
คณะกรรมการและอนุกรรมการ (2552)
Children categories
กบง.ครั้งที่ 12/2565 (ครั้งที่ 50) วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2565
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 12/2565 (ครั้งที่ 50)
วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2565
1. การขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 การขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบ มาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการฯ) เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG โดยมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) จัดทำคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้สำหรับการดำเนินมาตรการดังกล่าว โดยยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ในช่วงเดือนเมษายน 2565 - เดือนมิถุนายน 2565 รวมเงินงบประมาณ 200,000,000 บาท โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 199,650,000 บาท แก่ ธพ. โดยกรมบัญชีกลางเป็นผู้อนุมัติและดำเนินการแทน ธพ. ผ่านวิธี การเบิกจ่ายเงินงบประมาณแทนกัน ซึ่งต่อมากระทรวงพลังงาน (พน.) ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมอีก 7,367,140 บาท รวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 207,017,140 บาท ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 กบง. ได้เห็นชอบการขยายระยะเวลาโครงการฯ อีก 3 เดือน ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 - เดือนกันยายน 2565 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ในช่วงดังกล่าว และมอบหมายให้ ธพ. จัดทำคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้ดำเนินโครงการฯ สำหรับผู้ใช้สิทธิ 4,000,000 ราย รวมเงินงบประมาณ 220,000,000 บาท โดยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ครม. ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 220,000,000 บาท ให้ ธพ. โดยกรมบัญชีกลางเป็นผู้อนุมัติและดำเนินการแทน ธพ. ผ่านวิธีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแทนกันเช่นเดียวกับคราวแรก
2. ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2565 - วันที่ 30 มิถุนายน 2565 มีการใช้สิทธิส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน จำนวน 3,599,368 ราย ใช้งบประมาณ 197,910,359.32 บาท ซึ่งในเดือนกรกฎาคม 2565 ธพ. ได้รายงานผลการดำเนินการให้สำนักงบประมาณทราบ และคืนเงินงบประมาณเหลือจ่ายจำนวน 9,106,780.68 บาท สำหรับเดือนกรกฎาคม 2565 มีการใช้สิทธิส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 3,353,012 ราย ใช้งบประมาณ 184,407,068.35 บาท และวันที่ 1 - 14 สิงหาคม 2565 มีการใช้สิทธิ 388,932 ราย ใช้งบประมาณ 21,388,465.95 บาท จึงเหลืองบประมาณอีก 14,204,465.70 บาท สำหรับการใช้สิทธิ อีก 258,056 ราย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 ธพ. จึงปรับคาดการณ์จำนวนผู้ใช้สิทธิระหว่างเดือนกรกฎาคม 2565 - เดือนกันยายน 2565 จาก 4,000,000 ราย เงินงบประมาณ 220,000,000 บาท เป็น 5,500,000 ราย เงินงบประมาณ 302,500,000 บาท โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพิ่มเติม สำหรับการใช้สิทธิอีก 1,500,000 ราย เป็นเงินงบประมาณ 82,500,000 บาท
3. การขอขยายระยะเวลาโครงการฯ มีรายละเอียด ดังนี้ (1) เหตุผลและความจำเป็น เนื่องจากระยะเวลาโครงการฯ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2565 ขณะที่ราคาก๊าซ LPG ยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้นเพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างต่อเนื่องจึงต้องขอขยายระยะเวลาโครงการฯ (2) ขอบเขตการดำเนินงาน ยกระดับความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นจาก 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน อีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน โดยขยายระยะเวลาโครงการออกไปอีกประมาณ 3 เดือน (3) ระยะเวลาดำเนินการ วันที่ 20 ตุลาคม 2565 - วันที่ 31 ธันวาคม 2565 (4) วงเงินงบประมาณ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 302,500,000 บาท โดยคำนวณจากการคาดการณ์ว่าการขยายระยะเวลายกระดับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน จะจูงใจให้มีผู้ใช้สิทธิ์ระหว่างเดือนตุลาคม 2565 - เดือนธันวาคม 2565 รวมประมาณ 5,500,000 ราย จากการที่พบว่าช่วงเดือนเมษายน 2565 - เดือนมิถุนายน 2565 มีการใช้สิทธิรวม 3,599,368 ราย ในขณะที่เดือนกรกฎาคม 2565 เพียงเดือนเดียวมีผู้ใช้สิทธิเพิ่มขึ้นเป็น 3,353,012 ราย (5) การขอรับจัดสรรงบประมาณ โดย พน. นำเรื่องเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาโครงการฯ โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ พน. จะจัดทำคำขอรับงบประมาณไปยังสำนักงบประมาณ ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ข้อ 9 (3) และ (6) การขยายระยะเวลาโครงการ และขอรับจัดสรรงบประมาณ โดย ธพ. จะแจ้งให้กรมบัญชีกลางทราบเพื่อเตรียมความพร้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการได้ภายในวันที่ 20 ตุลาคม 2565
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการขยายระยะเวลาโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีกประมาณ 3 เดือน (วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565)
2. มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในหลักการเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาโครงการอีกประมาณ 3 เดือน (วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565) โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 302,500,000 บาท เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ และจัดทำคำขอรับงบประมาณเพื่อใช้สำหรับดำเนินโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2565 จำนวน 302,500,000 บาท เสนอสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. วันที่ 29 มีนาคม 2565 วันที่ 19 เมษายน 2565 และวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป โดยมีมาตรการด้านไฟฟ้าในการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนพฤษภาคม – เดือนสิงหาคม 2565 โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 23.38 สตางค์ต่อหน่วย โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ต่อมา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (รมว.พน.) ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) จัดทำข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวทางกำหนดนโยบายอัตรา ค่าไฟฟ้าเพื่อบริหารจัดการค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควบคู่กับการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อย โดยให้นำเสนอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาให้ความเห็น ซึ่ง กกพ. ได้รายงานผลการพิจารณาดังกล่าวต่อ รมว.พน. ตามที่ได้รับนโยบายจาก การประชุมหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต่อมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 รมว.พน. ได้มอบหมายให้สำนักงาน กกพ. นำข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาต่อไป
2. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 กกพ. ได้เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ตามที่สำนักงาน กกพ. ได้ประสานข้อมูลจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าและการใช้พลังงานไฟฟ้าประจำเดือนพฤษภาคม 2565 ร่วมกับการไฟฟ้า นครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และนำผลการพิจารณาการปรับค่า Ft ตามการพิจารณาของ กกพ. เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 มาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน เพื่อนำเสนอต่อ กบง. พิจารณา ดังนี้
2.1 เหตุผลและความจำเป็น จากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 การเปลี่ยนผ่านสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย การผลิตก๊าซธรรมชาติจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาที่เริ่มลดลง ในขณะที่สงครามระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและยูเครนยังไม่ยุติ ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกที่มีราคาสูงมาทดแทนในปริมาณมากเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติถึงปี 2567 ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง ทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยค่า Ft ช่วงเดือนกันยายน 2565 – เดือนธันวาคม 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย จากเดือนพฤษภาคม 2565 – เดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งอยู่ที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ ค่าไฟฟ้าโดยรวม (ค่าไฟฟ้าฐานและค่า Ft) เพิ่มขึ้นจาก 4.03 บาทต่อหน่วย เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 17 ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยซึ่งเป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้าย (Last unit consumption) ได้รับผลกระทบอย่างมาก กระทรวงพลังงานจึงเห็นควรพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน ควบคู่กับการจูงใจให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด
2.2 แนวทางการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง โดยดำเนินการต่อเนื่องจากนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 วันที่ 19 เมษายน 2565 และวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย (ประกอบด้วยส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนพฤษภาคม 2565 – เดือนสิงหาคม 2565 จำนวน 23.38 สตางค์ต่อหน่วย และส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนกันยายน 2565 – เดือนธันวาคม 2565 จำนวน 68.66 สตางค์ต่อหน่วย) เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนกันยายน 2565 – เดือนธันวาคม 2565 และกลุ่มที่ 2 ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301 - 500 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นคนชั้นกลาง ในลักษณะการให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนกันยายน 2565 – เดือนธันวาคม 2565 (ซึ่งอยู่ที่ 68.66 สตางค์ต่อหน่วย) แบบขั้นบันได ในอัตราร้อยละ 15 - ร้อยละ 75 โดยจูงใจให้มีการลดการใช้ไฟฟ้าลง ซึ่งจะช่วยลด การนำเข้าพลังงานราคาสูงจากต่างประเทศได้ส่วนหนึ่ง ดังนี้ (1) ผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301 - 350 หน่วย ให้ส่วนลดค่า Ft ร้อยละ 75 คือ จำนวน 51.50 สตางค์ต่อหน่วย (2) ผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 351 - 400 หน่วย ให้ส่วนลดค่า Ft ร้อยละ 45 คือ จำนวน 30.90 สตางค์ต่อหน่วย และ (3) ผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 401 -500 หน่วย ให้ส่วนลดค่า Ft ร้อยละ 15 คือ จำนวน 10.30 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ กำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยแสดงเป็นรายการส่วนลดจากรัฐบาล หรือข้อความอื่นตามความเหมาะสม ในใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือนกันยายน 2565 – เดือนธันวาคม 2565
2.3 จำนวนผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ และงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการตามแนวทาง การช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ในพื้นที่ของ กฟน. และ กฟภ. จะครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 20.28 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ หรือร้อยละ 89 ของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณรวมประมาณ 1,949 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 7,796 ล้านบาทสำหรับ 4 เดือน ทั้งนี้ หากจะดำเนินมาตรการให้ครอบคลุมบ้านอยู่อาศัยในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ซึ่งมีผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 39,500 ราย จะครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 20.32 ล้านราย โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท สำหรับการดำเนินงาน 4 เดือน
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบแนวทางในการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย ต่อเดือน ในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการ ของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนกันยายน 2565 - เดือนธันวาคม 2565 โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน (ประมาณ 8,000 ล้านบาท สำหรับ 4 เดือน)
2. มอบหมายให้กระทรวงพลังงานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอรับการสนับสนุน แหล่งงบประมาณในการดำเนินการ ตามแนวทางในการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้นต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้พิจารณา เรื่อง แนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบมติ กพช. โดยเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในรายละเอียด โดยมอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) พิจารณาปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติ และความสามารถที่เหลือที่จะนำเข้า LNG โดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาระ Take or Pay และให้นำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. เพื่อพิจารณาปริมาณการนำเข้า LNG ในระยะที่ 2 ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2564 โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำกับดูแล ต่อมา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 กบง. ได้พิจารณาสถานการณ์การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ และทบทวนปริมาณการนำเข้า LNG ปี 2565 - 2567 โดยมีมติเห็นชอบความสามารถในการนำเข้า LNG สำหรับปีดังกล่าวรวม 4.5 5.2 และ 5.0 ล้านตัน ตามลำดับ ทั้งนี้ หากพบว่าปริมาณความสามารถในการนำเข้า LNG มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากตัวเลขดังกล่าว ให้ ชธ. และ ปตท. เสนอต่อ กบง. เพื่อพิจารณาทบทวน และมอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้บริหารจัดการปริมาณการนำเข้า LNG ปี 2565 - 2567 และกำกับดูแล นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 กพช. ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG (LNG Benchmark) สำหรับกลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. (Regulated Market) เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ สมการในรูปแบบเส้นตรงที่อ้างอิงราคาน้ำมัน สมการในรูปแบบเส้นตรงที่อ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติ และสมการในรูปแบบ Hybrid ซึ่งอ้างอิงทั้งราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และมีจุดหักมุม และมอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้กำกับดูแลและพิจารณาในรายละเอียดของหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG สำหรับกลุ่ม Regulated Market และต่อมา เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 กพช. ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณและการดำเนินการเกี่ยวกับราคา ก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของ กกพ. ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ควรให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายเดิมที่มีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายเดิม สามารถเจรจาตกลงกันระหว่างคู่สัญญา เพื่อแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกสัญญาได้ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดตลาดเสรีในกิจการก๊าซธรรมชาติต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ กบง. ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 และ กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ได้พิจารณาข้อเสนอการจัดหา LNG สัญญาระยะยาว ของ ปตท. โดย กพช. ได้มีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบให้ ปตท. จัดหา LNG สัญญาระยะยาว ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี เพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาวที่มีการลงนามแล้ว 5.2 ล้านตันต่อปี โดยนำต้นทุนการจัดหารวมเข้าไปคำนวณเฉลี่ยในราคา Pool และรับทราบสาระสำคัญการจัดหา LNG สัญญาระยะยาวของ ปตท. (2) มอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้กำกับดูแลให้ราคาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กพช. กำหนด และให้ ปตท. นำสัญญาซื้อขาย LNG สัญญาระยะยาวเสนอ กบง. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป และ (3) มอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการติดตามผลกระทบต่อราคาพลังงานจากการจัดหา LNG สัญญาระยะยาวของ ปตท. อย่างใกล้ชิด เพื่อมิให้ส่งผลกระทบ ต่อราคาพลังงานของประเทศในอนาคต
2. ปตท. ได้เจรจากับผู้ขาย LNG อย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการจากตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) รวมถึงผู้ขายลักษณะ Portfolio แต่เนื่องจากตลาดอยู่ในสภาวะตึงตัว การพัฒนาโครงการ LNG ใหม่ ยังมีจำกัด ผู้ซื้อจากฝั่งยุโรปเร่งจัดหาเพิ่มเติม ทำให้ข้อเสนอขายของผู้ขาย LNG หลายรายมีกำหนดการยืนราคาค่อนข้างสั้น และมีเงื่อนไขการขายที่มีความยืดหยุ่นต่ำ ทำให้ปัจจุบันมีผู้ขาย LNG ที่ยื่นข้อเสนอให้ ปตท. พิจารณาตามปริมาณ และเงื่อนไขที่ยอมรับได้รวม 4 ราย โดยข้อเสนอราคาของบริษัท พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี จำกัด (PTTGL) เป็นข้อเสนอที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ขายรายอื่น ซึ่งมีข้อได้เปรียบในเงื่อนไขสัญญา ดังนี้ (1) PTTGL นำเสนอเงื่อนไขสัญญาที่ยืดหยุ่นกว่าผู้ขายรายอื่น อาทิ PTTGL เสนอขาย LNG ตั้งแต่ปี 2569 ด้วยเงื่อนไข การส่งมอบที่ปลายทาง (Delivery Ex-Ship: DES) ตลอดอายุสัญญา โดยกรณีผู้ขายขาดส่ง (Seller’s Shortfall) จะชดเชยไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่า LNG ที่ขาดส่ง และผู้ขายให้สิทธิในการปรับลด (DQT) และปรับเพิ่มจำนวน (UQT) เที่ยวเรือ รวมถึงสิทธิในการยกเลิกเที่ยวเรือ (Cancellation) นอกจากนี้ ผู้ขายยังเสนอขาย LNG ปริมาณ 0.2 - 0.4 ล้านตันต่อปี (Bridging Volume) ในช่วงปี 2566 - 2568 ที่ราคา JKM Discount ซึ่งจะมีแผนส่งมอบที่ชัดเจน หาก ปตท. มีความต้องการใช้ LNG ในช่วงเวลาดังกล่าว (2) PTTGL เสนอสูตรราคาขาย ที่อ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติ Henry Hub (HH Link) ที่ A%HH + Y โดยร้อยละ 26 ของ Y จะปรับเพิ่มขึ้นรายปีตามดัชนีราคาผู้บริโภค (US CPI) ซึ่งราคาขายดังกล่าวจะต่ำกว่าสูตรราคาที่อ้างอิงราคาน้ำมัน (Oil Link) เมื่อราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่สูงกว่า 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน Wood Mackenzie ได้คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2565 - 2571 ราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และราคาจะอยู่ในระดับสูงกว่า 80 - 120 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ HH จะปรับตัวอยู่ในกรอบ 3 - 5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ดังนั้น ข้อเสนอราคาของ PTTGL จึงมีระดับราคาที่แข่งขันได้ กับผู้ขายรายอื่น ทั้งสูตรราคา Oil Link และ HH Link เมื่อเปรียบเทียบที่ระดับราคาน้ำมันสูงกว่า 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามสมมติฐานข้างต้น ซึ่งหากนำข้อเสนอราคาของ PTTGL มาคำนวณรวมกับราคา LNG สัญญาระยะยาวของ ปตท. จะทำให้ประมาณการค่าเฉลี่ยราคา LNG สัญญาระยะยาวของ ปตท. ลดลงด้วย นอกจากนี้ การรับซื้อ LNG จาก PTTGL ที่อ้างอิงสูตรราคา HH Link เสมือน ปตท. จัดหาจากโครงการในสหรัฐฯ โดยตรง ทำให้มีสัดส่วน HH index เข้ามาใน Portfolio มากขึ้น จึงเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านราคา(Diversified Portfolio) จากปัจจุบันที่ ปตท. มีสัญญากับ Qatargas ซึ่งอ้างอิงราคาน้ำมัน JCC (Japanese Crude Cocktail) ร้อยละ 100 และสัญญากับ Shell BP และ Petronas ที่อ้างอิงราคาน้ำมัน และ HH ที่สัดส่วน 50 : 50 อีกทั้งสอดคล้องกับสัดส่วนปริมาณ LNG จากโครงการในสหรัฐฯ ในตลาด LNG ปัจจุบัน ประกอบกับโครงการส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ จะมีการส่งมอบที่ต้นทาง (Free On Board: FOB) แต่ PTTGL เสนอเงื่อนไขการ ส่งมอบที่ปลายทางตลอดอายุสัญญาฯ จึงทำให้ ปตท. ไม่ต้องรับความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าขนส่ง และการส่งผ่านราคาลง Pool จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนด และ (3) PTTGL ซื้อ LNG จากบริษัท Cheniere Energy ซึ่งเป็นผู้ผลิต LNG ชั้นนำลำดับ 2 ของโลก และส่งออก LNG อันดับ 1 ของสหรัฐฯ โดยมีโครงการผลิตที่สำคัญ 2 โครงการ ได้แก่ Sabine Pass และ Corpus Christi กำลังการผลิต LNG รวม 45 ล้านตันต่อปี และมีกำหนดการผลิต LNG ออกสู่ตลาดที่ชัดเจน ดังนั้น การรับซื้อ LNG จาก PTTGL จึงเป็นการจัดหาจากแหล่งผลิตที่มีศักยภาพจากสหรัฐฯ รวมถึงแหล่งผลิตอื่นๆ ที่มีศักยภาพและคุณภาพเป็นไปตามสัญญา
3. เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ปตท. ได้มีหนังสือขอนำร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาว (LNG Sale and Purchase Agreement: LNG SPA) ระหว่าง ปตท. กับ PTTGL เพื่อเสนอ กบง. พิจารณา โดยมีสาระสำคัญในสัญญา ดังนี้ (1) ผู้ซื้อ คือ ปตท. และผู้ขาย คือ PTTGL (2) ปริมาณซื้อขาย (ACQ) 1 ล้านตันต่อปี รูปแบบการส่งมอบที่ท่าปลายทาง (3) กำหนดส่งมอบตั้งแต่เดือนมกราคม 2569 อายุสัญญา 15 ปี (ขยายสัญญาได้อีก 5 ปี หากคู่สัญญาเห็นชอบร่วมกัน) (4) แหล่งผลิต LNG จากสหรัฐฯ และโครงการผลิต LNG อื่นๆ ที่มีคุณภาพเป็นไปตามสัญญา (5) หากผู้ซื้อไม่สามารถรับ LNG เที่ยวเรือนั้นได้ ผู้ขายจะพยายามขาย LNG นั้น ให้กับผู้ซื้อรายอื่น โดยผู้ซื้อรับผิดชอบชดเชยส่วนขาดจากการขาย LNG เที่ยวเรือนั้น (Mitigation Sale) (6) กรณีผู้ขายขาดส่งจะชดเชยไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่า LNG ที่ผู้ขายขาดส่งตามแผน โดยกรณี Willful Misconduct จะชดเชยร้อยละ 100 (7) กรณีผู้ขายแจ้ง LNG Off-Spec. ล่วงหน้า ผู้ขายจะชดเชยค่าเสียหายจ่ายตามจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 120 ของมูลค่าประเมิน กรณีผู้ขายไม่แจ้ง Off-Spec. ล่วงหน้า จะชดเชยค่าเสียหายจ่ายตามจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 100 ของมูลค่า LNG (8) สูตรราคาขาย คือ A%HH + Y ซึ่งเป็นไปตาม LNG Benchmark ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 โดยร้อยละ 26 ของ Y จะปรับเพิ่มขึ้นรายปีตามดัชนีราคาผู้บริโภค (US CPI) ทั้งนี้ มีการกำหนดสิทธิในการปรับลดเที่ยวเรือ ไม่เกิน 1 เที่ยวเรือต่อปี และไม่เกิน 3 เที่ยวเรือตลอดอายุสัญญา สิทธิในการปรับเพิ่มเที่ยวเรือ ไม่เกิน 1 เที่ยวเรือต่อปี (โดยความเห็นชอบจากผู้ขาย) และสิทธิในการยกเลิกเที่ยวเรือ โดยผู้ซื้อต้องแจ้งให้ผู้ขายทราบล่วงหน้าตามกำหนดเวลาในสัญญา โดยสามารถเลือกให้ผู้ขายดำเนินการ Mitigation Sales หรือ Cancellation Fee (9) ผู้ซื้อสามารถตกลงนำ LNG ไปขายตลาดอื่น ที่กำหนดได้ โดยแบ่งกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายกับผู้ขาย ในสัดส่วน 50 : 50 (10) สัญญานี้ตีความตามกฎหมายไทย โดยใช้วิธีระงับข้อพิพาทตามระเบียบภายในกลุ่ม ปตท. หากตกลงกันไม่ได้ให้ดำเนินการตามศาลไทย และ (11) ผู้ขายเสนอขาย LNG ปริมาณ 0.2 - 0.4 ล้านตันต่อปี ในช่วงปี 2566 - 2568 ที่ราคา JKM Discount ซึ่งจะมีแผน ส่งมอบที่ชัดเจน หาก ปตท. มีความต้องการใช้ LNG ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 กกพ. ได้พิจารณาสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาว ระหว่าง ปตท. และ PTTGL และได้มีมติเห็นชอบราคาซื้อขาย LNG ระยะยาวตามที่ ปตท. เสนอ ซึ่งเป็นไปตาม LNG Benchmark ที่ กพช. กำหนด เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565
มติของที่ประชุม
1. รับทราบสาระสำคัญของร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาว (LNG SPA) ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กับบริษัท พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี จำกัด (PTTGL)
