
มติกพช. (139)
กพช. ครั้งที่ 61 - วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2539
มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 7/2539 (ครั้งที่ 61)
วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
1.รายงานผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
2.การลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
3.การพิจารณาช่วยเหลือท้องถิ่นเรื่องไฟฟ้าสาธารณะ
4.การเปิดให้เอกชนใช้บริการสายป้อนของการไฟฟ้าในบริเวณเขตอุตสาหกรรม
นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 รายงานผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (เพิ่มเติม) คณะกรรมการ พิจารณานโยบายพลังงาน ได้มีมติ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2539 พิจารณาให้การสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติมแก่กรมสรรพสามิต กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และกรมทะเบียนการค้า เพื่อใช้ในการดำเนินการปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากเห็นว่า จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมิเตอร์ของกรมสรรพสามิตนั้น ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่น่าจะช่วยยับยั้งการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทางทะเลได้เกือบทั้งหมด จึงได้อนุมัติให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพิ่มเติมแก่หน่วยงาน ต่างๆ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 709,821,242 บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายของกรมสรรพสามิต จำนวน 694,854,960 บาท กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จำนวน 4,560,362 บาท และกรมทะเบียนการค้า จำนวน 10,405,920 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับที่ได้อนุมัติครั้งก่อน จะรวมเป็นค่าใช้จ่ายที่ให้การสนับสนุนตามแผนการใช้จ่ายในปี 2540 ทั้งสิ้น 906,577,971.49 บาท
2. การติดตั้งมิเตอร์เพิ่มเติม ขณะนี้กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการติดตั้งมิเตอร์ ณ คลังน้ำมันดีเซลชายฝั่ง ทั่วประเทศ จำนวน 37 คลัง เสร็จสิ้นแล้ว ส่วนการติดตั้งมิเตอร์เพิ่มเติมในคลังน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจำนวน 19 คลัง และคลังน้ำมันเบนซินชายฝั่งทุกแห่งจำนวน 40 คลัง กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจข้อมูลรายละเอียดของคลังน้ำมันต่างๆ เพื่อพิจารณากำหนดรูปแบบ ระบบมิเตอร์ และจัดหาบริษัทมาดำเนินการติดตั้งมิเตอร์ต่อไป
3. การควบคุมผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและสารละลาย (โซลเว้นท์) กรมสรรพสามิต ได้ดำเนินการกำหนดให้ โซลเว้นท์เป็นสินค้าในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และยกเว้นภาษีให้หากนำไปใช้เพื่อการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว และกรมสรรพสามิตกำลังเร่งพิจารณากำหนดมาตรการควบคุมการยกเว้นภาษีโซลเว้นท์ ให้เหมาะสมและรัดกุม โดยพยายามให้กระทบต่อผู้ประกอบการโดยสุจริตน้อยที่สุด นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ขอยกเว้นภาษีโซลเว้นท์ ดำเนินการให้ผู้ผลิตโซลเว้นท์แจ้งชื่อ ที่อยู่ของลูกค้า รวมทั้งปริมาณการจำหน่ายให้กรมสรรพสามิตทราบ และสั่งการให้ เจ้าพนักงานสรรพสามิตในเขตท้องที่โรงงานโซลเว้นท์ตั้งอยู่ในเขตรับผิดชอบ ดำเนินการตรวจสอบดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิด หากพบพฤติกรรมน่าสงสัยให้ประสานกับกรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบในรายละเอียดต่อไป
4. การเติมสาร Marker ในน้ำมันที่เสียภาษีแล้ว กรมสรรพสามิตกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือก สาร Marker ที่เหมาะสม และศึกษาถึงวิธีการเติมสาร Marker การทดสอบที่แม่นยำ และศึกษาสิ่งแวดล้อมและปัจจัยที่ส่งผลกระทบของสาร Marker เมื่อได้ข้อสรุปจะได้พิจารณากำหนดวิธีการควบคุมการเติมสาร Marker ให้เหมาะสมและรัดกุมต่อไป
5. การดำเนินงานของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจปราบปรามทางทะเล หน่วยเฉพาะกิจปราบปรามทางทะเลของกองทัพเรือ กรมศุลกากร และกรมตำรวจ ได้ดำเนินการตรวจสอบลาดตระเวนทางทะเล และปรากฏผลว่า กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางสามารถจับกุมเรือบรรทุกน้ำมันได้ 2 ลำ คือ เรือ"นาริตา"ที่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะจวง ประมาณ 18 ไมล์ทะเล อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มีปริมาณน้ำมันดีเซล 300,000 ลิตร และเรือบรรทุกน้ำมัน "โฮอิมารู" บริเวณอ่าวไทย ห่างจากเกาะสัตกูดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 20 ไมล์ กิ่งอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีปริมาณน้ำมันดีเซล 600,000 ลิตร นอกจากนั้น เครื่องบินได้ลาดตระเวนพบเรือ TOYOTA MARU เรือโพธิ์ทะเล และเรือ "ORIENTAL CITY จอดลอยลำจำหน่ายน้ำมันให้แก่เรือกลางทะเลนอกทะเลอาณาเขต จึงได้บันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน และแจ้งให้เรือลาดตระเวนทราบและเข้าตรวจสอบ แต่ปรากฏว่าไม่พบเรือดังกล่าว
6. ผลการจับกุม ตั้งแต่เดือนมกราคม 2539-วันที่ 6 พฤศจิกายน 2539 สามารถจับกุมน้ำมันลักลอบ หนีภาษีได้เป็นจำนวน 7.9 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 5.3 ล้านลิตร หรือประมาณ 3 เท่าของปีก่อน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
จับกุมผู้กระทำผิด จำนวน 150 ราย
ผู้ต้องหา จำนวน 281 คน
เรือบรรทุกน้ำมัน จำนวน 30 ลำ
รถยนต์บรรทุกน้ำมัน จำนวน 50 คัน
ร้านจำหน่ายและสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 70 แห่ง
น้ำมันดีเซล จำนวน 7.9 ล้านลิตร
7. ปริมาณการจำหน่าย ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในเดือนตุลาคม 2539 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,466 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17 และเมื่อไม่รวมการใช้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแล้ว จะมีปริมาณทั้งสิ้น 1,311 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 13 ซึ่งอัตราการเพิ่มขึ้นดังกล่าวน่าจะเป็นผลมาจากการลักลอบนำเข้าลดลง
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 การลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2539 เห็นชอบข้อเสนอการปรับภาษีสรรพสามิตของกระทรวงการคลัง และได้มีมติ ดังนี้
(1) เห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงการคลังในการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมัน เบนซินและดีเซลเพิ่มขึ้นลิตรละ 0.09 และ 0.07 บาท ตามลำดับ
(2) ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ไปดำเนินการลดอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อ ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันเบนซินและดีเซลลงลิตรละ 0.04 บาท โดยมีผลบังคับใช้พร้อมกับ การปรับภาษีสรรพสามิต
(3) ให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ไปดำเนินการลดอัตราเงินนำส่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเบนซินและ ดีเซลลงลิตรละ 0.05 และ 0.03 บาท ตามลำดับ โดยมีผลบังคับใช้พร้อมกับการปรับภาษีสรรพสามิต
2. นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2539 กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานตามมติคณะ รัฐมนตรีในข้อ 1(2) โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11พฤศจิกายน 2539 เป็นต้นไป
3. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้ดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ฉบับที่ 49 พ.ศ. 2539 กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามมติ คณะรัฐมนตรีในข้อ 1(3) โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2539 เป็นต้นไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 การพิจารณาช่วยเหลือท้องถิ่นเรื่องไฟฟ้าสาธารณะ
สรุปสาระสำคัญ
1. ปัจจุบันหลักเกณฑ์การคิดค่าไฟฟ้าสาธารณะเพื่อช่วยเหลือท้องถิ่น ได้ให้สิทธิการใช้ไฟฟ้าสาธารณะ ไม่เกินร้อยละ 10 ของหน่วยการใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยในเขตเทศบาล สำหรับส่วนเกินให้คิดค่าไฟฟ้า ในอัตราของส่วนราชการ
2. กระทรวงมหาดไทย ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ นำเรื่องการพิจารณาช่วยเหลือท้องถิ่นเรื่องไฟฟ้าสาธารณะ เข้าพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติใน 2 ประเด็น คือ
2.1 พิจารณาปรับฐานการคิดหน่วยการใช้ไฟฟ้าจากฐานเดิม 150 หน่วย/เดือน เพิ่มเป็น 200 หน่วย/เดือน ในการจำแนกผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 2 และ
2.2 พิจารณายกเลิกหนี้ค้างชำระค่ากระแสไฟฟ้าสาธารณะของเทศบาลจำนวน 23 แห่ง ซึ่งเป็นหนี้ค้างชำระตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา เป็นจำนวนเงินประมาณ 16 ล้านบาท
3. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้ประชุมปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมการปกครอง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เรื่องการพิจารณาช่วยเหลือท้องถิ่นเรื่องไฟฟ้าสาธารณะ โดยมีข้อพิจารณาและข้อเสนอ ดังนี้
3.1 การพิจารณาปรับฐานการคิดหน่วยการใช้ไฟฟ้าสาธารณะ ให้มีการปรับฐานการให้สิทธิการใช้ไฟฟ้าสาธารณะ ซึ่งหมายถึง การให้สิทธิการใช้ไฟฟ้าสาธารณะให้เท่ากับร้อยละ 10 ของหน่วยการใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย และหน่วยการใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็กที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 200 หน่วย/เดือน ในเขตเทศบาล 66 แห่ง ที่รับโอนกิจการมาดำเนินการ โดยให้สามารถเกลี่ยการใช้ไฟฟ้าระหว่างปีเพื่อชดเชยในเดือนที่ใช้ไฟฟ้า ต่ำกว่าสิทธิได้ สำหรับในส่วนที่เกินให้คิดค่าไฟฟ้าในอัตราของส่วนราชการ ทั้งนี้ ให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ปีงบประมาณ 2540 โดยให้ยึดคำจำกัดความ "ไฟฟ้าสาธารณะ" ตามที่เทศบาล 66 แห่ง มีข้อตกลงในการ รับโอนกิจการดังนี้
(1) กระแสไฟฟ้าสาธารณะ ให้หมายความรวมถึงกระแสไฟฟ้าที่ กฟภ. ได้จ่ายให้ภายในอาคารของเทศบาล เพื่อใช้ในกิจการของเทศบาล หรือเพื่อสาธารณะ ตลอดจนภายในบริเวณที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเทศบาล สถานีอนามัย สุขศาลา โรงพยาบาล สถานีดับเพลิง โรงฆ่าสัตว์ ตลาด โรงเรียน สุสาน ฌาปนสถาน สถานที่สำหรับการกีฬาและพลศึกษา สวนสาธารณะหรือสวนสัตว์ ส้วมสาธารณะ น้ำพุ หอกระจายเสียง วิทยุหรือโทรทัศน์สาธารณะ ไม่รวมถึงกระแสไฟฟ้าที่ใช้ภายในอาคาร และสถานที่ที่ดำเนินการโดยเทศพาณิชย์ หรือมีขึ้นเพื่อแสวงหาประโยชน์ เช่น ห้องแถว ตึกแถว สถานธนานุบาล การประปา โรงแรม บังกาโล หรือสถานที่พักแรมอื่นใดที่มีไว้เพื่อให้เช่า ซึ่งต้องชำระเงินค่ากระแสไฟฟ้าตามที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้กำหนดไว้เป็น ประเภทๆ แล้ว
(2) ให้เทศบาลมีหน้าที่จัดให้มีไฟฟ้าสาธารณะโดยติดตั้ง ปรับปรุง และบำรุงรักษาด้วย ค่าใช้จ่ายของเทศบาล
3.2 การยกเลิกหนี้ค้างชำระค่ากระแสไฟฟ้าสาธารณะของเทศบาลจำนวน 23 แห่ง เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย ที่จะให้ กฟภ. ยกหนี้ค้างชำระค่ากระแสไฟฟ้าสาธารณะของเทศบาล จำนวน 23 แห่ง ซึ่งเป็นหนี้ค้างชำระตั้งแต่ปี 2530 จนถึงสิ้นปี 2538 เป็นจำนวนเงิน 16 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ควรมีการพิจารณาหามาตรการอื่นมาเสริมเพื่อให้เทศบาลสามารถช่วยเหลือตัวเอง ได้ในระยะยาว โดยเร่งรัดให้มีการออกกฎหมายตามมาตรการปรับปรุงรายได้ของส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้เทศบาลมีการประหยัดการใช้จ่าย และมีการบริหารการคลังที่ดี หากเทศบาลยังมีปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย กระทรวงมหาดไทยควรขอรับเงินอุดหนุนโดยตรงจากงบประมาณของรัฐบาล
3.3 การทำความเข้าใจกับเทศบาล 66 แห่ง เห็นควรให้กระทรวงมหาดไทยเจรจาทำความเข้าใจกับเทศบาล 66 แห่ง เพื่อให้ถือปฏิบัติตามสิทธิการใช้ไฟฟ้าสาธารณะ ตามข้อ 3.1 ดังกล่าว โดยไม่ควรให้มีการพิจารณาปรับฐานการคิดหน่วยการใช้ไฟฟ้าสาธารณะอีก และหากมีการใช้ไฟฟ้าสาธารณะเกินกว่าสิทธิที่ได้รับก็ขอให้ชำระค่าไฟฟ้าส่วน ที่เกินนี้ โดยไม่ควรให้ กฟภ. ต้องรับภาระหนี้ค้างชำระของเทศบาลอีก
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย ดังนี้
1.1 ให้ กฟภ. พิจารณาปรับฐานการให้สิทธิการใช้ไฟฟ้าสาธารณะให้เท่ากับร้อยละ 10 ของหน่วยการใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและหน่วยการใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการ ขนาดเล็กที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 200 หน่วย/เดือน โดยสามารถเกลี่ยการใช้ไฟฟ้าระหว่างปีเพื่อชดเชยในเดือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า สิทธิได้ สำหรับในส่วนที่เกินให้คิดค่าไฟฟ้าในอัตราของส่วนราชการ โดยให้เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2540 ทั้งนี้ ให้นำการปรับฐานการให้สิทธิดังกล่าวไปใช้กับหน่วยงานเหล่านี้คือ เทศบาล 66 แห่ง ที่รับโอนกิจการมาดำเนินการ เทศบาลนอกเหนือจาก 66 แห่ง สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และสภาตำบล
1.2 ให้ กฟภ. ยกเลิกหนี้ค้างชำระค่ากระแสไฟฟ้าสาธารณะของเทศบาลที่มีข้อตกลงในการรับโอน กิจการจาก กฟภ. ซึ่งเป็นหนี้ค้างชำระตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา จนถึงปีงบประมาณ 2539
2. ให้กระทรวงมหาดไทยเจรจาทำความเข้าใจกับเทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และสภาตำบล เพื่อให้ยอมรับการปรับฐานการคิดหน่วยการใช้ไฟฟ้าสาธารณะใหม่ ตามข้อ 1.1 และให้ถือเป็นที่ยุติ ไม่ให้นำกลับมาขอปรับฐานการคิดหรือขอยกเลิกหนี้ค้างชำระอีกต่อไป
เรื่องที่ 4 การเปิดให้เอกชนใช้บริการสายป้อนของการไฟฟ้าในบริเวณเขตอุตสาหกรรม
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2539 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2539 (ครั้งที่ 57) เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2539 ให้ขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กในช่วงปี 2539-2543 จาก 1,444 เมกะวัตต์ เป็น 3,200 เมกะวัตต์ โดยคัดเลือกจากโครงการที่ยื่นข้อเสนอต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จัดทำการศึกษาปรับปรุงระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าในช่วงปี 2544 เป็นต้นไป และศึกษาความเหมาะสมในการให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิต เอกชนโดยตรง โดยใช้บริการผ่านสายส่งและสายจำหน่ายของการไฟฟ้า
2. สพช. ได้ดำเนินการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ศึกษาถึงแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก ในช่วงปี 2544 เป็นต้นไป และศึกษาความเหมาะสมในการให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิต เอกชนโดยตรง โดยใช้บริการผ่านสายส่งและสายจำหน่ายของการไฟฟ้า โดยได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัท New England Electric Resources, Inc. เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2539 คาดว่าการศึกษาดังกล่าวจะแล้วเสร็จ ประมาณต้นปี 2540
3. กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องผลกระทบของนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมให้เอกชนผลิตไฟฟ้า เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนนโยบายดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยได้รับรายงานจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ว่าเกือบทุกนิคมอุตสาหกรรมมีแผนงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับโรง งานอุตสาหกรรมได้โดยตรง ซึ่ง กฟภ. เห็นว่าจะมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของ กฟภ. และจะมีผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวม ด้วยเหตุผล ดังนี้
3.1 ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนจะก่อสร้างระบบจ่ายไฟฟ้าใหม่ ซึ่งเป็นการลงทุนซ้ำซ้อนกับการลงทุนของ กฟภ. ที่ก่อสร้างระบบไว้แล้ว
3.2 ภายใต้ระบบ Uniform Tariff และการชดเชยรายได้ระหว่างพื้นที่ หากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ขายไฟฟ้าให้โรงงานอุตสาหกรรมโดยตรงได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าที่ให้ผลตอบแทนสูง ในระยะต่อไป กฟภ. จะไม่มีรายได้เพียงพอที่จะนำไปชดเชยผู้ใช้ไฟฟ้าในส่วนภูมิภาคและชนบทได้
3.3 กฟภ. จัดทำการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าล่วงหน้า 10-15 ปี จัดทำแผนการลงทุนระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า หากผู้ใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมไม่ใช้ไฟฟ้าจากระบบ แต่ใช้ไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนแทน การลงทุนดังกล่าวก็จะไม่คุ้มค่า
3.4 แม้จะมีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน แต่ กฟภ. จะต้องสำรองไฟฟ้าในกรณีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนชำรุด ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าสำรองปัจจุบันมีอัตราต่ำ ไม่คุ้มกับการลงทุน
4. กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาปัญหาดังกล่าวข้างต้น และมีข้อเสนอเห็นควรให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าแทน การก่อสร้างสายจำหน่ายของตนเอง เพื่อจ่ายให้ลูกค้าได้โดยตรง โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขายให้แก่การไฟฟ้า เห็นควรให้เจรจาเป็นกรณีๆ ไป โดยให้หน่วยงานกลางของรัฐบาล เช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม เพื่อให้เป็นประโยชน์และเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
5. สพช. ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง สศช. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง เข้าร่วมประชุมหารือถึงประเด็นปัญหาตามข้อ 3 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 ซึ่งที่ประชุมมีข้อพิจารณาสรุปได้ ดังนี้
5.1 นโยบายส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (SPP/IPP) เป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากเป็นการส่งเสริมการแข่งขันในด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งสอด คล้องกับแนวทาง ในการแปรรูปกิจการไฟฟ้าในอนาคต ที่ต้องการให้กิจการผลิตไฟฟ้ามีผู้ผลิตหลายราย ส่วนกิจการระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าในอนาคตจะมีลักษณะเปิดเป็น Common Carrier ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจาก ผู้ผลิตได้โดยตรง โดยผ่านบริการสายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้าที่มีอยู่ ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกมากขึ้น
5.2 การไฟฟ้านครหลวงเสนอเพิ่มเติมขอให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายสามารถร่วมทุนกับผู้ ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก หรือการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กได้โดยตรง ที่ประชุมเห็นว่า การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายยังเป็นกิจการผูกขาด หากดำเนินการร่วมทุนกับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กหรือรับซื้อไฟฟ้าเองในขณะนี้ จะเกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่นๆ ยกเว้นจะมีการแปรรูปกิจการและระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้มีลักษณะเป็น Common Carrier แล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตรายเล็กอื่นสามารถแข่งขัน โดยสามารถใช้ระบบสายส่งและสายจำหน่ายได้เท่าเทียมกัน
5.3 ประเด็นที่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กลงทุนในระบบสายป้อน เป็นการลงทุนซ้ำซ้อนกับระบบของ กฟภ. นั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่า ควรให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ ดำเนินการโดยเอกชน สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้า แทนการก่อสร้างสายจำหน่ายหรือสายป้อนของตนเอง โดยการไฟฟ้าจะได้รับค่าบริการในการผ่านสายเป็นผลตอบแทนในการลงทุนในระบบ จำหน่ายดังกล่าว ซึ่งควรจะรอผลการศึกษาที่ สพช. ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการให้ผู้ใช้ไฟฟ้า สามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนโดยตรง โดยใช้บริการผ่านสายส่งและสายจำหน่ายของการไฟฟ้า รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าผ่านสายดังกล่าวและความเหมาะสมของอัตราค่าไฟฟ้า สำรอง สำหรับการซื้อขายไฟฟ้าภายในเขตอุตสาหกรรม ให้เป็นการเจรจาตกลงระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้าได้โดยตรงเช่นใน ปัจจุบันต่อไป
5.4 เรื่องที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย จำเป็นต้องลงทุนก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อให้บริการไฟฟ้าสำรองแก่ผู้ ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก หากมีการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กจำนวนมากจะมีผลต่อการวางแผนการลงทุนและ กระทบรายได้ของการไฟฟ้า ในเรื่องนี้ที่ประชุมมีความเห็นว่า การจัดทำการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าของคณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการ ไฟฟ้า ควรคำนึงถึงการผลิตและการจำหน่ายไฟฟ้าของผู้ผลิตรายเล็ก ทั้งการจำหน่ายเข้าระบบตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก และการจำหน่ายให้ลูกค้าตรง เพื่อให้การไฟฟ้านำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการลงทุนอย่างเหมาะสมต่อไป
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบในหลักการให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขต อุตสาหกรรมที่ดำเนินการ โดยเอกชน สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าแทนการก่อสร้างสายจำหน่ายหรือสายป้อนของ ตนเอง โดยเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถใช้บริการสายป้อนของการไฟฟ้าได้ ซึ่งจะแก้ไขปัญหาการลงทุนซ้ำซ้อนกับการไฟฟ้า ฝ่ายจำหน่าย และการไฟฟ้าก็จะได้ใช้ประโยชน์จากสายป้อนที่ตนเองได้สร้างไว้แล้ว ส่วนการซื้อขายไฟฟ้าภายในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ดำเนินการโดย เอกชน ให้เป็นการเจรจาตกลงระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้าได้โดยตรงเช่นใน ปัจจุบันต่อไป โดยมอบหมายให้ สพช. และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง รับไปดำเนินการกำหนดอัตราค่าบริการ และเงื่อนไขในการใช้บริการสายป้อนที่เหมาะสมและประกาศใช้ต่อไป
2.เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า จัดทำการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า โดยคำนึงถึงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของผู้ผลิตรายเล็ก ทั้งในการจำหน่ายเข้าระบบตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก และการจำหน่ายให้ลูกค้าตรง เพื่อให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง นำข้อมูลไปใช้ในการวางแผน การลงทุนอย่างเหมาะสมต่อไป
เรื่องที่ 5 เรื่องอื่น ๆ
ที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติครั้งที่ 6/2539 (ครั้งที่ 60) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2539 เรื่อง การประกวดราคาน้ำมันเตาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และข้อเสนอปรับปรุงอัตราการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในการประชุม เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2539 โดยที่ประชุมได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง พอสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2539 ได้มีการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติของผู้ประกวดราคาน้ำมันเตา โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอให้มีการเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ประกวดราคาน้ำมัน เตาว่าต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีกำไรจากการประกอบการปีละไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ติดต่อกัน 5 ปี ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวรองนายกรัฐมนตรี (นายอำนวย วีรวรรณ) มีความเห็นว่าไม่ควรกำหนดคุณสมบัติของผู้ประกวดราคาว่าจะต้องจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือกำหนดเงื่อนไขอื่นที่ไม่มีความจำเป็นเนื่องจากจะทำให้มีผู้แข่งขันน้อย ราย และเมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติแล้วก็ไม่ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงในระดับของคณะ กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้คณะรัฐมนตรี
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) มีความเห็นว่า การเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ประกวดราคาน้ำมันเตาว่าจะต้องมีกำไรจากการ ประกอบการปีละไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี นับว่ามีประโยชน์และมีความมั่นคงกว่าการที่จะกำหนดว่าจะต้องจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ฯ ซึ่งในเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็เห็นด้วยแล้วว่าไม่ต้องจด ทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ให้คงคุณสมบัติว่าจะต้องมีกำไรติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี ส่วนเรื่องข้อเสนอปรับปรุงอัตราการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีมติให้เลื่อน กำหนดเวลาสำรองน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาของผู้นำเข้าในอัตราร้อยละ 10 ไปอีก 2 ปีนั้น ได้มีการลดอัตราเงินเรียกเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ผู้ผลิตใน ประเทศ เพื่อเป็นการชดเชยที่ต้องสำรองน้ำมันในอัตรา ร้อยละ 10 อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากที่ประชุมเห็นสมควรว่าน่าจะมีการทบทวนใหม่ ก็สามารถนำมาพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติครั้งต่อไป ได้
ประธานฯ ได้ให้ข้อสรุปว่า เรื่องคุณสมบัติของผู้ประกวดราคาน้ำมันเตานั้นควรให้เป็นไปตามมติคณะ รัฐมนตรีที่ได้มีมติให้เพิ่มเติมเฉพาะผลกำไรจากการประกอบการปีละไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ติดต่อกัน 5 ปี ส่วนข้อเสนอการปรับปรุงอัตราการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง หากจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ขอให้นำไปพิจารณากันในรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป
กพช. ครั้งที่ 60 - วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2539
มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 6/2539 (ครั้งที่ 60)
วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2539 เวลา 14.00 น.
ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
1.รายงานผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
2.แผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
3.ข้อเสนอปรับปรุงอัตราการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง
4.การประกวดราคาน้ำมันเตาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
5.แนวทางในการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก
7.เรื่องการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP)
นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 รายงานผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ในปีงบประมาณ 2539 คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ได้มีมติอนุมัติค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ไปแล้ว เป็นจำนวนทั้งสิ้น 145,818,253.28 บาท และสำหรับในปีงบประมาณ 2540 คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานในการประชุมครั้งที่ 4/2539 (ครั้งที่ 21) เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2539 ได้พิจารณาแผนการใช้เงินในปี 2540 ของหน่วยงานต่าง ๆ และได้มีมติอนุมัติ ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในปี 2540 เท่าที่เห็นว่าจำเป็นและจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานยิ่งขึ้น เป็นจำนวน ทั้งสิ้น 180,018,189.22 บาท ดังนี้
กองทัพเรือ 66,834,660.48 บาท
กรมศุลกากร 2,000,000.00 บาท
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง 94,924,237.00 บาท
กรมสรรพสามิต 7,361,080.00 บาท
สพช. 8,898,211.74 บาท
รวมทั้งสิ้น 180,018,189.22 บาท
ค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมิเตอร์เพิ่มเติมใน คลังน้ำมันดีเซลหมุนเร็วและคลังน้ำมันเบนซินชายฝั่งรวม 57 คลัง ของกรมสรรพสามิต และค่าใช้จ่ายของกรมทะเบียนการค้าซึ่งยังมีค่าใช้จ่าย บางส่วนไม่ชัดเจนและมีความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานกับหน่วยงานอื่น ส่วนการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ ทางทะเลของกรมศุลกากร จำนวน 2 ลำ ขนาดความยาวไม่น้อยกว่า 80 ฟุต ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 32 น็อต และมีความเร็วสูงสุดต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 น็อต สร้างด้วยอลูมิเนียมอัลลอยด์ ราคาลำละ 53 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 106,000,000 บาท เพื่อทดแทนเรือเก่าซึ่งกรมศุลกากรได้ขอใช้งบประมาณในปี 2540 แล้ว แต่ได้ถูกพิจารณาตัดงบประมาณ คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดซื้อครุภัณฑ์ทดแทนครุภัณฑ์เดิมที่กำลังจะหมดอายุการใช้งานนั้น สามารถขอรับการสนับสนุนจากสำนักงบประมาณให้จัดหา ค่าใช้จ่ายสนับสนุนให้ได้ และเห็นควรให้กรมศุลกากรเสนอแผนขอใช้เงินดังกล่าวอีกครั้งในปีงบประมาณ 2541 โดยขอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มอบหมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดหางบประมาณ ในปี 2541 ให้แก่กรมศุลกากรเพื่อจัดซื้อเรือดังกล่าว
2. ผลการจับกุม ตั้งแต่เดือนมกราคม 2539-5 ตุลาคม 2539 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจับกุมน้ำมันลักลอบหนีภาษีได้เป็นจำนวน 6.9 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 4.2 ล้านลิตร หรือประมาณ 2.6 เท่าของปีก่อน และในช่วงตั้งแต่วันที่8 สิงหาคม 2539-5 ตุลาคม 2539 สามารถจับกุมน้ำมันลักลอบนำเข้าได้ทั้งหมดเป็นจำนวน 736,780 ลิตร โดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางสามารถจับกุมเรือบรรทุกน้ำมัน 3 ลำ คือ สามารถจับกุมเรือ "โมลีวิเชียร" ที่บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีปริมาณน้ำมันดีเซล 30,000 ลิตร เรือประมงไม่มีชื่อ ที่บริเวณจังหวัดภูเก็ตมีปริมาณน้ำมันดีเซล 4,000 ลิตร และเรือบรรทุกน้ำมันชื่อ "โกโตมารู" ที่บริเวณจังหวัดภูเก็ต มีปริมาณน้ำมันดีเซล 600,000 ลิตร นอกจากนั้นยังสามารถจับกุมรถบรรทุกน้ำมันได้จำนวน 9 คัน มีปริมาณน้ำมันดีเซล 44,560 ลิตร และร้านค้า สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 25 ราย มีปริมาณน้ำมันดีเซลทั้งสิ้นจำนวน 58,220 ลิตร ซึ่งสรุปผลการจับกุมได้ดังนี้
ผลการจับกุมผู้กระทำผิดคดีลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
เปรียบเทียบเดือนมกราคม -5 ตุลาคม2539 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน
หน่วยงานที่จับกุม | จำนวนคดี | ปริมาณน้ำมัน (ลิตร) | + เพิ่ม | ||
2538 | 2539 | 2538 | 2539 | - ลด | |
- กองทัพเรือ | 8 | 8 | 613,636 | 790,000 | 176,364 |
- กรมศุลกากร | 5 | 6 | 990,046 | 2,229,324 | 1,239,278 |
- กรมตำรวจ | 67 | 126 | 1,106,462 | 3,975,507 | 2,869,045 |
รวม | 80 | 140 | 2,710,144 | 6,994,831 | 4,284,687 |
3. ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลทั้งหมดในเดือนสิงหาคม 2539 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,528 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน และเมื่อไม่รวมการใช้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแล้วจะมีปริมาณทั้ง สิ้น 1,403 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน อัตราเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายดังกล่าวนี้สูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปกติของประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นส่วนของน้ำมันลักลอบนำเข้าได้เข้าสู่ระบบมากขึ้น
มติของที่ประชุม
1.รับทราบรายงานผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
2.ให้กรมศุลกากรเสนอขอใช้เงินงบประมาณปี 2541 จัดซื้อเรือตรวจการณ์ทางทะเลเพื่อใช้ทดแทน เรือเดิมที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 14-20 ปี จำนวน 2 ลำ ขนาดความยาวไม่น้อยกว่า 80 ฟุต ความเร็วสูงสุด ไม่น้อยกว่า 32 น็อต และมีความเร็วสูงสุดต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 น็อต สร้างด้วยอลูมิเนียมอัลลอยด์ ราคาลำละ 53 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 106,000,000 บาท (หนึ่งร้อยหกล้านบาทถ้วน)
3.ให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดหางบประมาณให้แก่กรมศุลกากร เพื่อจัดซื้อเรือตามข้อ 2 ในปี งบประมาณ 2541 ด้วย
เรื่องที่ 2 แผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2539 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จัดทำแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาวและแผนการ ลงทุนระยะยาวของระบบท่อก๊าซฯ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยแผนการลงทุนและแผนการจัดหาก๊าซฯ ดังกล่าว สมควรมีการปรับปรุงทุกระยะตามความเหมาะสม และให้ ปตท. รายงานผลการดำเนินงานตามแผนการจัดหาก๊าซฯ และแผนการลงทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.)และ กพช. เพื่อทราบทุกปี โดยเมื่อ ปตท. ได้ดำเนินการเจรจาราคาและสัญญาซื้อขายก๊าซฯ จากแหล่งใดจนมีข้อยุติแล้ว ให้นำเสนอ สพช. เพื่อนำเสนอ กพช. อนุมัติต่อไป
2. กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอขออนุมัติแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (Pipeline Master Plan) ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2540-2548 ของ ปตท. เพื่อให้ สพช. พิจารณานำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา อนุมัติในหลักการ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
2.1 ผลการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทระบบท่อ สรุปได้ดังนี้
(1) การศึกษาเปรียบเทียบความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติและแหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่จะส่งให้ ปตท. ในปี 2543 พบว่า
ระบบท่อในทะเลไม่เพียงพอในการส่งก๊าซธรรมชาติ
จะต้องมีท่อส่งก๊าซธรรมชาติเชื่อมต่อจากราชบุรีไปวังน้อย
จะต้องมีท่อในทะเลจากชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อที่จะรับก๊าซฯ จากแหล่งไพลิน และ JDA หรือ NATUNA เข้ามาเชื่อมต่อกับระบบท่อในทะเลปัจจุบัน
(2) การศึกษาทางเลือกในการต่อท่อ พบว่าการต่อท่อจากแหล่งเอราวัณ ของ UNOCAL มาเชื่อมกับท่อบนบกที่มีอยู่ในปัจจุบันจะมี 3 แนวทาง โดยแนวทางเลือก A คือ ต่อท่อจากเอราวัณตรงไปยังระบบท่อที่โรงไฟฟ้าราชบุรี ขึ้นบกที่สมุทรสงครามแล้วไปเชื่อมต่อท่อพม่าที่ราชบุรี จะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพราะทำให้ระบบการจัดจ่ายก๊าซธรรมชาติมีความคล่องตัวและมั่นคง อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการน้อยที่สุด
(3) แผนแม่บทระบบท่อได้กำหนดแนวท่อเผื่อเลือกไว้ในกรณีที่ความต้องการก๊าซ ธรรมชาติ มีเพิ่มขึ้นจากการประมาณการตามข้อสมมติฐานข้างต้น ดังนี้
ต่อท่อในทะเลจากแหล่งไพลิน ไปยังจังหวัดสงขลา และเชื่อมต่อไปยังชายแดนประเทศมาเลเซีย เพื่อสนองความต้องการบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ
ต่อท่อจากขนอมไปยังโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้ากระบี่
ต่อท่อเชื่อมในทะเลไปยังบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ต่อท่อเชื่อมจากทะเลไปยังแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และมาบข่า จังหวัดระยอง
2.2 แผนการลงทุนตามแผนงานโครงการหลัก และโครงการแนวท่อเผื่อเลือก ในช่วงปี 2540-2548 มีวงเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 78,052 ล้านบาท ซึ่งผลตอบแทนการลงทุนตามโครงการต่างๆ โดยรวมในเบื้องต้น มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการลงทุน กล่าวคือ โครงการท่อส่งก๊าซฯ จากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA)-ราชบุรี และโครงการท่อส่งก๊าซฯ จากราชบุรี-วังน้อย มีผลตอบแทนการลงทุน ร้อยละ 17 และ ร้อยละ 13 โดยมีระยะเวลาคืนทุน 16 และ 24 ปี ตามลำดับ ซึ่งจากการวิเคราะห์สถานะการเงินโดยการประมาณการผลกำไร งบดุล และกระแสเงินสด ตามการลงทุนตามแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติแล้ว พบว่า ปตท. มีสภาพคล่องทางการเงินสามารถลงทุนตามแผนแม่บทได้ โดยไม่กระทบกระเทือนต่อกระแส เงินสดหมุนเวียนและผลกำไรในระยะยาว
3. สพช. พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ปตท. ได้ร่วมกันพิจารณาแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (Pipeline Master Plan) ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2540-2548 แล้ว มีความเห็นดังนี้
3.1 การจัดทำแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. จะต้องมีรายงานผลการติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานให้ทราบทุกระยะ โดยเฉพาะในส่วนของโครงการตามแนวท่อเผื่อเลือก หรือ เมื่อโครงการบางโครงการไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนด ปตท. จะต้องทบทวนและปรับปรุงแผนแม่บททันทีในลักษณะ Rolling Plan
3.2 ควรให้ ปตท. นำโครงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วบรรจุไว้ในแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซ ธรรมชาติดังกล่าวด้วย
3.3 ควรให้ กฟผ. พิจารณาปรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนสุราษฎร์ธานี ที่ได้รับอนุมัติให้บรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสุราษฎร์ธานี เพื่อใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง
3.4 ในการวางแผนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้า ปตท. ควรพิจารณาถึงเงื่อนไขการปฏิบัติการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อให้ระบบท่อก๊าซธรรมชาติมีความสามารถรองรับความต้องการก๊าซ ธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขการปฏิบัติการผลิตไฟฟ้าของแต่ละโรงไฟฟ้า ดังกล่าวได้
3.5 เนื่องจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยบางแหล่งมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สูง ดังนั้นในการปรับแผนแม่บทครั้งต่อไปควรมีการระบุแนวทางในการใช้ประโยชน์ก๊าซ ธรรมชาติที่มีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงให้ชัดเจน โดยให้ ปตท. ทำการศึกษาว่าสมควรจะแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจากก๊าซธรรมชาติก่อนที่จะ ดำเนินการส่งก๊าซฯลงท่อ หรือควรมีท่อเฉพาะสำหรับก๊าซธรรมชาติที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง
3.6 ตามมติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้ ปตท. จัดทำแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาวและ แผนการลงทุนระยะยาวของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาตินั้น เห็นควรให้ ปตท. จัดทำแผนปฏิบัติการในการจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาวที่สอดคล้องกับแผนแม่บทฯ ดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3.7 เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความรวดเร็วและคล่องตัว เมื่อคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแผนแม่บทฯ แล้ว เห็นควรให้คณะรัฐมนตรีมอบอำนาจให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติ เป็นผู้อนุมัติรายละเอียดในแต่ละโครงการย่อยๆ ของแผนแม่บทฯ ดังกล่าว เช่นเดียวกับวิธีการอนุมัติโครงการลงทุนของ กฟผ. และ กฟภ.
3.8 โครงการท่อก๊าซธรรมชาติราชบุรี-วังน้อย และโครงการเอราวัณ-ราชบุรี ในช่วงสมุทรสงคราม-ราชบุรี เป็นโครงการเร่งด่วน ซึ่งต้องใช้เขตทางหลวง จึงควรขอการสนับสนุนจากกรมทางหลวงด้วย
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ฉบับที่ 1 ในช่วงปี พ.ศ. 2540-2548 ตามที่ ปตท. เสนอโดยให้คำนึงถึงความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในข้อ 3 เพื่อใช้เป็นกรอบในการลงทุนทางด้านการ ก่อสร้างระบบท่อและอุปกรณ์ต่างๆ โดยมีโครงการที่จะอนุมัติในช่วงปี 2540-2548 จำนวน 12 โครงการ วงเงินลงทุนทั้งสิ้น 78,052 ล้านบาท
2.ให้ใช้แผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติตามข้อ 1 เป็นกรอบของการพิจารณาในรายละเอียดของโครงการในช่วงปี พ.ศ. 2540-2548 โดยไม่ต้องเสนอขออนุมัติในระดับนโยบายอีก ยกเว้นโครงการที่มีประเด็นนโยบายพิเศษ โดยมีโครงการที่จะขออนุมัติดำเนินการในช่วง พ.ศ. 2540-2548 ดังนี้คือ
โครงการ | ขีดความสามารถ ในการส่ง (ล้าน ลบฟ./วัน) | กำหนดแล้วเสร็จ |
โครงการหลัก | ||
1. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งไพลิน | 2,000 | 2541 |
2. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งพื้นที่ พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ไปยังแหล่งเอราวัณ | 2,000 | 2542 |
3. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งเอราวัณ ไปยังจังหวัดราชบุรี | 2,000 | 2543 |
4. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากจังหวัดราชบุรี ไปอำเภอวังน้อย พระนครศรีอยุธยา | 700 | 2542 |
5. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งเบญจมาศ เชื่อมท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งทานตะวัน | 300 | 2543 |
6. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากท่อราชบุรี-วังน้อย ไปยังโรงจักรพระนครใต้ | 700 | 2548 |
โครงการตามแนวท่อเผื่อเลือก | ||
1. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งเอราวัณ - ราชบุรี ไปอำเภอบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ | 200 | 2545 |
2. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งไพลิน ไปยังจังหวัดสงขลา | 400 | 2548 |
3. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากชายแดนไทย - มาเลเซีย(จังหวัดยะลา)ไปยังจังหวัดสงขลา | 675 | 2548 |
4. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากท่อเอราวัณ - ราชบุรี ไปยัง แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี | 200 | 2545 |
5. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ไปยัง อำเภอมาบข่า จังหวัดระยอง | 200 | 2546 |
6. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากโรงแยกก๊าซขนอม ไปยังโรงไฟฟ้าที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และกระบี่ | 150 | 2544 |
3.ให้มีขั้นตอนการนำเสนอ และขออนุมัติโครงการ ดังนี้
(1) ให้ ปตท. เสนอรายละเอียดของโครงการแต่ละโครงการที่จะดำเนินการในช่วงปี 2540-2548 ดังกล่าวข้างต้น ต่อ สศช. โดยให้ สศช. รับพิจารณาเฉพาะโครงการที่อยู่ในแผนแม่บทตามข้อ 1 เท่านั้น
(2) ให้ ปตท. จัดทำและเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อขอความเห็นชอบไปยังสำนักงาน นโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
(3) ให้ สผ. เสนอความเห็นต่อ สศช.
(4) ให้ สศช. พิจารณาอนุมัติโครงการ โดยคำนึงถึงความเห็นของ สผ.
(5) หากไม่มีประเด็นนโยบายที่สำคัญและเป็นโครงการที่กำหนดให้ ปตท. เป็นผู้ดำเนินการเอง โดยให้ สศช. นำเสนอกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการจัดหาเงินกู้ต่อไป และนำเสนอคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อทราบ
(6) หากเป็นโครงการที่มีประเด็นนโยบายที่สำคัญให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
4.ในกรณีที่เป็นโครงการที่ไม่ได้บรรจุอยู่ในแผนแม่บทตามข้อ 1 หรือเป็นโครงการเร่งด่วน เห็นควรให้ ปตท. นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อบรรจุไว้ในแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของการปิโตรเลียมแห่งประเทศ ไทย ต่อไป
5.ให้ ปตท. ได้รับการสนับสนุนจากกรมทางหลวงในการใช้เขตทางหลวง เพื่อวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติสำหรับโครงการก่อสร้างท่อที่มีความจำเป็นเร่ง ด่วน คือ โครงการราชบุรี-วังน้อย และโครงการเอราวัณ (ERP2)-ราชบุรี ช่วงสมุทรสงคราม-ราชบุรี เพื่อให้โครงการดังกล่าวแล้วเสร็จทันตามเป้าหมายในการสนองความต้องการใช้ ก๊าซธรรมชาติของประเทศ
เรื่องที่ 3 ข้อเสนอปรับปรุงอัตราการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2536 อนุมัติให้เพิ่มอัตราสำรองของน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาในส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำมันที่นำเข้า โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2540 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับน้ำมัน ที่กลั่นในประเทศซึ่งต้องสำรองในรูปน้ำมันดิบร้อยละ 5 และน้ำมันสำเร็จรูปร้อยละ 5 รวมเป็นร้อยละ 10 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2536) เรื่อง กำหนดชนิดและอัตราของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องสำรอง ลงวันที่ 2 กันยายน 2536 เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว
2. ต่อมาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2539 ได้มีการพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ที่ให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีในเรื่อง อัตราการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งกำหนดให้เพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันสำเร็จรูปที่นำเข้าจากอัตราร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2540 โดยกระทรวงพาณิชย์เห็นควรให้คงการสำรองน้ำมันสำเร็จรูปที่นำเข้าในอัตราร้อย ละ 5 ต่อไป คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีมติให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) รับไปพิจารณาและนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาต่อไป
3. เหตุผลในการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีใหม่ เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์เห็นว่าการเพิ่มอัตราสำรองดังกล่าวจะส่งผลกระทบทั้ง ด้านเศรษฐกิจและนโยบายการค้าของรัฐ ดังนี้
3.1 ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการลงทุน เนื่องจากผู้ค้าน้ำมันต้องมีภาระต้นทุนในการเก็บรักษาและจัดสร้างถังเก็บ น้ำมันที่ต้องสำรองเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในที่สุดภาระดังกล่าวจะถูกผลักไปยังประชาชนผู้บริโภค และทำให้สินค้ามีราคาเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นปัจจัยหลักที่ใช้ในกิจการอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และเกษตรกรรม รวมทั้งการขนส่ง นอกจากนี้ จากการประมาณการการใช้ และการผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็วภายในประเทศปี พ.ศ. 2540 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า ประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันประมาณ 4,804 ล้านลิตร และแนวโน้มการนำเข้าในปี พ.ศ. 2541-2545 จะมีปริมาณรวมถึง 72,362 ล้านลิตร ดังนั้น ภาระต้นทุนสำรองของผู้ค้าน้ำมันจึงสูงขึ้น โดยเฉลี่ย 47 สตางค์/ลิตร คิดเป็นเงินทุนตั้งแต่ปี 2541-2545 ประมาณ 34,010 ล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม
3.2 ผลกระทบต่อนโยบายการค้าของรัฐ การกำหนดอัตราสำรองการนำเข้าเพิ่มขึ้นย่อมทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เนื่องจากผู้ค้าน้ำมันรายย่อยจะต้องนำเข้าทั้งหมดและจะเสียเปรียบในเชิงการ แข่งขันด้านการตลาด เนื่องจากจะมีต้นทุนสูงจากภาษีอากรขาเข้าและรับภาระในการสำรองที่เพิ่มขึ้น แต่ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่สามารถเก็บน้ำมันสำรองในโรงกลั่นได้ โดยยังไม่เสียภาษีสรรพสามิตและอากรขาเข้า จึงอาจทำให้ผู้ค้าน้ำมัน รายย่อยไม่สามารถดำเนินกิจการค้าน้ำมันต่อไปได้และต้องเลิกกิจการไป ซึ่งมีผลทำให้กลุ่มผู้ค้าน้ำมันที่เหลือสามารถร่วมกันกำหนดราคาน้ำมันเชื้อ เพลิงได้
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์เห็นว่า อัตราสำรองควรอยู่ในระดับร้อยละ 5 เท่านั้น เนื่องจากแต่เดิม ได้มีการกำหนดอัตราสำรองไว้เพียงร้อยละ 3 และได้มีการเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5 เพราะสถานการณ์ การสู้รบระหว่างคูเวตกับอิรัค ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยสามารถจัดหาน้ำมันสำเร็จรูปจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ได้ในเวลา 1-3 วัน และบรูไน 7 วัน
4. สพช. ได้พิจารณาความเห็นและข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์แล้ว มีความเห็น ดังนี้
4.1 ความเท่าเทียมกันในการแข่งขันทำการค้า ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดให้เพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันสำเร็จรูปที่นำเข้าจาก อัตราร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 10 มีจุดมุ่งหมายที่จะแก้ไขปัญหาความเสียเปรียบของผู้กลั่นน้ำมันในประเทศต่อ ผู้นำเข้า เพื่อให้สามารถแข่งขันกันจำหน่ายน้ำมันบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันในระบบราคา น้ำมันลอยตัว เพราะน้ำมันที่ผลิตในประเทศต้องสำรองในอัตราร้อยละ 10 ในขณะที่น้ำมันที่นำเข้าสำรองในอัตราเพียงร้อยละ 5 ทำให้น้ำมันที่ผลิตในประเทศมีต้นทุนการสำรองสูงกว่าน้ำมันที่นำเข้า 5 สตางค์/ลิตร ซึ่งในเรื่องนี้ผู้นำเข้าได้ทราบถึงการเพิ่มอัตราสำรองล่วงหน้ามา 3 ปีแล้ว จากประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2536) เรื่อง กำหนดชนิดและอัตราของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องสำรอง ลงวันที่ 2 กันยายน 2536 แต่สาเหตุที่ให้เริ่มบังคับใช้การเพิ่มสำรองในส่วนผู้นำเข้าในปี 2540 ก็เพื่อลดผลกระทบต่อผู้นำเข้า โดยให้มีเวลาเตรียมการในการจัดหาและก่อสร้างสถานที่จัดเก็บน้ำมันสำรองเพิ่ม ขึ้น และเพื่อให้โรงกลั่นน้ำมันของเชลล์และคาลเท็กซ์ ก่อสร้างเสร็จ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปน้อยมาก
4.2 ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ การที่รัฐกำหนดให้มีการสำรองน้ำมันดิบร้อยละ 5 และน้ำมันสำเร็จรูปร้อยละ 5 ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้า ก็เพื่อที่จะให้มีการสำรองโดยรวมร้อยละ 10 ซึ่งเพียงพอใช้ได้ในระดับความต้องการปกติ 36 วัน และเตรียมไว้เป็นมาตรการป้องกันการขาดแคลนน้ำมัน หากประเทศไทยไม่สามารถนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมที่ไม่มีแหล่งน้ำมันดิบในประเทศ จะมีระดับการสำรองประมาณ 90 วัน จึงนับว่า การสำรองน้ำมันของไทยซึ่งไม่มีแหล่งพลังงานภายในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น แม้ประเทศไทยจะยังไม่สามารถมีปริมาณน้ำมันสำรองในระดับดังกล่าวได้ แต่ก็ควรคงระดับการสำรองในปัจจุบันไว้ก่อน โดยไม่ควรมีการปรับอัตราสำรองให้ลดลง
ส่วนการจัดหาน้ำมันจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงโดยสามารถนำเข้าได้ใน ระยะเวลาอันสั้น ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้ประเทศไทยลดสำรองลงได้ เพราะการจัดซื้อดังกล่าวไม่ใช่หลักประกันว่าหากเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันขาดแคลน ขึ้น ประเทศดังกล่าวจะยังคงจำหน่ายน้ำมันให้กับประเทศไทยตามปกติ และในสภาพการณ์เช่นนั้น หากประเทศไทยจะหันไปเพิ่มปริมาณน้ำมันสำรองของตนเองก็คงไม่ทันการณ์ เพราะจะจัดซื้อน้ำมันจากต่างประเทศได้ยากมาก
4.3 ผลกระทบต่อราคาสินค้า การเพิ่มอัตราสำรองของน้ำมันดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อราคาสินค้า เนื่องจากผู้นำเข้าจะไม่สามารถขึ้นราคาจำหน่ายน้ำมันที่นำเข้า เพราะจะต้องแข่งขันราคาจำหน่ายกับผู้จำหน่ายน้ำมันที่ผลิตในประเทศ ซึ่งสำรองน้ำมันในอัตราร้อยละ 10 อยู่แล้วในปัจจุบัน และปริมาณน้ำมันที่นำเข้าในปี 2540 คาดว่าจะมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับน้ำมันที่ผลิตในประเทศ และการที่ผู้นำเข้าไม่สามารถขึ้นราคาน้ำมันนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้นำเข้า เพราะเป็นการลดผลกำไรของผู้นำเข้าส่วนที่สูงกว่าผู้ผลิตในประเทศ เนื่องจากมีภาระการสำรองน้ำมันต่ำกว่าลงมาเท่ากับผู้ผลิตในประเทศเท่านั้น จึงไม่น่าเป็นห่วงว่าจะทำให้ผู้นำเข้าไม่สามารถดำเนินการค้าได้จนต้องเลิก กิจการ
4.4 ต้นทุนการสำรองเพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 10 ต้นทุนการเพิ่มอัตราสำรองของน้ำมันนำเข้าจะต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์ประมาณ การไว้ โดยต้นทุนสำรองน้ำมันในส่วนที่นำเข้าเพิ่มขึ้นจะอยู่ในระดับประมาณ 7 ถึง 11 สตางค์/ลิตร ประกอบด้วยต้นทุนค่าน้ำมันและค่าจัดหาสถานที่เก็บน้ำมันสำรอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับค่าจัดหาสถานที่เก็บน้ำมันสำรองเพิ่มเติม และหากพิจารณาจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ ในปี 2540 เปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตในประเทศจะเห็นได้ว่าน้ำมันเบนซินจะมีปริมาณส่ง ออกสุทธิประมาณ 3,000 ล้านลิตร และน้ำมันดีเซลจะมีปริมาณนำเข้าเล็กน้อยประมาณ 400 ล้านลิตร ส่วนน้ำมันเตาจะมีปริมาณนำเข้าสุทธิประมาณ 2,800 ล้านลิตร
นอกจากนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น สพช. ได้หารือเรื่องนี้ในที่ประชุมผู้ค้าน้ำมัน ตามมาตรา 6 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2539 ผลปรากฏว่า ผู้ค้าน้ำมันที่เคยจัดหาโดยการนำเข้ามีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนมาจัดซื้อใน ประเทศ ถ้าราคาจำหน่ายของผู้ผลิตในประเทศจูงใจให้ซื้อ และผู้ผลิตในประเทศเลือกที่จะปรับราคาจำหน่ายให้สามารถจำหน่ายให้กับผู้นำ เข้ามากกว่าที่จะเลือกการส่งออกหรือลดการผลิต ดังนั้นในปี 2540 จึงเป็นช่วงเวลาปรับตัวของตลาดทั้งด้านผู้ผลิตและผู้นำเข้าไปสู่การลดการนำ เข้า และคาดว่าการนำเข้าในปี 2540 น่าจะลดลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ
4.5 สพช. จึงเห็นว่าควรปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ในข้อ 1 แต่อย่างไรก็ตามหลักการสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ความเท่าเทียมกันในการแข่ง ขันทำการค้าระหว่างผู้ผลิตในประเทศกับผู้นำเข้า การเพิ่มอัตราสำรองของผู้นำเข้าเป็นร้อยละ 10 เป็นเพียงทางหนึ่งในการปรับภาระการสำรองของผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้าให้ เท่าเทียมกัน ดังนั้น หากเห็นว่าแนวทางนี้ไม่เหมาะสมก็อาจดำเนินการโดยแนวทางอื่นได้ ซึ่งอาจดำเนินการได้ 2 แนวทาง กล่าวคือ
(1) ลดปริมาณสำรองของผู้ผลิตในประเทศจากอัตราร้อยละ 10 เป็นร้อยละ5 แต่แนวทางนี้จะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศได้
(2) ลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตในประเทศลงโดยเฉลี่ย 5 สตางค์/ลิตร ซึ่งเป็นแนวทางที่น่าจะเหมาะสมที่สุด
5. สพช. ได้จัดให้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้า) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง (กรมสรรพสามิต) และการปิโตรเลียม แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2539 ซึ่งผลการประชุมสรุปได้ ดังนี้
5.1 ผู้แทนของทุกหน่วยงานเห็นด้วยกับข้อเสนอของ สพช. ที่ควรปฏิบัติต่อผู้ค้าน้ำมันทั้ง ผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้าให้เท่าเทียมกัน
5.2 การเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันของผู้นำเข้าอีกร้อยละ 5 จะมีผลทำให้ต้นทุนของผู้นำเข้า เพิ่มขึ้นอีกประมาณ7-11 สตางค์/ลิตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับต้นทุนในการจัดหาน้ำมันและถังเก็บน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในข้อนี้ ปตท. ได้เสนอให้ใช้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 10 สตางค์/ลิตร
5.3 ปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินภายในประเทศในปี 2540 จะอยู่ในระดับ 10,564 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ และจะมีส่วนเหลือที่ต้องส่งออกอีก 2,950 ล้านลิตรต่อปี จึงไม่น่า จะมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ยกเว้นในกรณีการนำเข้าทางคลังภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ต อาจจะมีการนำเข้าจากสิงคโปร์ที่ใกล้กว่าแทนการซื้อจากโรงกลั่นภายในประเทศ ได้ ส่วนน้ำมันดีเซลนั้น โดยภาพรวมน่าจะ มีการนำเข้าจากต่างประเทศเพียงเล็กน้อย แต่ยังไม่ชัดเจนว่าในปี 2540 ปริมาณการนำเข้าจะลดลงเพียงใดและ ใช้เวลารวดเร็วแค่ไหน และในส่วนของน้ำมันเตามีความชัดเจนว่าโรงกลั่นภายในประเทศยังไม่สามารถผลิต ได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ ดังนั้น ยังคงต้องนำเข้าอีกประมาณ 2,818 ล้านลิตรในปี 2540
5.4 ที่ประชุมได้สรุปข้อเสนอเรื่อง อัตราการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงร่วมกันเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ดังนี้
(1) การสำรองน้ำมันดีเซล เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าในปี 2540 เป็นต้นไป ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดีเซลจะลดลงหรือไม่เพียงใด ดังนั้น จึงไม่สมควรพิจารณาเพิ่มอัตราสำรองของผู้นำเข้าในระยะนี้ แต่ควรเลื่อนกำหนดเวลาบังคับใช้อัตราสำรองร้อยละ 10 ไปอีก 2 ปี โดยให้มีผลบังคับใช้วันที่1 มกราคม 2542 ทั้งนี้ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าในช่วงเวลาที่เลื่อนไปดังกล่าว การนำเข้าน้ำมันดีเซลลดลงมาก หรือ ไม่มีการนำเข้าเลย ให้ สพช. พิจารณานำเสนอเลื่อนเวลาบังคับใช้ให้เร็วขึ้นได้
(2) การสำรองน้ำมันเตา เนื่องจากในปี 2540 เป็นต้นไป ยังคงต้องนำเข้าน้ำมันเตา โดยตลอด เพราะโรงกลั่นภายในประเทศไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการใช้ ดังนั้น จึงเห็นควรเสนอ ให้เลื่อนเวลาเพิ่มอัตราสำรองเป็นร้อยละ 10 โดยใช้หลักการเดียวกันกับน้ำมันดีเซล
(3) การสำรองน้ำมันเบนซินและน้ำมันอื่นๆ เห็นควรให้เพิ่มอัตราสำรองของผู้นำเข้าเป็นอัตราร้อยละ 10 ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ เนื่องจากน้ำมันดังกล่าว จะไม่มีการนำเข้ามาก หรือเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำเป็นต้องสำรองไว้เพื่อใช้ในราชการทหารโดย เฉพาะ
(4) ในระหว่างที่เลื่อนการบังคับใช้อัตราสำรองน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาของผู้นำเข้าเป็นร้อยละ 10 นี้ จะทำให้โรงกลั่นในประเทศมีความเสียเปรียบผู้นำเข้าในเรื่องอัตราสำรองที่แตก ต่างกันอยู่ร้อยละ 5 คิดเป็นต้นทุนเท่ากับ 5 สตางค์/ลิตร จึงเห็นควรแก้ไขข้อเสียเปรียบนี้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน โดยลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาที่ ผลิตในประเทศ ตามสัดส่วนของราคา ณ โรงกลั่น คือ 6 และ 3 สตางค์/ลิตร ตามลำดับ ซึ่งจะลดภาระเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศได้เท่ากับ 5 สตางค์/ลิตร โดยเฉลี่ย ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานดำเนินการออกประกาศลดอัตราเงิน เรียกเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวต่อไป
(5) เห็นควรให้มีการศึกษาถึงระดับการสำรองของประเทศที่เหมาะสมในระยะยาว เพื่อเพิ่มความมั่นคงของประเทศด้านพลังงาน และศึกษาความเหมาะสมของการให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บน้ำมันสำรองเองอีก ส่วนหนึ่ง ดังที่มีการปฏิบัติในหลายประเทศซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันและราคา สินค้า ซึ่งในเรื่องนี้ สพช. ขอรับไปดำเนินการศึกษาในรายละเอียดร่วมกับ ปตท. และนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อพิจารณาต่อไป
มติของที่ประชุม
1.ให้เลื่อนกำหนดเวลาบังคับใช้การสำรองน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาของผู้นำ เข้าในอัตราร้อยละ 10 ไปอีก 2 ปี โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 ทั้งนี้ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าในช่วงเวลาที่เลื่อนไปดังกล่าว การนำเข้าน้ำมันดีเซลหรือน้ำมันเตาลดลงมากหรือไม่มีการนำเข้าเลย ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) พิจารณานำเสนอเลื่อนเวลาบังคับใช้ให้เร็วขึ้น
2.ให้เพิ่มอัตราสำรองน้ำมันเบนซินและน้ำมันอื่นๆ ของผู้นำเข้าเป็นอัตราร้อยละ 10 ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2540
3.ในระหว่างที่เลื่อนการบังคับใช้อัตราสำรองน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาของ ผู้นำเข้าเป็นร้อยละ 10 ให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานดำเนินการออกประกาศลดอัตราเงินเรียกเก็บ เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาที่ผลิตในประเทศลงใน อัตรา 6 สตางค์/ลิตร และ 3 สตางค์/ลิตร ตามลำดับ
4.ให้มีการศึกษาถึงระดับการสำรองของประเทศที่เหมาะสมในระยะยาว เพื่อเพิ่มความมั่นคงของประเทศด้านพลังงาน และศึกษาความเหมาะสมของการให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บน้ำมันสำรองเองอีก ส่วนหนึ่ง ดังที่มีการปฏิบัติในหลายประเทศซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันและราคา สินค้า โดยให้ สพช. รับไปดำเนินการศึกษาในรายละเอียดร่วมกับ ปตท. และนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อพิจารณาต่อไป
เรื่องที่ 4 การประกวดราคาน้ำมันเตาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 5/2539 (ครั้งที่ 59) เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2539 ได้พิจารณาเรื่อง การประกวดราคาน้ำมันเตาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยได้พิจารณาข้อเสนอของกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร (นายสุชน ชามพูนท) และมีมติมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับไปดำเนินการหาข้อสรุปในเรื่อง เงื่อนไขในการประกวดราคาซื้อขายน้ำมันเตาในส่วนร้อยละ 20 และให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งต่อไป
2. สพช. ร่วมกับ ปตท. และ กฟผ. ได้พิจารณาข้อเสนอของกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร (นายสุชน ชามพูนท) แล้ว เห็นควรแก้ไขปรับปรุงเงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดราคาสำหรับปริมาณ การซื้อขายในระดับร้อยละ 20 ของความต้องการใช้น้ำมันเตาทั้งหมดในแต่ละปีของ กฟผ. เป็นดังนี้
2.1 เห็นควรนำปริมาณร้อยละ 50 ของน้ำมันเตาที่จะใช้กับโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่จังหวัดราชบุรีและกระบี่ มาจัดซื้อโดยการประกวดราคา โดยอีกร้อยละ 50 ที่เหลือให้ซื้อจาก ปตท. ส่วนปริมาณการซื้อขายเดิมได้แก่ ร้อยละ 20 ของความต้องการใช้น้ำมันเตาในโรงไฟฟ้าแห่งอื่นๆ ของ กฟผ. เห็นควรให้คงไว้ตามเดิมเนื่องจากถ้าเปลี่ยนแปลงจะมีผลกระทบคือ ต้องมีการแก้ไขสัญญาระหว่าง กฟผ. กับ ปตท. ในส่วนร้อยละ 80 ซึ่งจัดทำไว้เรียบร้อยแล้ว และยังไม่หมดอายุสัญญา (จะหมดอายุสัญญา 30 กันยายน 2544)
2.2 เห็นควรเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการรับซื้อน้ำมันเตาโดยการประกวดราคา โดยในส่วนของร้อยละ 20 จากเดิม 3 ปี (ปีงบประมาณ 2540-2542) เป็น 4 ปี (ปีงบประมาณ 2541-2544) ซึ่งจะสิ้นสุดพร้อมกับสัญญาซื้อขายน้ำมันเตาระหว่าง กฟผ. กับ ปตท. ในส่วนร้อยละ 80 แต่ในส่วนเพิ่มเติมร้อยละ 50 ของโรงไฟฟ้าราชบุรีและกระบี่ให้กำหนดระยะเวลารับซื้อตามที่ กฟผ. เห็นว่าเหมาะสม
2.3 สำหรับคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดราคา เห็นควรแก้ไขตามข้อเสนอของกรรมาธิการฯ บางส่วนเป็นดังนี้
(1) ต้องเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 และมีทุนเรือนหุ้นไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
(2) มีเครดิตไลน์จากธนาคารและสถาบันการเงินรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท
(3) ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในการค้าน้ำมันเตามาแล้วไม่น้อยกว่า 200 ล้านลิตร โดยถือตามปริมาณที่ปรากฏในรายงานผลการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งผู้เข้าประกวดราคาได้นำส่งไว้กับกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521
2.4 การแก้ไขคุณสมบัติของผู้ประกวดราคาได้ตัดข้อเสนอของกรรมาธิการฯ ในส่วนที่ให้เพิ่มเติม คุณสมบัติของผู้เข้าประกวดราคาต้องเป็นบริษัทไทยและเป็นบริษัทมหาชนที่จด ทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากเห็นว่าคุณสมบัติดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการค้า น้ำมันเตา และจะทำให้มีผู้เข้าประกวดราคาได้น้อยรายจนไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันกันอย่าง เพียงพอ และขัดกับเจตนารมณ์ของ WTO (World Trade Organization) นอกจากนั้น ได้ตัดคำว่าเงินทุนหมุนเวียนออก คงเหลือแต่เครดิตไลน์ เพราะเห็นว่าคำว่าเงินทุนหมุนเวียนเป็นเพียงตัวเลขทางบัญชี และเครดิตไลน์ในระดับ 500 ล้านบาท น่าจะเพียงพอแล้วจึงไม่ควรเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท
2.5 เงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดราคาตามที่กำหนด เมื่อเปรียบเทียบกับเงื่อนไขและคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้โดยมติคณะรัฐมนตรีใน ปัจจุบันและที่กรรมาธิการฯ เสนอมีความแตกต่างกัน ดังนี้
ปริมาณน้ำมันเตาที่จะจัดซื้อโดยประกวดราคา
เงื่อนไข | ปริมาณ |
1. ตามมติ ครม. ในปัจจุบัน | |
ปริมาณร้อยละ 20 ของความต้องการใช้น้ำมันเตาของ กฟผ. ในปี 2540-2542 รวม 3 ปี |
3,908 ล้านลิตร |
2. ตามข้อเสนอของกรรมาธิการฯ | |
ปริมาณร้อยละ 30 ของความต้องการใช้น้ำมันเตาทั้งหมด ของ กฟผ. ในปี 2540-2544 รวม 5 ปี |
7,804 ล้านลิตร |
3. ตามผลการประชุมหารือระหว่าง ปตท. กฟผ. และ สพช. | |
- ปริมาณร้อยละ 20 ของความต้องการใช้น้ำมันเตาทั้งหมดของ กฟผ. ในปี 2541-2544 รวม 4 ปี |
2,760 |
- ปริมาณร้อยละ 50 ของความต้องการใช้น้ำมันเตาทั้งหมด ของโรงไฟฟ้าราชบุรี และโรงไฟฟ้ากระบี่ ตามระยะเวลาที่ กฟผ. เห็นว่าเหมาะสม |
1,830** |
หมายเหตุ
* ตัวเลขดังกล่าวอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากพิจารณาจาก PDP 95-01 ซึ่งขณะนี้ กฟผ. กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงเป็น PDP 96-01
** ตัวอย่างกรณีที่ กฟผ. ทำสัญญา 3 ปี (ปีงบประมาณ 2542-2544)
มติของที่ประชุม
-เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดซื้อน้ำมันเตาโดยการประกวดราคาในปริมาณร้อยละ 50 ของน้ำมันเตาที่จะใช้กับโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่จังหวัดราชบุรีและกระบี่ และอีกร้อยละ 50 ที่เหลือให้ซื้อจาก ปตท. ส่วนปริมาณการซื้อขายเดิมในอัตราร้อยละ 20 ของความต้องการใช้น้ำมันเตาในโรงไฟฟ้าแห่งอื่นๆ ของ กฟผ. เห็นควรให้คงไว้ตามเดิม เนื่องจากถ้าเปลี่ยนแปลงจะมีผลกระทบคือ ต้องมีการแก้ไขสัญญาระหว่าง กฟผ. กับ ปตท. ในส่วนร้อยละ 80 ซึ่งจัดทำไว้เรียบร้อยแล้ว และยังไม่หมดอายุสัญญา โดยจะหมดอายุสัญญาในวันที่ 30 กันยายน 2544
-เห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงระยะเวลาการรับซื้อน้ำมันเตาโดยการประกวดราคา โดยในส่วนร้อยละ 20 จากเดิม 3 ปี (ปีงบประมาณ 2540-2542) เป็น 4 ปี (ปีงบประมาณ 2541-2544) ซึ่งจะสิ้นสุดพร้อมกับสัญญาซื้อขายน้ำมันเตาระหว่าง กฟผ. กับ ปตท. ในส่วนร้อยละ 80 แต่ในส่วนเพิ่มเติมร้อยละ 50 ของโรงไฟฟ้าราชบุรีและกระบี่ให้กำหนดระยะเวลารับซื้อตามที่ กฟผ. เห็นว่าเหมาะสม
-เห็นชอบให้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าประกวดราคา ดังนี้
(1) ต้องเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 และ มีทุนเรือนหุ้นไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
(2) มีเครดิตไลน์จากธนาคารและสถาบันการเงินรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท
(3) ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในการค้าน้ำมันเตามาแล้วไม่น้อยกว่า 200 ล้านลิตร โดยถือตามปริมาณที่ปรากฏในรายงานผลการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งผู้เข้าประกวดราคาได้นำส่งไว้กับกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521
เรื่องที่ 5 แนวทางในการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก
สรุปสาระสำคัญ
1. ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2539 ได้รับทราบผลการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออก ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้เสนอ ซึ่งในส่วนของแนวทางการลดต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ได้มีมติให้ผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ (สพช.) เรื่องค่าไฟฟ้าและการยกเว้นระบบ TOD สำหรับโรงงานที่ต้องการทำงาน 24 ชั่วโมง ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2539 เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในเรื่องการแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยมอบหมายให้ สพช. รับไปพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้
1.1 การยกเลิกการเก็บ Demand Charge สำหรับอุตสาหกรรมทุกประเภทที่จำเป็นต้องทำการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง
1.2 การศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า โดยให้มีประเภทอุตสาหกรรม ขนาดใหญ่ที่ใช้ไฟฟ้ามากกว่าประเภทที่กำหนดอยู่ในปัจจุบันและกำหนดให้มีอัตรา ค่ากระแสไฟฟ้าลดลงอีก
2. บริษัท เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป จำกัด และบริษัทสยามสติลซินดิเกต จำกัด ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์) ขอให้ทบทวนและปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้า โดยขอให้ยกเลิกหรือลดอัตราค่าความต้องการไฟฟ้าในช่วงเวลาที่ความต้องการ ไฟฟ้าสูงสุด หรือช่วงเวลา 18.30 น. ถึง 21.30 น. เนื่องจากปัจจุบันความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ของระบบเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในช่วง 13.30 ถึง 16.30 น. ทั้งนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมบางชนิดที่จำเป็น จะต้องผลิตอย่างต่อเนื่องสามารถรับภาระค่ากระแสไฟฟ้าได้
3. สพช. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ร่วมหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม2539 สามารถสรุปประเด็นปัญหาและแนวทางในการทบทวนและปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้า ดังนี้
3.1 การขอลด Demand Charge ในช่วง Peak
3.1.1 ที่ประชุมยอมรับว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องมีอัตราค่าไฟฟ้าในลักษณะ TOD เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป แต่ทั้งนี้ควรปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าให้มีความสอดคล้องกับ Load Curve ที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ การคิดค่าไฟฟ้าสูงในช่วง Peak โดยผ่าน Demand Charge เพียงอย่างเดียว หากผู้ใช้ไฟฟ้าปฏิบัติการควบคุมการใช้ไฟฟ้าในช่วง Peak ผิดพลาดเกิน 15 นาที จะเพิ่มภาระค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟเป็นจำนวนมาก จึงควรมีการพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
3.1.2 แนวทางการแก้ไข ควรปรับปรุงโครงสร้าง TOD Rate ในปัจจุบัน ดังนี้
(1) ควรกำหนดช่วงเวลาให้สอดคล้องกับลักษณะการใช้ไฟฟ้า (Load Curve) ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการกำหนดให้ช่วงเวลา 22.00-9.00 น. และวันอาทิตย์ เป็นช่วง Off-Peak
(2) ลดหรือยกเลิกค่า Demand Charge ในช่วง Peak และกำหนดให้ Energy Charge หรือค่าพลังงานไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลามากขึ้น
โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่นี้จะเรียกว่า Time of Use Rate (TOU) เพราะค่าไฟฟ้าแตกต่างกันตามช่วงเวลาของวัน และตามวันของสัปดาห์
3.2 การลดค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้ามาก จะสามารถพิจารณาดำเนินการแยกประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าตามระดับแรงดันไฟฟ้า (Voltage) ได้ เนื่องจากในการจำหน่ายไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าในระดับแรงดันสูง การไฟฟ้าสามารถประหยัดการลงทุนและสามารถลดการสูญเสียในระบบลงได้ โดยแนวทางแก้ไข ควรเพิ่มประเภทอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าในระดับแรงดันมากกว่าหรือเท่า กับ 115 เควี ซึ่งเดิมกำหนดให้มีอัตราสำหรับแรงดันสูงสุดคือ 69 เควีเท่านั้น
3.3 ค่า Ft มีความไม่ชัดเจนและเปลี่ยนแปลงบ่อย ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่า ยังคงมีความจำเป็นที่ จะต้องมีค่า Ft ดัง กล่าว ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกันกับที่หลายประเทศใช้อยู่ แต่ควรปรับปรุงให้มีความชัดเจน โปร่งใสและให้มีความผันผวนน้อยลงโดยมีแนวทางแก้ไขดังนี้
(1) กำหนดให้ค่า Ft มีความชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น โดยแยก ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันการไฟฟ้าได้บวกภาระสุทธิจากภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ในค่า Ft จำนวน 7.32 สตางค์/หน่วย ออกจากโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า
(2) ปรับปรุงให้ค่า Ft มีการเปลี่ยนแปลงน้อยลง และมีระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงที่แน่นอนมากขึ้น เพื่อทำให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนทางด้านการผลิตและการตลาดได้ง่ายขึ้น
4. สพช. ร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 ได้พิจารณาผลการประชุมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศึกษาลักษณะความต้องการไฟฟ้า (Load Curve) ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งต้นทุนของระบบไฟฟ้าแล้ว ได้เสนอแนวทางในการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ดังนี้
4.1 กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าประเภทที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาของการใช้ (Time-of-Use : TOU) ให้เป็นอัตราเลือกสำหรับผู้ใช้ไฟประเภท TOD ในปัจจุบัน เพื่อให้โครงสร้างค่าไฟฟ้าสะท้อนต้นทุนและลักษณะการใช้ไฟฟ้า (Load Curve) ของระบบที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอัตราTOU ใหม่ จะมีข้อแตกต่างจาก TOD เดิม ดังนี้
(1) TOU ใหม่ จะเพิ่มประเภทอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟในระดับแรงดัน 115 เควี ขึ้นไป ซึ่งจะเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลงจากระดับ 69 เควี เดิม
(2) TOU ใหม่ แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ
Peak : 9.00 น.-22.00 น. วันจันทร์-เสาร์
Off-Peak : 22.00-9.00 น. วันจันทร์-เสาร์ และวันอาทิตย์ทั้งวัน
(3) TOU ใหม่ จะกำหนดให้ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Charge) เปลี่ยนแปลง ตามระดับแรงดันและตามช่วงเวลา
(4) TOU ใหม่ จะกำหนดให้ค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) เป็นศูนย์ ในช่วง Off-Peak และค่าพลังไฟฟ้าในช่วง On-Peak จะลดลงจากระดับเดิม หรือกำหนดให้เท่ากับศูนย์
สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการเฉพาะอย่าง (โรงแรม) ในปัจจุบันไม่ได้ใช้ TOD Rate แต่มีอัตรา TOD Rate เป็นอัตราที่สามารถเลือกได้ ซึ่งเห็นควรให้ใช้อัตรา TOU Rate ใหม่ แทน TOD Rate เดิม
4.2 แยกภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากค่าไฟฟ้าให้ชัดเจน เพื่อให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและสูตร การปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ Ft มีความชัดเจนและโปร่งใส
4.3 ปรับปรุงสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ให้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยลงเพื่อให้ ผู้ประกอบการ สามารถวางแผนการผลิตและการตลาดได้ง่ายขึ้น เช่น การกำหนดค่า Ft ให้เปลี่ยนแปลงทุก 4 เดือน
5. เพื่อให้โครงสร้างราคาขายส่งไฟฟ้าระหว่าง 3 การไฟฟ้า หรือ Bulk Supply Tariff : BST มีความสอดคล้องกับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในระดับขายปลีกในข้อ 4 สพช. ร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จึงเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างราคาขายส่งไฟฟ้า BST จากเดิมที่เป็นอัตราคงที่ต่อหน่วย (Flat Rate) ให้มีการสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงคือ ให้มีลักษณะแตกต่างกันตามช่วงเวลาของการใช้ TOU แต่ทั้งนี้จะยังคงรักษาระดับราคาขายส่งเฉลี่ยในระดับเดิม กล่าวคือ ราคาขายส่งเฉลี่ยที่ กฟผ. จำหน่ายให้ กฟน. และ กฟภ. มีอัตราเฉลี่ยคงเดิม คือ เท่ากับ 1.4865 บาท/หน่วย และ 1.0910 บาท/หน่วย ตามลำดับ โดยมีแนวทางในการปรับโครงสร้างราคาขายส่งไฟฟ้าระหว่าง 3 การไฟฟ้า สรุปได้ดังนี้
5.1 BST จะแตกต่างกันตามระดับแรงดัน 230 เควี 115 เควี 69 เควี 33 เควี และ 22 เควี
5.2 BST จะเป็น 2 ช่วงเวลา คือ
- Peak 9.00 น.-22.00 น. วันจันทร์-เสาร์
- Off-Peak 22.00 น.-9.00 น. วันจันทร์-เสาร์ และวันอาทิตย์ทั้งวัน
5.3 BST จะกำหนดให้มีค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Charge) สูงในช่วง Peak และต่ำในช่วง Off-Peak
5.4 กำหนดการชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้า โดยการคำนวณการชดเชยจาก กฟน. ไป กฟภ. เพื่อให้ราคาขายส่งเฉลี่ยที่ กฟน. และ กฟภ. ซื้อจาก กฟผ. คงเดิม
6. ผลกระทบของโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกสำหรับผู้ใช้ไฟรายใหญ่และการไฟฟ้า มีดังนี้
6.1 การปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก TOU ตามข้อเสนอ จะมีผลทำให้ผู้ใช้ไฟรายใหญ่ ที่ใช้ไฟในระดับแรงดัน 115 เควีขึ้นไป ส่วนใหญ่ชำระค่าไฟฟ้าน้อยลง
6.2 ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟต่อเนื่องแต่ไม่สม่ำเสมอ ค่าไฟฟ้าจะลดลงในบางกรณี
6.3 ผู้ใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ค่าไฟฟ้าไม่เปลี่ยนแปลง เพราะหากค่าไฟฟ้าสูงขึ้นตามอัตรา TOU ใหม่ ก็ควรเลือกใช้อัตราเดิมต่อไป
6.4 โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาการใช้ (TOU) จะไม่มีผลกระทบต่อฐานะการเงินของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง เนื่องจากยังคงมีระบบการชดเชยรายได้จาก กฟน. ไปยัง กฟภ. อย่างไรก็ตาม การไฟฟ้า จะสามารถประหยัดการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบสายส่งระบบจำหน่ายไฟฟ้า หากผู้ใช้ไฟสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ไฟ ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของระบบมีความสม่ำเสมอมากขึ้น
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบแนวทางในการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก ดังนี้
1.1 ให้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าประเภทที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาการใช้ (Time-of-Use : TOU) ให้เป็นอัตราเลือกสำหรับผู้ใช้ไฟประเภท Time of Day Rate (TOD) ในปัจจุบัน
1.2 ให้แยกภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากค่าไฟฟ้าให้ชัดเจน
1.3 ให้ปรับปรุงสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยลง
2.เห็นชอบแนวทางการปรับโครงสร้างราคาขายส่งไฟฟ้าระหว่าง 3 การไฟฟ้า ดังนี้
2.1 โครงสร้างราคาขายส่งไฟฟ้า ให้แตกต่างกันตามระดับแรงดัน
2.2 โครงสร้างราคาขายส่งไฟฟ้า ให้มีอัตราแตกต่างกันตามช่วงเวลาของวัน โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ดังนี้
Peak 9.00 น. - 22.00 น. วันจันทร์-เสาร์
Off-Peak 22.00 น. - 9.00 น. วันจันทร์-เสาร์และอาทิตย์ทั้งวัน
2.3 โครงสร้างราคาขายส่งไฟฟ้า กำหนดให้มีค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Charge) สูงในช่วง Peak และต่ำในช่วง Off - Peak
2.4 กำหนดการชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้า โดยกำหนดการชดเชยจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อให้ราคาขายส่งเฉลี่ยที่ กฟน. และ กฟภ. ซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยคงเดิม
3.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ศึกษาและจัดทำรายละเอียดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก และ โครงสร้างราคาขายส่งไฟฟ้าระหว่าง 3 การไฟฟ้าดังกล่าว เพื่อนำเสนอคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานอนุมัติและประกาศใช้ต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ดูแลกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เพื่อให้สามารถนำดอกผลอันเกิดจากเงินกองทุนฯ จำนวน 350 ล้านบาท ที่ได้รับจากบริษัทเอสโซ่-แสตนดาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาโรงกลั่นน้ำมันมาใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้าน พลังงานและปิโตรเลียม โดยมีระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 เป็นกรอบในการบริหารงานกองทุนฯ ทั้งนี้ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียมทำ หน้าที่พิจารณา จัดระเบียบ วางแนวทางและพิจารณาจัดสรรเงินกองทุน ซึ่งตามระเบียบในข้อ 10 และข้อ13 กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนฯ ดำเนินการดังนี้
1.1 จัดทำแผนการใช้จ่ายเงินเป็นรายปีงบประมาณในช่วงสามปีข้างหน้า เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพิจารณาคำขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนฯและให้มีการ ทบทวนแผนการใช้จ่ายดังกล่าวอย่างน้อยทุกปี หรือตามความจำเป็น
1.2 จัดทำงบแสดงผลการรับจ่ายเงินในระหว่างปีงบประมาณ และงบแสดงฐานะการเงินของกองทุนฯ ณ วันสิ้นปีงบประมาณ เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อทราบภายในสามสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
2. คณะกรรมการกองทุนฯ ได้จัดทำรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญา โรงกลั่นปิโตรเลียม ในรอบปีงบประมาณ 2539 ซึ่งเป็นปีที่สี่ของการดำเนินงานกองทุนฯ เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อทราบ และเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนการจัดสรรเงิน ในปีงบประมาณ 2540-2542 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนฯ แล้ว โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
2.1 ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนฯ ในรอบปีงบประมาณ 2539
คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2538 อนุมัติฯ แผนการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2539 จำนวนเงินทั้งสิ้น 55.3 ล้านบาท และคณะกรรมการกองทุนฯ ได้พิจารณาอนุมัติการใช้จ่ายเงินรวมทั้งสิ้น 55.2 ล้านบาท ดังนี้
หมวดรายจ่าย | วงเงินตามแผน | ปรับปรุงแผน | วงเงินอนุมัติ |
1.การค้นคว้า ศึกษา วิจัย | 15.00 | 22.20 | 22.20 |
2.ทุนการศึกษาและฝึกอบรม | 10.00 | 11.57 | 11.57 |
3.การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูล | 15.00 | 2.39 | 2.37 |
4.การดูงาน ประชุม และการจัดประชุม สัมมนา | 10.00 | 13.07 | 12.99 |
5.การจัดหาเครื่องมือ และอุปกรณ์ | 5.00 | 5.77 | 5.77 |
6.ค่าใช้จ่ายการบริหารงาน | 0.30 | 0.30 | 0.30 |
รวม | 55.30 | 55.30 | 55.20 |
2.2 รายงานสถานะการเงินกองทุน ณ วันที่ 30 กันยายน 2539
กองทุนฯ มีสินทรัพย์รวม 430.47 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินฝากกระแสรายวัน 1.41 ล้านบาท เงินฝากออมทรัพย์ 3.48 ล้านบาท เงินฝากประจำ 423.65 ล้านบาท และลูกหนี้เงินยืม 1.93 ล้านบาท ในส่วนของหนี้สินและทุน ประกอบด้วย หนี้สิน 0.23 ล้านบาท ทุน 350 ล้านบาท และรายรับมากกว่ารายจ่ายทั้งสิ้น 80.24 ล้านบาท
2.3 แผนการใช้จ่ายเงินดอกผลของกองทุนปีงบประมาณ 2540-2542
ตามข้อกำหนดในระเบียบว่าด้วยการบริหารกองทุนฯ กำหนดให้มีการทบทวนแผนการใช้จ่ายเงินดอกผลของกองทุนฯ อย่างน้อยทุกปี หรือตามความจำเป็น ดังนั้น จึงเห็นสมควรให้มีการปรับแผนการใช้จ่ายเงิน สำหรับปีงบประมาณ 2540-2542 สรุปได้ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
หมวดรายจ่าย | ปีงบประมาณ | รวม | ||
2540 | 2541 | 2542 | ||
1.การค้นคว้า วิจัย ศึกษา | 17.00 | 17.00 | 17.00 | 51.00 |
2.ทุนการศึกษาและฝึกอบรม | 12.00 | 12.00 | 12.00 | 36.00 |
3.การประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูล | 10.00 | 10.00 | 10.00 | 30.00 |
หมวดรายจ่าย | 2540 | 2541 | 2542 | รวม |
4.การดูงาน ประชุม และการจัดประชุมสัมมนา | 10.00 | 10.00 | 10.00 | 30.00 |
5.การจัดหาเครื่องมือ และอุปกรณ์ | 5.50 | 5.50 | 5.50 | 16.50 |
6. ค่าใช้จ่ายการบริหารงาน | 0.50 | 0.50 | 0.50 | 1.50 |
รวม | 55.00 | 55.00 | 55.00 | 165.00 |
3. เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และมีความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตลอดระยะเวลา 3 ปี คือ ปีงบประมาณ 2540-2542 เห็นควรให้คณะกรรมการกองทุนฯ จัดสรรเงินกองทุนสำหรับแผนงานและโครงการ ในปีงบประมาณ 2540-2542 ตามแผนการใช้จ่ายเงินข้างต้น วงเงินรวม 165 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจที่จะปรับปรุงการจัดสรรเงินตามแผนงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมภายในวงเงินรวมดังกล่าว ทั้งนี้ โดยสอดคล้องกับการขอรับการสนับสนุนเงินกองทุน การจัดลำดับความสำคัญ ตลอดจนรายได้ของกองทุนด้วย
มติของที่ประชุม
1.รับทราบผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ประจำปี งบประมาณ 2539
2.เห็นชอบแผนการใช้จ่ายเงินดอกผลของกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ 2540-2542 และมาตรการการบริหารเงินกองทุนฯ ตามที่คณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียมเสนอ
เรื่องที่ 7 เรื่องการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP)
ประธานฯ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) ว่าการพิจารณาข้อเสนอมีความล่าช้ามากโดยใช้เวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน แต่ผลการพิจารณา ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ประกอบกับมีปัญหาว่าเมื่อมีการเปิดซองประกวดราคาแล้ว ได้มีบางบริษัทเสนอที่จะขายไฟฟ้า ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากข้อเสนอเดิม โดยเสนอราคาที่ถูกลง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะใช้ราคา ที่ถูกลงนี้ เพื่อไปต่อรองกับบริษัทอื่นๆ ดังนั้น จึงอยากทราบว่าข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เป็นอย่างไร
มติของที่ประชุม
1.มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เร่งดำเนินการเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) ที่ได้รับการคัดเลือกให้แล้วเสร็จ เพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนได้ ภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539
2.มอบหมายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เร่งดำเนินการเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) สำหรับโครงการที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เรื่อง สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง ปตท. กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2539
3.มอบหมายให้ สพช. รับไปเร่งรัดและติดตามเพื่อให้มีการดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 2
กพช. ครั้งที่ 59 - วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2539
มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 5/2539 (ครั้งที่ 59)
วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2539 เวลา 9.30 น.
ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
1.รายงานผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
2.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
4.ข้อตกลงความร่วมมือด้านพลังงานของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค (APEC)
5.การประกวดราคาน้ำมันเตาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
6.การเพิ่มอัตราสำรองของน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร
นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 รายงานผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. การให้เอกชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบน้ำมัน กรมทะเบียนการค้าได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการเกี่ยวกับประกาศกระทรวง พาณิชย์ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 114) พ.ศ. 2539 และประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่อง กำหนดชนิดน้ำมันที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจวัดอิสระ คุณสมบัติของผู้ตรวจวัดอิสระ และแบบรายงานผลการตรวจสอบน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเดิมกรมทะเบียนการค้าได้ผ่อนผันการนำเข้าให้ระยะหนึ่ง เพื่อให้ผู้ตรวจวัดอิสระได้มาขึ้นทะเบียนแล้ว จึงจะบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป จนถึงขณะนี้มีผู้ตรวจวัดอิสระมาขึ้นทะเบียนต่อกรมฯ แล้วรวม 3 ราย และมีผู้ค้าน้ำมันที่จัดให้มีผู้ตรวจวัดอิสระและได้รายงานผลการตรวจสอบให้ กรมทะเบียนการค้าทราบแล้ว จำนวน 9 ราย
2. การปรับปรุงใบกำกับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง กรมทะเบียนการค้า และ สพช. ได้ดำเนินการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขใบกำกับการขนส่งตามมติคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติแล้ว และกรมทะเบียนการค้าได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2539) เรื่อง กำหนดวิธีการและเงื่อนไขในการขนส่งน้ำมัน เชื้อเพลิง ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2539 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไป ส่วนการดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น กรมทะเบียนการค้าและสพช. จะได้ดำเนินการในลำดับต่อไป
3. การเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมทะเบียนการค้า ได้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2539) เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2539 และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการออกบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้แก่เจ้า หน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้กรมโยธาธิการ ได้ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการฯ แล้วเช่นกัน และขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมภาพถ่ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อมอบหมายอำนาจให้ต่อไป
4. การควบคุมผลิตภัณฑ์เคมีปิโตรเลียมและสารละลาย
4.1 กรมสรรพสามิตได้รายงานว่า กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการนำสารละลาย (Solvent) เข้าอยู่ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเพื่อจัดเก็บภาษี และพิจารณายกเว้นภาษีให้ หากมีการนำไปใช้ในการผลิตสินค้า โดยจะได้จัดทำร่างกฎหมายและประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเสนอกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
4.2 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้ร่วมกับกรมทะเบียนการค้าดำเนินการจัดรถตรวจ สอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงเคลื่อนที่ตรวจสอบสถานีบริการ โดยได้เริ่มตรวจสอบสถานีบริการ จำนวน 96 แห่ง ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในเดือนสิงหาคม 2539 และพบสถานีบริการที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพต่ำ รวม 3 แห่ง
5. การควบคุมน้ำมันที่ส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
5.1 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้สั่งการให้มีการดำเนินการตรวจสอบการขนส่งน้ำมัน ที่ส่งออกไปยัง สปป.ลาว ในเดือนสิงหาคม 2539 โดยได้ประสานกับกรมศุลกากรแล้ว ปรากฎว่ายังไม่พบการกระทำความผิดแต่อย่างใด
5.2 กรมศุลกากร ได้เตรียมการจะจัดส่งคณะผู้แทนศุลกากรไทยไปหารือกับศุลกากรของ สปป.ลาว เพื่อหามาตรการป้องกันมิให้มีการลักลอบนำกลับเข้ามาใช้ในประเทศไทย และขอความร่วมมือให้มีการขนส่งน้ำมันผ่านแดนไปโดยเร็ว
5.3 กรมสรรพสามิต ในฐานะที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบหลักฐานเพื่อคืนภาษีน้ำมันในกรณีดังกล่าว ได้เสนอมาตรการเสริมในการป้องกันปัญหา โดยเสนอให้ผู้ขอคืนภาษีน้ำมันต้องแสดงหลักฐานที่ผ่านการรับรองจากเจ้า หน้าที่ของ สปป.ลาว ว่าได้มีการรับน้ำมันจำนวนดังกล่าวจากประเทศไทยแล้ว
6. การดำเนินการของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจปราบปรามทางทะเล ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจปราบปรามทางทะเล ได้รายงานผลการดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม 2539-ปัจจุบัน ว่าได้มีการจัดประชุมศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจปราบปรามทางทะเลร่วมกับกอง บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมเจ้าท่า และ สพช. เพื่อประชุมหารือในการประสานการปฏิบัติและรับทราบปัญหาอุปสรรค ไปแล้วเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2539 และได้มีการจัดทำเอกสารข้อมูลพื้นฐานข่าวกรองการลักลอบนำเข้าให้แก่หน่วย ราชการที่เกี่ยวข้องทราบแล้ว
ผลการจับกุมทางทะเลในช่วงเดือนกรกฎาคม 2539-ปัจจุบัน สามารถจับกุมเรือลักลอบนำเข้าได้ รวม 4 ครั้ง ดังนี้
(1) กองทัพเรือ
- เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2539 จับกุมเรือประมงดัดแปลงชื่อ ขุนโชคชัย พบน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ปริมาณ 60,000 ลิตร
- เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2539 จับกุมเรือประมงดัดแปลง ชื่อ ป.ปราบสมุทร พบน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปริมาณ 170,000 ลิตร
(2) กองบังคับการตำรวจน้ำ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
- เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2539 จับกุมเรือประมงดัดแปลงได้ 3 ลำ บริเวณห่างฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราชออกไป 20 ไมล์ คือ
- เรือนางพญาตานี 1 พบน้ำมันดีเซล ปริมาณ 450,000 ลิตร
- เรือนางพญาตานี 2 พบน้ำมันดีเซล ปริมาณ 240,000 ลิตร
- เรือไวกิ้ง 1 พบน้ำมันดีเซล ปริมาณ 350,000 ลิตร
- เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 จับกุมเรือประมงดัดแปลง ชื่อลิ้มชุลีพร 2 บริเวณแม่น้ำตรัง แพปลาภมร อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง พบน้ำมันดีเซลปริมาณ 5,000 ลิตร
7. การดำเนินงานของ สพช.
สพช. ในฐานะศูนย์รวมการประสานงานฯ ได้ดำเนินการจัดสัมมนาความรู้เกี่ยวกับการปราบปรามน้ำมันเถื่อนทางบก เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2539 ให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ รวม 200 คน โดยได้เชิญวิทยากรจาก กองทัพเรือ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมโยธาธิการ กรมทะเบียนการค้า บรรยายความรู้ในการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานให้แก่ผู้เข้าอบรม
นอกจากนี้ สพช. ได้ทำการศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีจากป้ายวงกลมรถยนต์ดีเซล ปรากฎว่าการลดภาษีสรรพสามิตลง 1.00 บาท และมีน้ำมันเข้าสู่ระบบปริมาณ 2,000 ล้านลิตรต่อปี จะทำให้มีผู้ใช้รถดีเซลซึ่งจะเป็นผู้เสียประโยชน์จากการรับภาระภาษีแทนผู้ ใช้น้ำมันดีเซลกลุ่มอื่นๆ มากกว่าผู้ได้รับประโยชน์ ซึ่ง สพช. เห็นว่า ไม่สมควรดำเนินการลดภาษีสรรพสามิตและจัดเก็บภาษีจากป้ายวงกลมรถยนต์ดีเซลแทน โดยเฉพาะการลดภาษีลง ในระดับ 1.00 บาท นั้น ไม่น่าจะลดแรงจูงใจในการลักลอบนำเข้าลงได้
8. การตรวจสอบเรือประมงดัดแปลง กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการตรวจสอบเรือประมงดัดแปลงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2538 เป็นต้นมา ปรากฎว่า ไม่พบการดัดแปลงเรือประมงแต่อย่างใด
9. การเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ในเขตต่อเนื่อง สพช. ได้รายงานความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่าขณะนี้ พระราชบัญญัติที่เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ในเขตต่อเนื่องทั้ง 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. .... ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการแปรญัตติสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และจะนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 ในการประชุมในสมัยต่อไป
10. การติดตั้งมิเตอร์เพิ่มเติม กรมสรรพสามิตได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการ ดังนี้
10.1 กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการติดตั้งมิเตอร์ในคลังที่กรมสรรพากรแจ้งมาจำนวน 4 คลัง แล้ว 1 คลัง คือ คลังน้ำมัน บริษัท ท่าทองปิโตรเลียม จำกัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยดำเนินการติดตั้งในคราวเดียวกับ 37 คลังแรก สำหรับคลังน้ำมันส่วนที่เหลืออีก 3 คลัง กรมสรรพสามิตจะดำเนินการติดตั้งในระยะต่อไปพร้อมกับคลังน้ำมันชายฝั่งทะเล แห่งอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ติดตั้งมิเตอร์รวมทั้งหมด 18 คลัง ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นเพื่อจัดทำโครงการติดตั้ง มิเตอร์
10.2 กรมสรรพสามิตได้ตรวจสอบคลังน้ำมันเบนซินที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเล มีจำนวน 39 คลังแล้วปรากฎว่า คลังน้ำมันเหล่านี้ทั้งหมดเป็นคลังที่เก็บน้ำมันดีเซลหมุนเร็วด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ได้มีการติดตั้งมิเตอร์สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจและตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น เพื่อพิจารณาจัดทำโครงการติดตั้งมิเตอร์ในระยะต่อไป
10.3 การติดตั้งมิเตอร์ที่คลังสินค้าทัณฑ์บน อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการติดต่อประสานงานกับกรมศุลกากร เพื่อร่วมกันพิจารณาจัดทำโครงการติดตั้งมิเตอร์ที่คลังสินค้าทัณฑ์บนดัง กล่าว
11. การเติมสาร Marker ในน้ำมันที่เสียภาษีแล้ว
กรมสรรพสามิตกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกสาร Marker ที่เหมาะสมสำหรับใช้เติมในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว คุณสมบัติของสาร Marker แต่ละชนิด วิธีการใช้ วิธีการตรวจสอบ ข้อดีและข้อเสีย โดยศึกษาข้อมูลจากบริษัทผู้ค้า Marker ที่เสนอมา จำนวน 2 ราย ซึ่งเมื่อสามารถคัดเลือกสาร Marker ที่เหมาะสมได้แล้ว กรมสรรพสามิตจะได้พิจารณากำหนดวิธีการควบคุมการเติมสาร Marker ให้รัดกุมต่อไป
นอกจากนี้ สพช. ได้พิจารณาเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานเพื่ออนุมัติ ค่าใช้จ่ายในการนำกรมสรรพสามิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานไปดูงาน การเติมสาร Marker ในต่างประเทศ เป็นวงเงิน 4.2 ล้านบาท
12. การให้การสนับสนุนงบประมาณ สำนักงบประมาณได้รายงานผลการพิจารณาให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่กองทัพเรือ จำนวนเงิน 240 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ในการตรวจการณ์ในเวลากลางคืน และ กรมเจ้าท่า จำนวนเงิน 450 ล้านบาท เพื่อใช้จัดซื้อเรือตรวจการณ์ขนาด 130 ฟุต จำนวน 3 ลำ ว่าสำนักงบประมาณได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว เห็นว่ามาตรการเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง นั้น เป็นมาตรการและนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล โดยสำนักงบประมาณได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้างต้นทั้งกองทัพ เรือและกรมเจ้าท่าในการปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือเจียดจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นค่าจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ในการตรวจการณ์ในเวลากลางคืนและ เรือตรวจการณ์ขนาด 130 ฟุต จำนวน 3 ลำ แล้ว ไม่สามารถดำเนินการปรับแผนหรือเจียดจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2540 ทั้ง 2 หน่วยงาน ดังกล่าวได้ แต่เพื่อเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลและเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี จึงเห็นควรสนับสนุนให้กองทัพเรือและกรมเจ้าท่าใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2540 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าจัดหาครุภัณฑ์ดังกล่าว ทั้งนี้ โดยให้ทั้ง 2 หน่วยงานขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนและรายละเอียดต่อไป
13. ปริมาณการจำหน่าย ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ในเดือนกรกฎาคม 2539 มีปริมาณ 1,558 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 268 ล้านลิตร คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และหากไม่รวมปริมาณการใช้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแล้ว ปริมาณการจำหน่ายมีปริมาณ 1,420 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 213 ล้านลิตร คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 18
14. สรุปผลการจับกุม ในเดือนมกราคม -7 สิงหาคม 2539 สามารถจับกุมน้ำมันลักลอบหนีภาษีได้เป็นจำนวน 6.3 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 3.7 ล้านลิตร หรือประมาณ 2.5 เท่าของปีก่อน
ผลการจับกุมผู้กระทำผิดคดีลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
เปรียบเทียบเดือนมกราคม - 7 สิงหาคม 2539 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน
หน่วยงานที่จับกุม | จำนวนคดี | ปริมาณน้ำมัน (ลิตร) | + เพิ่ม | ||
2538 | 2539 | 2538 | 2539 | - ลด | |
- กองทัพเรือ | 7 | 8 | 532,136 | 790,000 | 257,864 |
- กรมศุลกากร | 5 | 6 | 990,046 | 2,229,324 | 1,239,278 |
- กรมตำรวจ | 26 | 89 | 1,020,469 | 3,238,277 | 2,217,808 |
รวม | 38 | 103 | 2,542,651 | 6,257,601 | 3,714,950 |
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบ ในเดือนกรกฎาคมราคาน้ำมันดิบได้สูงขึ้นจากเดือนมิถุนายนมาอยู่ในระดับ $ 17.8-20.7 ต่อบาเรล โดยน้ำมันดิบปริมาณกำมะถันสูง สูงขึ้น $ 0.5-0.8 ต่อบาเรล และน้ำมันดิบชนิดเบาซึ่งมีปริมาณกำมะถันต่ำ สูงขึ้นมากกว่า $ 1 ต่อบาเรล สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น เนื่องมาจากความต้องการน้ำมันดิบเข้ากลั่นของโรงกลั่นใหม่และความต้องการ ผลิตภัณฑ์น้ำมันที่สูงขึ้น ต่อมาในเดือนสิงหาคม ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นอีก $ 0.9 ต่อบาเรล ขึ้นมาอยู่ในระดับ $ 18.6-21.9 ต่อบาเรล ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณสำรองน้ำมันดิบของทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ และจากการที่ความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภท Middle Distillate (น้ำมันก๊าดและดีเซล) ได้เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ปริมาณสำรองของน้ำมันเหล่านั้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับของปีที่ ผ่านมา ในช่วงต้นเดือนกันยายนราคาน้ำมันดิบได้ถีบตัวสูงขึ้นมาอีกประมาณ $1.5-2.0 ต่อบาเรล และทรงตัวอยู่ในระดับ $ 20.2-22.4 ต่อบาเรล เนื่องจากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง และความต้องการผลิตภัณฑ์ประเภท Middle Distillate
2. ราคาผลิตภัณฑ์ในตลาดจรสิงคโปร์ จากการที่โรงกลั่นในสิงคโปร์ (เอสโซ่ โมบิล และเชลล์) ได้ลดกำลังกลั่นลง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์น้ำมันในตลาดสิงคโปร์ค่อนข้างตึงตัว ในขณะที่ความต้องการของน้ำมันก๊าด ดีเซล และเตาอยู่ในระดับสูง จึงมีผลทำให้ช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมราคาในตลาดจรของน้ำมันก๊าดสูงขึ้น $ 4.3 ต่อบาเรล และน้ำมันดีเซลและเตาสูงขึ้น $ 1 ต่อบาเรล แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าสิงคโปร์จะลดกำลังกลั่นลงแล้ว แต่ปริมาณน้ำมันเบนซินในตลาดเอเซียยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าความต้องการ จึงทำให้ราคาน้ำมันเบนซินได้เคลื่อนไหวในทางตรงกันข้าม โดยน้ำมันเบนซินพิเศษและธรรมดาลดลง $ 0.5-1.6 ต่อบาเรลตามลำดับ ต่อมา ในช่วงต้นเดือนกันยายน เหตุการณ์ในตะวันออกกลางได้ส่งผลกระทบทำให้ราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันปรับตัวสูง ขึ้นไปอีก $ 0.5-2.4 ต่อบาเรล ตามชนิดผลิตภัณฑ์
3. สถานการณ์ราคาขายปลีกของไทย
- น้ำมันเบนซินพิเศษ ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมได้มีการปรับราคาขายปลีกลงมาทั้งสิ้น 28 สตางค์/ลิตร เปรียบเทียบกับราคาน้ำมันเบนซินพิเศษในตลาดจรสิงคโปร์ปรับลง $ 2.2 ต่อบาเรลหรือ 30 สตางค์/ลิตร และในเดือนกันยายนราคาน้ำมันเบนซินพิเศษได้ปรับขึ้นสุทธิ 5 สตางค์/ลิตร ในขณะที่ราคาในตลาดโลกที่ปรับขึ้น $ 0.5 ต่อบาเรล หรือ 10 สตางค์/ลิตร
- น้ำมันเบนซินธรรมดา ในเดือนกรกฏาคมและสิงหาคมมีการปรับราคาขายปลีกลงมาทั้งสิ้น 18 สตางค์/ลิตร เปรียบเทียบกับราคาน้ำมันเบนซินธรรมดาในตลาดจรสิงคโปร์ปรับลง $ 1.2 ต่อบาเรล หรือ 18 สตางค์/ลิตร และในเดือนกันยายนได้มีการปรับราคาขึ้นทั้งสิ้น 10 สตางค์/ลิตร ในขณะที่ราคาในตลาดโลกปรับขึ้นถึง $ 1.6 ต่อบาเรลหรือ 25 สตางค์/ลิตร
- น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ในเดือนกรกฏาคมถึงกลางเดือนกันยายนได้มีการปรับราคาขายปลีกขึ้นทั้งสิ้น 40 สตางค์/ลิตร ซึ่งการปรับขึ้นทั้งหมดเป็นการปรับราคาขึ้นตามราคาในตลาดโลก ซึ่งสูงขึ้นถึง $ 2.4 ต่อบาเรล หรือ 40 สตางค์/ลิตร
- ค่าการตลาด ค่าการตลาดเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์ของประเทศในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 1.09 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นระดับปกติของค่าการตลาด แต่ในเดือนกันยายนค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันได้ลดลงมาอยู่ในระดับเพียง 00.090 บาท/ลิตร ซึ่งต่ำกว่าระดับปกติถึง 0.19 บาท/ลิตร สาเหตุที่ทำให้ค่าการตลาดลดลง เนื่องจากการปรับราคาขายปลีกขึ้นของไทยเป็นการปรับในลักษณะทยอยปรับทำให้ไม่ ทันกับราคาในตลาดโลกที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2539 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 เรื่องการเพิ่มปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) และเห็นชอบให้ สพช. และกระทรวงการคลังรับไปพิจารณาถึงความเหมาะสม ในการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวม และให้รายงานผลต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
2. คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2539 ได้รับทราบผลการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออก ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เสนอ และมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการตามมติที่ประชุมเชิง ปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งในส่วนของแนวทางการลด ต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ได้มีมติให้ผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ (สพช.) เรื่องค่าไฟฟ้าและการยกเว้นระบบ TOD สำหรับโรงงานที่ต้องทำงาน 24 ชั่วโมง
3. การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2539 สพช. ได้หารือร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และอยู่ระหว่างการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับค่าไฟฟ้าและการยกเว้นระบบ TOD สำหรับโรงงานที่ต้องทำงาน 24 ชั่วโมง เมื่อได้ข้อสรุป จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติต่อไป
4. การศึกษาผลกระทบของการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล ที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า พบว่าการผลิตไฟฟ้าจากการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ในปี 2538 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.8 ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยแยกเป็นน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล ร้อยละ 26.99 และ 2.81 ตามลำดับ รายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันเชื้อเพลิง ในปี 2537-2538 เท่ากับ 46,969 และ 54,838 ล้านบาท ซึ่งรายได้จากภาษีน้ำมันที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า (น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล) จะอยู่ระหว่างร้อยละ 6.93-8.18 หรือประมาณ 3,254-4,487 ล้านบาท
หากรัฐบาลมีนโยบายยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันที่ใช้ในการ ผลิตกระแสไฟฟ้า จะมีผลทำให้ภาษีเพื่อมหาดไทยและภาษีมูลค่าเพิ่มลดลงด้วยส่วนหนึ่ง และมีผลทำให้ราคาน้ำมันเตาลดลงประมาณ 0.67 บาท/ลิตร ราคาน้ำมันดีเซลลดลงประมาณ 2.35 บาท/ลิตร การยกเว้นการจัดเก็บภาษีดังกล่าว จะมีผลทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 5,282 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงประมาณ 7.4 สตางค์/หน่วย
5. การศึกษาผลกระทบของการยกเว้นการนำรายได้ส่งรัฐ พบว่า หากรัฐบาลมีนโยบายให้ยกเว้นการนำเงินส่งรัฐของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จะมีผลทำให้รายได้ของรัฐลดลงประมาณ 8,496 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะมีผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงประมาณ 12 สตางค์/หน่วย
มติที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
1. รัฐบาลออสเตรเลียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีพลังงานของกลุ่มเอเปค (First Meeting of APEC Energy Ministers) ขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 28-29 สิงหาคม 2539 ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านพลังงานของประเทศไทย และทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีพลังงานจากประเทศไทย และเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีพลังงานของกลุ่มประเทศเอเปคในครั้งนี้
2. ผลการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค
2.1 หลักการนโยบาย ที่ประชุมรัฐมนตรีได้ให้การรับรอง "หลักการนโยบายพลังงานที่ไม่ผูกพัน 14 ประการ (14 NON-BINDING ENERGY POLICY PRINCIPLES)" และเห็นชอบให้ผนวกหลักการ นโยบายนี้เข้าไว้ในนโยบายเปิดเสรีทางด้านพลังงานของแต่ละประเทศ พร้อมทั้งให้ดำเนินการอย่างจริงจัง โดยยืดหยุ่นได้ตามที่เหมาะสม ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
(1) การพิจารณาประเด็นทางด้านพลังงาน จะต้องประสานสอดคล้องกับปัจจัยทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
(2) ดำเนินนโยบายเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการผลิต การจำหน่าย และการใช้พลังงาน
(3) ดำเนินนโยบายการเปิดตลาดทางด้านพลังงาน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางด้านการใช้พลังงานอย่างเหมาะสม ความมั่นคงทางด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเสนอแนะการดำเนินการใดที่เหมาะสมในกลุ่มเอเปคเพื่อขจัดอุปสรรค ต่างๆ ที่อาจมี
(4) ให้มีมาตรการรองรับเพื่อให้มีการใช้พลังงานอย่างเหมาะสม โดยอาจเป็นการผสมผสานระหว่างนโยบายตลาดเสรีและการควบคุม ทั้งนี้ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
(5) พิจารณาลดการอุดหนุนต่างๆ ในสาขาพลังงานลงเป็นลำดับ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการดำเนินการทางด้านราคา เพื่อให้สะท้อนต้นทุนทางเศรษฐกิจในการจัดหาและการใช้พลังงานอย่างครบวงจร โดยคำนึงถึงต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย
(6) แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างสม่ำเสมอ ในนโยบายพลังงานด้านต่างๆ ที่แต่ละประเทศได้ดำเนินการให้มีการใช้พลังงานอย่างเหมาะสมไปแล้ว
(7) ใช้หลักการต้นทุนต่ำสุด (least cost approach) ในการจัดหาบริการทางด้านพลังงาน
(8) ส่งเสริมให้มีการกำหนดนโยบายที่จะอำนวยความสะดวกในการถ่ายทอดเทคโนโลยีทาง ด้านพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมได้ในเชิงพาณิชย์และโดยไม่มีข้อกีดกันใดๆ
(9) สนับสนุนให้มีการพัฒนาฝีมือทรัพยากรมนุษย์ในด้านการประยุกต์ใช้ และดำเนินการตามเทคโนโลยีที่ปรับปรุงแล้ว
(10) ยกระดับแผนงานด้านข้อมูลข่าวสารและการจัดการทางด้านพลังงาน เพื่อช่วยในการตัดสินใจในสาขาพลังงานให้เป็นไปอย่างเหมาะสม
(11) สนับสนุนการวิจัย การพัฒนา และการสาธิตทางด้านพลังงาน เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้อย่างคุ้มทุนของเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ใหม่ มีประสิทธิภาพสูงกว่า และมีความเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อม
(12) ส่งเสริมให้มีการไหลเวียนของเงินทุน โดยลดอุปสรรคต่างๆ ที่จะมีผลต่อการถ่ายทอดและการกำหนดให้ใช้เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานทางด้านพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า และเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมมากกว่า
(13) ส่งเสริมมาตรการทางด้านประสิทธิผลของต้นทุน เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ให้สามารถลดก๊าซเรือนกระจกลง เพื่อสนองตอบการเรียกร้องของภูมิภาคให้ลดภาวะก๊าซเรือนกระจกลง
(14) ร่วมมือกันตามระดับความจำเป็นในการพัฒนาของแต่ละประเทศ ในการร่วมกันดำเนินโครงการเพื่อลดมลพิษก๊าซเรือนกระจก โดยสอดคล้องกับอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change Convention)
2.2 ศูนย์วิจัยพลังงานเอเซียแปซิฟิค (APERC) ที่ประชุมรัฐมนตรีได้ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสมาชิกเกิดความเข้าใจในประเด็นด้านพลังงานและแนวโน้ม สถานการณ์พลังงานในอนาคต รวมทั้งผลจากนโยบายด้านพลังงานของประเทศสมาชิกอีกด้วย
2.3 การระดมทุนเพื่อพัฒนาบริการพื้นฐานด้านไฟฟ้า ที่ประชุมรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนงาน ที่เสนอแนะโดย "กลุ่มธุรกิจเฉพาะกิจ (AD HOC BUSINESS FORUM)" และ "กลุ่มผู้กำกับดูแลด้านไฟฟ้า (ELECTRICITY REGULATORS' FORUM)" เพื่ออำนวยความสะดวกการลงทุนของภาคธุรกิจในสาขาไฟฟ้า
2.4 การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตและการใช้พลังงาน ที่ ประชุมรัฐมนตรีเห็นชอบให้ใช้วิธีการเชิงกลยุทธ และให้ประสมประสานการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ในขบวนการวางแผนและ ประเมินผลโครงการพื้นฐานด้านไฟฟ้าด้วย
2.5 การลดต้นทุนด้วยความร่วมมือทางด้านมาตรฐานพลังงาน ที่ประชุม รัฐมนตรีเห็นชอบให้จัดทำหลักพื้นฐาน เพื่อให้มีการรับรองร่วมกันสำหรับสถาบันทดสอบต่างๆ ที่ผ่านการรับรองแล้ว และผลการทดสอบมาตรฐานที่ได้จากสถาบันเหล่านี้ เพื่อให้ลดต้นทุนและอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศสมาชิก พร้อมทั้งจัดทำหลักพื้นฐานสำหรับการเปรียบเทียบกันได้โดยตรง ระหว่างผลการทดสอบตามมาตรฐานที่แตกต่างกัน เพื่อลดหรือเลิกการทดสอบที่ซ้ำซ้อนกันเสีย
2.6 ในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ครั้งแรก ณ นครซิดนีย์ นี้ ได้มีปฏิญญา (DECLARATION) ร่วมกัน โดยมีสาระสำคัญให้การรับรองหลักการนโยบายด้านพลังงานของเอเปคที่ไม่ผูกพัน 14 ประการ ซึ่งจะได้นำเสนอผู้นำเอเปคเพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป ณ อ่าวซูบิค ประเทศฟิลิปปินส์ ในเดือนพฤศจิกายน 2539
3. ความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับหลักการนโยบายที่ไม่ผูกพัน 14 ประการ
3.1 หลักการนโยบายที่ไม่ผูกพันทั้ง 14 ประการนี้ เป็นแนวทางที่ประเทศไทยควรให้การรับรอง เพราะสอดคล้องกับแนวนโยบายและการปฏิบัติที่ประเทศไทยได้ดำเนินการไปแล้วเป็น ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะตลาดพลังงานของไทยที่ค่อนข้างเสรี ดังนั้นการให้การรับรองหลักการนโยบายในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อไทยมากขึ้น เพราะจะช่วยเปิดตลาดพลังงานในประเทศสมาชิกอื่นที่ยังไม่ได้เปิดเสรีและเป็น อุปสรรคต่อผู้ลงทุนของไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศอยู่ในขณะนี้
3.2 สำหรับเรื่องที่อยู่เกินขอบเขตของพลังงาน ซึ่งได้แก่ เรื่องมาตรฐานพลังงาน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะภาวะก๊าซเรือนกระจกนั้น สพช. ได้ขอความเห็นจากส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งได้แก่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ปรากฏว่าไม่มีส่วนราชการใดขัดข้อง
มติของที่ประชุม
1.ที่ประชุมรับทราบสรุปผลการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปคครั้งแรก ณ นครซิดนีย์
2.อนุมัติให้ดำเนินการและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปดำเนินการตามหลักการนโยบายพลังงานที่ไม่ผูกพัน 14 ประการ ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปคได้ให้ความเห็นชอบ และกำหนดให้ทุกประเทศสมาชิกดำเนินการ เพื่อเปิดตลาดพลังงานอย่างเสรีต่อไป
เรื่องที่ 5 การประกวดราคาน้ำมันเตาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2535 ได้มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถซื้อน้ำมันเตาจากผู้ค้าน้ำมันอื่นๆ ได้ โดยไม่ต้องซื้อจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เพียงรายเดียว และในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2535 ได้มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่องสัญญาซื้อขายน้ำมันเตาระหว่าง กฟผ. กับ ปตท. และวิธีการดำเนินการในการให้ กฟผ. ซื้อน้ำมันเตาจากผู้ค้าน้ำมันอื่นๆ โดยได้กำหนดรายละเอียดของคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดราคาและเงื่อนไขการ ประกวดราคาสำหรับปริมาณการซื้อขายในระดับร้อยละ 20 ของความต้องการใช้น้ำมันเตาทั้งหมดในแต่ละปีของ กฟผ.
2. เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2539 กฟผ. ได้ดำเนินการเรียกประกวดราคาน้ำมันเตาในส่วนของปริมาณการซื้อขายในระดับร้อย ละ 20 ของความต้องการใช้น้ำมันเตาทั้งหมดในแต่ละปีของ กฟผ. ในปริมาณทั้งสิ้นประมาณ 3,908 ล้านลิตร เป็นเวลา 3 ปี (ปีงบประมาณ 2540-2542) ตามประกวดราคาเลขที่ กฟผ. (ฟ)-ซ 14/2539 โดยกำหนดให้มีการเปิดซองประกวดราคาในวันที่ 27 สิงหาคม 2539
3. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้พิจารณาประกาศประกวดราคาน้ำมันเตาดังกล่าวแล้วเห็นว่า ประกาศประกวดราคาน้ำมันเตาได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ประสงค์จะยื่นซองประกวด ราคาให้ "เป็นผู้มีประสบการณ์ในการค้าน้ำมัน...."นั้น เป็นข้อความที่ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้ผู้ประกวดราคา "เป็นผู้มีประสบการณ์ในการค้าน้ำมันเตา....." จึงได้มีหนังสือแจ้งให้ กฟผ. พิจารณาดำเนินการแก้ไขประกาศดังกล่าวให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี
4. กฟผ. จึงได้ดำเนินการออกประกาศแก้ไขประกาศประกวดราคาดังกล่าวแล้ว และได้ทำการเลื่อนกำหนดวันยื่นและเปิดซองจากเดิม วันที่ 27 สิงหาคม 2539 ไปเป็นวันที่ 11 กันยายน 2539 แต่ต่อมา เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2539 กฟผ. ได้ดำเนินการประกาศยกเลิกการประกวดราคาน้ำมันเตาเนื่องจากมีความจำเป็นจะ ต้องปรับปรุงสาระสำคัญในเอกสารประกวดราคาบางส่วนเพื่อความสมบูรณ์ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการอีกระยะหนึ่ง
5. กรรมาธิการการพลังงานสภาผู้แทนราษฎร (นายสุชน ชามพูนท) ได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเรื่อง ประกาศประกวดราคาซื้อน้ำมันเตา โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) ประกาศประกวดราคาซื้อน้ำมันเตาดังกล่าว ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ประกวดราคาแตกต่างจากข้อกำหนดคุณสมบัติตามมติคณะ รัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2535 ดังนี้
- ประกาศเดิม : "เป็นผู้มีประสบการณ์ในการค้าน้ำมันเตา......"
- ประกาศใหม่ : "เป็นผู้มีประสบการณ์ในการค้าน้ำมัน..........."
(2) การประกวดราคาครั้งใหม่ ควรจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับ โดยน่าจะกำหนดเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- ควรเพิ่มปริมาณน้ำมันเตาที่จะเรียกประมูลจากเดิม เป็นร้อยละ 30 ของน้ำมันเตาทั้งหมดที่ กฟผ. ใช้ และขยายเวลาเป็น 5 ปี
- ต้องเป็นบริษัทไทยที่เป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง และเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ยกเว้น ปตท. มีสิทธิตามเดิมที่จะเข้าประกวดราคาได้
- มีเงินทุนหมุนเวียน และเครดิตไลน์จากธนาคารและสถาบันการเงิน รวมกันแล้ว ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
- ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ค้าน้ำมันเตามาแล้วไม่น้อยกว่า 200 ล้านลิตร
6. สพช. ได้พิจารณาข้อเสนอของกำหนดเงื่อนไขของกรรมาธิการการพลังงานแล้ว มีความเห็น ดังนี้
(1) การกำหนดคุณสมบัติของผู้ประสงค์จะยื่นซองประกวดราคาให้เป็นผู้ที่มี ประสบการณ์ในการค้าน้ำมันเตาตามมติคณะรัฐมนตรีในปัจจุบัน นั้น เป็นการกำหนดขอบเขตที่รัดกุมโดยจำกัดคุณสมบัติให้อยู่ในวงแคบเพื่อประโยชน์ สำหรับ กฟผ. อยู่พอสมควรแล้ว หากจะมีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของกรรมาธิการการพลังงาน แม้จะมีข้อดีคือเป็นการสงวนผลประโยชน์จากการจำหน่ายให้ตกอยู่กับบริษัทไทย แต่ก็อาจมีผลเสียคือ เป็นการจำกัดขอบเขตให้แคบลงยิ่งขึ้นโดยจะทำให้จำนวนของผู้เข้าร่วมประมูลมี น้อยลงจนไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการที่จะส่งเสริมการแข่งขัน อย่างเสรีในวงกว้าง
(2) การขยายเวลาเป็น 5 ปี ซึ่งจะรวมไปถึงปีงบประมาณ 2543-2544 จะขัดกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2539 ซึ่งได้กำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ รวมทั้ง กฟผ. จัดซื้อเชื้อเพลิงได้อย่างเสรีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นไป ยกเว้นว่าจะมีสัญญาระยะยาวกับ ปตท. ดังนั้น หากจะให้มีการดำเนินการกำหนดเงื่อนไขการประมูลตามข้อเสนอของกรรมาธิการการ พลังงานดังกล่าวแล้ว จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจาก ปตท. ในการแก้ไขสัญญาระยะยาวระหว่าง กฟผ. กับ ปตท.
