่เกิน 1.75 บาทต่อลิตร 1.2) ให้ฝ่ายเลขานุการฯ ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าช่วยบริหารราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร 1.3) หากอัตราเงินชดเชยสำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วมากกว่า 1.00 บาทต่อลิตร ฝ่ายเลขานุการฯ จะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเพื่อพิจารณาอัตราเงินชดเชยที่เหมาะสมต่อไป

2. มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานนำร่าง ประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ฉบับที่ .. พ.ศ. 2561 เรื่อง การกำหนดค่าการตลาด ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น อัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนกองทุนและอัตราเงินกองทุนคืนสำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตามหลักเกณฑ์การคำนวณโครงสร้างราคา และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบความถูกต้องของร่างประกาศฯ ก่อนออกประกาศฯ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

3. เห็นชอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เผยแพร่โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านเว็บไซต์ของ สนพ.


เรื่องที่ 2 การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับก๊าซ LPG

สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบ เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) (1) เปลี่ยนหลักเกณฑ์การอ้างอิงราคาก๊าซ LPG นำเข้าจากเดิมที่อ้างอิงด้วยราคา CP ที่ประกาศรายเดือนเป็นอ้างอิงด้วยราคา LPG cargo จากข้อมูล Spot Cargo ( FOB Arab Gulf ) ของ Platts เฉลี่ยรายสัปดาห์แทนโดย ราคานำเข้า เท่ากับ LPG cargo บวก X (2) กำหนดเพดานการอุดหนุนราคาก๊าซ LPG (Subsidy Cap) โดยจำกัดปริมาณเงินการชดเชยราคาสูงสุดในแต่ละเดือนให้ไม่เกินร้อยละ 5 ของฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของเดิม (ทั้งบัญชีน้ำมันและบัญชี LPG) และ (3) ปรับกลไกการอ้างอิงราคาก๊าซ LPG จากเดิมที่ใช้ราคาขายปลีกจากการคำนวณด้วยโครงสร้างราคาขายปลีกก๊าซ LPG เป็นการใช้ราคาขายปลีกของผู้ค้าแทน ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 กบง. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณอัตรากองทุน # 1 กรณีที่ราคานำเข้าแตกต่างจากต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ เกินกว่า 0.67 บาทต่อกิโลกรัม ให้มีอัตรากองทุน # 1 ของโรงแยกก๊าซฯ ดังนี้ อัตรากองทุน #1 ของโรงแยกก๊าซฯ เท่ากับ ราคานำเข้า ลบ (ต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ บวก กรอบราคาสำหรับกำกับการแข่งขัน)

2. สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG (1) ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 502.50 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ราคาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 30.00 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน (2) ราคาก๊าซ LPG Cargo ที่ใช้คำนวณราคาก๊าซ LPG นำเข้า ราคาก๊าซ LPG Cargo เฉลี่ยวันที่ 21 ถึง 23 พฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 554.83 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (14 ถึง 18 พฤษภาคม 2561) 8.77 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน อัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ยวันที่ 21 ถึง 23 พฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 32.3140 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (14 ถึง 18 พฤษภาคม 2561) 0.1481 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ราคาก๊าซ LPG นำเข้า (LPG Cargo บวก X) เฉลี่ยวันที่ 21 ถึง 23 พฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 19.3352 บาทต่อกิโลกรัม ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (14 ถึง 18 พฤษภาคม 2561) 0.1934 บาทต่อกิโลกรัม และต้นทุนราคาก๊าซ LPG ช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฏาคม 2561) ราคาก๊าซ LPG จากโรงแยกก๊าซฯ ราคาก๊าซ LPG จาก ปตท. สผ.ฯ และราคาก๊าซ LPG จาก อยู่ที่ 13.3123 14.2044 และ 14.2044 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงจากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนกรกฏาคม 2561) ที่0.3119 0.6336 และ 0.6336 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ

3. การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับก๊าซ LPG ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 551 ล้านบาท โดยแนวทางการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ พิจารณา จากสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกที่ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศบรรจุถังขนาด 15 กิโลกรัม ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 395 บาท เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อ ค่าครองชีพของประชาชน ฝ่ายเลขานุการฯ เห็นควรใช้กลไกราคากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกในประเทศ ให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG บรรจุถังขนาด 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 363 บาท หรือลดลงประมาณ 30 บาทต่อถัง แต่เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลราคา LPG Cargo ในวันที่ 24 -25 พฤษภาคม 2561 ฝ่ายเลขานุการฯ จึงได้จำลองเหตุการณ์ออกเป็น 2 กรณี ดังนี้ กรณี 1 ราคาเฉลี่ย LPG Cargo อยู่ที่ 520 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ราคา ก๊าซ LPG Cargo เฉลี่ยวันที่ 21 ถึง 23 พฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 554.83 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน โดยหากในวันที่ 21 ถึง 23 พฤษภาคม 2561 ราคา LPG Cargo ลดต่ำลงถึง 470 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน จะทำให้ราคา LPG Cargo เฉลี่ยวันที่ 21 ถึง 25 พฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 519.70 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชย 0.6507 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมชดเชยที่ 2.7424 บาทต่อกิโลกรัม เป็นชดเชย 3.3932 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกลดลง 2.09 บาทต่อกิโลกรัม เป็นอยู่ที่ 21.87 บาทต่อกิโลกรัม และค่าการตลาดอยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 496 ล้านบาทต่อเดือน จากมีรายรับ196 ล้านบาทต่อเดือน เป็นมีรายจ่าย 300 ล้านบาทต่อเดือน และกรณี 2 ราคาเฉลี่ย LPG Cargo อยู่ที่ 549 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ราคาก๊าซ LPG Cargo เฉลี่ยวันที่ 21 ถึง 23 พฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 554.83 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน โดยหากในวันที่ 24 ถึง 25 พฤษภาคม 2561 ราคา LPG Cargo เท่ากับราคาวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ที่ 543 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน จะทำให้ราคา LPG Cargo เฉลี่ยวันที่ 21 ถึง 25 พฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 548.90 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ฝ่ายเลขานุการฯ ขอเสนอปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชย 0.6507 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมชดเชยที่ 2.7424 บาทต่อกิโลกรัม เป็นชดเชย 4.3360 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกลดลง 2.09 บาทต่อกิโลกรัม เป็นอยู่ที่ 21.87 บาทต่อกิโลกรัม และค่าการตลาดอยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 629 ล้านบาทต่อเดือน จากมีรายรับ196 ล้านบาทต่อเดือน เป็นมีรายจ่าย 432 ล้านบาทต่อเดือน อย่างไรก็ตามราคา LPG Cargo ในวันที่ 24 และ 25 พฤษภาคม 2561 อาจจะไม่เป็นไปตามเหตุการณ์จำลองทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ก็ได้ เช่น LPG Cargo อาจปรับตัวสูงขึ้น ซึ่ง กบง. ควรมีมติให้หลักการไว้

มติของที่ประชุม

เห็นชอบในหลักการในการกำหนดอัตราเงินชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับก๊าซที่จำหน่าย เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยราคา LPG Cargo ของวันที่ 24 และ 25 พฤษภาคม 2561 ซึ่งจะส่งผลต่อ LPG Cargo เฉลี่ยทั้งสัปดาห์ โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานรับไปดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป


เรื่องที่ 3 รายงานแนวทางการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามประกาศกระทรวงการคลัง

สรุปสาระสำคัญ
ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ) ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบเกี่ยวกับเงินกองทุนน้ำมันฯ ว่า เนื่องจากกระทรวงการคลัง ได้ออกประกาศมาตรฐานทางการเงิน โดยกระทรวงการคลังจะทำหน้าที่เหมือนธนาคารโดยให้ทุนหมุนเวียนต้องนำเงินไปฝากไว้ที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และหากต้องการใช้ก็สามารถไปถอนออกมาได้ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้กองทุนน้ำมันฯ ไม่ได้รับดอกเบี้ยจากเงินฝาก ดังนั้น กองทุนน้ำมันฯ จึงได้ขอขยายระยะเวลาที่จะดำเนินการตามประกาศดังกล่าวต่อกระทรวงการคลังไปแล้ว โดยให้เหตุผลว่ากองทุนน้ำมันฯ ต้องมีการแก้ไขระเบียบให้สอดคล้องกับการดำเนินงานตามประกาศ แต่หลังจากเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะผู้บริหาร สบพน. ที่ประชุมได้มีความเห็นร่วมกันว่า กองทุนน้ำมันฯ สามารถบริหารสภาพคล่องและนำดอกเบี้ยเงินฝากมาใช้ในการบริหารกองทุนน้ำมันฯ ได้ จึงไม่เห็นด้วยกับการนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง จึงได้มีความเห็นว่าจะเสนอต่อ กบง. เพื่อนำมติที่ได้ไปหารือกับกรมบัญชีกลางต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังกำหนดให้ทุนหมุนเวียนคำนวณจำนวนเงินสะสมสูงสุดของทุนหมุนเวียนโดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายในรอบ 3 ปี ซึ่งกองทุนน้ำมันฯ ได้มีการคำนวณแล้ว พบว่า ไม่มีเงินส่วนเกินที่ต้องนำส่งเข้ากระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน โดยเรื่องดังกล่าวกองทุนน้ำมันฯ ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังและได้ข้อยุติแล้ว เหลือแต่ในส่วนของประกาศที่จะต้องมีการเสนอ กบง . เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ให้ความเห็นว่า เรื่องพระราชบัญญัติและประกาศฯ กรมบัญชีกลางกำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นเกณฑ์กลางสำหรับทุกกองทุนหมุนเวียน เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นเอกภาพ ซึ่งประเด็นแรกเกี่ยวกับการนำเงินของกองทุนหมุนเวียนไปฝากไว้ที่กรมบัญชีกลางอาจจะยืดหยุ่นได้แต่คงต้องทำความตกลงกับคณะกรรมการกองทุนหมุนเวียน ส่วนประเด็นที่ 2 เรื่องการกำหนดเพดานวงเงินสูงสุด เนื่องจากบางกองทุนนำเงินไปเก็บโดยไม่เกิดประโยชน์ กรมบัญชีกลางจึงได้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาให้มีการคำนวณจำนวนเงินสะสมสูงสุดและนำเงินส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งอาจจะต้องหารือกันด้วยข้อเท็จจริงหากมีเหตุผลและตัวเลขที่ชัดเจน ก็สามารถต่อรองได้ ซึ่งประธานฯ ได้สรุปว่า กองทุนน้ำมันฯ ได้มีการหารือกับกรมบัญชีกลางแล้ว ไม่มีเงินส่วนเกิน ที่จะต้องนำส่งกระทรวงการคลัง

มติของที่ประชุม

ที่ประชุมรับทราบ


Published in มติกบง.
Tagged under
Be the first to comment!
Read more...
Thursday, 15 November 2018 16:51

ประกาศกบง.ฉบับที่ 73 พ.ศ. 2561

Published in ประกาศกบง.
Tagged under
Be the first to comment!
Read more...
Friday, 09 November 2018 10:12

ประกาศกบง.ฉบับที่ 72 พ.ศ. 2561

Published in ประกาศกบง.
Tagged under
Be the first to comment!
Read more...
Wednesday, 07 November 2018 10:51

ประกาศกบง.ฉบับที่ 70 พ.ศ. 2561

Published in ประกาศกบง.
Tagged under
Be the first to comment!
Read more...
Tuesday, 06 November 2018 15:23

สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 22 - 25 ตุลาคม 2561

Published in สถานการณ์ราคาน้ำมัน
Tagged under
Be the first to comment!
Read more...
Tuesday, 06 November 2018 15:16

สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 15 - 18 ตุลาคม 2561

Published in สถานการณ์ราคาน้ำมัน
Tagged under
Be the first to comment!
Read more...
Tuesday, 06 November 2018 08:56

ประกาศกบง.ฉบับที่ 71 พ.ศ. 2561

Published in ประกาศกบง.
Tagged under
Be the first to comment!
Read more...
Monday, 05 November 2018 16:29

รายงานผลการประชุม กบง. 5 พฤศจิกายน 61

รายงานผลการประชุม กบง. 5 พฤศจิกายน 61

Press - รายงานผลการประชุม กบง. 5 พ.ย. 61

Published in ข่าว สนพ.
Tagged under
Be the first to comment!
Read more...
Monday, 05 November 2018 16:14

รายงานผลการประชุม กบง. 26 ตุลาคม 61

รายงานผลการประชุม กบง. 26 ตุลาคม 61

Press - รายงานผลการประชุม กบง. 26 ต.ค. 61

Published in ข่าว สนพ.
Tagged under
Be the first to comment!
Read more...
StartPrev104105106107108109110111112113NextEnd
Page 109 of 217
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
กระทรวงพลังงาน
121/1-2 ถนนเพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร 0 2612 1555, โทรสาร 0 2612 1364
จากต่างประเทศ โทร +66 2612 1555, โทรสาร +66 2612 1364
Official Website : www.eppo.go.th

การปฎิเสธความรับผิดชอบ | นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์