2. เห็นชอบราคาซื้อขาย LNG (Contract Price) ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ ให้ กกพ. ไปตรวจทาน เปรียบเทียบกับสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวของ ปตท. ฉบับอื่นๆ ว่าสามารถกำกับดูแลได้โดยประเทศไม่เสียประโยชน์
3. มอบหมายให้ ปตท. ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาว กับ PTTGL ภายหลังจากที่ร่างสัญญาฯ ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการแก้ไข ร่างสัญญาฯ ดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่กระทบต่อสูตรราคา ปริมาณซื้อขาย (ACQ) รวมทั้งกำหนดแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบ ให้ ปตท. หารือ กกพ. ให้ได้ข้อยุติก่อนนำเสนอคณะกรรมการ ปตท. พิจารณาแก้ไขต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้รับทราบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) (แผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าฯ) และเห็นชอบหลักการและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง (หลักการรับซื้อไฟฟ้าฯ) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้า และกำกับดูแลการคัดเลือกตามขั้นตอน ทั้งนี้ อาจพิจารณาทบทวนปริมาณเชื้อเพลิงรายปีที่กำหนดไว้ได้ตามสถานการณ์หรือศักยภาพที่เหมาะสม หรือปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) ได้ โดยมอบให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาต่อมา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 กพช. ได้พิจารณาแนวทางการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า และได้เห็นชอบหลักการและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าฯ ในปริมาณ 100 เมกะวัตต์ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2569 และมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FIT ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าฯ และกำกับดูแลการคัดเลือกตามขั้นตอน ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) มอบหมายให้ กบง. พิจารณา
2. เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 และวันที่ 10 สิงหาคม 2565 กกพ. ได้ประชุมหารือและเห็นชอบให้เสนอ กบง. พิจารณาปรับปรุงรายละเอียดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT ดังกล่าวให้ชัดเจน และเสนอแนวทางการจัดสรรเป้าหมายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารายปี เพื่อให้ กกพ. นำไปประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไป ดังนี้
2.1 การกำหนดคุณสมบัติตามเงื่อนไขและลักษณะต้องห้ามของโครงการ (กลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม) เนื่องจากหลักการตาม มติ กพช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่พิจารณาถึงความพร้อมทั้งในด้านราคา คุณสมบัติ และเทคนิคร่วมกัน โดยมีกรอบหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการด้านคุณสมบัติ ซึ่งระบุให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไข อาทิ โครงการที่ยื่นข้อเสนอจะต้องเป็นโครงการใหม่และไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนในรูปแบบอื่นแล้ว หรือมีสัญญาผูกพันกับภาครัฐ หรือเป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่หน่วยงานภาครัฐพิจารณาแล้วว่ามีปัญหาจากการรับซื้อไฟฟ้ารอบที่ผ่านๆ มาและยังไม่สามารถพัฒนาโครงการจนสำเร็จได้ ณ วันที่ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้ารอบนี้ เป็นต้น โดยผู้ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติขั้นต้นเท่านั้นที่จะได้รับการพิจารณาด้านเทคนิคต่อไป ทั้งนี้ กกพ. พิจารณาแล้วเห็นว่าหลักการรับซื้อไฟฟ้า ที่ กพช. เห็นชอบกำหนดคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามโครงการไว้เป็นกรอบกว้างๆ แต่ด้วยมีลักษณะเป็นบทบัญญัติอันเป็นการจำกัดสิทธิของผู้เข้าร่วมโครงการ (Market Access) กกพ. ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจจำกัด ตัดสิทธิได้ จึงจำเป็นต้องกำหนดให้ชัดเจนเพื่อลดปัญหาข้อพิพาททางกฎหมายในอนาคต และให้ กกพ. สามารถออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าได้อย่างถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ และสอดคล้องกับหลักการของ กพช. จึงเสนอ กบง. พิจารณาปรับปรุงรายละเอียดคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของโครงการ ดังนี้ (1) เป็นโครงการใหม่ เสนอปรับปรุงว่า เป็นโรงไฟฟ้าที่ลงทุนก่อสร้างใหม่ และไม่เคยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือไม่เคยได้รับการตอบรับซื้อจากการไฟฟ้า (2) เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนในรูปแบบอื่นแล้ว เสนอให้ กบง. พิจารณาระบุรายละเอียดให้ชัดเจน เนื่องจากเป็นการตัดสิทธิ์ของบุคคลที่อาจขัดหลักการของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องป้องกันการใช้ ดุลยพินิจของผู้พิจารณา ทั้งนี้ หากภายหลังมีปัญหาในทางปฏิบัติ กกพ. จำเป็นต้องส่งให้ กบง. พิจารณา เนื่องจาก กกพ. ไม่อาจตีความเจตนารมณ์ของผู้ออกมตินี้ (3) สัญญาผูกพันกับภาครัฐ เสนอปรับปรุงว่า สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ที่ยังมีผลใช้บังคับ และ (4) เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่หน่วยงานภาครัฐพิจารณาแล้วว่ามีปัญหาจากการรับซื้อไฟฟ้ารอบที่ผ่านๆ มาและยังไม่สามารถพัฒนาโครงการจนสำเร็จได้ ณ วันที่ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้ารอบนี้ เสนอคงไว้ตามเดิม ทั้งนี้ กกพ. จะดำเนินการตามหลักการดังกล่าว โดยเปิดให้หน่วยงานภาครัฐที่พบว่าผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าไม่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดดังกล่าว ยื่นคัดค้านคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ โดย กกพ. จะไม่ตัดสินคำโต้แย้ง ทั้งนี้ ในการพิจารณาข้อเสนอขอขายไฟฟ้า กกพ. จะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเบื้องต้น นอกจากนี้ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยืนยันการมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยกำหนดเงื่อนไขการยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้า หากพบในภายหลังว่า ผู้ยื่นข้อเสนอไม่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด
2.2 การจัดสรรเป้าหมายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารายปี (เฉพาะกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง) เนื่องจากหลักการตาม มติ กพช. กำหนดเป้าหมายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าและกำหนด SCOD ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าฯ ซึ่งระบุปริมาณเมกะวัตต์ (MW) รับซื้อแยกเป็นรายปีตามประเภทเชื้อเพลิง โดยกรณีมีผู้ยื่นข้อเสนอจำนวนหลายราย ณ จุดเชื่อมโยงเดียวกัน แต่บริเวณดังกล่าวยังมีข้อจำกัดไม่สามารถปรับปรุงระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้สอดคล้องกับแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าฯ ได้นั้น จะพิจารณารับซื้อเรียงตามลำดับเชื้อเพลิง ดังนี้ (1) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) (2) พลังงานลม (3) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) และ (4) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ทั้งนี้ กกพ. พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากวิธีการจัดสรรปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าต้องเป็นไปตามข้อเสนอขอขายไฟฟ้า ศักยภาพระบบไฟฟ้า แผนการลงทุน และลำดับผลคะแนนความพร้อมของผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า ซึ่งอาจทำให้ผล การรับซื้อไฟฟ้าจะแตกต่างจากกรอบเป้าหมายรายปีและกำหนดปี SCOD ของแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าฯ ดังนั้น เพื่อให้ผู้ที่มีคะแนนความพร้อมได้รับการคัดเลือกตามลำดับคะแนน ลำดับความสำคัญของเชื้อเพลิง และรัฐสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ไกล้เคียงกับแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าฯ จึงเสนอ กบง. พิจารณาเห็นชอบให้ กกพ. สามารถพิจารณาปรับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้ารายปีของแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าฯ ได้ตามความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับผลคะแนนความพร้อมด้านเทคนิค ข้อเสนอขายไฟฟ้า กำหนด SCOD และศักยภาพระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ ไม่ให้เกินกรอบเป้าหมายรวมของแต่ละประเภทเชื้อเพลิงตามแผนการเพิ่ม การผลิตไฟฟ้าฯ
3. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้มีความเห็นต่อข้อเสนอการปรับปรุงหลักการรับซื้อไฟฟ้าตามที่ กกพ. เสนอ ดังนี้ ประเด็นที่ 1 คุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามหลักการ กพช. โดยเห็นด้วยกับรายละเอียดที่ กกพ. เสนอกำหนดในข้อ (1) เป็นโครงการใหม่ และข้อ (3) สัญญาผูกพันกับภาครัฐ เนื่องจากเป็นการสร้างความชัดเจนในการกำหนดเงื่อนไขให้สามารถดำเนินการในทางปฏิบัติได้ และเห็นควรยกเลิกเงื่อนไขข้อ (2) เป็นโครงการที่ได้รับ การสนับสนุนในรูปแบบอื่นแล้ว และข้อ (4) เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่หน่วยงานภาครัฐพิจารณาแล้วว่ามีปัญหาจากการ รับซื้อไฟฟ้ารอบที่ผ่านๆ มาและยังไม่สามารถพัฒนาโครงการจนสำเร็จได้ ณ วันที่ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้ารอบนี้ เนื่องจากเห็นว่า การกำหนดเงื่อนไขในลักษณะดังกล่าวขัดกับหลักการของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องใช้ดุลพินิจของผู้พิจารณาและอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติในภายหลังได้ รวมถึงอาจเกิดการฟ้องร้องในประเด็น การพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งอาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติของ กกพ. ทำให้ไม่สามารถเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้ตามมติ กพช. ประเด็นที่ 2 การจัดสรรเป้าหมายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารายปี เห็นควรเห็นชอบกับข้อเสนอของ กกพ. ในการพิจารณาปรับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้ารายปีได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ควรให้เกินกรอบเป้าหมายรวมของแต่ละประเภทเชื้อเพลิงตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าฯ เนื่องจากการปรับเป้าหมายดังกล่าวเป็นการดำเนินการให้สามารถเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้อย่างเป็นรูปธรรมในเชิงการกำกับและการปฏิบัติ ภายใต้หลักการและเงื่อนไขด้านการคัดเลือกข้อเสนอขายไฟฟ้าและด้านเทคนิค ทั้งนี้ กพช. ในการประชุม เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 และวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ได้มอบให้ กบง. สามารถพิจารณาทบทวนปริมาณเชื้อเพลิงรายปีที่กำหนดไว้ได้ตามสถานการณ์หรือศักยภาพที่เหมาะสม หรือปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) ได้
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบปรับปรุงกรอบหลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) (กลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม) สำหรับปี 2565 – 2573 ด้านคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของโครงการ
2. เห็นชอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานสามารถพิจารณาปรับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้ารายปีของแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) เฉพาะกลุ่มที่ ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ได้ตามความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับผลคะแนนความพร้อมด้านเทคนิค ข้อเสนอ ขายไฟฟ้า กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) และศักยภาพระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ ไม่ให้เกินกรอบเป้าหมายรวมของแต่ละประเภทเชื้อเพลิงตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าฯ
3. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอการปรับปรุงหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อทราบต่อไป
กพช. ครั้งที่ 160 วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 5/2565 (ครั้งที่ 160)
วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 09.30 น.
1. ข้อเสนอการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สัญญาระยะยาวของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 ข้อเสนอการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สัญญาระยะยาวของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สรุปสาระสำคัญ
1. 1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในรายละเอียด โดยให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) บริหารจัดการ Old Supply ซึ่งหมายถึงก๊าซธรรมชาติจากการจัดหาที่มีสัญญาผูกพันระยะยาวแล้ว เพื่อจำหน่ายก๊าซเข้า Pool ประกอบด้วย (1) ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยในปัจจุบันและก๊าซธรรมชาติ จากอ่าวไทยที่จะเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงก๊าซธรรมชาติที่จัดหาจากพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย - มาเลเซีย (JDA) (2) ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งบนบก (3) ก๊าซธรรมชาติที่นำเข้ามาจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (4) ก๊าซธรรมชาติที่นำเข้ามาในรูปแบบ LNG ที่เป็นสัญญาระยะยาวของประเทศที่มีอยู่ ในปัจจุบัน 4 สัญญา รวมปริมาณ 5.2 ล้านตันต่อปี และ (5) LNG Spot Flexible ตามปริมาณและเงื่อนไข ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รวมทั้งได้มอบหมายให้ ปตท. และ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) พิจารณาปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติ และความสามารถที่เหลือที่จะนำเข้า LNG โดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาระ Take or Pay และให้นำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. พิจารณาปริมาณการนำเข้า LNG ในระยะที่ 2 ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2564 ทั้งนี้ การจัดหา LNG สำหรับกลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. (Regulated Market) ด้วยสัญญาระยะยาวและ/หรือสัญญาระยะกลาง หลังจากที่การเจรจาสัญญามีข้อยุติ ให้นำสัญญาซื้อขาย LNG เสนอต่อ กบง. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการดำเนินการ ต่อมา เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 กพช. ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG (LNG Benchmark) สำหรับกลุ่ม Regulated Market เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ สมการในรูปแบบเส้นตรงที่อ้างอิงราคาน้ำมัน สมการในรูปแบบเส้นตรงที่อ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติ และสมการในรูปแบบ Hybrid ซึ่งอ้างอิงทั้งราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติและมีจุดหักมุม และมอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้กำกับดูแลและพิจารณาในรายละเอียดของหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG สำหรับกลุ่ม Regulated Market และต่อมา เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 กพช. ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณและการดำเนินการเกี่ยวกับราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของ กกพ. โดยเห็นควรให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายเดิมที่มีสัญญาซื้อขาย ก๊าซธรรมชาติกับผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายเดิม สามารถเจรจาตกลงกันระหว่างคู่สัญญาให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกสัญญา (Re-Negotiation) ได้ เพื่อสนับสนุนให้มีการแข่งขัน ที่เป็นธรรม และเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเปิดตลาดเสรีในกิจการก๊าซธรรมชาติต่อไปในอนาคต โดยปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เกินจาก Take or Pay ของ ปตท. ให้ถือเป็น New Demand ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่สามารถเลือกใช้ก๊าซธรรมชาติจาก Pool Gas หรือ New Shipper ได้ ภายใต้ การกำกับของ กกพ.
2. ปัจจุบันตลาด LNG มีความผันผวนและตึงตัวจากการพัฒนาโครงการผลิต LNG แหล่งใหม่ที่มีจำกัด ประกอบกับสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและประเทศยูเครนที่มีความยืดเยื้อ รวมทั้งความเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่สงบของเมียนมา ในขณะที่การผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอ่าวไทย มีปริมาณจำกัด ซึ่งอาจส่งผลให้ประเทศมีอุปทานก๊าซธรรมชาติลดลง ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดหา Spot LNG จำนวนมากซึ่งมีราคาสูงและผันผวน จึงจำเป็นที่จะต้องจัดหา LNG เพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาว แทนการจัดหา Spot LNG เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด Spot LNG โดยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ชธ. และ ปตท. ได้ประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันเพื่อพิจารณาความต้องการใช้และการจัดหา LNG เพิ่มเติมเพื่อสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ และได้นำเสนอผลการประชุมแก่คณะอนุกรรมการบริหารสถานการณ์ในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน (Execution Operation Team: EOT) ทราบเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 โดยพบว่า ในช่วงปี 2565 – 2580 ประเทศมีความต้องการ LNG New Supply เพิ่มเติมปริมาณ 4.2 - 16 ล้านตันต่อปี และตั้งแต่ปี 2576 เป็นต้นไปคาดว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่า Old Supply ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบ Old Supply กับ Old Demand ที่ ปตท. เป็นผู้บริหารจัดการ พบว่า ปตท. ยังจำเป็นต้องมีการจัดหา LNG เพิ่มเติมเพื่อรองรับ Old Demand ในภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และ NGVอย่างไรก็ดี ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ได้กำหนดให้ Old Supply หมายถึง ก๊าซธรรมชาติจากการจัดหาที่มีสัญญาผูกพันระยะยาวแล้ว ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงการจัดหา LNG เพื่อรองรับความต้องการใช้ ก๊าซธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องขออนุมัติ กพช. เพื่อให้ ปตท. นำเข้า LNG เพิ่มเติมจากสัญญาปัจจุบัน ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 กกพ. ได้หารือแนวทางการจัดสรรปริมาณความต้องการก๊าซธรรมชาติระหว่าง ปตท. และบริษัทเอกชน สำหรับโรงไฟฟ้าปลวกแดง และโรงไฟฟ้าศรีราชา โดยที่ประชุมได้มีมติให้ ปตท. จัดหา LNG ปริมาณ 1.0 ล้านตันต่อปี และบริษัทเอกชนจัดหา LNG ปริมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของโรงไฟฟ้า
3. ปัจจุบันราคา LNG ในตลาดมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นและประเทศต่างๆ ได้เร่งจับจอง LNG ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยมีปริมาณก๊าซธรรมชาติและ LNG เพียงพอในระดับราคาที่ไม่สูงเกินไป ปตท. จึงเสนอการจัดหา LNG ด้วยรูปแบบสัญญาระยะยาวเป็นกรณีเร่งด่วน โดยจากการเปรียบเทียบข้อเสนอขายจากผู้ขาย LNG พบว่า ข้อเสนอขายของ บริษัท พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี จำกัด (PTTGL) มีเงื่อนไขและราคาที่แข่งขันได้ เนื่องจาก PTTGL ได้รับข้อเสนอขายจากผู้จัดหา (Supplier) ในช่วงที่ตลาดยังไม่ตึงตัวมากนัก ทำให้ได้รับเงื่อนไขและราคาที่ดีกว่าตลาดในปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญของข้อเสนอการจัดหา LNG ดังนี้ ผู้ซื้อ คือ ปตท. และผู้ขาย คือ PTTGL ปริมาณซื้อขาย (ACQ) 1 ล้านตันต่อปี รูปแบบการส่งมอบที่ท่าปลายทาง (Delivery Ex-Ship: DES) โดย PTTGL จะบริหารและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายรวมถึงความเสี่ยงจากการขนส่ง LNG ที่โครงการผลิต LNG ของสหรัฐอเมริกาได้เสนอขายที่ท่าต้นทาง (Free on Board: FOB) มายังประเทศไทย กำหนด ส่งมอบตั้งแต่เดือนมกราคม 2569 อายุสัญญา 15 ปี (ขยายสัญญาได้อีก 5 ปี หากคู่สัญญาเห็นชอบร่วมกัน)
4. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 และวันที่ 27 มิถุนายน 2565 กกพ. ได้พิจารณาข้อเสนอ การนำเข้า LNG สัญญาระยะยาวของ ปตท. และได้มีมติ ดังนี้ (1) เห็นควรให้ความเห็นชอบการจัดหา LNG ด้วยสัญญาระยะยาวของ ปตท. ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี เริ่มส่งมอบปี 2569 ระยะเวลา 15 ปี เนื่องจากการลดลง ของปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ส่งผลให้ Old Supply ไม่เพียงพอ ต่อความต้องการของ Old Demand (2) ข้อเสนอการนำเข้า LNG สัญญาระยะยาวของ ปตท. เป็นไปตาม LNG Benchmark สำหรับกลุ่ม Regulated Market ที่ กพช. เห็นชอบเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 โดย กกพ. จะกำกับการจัดหา LNG ให้เป็นไปตามมติ กพช. ที่เกี่ยวข้อง และ (3) เห็นควรให้นำต้นทุนในการจัดหา LNG ดังกล่าว ไปเฉลี่ยในราคา Pool Gas เพื่อประโยชน์ต่อราคาในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยฝ่ายเลขานุการฯ ได้มีความเห็นว่า เห็นควรให้ ปตท. นำเข้า LNG เพิ่มเติมใน Old Supply เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติและเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน รวมทั้งลดต้นทุนพลังงานของประเทศจากความผันผวนด้านราคา ของตลาด Spot LNG อย่างไรก็ดี ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ให้ ปตท. บริหารจัดการ Old Supply ซึ่งในส่วนการจัดหา LNG เป็นการจัดหา LNG สัญญาระยะยาว 4 สัญญา ปริมาณรวม 5.2 ล้านตันต่อปี ดังนั้น เพื่อให้ ปตท. สามารถจัดหา LNG สัญญาระยะยาวอีก 1 ล้านตันต่อปี และนำราคารวมเข้าไปคำนวณเฉลี่ยในราคา Pool Gas จึงเห็นควรเสนอ กพช. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
5. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 กบง. ได้พิจารณาเรื่อง ข้อเสนอการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สัญญาระยะยาวของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และได้มีมติดังนี้ (1) เห็นชอบให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) จัดหา LNG สัญญาระยะยาว ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี เพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาวที่มีการลงนามแล้ว 5.2 ล้านตันต่อปี โดยนำต้นทุนการจัดหารวมเข้าไปคำนวณเฉลี่ยในราคา Pool (2) มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นผู้กำกับดูแลให้ราคาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กพช. กำหนด และให้ ปตท. นำสัญญาซื้อขาย LNG สัญญาระยะยาวเสนอ กบง. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป และ (3) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ รับข้อสังเกตของ กบง. ไปประกอบการนำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้ขอให้ สำนักงาน กกพ. และ ปตท. ยืนยันว่า ข้อเสนอการจัดหา LNG สัญญาระยะยาวของ ปตท. มีเงื่อนไขราคาที่สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG (LNG Benchmark) ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 รวมทั้งมีเงื่อนไขสัญญาและราคาที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับผู้เสนอขายรายอื่นในปริมาณเดียวกัน โดยให้ ปตท. นำเสนอรายละเอียดเงื่อนไขสัญญาและราคาของ PTTGL เปรียบเทียบกับผู้เสนอขายรายอื่น รวมทั้งศักยภาพและความน่าเชื่อถือของผู้เสนอขายโครงการ LNG โดยสำนักงาน กกพ. ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันว่าข้อเสนอการจัดหา LNG ของ ปตท. เป็นไปตาม LNG Benchmark และต่อมา เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ปตท. ได้มีหนังสือถึงฝ่ายเลขานุการฯ เพื่อนำส่งข้อมูลดังกล่าว
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สัญญาระยะยาว ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี เพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาวที่มีการลงนามแล้ว 5.2 ล้านตันต่อปี โดยนำต้นทุนการจัดหารวมเข้าไปคำนวณเฉลี่ยในราคา Pool และรับทราบสาระสำคัญการจัดหา LNG สัญญาระยะยาว (Term Sheet) ของ ปตท.
2. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำกับดูแลให้ราคา เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกำหนด และให้ ปตท. นำสัญญาซื้อขาย LNG สัญญาระยะยาวเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป
3. มอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการติดตามผลกระทบต่อราคาพลังงานจากการจัดหา LNG สัญญาระยะยาวของ ปตท. อย่างใกล้ชิด เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานของประเทศในอนาคต
กพช. ครั้งที่ 159 วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2565
มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 4/2565 (ครั้งที่ 159)
วันพุธที่ 22 มิถนายน พ.ศ. 2565 เวลา 13.30 น.
1. รายงานผลการดำเนินงานในการจัดสรรผลประโยชน์บัญชี Take or Payแหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา
2. รายงานผลการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
3. ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
4. การเลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนแม่เมาะเครื่องที่ 8 – 11
5. การบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft)
6. แนวทางการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า
7. การขอยกเว้นภาษีสรรพากรที่เกิดจากการร่วมลงทุนโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2)
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 รายงานผลการดำเนินงานในการจัดสรรผลประโยชน์บัญชี Take or Payแหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา
สรุปสาระสำคัญ
1. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ได้ซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาและแหล่งเยตากุน โดยเริ่มส่งก๊าซในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 และวันที่ 1 เมษายน 2543 ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองสัญญามีเงื่อนไข การซื้อขายแบบ Take or Pay (TOP) กล่าวคือ หากผู้ซื้อรับก๊าซไม่ครบปริมาณขั้นต่ำรายปีตามสัญญา ผู้ซื้อ จะมีภาระผูกพันต้องจ่ายเงินค่าก๊าซให้ผู้ขายก๊าซสำหรับปริมาณที่รับขาดไปก่อน โดยผู้ซื้อสามารถเรียกรับก๊าซตามปริมาณที่ได้ชำระเงินไปแล้วนั้นคืนในภายหลังโดยไม่ต้องจ่ายเงินอีก (Make up) ต่อมา จากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติลดลง คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้มีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขยายสัญญาก่อสร้างโรงไฟฟ้าราชบุรีออกไป 180 วัน และให้ ปตท. ชะลอโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติราชบุรี - วังน้อย ทำให้ ปตท. ไม่สามารถรับก๊าซจากแหล่งยาดานาและแหล่งเยตากุนได้ครบปริมาณขั้นต่ำรายปีตามสัญญาและต้องจ่ายเงินค่า TOP ทั้งนี้ ครม. ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2543 มีมติเห็นชอบแนวทางการลดภาระ TOP แหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา และแนวทางการจัดสรรภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น โดยให้ ปตท. เป็นแกนกลางเพื่อชำระค่าภาระ TOP โดยการกู้หรือระดมทุนไปก่อน แล้วจึงเรียกเก็บภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจาก กฟผ. และภาครัฐในภายหลัง สำหรับภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ในส่วนของภาครัฐที่ร้อยละ 75.8 ให้ ปตท. จัดสรรส่งผ่านเข้าไปในราคาก๊าซและค่าไฟฟ้า โดยการเกลี่ยราคาเท่ากัน ที่ 0.4645 บาทต่อล้านบีทียู สำหรับภาระดอกเบี้ยของ ปตท. และ กฟผ. จะอยู่ที่ร้อยละ 11.4 และร้อยละ 12.8 ตามลำดับ ซึ่งจะไม่ถูกส่งผ่านเข้าไปในราคาก๊าซหรือค่าไฟฟ้า โดย ครม. มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เร่งรัดและติดตามการดำเนินมาตรการลดปัญหา TOP และรายงาน กพช. เพื่อทราบเป็นระยะ และให้ สนพ. กฟผ. และ ปตท. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการบริหารจัดการบัญชี TOP ต่อไป
2. ปตท. เริ่มรับก๊าซ Make up ของแหล่งยาดานาและแหล่งเยตากุน ตั้งแต่ปี 2544 และ ปี 2545 ตามลำดับ และได้ออกพันธบัตรเพื่อจ่ายชำระค่าก๊าซ TOP ให้แก่ผู้ผลิตมูลค่า 35,451 ล้านบาท และมีภาระดอกเบี้ย TOP ทั้งสิ้น 4,403 ล้านบาท โดยเป็นความรับผิดชอบของ ปตท. กฟผ. และภาครัฐ 502 ล้านบาท 564 ล้านบาท และ 3,338 ล้านบาท ตามลำดับ ต่อมาราคาก๊าซฯ Make up ปรับสูงขึ้นโดยตลอด ทำให้เกิดกำไรจากส่วนต่างราคาที่รับ Make up และราคาที่จ่าย TOP ซึ่ง ปตท. ได้นำกำไรที่ได้ไปหักลดดอกเบี้ยจ่ายพันธบัตรบางส่วนและหักลดต้นทุน TOP ทำให้สามารถหักต้นทุน TOP ของทั้งสองแหล่งได้หมดในปี 2555 และยังมีก๊าซให้ Make up ได้ต่อไปโดยไม่มีต้นทุน ทั้งนี้ ก๊าซ TOP ของแหล่งเยตากุนและแหล่งยาดานาสามารถรับได้หมดในปี 2555 และปี 2561 ตามลำดับ เกิดกำไรในบัญชี TOP ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปี 2561 โดยสถานะของบัญชี TOP ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 มีกำไรสะสมประมาณ 13,591 ล้านบาท สำหรับภาระดอกเบี้ยในส่วนของภาครัฐ 3,338 ล้านบาท ปตท. ดำเนินการส่งผ่านไปในราคาก๊าซ (Levelized Price) ที่อัตรา 0.4645 บาทต่อล้านบีทียู ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2544 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2551 โดยในงวดสุดท้าย ปตท. เรียกเก็บไว้เกินประมาณ 27.8 ล้านบาท เนื่องจากเก็บตามปริมาณการใช้ก๊าซเต็มเดือนซึ่งมากกว่าปริมาณคงเหลือที่จะต้องเรียกเก็บ โดย ปตท. ได้บันทึกดอกเบี้ยรับทบต้นในอัตราร้อยละ 5.0807 ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับการบันทึกดอกเบี้ยจ่าย โดยสถานะ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 มีมูลค่าประมาณ 52 ล้านบาท
3. รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตรวจสอบบัญชีผลประโยชน์ TOP ซึ่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 กกพ. ได้มีมติรับทราบผลการตรวจสอบรายละเอียดบัญชีผลประโยชน์ TOP และเห็นควรให้ สนพ. ปตท. และ กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจาก กพช. และ ครม. ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล โดยต่อมาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 วันที่ 2 สิงหาคม 2564 และวันที่ 29 ตุลาคม 2564 สนพ. สำนักงาน กกพ. ปตท. และ กฟผ. ได้ประชุมร่วมกันและมีข้อสรุปว่าข้อมูลบัญชีรับจ่ายมีความถูกต้องพร้อมทั้งมีหลักฐานที่มาของอัตราดอกเบี้ยครบถ้วน ทั้งนี้ ปตท. ได้รายงานมูลค่าผลประโยชน์บัญชี TOP ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีมูลค่าประมาณ 13,594 ล้านบาท ต่อมา เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 กพช. ได้มีมติเห็นชอบให้นําผลประโยชน์ของบัญชี TOP ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 จํานวนเงิน 13,594 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินการคืนภาครัฐทั้งหมด โดยนำไปอุดหนุนค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) โดยนําส่งเงินและลดราคาค่าก๊าซให้กับ กฟผ. เพื่อลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) โดยมอบหมายให้ กกพ. กำกับดูแลการดำเนินการดังกล่าว และนำเงินผลประโยชน์ของบัญชี TOP ไปลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติเพื่อลดค่าไฟฟ้า
4. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้มีหนังสือรายงานผลการดำเนินงานการคืนผลประโยชน์และปิดบัญชี TOP ของแหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา สรุปได้ดังนี้ (1) เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ปตท. ได้มีหนังสือรายงานผลการคืนผลประโยชน์และ ปิดบัญชี TOP ตามแนวทางการกำกับดูแลการจัดสรรผลประโยชน์บัญชี TOP ที่สำนักงาน กกพ. ได้นำเสนอ กกพ. รับทราบในการประชุมเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 13,601,446,936.82 บาท และ (2) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 และวันที่ 22 เมษายน 2565 กกพ. ได้ประชุมและรับทราบรายงานผลการดำเนินงานในการคืนผลประโยชน์และปิดบัญชี TOP ตามที่สำนักงาน กกพ. ได้ตรวจสอบ ดังนี้ 1) บัญชีผลประโยชน์ TOP พร้อมดอกเบี้ยระหว่างดำเนินการ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 13,601,446,936.82 บาท ประกอบด้วยผลประโยชน์จากการ Make up ก๊าซส่วนของภาครัฐ กฟผ. และ ปตท. รวมดอกเบี้ยคำนวณก่อนถึงวันที่คืนเงิน 1 วัน เป็นจำนวนเงิน 13,548,320,726.44 บาท และผลประโยชน์ของภาครัฐส่วนที่เก็บไว้เกินจากการส่งผ่านในราคาก๊าซ รวมดอกเบี้ยคำนวณก่อนถึงวันที่คืนเงิน 1 วัน เป็นจำนวนเงิน 53,126,210.38 บาท และ 2) กฟผ. ได้ทำหนังสือเรียกเก็บเงินไปยัง ปตท. และ ปตท. ได้ดำเนินการคืนเงินผลประโยชน์ TOP ตามมติ กกพ. แล้วเสร็จ โดยผลประโยชน์ TOP ส่วนของภาครัฐและ กฟผ. สัดส่วนรวมกันร้อยละ 88.6 และเงินส่วนของภาครัฐ ที่เก็บไว้เกินจากการส่งผ่านในราคาค่าก๊าซ ปตท. ได้นำส่งโดยการโอนเงินให้ กฟผ. ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 โดยคิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 แล้ว รวมเป็นมูลค่า 12,056,713,482.44 บาท และผลประโยชน์ TOP ในส่วนของ ปตท. ร้อยละ 11.4 ปตท. ได้นำไปเป็นส่วนลดค่าก๊าซให้ กฟผ. โดยออกใบลดหนี้ค่าก๊าซมกราคม 2565 ซึ่ง กฟผ. ชำระเงินในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 โดยคิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 แล้ว รวมเป็นมูลค่า 1,544,733,454.38 บาท ทั้งนี้ กฟผ. ได้นำเงินผลประโยชน์บัญชี TOP ของแหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา ไปคำนวณเป็นเงินส่วนลดค่า Ft สำหรับงวดเดือนมกราคม 2565 เรียบร้อยแล้ว
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการดำเนินงานในการจัดสรรผลประโยชน์บัญชี Take or Pay แหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา
เรื่องที่ 2 รายงานผลการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 มีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การกู้เงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และอนุมัติการกู้ยืมเงินตามความเห็นของกระทรวงการคลัง (กค.) ให้ สกนช. ดำเนินการกู้เฉพาะวงเงิน 20,000 ล้านบาท ตามกรอบของกฎหมายจัดตั้ง ที่มีอยู่ และจะดำเนินการกู้เงินเพิ่มเติมวงเงิน 10,000 ล้านบาท ได้ต่อเมื่อพระราชกฤษฎีกาขยายกรอบวงเงินกู้มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งต่อมาพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ พ.ศ. 2564 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 แล้ว
2. สกนช. ได้มีหนังสือแจ้งไปยังสถาบันการเงินหลายแห่งเพื่อให้ยื่นข้อเสนอเงินกู้มายัง สกนช. ภายในวันที่ 30 เมษายน 2565 ซึ่งในขณะนั้น คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารสภาพคล่องเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (คณะอนุกรรมการบริหารสภาพคล่องฯ) เพื่อวิเคราะห์และจัดทำแนวทางการบริหารสภาพคล่องเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กองทุนฯ) ซึ่งต่อมาคณะอนุกรรมการบริหารสภาพคล่องฯ ได้ประชุมร่วมกับธนาคาร และ กค. หลายครั้ง ซึ่งเมื่อครบกำหนด ให้สถาบันการเงินยื่นข้อเสนอ ปรากฎว่าไม่มีสถาบันการเงินใดยื่นข้อเสนอมายัง สกนช. โดยที่ประชุม ให้ สกนช. รายงานผลการจัดหาเงินกู้และแผนบริหารจัดการด้านการเงินทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อนำเสนอ ครม. พิจารณา ต่อมา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 สกนช. ได้ประชุมร่วมกับ กค. ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย ซึ่งธนาคารทั้งสองแห่งมีความกังวลเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงจากประมาณการกระแสเงินสด (Cash Flow) มีความต้องการเงินกู้ยืมที่เกินกว่ากรอบวงเงินกู้ 30,000 ล้านบาท ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ที่ประชุมมีความเห็นว่า สกนช. ควรเร่งจัดทำร่างหนังสือเพื่อเสนอ ครม. โดยอาจจำเป็นต้องขยายกรอบวงเงินกู้ยืม และระยะเวลาการกู้ยืมเงิน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งพิจารณาขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ธนาคารในการพิจารณาวงเงินกู้ และให้จัดทำเงื่อนไขวงเงินกู้ยืมเสนอต่อไป
3. กบน. เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 สกนช. ได้นำเสนอ Cash Flow ที่ปรับให้สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงาน ประกอบกับสมมติฐานที่หากกองทุนสามารถสามารถปรับขึ้นราคา LPG เดือนละ 1 บาทต่อกิโลกรัม ไปจนถึงราคา 498 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม รวมถึงสามารถยกเลิกการชดเชยน้ำมันดีเซล B7 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป กองทุนมีความต้องการเงินกู้ยืมเกินกว่าที่ได้รับความเห็นชอบ จาก ครม. จำนวน 30,000 ล้านบาท ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายและหากกองทุนยังจำเป็นต้องชดเชยราคาน้ำมันต่อไป จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้เงินกู้ทำให้ไม่สามารถชำระคืนได้ภาย ในกำหนด 3 ปี จึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการกู้ยืมเงินออกไปเป็น 5 ปี เพื่อให้เกิดสภาพคล่องเพียงพอสำหรับชำระหนี้เงินกู้ยืมได้ และรายงานความก้าวหน้าการจัดหาเงินกู้ต่อที่ประชุม กบน. จึงได้มีมติ ดังนี้ (1) รับทราบและเห็นชอบแนวทางการเสนอ ครม. พิจารณา โดยความเห็นชอบของกระทรวงพลังงาน (พน.) และกค. ดังนี้ (1.1) รับทราบความก้าวหน้าการจัดหาเงินกู้ ในวงเงิน 20,000 ล้านบาท รวมถึงเงื่อนไขของสถาบันการเงินในเรื่องการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน และเงื่อนไขการกู้เงินเบื้องต้นของสถาบันการเงิน (1.2) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ในประเทศ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... เพื่อขอเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเป็นจำนวนไม่เกิน 80,000 ล้านบาท และการกู้ยืมเงินของ สกนช. ในวงเงินไม่เกิน 80,000 ล้านบาท ตามหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของ สกนช. (1.3) เห็นชอบหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของ สกนช. (1.4) เห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติให้ธนาคารออมสินแยกบัญชีโครงการเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) โดยให้ธนาคารสามารถบวกกลับเงินที่กันสำรองร้อยละ 1 ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติในการคำนวณโบนัสของพนักงานได้ (1.5) เห็นชอบแนวทางการจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 เพื่อเป็นเงินอุดหนุนตามมาตรา 6 (2) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ให้แก่ สกนช. เพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว (2) รับทราบแนวทางการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ของ สกนช. เพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนฯ ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 เพื่อเสนอต่อ ครม.โดยความเห็นชอบของ พน. และกค. และต่อมา กบน. เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 สกนช. ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการของคณะอนุกรรมการบริหารสภาพคล่องฯ ในการจัดหาเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในวงเงิน 20,000 ล้านบาท รวมถึงเงื่อนไขของสถาบันการเงินในเรื่องการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน และเงื่อนไขการกู้เงินเบื้องต้นของสถาบันการเงิน พร้อมทั้งรายงาน Cash Flow ของกองทุนฯ ที่ได้ปรับให้สอดคล้องกับอัตราเงินกองทุนฯ ในปัจจุบันที่สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยใช้สมมติฐานดังนี้ (1) เดือนมิถุนายน 2565 ราคาน้ำมันดีเซล (Gasoil) ตลาดโลกเฉลี่ยที่ 160 USD/bbl ราคาขายปลีกดีเซลทยอยปรับขึ้นไปถึง 35 บาทต่อลิตร ส่วนเกินกองทุนช่วยครึ่งหนึ่ง (2) ลดราคากลุ่มน้ำมันเบนซิน 1 บาทต่อลิตร (ตามอัตราปัจจุบัน) ระยะเวลา 2 เดือน (3) ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป อัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3.20 บาทต่อลิตร (4) เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นไป จำแนกดีเซลเป็น 3 เกรด (เหมือนก่อน 1 ธันวาคม 2564) โดยชดเชยดีเซล B7 เป็น 0 บาทต่อลิตร แต่ยังคงชดเชยดีเซล B10 และดีเซล B20 (5) คาดการณ์ราคาพลังงานในอีก 1 ปี จะดีขึ้น โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นไปจะเก็บเงินเข้ากองทุนในส่วนของน้ำมันดีเซลได้ในอัตรา 0.50 บาทต่อลิตร (6) LPG มีการปรับราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นทุกเดือน ไปถึง 498 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม และได้จัดทำแบบจำลอง 3 สถานการณ์ แตกต่างกันที่ระยะเวลาเริ่มลอยตัวราคาดีเซล (อัตราชดเชยเป็น 0 บาทต่อลิตร) ดังนี้ กรณีที่ 1 เริ่มลอยตัวตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 กรณีที่ 2 เริ่มลอยตัวตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 และ กรณีที่ 3 เริ่มลอยตัวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ซึ่งจาก Cash Flow ในกรณีที่ 1 จะมีหนี้เงินกู้สูงสุดประมาณ 100,000 ล้านบาท และสามารถชำระหนี้ได้ภายใน 5 ปี ส่วนกรณีที่ 2 และกรณีที่ 3 จะมีหนี้สูงสุดประมาณ 120,000 ล้านบาท และไม่สามาถชำระหนี้เงินกู้ได้ ภายใน 5 ปี อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามสมมติฐานดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้เงินกู้ที่ลดลง หรือไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้ ในการนี้ กบน. มีความเห็นว่า สกนช. จำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจำเป็นต้องใช้เงินกู้ระดับแสนล้านบาท ซึ่งจากการเจรจากับสถาบันการเงินในช่วงที่ผ่านมา สถาบันการเงิน ไม่มั่นใจเรื่องความสามารถในการชำระคืนหนี้ จึงได้เสนอเงื่อนไขให้มีเงินอุดหนุนจากรัฐบาล หรือขอให้รัฐบาล ค้ำประกันหนี้เงินกู้ของ สกนช. ซึ่ง กบน. เห็นว่า การขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจะต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งสถานะปัจจุบันอาจไม่เพียงพอ จึงขอให้ สกนช. ประสานคณะอนุกรรมการบริหารสภาพคล่องฯ เพื่อหารือเรื่องให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหนี้เงินกู้ของ สกนช.