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รับไปดำเนินการหาข้อสรุปในเรื่องเงื่อนไขในการประกวดราคาซื้อขายน้ำมันเตาใน ส่วนร้อยละ 20 ตามผลการพิจารณาของที่ประชุม และให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
เรื่องที่ 6 การเพิ่มอัตราสำรองของน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร
1. รองนายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) ขอให้ที่ประชุมพิจารณา เรื่อง การเพิ่มอัตราสำรองของน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2540 เป็นต้นไป โดยขอทราบเหตุผลของการที่ต้องเพิ่มอัตราดังกล่าว และผลกระทบต่อผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
2. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายมนตรี ด่านไพบูลย์) ได้เรียนชี้แจงต่อที่ประชุมเกี่ยวกับความเป็นมาของการแก้ไขปรับปรุงอัตราการ สำรอง ซึ่งจะมีผลกระทบทำให้น้ำมันที่นำเข้ามีต้นทุนเพิ่มขึ้น 47 สตางค์/ลิตร และจะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น เนื่องจากน้ำมันเป็นปัจจัยการผลิตสินค้า กระทรวงพาณิชย์จึงเห็นว่าไม่ควรเพิ่มอัตราสำรองดังกล่าว และอัตราสำรองเดิมร้อยละ 5 น่าจะเพียงพอโดยไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศ และหากเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันก็สามารถเพิ่มอัตราสำรองขึ้นภายหลังได้
3. เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การเพิ่มอัตราสำรองของน้ำมันที่นำเข้าดังกล่าวมีความมุ่งหมายที่จะแก้ไขความ เสียเปรียบของผู้ผลิตน้ำมันในประเทศต่อผู้นำเข้า เพราะในปัจจุบันผู้ผลิตในประเทศต้องสำรองร้อยละ 10 ประกอบด้วยการสำรองน้ำมันดิบร้อยละ 5 และน้ำมันสำเร็จรูปร้อยละ 5 ผู้นำเข้าจึงควรสำรองในอัตราร้อยละ 10 เช่นกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการแข่งขันภายใต้ระบบราคาน้ำมันลอยตัว ผลกระทบต่อต้นทุนการสำรองน้ำมันของประเทศจะเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะในปี 2540 คาดว่าจะมีการนำเข้าน้อยมาก เนื่องจากประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันเบนซินและดีเซลใช้ได้อย่างเพียงพอ และผู้นำเข้าจะไม่สามารถขึ้นราคาจำหน่ายน้ำมันที่นำเข้าเพราะต้องแข่งขัน ราคากับผู้ผลิตในประเทศ ซึ่งจะไม่ขึ้นราคาเพราะสำรองในอัตราร้อยละ 10 อยู่แล้วในปัจจุบัน ดังนั้น ปัญหาราคาสินค้าสูงขึ้น เพราะราคาน้ำมันจะไม่เกิดขึ้น
4. นอกจากนั้นเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า สาเหตุที่ไม่ได้นำเรื่องนี้มานำเสนอในที่ประชุม เพราะทางกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ส่งเรื่องมาให้ แต่ได้เสนอไปยังคณะรัฐมนตรี
5. ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์เสนอเรื่องนี้ไปยังคณะรัฐมนตรี จึงไม่ควรพิจารณากันในที่ประชุมนี้ แต่ควรไปพิจารณากันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
กพช. ครั้งที่ 58 - วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2539
มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 4/2539 (ครั้งที่ 58)
วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
1.ความคืบหน้าในการเจรจาซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว
2.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
3.มาตรการเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
4.การเพิ่มปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP)
6.นโยบายราคาก๊าซธรรมชาติและการกำกับดูแล
นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 ความคืบหน้าในการเจรจาซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2539 เห็นชอบใน หลักการของร่างบันทึกความเข้าใจร่วมเรื่อง ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว เพื่อให้ใช้แทนบันทึกความเข้าใจฉบับวันที่ 4 มิถุนายน 2536 โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) รับไปเจรจาในรายละเอียดเพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่ได้รับอนุมัติ โดยให้ กฟผ. ดำเนินการเจรจาเพื่อให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่อง ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว บันทึกความเข้าใจร่วมของโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน-หินบุน หากมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเรื่อง การยอมรับบังคับคดีตามผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการ น้ำเทิน-หินบุน จนเป็นที่พอใจแล้ว และให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการจัดการลงนามในบันทึกความเข้าใจและสัญญา ต่าง ๆ ในโอกาสที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เยือน สปป.ลาว ในระหว่างวันที่ 19-20 มิถุนายน 2539
2. กฟผ. กระทรวงการต่างประเทศ และ สพช. ได้ดำเนินการตามมติที่ได้รับมอบหมาย ดังกล่าวข้างต้น โดยมีผลการดำเนินงานสรุปได้ดังนี้
2.1 ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับ รัฐบาล สปป. ลาว เรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว เพื่อขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก 1,500 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2549 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย (นายอำนวย วีรวรรณ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ สปป.ลาว (นายสมสะหวาด เล่งสะหวัด) โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีของทั้ง 2 ประเทศ ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งบันทึกดังกล่าวมีสาระสำคัญที่แตกต่างจาก ฉบับเดิม ดังนี้
(1) การขยายปริมาณรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 1,500 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 3,000 เมกะวัตต์
(2) ขยายระยะเวลาสิ้นสุดการรับซื้อไฟฟ้าจากปี 2543 ไปจนถึงปี 2549
(3) ยินดีจะพิจารณาการก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าผ่านดินแดนของกันและกันเพื่อขนส่งไฟฟ้าไปยังประเทศที่สาม
(4) ให้มีการยอมรับผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการ
(5) บันทึกความตกลงครั้งนี้ ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
2.2 ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน-หินบุน โดยผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับ ผู้แทนกลุ่มผู้พัฒนาโครงการน้ำเทิน-หินบุน
2.3 กระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว ได้มีหนังสือที่ 1742/AE.TD ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว เพื่อยืนยันว่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายคำไซ สุภานุวง) ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาล สปป.ลาว ให้เป็นผู้ลงนามในหนังสือที่ 804/PMO ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2538 ในนามของรัฐบาล สปป.ลาว ซึ่งเป็นหนังสือแสดงการยอมรับบังคับคดีตามผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ดังกล่าว
3. สำหรับบันทึกความเข้าใจร่วมของโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสานั้น ไม่ได้มีการลงนามเนื่องจาก รัฐบาล สปป.ลาว ต้องการแก้ไขสัญญากับผู้ลงทุน เพื่อให้รัฐบาล สปป.ลาว เข้าร่วมถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าด้วย ขณะนี้ผู้ลงทุนกำลังรอความเห็นชอบจากรัฐบาล สปป.ลาว ให้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ กฟผ. ได้
4. สปป.ลาว มีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาเพื่อผลิตไฟฟ้าที่สำคัญ 11 โครงการ รวมกำลังผลิตประมาณ 4,800 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินลงทุนโครงการโดยประมาณ 7,308 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 182,700 ล้านบาท การเจรจาซื้อขายไฟฟ้าในปัจจุบันมีความคืบหน้าโดยมีโครงการที่สามารถ ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 1 โครงการ (โครงการน้ำเทิน-หินบุน) โครงการที่ตกลงอัตราค่าไฟฟ้า และอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 3 โครงการ (โครงการน้ำเทิน 2 โครงการห้วยเฮาะ และโครงการลิกไนต์หงสา) รวมกำลังการผลิต1,625 เมกะวัตต์ จึงยังเหลือปริมาณพลังไฟฟ้าที่จะรับซื้ออีกประมาณ 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเลือกซื้อจากโครงการที่เหลือ โดยมีรายละเอียดการรับซื้อไฟฟ้าของโครงการใน สปป.ลาวดังนี้
4.1 โครงการใหม่ที่จะดำเนินการเจรจาภายใต้บันทึกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป. ลาว ฉบับใหม่ ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2539
(1) โครงการน้ำงึม 3 มีกำลังผลิตติดตั้ง 400 เมกะวัตต์ กลุ่มผู้พัฒนาโครงการประกอบด้วย รัฐบาล สปป. ลาว และบริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ประเทศไทย และขณะนี้กลุ่ม ผู้พัฒนาโครงการเสนออัตราค่าไฟฟ้า (ปี 2537) เท่ากับ 4.51 เซนต์สหรัฐฯต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยให้ ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มได้ร้อยละ 3 ต่อปี จนถึงวันเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า และนับจากวันเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 ต่อปี ตามอัตราการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯและไทย ในสัดส่วนที่เท่ากัน
(2) โครงการน้ำงึม 2 มีกำลังผลิตติดตั้ง 465 เมกะวัตต์ กลุ่มผู้พัฒนาโครงการประกอบด้วย Shlapak Development Company, Bilfinger & Berger, J.M. Voith GmbH, Noell GmbH, Siemens AG, บริษัท ช. การช่าง จำกัด, และบริษัทศรีอู่ทอง จำกัด และขณะนี้กลุ่มผู้พัฒนาโครงการได้เสนออัตราค่าไฟฟ้าเท่ากับ 5.47 เซนต์สหรัฐฯต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มได้ร้อยละ 3 ต่อปี ในระหว่างก่อสร้าง และนับจากวันเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.75 ต่อปี
(3) โครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสาระยะที่ 2 เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าขนาด 600 เมกะวัตต์ โดยมีบริษัท ไทยลาวลิกไนท์ จำกัด เป็นผู้พัฒนาโครงการ ขณะนี้ กฟผ. ได้เจรจากับกลุ่ม ผู้พัฒนาโครงการแล้ว เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2539 และสามารถตกลงราคาไฟฟ้าที่จะรับซื้อเฉลี่ยตลอดโครงการในช่วงเวลา 25 ปี (Levelized) ที่อัตรา 5.60 เซนต์สหรัฐฯต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
(4) โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย กำลังผลิตติดตั้ง 395 เมกะวัตต์ หรือ 465 เมกะวัตต์ กลุ่ม ผู้พัฒนาโครงการประกอบด้วย รัฐบาล สปป. ลาว Dong Ah Construction Industrial Company/เกาหลีใต้ และ Electrowatt Engineering Services Ltd./สวิสเซอร์แลนด์ ขณะนี้กลุ่มผู้พัฒนาโครงการได้เสนออัตรา ค่าไฟฟ้าโดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 กำลังผลิตติดตั้ง 395 เมกะวัตต์ อัตราค่าไฟฟ้า Firm Energy เท่ากับ 5.02 เซนต์สหรัฐฯต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และอัตราค่าไฟฟ้า Secondary Energy เท่ากับ 2.27 เซนต์สหรัฐฯต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มได้ร้อยละ 3 ต่อปี ในระหว่างก่อสร้างแต่ไม่เกิน 6 ปี และนับจากวันเดินเครื่องจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มได้ร้อยละ 1 ต่อปีกรณีที่ 2 กำลังผลิตติดตั้ง 465 เมกะวัตต์ อัตราค่าไฟฟ้า Firm Energy เท่ากับ 5.21 เซนต์สหรัฐฯต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และอัตราค่าไฟฟ้า Secondary Energy เท่ากับ 2.27 เซนต์สหรัฐฯต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มได้ร้อยละ 3 ต่อปี ในระหว่างก่อสร้าง แต่ไม่เกิน 6 ปี และนับจากวันเดินเครื่องจำหน่ายกระแสไฟฟ้าแล้วให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มได้ ร้อยละ 1 ต่อปี
(5) โครงการน้ำเทิน 3 กำลังผลิตติดตั้ง 190 เมกะวัตต์ โดยมีบริษัท Heard Energy Corporation/สหรัฐอเมริกา เป็นผู้พัฒนาโครงการ ขณะนี้ผู้พัฒนาโครงการได้ศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จ
4.2 โครงการอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สปป. ลาว แต่มิได้นำเสนอมาเป็นทางการ
(1) โครงการเซคามาน 1 มีกำลังผลิตติดตั้ง 468 เมกะวัตต์ กลุ่มผู้พัฒนาโครงการ ประกอบด้วย รัฐบาล สปป. ลาว บริษัท Hydro Electric Commission Enterprises Corporation/ออสเตรเลีย และบริษัท ศรีอู่ทอง จำกัด และขณะนี้กลุ่มผู้พัฒนาโครงการได้เสนออัตราค่าไฟฟ้า (ปี 2537) เท่ากับ 4.99 เซนต์สหรัฐฯต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มร้อยละ 3 ต่อปี ในระหว่างก่อสร้าง และ นับจากวันเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าแล้วให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อย ละ 1.5 ต่อปี
(2) โครงการน้ำเทิน 1 มีกำลังผลิตติดตั้ง 540 เมกะวัตต์ กลุ่มผู้พัฒนาโครงการ ประกอบด้วย รัฐบาล สปป. ลาว และบริษัท สยามสหบริการ จำกัด (SUSCO) ขณะนี้กลุ่มผู้พัฒนาโครงการได้เสนอร่างรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2538 และนำเสนออัตราค่าไฟฟ้าในราคา 4.69 เซนต์สหรัฐฯต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
5. คณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว (คปฟ.-ลาว) และคณะกรรมการพลังงานและไฟฟ้าแห่ง สปป.ลาว ได้มีการประชุมปรึกษาหารือ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2539 เพื่อพิจารณา ความพร้อมของระบบสายส่งของ กฟผ. ที่จะรับไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ณ ที่ระบบเชื่อมโยงของสถานีไฟฟ้าย่อยของ กฟผ. ที่จุดส่งมอบ 3 จุด ดังนี้
มุกดาหาร 2 โดยจะรับจากโครงการน้ำเทิน 1, น้ำเทิน 2, น้ำเทิน 3 เซคามาน 1, เซเปียน-เซน้ำน้อย, และโครงการอื่นๆ จากตอนกลางของ สปป.ลาว คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี 2544หนองคาย 2 โดยจะรับจากโครงการน้ำงึม 3, น้ำงึม 2, และโครงการอื่นๆ จากทางตอนเหนือของ สปป.ลาว คาดว่าการก่อสร้าง จะแล้วเสร็จภายในปี 2545แม่เมาะ จะรับจากโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี 2544
ส่วนระบบเชื่อมโยงสายส่งของโครงการห้วยเฮาะ ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจไปแล้ว เมื่อเดือนมกราคม 2538 คาดว่าระบบเชื่อมโยงสายส่งจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2541
6. ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว เพื่อจำหน่ายให้แก่ประเทศไทย นอกจากจะเป็นการจัดหาพลังงานไฟฟ้าเพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่ เพิ่มขึ้นสูงในปริมาณเฉลี่ย 1,950 เมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งโครงการต่างๆจะเริ่มก่อสร้างเสร็จและส่งไฟฟ้าขายให้ประเทศไทยได้ตั้งแต่ ปี 2541 เป็นต้นไปแล้ว ความร่วมมือดังกล่าวยังมีผลให้ สปป.ลาว มีรายได้เป็นเงินตรา ต่างประเทศเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป :กล่าวคือ จะทำให้ สปป. ลาว มีรายได้สูงถึง ปีละ 627 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 16,000 ล้านบาทต่อปี จากโครงการซื้อขายไฟฟ้า 4 โครงการแรกในปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 1,625 เมกะวัตต์ และหากมีการขยายปริมาณการรับซื้อเพิ่มเป็น 3,000 เมกะวัตต์ จะทำให้ สปป.ลาว มีรายได้เพิ่มเป็น 1,050 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี หรือประมาณ 27,000 ล้านบาทต่อปี เทียบเท่ากับร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product) ของลาว ในปี 2545 เป็นต้นไป
มติของที่ประชุม
1.ที่ประชุมรับทราบ
2.มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำรายงานความคืบหน้าในการเจรจาซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพื่อให้คณะกรรมการฯ ทราบในการประชุมทุกครั้ง
เรื่องที่ 2 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนถึง กลางเดือนกรกฎาคม มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ราคาน้ำมันดิบในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมมีการเปลี่ยนแปลงทั้งขึ้นและลง โดยใน ช่วงครึ่งแรกของเดือนมิถุนายนราคาน้ำมันดิบได้ลดลงจากเดือนก่อนประมาณ 1 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งมีสาเหตุมาจากปริมาณการผลิตสูงกว่าปริมาณความต้องการ ต่อมาในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายนราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 0.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เป็นผลจากความต้องการใช้น้ำมันดิบ ของโรงกลั่นต่างๆ โดยเฉพาะแถบทวีปเอเชีย ซึ่งได้มีการเปิดดำเนินการของโรงกลั่นใหม่และโรงกลั่นที่ ปิดซ่อมแซมประจำปีกลับมาดำเนินการตามปกติ นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่อิรัคไม่อนุญาตให้ผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติตรวจค้นคลัง อาวุธและการลอบวางระเบิดในค่ายทหารสหรัฐอเมริกาในซาอุดิอารเบีย ทำให้ราคาน้ำมันดิบขึ้นมาอยู่ในระดับ 17.45-20.45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ต่อมาสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นสมาชิกในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้ใช้สิทธิยับยั้งแผนปฏิบัติการส่งออกน้ำมันที่อิรัคเสนอต่อสภา ความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทำให้ราคาน้ำมันดิบในครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม ปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 0.9 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขึ้นมาอยู่ในระดับ 17.94 -21.36 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
2. ในเดือนมิถุนายนราคาของผลิตภัณฑ์น้ำมันทุกประเภทในตลาดจรสิงคโปร์ได้ปรับตัว ลดลง เนื่องจากในย่านเอเซียตะวันออกไกลกำลังกลั่นได้เพิ่มสูงขึ้น จากโรงกลั่นใหม่ที่เกิดขึ้นในไทย จีน และเกาหลี รวมทั้งโรงกลั่นในเกาหลีและญี่ปุ่นที่ปิดซ่อมแซมประจำปีได้กลับมาทำการกลั่น ตามปกติ โดยมีราคาของผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทต่างๆ ดังนี้
น้ำมันเบนซิน ในเดือนมิถุนายนได้ปรับตัวลดลง 2.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และในครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม ราคาน้ำมันเบนซินได้ลดลงอีก 1 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลงมาอยู่ในระดับ 23.8 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลน้ำมันก๊าด ราคาในเดือนมิถุนายนได้อ่อนตัวลง 2 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ต่อมาในเดือนกรกฎาคมราคาได้สูงขึ้นมา 0.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขึ้นมาอยู่ในระดับ 24.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ราคาในเดือนมิถุนายนได้ปรับตัวลดลง 2 เหรียญสหรัฐฯต่อ บาร์เรล และในเดือนกรกฎาคมในช่วงแรกได้ปรับตัวสูงขึ้น 1 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขึ้นมาอยู่ในระดับ 25.4 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลน้ำมันเตา ราคาในเดือนมิถุนายนและครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคมได้ปรับตัวลดลง 1.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลงมาอยู่ในระดับ 14.1 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
3. สถานการณ์ราคาขายปลีกน้ำมันของประเทศ มีดังนี้
น้ำมันเบนซิน ในเดือนมิถุนายนได้มีการปรับราคาขายปลีกลง 4 ครั้ง และใน ครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคมได้ปรับตัวลงอีก 0.10 บาท/ลิตร ลดลงรวมทั้งสิ้น 0.47 บาท/ลิตร ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วและเบนซินธรรมดาไร้สารตะกั่ว ณ กลางเดือนกรกฎาคม อยู่ในระดับ 9.24 และ 8.69 บาท/ลิตร ตามลำดับ
น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ในเดือนมิถุนายนได้ปรับราคาขายปลีกลง 4 ครั้ง ลดลงรวม 0.22 บาท/ลิตร ต่อมาในช่วงปลายเดือนมิถุนายนราคาน้ำมันดีเซลในตลาดจรได้ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาขายปลีกของประเทศในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมปรับตัวสูงขึ้นอีก 0.10 บาท/ลิตร ขึ้นมาอยู่ในระดับ 8.36 บาท/ลิตร
ค่าการตลาด ในเดือนมิถุนายนอยู่ในระดับ 1.1222 บาท/ลิตร สูงกว่าระดับค่าการตลาดของเดือนพฤษภาคมเล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่ในระดับปกติ
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 มาตรการเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ความคืบหน้าในการดำเนินการ สรุปได้ดังนี้
1.1 การให้เอกชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบน้ำมัน กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำสินค้าเข้า มาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 114) พ.ศ. 2539 เพื่อให้ มีผู้ตรวจวัดอิสระในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ กรมทะเบียนการค้า ได้ออกประกาศกรมทะเบียน การค้า เรื่อง กำหนดชนิดน้ำมันที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจวัดอิสระ คุณสมบัติของผู้ตรวจวัดอิสระและแบบรายงานผลการตรวจสอบน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อกำหนดรายละเอียดให้การนำเข้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วต้องมี การตรวจวัดโดยผู้ตรวจวัดอิสระ ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงพาณิชย์และประกาศกรมทะเบียนการค้า ดังกล่าว ได้มีผลใช้บังคับแล้ว แต่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีผู้ตรวจวัดอิสระรายใดแจ้งขอขึ้นทะเบียนต่อกรม ทะเบียน การค้า ดังนั้น เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้นำเข้าโดยสุจริต อธิบดีกรมทะเบียนการค้าจะผ่อนผันการนำเข้าให้ ระยะหนึ่ง และเมื่อผู้ตรวจวัดอิสระได้มาขึ้นทะเบียนแล้ว ทางกรมทะเบียนการค้าจะบังคับใช้กฎหมายและรายงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่ง ชาติทราบในการประชุมครั้งต่อไป
1.2 การติดตั้งมิเตอร์ดีเซลหมุนเร็ว กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการติดตั้งมิเตอร์ในคลังน้ำมันดีเซลหมุนเร็วซึ่งแต่ เดิมมีทั้งหมด 38 คลัง แต่เนื่องจากมีคลังน้ำมันเลิกดำเนินกิจการ 1 คลัง จึงคงเหลือ คลังที่ต้องดำเนินการติดตั้งมิเตอร์จำนวน 37 คลัง ซึ่งขณะนี้คลังน้ำมันจำนวน 30 คลัง ได้ก่อสร้าง เสร็จเรียบร้อยแล้ว ยังคงเหลืออีก 7 คลัง ที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากมีการแก้ไขเพิ่มเติมแบบก่อสร้าง และเหตุอื่นๆ โดยคลังที่เหลือจำนวน 6 คลัง กรมสรรพสามิตจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2539 และคาดว่าคลังสุดท้ายจะแล้วเสร็จในราวเดือนกันยายน 2539 นี้
1.3 ปริมาณการจำหน่ายและผลการจับกุม มีดังนี้
(1) ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ในเดือนพฤษภาคม 2539 มีปริมาณ 1,538 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 122 ล้านลิตร คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และหากไม่รวมปริมาณการใช้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแล้ว ปริมาณการจำหน่ายมีปริมาณ 1,441 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 87 ล้านลิตร คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 6
(2) ผลการจับกุมของหน่วยงานปราบปราม ในเดือนมิถุนายน 2539 - วันที่ 13 กรกฎาคม 2539 สามารถจับกุมน้ำมันลักลอบนำเข้าได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 1.8 ล้านลิตร โดยกองทัพเรือ สามารถจับกุมเรือที่ดำเนินการลักลอบนำเข้าน้ำมันดีเซลได้บริเวณจังหวัด ชลบุรี จำนวน 26,000 ลิตร กรมศุลกากรสามารถจับกุมเรือบริเวณจังหวัดตราดและรถบรรทุกน้ำมันที่ดำเนินการ ลักลอบนำเข้า น้ำมันดีเซลจำนวน 23,053 ลิตร และ 8,000 ลิตร ตามลำดับ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สามารถจับกุมรถบรรทุกน้ำมันและเรือบริเวณจังหวัดนราธิวาสที่ดำเนินการลักลอบ นำเข้าน้ำมันดีเซลได้ จำนวน 1,782,263 ลิตร รวมผลการจับกุมในปี 2539 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2539 เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 5.9 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 3.9 ล้านลิตร หรือประมาณ 3 เท่า
2. ข้อเสนอการยกเลิกมาตรการที่ซ้ำซ้อน
กรมศุลกากร ได้เสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณายกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ การลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกรมศุลกากรเป็นเจ้าของเรื่อง เนื่องจากในปัจจุบันคณะรัฐมนตรีได้กำหนดมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมหลายประการ ประกอบกับได้มีมติให้กองทัพเรือเป็นศูนย์กลางใน การปราบปราม และให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ทำหน้าที่ศูนย์รวมการประสานงานทั้งหน่วยปราบปรามทางบกและทางทะเลแล้ว
3. ข้อเสนอมาตรการเพิ่มเติม
จากการประชุมศูนย์รวมการประสานงานปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อ เพลิง เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2539 ที่ประชุมฯ ได้มีการพิจารณาและเสนอมาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมีความ รัดกุมยิ่งขึ้น ดังนี้
3.1 มาตรการเร่งรัดให้ติดตั้งมิเตอร์ในคลังเพิ่มเติม ให้กรมสรรพสามิตเร่งดำเนินการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้า-ออกจาก คลัง และมาตรวัดน้ำมันคงเหลือแบบ Automatic Leveling Gauge ในคลังน้ำมัน 4 แห่ง ที่ยินยอมติดตั้งมาตรวัดของกรมสรรพสามิตแล้วโดยเร็ว คือ คลังของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีวรา ที่จังหวัดสมุทรปราการ คลังของบริษัท แสตนดาร์ดออยล์ (1990) จำกัด ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช คลังของบริษัท ท่าทองปิโตรเลียม จำกัด ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และคลังของบริษัท คอสโมออยล์ จำกัด ที่จังหวัดสมุทรปราการ
3.2 มาตรการติดตั้งมิเตอร์ในคลังน้ำมันเบนซิน เนื่องจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 มีช่องโหว่ที่ผู้ลักลอบค้าน้ำมันเชื้อเพลิง อาจนำน้ำมันชนิดธรรมดา (น้ำมันก๊าดและน้ำมันเครื่องบิน) และน้ำมันชนิดที่ไม่น่ากลัวอันตราย (น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว) ไปเก็บไว้ในคลังของน้ำมันชนิดน่ากลัวอันตราย (น้ำมันเบนซิน) ดังนั้น จึงมีข้อเสนอมาตรการเพื่อปิดช่องโหว่ ดังนี้
(1) มอบหมายให้กรมสรรพสามิตรับไปดำเนินการพิจารณาติดตั้งมาตรวัดปริมาณน้ำมัน เชื้อเพลิงเข้า-ออกจากคลัง และมาตรวัดน้ำมันคงเหลือแบบ Automatic Leveling Gauge ในคลังน้ำมันเบนซินชายฝั่งทุกแห่ง
(2) มอบหมายให้กรมโยธาธิการ ดำเนินการตรวจสอบคลังน้ำมันชายฝั่งทุกแห่งว่ามี การเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ถูกต้องตามชนิดที่แจ้งไว้แก่กรมโยธาธิการหรือไม่
3.3 มาตรการติดตั้งมิเตอร์ในคลังสินค้าทัณฑ์บน ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 12/2539 เรื่อง ระเบียบเกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปสำหรับเก็บน้ำมัน ลงวันที่ 7 มีนาคม 2539 เพื่อส่งเสริมการค้าน้ำมันและผ่อนคลายภาระการชำระภาษีของผู้นำเข้า รวมทั้ง สนับสนุนการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงของประเทศนั้น ปัจจุบันกรมศุลกากรได้อนุมัติให้มีคลังสินค้าทัณฑ์บนได้ 1 แห่ง คือ บริษัท ไทยพับลิคพอร์ต จำกัด ตั้งอยู่บนเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ทั้งนี้ คลังสินค้าทัณฑ์บนจะใช้เก็บน้ำมันเพื่อการนำเข้าหรือส่งออกได้รวม 6 ชนิด คือ น้ำมันดิบ น้ำมันเตา น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเบนซิน น้ำมันเครื่อง หรือน้ำมันอื่นๆ ตามที่อธิบดี อนุญาต และสามารถเก็บไว้ได้ไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันนำเข้า โดยไม่ต้องชำระภาษีหรืออาจส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้ด้วย ดังนั้น คลังสินค้าทัณฑ์บนดังกล่าว อาจถูกผู้ลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงใช้เป็นสถานที่ลักลอบนำเข้าน้ำมัน เชื้อเพลิงได้ จึงมีข้อเสนอให้กำหนดมาตรการ ดังนี้
(1) ให้กรมศุลกากรประสานงานกับกรมสรรพสามิตพิจารณาติดตั้งมิเตอร์ ทั้งขาเข้า และออกจากคลัง รวมทั้งอุปกรณ์วัดน้ำมันคงเหลือแบบ Automatic Leveling Gauge และนำผลการรายงานปริมาณน้ำมันเข้า-ออกจากคลัง และคงเหลือในถังตรวจเช็คกับใบขนสินค้าทุกครั้ง
(2) ให้กรมศุลกากรระงับการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปสำหรับเก็บ น้ำมันเชื้อเพลิงไว้ก่อน จนกว่าปัญหาความเสี่ยงภัยในการเกิดการลักลอบจะได้รับการแก้ไขเสร็จเรียบร้อย
(3) ให้หน่วยงานปราบปรามเฝ้าระวังการขนส่งน้ำมันของคลังสินค้าทัณฑ์บนเป็นพิเศษ
3.4 การควบคุมผลิตภัณฑ์เคมีปิโตรเลียมและสารละลาย ตามที่กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการปรับปรุงการควบคุมการนำผลิตภัณฑ์เคมี ปิโตรเลียมและสารละลายที่ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตที่ ออกจากโรงอุตสาหกรรมให้รัดกุมยิ่งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2539 แล้ว ปรากฏว่าในเดือนมิถุนายน 2539 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกเข้าจับกุมแหล่งปลอมปนน้ำมัน ซึ่งใช้ผลิตภัณฑ์สารละลาย (Solvent) เพื่อปลอมปนในน้ำมันเบนซินได้ 1 แห่ง และจากผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงพบว่า ได้มีการนำผลิตภัณฑ์สารละลายมาผสมและจำหน่ายในสถานีบริการบริเวณภาคตะวันออก เฉียงเหนือเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงควรกำหนดมาตรการ ดังนี้
(1) มอบหมายให้กรมสรรพสามิต กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและสารละลายที่ ใช้เป็นวัตถุดิบในโรงอุตสาหกรรม เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในพิกัดของภาษีสรรพสามิตและให้มีการชำระ ภาษีเมื่อออกจากโรงอุตสาหกรรมก่อน และขอคืนภาษีได้ในภายหลังหากนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า
(2) มอบหมายให้กรมตำรวจและกรมทะเบียนการค้าร่วมกันตรวจสอบคุณภาพน้ำมัน เชื้อเพลิงโดยจัดรถตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเคลื่อนที่ออกตรวจคุณภาพน้ำมันเชื้อ เพลิงที่สถานีบริการ ทั่วราชอาณาจักร หากพบผิดให้ดำเนินคดีทุกราย
3.5 การเติมสาร Marker ในน้ำมันที่เสียภาษีแล้ว ในการตรวจสอบน้ำมันลักลอบในสถานี บริการและรถบรรทุกน้ำมัน เจ้าหน้าที่ตำรวจประสบปัญหาไม่สามารถพิสูจน์ได้ในทันทีว่าน้ำมันที่ จับได้นั้นเป็นน้ำมันลักลอบหรือไม่ ทำให้ต้องตั้งฟ้องในความผิดอื่น เช่น ไม่มีใบอนุญาตจำหน่ายน้ำมัน ไม่มีใบกำกับการขนส่งน้ำมัน ฯลฯ ดังนั้น จึงควรพิจารณานำมาตรการเติมสาร Marker ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 ให้ชะลอการเติมสารดังกล่าวไว้ก่อนกลับ นำมาใช้ โดยมีมาตรการดังนี้
(1) ให้กรมสรรพสามิตเร่งพิจารณาเติมสาร Marker ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ชำระภาษีสรรพสามิตแล้ว ทั้งน้ำมันที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมทั้งพิจารณาจัดหาอุปกรณ์ การตรวจสอบสาร Marker ให้แก่หน่วยปราบปรามอย่างเพียงพอ
(2) มอบหมายให้กรมสรรพสามิตเป็นศูนย์รวมการเติมสาร Marker เพื่อให้สามารถ ควบคุมการเก็บรักษาและการเติมสาร Marker ได้อย่างรัดกุม
(3) ให้กรมสรรพสามิตจัดอบรมให้คำแนะนำวิธีการตรวจสอบแก่หน่วยงานปราบปราม เช่น กรมตำรวจ กรมศุลกากร และกองทัพเรือ
3.6 การปรับปรุงใบกำกับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง การดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบรถบรรทุกน้ำมันว่ามีเอกสารใบกำกับการขน ส่งของกรมทะเบียนการค้าหรือไม่นั้น ปรากฏว่าประสบปัญหาในการ ตรวจสอบ เนื่องจากรูปแบบใบกำกับการขนส่งแตกต่างกัน และไม่มีการจัดทำสำเนาเอกสารไว้ให้ชัดเจน ทำให้รถบรรทุกบางคันใช้ภาพถ่ายสำเนาใบกำกับการขนส่งมาแสดงแก่เจ้าหน้าที่ ดังนั้น จึงได้มีการกำหนดแนวทางแก้ไข ดังนี้
(1) ควรมอบหมายให้กรมทะเบียนการค้าและ สพช. รับไปพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2535) เรื่อง กำหนดวิธีการและเงื่อนไขในการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดแบบใบกำกับการขนส่งเพิ่มเติมขึ้นอีกฉบับหนึ่ง เพื่อใช้สำหรับการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งต้องมีลักษณะเข้าใจได้ง่ายและเป็นรูปแบบเดียวกัน เพื่อไม่ให้กระทบต่อใบกำกับการขนส่งเดิมที่ผู้ค้าใช้อยู่ในปัจจุบัน
(2) เมื่อได้ปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงพาณิชย์แล้ว มอบหมายให้กรมทะเบียน การค้าและ สพช. รับไปชี้แจงทำความเข้าใจการตรวจสอบแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
3.7 การเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้า) แก้ไข กฎกระทรวงพาณิชย์ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2526) และให้กระทรวงมหาดไทย (กรมโยธาธิการ) แก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 6 แต่งตั้งให้นายตำรวจ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานเป็นหัวหน้าชุดศูนย์ป้องกันและปราบปรามการนำ เข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (ศปนม.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กรมตำรวจ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474
3.8 มาตรการส่งเสริมการปราบปรามและจัดเก็บภาษี เนื่องจากกรมสรรพากรขาดรายละเอียดที่ จำเป็น เพื่อใช้เป็นฐานในการประเมินภาษีเงินได้ของเจ้าของเรือประมงดัดแปลงที่ ลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและผู้เช่าเรือดังกล่าวที่ถูกจับกุมได้ ซึ่งเป็นมาตรการเสริมในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้น จึงมีข้อเสนอเพิ่มเติม ดังนี้
(1) มอบหมายให้หน่วยงานปราบปรามทุกหน่วยส่งบันทึกการจับกุมเรือหรือรายงานการจับ กุมเรือให้แก่กรมสรรพากรทุกครั้งและทันทีที่จับกุมเรือได้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบประเมินภาษีต่อไป
(2) มอบหมายให้หน่วยงานปราบปรามทุกหน่วยส่งบันทึกการจับกุมหรือรายงาน การจับกุมให้แก่กรมเจ้าท่าทุกครั้งและทันทีที่จับกุมเรือลักลอบนำเข้า สัญชาติไทยได้ และให้กรม เจ้าท่าพิจารณาว่าเรือดังกล่าวได้ดัดแปลงเรือในลักษณะที่ผิดกฎหมายหรือไม่ และการดัดแปลงนั้นเกิดขึ้นเมื่อใด ก่อนหรือหลังการให้เช่า และแจ้งผลการตรวจสอบให้หน่วยปราบปรามที่จับกุมได้ทราบ รวมทั้งกรมสรรพากรด้วย
3.9 การเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ในเขตต่อเนื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มี พระบรมราชานุญาตประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2538 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เพื่อพิจารณาเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรให้สามารถปฏิบัติงานในเขต "ต่อเนื่อง" ระหว่าง 12-24 ไมล์ทะเลได้ สพช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าถึงแม้ประเทศไทยจะได้ประกาศเขตต่อเนื่อง ในช่วง 12-24 ไมล์ทะเลแล้ว แต่หากร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภา จะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีอำนาจกระทำการในเขตต่อเนื่องได้ และความมุ่งหมายในการขยายพื้นที่การปราบปรามในทะเลจะไม่บรรลุผล จึงเห็นควรเสนอให้กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมเร่งรัดให้มีการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าว เพื่อให้ประกาศใช้ได้โดยเร็ว
3.10 แนวทางการเก็บภาษี ณ จุดปลายทางหรือลดภาษี คณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2539 มอบหมายให้ สพช. รับไปดำเนินการศึกษาและพิจารณา แนวทางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเก็บภาษี ณ จุดปลายทาง หรือลดภาษีเพื่อลดแรงจูงใจในการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจากผลการศึกษาได้ข้อสรุป ดังนี้
(1) ยังไม่ควรเปลี่ยนไปจัดเก็บภาษี ณ จุดปลายทางโดยใช้วิธีเก็บจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานีบริการแทน จนกว่ากรมสรรพากรจะสามารถดำเนินการให้สถานีบริการทุกแห่งภายในประเทศเข้า สู่ระบบเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อใช้เป็นฐานในการจัดเก็บภาษีในระดับค้าปลีกทั้งหมดต่อไป
(2) ไม่ควรจัดเก็บภาษีจากปลายท่อหรือคลังน้ำมัน เนื่องจากยังมีการขายน้ำมัน บางส่วน โดยไม่ผ่านท่อขนส่งหรือคลังน้ำมัน จึงช่วยลดแรงจูงใจได้ไม่มาก
(3) มอบหมายให้ สพช. รับไปศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีจากป้ายวงกลมรถยนต์ดีเซลแทนและให้เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณา
3.11 การควบคุมน้ำมันที่ส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ให้กรมตำรวจและกรมศุลกากรร่วมกันควบคุมและตรวจสอบการขนส่งน้ำมันไปยัง สปป.ลาว อย่างเข้มงวด เนื่องจากพบว่า ได้มีการนำน้ำมันที่ส่งออกไปยัง สปป.ลาว กลับมาใช้ในประเทศไทย และใช้หลักฐาน การส่งออกนั้นมาขอคืนภาษีจากรัฐบาลในภายหลัง
3.12 การนำเรือน้ำมันออกไปลอยลำจำหน่ายกลางทะเล คณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2539 มอบหมายให้ สพช. รับไปศึกษาและพิจารณาแนวทางในการนำเรือน้ำมันออกไปลอยลำจำหน่ายให้แก่เรือ ประมงกลางทะเล โดยให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจากผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่า มาตรการนำเรือน้ำมันออกไปลอยลำจำหน่ายกลางทะเลยังไม่ควรดำเนินการ ในชั้นนี้ เนื่องจากการซื้อขายมีลักษณะที่ไม่มีการทำสัญญาระหว่างกัน จึงอาจเป็นปัญหาต่อ ปตท. ในการเสี่ยงต่อภาวะหนี้สูญ และสมาคมประมงยังไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้
3.13 กองทัพเรือขอรับการสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ ด้วย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้ เดินทางไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจปราบปรามทางทะเล (ศอปล.) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2539 และสั่งการให้จัดหาระบบตรวจการณ์กลางคืนติดตั้งกับเรือและอากาศยาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อ เพลิงในเวลากลางคืน กองทัพเรือจึงได้เสนอแผนการจัดซื้อและขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดหา อุปกรณ์ตรวจการณ์ กลางคืน เพื่อติดตั้งกับเครื่องบินของกองทัพเรือ จำนวน 6 เครื่อง และกล้องตรวจการณ์กลางคืนในเรือ จำนวน 20 กล้อง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 240 ล้านบาท
3.14 กรมเจ้าท่าขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย กรมเจ้าท่า ได้ขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2540 ในโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ทางทะเลขนาด 130 ฟุต จำนวน 3 ลำ ในวงเงิน 450 ล้านบาท เนื่องจากกรมเจ้าท่ามีพื้นที่ในความรับผิดชอบกว้างขวางมาก แต่มีเรือตรวจการณ์ทางทะเลเป็นเรือขนาดเล็กเพียง 4 ลำ จึงทำให้การตรวจการณ์ทางทะเลไม่สามารถตรวจตราได้ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งในเขตทะเลอาณาเขตและทะเลต่อเนื่องได้ ซึ่งโครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่นี้กรมเจ้าท่าได้ขอแปรญัตติเพื่อ จัดหาแล้วและกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา และหากกรมเจ้าท่าไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามที่ได้ขอแปรญัตติไปแล้ว กรมเจ้าท่าจึงขอเสนอให้ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายจำนวน 450 ล้านบาท ในปี 2541 ด้วย
มติของที่ประชุม
1.รับทราบรายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงของหน่วยงานต่างๆ
2.ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 ซึ่งอนุมัติให้จัดตั้งคณะทำงานโดยมี กรมศุลกากรเป็นเจ้าของเรื่อง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจาก เป็นมาตรการที่ซ้ำซ้อนกัน
3.เห็นชอบกับมาตรการเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้
3.1 มาตรการเร่งรัดให้ติดตั้งมิเตอร์ในคลังเพิ่มเติม
ให้กรมสรรพสามิตเร่งดำเนินการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้า-ออก จากคลังและมาตรวัดน้ำมันคงเหลือแบบ Automatic Leveling Gauge ในคลังทั้ง 4 แห่ง ที่กรมสรรพากรจูงใจให้ยินยอมติดตั้งมิเตอร์แล้วโดยเร็ว โดยให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ รับไปพิจารณาดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมิเตอร์ดังกล่าวด้วย
3.2 มาตรการติดตั้งมิเตอร์ในคลังน้ำมันเบนซิน
(1) ให้กรมสรรพสามิตรับไปดำเนินการพิจารณาติดตั้งมาตรวัดปริมาณน้ำมัน เชื้อเพลิงเข้า-ออกจากคลัง และมาตรวัดน้ำมันคงเหลือแบบ Automatic Leveling Gauge ในคลังน้ำมันเบนซินชายฝั่งทุกแห่ง และนำผลการพิจารณาเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมคราว ต่อไป
(2) ให้กรมโยธาธิการดำเนินการตรวจคลังน้ำมันชายฝั่งทุกแห่งว่ามีการเก็บ น้ำมันเชื้อเพลิงไว้ถูกต้องตามชนิดที่แจ้งไว้แก่กรมโยธาธิการหรือไม่ และให้รายงานผลการตรวจสอบให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติทราบในการประชุมคราวต่อไป
3.3 มาตรการติดตั้งมิเตอร์ในคลังสินค้าทัณฑ์บน
(1) ให้กรมศุลกากรประสานงานกับกรมสรรพสามิตพิจารณาติดตั้งมิเตอร์ทั้งขาเข้า และออกจากคลัง รวมทั้งอุปกรณ์วัดน้ำมันคงเหลือแบบ Automatic Leveling Gauge และนำผลการรายงานปริมาณน้ำมันเข้า-ออกจากคลัง และปริมาณคงเหลือในถังตรวจเช็คกับใบขนสินค้าทุกครั้ง
(2) ให้กรมศุลกากรระงับการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปสำหรับ เก็บน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ก่อน จนกว่าปัญหาความเสี่ยงภัยในการเกิดการลักลอบจะได้รับการแก้ไขเสร็จเรียบร้อย แล้ว
(3) ให้หน่วยงานปราบปรามทุกหน่วยเฝ้าระวังการขนส่งน้ำมันเข้า-ออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปเป็นพิเศษ
3.4 การควบคุมผลิตภัณฑ์เคมีปิโตรเลียมและสารละลาย
(1) ให้กรมสรรพสามิตพิจารณากำหนดให้ผลิตภัณฑ์เคมีปิโตรเลียมและสารละลายที่ใช้ เป็นวัตถุดิบในโรงอุตสาหกรรมเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในพิกัดของภาษีสรรพสามิต และให้มีการชำระภาษีเมื่อออกจากโรงอุตสาหกรรมก่อนและขอคืนภาษีได้ในภายหลัง หากนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า
(2) ให้กรมตำรวจและกรมทะเบียนการค้าร่วมกันตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจัด รถตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเคลื่อนที่ออกตรวจคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงที่สถานี บริการทั่วราชอาณาจักร หากพบการกระทำผิดให้ดำเนินคดีทุกราย
3.5 การเติมสาร Marker ในน้ำมันที่เสียภาษีแล้ว
(1) ให้กรมสรรพสามิตเร่งพิจารณาเติมสาร Marker ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ชำระภาษีสรรพสามิตแล้ว ทั้งน้ำมันที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมทั้งพิจารณาจัดหาอุปกรณ์ การตรวจสอบสาร Marker ให้แก่หน่วยปราบปรามอย่างเพียงพอ
(2) ให้กรมสรรพสามิตเป็นศูนย์รวมการเติมสาร Marker เพื่อให้สามารถควบคุม การเก็บรักษาและเติมสาร Marker ได้อย่างรัดกุม
(3) ให้กรมสรรพสามิตจัดอบรมให้คำแนะนำวิธีการตรวจสอบแก่หน่วยปราบปราม เช่น กรมตำรวจ กรมศุลกากร และกองทัพเรือ
3.6 การปรับปรุงใบกำกับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง
(1) ให้กรมทะเบียนการค้าและ สพช. รับไปพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ กระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2535) เรื่อง กำหนดวิธีการและเงื่อนไขในการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดแบบใบกำกับการขนส่งเพิ่มเติมขึ้นอีกฉบับหนึ่งเพื่อใช้สำหรับการตรวจ สอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งต้องมีลักษณะเข้าใจได้ง่ายและเป็นรูปแบบเดียวกัน เพื่อไม่ให้กระทบต่อใบกำกับการขนส่งเดิมที่ผู้ค้าใช้อยู่ในปัจจุบัน
(2) เมื่อได้ปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงพาณิชย์แล้ว ให้กรมทะเบียนการค้าและ สพช. รับไปชี้แจงทำความเข้าใจการตรวจสอบแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
3.7 การเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ
(1) ให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้า) แก้ไขกฎกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2526) แต่งตั้งให้นายตำรวจซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานเป็นหัวหน้าชุดในศูนย์ ป้องกันและปราบปรามการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (ศปนม.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กรมตำรวจ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521
(2) ให้อธิบดีกรมโยธาธิการและผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องมอบอำนาจให้นาย ตำรวจ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการเป็นหัวหน้าชุดในศูนย์ดังกล่าว มีอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474
3.8 มาตรการส่งเสริมการปราบปรามและจัดเก็บภาษี
(1) ให้หน่วยงานปราบปรามทุกหน่วยส่งบันทึกการจับกุมเรือหรือรายงานการจับกุมเรือให้แก่กรมสรรพากรทุกครั้งและทันทีที่จับกุมเรือได้
(2) ให้หน่วยงานปราบปรามทุกหน่วยส่งบันทึกการจับกุมหรือรายงานการจับกุมให้แก่ กรมเจ้าท่าทุกครั้ง และทันทีที่จับกุมเรือลักลอบนำเข้าสัญชาติไทยได้ และให้กรมเจ้าท่าพิจารณาว่าเรือ ดังกล่าวได้ดัดแปลงเรือในลักษณะที่ผิดกฎหมายหรือไม่ และการดัดแปลงนั้นเกิดขึ้นเมื่อใดก่อนหรือหลังการให้เช่า และแจ้งผลการตรวจสอบให้หน่วยปราบปรามที่จับกุมได้ทราบ รวมทั้งกรมสรรพากรด้วย
3.9 การเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ในเขตต่อเนื่อง
ให้กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมเร่งรัดให้มีการพิจารณาร่างพระราช บัญญัติศุลกากร พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. .... เพื่อให้ประกาศใช้ได้โดยเร็ว
3.10 แนวทางการเก็บภาษี ณ จุดปลายทางหรือลดภาษี
(1) ให้ชะลอการจัดเก็บภาษี ณ จุดปลายทางโดยใช้วิธีเก็บจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานีบริการ จนกว่ากรมสรรพากรจะสามารถดำเนินการให้สถานีบริการทุกแห่งภายในประเทศเข้าสู่ ระบบเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทั้งหมด และให้ชะลอการจัดเก็บภาษีจากปลายท่อหรือคลังน้ำมันไว้ด้วย
(2) ให้สพช. รับไปศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีจากป้ายวงกลมรถยนต์ดีเซลแทน และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาต่อไป
3.11 การควบคุมน้ำมันที่ส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ให้กรมตำรวจและกรมศุลกากรร่วมกันควบคุมและตรวจสอบการขนส่งน้ำมันไปยัง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อไม่ให้มีการแจ้งส่งออกแต่ไม่ส่งไปจริง
3.12 การนำเรือน้ำมันออกไปลอยลำจำหน่ายกลางทะเล
ให้ระงับมาตรการนำเรือน้ำมันออกไปลอยลำจำหน่ายกลางทะเลไว้ก่อนในชั้นนี้
3.13 การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์และค่าใช้จ่าย
(1) ให้สำนักงบประมาณพิจารณาดำเนินการให้กองทัพเรือได้รับเงิน งบประมาณ จำนวน 240 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ในการตรวจการณ์ในเวลากลางคืน
(2) ให้สำนักงบประมาณพิจารณาดำเนินการให้กรมเจ้าท่าได้รับเงินงบประมาณ จำนวน 450 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเรือตรวจการณ์ขนาด 130 ฟุต จำนวน 3 ลำ
4.ให้ สพช. ติดตามการดำเนินการตามมาตรการในข้อ 3 และรายงานผลให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติทราบในครั้งต่อไป
เรื่องที่ 4 การเพิ่มปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP)
สรุปสาระสำคัญ
1. การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าชุดเดือนเมษายน 2539 ซึ่งเป็นชุดล่าสุด คาดว่าความต้องการไฟฟ้าจะสูงขึ้นมากกว่าการพยากรณ์ชุดเดือนมิถุนายน 2537 ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใช้เป็นฐานในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พ.ศ. 2538-2554) หรือ PDP 95-01 กล่าวคือ คาดการณ์ว่าความต้องการพลังไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1,640 เมกะวัตต์ ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 (ปี 2540-2544) และจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเฉลี่ยปีละ 1,847 เมกะวัตต์ ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (ปี 2545-2549) ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2539 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้า เอกชน (IPP) เพื่อสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
2. การดำเนินการในการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน IPP สรุปได้ดังนี้
2.1 กฟผ. ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (รอบแรก) จำนวน 3,800 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 และกำหนดยื่นข้อเสนอในวันที่ 30 มิถุนายน 2538 แยกเป็น
ระยะที่ 1 จำนวน 1,000 เมกะวัตต์ กำหนดแล้วเสร็จปี 2539-2543ระยะที่ 2 จำนวน 2,800 เมกะวัตต์ กำหนดแล้วเสร็จปี 2544 และ 2545
ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2538 กฟผ. ได้ประกาศรับซื้อเพิ่มอีกประมาณ 10% รวมกำลังผลิตที่ต้องการซื้อทั้งสิ้นประมาณ 4,200 เมกะวัตต์
2.2 เมื่อถึงวันกำหนดยื่นข้อเสนอในวันที่ 30 มิถุนายน 2538 มีผู้ยื่นข้อเสนอ 32 ราย รวม 50 โครงการ ซึ่งประกอบด้วยข้อเสนอทั้งสิ้น 88 ทางเลือก รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 37,500 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 9 เท่าของกำลังผลิตที่ต้องการ โดยใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ 37 ราย ถ่านหิน 12 ราย และออริมัลชั่น 1 ราย
2.3 การประเมินและคัดเลือกข้อเสนอจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ได้ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอ จากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยพิจารณาจากปัจจัย ด้านราคา (Price Factor) 60% ปัจจัยด้านอื่นๆ นอกเหนือจากราคา (Non-Price Factors) 40% ซึ่งพิจารณาแต่ละโครงการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ ผลิตไฟฟ้าเอกชน
2.4 โครงการที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก รวมทั้งสิ้น 21 โครงการ แยกเป็นระยะที่ 1 จำนวน 13 โครงการ กำลังการผลิตรวม 6,184 เมกะวัตต์ ระยะที่ 2 จำนวน 8 โครงการ กำลังการผลิตรวม 8,250 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง 16 โครงการ ใช้ถ่านหิน 4 โครงการ และใช้ออริมัลชั่น 1 โครงการ
2.5 ขณะนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างการเจรจาในรายละเอียดเพื่อคัดเลือกโครงการที่เหมาะสมให้ได้ตาม ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ IPP จำนวน 4,200 เมกะวัตต์
3. สพช. และ กฟผ. ได้พิจารณาทางเลือกในการจัดหาไฟฟ้าเพื่อสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ตามผลการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าชุดเดือนเมษายน 2539 โดยพิจารณาความเป็นไปได้ของทางเลือกต่างๆ และได้นำเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2539 เพื่อให้ความเห็นชอบ 2 ทางเลือก คือ
3.1 เห็นชอบให้มีการพิจารณาขยายปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก (SPP) ในช่วงปี 2539-2543 จาก 1,444 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 3,200 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้า
3.2 เห็นชอบให้มีการพิจารณาเพิ่มปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว จาก 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2543 เป็น 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2549 ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่อง ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2539 ณ นครเวียงจันทน์ ในคราวที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือน สปป. ลาว
4. สพช. และ กฟผ. ได้พิจารณาเพิ่มปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน IPP เพื่อสนองความต้องการไฟฟ้าชุดเดือนเมษายน 2539 โดยคำนึงถึงการขยายปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก และการเพิ่มปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว รวมทั้งความคืบหน้าของโครงการที่ กฟผ. ดำเนินการเองตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. (พ.ศ. 2539-2554) หรือ PDP 95-01 สรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
4.1 การขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP สำหรับในช่วงเวลาปัจจุบันถึงปี 2546 ให้ดำเนินการคัดเลือกจากข้อเสนอที่ได้ยื่นต่อ กฟผ. ไปแล้วตามประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ในรอบแรก ทั้งนี้เพราะ ระยะเวลาในการดำเนินการค่อนข้างสั้น หากจะออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้า รอบใหม่จะไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดเวลา โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการประเมินและ คัดเลือกข้อเสนอจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรับไปดำเนินการ ดังนี้
ปี 2543 : ให้เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP อีก 300 เมกะวัตต์ จากโครงการที่ยื่น ข้อเสนอมาในระยะที่ 1 ที่มีความสอดคล้องกับความสามารถของระบบสายส่งในช่วงเวลาดังกล่าว
ปี 2545 : ให้เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP อีก 700 เมกะวัตต์ จากโครงการที่ได้ยื่น ข้อเสนอมาในระยะที่ 2 (ปี 2544-2545) เนื่องจากคาดว่า โครงการ IPP ในระยะที่ 2 ขนาด 2,800 เมกะวัตต์ จะรับซื้อได้ในปี 2544 ทั้งหมด
ปี 2546 : ให้เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP อีก 600 เมกะวัตต์ ในปี 2546 จากโครงการที่ได้ยื่นข้อเสนอมาในระยะที่ 2 เพื่อสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
สรุปปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP
หน่วย: เมกะวัตต์
เดิม | เพิ่ม | รวม | |
ปี 2542-2543 (ค.ศ. 1999-2000) | 1,400 | 300 | 1,700 |
ปี 2544 (ค.ศ. 2001) | 2,800 | 0 | 2,800 |
ปี 2545 (ค.ศ. 2002) | 0 | 700 | 700 |
ปี 2546 (ค.ศ. 2003) | 0 | 600 | 600 |
รวม | 4,200 | 1,600 | 5,800 |
4.2 สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นไป ในขณะนี้ยังมีเวลาเพียงพอ ในการออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP รอบใหม่ จึงสมควรมอบหมายให้ กฟผ. และ สพช. ร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมของปริมาณรับซื้อไฟฟ้าและแนวทางการรับซื้อไฟฟ้า รวมทั้งจัดทำประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปของ IPP ในรอบที่ 2 สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นไป แล้วนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ เพื่อให้สามารถดำเนินการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้ารอบใหม่ได้ในกลางปี 2540
5. การรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มจาก IPP อีก 1,600 เมกะวัตต์ จะทำให้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพียงพอต่อการตอบสนองความต้องการโดยมี ปริมาณสำรองในระดับที่เหมาะสม กล่าวคือ กำลังผลิต ติดตั้งของระบบไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 34,109 เมกะวัตต์ ในเดือนกันยายน 2546 เพียงพอกับความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด 25,506 เมกะวัตต์ ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมีกำลังผลิตสำรองประมาณร้อยละ 27
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบในหลักการให้มีการเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) ในช่วงปี 2543 ถึงปี 2546 จำนวน 1,600 เมกะวัตต์ โดยคัดเลือกจากโครงการที่ได้ยื่นข้อเสนอต่อ กฟผ. แล้ว ตามประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP ในรอบแรก โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ ผลิตไฟฟ้าเอกชนรับไปดำเนินการต่อไป
2.ให้ กฟผ. และ สพช. ร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมของปริมาณรับซื้อไฟฟ้า และแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) รวมทั้งจัดทำประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปของ IPP ในรอบที่ 2 สำหรับการรับซื้อตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นไป แล้วนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบเพื่อให้สามารถ ดำเนินการออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้ารอบใหม่ได้ ในกลางปี 2540
3.ให้ สพช. และกระทรวงการคลังรับไปพิจารณาถึงความเหมาะสมในการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเตา และน้ำมันดีเซลที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวมด้วยและให้รายงานผลการ พิจารณาต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
สรุปสาระสำคัญ
1. กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีหนังสือขออนุมัติให้ ปตท. ลงนามใน Heads of Agreement กับบริษัท Oman LNG L.L.C. (OLNG) เพื่อนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวในปี 2546 ถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เพื่อพิจารณานำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาอนุมัติในหลักการการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas : LNG) จากบริษัท OLNG และอนุมัติให้ ปตท. ลงนามใน Heads of Agreement กับบริษัท OLNG เพื่อนำเข้า LNG ในปริมาณ 1.7 ถึง 2.2 ล้านตันต่อปี เป็นเวลา 25 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2546 รวมทั้งขอให้กำหนด แนวนโยบายสนับสนุนโครงการดังกล่าว
2. ปตท. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี โดยศึกษาการนำเข้า LNG มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลการศึกษาเบื้องต้นดังกล่าวแล้ว จากนั้น ปตท. ได้ศึกษาโครงการการนำเข้า LNG ในรายละเอียด พร้อมทั้งดำเนินการเจรจากับผู้ผลิต ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 เห็นชอบให้ ปตท. เข้าร่วมทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทก๊าซธรรมชาติเหลว โดย ปตท. ได้ดำเนินการจดทะเบียน จัดตั้งบริษัท ไทยแอลเอ็นจีพาวเวอร์ จำกัด ขึ้น พร้อมทั้งได้ดำเนินการเจรจากับ้ผู้ผลิต 3 ราย คือ บริษัท Oman LNG L.L.C. (OLNG) ประเทศโอมาน บริษัท Ras Laffan Liquefied Natural Gas CO. Ltd. (RLLNG) ประเทศกาตาร์ และบริษัท Malaysia LNG Tiga SDN. BHD (MLNG Tiga) ประเทศมาเลเซีย
3. จากการเปรียบเทียบข้อตกลงเบื้องต้นทั้งในด้านเงื่อนไขและราคาของผู้ผลิตทั้ง 3 รายจะเห็นได้ว่าข้อเสนอของ OLNG มีความได้เปรียบกว่าข้อเสนอของ RLLNG และ MLNG Tiga ดังนี้
เงื่อนไข | OLNG | RLLNG | MLNG Tiga |
· ปริมาณ (ล้านตัน/ปี) | 1.7-2.2 | 2.0-2.5 | ประมาณ 1 |
· ปีที่เริ่มซื้อขาย | 2546 | 2546-48 | MLNG ต้องการ 2544 |
· อายุสัญญา (ปี) | 25 | 25 | 20 |
· ราคา (TOP) | ราคาผูกกับน้ำมันดิบ ถ่านหิน และ USCPIราคาเริ่มต้นปี 2538 = 3.10 $US/MMBTU | ราคาผูกกับน้ำมันดิบ และ USCPIราคาเริ่มต้นปี 2538 = 3.56 $US/MMBTU | ราคาผูกกับน้ำมันดิบ และ USCPIราคาเริ่มต้นปี 2538 = 3.87$US/MMBTU |
4. ในการประเมินความต้องการใช้ก๊าซฯ และการจัดหาก๊าซฯ พบว่าตั้งแต่ปลายปี 2546 เป็นต้นไปการจัดหาจะไม่เพียงพอกับความต้องการ อย่างไรก็ตามหากมีการนำเข้า LNG ตามผลการเจรจาระหว่าง ปตท. กับบริษัท OLNG ในปี 2546 ก็จะทำให้การจัดหาก๊าซฯ สามารถรองรับกับความต้องการได้ อย่างเพียงพอ
5. สาระสำคัญของข้อตกลงเบื้องต้น (Heads of Agreement : HOA) ระหว่าง ปตท. และ บริษัท OLNG มีดังนี้คือ
5.1 ปตท. และ OLNG ตกลงที่จะเจรจาเพื่อจัดทำสัญญาซื้อขาย (Sale and Purchase Agreement : SPA) ตามแนวทางที่กำหนดไว้ใน HOA โดย SPA จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลก่อน การลงนาม และมีกำหนดส่งมอบ LNG ตั้งแต่ปี 2546 โดยมีระยะเวลาสัญญา 25 ปี
5.2 ปริมาณ LNG ตามสัญญาซื้อขายในแต่ละปี มีดังนี้ คือ
ปี 2546 1.0 ล้านตัน (ประมาณ 140 ล้าน ลบ.ฟ./วัน)
ปี 2547 1.5-2.0 ล้านตัน (ประมาณ 210-280 ล้าน ลบ.ฟ./วัน)
ปี 2548 เป็นต้นไป 1.7-2.2 ล้านตัน (ประมาณ 238-308 ล้าน ลบ.ฟ./วัน)
5.3 ราคา LNG ตั้งต้นในปี 2538 เท่ากับ 3.10 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู โดยราคาจะ อิงกับดัชนีผู้บริโภคสหรัฐอเมริกา ราคาน้ำมันดิบและราคาถ่านหิน
6. กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินโครงการ LNG จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาวและควรจะได้รับการพิจารณาเป็นโครงการ ยุทธศาสตร์ เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน โดย สพช. พิจารณาแล้วเห็นด้วยกับข้อเสนอและความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าว
มติของที่ประชุม
อนุมัติในหลักการการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas : LNG) จากบริษัท OLNG และอนุมัติให้ ปตท. ลงนามใน Heads of Agreement กับบริษัท OLNG เพื่อนำเข้า LNG ในปริมาณ 1.7 ถึง 2.2 ล้านตันต่อปี เป็นเวลา 25 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2546
เรื่องที่ 6 นโยบายราคาก๊าซธรรมชาติและการกำกับดูแล
สรุปสาระสำคัญ
1. ปัจจุบันการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นผู้จัดซื้อ ผู้ขายและผู้ขนส่งก๊าซธรรมชาติ รวมทั้ง เป็นผู้กำหนดราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าผ่านท่อแต่ผู้เดียว โดยที่คณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติ ยังไม่เคยเข้าไปกำกับดูแลการดำเนินการดังกล่าว ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการพิจารณากำหนดนโยบายราคาก๊าซธรรมชาติให้ชัดเจน ทั้งโครงสร้างราคา เงื่อนไขการจำหน่ายก๊าซฯ อัตราค่าผ่านท่อ วิธีการและกลไกในการกำกับดูแล รวมทั้งแนวทางในการปรับปรุงโครงสร้างของ ปตท. โดยกำหนดรูปแบบกิจการขนส่งก๊าซฯ ทางท่อของ ปตท. ให้เป็นระบบที่สามารถให้บริการสำหรับผู้ซื้อขายก๊าซฯ รายอื่นได้ อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
2. หลักการของการกำหนดนโยบายราคาก๊าซธรรมชาติ สรุปได้ดังนี้คือ
2.1 ให้มีการแยกบทบาทของ ปตท. ให้ชัดเจนเป็น 2 ส่วน คือ บทบาทในฐานะของ ผู้ดำเนินกิจการขนส่งก๊าซฯ และบทบาทในฐานะของผู้ดำเนินกิจการจัดหาและจำหน่ายก๊าซฯ ซึ่งจะทำให้โครงสร้างราคาก๊าซฯ เป็นดังนี้ คือ
ราคาก๊าซฯ = ราคารับซื้อก๊าซฯ เฉลี่ยจากผู้รับสัมปทาน/นำเข้า + ค่าจัดหาและ จำหน่าย + ค่าผ่านท่อ
2.2 ราคาเฉลี่ยของเนื้อก๊าซฯ แยกออกเป็น 4 กลุ่ม (POOL)
POOL 1 : เป็นก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงแยกก๊าซ
POOL 2 : เป็นก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในปัจจุบัน (จนถึงโรงไฟฟ้าวังน้อย) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
POOL 3 : เป็นก๊าซธรรมชาติ สำหรับผู้ใช้ก๊าซฯ รายอื่นๆ (อุตสาหกรรม SPP รวมทั้ง IPP ในปัจจุบันและอนาคต)
POOL 4 : ก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่จังหวัดราชบุรี
2.3 ค่าผ่านท่อแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ Demand Charge (ค่าใช้จ่ายคงที่ตามปริมาณที่ตกลงกันไว้) และ Commodity Charge (ค่าใช้จ่ายผันแปรตามปริมาณก๊าซที่มีการรับส่งจริง)
3. ผลการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งความเห็นของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) มีดังนี้
3.1 การซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง ปตท. กับ กฟผ. : คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาก๊าซธรรมชาติได้ดำเนินการจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซ ธรรมชาติระหว่าง ปตท. กับ กฟผ. แล้ว ทั้งนี้ราคาก๊าซฯ จะประกอบด้วย ราคาเนื้อก๊าซฯ เฉลี่ยจาก POOL 2 (ไม่รวม LNG) ค่าจัดหาและจำหน่าย (1.75%) และ ค่าผ่านท่อ โดย สพช. พิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติดังกล่าว เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขสัญญาสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี
3.2 การซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง ปตท. กับ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP): เงื่อนไขหลักๆ ของสัญญามีลักษณะคล้ายกับสัญญาระหว่าง ปตท. กับ กฟผ. ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาระหว่าง ปตท. กับ IPP ที่ได้รับการคัดเลือกจาก กฟผ. ทั้งนี้ โครงสร้างราคาก๊าซฯ ที่จะจัดหาให้แก่ IPP ประกอบด้วย ราคาเนื้อก๊าซฯ เฉลี่ยจาก POOL 3 ค่าตอบแทนในการจัดหาและจำหน่าย (5%) และค่าผ่านท่อโดย สพช. พิจารณาแล้วเห็นว่าค่าผ่านท่อดังกล่าว ควรมีการปรับปรุงภายใต้การกำกับดูแลโดย กพช. และ สพช. เช่นเดียวกันกับ ราคาก๊าซฯ ที่จำหน่ายให้แก่ กฟผ. ส่วนค่าเก็บรักษา LNG และ ค่า Regasification ของ LNG ควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กพช. และ สพช. ทั้งนี้เพราะเป็นส่วนหนึ่งของราคา LNG ที่ป้อนเข้าสู่ระบบท่อ นอกจากนั้นค่าการตลาด (ค่าจัดหาและจำหน่าย) กำหนดไว้ในระดับร้อยละ 5 ซึ่งสูงกว่าค่าการตลาดสำหรับก๊าซฯ ที่จำหน่ายให้ กฟผ. เพราะ ปตท. มีภาระความรับผิดชอบและข้อผูกพันตามเงื่อนไขการขายก๊าซฯ ให้ IPP มากกว่า
3.3 การซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง ปตท.กับ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) : เงื่อนไข ของสัญญามีลักษณะแตกต่างกัน โดยมีโครงสร้างราคา ประกอบด้วย ราคาก๊าซฯ ที่ขายให้แก่ กฟผ. (บางปะกง) บวกกับส่วนเพิ่มซึ่งกำหนดให้ขึ้นอยู่กับปริมาณซื้อก๊าซฯ โดย สพช. พิจารณาแล้วเห็นควรให้มีการปรับปรุง ดังนี้
(1) สูตรราคา SPP/Cogen กำหนดให้เท่ากับราคาก๊าซฯ ที่ขายให้กับ กฟผ. บางปะกง (ไม่รวม LNG) + X · Wy/Wo บาทต่อล้านบีทียู ยังไม่แยกการจัดหาและจำหน่ายออกจากการขนส่ง นอกจากนี้ค่า X เป็นค่าการตลาดที่ ปตท. กำหนดขึ้นซึ่งไม่ทราบว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และควรจะสะท้อนถึงภาระความรับผิดชอบและข้อผูกพันของ ปตท. กับ SPP ด้วย
(2) SPP จะรับก๊าซฯ จาก POOL 3 ที่มี LNG ผสมด้วย เพราะก๊าซฯ จากแหล่งใน อ่าวไทยมีปริมาณไม่เพียงพอ ฉะนั้นราคาก๊าซฯ ที่ SPP ซื้อจึงไม่ควรขึ้นอยู่กับราคาที่ขายให้แก่ กฟผ. แต่ควรกำหนดจากราคาของ POOL 3
(3) ตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ในปัจจุบัน กฟผ. มีสิทธิขอให้ SPP สามารถลดการจ่ายไฟฟ้าในช่วง OFF PEAK ลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 ของปริมาณตามสัญญา ซึ่งหมายถึง SPP จะ ต้องลดปริมาณการซื้อก๊าซฯ จาก ปตท. ด้วย และสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระหว่าง SPP กับ ปตท. อาจต้องมี การแก้ไขให้สอดคล้องกัน
3.4 การซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง ปตท. กับภาคอุตสาหกรรม : ข้อ ตกลงการซื้อขายมีหลักการสำคัญๆ ที่ประกอบด้วยราคา 2 ประเภท คือ ราคาทดแทน LPG และราคาทดแทนน้ำมันเตา โดย สพช. พิจารณาแล้วเห็นว่า โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสามารถเปลี่ยนไปใช้เชื้อ เพลิงชนิดอื่นได้โดยไม่ยากนัก อีกทั้งราคาที่ ปตท. กำหนดก็มีความสอดคล้องกับราคาเชื้อเพลิงชนิดอื่นที่ทดแทนกันได้ ดังนั้น จึงเป็นราคาที่มีความเหมาะสมแล้ว
3.5 การซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง ปตท. กับ กฟผ. แหล่งยาดานา : ใน ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มเจรจาเพื่อทำสัญญาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2537 สพช. พิจารณาแล้วเห็นว่าในระยะแรกสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระหว่าง ปตท. กับ กฟผ. จะเป็นสัญญาอีกฉบับแยกจากการซื้อขายก๊าซฯ จากระบบท่อหลักโดยใช้หลักการเหมือนกัน แต่ดำเนินการให้มีความสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปตท. มีแผนที่จะเชื่อมโยงระบบท่อหลักเข้ากับท่อก๊าซฯ จากสหภาพพม่า ซึ่งจะเพิ่มความมั่นคงในการจัดหาก๊าซฯ ให้แก่โรงไฟฟ้าราชบุรีในอนาคต ดังนั้น จึงควรพิจารณาสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระบบท่อหลักโดยรวมก๊าซธรรมชาติจาก POOL 4 (แหล่งยาดานา) กับก๊าซฯ จาก POOL 2 เข้าด้วยกัน
3.6 การปรับปรุงโครงสร้างของ ปตท.: สมควรดำเนินการแยกบทบาทของธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ธุรกิจการจัดหาและการจำหน่าย และธุรกิจการขนส่ง เพื่อให้สอดคล้อง กับนโยบายราคาก๊าซธรรมชาติ ดังนี้คือ
ราคาก๊าซฯ = ราคารับซื้อก๊าซฯ เฉลี่ย + ค่าจัดหาและจำหน่าย (ให้เป็นบทบาทของ ธุรกิจการจัดหาและการจำหน่าย) + ค่าผ่านท่อ (ธุรกิจการขนส่ง)
4. คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาก๊าซธรรมชาติ ได้ดำเนินการจัดทำอัตราค่าผ่านท่อและกลไกในการปรับอัตราค่าผ่านท่อระหว่าง ปตท. กับ กฟผ. แล้วเสร็จ โดยเห็นควรให้มีการใช้อัตราค่าผ่านท่อดังกล่าวในการกำหนดราคาก๊าซฯ IPP และ SPP ด้วย ซึ่งมีอัตราค่าผ่านท่อ ประกอบด้วย Demand Charge และ Commodity Charge ในระดับที่ทำให้การลงทุนในระบบท่อมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR on Equity) ร้อยละ 18 ของค่าผ่านท่อแยกเป็น 3 พื้นที่ รวมทั้งการปรับอัตราค่าผ่านท่อเป็นระยะๆ และปรับตามดัชนี ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและดำเนินการของ สพช.
5. เนื่องจากในขั้นนี้ ปตท. ยังคงเป็นผู้จัดซื้อ ผู้ขาย และผู้ขนส่งก๊าซธรรมชาติแต่ผู้เดียวต่อไปอีก ระยะหนึ่ง ทำให้การทำหน้าที่ของ ปตท. โดยเฉพาะในกิจกรรมการจัดซื้อก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งในการพิจารณาคัดเลือกและกำหนดแหล่ง ปริมาณ และราคา รวมทั้งกิจกรรมการขนส่งก๊าซธรรมชาติไปสู่ ผู้ใช้ โดยการพิจารณาลงทุนในโครงข่ายระบบท่อจะมีผลกระทบต่อระดับราคาเนื้อก๊าซฯ และอัตราค่าผ่านท่อ ที่จะส่งผ่านไปเป็นต้นทุนของผู้บริโภคโดยตรง ดังนั้น จึงจำเป็นที่รัฐจะต้องกำหนดให้มีการกำกับดูแลเพื่อให้ระบบการกำหนดราคาและ ค่าผ่านท่อมีความเป็นธรรม ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ผลิตและผู้ใช้ รวมทั้งภาคเอกชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อใน อนาคต ทั้งนี้ การกำกับดูแลจะต้องเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ดำเนินกิจการขนส่งก๊าซฯ ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานอีกด้วย สพช. จึงเห็นควรกำหนดให้มีการกำกับดูแลการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าผ่าน ท่อโดย กพช. และ สพช. ดังนี้คือ
5.1 ให้ ปตท. จัดทำแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาว และแผนการลงทุนระยะยาวของระบบท่อก๊าซฯ และนำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาอนุมัติ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วให้ ปตท. จัดทำอัตราค่าผ่านท่อตามหลักการที่ กพช. กำหนด แล้วนำเสนอ กพช. เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนการประกาศใช้ ทั้งนี้แผนการลงทุนและแผนการจัดหาก๊าซฯ ดังกล่าวสมควรมีการปรับปรุงทุกระยะตามความเหมาะสม
5.2 ให้ ปตท. รายงานผลการดำเนินการตามแผนการจัดหาก๊าซฯ และแผนการลงทุนต่อ สพช. และ กพช. เพื่อทราบทุกปี
5.3 ในการดำเนินการตามแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติในข้อ 5.1 เมื่อ ปตท.ได้ดำเนินการเจรจาราคาและสัญญาซื้อขายก๊าซฯ จากแหล่งใดจนมีข้อยุติแล้ว ให้นำเสนอ สพช. เพื่อนำเสนอ กพช. อนุมัติ (ราคาก๊าซฯ หมายถึง ราคาก๊าซฯ ที่จะป้อนเข้าระบบท่อ ดังนั้น จึงรวมค่าเก็บรักษาและค่า Regasification ของ LNG ด้วย)
5.4 การเปลี่ยนแปลงหลักการของนโยบายการกำหนดราคาก๊าซฯ ในข้อ 2 หลักการในการกำหนดอัตราค่าผ่านท่อ และค่าการตลาด (ค่าการจัดหาและค่าการจำหน่าย) ให้นำเสนอ กพช. อนุมัติ ส่วนการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดที่ไม่ใช่สาระสำคัญให้ สพช. เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ
5.5 ให้ สพช. เป็นผู้กำกับดูแลการปรับอัตราค่าผ่านท่อ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นไป โดยให้มีการปรับเปลี่ยนเป็นระยะ (Periodic Adjustment) และการปรับเปลี่ยนตามดัชนี (Index Adjustment)
มติของที่ประชุม
1.รับทราบผลการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับหลักการของการกำหนดนโยบายราคาก๊าซธรรมชาติ การซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง ปตท. กับ กฟผ. , ปตท. กับ IPP, ปตท. กับ SPP และ ปตท. กับ อุตสาหกรรม และการกำหนดอัตราค่าผ่านท่อ ดังรายละเอียดในข้อ 2, ข้อ 3, และข้อ 4
2.เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานตามความเห็นของ สพช. ในข้อ 3 โดยมอบหมายให้ สพช. ปตท. และ กฟผ. รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
3.เห็นชอบแนวทางในการกำกับดูแลการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติ และอัตราค่าผ่านท่อ ตามข้อ 5
4.ให้ สพช. รับไปศึกษาความเหมาะสมของราคาอีเทนและโพรเทน ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของ ไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ และให้รายงานผลต่อ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
กพช. ครั้งที่ 57 - วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2539
มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 3/2539 (ครั้งที่ 57)
วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2539 เวลา 13.30 น.
ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
1.รายงานผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
2.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
3.การจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
4.การรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้ายูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
5.นโยบายการจัดเก็บเงินผลประโยชน์พิเศษจากโรงกลั่นน้ำมัน
6.ขอความเห็นชอบลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งไพลินและแหล่งบงกช (เพิ่มเติม)
7.แนวทางในการขยายปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อจากผู้ผลิตรายเล็ก (SPP)
8.การส่งเสริมให้หน่วยราชการใช้เครื่องปรับอากาศประสิทธิภาพสูง
9.บันทึกความเข้าใจร่วมของโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา ใน สปป.ลาว
10.การขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว
นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 รายงานผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. มาตรการดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติอย่างเข้มงวด
1.1 กรมศุลกากร ได้ดำเนินการตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 1/2536 เกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติพิธีการที่เกี่ยวกับการสำแดงปริมาณการนำเข้าในใบขน สินค้า ซึ่งกำหนดให้ผู้นำเข้าน้ำมันต้องแสดงปริมาณการนำเข้าไม่คลาดเคลื่อนจาก ปริมาณการนำเข้าจริงเกินกว่าร้อยละ 2 ผลการตรวจสอบในเดือนมีนาคม 2539 ปรากฏว่า ผู้ค้าน้ำมันทุกรายได้สำแดงไว้ไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ และจากการส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบปริมาณน้ำมันดีเซลหมุนเร็วคงเหลือในคลัง น้ำมันของบริษัทต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวม 28 แห่ง ไม่พบว่ามีการกระทำความผิดแต่อย่างใด
1.2 กรมสรรพากร ผลการตรวจคลังน้ำมันชายฝั่ง ซึ่งกรมสรรพสามิตไม่มีอำนาจติดตั้งมิเตอร์ จำนวน 10 ราย ปรากฏว่า มีคลังน้ำมันยินยอมติดตั้งมิเตอร์สรรพสามิตแล้ว จำนวน 4 ราย และได้ให้สรรพากรจังหวัดเข้าตรวจนับสินค้าคงเหลือสำหรับคลังน้ำมันชายฝั่ง ที่ยังไม่ยินยอมติดตั้งมิเตอร์ และให้รายงานผลการดำเนินงานให้กรมสรรพากรทราบทุกเดือน สำหรับคลังน้ำมันที่เหลืออีก 6 คลังนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คลังน้ำมันของห้างหุ้นส่วนจำกัดผูกมิตร ไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้งมิเตอร์ของกรม สรรพสามิต เนื่องจากได้ให้บริษัท อธิวัสชุมพร จำกัด เช่าเป็นสถานประกอบการขายส่งน้ำมันโดยมิได้ใช้ถังเก็บน้ำมัน เนื่องจากถังน้ำมันมีสภาพที่ยังไม่สามารถเก็บรักษาน้ำมันได้ จึงคงเหลือคลังน้ำมันชายฝั่งอีกเพียง 5 รายที่กรมสรรพากรจะต้องใช้มาตรการตรวจปฏิบัติการเพื่อจูงใจให้ติดตั้ง มิเตอร์สรรพสามิตต่อไป ในการตรวจสอบภาษีเจ้าของเรือประมงดัดแปลงที่ลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และผู้เช่าเรือที่ถูกจับกุมได้ จำนวน 15 ราย ปรากฏว่า กรมสรรพากรสามารถประเมินภาษีได้เพิ่มขึ้นอีก 1 ราย รวมเป็นจำนวนที่ตรวจสอบแล้วทั้งสิ้น 7 รายและผลการเร่งรัดให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าสู่ระบบเก็บภาษี มูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่ายขณะนี้มีสถานีบริการเข้าสู่ระบบแล้วรวมทั้ง สิ้น 5,481 ราย และกรมสรรพากรได้วางแผนการตรวจสอบสถานีบริการน้ำมันอิสระตามข้อมูลที่ได้รับ จากกรมทะเบียนการค้า เพื่อตรวจสอบประวัติการเสียภาษีสรรพากรและการเข้าสู่ระบบเก็บภาษีมูลค่า เพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่ายต่อไป
2. มาตรการในการปราบปราม
2.1 กองทัพเรือ ได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจปราบปรามทางทะเลขึ้นที่ศูนย์ปฏิบัติ การกองทัพเรือ ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2539 เป็นต้นมา เพื่อปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามนโยบายของ รัฐบาล โดยการลาดตระเวนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอในพื้นที่รับผิดชอบ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมามีข้อขัดข้องอยู่บ้างเกี่ยวกับการตรวจการณ์การขนส่ง น้ำมันในทะเลของเรือบรรทุกน้ำมันที่ทำการขนส่งน้ำมันโดยมีจุดหมายปลาย ทางอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากกองทัพเรือได้รับข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล่าช้า รวมทั้งข้อมูลที่ได้รับยังขาดในเรื่องที่เกี่ยวกับทิศทาง และความเร็วของเรือบรรทุกน้ำมันขณะเดินทาง จึงทำให้การติดตามการเดินทางของเรือบรรทุกน้ำมันในบางครั้งไม่ทันต่อ เหตุการณ์ ซึ่งหากได้ข้อมูลต่างๆ ครบถ้วน คาดว่าการตรวจการณ์การขนส่งน้ำมันในทะเลจะได้ผลมากยิ่งขึ้น
กรมตำรวจ ได้ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปราม โดย กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้มีคำสั่งยกเลิกชุดปฏิบัติการเดิมและแต่งตั้ง ชุดปฏิบัติการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ โดยมีการปรับปรุงการปฏิบัติการทางบกให้มีขอบเขต ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ปรับปรุงการปฏิบัติการทางทะเลและชายฝั่งทะเลของตำรวจน้ำและปรับปรุงชุด ปฏิบัติการบนทางหลวงของตำรวจทางหลวงโดยกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบให้ชัดเจน ยิ่งขึ้น
2.3 การติดตั้งมิเตอร์ เพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของหน่วยปราบปรามในการเฝ้าระวังคลัง กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการติดตั้งมิเตอร์ตามคลังชายฝั่ง ซึ่งมีอำนาจเข้าไปติดตั้งจำนวน 38 คลัง เป็นคลังในส่วนของกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันออก จำนวน 19 คลัง โดยการก่อสร้างแท่น ติดตั้งอุปกรณ์มิเตอร์แล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 80 ส่วนคลังน้ำมันทางภาคใต้ จำนวน 19 คลัง ขณะนี้เหลือเพียง 18 คลัง เนื่องจากคลังน้ำมันบริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แจ้งเลิกกิจการ โดยการก่อสร้างได้คืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 60
2.4 ความคืบหน้าในการจับกุม หน่วยงานปราบปรามสามารถจับกุมเรือลักลอบนำเข้าได้เพิ่มขึ้นจากการรายงานใน ครั้งที่ผ่านมาเป็นจำนวน 4.7 แสนลิตร โดยกองทัพเรือสามารถจับกุมเรือ KIHO MARU บริเวณจังหวัดชุมพร เป็นน้ำมันดีเซลจำนวน 270,000 ลิตร และเรือภรณ์ทิพย์ บริเวณจังหวัดตราด เป็นน้ำมันดีเซล จำนวน 80,000 ลิตร และกรมตำรวจสามารถจับกุมเรือลาภผล ได้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นน้ำมันดีเซลจำนวน 120,000 ลิตร รวมผลการจับกุมในปี 2539 ตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2539 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 4.1 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 2.5 ล้านลิตร หรือประมาณ 2.6 เท่าของปีก่อน
3.มาตรการการแก้ไขปัญหาในการประสานงานและการแก้ไขกฎหมาย
3.1 การแก้ไขปัญหาการรับซื้อน้ำมันของกลาง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้จัดให้มีการประชุมศูนย์รวมการประสานงานปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมัน เชื้อเพลิง และได้แก้ไขปัญหาการรับซื้อน้ำมันของกลางจากหน่วยงานต่างๆ โดยให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) รับซื้อน้ำมันของกลางดังกล่าวทันทีถ้าน้ำมันนั้นมีคุณภาพถูกต้อง แต่ถ้าหากมีคุณภาพไม่ถูกต้องให้ ปตท. จัดส่งน้ำมันนั้นให้แก่โรงกลั่นต่อไป ซึ่ง ปตท. และกรมศุลกากรได้ประชุมร่วมกันใน รายละเอียด ผลสรุปได้ว่า ปตท. จะรับซื้อน้ำมันของกลางทั้งหมดทันที โดยกรมศุลกากรจะถือเงินแทนของกลาง
3.2 การจัดตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ในการประชุมศูนย์รวมการประสานงานปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง กองทัพเรือได้เสนอให้มีการเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ เนื่องจากผู้ลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้อาศัยช่องว่างทางกฎหมายกระทำ การลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะนอกเขตทะเลอาณาเขต และเขตต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดได้ นอกจากนี้ ยังมีข้อกฎหมายอื่นที่ยังเป็นช่องว่างให้ผู้ลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง หลบเลี่ยงกฎหมายได้ เช่น การทำหลักฐานว่าได้ให้เช่าเรือไปซึ่งเมื่อจับกุมได้จะไม่สามารถเอาผิดแก่ เจ้าของเรือ ที่แท้จริงและไม่สามารถริบเรือได้ เป็นต้น
คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน จึงเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการ ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในเขตเศรษฐกิจจำเพาะขึ้น โดยได้ออกคำสั่งคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ที่ 2/2539 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณา ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ โดยมีรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (นายชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์) เป็นประธานคณะอนุกรรมการและมีผู้แทน หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร กองทัพเรือ สำนักงานอัยการสูงสุด กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กรมประมง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ สพช. ร่วมเป็นอนุกรรมการด้วย
3.3 การควบคุมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เคมีปิโตรเลียมและสารละลาย กรม สรรพสามิตได้ออกมาตรการควบคุมการนำผลิตภัณฑ์เคมีปิโตรเลียมและสารละลายออก จำหน่ายให้เข้มงวดยิ่งขึ้นแล้ว โดยกำหนดให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่จะขอยกเว้นภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ที่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ต้องให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เคมีปิโตรเลียมและสารละลายแจ้งชื่อ ที่อยู่ของลูกค้า พร้อมทั้งปริมาณสินค้าที่จำหน่ายให้กรมสรรพสามิตทราบ และยังสั่งการให้เจ้าพนักงานสรรพสามิตในท้องที่ทำการตรวจสอบโรงงานผลิตเคมี ปิโตรเลียมและสารละลาย และเก็บตัวอย่างส่งกรมสรรพสามิตทำการตรวจวิเคราะห์ต่อไป
3.4 การฝึกอบรมสัมมนาเจ้าหน้าที่ สพช. ในฐานะผู้รับผิดชอบศูนย์รวมการประสานการ ปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ได้กำหนดให้มีการจัดฝึกอบรมสัมมนาเจ้าหน้าที่ระดับ ปฏิบัติการจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้รับความรู้ความเข้าใจข้อกฎหมายและแนวทางในการปฏิบัติงานปราบปราม อย่างถูกต้องและเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยคาดว่า จะจัดให้มีการอบรมสัมมนาขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2539 นี้
มติของที่ประชุม
1.รับทราบรายงานผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงของ หน่วยงานต่างๆ
2.มอบหมายให้ สพช. รับไปดำเนินการ ดังนี้
2.1 ศึกษาและพิจารณาแนวทางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเก็บภาษี ณ จุด ปลายทาง หรือ ลดภาษี
2.2 ศึกษาและพิจารณาแนวทางในการนำเรือน้ำมันออกไปลอยลำจำหน่ายน้ำมันให้แก่เรือประมงกลางทะเล โดยให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ
เรื่องที่ 2 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบ ในเดือนเมษายนได้มีการปรับราคาสูงขึ้น 1 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจาก มีปริมาณความต้องการน้ำมันดิบเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองและเพื่อกลั่นผลิตภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป ในเดือนพฤษภาคมราคาน้ำมันดิบได้อ่อนตัวลงมาอีก 0.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทำให้ราคาเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 16.9 - 21.3 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงต้นเดือนประธานาธิบดีคลินตันแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศขายน้ำมันสำรองทางความมั่นคง (Strategic Petroleum Reserve) จำนวน 12 ล้านบาร์เรล ต่อมาปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่ลดลงในช่วงก่อนก็ได้เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ ปกติ ส่วนในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม การเจรจาระหว่างอิรัคและสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เรื่องการส่งออกน้ำมันเพื่อแลกซื้ออาหารและยา สามารถทำการตกลงกันได้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบได้เริ่มอ่อนตัวลง
2. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์
2.1 น้ำมันเบนซิน ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ราคาน้ำมันเบนซินได้สูงขึ้นมาเป็นลำดับ เนื่องจากปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินของประเทศแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกาอยู่ใน ระดับต่ำมาก ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินสำหรับฤดูร้อนได้เพิ่มสูงขึ้น ทางด้านกำลังการกลั่นได้ลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจาก การปิดซ่อมแซมประจำปีของโรงกลั่น แต่ในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ราคาน้ำมันเบนซินได้เริ่มอ่อนตัวลงประมาณ 2-3 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจากปริมาณน้ำมันเบนซินในตลาดได้เพิ่มสูงขึ้น และปริมาณสำรองที่ลดลงได้กลับเข้าสู่ระดับปกติ มีผลให้ราคาน้ำมันเบนซินพิเศษและเบนซินธรรมดาในช่วงต้นเดือนมิถุนายน อยู่ในระดับ 24.9 และ 21.7 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
2.2 น้ำมันก๊าด หลังจากฤดูหนาวผ่านไปราคาน้ำมันก๊าดได้ลดลง โดยในช่วงต้นเดือนมิถุนายนราคาอยู่ในระดับ 24.7 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าราคาในไตรมาสแรกประมาณ 4 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
2.3 น้ำมันดีเซล หลังจากฤดูหนาวผ่านไปราคาน้ำมันดีเซลได้เริ่มอ่อนตัวลง แต่ในเดือนพฤษภาคมราคาน้ำมันดีเซลได้เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 26.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากแรงซื้อของประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง และหลังจากช่วงปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ราคาน้ำมันดีเซล ได้อ่อนตัวลงเป็นลำดับตามราคาน้ำมันดิบที่อ่อนตัวลง ส่วนในช่วงต้นเดือนมิถุนายนราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับ 25 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าราคาในเดือนพฤษภาคมประมาณ 1.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
2.4 น้ำมันเตา หลังจากฤดูหนาวผ่านไปราคาน้ำมันเตาได้อ่อนตัวลงเป็นลำดับ โดยมีราคาในช่วงต้นเดือนมิถุนายนอยู่ในระดับ13.4 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และลดลงจากราคาในไตรมาสแรกประมาณ 4 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
3. สถานการณ์ราคาขายปลีกน้ำมันของประเทศ
3.1 น้ำมันเบนซิน ในเดือนเมษายนและพฤษภาคมได้มีการปรับราคาขึ้นรวม 0.73 บาทต่อลิตร และตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ราคาน้ำมันเบนซินในตลาดจรสิงคโปร์ได้เริ่มอ่อนตัวลง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินของประเทศเริ่มปรับราคาลง ครึ่งแรกของเดือนมิถุนายนได้ปรับราคาลง รวมทั้งสิ้น 0.25 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วและเบนซินธรรมดาไร้สารตะกั่ว ลดลงมาอยู่ในระดับ 9.46 และ 8.91 บาทต่อลิตร ตามลำดับ
3.2 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ในเดือนเมษายนได้มีการปรับราคาลงรวม 0.05 บาทต่อลิตร และใน เดือนพฤษภาคมราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วได้ปรับราคาขึ้น 0.10 บาทต่อลิตร ตามราคาในตลาดโลกที่สูงขึ้นแต่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ราคาน้ำมันดีเซลในตลาดจรสิงคโปร์ได้เริ่มอ่อนตัวลง ทำให้ราคา ขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วของประเทศได้เริ่มปรับราคาลง ครึ่งแรกของเดือนมิถุนายนได้ปรับราคาลง รวมทั้งสิ้น 0.13 บาทต่อลิตร ลงมาอยู่ในระดับ 8.36 บาทต่อลิตร
3.3 ค่าการตลาด นับตั้งแต่ต้นปี 2539 เป็นต้นมา ค่าการตลาดเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์ของประเทศได้ลดลงมาเป็นลำดับ โดยลดลงจากระดับ 1.1362 บาทต่อลิตร ลงมาอยู่ในระดับ 0.9462 บาทต่อลิตร ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
มติของที่ประชุม
1.รับทราบรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
2.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ รับไปดำเนินการประชาสัมพันธ์ เรื่อง สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สื่อมวลชนและประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องและทันต่อเหตุการณ์
เรื่องที่ 3 การจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
สรุปสาระสำคัญ
1. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ดำเนินความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้ากับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) กับบริษัทไฟฟ้าลาว สปป.ลาว เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2538 ซึ่งในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือในการก่อสร้างระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากประเทศ ไทยให้แก่หมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ตามแนวชายแดนฝั่ง สปป.ลาว ดังนี้
จากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ไปยังเมืองห้วยทราย
จากอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ไปยังบ้านต้นผึ้ง
จากอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ไปยังเมืองแก่นท้าว
จากอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ไปยังเมืองสานะคาม แขวงเวียงจันทน์
จากช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ไปยังบริเวณบ้านวังเตา แขวงจำปาศักดิ์
จากจังหวัดน่าน ไปยังเมืองหงสา
เชื่อมโยงไฟฟ้าจุดอื่นๆ ซึ่งจะทำความตกลงกันในโอกาสต่อไป
2.คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2539 เห็นชอบให้ กฟภ. จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้ สปป.ลาว ใน 3 จุด ประกอบด้วยจุดเชียงของ-ห้วยทราย จุดท่าลี่-แก่นท้าว และจุดเชียงแสน-ต้นผึ้ง และให้ กฟภ. ขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณหมู่บ้านที่ใกล้กับเขตชายแดนของประเทศ ไทย โดยไม่ต้อง ขออนุมัติในระดับนโยบายอีก แต่ทั้งนี้ให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อทราบ ยกเว้นจะมีประเด็นสำคัญ ให้เสนอเพื่อพิจารณา
3. การดำเนินความร่วมมือพัฒนาและจำหน่ายไฟฟ้าแก่ สปป.ลาว เพื่อให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจ ระหว่าง กฟภ. กับบริษัทไฟฟ้าลาว สปป.ลาว ดังกล่าว ยังคงเหลือจุดที่จะต้องดำเนินการก่อสร้างระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้าอีก ซึ่ง กฟภ. ได้นำเสนอคณะกรรมการ กฟภ. ให้ความเห็นชอบเพิ่มเติมแล้ว 4 จุด ดังนี้ เชียงคาน-สานะคาม ช่องเม็ก-บ้านวังเตา จังหวัดน่าน-เมืองหงสา และหมู่บ้านฝั่งลาวบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แต่ต่อมาบริษัทไฟฟ้าลาว แจ้งขอยกเลิกการขอรับความช่วยเหลือก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้า จำนวน 3 จุด คือ ช่องเม็ก-บ้านวังเตา จังหวัดน่าน-เมืองหงสา และ หมู่บ้านฝั่งลาวบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จึงยังคงเหลือจุดที่ต้องการให้ กฟภ. ดำเนินการให้อีกเพียง 1 จุด คือ จุดเชียงคาน-สานะคาม สำหรับอัตราค่าไฟฟ้ากำหนดให้ใช้อัตราค่ากระแสไฟฟ้าเท่ากับจุดซื้อขายอื่นๆ ที่ได้รับอนุมัติแล้ว คือ 1.90 บาทต่อหน่วย โดยความต้องการซื้อไฟฟ้า ณ บริเวณสานะคาม ในปัจจุบันเท่ากับ 500 กิโลวัตต์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 กิโลวัตต์ ในอนาคต
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 การรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้ายูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
สรุปสาระสำคัญ
1. ความร่วมมือด้านการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2536 โดยการลงนามในผลการประชุมร่วมกันระหว่างสองหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้ายูนนาน (Yunnan Provincial Electric Power Bureau: YPEPB) ณ นครคุงหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งเสริมเอกชนในการลงทุนพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในมณฑลยูนนาน และขายไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทย โดยเฉพาะให้มีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจินหง และเมนซอง (Jinghong and Mensong Hydropower Projects) ซึ่งในการพัฒนาโครงการดังกล่าวจะต้องมีการศึกษาความเหมาะสมของการก่อสร้าง ระบบส่งไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อให้สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้าของไทยด้วย
2. โครงการไฟฟ้าพลังน้ำจินหง (Jinghong) มีกำลังการผลิต 1,500เมกะวัตต์ โดยมีบริษัท "China-Thailand Yunnan Jinghong Hydropower Station Consulting Co.,Ltd. (YJL)" ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint-Venture)ระหว่างบริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ เพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้ายูนนาน ร่วมกันดำเนินการศึกษาและพัฒนาโครงการ คาดว่าการศึกษาความเหมาะสมของโครงการจะแล้วเสร็จปลายปี 2540 ตัวเขื่อนจะตั้งอยู่ใกล้เมืองเชียงรุ้ง ในแคว้นสิบสองปันนาของมลฑลยูนนาน และห่างจากเมืองคุงหมิงบประมาณ 400 กิโลเมตร อยู่ห่างจากชายแดนไทยทางจังหวัดเชียงรายประมาณ 300 กิโลเมตร โครงการไฟฟ้าพลังน้ำจินหงเป็นโครงการที่มีศักยภาพสูงที่จะส่งไฟฟ้าขายให้ กฟผ. และเป็นโครงการระยะยาว กำหนดที่จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ พ.ศ. 2547
3. ในการประชุมความร่วมมือด้านพลังงานของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (The Greater Mekong Subregional Electric Power Forum) เมื่อเดือนธันวาคม 2538 ที่นครเวียงจันทน์ ได้มีการกล่าวถึงความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงระบบสายส่งจากประเทศจีนของ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำจินหง มายังประเทศไทย โดยผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในการประชุมดังกล่าวได้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาร่วมกัน 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย โดย กฟผ. สปป.ลาว โดย การไฟฟ้าลาว และจีน โดย การไฟฟ้ายูนนาน เพื่อศึกษาความเหมาะสมในการเชื่อมโยงระบบสายส่ง และเจรจากับ สปป.ลาว และประเทศสหภาพพม่าเพื่ออนุญาตให้ก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าผ่านมายังประเทศไทย
4. ต่อมา ผู้อำนวยการบริหารและคณะจากการไฟฟ้ายูนนาน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงาน ในส่วนของรัฐบาลกลางและมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มาเยือนประเทศไทยและได้มีการแลกเปลี่ยนนโยบายการซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง กฟผ. และการไฟฟ้ายูนนาน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2539 โดยมีสาระสำคัญที่ได้ปรึกษาหารือกัน ดังนี้
4.1 Yunnan Provincial Electric Power Bureau "YPEPB" แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความประสงค์ที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Jinghong เพื่อที่จะจำหน่ายกระแสไฟฟ้าส่วนหนึ่งให้กับประเทศไทย
4.2 กฟผ. ตกลงที่จะให้ความร่วมมือในการศึกษาความเหมาะสมในเรื่องของระบบสายส่งเชื่อมโยงระหว่าง Jinghongกับประเทศไทย
4.3 กฟผ. จะพิจารณารับซื้อกระแสไฟฟ้าจาก Jinghong หากโครงการมีความเหมาะสม ทางด้านเทคนิคและเป็นไปตาม Power Development Plan ของ กฟผ.
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 5 นโยบายการจัดเก็บเงินผลประโยชน์พิเศษจากโรงกลั่นน้ำมัน
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537 เห็นชอบนโยบายการเพิ่มกำลังกลั่นปิโตรเลียม เพื่อให้การค้าน้ำมันเป็นไปอย่างเสรี โดยรัฐจะให้การส่งเสริมการลงทุนโดยยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งกำหนดนโยบายเป็นการทั่วไปให้มีการจัดตั้งโรงกลั่นปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น หรือสามารถขยาย โรงกลั่นปิโตรเลียมที่มีอยู่เดิมได้ แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับสัญญาที่ทำไว้กับโรงกลั่นปิโตรเลียมเดิม เพื่อให้มีการแข่งขันภายใต้กฎเกณฑ์ที่เท่าเทียมกัน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 ผู้รับอนุญาตตั้งโรงกลั่นต้องจ่ายเงินประจำปีในอัตราร้อยละ 2 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ผลิตและส่งออกจากโรงกลั่นปิโตรเลียม
1.2 ผู้รับอนุญาตจะต้องมอบเงินอุดหนุนจำนวนอย่างน้อย 350 ล้านบาท หรือจำนวน 2,500 บาทต่อกำลังการกลั่นน้ำมันดิบหนึ่งบาร์เรลต่อวันปฏิทิน (Barrel Per Calendar Day) โดยให้ถือจำนวนเงินที่ มากกว่าเป็นเกณฑ์
2. เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2538 กระทรวงการคลังได้เสนอเรื่อง การปรับโครงสร้างภาษีน้ำมัน เพื่อปรับอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินประเภทไร้สารตะกั่วเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 70 สตางค์ต่อลิตร จากอัตราในปัจจุบัน 2.35 บาทต่อลิตร เป็น 3.05 บาทต่อลิตร และยกเลิกการเรียกเก็บเงินผลประโยชน์พิเศษจากโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้มีมติเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2538 มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) รับไปหารือร่วมกันในเรื่องการจัดเก็บเงินผลประโยชน์พิเศษจากโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำข้อเสนอเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2539 และที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้ สพช. รับไปดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม
3. สพช. ได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบและจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งสรุป สาระสำคัญได้ดังนี้
3.1 ประเด็นปัญหา
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22มีนาคม 2537ไม่เอื้ออำนวยให้โรงกลั่นน้ำมันมีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม เนื่องจาก
(1) ระบบการจัดเก็บเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษจากโรงกลั่นตามเงื่อนไขของสัญญา ต่างๆ ไม่อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน โดยเป็นการจัดทำสัญญากับรัฐเป็นรายๆ ไป
(2) มติดังกล่าวเปิดช่องให้ผู้สนใจประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันในเขตประกอบการ อุตสาหกรรม ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ไม่ต้องยื่นขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมไม่สามารถบังคับให้ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ดังกล่าว ต้องจัดทำสัญญาจัดสร้างและประกอบการกับกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องมีเงื่อนไขที่เท่าเทียมกับสัญญาของโรงกลั่นอื่นๆ
(3) มติดังกล่าวมิได้กำหนดเงื่อนไขการขยายโรงกลั่นน้ำมันที่มีอยู่เดิม
3.2 แนวทางแก้ไข
เพื่อให้การกำหนดนโยบายการเพิ่มกำลังการกลั่นปิโตรเลียมมีความเสรี และมีการแข่งขันภายใต้กฎเกณฑ์ที่เท่าเทียมกัน จึงเห็นควรปรับปรุงกฎเกณฑ์สำหรับการจัดตั้งโรงกลั่นปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น รวมทั้งการขยายโรงกลั่นปิโตรเลียมเดิม โดยให้ผู้สนใจประกอบกิจการสามารถเลือกได้ ดังนี้
(1) การปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537 ทั้งในกรณีของ การตั้งโรงกลั่นใหม่และการขยายโรงกลั่นเดิม โดยมีเงื่อนไขในการจ่ายเงินอุดหนุนอย่างน้อย 350 ล้านบาท รวมทั้งเงินประจำปีในอัตราร้อยละ 2 ของมูลค่าผลิตภัณฑปิโตรเลียมที่ผลิตและส่งออกจากโรงกลั่นปิโตรเลียมโดยมี สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการส่งเสริมการลงทุน
หรือ (2) การที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537 ทำให้ ไม่ต้องจ่ายเงินอุดหนุนอย่างน้อย 350 ล้านบาท รวมทั้งเงินประจำปีในอัตราร้อยละ 2 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ผลิตและส่งออกจากโรงกลั่นปิโตรเลียมโดยไม่ ได้รับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการส่งเสริม การลงทุน
ทั้งนี้ โรงกลั่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน 5 โรง อันประกอบด้วย โรงกลั่นของบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด บริษัท เอสโซ่แสตนดาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทโรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด และ บริษัทสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เป็นอยู่ โดยโรงกลั่น 4 โรง ที่มีสัญญากับกระทรวงอุตสาหกรรมให้ปฏิบัติตามสัญญาจัดสร้างและประกอบกิจการ โรงกลั่นที่มีอยู่กับรัฐ
4.3ผลกระทบ
(1) ผลกระทบต่อรายได้ของรัฐ ในกรณีที่ผู้สนใจประกอบกิจการจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันเลือกที่จะไม่ต้อง ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537 รวมทั้งโรงกลั่นที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจใช้สิทธิขอให้รัฐทบทวนแก้ไขสัญญา เพื่อไม่ให้เสียเปรียบบุคคลอื่นในการประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันแล้วคาดว่า จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้สูงสุดประมาณปีละ 1,631 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 394 ล้านบาท จากภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 30 ดังนั้น ยอดรายได้สุทธิที่รัฐจะสูญเสียจะเป็นประมาณปีละ 1,237 ล้านบาท และเพื่อมิให้รายได้ของรัฐลดลง จึงสมควรเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล จำนวน 10 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 2,200 ล้านบาท และเพื่อมิให้การเพิ่มภาษีดังกล่าวมีผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงสมควรดำเนินการพร้อมกับการลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิงจำนวน 10 สตางค์ต่อลิตร เพื่อมิให้ราคาขายปลีกเปลี่ยนแปลง โดยให้มีการดำเนินการดังกล่าวเมื่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ชดใช้หนี้สิน หมดแล้ว คือ ประมาณปลายปีงบประมาณ 2539
(2) ผลกระทบต่อสภาพการแข่งขันของโรงกลั่นในประเทศและต่างประเทศ การดำเนินการตามนโยบายของรัฐที่กำหนดให้มีทางเลือกที่จะปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537 จะทำให้สภาพการแข่งขันของโรงกลั่นภายในประเทศกับโรงกลั่นที่ตั้งอยู่ใน ประเทศสิงคโปร์ มีความได้เปรียบเสียเปรียบดังนี้คือ โรงกลั่นน้ำมันที่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ จะมีต้นทุนต่ำกว่าโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศประมาณ7-11 สตางค์ต่อลิตร ในกรณีที่การนำเข้าต้องสำรองน้ำมันร้อยละ 5 แต่หากมีการสำรองน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2540เป็นต้นไป ความเสียเปรียบของต้นทุนการผลิตในประเทศจะลดลงเหลือเพียง 0-4สตางค์ต่อลิตรเท่านั้น
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบให้ปรับปรุงกฎเกณฑ์สำหรับการจัดตั้งโรงกลั่นปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น รวมทั้งการขยายโรงกลั่นปิโตรเลียมเดิม เพื่อให้การกำหนดนโยบายการเพิ่มกำลังการกลั่นปิโตรเลียมมีความเสรีอย่างแท้ จริง มีการแข่งขันภายใต้กฎเกณฑ์ที่เท่าเทียมกันและสามารถนำไปใช้ให้เป็นเงื่อนไข เป็นการทั่วไป โดยให้ผู้สนใจประกอบกิจการสามารถเลือกได้ ดังนี้
1.1 การปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22มีนาคม 2537ทั้งในกรณีของการตั้งโรงกลั่นใหม่และการขยายโรงกลั่นเดิม โดยมีเงื่อนไขในการจ่ายเงินอุดหนุนอย่างน้อย 350 ล้านบาท รวมทั้งเงินประจำปีในอัตราร้อยละ 2 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ผลิตและส่งออกจากโรงกลั่นปิโตรเลียมโดยมี สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการส่งเสริมการลงทุน หรือ
1.2 การที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537 ทำให้ไม่ต้อง จ่ายเงินอุดหนุนอย่างน้อย 350 ล้านบาท รวมทั้งเงินประจำปีในอัตราร้อยละ 2 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ผลิตและส่งออกจากโรงกลั่นปิโตรเลียมโดยไม่ ได้รับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการส่งเสริม การลงทุน
2.ในกรณีโรงกลั่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน 4 โรง ที่มีสัญญากับกระทรวงอุตสาหกรรม อันประกอบด้วย โรงกลั่นของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด บริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด และบริษัทสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด ขอทบทวนสัญญาที่มีอยู่กับรัฐเพื่อไม่ให้เสียเปรียบบุคคลอื่นในการประกอบ กิจการโรงกลั่นน้ำมัน เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปดำเนิน การเจรจาและแก้ไขสัญญาให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย
เรื่องที่ 6 ขอความเห็นชอบลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งไพลินและแหล่งบงกช (เพิ่มเติม)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 5ตุลาคม 2536มอบหมายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เร่งรัดการจัดหาก๊าซธรรมชาติ โดยเร่งดำเนินการเจรจารับซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งสัมปทาน ในอ่าวไทยและจากแหล่งในต่างประเทศ เพื่อสนองความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั้งจากความต้องการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.) กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 3 และ 4 และอุตสาหกรรมต่างๆ
2. ปตท. ได้ดำเนินการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซฯ จนสามารถบรรลุข้อตกลงได้แล้วจากแหล่งไพลินในแปลงสัมปทาน B12/27และแหล่งบงกช (เพิ่มเติม) ในแปลงสัมปทาน B15และ B16ซึ่งคณะกรรมการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้มีมติเห็นชอบผลการเจรจา สัญญาซื้อขายก๊าซฯ จากทั้ง 2แหล่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 30เมษายน 2539และมอบหมายให้ ปตท. ดำเนินการเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบในการลง นามในสัญญาฯ ต่อไป
4. สาระสำคัญของร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ สรุปได้ดังนี้
4.1แหล่งไพลิน
(1) ที่ตั้งอยู่ในแปลงสัมปทาน B12/27
(2) ปริมาณซื้อขาย (Daily Contract Quantity : DCQ) และระยะเวลาเริ่มส่งก๊าซฯ มีดังนี้
ปีสัญญา DCQ (MMCFD) เริ่มส่งก๊าซ 2542-2543 165 ต้นปี 2542
ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นไป 330
(3) ราคาซื้อขายเริ่มต้นปี 2538 เท่ากับ 2.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู หรือ 61.17 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นราคาก๊าซฯ ของยูโนแคล แหล่งที่สองบวกกับค่ากำจัด CO2 ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 23 และค่าเพิ่มแรงดันส่งก๊าซฯ โดยให้มีการปรับราคาทุกๆ ปีตามสูตรปรับราคา ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเตา อัตราแลกเปลี่ยน ดัชนีราคาขายส่ง และดัชนีราคาผู้ผลิต ซึ่งจะเริ่มใช้เมื่อมีการส่งก๊าซธรรมชาติแล้ว
(4) เงื่อนไขสำคัญๆ ของสัญญา ดังนี้
เงื่อนไขของสัญญาสอดคล้องกับสัญญาซื้อขายก๊าซฯ จากแหล่งยูโนแคล 1,2 และ 3 ที่ ปตท. ถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันกำหนดจุดซื้อขายบนแท่นผลิตโดย ปตท. เป็นผู้วางท่อก๊าซฯ จากแท่นผลิตมาเชื่อมต่อกับระบบท่อส่งก๊าซสายประธานในทะเลผู้ซื้อและผู้ขายตกลงที่จะซื้อขายก๊าซฯ ในแหล่งไพลินทั้งหมดจนกว่าปริมาณก๊าซฯในแหล่งจะหมดไป หรือหมดอายุสัมปทานการผลิตก๊าซฯ ใน 30 ปีผู้ซื้อรับประกันที่จะซื้อก๊าซฯ ครบตามปริมาณก๊าซฯ ในแต่ละปีที่ตกลงกัน (Take or Pay) ส่วนผู้ขายรับประกันที่จะส่งก๊าซฯ ครบตามปริมาณในแต่ละวัน ในกรณีที่ส่งขาดไปจะต้องชดเชยให้กับ ผู้ซื้อเป็นส่วนลดของราคาร้อยละ 25
4.2 แหล่งบงกช (เพิ่มเติม)
(1) ที่ตั้งอยู่ในแปลงสัมปทาน B15 และ B16
(2) ปริมาณซื้อขาย (Daily Contract Quantity : DCQ) และระยะเวลาเริ่มส่งก๊าซฯ มีดังนี้
ปีสัญญา DCQ (MMCFD)เริ่มส่งก๊าซ
ปัจจุบัน 350
ปี 2541 550 (เพิ่ม 200) กลางปี 2541
(3) ราคาซื้อขายเริ่มต้นปี 2538 เท่ากับ 56.14 บาทต่อล้านบีทียู โดยมีการปรับราคาทุกๆ 6 เดือน ตามสูตรปรับราคาที่ประกอบด้วยราคาน้ำมันเตา อัตราแลกเปลี่ยน ดัชนีราคาขายส่ง และดัชนีราคาผู้ผลิต
(4) เงื่อนไขของสัญญา เงื่อนไขของสัญญาเป็นไปตามสัญญาเดิมตามที่ถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน
5. กระทรวงอุตสาหกรรมมีความเห็นเกี่ยวกับร่างสัญญาซื้อขายก๊าซฯ จากแหล่งดังกล่าว ดังนี้
5.1 ปตท. ต้องเร่งดำเนินการจัดหาก๊าซธรรมชาติทั้งในอ่าวไทยและต่างประเทศ เพื่อสนองตอบให้เพียงพอกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นใน อนาคตอันใกล้
5.2แหล่งก๊าซฯ ไพลินและบงกช (เพิ่มเติม) สามารถสนองตอบความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นได้ทันเวลา
5.3 เงื่อนไขต่างๆ ของร่างสัญญาซื้อขายก๊าซฯ แหล่งไพลินและแหล่งบงกช (เพิ่มเติม) เป็นไปตามแบบของสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ปัจจุบันที่ ปตท. ถือปฏิบัติอยู่และเป็นประโยชน์ต่อ ปตท.
5.4 ราคาก๊าซฯ เริ่มต้นของแหล่งไพลินและราคาแหล่งบงกช (เพิ่มเติม) เหมาะสม และเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
มติของที่ประชุม
1.รับทราบรายงานสรุปผลการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งไพลินแปลงสัมปทาน B12/27และแหล่งบงกช (เพิ่มเติม)
2.เห็นชอบให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งไพลิน และแหล่งบงกช (เพิ่มเติม)
เรื่องที่ 7 แนวทางในการขยายปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อจากผู้ผลิตรายเล็ก (SPP)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2535 เห็นชอบร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สามารถรับซื้อไฟฟ้าจาก ผู้ผลิตรายเล็กซึ่งผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนอกรูปแบบ กากหรือเศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิง และการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบ Cogeneration โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก และ กฟผ. ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กงวดที่ 1 แล้ว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2535 จำนวน 300 เมกะวัตต์ แต่เนื่องจากระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กเป็นการรับซื้อไฟฟ้า จากเอกชนเข้าระบบของการไฟฟ้า เป็นครั้งแรก จึงมีปัญหาในทางปฏิบัติในระยะต้นและได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมแล้ว
2. ต่อมาได้มีการประเมินผลการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ภายหลังการประกาศระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2537 พบว่ามีปัญหาในการดำเนินการอยู่หลายประการ เช่น ผู้ผลิตรายเล็กยื่น ข้อเสนอขายไฟฟ้าเกินกว่าปริมาณที่ประกาศรับซื้อมาก และสูตรปรับอัตราค่าไฟฟ้าในสัญญาประเภท Firm มีความไม่แน่นอน เป็นผลให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ลงทุน และเป็นปัญหาในการจัดหาเงินกู้ของโครงการ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2538 เห็นชอบให้ขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก จาก 300 เมกะวัตต์ เป็น 1,444 เมกะวัตต์ และเห็นชอบให้ปรับปรุงสูตรปรับอัตราค่าไฟฟ้าที่จะ รับซื้อจากผู้ผลิตรายเล็กในสัญญาประเภท Firm ที่ใช้น้ำมันเตาหรือก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงโดยให้ เปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันเตาที่ กฟผ. ซื้อ หรือราคาก๊าซที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จำหน่ายให้แก่ผู้ผลิตรายเล็ก
3. กฟผ. ได้ประกาศขยายปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อ จากเดิมที่ประกาศไว้ 300 เมกะวัตต์ เป็น 1,444เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2538ซึ่งเมื่อครบกำหนดมีผู้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้ารวม 84ราย ขนาดกำลังการผลิต 7,923เมกะวัตต์ ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขาย 4,493 เมกะวัตต์ ซึ่งสูงกว่าที่ กฟผ. ประกาศขยายการรับซื้อเป็นจำนวนมาก กฟผ.จึงได้พิจารณาคัดเลือกและได้แจ้งผลการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตราย เล็กแล้ว จำนวน 50ราย ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวม 1,720 เมกะวัตต์ โดย กฟผ.และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (สพช.) ได้ร่วมกันร่างต้นแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และผู้ผลิตรายเล็กสำหรับสัญญาซื้อขายประเภท Firm (Cogeneration) แล้วเสร็จ เพื่อให้มีความเป็นมาตรฐานสากลและปฏิบัติได้ โดยได้มีการหารือร่วมกับผู้ผลิตรายเล็กอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ปตท. ยังสามารถจัดสรรก๊าซธรรมชาติให้กับผู้ผลิตรายเล็กที่ได้รับการตอบรับซื้อ ไฟฟ้าและใช้ก๊าซธรรมชาติเป็น เชื้อเพลิงจำนวน 14 ราย ได้ทุกราย
4. ปัจจุบันการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก มีปัญหาในการดำเนินการ ดังนี้
4.1 ผู้ผลิตรายเล็กยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าเกินกว่าปริมาณที่ประกาศขยายการรับซื้อ โดยมีผู้ยื่นเสนอขายต่อ กฟผ. เป็นจำนวนถึง 4,493 เมกะวัตต์ สูงกว่าปริมาณที่ กฟผ. ประกาศขยายปริมาณ การรับซื้อ 1,444 เมกะวัตต์ เป็นจำนวนมาก และการเสนอขายไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนอกรูปแบบ มีปริมาณการเสนอขายที่ต่ำกว่าศักยภาพที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
4.2 ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ มีความแตกต่างกันในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง (Peak) และช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าต่ำ (Light load) อยู่ประมาณร้อยละ 20 จึงควรพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไข การปฏิบัติการผลิตไฟฟ้าตามหลักการ "Must Run" เดิม ให้ กฟผ. สามารถลดปริมาณการรับซื้อในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ (Light load) เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าของประเทศสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าอย่างแท้จริง
4.3 ผู้ผลิตรายเล็กมีความประสงค์จะขายไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟโดยตรง โดยจ่ายค่าบริการผ่านสายส่งและสายจำหน่ายให้การไฟฟ้าทั้ง 3 ซึ่งความประสงค์ของผู้ผลิตรายเล็กดังกล่าว เป็นแนวทางเดียวกับการปรับ โครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศที่ต้องการส่งเสริมการแข่งขันในระบบผลิตและ จำหน่ายไฟฟ้า จึงควรมี การพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้มีทางเลือกซื้อ ไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชน โดยคิดค่าบริการผ่านสายดังกล่าว
5. เพื่อให้นโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กเกิดผลในการส่งเสริมการใช้ พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดภาระการลงทุนของรัฐอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ข้อเสนอแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กในระยะต่อไปควรจะพิจารณาแบ่ง ออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้
5.1 การรับซื้อไฟฟ้าในช่วงปี 2539-2543
5.1.1 การเพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า โดยให้ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากผู้ผลิต รายเล็กเป็นปริมาณ 3,200 เมกะวัตต์ โดยพิจารณาคัดเลือกจากโครงการที่ยื่นข้อเสนอมาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 34 ราย ปริมาณเสนอขายประมาณ 2,800 เมกะวัตต์ และในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานนอกรูปแบบ กาก หรือเศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิง ควรพิจารณาให้มีการรับซื้อไฟฟ้าต่อไปโดยไม่กำหนดปริมาณในการรับซื้อไฟฟ้า
5.1.2 การแก้ไขระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กควรเพิ่ม เงื่อนไขและปรับปรุงระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญากับ กฟผ. เพื่อให้ สอดคล้องกับร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ได้มีการหารือร่วมกับผู้ผลิตรายเล็กไป แล้ว ดังนี้
(1) เงื่อนไขด้านการปฏิบัติการผลิตไฟฟ้า โดยเปลี่ยนจากระบบ Must Run เป็นระบบ Semi-Full Dispatch
(2) เพิ่มกำหนดพลังงานไฟฟ้าขั้นต่ำที่ กฟผ. จะรับซื้อในแต่ละปีเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขด้านการปฏิบัติการผลิตไฟฟ้า
(3) ปรับปรุงเงื่อนไขกรณีที่ผู้ผลิตรายเล็กต้องการลดปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญาลง หลังจากที่ปฏิบัติตามสัญญามาเกินระยะเวลาครึ่งหนึ่งของอายุสัญญา ตามข้อ ฎ 6 ในระเบียบการ รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก ซึ่งให้ลดได้เฉพาะกรณีที่ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าลดลงเท่านั้น
(4) การปรับอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ผลิตรายเล็กสัญญาประเภท Firm จะปรับเฉพาะเชื้อเพลิงหลักเท่านั้น หากใช้เชื้อเพลิงเสริมให้ปรับตามปริมาณความร้อนของ เชื้อเพลิงหลัก และอนุโลมให้ผู้ผลิตรายเล็กที่ใช้กากหรือเศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิง ปรับตามราคาน้ำมันเตา
(5) เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของผู้ลงทุนและลดปัญหาในการจัดหาเงินกู้ของโครงการ การปรับอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตรายเล็ก และสัญญาประเภท Firm ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ควรพิจารณากำหนดสูตรปรับอัตราค่าไฟฟ้าให้ชัดเจนในลักษณะเดียวกันกับการใช้ น้ำมันเตาและก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง
5.1.3 การกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือก สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้รับการ คัดเลือกควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน โดยคำนึงถึง
(1) ความสอดคล้องถูกต้องตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า
(2) ระยะเวลาความพร้อมในการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ เช่น จะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกินกลางปี 2542
(3) ขีดความสามารถของระบบไฟฟ้าที่จะรับซื้อจากผู้ผลิตรายเล็ก
(4) ลำดับความสำคัญของประเภทเชื้อเพลิงที่จะได้รับการพิจารณาก่อน
(5) ความพร้อมของการจัดหาเชื้อเพลิง เช่น หลักฐานการได้รับการจัดสรรก๊าซจาก ปตท. หลักฐานสัญญาการซื้อขายถ่านหิน เป็นต้น
(6) สถานที่ตั้งของโรงไฟฟ้าที่จะสามารถช่วยให้ระบบไฟฟ้ามีการจ่ายไฟฟ้าอย่างมีคุณภาพและมีความมั่นคง
(7) เงื่อนไขการยอมรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
(8) ความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามเงื่อนไขเกี่ยวกับการ Dispatch
(9) คุณสมบัติและประสบการณ์ของผู้ลงทุน
(10) ความเสี่ยง (ฐานะการเงินของผู้ลงทุน คุณภาพ และความมั่นคงของแหล่งเชื้อเพลิง การจัดหาเชื้อเพลิง ประสบการณ์ของผู้ลงทุนและผู้ประกอบการ ประสบการณ์การใช้เทคโนโลยี)
5.2 การรับซื้อไฟฟ้าในช่วงปี 2544 เป็นต้นไป
5.2.1 การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนอกรูปแบบ กาก หรือเศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ มีการจัดทำระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กเป็นการเฉพาะ สำหรับการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนอกรูปแบบ และการผลิตไฟฟ้าโดยระบบ Cogeneration ขนาดเล็ก โดยปรับปรุงจากระเบียบ การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กในปัจจุบัน
5.2.2 การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยระบบ Cogeneration
(1) การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยระบบ Cogeneration ขนาดใหญ่ อาจพิจารณาให้ใช้วิธีการเดียวกันกับการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) คือยื่นข้อเสนอเมื่อมีการออกประกาศเชิญชวน IPP และให้มีการแข่งขันทางด้านราคาด้วย
(2) ศึกษาความเหมาะสมในการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้มีทางเลือกซื้อไฟฟ้าจาก ผู้ผลิตเอกชน โดยคิดค่าบริการผ่านสายส่งสายจำหน่ายของการไฟฟ้าทั้ง 3 เพื่อเป็นการส่งเสริมการแข่งขันในระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบในหลักการให้ประกาศขยายการรับซื้อไฟฟ้าในช่วงปี 2539-2543ดังนี้
1.1 ให้ขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กจาก 1,444 เมกะวัตต์ เป็น 3,200 เมกะวัตต์ โดยคัดเลือกจากโครงการที่ได้ยื่นข้อเสนอต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว
1.2 ให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนอกรูปแบบ กาก หรือเศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงต่อไป โดยไม่กำหนดปริมาณในการรับซื้อไฟฟ้า โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จัดทำประกาศการขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กและประกาศใช้ต่อ ไป
2.เห็นชอบในหลักการการแก้ไขระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก การจัดทำสูตร การปรับอัตราค่าไฟฟ้าในสัญญาประเภท Firmสำหรับการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และหลักเกณฑ์ การพิจารณาคัดเลือกผู้ผลิตรายเล็ก สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าในช่วงปี 2539-2543 (รายละเอียดตามข้อ 5.1.2-5.1.3) โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานนโยบายพลังงาน แห่งชาติ รับไปดำเนินการและประกาศใช้ต่อไป
3.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จัดทำการศึกษาปรับปรุงระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าในช่วงปี 2544 เป็นต้นไป และศึกษาความเหมาะสมในการให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิต เอกชนโดยตรง โดยใช้บริการผ่านสายส่งและจำหน่ายของการไฟฟ้า (รายละเอียดตามข้อ 5.2) แล้วนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ต่อไป
4.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้า อิสระ (IPP)และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมครั้งต่อไป
เรื่องที่ 8 การส่งเสริมให้หน่วยราชการใช้เครื่องปรับอากาศประสิทธิภาพสูง และหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์
สรุปสาระสำคัญ
1. สำนักงบประมาณได้เสนอเรื่อง แนวทางการประหยัดพลังงาน เพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ส่วนราชการสามารถจัดซื้อจัดจ้างหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ได้เป็นกรณี พิเศษ เนื่องจาก หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ยังไม่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จึงทำให้ส่วนราชการ ไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ เพราะเป็นการขัดกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ดังนั้นหากส่วนราชการมีความประสงค์จะจัดซื้อจัดจ้างหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ จะต้องเสียเวลาในขั้นตอนการพิจารณาจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้การสนองนโยบายการประหยัดพลังงานล่าช้าไปด้วย
2. นอกจากนี้ สำนักงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (สจฟ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รณรงค์โครงการประชาร่วมใจใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟฟ้า โดยวิธีการนำเครื่องปรับอากาศไปทดสอบและติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีผู้ผลิตที่ได้รับฉลากแสดงประสิทธิภาพ ระดับ 5 (ค่าประสิทธิภาพ 10.6 บีทียู/วัตต์ ขึ้นไป) จำนวน 27 ราย คณะอนุกรรมการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า จึงได้พิจารณาเห็นควรส่งเสริมให้ส่วนราชการจัดซื้อเครื่องปรับอากาศแบบแยก ส่วนที่มีฉลากประสิทธิภาพ ระดับ 5 สำหรับเครื่องปรับอากาศที่มีขนาด 13,300 บีทียู ลงมา ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐาน ประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศที่ใช้ ซึ่งจะนำไปสู่การประหยัดพลังงานและเป็นการขยายตลาด เครื่องปรับอากาศดังกล่าวด้วย
3. ปัจจุบัน สำนักงบประมาณจะกำหนดคุณลักษณะของเครื่องปรับอากาศ โดยใช้มาตรฐานสากลเป็นเกณฑ์ โดยแนะนำให้พิจารณาจัดซื้อเครื่องปรับอากาศที่มีค่า Energy Efficiency Ratio (EER) สูง ซึ่งสามารถประหยัดพลังงานได้ดีกว่า แต่ด้วยเหตุผลที่ว่าค่า EER จากการระบุของผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศไม่อาจเชื่อถือได้ และการพิจารณาค่า EER มีความยุ่งยากต่อการตัดสินใจในการจัดซื้อ จึงเห็นควรให้ส่วนราชการจัดซื้อเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนที่มีขนาดตั้งแต่ 13,300 บีทียู ลงมา พิจารณาจัดซื้อเครื่องปรับอากาศที่มีฉลากประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศของ สจฟ. ระดับ 5 และเห็นควรให้มีการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศของส่วนราชการที่มีอายุเกินกว่า 8 ปี เป็นเครื่องปรับอากาศประสิทธิภาพสูง ซึ่งได้ฉลากของ สจฟ. ระดับ 5 โดยในเบื้องต้น สจฟ. อาจทดลองเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศให้กับส่วนราชการใดส่วนราชการหนึ่ง เช่น โรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น โดยใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้เห็นผลของการประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม
4. นอกจากนี้ สจฟ. มีโครงการห้องทดสอบมอเตอร์ ซึ่งหากแล้วเสร็จจะทำให้สามารถกำหนดมาตรฐานของมอเตอร์ได้ ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีความคล่องตัวในการปรับปรุงบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ โดยกำหนดเป็นหลักการว่า หากครุภัณฑ์ประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้าใดสามารถกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพได้อย่าง ชัดเจน มีมาตรฐานสูงกว่าของเดิม และมีการแข่งขันกันแล้ว ก็ให้สำนักงบประมาณพิจารณาปรับปรุงบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์สำหรับครุภัณฑ์ ประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้านั้นๆ ได้ตามความเหมาะสม
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณ ในเรื่องแนวทางการประหยัดพลังงาน โดยให้ ส่วนราชการสามารถจัดซื้อจัดจ้างหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ได้เป็นกรณีพิเศษ
2.เห็นชอบในหลักการให้สำนักงบประมาณพิจารณาปรับปรุงบัญชีราคามาตรฐาน ครุภัณฑ์ สำหรับครุภัณฑ์ประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดที่สามารถกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพ ได้อย่างชัดเจน และมีการแข่งขัน รวมทั้งมีมาตรฐานสูงกว่าของเดิมตามความเหมาะสมต่อไป
3.เห็นชอบให้สำนักงบประมาณพิจารณาปรับปรุงบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ประเภท เครื่องปรับอากาศ โดยเพิ่มเติมรายละเอียดของเครื่องปรับอากาศ ดังนี้ "หากเป็นเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน และมีขนาดตั้งแต่ 13,300 บีทียู ลงมา ให้พิจารณาจัดซื้อเครื่องปรับอากาศที่มีฉลากประสิทธิภาพของ สจฟ. ระดับ 5" และให้พิจารณาปรับปรุงราคากลางของเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน ขนาด 13,300 บีทียู ลงมา ตามราคาตลาดของเครื่องปรับอากาศที่ได้ฉลากประสิทธิภาพของ สจฟ. ระดับ 5 รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงราคากลางของเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนขนาดใหญ่กว่า 13,300 บีทียู เพิ่มขึ้นตามราคาตลาดของเครื่องปรับอากาศที่มีค่าประสิทธิภาพในระดับไม่น้อย กว่า 9.6 บีทียู /วัตต์ ด้วย โดยให้ สำนักงบประมาณรับไปประสานงานในรายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
เรื่องที่ 9 บันทึกความเข้าใจร่วมของโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา ใน สปป.ลาว
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่อง ความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 ณ นครเวียงจันทน์ เพื่อส่งเสริมและร่วมมือกันพัฒนาไฟฟ้าจำหน่ายให้กับประเทศไทย ในปริมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2545 โดยมีคณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว (คปฟ.-ลาว) ซึ่งมีผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นประธาน และรัฐบาล สปป.ลาว ได้แต่งตั้ง Committee for Energy and Electric Power (CEEP) เพื่อติดตามการดำเนินงานและประสานความร่วมมือในการพัฒนาโครงการให้เป็นไปตาม บันทึกความเข้าใจดังกล่าว
2. ในขณะนี้ สปป.ลาว มีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาเพื่อผลิตและขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งสิ้น 11 โครงการ รวมกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 4,300 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการที่ตกลงอัตราค่าไฟฟ้าแล้ว คือ โครงการน้ำเทิน-หินบุน โครงการน้ำเทิน 2 โครงการห้วยเฮาะ และโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา ส่วนโครงการอื่นๆ ที่ได้เริ่มมีการหารือกับคณะ กรรมการฯ และ กฟผ. แล้ว มี 7 โครงการ โดยเรียงลำดับความพร้อมของโครงการ ได้ดังนี้ โครงการน้ำงึม 3 โครงการน้ำงึม 2 โครงการเซคามาน 1 โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย โครงการน้ำเทิน 3 โครงการน้ำเทิน 1 และโครงการน้ำเลิก ปัจจุบันการเจรจาซื้อขายไฟฟ้ามีโครงการที่สามารถตกลงอัตราค่าไฟฟ้าและอยู่ ระหว่างการเจรจาจัดทำสัญญา ซื้อขายไฟฟ้า 4 โครงการ รวมกำลังการผลิต 1,737 เมกะวัตต์ โครงการที่ได้เสนออัตราค่าไฟฟ้า 4 โครงการ รวมกำลังผลิตติดตั้ง 1,728 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างเสนอผลการศึกษา 3 โครงการ รวมกำลังผลิตติดตั้ง 790 เมกะวัตต์
3. แนวทางในการเจรจาโครงการอื่นๆ เพื่อให้ครบปริมาณรับซื้อ 1,500 เมกะวัตต์ นั้น คปฟ.-ลาว ได้มีมติเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2539ให้เริ่มเจรจาอัตราค่าไฟฟ้ากับกลุ่มผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 และโครงการน้ำงึม 2 โดยไม่ต้องรอผลการเจรจาของโครงการในปริมาณ 1,500 เมกะวัตต์แรก ตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว เพื่อกฟผ. จะได้มีโครงการอื่นทดแทนในกรณีที่มีบางโครงการไม่สามารถจัดทำสัญญาซื้อขาย ไฟฟ้าได้ ทำให้ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไม่ครบตามปริมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ที่กำหนด
4. โครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา เป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามบันทึกความเข้า ใจเรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว เพื่อจำหน่ายให้กับประเทศไทย ในปริมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2545 โดยกลุ่มผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัท ไทยลาวเพาเวอร์ (Thai Lao Power : TLP) เป็นบริษัทฯ ที่จดทะเบียนใน สปป.ลาว เมื่อปี ค.ศ. 1994 และเป็นบริษัทในเครือ (Subsidiary) ของบริษัท ไทยลาวลิกไนต์ (Thai Lao Lignite) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจาก สปป.ลาว ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา ภายใต้หลักการที่ให้บริษัทผู้ได้รับสัมปทานเป็น เจ้าของ ผู้ก่อสร้างและผู้ดำเนินการ และเมื่อครบอายุการได้รับสัมปทานจะต้องโอนกิจการเป็นของรัฐ (Build-Own-Transfer Agreement-BOT) โดยในปัจจุบันยังไม่มีบริษัทอื่นเข้าร่วมโครงการ โครงการดังกล่าวมีกำลังผลิตติดตั้ง 720 เมกะวัตต์ และกำหนดจะแล้วเสร็จปี 2543 โดยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2539 กฟผ. และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการ ได้ตกลงราคาไฟฟ้าที่จะรับซื้อ ดังนี้
ระยะที่1 โครงการผลิตไฟฟ้า ขนาด 600 เมกะวัตต์ กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดโครงการในช่วงเวลา 25 ปี (Levelized) ที่อัตรา 5.70 เซนต์สหรัฐฯต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
ระยะที่ 2 โครงการผลิตไฟฟ้า ขนาด 600 เมกะวัตต์ กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดโครงการในช่วงเวลา 25 ปี (Levelized) ที่อัตรา 5.60 เซนต์สหรัฐฯต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งถ้าคิด 2 โครงการรวมกัน 1,200 เมกะวัตต์ จะได้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 5.65 เซนต์สหรัฐฯต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
5. ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2539กฟผ. ได้นำบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ.และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา (Memorandum of Understanding : Lignite Fired Power Plant-MOU) เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อพิจารณา โดยซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
5.1 บันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการ มีลักษณะคล้ายกับบันทึกความเข้าใจระหว่าง กฟผ. กับกลุ่มผู้พัฒนาโครงการน้ำเทิน-หินบุน น้ำเทิน 2 และห้วยเฮาะ ซึ่งได้มีการลงนามไปแล้ว บันทึกความเข้าใจจะประกอบด้วยหลักการสำคัญในการซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นสาระสำคัญของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) ที่จะมีการเจรจาและลงนามกันต่อไป เช่น อัตราค่าไฟฟ้าปริมาณไฟฟ้าที่จะรับซื้อ เป็นต้น
5.2 บันทึกความเข้าใจจะมีผลบังคับใช้จนกระทั่งมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยจะมีระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน หลังจากวันลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ยกเว้นแต่ว่าจะได้มีการตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่ายให้มีการขยายระยะเวลา
5.3 สัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีอายุของสัญญา 25 ปี โดยมีกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้า (Commercial Operation Date) ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2544 สำหรับหน่วยที่ 1 และวันที่ 30 มิถุนายน 2545 สำหรับหน่วยที่ 2
5.4 กลุ่มผู้พัฒนาโครงการจะขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ณ จุดส่งมอบ โดยมีปริมาณพลังงานไฟฟ้าประเภท Firm ในระดับร้อยละ 80 ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ หรือเทียบเท่ากับปริมาณพลังงานไฟฟ้า จำนวน 4,265.3 ล้านหน่วยต่อปี และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนดังกล่าวจะใช้ถ่านหินลิกไนต์จากแหล่งหงสาเป็นเชื้อ เพลิง ซึ่งคาดว่าจะใช้ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี
5.5 กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดโครงการในช่วงเวลา 25 ปี (Levelized) ในอัตรา 5.70 เซนต์สหรัฐฯต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
5.6 การชำระเงินค่าไฟฟ้า ร้อยละ 50 ของค่าไฟฟ้า จะชำระเป็นเงินสกุลบาท และอีกร้อยละ 50 ของค่าไฟฟ้า จะชำระเป็นเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลบาทและเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ เฉลี่ยของเดือนที่มีการลงนามในสัญญา
5.7 กฎหมายที่ใช้ในการทำสัญญา (Governing Law) กำหนดให้ใช้กฎหมายอังกฤษเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับ ทั้งในบันทึกความเข้าใจร่วม และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(Power Purchase Agreement-PPA)
มติของที่ประชุม
เห็นชอบในหลักการของร่างบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการลิกไนต์หงสา ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยหมายเลข 1 ของเอกสารแนบวาระที่ 4.5.2 โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รับไปดำเนินการเพื่อให้มีการลงนามในบันทึก ความเข้าใจกับกลุ่มผู้พัฒนาโครงการต่อไป ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาล สปป.ลาว ต้องการให้มีการแก้ไขบันทึก ความเข้าใจร่วมเพิ่มเติม ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสามารถลงนามในบันทึกที่ได้แก้ไขแล้วได้ หากไม่มีการแก้ไขในสาระสำคัญ
เรื่องที่ 10 การขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่อง ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 ณ กรุงเวียงจันทน์โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและร่วมมือกันพัฒนาไฟฟ้าเพื่อ จำหน่ายให้แก่ประเทศไทย ในปริมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2545
2. ในการดำเนินการประสานความร่วมมือเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว (คปฟ.-ลาว) ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2536 โดยมีผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นประธาน และ คณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ อธิบดีกรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ รองอธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยส่วนทางด้าน สปป.ลาว ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพลังงานและไฟฟ้าแห่ง สปป.ลาว (Committee for Energy and Electric Power-CEEP) เพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาโครงการดังกล่าวเช่นกัน
3. สปป.ลาว มีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาเพื่อผลิตและขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งสิ้น 11 โครงการ รวมกำลังการผลิตประมาณ 4,300 เมกะวัตต์ โดยมีสถานภาพการเจรจาเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ดังนี้
3.1 โครงการที่สามารถตกลงอัตราค่าไฟฟ้าแล้ว จำนวน 4 โครงการ คือ โครงการน้ำเทิน-หินบุน โครงการน้ำเทิน 2 โครงการห้วยเฮาะ และโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา
3.2 โครงการที่จะเริ่มเจรจาอัตราค่าไฟฟ้า 2 โครงการ ตามมติคณะกรรมการ คปฟ-ลาว เมื่อวันที่ 22มีนาคม 2539คือ โครงการน้ำงึม 3 และโครงการน้ำงึม 2ซึ่งโครงการทั้ง 2 ได้เสนออัตรา ค่าไฟฟ้าเพื่อให้ คปฟ.ลาว พิจารณาแล้ว
3.3 โครงการอื่นๆ เรียงลำดับตามความพร้อมของโครงการ คือ โครงการเซคามาน 1 โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย โครงการน้ำเทิน 2 โครงการน้ำเทิน 1 และโครงการน้ำเลิก ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอผลการศึกษา
4. ประเด็นปัญหาซึ่งทำให้ยังไม่สามารถลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ เนื่องจาก
4.1 การเจรจาเพื่อลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement : PPA) สำหรับโครงการน้ำเทิน-หินบุน มีประเด็นปัญหาซึ่งระบุเป็นเงื่อนไขก่อนลงนามสัญญา 2 ประเด็น ดังนี้
(1) เรื่องการยอมรับบังคับคดีตามผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการ เนื่องจาก สปป. ลาว ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญากรุงนิวยอร์คว่าด้วยการยอมรับและ บังคับตามคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ สปป.ลาว ได้ออกหนังสือยอมรับผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ลงนามโดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2538 แต่เนื่องจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมิใช่เป็นผู้มีอำนาจเต็มในการ ดำเนินการตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้มีอำนาจเต็มลงนามในหนังสือยอมรับผลการตัดสิน ของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว หรือมิฉะนั้นจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีลง นาม โดยผู้มีอำนาจเต็มเป็นผู้ลงนามมอบอำนาจ ซึ่งผู้มีอำนาจเต็มจะประกอบด้วย ประมุขแห่งรัฐ ประมุขรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
(2) เรื่องการรับรองว่า รัฐบาล สปป.ลาว จะไม่ปกป้องทรัพย์สินของกลุ่มผู้พัฒนาโครงการ จากการบังคับคดี (Sovereign Immunity)
4.2 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2539 อนุมัติให้ กฟผ. ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวได้ แต่มีเงื่อนไขว่าจะลงนามได้ก็ต่อเมื่อได้รับหนังสือรับรองว่ารัฐบาล สปป.ลาว จะไม่ปกป้องทรัพย์สินของกลุ่มผู้พัฒนาโครงการจากการบังคับคดี (Sovereign Immunity) และเรื่องการบังคับคดีตามผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการจนเป็นที่พอใจแล้ว พร้อมกันนี้ได้มีมติมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรับไป ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว และหากยังเป็นประเด็นปัญหาอยู่ก็ให้นำประเด็นดังกล่าวไปปรึกษาหารือในโอกาส ที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือน สปป. ลาว ในเดือนมิถุนายน 2539 ต่อไป
4.3 กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาวเพื่อแจ้งเหตุผล ความจำเป็นและหาทางแก้ไขปัญหามาโดยตลอด และ กฟผ. ได้จัดทำหนังสือแจ้งอย่างเป็น ทางการถึงข้อเสนอของฝ่ายไทยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยขอให้ สปป.ลาว แจ้งผลการพิจารณาให้ ฝ่ายไทยทราบภายในวันที่ 13 มิถุนายน 2539 สาระสำคัญของข้อเสนอที่ขอให้ สปป. ลาวดำเนินการ สรุปได้ดังนี้
(1) จัดทำหนังสือใหม่ที่มีข้อความเหมือนฉบับเดิม ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงนามแล้วนั้น และเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนาม
(2) จัดทำหนังสือมอบอำนาจลงนามโดยผู้มีอำนาจเต็ม เพื่อให้อำนาจรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการแทนตามที่ได้ลงนามในหนังสือยอมรับผลการบังคับคดีดังกล่าวแล้ว
5. ต่อมา คปฟ.-ลาว และคณะกรรมการพลังงานและไฟฟ้าแห่ง สปป.ลาว (CEEP) ได้ประชุมปรึกษาหารือ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2539 เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ตามบันทึกความเข้าใจฉบับวันที่ 4 มิถุนายน 2536 โดย สปป.ลาว ได้จัดทำร่างบันทึกความเข้าใจเพื่อใช้แทนฉบับเดิม และเสนอให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจในระหว่างการเยือน สปป.ลาว ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในระหว่างวันที่ 19-20 มิถุนายน 2539
6. การพิจารณาข้อเสนอการขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ดังกล่าว ที่ประชุมได้พิจารณาในประเด็นต่างๆ เช่น ความเหมาะสมของปริมาณไฟฟ้าที่จะรับซื้อ ระยะเวลา และเหตุผลความจำเป็นอื่นๆ เป็นต้น และที่ประชุมได้มีมติให้ กฟผ. ปรับปรุงบันทึกความเข้าใจร่วม เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว ตามที่ สปป.ลาว เสนอ เพื่อใช้แทนบันทึกความเข้าใจร่วม ฉบับวันที่ 4 มิถุนายน 2536 โดยให้มีสาระสำคัญที่แตกต่างจากฉบับเดิม ดังนี้
6.1 ขยายปริมาณรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 1,500 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 3,000 เมกะวัตต์
6.2 ขยายระยะเวลาสิ้นสุดการรับซื้อไฟฟ้าจากปี 2543 ไปจนถึงปี 2549
6.3 สปป.ลาว ยินดีให้มีการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าเพื่อส่งไฟฟ้าจากมณฑลยูนนานผ่านเข้าประเทศไทยได้
6.4 มีการยอมรับผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการ
6.5 บันทึกความตกลงครั้งนี้ ลงนามโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ของทั้ง 2 ประเทศ
7. เมื่อถึงกำหนดวันที่ 13 มิถุนายน 2539 กฟผ. ได้รับแจ้งจาก สปป. ลาว ถึงผลการพิจารณา ในเบื้องต้นเกี่ยวกับการขอแก้ไขบันทึกความเข้าใจร่วมในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ที่ขอแก้ไข 2 ประการ คือ
7.1 เรื่อง สปป. ลาว ยินดีให้มีการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าเพื่อส่งไฟฟ้าจากมณฑลยูนนานผ่านเข้าประเทศ ไทยได้ ซึ่ง สปป.ลาว ขอใช้คำว่า " ยินดีจะพิจารณาให้ระบบสายส่งไฟฟ้าจากมณฑลยูนนานผ่านดินแดนของ สปป.ลาว มายังประเทศไทย บนพื้นฐานการคำนึงถึงผลประโยชน์และอธิปไตยของแต่ละฝ่าย"
7.2 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศลงนามแทน ฯพณฯนายกรัฐมนตรี
8. สพช. และ กฟผ. พิจารณาแล้วเห็นว่า ในเรื่องประเด็นสายส่งไฟฟ้าจากมณฑลยูนนานสมควรให้ สปป.ลาว ให้การสนับสนุนโครงการมากกว่าที่จะพิจารณาโครงการ จึงสมควรที่จะให้มีการเจรจาในประเด็นนี้ก่อนที่จะลงนามในบันทึกความเข้าใจ ต่อไป
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบในหลักการของร่างบันทึกความเข้าใจร่วมเรื่อง ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว ตามเอกสารแนบวาระที่ 4.6.5 เพื่อให้ใช้แทนบันทึกความเข้าใจฉบับวันที่ 4 มิถุนายน 2536 โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เจรจาในรายละเอียดเพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่ได้รับอนุมัติก่อนลงนามใน บันทึกความเข้าใจร่วมต่อไป
2.เห็นควรให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนาม ในคราวเยือน สปป.ลาว ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 19-20 มิถุนายน 2539 หากมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเรื่องการยอมรับบังคับคดีตามผล การตัดสินของอนุญาโตตุลาการที่เป็นเงื่อนไขก่อนลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการน้ำเทิน-หินบุน จนเป็นที่พอใจแล้ว
3.มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดำเนินการเจรจาในรายละเอียดเพื่อให้มีการลงนาม ดังนี้
3.1 บันทึกความเข้าใจเรื่อง ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว ลงนามโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ
3.2 บันทึกความเข้าใจร่วมของโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา ลงนามโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ไทยลาวเพาเวอร์ จำกัด
3.3 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน-หินบุน ลงนามโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและกลุ่มผู้พัฒนาโครงการน้ำเทิน-หินบุน
4.มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศรับไปดำเนินการจัดเวลาในการลงนามในบันทึกความเข้าใจและสัญญาต่างๆ ดังกล่าวแล้วในข้อ 3
กพช. ครั้งที่ 56 - วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2539
มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 2/2539 (ครั้งที่ 56)
วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
1.รายงานผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
2.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
3.สัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน-หินบุน
4.นโยบายการจัดเก็บเงินผลประโยชน์พิเศษจากโรงกลั่นน้ำมัน
5.นโยบายการตั้งโรงงานผลิตยางมะตอย
6.แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 8 ปีงบประมาณ 2539-2544 ของการไฟฟ้านครหลวง
นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
ประธานฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบเรื่อง ปัญหาราคาน้ำมันของชาวประมง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539 ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการ ให้ช่วยเหลือชาวประมงขนาดเล็ก โดยให้ลดราคาน้ำมันดีเซล ส่วนการจะลดราคาลงลิตรละเท่าใด และควรมีวิธีดำเนินการอย่างไร มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 14 พฤษภาคม 2539
2. เห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาการประมง และมอบให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาในรายละเอียดร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและ สำนักงบประมาณ แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
เรื่องที่ 1 รายงานผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. การติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง
1.1 กรมสรรพสามิต ได้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ Automatic Leveling Gauge ในคลังน้ำมันชายฝั่งทั้งสิ้น 38 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง โดยคลังในกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันออก จำนวน 19 คลัง ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 70 ส่วนคลังในภาคใต้ จำนวน 19 คลัง ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 50 และคาดว่าทั้งหมดจะแล้วเสร็จตามสัญญาในเดือนมิถุนายน 2539 นี้ และสำหรับในช่วงที่การดำเนินการติดตั้งมิเตอร์ยังไม่แล้วเสร็จ ได้ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมการขนถ่ายน้ำมันโดยการผนึกท่อทางรับจ่ายน้ำมันและ ตรวจวัดปริมาณน้ำมันทุกครั้งที่มีการขนถ่ายและรายงานผลไปยัง Operation Room ตลอด 24 ชั่วโมง
1.2 กรมสรรพากร จากการตรวจปฏิบัติการทั่วไปคลังน้ำมัน 10 แห่ง ที่กรมสรรพสามิตไม่มีอำนาจติดตั้งมิเตอร์ ปรากฏว่าคลังน้ำมันได้ยินยอมติดตั้งมิเตอร์แล้วรวม 4 ราย คงค้าง 6 ราย กรมสรรพากรจึงสั่งให้สรรพากรจังหวัดทำการตรวจปฏิบัติการทั่วไปและตรวจนับ สินค้าคงเหลือของคลังน้ำมันในท้องที่จำนวน 6 ราย อย่างต่อเนื่อง
2. การตรวจสอบภาษีคลังน้ำมันและสถานีบริการ
กรมสรรพากรได้ดำเนินการเร่งรัดให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศ ใช้ระบบเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่ายจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2539 มีสถานีบริการเข้าระบบดังกล่าวแล้วจำนวนทั้งสิ้น 5,364 ราย นอกจากนี้ กรมสรรพากรได้ดำเนินการตรวจสอบภาษีของเจ้าของเรือประมงลักลอบนำน้ำมันเชื้อ เพลิงเข้ามาในราชอาณาจักรที่ถูกจับกุมได้ จำนวนทั้งสิ้น 15 ราย ตามรายชื่อที่กรมศุลกากรแจ้งให้ทราบ ปรากฏว่าได้ดำเนินการเสร็จทั้งหมด 6 ราย
3. การให้ผู้ตรวจวัดอิสระตรวจสอบปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง
กรมทะเบียนการค้า ได้ดำเนินการจัดทำร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราช อาณาจักร (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. 2539 นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการประกาศใช้ต่อไป โดยกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันที่มีสิทธิ์นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทุกราย (ผู้ค้าตามมาตรา 6) ต้องจัดให้มี ผู้ตรวจวัดอิสระที่มีคุณสมบัติตามที่กรมทะเบียนการค้ากำหนด และแจ้งขึ้นทะเบียนต่อกรมทะเบียนการค้า เพื่อทำหน้าที่ตรวจยืนยันชนิด ปริมาณและคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง และให้รายงานผลการตรวจสอบนำเข้าจากท่าต้นทางภายใน 2 วัน นับแต่วันที่เรือออกจากท่าต้นทางและ ณ คลังปลายทางที่นำเข้าภายใน 3 วัน นับแต่วันที่เรือได้เข้ามาในราชอาณาจักร
4. การควบคุมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เคมีปิโตรเลียม
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และกรมสรรพสามิต ได้ประชุมร่วมกับกรมทะเบียนการค้าและการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนำผลิตภัณฑ์เคมีปิโตรเลียมที่ได้รับการยกเว้นภาษี สรรพสามิตออกมาจำหน่ายให้แก่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยได้ข้อสรุปว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้แก่คนกลาง ซึ่งไม่ได้นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมจริง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงควรตัดคนกลางออก โดยกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างยกร่างประกาศกรมฯ เพื่อกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ต้องแจ้งรายชื่อและที่อยู่ของลูกค้าให้กรมสรรพสามิตทราบและพร้อมกับกำหนดให้ แจ้งยืนยันยอดการขายให้กับลูกค้า เพื่อให้กรมสรรพากรตรวจสอบยืนยันการซื้อ-ขายต่อไป สำหรับการเติมสาร Marker นั้น เห็นว่ายังไม่สมควรเติมสารดังกล่าวในชั้นนี้ เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ประกอบกับหากกรมสรรพสามิตปรับปรุงแนวทางการควบคุมการซื้อ-ขายผลิตภัณฑ์เคมี ปิโตรเลียมตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว น่าจะแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้
5.การจัดตั้งศูนย์ประสานงาน
5.1 กองทัพเรือ ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจปราบปรามทางทะเลขึ้นที่ศูนย์ปฏิบัติการ กองทัพเรือ โดยมีเสนาธิการทหารเรือเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ มีกำลังทางเรือ และอากาศยานของกองทัพเรือ ตำรวจน้ำ และศุลกากร ร่วมกันปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อปฏิบัติการทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน และได้จัดให้มีการประชุมเพื่อวางแผนการปราบปรามร่วมกับกรมตำรวจและกรม ศุลกากรให้เป็นเอกภาพเดียวกัน จัดรวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านข่าวกรองของหน่วยงานเข้าด้วยกัน จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานด้านกฎหมาย รวมทั้งการพล๊อตตำแหน่งของเรือบรรทุกน้ำมันที่นำเข้าน้ำมันโดยถูกต้องตาม กฎหมายและเดินทางเข้าสู่น่านน้ำไทย เพื่อให้หน่วยลาดตระเวนใช้ในการตรวจสอบและปราบปรามทางทะเลต่อไป
5.2 สพช. ได้จัดให้มีการประชุมศูนย์รวมการประสานงานปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมัน เชื้อเพลิงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ไปแล้วรวม 3 ครั้ง สามารถแก้ไขปัญหาในการประสานงานได้หลายประการ ได้แก่ ปัญหาของกลางที่ถูกจับกุมได้ ปัญหาการแจ้งการนำเข้าล่าช้ากว่าที่กำหนด ปัญหาคลังน้ำมันบางแห่งไม่ยินยอมติดตั้งมิเตอร์ และปัญหาที่คลังไม่ให้ความร่วมมือจัดบัญชีให้ตรวจสอบ เป็นต้น
6. การให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย
6.1 สพช. ได้ดำเนินการร่างคำสั่งนายกรัฐมนตรีแก้ไขคำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับเดิมเพื่อ ให้สามารถนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้ในการสนับสนุนการปราบปรามการ ลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 1/2539 เรื่อง การกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2539 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 113 ตอนที่ 22 ง ลงวันที่ 14 มีนาคม 2539 แล้ว นอกจากนี้ คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับ น้ำมันเบนซินและดีเซล อีกลิตรละ 10 สตางค์ ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2539 เป็นต้นไป เพื่อให้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเพียงพอสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้ ทั้งนี้ ได้อนุมัติเงินสนับสนุนแก่หน่วยงานต่างๆไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 145,818,253.28 บาท
6.2 กรมบัญชีกลาง ได้จัดทำร่างระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการฝากและเบิกจ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2539 เพื่อใช้เป็นระเบียบให้หน่วยงานต่างๆ ถือปฏิบัติ
7. สถานการณ์ในปัจจุบัน
ผลการจับกุมผู้กระทำผิดคดีลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงของหน่วยงานต่างๆ พบว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2539 (มกราคม - มีนาคม 2539) ได้จับกุมผู้กระทำผิดดำเนินคดีได้จำนวนทั้งสิ้น 13 คดีโดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2 คดี มีปริมาณน้ำมันที่จับได้จำนวนทั้งสิ้น 3,507,300 ลิตร ซึ่งเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 2,361,960 ลิตร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 206 หรือ 3 เท่าของผลการจับกุมของปีที่แล้ว โดยสามารถสรุปรายละเอียดการจับกุมได้ ดังนี้
จำนวนคดี | ปริมาณน้ำมัน ที่จับกุมได้ (ลิตร) |
การเพิ่ม (จำนวน) |
ร้อยละ | ||||
2538 | 2539 | การเพิ่ม | 2538 | 2539 | |||
1.กองทัพเรือ | 2 | 2 | - | 70,000 | 280,000 | 210,000 | 300 |
2.กรมศุลกากร | 3 | 1 | -2 | 355,340 | 2,000,000 | 1,644,660 | 463 |
3.กรมตำรวจ | 6 | 10 | +4 | 720,000 | 1,227,300 | 507,300 | 70 |
รวม | 11 | 13 | +2 | 1,145,340 | 3,507,300 | 2,361,960 | 206 |
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบในช่วงปลายปี 2538 จนถึงกลางเดือนมกราคม 2539 ราคาน้ำมันดิบได้ทยอยปรับราคาขึ้นโดยเฉลี่ย 2 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจากฤดูหนาวของปีนี้อากาศหนาวเย็นมากกว่าปกติ ทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่นเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบสำรองของโรงกลั่นมีระดับต่ำ และการผลิตไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้เต็มที่เพราะอากาศที่หนาวจัด หลังจากนั้นราคาน้ำมันดิบได้ลดลงและทรงตัวอยู่ในระดับ 15.8-20.3 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นตามลำดับ ในเดือนเมษายนราคาน้ำมันดิบได้ขึ้นมาอยู่ในระดับ 17.5 - 23.6 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบสำรองของโรงกลั่นอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันดิบอยู่ในระดับสูง
2. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงเดือน กุมภาพันธ์ 2539 ราคาน้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาได้สูงขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่นมีระดับสูงกว่าทุกปีที่ผ่าน มา ในขณะที่ปริมาณการผลิตถูกจำกัดเพราะโรงกลั่นเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งการเลื่อนการเปิดดำเนินการของโรงกลั่นใหม่ออกไป นอกจากนี้ลักษณะความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันได้เปลี่ยนแปลงไป นับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินได้เริ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่มีความต้องการใช้น้ำมัน เบนซินสูงขึ้น ในขณะที่ปริมาณน้ำมันสำรองมีระดับต่ำ จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้นเป็นลำดับ ในส่วนของน้ำมันเพื่อทำความอบอุ่น คือ น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตานั้น ความต้องการเริ่มลดลงตามสภาพอากาศที่เริ่มอุ่นขึ้น ทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ได้เริ่มปรับตัวลง แต่ก็มีการปรับราคาขึ้นในบางช่วงที่มีความต้องการ เช่น การเพิ่มการสำรองน้ำมันของไต้หวัน สำหรับราคาน้ำมันในเดือนเมษายน น้ำมันเบนซินพิเศษอยู่ในระดับ 26.2 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล น้ำมันเบนซินธรรมดาอยู่ในระดับ 23.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันก๊าดอยู่ในระดับ 26.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดีเซลอยู่ในระดับ 25.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันเตาอยู่ในระดับ 17.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
3. การเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกของประเทศจะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงราคาขายส่ง หน้าโรงกลั่นของประเทศ ซึ่งปรับตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ประมาณ 1 สัปดาห์หลังการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดจรสิงคโปร์ โดยราคาขายปลีกจะปรับตามราคาขายส่งหลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ สำหรับราคาขายปลีกน้ำมันของประเทศนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2539 มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
3.1 น้ำมันเบนซิน ราคาขายปลีกได้ทยอยปรับตัวลงนับตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2538 จนถึงปลายเดือนมกราคม 2539 ลดลงรวม 40 สตางค์/ลิตร และได้มีการปรับตัวตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นมาจนถึงสิ้นเดือนเมษายน ปรับตัวขึ้นทั้งสิ้น 90 สตางค์/ลิตร ในขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินในตลาดจรสิงคโปร์ปรับตัวขึ้นประมาณ 6 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือ 95 สตางค์/ลิตร ณ สิ้นเดือนเมษายน ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วอยู่ในระดับ 9.58 บาท/ลิตร และราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินธรรมดาอยู่ในระดับ 9.03 บาท/ลิตร
3.2 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว จากการที่ราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกได้ถีบตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วของประเทศได้ทยอยปรับราคาสูงขึ้นตาม นับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วจนถึงปลายเดือนมกราคม 2539 ราคาขายปลีกได้สูงขึ้นรวม 75 สตางค์/ลิตร เปรียบเทียบกับราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกที่สูงขึ้นในช่วงเดียวกัน คือ 5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือประมาณ 80 สตางค์/ลิตร เดือนกุมภาพันธ์ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลสูงขึ้น 25 สตางค์/ลิตร ตามราคาตลาดโลกที่สูงขึ้น 1.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือ 25 สตางค์/ลิตร ในเดือนมีนาคมจนถึงต้นเดือนเมษายนราคาขายปลีกลดลงรวม 25 สตางค์/ลิตร ตามราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกที่ลดลงประมาณ 1.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลของเดือนเมษายนมีการเปลี่ยนแปลงทั้งขึ้นและลง แต่โดยเฉลี่ยแล้วระดับราคาขายปลีกไม่เปลี่ยนแปลง โดยอยู่ในระดับ 8.40 บาท/ลิตร
3.3 ค่าการตลาด การใช้นโยบายการลดช่องว่างระหว่างราคาน้ำมันในเขตกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ส่งผลให้ค่าการตลาดของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสูงขึ้น ในขณะที่ค่าการตลาดในส่วนภูมิภาคลดลง และนับตั้งแต่ใช้นโยบายดังกล่าวเป็นต้นมา ค่าการตลาดเฉลี่ยของประเทศได้ลดลงจากระดับ 1.1 บาท/ลิตร ลงมาอยู่ในระดับ 0.9 บาท/ลิตร
4. เมื่อเปรียบเทียบอัตราภาษีและราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินพิเศษและน้ำมันดีเซล หมุนเร็วของประเทศไทยกับต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ อังกฤษ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย สรุปได้ว่าระดับราคาขายปลีกและภาษีน้ำมันของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในระดับที่ สูงกว่าต่างประเทศ
5. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้พิจารณาร่วมกับเลขาธิการนายกรัฐมนตรีถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมัน ดีเซลที่มีราคาสูง และมีความเห็นว่าหากระดับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วยังอยู่ในระดับที่สูงเป็น เวลานาน ก็ควรที่จะมีการดำเนินการให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วมีราคาลดลง อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค โดยอาจใช้มาตรการในการดำเนินการ ดังนี้
5.1 เจรจากับผู้ค้าน้ำมันในประเทศเพื่อขอให้ลดค่าการตลาดเฉพาะน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลงเป็นการชั่วคราว
5.2 เร่งรัดให้มีการขยายสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของสหกรณ์เพื่อการเกษตร โดยการลดขั้นตอนของทางราชการและการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
5.3 ช่วยเหลือชาวประมง โดยลดค่าการตลาดและขอรับความช่วยเหลือจากองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
6. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539 อนุมัติในหลักการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวประมงในเรื่องปัญหาราคาน้ำมัน โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือ แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2539
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน-หินบุน
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป.ลาว ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและร่วมมือกันพัฒนาไฟฟ้าให้ได้ปริมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2543 เพื่อจำหน่ายให้กับประเทศไทย โดยมีคณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว (คปฟ-ล.) ทำหน้าที่ติดตามการดำเนินงานและประสานความร่วมมือกับ สปป.ลาว ให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว และต่อมาได้มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการไฟฟ้าน้ำเทิน-หินบุน (ประกอบด้วย รัฐบาล สปป.ลาว กลุ่ม NORDIC แห่งประเทศสวีเดน นอร์เวย์ และบริษัท MDX ประเทศไทย) ซึ่งเป็นโครงการที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 210 เมกะวัตต์
2. คปฟ-ล. ได้ดำเนินการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน-หินบุน กับกลุ่มผู้พัฒนาโครงการจนสามารถหาข้อยุติได้ ยกเว้นใน 2 ประเด็น ซึ่งเป็นเงื่อนไขก่อนลงนามสัญญา คือ เรื่องการรับรองว่ารัฐบาล สปป.ลาว จะไม่ปกป้องทรัพย์สินของกลุ่มผู้พัฒนาโครงการจากการบังคับคดี (Sovereign Immunity) และเรื่องการยอมรับบังคับคดีตามผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการ เนื่องจาก สปป.ลาว ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญากรุงนิวยอร์ค ว่าด้วยการยอมรับและบังคับตามคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ และเรื่องผู้มีอำนาจลงนามหนังสือรับรองดังกล่าว ซึ่งจะต้องลงนามโดยผู้มีอำนาจเต็มหรือลงนามโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจเต็ม แต่ต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากผู้มีอำนาจเต็มจึงจะมีผลบังคับตามกฎหมาย
3. ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2539 ได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) กฟผ. และกระทรวงการต่างประเทศเร่งพิจารณาหาข้อยุติในประเด็นเกี่ยวกับหนังสือ รับรองจาก สปป.ลาว ดังกล่าวโดยเร็ว ซึ่งต่อมาทั้งสามหน่วยงานได้ร่วมหารือและสามารถหาข้อยุติได้ โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศประสานงานกับเอกอัครราชฑูต สปป.ลาว ประจำประเทศไทย เพื่อเจรจาขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว ลงนามในหนังสือรับรองดังกล่าว และขอให้ สปป.ลาว ให้คำรับรองเรื่องการไม่ปกป้องทรัพย์สินของกลุ่มผู้พัฒนาโครงการในการบังคับ คดี ซึ่งขณะนี้ กฟผ. กำลังรอรับหนังสือรับรองฉบับใหม่ ที่ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ สปป.ลาว เป็นผู้ลงนาม
4. กฟผ. และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมเกี่ยวกับขั้นตอนการนำ เสนอขออนุมัติร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยกำหนดให้ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน-หินบุน จะมีผลใช้บังคับเป็นข้อผูกพันต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ กฟผ. สำนักงานอัยการสูงสุด และ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ แล้ว
5. ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน-หินบุน ระหว่าง กฟผ. กับกลุ่มผู้พัฒนาโครงการน้ำเทิน-หินบุน ครอบคลุมสาระสำคัญ ดังนี้
5.1 การพัฒนาโครงการและการเชื่อมโยงระบบ
(1) กลุ่มผู้พัฒนาโครงการเป็นผู้ออกแบบการก่อสร้างโครงการ (Project Facilities) และผลิตกระแสไฟฟ้าให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement -PPA), แบบอย่างการปฏิบัติ วิธีการ หรือข้อกำหนดทางด้านวิศวกรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับในด้านอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าของนานาชาติ (Prudent Utility Practice) และเงื่อนไขการปฏิบัติการผลิตไฟฟ้า (Grid Code) โดย กฟผ. มีสิทธิพิจารณาตรวจสอบและให้ความเห็นเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับ Project Facilities
(2) กลุ่มผู้พัฒนาโครงการ และ กฟผ. จะร่วมกันลงทุนก่อสร้างระบบเชื่อมโยง (Interconnection Facilities) ตามเงื่อนไขที่ กฟผ. กำหนด โดยที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะเป็นเจ้าของระบบเชื่อมโยง (Interconnection Facilities) ที่อยู่ในเขตประเทศของตน ทั้งนี้ กฟผ. จะต้องสร้างสายส่งต่อจากระบบสายส่งของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิมเพื่อรับกระแสไฟฟ้าจากโครงการ ให้แล้วเสร็จตามเงื่อนไขของสัญญา
5.2 การจัดหาและการรับซื้อไฟฟ้า
(1) กลุ่มผู้พัฒนาโครงการจะต้องเดินเครื่องตามคุณสมบัติการทำงานของหน่วยผลิต ไฟฟ้าที่กำหนดไว้ท้ายสัญญา (Contracted Operating Characteristics-COC)
(2) กลุ่มผู้พัฒนาโครงการจะต้องส่งกระแสไฟฟ้า ร้อยละ100 ของพลังงานที่ผลิตได้ที่จุดส่งมอบ (Net Available Output)
(3) กฟผ. จะต้องซื้อกระแสไฟฟ้าจากกลุ่มผู้พัฒนาโครงการ ในปริมาณร้อยละ 95 ของ พลังงานที่ผลิตได้ที่จุดส่งมอบ (Net Available Output)
5.3 การส่งมอบพลังงานไฟฟ้า
(1) คุณภาพของพลังงานไฟฟ้า จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน Grid Code และ เงื่อนไขตามสัญญาเกี่ยวกับคุณสมบัติในการทำงานของหน่วยผลิตไฟฟ้า (Contracted Operating Characteristics) โดยจะส่งมอบกันที่จุดส่งมอบที่พรมแดนไทย-ลาว
(2) กฟผ. จะต้องจ่ายเงินอย่างน้อย ร้อยละ 95 ของพลังงานที่ผลิตได้ที่จุดส่งมอบ (Net Available Output) แม้ว่า กฟผ. จะไม่สามารถรับพลังงานไฟฟ้าได้ เนื่องจากการขัดข้องของระบบของ กฟผ. เอง (Outage ในระบบ)
5.4 ราคารับซื้อไฟฟ้า
(1) ในกรณีที่ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้ง 2 เครื่อง รวมกำลังการผลิต 210 เมกะวัตต์ อัตราค่าพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 4.3 เซนต์สหรัฐฯต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (ราคาปี 2537)
(2) การปรับอัตราค่าไฟฟ้า
ปรับราคาขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2537 ถึงวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้า (Commercial Operation) แต่ไม่เกิน 1 มกราคม 2541
ปีที่ 2 ถึงปีที่ 10 หลังจากเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้า ปรับราคาขึ้นร้อยละ 1 ต่อปี
ในกรณีที่กลุ่มผู้พัฒนาโครงการซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. จะซื้อในอัตราเดียวกับประเภทกิจการขนาดใหญ่ในระดับแรงดันสูง
5.5 อายุของสัญญาและกำหนดวันเดินเครื่องเข้าระบบ
(1) สัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีอายุของสัญญา 25 ปี
(2) กำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้า (Scheduled Commercial Date) วันที่ 31 มีนาคม 2541
(3) กำหนดเส้นตายวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2543 (Commercial Operation Deadline)
5.6 กำหนดเวลาที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตาม
(1) กลุ่มผู้พัฒนาโครงการจะต้องจัดเตรียมเอกสารให้ กฟผ. ตามวันที่กำหนด
(2) มีกำหนดบทปรับเนื่องจากแล้วเสร็จช้ากว่ากำหนด
5.7 การทำผิดสัญญา
(1) คู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้หากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งกระทำผิดสัญญาดังต่อไปนี้
(1.1) กรณีที่ กฟผ. กระทำผิดสัญญาเนื่องจาก
ไม่จ่ายเงินภายในเวลาที่กำหนด
กฟผ. ถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
กฟผ. ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
(1.2) กรณีที่กลุ่มผู้พัฒนาโครงการกระทำผิดสัญญาเช่นเดียวกับ กฟผ. ตามข้อ (1.1) รวมทั้งกรณีต่อไปนี้
ไม่สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ก่อนกำหนดเส้นตายวันเริ่มต้นซื้อขาย ไฟฟ้า (Commercial Operation Deadline)
ไม่สามารถจัดหาหลักฐานการกู้เงินมาแสดงได้ภายใน 18 เดือนนับจากวันลงนามในสัญญา
กลุ่มผู้พัฒนาโครงการละทิ้งงานก่อสร้างหรือหยุดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เครื่องใดเครื่องหนึ่ง และมีผลกระทบต่อ กฟผ.
5.8 เหตุสุดวิสัย
(1) ไม่ว่ากรณีใดๆ กลุ่มผู้พัฒนาโครงการไม่สามารถอ้างเหตุสุดวิสัย เนื่องจากการกระทำของรัฐบาล สปป.ลาว เป็นสาเหตุในการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาได้
(2) กฟผ. ไม่สามารถบอกเลิกสัญญาเนื่องจากเหตุสุดวิสัยจากการกระทำของรัฐบาลไทยได้
5.9 การระงับข้อโต้แย้ง
(1) กรณีคู่สัญญาเกิดข้อโต้แย้งที่เกี่ยวกับด้านเทคนิคหรือการเงิน คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตัดสินข้อโต้แย้ง นั้น
(2) หากคู่สัญญาตกลงกันไม่ได้ในการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญจะต้องเสนอเรื่องเข้าสู่การตัดสินของอนุญาโตตุลาการ
(3) การพิจารณาข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการกระทำภายใต้กฎเกณฑ์ของ International Chamber Of Commerce (ICC)
(4) สถานที่ที่ใช้ในการตัดสินของอนุญาโตตุลาการให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้เลือกตามหลักเกณฑ์ของ ICC
5.10 ขอบเขตความรับผิดชอบของคู่สัญญา
(1) คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายไม่ต้องรับภาระในการชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
(2) คู่สัญญาไม่ต้องชดใช้ความเสียหายที่เป็นความเสียหายต่อเนื่อง (Consequential Damages) แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง
5.11 การเรียกเก็บเงินและชำระเงิน
(1) กรณีคู่สัญญาชำระเงินช้ากว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาจะต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา Default Rate
- ในส่วนของเงินสกุลดอลลาร์ อัตรา LIBOR + 2%
- ในส่วนของเงินสกุลบาท อัตรา MOR + 2%
(2) กลุ่มผู้พัฒนาโครงการต้องชำระภาษีที่เรียกเก็บใน สปป.ลาว รวมทั้งภาษีเงินได้ของกลุ่มผู้พัฒนาโครงการที่เรียกเก็บในประเทศไทย
5.12 การกำหนดบทปรับในเรื่องความพร้อมผลิตของเครื่อง
(1) กำหนดบทปรับหากความพร้อมผลิตของเครื่อง (Machine Availability) ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา
(2) กำหนดบทปรับเกี่ยวกับการตอบสนองการสั่งการเดินเครื่องของ กฟผ.
5.13 กฎหมายที่ใช้บังคับในการตีความสัญญาคือกฎหมายอังกฤษ
5.14 การปกป้องทรัพย์สินจากการบังคับคดี
คู่สัญญาตกลงที่จะสละสิทธิในการขอความคุ้มครองจากรัฐ ในการปกป้องทรัพย์สินของตน จากการบังคับคดีตามกฎหมาย หรือคำตัดสินของศาล เพียงเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย
6. กฟผ. จะลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน-หินบุน เมื่อได้รับหนังสือเรื่องการรับรองว่า รัฐบาล สปป.ลาว จะไม่ปกป้องทรัพย์สินของกลุ่มผู้พัฒนาโครงการจากการบังคับคดี (Sovereign Immunity) และเรื่องการบังคับคดีตามผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการ จนเป็นที่พอใจแล้ว
มติของที่ประชุม
1.อนุมัติร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน-หินบุน ดังรายละเอียดตามเอกสารประกอบวาระ 4.1.3 รวมทั้งมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน-หินบุน ที่ผ่านการพิจารณาแก้ไขจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว (ถ้ามี) ทั้งนี้ถ้าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ต้องแก้ไขดังกล่าว ไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้พัฒนาโครงการ และต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม ให้ กฟผ. สามารถลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ได้แก้ไขแล้วดังกล่าวได้ หากไม่มีการแก้ไขในสาระสำคัญ
2.กฟผ. จะลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน-หินบุน ต่อเมื่อได้รับหนังสือเรื่องการรับรองว่ารัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน ลาว (สปป.ลาว) จะไม่ปกป้องทรัพย์สินของกลุ่ม ผู้พัฒนาโครงการจากการบังคับคดี (Sovereign Immunity) และเรื่องการบังคับคดีตามผลการตัดสินของ อนุญาโตตุลาการจนเป็นที่พอใจแล้ว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรับที่จะไปประสานงานกับกระทรวงการ ต่างประเทศ สปป.ลาว เพื่อหาทางเร่งรัดให้มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว และหากยังเป็นประเด็นปัญหาอยู่จะได้นำไปปรึกษาหารือในโอกาสที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยือน สปป.ลาว ในเดือนมิถุนายน 2539 ต่อไป
เรื่องที่ 4 นโยบายการจัดเก็บเงินผลประโยชน์พิเศษจากโรงกลั่นน้ำมัน
สรุปสาระสำคัญ
1. ในอดีตรัฐบาลมีนโยบายจำกัดจำนวนและกำลังกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นน้ำมันใน ประเทศไทย ตลอดจนควบคุมปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปและราคาน้ำมันภายใน ประเทศ แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2533 รัฐบาลได้เปลี่ยนนโยบายให้โรงกลั่นน้ำมันมีกำลังการกลั่นมากกว่าความต้องการ และได้นำระบบ "ลอยตัวเต็มที่" มาใช้ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2534 เป็นต้นมา แต่เพื่อเป็นการคุ้มครองโรงกลั่นในประเทศที่เสียเปรียบโรงกลั่นสิงคโปร์ใน บางประการ คณะอนุกรรมการนโยบายปิโตรเลียมจึงได้กำหนดค่า Surcharge ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปที่นำเข้าเพื่อทดแทนความเสียเปรียบอันเนื่องมาจาก ข้อกำหนดที่ให้โรงกลั่นน้ำมันต้องสำรองน้ำมันดิบในระดับร้อยละ 5 ของกำลังกลั่น ในขณะเดียวกันได้มีการลงนามในสัญญาจัดสร้างและขยายโรงกลั่น 3 ฉบับ ระหว่างรัฐบาลกับบริษัท เชลล์ คาลเท็กซ์ฯ และเอสโซ่ฯ เมื่อปลายปี 2534 โดยสัญญาทั้ง 3 ฉบับ กำหนดให้โรงกลั่นต้องชำระผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแก่รัฐเท่ากับร้อยละ 2 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ ยกเว้นยางมะตอย ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกและผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
2. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537 เห็นชอบนโยบายการเพิ่มกำลังกลั่นปิโตรเลียมเพื่อให้การค้าน้ำมันเป็นไปอย่าง เสรี โดยกำหนดนโยบายเป็นการทั่วไป ให้มีการจัดตั้งโรงกลั่นปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น หรือสามารถขยายโรงกลั่นปิโตรเลียมที่มีอยู่เดิมได้ แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับสัญญาที่ทำไว้กับโรงกลั่นปิโตรเลียมเดิม โดยในการขออนุญาตจะต้องกำหนดเงื่อนไขและกติกาในสัญญาให้มีความเท่าเทียมกับ เงื่อนไขสัญญาของโรงกลั่นอื่นๆ ที่รัฐได้ทำสัญญาไปแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 ผู้รับอนุญาตตั้งโรงกลั่นต้องจ่ายเงินประจำปีในอัตราร้อยละ 2 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ผลิตและส่งออกจากโรงกลั่นปิโตรเลียม
2.2 ผู้รับอนุญาตจะต้องมอบเงินอุดหนุนจำนวนอย่างน้อย 350 ล้านบาท หรือจำนวน 2,500 บาทต่อกำลังการกลั่นน้ำมันดิบหนึ่งบาร์เรลต่อวันปฏิทิน (ฺBarrel Per Calendar Day) โดยให้ถือจำนวนเงินที่มากกว่าเป็นเกณฑ์
3. ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2538 กระทรวงการคลังได้เสนอเรื่อง การปรับโครงสร้างภาษีน้ำมัน เพื่อปรับอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินประเภทไร้สารตะกั่ว จำนวน 70 สตางค์/ลิตร และยกเลิก การเรียกเก็บเงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐจากโรงกลั่น เพื่อทำให้โครงสร้างภาษีน้ำมันมีความเหมาะสมและเพื่อปรับระบบการเรียกเก็บ เงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐจากโรงกลั่นให้สอดคล้องกับสภาพการแข่งขันเสรี ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้มีมติเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2538 มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ รับไปหารือร่วมกันและให้จัดทำข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติใน การประชุมครั้งต่อไป ซึ่งที่ประชุมสามารถสรุปประเด็นปัญหาของการจัดเก็บเงินผลประโยชน์ได้ดังนี้
3.1 การจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันยังไม่เสรีอย่างแท้จริง เนื่องจากรัฐได้กำหนดให้มีการจัดเก็บผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่ทำให้ผู้ลงทุน มีภาระเพิ่มขึ้นซึ่งไม่เป็นการสนับสนุนให้มีการขยายกำลังการกลั่นอย่างเสรี ทั้งนี้ การส่งเสริมให้มีการขยายกำลังการกลั่นอย่างแท้จริงสมควรที่จะให้มีการจัด เก็บภาษีอากรตามปกติเท่านั้น นอกจากนี้ระบบการจัดเก็บผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษจากโรงกลั่นน้ำมันตามเงื่อนไข ของสัญญาต่างๆ ที่มีอยู่ยังไม่อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากเป็นการจัดทำสัญญากับรัฐเป็นรายๆ ไป
3.2 ข้อยกเว้นทางด้านกฎหมายโดยเฉพาะพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เปิดช่องให้ผู้สนใจประกอบกิจการโรงกลั่นปิโตรเลียมในเขตประกอบการอุตสาหกรรม ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 อาจไม่ต้องยื่นขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมไม่สามารถบังคับให้ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ดังกล่าว ต้องจัดทำสัญญาจัดสร้างและประกอบการฯ กับกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะต้องมีเงื่อนไขที่เท่าเทียมกับสัญญาของโรงกลั่น อื่นๆ อันจะทำให้ผู้ประกอบการรายดังกล่าวไม่ต้องส่งผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษให้รัฐจน เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกัน
3.3 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537 เรื่องนโยบายการเพิ่มกำลังการกลั่นปิโตรเลียมได้กำหนดเงื่อนไขเป็นการทั่วไป สำหรับผู้ขออนุญาตตั้งโรงกลั่นใหม่เท่านั้น และมิได้กำหนดเงื่อนไขการขยายโรงกลั่นน้ำมันที่มีอยู่เดิม
4. คณะทำงานอันประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมสรรพสามิต (ผู้แทนกระทรวงการคลัง) และเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พร้อมทั้งรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (นายชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์) ได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว มีข้อเสนอให้ปรับปรุงกฎเกณฑ์สำหรับการจัดตั้งโรงกลั่นปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น รวมทั้งการขยายโรงกลั่นปิโตรเลียมเดิมให้ผู้สนใจประกอบกิจการสามารถเลือก ปฏิบัติได้ ดังนี้
4.1 การปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537 ทั้งในกรณีของการตั้งโรงกลั่นใหม่และการขยายโรงกลั่นเดิม โดยมีเงื่อนไขในการจ่ายเงินอุดหนุนอย่างน้อย 350 ล้านบาท รวมทั้งเงินประจำปีในอัตราร้อยละ 2 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ผลิตและส่งออกจากโรงกลั่นปิโตรเลียมโดย มีสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการส่งเสริมการลงทุน หรือ
4.2 การที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537 ทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินอุดหนุนอย่างน้อย 350 ล้านบาท รวมทั้งเงินประจำปีในอัตราร้อยละ 2 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ผลิตและส่งออกจากโรงกลั่นปิโตรเลียมโดยไม่ ได้รับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการส่งเสริมการลงทุน
มติของที่ประชุม
มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ รับไปดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม ตามข้อสังเกตของที่ประชุม และให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
เรื่องที่ 5 นโยบายการตั้งโรงงานผลิตยางมะตอย
สรุปสาระสำคัญ
1. บริษัท ไทยบิทูเมน จำกัด ได้มีหนังสือลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539 ถึง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์) ขอให้พิจารณาสนับสนุนการตั้งโรงงานยางมะตอยแข็ง (Asphalt Cement) เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก โดยมีสาระสำคัญของคำขอรับการสนับสนุนการตั้งโรงงานผลิตยางมะตอยแข็ง สรุปได้ดังนี้
1.1 บริษัท ไทยบิทูเมน จำกัด ได้ศึกษาที่จะตั้งโรงงานผลิตยางมะตอยแข็งขึ้นในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าและป้องกันการขาดแคลนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งเพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ ประชาชนให้ดีขึ้น โดยมีการคมนาคมติดต่อที่สะดวกด้วยถนนลาดยางทั่วประเทศ
1.2 โรงงานผลิตยางมะตอยแข็งจะผลิตยางแอสฟัลท์ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี โดยแยกเป็นยางมะตอยแข็งประมาณร้อยละ 70-80 และผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการกลั่นน้ำมันดิบที่เหลือ ประกอบด้วยน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาที่มีกำมะถันสูง ซึ่งจะขายต่อให้กับโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพ เพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป
1.3 โรงงานของบริษัทฯ เป็นโรงงานขนาดเล็กจึงขอยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษ โดยบริษัทฯ ขอเสนอเงื่อนไขการจัดตั้งโรงงานดังกล่าวเพิ่มเติม ดังนี้
(1) เมื่อผลิตแล้วบริษัทฯ จะส่งออกร้อยละ 20 ต่อผลผลิตต่อปี แต่รัฐบาลมีสิทธิที่จะไม่ให้ส่งออกได้ ถ้ายางมะตอยแข็งที่ใช้ภายในประเทศมีไม่เพียงพอ
(2) เพื่อให้คนไทยมีสิทธิในกิจการดังกล่าว บริษัทฯ จะกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ทันทีเมื่อเริ่มการผลิต
(3) โรงงานจะตั้งอยู่ในเขตพื้นที่การส่งเสริมการลงทุนเขตพื้นที่ 3 และขอให้รัฐบาลให้การส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทฯ ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุน
(4) ส่วนผลิตภัณฑ์พลอยได้ที่เป็นน้ำมัน บริษัทฯ ยินยอมจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่โรงกลั่นน้ำมันอื่นถือปฏิบัติอยู่ ตามประเภทของน้ำมันที่ผลิตได้ แต่ถ้าขายให้กับโรงกลั่นเพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพดังกล่าว ก็ไม่ควรจะต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ
(5) โรงงานจะผลิตยางมะตอยจากน้ำมันดิบที่ไม่สามารถใช้ผลิตน้ำมันชนิดเบาได้
2. การนำเข้ายางมะตอยในปี 2538 อยู่ในระดับ 0.317 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าการนำเข้าประมาณปีละ 1,076 ล้านบาท และคาดว่าสัดส่วนการนำเข้ายางมะตอยเพื่อรองรับกับความต้องการใช้ของประเทศจะ เพิ่มมากขึ้น การเพิ่มกำลังการผลิตยางมะตอยภายในประเทศ จะเป็นการลดสัดส่วนการนำเข้า และเป็นการเสริมความมั่นคงในการจัดหา รวมทั้งเพิ่มการแข่งขันในตลาดยางมะตอยอีกด้วย ดังนั้นในหลักการแล้ว รัฐจึงควรส่งเสริมให้การค้ายางมะตอยเป็นไปอย่างเสรี
3. เนื่องจากในปัจจุบันรัฐยังไม่มีกฎเกณฑ์และเงื่อนไขในการเพิ่มกำลังการผลิต ยางมะตอยที่ชัดเจน ดังนั้นจึงเห็นควรกำหนดกฎเกณฑ์และเงื่อนไข เกี่ยวกับการเก็บเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ โดยอิงจากกฎเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2539 เรื่อง ร่างสัญญาจัดสร้างและประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน เนื่องจากการผลิตยางมะตอย มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมขั้นต้นและขั้นกลาง ของอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ที่ใช้น้ำมันดิบที่กลั่นแล้ว และ/หรือน้ำมันดิบหนักเป็นวัตถุดิบในการผลิตซึ่งผลผลิตหลักที่ได้ร้อยละ 80 เป็นยางมะตอยที่ไม่ใช่เชื้อเพลิง ส่วนผลพลอยได้ที่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอันได้แก่ น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ยังมีคุณภาพไม่เป็นไปตามข้อกำหนด จึงไม่สามารถนำออกจำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ได้โดยตรง จำเป็นต้องถูกจำหน่ายกลับให้โรงกลั่นปิโตรเลียมก่อนซึ่งจะทำให้การผลิตยาง มะตอยดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับการผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานของบริษัท ไทยลู้บเบส จำกัด ซึ่งได้รับการยกเว้นเงินประจำปีร้อยละ 2 และเงินอุดหนุนจำนวนอย่างน้อย 350 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้มีการกำหนดนโยบายให้เป็นการทั่วไปให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิต ยางมะตอย โดยให้โรงงานผลิตยางมะตอยต้องชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทนในรูปของเงินประจำปี ร้อยละ 2 ของมูลค่า ผลพลอยได้ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงที่มีการจำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ในประเทศโดยตรง (ไม่รวมกรณีที่จำหน่ายกลับให้โรงกลั่นปิโตรเลียมเพื่อนำไปผสมเป็นผลิตภัณฑ์ น้ำมันหรือนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรือส่วนที่ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ) โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปดำเนินการเจรจากับบริษัท ไทยบิทูเมน จำกัด เพื่อจัดทำร่างสัญญาจัดสร้างและประกอบกิจการโรงงานผลิตยางมะตอยต่อไป
เรื่องที่ 6 แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 8 ปีงบประมาณ 2539-2544 ของการไฟฟ้านครหลวง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2537 เห็นชอบการปรับปรุงแผนการลงทุนของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า (ปัญหาไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับ) โดยได้มอบหมายให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จัดทำแผนกำลังการผลิตไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้จัดทำแผนดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ปรับปรุงแผนการลงทุนให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงยิ่งขึ้น และจัดทำเป้าหมายจำนวนไฟฟ้าดับในระยะยาว โดยแบ่งเป็นพื้นที่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม เขตเมืองและย่านธุรกิจ และเขตชนบท เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนการลงทุนในระยะยาวต่อไป
2. กฟน. ได้จัดทำแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 8 (ปีงบประมาณ 2539-2544) ขึ้น เพื่อรองรับความต้องการพลังไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยมุ่งเน้นถึงคุณภาพในการจ่ายกระแสไฟฟ้า ลดปัญหาแรงดันตก ไฟกระพริบ เพื่อเพิ่มความมั่นคงและความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีโครงการจ่ายกระแสไฟฟ้าด้วยระบบสายป้อนใต้ดินเพิ่ม ขึ้น เพื่อช่วยปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน โดยการจ้างเหมางานมากขึ้น รวมทั้งว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อนำวิชาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการปรับปรุงการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น แผนปรับปรุงฯ ของ กฟน. ดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง และ กฟน. ได้รายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบด้วยแล้ว
3. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กฟน. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้ร่วมพิจารณาแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 8 ตามที่ กฟน. เสนอ และเห็นควรให้ กฟน. ปรับปรุงแผนดังกล่าว โดยให้ใช้ราคาซื้อและราคาขายไฟฟ้าคงที่ทั้งสองค่าตลอดช่วงเวลาของแผนฯ และใช้ข้อสมมุติต่างๆ ตามที่การไฟฟ้าใช้กันอยู่ เช่น ค่าอัตราการเพิ่มของราคา (Escalation Factor) เป็นต้น นอกจากนี้ ให้กำหนดรายละเอียดในเรื่องเป้าหมายไฟฟ้าดับให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่ง กฟน. ได้ปรับปรุงแผนการลงทุนดังกล่าวตามความเห็นของที่ประชุมแล้ว ปรากฏว่า วงเงินลงทุนสูงขึ้นประมาณ 900 ล้านบาท คือ จากวงเงิน 56,120.58 ล้านบาท เป็น 57,029.44 ล้านบาท
4. แผนการปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ของ กฟน. ประกอบด้วย 7 แผนงาน คือ
(1) แผนงานระบบสถานีต้นทางและสถานีย่อย
(2) แผนงานระบบสายส่งพลังไฟฟ้า
(3) แผนงานระบบจำหน่าย
(4) แผนงานประสานงานสาธารณูปโภค
(5) แผนงานจ่ายกระแสไฟฟ้าด้วยระบบสายป้อนใต้ดิน
(6) แผนงานเปลี่ยนแรงดันสายป้อนจาก 12 เควี เป็น 24 เควี
(7) แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารและการบริการ
5. กฟน. จะให้เอกชนเข้าร่วมงานในลักษณะจ้างเหมา โดยเฉพาะการก่อสร้างสถานีต้นทางและสถานีย่อยใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ (Turnkey) ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
6. ในส่วนของฐานะการเงิน หากพิจารณาความเพียงพอของรายได้ในการขยายการลงทุนแล้ว ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะรับได้
7. เนื่องจากแผนการลงทุนของ กฟน. ดังกล่าว มีนโยบายที่จะก่อสร้างระบบสายป้อนใต้ดินมากขึ้น จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งพาดสายร่วมกับสายไฟฟ้าของ กฟน. ให้ดำเนินการรื้อถอนสายและเสาออก ตามแผนการสับเปลี่ยนจากสายป้อนอากาศเป็นสายป้อนใต้ดินของ กฟน. ด้วย
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 8 ปีงบประมาณ 2539-2544 ตามชุดใหม่ที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เสนอ เพื่อใช้เป็นกรอบในการลงทุนทางด้านการขยายระบบจำหน่ายของ กฟน. โดยมีเงินลงทุนในช่วงแผนฯ 8 ดังนี้
งบประมาณลงทุนของแผนฯ ฉบับที่ 8
ปี 2540 | ปี 2541 | ปี 2542 | ปี 2543 | ปี 2544 | รวม | |
เงินตราต่างประเทศ | 1,907 | 2,777 | 4,075 | 9,085 | 5,625 | 23,472 |
เงินตราในประเทศ | 3,674 | 5,058 | 7,609 | 9,243 | 6,389 | 31,974 |
ดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้าง | 133 | 271 | 388 | 447 | 344 | 1,584 |
งบประมาณรวม | 5,716 | 8,106 | 12,073 | 18,776 | 12,358 | 57,029 |
2.ให้ กฟน. ยึดถือแผนงานทั้ง 7 แผน รวมทั้งเป้าหมายความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า เป็นเป้าหมายในการปฏิบัติงานและประเมินผลงานของ กฟน.
3.ให้ กฟน. จัดทำรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนการลงทุนทางด้านการขยายระบบ จำหน่ายของ กฟน. รายงานการประเมินฐานะการเงินและรายงานการประเมินผลความเชื่อถือได้ของระบบ ไฟฟ้า ให้ สพช. ทราบเป็นรายปี หรือตามที่ สพช. เห็นควรให้รายงานตามความเหมาะสม
4.เห็นชอบในหลักการให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทย และธุรกิจเอกชนที่ร่วมกับองค์การฯ ดังกล่าว ที่พาดสายร่วมกับสายไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงพิจารณาดำเนินการในส่วนที่ เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องตามแผนการดำเนินงานสับเปลี่ยนจากสายป้อนอากาศเป็นสายป้อน ใต้ดินของ กฟน
5.มอบหมายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพิจารณาหลักเกณฑ์ในการคิดค่าสมทบไฟฟ้าแรง สูงให้สอดคล้องกับนโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และให้นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งต่อไป
6.ให้มีการติดตามและเร่งรัดการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่าย ผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ไขผลกระทบเนื่องจากกำลังผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพออย่างเร่งด่วน และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาต่อไป
กพช. ครั้งที่ 55 - วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2539
มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 1/2539 (ครั้งที่ 55)
วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
1.ความคืบหน้าในการเจรจาซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
2.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
3.การดำเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
4.การจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
5.แนวทางในการปรับโครงสร้างและการแปรรูปกิจการไฟฟ้าของประเทศ
6.แนวทางการควบคุมไอระเหยของน้ำมันเบนซิน และการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง
นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
ในช่วงที่ผ่านมาราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลได้สูงขึ้นมาก ประธานฯ จึงได้สอบถามเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งเลขาธิการฯ ได้ชี้แจงว่าการปรับตัวของราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลภายในประเทศเป็นผลมา จากราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น ทั้งนี้ เพราะฤดูหนาวในปีนี้อากาศหนาวเย็นมาก จึงทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในช่วงกลางเดือน มกราคมราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกเริ่มอ่อนตัวลง แต่หลังจากนั้นราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม เมื่ออากาศเริ่มอุ่นขึ้นคาดว่าราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกจะลดลง อันจะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศมีแนวโน้มลดลงด้วย
ประธานฯ ได้แสดงความยินดีกับคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่สามารถผลักดันให้นโยบายการลดช่องว่างระหว่างราคาขายปลีกน้ำมันในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดประสบผลสำเร็จ และหวังว่าในอนาคตนโยบายน้ำมันราคาเดียวทั่วประเทศจะสามารถดำเนินการได้ผลดี มากขึ้น
เรื่องที่ 1 ความคืบหน้าในการเจรจาซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทย และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่อง ความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 ณ กรุงเวียงจันทน์ โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและร่วมมือกันพัฒนาไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2545 เพื่อจำหน่ายให้กับประเทศไทย ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว (คปฟ.-ล) ประกอบด้วย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นประธาน และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ อธิบดีกรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ รองอธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน และผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และรัฐบาล สปป. ลาว ได้แต่งตั้ง Committee for Energy and Electric Power (CEEP) เพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาโครงการดังกล่าว เช่นกัน
2. ความคืบหน้าของการเจรจาซื้อไฟฟ้า สปป. ลาว มีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาเพื่อผลิตและขายไฟฟ้าให้แก่การ ไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งสิ้น 11 โครงการ รวมกำลังการผลิตประมาณ 4,300 เมกะวัตต์ ปัจจุบันการเจรจาซื้อขายไฟฟ้ามีโครงการที่สามารถตกลงอัตราค่าไฟฟ้าและอยู่ ระหว่างการเจรจาจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 4 โครงการ โครงการที่ได้เสนออัตราค่าไฟฟ้าแล้ว 4 โครงการ และโครงการที่อยู่ระหว่างเสนอผลการศึกษา 3 โครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 โครงการที่ตกลงอัตราค่าไฟฟ้าแล้ว
2.1.1 โครงการน้ำเทิน-หินบุน มีกำลังผลิตติดตั้ง 210 เมกะวัตต์ กำหนดจะแล้วเสร็จปี 2541 ได้มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. กับกลุ่มผู้พัฒนาโครงการไฟฟ้า (ประกอบด้วยรัฐบาล สปป. ลาว กลุ่ม NORDIC แห่งประเทศสวีเดน/นอร์เวย์ และบริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)/ประเทศไทย) โดย กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 4.30 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่ง คปฟ.-ล และกลุ่มผู้ลงทุนได้ตกลงรายละเอียดของร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement-PPA) แล้ว และตกลงกันว่าทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการเสนอขออนุมัติตามขั้นตอนของทั้ง 2 ฝ่ายต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ทางฝ่ายไทยต้องการการยืนยันจากรัฐบาลลาว 2 ประเด็น คือ
(1) หนังสือยืนยันจากรัฐบาลลาวว่ารัฐบาลลาวจะยกเว้น Sovereign Immunity ให้แก่ผู้พัฒนาโครงการ
(2) เรื่องการยอมรับผลการตัดสินของ Arbitrators ซึ่งฝ่ายลาวได้ออกหนังสือยอมรับผลการตัดสินของ Arbitrators ลงนามโดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ฝ่ายไทยไม่แน่ใจว่ารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการออก หนังสือดังกล่าวได้หรือไม่ จึงขอหนังสือซึ่งลงนามโดยนายกรัฐมนตรี เพื่อมอบอำนาจให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงนามในหนังสือยอมรับผลการตัดสินของ Arbitrators ดังกล่าว
2.1.2 โครงการน้ำเทิน 2 มีกำลังผลิตติดตั้ง 681 เมกะวัตต์ กำหนดจะแล้วเสร็จปี 2543 ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการ (ประกอบด้วยรัฐบาล สปป. ลาว บริษัท Transfield/ออสเตรเลีย การไฟฟ้าฝรั่งเศส และกลุ่มบริษัทอิตาเลียน-ไทย/จัสมิน/ภัทรธนกิจ) โดย กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 4.55 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง คปฟ.-ล และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการ คาดว่าจะหาข้อยุติได้ประมาณเดือนมีนาคม 2539
2.1.3 โครงการห้วยเฮาะ มีกำลังผลิตจ่ายกระแสไฟฟ้า ณ จุดส่งมอบ 126 เมกะวัตต์ กำหนดจะแล้วเสร็จปี 2541 ได้มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการ (ประกอบด้วย รัฐบาล สปป. ลาว บริษัท แดวูแห่งประเทศไทย จำกัด/เกาหลีใต้ และบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)/ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2539 โดย กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 4.22 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
2.1.4 โครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา มีกำลังผลิตติดตั้ง 720 เมกะวัตต์ กำหนดจะแล้วเสร็จปี 2543 โดยมีบริษัท ไทยลาวลิกไนท์ จำกัด เป็นผู้พัฒนาโครงการ ขณะนี้ กฟผ. ได้เจรจากับกลุ่มผู้พัฒนาโครงการแล้ว เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2539 และสามารถตกลงราคาไฟฟ้าที่จะรับซื้อได้ ดังนี้
ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้า ขนาด 600 เมกะวัตต์ กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดโครงการในช่วงเวลา 25 ปี (Levelized) ที่อัตรา 5.70 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
ระยะที่ 2 เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าขนาด 600 เมกะวัตต์ กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดโครงการในช่วงเวลา 25 ปี (Levelized) ที่อัตรา 5.60 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งถ้าคิด 2 โครงการรวมกัน 1,200 เมกะวัตต์ จะได้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 5.65 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
2.2 โครงการอื่นๆ
2.2.1 โครงการน้ำงึม 2 มีกำลังผลิตติดตั้ง 465 เมกะวัตต์ กลุ่มผู้พัฒนาโครงการประกอบด้วย Shlapak Development Company, Bilfinger & Berger, J.M. Voith GmbH, Noell GmbH, Siemens AG, บริษัท ช. การช่าง จำกัด, และบริษัทศรีอู่ทอง จำกัด ขณะนี้กลุ่มผู้พัฒนาโครงการได้เสนออัตราค่าไฟฟ้าเท่ากับ 5.47 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มได้ร้อยละ 3 ต่อปี (อยู่ระหว่างก่อสร้าง) นับจากวันเดินเครื่องจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ ร้อยละ 1.75
2.2.2 โครงการน้ำงึม 3 มีกำลังผลิตติดตั้ง 400 เมกะวัตต์ กลุ่มผู้พัฒนาโครงการประกอบด้วย รัฐบาล สปป. ลาว และบริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)/ประเทศไทย ขณะนี้กลุ่มผู้พัฒนาโครงการเสนออัตราค่าไฟฟ้า (ปี 2537) เท่ากับ 4.51 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มได้ร้อยละ 3 ต่อปีจนถึงวันเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า นับจากวันเดินเครื่องจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 ต่อปีของอัตราการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐและไทย ในสัดส่วนที่เท่ากัน
2.2.3 โครงการเซคามาน 1 มีกำลังผลิตติดตั้ง 468 เมกะวัตต์ กลุ่มผู้พัฒนาโครงการ ประกอบด้วย รัฐบาล สปป. ลาว บริษัท Hydro Electric Commission Enterprises Corporation/ออสเตรเลีย และบริษัทศรีอู่ทอง จำกัด ขณะนี้กลุ่มผู้พัฒนาโครงการได้เสนออัตราค่าไฟฟ้า (ปี 2537) เท่ากับ 4.99 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มได้ร้อยละ 3 ต่อปี (อยู่ระหว่างก่อสร้าง) นับจากวันเดินเครื่องจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ ร้อยละ 1.5 ต่อปี
2.2.4 โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย กำลังผลิตติดตั้ง 395 เมกะวัตต์ หรือ 465 เมกะวัตต์ กลุ่มผู้พัฒนาโครงการประกอบด้วย รัฐบาล สปป. ลาว Dong Ah Construction Industrial Company/เกาหลีใต้ และ Electrowatt Engineering Services Ltd./สวิสเซอร์แลนด์ ขณะนี้กลุ่มผู้พัฒนาโครงการได้เสนออัตราค่าไฟฟ้าโดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 กำลังผลิตติดตั้ง 395 เมกะวัตต์ อัตราค่าไฟฟ้า Firm Energy เท่ากับ 5.02 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และอัตราค่าไฟฟ้า Secondary Energy เท่ากับ 2.27 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มได้ร้อยละ 3 ต่อปี (อยู่ระหว่างก่อสร้าง) แต่ไม่เกิน 6 ปี นับจากวันเดินเครื่องจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มได้ร้อยละ 1 ต่อปี
กรณีที่ 2 กำลังผลิตติดตั้ง 465 เมกะวัตต์ อัตราค่าไฟฟ้า Firm Energy เท่ากับ 5.21 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และอัตราค่าไฟฟ้า Secondary Energy เท่ากับ 2.27 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มได้ร้อยละ 3 ต่อปี (อยู่ระหว่างก่อสร้าง) แต่ไม่เกิน 6 ปี นับจากวันเดินเครื่องจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้ปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มได้ร้อยละ 1 ต่อปี
2.2.5 โครงการน้ำเทิน 3 มีกำลังผลิตติดตั้ง 190 เมกะวัตต์ โดยมีบริษัท Heard Energy Corporation/สหรัฐอเมริกา เป็นผู้พัฒนาโครงการ ขณะนี้ผู้พัฒนาโครงการได้ศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จ
2.2.6 โครงการน้ำเทิน 1 มีกำลังผลิตติดตั้ง 540 เมกะวัตต์ กลุ่มผู้พัฒนาโครงการ ประกอบด้วย รัฐบาล สปป. ลาว และบริษัทสยามสหบริการ จำกัด (SUSCO) ขณะนี้กลุ่มผู้พัฒนาโครงการได้เสนอรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2538 และจะเสนออัตราค่าไฟฟ้าให้พิจารณาเร็วๆ นี้
2.2.7 โครงการน้ำเลิก กำลังผลิตติดตั้ง 60 เมกะวัตต์ กลุ่มผู้พัฒนาโครงการ ประกอบด้วย บริษัทไฟฟ้าลาว SIDA/สวีเดน OECF/ญี่ปุ่น ขณะนี้บริษัทไฟฟ้าลาว ได้เสนอรายงานการศึกษามาให้ กฟผ. พิจารณาแล้ว
มติของที่ประชุม
1.ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าในการเจรจาซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว
2.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงการ"ต่างประเทศ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย" เร่งพิจารณาหาข้อยุติเรื่องการยอมรับผลการตัดสิน Arbitrators ที่ยังเป็นประเด็นต้องการการยืนยันจากรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อจะได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการน้ำเทิน-หินบุน โดยเร็วต่อไป
เรื่องที่ 2 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. นับตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2538 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันดิบได้ทยอยปรับราคาขึ้นโดยเฉลี่ย 2 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ทำให้ราคาน้ำมันดิบในเดือน มกราคมอยู่ในระดับ 16.5-20.5 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ตามชนิดของน้ำมันดิบ สาเหตุที่ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากฤดูหนาวของปีนี้อากาศหนาวเย็นมาก และปริมาณสำรองน้ำมันดิบของโรงกลั่นมีระดับต่ำ ทำให้ความต้องการน้ำมันดิบเพื่อกลั่น น้ำมันและเพื่อสร้างความอบอุ่นเพิ่มขึ้น ในขณะที่การผลิตน้ำมันดิบไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้เต็มที่เพราะอากาศที่หนาว จัด นอกจากนี้ ข่าวที่อิรัคยังคงยืนกรานที่จะไม่ส่งออกน้ำมันภายใต้เงื่อนไขของสหประชาชาติ มีผลทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากกลางเดือน มกราคมเป็นต้นมา ราคาน้ำมันดิบ ได้เริ่มอ่อนตัวลง
2. ราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา ได้สูงขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณการผลิตต้องถูกจำกัด เพราะโรงกลั่นน้ำมัน 4 แห่ง ในย่านเอเซียต้องปิดลงคือ โรงกลั่นในอินโดนีเซียเกิดฟ้าผ่า โรงกลั่นในอินเดีย 2 แห่ง เกิดอุบัติเหตุ และโรงกลั่นในสิงคโปร์เกิดไฟไหม้ มีผลให้ราคาน้ำมันก๊าดสูงขึ้น 8 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ทำให้ราคาอยู่ในระดับ 30.96 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้นประมาณ 5 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ทำให้ราคาอยู่ในระดับ 25.36 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ราคาน้ำมันเตาสูงขึ้นประมาณ 4 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ทำให้ราคาอยู่ในระดับ 18.09 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซินได้ลดลง เนื่องจากมีความต้องการใช้น้อยลงในช่วงฤดูหนาว ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินพิเศษอยู่ในระดับ 21.88 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และราคาน้ำมันเบนซินธรรมดาอยู่ในระดับ 19.86 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล
3. การเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกน้ำมันเขื้อเพลิงในประเทศจะสอดคล้องกับการเปลี่ยน แปลง ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น และจะปรับตัวตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันในตลาดจรสิงคโปร์ประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดจรสิงคโปร์ และนับตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นมา ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยราคาน้ำมันเบนซินได้ทยอยปรับตัวลงตามราคาในตลาดจรสิงคโปร์ส่วนราคาขาย ปลีกน้ำมันดีเซลได้เพิ่มสูงขึ้น ตามราคาในตลาดโลกที่ได้ปรับตัวขึ้น แต่ต่อมาราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลได้ปรับตัวลดลงในช่วงปลายเดือนมกราคม และต้นเดือนกุมภาพันธ์ รวม 15 สตางค์/ลิตร ตามราคาในตลาดจรสิงคโปร์ซึ่งเริ่มอ่อนตัวลงในช่วงกลางเดือน มกราคม
4. แนวโน้มของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคต ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มทรงตัวและจะอ่อนตัวลงเป็นลำดับตามอากาศสภาพที่อบอุ่นขึ้น
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 การดำเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. หน่วยงานต่างๆ ได้รายงานผลการดำเนินการตามมาตรการการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยสรุป ดังนี้
1.1 กรมสรรพสามิต ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องมือวัดพร้อมอุปกรณ์ควบคุมปริมาณรับ-จ่ายน้ำมัน ของคลังน้ำมันบริษัท คอสโมออยล์ จำกัด จังหวัดระยองเสร็จแล้ว ส่วนคลังของบริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จำกัด จังหวัดตรัง คาดว่าการติดตั้งจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2539 นี้ และคลังทั้งหมดจะติดตั้งเครื่องมือดังกล่าวแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2539 นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตทุกจังหวัดออกตรวจสอบสถานีบริการ จำหน่ายน้ำมัน โดยเฉพาะกรณีที่มีการจำหน่ายน้ำมันในราคาต่ำกว่าปกติ
1.2 กรมสรรพากร ได้ดำเนินการตรวจสอบภาษีเงินได้ของผู้เช่าและผู้ให้เช่าเรือประมงดัดแปลงที่ ลักลอบนำน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งถูกจับกุมได้ จำนวนทั้งสิ้น 15 ราย และได้ประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้ว จำนวน 4 ราย อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบภาษีเงินได้จำนวน 11 ราย นอกจากนี้ได้เข้าตรวจคลังน้ำมันที่กรมสรรพสามิตไม่มีอำนาจติดตั้งมิเตอร์ ปรากฎว่า มีผู้ให้ความร่วมมือขอให้ทางกรมสรรพสามิตเข้าไปติดมิเตอร์ จำนวน 2 คลัง ส่วนคลังน้ำมันที่เหลือยังไม่ให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรจะได้พิจารณาวิธีตรวจการปฏิบัติของสถานีบริการและคลังน้ำมันที่มี พฤติการณ์น่าสงสัย โดยใช้ใบกำกับภาษีซื้อและใบกำกับการขนส่งน้ำมันที่ไม่ได้ใช้ระบบภาษีมูลค่า เพิ่ม เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าสถานีบริการน้ำมันเหล่านี้รับน้ำมันมาจากคลังน้ำมัน ใดบ้าง แล้วจึงเข้าตรวจคลังน้ำมันนั้นต่อไป
1.3 กรมตำรวจ ได้จัดให้มีการประชุมชี้แจงและกำกับการปฏิบัติการของกองกำกับการต่างๆ" ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี กรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี" รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากศูนย์ป้องกันและปราบปรามการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดย มิชอบด้วยกฎหมาย (ศปน.) เพื่อให้มีการจัดเรือตรวจการณ์เฝ้า ณ จุดต่างๆ เช่น ปากน้ำประแสร์ และบางปะกง ปากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และบริเวณหน้าคลังต่างๆ และแจ้งให้กองกำกับการต่าง ๆ ให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่จาก ศปน. ด้วย นอกจากนี้"ได้เข้าร่วมประชุมหารือและดูงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรม (นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์) และรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการคลัง (นายประภัทร โพธิสุธน) ในการปราบปรามน้ำมันลักลอบ การดำเนินการปราบปรามได้เข้าตรวจสอบคลังน้ำมัน รวม 15 แห่ง ซึ่งไม่พบการกระทำความผิดแต่ได้มีการจับกุมผู้กระทำผิดในการลักลอบนำเข้า น้ำมันเชื้อเพลิง รวม 7 ราย
1.4 กองทัพเรือ การดำเนินการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ทหารเรือปรากฎว่า ในช่วงวันที่ 27 ธันวาคม 2538 - 8 กุมภาพันธ์ 2539 ไม่พบเรือที่มีพฤติกรรมลักลอบนำน้ำมันเข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ผ่านพิธีศุลกากรแต่อย่างใด
1.5 กรมทะเบียนการค้า" ได้หารือเป็นการภายในกับผู้ค้าน้ำมันและผู้ตรวจวัดอิสระที่ประกอบการอยู่ใน ประเทศไทยเกี่ยวกับขอบเขตการตรวจสอบ และหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ตรวจวัดอิสระ โดยทางผู้ค้าน้ำมันยินดีให้ความร่วมมือกับทางราชการอย่างเต็มที่ และเชื่อว่าหากกำหนดระเบียบบังคับนี้ ขึ้นมา ทางด้านผู้ตรวจวัดอิสระมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะดำเนินการตรวจสอบให้ผู้ ค้าน้ำมันได้
2. การกำหนดมาตรการเพิ่มเติมและศูนย์ประสานงาน
2.1 ปัจจุบันได้มีการลักลอบนำผลิตภัณฑ์เคมีปิโตรเลียมที่ได้รับการยกเว้นภาษี สรรพสามิตตามประกาศกระทรวงการคลัง เช่น แนฟทา และ NGL (Natural Gas Liguid) ออกจำหน่ายโดยผสมกับน้ำมันเบนซินที่จำหน่ายตามสถานีบริการต่างๆ โดยในปีงบประมาณ 2538 สามารถตรวจพบ จำนวน 77 ตัวอย่าง
2.2 คณะรัฐมนตรีในการประชุม เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2539 ได้มีมติอนุมัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 6/2538 (ครั้งที่ 54) มอบหมายให้ สพช. รับไปพิจารณาจัดตั้งองค์กรกลางในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อ เพลิง เพื่อให้เกิดเอกภาพในการดำเนินงาน โดยให้พิจารณากำหนดรูปแบบและขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรดังกล่าว สพช. ได้ดำเนินการหารือร่วมกับกองทัพเรือ กรมศุลกากร กรมตำรวจ กรมสรรพสามิต และสำนักงบประมาณ โดยได้ข้อสรุป คือ
ปัญหาด้านความพร้อมของการปราบปรามทางทะเล ไม่มีหน่วยงานใดเป็นศูนย์รวมการประสานข้อมูลและการปฏิบัติการในทะเล จึงทำให้เรือลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถขนน้ำมันลักลอบเข้าสู่ฝั่ง ได้โดยไม่มีหน่วยงานใดทราบ
ปัญหาด้านการประสานงานของหน่วยงานต่างๆ ขาดการประสานข้อมูลและข่าว ขาดการอำนวยการให้มีการรับช่วงงานหรือช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างหน่วย งาน
ปัญหางบประมาณไม่เพียงพอในการปฏิบัติงาน
ปัญหาขาดการประชาสัมพันธ์ที่เพียงพอ
2.3 สพช. ได้เสนอแนวทางการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมและการกำหนดศูนย์ประสานงาน ดังนี้
(1) ข้อเสนอการกำหนดมาตรการเพิ่มเติม
(1.1) มอบหมายให้กรมสรรพสามิตรับไปพิจารณาปรับปรุงแนวทางการควบคุมการนำผลิตภัณฑ์ เคมีปิโตรเลียมที่ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตที่ออกจากโรงอุตสาหกรรมให้ รัดกุมยิ่งขึ้น
(1.2) มอบหมายให้ สพช. และกรมสรรพสามิต รับไปพิจารณากำหนดให้มีการเติมสาร Marker ในผลิตภัณฑ์เคมีปิโตรเลียมที่ได้รับการยกเว้นภาษีในระยะต่อไป
(2) ข้อเสนอการกำหนดศูนย์ประสานงาน
(2.1) มอบหมายให้กองทัพเรือเป็นศูนย์กลางในการจัดทำแผนงานปราบปรามควบคุม ประสานการปฏิบัติงานกับกรมศุลกากรและกรมตำรวจ ในการปราบปรามทางทะเลให้เป็นเอกภาพ รวมทั้งเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลข่าวสารในการปราบปรามทางทะเล ประเมินผลการปฏิบัติงานตลอดจนปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะการปฏิบัติงานใน พื้นที่ทางทะเลจนถึงชายฝั่ง ทั้งนี้ ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวก เพื่อประสานการปฏิบัติงานแก่กองทัพเรือโดยตรง
(2.2) ให้ สพช. ทำหน้าที่ศูนย์รวมการประสานงาน ทั้งหน่วยปราบปรามทางบกและทางทะเล โดยจัดให้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานตามความเหมาะ สมเพื่อประโยชน์ ดังนี้
ประสานข้อมูลข่าวสารระหว่างหน่วยงานปราบปรามและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีการแลกเปลี่ยน และนำส่งข้อมูลกันโดยตรง รวมทั้งประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรค รวบรวมข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
อำนวยการให้มีการกำหนดแผนงานการปราบปรามของหน่วยงานปราบปรามทาง ทะเลและบนบกให้สอดคล้องกัน และอำนวยการให้มีการรับช่วงงานระหว่างหน่วยจับกุมและหน่วยที่จะดำเนินคดี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และสามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย รวมทั้ง กำจัดเรือที่ใช้เป็นพาหนะในการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้หมดไป
ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงาน รวมทั้ง เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงาน การปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงของทุกหน่วยงานให้เป็นเอกภาพ เดียวกัน
(2.3) ให้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ../2539 เรื่อง การกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ .... พ.ศ. 2539 เพื่อให้สามารถนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้ในการสนับสนุนการดำเนินการ ของหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ต่อไป ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้ สพช. และกรมบัญชีกลางรับไปดำเนินการในรายละเอียด
มติของที่ประชุม
1.รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงของหน่วยงานต่างๆ
2.เห็นชอบข้อเสนอกำหนดมาตรการเพิ่มเติม ข้อ 2.3 (1)
3.เห็นชอบข้อเสนอการให้กำหนดศูนย์ประสานงาน ข้อ 2.3 (2)
เรื่องที่ 4 การจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
สรุปสาระสำคัญ
1. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้ขอซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในเบื้องต้น จำนวน 3 จุด ในบริเวณพื้นที่ต่อไปนี้
(1) เชียงของ-ห้วยทราย ประมาณ 5 เมกะวัตต์
(2) เชียงแสน-ต้นผึ้ง ประมาณ 2 เมกะวัตต์
(3) ท่าลี่-แก่นท้าว ประมาณ 2 เมกะวัตต์
2. กฟภ. ได้ชี้แจงให้คณะกรรมการประสานงานของบริษัทไฟฟ้าลาว สปป.ลาว ทราบว่า กฟภ. จะจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในราคามิตรภาพ เป็นราคาเดียวกับที่จำหน่ายให้สหภาพพม่าที่เมืองท่าขี้เหล็ก คือ ในระดับแรงดัน 11-33 KV ค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) 210 บาท/กิโลวัตต์ และค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Charge) 1.07 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง
3. สปป.ลาว ต้องการซื้อไฟฟ้า โดยมีอัตราค่าไฟฟ้าเป็นแบบ Flat Rate คือคิดเฉพาะค่าพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว เนื่องจากอัตราค่าไฟฟ้าที่บริษัทไฟฟ้าลาว จำหน่ายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศและอัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย จำหน่ายให้บริษัทไฟฟ้าลาว กำหนดคิดเฉพาะค่าพลังงานไฟฟ้า
4. เพื่อให้อัตราค่าไฟฟ้าเป็นแบบ Flat Rate ตามที่ สปป.ลาว ร้องขอ และ กฟภ. ไม่เสียประโยชน์จากการไม่คิดค่าความต้องการพลังไฟฟ้า และค่า Ft กฟภ. จึงกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่จะจำหน่ายให้บริษัท ไฟฟ้าลาว สปป.ลาว ตามราคาค่าเฉลี่ยของปีงบประมาณ 2538 ที่จำหน่ายให้ประเทศสหภาพพม่า ที่เมืองท่าขี้เหล็ก ซึ่งเป็นราคาที่รวมค่าความต้องการพลังไฟฟ้า ค่าพลังงานไฟฟ้า และค่า Ft ไว้แล้ว คือ 1.90 บาท/หน่วย ซึ่งอัตราดังกล่าวคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2538
5. กฟภ. สามารถจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านได้ ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2535 แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้ สปป. ลาว ใน 3 จุด ในบริเวณ ดังนี้
เชียงของ-ห้วยทราย ประมาณ 5 เมกะวัตต์
เชียงแสน-ต้นผึ้ง ประมาณ 2 เมกะวัตต์
ท่าลี่-แก่นท้าว ประมาณ 2 เมกะวัตต์
2.เห็นชอบในหลักการให้ราคาจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ กฟภ. จำหน่ายให้ สปป. ลาว และที่จะจำหน่ายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในแต่ละจุดเป็นอัตราที่อยู่ในระดับ เดียวกันกับอัตราที่จำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ไฟในประเทศ ตามโครงสร้างประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าของ กฟภ. ทั้งนี้ ให้ กฟภ. มีความยืดหยุ่นที่จะสามารถเจรจา และกำหนดรูปแบบราคาจำหน่ายไฟฟ้าในลักษณะที่อาจแตกต่างจากโครงสร้างค่าไฟฟ้า ของประเทศไทยได้ภายใต้หลักการดังกล่าว เช่น อาจกำหนดเป็นอัตราคงที่ (Flat Rate) เป็นต้น
3.เห็นชอบในหลักการให้ กฟภ. ขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณหมู่บ้านที่ใกล้กับเขตชายแดนของประเทศ ไทย โดยไม่ต้องขออนุมัติในระดับนโยบายอีก แต่ทั้งนี้ให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อทราบ ยกเว้นจะมีประเด็นนโยบายที่สำคัญให้เสนอเพื่อพิจารณา
4.ที่ประชุมได้มีมติเพิ่มเติม เกี่ยวกับการดำเนินการของ กฟภ. ในการขยายเขตจำหน่ายไฟฟ้า โดยมอบหมายให้ กฟภ. ขยายเขตจำหน่ายไฟฟ้าให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านที่มีจำนวนหลังคาเรือนมากกว่า 10 หลังคาเรือน ภายในปี 2539 ซึ่งปัจจุบันเขตจำหน่ายไฟฟ้าครอบคลุมจำนวนหมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 98 ของจำนวนหมู่บ้านทั้งหมดแล้ว
เรื่องที่ 5 แนวทางในการปรับโครงสร้างและการแปรรูปกิจการไฟฟ้าของประเทศ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานในอนาคตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ขั้นตอน เริ่มจากปี 2535 และสิ้นสุดในปี 2539 ซึ่งการดำเนินการมีความก้าวหน้าหลายประการ เช่น การแปลงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี การจัดตั้งบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด และกระจายหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น แต่ยังมีกิจกรรมที่ยังมิได้ดำเนินการ ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลง กฟผ. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นบริษัทจำกัดมหาชน โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พรบ.) การไฟฟ้าทั้งสอง ซึ่งขณะนี้ กฟผ. ขอทบทวนมติดังกล่าว และ กฟภ. ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2538 ให้ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดิม โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไข พรบ. เพื่อการเป็นบริษัทจำกัดมหาชน เพื่อให้คงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ในการขยายบริการไฟฟ้าให้เพียงพอตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กิจกรรมที่มีการดำเนินการล่าช้ากว่ากำหนด คือ การปรับโครงสร้างการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการแปลง กฟน. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี ส่วนการยกเลิกนโยบายการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าเท่ากันทั่วประเทศที่กำหนดไว้ใน การดำเนินการนั้น ยังคงถือเป็นนโยบายของรัฐที่จะกำหนดให้อัตราค่าไฟฟ้าเท่ากันทั่วประเทศต่อไป
2. คณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานในอนาคตของการไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้พิจารณาข้อเสนอของ กฟผ. และรูปแบบโครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศต่างๆ รวมทั้ง ได้คำนึงถึงแนวทางในสมุดปกขาว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2538 และมติคณะรัฐมนตรีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ในการประชุมเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539 โดยมีประเด็นพิจารณาและผลการพิจารณา ดังนี้
2.1 คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า ระบบการแข่งขันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาไฟฟ้า การบริการประชาชนอย่างทั่วถึง คุณภาพบริการดี ราคาเป็นธรรม และลดภาระการลงทุนของภาครัฐบาล รัฐจึงได้มีนโยบายส่งเสริมบทบาทเอกชนในการผลิตไฟฟ้ามาโดยตลอด ส่วนกิจการส่งไฟฟ้าและกิจการจำหน่าย ไฟฟ้า ยังจำเป็นต้องมีลักษณะเป็นกิจการผูกขาด เพราะการลงทุนในระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าโดยผู้ลงทุนเพียงรายเดียว เป็นระบบที่จะเกิดประโยชน์เชิงเศรษฐศาสตร์มากกว่ามีการลงทุนซ้ำซ้อนจากผู้ลง ทุนหลายราย เพื่อให้บริการลูกค้าในบริเวณเดียวกัน การเพิ่มการแข่งขันสามารถดำเนินการได้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตไฟฟ้าขายไฟฟ้าโดยตรงให้แก่ผู้ใช้ไฟได้ โดยใช้บริการสายส่งและสายจำหน่ายในรูปของ Common Carrier แต่"ทั้งนี้ควรมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระ (Independent Regulatory Body) เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการไฟฟ้า
2.2 การดำเนินการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระ จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งจะไม่สามารถทำได้ทันที ประกอบกับประเทศมีความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง จึงต้องการความเป็นเอกภาพในการวางแผนด้านกำลังผลิต ระบบส่ง และการขยายการจำหน่ายไฟฟ้าให้ทันกับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำยังคงอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐ เพื่อประสานประโยชน์การใช้น้ำซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และการใช้พื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำ ซึ่งคงอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐ จึงกำหนดรูปแบบกิจการไฟฟ้าในระยะปานกลาง (ปี 2539-2542) ขึ้น เพื่อให้สามารถปรับปรุงรูปแบบกิจการไฟฟ้าให้มีลักษณะแข่งขันมากขึ้น ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมายและกำหนดแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการใน ช่วงเวลา 4 ปีต่อจากนี้ เพื่อปรับปรุงรูปแบบกิจการไฟฟ้า ให้เป็นไปตามรูปแบบกิจการไฟฟ้าในระยะยาว ซึ่งได้กำหนดรูปแบบโครงสร้างไว้ดังนี้
(1) รูปแบบโครงสร้างกิจการไฟฟ้าในระยะยาว (ปี 2543-2548)
แยกกิจการผลิตไฟฟ้า กิจการส่งไฟฟ้า และจำหน่ายไฟฟ้าให้ชัดเจน
แต่ละกิจการจะถูกแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด โดยรัฐจะลดบทบาทลง ขณะเดียวกันก็เพิ่มบทบาทภาคเอกชนและ/หรือกระจายหุ้นให้ประชาชน
กิจการผลิตไฟฟ้า จะมีผู้ผลิตหลายราย
กิจการสายส่ง จะเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตไฟฟ้าขายไฟฟ้าได้โดยตรงแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า โดยกำหนดค่าใช้บริการสายส่งที่เป็นธรรม (หลักการ Common Carrier)
กิจการจำหน่ายไฟฟ้า จะมีผู้จำหน่ายไฟฟ้าเพียงรายเดียว แต่จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าซื้อไฟฟ้าได้โดยตรงจากผู้ผลิตไฟฟ้า
การกำกับดูแล จะจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระ (Independent Regulatory Body) เพื่อกำกับดูแลให้กิจการการไฟฟ้ามีการแข่งขัน อย่างสมบูรณ์ สร้างความมั่นใจและเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ลงทุน และผู้ใช้ไฟฟ้า
(2) รูปแบบกิจการไฟฟ้าในระยะปานกลาง (ปี 2539-2542)
กิจการผลิตไฟฟ้า ส่งเสริมผู้ผลิตหลายราย และยังคงส่งเสริม SPP IPP และการแปรรูปโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้เป็นบริษัทจำกัด เพื่อเพิ่มการแข่งขัน ในเรื่องการแปรรูปโรงไฟฟ้าของ กฟผ. จะต้องมีการศึกษาถึงความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นบริษัทเดียวหรือหลายบริษัท ต่อไป