4. คณะอนุกรรมการบริหารสภาพคล่องฯ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 สกนช. ได้เสนอการจัดทำ Cash Flow เพิ่มอีก 1 กรณี (รวมเป็น 4 กรณี) กรณีที่ 4 มีความต้องการกู้ยืมเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท ระยะเวลาชำระคืน 10 ปี โดยคณะอนุกรรมการบริหารสภาพคล่องฯ ได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมเรื่องแนวทาง การหารายได้เพิ่มเติมของ สกนช. จากค่าการกลั่นที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง และการเก็บเงินเข้ากองทุน จากกลุ่ม LPG ที่จำหน่ายเป็นวัตถุดิบในภาคปิโตรเลียม โดยขอให้ สกนช. นำประเด็นดังกล่าวพิจารณาประกอบการจัดทำ Cash Flow ของกองทุนฯ เป็นกรณีเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการบริหารสภาพคล่องฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ากรอบวงเงินกู้ที่ต้องการน่าจะอยู่ที่ประมาณ 150,000 ล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสมมติฐานเพิ่มเติม ในการจัดหารายได้เพิ่มเติมของกองทุนฯ และนโยบายการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลของ กบน. ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สกนช. ได้พยายามจัดหาเงินกู้ยืมแล้ว แต่ก็ไม่สามารถกู้เงินได้ ซึ่งสถาบันการเงินได้เสนอเงื่อนไขให้มีการรับเงินอุดหนุนภาครัฐ หรือการค้ำประกันเงินกู้ โดย กค. เพื่อสร้างความชัดเจนของแหล่งเงินที่จะมาใช้ชำระหนี้คืนแก่สถาบันการเงิน โดยที่ประชุมมีความเห็น ดังนี้ (1) การขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐ สามารถดำเนินการขอรับจัดสรรได้แต่อาจไม่เพียงพอเนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องวงเงินงบประมาณของรัฐบาล (2) การค้ำประกันหนี้เงินกู้ของ สกนช. โดย กค. ปัจจุบันไม่สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามในอดีตช่วงปี 2547-2548 การกู้ยืมเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ดำเนินการกู้ยืมในนามสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) มีการกู้ยืมเงินโดย กค. ค้ำประกัน ซึ่งมีข้อดีคือไม่เป็นภาระด้านงบประมาณในทันที ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาภายหลังสถานการณ์ราคาพลังงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติ กองทุนฯ ก็สามารถบริหารจัดการเพื่อชำระคืนหนี้เองได้ทั้งหมด ดังนั้น หาก ครม. เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทบทวน กฎหมาย ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ กค. สามารถค้ำประกันหนี้เงินกู้ของ สกนช. ได้ จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดหาเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุน ทั้งในเรื่องการจัดหาเงินได้ทันกับนโยบายในการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าการกู้ยืมเอง และให้ สกนช. เร่งนำเสนอ กบน. เพื่อพิจารณาต่อไป ต่อมา สกนช. ได้จัดทำ Cash Flow (ปรับปรุงล่าสุด 14 มิถุนายน 2565) บนสมมติฐานต่อจากกรณีที่ 1 - กรณีที่ 3 โดยมีสมมติฐานเพิ่มเติม คือ หากในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 - เมษายน 2566 ยังไม่สามารถลอยตัวราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลได้ โดยกองทุนยังจำเป็นต้องชดเชยราคา ขายปลีกอยู่ วงเงินกู้ยืมที่ต้องการจะประมาณ 150,000 - 200,000 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าที่ กบน. เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 เห็นชอบไว้ที่ 80,000 ล้านบาท ดังนั้น สกนช. จำเป็นต้องนำเสนอ กบน. เพื่อพิจารณาแก้ไขจากมติ กบน. เดิม
5. กบน. เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 มีมติรับทราบความคืบหน้าการกู้ยืมเงินของ สกนช. และเห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี ดังนี้ (1) รับทราบความก้าวหน้าการจัดหาเงินกู้ ในวงเงิน 20,000 ล้านบาท รวมถึงเงื่อนไขของสถาบันการเงินในเรื่องการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน และการกู้เงินเบื้องต้นของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ สกนช. จะต้องเจรจาตกลงเงื่อนไขการกู้เงินกับสถาบันการเงินอีกครั้งหนึ่ง โดยจะมีการรายงานการกู้เงินให้ ครม. ทราบต่อไป (2) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... เพื่อขอเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเป็นจำนวนไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านบาท และอนุมัติการกู้ยืมเงิน ของ สกนช. ในวงเงินไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านบาท ตามหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของ สกนช. โดยพิจารณาดำเนินการเพื่อให้มีการค้ำประกันโดย กค. (3) เห็นชอบหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของ สกนช. (4) เห็นชอบให้นำเสนอ ครม. เพื่ออนุมัติให้ธนาคารออมสินแยกบัญชีโครงการเป็น PSA โดยให้ธนาคารสามารถบวกกลับเงิน ที่กันสำรองร้อยละ 1 ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติในการคำนวณโบนัสของพนักงานได้และ (5) เห็นชอบการขอให้รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินอุดหนุนตามมาตรา 6 (2) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ให้แก่ สกนช. เพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
เรื่องที่ 3 ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 และวันที่ 9 มีนาคม 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง ตามลำดับและมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว และให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU ของโครงการปากลายในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม โดยต้องไม่กระทบ ต่ออัตราค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ การเจรจาร่าง PPA โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง ดำเนินการภายใต้กรอบ Tariff MOU ซึ่งกำหนดให้ใช้ PPA โครงการไซยะบุรี และโครงการน้ำเทิน 1 เป็นต้นแบบ เนื่องจากเป็น PPA โครงการโรงไฟฟ้าเอกชนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ประเภท Run-of-River และ Reservoir ฉบับล่าสุดที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (คณะอนุกรรมการประสานฯ) กพช. และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งได้ผ่านการตรวจพิจารณาของ อส. แล้ว โดย กฟผ. ได้ลงนาม Tariff MOU กับผู้พัฒนาโครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 และวันที่ 27 เมษายน 2565 ตามลำดับ และได้เจรจา ร่าง PPA แล้วเสร็จ โดยลงนามย่อกำกับ (Initial) ร่าง PPA เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 และวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ตามลำดับ ต่อมา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 คณะอนุกรรมการประสานฯ ได้มีมติเห็นชอบร่าง PPA โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง ทั้งนี้ โครงการหลวงพระบางให้รับข้อสังเกตประเด็นเกี่ยวกับมูลค่าการลงทุนในระบบส่งของ กฟผ. โดยขอให้ กฟผ. เจรจา PPA ให้มีมาตรการรองรับกรณีการก่อสร้างโครงการมีปัญหาอันเนื่องมาจากรายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก (Heritage Impact Assessment: HIA) และมอบหมายให้ กฟผ. เสนอ อส. ตรวจพิจารณาร่าง PPA รวมทั้งให้เสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. พิจารณามอบหมายให้ กฟผ. ลงนามใน PPA ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจาก อส. แล้ว
2. กบง. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ได้มีมติดังนี้ (1) รับทราบหลักการร่าง PPA โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง และมอบหมายให้ กฟผ. ลงนามใน PPA โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจาก อส. แล้ว ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการแก้ไข PPA ที่ไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า ที่ระบุไว้ในร่าง PPA และเงื่อนไขสำคัญ รวมทั้งการปรับกำหนดเวลาของแผนงาน (Milestones) ที่เกี่ยวข้องกับกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในช่วงก่อนการลงนาม PPA ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการ กฟผ. ในการแก้ไข และ (2) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. พิจารณาต่อไป
3. รายละเอียดโครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง
3.1 โครงการปากลาย กลุ่มผู้พัฒนาโครงการ (ในร่าง PPA เรียกว่า Generator) คือ Pak Lay Power Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนใน สปป. ลาว มีผู้ถือหุ้น ได้แก่ Sinohydro (Hong Kong) Holding Limited สัดส่วนร้อยละ 60 และ Gulf Energy Development Public Company Limited สัดส่วนร้อยละ 40 โครงการปากลายตั้งอยู่บนลำน้ำโขง ในแขวงไซยะบุรี เป็นเขื่อนชนิด Run-of-River ประกอบด้วยทางระบายน้ำล้น และโรงไฟฟ้าประเภท River bed Powerhouse กำลังผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ (14 x 55 เมกะวัตต์) ผลิตพลังงานไฟฟ้าและขายให้ กฟผ. ณ จุดส่งมอบชายแดนไทย – สปป. ลาว เชื่อมโยงมายังสถานีไฟฟ้าแรงสูงขอนแก่น 4 จำนวน 763 เมกะวัตต์ คิดเป็นพลังงานไฟฟ้า 3,246 ล้านหน่วยต่อปี
3.2 โครงการหลวงพระบาง กลุ่มผู้พัฒนาโครงการ คือ Luang Prabang Power Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนใน สปป. ลาว มีผู้ถือหุ้น ได้แก่ CK Power Public Company Limited สัดส่วนร้อยละ 42 PT (Sole) Company Limited สัดส่วนร้อยละ 38 Petro Vietnam Power Corporation สัดส่วนร้อยละ 10 และ Ch. Karnchang Public Company Limited สัดส่วนร้อยละ 10 โครงการหลวงพระบาง ตั้งอยู่บนลำน้ำโขง ในแขวงหลวงพระบาง เป็นเขื่อนชนิด Run-of-River ประกอบด้วย ทางระบายน้ำล้น และโรงไฟฟ้าประเภท On-Ground Reinforce Concrete Structure กำลังผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ (7 x 200 เมกะวัตต์ และ 3 x 20 เมกะวัตต์) ผลิตพลังงานไฟฟ้าและขายให้ กฟผ. ณ จุดส่งมอบชายแดนไทย – สปป. ลาว เชื่อมโยงมายังสถานีไฟฟ้าน่าน จำนวน 1,400 เมกะวัตต์ คิดเป็นพลังงานไฟฟ้า 5,328 ล้านหน่วยต่อปี โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงจุดเชื่อมโยงไปยังสถานีไฟฟ้าท่าวังผา จังหวัดน่าน เมื่อโครงการปากแบงบรรลุ Scheduled Energization Date หรือวันที่เร็วกว่าตามที่ กฟผ. แจ้ง
4. สาระสำคัญของร่าง PPA โครงการปากลาย
4.1 อายุสัญญาโครงการ 29 ปี นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD)
4.2 กำหนดวันจัดหาเงินกู้ (Scheduled Financial Close Date: SFCD) คือ วันที่ช้ากว่าระหว่าง 12 เดือน นับจากวันลงนาม หรือวันที่ 1 มีนาคม 2567 หากจัดหาเงินกู้ล่าช้ากว่า SFCD ต้องจ่ายค่าปรับให้ กฟผ. ในอัตรา 2,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวันสำหรับ 180 วันแรก และ 3,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวันสำหรับวันที่ 181 - วันที่ 540 กำหนดวันจ่ายไฟฟ้า (Scheduled Energization Date: SED) คือ ภายในวันที่ช้ากว่าระหว่าง 78 เดือน นับจากวันเริ่มงานก่อสร้าง (EGAT Construction Obligation Commencement Date: ECOCD) หรือวันที่ 1 กรกฎาคม 2573 และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตามสัญญา (Scheduled Commercial Operation Date: SCOD) คือ ภายในวันที่ช้ากว่าระหว่าง 96 เดือน นับจาก ECOCD หรือวันที่ 1 มกราคม 2575 โดย Generator มีหน้าที่ก่อสร้างสายส่งฝั่งลาว ทั้งนี้ หากงานก่อสร้างล่าช้าฝ่ายที่ทำให้เกิดความล่าช้าจะต้องจ่ายค่าปรับ (Liquidated Damages: LD) แต่หากเกิดจากเหตุสุดวิสัย (Force Majeure: FM) ฝ่ายที่อ้างเหตุจะต้องจ่ายค่า Force Majeure Offset Amount (FMOA) โดยจะได้รับคืนภายหลัง ซึ่งแตกต่างจาก LD ที่ไม่มีการจ่ายคืน
4.3 เงื่อนไขการเดินระบบ (Operating Arrangements) คุณภาพไฟฟ้าต้องเป็นไปตาม Contracted Operating Characteristics (COCs) การเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าต้องสามารถตอบสนองคำสั่งของ กฟผ. ได้แบบ Fully Dispatchable และ Generator ไม่มีสิทธิ์ขายพลังงานไฟฟ้าให้บุคคลที่สาม ยกเว้นตามที่ได้รับความเห็นชอบจาก กฟผ. โดยพลังงานไฟฟ้าที่ กฟผ. ซื้อ ได้แก่ (1) Primary Energy (PE) คือ พลังงานไฟฟ้าที่ Generator แจ้งขายได้ไม่เกิน 16 ชั่วโมงต่อวัน ตั้งแต่วันจันทร์ ถึงวันเสาร์ (2) Secondary Energy (SE) คือ พลังงานไฟฟ้าที่ Generator แจ้งขายได้ไม่เกิน 5.35 ชั่วโมงต่อวัน ในวันจันทร์ ถึงวันเสาร์ และไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ในวันอาทิตย์ และ (3) Excess Energy (EE) เป็นพลังงานไฟฟ้าที่เกินจาก PE และ SE โดย กฟผ. จะรับประกันซื้อ PE และ SE แต่ไม่รับประกันซื้อ EE ทั้งนี้ Generator ต้องรับประกันการผลิต PE ส่งให้ กฟผ. ไม่ต่ำกว่าเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง ในแต่ละเดือน โดยไม่รวมวันอาทิตย์ และเมื่อรวมทั้งปีแล้วต้องไม่ต่ำกว่าเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง โดยไม่รวมวันอาทิตย์ โดยมีราคารับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ (1) Test Energy เท่ากับ 0.570 บาทต่อหน่วย ทั้งช่วงก่อนและหลัง COD (2) PE (แบ่งจ่ายเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ : บาท สัดส่วน 50 : 50) ก่อน COD เท่ากับ 3.5269 เซนต์สหรัฐฯ และ 1.1286 บาท หลัง COD เท่ากับ 4.7025 เซนต์สหรัฐฯ และ 1.5048 บาท (3) SE ก่อน COD เท่ากับ 1.4672 บาท หลัง COD เท่ากับ 1.9562 บาท และ (4) EE ก่อน COD เท่ากับ 0.8888 บาท หลัง COD เท่ากับ 1.1850 บาท
4.4 การจ่ายเงินค่าพลังงานไฟฟ้า มีดังนี้ (1) กฟผ. จะจ่ายเงินค่าพลังงานไฟฟ้าให้ Generator แต่ละปีไม่เกินจำนวนพลังงานไฟฟ้าตามเป้าหมายรายปี โดยกรณีที่ Generator มีความพร้อมผลิตไฟฟ้าเกินเป้าหมายรายปี พลังงานไฟฟ้าส่วนเกินเป้าหมายจะถูกเก็บไว้ในบัญชี และ กฟผ. จะจ่ายเงินคืนให้ Generator ในปีที่ Generator มีความพร้อมต่ำกว่าเป้าหมาย (2) กรณีที่ กฟผ. สั่งเดินเครื่องน้อยกว่าค่าพลังงานไฟฟ้า ที่รับประกันซื้อรายเดือน กฟผ. ต้องจ่ายเงินเท่ากับที่รับประกันซื้อ (3) กรณีที่มี Dispatch Shortfall กฟผ. สามารถสะสมไว้ในบัญชี และมีสิทธิ์ Make-up หลังจากที่ซื้อพลังงานไฟฟ้าในส่วนที่รับประกันซื้อจนครบแล้วตลอดอายุสัญญา และ (4) ในเดือนสุดท้ายของ Relevant Period ที่ 2 ที่ 4 และปีสุดท้ายของ PPA หากมี Supply Excess PE Account และ Supply Access SE Account เหลือ ให้นำมาคูณด้วยอัตราค่าไฟ Excess Energy เพื่อนำมารวมเข้าไปใน Excess Revenue Account โดยค่าใน Dispatch Shortfall Payment Account จะถูกปรับค่าโดย Excess Revenue Account และจ่ายคืนให้กับ กฟผ. และหากยังคงมีเงินคงเหลือใน Excess Revenue Account หลังการปรับค่าแล้ว ให้จ่ายเงินคืนให้ กฟผ. อีกร้อยละ 25 ของจำนวนเงินที่เหลือใน Excess Revenue Account
4.5 การวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Security) ประกอบด้วย (1) Development Security (DS) คือ หลักประกันในช่วงพัฒนาโครงการ แบ่งเป็น DS1 จำนวน 10.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วันลงนามสัญญา จนถึงวันก่อน FCD และ DS2 จำนวน 25.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วัน FCD จนถึงวันก่อน COD (2) Performance Security (PS) คือ หลักประกันในช่วงการซื้อขายไฟฟ้า แบ่งเป็น PS1 จำนวน 23.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วัน COD จนถึงวันก่อนครบ 15 ปี นับจาก COD และ PS2 จำนวน 7.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ครบ 15 ปี นับจาก COD จนสิ้นสุดอายุสัญญา และ (3) Additional Security คือ สัญญาจดจำนองทรัพย์สินของโครงการเพื่อเป็นหลักประกันให้ กฟผ. ในวงเงิน 8,210 ล้านบาท โดย กฟผ. เป็นผู้รับผลประโยชน์ลำดับสองรองจากผู้ให้เงินกู้แก่โครงการ ซึ่ง Generator ต้องนำส่งสัญญาจดจำนองทรัพย์สิน ของโครงการ (Mortgage Contract Over Secured Property) ให้ กฟผ. ก่อนหรือ ณ วัน FCD
4.6 เหตุสุดวิสัย (Force Majeure: FM) ฝ่ายที่อ้าง FM สามารถหยุดปฏิบัติตามพันธะ ใน PPA ได้นานเท่าที่ FM เกิดขึ้น และจะได้รับการขยายเวลาสำหรับการปฏิบัติตามพันธะนั้นเท่ากับจำนวนวันที่เกิด FM แต่ต้องจ่าย FMOA ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งในอัตราที่กำหนดใน PPA โดยจะได้รับเงินคืนในภายหลังด้วยวิธีหักกลบลบหนี้กับค่าไฟฟ้ารายเดือน กรณีเกิด Political Force Majeure ฝ่ายที่ถูกกระทบมีสิทธิ์ บอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้และต้องจ่าย Termination Payment ให้อีกฝ่ายหนึ่งตามที่กำหนดไว้ใน PPA แต่อีกฝ่ายจะมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาได้หากผลกระทบไม่ได้รับการแก้ไขนานเกิน 15 เดือน กรณีเกิด Non-Political Force Majeure หากผลกระทบไม่ได้รับการแก้ไขนานเกิน 24 เดือน ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาโดยไม่มีฝ่ายใดต้องจ่าย Termination Payment ทั้งนี้ กรณี กฟผ. ไม่สามารถจัดหาที่ดินก่อสร้างระบบส่งได้ให้ถือเป็น FM เนื่องจาก EGAT Access Rights โดย กฟผ. มีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ แต่ Generator จะบอกเลิกสัญญาได้เมื่อผลกระทบไม่ได้รับการแก้ไขนานเกิน 730 วัน ทั้งนี้ กฟผ. ต้องเข้าซื้อโครงการเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา
4.7 การบอกเลิกสัญญา หากเกิดขึ้นก่อน FCD กรณีเลิกสัญญาเนื่องจาก กฟผ. ผิดสัญญา หรือเกิด Thai Political Force Majeure กฟผ. จะคืนหลักทรัพย์ค้ำประกัน กรณีเนื่องจาก Generator ผิดสัญญา หรือเกิด Lao Political Force Majeure กฟผ. จะยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งนี้ หากเกิดขึ้นหลัง FCD กรณีเลิกสัญญาเนื่องจาก กฟผ. ผิดสัญญา หรือเกิด Thai Political Force Majeure กฟผ. ต้องเข้าซื้อโครงการ กรณีเนื่องจาก Generator ผิดสัญญา หรือเกิด Lao Political Force Majeure กฟผ. มีสิทธิ์เลือก ที่จะให้ Generator จ่ายค่า Termination Payment หรือ กฟผ. เข้าซื้อโครงการ ด้านการยุติข้อพิพาทให้ยุติโดยการเจรจาด้วยความสุจริต (Good Faith Discussion) ในลำดับแรกหากไม่สามารถตกลงกันได้ภายในช่วงเวลาที่กำหนดให้นำเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) และหากมีข้อพิพาทเกี่ยวกับ Billing, Invoice หรือ Statement ให้ยุติข้อพิพาทโดยการไกล่เกลี่ยโดยคณะกรรมการที่เป็นผู้แทนของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายก่อน หากไม่สำเร็จให้ยุติปัญหาโดยอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ PPA นี้ใช้บังคับและตีความตามกฎหมายไทย
5. สาระสำคัญของร่าง PPA โครงการหลวงพระบาง
5.1 อายุสัญญาโครงการ 35 ปี นับจากวัน COD
5.2 กำหนดวัน SFCD คือ วันที่ช้ากว่าระหว่าง 2 เดือน นับจากวันลงนาม หรือวันที่ 1 มกราคม 2566 หากจัดหาเงินกู้ล่าช้ากว่า SFCD จะต้องจ่ายค่าปรับให้ กฟผ. ในอัตรา 4,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวันกำหนดวันพัฒนาโครงการ (Collective Substation: Pre-SED) คือ วันที่ช้ากว่าระหว่าง 60 เดือน นับจากวันที่ กฟผ. แจ้งการเข้ามาของผู้พัฒนาโครงการที่เชื่อมเข้าที่สถานีไฟฟ้าร่วมเดียวกันรายอื่นหรือวันที่ 31 มีนาคม 2570กำหนดวัน SED คือ ภายในวันที่ช้ากว่าระหว่าง 69 เดือน นับจาก ECOCD หรือวันที่ 1 ตุลาคม 2571 และกำหนดวัน SCOD คือ ภายในวันที่ช้ากว่าระหว่าง 84 เดือน นับจากวัน ECOCD หรือวันที่ 1 มกราคม 2573 โดยมีเงื่อนไขการก่อสร้างสายส่งฝั่งลาว และค่าปรับกรณีงานก่อสร้างล่าช้า เช่นเดียวกับโครงการปากลาย
5.3 เงื่อนไขการเดินระบบ และพลังงานไฟฟ้าที่ กฟผ. ซื้อ มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับโครงการปากลาย โดยมีราคารับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ (1) Test Energy เท่ากับ 0.570 บาทต่อหน่วย ทั้งช่วงก่อนและหลัง COD (2) PE SE และ EE ก่อน COD เท่ากับ 1.4000 บาท (3) PE หลัง COD (แบ่งจ่ายเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ : บาท สัดส่วน 50 : 50) เท่ากับ 4.5961 เซนต์สหรัฐฯ และ 1.4708 บาท (4) SE หลัง COD เท่ากับ 1.9120 บาท และ (5) EE หลัง COD เท่ากับ 1.4000 บาท
5.4 การจ่ายเงินค่าพลังงานไฟฟ้ามีเงื่อนไขเช่นเดียวกับโครงการปากลาย โดยมีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน ประกอบด้วย (1) หลักประกันในช่วงพัฒนาโครงการ แบ่งเป็น DS1 จำนวน 16.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วันลงนามสัญญา จนถึงวันก่อน FCD และ DS2 จำนวน 42.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วัน FCD จนถึง วันก่อน COD (2) หลักประกันในช่วงการซื้อขายไฟฟ้า แบ่งเป็น PS1 จำนวน 37.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วัน COD จนถึงวันก่อนครบ 18 ปี นับจาก COD และ PS2 จำนวน 12.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ครบ 18 ปี นับจาก COD จนสิ้นสุดอายุสัญญา และ (3) สัญญาจดจำนองทรัพย์สินของโครงการฯ เพื่อเป็นหลักประกัน ให้ กฟผ. วงเงิน 11,950 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขการรับผลประโยชน์เช่นเดียวกับโครงการปากลาย
5.4 การจ่ายเงินค่าพลังงานไฟฟ้ามีเงื่อนไขเช่นเดียวกับโครงการปากลาย โดยมีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน ประกอบด้วย (1) หลักประกันในช่วงพัฒนาโครงการ แบ่งเป็น DS1 จำนวน 16.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วันลงนามสัญญา จนถึงวันก่อน FCD และ DS2 จำนวน 42.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วัน FCD จนถึง วันก่อน COD (2) หลักประกันในช่วงการซื้อขายไฟฟ้า แบ่งเป็น PS1 จำนวน 37.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วัน COD จนถึงวันก่อนครบ 18 ปี นับจาก COD และ PS2 จำนวน 12.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ครบ 18 ปี นับจาก COD จนสิ้นสุดอายุสัญญา และ (3) สัญญาจดจำนองทรัพย์สินของโครงการฯ เพื่อเป็นหลักประกัน ให้ กฟผ. วงเงิน 11,950 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขการรับผลประโยชน์เช่นเดียวกับโครงการปากลาย
มติของที่ประชุม
1. รับทราบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง
2. มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามใน PPA โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการแก้ไข PPA ที่ไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่ระบุไว้ในร่าง PPA และเงื่อนไขสำคัญ รวมทั้งการปรับกำหนดเวลาของแผนงาน (Milestones) ที่เกี่ยวข้องกับกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในช่วงก่อนการลงนาม PPA ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการ กฟผ. ในการแก้ไข
เรื่องที่ 4 การเลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนแม่เมาะเครื่องที่ 8 – 11
สรุปสาระสำคัญ
1. สถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและประเทศยูเครนที่ยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกมีความผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูงจากมาตรการ คว่ำบาตรรัสเซียของหลายประเทศทั่วโลก โดยทำให้เกิดการตึงตัวของอุปทานก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ส่งผลให้ราคา Asian Spot LNG ปรับตัวสูงขึ้นและยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ในเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับสูงถึง 39.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ก่อนจะปรับลดลงมาทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 22 - 23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ในปัจจุบัน ทั้งนี้ จากประมาณการแนวโน้มราคา LNG ปี 2564 ถึงปี 2569 พบว่า ตลาด LNG ยังคงมีแนวโน้มตึงตัวจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) คลี่คลาย ในขณะที่อุปทานเพิ่มเติมจากโครงการผลิต LNG ยังคงจำกัด เนื่องจากมีการลงทุนการก่อสร้างโครงการผลิตใหม่ลดลง ทำให้คาดว่าราคา LNG ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงจนถึงปี 2568 หรือปี 2569 โดยราคา LNG ที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก และจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาระค่าครองชีพของประชาชน
2. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 และคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบการเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการของแนวทาง การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติปี 2565 เพื่อรองรับการบริหารจัดการจัดหาก๊าซธรรมชาติในช่วงเปลี่ยนผ่านการให้สัมปทานก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งการเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ดังกล่าว จะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่สูงในปัจจุบัน
3. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เสนอมาตรการเลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 - 11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากวิกฤตการณ์ราคาพลังงาน และยังเป็นการกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
3.1 ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะเดินเครื่องอยู่ทั้งสิ้น 7 เครื่อง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 - 13 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 4 - 7 (เครื่องที่ 14) กำลังผลิตตามสัญญารวม 2,220 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 กำลังผลิต ตามสัญญา 270 เมกะวัตต์ มีกำหนดปลดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 กพช. ให้เลื่อนปลดเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 9 - 11 กำลังผลิตตามสัญญารวม 810 เมกะวัตต์ มีกำหนดปลดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 12 - 13 กำลังผลิตตามสัญญารวม 540 เมกะวัตต์ มีกำหนดปลดวันที่ 31 ธันวาคม 2568 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 4 - 7 (เครื่องที่ 14) กำลังผลิตตามสัญญา 600 เมกะวัตต์ มีกำหนดปลดในเดือนเมษายน 2592 นอกจากนี้ ในแผน PDP2018 Rev.1 ได้กำหนดให้มีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 - 9 (เครื่องที่ 15) กำลังผลิตตามสัญญา 600 เมกะวัตต์ เข้าระบบในวันที่ 1 มกราคม 2569
3.2 ด้านเทคนิค โรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 - 11 มีสภาพความพร้อมรองรับการเลื่อนแผนปลดโรงไฟฟ้าออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 โดย กฟผ. มีการบำรุงรักษาและตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ด้านระบบส่งไฟฟ้า มีระบบที่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง เชื่อถือได้ มีคุณภาพเพียงพอตามเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งการเลื่อนแผนปลดโรงไฟฟ้าไม่ส่งผลกระทบต่อแผนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ ด้านทรัพยากรน้ำในการผลิตไฟฟ้ามีความเพียงพอ โดยใช้น้ำจาก อ่างเก็บน้ำแม่จาง อ่างเก็บน้ำแม่ขาม และเพิ่มเติมจากเขื่อนกิ่วลม ตามแผนการใช้น้ำร่วมกับกรมชลประทาน โดยมีการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ไว้รองรับ
3.3 ด้านเชื้อเพลิง กฟผ. มีความสามารถในการผลิตลิกไนต์เพิ่มขึ้นอีก 12.5 ล้านตัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 – 11 ทั้งนี้ การเลื่อนแผนปลดโรงไฟฟ้าดังกล่าว จะช่วยลดการนำเข้า Spot LNG และต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าสุทธิประมาณ 37,900 ล้านบาท ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการจ่ายก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณ (G1/61) ที่ลดลงในช่วงปี 2565 ถึงปี 2567 และช่วยลดผลกระทบต่อภาระค่า Ft ของภาคประชาชนลงได้
3.4 ด้านสิ่งแวดล้อม จากการเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 – 11 ส่งผลให้จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งไม่กระทบต่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ภายในปี 2573 โดย กฟผ. จะศึกษาศักยภาพการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และเร่งกำหนดการจ่ายไฟฟ้าให้เร็วขึ้นเพื่อชดเชยปริมาณการปล่อย CO2 ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การเลื่อนปลดเครื่องโรงไฟฟ้าดังกล่าวมิได้เพิ่มกำลังการผลิตเกินกว่าข้อกำหนดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และยังสอดคล้องกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะในปัจจุบัน รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน แม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 – 9
4. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีความเห็นว่า แผนการเลื่อนปลดโรงไฟฟ้า พลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 - 11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ตามที่ กฟผ. เสนอ สามารถเสริมสร้างเสถียรภาพความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าในภาวะวิกฤตการณ์ราคาพลังงาน และช่วยลดผลกระทบ ต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากการนำเข้า Spot LNG อย่างไรก็ดี การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงลิกไนต์จะส่งผลต่อปริมาณการปล่อย CO2 กฟผ. จึงควรจัดทำมาตรการรองรับผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งต้องควบคุมการผลิตไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับ ฝ่ายเลขานุการฯ ที่มีความเห็นว่า ควรให้ความเห็นชอบแผนการเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะตามที่ กฟผ. เสนอ เนื่องจากเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากสถานการณ์ราคา LNG สูง ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้า และบรรเทาผลกระทบจากการผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณที่ลดลงในช่วงเปลี่ยนผ่านการให้สัมปทาน โดย กฟผ. ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดในรายงาน EHIA ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะในปัจจุบัน และโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 - 9 รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด รวมทั้งควรเร่งพิจารณาแนวทางหรือมาตรการชดเชยการเพิ่มขึ้นของ CO2 โดยเฉพาะศึกษาการพัฒนาโครงการด้านพลังงานสะอาดอื่นๆ และเทคโนโลยีดักจับ CO2 (Carbon Capture) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อย CO2 ในระยะยาวของประเทศต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการเลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 – 11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
2. มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
เรื่องที่ 5 การบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเร่งรัดดำเนินการป้องกัน ควบคุม แก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีข้างต้นใช้เป็นแนวทางในการบริหารราชการให้เกิดประสิทธิภาพ ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคโควิด – 19 มาตรการช่วยเหลือ ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม และมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจ ในช่วงปี 2563 ของกระทรวงพลังงาน โดยรวมถึงการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าโดยการตรึงอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ต่อมา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ซึ่งมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตสำหรับมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานไฟฟ้าสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด - 19 และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รับไปดำเนินการในทางปฏิบัติโดยให้คำนึงถึงผลกระทบต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและฐานะทางการเงินของการไฟฟ้าด้วย และต่อมาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ครม. ได้มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบ ต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยให้กระทรวงพลังงาน (พน.) สศช. และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 กพช. ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณและการดำเนินการเกี่ยวกับราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับ ของ กกพ. (Energy Pool Price) โดยมอบหมายให้ กกพ. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และมอบหมาย ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะที่เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว เป็นหน่วยงานกลาง (Clearing House) ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การคำนวณและการดำเนินการเกี่ยวกับ Energy Pool Price ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการบริหารต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
2. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด - 19 ตั้งแต่ปี 2563 และปัญหาความขัดแย้ง ในภูมิภาคยุโรปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของประชาชน และราคาพลังงาน ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พน. และหน่วยงานภายใต้การกำกับจึงบริหารจัดการราคาพลังงานและกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและผู้ประกอบการตามมติ ครม. ซึ่งรวมถึงการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft โดย กกพ. ได้มอบหมายให้ กฟผ. ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน และเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจช่วยรับภาระค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงซึ่งสูงขึ้นตั้งแต่งวดเดือนกันยายน 2564 ถึงเดือนธันวาคม 2564 จนถึงงวดเดือนพฤษภาคม 2565 ถึงเดือนสิงหาคม 2565 รวมเป็นเงินประมาณ 87,849 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มีนาคม 2565) โดย กกพ. ได้เห็นชอบค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft ขายปลีก และจะพิจารณาส่งผ่านค่าใช้จ่ายดังกล่าวในการพิจารณาค่า Ft ในระยะต่อไป ดังนี้ (1) เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เห็นชอบค่า Ft ขายปลีกเดือนกันยายน 2564 ถึงเดือนธันวาคม 2564 ติดลบ 15.32 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ กฟผ. เกิดภาระค่า Ft สะสม 38,943 ล้านบาท (2) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เห็นชอบค่า Ft ขายปลีกเดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนเมษายน 2565 เท่ากับ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย โดยทยอยปรับค่า Ft เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ส่งผลให้ กฟผ. เกิดภาระค่า Ft สะสม 22,244 ล้านบาท และ (3) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 เห็นชอบค่า Ft ขายปลีกเดือนพฤษภาคม 2565 ถึงเดือนสิงหาคม 2565 เท่ากับ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย โดยทยอยปรับค่า Ft เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ส่งผลให้ กฟผ. เกิดภาระค่า Ft สะสม 26,662 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดเดือนเมษายน 2565 พบว่าภาระค่า Ft งวดเดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนเมษายน 2565 ที่เกิดขึ้นจริงเป็นเงิน 63,016 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่ประมาณการไว้ ทำให้ กฟผ. มีภาระค่า Ft สะสมรวมเป็นเงิน 128,621 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 กกพ. ได้มีมติให้นำเงินบริหารค่า Ft 4,129 ล้านบาท เงินเรียกคืนเพื่อให้การไฟฟ้ามีฐานะการเงินตามเกณฑ์ที่กำหนดปี 2563 ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 1,000 ล้านบาท และเงินบริหารจัดการภาระ Take or Pay ของแหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมารวมดอกเบี้ย 13,601 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 18,730 ล้านบาท มาปรับลดค่า Ft ในงวดเดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนเมษายน 2565 ทำให้ กฟผ. มีภาระค่า Ft สะสม (ค่าจริงเบื้องต้น) งวดเดือนพฤษภาคม 2565 ถึงเดือนสิงหาคม 2565 รวมทั้งสิ้น 109,891 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2565)
3. การบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft ที่มอบหมายให้ กฟผ. ช่วยรับภาระ ค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นแทนประชาชนตั้งแต่งวดเดือนกันยายน 2564 ถึงเดือนธันวาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเงินประมาณ 87,849 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มีนาคม 2565) ส่งผลให้ กฟผ. ขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการ กฟผ. ได้มีมติเห็นชอบการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่า Ft ตามนโยบายของรัฐประจำปีงบประมาณ 2566 (วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566) ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท ประกอบด้วย สัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) กู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญา ใช้เงิน การทำ Trust Receipt (T/R) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม (Call Loan) หรือรูปแบบอื่น ที่กระทรวงการคลัง (กค.) เห็นชอบ โดยขอให้ กค. ค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ กฟผ. โดยเห็นควรให้ กฟผ. ปรับโครงสร้างหนี้ได้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น กรณีที่ กฟผ. เห็นว่าจะมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับชำระหนี้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมตามสภาพคล่องของ กฟผ. ตามสภาวะตลาดการเงินในขณะนั้นและประโยชน์ ในการบริหารจัดการภาระหนี้ และให้นำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ กฟผ. ไปพิจารณาดำเนินการก่อนนำเสนอ พน.และ กค. เพื่อเสนอขออนุมัติจาก ครม. ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 กฟผ. ได้มีหนังสือถึงพน. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้เงินอุดหนุน กฟผ. สำหรับลดผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน และเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 กฟผ. ได้มีหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน เสนอพิจารณาการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่า Ft ตามนโยบายของรัฐประจำปีงบประมาณ 2566 ในวงเงิน 85,000 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการ กฟผ. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ได้มีมติเพื่อเสริมสภาพคล่องของ กฟผ. จากการรับภาระค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นแทนประชาชน และเพื่อให้ กฟผ. สามารถดำเนินภารกิจรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศต่อไป
4. กบง. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ได้พิจารณาการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft และมีความเห็นว่า การให้ กฟผ. ชะลอการนำภาระส่วนต่างของค่าใช้จ่ายในการผลิตและซื้อไฟฟ้าจริงที่สูงกว่าค่า Ft เรียกเก็บ ตั้งแต่งวดเดือนกันยายน 2564 ถึงปัจจุบัน มาเรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้ ไว้ก่อนนั้น เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของภาครัฐในการช่วยบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าจากการปรับค่า Ft โดยได้ผ่านกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของสำนักงาน กกพ. แล้ว ซึ่งทุกภาคส่วนเห็นพ้องให้มีการปรับขึ้นค่า Ft แบบเป็นขั้นบันไดตามที่ กกพ. ได้มอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินการ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติ ดังนี้ (1) รับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft ช่วงปี 2563 – ปัจจุบัน ซึ่งมอบหมาย กฟผ. ช่วยรับภาระค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่สูงขึ้นตั้งแต่งวดเดือนกันยายน 2564 – เดือนธันวาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน มาเรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้ไว้ก่อน เพื่อช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 และวันที่ 29 มีนาคม 2565 (2) มอบหมายให้ พน. ดำเนินการเสนอการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่า Ft ตามนโยบายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2566 ของ กฟผ. ในวงเงิน 85,000 ล้านบาท โดยขอให้ กค.ค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ กฟผ. รวมทั้งให้ กฟผ. ปรับโครงสร้างหนี้ได้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น กรณีที่ กฟผ. เห็นว่าจะมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับชำระหนี้ ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องของ กฟผ. จากการรับภาระค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นแทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า และเพื่อให้สามารถดำเนินภารกิจรักษาความมั่นคง ด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศต่อไป และ (3) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. พิจารณาต่อไป
5. กกพ. ได้มีความเห็น ดังนี้ (1) ราคาเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากที่ใช้ประมาณการ ค่า Ft ในช่วงเดือนกันยายน 2564 ถึงเดือนเมษายน 2565 มาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันและ LNG ที่จำเป็นต้องนำเข้าทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลงในช่วงปลายสัมปทาน ทำให้ กฟผ. มีภาระส่วนต่างของค่าใช้จ่าย ในการผลิตและซื้อไฟฟ้าจริงที่สูงกว่าค่า Ft เรียกเก็บ (AF) จากการดำเนินการตามนโยบายของ พน. ที่พิจารณาให้ กฟผ. ชะลอการนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาเรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้ไว้ก่อน ประมาณ 83,229 ล้านบาท จากค่า AF งวดเดือนกันยายน 2564 ถึงเดือนธันวาคม 2564 จำนวน 38,943 ล้านบาท และค่า AF งวดเดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนเมษายน 2565 จำนวน 44,286 ล้านบาท (2) ปัจจัยข้างต้นส่งผลให้ กฟผ. มีสภาพคล่องทางการเงินไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานปกติ และการดำเนินงานตามนโยบายของภาครัฐในการช่วยบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าจากการปรับค่า Ft งวดเดือนพฤษภาคม 2565 ถึงเดือนสิงหาคม 2565 ได้เพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนขยายโครงข่ายไฟฟ้าและโครงการตามแผนงานที่ได้รับความเห็นชอบไว้ได้ (3) กฟผ. จึงควรได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อรักษาขีดความสามารถในการดูแลความมั่นคง ด้านไฟฟ้าของประเทศ และทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักที่ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานแก่ประชาชน ผู้ใช้ไฟฟ้าในสถานการณ์ราคาพลังงานตลาดโลกที่มีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับฝ่ายเลขานุการฯ ที่มีความเห็นว่า กฟผ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 เป็นวงกว้างตั้งแต่ปี 2563 และสถานการณ์ราคาพลังงานจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 จนส่งผลให้ กฟผ. ขาดสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับราคา ค่าเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จึงเห็นสมควรนำเสนอการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่า Ft ตามนโยบาย ของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2566 ของ กฟผ. กรอบวงเงิน 85,000 ล้านบาท ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามขั้นตอน โดยขอให้ กฟผ. ดำเนินการใช้จ่ายอย่างรอบคอบภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ของรัฐ พ.ศ. 2561
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ช่วงปี 2563 – ปัจจุบัน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
2. มอบหมายให้กระทรวงพลังงานนำเรื่องการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่า Ft ตามนโยบายของรัฐ ประจำปีงบประมาณ 2566 ของ กฟผ. ในวงเงิน 85,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