กิจการสายส่ง แยกกิจการสายส่งไฟฟ้าออกเป็นหน่วยธุรกิจภายใต้ กฟผ. ซึ่งจะยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ โดย กฟผ. จะมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำเท่านั้นที่จะเป็นโรงไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบ
กิจการจำหน่ายไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะปรับตัวให้มีการบริหาร เชิงธุรกิจ แต่ยังมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ และยังคงทำหน้าที่ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ของตน
กิจการกำกับดูแล คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะกำกับดูแล แต่จะต้องมีการปรับปรุงแนวทางในการกำกับดูแล ให้เน้นเรื่องประสิทธิภาพ และคุณภาพบริการ
3. แนวทางในการปรับโครงสร้างและการแปรรูปกิจการไฟฟ้าของประเทศในระยะปานกลาง จะต้องมีการดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
3.1 ปรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้เป็นหน่วยธุรกิจ และปรับเป็นบริษัทจำกัด ทั้งนี้อาจเป็นบริษัทเดียว หรือหลายบริษัทก็ได้ โดยในระยะต้น กฟผ. จะจัดสายงานเป็นหน่วยธุรกิจ 6 หน่วย และหน่วยปฎิบัติการ 5 หน่วย ดังนี้
หน่วยธุรกิจ 6 หน่วย ประกอบด้วย ระบบส่ง โรงไฟฟ้า บำรุงรักษา เหมือง วิศวกรรมและก่อสร้าง
หน่วยปฏิบัติการ 5 หน่วย ประกอบด้วย นโยบายและแผน บัญชีและการเงิน บริหาร พัฒนาธุรกิจและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ
3.2 กฟผ. จะนำหน่วยธุรกิจ ที่พร้อมดำเนินงานเชิงธุรกิจเต็มรูปแบบไปจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด โดย กฟผ. ถือหุ้น 100% และเปลี่ยนแปลงบริษัทจำกัดเป็นบริษัทจำกัดมหาชน ทยอยจดทะเบียนกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตามความจำเป็น โดยหน่วยธุรกิจระบบส่ง และหน่วยปฎิบัติการทั้งหมดยังคงเป็น กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่
3.3 ปรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่เป็นบริษัทจำกัดให้เป็นบริษัทจำกัดมหาชน
3.4 แยกโรงไฟฟ้าพลังน้ำเป็นหน่วยปฏิบัติการ (OU) และยังคงเป็นส่วนหนึ่งของ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ
3.5 แยกกิจการส่งไฟฟ้าเป็นหน่วยธุรกิจ โดย กฟผ. ดำเนินการในลักษณะของรัฐวิสาหกิจที่มีความคล่องตัวเชิงธุรกิจ ซึ่งจะสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องแก้กฎหมาย และยังคงสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นในการขยายการดำเนินงาน รวมทั้งกำกับดูแล วางแผนการผลิต และระบบส่ง เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้ายังเพิ่มขึ้นสูง
3.6 ทำการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางในการจัดตั้งองค์กรอิสระในการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า (Independent Regulatory Body)
3.7 เร่งรัดการแปลง กฟภ. และ กฟน. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี โดยเฉพาะ กฟน. ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการเสนอแนวทางในการแปรรูป กฟน. ได้ภายในเดือนเมษายน 2539 เห็นควรให้กระทรวงการคลังพิจารณานำระบบการประเมินผลมาใช้กับ กฟน. แทนระบบการเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี
4. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และ สพช. จะทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการไฟฟ้าที่ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ต่อไป เพื่อให้มีแรงจูงใจในการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้มีความคล่องตัวเชิงธุรกิจ โดย"การกำกับดูแลต่างๆ ประกอบด้วย
4.1 การกำกับดูแลสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) และกำกับดูแลด้านการจัดหาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
4.2 กำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินฐานะการเงินของการไฟฟ้าใหม่ โดยให้ความสำคัญแก่ค่าตัวแปร เช่น อัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (Self Financing Ratio) และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนทุน (Debt Equity Ratio) มากขึ้น และให้ความสำคัญแก่ผลตอบแทนการลงทุนน้อยลง และปรับปรุงสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ให้คำนึงถึงประสิทธิภาพในการให้บริการของกิจการ (Efficiency Factor) ด้วย
4.3 พิจารณาอนุมัติและติดตามแผนการลงทุนของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง อย่างใกล้ชิด
4.4 กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานและคุณภาพของบริการ
4.5 กำกับดูแลในเรื่องของการชดเชยระหว่าง 3 การไฟฟ้า ในขณะที่รัฐยังคงมีนโยบายอัตราค่าไฟฟ้าเท่ากันทั่วประเทศ
5. ในการปรับโครงสร้างและการแปรรูปกิจการไฟฟ้าของประเทศ จะต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ จึงควรให้คณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานในอนาคตของการไฟฟ้า ทำหน้าที่กำกับดูแลให้มีการดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ต่อไป โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานซึ่งได้ระบุไว้ในเอกสารประกอบวาระ 4.3 แล้ว
มติของที่ประชุม
เห็นชอบแนวทางในการปรับโครงสร้างและการแปรรูปกิจการไฟฟ้าของประเทศ ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานในอนาคตของการไฟฟ้า โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ และให้คณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานในอนาคตของการไฟฟ้า เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงาน เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด ทั้งนี้ จะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระค่าไฟฟ้าแก่ประชาชน
เรื่องที่ 6 แนวทางการควบคุมไอระเหยของน้ำมันเบนซิน และการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ปัญหามลพิษทางอากาศที่ได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครปริมณฑล และเมืองใหญ่ต่างๆ สภาพปัญหาอยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม พบว่าปัญหามลพิษที่สำคัญและจำเป็นต้องแก้ไข คือ ฝุ่นละออง โดยเฉพาะฝุ่นละอองที่เกิดจากการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วในรถยนต์ นอกจากนี้ยังมีปัญหามลพิษอื่น คือ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโอโซน (OZONE) ในบรรยากาศ
2. เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษดังกล่าว กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำนโยบายและมาตรการควบคุมมลพิษ ตลอดจนแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและเขตชุมชน โดยมีข้อเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.)" รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมโยธาธิการ และกรมทะเบียนการค้าพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
2.1 ให้พิจารณาควบคุมไอระเหยของน้ำมันเบนซิน เพื่อแก้ไขปัญหาก๊าซไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นต้นเหตุของโอโซน โดยเสนอให้ติดตั้งอุปกรณ์เก็บไอระเหยของน้ำมันเบนซิน (Vapour Recovery System) ที่สถานีบริการน้ำมันและคลังน้ำมันที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเขตชุมชน
2.2 ให้พิจารณาปรับปรุงข้อกำหนดคุณภาพน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง คือ
ลดอุณหภูมิการกลั่นที่ร้อยละ 90 ของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว จาก 3570C เป็น 3380C
เลื่อนกำหนดระยะเวลาบังคับใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วกำมะถันไม่เกินร้อยละ 0.05 โดยน้ำหนัก จากกำหนดเดิมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 เป็นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542
- ให้ปรับราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วให้อยู่ในระดับเดียวกับน้ำมันเบนซิน
3. สพช. และกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาข้อเสนอของกรมควบคุมมลพิษร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องคือ กรมโยธาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกรมทะเบียนการค้า รวมทั้ง บริษัทผู้ค้าน้ำมันต่างๆ ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2538 ซึ่งผลการประชุมสรุปได้ว่า ควรให้มีการศึกษาถึงแนวทาง และปัญหาให้ชัดเจนเสียก่อน ทั้งนี้ สพช. รับไปศึกษาปัญหาไอระเหยของน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทย และบริษัทผู้ค้าน้ำมันรับไปศึกษาแนวทางการปรับปรุงน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว
สำหรับข้อเสนอการปรับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วให้อยู่ในระดับเดียวกับ น้ำมันเบนซินนั้น สพช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ในหลักการควรปรับอัตราภาษีสรรพสามิตของน้ำมันทั้งสองชนิดให้ใกล้เคียงกันจะ เหมาะสมกว่า และไม่ขัดแย้งกับนโยบายระบบราคาน้ำมันลอยตัวที่ใช้ในปัจจุบัน การปรับภาษีสรรพสามิตนี้ควรจะกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเลือกระยะเวลาการปรับให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาจำหน่ายมาก นัก
4. สพช. ได้นำผลสรุปการศึกษาของ สพช. และ บริษัทผู้ค้าน้ำมันดังกล่าวข้างต้น เข้าร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้มีข้อสรุปของแนวทางในการควบคุมไอระเหยของน้ำมันเบนซินและการปรับปรุง คุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้
4.1 การควบคุมไอระเหยของน้ำมันเบนซิน
(1) การติดตั้งอุปกรณ์ระดับที่ 1 (Stage I) ควรมีการติดตั้งอุปกรณ์เก็บไอน้ำมันระดับที่ 1 ในคลังน้ำมัน รถบรรทุกน้ำมัน และสถานีบริการ ดังนี้
(1.1) ในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวทันทีที่กรมโยธาธิการดำเนินการแก้ไข ประกาศกรมโยธาธิการแล้วเสร็จและมีผลใช้บังคับ แต่สำหรับสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่จัดตั้งขึ้นก่อนการแก้ไขประกาศกรม โยธาธิการ ให้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 มกราคม 2543
(1.2) สำหรับในเขตจังหวัดอื่นๆ กำหนดเวลาบังคับใช้ตามสภาพความรุนแรงของปัญหา โดย สพช. จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทผู้ค้าน้ำมัน เพื่อพิจารณาปรับปรุงกฎเกณฑ์ตามความเหมาะสมต่อไป
(2) การติดตั้งอุปกรณ์ระดับที่ 2 (Stage II) ควรกำหนดมาตรการ ดังนี้
(2.1) ในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ
ให้สถานีบริการริมถนนที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร แต่ไม่ถึง 12.00 เมตร และสถานีบริการใต้อาคารที่อาจมีการอนุญาตให้จัดสร้างได้ ในระยะต่อไป ต้องติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวทันที
สำหรับสถานีบริการริมถนนที่มีความกว้างตั้งแต่ 12.00 เมตร ขึ้นไป จะได้ดำเนินการกำหนดเวลาบังคับใช้ในระยะต่อไป
(2.2) ในเขตจังหวัดอื่นๆ จะกำหนดเวลาบังคับใช้ตามสภาพความรุนแรงของปัญหา โดย สพช. จะดำเนินการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับการติดตั้งอุปกรณ์ระดับที่ 1
(3) มอบหมายให้กรมโยธาธิการรับไปดำเนินการแก้ไขประกาศกรมโยธาธิการ เรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 1 และ 2 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2538 โดยให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่งประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมทะเบียนการค้า และ สพช. เพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขประกาศกรมโยธาธิการให้สอดคล้องกันในระยะต่อไป
4.2 การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง
(1) ให้เลื่อนกำหนดเวลาบังคับใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วกำมะถันต่ำไม่เกินร้อยละ 0.05 โดยน้ำหนักให้เร็วขึ้น จากตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 เป็นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 โดยมอบหมายให้กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์รับไปดำเนินการปรับปรุงประกาศกระทรวงพาณิชย์ต่อไป
(2) ให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เร่งนำน้ำมันดีเซลหมุนเร็วกำมะถันต่ำไม่เกินร้อยละ 0.05 โดยน้ำหนักมาจำหน่ายให้แก่ ขสมก. อย่างช้าภายในวันที่ 1 มกราคม 2540
(3) มอบหมายให้ สพช. และกรมทะเบียนการค้ารับไปพิจารณาปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 มกราคม 2540 ดังนี้
ค่าสูงสุดของปริมาณสารออกซิเจนเนตที่ผสมในน้ำมันเบนซิน จากร้อยละ 11 โดยปริมาตรเป็นร้อยละ 15 โดยปริมาตร
กำหนดปริมาณสารเบนซีน (Benzene) และสารอะโรมาติก (Aromatic) แบบยืดหยุ่นได้ (Flexible Aromatic)
เพิ่มค่าซีเทนในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เป็นไม่น้อยกว่า 49 เป็นอย่างต่ำ
ปรับค่าความถ่วงจำเพาะของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วให้แคบกว่าเดิม
5. ผลกระทบจากการดำเนินการมี ดังนี้
5.1 การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมไอระเหยของน้ำมันเบนซิน จะมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันเบนซินลิตรละ 11 สตางค์ โดยจะเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงอุปกรณ์ระดับที่ 1 สถานีบริการละ 40,000 บาท รถบรรทุกน้ำมันคันละ 280,000 บาท และคลังน้ำมันแห่งละ 25 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 718 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงอุปกรณ์ระดับที่ 2 สถานีบริการละ 1.5 ล้านบาท
5.2 การเลื่อนกำหนดเวลาบังคับใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วกำมะถันต่ำให้เร็วขึ้น จะสามารถลดปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่นละออง จากระดับ 146,566 ตันในปี 2538 เหลือเพียง 94,687 ตันในปี 2542 ปริมาณที่ลดลง 51,879 ตัน คิดเป็นร้อยละ 35 ส่วนผลกระทบต่อราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วนั้น คาดว่าจะมีผลทำให้ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้นประมาณลิตรละ 3 สตางค์
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบแนวทางการควบคุมไอระเหยของน้ำมันเบนซินในข้อ 4.1
2.เห็นชอบให้มีการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง ตามข้อ 4.2
เรื่องที่ 7 ขอความเห็นชอบในหลักการซื้อก๊าซ ธรรมชาติ และพัฒนาโครงการใช้ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งพื้นที่ร่วม มาเลเซีย-ไทย ร่วมกับเปโตรนาส (PETRONAS)
สรุปสาระสำคัญ
กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีหนังสือเรื่อง ขอความเห็นชอบในหลักการซื้อก๊าซธรรมชาติและพัฒนาโครงการใช้ประโยชน์ก๊าซ ธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่ร่วม มาเลเซีย-ไทย ร่วมกับเปโตรนาส (PETRONAS) ถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ" (สพช".) เพื่อพิจารณานำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณา โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2522 รัฐบาลไทย และรัฐบาลมาเลเซีย ได้ร่วมกันจัดทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) เพื่อจัดตั้งองค์กรร่วม (Joint Authority) ในการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียม ในพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area : JDA) โดยอาศัยหลักการแบ่งปันผลประโยชน์และค่าใช้จ่ายเท่าๆ กัน ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2533 รัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซีย ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยธรรมนูญองค์กรร่วม เพื่อก่อตั้งองค์กรร่วมมาเลเซีย-ไทย (Malaysia - Thailand Joint Authority : MTJA) โดยทั้งสองประเทศออกกฎหมายอนุวัติการก่อตั้งองค์กรร่วมมาเลเซีย-ไทย ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันและประกาศใช้บังคับพร้อมกัน
2. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2537 รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้เห็นชอบให้ MTJA ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) กับกลุ่มบริษัทปิโตรเลียมในการให้สิทธิในการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมใน พื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) ซึ่งประกอบด้วย
(1) แปลงสำรวจหมายเลข A-18 พื้นที่ 2,958 ตารางกิโลเมตร : บริษัท Triton Oil Company of Thailand Inc. และ Triton Oil Company of Thailand (JDA) Ltd. (ร้อยละ 50) กับบริษัท Petronas Carigali จากประเทศมาเลเซีย (ร้อยละ 50)
(2) แปลงสำรวจหมายเลข B-17 และ C-19 พื้นที่ 4,250 ตารางกิโลเมตร : บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม อินเตอร์แนเชอนัล จำกัด (PTTEPI) จากประเทศไทย (ร้อยละ 50) กับบริษัท Petronas Carigali จากประเทศมาเลเซีย (ร้อยละ 50)
3. สาระสำคัญของบันทึกแสดงเจตจำนงระหว่าง การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และ เปโตรนาส จะเป็นการแสดงเจตจำนง ในการร่วมกันกำหนดลู่ทาง และวิธีการร่วมทุนในโครงการที่ใช้ประโยชน์ จากก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งดังกล่าว โดย ปตท. และเปโตรนาส จะให้การสนับสนุนการรับซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA เพื่อนำเข้ามาขายในประเทศไทย เพื่อใช้ประโยชน์ในโครงการต่างๆ รวมทั้งโครงการปิโตรเคมี
4. วิธีการซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA จะกระทำโดย ปตท. และเปโตรนาส ในฐานะที่เป็นกิจการร่วมค้า เป็นผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA จากองค์กรร่วมมาเลเซียและไทย กับกลุ่มบริษัทปิโตรเลียมที่จุดส่งมอบ ณ ปากหลุม โดย ปตท. และเปโตรนาส จะทำการขายก๊าซธรรมชาติดังกล่าวให้แก่ ปตท. แต่ผู้เดียว ณ จุดพรมแดนที่ก๊าซฯ นั้นผ่านเข้าสู่ประเทศไทย นอกจากนั้น ปตท. และเปโตรนาส จะตกลงร่วมทุนกันโดยมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งจะต้องเป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ทั้งนี้จุดส่งมอบและการโอนกรรมสิทธิ์จะอยู่ที่ที่ตั้งของแต่ละโครงการ
5. การคัดเลือกโครงการที่จะทำการศึกษาความเป็นไปได้และขอความเห็นชอบจากคณะ รัฐมนตรีนั้น ปตท. จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2538 ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0215/ว209 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2538 กล่าวคือจะต้องไม่มีข้อผูกพันใดๆ ในการที่จะให้สิทธิแก่เปโตรนาสเข้าร่วมทุนก่อนผู้อื่น อย่างไรก็ตามเปโตรนาสได้แสดงความจำนงที่จะขอร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ ในสัดส่วนระหว่างร้อยละ 25 ถึง 49 ซึ่ง ปตท. จะต้องออกหนังสือประกอบ MOI (Side Letter) เพื่อรับทราบเจตนารมย์ของเปโตรนาส โดยสัดส่วนการร่วมทุน จะขึ้นอยู่กับผลการศึกษาความเป็นไปได้ ของโครงการและความเห็นชอบของรัฐบาลไทย
6. การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่าง ปตท. กับ เปโตรนาส จะครอบคลุมไม่เพียงแต่ภายในประเทศไทย แต่ควรขยายไปยังประเทศมาเลเซียและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบในหลักการให้ ปตท. ซื้อก๊าซธรรมชาติและพัฒนาโครงการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งพื้นที่ร่วม มาเลเซีย-ไทย (JDA) ร่วมกับเปโตรนาส เพื่อมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทย
2.เห็นชอบให้ ปตท. ลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงที่จะแสวงหาโอกาสและลู่ทางที่จะร่วมทุนในโครงการ ใช้ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA รวมทั้งการเป็นพันธมิตรทางการค้า
กพช. ครั้งที่ 54 - วันพุธที่ 27 ธันวาคม 2538
มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 6/2538 (ครั้งที่ 54)
วันพุธที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2538 เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
1.รายงานผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
2.รายงานผลการลดช่องว่างระหว่างราคาน้ำมันในเขตกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค
3.การดำเนินการในการลดอัตราค่าไฟฟ้า
7.ขออนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยขายโรงไฟฟ้าขนอม
9.การทบทวนการจัดเก็บเงินผลประโยชน์พิเศษในการจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมัน
นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 รายงานผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. การจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม
1.1 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 5/2538 (ครั้งที่ 53) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538 ได้มีมติมอบหมายให้กรมตำรวจ กองทัพเรือ และกรมศุลกากร รับไปพิจารณาปรับปรุงค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมัน เชื้อเพลิงในปีงบประมาณ 2539 ให้เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง โดยอาจให้บริษัทผู้ค้าน้ำมันสนับสนุนค่าใช้จ่าย และให้สำนักงบประมาณพิจารณาหาทางช่วยเหลือให้หน่วยงานดังกล่าวได้รับเงินงบ ประมาณเพิ่มขึ้น สำหรับงบประมาณในปี 2540 นั้น ให้กรมตำรวจ กองทัพเรือ และกรมศุลกากรของบประมาณเพิ่มเติมโดยจัดทำเป็นโครงการขึ้น โดยให้สำนักงบประมาณพิจารณาในรายละเอียดให้เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง
1.2 สำนักงบประมาณได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณในปี 2538 จากงบกลางให้แก่กองทัพเรือเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 44.725 ล้านบาท และในปี 2539 ได้พิจารณาข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ที่ได้ขอแปรญัตติให้แก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้ในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในวงเงิน 217.4 ล้านบาท โดยสำนักงบประมาณได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มให้กรมตำรวจเป็นจำนวนเงิน 13 ล้านบาทเศษ แต่ในส่วนของกองทัพเรือ กรมโยธาธิการ กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิตไม่ได้จัดสรรเพิ่มให้ เพราะได้จัดสรรไว้ให้เต็มตามจำนวนคนที่ปฎิบัติการแล้ว
1.3 สำหรับงบประมาณในปี 2540 กรมศุลกากรได้พิจารณาจัดทำโครงการขึ้น โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2539 - 30 กันยายน 2540 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 120.9 ล้านบาท
2. การให้เอกชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
2.1 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2538 มอบหมายให้ สพช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการพิจารณาที่จะให้มีหน่วยงานเอกชนทำ หน้าที่ตรวจสอบพฤติการณ์ของคลังน้ำมันต่างๆ โดยให้ผู้ค้าน้ำมันสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
2.2 สพช. ได้สอบถามความเห็นจากผู้ค้าน้ำมันต่างๆ แล้ว สรุปผลได้ว่า ผู้ค้าน้ำมันยินดีให้ความร่วมมือดำเนินการและรายงานผลการตรวจสอบให้แก่หน่วย งานของรัฐทราบ ส่วนการกำหนดให้เอกชนทำการตรวจวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้าสามารถ กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราช อาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ประกาศเป็นเงื่อนไขให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ทุกราย ต้องจัดให้มีการตรวจสอบปริมาณน้ำมันที่นำเข้าโดยผู้ตรวจวัดอิสระ (Independent Surveyor) ทั้งปริมาณต้นทาง ณ เมืองท่าที่ส่งออก และปลายทาง ณ คลังนำเข้า โดยผู้ตรวจวัดอิสระนั้นจะต้องมีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่ราชการกำหนด และให้ผู้ค้าตามมาตรา 6 ทุกราย จัดส่งผลการตรวจวัด ดังกล่าวให้แก่กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์
2.3 ในปัจจุบันบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ต่างๆได้จัดให้มีผู้ตรวจวัดอิสระดัง กล่าวทำการตรวจสอบยืนยันปริมาณอยู่แล้ว แต่อาจมีผู้ค้าน้ำมันรายย่อยบางรายไม่มีการจัดจ้างผู้ตรวจวัดอิสระ หรืออาจมีการจัดจ้าง แต่ผู้ตรวจวัดอิสระนั้นยังไม่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ดังนั้น ผลกระทบจากการกำหนดให้มีผู้ตรวจวัดอิสระจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับ ผู้ค้าน้ำมันที่ยังไม่มีการจัดจ้างผู้ตรวจวัดอิสระหรือจัดจ้าง ผู้ตรวจวัดอิสระที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะอยู่ในระดับต่ำมาก ประมาณลิตรละ 1 สตางค์ เท่านั้น นอกจากนี้ ผลจากการกำหนดให้มีผู้ตรวจวัดอิสระจะช่วยให้หน่วยงานของรัฐสามารถตรวจสอบ ปริมาณการขนส่งน้ำมันต้นทาง-ปลายทางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งหากมีปริมาณแตกต่างกันเกิดขึ้นอาจแสดงให้เห็นว่ามีการลักลอบค้าน้ำมัน กลางทะเล และหากผู้ตรวจวัดอิสระตรวจวัดปริมาณนำเข้าได้สูงกว่าที่เจ้าหน้าที่ตรวจวัด ได้ กรมศุลกากรอาจใช้ปริมาณของผู้ตรวจวัดอิสระเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีได้
3. ความคืบหน้าในการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ
หน่วยงานต่างๆ ได้รายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินงานสรุปได้ ดังนี้
3.1 กรมศุลกากร ได้ตรวจติดตามเรือเพื่อใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในเรือที่เดินทางไปต่างประเทศพบ ว่าบริษัท เอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด ได้ทุจริตเกี่ยวกับการขอคืนภาษีสรรพสามิตและภาษีเพื่อมหาดไทยเป็นปริมาณ 509,032 ลิตร คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 1,119,868 บาท จึงได้แจ้งให้มีการระงับการจ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และมีหนังสือแจ้งกรมสรรพสามิตให้ระงับการจ่ายคืนภาษีสรรพสามิตด้วย
3.2 กรมสรรพสามิต ได้รายงานการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องมือวัดพร้อมอุปกรณ์ควบคุมน้ำมันว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจสถานที่ติดตั้งในคลังน้ำมันต่างๆ เพื่อออกแบบระบบขั้นสุดท้าย (Detailed Design) และกำหนดจุดติดตั้ง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มที่คลังน้ำมันบริษัท คอสโมออยล์ จำกัด จังหวัดระยอง และคลัง น้ำมันบริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จำกัด จังหวัดตรัง ก่อน เพื่อใช้เป็นคลังสาธิต นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตได้ สั่งการให้มีการตรวจสอบเรือประมงดัดแปลงที่นำน้ำมันเข้ามาจำหน่ายให้แก่รถ บรรทุกน้ำมันบนบก ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2538 เป็นต้นมา แต่ยังไม่พบการกระทำความผิดแต่อย่างใดและผลจากการดำเนินการของกรมสรรพสามิต ทำให้การจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในเดือนตุลาคม 2538 เพิ่มสูงขึ้น โดยสามารถจัดเก็บได้ 1,210.1 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21
3.3 กองทัพเรือ ในช่วงวันที่ 27 ตุลาคม 2538 ถึงปัจจุบัน กองทัพเรือไม่มีการจับกุมเรือที่ลักลอบนำเข้า แต่เครื่องบินลาดตระเวนได้ตรวจพบเรือบรรทุกน้ำมันขนาดกลาง 1 ลำ ไม่ทราบชื่อ ลอยลำจ่ายน้ำมันให้แก่เรือประมง 2 ลำ ที่บริเวณตำบลที่แลตติจูด 12 องศา 01 ลิบดาเหนือ ลองติจูด 101 องศา 04 ลิบดาตะวันออก จึงได้ทำการบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน
4. สพช. ได้รายงานสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนพฤศจิกายน 2538 ปรากฏว่าปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วมีปริมาณทั้งสิ้น 1,248.3 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 1,132.7 ล้านลิตร หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 115.6 ล้านลิตร คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 10 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราเพิ่มที่ต่ำที่สุดในรอบปี 2538 ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปีในช่วงร้อยละ 15-31 ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุได้หลายประการ เช่น ความต้องการใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2538 ได้ชะลอตัวลง ภายหลังเหตุการณ์น้ำลด เป็นต้น
การพิจารณาของที่ประชุม
1. ผู้แทนกองทัพเรือ ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ในปีงบประมาณ 2538 กองทัพเรือได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการปราบปรามการลักลอบนำเข้า น้ำมันเชื้อเพลิง ในช่วงเดือนเมษายน-กันยายน 2538 เพียง 5 เดือน แต่มีสถิติการปราบปรามเป็นที่น่าพอใจ โดยสามารถจับกุมเรือลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึง 10 ลำ เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงรวม 900,000 ลิตร แต่สำหรับในปีงบประมาณ 2539 กองทัพเรือไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการปราบปรามการลักลอบนำเข้า น้ำมันเชื้อเพลิงแต่อย่างใด จึงเป็นการปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณปกติ เช่น การปราบปรามการขนส่งแร่เถื่อน และยาเสพติด เป็นต้น ดังนั้น จึงขอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาจัดสรรงบประมาณในปี 2539 เพิ่มเติมเพื่อใช้ในการปราบปรามน้ำมันลักลอบนำเข้าให้แก่กองทัพเรือด้วย
2. ผู้แทนสำนักงบประมาณ ได้ชี้แจงว่า สำนักงบประมาณได้พิจารณาข้อเสนอของ สพช. ที่ขอแปรญัตติงบประมาณปี 2539 ให้แก่หน่วยงานต่างๆ รวม 217.4 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณของกองทัพเรือ จำนวน 180 ล้านบาท แต่เนื่องจากสำนักงบประมาณได้รับการชี้แจงจากกองทัพเรือว่างบประมาณที่จัด สรรให้เดิมในปี 2539 เพื่อใช้เป็นค่าดูแลและคุ้มครองทะเลฝั่งอันดามัน จำนวน 30 ล้านบาท และฝั่งอ่าวไทย จำนวน 100 ล้านบาท นั้น เพียงพอในการปฏิบัติภารกิจแล้ว ดังนั้น สำนักงบประมาณ จึงไม่ได้จัดสรรเงินเพิ่มให้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่ม ขอให้ประธานฯ ได้โปรดสั่งการไปยัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณโดยตรงด้วย เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าในปัจจุบันปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ทวี ความรุนแรงยิ่งขึ้นโดยลำดับ แต่ในการดำเนินงานโดยหน่วยงานของรัฐมีปัญหาที่ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุน อย่างเพียงพอ จึงขอเสนอให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันเป็นองค์กรกลางเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงอย่าง เป็นเอกภาพ ทั้งนี้เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการข่าวระหว่างกัน รวมทั้งให้มีการประสานงานและร่วมมือกันปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อ เพลิงด้วย นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ควรจะพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการในการให้หน่วยงานเอกชนทำการตรวจวัดปริมาณ น้ำมันเชื้อเพลิง ตามที่ สพช. เสนอในการประชุมครั้งนี้ด้วย นอกเหนือจากมาตรการที่ให้เอกชนทำหน้าที่ตรวจสอบพฤติการณ์ของคลังน้ำมันต่างๆ ซึ่งได้อนุมัติไปแล้ว
4. รองนายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) ได้กล่าวว่า ในขณะนี้น้ำมันลักลอบหนีภาษีศุลกากรได้มีการขนส่งไปจำหน่ายในแถบภาคอีสาน เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะสังเกตได้ว่ามีสถานีบริการขนาดเล็กจำหน่ายน้ำมันในราคาที่ต่ำมาก จึงขอให้องค์กรดังกล่าวดำเนินการตรวจสอบรวมไปถึงสถานีบริการขนาดเล็กที่ จำหน่าย น้ำมันในราคาที่ต่ำมากด้วย
มติของที่ประชุม
1.รับทราบรายงานผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
2.มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์รับไปดำเนินการให้มีการตรวจสอบปริมาณ น้ำมันที่นำเข้าโดยผู้ตรวจวัดอิสระ (Independent Surveyor) ทั้งปริมาณต้นทาง ณ เมืองท่าที่ส่งออก และปลายทาง ณ คลังนำเข้า โดยผู้ตรวจวัดอิสระดังกล่าว จะต้องมีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่ทางราชการกำหนด และให้ผู้ค้าตามมาตรา 6 ทุกราย จัดส่งผลการตรวจวัดดังกล่าวให้แก่กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์
3.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาจัดตั้ง องค์กรกลางในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้เกิดเอกภาพในการดำเนินงาน โดยให้พิจารณากำหนดรูปแบบและขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรดังกล่าว และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบต่อไป
เรื่องที่ 2 รายงานผลการลดช่องว่างระหว่างราคาน้ำมันในเขตกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค
สรุปสาระสำคัญ
1. นโยบายด้านพลังงานที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ได้กำหนดให้มีการปรับปรุงและพัฒนาระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อเพื่อลดต้นทุนการ ขนส่ง และให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงใกล้เคียงกันทั่วประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานพลังงานแห่งชาติ (สพช.) จึงได้จัดทำข้อเสนอมาตรการดำเนินการเพื่อลดช่องว่างระหว่างราคาขายปลีก น้ำมันในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2538 รับทราบและเห็นชอบข้อเสนอมาตรการ รวม 5 มาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 เกลี่ยค่าการตลาดกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
มาตรการที่ 2 ปรับปรุงบัญชีค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง
มาตรการที่ 3 ปรับปรุงกฎเกณฑ์ส่งเสริมการตั้งสถานีบริการ
มาตรการที่ 4 การขยายหรือสร้างโรงกลั่นในภูมิภาค
มาตรการที่ 5 ส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อ
2. สพช. ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์) ให้เร่งดำเนินการในมาตรการที่สามารถปฏิบัติได้ทันที ได้แก่ การเกลี่ยค่าการตลาด และการปรับปรุงบัญชีค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง
3. ผลการดำเนินงานตามมาตรการที่สามารถปฏิบัติได้ทันที สรุปได้ดังนี้
3.1 การเกลี่ยค่าการตลาด ได้มีการเกลี่ยค่าการตลาดโดยการปรับราคาขายปลีกทั่วประเทศ ครั้งใหญ่รวม 3 ครั้ง โดยครั้งแรกดำเนินการในวันที่ 20-22 กันยายน 2538 ครั้งที่ 2 วันที่ 28 กันยายน - 2 ตุลาคม 2538 การปรับราคาทั้ง 2 ครั้งดังกล่าว ทำให้ความแตกต่างระหว่างราคาขายปลีกน้ำมันในกรุงเทพมหานครกับส่วนภูมิภาคลด ลงโดยเฉลี่ยลิตรละ 15 สตางค์ และมีจำนวนจังหวัดที่ราคาจำหน่ายลดลงจนเท่ากับกรุงเทพมหานคร รวม 12 จังหวัด และครั้งที่ 3 ในช่วงกลางเดือนตุลาคม ได้ทำการปรับราคา ขายปลีกครั้งใหญ่อีกครั้ง ทำให้ความแตกต่างของราคาขายปลีกน้ำมันในกรุงเทพมหานครกับส่วนภูมิภาคได้ลดลง อีกประมาณลิตรละ 10 สตางค์ รวมทั้ง 3 ครั้ง ลดลงประมาณลิตรละ 25 สตางค์ และมีจำนวนจังหวัดที่ราคาจำหน่ายเท่ากับกรุงเทพมหานคร เพิ่มเป็น 18 จังหวัด
หลังจากช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนธันวาคม 2538 ได้มีการเกลี่ยค่าการตลาด อีกหลายครั้งต่อเนื่องกันมาโดยตลอด โดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นผู้นำในการปรับราคาทุกครั้ง เพื่อให้ความแตกต่างระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดต่างๆ สอดคล้องกับระดับความแตกต่างของราคาที่ สพช. ได้ดำเนินการศึกษาไว้
3.2 การปรับปรุงบัญชีค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง สพช. ได้ดำเนินการศึกษาและปรับปรุงบัญชีค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากบัญชีเดิม ซึ่งจัดทำขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 โดยคำนึงถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออัตราค่าขนส่งอย่างครบถ้วน รวมถึงเส้นทางและวิธีการขนส่งน้ำมันที่ได้เปลี่ยนแปลงไป หรือที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยได้นำผลการศึกษาดังกล่าวไปประชุมหารือกับผู้ค้าน้ำมัน ผู้ประกอบการขนส่งน้ำมัน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว มีความเห็นสอดคล้องกันว่าอัตราค่าขนส่งนี้สามารถนำมาใช้แทนบัญชีอัตราค่าขน ส่งเดิมได้ สพช. จึงได้ประสานงานกับ ปตท. เพื่อนำไปปรับราคาจำหน่ายในต่างจังหวัดลง พร้อมทั้งได้จัดทำบัญชีความแตกต่างของราคาขายปลีกระหว่างกรุงเทพมหานครกับ ส่วนภูมิภาคขึ้น แทนบัญชี อัตราค่าขนส่งที่มีอยู่เดิม โดยนำความแตกต่างจากค่าการตลาดซึ่งบริษัทน้ำมันต่างๆ รวมทั้ง ปตท. ได้ปรับลดไปแล้ว และค่าขนส่งมารวมไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้สะดวกในการพิจารณาความแตกต่างระหว่างราคาน้ำมันในกรุงเทพมหานคร กับจังหวัดต่างๆ
ผลการปรับปรุงอัตราค่าขนส่ง ทำให้ช่องว่างระหว่างราคาน้ำมันในกรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาคลดลงไปอีก ซึ่งเมื่อรวมกับการเกลี่ยค่าการตลาดในข้อ 3.1 แล้ว สรุปได้ดังนี้
(1) ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ณ สถานีบริการในเขตกรุงเทพมหานครและ 18 จังหวัดโดยรอบ ไม่มีความแตกต่างกันอีกต่อไป คือ ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี สำหรับจังหวัดชลบุรีมีราคาจำหน่ายต่ำกว่ากรุงเทพมหานคร
(2) ในภูมิภาคอื่นๆ ความแตกต่างในปัจจุบัน จะต่ำกว่าความแตกต่างเดิม ดังนี้
-
ภาคเหนือตอนบน ความแตกต่างในปัจจุบันลดลงต่ำกว่าเดิมประมาณครึ่งหนึ่ง คือ เฉลี่ยประมาณลิตรละ 18-54 สต. จากเดิมลิตรละ 39-80 สต.
ภาคเหนือตอนล่าง ความแตกต่างในปัจจุบันลดลงต่ำกว่าเดิมร้อยละ 50-80 คือ เฉลี่ยประมาณลิตรละ 2-17 สต. จากเดิมลิตรละ 20-35 สต.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ความแตกต่างในปัจจุบันลดลงต่ำกว่าเดิมร้อยละ 40-60 คือ เฉลี่ยประมาณลิตรละ 12-30 สต. จากเดิมลิตรละ 33-47 สต.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ความแตกต่างในปัจจุบันลดลงต่ำกว่าเดิมร้อยละ 54-80 คือ เฉลี่ยประมาณลิตรละ 4-22 สต. จากเดิมลิตรละ 24-43 สต.
สำหรับภาคใต้ซึ่งมีการขนส่งน้ำมันทางเรือเป็นหลัก มีอัตราค่าขนส่งที่ต่ำกว่าภาคอื่นอยู่แล้ว ได้แยกการพิจารณาออกเป็น 2 ชนิดน้ำมัน คือ เบนซินและดีเซล เนื่องจากดีเซลมีการนำเข้าจากต่างประเทศโดยตรง และสามารถลดความแตกต่างได้ดังนี้
-
ภาคใต้ตอนบน ความแตกต่างในปัจจุบันลดลงต่ำกว่าเดิมร้อยละ 20 คือ เฉลี่ยประมาณลิตรละ 15-35 สต. จากเดิมลิตรละ 26-47 สต.
ภาคใต้ตอนล่าง ความแตกต่างในปัจจุบันลดลงต่ำกว่าเดิม ร้อยละ 10 คือ เฉลี่ยประมาณลิตรละ 13-30 สต. จากเดิมลิตรละ 25-40 สต.
(3) สพช. ได้ประกาศใช้บัญชีความแตกต่างของราคาขายปลีกนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2538 เพื่อเป็นแนวทางให้ ปตท.กำหนดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดและสำนักงานการค้าภายในจังหวัด กำกับดูแลราคาขายปลีกในแต่ละจังหวัดต่อไป
อนึ่ง สพช. เห็นว่าขณะนี้ ช่องว่างระหว่างราคากรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดได้ลดลงมากพอสมควร จึงได้ชะลอการปรับราคาไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้ผู้จำหน่ายและผู้ขนส่งน้ำมันได้มีเวลาปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพ การณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อดำเนินการประเมินผล เพราะการปรับราคามีผลกระทบต่อผู้ค้าน้ำมันบางราย โดยเฉพาะผู้ค้าน้ำมันที่มีรถบรรทุกน้ำมันจำนวนมาก
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ และมอบหมายให้ สพช. รับไปดำเนินการตามความเห็นของที่ประชุม
เรื่องที่ 3 การดำเนินการในการลดอัตราค่าไฟฟ้า
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2538 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณาหาวิธีลดอัตราค่าไฟฟ้า และพิจารณาทบทวนสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานและคุณภาพบริการ รวมทั้งเพื่อมิให้มีการผลักภาระค่าใช้จ่ายบางประเภทที่ไม่เหมาะสมให้ผู้ใช้ ไฟ
2. สพช. และ กฟผ. ได้กำหนดแนวทางในการลดอัตราค่าไฟฟ้าและแนวทางในการพิจารณาทบทวนสูตรการปรับ อัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งหลายแนวทางได้ดำเนินการจนประสบผลสำเร็จแล้ว และหลายแนวทางอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยสามารถสรุปได้ดังนี้
2.1 แนวทางในการลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ได้ดำเนินการแล้ว มีดังนี้
2.1.1 การพิจารณาลดอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft)
ได้พิจารณาปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ลงแล้ว 5.72 สตางค์/หน่วย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2538 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเพิ่มขึ้นและราคาเชื้อเพลิง อ่อนตัวลง
2.1.2 ลดการใช้น้ำมันดีเซลโดยการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นทดแทน ดังนี้
(1) ก๊าซธรรมชาติ: ได้ดำเนินการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้ กฟผ. เพื่อการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยการพิจารณาทบทวนปริมาณการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติสำหรับกิจการอุตสาหกรรม หรือ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายอื่น ซึ่งหลายรายอาจจะยังไม่มีความพร้อมที่จะใช้ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการนำก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่คาดว่าจะมีเหลือเพื่อส่งออกป้อนเข้าสู่ระบบท่อก๊าซธรรมชาติด้วย ทำให้ ปตท. สามารถจัดสรรก๊าซธรรมชาติให้ กฟผ. ได้เพิ่มขึ้นจาก 760 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เป็น 881 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในปี 2540 และได้พิจารณาดำเนินการวางท่อก๊าซไปยังโรงไฟฟ้าหนองจอก ทำให้สามารถใช้ก๊าซทดแทนน้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2539
(2) พลังน้ำ: เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ในปี 2539 ประมาณ 246 ล้านหน่วย จากแผนเดิม ซึ่งจะสามารถลดการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลได้ประมาณ 78 ล้านลิตร หรือลดค่าน้ำมันได้ 524 ล้านบาท โดยจะส่งผลให้ค่า Ft ลดลง 0.69 สตางค์/หน่วย
การใช้ก๊าซธรรมชาติ และพลังน้ำ ทดแทนน้ำมันดีเซลดังกล่าว ส่งผลให้ค่า Ft ลดลง 5.20 สตางค์/หน่วย ในปี 2540 เทียบกับในกรณีที่ไม่มีการจัดสรรก๊าซธรรมชาติและพลังน้ำเพิ่มขึ้น
(3) ลิกไนต์ เร่งดำเนินการติดตั้งระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue Gas Desulphurization : FGD) ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อที่จะสามารถใช้ลิกไนต์ในการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้เต็มกำลัง การผลิต 2,625 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องลดการผลิตลงด้วยเหตุผลทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือต้องเปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทดแทนเหมือนที่ผ่าน มา
2.1.3 ลดราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า
ได้มีการเจรจาแก้ไขสัญญาซื้อขายน้ำมันดีเซลระหว่าง กฟผ. และ ปตท. ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จากเดิมที่กำหนดเป็นส่วนลดจากราคาขายปลีกน้ำมันหน้าสถานีบริการของ ปตท. ในกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ ให้ราคาน้ำมันดีเซลเปลี่ยนแปลงตามราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น ที่อิงราคา CIF ของราคาตลาดจรสิงคโปร์ และบวกค่าใช้จ่ายของ ปตท. และค่าการตลาด ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลลดลงจากเดิมเฉลี่ยประมาณ 20 สตางค์/ลิตร ซึ่งจะมีผลทำให้ค่า Ft ลดลงได้อีกประมาณ 0.4 สตางค์/หน่วย การปรับราคาดังกล่าว เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2538 เป็นต้นไป
2.1.4 กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าพิเศษสำหรับผู้ใช้ไฟบางประเภท
การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าให้เป็นอัตราเลือกสำหรับผู้ใช้ไฟบางประเภทที่มี ลักษณะการใช้ไฟฟ้าแตกต่างจากผู้ใช้ไฟทั่วไป เช่น กำหนดให้มีอัตราค่าไฟฟ้าประเภทที่สามารถงดจ่ายไฟได้ หรือ Interruptible Rate เพื่อให้ผู้ใช้ไฟรายใหญ่ที่สามารถปรับลดการใช้ไฟตามเงื่อนไขที่ กฟผ. กำหนด ให้มีอัตราค่าไฟฟ้าต่ำกว่าอัตราค่าไฟฟ้าปกติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการให้มีการใช้อัตรา Interruptible Rate แล้วเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2534 และ ขณะนี้ กฟผ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับอัตราค่าไฟฟ้าประเภทที่สามารถงดจ่ายไฟ ได้แล้วเสร็จ และพร้อมที่จะประกาศใช้ต่อไป ซึ่งการกำหนดอัตราดังกล่าว จะทำให้ผู้ใช้ไฟสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้จากอัตราปกติ ประมาณ 0.1153-0.2306 บาท/หน่วย ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับทางเลือกอัตราค่าไฟฟ้าที่สามารถงดจ่ายไฟได้ของผู้ใช้ไฟแต่ละ ราย และจากการสำรวจผู้ใช้ไฟเบื้องต้น พบว่า อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเหล็ก สามารถเข้าร่วมโครงการได้
2.2 แนวทางในการลดอัตราค่าไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ มีดังนี้
2.2.1 นำค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องออกจาก Ft ประกอบด้วย
(1) นำค่าใช้จ่าย DSM ออกจาก Ft : โดยพิจารณานำค่าใช้จ่ายบางส่วนมาใช้เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ พลังงาน และจาก Global Environment Facility (GEF) ส่วนที่เหลือให้ใช้งบประมาณของ กฟผ. โดยตรงต่อไป ในการนี้ สพช. จะเสนอให้คณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ และคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานพิจารณาดำเนินการ ในรายละเอียดต่อไป
(2) นำค่าใช้จ่ายภาษีโรงเรือนและภาษีที่ดินออกจาก Ft : ค่าใช้จ่ายภาษีโรงเรือนและภาษีที่ดินสามารถแยกออกจากสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) โดยให้เป็นค่าใช้จ่ายใน งบประมาณของ กฟผ. โดยตรง ซึ่ง สพช. จะนำเสนอคณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติพิจารณา ดำเนินการในรายละเอียดต่อไป
2.2.2 ทบทวนหลักเกณฑ์ทางการเงินในการประเมินฐานะทางการเงินของการไฟฟ้า : สพช. ได้คัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา Coopers & Lybrand มาทำการศึกษาเรื่อง Rationalization of Bulk Supply Tariff to MEA and PEA เพื่อพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ทางการเงิน เพื่อใช้ประเมินฐานะทางการเงินของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ซึ่งเดิมธนาคารโลกกำหนดให้ใช้ Rate of Return on Revalued Asset (ROR) ในระดับ 8% และ Self Financing Ratio ในระดับ 25% การทบทวนหลักเกณฑ์การประเมินฐานะการเงินใหม่ ก็เพื่อให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวสะท้อนถึงฐานะการเงินของการไฟฟ้าอย่างแท้จริง และครอบคลุมถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานของการไฟฟ้าด้วย โดยคาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จปลายปี 2539
2.2.3 การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของการไฟฟ้า : ให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จัดทำแผนปฏิบัติการในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และให้ดำเนินการตามแผนอย่างจริงจัง นอกจากนี้ จะต้องกำหนดให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพเป็นเงื่อนไขในการประเมินผลงานรัฐ วิสาหกิจและในการเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี ซึ่งในเรื่องนี้ สพช. อยู่ระหว่างการปรึกษาหารือกับกรมบัญชีกลาง เพื่อพิจารณาดำเนินการให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว
2.3 มาตรการเพิ่มเติมในการลดอัตราค่าไฟฟ้า
การพิจารณาลดภาษีน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาลดภาษีน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลที่ใช้ในการ ผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันน้ำมันเตาที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจะต้องเสียภาษีสรรพสามิต ในอัตราร้อยละ 17 ภาษีเทศบาลในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต รวมทั้ง ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ พลังงาน จำนวน 3 สตางค์และ 7 สตางค์ต่อลิตร ตามลำดับ การพิจารณาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเตา นอกจากจะช่วยปรับลดราคาค่ากระแสไฟฟ้าแล้ว ยังจะช่วยให้เกิดความเสมอภาคในการเลือกใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากน้ำมันเตาเป็นเพียงเชื้อเพลิงชนิดเดียวที่มีระดับการเก็บภาษีใน อัตราที่สูง เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่นในการผลิตไฟฟ้า
มติของที่ประชุม
1.รับทราบการดำเนินการในการลดอัตราค่าไฟฟ้า
2.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง รับไปดำเนินการออกประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าประเภทที่สามารถงดจ่ายไฟได้ (Interruptible Rate) เพื่อให้เป็นอัตราเลือกสำหรับผู้ใช้ไฟขนาดใหญ่โดยเร็ว แต่ทั้งนี้ ให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในเรื่องการกำหนดความต้องการพลังไฟฟ้าในส่วนที่ไม่สามารถดับไฟได้ (Firm Load) เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ว่าผู้ใช้ไฟมิได้ปฏิบัติผิดสัญญา หากสามารถลดการใช้ไฟฟ้ามา ณ ระดับ Firm Load ดังกล่าว
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2534 อนุมัติให้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ว่าในระยะยาว ปตท. ควรจะจัดโครงสร้างในรูปแบบใดที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งต่อมาคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณา นโยบายการปรับปรุงโครงสร้างของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและส่งเสริมการค้า เสรีในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมขึ้น เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเสนอแนะนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างของการปิโตรเลียม แห่งประเทศไทยและส่งเสริมการค้าเสรีในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
2. คณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว ได้ดำเนินการจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงโครงสร้างของ ปตท. และส่งเสริมการค้าเสรีในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมแล้วเสร็จ โดยมีสาระสำคัญและแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้
2.1 จัดโครงสร้างเป็นแบบหน่วยธุรกิจที่ดำเนินครบวงจรเบ็ดเสร็จในตัวคล้ายรูปแบบ บริษัทในเครือ (Subsidiary Type) มีรูปแบบโครงสร้างรองรับการดำเนินงานในบทบาทเชิงพาณิชย์เด่นชัด สำนักงานใหญ่มีหน่วยงานรับผิดชอบดูแลบริษัทร่วมทุนรองรับอย่างถาวร ดังนี้
(1) ปตท.สำนักงานใหญ่มีบทบาทเป็นผู้กำกับดูแลกลยุทธ์หลักขององค์กร (Strategic Leadership) ภายใต้แนวนโยบายที่กำหนดจากคณะกรรมการ ปตท.
(2) ปตท. สำนักงานใหญ่จัดตั้งสายธุรกิจ 4 สาย ดูแลธุรกิจในแต่ละสาย ได้แก่ สายธุรกิจสำรวจ/ผลิตและก๊าซธรรมชาติ สายธุรกิจการกลั่น สายธุรกิจน้ำมัน และสายธุรกิจปิโตรเคมี
(3) หน่วยธุรกิจบริการกลางในปัจจุบันได้ยุบสลายตัวโดยกระจายงานที่สำคัญมีผลต่อ การดำเนินธุรกิจโดยตรงเข้าในแต่ละหน่วยธุรกิจ สำหรับงานบริการที่ใช้ร่วมกันจัดเข้าอยู่ใน ปตท.สำนักงานใหญ่
(4) โครงสร้างธุรกิจน้ำมันปัจจุบันจัดแยกเป็นสองโครงสร้างใหม่ให้มีโครงสร้างรอง รับการขยายตัวของธุรกิจในการก้าวเข้าสู่ตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศแยก ออกจากกันโดยชัดเจนได้แก่ ปตท. อินเตอร์เนชั่นแนล และ ปตท. น้ำมัน
(5) โครงสร้างธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันยังคงเดิมแต่ได้มีการจัดโครงสร้างภายในใหม่ให้รองรับการดำเนินงาน เชิงพาณิชย์อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นและมีชื่อใหม่ว่า ปตท. ก๊าซธรรมชาติ
2.2 แผนการดำเนินงานในการปรับโครงสร้างของ ปตท. มีดังนี้
-
กุมภาพันธ์ 2538 : ขออนุมัติความเห็นชอบผลการศึกษาโครงสร้าง ปตท.ในรูปของบริษัทในเครือแต่ยังไม่มีการแยกเป็นบริษัทตามกฎหมาย
พฤษภาคม 2538 : ขออนุมัติจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาปรับโครงสร้าง ปตท.
มิถุนายน-ตุลาคม 2538 : จัดทำโครงสร้างและพัฒนาองค์ประกอบหลักที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง
ตุลาคม-พฤศจิกายน 2538 : ขออนุมัติคณะกรรมการ ปตท. ปรับโครงสร้างองค์กร
พฤศจิกายน-ธันวาคม 2538 : ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร
ต้นปี 2539 : เริ่มใช้โครงสร้างใหม่ในรูปแบบบริษัทในเครือโดยยังอยู่ภายใต้ องค์กร ปตท. พร้อมพัฒนาระบบการบริหารธุรกิจและระบบข้อมูลรองรับให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายใน ปี 2539
2.3 รูปแบบองค์กร (Institutional Arrangement) ภายในปี 2539 โดยเป็นการศึกษารูปแบบการแปรรูปในรายละเอียดต่อเนื่องจากปี 2538 และเตรียมตัวในการแปรรูป ซึ่งมีขั้นตอนดำเนินการโดยสรุปดังนี้
ปี 2539 : ปตท. ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ปรับโครงสร้างให้มีรูปแบบหน่วยธุรกิจที่ดำเนินงานครบวงจรเบ็ดเสร็จในตัว (Subsidiary Type) และสร้างระบบการบริหารธุรกิจ/ระบบข้อมูลรองรับให้แล้วเสร็จ
ปี 2539 : เตรียมตัวในการจัดตั้งบริษัทให้มีความพร้อม และแนวทางการแปรรูปองค์กร
การแบ่งแยกทรัพย์สินและตีราคาทรัพย์สิน
การศึกษาประเด็นทางกฎหมาย
การศึกษาประเด็นทางการเงิน
ภายในปี 2539 : นำหน่วยธุรกิจ ปตท. น้ำมัน, ปตท. อินเตอร์เนชั่นแนล,และ ปตท.ก๊าซธรรมชาติในรูปแบบบริษัทในเครือจัดตั้งเป็นบริษัท จำกัดภายใต้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยใช้ชื่อ "บริษัท ปตท. น้ำมัน จำกัด" "บริษัท ปตท.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด" และ "บริษัท ปตท. ก๊าซธรรมชาติ จำกัด" ตามลำดับ โดยมี ปตท. สำนักงานใหญ่เป็นเจ้าของพร้อมวางรูปแบบกลไกการบริหารบริษัทในเครือตามผลการ ศึกษาของโครงสร้างรูปแบบบริษัทในเครือ เพื่อให้ได้ผลตามจุดมุ่งหมายในการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ให้บริษัทที่ ปตท. จัดตั้งขึ้นใหม่ดังกล่าว ดำเนินการในรูปแบบบริษัทจำกัด และให้บริษัทที่ ปตท. จัดตั้งขึ้นใหม่ดังกล่าวดำเนินการในรูปแบบบริษัทก๊าซธรรมชาติ หรือบริษัทน้ำมันของเอกชนโดยทั่วไป และไม่นำคำสั่ง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับรัฐวิสาหกิจทั่วไปมาใช้บังคับ โดยให้บริษัทมีระเบียบข้อบังคับใช้ปฏิบัติในเรื่องต่างๆของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับระเบียบวิธีการงบประมาณการบริหารและการ จัดการทางการเงินและบัญชี การพัสดุ การบริหารบุคคลและการสรรหาบุคลากร
-
ปี 2540-2541 : นำบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ดังกล่าว แปรรูปบางส่วนเข้าตลาดหลักทรัพย์ตามความเหมาะสมตามแผนการดำเนินการ ซึ่งจะได้จากผลการศึกษาในการแปรรูปในขั้นรายละเอียดต่อไป ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้ได้มูลค่าสูงสุดแก่รัฐ 2.4 เป้าหมายในการนำเสนอ มีดังนี้
ตุลาคม-พฤศจิกายน 2538 : นำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณานโยบายการปรับปรุงโครงสร้างของการปิโตรเลียมแห่ง ประเทศ ไทยและส่งเสริมการค้าเสรีในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
พฤศจิกายน-ธันวาคม 2538 : นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ตามลำดับ
3. นโยบายและมาตรการในการทบทวนสิทธิพิเศษและสิทธิการผูกขาด รวมถึงภาระผูกพันของ ปตท.เพื่อส่งเสริมการค้าเสรีในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปัจจุบัน ปตท. มีบทบาทในฐานะกลไกของรัฐเพื่อสนองนโยบาย เช่น การเสริมสร้างความมั่นคงในการจัดหา การกระจายการจำหน่ายน้ำมันไปยังท้องที่ห่างไกล รวมทั้งบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น การแยกก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเคมี เป็นต้น ทำให้รัฐต้องกำหนดให้ ปตท. มีสิทธิพิเศษและสิทธิผูกขาดในบางเรื่องและในขณะเดียวกันก็ได้มีการมอบหมาย ภาระหน้าที่ให้ ปตท. รับไปปฏิบัติหลายประการเช่นกัน ดังนั้น ในการปรับโครงสร้างของ ปตท. ไปสู่บทบาทเชิงธุรกิจอย่างแท้จริง จึงจำเป็นจะต้องนำกรณีดังกล่าวมาพิจารณาประกอบด้วย เพื่อให้ ปตท. และผู้ค้าน้ำมันรายอื่นๆ มีการแข่งขันกันอย่างเสรีบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาข้อเสนอของบริษัท McKinsey & Company Inc. และความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และ ปตท. แล้วเห็นว่าควรมีการพิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการในการทบทวนสิทธิพิเศษและ สิทธิผูกขาด รวมทั้งภาระผูกพันของ ปตท. เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงโครงสร้างของ ปตท. ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ ใน 9 กิจกรรมอันประกอบด้วย
3.1 การสำรวจและพัฒนา
3.2 การซื้อก๊าซธรรมชาติจากผู้รับสัมปทาน และการขนส่งก๊าซธรรมชาติ
3.3 การแยกก๊าซธรรมชาติ
3.4 การกลั่นและการค้าน้ำมัน
3.5 การค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว
3.6 การจำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
3.7 การจัดหาและจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวและน้ำมันให้กับหน่วยราชการ
3.8 บทบาทของ ปตท. ในเชิงธุรกิจ
3.9 การจัดรูปแบบองค์กรของ ปตท.