เรื่องที่ 6 แนวทางการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ได้พิจารณา เรื่อง อัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2558 – 2562 และได้มีมติเห็นชอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558 - 2562 ในปริมาณ 50 เมกะวัตต์ โดยให้นับเป็นส่วนเพิ่มจากเป้าหมายตามกรอบแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP) ปัจจุบันมีสัญญาผูกพันกับภาครัฐแล้วจำนวน 7 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 40.43 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขาย 37.43 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้ว (COD) จำนวน 6 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 34.42 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขาย 28.28 เมกะวัตต์ โครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วแต่ยังไม่ได้ขายไฟฟ้า จำนวน 1 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 3.00 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขาย 2.50 เมกะวัตต์ ต่อมาเมื่อวันทิ่ 29 เมษายน 2565 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 มีมติเห็นชอบและรับทราบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev. 1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) โดยได้ปรับกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ของโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จากเดิมปี 2567 – 2568 เป็นปี 2569 – 2570 โดยแบ่งปริมาณการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ในปี 2569 จำนวน 100 เมกะวัตต์ และในปี 2570 จำนวน 100 เมกะวัตต์
2. เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนาม ในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า (Waste-to-Energy) และการส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า รวมทั้งส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม ภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า และการส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม (คณะกรรมการร่วมฯ) และต่อมา เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 คณะกรรมการร่วมฯ ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า (คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ) โดยประธานกรรมการร่วมฯ ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ได้มีมติเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ตามที่ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมแจ้งว่าได้สอบถามข้อมูลจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมที่ดำเนินการอยู่ พบว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 6 บาทต่อหน่วย ซึ่งใกล้เคียงกับอัตรารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว และเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ได้รับทราบศักยภาพปริมาณขยะอุตสาหกรรมที่จะใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้าตามที่ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมเสนอ และให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาต่อไป
3. หลักการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT มีดังนี้ (1) รับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ขนาดการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ การส่งเสริมเป็นลักษณะ Non-Firm โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT (2) ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ามีเป้าหมายและกำหนดวัน SCOD ตามแผนการเพิ่ม การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) (3) อายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้า 20 ปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดการลงทุนใหม่ รองรับความทันสมัยจากการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและเครื่องจักร ซึ่งคิดระยะเวลาที่ภาครัฐ ให้การสนับสนุนครอบคลุม Loan Repayment แล้ว (4) หลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมจะพิจารณาถึงความพร้อมด้านคุณสมบัติและเทคนิคร่วมกัน เพื่อให้ได้โครงการที่มีความเป็นไปได้สูงในการพัฒนาโครงการให้สำเร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามแผนที่กำหนด และตอบสนองนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยมีกรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกโครงการ ดังนี้ ด้านคุณสมบัติ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ไม่เป็นหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ มีทุน จดทะเบียนขั้นต่ำและวางหลักค้ำประกันการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้ามูลค่าตามที่กำหนดซึ่งจะพิจารณากำหนด ให้เหมาะสมกับมูลค่าโครงการ โครงการที่ยื่นข้อเสนอต้องเป็นโครงการใหม่และไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนในรูปแบบอื่นแล้ว หรือมีสัญญาผูกพันกับภาครัฐ หรือเป็นผู้ยื่นข้อเสนอ ที่หน่วยงานภาครัฐพิจารณาแล้วว่ามีปัญหาจากการรับซื้อไฟฟ้ารอบที่ผ่านๆ มา และยังไม่สามารถพัฒนาโครงการจนสำเร็จได้ ณ วันที่ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้ารอบนี้ เป็นต้น โดยผู้ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติขึ้นต้นเท่านั้น ที่ได้รับการพิจารณาด้านเทคนิคต่อไป และด้านเทคนิค จะมีการตรวจสอบและให้คะแนนความพร้อมในด้านต่างๆ อาทิ ความพร้อมด้านพื้นที่ ด้านเทคโนโลยี ด้านเชื้อเพลิง ด้านการเงิน และความเหมาะสมของแผนการดำเนินงาน เป็นต้น ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีคะแนนในแต่ละด้าน และคะแนนรวมไม่น้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ ที่กำหนดจึงจะได้รับการพิจารณาจัดเรียงคะแนนด้านเทคนิคเพื่อคัดเลือกต่อไป โดยผู้ที่มีคะแนนสูงสุด (มีความพร้อมมากที่สุด) จะได้รับการพิจารณาเป็นอันดับต้น จนกว่าจะครบเป้าหมายการรับซื้อ ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าในรายละเอียดตาม ความเหมาะสม เพื่อให้เป็นไปตามกรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกและมีผลสัมฤทธิ์สอดคล้องกับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าตามแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) และ (5) เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย 1) ต้องใช้ขยะอุตสาหกรรมเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น โดยสามารถใช้ขยะอุตสาหกรรมที่เป็นของเสีย ทั้งอันตรายและไม่อันตราย ในส่วนของเชื้อเพลิงเสริมให้ใช้น้ำมันหรือชีวมวลได้ในช่วงการเริ่มต้นเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเท่านั้น 2) สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจะต้องอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมเท่านั้น 3) กำหนดกรรมสิทธิ์ในหน่วย Renewable Energy Certificate (REC) และ/หรือ Carbon Credit ที่เกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมเป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐ โดยให้มีการระบุการครอบครองกรรมสิทธิ์ของภาครัฐไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 4) กรณีที่ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ ตามกำหนด ให้สามารถกำหนดเงื่อนไขหักหลักประกันตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ และ 5) ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมรายภาคแบ่งตามศักยภาพเชื้อเพลิงได้ โดยกำหนดกรอบการรับซื้อสูงสุดในส่วนของ 100 เมกะวัตต์แรก สำหรับภาคเหนือ 5 เมกะวัตต์ ภาคกลาง 40 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออก 60 เมกะวัตต์ ภาคตะวันตก 10 เมกะวัตต์ และภาคใต้ 10 เมกะวัตต์
4. อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม เป็นการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าโดยใช้อัตราเดียวกับอัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 เมกะวัตต์ ซึ่งมีอัตรา FiTF เท่ากับ 3.39 บาทต่อหน่วย FiTV,2560 2.69 บาทต่อหน่วย และ FiT 6.08 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี อัตรา FiT Premium 8 ปีแรก 0.70 บาทต่อหน่วย และ FiT Premium สำหรับโครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดอายุโครงการ 0.50 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ประเมินผลกระทบค่าไฟฟ้าของปริมาณที่จะรับซื้อ 100 เมกะวัตต์ เปรียบเทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งรวมค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับ Ft ขายส่ง พบว่าจะเกิดผลกระทบค่าไฟฟ้า 1.09 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ (Policy expense) เฉลี่ย 2,600 ล้านบาทต่อปี
5. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงเหตุผลความจำเป็น และประโยชน์ที่จะได้รับจากการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมด้วยการใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ปริมาณ 200 เมกะวัตต์ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ (1) ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าปริมาณกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในปี 2563 มีกากอุตสาหกรรมอันตราย 1.29 ล้านตัน และกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย 16.63 ล้านตัน ซึ่งถูกนำไปกำจัดโดยโรงงาน รับกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาต 1.27 ล้านตัน และ 6.44 ล้านตัน ตามลำดับ โดยกากอุตสาหกรรมบางส่วนอาจมีการซื้อขายภายในระหว่างโรงงานอุตสาหกรรม และส่วนที่เหลือไม่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมถึงมีการลักลอบทิ้งเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการกำจัดถูกกว่าค่ากำจัดกากอุตสาหกรรม ไม่อันตรายและกากอุตสาหกรรมอันตราย จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงจากกลิ่นและสารโลหะหนักปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในดิน น้ำผิวดิน และแหล่งน้ำใต้ดิน (2) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมด้วยการนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ 1) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกระบวนการจัดการกากอุตสาหกรรมที่เหลือทิ้งจากโรงงานต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี ป้องกันการลักลอบทิ้ง และสนับสนุนทางเลือกในการจัดการขยะตามหลักวิชาการแทนการฝังกลบซึ่งมีข้อจำกัดด้านพื้นที่และปัญหาการไม่ยอมรับของประชาชน 2) ลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับหลุมฝังกลบ ได้แก่ การลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนเพื่อสิ่งแวดล้อม การปิดโครงการ และการฟื้นฟูภายหลังปิดโครงการ เป็นมูลค่า 1,400 ล้านบาท คิดที่อายุการทำงานของหลุมฝังกลบ 20 ปี และปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรม ที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าปริมาณ 2 ล้านตันต่อปี และ 3) ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตพลังงานทดแทนเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลจากกำลังการผลิตไฟฟ้า 200 เมกะวัตต์ ได้ประมาณ 720,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เท่ากับการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของพื้นที่ป่าประมาณ 1,095,472 ไร่ ในระยะเวลา 20 ปี คิดเป็นมูลค่าจากการปลูกป่าและดูแลรักษาป่าประมาณ 15,993 ล้านบาท และ (3) เห็นควรเร่งผลักดันการดำเนินงานและเพิ่มสัดส่วนของการพัฒนาพลังงานจากขยะอุตสาหกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับ แผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วม ที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions) ที่จะถูกยกระดับเป็นร้อยละ 40 ในปี ค.ศ. 2030 อย่างไรก็ตาม จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า การกำจัดมลพิษที่มีประสิทธิภาพ และการสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนโดยรอบด้วย
6. กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงเหตุผลความจำเป็น และประโยชน์ ที่จะได้รับจากการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมด้วยการนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าปริมาณ 200 เมกะวัตต์ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ (1) ปัจจุบันขยะอุตสาหกรรมถูกกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ และเผาทำลายในเตาเผา ซึ่งมีข้อจำกัดด้านการยอมรับจากชุมชน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง (2) ปริมาณขยะอุตสาหกรรม จะเพิ่มมากขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้เกิดปัญหาการกำจัดไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม (3) ปัจจุบันมีขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 9 ล้านตันต่อปี ก่อให้เกิดผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนี้ 1) ลดพื้นที่ฝังกลบ ลดการเผาทำลายในเตาเผาซึ่งมีค่าดำเนินการประมาณ 33,200 ล้านบาท และลดค่าดำเนินการโดยภาคเอกชนในการสร้างหลุมฝังกลบมูลค่า 30,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินกว่า 63,200 ล้านบาท 2) โรงไฟฟ้า ขยะอุตสาหกรรมสามารถผลิตไฟฟ้าทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้าจากต่างประเทศ 3) เพิ่มการจ้างงานประมาณ 110 ตำแหน่งต่อโรงไฟฟ้า 1 แห่ง ซึ่งจะมีเงินกระจายลงสู่ชุมชนกว่า 9,900 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการ 4) ลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่งขยะอุตสาหกรรมไปยังแหล่งกำจัด มูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท และ 5) เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรตามนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Circular Green Economy: BCG) ของรัฐบาล
7. กบง. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ได้พิจารณาเรื่อง แนวทางการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการการรับซื้อไฟฟ้าและอัตรารับซื้อไฟฟ้า จากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev. 1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) และพิจารณาให้ความเห็นว่าการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้าถือเป็นสิ่งสำคัญของการจัดหาพลังงานสะอาดในรูปแบบการสร้างมูลค่า ของของเสียจากโรงงานต่าง ๆ อีกทั้งเพื่อช่วยลดปัญหาการลักลอบทิ้งขยะ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง จากกลิ่นและสารโลหะหนักปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในดิน น้ำผิวดิน และแหล่งน้ำใต้ดิน นอกจากนี้ยังถือเป็นการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย แม้ว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้า จากขยะอุตสาหกรรมจะมีราคาสูง แต่ได้ประโยชน์ที่คุ้มค่าจากการประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ เช่น สังคม สิ่งแวดล้อม และเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการจ้างงาน
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบหลักการการรับซื้อไฟฟ้าและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev. 1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ในปริมาณ 100 เมกะวัตต์ และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2569 ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการในอนาคตที่เกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้ที่เจ้าของวัสดุเหลือใช้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการกำจัดวัสดุเหลือใช้ดังกล่าวตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principles) ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อค่าไฟในภาพรวมของประเทศ
2. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev. 1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) และกำกับดูแลการคัดเลือกตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องการมีการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน พิจารณา
เรื่องที่ 7 การขอยกเว้นภาษีสรรพากรที่เกิดจากการร่วมลงทุนโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 มีมติเห็นชอบให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ดำเนินโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ จังหวัดระยอง [T-2] (LMPT2) สำหรับรองรับการนำเข้า LNG ในปริมาณ 5 ล้านตันต่อปี วงเงินงบประมาณ 36,800 ล้านบาท โดยกำหนดให้โครงการแล้วเสร็จและสามารถแปรสภาพ LNG จากของเหลวเป็นก๊าซเพื่อจัดส่งเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในปี 2565 (ซึ่งคณะกรรมการ ปตท. ได้อนุมัติให้บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) เป็นผู้ดำเนินการโครงการฯ) และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปศึกษาความเหมาะสมโครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) พื้นที่อ่าวไทยตอนบน สำหรับรองรับการนำเข้า LNG ในปริมาณ 5 ล้านตันต่อปี ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 กพช. มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการขยายกำลังการแปรสภาพ LNG ของ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ จังหวัดระยอง [T-2] ที่มอบหมายให้ ปตท. ดำเนินโครงการ ให้สามารถรองรับการนำเข้า LNG สูงสุดเพิ่มขึ้นจาก 5 ล้านตันต่อปี เป็น 7.5 ล้านตันต่อปี ประมาณการเงินลงทุนรวม 38,500 ล้านบาท และกำหนดส่งก๊าซธรรมชาติได้ในปี 2565 และวันที่ 1 เมษายน 2564 กพช. มีมติเห็นชอบให้ กฟผ. ปรับรูปแบบการลงทุนจากโครงการ FSRU ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (F-1) เป็นร่วมลงทุนกับ ปตท. สัดส่วน 50:50 ในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) บ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี เพื่อให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดรวมถึงไม่สร้างภาระแก่ประชาชน และต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2565 กพช. มีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มวงเงินลงทุนโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ จังหวัดระยอง [T-2] ในแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงที่มอบหมายให้ ปตท. ดำเนินการ จากเดิมวงเงิน 35,800 ล้านบาท เป็นวงเงินไม่เกิน 41,400 ล้านบาท ดังนั้น กฟผ. ได้มีหนังสือถึง ปลัดกระทรวงพลังงาน เรื่อง การร่วมทุนในบริษัท LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) บ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ ดังนี้ (1) ให้ กฟผ. เข้าร่วมทุนในบริษัท LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) (บริษัทฯ) บ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ในสัดส่วนร้อยละ 50 โดยมีมูลค่าเงินลงทุนตามสัดส่วนดังกล่าวไม่เกิน 16,350 ล้านบาท และหาก ครม. อนุมัติ ให้ถือว่า กฟผ. ได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อการลงทุนตามแผนการประมาณการเบิกจ่ายประจำปี 2565 และ (2) ให้ยกเว้นภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง การจัดตั้งบริษัทฯ และการทำธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากการร่วมทุนดังกล่าว
2. โครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) [T-2] (LMPT2) ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีท่าเรือ 1 ท่า ถังเก็บ LNG 2 ถัง สามารถรองรับ LNG ได้ปริมาณ 7.5 ล้านตันต่อปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศ ตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย รองรับการนำเข้า LNG ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในระยะยาว และเสริมให้ประเทศไทยก้าวเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน (LNG Regional Hub) ต่อไป ทั้งนี้เมื่อรวมกับโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 1) [T-1] (LMPT1) ที่มีความสามารถรองรับ LNG ได้ในปริมาณ 11.5 ล้านตันต่อปีแล้ว รวม 2 โครงการ จะทำให้ ปตท. มีศักยภาพในการรองรับการนำเข้า LNG ได้ถึง 19 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2565 โดยมีวัตถุประสงค์ของการร่วมทุนในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ระหว่าง กฟผ. และ ปตท. ดังนี้ (1) เพื่อดำเนินการโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและ สถานีรับ-จ่าย LNG รวมถึงให้บริการแปรสภาพ LNG จากของเหลว เป็นก๊าซธรรมชาติ ณ บ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยมีภารกิจหลักคือรองรับความต้องการในการใช้ก๊าซธรรมชาติและเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านการใช้พลังงานของประเทศในระยะยาว และ (2) เพื่อดำเนินธุรกิจโดยมุ่งสู่ความเป็นเลิศในการเป็นผู้ให้บริการสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวชั้นนำของโลก ด้วยวิสัยทัศน์ ในการส่งเสริมพลังงานสะอาดและเสริมสร้างความมั่นคงในด้านการใช้พลังงานของประเทศโดยการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส และสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งโครงสร้างการร่วมทุน กฟผ. และ ปตท. จะร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใน บริษัท LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) (ซึ่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท PTTLNG จะพิจารณาชื่อบริษัทที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการยื่นจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ในภายหลัง) จดทะเบียนจัดตั้งในราชอาณาจักรไทย มีผู้ถือหุ้น 2 ราย คือ กฟผ. (สัดส่วนการถือหุ้น ร้อยละ 50) และบริษัท PTTLNG (สัดส่วนการถือหุ้น ร้อยละ 50) โดยการจัดตั้งบริษัทฯ และการเข้าร่วมทุนของ กฟผ. จะเกิดขึ้นภายหลัง ครม. มีมติอนุมัติให้ กฟผ. เข้าร่วมทุนในบริษัทฯ โดยมีขั้นตอน ดังนี้ (1) บริษัท PTTLNG แยกส่วนธุรกิจ (Spin-off) LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) บ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง และจัดตั้งบริษัทฯ โดย PTTLNG มีสัดส่วนการถือหุ้น ร้อยละ 100 และ (2) บริษัท PTTLNG ขายหุ้นในบริษัทฯ ร้อยละ 50 ให้กับ กฟผ.
3. เหตุผล ความจำเป็นของการขอยกเว้นภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าธรรมเนียมอื่นที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างและการทำธุรกรรมดังกล่าว เพื่อดำเนินการตามนโยบายภาครัฐดังกล่าวข้างต้น กฟผ. จะเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 50 ในบริษัทร่วมทุนใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นโดย PTTLNG ซึ่งเป็นบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 นั้น PTTLNG จะต้องดำเนินการแบ่งแยก และโอนทรัพย์สินของ LMPT2 ไปยังบริษัทร่วมทุนใหม่ จึงทำให้เกิดภาระภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าธรรมเนียมต่างๆ เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาโครงการมีมูลค่าสูงขึ้นซึ่งในที่สุดแล้วจะส่งผลให้ต้นทุนทางพลังงานของประเทศเพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้น กฟผ. จึงเป็นตัวแทนของผู้ร่วมทุนในการเสนอขอยกเว้นภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจาก แบ่งแยก และโอนทรัพย์สินของ PTTLNG ไปยังบริษัทร่วมทุนใหม่โดยขอให้พิจารณายกเว้นภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
3.1 ภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง และการโอนทรัพย์สิน โดยการถือปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) ข้อ 2(4) อันเกี่ยวกับภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้โอนขายภายในระยะเวลาสามปีนับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ เพื่อให้ PTTLNG สามารถนำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างโครงการ LMPT2 มาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เพื่อไม่ก่อให้เกิดภาษีซื้อต้องห้าม จากการโอนสิ่งปลูกสร้างในโครงการ LMPT2 ให้กับบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งใหม่ ซึ่งมีภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 7 ตามมาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับมูลค่าที่ได้รับ จากการโอนขายทรัพย์สินที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ ให้กับบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งใหม่
3.2 ภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นในขั้นตอนการโอน โดยคิดจากภาษีธุรกิจเฉพาะ ในอัตราร้อยละ 3.3 ตามมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร ที่เกิดขึ้นจากรายรับที่ได้จากการโอนขายอสังหาริมทรัพย์ อาทิ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และอาคาร ให้กับบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งใหม่ และค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ในอัตราร้อยละ 2 ตามข้อ 2(7)(ก) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ที่เกิดจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ ให้กับบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งใหม่ รวมถึงอากรแสตมป์จากการกระทำตราสารใด ๆ อันเกี่ยวเนื่องมาจากการโอนทรัพย์สินและกิจการให้กับบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งใหม่ ตลอดจนการจดทะเบียนจัดตั้ง การเพิ่มทุน และการโอนหุ้นของบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งใหม่
3.3 ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เกิดจากกำไรจากการโอนทรัพย์สิน โดยคิดจากภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตราร้อยละ 20 ตามมาตรา 65 และมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร ให้กับบริษัท PTTLNG สำหรับกำไรที่เกิดขึ้นจากการโอนทรัพย์สินและกิจการที่เป็นราคายุติธรรมของโครงการ LMPT2 ให้กับบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งใหม่
3.4 ประมาณการภาระภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าธรรมเนียมอื่นที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างและการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องประมาณ 5,300 ล้านบาทและภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 1,275 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 6,575 ล้านบาท (ยอด ณ เดือนเมษายน 2565) โดยมีรายละเอียด ดังนี้ (1) ภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณจากร้อยละ 20 ของกำไรจากการขายหุ้น / การขายทรัพย์สิน (2) ภาษีธุรกิจเฉพาะ (SBT) คำนวณจาก ร้อยละ 3.3 ของราคาโอนอสังหาริมทรัพย์ (3) ค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ (TF) คำนวณจากร้อยละ 2 ของราคาประเมินของกรมธนารักษ์ (4) ภาษีซื้อต้องห้าม (VAT) ของภาษีซื้อที่ได้นำไปคำนวณใน ภพ 30 แล้ว และภาษีซื้อที่ยังมิได้นำไปรวมคำนวณใน ภพ 30 คำนวณจากร้อยละ 7 ของมูลค่าก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ (5) เบี้ยปรับ (VAT Penalty) คำนวณจากร้อยละ 20 ของภาษีซื้อต้องห้ามตามภาษีซื้อที่ได้นำไปคำนวณใน ภพ 30 แล้ว (6) เงินเพิ่ม (VAT Surcharge) คำนวณจากร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีซื้อต้องห้ามที่ต้องชำระตามภาษีซื้อ ที่ได้นำไปคำนวณใน ภพ 30 แล้ว (7) อากรแสตมป์ (SD) คำนวณจากร้อยละ 0.1 ตามราคาในตราสารการโอนหุ้น และ (8) ภาษีขายจากการโอนกิจการคำนวณจากร้อยละ 7 ของราคาโอนสังหาริมทรัพย์
3.5 ผลกระทบจากภาษี หากการร่วมลงทุนในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ระหว่าง กฟผ. และ ปตท. ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จำนวน 6,575 ล้านบาท จะส่งผลให้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool Gas) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 0.34 บาทต่อล้านบีทียู และค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 0.16 สตางค์ต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการ 40 ปี ซึ่งจะทำให้นโยบายของภาครัฐจากการที่ให้ กฟผ. ยกเลิกการลงทุนในโครงการ FSRU มาเป็นร่วมลงทุนระหว่าง กฟผ. และ ปตท. ในโครงการดังกล่าว เพื่อลดภาระการลงทุนของประเทศในภาพรวม ส่งผลให้ต้นทุนค่าก๊าซและค่าผลิตไฟฟ้าในภาพรวมลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
4. การดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 43 (1) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 และพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 โดยที่เรื่องดังกล่าวต้องขอรับความเห็นจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 และวันที่ 22 กันยายน 2558 กระทรวงพลังงาน (พน.) จึงได้มีหนังสือขอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ กฟผ. เข้าร่วมทุนในบริษัท LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) บ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ในสัดส่วนร้อยละ 50 โดยมีมูลค่าเงินลงทุนตามสัดส่วนดังกล่าวไม่เกิน 16,350 ล้านบาท แล้ว โดยเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 กฟผ. ได้มีหนังสือถึงกรมสรรพากร เรื่อง การร่วมทุนในบริษัท LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) บ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อให้กรมสรรพากรทราบว่าปัจจุบัน กฟผ. ได้ดำเนินการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อ พน. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการร่วมทุนในบริษัทฯ และขอยกเว้นภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง การจัดตั้งบริษัทฯ และการทำธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากการร่วมทุนดังกล่าว เพื่อนำเสนอ ครม. อนุมัติแล้ว
5. เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 กกพ. ได้พิจารณาและมีความเห็นว่า การร่วมทุนไม่ควรสร้างภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้บริการที่อยู่ในภาคครัวเรือน ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ มีความเห็นว่า ตาม มติ กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่เห็นชอบให้ กฟผ. ปรับรูปแบบการลงทุนจากโครงการ FSRU ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (F-1) เป็นร่วมลงทุนกับ ปตท. สัดส่วน 50:50 ในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ตำบลหนองแฟบ จังหวัดระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดรวมถึงไม่สร้างภาระ แก่ประชาชน ดังนั้นหากการร่วมลงทุนในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ระหว่าง กฟผ. และ ปตท. ได้รับการยกเว้นภาษีที่จัดเก็บโดยกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะส่งผลทำให้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool Gas) และค่าผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลดลง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเห็นควรให้ยกเว้นภาษีที่จัดเก็บโดยกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตามที่ กฟผ. เสนอ
มติของที่ประชุม
1. รับทราบการขอยกเว้นภาษีสรรพากรที่เกิดจากการร่วมลงทุนโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2)
2. มอบหมายให้กระทรวงพลังงานนำเรื่องการขอยกเว้นภาษีสรรพากรที่เกิดจากการร่วมลงทุนโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 มีมติเห็นชอบ ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า (คณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการฯ) และนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กพช. ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการฯ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 โดยคณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการฯ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 มีมติเห็นชอบกรอบการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า ระยะ 5 ปี ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง (ปี 2565 – 2570) เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนบูรณาการฯ ต่อไป และเห็นชอบร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนบูรณาการ การลงทุนและการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า (คณะอนุกรรมการจัดทำแผนบูรณาการฯ) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะประธานกรรมการจัดทำแผนบูรณาการฯ ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนบูรณาการฯ แล้วเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 ซึ่งเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 คณะอนุกรรมการจัดทำแผนบูรณาการฯ มีมติรับทราบกรอบการจัดทำ แผนบูรณาการฯ และเห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณากลั่นกรองโครงการที่บรรจุในแผนบูรณาการฯ โดยโครงการและแผนงานดังกล่าวทั้ง 3 การไฟฟ้า ต้องบรรจุอยู่ในแผนบูรณาการฯ จึงจะได้รับการพิจารณาโครงการ และแผนงาน และงบลงทุนประจำปี จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจะเริ่มใช้เงื่อนไขดังกล่าวเมื่อแผนบูรณาการฯ แล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2565และจะมีผลบังคับใช้ ในปีงบประมาณ 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในระหว่างแผนบูรณาการฯ ยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก กพช. ให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณาโครงการและแผนงาน สามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่ผ่านมาไปพลางก่อน
2. คณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการฯ กำหนดกรอบแผนบูรณาการฯ ระยะ 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ ปี 2565 - 2570 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และกำหนดแผนการดำเนินงาน โดยให้จัดทำแล้วเสร็จและนำเสนอ กพช. พิจารณาเห็นชอบภายในปี 2565 ซึ่งมีหลักการแผนบูรณาการฯ ภายใต้กรอบการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า ระยะ 5 ปี ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง กำหนดให้ (1) แผนบูรณาการฯ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ (1.1) แผนบูรณาการลงทุนและการดำเนินงานของ 3 การไฟฟ้า (1.2) แผนการลงทุนรายหน่วยงาน และ (1.3) โครงการสำคัญตามนโยบายของรัฐบาลหรืออื่นๆ ตามที่ กพช. และคณะกรรมการแผนบูรณาการฯ เห็นสมควร ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการลงทุนและจัดลำดับความสำคัญของโครงการทั้งในส่วนระบบผลิต ระบบส่ง และระบบจำหน่าย รวมทั้งการจัดตั้งโครงการลงทุนหรือวิจัยและพัฒนาร่วมกันในรูปแบบหรือ พื้นที่ต่างๆ ได้แก่ การดำเนินโครงการ Smart Grid/Micro Grid และ Energy trading Platform การบูรณาการด้านข้อมูล (Data Harmonization) และการวิเคราะห์ข้อมูล หรือการสร้าง Platform ด้านพลังงานต่างๆ เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้หรือระบบหรือกลไกดำเนินงานร่วมกัน เป็นต้น (2) กรอบระยะเวลาของแผนบูรณาการฯ มีระยะ 5 ปี และจะมีการทบทวนทุกๆ 5 ปี หรือกรณีที่สถานการณ์ต่างๆ เช่น เทคโนโลยี นโยบาย มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ และ (3) โครงการลงทุนของ 3 การไฟฟ้าที่สำคัญ/จำเป็น หรือโครงการ ที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องกำหนดไว้ในแผนบูรณาการฯ จึงจะได้รับการพิจารณาจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และ ครม.
3. จากเงื่อนไขตามหลักการแผนบูรณาการฯ ซึ่งต้องมีการกำหนดโครงการและแผนงานไว้ในแผนบูรณาการฯ จึงจะได้รับการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ ครม. แต่เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงพลังงานยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนบูรณาการฯ ตามแผนการดำเนินงาน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2565 ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเห็นควรเสนอให้มีการยกเว้นเงื่อนไขดังกล่าวสำหรับโครงการและแผนงาน ปี 2565 เพื่อให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง และให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
มติของที่ประชุม
1. รับทราบการยกเว้นเงื่อนไขตามหลักการแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า สำหรับโครงการและแผนงาน ปี 2565
2. มอบหมายให้คณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า เร่งรัดจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ระยะ 5 ปี (แผนบูรณาการฯ) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และดำเนินการพิจารณาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างที่แผนบูรณาการฯ ยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดไม่ซ้ำซ้อนและไม่เป็นต้นทุนส่วนเกินของประชาชน
กบง.ครั้งที่ 11/2565 (ครั้งที่ 49) วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 11/2565 (ครั้งที่ 49)
วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565
1. ข้อเสนอการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สัญญาระยะยาวของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 ข้อเสนอการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สัญญาระยะยาวของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในรายละเอียด โดยให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) บริหารจัดการ Old Supply ซึ่งหมายถึงก๊าซธรรมชาติจากการจัดหาที่มีสัญญาผูกพันระยะยาวแล้ว เพื่อจำหน่ายก๊าซเข้า Pool ประกอบด้วย (1) ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยในปัจจุบันและก๊าซธรรมชาติ จากอ่าวไทยที่จะเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงก๊าซธรรมชาติที่จัดหาจากพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย - มาเลเซีย (JDA) (2) ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งบนบก (3) ก๊าซธรรมชาติที่นำเข้ามาจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (4) ก๊าซธรรมชาติที่นำเข้ามาในรูปแบบ LNG ที่เป็นสัญญาระยะยาวของประเทศที่มีอยู่ ในปัจจุบัน 4 สัญญา รวมปริมาณ 5.2 ล้านตันต่อปี และ (5) LNG Spot Flexible ตามปริมาณและเงื่อนไข ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รวมทั้งได้มอบหมายให้ ปตท. และ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) พิจารณาปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติ และความสามารถที่เหลือที่จะนำเข้า LNG โดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาระ Take or Pay และให้นำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. พิจารณาปริมาณการนำเข้า LNG ในระยะที่ 2 ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2564 ทั้งนี้ การจัดหา LNG สำหรับสำหรับกลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. (Regulated Market) ด้วยสัญญาระยะยาวและ/หรือสัญญาระยะกลาง หลังจากที่การเจรจาสัญญามีข้อยุติ ให้นำสัญญาซื้อขาย LNG เสนอต่อ กบง. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการดำเนินการ ต่อมา เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 กพช. ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG (LNG Benchmark) สำหรับกลุ่ม Regulated Market เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ สมการในรูปแบบเส้นตรงที่อ้างอิงราคาน้ำมัน สมการในรูปแบบเส้นตรงที่อ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติ และสมการในรูปแบบ Hybrid ซึ่งอ้างอิงทั้งราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติและมีจุดหักมุม และมอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้กำกับดูแลและพิจารณาในรายละเอียดของหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG สำหรับกลุ่ม Regulated Market และต่อมา เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 กพช. ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณและการดำเนินการเกี่ยวกับราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของ กกพ. โดยเห็นควรให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายเดิมที่มีสัญญาซื้อขาย ก๊าซธรรมชาติกับผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายเดิม สามารถเจรจาตกลงกันระหว่างคู่สัญญาให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกสัญญา (Re-Negotiation) ได้ เพื่อสนับสนุนให้มีการแข่งขัน ที่เป็นธรรม และเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเปิดตลาดเสรีในกิจการก๊าซธรรมชาติต่อไปในอนาคต โดยปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เกินจาก Take or Pay ของ ปตท. ให้ถือเป็น New Demand ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่สามารถเลือกใช้ก๊าซธรรมชาติจาก Pool Gas หรือ New Shipper ได้ ภายใต้ การกำกับของ กกพ.
2. ปัจจุบันตลาด LNG มีความผันผวนและตึงตัวจากการพัฒนาโครงการผลิต LNG แหล่งใหม่ที่มีจำกัด ประกอบกับสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและประเทศยูเครนที่มีความยืดเยื้อ รวมทั้งความเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่สงบของเมียนมา ในขณะที่การผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอ่าวไทย มีปริมาณจำกัด ซึ่งอาจส่งผลให้ประเทศมีอุปทานก๊าซธรรมชาติลดลง ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดหา Spot LNG จำนวนมากซึ่งมีราคาสูงและผันผวน จึงจำเป็นที่จะต้องจัดหา LNG เพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาว แทนการจัดหา Spot LNG เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด Spot LNG โดยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ชธ. และ ปตท. ได้ประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันเพื่อพิจารณาความต้องการใช้และการจัดหา LNG เพิ่มเติมเพื่อสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ และได้นำเสนอผลการประชุมแก่คณะอนุกรรมการบริหารสถานการณ์ในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน (Execution Operation Team: EOT) ทราบเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 โดยพบว่า ในช่วงปี 2565 – 2580 ประเทศมีความต้องการ LNG New Supply เพิ่มเติมปริมาณ 4.2 - 16 ล้านตันต่อปี และตั้งแต่ปี 2576 เป็นต้นไปคาดว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่า Old Supply ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบ Old Supply กับ Old Demand ที่ ปตท. เป็นผู้บริหารจัดการ พบว่า ปตท. ยังจำเป็นต้องมีการจัดหา LNG เพิ่มเติมเพื่อรองรับ Old Demand ในภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และ NGVอย่างไรก็ดี ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ได้กำหนดให้ Old Supply หมายถึง ก๊าซธรรมชาติจากการจัดหาที่มีสัญญาผูกพันระยะยาวแล้ว ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงการจัดหา LNG เพื่อรองรับความต้องการใช้ ก๊าซธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องขออนุมัติ กพช. เพื่อให้ ปตท. นำเข้า LNG เพิ่มเติมจากสัญญาปัจจุบัน ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 กกพ. ได้หารือแนวทางการจัดสรรปริมาณความต้องการก๊าซธรรมชาติระหว่าง ปตท. และบริษัทเอกชน สำหรับโรงไฟฟ้าปลวกแดง และโรงไฟฟ้าศรีราชา โดยที่ประชุมได้มีมติให้ ปตท. จัดหา LNG ปริมาณ 1.0 ล้านตันต่อปี และบริษัทเอกชนจัดหา LNG ปริมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของโรงไฟฟ้า
3. ปัจจุบันราคา LNG ในตลาดมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นและประเทศต่างๆ ได้เร่งจับจอง LNG ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยมีปริมาณก๊าซธรรมชาติและ LNG เพียงพอในระดับราคาที่ไม่สูงเกินไป ปตท. จึงเสนอการจัดหา LNG ด้วยรูปแบบสัญญาระยะยาวเป็นกรณีเร่งด่วน โดยจากการเปรียบเทียบข้อเสนอขายจากผู้ขาย LNG พบว่า ข้อเสนอขายของ บริษัท พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี จำกัด (PTTGL) มีเงื่อนไขและราคาที่แข่งขันได้ เนื่องจาก PTTGL ได้รับข้อเสนอขายจากผู้จัดหา (Supplier) ในช่วงที่ตลาดยังไม่ตึงตัวมากนัก ทำให้ได้รับเงื่อนไขและราคาที่ดีกว่าตลาดในปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญของข้อเสนอการจัดหา LNG ดังนี้ ผู้ซื้อ คือ ปตท. และผู้ขาย คือ PTTGL ปริมาณซื้อขาย (ACQ) 1 ล้านตันต่อปี รูปแบบการส่งมอบที่ท่าปลายทาง (Delivery Ex-Ship: DES) โดย PTTGL จะบริหารและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายรวมถึงความเสี่ยงจากการขนส่ง LNG ที่โครงการผลิต LNG ของสหรัฐอเมริกาได้เสนอขายที่ท่าต้นทาง (Free on Board: FOB) มายังประเทศไทย กำหนด ส่งมอบตั้งแต่เดือนมกราคม 2569 อายุสัญญา 15 ปี (ขยายสัญญาได้อีก 5 ปี หากคู่สัญญาเห็นชอบร่วมกัน)
4. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 และวันที่ 27 มิถุนายน 2565 กกพ. ได้พิจารณาข้อเสนอ การนำเข้า LNG สัญญาระยะยาวของ ปตท. และได้มีมติ ดังนี้ (1) เห็นควรให้ความเห็นชอบการจัดหา LNG ด้วยสัญญาระยะยาวของ ปตท. ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี เริ่มส่งมอบปี 2569 ระยะเวลา 15 ปี เนื่องจากการลดลงของปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ส่งผลให้ Old Supply ไม่เพียงพอ ต่อความต้องการของ Old Demand (2) ข้อเสนอการนำเข้า LNG สัญญาระยะยาวของ ปตท. เป็นไปตาม LNG Benchmark สำหรับกลุ่ม Regulated Market ที่ กพช. เห็นชอบเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 โดย กกพ. จะกำกับการจัดหา LNG ให้เป็นไปตามมติ กพช. ที่เกี่ยวข้อง และ (3) เห็นควรให้นำต้นทุนในการจัดหา LNG ดังกล่าว ไปเฉลี่ยในราคา Pool Gas เพื่อประโยชน์ต่อราคาในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยฝ่ายเลขานุการฯ ได้มีความเห็นว่า เห็นควรให้ ปตท. นำเข้า LNG เพิ่มเติมใน Old Supply เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติและเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน รวมทั้งลดต้นทุนพลังงานของประเทศจากความผันผวนด้านราคาของตลาด Spot LNG อย่างไรก็ดี ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ให้ ปตท. บริหารจัดการ Old Supply ซึ่งในส่วนการจัดหา LNG เป็นการจัดหา LNG สัญญาระยะยาว 4 สัญญา ปริมาณรวม 5.2 ล้านตันต่อปี ดังนั้น เพื่อให้ ปตท. สามารถจัดหา LNG สัญญาระยะยาวอีก 1 ล้านตันต่อปี และนำราคารวมเข้าไปคำนวณเฉลี่ย ในราคา Pool Gas จึงเห็นควรเสนอ กพช. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) จัดหา LNG สัญญาระยะยาว ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี เพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาวที่มีการลงนามแล้ว 5.2 ล้านตันต่อปี โดยนำต้นทุนการจัดหารวมเข้าไปคำนวณเฉลี่ยในราคา Pool
2. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นผู้กำกับดูแลให้ราคาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนด และให้ ปตท. นำสัญญาซื้อขาย LNG สัญญาระยะยาวเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป
3. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ รับข้อสังเกตของ กบง. ไปประกอบการนำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป
กบง.ครั้งที่ 10/2565 (ครั้งที่ 48) วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 10/2565 (ครั้งที่ 48)
วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565
1. รายงานผลการดำเนินงานในการจัดสรรผลประโยชน์บัญชี Take or Pay แหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา
2. มาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาก๊าซ NGV ที่ปรับตัวสูงขึ้น
3. การทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
4. มาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
5. มาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น
6. ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
8. การเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 - 11
9. การบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft)
10. แนวทางการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 รายงานผลการดำเนินงานในการจัดสรรผลประโยชน์บัญชี Take or Pay แหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา
สรุปสาระสำคัญ
1. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ได้ซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาและแหล่งเยตากุน โดยเริ่มส่งก๊าซในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 และวันที่ 1 เมษายน 2543 ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองสัญญามีเงื่อนไข การซื้อขายแบบ Take or Pay (TOP) กล่าวคือ หากผู้ซื้อรับก๊าซไม่ครบปริมาณขั้นต่ำรายปีตามสัญญา ผู้ซื้อจะมีภาระผูกพันต้องจ่ายเงินค่าก๊าซให้ผู้ขายก๊าซสำหรับปริมาณที่รับขาดไปก่อน โดยผู้ซื้อสามารถเรียกรับก๊าซ ตามปริมาณที่ได้ชำระเงินไปแล้วนั้นคืนในภายหลังโดยไม่ต้องจ่ายเงินอีก (Make up) ต่อมา จากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติลดลง คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้มีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขยายสัญญาก่อสร้างโรงไฟฟ้าราชบุรีออกไป 180 วัน และให้ ปตท. ชะลอโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติราชบุรี - วังน้อย ทำให้ ปตท. ไม่สามารถรับก๊าซจากแหล่งยาดานาและแหล่งเยตากุนได้ครบปริมาณขั้นต่ำรายปีตามสัญญาและต้องจ่ายเงินค่า TOP ทั้งนี้ ครม. ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2543 มีมติเห็นชอบแนวทางการลดภาระ TOP แหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา และแนวทางการจัดสรรภาระดอกเบี้ย ที่เกิดขึ้น โดยให้ ปตท. เป็นแกนกลางเพื่อชำระค่าภาระ TOP โดยการกู้หรือระดมทุนไปก่อน แล้วจึงเรียกเก็บภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจาก กฟผ. และภาครัฐในภายหลัง สำหรับภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในส่วนของภาครัฐที่ร้อยละ 75.8 ให้ ปตท. จัดสรรส่งผ่านเข้าไปในราคาก๊าซและค่าไฟฟ้า โดยการเกลี่ยราคาเท่ากันที่ 0.4645 บาทต่อล้านบีทียู สำหรับภาระดอกเบี้ยของ ปตท. และ กฟผ. จะอยู่ที่ร้อยละ 11.4 และร้อยละ 12.8 ตามลำดับ ซึ่งจะไม่ถูกส่งผ่านเข้าไปในราคาก๊าซหรือค่าไฟฟ้า โดย ครม. มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เร่งรัดและติดตามการดำเนินมาตรการลดปัญหา TOP และรายงาน กพช. เพื่อทราบเป็นระยะ และให้ สนพ. กฟผ. และ ปตท. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการบริหารจัดการบัญชี TOP ต่อไป