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบแนวทางในการปรับปรุงโครงสร้างของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ตามผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา และตามความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณานโยบายการปรับปรุงโครงสร้างของการ ปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และส่งเสริมการค้าเสรีในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ในข้อ 2
2.เห็นชอบให้นำหน่วยธุรกิจ ปตท. น้ำมัน, ปตท. อินเตอร์เนชั่นแนล, และ ปตท. ก๊าซธรรมชาติ จัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด ภายใต้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมี ปตท. สำนักงานใหญ่เป็นเจ้าของ โดยให้บริษัทที่ ปตท. จัดตั้งขึ้นใหม่ดังกล่าวดำเนินการในรูปแบบบริษัทของเอกชน โดยไม่นำคำสั่ง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับรัฐวิสาหกิจทั่วไปมาใช้บังคับ
3.เห็นชอบนโยบายและมาตรการในการทบทวนสิทธิพิเศษและสิทธิการผูกขาดรวมทั้งภาระผูกพันของ ปตท. ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ ในข้อ 3
สรุปสาระสำคัญ
1. กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ส่งเรื่อง การเพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์ในบริเวณโรงกลั่นปิโตรเลียมของ บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด มายังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2538 เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2533 ที่ได้อนุมัติให้บริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) จำกัด ได้รับสิทธิในการสร้างโรงกลั่นปิโตรเลียม และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการนโยบายปิโตรเลียมกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อดำเนินการ เจรจาและทำสัญญากับบริษัทฯ ต่อไป ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2533 อนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปดำเนินการเจรจา และทำสัญญาสร้างโรงกลั่นกับบริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) จำกัด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและบริษัท คาลเท็กซ์ เทรดดิ้ง แอนด์ ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้รับอนุญาต ได้ร่วมกันลงนามในสัญญาจัดสร้างและประกอบกิจการโรงกลั่นปิโตรเลียม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2534 และต่อมาได้มีการจัดตั้งบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด เพื่อรับโอนสิทธิและหน้าที่จากผู้รับอนุญาตให้เป็นไปตามสัญญาดังกล่าว
2. ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโรงกลั่นปิโตรเลียมของบริษัทฯ นั้น ได้ตรวจพบว่ามีทาง สาธารณประโยชน์อยู่ในที่ดินที่บริษัทฯ จัดซื้อเป็นจำนวนประมาณ 50 ไร่ และแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีผู้ใช้ทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีสภาพเป็นทางสาธารณประโยชน์ เนื่องจากยังมิได้มีการถอนสภาพจากการเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่น ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ทำให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่สามารถออกใบอนุญาตก่อสร้างเพื่อให้เป็น ไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่สามารถที่จะดำเนินการจัดสร้างและประกอบกิจการโรงกลั่นปิโตรเลียมได้ ตามสัญญา
3. กระทรวงอุตสาหกรรมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นกรณีทำนองเดียวกับปัญหาพื้นที่สาธารณประโยชน์ในเขตของโรง ไฟฟ้าระยอง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537 มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขอถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในเขต ของโรงไฟฟ้าระยอง โดยการถอนสภาพดังกล่าว ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กรมที่ดินขายที่ดินที่ได้ออกพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพฯ แล้วนั้น ให้แก่ กฟผ. ทั้งนี้การถอนสภาพดังกล่าวไม่ต้องนำเสนอคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ เนื่องจากเป็นการขายให้รัฐวิสาหกิจ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเห็นควรให้มีการถอนสภาพด้วยวิธีการเดียวกับที่ได้ ดำเนินการแก้ไขปัญหาพื้นที่สาธารณประโยชน์ในเขตของโรงไฟฟ้าระยอง ซึ่งการถอนสภาพดังกล่าวให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา โดยให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นผู้ขอถอน และให้กรมที่ดินขายที่ดินที่ได้ออกพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพแล้วนั้น ให้แก่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยดำเนินการให้บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด เช่าที่ดินดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ การถอนสภาพดังกล่าวไม่ต้องนำเสนอคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ เนื่องจากเป็นการขายให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งขอให้หน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือและอำนวยความ สะดวกในการดำเนินการดังกล่าวด้วย
มติของที่ประชุม
อนุมัติให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันในเขต ของโรงกลั่นปิโตรเลียมของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด ตามมาตรา 8 วรรคสอง (1) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยการถอนสภาพดังกล่าวให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพ และให้กรมที่ดินขายที่ดินที่ได้ออกพระราชกฤษฎีการถอนสภาพแล้วนั้นให้แก่การ นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ การถอนสภาพดังกล่าวไม่ต้องนำเสนอคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ เนื่องจากเป็นการขายให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยดำเนินการให้บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด เช่าที่ดินดังกล่าวต่อไป และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบดังนี้
1. พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 มีเจตนารมณ์ที่จะให้มีการลงทุนในการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานและอาคาร โดยใช้มาตรการบังคับควบคู่ไปกับการให้การสนับสนุนด้านการเงิน ซึ่งในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น จำเป็นต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอาคารควบคุมและโรงงานควบคุม และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศ พระราชกฤษฎีกากำหนดอาคารควบคุมและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องในราชกิจจานุเบกษา แล้ว ทำให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2538 ส่วนพระราชกฤษฎีกากำหนดโรงงานควบคุมและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง คณะอนุกรรมการพิจารณานโยบายอนุรักษ์พลังงานได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างดัง กล่าวแล้ว ซึ่งการร่างพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงดังกล่าว ได้ใช้แนวทางเดียวกับการร่างพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับอาคารควบ คุม
2. ความแตกต่างระหว่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโรงงานควบคุมและพระราชกฤษฎีกากำหนด อาคารควบคุม ก็คือ พระราชกฤษฎีกากำหนดอาคารควบคุมประกาศให้อาคารที่มีความต้องการไฟฟ้าตั้งแต่ 1 เมกะวัตต์ หรือมีการใช้พลังงานสิ้นเปลืองทั้งหมดรวมกันในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 20 ล้านเมกะจูลขึ้นไป เป็นอาคารควบคุมพร้อมกันหมด ซึ่งมีจำนวนประมาณ 950 อาคาร แต่เนื่องจากมีโรงงานที่มีขนาดความต้องการพลังงานเท่ากับอาคารควบคุม จำนวนมากกว่า 3,000 อาคาร ดังนั้น พระราชกฤษฎีกากำหนดโรงงานควบคุม จึงประกาศให้โรงงานที่มีความต้องการไฟฟ้าตั้งแต่ 1 เมกะวัตต์ หรือมีการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ทั้งหมดรวมกันในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 20 ล้านเมกะจูลขึ้นไปทยอยเป็นโรงงานควบคุม ทั้งนี้ เพื่อให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานสามารถให้การสนับสนุนด้านการอนุรักษ์ พลังงานในโรงงานควบคุมได้อย่างมี ประสิทธิภาพ และเพื่อให้โรงงานควบคุมขนาดเล็กมีเวลาเพียงพอในการปฏิบัติตามกฎหมาย
3. จำนวนโรงงานที่คาดว่าจะเป็นโรงงานควบคุมตั้งแต่ปี 2539 ถึง 2542 มีดังนี้
-
ปี 2539 โรงงานควบคุมขนาดความต้องการพลังไฟฟ้า 10-30 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 50 ราย
ปี 2540 โรงงานควบคุมขนาดความต้องการพลังไฟฟ้า 3-10 เมกะวัตต์ และขนาดที่ใหญ่กว่า 30 เมกะวัตต์ ขึ้นไป ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 500 ราย
ปี 2541 โรงงานควบคุมขนาดความต้องการพลังไฟฟ้า 2-3 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 1,000 ราย
ปี 2542 โรงงานควบคุมขนาดความต้องการพลังไฟฟ้า 1-2 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 1,500 ราย
4. สำหรับร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับโรงงานควบคุม แบ่งออกเป็น
4.1 ร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับโรงงานควบคุมที่ออกตามมาตรา 11(2) และมาตรา 11(3) แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) ให้เจ้าของโรงงานควบคุมส่งข้อมูลการผลิต ข้อมูลการใช้พลังงาน และข้อมูลการอนุรักษ์พลังงานตามแบบที่กำหนดให้แก่กรมพัฒนาและส่งเสริม พลังงานในเดือนกรกฎาคม และมกราคมของทุกปี
(2) ให้เจ้าของโรงงานควบคุมจัดให้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการใช้พลังงานและ การติดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีผลต่อการใช้พลังงาน และการอนุรักษ์พลังงาน ตามแบบ ที่กำหนดเป็นรายเดือนประจำทุกๆ เดือน
4.2 ร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับโรงงานควบคุมที่ออกตามมาตรา 11(4) และมาตรา 11(5) แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) ให้เจ้าของโรงงานควบคุมดำเนินการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น และจัดทำรายงานส่งให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทุก 3 ปี โดยครั้งแรกให้จัดส่งภายใน 6 เดือนหลังจากกฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ
(2) ให้เจ้าของโรงงานควบคุมดำเนินการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงาน โดยละเอียดและจัดทำรายงานส่งให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทุก 3 ปี โดยครั้งแรกให้จัดส่งรายงานภายใน 6 เดือน หลังจากจัดส่งรายงานตาม ข้อ 4.2(1)
(3) ให้เจ้าของโรงงานควบคุมจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงานเพื่อส่งให้ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานให้ความเห็นชอบทุก 3 ปี โดยครั้งแรกให้จัดส่งภายใน 6 เดือน หลังจาก ส่งรายงานตาม ข้อ 4.2(2)
(4) ให้เจ้าของโรงงานควบคุมทำการตรวจสอบและวิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและ แผนฯ ที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเห็นชอบและจัดทำรายงานส่งให้กรมพัฒนาและส่ง เสริมพลังงานทุก 1 ปี โดยครั้งแรกให้จัดส่งรายงานภายใน 6 เดือนหลังจากเป้าหมายและแผนฯ ในข้อ 4.2(3) ได้รับความเห็นชอบ
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโรงงานควบคุม ซึ่งออกตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 รายละเอียดตามเอกสารแนบ 3 ของเอกสารประกอบวาระ 4.3.1
2.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับโรงงานควบคุม ซึ่งออกตามมาตรา 11(2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 รายละเอียดตามเอกสารแนบ 4 ของเอกสารประกอบวาระ 4.3.1
3.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับโรงงานควบคุม ซึ่งออกตามมาตรา 11(4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 รายละเอียดตามเอกสารแนบ 5 ของเอกสารประกอบวาระ 4.3.1
4.ให้นำส่งร่างพระราชกฤษฎีกา ตามข้อ 1 และร่างกฎกระทรวง ตามข้อ 2-3 ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างต่อไป
เรื่องที่ 7 ขออนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยขายโรงไฟฟ้าขนอม
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 เห็นชอบในหลักการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขายโรงไฟฟ้าขนอมให้แก่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (บผฟ.) หรือบริษัทในเครือของ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด ซึ่งต่อมารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายกร ทัพพะรังสี) ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 91/2538 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2538 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาจำหน่ายโรงไฟฟ้าขนอมเพื่อประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ของโรงไฟฟ้าขนอม ซึ่งคณะกรรมการฯ ดังกล่าวได้ดำเนินการประเมินราคาจำหน่ายโดยใช้วิธีการทางบัญชีสุทธิบวกผลตอบ แทนเงินลงทุนที่ใช้เงินรายได้ของ กฟผ. (Original Cost Less Depreciation Plus Interest From Fixed Deposit: OCLD+FD) โดยคำนวณ ผลตอบแทนตั้งแต่เริ่มลงทุนจนถึงวันโอนทรัพย์สิน และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนบนเรือขนอมเครื่องที่ 1 และ 2 (ขนาด 2 x 75 เมกะวัตต์) เป็นโรงไฟฟ้าเก่าใช้งานมาเป็นเวลา 15 ปี และ 6 ปี ตามลำดับ จึงประเมินราคาโดยใช้วิธีประเมินราคาทดแทนตามมูลค่าปัจจุบัน (Replacement Cost Less Depreciation: RCLD) ซึ่งผลจากการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม ณ วันที่ 30 กันยายน 2538 คิดเป็นเงิน รวมทั้งสิ้น 17,483 ล้านบาท
2. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 5/2538 (ครั้งที่ 53) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538 ได้พิจารณาผลการประเมินมูลค่าทรัพย์สินโรงไฟฟ้าขนอมดังกล่าวข้างต้น และได้มีมติมอบหมายให้ กฟผ. รับไปดำเนินการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม โดยใช้หลักสากลคือ กำหนดให้ กฟผ. คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญการประเมินทรัพย์สินที่พิจารณาเห็นว่ามีความเหมาะสม 1 ราย และให้บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) คัดเลือก 1 ราย แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญฯ ทั้ง 2 ราย ร่วมกันพิจารณา คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญการประเมินทรัพย์สินที่น่าเชื่อถืออีก 2 ราย ทำการประเมินราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้า ขนอม เมื่อได้ราคาประเมินจากผู้เชี่ยวชาญฯ ทั้ง 4 รายแล้ว ให้คัดมูลค่าประเมินสูงสุดและต่ำสุดออก และนำส่วนที่เหลือมาเฉลี่ยเป็นค่าประเมิน ซึ่งหากราคาประเมินที่ผู้เชี่ยวชาญฯ ประเมินสูงกว่าราคาประเมินของคณะกรรมการพิจารณาจำหน่ายโรงไฟฟ้าขนอม ก็ให้ใช้ราคาประเมินของผู้เชี่ยวชาญฯ แต่หากราคาประเมินของผู้เชี่ยวชาญฯ ต่ำกว่า ก็ให้ใช้ราคาประเมินตามที่คณะกรรมการพิจารณาจำหน่ายโรงไฟฟ้าขนอมได้ประเมิน ไว้ คือ 17,483 ล้านบาท และให้ กฟผ. นำผลการประเมินเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ภายใน 30 วัน
3. กฟผ. และ บผฟ. ได้ดำเนินการตามมติดังกล่าวข้างต้นแล้ว โดย กฟผ. คัดเลือกบริษัท อเมริกัน แอ็พเพรซัล (ประเทศไทย) จำกัด และ บผฟ. คัดเลือกบริษัท J.P. Morgan Securities Asia Ltd. และผู้เชี่ยวชาญทั้งสองบริษัทดังกล่าว ได้คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญฯ อีก 2 ราย คือ บริษัท บรูค ฮิลลิเออร์ พาร์คเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไซมอน ลิม และหุ้นส่วน จำกัด โดยเมื่อคัดราคาประเมินสูงสุดและต่ำสุดออกแล้ว ราคาประเมินเฉลี่ยของผู้เชี่ยวชาญฯ คือ 16,514 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคาประเมินที่คณะกรรมการพิจารณาจำหน่ายโรงไฟฟ้าขนอมได้ประเมิน ไว้ กฟผ. จึงได้นำเสนอผลการประเมิน พร้อมทั้งได้จัดทำร่างสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนอม และแบบจำลองทางการเงิน (Financial Model) ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายรักเกียรติ สุขธนะ) ได้ ให้ความเห็นชอบเรื่องการขออนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยขายโรง ไฟฟ้าขนอมแล้ว ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานในอนาคตของการไฟฟ้า ได้มีการพิจารณาร่างสัญญาดังกล่าวและมีข้อสรุปดังนี้
3.1 ร่างสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม ได้จัดทำตามแนวทางในการจัดทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าระยอง ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจร่างแล้ว และคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2537 โดยร่างสัญญาดังกล่าวมีสาระสำคัญดังนี้
(1) ทรัพย์สินที่จะซื้อจะขาย คือ สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าขนอมและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง พัสดุสำรองคลัง สัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้า รวมทั้งสัญญา Engineering, Procurement, and Construction (EPC Contract) เฉพาะที่ กฟผ. ยังมีสิทธิและหน้าที่ในสัญญาดังกล่าว ทรัพย์สินทางปัญญา สมุดบัญชี การเรียกร้อง รวมทั้งการฟ้องคดีตามสัญญา ใบอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐที่ กฟผ. มีอยู่ซึ่งจำเป็นในการเป็นเจ้าของ การก่อสร้าง การปฏิบัติการและการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า และหลักประกันตามสัญญา
(2) ราคาซื้อขายโรงไฟฟ้า แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
-
ส่วนที่เป็นเงินสด เป็นราคาของที่ดิน อาคาร อะไหล่ เชื้อเพลิง พัสดุสำรองคลังและโรงไฟฟ้าขนอม เครื่องที่ 1 เครื่องที่ 2 และเครื่องที่ 3 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น17,483 ล้านบาท
ส่วนที่เป็นภาระหน้าที่โดยบริษัทผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด (บฟข.) รับภาระในสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาที่ได้รับโอนจาก กฟผ. (Assumed Liabilities)
(3) ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคำมั่น และคำรับรองของ กฟผ. และ บฟข. ในเรื่องความเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ตลอดจนการมีอำนาจในการซื้อขายโรงไฟฟ้า และเงื่อนไขในการปฎิบัติหน้าที่ของ กฟผ. และ บฟข.
(4) ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาท การยกเลิกสัญญา การชดเชยใช้ค่าเสียหาย และเรื่องเบ็ดเตล็ดต่างๆ
3.2 ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนอม ได้จัดทำขึ้นโดยเป็นการผสมผสานกันระหว่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าระยอง และร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของ Independent Power Producer (IPP) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการแล้ว และคณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานในอนาคตของการไฟฟ้า ได้ขอให้ กฟผ. ส่งร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอมให้สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาตรวจร่างด้วย โดยร่างสัญญาดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) อายุสัญญา: โรงไฟฟ้าขนอมเครื่องที่ 1 มีอายุสัญญา 15 ปี ส่วนโรงไฟฟ้าขนอม เครื่องที่ 2 และ 3 มีอายุสัญญา 20 ปี โดยคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย สามารถตกลงขยายอายุสัญญาได้อีกตามแต่จะตกลงกันตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน สัญญาซื้อขายไฟฟ้า
(2) การผลิตไฟฟ้ามีลักษณะแบบ Full Dispatch (คือ กฟผ. เป็นผู้ออกคำสั่งเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า)
(3) อัตราค่าไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
-
ค่าความพร้อมผลิตไฟฟ้า (Availability Payment)
ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment)
(4) ระบุหน้าที่หลัก รายละเอียดเกี่ยวกับการชำระเงิน การเสียภาษี การประกันภัย ของคู่สัญญา
(5) ระบุหน้าที่และขอบเขตความรับผิดชอบของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย ในการชดใช้ความเสียหาย การปฏิบัติในกรณีการโต้แย้ง และเรื่องเบ็ดเตล็ดต่างๆ
3.3 การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า
การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่ บฟข. จะขายให้กับ กฟผ. ได้กระทำโดยการสร้างแบบจำลองทางการเงิน โดยแบ่งอัตราค่าไฟฟ้าออกเป็น 2 ส่วน คือ
(1) ค่าความพร้อมผลิตไฟฟ้า คิดตามความพร้อมผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเพื่อให้เพียงพอกับต้นทุนคงที่ของโรง ไฟฟ้า และผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น โดยไม่ขึ้นกับปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ กฟผ. สั่งผลิต ต้นทุนคงที่ดังกล่าว ได้แก่ ค่าชำระคืนเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าบำรุงรักษาหลัก ค่าใช้จ่ายคงที่ในการผลิตและบำรุงรักษา และค่าประกันภัย เป็นต้น
(2) ค่าพลังงานไฟฟ้า คิดตามปริมาณพลังงานไฟฟ้าซึ่งได้ผลิตตามคำสั่งของ กฟผ. เพื่อให้เพียงพอกับต้นทุนผันแปร อันได้แก่ ค่าเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายผันแปรในการผลิตและบำรุงรักษา โดยไม่มีการตั้งเกณฑ์กำไรในส่วนของค่าพลังงานไฟฟ้า
ทั้งนี้ เมื่อนำอัตราค่าไฟฟ้าทั้ง 2 ส่วน มาคำนวณหาอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุสัญญาแล้ว ปรากฏว่า อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุสัญญาเท่ากับ 1.245 บาทต่อหน่วยและอัตราค่าไฟฟ้าในปีแรก (พ.ศ. 2539) เท่ากับ 1.273 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม เมื่อ บผฟ. ไปดำเนินการกู้เงิน อัตราดอกเบี้ยที่กู้จริงคาดว่าจะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการจัดทำแบบ จำลองทางการเงิน ซึ่งจะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าจริงต่ำกว่าอัตราที่ได้ประเมินไว้
3.4 ผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่ขายให้แก่ประชาชน
คณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติขอให้กำหนดเป็นเงื่อนไขว่าการซื้อขายโรงไฟฟ้าขนอม และการซื้อขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนอมจะไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนผู้ ใช้ไฟฟ้า
มติของที่ประชุม
1.อนุมัติราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม ตามที่คณะกรรมการพิจารณาจำหน่ายโรงไฟฟ้าขนอมประเมิน คือ 17,483 ล้านบาท (รายละเอียดตามเอกสารแนบ 4.4.1 ของเอกสารประกอบวาระที่ 4.4)
2.อนุมัติให้ กฟผ. ขายและโอนโรงไฟฟ้าขนอมให้บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด (บฟข.) เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 17,483 ล้านบาท ตามร่างสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม (รายละเอียดตามเอกสารแนบ 4.4.5 ของเอกสารประกอบวาระที่ 4.4) โดยให้ กฟผ. ลงนามในร่างสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอมดังกล่าว
3.อนุมัติให้ กฟผ. ซื้อไฟฟ้าจาก บฟข. ได้ตามร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม (รายละเอียดตามเอกสารแนบ 4.4.6 ของเอกสารประกอบวาะที่ 4.4) โดยมีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (Levelized) ตลอดอายุสัญญาเท่ากับ 1.245 บาทต่อหน่วย และอัตราค่าไฟฟ้าปีแรก (พ.ศ. 2539) เท่ากับ 1.273 บาทต่อหน่วย หรืออัตราค่าไฟฟ้าจริงที่ได้จากแบบจำลองทางการเงินที่เปลี่ยนไป เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จริงแตกต่างไปจากที่ใช้ในการทำแบบจำลองทางการ เงินที่ใช้ในปัจจุบัน ทั้งนี้ การซื้อขายโรงไฟฟ้าขนอมและการซื้อขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนอมจะต้องไม่เพิ่ม ภาระให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า และให้ กฟผ. ลงนามในร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอมที่ได้ผ่านการพิจารณา จากสำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ดูแลกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เพื่อให้สามารถนำดอกผลอันเกิดจากเงินกองทุนจำนวน 350 ล้านบาท ที่ได้รับจากบริษัท เอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด ตามสัญญาโรงกลั่นน้ำมันมาใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้าน พลังงานและปิโตรเลียม โดยมีระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุด หนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 เป็นกรอบในการบริหารงานกองทุน ทั้งนี้ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียมทำ หน้าที่พิจารณา จัดระเบียบ วางแนวทางและพิจารณาจัดสรรเงินกองทุน
2. ตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุด หนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 ข้อ 10 และข้อ 13 กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนฯ ดำเนินการดังนี้
2.1 จัดทำแผนการใช้จ่ายเงินเป็นรายปีงบประมาณในช่วงสามปีข้างหน้าเสนอคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพิจารณาคำขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ และให้มีการทบทวนแผนการใช้จ่ายดังกล่าวอย่างน้อยทุกปีหรือตามความจำเป็น
2.2 จัดทำงบแสดงผลการรับจ่ายเงินในระหว่างปีงบประมาณ และงบแสดงฐานะการเงินของกองทุนฯ ณ วันสิ้นปีงบประมาณ ส่งคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อทราบภายในสามสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
3. คณะกรรมการกองทุนฯ ได้จัดทำรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่น ปิโตรเลียม ในรอบปีงบประมาณ 2538 ซึ่งเป็นปีที่สามของการดำเนินงานกองทุนฯ เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อทราบ และเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนการจัดสรรเงินในปีงบประมาณ 2539-2541 ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนฯ แล้ว โดยมีผลการดำเนินงานสรุปได้ ดังนี้
3.1 คณะกรรมการกองทุนฯ ได้พิจารณาอนุมัติวงเงินการใช้จ่ายตามแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2538 ดังนี้
หมวดรายจ่าย | วงเงินตามแผน | วงเงินอนุมัติ | สัดส่วน (%) |
1. การค้นคว้า ศึกษา วิจัย | 10.00 | 6.43 | 64.30 |
2. ทุนการศึกษาและฝึกอบรม | 13.00 | 12.70 | 97.69 |
3. การประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูล | - | - | - |
4. การดูงาน ประชุม และการจัดประชุม สัมมนา | 11.83 | 11.06 | 93.49 |
5. การจัดหาเครื่องมือ และอุปกรณ์ | 2.97 | 2.97 | 100.00 |
6. ค่าใช้จ่ายการบริหารงาน | 0.20 | 0.20 | 100.00 |
รวม | 38.00 | 33.36 | 87.79 |
ผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ในปีงบประมาณ 2538 ปรากฏว่า มีการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายจริงจากเงินกองทุนฯ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 27.98 ล้านบาท ซึ่งบางส่วนเป็นค่าใช้จ่ายผูกพันจาก ปีงบประมาณ 2537 และมีบางส่วนที่คณะกรรมการอนุมัติวงเงินแล้ว แต่อยู่ระหว่างการเบิกจ่ายและมีการผูกพันไว้เบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2539
3.2 ฐานะการเงินของกองทุนฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2538 มีสินทรัพย์รวม 411.8 ล้านบาท แบ่งออกเป็นเงินฝากออมทรัพย์ 6.6 ล้านบาท เงินฝากประจำ 404.4 ล้านบาท และลูกหนี้เงินยืม 0.8 ล้านบาท ในส่วนของหนี้สินและทุน ประกอบด้วย หนี้สิน 0.2 ล้านบาท ทุน 350 ล้านบาท และรายรับมากกว่ารายจ่ายทั้งสิ้น 61.6 ล้านบาท
3.3 ตามข้อกำหนดในระเบียบว่าด้วยการบริหารกองทุนฯ กำหนดให้มีการทบทวนแผนการใช้จ่ายเงินดอกผลของกองทุนฯ อย่างน้อยทุกปีหรือตามความจำเป็น ดังนั้น จึงเห็นสมควรให้มีการปรับแผนการใช้จ่ายเงิน สำหรับปีงบประมาณ 2539-2541 โดยให้นำดอกผลคงเหลือจากปีงบประมาณ 2538 สมทบกับดอกผลที่คาดว่าจะได้รับจากเงินกองทุนประมาณปีละ 35 ล้านบาท นำมาจัดสรรสำหรับการใช้จ่ายเงินในปีงบประมาณ 2539-2541 เป็นวงเงินประมาณปีละ 55 ล้านบาท ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
ปีงบประมาณ | 2539 | 2540 | 2541 | รวม |
หมวดรายจ่าย | ||||
1. การค้นคว้า วิจัย ศึกษา | 15.00 | 15.00 | 15.00 | 45.00 |
2. ทุนการศึกษาและฝึกอบรม | 10.00 | 10.00 | 10.00 | 30.00 |
3. การประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูล | 15.00 | 15.00 | 15.00 | 45.00 |
4. การดูงาน ประชุม และการจัดประชุมสัมมนา | 10.00 | 10.00 | 10.00 | 30.00 |
5. การจัดหาเครื่องมือ และอุปกรณ์ | 5.00 | 5.00 | 5.00 | 15.00 |
6. ค่าใช้จ่ายการบริหารงาน | 0.30 | 0.30 | 0.40 | 1.00 |
รวม | 55.30 | 55.30 | 55.40 | 166.00 |
4. เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตลอดระยะเวลา 3 ปี คือ ปีงบประมาณ 2539-2541 จึงเห็นควรให้คณะกรรมการกองทุนฯ จัดสรรเงินกองทุนสำหรับแผนงานและโครงการในปีงบประมาณ 2539-2541 ตามแผนการใช้จ่ายเงินข้างต้น วงเงินรวม 166 ล้านบาท โดยให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจที่จะปรับปรุงการจัดสรรเงินตามแผนงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมภายในวงเงินรวมดังกล่าว ทั้งนี้ โดยสอดคล้องกับการขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนฯ และการจัดลำดับความสำคัญ ตลอดจนรายได้ของกองทุนฯ ด้วย
5. ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับรายงานผลการดำเนินงานและแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ เสนอ ดังนี้
5.1 ปีงบประมาณ 2538 มีการเบิกจ่ายเงินเพียงร้อยละ 47.36 และไม่ปรากฏว่า มีการเบิกจ่ายเงินในรายการเครื่องมือและอุปกรณ์ จำนวน 1.530 ล้านบาท
5.2 เงินกองทุนเพื่อการศึกษาที่ไม่มีการเบิกจ่ายควรยกเลิก
5.3 การเดินทางไปดูงานหรือสัมมนาในต่างประเทศควรอนุมัติเฉพาะเรื่องสำคัญ และรายงานผลต่อคณะกรรมการกองทุนฯ ด้วย
5.4 กรณีการพิจารณาแผนการใช้จ่ายเงินปีงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2540 ให้มีแผนการใช้จ่ายเงินพร้อมรายละเอียดชัดเจนเป็นรายปี และควรมีแผนแม่บทในเรื่องต่างๆ เช่น การวิจัย การประชุม การให้ทุนการศึกษาในสาขาวิชาที่จำเป็นและขาดแคลน
5.5 การติดตามประเมินผลต้องดำเนินการต่อเนื่องทุกระยะ
5.6 การกำหนดรายชื่อหน่วยงานที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพลังงานและการ ปิโตรเลียม ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 12 หน่วยงาน ควรขออนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้กว้างขวางมากขึ้น
6. สพช. ได้พิจารณาตามข้อสังเกตของประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติแล้ว และมีข้อชี้แจงตามข้อสังเกต ดังนี้คือ
6.1 ในปีงบประมาณ 2538 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 อนุมัติแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนในปี 2538 จำนวน 38 ล้านบาท และคณะกรรมการ กองทุนฯ ได้มีมติอนุมัติงบประมาณทั้งสิ้น 33.36 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87.79 ของวงเงินตามแผน โดยเป็นค่าใช้จ่ายที่มีการเบิกจ่ายในช่วงปีงบประมาณ 2538 จำนวน 27.98 ล้านบาท นอกจากนั้นเป็นรายการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเบิกจ่ายซึ่งมีการผูกพันงบ ประมาณไว้แล้ว เช่น รายการเครื่องมือและอุปกรณ์
6.2 เงินกองทุนเพื่อการศึกษาที่ไม่มีการเบิกจ่าย เนื่องจากคณะกรรมการกองทุนฯ ได้จัดสรรทุนสำหรับข้าราชการเพื่อการศึกษาให้หน่วยราชการต่าง ๆ ควบ 2 ปี คือ สำหรับปีงบประมาณ 2538-2539 และเมื่อหน่วยงานต่าง ๆ ได้รับจัดสรรทุนจากคณะกรรมการกองทุนฯ แล้ว จะต้องใช้เวลาในการสรรหาผู้รับทุนที่มีคุณสมบัติครบตามระเบียบคณะกรรมการกอง ทุนฯว่าด้วยการให้ทุนข้าราชการเพื่อการศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควร อย่างไรก็ตาม เห็นควรนำข้อสังเกตของประธานฯ ไปดำเนินการในปีต่อๆ ไป
6.3 การเดินทางไปดูงานหรือสัมมนาในต่างประเทศ ผู้เดินทางไปดูงานหรือสัมมนาจะต้องมีการรายงานผลต่อคณะกรรมการกองทุนฯ ทุกครั้ง และสมควรที่จะพิจารณาอนุมัติเฉพาะเรื่องสำคัญตามข้อสังเกตข้างต้น
6.4 สพช. จะรับข้อสังเกตของประธานฯ ตามข้อ 5.4 และ 5.5 ไปดำเนินการต่อไป
6.5 วัตถุประสงค์ของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ก็เพื่อให้การสนับสนุนและช่วยเหลือการใช้จ่ายในกิจการและหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องกับการพลังงานและปิโตรเลียมของประเทศ หน่วยงานทั้ง 12 หน่วยงาน เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับพลังงานและปิโตรเลียมค่อนข้างมาก เป็นงานประจำ และเป็นหน่วยราชการที่ไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง นอกจากนั้นหน่วยราชการอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพลังงานและปิโตรเลียมก็สามารถยื่นขอความช่วยเหลือ จากกองทุนฯ ได้ตามข้อ 5 ของระเบียบคณะกรรมการกองทุนฯ
มติของที่ประชุม
1.รับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียมปีงบประมาณ 2538
2.ให้ความเห็นชอบแผนการใช้จ่ายเงินดอกผลของกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ 2539-2541 และมาตรการการบริหารเงินกองทุนฯ ตามที่คณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียมเสนอ และเห็นควรมอบหมายให้คณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่น ปิโตรเลียม นำข้อสังเกตของประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและการพิจารณาของที่ ประชุมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
เรื่องที่ 9 การทบทวนการจัดเก็บเงินผลประโยชน์พิเศษในการจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมัน
ประธานฯ ได้แจ้งต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการเข้าร่วมประชุมเอเปคและการประชุมสุดยอดอา เซียนที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงนโยบายการส่งเสริมการค้าเสรีในภูมิภาคเอเปคและ อาเซียนและสนับสนุนที่จะให้มีการเปิดการค้าเสรีโดยเร็ว ดังนั้น แนวนโยบายของรัฐบาลในขณะนี้จึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับ นโยบายการค้าเสรีดังกล่าวต่อไป ซึ่งในอนาคตการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และการสื่อสารแห่งประเทศไทย ก็จะต้องเข้าสู่ระบบการค้าเสรีต่อไปด้วย แต่นโยบายการจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันเสรีของไทย ยังมีการจัดเก็บเงินผลประโยชน์พิเศษกับกิจการที่จะมาลงทุนสร้างโรงกลั่นอยู่ ในขณะนี้ จึงขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาทบทวนในเรื่องนี้อีกครั้งว่าจะสามารถผ่อนปรนเรื่องเงินผลประโยชน์ได้ อย่างไรบ้าง
มติของที่ประชุม
มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ รับไปหารือร่วมกันเพื่อพิจารณาเรื่องการจัดเก็บเงินผลประโยชน์พิเศษจากโรง กลั่นน้ำมัน และให้จัดทำข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมครั้งต่อ ไป
กพช. ครั้งที่ 53 - วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน 2538
มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 5/2538 (ครั้งที่ 53)
วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 เวลา 9.30 น.
ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1.รายงานผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
3.การขยายปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อจากผู้ผลิตรายเล็ก (SPP)
5.การประเมินมูลค่าทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม
นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1. รายงานผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้มีการปรับปรุงมาตรการการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้ รัดกุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และให้หน่วยงานต่างๆ รับไปดำเนินการและรายงานผลการดำเนินงาน ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมทุกครั้ง นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีในชุดปัจจุบันได้มีมติเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2538 เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2538 (ครั้งที่ 52) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2538 ให้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม ดังนี้
1.1 ให้กรมตำรวจรับไปดำเนินการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อปฏิบัติการป้องกันและ ปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมายที่ได้ยุบไปขึ้นอีก ครั้งหนึ่ง และให้ดำเนินการกวดขันปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไปและให้รายงานผลการดำเนินงาน ให้ทราบในการประชุมครั้งต่อไป
1.2 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องรับไปดำเนินการพิจารณาที่จะให้หน่วยงานเอกชนทำหน้าที่ตรวจสอบพฤติการณ์ ของคลังน้ำมันต่างๆ โดยให้ ผู้ค้าน้ำมันสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
2. หน่วยงานต่างๆ ได้รายงานผลการดำเนินงาน ซึ่งมีความคืบหน้าพอสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมศุลกากร
(1) ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบปริมาณน้ำมันคงเหลือบนบกของคลังน้ำมันในเดือน กันยายน 2538 รวม 27 แห่ง แต่ไม่พบการกระทำความผิดแต่อย่างใด
(2) ได้ติดตามความคืบหน้าในการตรวจสอบการดัดแปลงเรือประมงที่ถูกจับกุมได้รวม 4 ลำ จากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 4 (สงขลา) ซึ่งได้รับรายงานการดำเนินการเพียง 2 ลำ คือ เรือ น. โชคชัยสมุทร จากการตรวจสอบพบว่า เรือดังกล่าวได้มีการดัดแปลงตัวเรือจริง จึงได้ปรับเป็นเงิน 21,200 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตใช้เรือและใบทะเบียน ส่วนเรือประมงดัดแปลงอีกลำ ไม่ทราบชื่อ แต่จากการตรวจสอบพบว่าเรือลำนี้ใช้ชื่อทางทะเบียนเรือว่า "ชัยเจริญทรัพย์" ซึ่งได้มีการดัดแปลงตัวเรือจริง จึงดำเนินคดีในความผิดที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย และพระราชบัญญัติเรือไทยในอัตราสูงสุดรวม 9 ข้อหา ส่วนใบอนุญาตใช้เรือและใบทะเบียนเรือไทยอยู่ในระหว่างเสนออธิบดีกรมเจ้าท่า ทำการยกเลิก
(3) คณะทำงานเพื่อทำหน้าที่ติดตามพฤติการณ์ของเรือบรรทุกน้ำมันลักลอบหนีศุลกากร ที่ถูกจับกุม ซึ่งได้รับการวางประกันนำเรือออกไปในระหว่างดำเนินคดี ปรากฏว่า ขณะนี้มีเรือประมงดัดแปลงชื่อเรือ "ลักษณ์สมุทร" และเรือ "ศิริมงคล 1" ไม่จอดเก็บรักษาตามสถานที่ที่กำหนดไว้ในสัญญาประกันที่ทำไว้ต่อกรมศุลกากร
2.2 กรมสรรพสามิต
(1) ได้ดำเนินการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องมือวัดพร้อมอุปกรณ์ควบคุมการรับ-จ่าย น้ำมันในคลังน้ำมันชายฝั่งต่างๆ 42 แห่ง และพบว่ามีคลังน้ำมัน 4 แห่ง คือ คลังน้ำมันของบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ที่จังหวัดชลบุรี และจังหวัดสุราษฎร์ธานี คลังน้ำมันของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ที่จังหวัดชลบุรี และคลังน้ำมันของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) ที่จังหวัดระยอง ไม่จำเป็นต้องติดตั้งมาตรวัดและอุปกรณ์ควบคุมการรับ-จ่ายน้ำมัน เนื่องจากคลังของบริษั> เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ที่ชลบุรี นั้น ทางบริษัทฯ จะเลิกสัญญาเช่าจาก ปตท. และคลังที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทางบริษัทฯจะย้ายไปทำการในคลังใหม่ที่กำลังก่อสร้าง ส่วนคลังของ ปตท. ที่จังหวัดชลบุรี และคลังของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) ที่จังหวัดระยอง เป็นคลังที่ถือเป็นโรงอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่สรรพสามิตอยู่ประจำเพื่อควบคุมการจัดเก็บภาษีของ ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดอยู่แล้ว จึงเหลือคลังน้ำมันชายฝั่งเพียง 38 แห่ง ที่กรมสรรพสามิตจะต้องดำเนินการติดตั้งมาตรวัดและอุปกรณ์ควบคุมการรับ-จ่าย น้ำมัน ซึ่งขณะนี้ทางกรมฯ ได้ลงนามทำสัญญากับบริษัทผู้ดำเนินการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2538 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้ดำเนินการติดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันลงนามในสัญญาเป็นต้นไป และจะเริ่มดำเนินการติดตั้งที่คลังน้ำมันของบริษัท คอสโมออยล์ จำกัด ที่จังหวัดระยอง เป็นแห่งแรก
(2) ในระหว่างที่การติดตั้งอุปกรณ์ยังไม่แล้วเสร็จ กรมสรรพสามิตจะยังคงใช้วิธีการควบคุมการขนถ่ายน้ำมันด้วยการให้เจ้าหน้าที่ ผนึกตราที่ท่อทางรับ-จ่ายน้ำมัน และตรวจวัดปริมาณน้ำมันทุกครั้งที่มีการขนถ่ายน้ำมันและรายงานข้อมูลไปยัง ห้อง Operation Room ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
(3) ผลการจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในช่วงที่กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการตาม ข้อ (2) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2537 - กันยายน 2538 เป็นเวลา 10 เดือน สามารถจัดเก็บภาษีได้ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 18.7
3.3 กองทัพเรือ
(1) ผลการดำเนินการตรวจลาดตระเวนในช่วงวันที่ 14 กันยายน -27 ตุลาคม 2538 กองทัพเรือไม่มีการจับกุมเรือที่มีการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้เลย แต่ได้ตรวจพบเรือที่มีพฤติการณ์ว่าลักลอบนำเข้า รวม 3 ครั้ง และได้ทำการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ดังนี้
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2538 เวลา 16.45 น. เรือหลวงกระบุรีได้ตรวจพบเรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติไทยชื่อ LUCKY ซึ่งมีพฤติกรรมลักลอบค้าน้ำมันอยู่นอกทะเลอาณาเขต บริเวณตำบลที่แลตติจูด 11 องศา 12 ลิบดาเหนือ ลองติจูด 102 องศา 01 ลิบดาตะวันออก พบน้ำมันดีเซล จำนวน 200,000 ลิตร โดยเรือดังกล่าวได้บรรทุกน้ำมันมาจากประเทศสิงคโปร์และจำหน่ายให้เรือประมง ไทยมาตั้งแต่บริเวณเกาะวัย
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2538 เวลา 11.04 น. อากาศยาน F-27 ได้ตรวจลาด ตระเวนพบเรือบรรทุกน้ำมันขนาดกลางชื่อ ISENAGI-MARU มีเรือประมงจำนวน 1 ลำ อยู่ที่ท้ายเรือ ซึ่งมีพฤติกรรมลักลอบค้าน้ำมันในทะเลบริเวณตำบลที่แลตติจูด 11 องศา 25 ลิบดา 0.2 พิลิบดาเหนือ ลองติจูด 100 องศา 20 ลิบดา 0.5 พิลิบดาตะวันออก
ในวันที่ 24 ตุลาคม 2538 เช่นกัน อากาศยาน F-27 ลำดังกล่าว ได้ลาดตระเวนพบเรือ TOYOTA-MARU มีเรือประมงจำนวน 1 ลำ อยู่ที่ท้ายเรือซึ่งมีพฤติกรรมลักลอบค้าน้ำมันในทะเลบริเวณตำบลที่แลตติจูด 11 องศา 50 ลิบดาเหนือ ลองติจูด 100 องศา 21 ลิบดาตะวันออก
(2) กองทัพเรือได้อนุมัติให้ยุบเลิกหน่วยเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามการลักลอบ ค้าน้ำมันในทะเลของกองทัพเรือลงแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไป โดยมอบภารกิจดังกล่าวให้เป็นหน้าที่ของหน่วยปกติ คือ กองเรือภาคที่ 1,2 และ 3 และกองเรือป้องกันฝั่ง
มติของที่ประชุม
ให้หน่วยงานต่างๆ รับไปดำเนินการ และรายงานผลการดำเนินงานในการประชุมครั้งต่อไป ดังนี้
1.ให้กรมตำรวจ กองทัพเรือ และกรมศุลกากร รับไปพิจารณาปรับปรุงค่าใช้จ่ายที่จะใช้ใน การปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในปีงบประมาณ 2539 ให้เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง โดยอาจให้บริษัทผู้ค้าน้ำมันช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่าย และให้สำนักงบประมาณพิจารณาหาทางช่วยเหลือให้หน่วยงานดังกล่าวได้รับเงินงบ ประมาณเพิ่มขึ้น ส่วนงบประมาณปี 2540 นั้น ให้กรมตำรวจ กองทัพเรือและกรมศุลกากรของบประมาณเพิ่มเติมโดยจัดทำเป็นโครงการขึ้น และให้สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสม ในรายละเอียดของโครงการอีกครั้งหนึ่ง
2.ให้กรมโยธาธิการ รับไปดำเนินการตรวจสอบการก่อสร้างคลังน้ำมันที่ไม่ได้รับอนุญาตจากกรมโยธาธิการในท้องที่ต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 เห็นชอบตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้แก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยวิธีการนำเรือบรรทุก น้ำมัน (Tanker) มาลอยลำจำหน่ายน้ำมันในอ่าวไทยบริเวณนอกเขตทะเลอาณาเขต ซึ่งห่างจากฝั่ง เกินกว่า 12 ไมล์ทะเลออกไป โดยให้มีการขยายเขตน่านน้ำจากปัจจุบัน 12 ไมล์ทะเล เป็น 24 ไมล์ทะเล และให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราช บัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรมีอำนาจปฏิบัติการใน "เขตต่อเนื่อง" ระหว่าง 12-24 ไมล์ทะเลได้
2. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรใน เขตต่อเนื่องขึ้น เพื่อดำเนินการตามมติ ครม. ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วและ จัดทำข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2538 (ครั้งที่ 50) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2538 ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการกำหนดเขตต่อเนื่อง และการขยายอำนาจศุลกากรให้สามารถปฏิบัติงานในเขตต่อเนื่องได้นั้น ถึงแม้จะช่วยแก้ไขปัญหาการลักลอบ นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ แต่น่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงภายในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประมงรายย่อย ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายประพาส ลิมปพันธ์) รับไปหารือร่วมกับกรมประมง เพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนแก่กลุ่มประมงรายย่อยและนำเสนอคณะ กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาพร้อมกับมาตรการกำหนดเขตต่อเนื่องต่อไป
3. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2538 (ครั้งที่ 51) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรใน เขตต่อเนื่องอีกครั้ง ร่วมกับข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ที่เห็นชอบให้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันของชาวประมงขนาดเล็ก โดยให้สามารถซื้อน้ำมันได้ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดลิตรละ 1.20 บาท และมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ. .... และร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรในเขตต่อเนื่อง เสนอ โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาตรวจร่างต่อไป
4. ครม. ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ รวมทั้งร่างประกาศเขตต่อเนื่องและร่างกฎหมายอีก 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจร่างแล้ว และในขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำข้อเสนอของคณะกรรมการกฎหมายทะเลในเรื่องเดียวกันเสนอให้ ครม. พิจารณาประกอบด้วย โดยคณะกรรมการกฎหมายทะเลได้เสนอให้ประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย และออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตต่อ เนื่องเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด พ.ศ. .... ซึ่ง ครม. ได้มีมติ ดังนี้
4.1 เห็นชอบร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณาแล้ว และให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประกาศต่อไป
4.2 สำหรับร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติ การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำกลับไปพิจารณาประกอบกับร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการปฏิบัติการฯ ที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอมาและนำเสนอ ครม. ต่อไป
5. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานพระบรม ราชานุญาตให้ประกาศเขตต่อเนื่องแล้ว โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 112 ตอนที่ 69 ง ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2538 แล้ว นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือ ในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... พร้อมกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงาน เจ้าหน้าที่ในเขตต่อเนื่องเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด พ. .... ของกระทรวงการต่างประเทศเสร็จเรียบร้อยแล้วมีข้อเสนอ ดังนี้
5.1 ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด พ.ศ. .... ที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้เป็นกฎหมายที่วางหลักเกณฑ์กลาง เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของประเทศในเขตต่อเนื่องในส่วนที่เกี่ยวกับการคลัง การศุลกากร การเข้าเมือง และการสาธารณสุข ส่วนกรณีที่กฎหมายใดมีรายละเอียดเป็นเช่นใดแล้วก็จะบังคับตามกฎหมายเฉพาะ ดังนั้น หลักการของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงไม่ขัดแย้งกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... อันเป็นกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการศุลกากรและการเดินเรือในเขต ต่อเนื่อง ซึ่งผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วแต่อย่างใด
5.2 แต่โดยที่ร่างพระราชบัญญัติที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอมีปัญหาข้อกฎหมาย ค่อนข้างมาก ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกนานจึงจะหาข้อยุติได้ จึงเห็นสมควรเสนอร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วมาเพื่อพิจารณาก่อน สำหรับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตต่อ เนื่อง เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด พ.ศ. .... นั้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาเป็นประการใดแล้วจะได้เสนอมา อีกครั้งหนึ่ง
มติของที่ประชุม
เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาตรวจร่างเรียบร้อยแล้ว
เรื่องที่ 3 การขยายปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อจากผู้ผลิตรายเล็ก (SPP)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2535 เห็นชอบร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก ผู้ผลิตรายเล็ก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สามารถรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กซึ่งผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนอกรูปแบบ กากหรือเศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิง และการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบ Cogeneration อันเป็นการใช้พลังงานนอกรูปแบบและต้นพลังงานพลอยได้ในประเทศให้เกิดประโยชน์ มากยิ่งขึ้น และยังเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของรัฐในระบบการผลิตและระบบ จำหน่ายไฟฟ้าด้วย
2. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วน ภูมิภาค (กฟภ.) ได้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก โดยมีการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าไว้หลายประการ เช่น กำหนดปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อจากผู้ผลิตรายเล็กให้ไม่เกิน 60 เมกะวัตต์ ณ จุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า และกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดราคาที่เรียกว่า ค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงได้ (Avoided Cost) หรือหลักเกณฑ์สำหรับค่าใช้จ่ายที่ กฟผ. สามารถลดได้หรือหลีกเลี่ยงได้จากการไม่ต้องผลิตไฟฟ้าในส่วนที่ผู้ผลิตราย เล็กผลิตไฟฟ้าให้กับ กฟผ. นอกจากนี้ราคารับซื้อไฟฟ้าที่กำหนดยังมีหลายระดับ โดยผู้ผลิตรายเล็กที่สามารถผลิตไฟฟ้าให้กับ กฟผ. เป็นระยะเวลาที่ยาวนานและมั่นคงก็จะได้ราคารับซื้อไฟฟ้าที่สูงกว่าผู้ผลิต รายเล็กที่ผลิตไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ในระยะเวลาที่สั้นกว่า
3. ความก้าวหน้าการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก มีดังนี้
3.1 ปัจจุบันมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก รวมทั้งสิ้น 17 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายรวม 285.5 เมกะวัตต์ ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่เกิน 5 ปี เป็นลักษณะ Non-Firm Contract จำนวน 15 ราย ซึ่งได้แก่ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น โรงงานน้ำตาลใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิง โรงสีข้าวใช้แกลบและเศษไม้เป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น และมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภท Firm จำนวน 2 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายรวม 150 เมกะวัตต์
3.2 ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบจากผู้ผลิตรายเล็กมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ กฟผ. รับซื้อจากผู้ผลิตรายเล็กเฉลี่ยต่อเดือนเท่ากับ 1.1 ล้านหน่วย ในปี 2537 เพิ่มขึ้นเป็น 12.3 ล้านหน่วย/เดือน ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2538
3.3 การส่งเสริมผู้ผลิตรายเล็กเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศโดยรวม เนื่องจาก ผู้ผลิตรายเล็กสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองและ/หรือขายให้ผู้ใช้ไฟรายอื่นใน บริเวณใกล้เคียงแล้ว ยังสามารถขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก ได้ด้วย ซึ่งหากพิจารณาจากกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมที่ผู้ผลิตรายเล็กลงนามในสัญญากับ กฟผ. แล้ว แสดงให้เห็นว่าระบบจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 783.5 เมกะวัตต์ ทำให้ กฟผ. สามารถลดการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้เป็นจำนวนเงินประมาณ 23,500 ล้านบาท
4. ปัญหาในการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กมีดังนี้
4.1 ผู้ผลิตรายเล็กยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าเกินกว่าปริมาณที่ประกาศรับซื้อ โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตรายเล็กยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าต่อ กฟผ. เป็นจำนวนถึง 1,444 เมกะวัตต์ สูงกว่าปริมาณที่ กฟผ. ประกาศรับซื้อ ซึ่งมีจำนวน 300 เมกะวัตต์ ดังนั้น หากมีการพิจารณาขยายปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กเพิ่มขึ้น จะทำให้เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศได้อีกมาก
4.2 สูตรปรับอัตราค่าไฟฟ้าในสัญญาประเภท Firm มีความไม่แน่นอน สูตร ปรับอัตราค่าไฟฟ้าที่รับซื้อจากผู้ผลิตรายเล็ก ในสัญญาประเภท Firm กำหนดให้ "อัตราค่าพลังงานไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงตาม ค่าพลังงานไฟฟ้าของราคาที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายขายให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท กิจการขนาดกลาง/ใหญ่ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ" โดยสูตรปรับอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของราคาเชื้อ เพลิง และสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ของ กฟผ. ซึ่งมีการจัดการที่แตกต่างไปจากการใช้เชื้อเพลิงของผู้ผลิตรายเล็ก จึงเป็นผลให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ลงทุน และเป็นปัญหาในการจัดหาเงินกู้ของโครงการ
4.3 การเชื่อมโยงระบบของผู้ผลิตรายเล็กเข้ากับระบบของ กฟภ. การ เชื่อมโยงระบบไฟฟ้าของผู้ผลิตรายเล็กเข้ากับระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในระดับแรงดัน 69 หรือ 115 kV กฟภ. ได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรายเล็กจัดหาที่ดินเป็นจำนวนประมาณ 5 ไร่ ให้ กฟภ. เพื่อใช้ในการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยของ กฟภ. การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวก่อให้เกิดภาระอย่างมากต่อผู้ผลิตรายเล็ก จนอาจไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ แต่ปัญหาดังกล่าว ได้รับการแก้ไขแล้วในระดับหนึ่ง โดย กฟภ. ประกาศให้ผู้ผลิตรายเล็กไม่ต้องจัดหาที่ดินให้ กฟภ. เพื่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย แต่ขอให้จัดทำระบบเชื่อมโยงเพื่อรับไฟในลักษณะ ring main (Terminal Station) ซึ่งจะใช้เนื้อที่เล็กลงมาก พร้อมกับให้มีข้อกำหนดทางเทคนิคของอุปกรณ์ที่จะใช้ด้วย
5. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก และพิจารณาแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ เพื่อให้นโยบายดังกล่าวเกิดผลในการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และลดภาระด้านการลงทุนของรัฐอย่างจริงจัง โดยมีข้อเสนอเพื่อการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก ดังนี้
5.1 การขยายปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อจากผู้ผลิตรายเล็ก เนื่องจาก ผู้ผลิตรายเล็กมีความประสงค์จะผลิตและเสนอขายไฟฟ้าต่อ กฟผ. สูงกว่าปริมาณที่ประกาศรับซื้อไว้มาก ขณะที่ความต้องการพลังงาน ไฟฟ้าของประเทศได้เพิ่มขึ้นสูงมากเช่นกัน การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการจัดหาไฟฟ้าเพื่อ สนองตอบต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น และเป็นการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพด้วย อย่างไรก็ตาม หากปริมาณการรับซื้อจากผู้ผลิตรายเล็กมีสัดส่วนที่สูงเกินไป จะทำให้มีผลต่อการควบคุมระบบผลิตไฟฟ้าและกำลังการผลิตสำรองอันจะส่งผลกระทบ ต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าโดยรวม ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กที่เหมาะสมควรอยู่ในระดับร้อยละ 5 ของความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการกำหนดหลักการในการขยายปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อ ดังนี้
(1) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการพลังไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันสมควรที่จะ ประกาศขยายปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อจากผู้ผลิตรายเล็กจาก 300 เมกะวัตต์ เป็น 800 เมกะวัตต์ โดยให้ กฟผ. และ สพช. ร่วมกันจัดทำประกาศการขยายปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อต่อไป
(2) การขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าในปริมาณที่เกินกว่า 800 เมกะวัตต์ ในอนาคตนั้น สมควรมอบหมายให้ สพช. และ กฟผ. พิจารณาดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า และเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้า เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการไฟฟ้าของประเทศที่อาจจะเปลี่ยนแปลง ไป โดยให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อพิจารณาต่อไป
5.2 การปรับปรุงสูตรปรับค่าไฟฟ้าที่รับซื้อจากผู้ผลิตรายเล็กในสัญญาประเภท Firm สำหรับผู้ผลิต รายเล็กตามสัญญาประเภท Firm และอยู่ในขอบเขตการขยายปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อ 800 เมกะวัตต์ เพื่อให้ราคารับซื้อไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามสถานการณ์ราคาพลังงานที่แท้ จริง และเป็นการลดความเสี่ยงของ ผู้ลงทุน โดยให้ผู้ผลิตรายเล็กสามารถดำเนินการจัดหาเงินกู้ได้ กฟผ. และ สพช. พิจารณาเห็นควรให้ปรับปรุงสูตรปรับอัตราค่าไฟฟ้าที่จะรับซื้อจากผู้ผลิตราย เล็กในสัญญาประเภท Firm ที่ใช้น้ำมันเตาหรือก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงจากเดิมที่กำหนดไว้ให้ "ค่าพลังงานไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงตามค่าพลังงานไฟฟ้าของราคาที่การไฟฟ้าฝ่าย จำหน่ายขายให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง/ใหญ่ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ" เป็นการเปลี่ยนแปลงเมื่อราคาน้ำมันเตาที่ กฟผ. ซื้อ หรือราคาก๊าซที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จำหน่ายให้แก่ผู้ผลิตรายเล็ก เปลี่ยนแปลงจากราคาฐาน (ราคาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2538) ตามสูตร ดังนี้
สูตรปรับค่าพลังงานไฟฟ้า = (Pt-1 - Po) x Heat Rate
- เมื่อ Pt-1 คือราคาเชื้อเพลิงในเดือนก่อนหน้าเดือนคิดเงินค่าไฟฟ้า 1 เดือน
- Po คือราคาเชื้อเพลิงในเดือนสิงหาคม 2538 ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณ
- Heat Rate คือค่าความสิ้นเปลืองในการใช้เชื้อเพลิงเฉลี่ย เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า 1 kWh ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมบางปะกง และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมระยอง
- ราคาน้ำมันเตา ใช้ราคาเฉลี่ยที่ กฟผ. ซื้อในเดือนก่อนหน้าเดือนคิดเงินค่าไฟฟ้า 1 เดือน
- ราคาก๊าซธรรมชาติ ใช้ราคาเฉลี่ยที่ ปตท. จำหน่ายให้แก่ผู้ผลิตรายเล็ก ในเดือนก่อนหน้าคิดเงินค่าไฟฟ้า 1 เดือน
ทั้งนี้ ผู้ผลิตรายเล็กที่ใช้เชื้อเพลิงนอกเหนือจากน้ำมันเตาหรือก๊าซธรรมชาติเป็น เชื้อเพลิง ให้มีการปรับอัตราค่าพลังงานไฟฟ้าตามประกาศอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตราย เล็กฉบับเดิม เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2535
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบในหลักการให้ขยายปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก จาก 300 เมกะวัตต์ เป็น 1,444 เมกะวัตต์ และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) จัดทำประกาศการขยายปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อจากผู้ผลิตรายเล็กและประกาศใช้ต่อ ไป
2.เห็นชอบให้มีการปรับปรุงสูตรปรับอัตราค่าไฟฟ้าที่ กฟผ. รับซื้อจากผู้ผลิตรายเล็กตามข้อ 5.2 และมอบหมายให้ กฟผ. ร่วมกับ สพช. จัดทำประกาศอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กและประกาศใช้ต่อไป ทั้งนี้ จะต้องไม่มีการเพิ่มเติมปัจจัยอื่นๆ เข้าไปในสูตรปรับอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวอีก
3.เห็นชอบให้ สพช. และ กฟผ. พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า และเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก ในปริมาณที่เกิน 1,444 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการพลังไฟฟ้าของประเทศในอนาคตและนำเสนอคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป
เรื่องที่ 4 การแปรูปการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 เห็นชอบตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่องแนวทางการดำเนินงานในอนาคตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดแนวทางในการดำเนินการ Corporatize การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
1.1 แปลง กฟภ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และดำเนิน กิจการในลักษณะเชิงธุรกิจมากขึ้น
1.2 ปรับปรุงโครงสร้าง กฟภ. ออกเป็นหน่วยธุรกิจ รับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าในแต่ละภาค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ความคล่องตัวในการบริหารงาน และคุณภาพบริการลูกค้า
1.3 แปลง กฟภ. เป็นบริษัทจำกัด โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พ.ร.บ. กฟภ.)
1.4 แยกบริษัท กฟภ. จำกัด เป็นบริษัทจำหน่ายไฟฟ้าในแต่ละภาคตามหน่วยธุรกิจที่ได้จัดตั้งขึ้นแล้ว
2. ต่อมา กฟภ. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี โดยได้ว่าจ้างบริษัท Southern Electric International ทำการศึกษาความเหมาะสมโครงการแปรรูป กฟภ. ซึ่งได้ทำการศึกษาเสร็จแล้ว ดังนั้น กฟภ. จึงได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ขอให้นำรายงานดังกล่าวเสนอคณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานในอนาคตของการ ไฟฟ้า และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาตามลำดับ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณารายงานการศึกษาของ กฟภ. แล้ว มีความเห็นว่า กฟภ. มีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงโครงสร้างองค์กร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ
2.1 ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การให้บริการ ให้อยู่ในระดับสากล รวดเร็ว ทันสมัย และมีคุณภาพ
2.2 ส่งเสริมและสร้างโอกาสให้เอกชนอื่นๆ เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการด้านสาธารณูปโภคให้กว้างขวาง
2.3 ส่งเสริมและขยายโอกาสการแข่งขันในเชิงธุรกิจให้เต็มที่
2.4 ลดภาระการลงทุนของรัฐให้มากที่สุด
3. การดำเนินการแปรรูป กฟภ. มีมาตรการสำคัญๆ ดังนี้
3.1 การปรับโครงสร้าง
(1) กระจายอำนาจในการบริหารไปสู่ส่วนภูมิภาคให้มากที่สุด โดยแยกกิจการจำหน่ายไฟฟ้าเป็น 4 ภาค ในลักษณะกิจการในเครือของ กฟภ. (Subsidiary) ตลอดจนการพัฒนากิจการในเครืออื่นๆ เช่น กิจการบริการระบบข้อมูลและประมวลผล (Information System) กิจการวิศวกรรม (Engineering and Supervision) กิจการผลิตภัณฑ์คอนกรีต (Poles Manufacturing) กิจการก่อสร้างและบำรุงรักษา (Construction and Maintenance) และกิจการผลิตไฟฟ้า (Power Services) โดยมีการดำเนินการ ดังนี้
ระยะที่ 1 ให้การไฟฟ้าภาคทั้ง 4 ภาค และกิจการในเครือดำเนินการในลักษณะหน่วยธุรกิจ
ระยะที่ 2 ให้การไฟฟ้าภาคทั้ง 4 ภาค และกิจการในเครือปรับการดำเนินการให้เป็นลักษณะศูนย์กำไร
ระยะที่ 3 ให้การไฟฟ้าภาคทั้ง 4 ภาค และกิจการในเครือมีการดำเนินงานในรูปลักษณะของกิจการบริษัทจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ กฟภ. โดย กฟภ. ยังคงเป็นเจ้าของในรูปแบบของบริษัทผู้ถือหุ้น โดยที่ กฟภ. ยังมีความรับผิดชอบในด้านการให้บริการ เช่น ด้านวิศวกรรม ด้านการกำกับดูแลนโยบายอย่างกว้างๆ การดูแลความมั่นคงด้านการเงิน และด้านการประสานงาน เช่น ด้านพลังงานไฟฟ้ากับ กฟผ. และหน่วยงานอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกเหนือไปจากนี้แล้ว กิจการหรือบริษัทที่แยกออกมา ก็จะสามารถดำเนินกิจการไปอย่างเอกเทศได้ และพร้อมที่จะเป็นบริษัทจำกัดที่แยกออกมาอย่างเต็มตัว
(2) บริษัทในเครือของ กฟภ. ต้องเตรียมตัวในการที่จะขยายขอบเขตธุรกิจไปยังภาคเอกชน และควรจะประเมินสถานภาพในการที่จะเข้าร่วมลงทุนกับภาคเอกชน
(3) บทบาทของสำนักงานกลางของ กฟภ. จะมีลักษณะการทำงานและบทบาทคล้ายกับบริษัทผู้ถือหุ้น โดยเป็นไปในรูปของงานด้านสนับสนุนองค์กร
3.2 การเปลี่ยนแปลงองค์กรและขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง กฟภ. ต้องมีการเปลี่ยนแปลงองค์กร เพื่อให้ กฟภ. สามารถดำเนินกิจการในรูปของบริษัทจำกัดได้ในปี 2541 ดังนั้นโครงสร้างของ กฟภ. ในปัจจุบันจะต้องเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ปัจจุบันและรองรับกับการดำเนินงานในอนาคต โดยขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ กฟภ. แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
(1) การเปลี่ยนแปลงในช่วงปีงบประมาณ 2538 เป็นการเปลี่ยนแปลงการดำเนินการให้เป็นลักษณะหน่วยธุรกิจ โดยการโอน ย้ายงาน และความรับผิดชอบบางส่วนจากสำนักงานกลาง ไปยังการไฟฟ้าภาคทั้ง 4 ภาค ตลอดจนปรับปรุง โอน ย้ายหน่วยงานที่มีลักษณะเกี่ยวข้องและคล้ายคลึงกันให้อยู่ ภายใต้สายงานเดียวกัน โดยให้ความสำคัญของงานด้านวางแผนกลยุทธ์ของสำนักงานใหญ่ และด้านค้นคว้าวิจัยและวางแผนการตลาด
(2) การเปลี่ยนแปลงในช่วงปีงบประมาณ 2539 เป็นการเปลี่ยนแปลงการไฟฟ้าภาคต่างๆ จากลักษณะหน่วยธุรกิจไปเป็นลักษณะศูนย์กำไร โดยรวมงานด้านการบริหารธุรการส่วนกลาง เข้าด้วยกัน และให้รวมไว้ที่สำนักงานกลาง โดยอยู่ภายใต้สายงานการบริการส่วนกลางและจัดตั้งหน่วยประสานงานให้มีหน้าที่ ติดต่อกับหน่วยงานภายนอก กฟภ. หรือต่างประเทศ
(3) การเปลี่ยนแปลงในช่วงปีงบประมาณ 2540 กำหนดให้มีการวางแผนรวม หรือจัดหากลยุทธ์ระยะยาวด้านการตลาด ลูกค้า และธุรกิจของ กฟภ. และปรับเปลี่ยนสำนักงานกลางของ กฟภ. ไปเป็นสำนักบริการส่วนกลาง ซึ่งมีลักษณะการทำงานและบทบาทคล้ายกับบริษัทผู้ถือหุ้น ส่วนศูนย์กำไรจะดำเนินการโดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนไปเป็นบริษัทในเครือ ต่างๆ ได้แก่ บริษัทการไฟฟ้าภาคทั้ง 4 ภาค บริษัทบริการระบบข้อมูลและประมวลผล บริษัทวิศวกรรม บริษัทผลิตภัณฑ์คอนกรีต บริษัทก่อสร้างและบำรุงรักษา และในที่สุดจะกลายเป็นบริษัทอิสระ
(4) การเปลี่ยนแปลงในช่วงปีงบประมาณ 2541 เป็นต้นไป โครงสร้าง กฟภ. จะประกอบด้วย สำนักงานกลางของ กฟภ. บริษัทการไฟฟ้าภาค บริษัทในเครือด้านการตลาดทั้งในและต่างประเทศ และบริษัทในเครือด้านการบริการภายใน
3.3 การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ ขณะนี้ พ.ร.บ. กฟภ. ยังไม่เปิดโอกาสให้ กฟภ.ร่วมลงทุนกับภาคเอกชนได้ จึงจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ. กฟภ. ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของ กฟภ. เพื่อให้สามารถร่วมลงทุนกับภาคเอกชนได้ รวมทั้ง ก่อตั้งบริษัทในเครือ
3.4 กฟภ. จะต้องดำเนินการในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการเงิน ด้านการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ ด้านการรายงานข้อมูลเพื่อการบริหารรวม ด้านการพัฒนาระบบไฟฟ้า ด้านการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า
4. การดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และ ครม. ให้ความเห็นชอบในหลักการแผนการแปรรูป กฟภ. แล้ว กฟภ. จะดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการและรายละเอียดเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ เห็นสมควรให้มีการทำการศึกษาเพิ่มเติมใน 2 เรื่อง คือ
4.1 การปรับปรุงประสิทธิภาพ กฟภ.
4.2 ความเหมาะสมและแนวทางในการแยกระบบส่งไฟฟ้าออกเป็นองค์กรอิสระจากการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบในหลักการแผนการแปรรูปการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และมอบหมายให้ กฟภ. รับไปดำเนินการต่อไป
2.ให้ กฟภ. จัดทำแผนปฏิบัติการและรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างเพื่อการแปรรูป กฟภ. เป็นบริษัทและบริษัทในเครือ รวมทั้ง แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการศึกษาแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพ กฟภ. ทั้งนี้ให้คำนึงถึงข้อสังเกตของที่ประชุมด้วย และให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
3.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมกันทำการศึกษาแนวทางในการแยกระบบส่งไฟฟ้าออกเป็นองค์กรอิสระจากการไฟฟ้า ทั้ง 3 แห่ง
เรื่องที่ 5 การประเมินมูลค่าทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2534 เห็นชอบแผนการระดมทุนของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจัดตั้งบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (บผฟ.) ขึ้น โดยในขั้นแรก กฟผ. ถือหุ้นทั้งหมด เพื่อรับซื้อโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ระยองของ กฟผ. โดยใช้เงินจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของ กฟผ. เหลือไม่เกินร้อยละ 49 และเห็นชอบให้ซื้อโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนอม ซึ่งต่อมา ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานในอนาคตของ กฟผ. ในส่วนของ บผฟ. และเพื่อให้เป็นที่จูงใจแก่ผู้ลงทุน จึงกำหนดให้ บผฟ. สามารถขยายกิจการได้ โดยในสัญญาซื้อขายโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมระยองระหว่าง กฟผ. และ บผฟ. ให้ระบุ กฟผ. ให้สิทธิ (Option) บผฟ. ซื้อโรงไฟฟ้าขนอมด้วย (ทั้งโรงไฟฟ้าเดิมและโรงไฟฟ้าใหม่)
2. ต่อมา ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2537 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่องการแปรรูป กฟผ. บางส่วน โดยการจัดตั้ง บผฟ. ตามขั้นตอนการขออนุมัติ และการขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่ง ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2537 เห็นชอบขั้นสุดท้ายในเรื่องต่อไปนี้
2.1 อนุมัติให้ กฟผ. ขายโอนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมระยองให้ บผฟ. หรือบริษัทในเครือได้ตามร่างสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สิน ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว
2.2 อนุมัติให้ กฟผ. ซื้อกระแสไฟฟ้าจาก บผฟ. หรือบริษัทในเครือที่รับโอนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมระยองได้ตามร่างสัญญา ซื้อขายไฟฟ้าที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ยกเว้นในส่วนของอัตราค่าไฟฟ้า
2.3 ให้ กฟผ. และ บผฟ. เร่งเจรจาต่อรองกับสถาบันการเงินเพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขเงินกู้ที่เป็นประโยชน์สูงสุด และปรับปรุงการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้า ในกรณีที่อัตราค่าไฟฟ้าไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากให้เสนอประธานคณะกรรมการ พิจารณานโยบายพลังงาน (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) พิจารณาอนุมัติค่าไฟฟ้า และเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อทราบต่อไป สำหรับกรณีที่อัตราค่าไฟฟ้าเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ให้เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2537 ประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ได้อนุมัติอัตราค่าไฟฟ้าที่ กฟผ. จะซื้อจาก บผฟ. หรือบริษัทในเครือ
3. กฟผ. และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าระยอง จำกัด (บฟร.) ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายทรัพย์สิน สัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสัญญาการบำรุงรักษาหลัก โดยสัญญาซื้อขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าระยองได้ให้สิทธิ (Option) แก่ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. เจรจาซื้อขายโรงไฟฟ้าขนอมจาก กฟผ. ได้ ซึ่งต่อมา บผฟ. ได้มีหนังสือแจ้งการขอใช้สิทธิซื้อโรงไฟฟ้าขนอมมายัง กฟผ. เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2538 และได้ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด (บฟข.) ขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2538 โดย บผฟ. ถือหุ้นร้อยละ 99.99 เพื่อจะรับซื้อโรงไฟฟ้าขนอมจาก กฟผ. ซึ่ง ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่องการขออนุมัติในหลักการให้ กฟผ. ขายโรงไฟฟ้าขนอมโดยเห็นชอบในหลักการให้ กฟผ. ขายโรงไฟฟ้าขนอมให้แก่ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด ตามขั้นตอนการขออนุมัติและการขอรับการสนับสนุนจาก ครม. ดังมีรายละเอียดดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : การขออนุมัติและการขอรับการสนับสนุนในหลักการจาก .
ในการดำเนินการเบื้องต้นนั้น กฟผ. จำเป็นต้องขออนุมัติและขอรับการสนับสนุนในหลักการจาก ครม. เพื่อให้สามารถดำเนินการต่างๆ ที่จำเป็นได้ครบถ้วน ภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 ดังนี้
(1) ขออนุมัติในหลักการให้ กฟผ. ขายโรงไฟฟ้าขนอม (ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 1 ชุด ขนาด 674 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 2 เครื่องขนาด 2 x 75 เมกะวัตต์ รวมเป็นกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมด 824 เมกะวัตต์) แก่ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. โดยใช้สาระสำคัญตามสัญญาซื้อขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าระยองระหว่าง กฟผ. กับ บฟร. เป็นแนวทางในการจัดทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม
(2) ขออนุมัติในหลักการให้ กฟผ. ซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม ซึ่งดำเนินกิจการโดย บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. โดยใช้สาระสำคัญตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าระยองระหว่าง กฟผ. กับ บฟร. เป็นแนวทางในการจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจาก โรงไฟฟ้าขนอม
(3) ขออนุมัติให้ กฟผ. ทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สิน และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รวมทั้งสัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายและการประกอบการโรงไฟฟ้าขนอมเป็นภาษาอังกฤษ
(4) ขอให้ ครม. กำหนดนโยบายให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาในการส่งเสริมการลงทุนแก่ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. โดยให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีอื่นๆ เป็นระยะเวลาสูงสุดตามที่กฎหมายอนุญาต
(5) ขอให้ ครม. แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายกิจการหรือหุ้นที่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504 โดยขอให้แต่งตั้งผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และผู้แทน กฟผ. ร่วมเป็นกรรมการด้วย แล้วนำผลการประเมินราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอมเสนอต่อ ครม. โดยเสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
(6) ขอการสนับสนุนให้หน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ความอนุเคราะห์ให้ความ ร่วมมือ และอำนวยความสะดวกในการขอรับการอนุมัติและใบอนุญาตต่างๆ ที่จำเป็นในการซื้อขายและการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าขนอม เพื่อให้ทันกำหนดการโอนทรัพย์สิน ภายในวันที่ 30 กันยายน 2538
ขั้นตอนที่ 2 : การขออนุมัติขั้นสุดท้ายจากคณะรัฐมนตรี
ภายหลังจากการดำเนินการตามขั้นตอนที่ 1 และการจัดทำร่างสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอมเสร็จแล้ว ยังมีขั้นตอนการขออนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และ ครม. ขั้นสุดท้ายดังนี้
(1) การขออนุมัติราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอมที่ กฟผ. จะขายและโอนให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. ตามสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม และการขออนุมัติอัตราค่าไฟฟ้าอันกำหนดโดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรง ไฟฟ้าขนอม
(2) การขออนุมัติให้ กฟผ. ขายและโอนโรงไฟฟ้าขนอมให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. ได้ตามร่างสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม และการขออนุมัติให้ กฟผ. ซื้อไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอมได้ตามร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจาก โรงไฟฟ้าขนอม
5. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายกร ทัพพะรังสี) ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 91/2538 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2538 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาจำหน่ายโรงไฟฟ้าขนอม โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอภิลาศ โอสถานนท์) เป็นประธาน และกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สพช. และ กฟผ. เพื่อพิจารณาประเมินมูลค่าทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอมให้เป็นไปตามมติคณะ รัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538
6. คณะกรรมการพิจารณาจำหน่ายโรงไฟฟ้าขนอม ได้รายงานผลการพิจารณาต่อ สพช. เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2538 โดยในการพิจารณาราคาจำหน่ายโรงไฟฟ้าขนอม ได้ใช้วิธีการประเมินราคาจำหน่าย ซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้กันทั่วไป ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนอม (ขนาด 674 เมกะวัตต์) เป็น โรงไฟฟ้าที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จ จึงใช้วิธีการทางบัญชีสุทธิบวกผลตอบแทนเงินลงทุนที่ใช้เงินรายได้ของ กฟผ. (Original Cost Less Depreciation Plus Interest From Fixed Deposit: OCLD+FD) โดยคำนวณผลตอบแทนตั้งแต่เริ่มลงทุนจนถึงวันโอนทรัพย์สิน และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนบนเรือขนอมเครื่องที่ 1 และ 2 (ขนาด 2 x 75 เมกะวัตต์) เป็นโรงไฟฟ้าเก่าใช้งานมาเป็นเวลา 15 ปี และ 6 ปี ตามลำดับ จึงประเมินราคาโดยใช้วิธีประเมินราคาทดแทนตามมูลค่าปัจจุบัน (Replacement Cost Less Depreciation: RCLD) ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณาจำหน่ายโรงไฟฟ้าขนอม ได้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม ณ วันที่ 30 กันยายน 2538 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 17,483 ล้านบาท
โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
6.1 ราคาที่ดิน จำนวน 358 ไร่ 3 งาน 58.5 ตารางวา (ตามการประเมินของกรมที่ดิน) เป็นเงิน 943 ล้านบาท
6.2 ราคาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนบนเรือขนอม เครื่องที่ 1 และ 2 (ตามวิธี RCLD) เป็นเงิน 2,479 ล้านบาท
6.3 ราคาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนอม (ตามวิธี OCLD+FD) เป็นเงิน 14,054 ล้านบาท
6.4 ค่าใช้จ่ายดำเนินการขายโรงไฟฟ้าขนอม เป็นเงิน 7 ล้านบาท
รวมทั้งสิ้น 17,483 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับไปดำเนินการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม โดยใช้หลักสากลคือ กำหนดให้ กฟผ. คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญการประเมินทรัพย์สินที่พิจารณาเห็นว่ามีความเหมาะสม 1 ราย และให้บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) คัดเลือก 1 ราย แล้วให้ ผู้เชี่ยวชาญฯ ทั้ง 2 รายร่วมกันพิจารณาคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญการประเมินทรัพย์สินที่น่าเชื่อถือ อีก 2 ราย ทำการประเมินราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม เมื่อได้ราคาประเมินจากผู้เชี่ยวชาญฯ ทั้ง 4 รายแล้ว ให้คัดมูลค่าประเมินสูงสุดและต่ำสุดออก และนำส่วนที่เหลือมาเฉลี่ยเป็นค่าประเมิน ซึ่งหากราคาประเมินที่ผู้เชี่ยวชาญฯ ประเมินสูงกว่าราคาประเมินของคณะกรรมการพิจารณาจำหน่ายโรงไฟฟ้าขนอม ก็ให้ใช้ราคาประเมินของผู้เชี่ยวชาญฯ แต่หากราคาประเมินของผู้เชี่ยวชาญฯ ต่ำกว่า ก็ให้ใช้ราคาประเมินตามที่คณะกรรมการพิจารณาจำหน่ายโรงไฟฟ้าขนอมได้ประเมิน ไว้ คือ 17,483 ล้านบาท และให้ กฟผ. นำผลการประเมินเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้มีมติดังกล่าว
กพช. ครั้งที่ 52 วันพุธที่ 11 ตุลาคม 2538
มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 4/2538 (ครั้งที่ 52)
วันพุธที่ 11 ตุลาคม 2538
1. ผลการดําเนินการในการแก้ไขกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
2. รายงานผลการดําเนินงานในการส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
3. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
4. รายงานผลการดําเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
5. รายงานผลการดําเนินงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
6. รายงานความก้าวหน้าการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM)
7. รายงานความคืบหน้าการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
8. การลดช่องว่างระหว่างราคาน้ำมันในเขตกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค
9. สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทานตะวัน
10. การรับซื้อไฟฟ้าโครงการห้วยเฮาะ
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(นายบรรหาร ศิลปอาชา)
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
(นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์)
เรื่องที่ 1 ผลการดําเนินการในการแก้ไขกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2537 ได้อนุมัติตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2537 (ครั้งที่ 47) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2537 ในเรื่อง ข้อเสนอการปรับปรุงกฎเกณฑ์และส่งเสริมการตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมอบหมายให้ กรมโยธาธิการดําเนินการปรับปรุงกฎเกณฑ์การจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกันต่อไป และมอบหมายให้กรมทางหลวงรับไปศึกษาและพิจารณาผ่อนคลายกฎเกณฑ์การจัดตั้งสถานีบริการ ในบริเวณทางโค้ง และบริเวณภูเขาหรือเนินเขา เพื่อให้มีการจัดตั้งสถานีบริการในบริเวณดังกล่าวได้
2. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ได้อนุมัติตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 49) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 ในเรื่อง ข้อเสนอเพิ่มเติมในการปรับปรุงกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมอบหมายให้ กรมโยธาธิการ ปรับปรุงกฎเกณฑ์การจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติมให้สอดคล้องกันต่อไป และมอบหมายให้กรมโยธาธิการและกรมควบคุมมลพิษร่วมกันจัดทําเงื่อนไขควบคุมการทิ้งเศษวัสดุและน้ำมัน รวมทั้งการระบายน้ำเสียจากสถานีบริการเพื่อมิให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม
3. กรมโยธาธิการได้ดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ตามข้อ 1 และ 2 แล้ว โดยได้ออก ประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 1 ประเภทที่ 2 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 มีสาระสําคัญดังนี้
3.1 กําหนดให้มีการจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นในบริเวณถนน ซอย ทางลัดหรือ ถนนในหมู่บ้านจัดสรรที่มีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร แต่ไม่ถึง 12.00 เมตรได้ นอกจาก กฎเกณฑ์เดิมที่กําหนดให้จัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงได้เฉพาะในถนนสาธารณะที่มีความกว้าง ไม่น้อยว่า 12.00 เมตร หรือถนนส่วนบุคคลที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 10.00 เมตรเท่านั้น โดยแยกกฎเกณฑ์ควบคุมความปลอดภัยสําหรับสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงออกเป็น 2 กฎเกณฑ์ คือ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งริมถนนสาธารณะที่มีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร หรือถนนส่วนบุคคลที่มีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร ให้ใช้กฎเกณฑ์ตามที่กําหนดไว้ในประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 1 และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งริมถนนที่มีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร แต่ไม่ถึง 12.00 เมตร ให้ใช้กฎเกณฑ์ตามที่กําหนดไว้ในประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ประเภทที่ 2
3.2 ลดหรือยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ไม่จําเป็นเพื่อเพิ่มพื้นที่อนุญาตจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น
3.3 เพิ่มกฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยสําหรับสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 2 ซึ่งจะ จัดตั้งในบริเวณซอย ทางลัด หรือถนนในหมู่บ้านจัดสรรซึ่งเป็นแหล่งชุมชนพักอาศัย โดยให้มีการติดตั้งอุปกรณ์เก็บไอระเหยของน้ำมัน (Vapour Recovery System) รวมทั้งจํากัดปริมาณการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ด้วย
3.4 เพิ่มกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมสําหรับสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 2 ที่จะจัดตั้ง ใหม่ต้องมีการติดตั้งถังใต้ดินแบบสองชั้น (Double Skin Tanks) และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภทที่จะจัดตั้งใหม่ต้องมีบ่อกักไขน้ำมันความจุไม่น้อยกว่า 1,500 ลิตร ต่อพื้นที่ไม่เกิน 1,500 ตารางเมตร ทั้งนี้เพื่อควบคุมการทิ้งเศษวัสดุและน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
4. ผลที่จะได้รับจากการปรับปรุงกฎเกณฑ์ดังกล่าว คือ
4.1 สถานีบริการในเขตกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ การลดพื้นที่ห้ามตั้งสถานีบริการโดย ให้สามารถตั้งได้ในบริเวณถนนขนาดเล็กความกว้าง ไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร แต่ไม่ถึง 12.00 เมตร จะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งสถานีบริการเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางในเขตกรุงเทพมหานคร และ เมืองใหญ่ และถึงแม้จะเพิ่มข้อกําหนดให้สถานีบริการริมถนนเล็กต้องติดตั้ง Double Skin Tanks และมี อุปกรณ์ Vapour Recovery Line เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ต้นทุนของอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สูงนักหากเปรียบเทียบกับราคาที่ดินที่ลดลง ซึ่งจะทําให้มีการจัดตั้งสถานีบริการริมถนนเล็กขึ้นใหม่ทดแทนสถานีบริการริมถนนใหญ่ที่เลิกกิจการไป และทําให้มีจํานวนสถานีบริการเพียงพอแก่ความต้องการ ก่อให้เกิดการแข่งขันด้านบริการและราคา เป็นผลให้ประชาชนในเมืองใหญ่ได้รับความสะดวกและบริการที่ดีขึ้นในราคาที่เหมาะสม
4.2 สถานีบริการในพื้นที่ที่ห่างไกล การลดพื้นที่ห้ามตั้งในเขตชุมชนเล็ก ๆ ในชนบท จะช่วยให้มีผู้สนใจมาลงทุนจัดตั้งสถานีบริการในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทําให้เกิดการแข่งขันด้านบริการและราคา ทําให้ประชาชนในท้องที่ห่างไกลหรือผู้เดินทางไปในพื้นที่ที่ห่างไกล สามารถหาที่เติมน้ำมันได้สะดวกขึ้น และได้รับบริการที่ดีขึ้นในราคาที่ลดลง
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 รายงานผลการดําเนินงานในการส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 ได้อนุมัติตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2538 (ครั้งที่ 51) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 ในเรื่อง การส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว และมีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว โดยให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้า) ร่วมกับ สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาในรายละเอียด และดําเนินการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ต่อไป โดยให้มีผลบังคับใช้ประมาณวันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป และให้กรมโยธาธิการแก้ไขประกาศกรมโยธาธิการเกี่ยวกับการกําหนดขนาดของหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการ โดยให้มีข้อยกเว้นสําหรับหัวจ่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ซึ่งผสมสารเคลือบบ่าวาล์วให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายนอกของท่อทางออกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็น ขนาดใหญ่เท่ากับหัวจ่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วในปัจจุบัน คือ ไม่น้อยกว่า 24.50 มิลลิเมตร หรือ 15/16 นิ้ว
2. สพช. และกรมทะเบียนการค้าได้ดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยได้จัดให้มีการประชุม ในรายละเอียดร่วมกับกรมโยธาธิการ และบริษัทผู้ค้าน้ำมันต่างๆ และได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ดําเนินการออกประกาศต่อไป ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ดําเนินการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2538) เรื่อง กําหนดคุณภาพของน้ำมันเบนซิน ลงวันที่ 8 กันยายน 2538 เพื่อยกเลิกคุณภาพน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วและกําหนดคุณภาพน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วชนิดใหม่ที่มีสารเคลือบบ่าวาล์วอยู่ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป นอกจากนี้ในส่วนของกรมโยธาธิการ ได้เชิญบริษัทผู้ค้าน้ำมันมาร่วมพิจารณายกร่างประกาศ กรมโยธาธิการเกี่ยวกับการกําหนดขนาดหัวจ่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ซึ่งผสมสารเคลือบบ่าวาล์วแล้ว และ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบร่างประกาศฯ ก่อนออกประกาศบังคับใช้ต่อไป
3. สถานการณ์การจําหน่ายในปัจจุบันนั้น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นผู้ค้าน้ำมัน รายแรกที่ยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีตะกั่วตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นการยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วเป็นการล่วงหน้าก่อนที่จะใช้เป็นมาตรการบังคับประมาณ 6 เดือน และในปัจจุบันผู้ค้าน้ำมันอื่น ๆ เช่น บริษัท สยามสหบริการ จํากัด บริษัท พี.ซี. สยามปิโตรเลียม จํากัด ได้ยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วแล้วเช่นกัน ซึ่งทําให้ปริมาณการจําหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ในเดือนสิงหาคม 2538 มีปริมาณ 438.14 ล้านลิตร คิดเป็นอัตราร้อยละ 83 ของการจําหน่ายน้ำมันเบนซินทั้งหมด โดยส่วนที่เหลือเป็นการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว เป็นปริมาณ 92.80 ล้านลิตร คิดเป็นอัตราร้อยละ 17 ของการจําหน่ายน้ำมันเบนซินทั้งหมด
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
1.1 ราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2538 (มกราคม-พฤษภาคม) ได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉลี่ยสูงขึ้นจากปี 2537 ถึง 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สาเหตุสําคัญที่ผลักดันให้ราคาสูงขึ้นในระยะนี้ คือ
• การลดปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปคลง 320,000 บาร์เรลต่อวัน และยืนยันจะไม่มี การปรับเพดานการผลิตเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบียและอิหร่านพยายามควบคุมการผลิตตาม โควต้าที่ได้รับ และประเทศไนจีเรียมีปริมาณการผลิตที่ลดลงเนื่องจากประสบปัญหาที่แหล่งผลิต
• อิรัคได้ปฏิเสธข้อเสนอของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ยินยอมให้อิรัค ทําการส่งออกน้ำมันในมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเวลา 6 เดือน
• โรงกลั่นน้ำมันยุโรปเริ่มเปิดดําเนินการในเดือนเมษายนหลังจากที่ปิดซ่อมบํารุง ทําให้ มีความต้องการน้ำมันดิบเพื่อใช้ในการกลั่นมากขึ้น ประกอบกับมีแรงซื้อจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐอเมริกา มากขึ้น เนื่องจากมีปริมาณการสํารองน้ำมันเบนซินอยู่น้อย จึงต้องเร่งกลั่นเพื่อรองรับฤดูร้อนซึ่งจะมีการใช้ น้ำมันเบนซินสําหรับรถยนต์มากขึ้น
• ในเดือนพฤษภาคม สหรัฐอเมริกาประกาศคว่ำบาตรอิหร่าน ทําให้สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนไปซื้อน้ำมันจากแหล่งอื่นมาทดแทนที่เคยซื้อจากอิหร่านถึง 500,000 บาร์เรลต่อวัน และอิหร่านยังไม่สามารถขายให้ผู้อื่นแทนสหรัฐอเมริกาได้ จึงเป็นผลทําให้ตลาดมีการแข่งขันการซื้อน้ำมันมากขึ้น
• สําหรับราคาในช่วงเดือนมิถุนายน-เดือนกันยายน 2538 ได้ปรับลดลง 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สาเหตุสําคัญที่ผลักดันให้ราคาลดลงในระยะนี้ คือ ปริมาณการผลิตน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจากทุกแหล่งทั่วโลก ทั้งจากประเทศผู้ผลิตกลุ่มโอเปคเองและนอกกลุ่มโอเปค ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ยังมีเชื้อเพลิงประเภทอื่นที่เป็นคู่แข่งสําคัญคือ ก๊าซธรรมชาติซึ่งมีราคาถูกกว่า ซึ่งการประชุมกลุ่มโอเปคในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันไม่น้อยเช่นกัน โดยโอเปคอาจพิจารณาเพิ่มโควต้าการผลิตในปีหน้าเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดด้วย ในขณะเดียวกัน จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกนอกกลุ่มโอเปคซึ่งมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นมากในเดือนกรกฎาคม เป็นผลทําให้ราคาน้ำมันดิบมีการปรับลดลงและมีแรงกดดันที่ทําให้ราคาลดลงไปอีก และจากสถานการณ์ของอิหร่านได้คลี่คลายลงเมื่อเริ่มขายน้ำมันให้กับลูกค้าในยุโรปแทนสหรัฐอเมริกาได้ และประเทศมาเลเซียหยุดซ่อมบํารุงโรงกลั่นในเดือนกรกฎาคม จึงทําให้มีน้ำมันดิบทาปีสของมาเลเซียเหลือออกสู่ตลาดมากขึ้น
1.2 ราคาน้ำมันสําเร็จรูป ราคาน้ำมันสําเร็จรูปโดยทั่วไปสูงขึ้นจากปี 2537 แต่ยังสูงขึ้นน้อยกว่า ราคาน้ำมันดิบ ทําให้โรงกลั่นน้ำมันมีรายได้ลดลง สาเหตุเกิดจากการขยายกําลังการกลั่นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ทําให้มีน้ำมันสําเร็จรูปออกสู่ตลาดมากขึ้น
1.3 ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นในประเทศ เปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามราคาน้ำมันสําเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ ในช่วงแคบๆ โดยมีการปรับราคาสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 แล้วปรับลดราคาลงในช่วงไตรมาส 3 ทั้งนี้ ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นในประเทศจะปรับขึ้น-ลงตามราคาน้ำมันสําเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ ในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
1.4 ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ เปลี่ยนแปลงตามราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น โดยจะมีการปรับราคาตามราคาขายส่งในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นราคาหรือลงราคา กล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะ “ขึ้นเร็วลงเร็ว”
1.5 แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2538 นี้ คาดว่าราคาน้ำมันในตลาด โลกจะไม่สูงขึ้นตามที่กลุ่มโอเปคคาดหวัง แต่อาจจะลดลงเนื่องจาก การคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญน้ำมัน คาดว่าการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปคในระยะต่อไป จะใกล้เคียงกับโควต้าแต่ปริมาณการผลิตน้ำมันโลกจะเพิ่มขึ้นจากการผลิตของประเทศนอกกลุ่มโอเปค ในหลายๆประเทศ เช่น บราซิล อาร์เจนตินา โคลัมเบีย มาเลเซีย สําหรับปริมาณการใช้จะเพิ่มขึ้นด้วย เช่นกัน โดยทาง International Energy Agency (IEA) คาดว่าปริมาณการใช้จะเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่การผลิตของกลุ่มนอกโอเปคจะเพิ่มขึ้น 0.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ Nymex and IPE Futures Markets ได้ประมาณราคาน้ำมันดิบ สําหรับไตรมาสที่ 4(2538) และไตรมาสที่ 1(2539) ว่าราคามีแนวโน้มลดลงกว่าปัจจุบัน และยังมีความไม่แน่นอนว่าอิรักจะกลับมาเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอีกครั้งหนึ่งหรือไม่ ถ้าอิรักกลับมาเป็นผู้ส่งออกน้ำมันได้อีก กลุ่มโอเปคจะต้องจัดสรรโควต้าการผลิตกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคงจะเป็นปัญหาพอสมควรกับการที่สมาชิกหลายประเทศที่ได้ผลิตน้ำมันเพิ่มมาถึง 5 ปี จะต้องลดการผลิตตัวเองลง จึงคาดว่าถ้าอิรักกลับมาผลิตน้ำมันส่งออกอีกครั้งหนึ่งจะทําให้ราคาน้ำมันขาดเสถียรภาพไประยะหนึ่ง อาจต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือนกว่าราคาจะกลับมามีเสถียรภาพขึ้นอีก แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น การผลิตของกลุ่มนอกโอเปค ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น
2. การกํากับดูแลการกําหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ได้มีมติให้มีการกํากับดูแลการกําหนดราคาจําหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ณ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศ และต่อมาคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 ได้มีมติเห็นชอบตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้กรมการค้าภายในและ สพช. ร่วมกันพิจารณาปรับปรุงมาตรการ ในการกํากับดูแลการกําหนดราคาและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งกรมการค้า ภายในและ สพช. ได้ประชุมหารือร่วมกันในวันที่ 28 มิถุนายน 2538 ผลการประชุมสรุปได้ดังนี้ มาตรการกํากับดูแลราคาและค่าการตลาด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ยังมีความเหมาะสมที่จะใช้ปฏิบัติต่อไปโดยไม่ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงแต่อย่างใด ซึ่งหาก สพช. ทําการกํากับดูแลการกําหนดราคาของสถานีบริการ แล้วพบว่าสถานีบริการกําหนดราคาขายปลีกเกินเหมาะสม สพช. จะเป็นผู้ดําเนินการแก้ไขโดยใช้มาตรการต่าง ๆ ที่กําหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรี หากไม่เป็นผล สพช. จะส่งเรื่องให้ กรมการค้าภายในเป็นผู้ดําเนินการ โดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติกําหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ.2522
3. ผลการดําเนินการกํากับดูแลการกําหนดราคาในปี 2538 (เดือนมกราคม - สิงหาคม) จากรายงานราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 15 ของทุกเดือนของสํานักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ พบว่ามีสถานีบริการจําหน่ายน้ำมันราคาเกินเหมาะสมโดยเฉลี่ยเดือนละ 79 สถานี หรือ ร้อยละ 1.29 ของจํานวนสถานีบริการทั่วประเทศ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับปี 2537 ซึ่งมีจํานวนสถานีบริการจําหน่ายน้ำมันราคาเกินเหมาะสม โดยเฉลี่ยต่อเดือน 117 สถานี หรือ ร้อยละ 2.37 ของสถานีบริการทั้งหมด จะเห็นว่าปริมาณลดลงประมาณหนึ่งในสาม และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคและรายผู้ค้าน้ำมันแล้วก็มีปริมาณลดลงมากเช่นกัน ซึ่งเป็นผลจากการกํากับดูแลราคาขายปลีกตามมติคณะรัฐมนตรีประสบผลสําเร็จมากขึ้น ทําให้การเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีก ณ สถานีบริการในต่างจังหวัดมีลักษณะ “ขึ้นเร็วลงเร็ว” มากขึ้น ประกอบกับสภาพการแข่งขันของตลาดน้ำมันในต่างจังหวัดสูงขึ้น เนื่องจากมีการก่อสร้างสถานีบริการเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีสถานีบริการของผู้ค้าน้ำมันรายย่อยอื่น ๆ เกิดขึ้นมาก และมีสถานีบริการหลายรายเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายการค้า โดยเปลี่ยนไปรับน้ำมันจากผู้ค้าน้ำมันที่สามารถขายน้ำมันให้ในราคาถูกที่สุด และทําให้สถานีบริการเหล่านี้สามารถขายน้ำมันได้ ในราคาต่ำกว่าสถานีบริการโดยทั่วไป รวมทั้งยังมีการแข่งขันกันด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ด้านคุณภาพน้ำมัน (การเพิ่มค่าออกเทน) รูปแบบของสถานีบริการที่ดูแปลกใหม่ สวยงาม และการบริการที่ดียิ่งขึ้น
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 รายงานผลการดําเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 49) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 ให้กําหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปดําเนินการ และรายงานผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมทุกครั้ง
2. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2538 (ครั้งที่ 51) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 ได้พิจารณาเรื่อง การดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย เพื่อกําหนดเขตต่อเนื่องในท้องทะเลบริเวณถัดออกไปจากน่านน้ำอาณาเขตเป็นระยะทางไม่เกิน 24 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งรวมทั้ง ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรในเขตต่อเนื่องเสนอ โดยมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาตรวจร่างต่อไป และให้กําหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม สําหรับคลังน้ำมันที่กรมสรรพสามิตไม่มีอํานาจติดตั้งมาตรวัด โดยให้กรมสรรพสามิตและกรมสรรพากรรับไปดําเนินการติดตั้งมาตรวัดในคลังน้ำมันที่อยู่ชายฝั่งก่อน โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายของกรมสรรพากรในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม และมอบหมายให้กรมโยธาธิการติดตามข้อมูลการก่อสร้างคลังน้ำมันชายฝั่ง ซึ่งหากมีการก่อสร้างคลังเพิ่มขึ้นให้แจ้งกรมสรรพสามิตและกรมสรรพากรทราบ เพื่อดําเนินการต่อไป
3. คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะ กรรมการฯ พร้อมกับพิจารณาร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. และร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งทางสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาเรียบร้อยแล้ว และโดยที่กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทําผิด พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมการกฎหมายทะเล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่างขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในเรื่องการดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และเห็นชอบ รางประกาศเขตต่อเนื่อง ของราชอาณาจักรไทย ที่สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว และให้นําความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประกาศต่อไป ส่วนร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณาแล้ว ให้ทางสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานํากลับไปพิจารณาประกอบกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติการฯที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอมาและนําเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
4. หน่วยงานต่าง ๆ ได้ดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว และได้รายงานผลการดําเนินการ แก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อทราบ ดังนี้
4.1 กรมศุลกากร
(1) ได้ดําเนินการตรวจสอบเรือขนส่งน้ำมันของ กฟผ. และ ปตท. เช่นเดียวกับเรือของผู้ค้าน้ำมันรายอื่นอย่างเคร่งครัด และได้มีหนังสือแจ้งให้ ปตท. และ กฟผ. ทราบแล้ว
(2) คณะทํางานเพื่อทําหน้าที่ตรวจสอบการลักลอบนําเข้าน้ำมัน ได้สั่งการให้กองป้องกัน และปราบปรามและด่านศุลกากร จัดกําลังเจ้าหน้าที่และเรือตรวจการณ์การขนส่งน้ำมันทั้งทางด้านทะเลอันดามัน และอ่าวไทย รวมทั้งจัดเพิ่มสายสืบเฝ้าตรวจสอบการขนส่งน้ำมันทางบก ทั้งคลังที่ได้รับอนุมัตินําเข้าและคลังที่ไม่ได้รับอนุมัติให้นําเข้า แต่ไม่พบการกระทําความผิดแต่อย่างใด
(3) ได้จัดเจ้าหน้าที่ไปทําการตรวจสอบเรือนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทุกลําอย่างเข้มงวดเป็น เวลา 1 เดือน หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนําสินค้าเข้ามาใน ราชอาณาจักร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2538 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2538 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งปรากฏว่าถูกต้องตามระเบียบของกรมศุลกากรทุกประการ
(4) กรมศุลกากรได้ออกคําสั่งทั่วไปกรมศุลกากร ที่ 13/2538 เรื่อง เพิ่มเติมประมวล ระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2530 หมวดที่ 17 บทที่ 08 ข้อที่ 02(ก) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการดําเนินคดี การลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 31 มีนาคม 2538 เพื่อปรับปรุงแนวทางการดําเนินคดีของกรม ศุลกากรให้รัดกุมยิ่งขึ้น
(5) นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้เพิ่มมาตรการสนับสนุน โดยจัดให้มีการติดตามและ ตรวจสอบเรือประมงดัดแปลงที่ถูกจับกุม และเจ้าของเรือหรือผู้มีสิทธิ์ที่ได้ยื่นคําร้องขอรับเรือของกลางไปเก็บ รักษาเองว่ามีการนําไปใช้เพื่อลักลอบนําเข้าหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าฝ่าฝืนกรมศุลกากรจะยึดเรือคืนและบังคับ สัญญาประกันทัณฑ์บน รวมทั้งดําเนินการสืบสวนติดตามพฤติกรรมเรือประมงดัดแปลงหรือเรือบรรทุกน้ำมัน ต่างประเทศ ที่เคยถูกจับกุมหรืออยู่ในข่ายต้องสงสัยด้วย
4.2 กรมสรรพสามิต
(1) จัดทําโครงการติดตั้งมาตรวัดและอุปกรณ์วัดน้ำมันด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อติดตั้ง ณ คลังชายฝั่ง โดยขณะนี้ได้ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกทางด้านเทคนิคแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอด้านราคาอยู่ ซึ่งคาดว่าจะตกลงผลการประกวดราคาและทําสัญญาได้ในเดือนตุลาคม 2538 ส่วนการ ติดตั้งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้ง 42 แห่ง ภายในเดือนพฤษภาคม 2539 นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังได้จัดตั้งห้อง Operation Room เพื่อรับรายงานการ เคลื่อนย้ายและขนส่งน้ำมันในทะเลจากโรงกลั่นน้ำมันไปยังคลังน้ำมันชายฝั่ง เพื่อป้องกันการลักลอบเดินเรือ ออกนอกเส้นทางเพื่อไปรับน้ำมันหนีภาษี ทั้งนี้กรมสรรพสามิตได้ประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะ กรมทะเบียนการค้าในการรับข้อมูลการนําเข้าที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ต้องแจ้งแก่กรมทะเบียนการค้า ตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนําสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 106) พ.ศ. 2538 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2538
(2) ได้ระดมกําลังเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมคลังน้ำมันชายฝั่งทั่วประเทศอย่างเข้มงวด โดยการ ซีลผนึกท่อทางรับ-จ่ายน้ำมัน รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตที่ประจําในโรงกลั่นน้ำมันแจ้งข้อมูลการจ่ายน้ำมันจากโรงกลั่นให้สรรพสามิตปลายทางทราบทุกครั้ง และทําการตรวจสารเพิ่มคุณภาพน้ำมันที่สถานีบริการชายฝั่งทุกแห่ง และแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสรรพสามิตว่าด้วยการเก็บและการขนย้ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว พ.ศ. 2537 ให้การขนส่งน้ำมันออกจากคลังหรือโอนย้ายน้ำมันระหว่างคลังตั้งแต่ 50,000 ลิตร ขึ้นไป ต้องแจ้งสรรพสามิต
(3) การดําเนินการดังกล่าว โดยเฉพาะการซีลผนึกท่อทางรับ-จ่ายคลังน้ำมัน รวมทั้งการ ปฏิบัติการอื่น ๆ มีผลให้การจัดเก็บภาษีผลิตภัณฑ์น้ำมันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2537 – สิงหาคม 2538 (10 เดือน) สูงกว่าปีก่อนในช่วงระยะเดียวกันถึงร้อยละ 18
4.3 กรมสรรพากร ได้มีการกําหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยระบบมิเตอร์หัวจ่าย โดยออกประกาศกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 60) เรื่อง กําหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย การออกใบกํากับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร และการเก็บรักษารายงานตาม มาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากนี้ได้กําหนดระบบการควบคุมการรับมอบน้ำมันให้รัดกุมยิ่งขึ้นด้วย และ กรมสรรพากรได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสถานีบริการน้ำมันต่างๆ โดยเน้นให้ ตรวจสอบภาษีสถานีบริการที่ไม่ยอมเข้าอยู่ในระบบมิเตอร์หัวจ่ายเป็นพิเศษด้วย
4.4 กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการขอความร่วมมือจากบริษัทน้ำมันที่มีโรงกลั่นในสิงคโปร์ ให้แจ้งรายละเอียดของเรือ บรรทุกน้ำมันที่รับน้ำมันจากโรงกลั่นในสิงคโปร์และมีจุดหมายปลายทางมายังประเทศไทยแล้ว และได้รับแจ้งข้อมูลจาก บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จํากัด เพียงรายเดียวซึ่งข้อมูลดังกล่าวตรงกับข้อมูลตามเงื่อนไข และได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนําสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2538 เพื่อกําหนดเงื่อนไขในการนําเข้าน้ำมันให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ทุกราย ต้องแจ้งรายละเอียดการนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทันทีที่เรือเดินทางออกจากประเทศสิงคโปร์ ปรากฏว่ารายละเอียดส่วนใหญ่ถูกต้อง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวกรมทะเบียนการค้าได้นําส่งแก่ สพช. และกรมสรรพสามิต เพื่อทราบด้วย รวมทั้งกรมทะเบียนการค้าได้ดําเนินโครงการตรวจสอบหาสารเติมแต่ง (Additives) ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจากสถานีบริการทั่วประเทศ ซึ่งปรากฏว่า จากผลการตรวจสอบน้ำมัน จํานวน 3,000 ตัวอย่างพบน้ำมันที่มีปริมาณสารเติมแต่งน้อยกว่าปริมาณที่บริษัทผู้ค้าได้แจ้งไว้แก่กระทรวงพาณิชย์ จํานวน 1,232 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 25 ของตัวอย่างทั้งหมดที่ตรวจสอบ โดยพบความผิดมากที่สุดในภาคใต้บริเวณจังหวัดชุมพร คิดเป็นร้อยละ 53.6 นครศรีธรรมราช ร้อยละ 44.6 สตูล ร้อยละ 41.2 ปัตตานี ร้อยละ 40.7 ตรัง ร้อยละ 39.5 และสุราษฎร์ธานี ร้อยละ 35.8
4.5 กรมเจ้าท่า ได้มีคําสั่งที่ 307/2538 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2538 ให้สํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคและ สํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาที่มีเขตอํานาจครอบคลุมพื้นที่ที่มีเรือประมง ให้จัดเวรตรวจสอบใบอนุญาตใช้เรือ ใบทะเบียนเรือไทย ประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือ และผู้ควบคุมเครื่องจักรของเรือประมงที่เข้าจอดเทียบท่า หรือแพปลา และหากพบผิดให้ลงโทษอย่างเฉียบขาด โดยให้รายงานผลต่อกรมเจ้าท่าทุกสัปดาห์
4.6 กระทรวงมหาดไทย ได้มีคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 140/2538 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอํานวยการป้องกัน ปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 31 มีนาคม 2538 เพื่อจัดรูปองค์การในการกํากับ และประสานการปฏิบัติงานให้บังเกิดผลอย่างแท้จริง
4.7 กรมตํารวจ ได้ดําเนินการออกคําสั่งปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย โดยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย “นม 001” เพื่อปฏิบัติการปราบปรามการค้าน้ำมันลักลอบนําเข้าในช่วง 17 มีนาคม - 30 กันยายน 2538 ไปแล้ว นั้น เนื่องจากกรมตํารวจได้ประเมินว่าสถานการณ์การลักลอบนําเข้า น้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมายในระยะต่อไปจะไม่รุนแรงเช่นที่ผ่านมา และสมควรที่กรมตํารวจจะได้ปรับแผนการในการป้องกันและปราบปรามให้เหมาะสม โดยได้อนุมัติให้ยกเลิกคําสั่งปฏิบัติการในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย “นม 001” และได้ออกแผน ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง “นม 002” โดยมอบหมายให้หน่วยงานปกติของกรมตํารวจรับผิดชอบในการดําเนินการแทน
4.8 กองทัพเรือ ได้มีคําสั่ง (เฉพาะ) ลับที่ 98/2538 ลงวันที่ 28 เมษายน 2538 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าน้ำมันในทะเล เพื่อจัดตั้งศูนย์อํานวยการเฉพาะกิจป้องกัน และปราบปรามการลักลอบค้าน้ำมันในทะเล โดยมุ่งเน้นการสืบหาข่าว การติดตามและจับกุมเรือประมงดัดแปลงเรือน้ำมันขนาดเล็ก หรือเรือบรรทุกน้ำมันที่จดทะเบียนในต่างประเทศที่มีการขนถ่ายน้ำมันนอกทะเลอาณาเขตของไทยด้วยเรือและอากาศยานที่มีอยู่
5. สถานการณ์ในปัจจุบันสรุปได้ ดังนี้
5.1 สรุปการจับกุมของหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่มกราคม - กันยายน 2538 ได้มีการจับกุม รวมทั้งสิ้น 63 ราย เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงปริมาณ 2,616,264 ลิตร โดยเป็นการจับกุมคดีลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง 25 ราย ได้ของกลางเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง 2,371,942 ลิตร และเป็นการจับกุมคดีอื่น ๆ เช่น ประกอบการค้าโดยไม่มีใบอนุญาตเป็นผู้ค้ามาตรา 6 ทวิ เป็นต้น จํานวน 38 ราย เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง 244,322 ลิตร ซึ่งการจับกุมในปี 2538 ในช่วงระยะเวลาเพียง 9 เดือนนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 2537 ซึ่งมีการจับกุมคดีลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งปี จํานวน 39 ราย ได้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นของกลาง 1,965,268 ลิตร โดยสามารถจับกุมได้เพิ่มขึ้นจํานวน 24 ราย เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงรวม 650,996 ลิตร คิดเป็นอัตราจับกุมเพิ่มร้อยละ 33
5.2 ปริมาณการจําหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 เป็นต้นมา มีแนวโน้ม แสดงว่าการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ลดลงในระดับหนึ่ง โดยในช่วงมกราคม - พฤษภาคม 2538 (รวม 5 เดือน) มีการจําหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วรวม 6,442 ล้านลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการจําหน่ายรวม 5,290 ล้านลิตร หรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 1,151 ล้านลิตร คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 22 แต่มี ข้อสังเกตว่าปริมาณการจําหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2538 และกรกฎาคม 2538 ได้เริ่มมีแนวโน้มลดลงโดยในเดือนกรกฎาคม 2538 ปริมาณการจําหน่ายรวม 1,294 ล้านลิตร ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2538 ซึ่งมีปริมาณ 1,352 ล้านลิตร หรือลดลงประมาณ 58 ล้านลิตร คิดเป็นอัตรา ร้อยละ 4 ทั้งนี้สาเหตุอาจจะเนื่องมาจากปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วได้ลดลง เพราะสภาวะฝนตกและน้ำท่วมทําให้การคมนาคมไปมาไม่สะดวกหรืออาจจะมีการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ หรือทั้งสองอย่าง
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. ให้กรมตํารวจรับไปดําเนินการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อปฏิบัติการป้องกันและปราบปราม การลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมายที่ได้ยุบไปแล้วขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และให้ดําเนินการกวดขัน ปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ให้เริ่มดําเนินการตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป และให้รายงานผลการดําเนินการให้ทราบในการประชุมครั้งต่อไป
3. มอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไป ดําเนินการพิจารณาที่จะให้มีหน่วยงานเอกชนทําหน้าที่ตรวจสอบพฤติการณ์ของคลังน้ำมันต่างๆ โดยให้ผู้ค้า น้ำมันสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดําเนินการ
เรื่องที่ 5 รายงานผลการดําเนินงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2535 มีเจตนารมย์ที่จะส่งเสริมให้เกิดวินัยในการอนุรักษ์พลังงานและให้มีการดําเนินการลงทุนในการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานและอาคาร โดยใช้มาตรการบังคับควบคู่ไปกับการให้สิ่งจูงใจ กล่าวคือได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประสงค์ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ในขณะเดียวกัน ก็มีบทลงโทษสําหรับโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่ละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่จะออกตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว บทบาทของภาครัฐบาลก็คือ การสร้างและใช้กลไกของรัฐในการให้การสนับสนุน และส่งเสริม การดําเนินการในการประหยัดพลังงานของผู้ใช้พลังงาน ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีสาระสําคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จะมีผลบังคับให้มีการดําเนินการอนุรักษ์พลังงานกับเฉพาะผู้ที่ถูกกําหนดเป็นโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมเท่านั้น โดยต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อกําหนดโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม
1.2 พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ให้อํานาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดยคําแนะนําของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการออกกฎกระทรวงเพื่อกําหนดให้เจ้าของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมต้องอนุรักษ์พลังงาน ตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานในโรงงาน/อาคารของตนให้เป็นไปตามมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง
1.3 พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กําหนดให้มีเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นผู้บริหารกองทุนฯ โดยเป็นเงินที่ได้มาจากเงินโอนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามที่นายกรัฐมนตรีกําหนด เงินที่ได้จากผู้ผลิตและผู้นําเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในอัตราที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกําหนด เงินที่ได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษการใช้ไฟฟ้า เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นคราว ๆ เงินที่ได้รับจากเอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ และดอกผลที่ได้จากกองทุนนี้
1.4 พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มาตรา 42 กําหนดว่าเมื่อพ้นสามปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 9 หรือมาตรา 19 ใช้บังคับ โรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุมที่ไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงต้องชําระค่าธรรมเนียมพิเศษการใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังได้กําหนดโทษอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูลเท็จ และการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงอีกด้วย
2. คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากําหนดอาคารควบคุมและกฎกระทรวง ที่เกี่ยวกับอาคารควบคุมดังกล่าวข้างต้นแล้ว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชกฤษฎีกา และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 112 ตอน 33 ก ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2538 แล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ส่วนกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับอาคารควบคุมรวม 3 ฉบับ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันอังคาร ที่ 19 กันยายน 2538 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะได้ลงนามใน กฎกระทรวงฯ และนําประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
3. ในส่วนของร่างพระราชกฤษฎีกากําหนดโรงงานควบคุมและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องนั้น อยู่ใน ขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณานโยบายอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อยุติและสามารถ นําเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้ในการประชุมครั้งต่อไป
4. คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้นําเสนอแผนงานอนุรักษ์พลังงาน แนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลําดับความสําคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 4/2537 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2537 และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ให้ออกระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการขอจัดสรร ขอเงินช่วยเหลือ หรือขอเงินอุดหนุนจากกองทุนฯ แล้ว สําหรับแผนงานอนุรักษ์พลังงานประกอบด้วย 3 แผนงาน 10 โครงการ ซึ่งแยกเป็นกลุ่มตามลักษณะของแผนการดําเนินงานได้ ดังนี้ แผนงานภาคบังคับ โดยมีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ แผนงานภาคความร่วมมือ โดยมีสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และแผนงานสนับสนุน โดยมีสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
มติของที่ประชุม
1. รับทราบรายงานผลการดําเนินงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณาแผนการปรับปรุงระบบผลิตและส่งกระแสไฟฟ้าเพื่อลดการสูญเสียพลังงาน ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์พลังงาน
เรื่องที่ 6 รายงานความก้าวหน้าการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM)
สรุปสาระสำคัญ
1. โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย คือ
1.1 โครงการประชาร่วมใจ ใช้หลอดประหยัดไฟฟ้า โดยบริษัทผู้ผลิตหลอดไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ ได้ยุติการผลิตและจําหน่ายหลอดฟลูออเรสเซนต์ ขนาด 20 วัตต์ และ 40 วัตต์ และทําการผลิตหลอดขนาด 18 วัตต์ และ 36 วัตต์ แทน ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2537 ซึ่งสามารถยุติการผลิตได้ก่อนกําหนดประมาณ 1 ปี และการส่งเสริมการใช้หลอดตะเกียบประหยัดไฟฟ้า โดยการเปลี่ยนหลอดไส้ธรรมดา (ขนาด 100 วัตต์, 60 วัตต์, 40 วัตต์) เป็นหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดตะเกียบ (ขนาด 11 วัตต์ หรือ 7 วัตต์) จํานวน 1,509,999 หลอด โดยสํานักงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (สจฟ.) จะเปลี่ยนหลอดไฟให้ก่อนและให้ผู้สนใจผ่อนชําระเงินผ่านใบเสร็จค่าไฟฟ้าโดยไม่เสียดอกเบี้ย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาดําเนินการ
1.2 โครงการประชาร่วมใจ ใช้ตู้เย็นประหยัดไฟฟ้า โดยการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าของตู้เย็นขนาด 5-6 คิวบิคฟุต ที่ผลิตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นไป ประสบผลสําเร็จ โดยประชาชนจะเลือกซื้อตู้เย็นที่ติดฉลาก แสดงระดับประสิทธิภาพในระดับสูง ส่วนผู้ผลิตก็ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพตู้เย็นเพื่อให้ได้ติดฉลากที่มีระดับ ประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายขอบเขตการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพตู้เย็นในทุกขนาดและทุกรุ่น
1.3 โครงการประชาร่วมใจ ใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟฟ้า โดยการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศขนาด 7,000- 24,000 บีทียู/ชั่วโมง สจฟ. อยู่ระหว่างประสานงานกับบริษัทผู้ผลิต เพื่อจัดลําดับการทดสอบ ปัจจุบันได้มี บริษัทผู้ผลิตและจําหน่ายเครื่องปรับอากาศยื่นความจํานงให้ทดสอบประสิทธิภาพเพื่อติดฉลาก จํานวน 40 บริษัท จาก 81 บริษัท และได้มีการทดสอบประสิทธิภาพแล้ว 12 บริษัท คาดว่าจะสามารถติดฉลากเครื่องปรับอากาศได้ในราวเดือนมกราคม 2539
2. โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม โดยโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจ หน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจ และโครงการ การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม จะมีแนวทางในการดําเนินการที่คล้ายกัน กล่าวคือ สจฟ. ได้ริเริ่มโครงการอาคารสีเขียว (Green Building) สําหรับอาคารของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ อาคารสํานักงานของเอกชนที่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงและประสงค์จะเข้าร่วมโครงการการ ประหยัดไฟฟ้า โดยอาคารที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีมาตรการประหยัดพลังงานไฟฟ้า อาทิ เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า มีการจัดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ (Load Management) และจัดการปรับปรุงระบบการป้องกันความร้อนเข้าสู่อาคาร เป็นต้น โดย สจฟ. จะเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าให้ก่อน และให้ผ่อนชําระคืนภายหลัง ทั้งนี้ จะมีการเสนอขอความร่วมมือให้ผู้ร่วมโครงการงดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลา ที่ กฟผ. ร้องขอ (Voluntary Interruption) ด้วย ปัจจุบันมีอาคารที่เข้าร่วมโครงการ 4 อาคาร ได้แก่ อาคารเซ็นทรัลพลาซ่า ธนาคารแห่งประเทศไทย โรงแรมในเครือดุสิตธานี และอาคาร The Nation นอกจากนี้ ยังมีโครงการทดลองระบบปรับอากาศด้วยระบบกักเก็บความเย็น (Thermal Energy Storage) ซึ่งหมายถึงระบบทําความเย็นเก็บไว้ในรูปของน้ำเย็นหรือน้ำแข็งในเวลากลางคืน และนําความเย็น มาใช้ในเวลากลางวัน โดย สจฟ. จะนํามาทดลองใช้ในโครงการสาธิตระยะแรกที่สํานักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย และห้องประชุมคณะรัฐมนตรี และในระยะที่สองจะนํามาทดลองใช้กับอาคารที่มีระบบ ปรับอากาศขนาดใหญ่ เช่น ห้างเซ็นทรัลพลาซ่า โรงแรมดุสิตธานี และอาคารในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นต้น คาดว่าจะสามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ในระยะ 10-15 ปี ในอนาคต
3.โครงการการจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้า (Load Management) เป็นการดําเนินการ ด้านเทคโนโลยีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการประหยัดพลังงานมาทดลองใช้ เช่น โครงการทดลองควบคุมการทํางานของเครื่องปรับอากาศโดยใช้ ระบบ Ripple Control ซึ่งเป็นระบบควบคุมจากศูนย์กลาง และโครงการทดลองระบบปรับอากาศด้วยระบบ กักเก็บความเย็น (Thermal Energy Storage) เป็นต้น
4. โครงการส่งเสริมทัศนคติประหยัดไฟฟ้า (Attitude Creation Program) มีแนวทางในการ ดําเนินงาน คือ ในระยะสั้นจะรณรงค์ให้มีการประหยัดไฟฟ้าในรูปของการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ส่วนในระยะยาวจะดําเนินการให้มีการเรียนการสอนเพื่อสร้างนิสัยประหยัดไฟฟ้าให้แก่เยาวชนไทย ซึ่งประกอบด้วย
4.1 โครงการส่งเสริมทัศนคติเยาวชน โดยการจัดทําชุดการเรียนและคู่มือเพื่อสร้างนิสัยในการประหยัดไฟฟ้า อยู่ในระหว่างการปรับปรุงต้นฉบับ ประสานงานและจัดพิมพ์ ติดต่อจัดจ้างทําอุปกรณ์ในศูนย์การเรียน เพื่อส่งเสริมการประหยัดไฟฟ้าสําหรับการเรียนการสอนในระดับอนุบาลและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และโครงการลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด และผู้บําเพ็ญประโยชน์ประหยัดไฟฟ้า อยู่ในระหว่างการเตรียมการจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทําหลักสูตร
4.2 โครงการอาคารสีเขียว โดยจัดทําข่าวเผยแพร่ข้อมูล และตราสัญลักษณ์ของโครงการอาคารสีเขียว เพื่อเผยแพร่ในรายการ วิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ รายการโทรทัศน์ และไทยสกายทีวี
5. โครงการประเมินศักยภาพและการประเมินผล (Project Assessment and Project Evaluation) เป็นการติดตามและประเมินผลโครงการเพื่อเป็นการยืนยันว่า การใช้เงินในการดําเนินงานตามโครงการ DSM มีผลในทางปฏิบัติจริงและคุ้มค่า นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาวางแผนก่อสร้าง โรงไฟฟ้าในอนาคตได้อีกด้วย ส่วนผลการพิจารณาทางด้านเทคนิคสําหรับการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อประเมินผล โครงการ (Independent Monitoring and Evaluation Agency : IMEA) ได้มีบริษัทที่ปรึกษา 4 แห่ง ยื่นข้อเสนอให้ กฟผ. พิจารณา ปรากฏว่า บริษัท Barakat and Chamberlin ได้รับคะแนนสูงสุด และได้เริ่ม ดําเนินงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2538 ที่ผ่านมา
6. การพิจารณาเพิ่มเป้าหมาย จากความก้าวหน้าของโครงการต่าง ๆ ที่ได้ดําเนินการมา ทําให้โครงการ DSM ซึ่งมีเป้าหมาย เดิมที่จะลดการใช้ไฟฟ้าในช่วง Peak 238 เมกะวัตต์ ในปี 2540 กําลังพิจารณาเพิ่มเป้าหมายการประหยัดไฟฟ้าใหม่ ซึ่งคาดว่าจะประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ถึง 3,400 ล้านหน่วย และประหยัดพลังไฟฟ้าได้ 1,400 เมกะวัตต์ โดยยังคงงบประมาณค่าใช้จ่ายโครงการตามเดิม
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า
2. มอบหมายให้สํานักงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า ประสานงานกับกระทรวงการคลัง ในการลดภาษีนําเข้าอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า และประสานงานกับสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์สําหรับโรงงานผลิตอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าในประเทศไทย
เรื่องที่ 7 รายงานความคืบหน้าการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
สรุปสาระสำคัญ
1. การรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)
1.1 รัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป. ลาว ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือ ด้านการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 ณ นครเวียงจันทน์ โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริม และร่วมมือกันพัฒนาไฟฟ้า ให้ได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2543 เพื่อจําหน่ายให้กับประเทศไทย และต่อมารัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ได้มีคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 116/2536 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2536 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้า ใน สปป. ลาว (คปฟ.-ล) และคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 135/2537 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2537 เรื่องแต่งตั้งกรรมการใน คปฟ.-ล เพื่อติดตามการดําเนินงาน และประสานความร่วมมือกับ สปป. ลาว ให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจ ขณะเดียวกัน รัฐบาล สปป. ลาว ได้แต่งตั้ง Committee for Energy and Electric Power (CEEP) เพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาโครงการ ดังกล่าว
1.2 ขณะนี้มีโครงการซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนารวม 10 โครงการ รวมกําลังผลิต ประมาณ 3,603 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการที่ได้ตกลงราคาค่าไฟฟ้าแล้ว 3 โครงการ และเป็นโครงการซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา 7 โครงการ ดังนี้ โครงการที่ได้ตกลงราคาค่าไฟฟ้าแล้ว รวม 3 โครงการ คือ 1) โครงการน้ำเทิน-หินบุน มีกําลังผลิตติดตั้ง 210 เมกะวัตต์ 2) โครงการน้ำเทิน 2 มีกําลังผลิตติดตั้ง 681 เมกะวัตต์ 3) โครงการห้วยเฮาะ มีกําลังผลิตจ่ายกระแสไฟฟ้า ณ จุดส่งมอบ 133 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจา รวม 7 โครงการ คือ 1) โครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา มีกําลังผลิตติดตั้ง 720 เมกะวัตต์ 2) โครงการเซคาตาม-เซคามาน 1 มีกําลังผลิตติดตั้ง 70 เมกะวัตต์ และ 360 เมกะวัตต์ 3) โครงการน้ำเทิน 1 มีกําลังผลิตติดตั้ง 540 เมกะวัตต์ 4) โครงการน้ำงึม 2 มีกําลังผลิตติดตั้ง 300 เมกะวัตต์ 5) โครงการน้ำเทิน 3 มีกําลังผลิตติดตั้ง 190 เมกะวัตต์ 6) โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย มีกําลังผลิตติดตั้ง 339 เมกะวัตต์ 7) โครงการน้ำเลิก มีกําลังผลิตติดตั้ง 60 เมกะวัตต์
2. การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย
2.1 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2538 อนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ เรื่อง การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย โดยให้มีการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากบริษัท Teknologi Tenaga Perlis ประเทศมาเลเซีย ในปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ในปี 2540 ในราคาที่เหมาะสม และมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อรับผิดชอบการเจรจาและการประสานงาน
2.2 รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ในฐานะประธานคณะกรรมการ พิจารณานโยบายพลังงาน ได้มีคําสั่งคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานที่ 5/2538 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย เพื่อรับผิดชอบการเจรจา และการประสานงานในการรับซื้อไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ จากบริษัท Teknologi Tenaga Perlis
2.3 คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการเจรจากับฝ่ายมาเลเซียครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2538 สรุปความคืบหน้าในการเจรจา ได้ดังนี้ บริษัท Teknologi Tenaga Perlis (TTP) จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศมาเลเซีย ขนาด 650 เมกะวัตต์ และเสนอขายกระแสไฟฟ้าให้ กฟผ. จํานวน 300 เมกะวัตต์ แบบ Firm Energy โดยกระแสไฟฟ้าจะส่งผ่านสายส่งไฟฟ้าไปที่ Substation Chuping, Alor Setar, Bedong และ Gurun HVDC Convertor Station ในประเทศมาเลเซียและผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูงระบบกระแสตรง EGAT-TNB HVDC Link ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงคลองแงะในประเทศไทย ซึ่ง TTP ประมาณว่า อัตราค่าไฟฟ้า จะอยู่ในระดับเท่ากับ 5.5 เซนต์สหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์- ชั่วโมง ซึ่งยังไม่รวมค่าส่งผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้ามาเลเซีย แต่ยังไม่มีข้อเสนอทางด้านราคาที่ชัดเจน เพราะรัฐบาลมาเลเซียยังไม่ได้กําหนดนโยบายเกี่ยวกับการใช้สายส่ง และอัตราค่าบริการสายส่ง ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ ขอให้ TTP พิจารณาราคาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยที่รวมค่าผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้ามาเลเซียเสนอคณะอนุกรรมการฯ ขณะเดียวกันให้ กฟผ. และ TTP ร่วมกัน พิจารณารายละเอียดทางด้านเทคนิค และการเชื่อมโยงระบบ โดยตั้งเป้าหมายให้มีการตกลงราคาและเงื่อนไข สําคัญๆ ในการซื้อขายไฟฟ้า ภายในปลายปี 2538 และให้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในช่วงกลางปี 2539
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 8 การลดช่องว่างระหว่างราคาน้ำมันในเขตกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค
สรุปสาระสำคัญ
1. จากนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายด้านพลังงานส่วนหนึ่งกําหนดให้มี การปรับปรุงและพัฒนาระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และให้น้ำมันมีราคาจําหน่ายปลีก ใกล้เคียงกันทั่วประเทศ สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) จึงได้จัดทําข้อเสนอ เพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลดังกล่าว โดยเสนอมาตรการดําเนินการเพื่อลดช่องว่างระหว่างราคาขายปลีกน้ำมันในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย 5 มาตรการ ดังนี้ มาตรการที่ 1 เกลี่ยค่าการตลาดกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด มาตรการที่ 2 ปรับปรุงบัญชีค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง มาตรการที่ 3 ปรับปรุงกฎเกณฑ์ส่งเสริมการตั้งสถานีบริการ มาตรการที่ 4 การขยายหรือสร้างโรงกลั่นในภูมิภาค และมาตรการที่ 5 ส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อ ซึ่งรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์) ได้พิจารณามาตรการดังกล่าวแล้ว เห็นชอบในหลักการและมอบหมายให้ สพช. นํามาตรการที่ 1 และ 2 ไปดําเนินการ เนื่องจากสามารถ กระทําได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบกฎเกณฑ์ของหน่วยงานใดทั้งสิ้น
2. สพช. ได้ดําเนินการตามมาตรการที่ 1 และ 2 แล้ว ดังนี้
2.1 การเกลี่ยค่าการตลาดกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด สพช. ร่วมกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่อีก 4 ราย คือ เชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ และบางจาก ได้ดําเนินการปรับราคา น้ำมันเพื่อเกลี่ยค่าการตลาดแล้ว 2 ครั้ง ดังนี้
2.2 ปรับปรุงบัญชีค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง สพช. ได้ทําการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่า ค่าขนส่งควรลดต่ำลงจากบัญชีค่าขนส่งที่ทางราชการใช้อยู่ในปัจจุบันในทุกจังหวัดประมาณลิตรละ 1-10 สตางค์ ยกเว้น 9 จังหวัดคือ เชียงใหม่ ลําพูน พะเยา อุบลราชธานี อํานาจเจริญ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และชุมพร ซึ่งควรสูงขึ้นลิตรละ 1-2 สตางค์ ทั้งนี้ สพช. ได้นําผลการศึกษาดังกล่าวประชุมหารือกับผู้ค้าน้ำมัน ผู้ขนส่งน้ำมัน รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว และมีความเห็นว่าควรนํามาใช้แทนบัญชีค่าขนส่งเดิมได้ ซึ่งขณะนี้ สพช. กําลังประสานงานกับ ปตท. เพื่อนําไปปรับราคาจําหน่ายในต่างจังหวัดต่อไป
3. สําหรับมาตรการที่เหลืออีก 3 มาตรการมีสาระสําคัญ โดยสรุป ดังนี้
3.1 ปรับปรุงกฎเกณฑ์ส่งเสริมการตั้งสถานีบริการ สถานีบริการในปัจจุบันส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเมือง และริมทางหลวงสายหลัก ส่วนในท้องที่อื่น ๆ โดยเฉพาะในชนบทห่างไกลและในเขตภูเขา ยังมีสถานีบริการ น้อยมากหรือไม่มีเลย สพช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมโยธาธิการ และกรมทางหลวง ได้ดําเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้สามารถตั้งสถานีบริการได้มากขึ้น
3.2 การขยายหรือสร้างโรงกลั่นในภูมิภาค การมีกําลังกลั่นน้ำมันในประเทศมากขึ้นจะช่วยเพิ่ม ปริมาณการผลิตน้ำมันในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น และทําให้ราคาจําหน่ายลดลงในทุกภูมิภาค นอกจากนี้ หากมีโรงกลั่นน้ำมันขึ้นในภูมิภาคใดจะทําให้ราคาน้ำมันในภูมิภาคนั้นๆ ลดลงได้มากที่สุด เพราะไม่ต้องเสียค่าขนส่ง หรือเสียในอัตราที่ต่ำลงกว่าเดิมมาก
3.3 ส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อ ท่อขนส่งน้ำมันเป็นกลไกที่สําคัญในการที่จะทําให้รัฐสามารถปรับราคาขายปลีกทั่วประเทศให้ใกล้เคียงกันมากขึ้นได้ ดังจะเห็นได้จากการมีท่อขนส่งน้ำมันในภาคกลาง ปัจจุบันคือ ท่อศรีราชา-ลําลูกกา-สระบุรี ของ บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จํากัด (THAPPLINE) และท่อ บางจาก-ดอนเมือง-บางปะอิน ของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด (FPT) ทําให้สามารถปรับราคาขายปลีกให้เท่ากันได้ถึง 13 จังหวัดในภาคกลาง คือ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดโดยรอบอีก 12 จังหวัด ดังนั้น จึงควรมีการพิจารณาขยายท่อส่งน้ำมันให้กว้างขวางออกไปยังภาคอื่น ๆ เพื่อให้ สามารถปรับราคาจําหน่ายให้ลดลงได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่ง สพช. ได้ทําการศึกษาในเบื้องต้นร่วมกับ บริษัทท่อทั้งสองบริษัทแล้ว ว่าควรมีการขยายท่อส่งน้ำมัน ดังนี้ ขยายท่อจากศรีราชาไปมาบตาพุดเพื่อรับน้ำมันจากโรงกลั่นใหม่ 2 โรงในจังหวัดระยอง ต่อท่อแยกจากท่อประธานช่วงศรีราชา-ลําลูกกาไปจ่ายน้ำมันให้สนามบินหนองงูเห่า คลังน้ำมันพระโขนง และคลังช่องนนทรี และขยายท่อจากสระบุรีไปภาคเหนือถึงพิษณุโลกหรือลําปาง และไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงขอนแก่น เพื่อจ่ายน้ำมันให้กับสถานีบริการและผู้ใช้น้ำมันในภาคดังกล่าว
อย่างไรก็ดี เนื่องจากกิจการท่อส่งน้ำมันเป็นกิจการที่ต้องลงทุนมาก และในระยะแรก มีปริมาณน้ำมันผ่านท่อน้อยอาจจะทําให้มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายอยู่ระยะหนึ่ง ดังนั้น รัฐจึงควรเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถผ่านพ้นการดําเนินการระยะแรกและมีรายได้พอเลี้ยงตัวเองได้ เช่น การส่งเสริมให้มี รถบรรทุกวิ่งเข้ารับน้ำมันได้โดยสะดวก การลดค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ค่าเช่าที่ดิน การแก้ไขสัญญากับ การรถไฟแห่งประเทศไทย ให้เอื้ออํานวยต่อการกู้เงินได้ง่ายขึ้นและการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น
มติของที่ประชุม
1. รับทราบแนวทางการดําเนินงานตามมาตรการที่ 1 และ 2 คือ
(1) การเกลี่ยค่าการตลาดกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
(2) ปรับปรุงบัญชีค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง
2. เห็นชอบในหลักการสําหรับมาตรการที่ 3, 4 และ 5 คือ
(1) ปรับปรุงกฎเกณฑ์ส่งเสริมการตั้งสถานีบริการ
(2) การขยายหรือสร้างโรงกลั่นในภูมิภาค
(3) ส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อ
โดยมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดําเนินการต่อไป
3. มอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไป พิจารณาความเหมาะสมของอัตราค่าผ่านท่อที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการลงทุนขยายเส้นท่อออกไปยังส่วนภูมิภาคต่อไป
เรื่องที่ 9 สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทานตะวัน
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 มอบหมายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เร่งรัดการจัดหาก๊าซธรรมชาติ โดยเร่งดําเนินการเจรจารับซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งสัมปทานในอ่าวไทย และจากแหล่งในต่างประเทศ เพื่อสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
2. ปตท. ได้ดําเนินการเจรจากับผู้รับสัมปทานแหล่งทานตะวันในแปลง B8/32 และได้ลงนาม ในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับผู้รับสัมปทานเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2538 โดยมีสาระสําคัญที่จะทําให้สัญญามีผลบังคับใช้ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้คือ (1) เงื่อนไขต่าง ๆ ที่ตกลงกันไว้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งจากทางรัฐบาลไทยด้วย (2) ทั้งสองฝ่ายลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2538 หรือหลังจากนั้น ถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงเลื่อนกําหนดการดังกล่าวออกไป ซึ่งต่อมาได้มีการลงนามในการแก้ไขบันทึกความเข้าใจ เพื่อเลื่อนกําหนดวันลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ซึ่ง ปตท. ได้ส่งร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ให้สํานักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2538
3. กระทรวงอุตสาหกรรมได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว เห็นควรให้เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะ กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ ปตท. ลงนามในร่างสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ได้ เนื่องจาก
3.1 ปตท. ต้องเร่งดําเนินการจัดหาก๊าซธรรมชาติทั้งในอ่าวไทยและต่างประเทศเพื่อสนองตอบ ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้
3.2 แหล่งก๊าซฯ ทานตะวัน สามารถสนองตอบความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นได้เร็วที่สุด และทันเวลา
3.3 เงื่อนไขต่าง ๆ ของสัญญาซื้อขายก๊าซฯ แหล่งทานตะวัน เป็นไปตามแบบของสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ปัจจุบันที่ ปตท. ถือปฏิบัติอยู่และเป็นประโยชน์ต่อ ปตท.
3.4 ราคาก๊าซฯ เริ่มต้นของแหล่งทานตะวันจะต่ำกว่าราคาซื้อขายก๊าซฯ เฉลี่ยจากแหล่งต่าง ๆ ในอ่าวไทยในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าราคาก๊าซจากแหล่งต่าง ๆ ในอนาคต เมื่อเทียบกับประมาณการ ของราคาน้ำมันที่ระดับต่าง ๆ
3.5 ผู้ขายยินยอมคุ้มครองความเสี่ยงของ ปตท. ในเรื่องการลงทุนท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยจ่ายเงินชดเชยให้ ปตท. กรณีที่ผู้ขายไม่สามารถส่งก๊าซให้ ปตท. ได้ครบจํานวนตามสัญญา
มติของที่ประชุม
1. รับทราบรายงานสรุปผลการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทานตะวันแปลง สัมปทาน B8/32
2. เห็นชอบตามข้อเสนอของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และให้ ปตท. รับไปดําเนินการ ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทานตะวันต่อไป เมื่อสัญญาฯ ดังกล่าวได้รับการแก้ไขจาก สํานักงานอัยการสูงสุดเรียบร้อยแล้ว (ถ้ามี)
เรื่องที่ 10 การรับซื้อไฟฟ้าโครงการห้วยเฮาะ
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้ร่วมกันลงนาม ในบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้า ใน สปป. ลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 ณ นครเวียงจันทน์ สปป. ลาว โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและร่วมมือกันพัฒนาไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2543 เพื่อจําหน่ายให้กับประเทศไทย และต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสาน ความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว (คปฟ.-ล) เพื่อติดตามการดําเนินงานและประสานความร่วมมือ กับ สปป. ลาว ให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
2. คปฟ.-ล ได้ดําเนินการเจรจาเพื่อซื้อไฟฟ้าจากโครงการห้วยเฮาะ ซึ่งมีกําลังผลิตจ่ายกระแสไฟฟ้า ณ จุดส่งมอบ (Contracted Capacity) 133.2 เมกะวัตต์ และกําหนดจะแล้วเสร็จปี 2541 โดยการเจรจาสามารถหาข้อยุติได้เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2538 และต่อมาเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2538 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ กฟผ. 03100/51319 ถึงสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เพื่อขอนําบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการห้วยเฮาะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบ
3. บันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการห้วยเฮาะมีสาระสําคัญสรุปได้ ดังนี้ (1) เป็นบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ บันทึกความเข้าใจระหว่าง กฟผ. กับกลุ่มผู้พัฒนาโครงการน้ำเทิน-หินบุนและน้ำเทิน 2 ซึ่งได้มีการลงนามไปแล้ว บันทึกความเข้าใจจะประกอบด้วยหลักการสําคัญในการซื้อขายไฟฟ้า เช่น อัตราค่าไฟฟ้า ปริมาณไฟฟ้าที่จะรับซื้อ ซึ่งจะเป็นสาระสําคัญของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่จะมีการเจรจาและลงนามกันต่อไป (2) บันทึกความเข้าใจจะมีผลบังคับใช้จนกระทั่งมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แต่เป็น ระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือนจากวันลงนาม ยกเว้นว่า ทั้ง 2 ฝ่าย ตกลงขยายระยะเวลา (3) กลุ่มผู้พัฒนาโครงการจะขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ณ จุดส่งมอบ (ชายแดนไทย-ลาว) โดยมีปริมาณพลังงานไฟฟ้าประเภท Firm จํานวน 563 ล้านหน่วยต่อปี Secondary Energy จํานวน 12 ล้านหน่วยต่อปี และมีปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญา 133.2 เมกะวัตต์ เป็นเวลาวันละ 13.5 ชั่วโมง ในช่วงวันจันทร์ถึงวันเสาร์ ของแต่ละสัปดาห์ (4) อัตราค่าไฟฟ้าจะเป็น ดังนี้ กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าที่ราคา 4.22 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย (ณ วันที่ 1 มกราคม 2537) หรือประมาณ 1.06 บาทต่อหน่วย และให้ปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี จนถึงวันเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าแต่ไม่เกินวันที่ 1 มกราคม 2542 และจะไม่มีการปรับราคาค่าไฟฟ้าจนกว่าจะมีการเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า ครบ 12 เดือน เมื่อครบกําหนด 12 เดือน นับจากวันเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า ให้ปรับราคาเพิ่มขึ้น ปีละร้อยละ 35 ของอัตราการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ และไทย ในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยร้อยละ 50 ของค่าไฟฟ้า จะชําระเป็นเงินสกุลบาท และอีกร้อยละ 50 ของค่าไฟฟ้า จะชําระเป็นเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลบาทและเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ เฉลี่ยของเดือนที่มีการลงนามในสัญญา (5) ในกรณีที่กลุ่มผู้พัฒนาโครงการจ่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. น้อยกว่าปริมาณตามสัญญา จะมีบทปรับ เช่น ในกรณี ที่ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายน้อยกว่าปริมาณตามสัญญาแต่มากกว่าร้อยละ 50 อัตราค่าไฟฟ้า จะลดลงเหลือประมาณ 3.65 เซนต์สหรัฐฯต่อหน่วย (6) สําหรับเรื่องกฎหมายที่ใช้ในการทําสัญญาในข้อ 6 ตาม MOU ระบุให้ใช้กฎหมายไทยเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับ MOU และสัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้น กลุ่มผู้พัฒนาโครงการห้วยเฮาะได้มีข้อโต้แย้ง โดยขอเสนอให้ใช้กฎหมายของประเทศที่เป็นกลาง
4. สพช. มีความเห็นว่าเห็นควรให้ความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ กฟผ. เสนอ ทั้งนี้เพราะอัตราค่าไฟฟ้าที่ตกลงกันได้อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงได้ของ กฟผ. (Avoided Cost) คือ ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่จะได้จากการผลิตไฟฟ้าโดยโครงการอื่นที่ กฟผ. จะดําเนินการ และอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่ได้ตกลงรับซื้อไปแล้วจากโครงการน้ำเทิน 2 และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ควรพิจารณากําหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้กฎหมายว่าจะยืนยันให้ใช้กฎหมายไทย หรือจะยอมให้ใช้กฎหมายประเทศที่สาม
มติของที่ประชุม
เห็นชอบประเด็นหลักของการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการห้วยเฮาะ แต่ทั้งนี้ให้ใช้กฎหมายประเทศที่สาม (เช่น กฎหมายอังกฤษ) เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับบันทึกความเข้าใจ และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยมอบหมายให้ กฟผ. รับไปลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับกลุ่มผู้พัฒนาโครงการต่อไป
เรื่องที่ 11 อัตราค่าไฟฟ้าสูงขึ้น
สรุปสาระสำคัญ
ที่ประชุมได้พิจารณาในประเด็นตามที่ประชาชนร้องเรียนมา ดังนี้
1. อัตราค่าไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมามีอัตราที่สูงขึ้น ตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ จึงควรมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมของสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติดังกล่าว เพื่อมิให้การไฟฟ้า ผลักภาระค่าใช้จ่ายบางประเภทที่ไม่เหมาะสมให้ผู้ใช้ไฟ รวมทั้ง ควรคํานึงถึงประสิทธิภาพการดําเนินการ และการให้บริการของการไฟฟ้าฯ เช่น ความสูญเสียในระบบ (Losses) และคุณภาพการบริการ ซึ่งหากไม่สามารถดําเนินการได้ การไฟฟ้าฯ ควรรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้
2. การประเมินผลการเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี ของการไฟฟ้าฯ ไม่ควรใช้กําไรเป็นหลักเพราะจะทําให้ การไฟฟ้าฯ มุ่งเน้นการหากําไรเพียงประการเดียว และผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ใช้ไฟ จึงควรพิจารณา การประเมินผลด้วยเครื่องชี้วัดอื่น ๆ ประกอบด้วย
3. อัตราค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากการใช้น้ำมันดีเซลในจํานวนที่สูงเกือบถึง 100 ล้านลิตร/เดือน ในขณะที่แต่เดิมได้วางแผนว่าจะใช้น้ำมันดีเซลไม่เกิน 3 ล้านลิตรต่อเดือน เท่านั้น จึงส่งผลให้ อัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลมีต้นทุนที่สูงกว่าเชื้อเพลิงอื่น การใช้น้ำมันดีเซลในปริมาณที่สูงเป็นเพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพิ่มสูงเกินกว่ากําลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงอื่น หากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะติดตั้งระบบกําจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) แล้วเสร็จก็จะสามารถลดการใช้น้ำมันดีเซลได้ส่วนหนึ่ง สําหรับในระยะยาวควรให้มีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาถูกกว่าเข้ามาในระบบเพื่อลดการใช้น้ำมันดีเซลให้มากที่สุด
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พิจารณาหาวิธีการในการลดอัตราค่าไฟฟ้า รวมทั้ง พิจารณาทบทวนสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยคํานึงถึงข้อพิจารณาของที่ประชุมดังกล่าว