2. ปตท. เริ่มรับก๊าซ Make up ของแหล่งยาดานาและแหล่งเยตากุน ตั้งแต่ปี 2544 และปี 2545 ตามลำดับ และได้ออกพันธบัตรเพื่อจ่ายชำระค่าก๊าซ TOP ให้แก่ผู้ผลิตมูลค่า 35,451 ล้านบาท และมีภาระดอกเบี้ย TOP ทั้งสิ้น 4,403 ล้านบาท โดยเป็นความรับผิดชอบของ ปตท. กฟผ. และภาครัฐ 502 ล้านบาท 564 ล้านบาท และ 3,338 ล้านบาท ตามลำดับ ต่อมาราคาก๊าซฯ Make up ปรับสูงขึ้นโดยตลอด ทำให้เกิดกำไร จากส่วนต่างราคาที่รับ Make up และราคาที่จ่าย TOP ซึ่ง ปตท. ได้นำกำไรที่ได้ไปหักลดดอกเบี้ยจ่ายพันธบัตรบางส่วนและหักลดต้นทุน TOP ทำให้สามารถหักต้นทุน TOP ของทั้งสองแหล่งได้หมดในปี 2555 และยังมีก๊าซให้ Make up ได้ต่อไปโดยไม่มีต้นทุน ทั้งนี้ ก๊าซ TOP ของแหล่งเยตากุนและแหล่งยาดานาสามารถรับได้หมด ในปี 2555 และปี 2561 ตามลำดับ เกิดกำไรในบัญชี TOP ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปี 2561 โดยสถานะของบัญชี TOP ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 มีกำไรสะสมประมาณ 13,591 ล้านบาท สำหรับภาระดอกเบี้ยในส่วนของภาครัฐ 3,338 ล้านบาท ปตท. ดำเนินการส่งผ่านไปในราคาก๊าซ (Levelized Price) ที่อัตรา 0.4645 บาทต่อล้านบีทียู ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2544 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2551 โดยในงวดสุดท้าย ปตท. เรียกเก็บไว้เกินประมาณ 27.8 ล้านบาท เนื่องจากเก็บตามปริมาณการใช้ก๊าซเต็มเดือนซึ่งมากกว่าปริมาณคงเหลือที่จะต้องเรียกเก็บ โดย ปตท. ได้บันทึกดอกเบี้ยรับทบต้นในอัตราร้อยละ 5.0807 ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับการบันทึกดอกเบี้ยจ่าย โดยสถานะ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 มีมูลค่าประมาณ 52 ล้านบาท
3. รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตรวจสอบบัญชีผลประโยชน์ TOP ซึ่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 กกพ. ได้มีมติรับทราบผลการตรวจสอบรายละเอียดบัญชีผลประโยชน์ TOP และเห็นควรให้ สนพ. ปตท. และ กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจาก กพช. และ ครม. ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล โดยต่อมาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 วันที่ 2 สิงหาคม 2564 และวันที่ 29 ตุลาคม 2564 สนพ. สำนักงาน กกพ. ปตท. และ กฟผ. ได้ประชุมร่วมกันและมีข้อสรุปว่าข้อมูลบัญชีรับจ่ายมีความถูกต้องพร้อมทั้งมีหลักฐานที่มาของอัตราดอกเบี้ยครบถ้วน ทั้งนี้ ปตท. ได้รายงานมูลค่าผลประโยชน์บัญชี TOP ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีมูลค่าประมาณ 13,594 ล้านบาท ต่อมา เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 กพช. ได้มีมติเห็นชอบให้นําผลประโยชน์ของบัญชี TOP ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 จํานวนเงิน 13,594 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินการคืนภาครัฐทั้งหมด โดยนำไปอุดหนุนค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) โดยนําส่งเงินและลดราคาค่าก๊าซให้กับ กฟผ. เพื่อลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) โดยมอบหมายให้ กกพ. กำกับดูแลการดำเนินการดังกล่าว และนำเงินผลประโยชน์ของบัญชี TOP ไปลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติเพื่อลดค่าไฟฟ้า
4. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้มีหนังสือรายงานผลการดำเนินงานการคืนผลประโยชน์และปิดบัญชี TOP ของแหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา สรุปได้ดังนี้ (1) เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ปตท. ได้มีหนังสือรายงานผลการคืนผลประโยชน์และปิดบัญชี TOP ตามแนวทางการกำกับดูแลการจัดสรรผลประโยชน์บัญชี TOP ที่สำนักงาน กกพ. ได้นำเสนอ กกพ. รับทราบ ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 13,601,446,936.82 บาท และ (2) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 และวันที่ 22 เมษายน 2565 กกพ. ได้ประชุมและรับทราบรายงานผลการดำเนินงานในการคืนผลประโยชน์และปิดบัญชี TOP ตามที่สำนักงาน กกพ. ได้ตรวจสอบ ดังนี้ 1) บัญชีผลประโยชน์ TOP พร้อมดอกเบี้ยระหว่างดำเนินการ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 13,601,446,936.82 บาท ประกอบด้วยผลประโยชน์จากการ Make up ก๊าซส่วนของภาครัฐ กฟผ. และ ปตท. รวมดอกเบี้ยคำนวณก่อนถึงวันที่คืนเงิน 1 วัน เป็นจำนวนเงิน 13,548,320,726.44 บาท และผลประโยชน์ของภาครัฐส่วนที่เก็บไว้เกินจากการส่งผ่านในราคาก๊าซ รวมดอกเบี้ยคำนวณก่อนถึงวันที่คืนเงิน 1 วัน เป็นจำนวนเงิน 53,126,210.38 บาท และ 2) กฟผ. ได้ทำหนังสือเรียกเก็บเงินไปยัง ปตท. และ ปตท. ได้ดำเนินการคืนเงินผลประโยชน์ TOP ตามมติ กกพ. แล้วเสร็จ โดยผลประโยชน์ TOP ส่วนของภาครัฐและ กฟผ. สัดส่วนรวมกันร้อยละ 88.6 และเงินส่วนของภาครัฐที่เก็บไว้เกินจากการส่งผ่านในราคาค่าก๊าซ ปตท. ได้นำส่งโดยการโอนเงินให้ กฟผ. ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 โดยคิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 แล้ว รวมเป็นมูลค่า 12,056,713,482.44 บาท และผลประโยชน์ TOP ในส่วนของ ปตท. ร้อยละ 11.4 ปตท. ได้นำไปเป็นส่วนลดค่าก๊าซให้ กฟผ. โดยออกใบลดหนี้ค่าก๊าซเดือนมกราคม 2565 ซึ่ง กฟผ. ชำระเงินในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 โดยคิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 แล้ว รวมเป็นมูลค่า 1,544,733,454.38 บาท ทั้งนี้ กฟผ. ได้นำเงินผลประโยชน์บัญชี TOP ของแหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา ไปคำนวณเป็นเงินส่วนลดค่า Ft สำหรับงวดเดือนมกราคม 2565 เรียบร้อยแล้ว
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 มาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาก๊าซ NGV ที่ปรับตัวสูงขึ้น
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้กำหนดโครงสร้างราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่ใช้ในปัจจุบัน โดยอ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติ ที่จำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก และผู้ใช้ก๊าซอื่นๆ ประกอบด้วยก๊าซจากอ่าวไทยที่เหลือจากการจ่ายให้โรงแยกก๊าซ ก๊าซจากประเทศเมียนมา ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และก๊าซจากแหล่งอื่นๆ ในอนาคต ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) และราคาพลังงานโลกที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นต้นทุนของก๊าซ NGV ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่ใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น ภาครัฐจึงได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบกับกลุ่มผู้ใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ทั่วไป และรถโดยสารสาธารณะ โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานขอความอนุเคราะห์บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ที่ 15.59 บาท ต่อกิโลกรัม ต่อเนื่องมาเป็นระยะ ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2565 และขอให้ คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV โครงการเอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน ให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2565 คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือประมาณ 4,344 ล้านบาท (รถยนต์ทั่วไป 3,931 ล้านบาท และรถแท็กซี่ 413 ล้านบาท)
2. ราคาขายปลีกก๊าซ NGV ปี 2565 ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดยตามสูตรโครงสร้างราคา ณ เดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 25.18 บาทต่อกิโลกรัม และอาจปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 28 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงสิ้นปี 2565 จากที่อยู่ที่ระดับ 13 – 18 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2564 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงและรถโดยสารสาธารณะ ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเห็นควรให้กระทรวงพลังงานขอความอนุเคราะห์ ปตท. คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV โครงการเอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน ให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 โดยคิดเป็นวงเงินช่วยเหลือประมาณ 2,353 ล้านบาท ต่อ 3 เดือน (รถยนต์ทั่วไป 2,145 ล้านบาทต่อ 3 เดือน และรถแท็กซี่ 208 ล้านบาทต่อ 3 เดือน)
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานขอความอนุเคราะห์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV โครงการเอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน ให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ต่อไปอีก เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2565
เรื่องที่ 3 การทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม โดยทยอยปรับขึ้นราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 3 ครั้ง จาก 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม ไปที่ 17.1795 บาทต่อกิโลกรัม โดยปรับขึ้น เดือนละ 0.9346 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป (2) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG และ (3) มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ประสาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ขอความร่วมมือขยายระยะเวลาช่วยเหลือส่วนลดราคาก๊าซ LPG แก่ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ ปตท. ดำเนินการอยู่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565
2. จากภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ประกอบกับสถานการณ์สงครามระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและประเทศยูเครน ส่งผลกระทบให้ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกมีความผันผวนและยังคงอยู่ในระดับสูง โดยในเดือนเมษายน 2565 ถึงเดือนมิถุนายน 2565 ราคา LPG ตลาดโลกลดลงประมาณ 118.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน หรือลดลงร้อยละ 14 จาก 864.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน สู่ระดับ 745.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2565 ทั้งนี้ ราคาก๊าซ LPG Cargo เฉลี่ย 2 สัปดาห์ ที่ปรับตัวลดลง แม้ว่าค่าใช้จ่ายนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่น ที่อ้างอิงราคานำเข้าซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (Import Parity) ปรับตัวลดลง 0.0007 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 28.6570 บาทต่อกิโลกรัม (829.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) เป็น 28.6563 บาทต่อกิโลกรัม (829.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปรับลดการจ่ายเงินชดเชย จาก 13.8645 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 13.8638 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ขนาดถัง 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 363 บาท
3. เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 กบน. เห็นชอบให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพราคาก๊าซ LPG โดยให้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ติดลบได้ไม่เกิน 39,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้โอนเงินในส่วนของบัญชีของน้ำมันสำเร็จรูปไปใช้ในบัญชีกลุ่มก๊าซ LPG และให้โอนคืนบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป ในภายหลัง โดย ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2565 กองทุนน้ำมันฯ มีฐานะกองทุนสุทธิ ติดลบ 91,089 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 54,574 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 36,515 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนการผลิตและจัดหา (กองทุนน้ำมันฯ #1) มีรายรับ 2,407 ล้านบาทต่อเดือน และในส่วนการจำหน่ายภาคเชื้อเพลิง (กองทุนน้ำมันฯ #2) มีรายจ่าย 3,956 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชี LPG มีรายจ่าย 1,549 ล้านบาทต่อเดือน
4. จากสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดย ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ 745.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เทียบได้กับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่ 450 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ขณะที่ราคาขายปลีกปัจจุบันอยู่ที่ 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ส่งผลต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ บัญชี LPG ติดลบ 1,549 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 36,515 ล้านบาท เข้าใกล้กรอบวงเงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ที่ให้ติดลบได้ไม่เกิน 39,000 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อลดภาระหนี้สินกองทุนน้ำมันฯ ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอแนวทางการปรับราคาก๊าซ LPG เป็น 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 ทยอยปรับขึ้นราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 3 ครั้ง ไปที่ 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม โดยปรับขึ้นเดือนละ 0.9346 บาทต่อกิโลกรัม โดยการปรับขึ้นครั้งที่ 1 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG อยู่ที่ 18.1141 บาทต่อกิโลกรัม ราคาขายปลีกอยู่ที่ 378 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชี LPG มีรายจ่าย 1,279 ล้านบาทต่อเดือน การปรับขึ้นครั้งที่ 2 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG อยู่ที่ 19.0487 บาทต่อกิโลกรัม ราคาขายปลีกอยู่ที่ 393 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชี LPG มีรายจ่าย 1,008 ล้านบาทต่อเดือน และการปรับขึ้นครั้งที่ 3 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG อยู่ที่ 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม ราคาขายปลีกอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชี LPG มีรายจ่าย 738 ล้านบาท ต่อเดือน และแนวทางที่ 2 ปรับขึ้นราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 ครั้ง ไปที่ 22.6001 บาทต่อกิโลกรัม โดยปรับขึ้น 5.4206 บาทต่อกิโลกรัม ราคาขายปลีกอยู่ที่ 450 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชี LPG มีรายรับ 20 ล้านบาทต่อเดือน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ภาครัฐมีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG โดยเพิ่มการช่วยเหลือส่วนลดราคาก๊าซ LPG โดยขอความร่วมมือ ปตท. ขยายระยะเวลาช่วยเหลือส่วนลดราคาก๊าซ LPG แก่ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ ปตท. ดำเนินการอยู่ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565
5. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้วิเคราะห์สภาพคล่องและฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชี LPG พบว่า ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2565 ฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชี LPG ติดลบประมาณ 36,515 ล้านบาท หากยังคงตรึงราคา ขายปลีกก๊าซ LPG ที่ 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชี LPG ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 จะติดลบประมาณ 41,162 ล้านบาท โดยหากปรับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ตามแนวทางที่ 1 หรือแนวทางที่ 2 ฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชี LPG ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 จะติดลบประมาณ 39,540 ล้านบาท หรือติดลบ 36,455 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ประกอบกับสถานการณ์ราคาพลังงานโลกมีความผันผวนและยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพและภาระค่าครองชีพของประชาชน ดังนั้น เพื่อลดภาระหนี้สินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ฝ่ายเลขานุการฯ จึงได้เสนอให้ทยอยปรับขึ้นราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 3 ครั้ง ไปที่ 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม โดยปรับขึ้นเดือนละ 0.9346 บาทต่อกิโลกรัม กรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม โดยทยอยปรับขึ้นราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 3 ครั้ง จาก 17.1795 บาทต่อกิโลกรัม ไปที่ 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม โดยปรับขึ้นเดือนละ 0.9346 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป
3. มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน ประสาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ขอความร่วมมือขยายระยะเวลาช่วยเหลือส่วนลดราคาก๊าซ LPG แก่ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ ปตท. ดำเนินการอยู่ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565
เรื่องที่ 4 มาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือส่วนลดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) (ก๊าซหุงต้ม) แก่ครัวเรือน ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน และขอความร่วมมือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ช่วยเหลือส่วนลดราคาก๊าซ LPG แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคา LPG โครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) จัดทำคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้สำหรับมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคา LPG โดยยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ในช่วงเดือนเมษายน 2565 ถึงเดือนมิถุนายน 2565 รวมเงินงบประมาณ 200,000,000 บาท โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณดังกล่าว จำนวน 199,650,000 บาท ให้ ธพ. โดยกรมบัญชีกลางเป็นผู้อนุมัติและดำเนินการแทน ธพ. ผ่านวิธีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแทนกัน
2. ความคืบหน้าโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในช่วงเดือนเมษายน 2565 ถึงเดือนพฤษภาคม 2565 มีผู้ใช้สิทธิส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน รวม 3,200,728 ราย ใช้เงินงบประมาณ 175,990,047 บาท โดยเหลือเงินงบประมาณอีก 23,659,953 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือกลุ่ม ผู้มีรายได้น้อย กระทรวงพลังงานจึงขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพิ่มเติมอีก 7,367,140 บาท รวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 207,017,140 บาท สำหรับการใช้สิทธิ 3,763,948 ราย
3. โครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน อีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน จะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2565 ขณะที่ราคา LPG ยังคงอยู่ในระดับสูง ดังนั้น เพื่อให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กระทรวงพลังงานจึงดำเนินการขอขยายระยะเวลาโครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้ (1) ขอบเขตการดำเนินงาน ยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จาก 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน โดยขอขยายระยะเวลาโครงการออกไปอีก 3 เดือน (2) ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ถึงเดือนกันยายน 2565 (3) วงเงินงบประมาณคาดว่าจะใช้งบประมาณ 220,000,000 บาท โดยคำนวณจากการคาดการณ์ว่าการขยายระยะเวลายกระดับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน จะจูงใจให้มีผู้ใช้สิทธิ์รวมประมาณ 4,000,000 ราย ในช่วง 3 เดือน (4) การขอรับจัดสรรงบประมาณ โดยกระทรวงพลังงานจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ต่อสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ เนื่องจากวงเงินงบประมาณที่ขอรับจัดสรรเกินกว่า 100 ล้านบาท สำนักงบประมาณจะเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยหากเห็นชอบแล้วจะแจ้งให้กระทรวงพลังงานนำเรื่องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี โดยเสนอผ่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ข้อ 9 (3) ซึ่งคาดว่าจะเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือนมิถุนายน 2565 และ (5) การเริ่มขยายระยะเวลาโครงการ โดย ธพ. จะแจ้งให้กรมบัญชีกลางทราบเพื่อเตรียมความพร้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องและดำเนินการให้ทันภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการขยายระยะเวลาโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม แก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีก 3 เดือน ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ถึงเดือนกันยายน 2565
2. มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน จัดทำคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้สำหรับดำเนินโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ถึงเดือนกันยายน 2565 สำหรับผู้ใช้สิทธิ 4,000,000 ราย รวมเงินงบประมาณ 220,000,000 บาท
เรื่องที่ 5 มาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบหลักการแนวทางการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (บี100) ในสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภาวะปกติ ดังนี้ ระยะสั้น (พ.ศ. 2565 ถึง พ.ศ. 2566) กำหนดให้มีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 2 เกรด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 สำหรับใช้กับรถบรรทุกขนาดใหญ่ และระยะยาว (พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป) กำหนดให้มีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 เกรดเดียว สำหรับภาวะวิกฤติ คือ ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วสูงกว่า 30 บาทต่อลิตร โดยไม่มีการชดเชยราคาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แบ่งเป็น 2 กรณี คือ หากราคาไบโอดีเซล สูงกว่า 1.5 เท่า หรือ 2.5 เท่า ของราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซลพื้นฐาน (บี0) ให้นำเสนอ กบง. พิจารณาปรับลดสัดส่วนผสมของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เป็นร้อยละ 5 หรือร้อยละ 3 ตามลำดับ ต่อมา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 กบง. ได้มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ที่ปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ดังนี้ (1) กำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี10) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ทั้ง 3 ชนิด และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 ร้อยละ 10 และร้อยละ 20 โดยปริมาตร ตามลำดับ รวมทั้งขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร (2) มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ออกประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2565 ให้สอดคล้องกับมาตรการบรรเทาผลกระทบ (3) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) นำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารจัดการอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลแต่ละชนิดไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร และ (4) มอบหมายให้กระทรวงพลังงานประสานฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) นำเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบเพื่อทราบ และต่อมา เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้ง ในภูมิภาคยุโรป โดยมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือสำหรับลดภาระค่าใช้จ่ายราคาน้ำมันดีเซลโดยใช้กองทุนน้ำมันฯ และภาษีสรรพสามิต โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรในเดือนเมษายน 2565 และช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน 2565 หากราคาน้ำมันดีเซลในประเทศยังคงสูงเกินกว่าราคาที่กำหนด รัฐจะอุดหนุนราคาส่วนเพิ่มร้อยละ 50 ซึ่งจากการประมาณการราคาน้ำมันดีเซลตลาดเอเชียในช่วงเวลาดังกล่าวคาดว่า จะมีราคาเฉลี่ยประมาณ 115 ถึง 135 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยภาครัฐจะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการราคาน้ำมันดีเซลรวมประมาณ 33,140 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 กระทรวงพลังงานได้ปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนด โดย ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2565 ราคาน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ 33.94 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ฐานะสุทธิกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ติดลบ 86,028 ล้านบาท และสภาพคล่องสุทธิติดลบ 23,618 ล้านบาทต่อเดือน จากภาระค่าใช้จ่ายของกองทุนน้ำมันฯ ที่ต้องจ่ายเงินชดเชยราคาน้ำมันดังกล่าว
2. จากสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและประเทศยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานในตลาดโลกอยู่ในระดับสูงและมีความผันผวนอย่างรุนแรง โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ถึงปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับขึ้น 58 ครั้ง อยู่ในช่วง 0.02 ถึง 3.45 บาทต่อลิตร และปรับลง 48 ครั้ง อยู่ในช่วง 0.02 ถึง 2.56 บาทต่อลิตร รวมปรับขึ้น 9.54 บาทต่อลิตร เช่นเดียวกับราคาน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันดีเซล ตลาดสิงคโปร์ที่ปรับเพิ่มขึ้นรวม 14.42 และ 17.54 บาทต่อลิตร ตามลำดับ โดยเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในระดับสูงถึง 130 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวขึ้นไป แตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 ที่ประมาณ 180 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์ราคาพลังงานยังคงมีความผันผวน โดย ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2565 ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 118.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันดีเซลตลาดสิงคโปร์อยู่ที่ 160.37 และ 180.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งราคาที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวสะท้อนไปสู่ราคาขายปลีกน้ำมัน ในประเทศ โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ถึงปัจจุบัน มีการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 33 ครั้ง ครั้งละประมาณ 0.40 ถึง 1.00 บาทต่อลิตร และปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 12 ครั้ง ครั้งละประมาณ 0.10 ถึง 2.00 บาทต่อลิตร เนื่องจากค่าการตลาดเฉลี่ยของน้ำมันอยู่ต่ำกว่าค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ระดับ 2.00 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล 95E10 E20 91E10 ปรับขึ้น 13.40 ถึง 13.80 บาทต่อลิตร และราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว บี7 บี10 บี20 ปรับขึ้นรวม 5.50 บาทต่อลิตร
3. สถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ตลาดมาเลเซีย ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ 52.40 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคายังทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากภัยแล้งที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตถั่วเหลือง ในแอฟริกาใต้ ทำให้ภาคการผลิตหันมาใช้น้ำมันปาล์มเป็นทางเลือก ในขณะที่อุปทานน้ำมันปาล์มในตลาดยังคงตึงตัว เนื่องจากแม้ว่าอินโดนีเซียจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการส่งออกน้ำมันปาล์มได้แล้ว แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ส่งออกต้องมีใบอนุญาตการส่งออก ซึ่งจะได้รับเมื่อปฏิบัติตามเงื่อนไข Domestic Market Obligation (DMO) คือ ผู้ส่งออกต้องขายสินค้าบางส่วนภายในประเทศภายใต้ราคาที่กำหนด โดยใบอนุญาตนี้มีอายุ 6 เดือน และผู้ส่งออกต้องมีการรายงานสินค้าที่ส่งออกไปในทุกเดือน ด้านราคาไบโอดีเซล (บี100) ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ 58.09 บาทต่อลิตร ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 51.56 บาทต่อลิตร ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12.67 ส่งผลต่อต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ผสมไบโอดีเซลขั้นต่ำที่ร้อยละ 5 เพิ่มขึ้นประมาณ 0.33 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ ราคา CPO ตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ราคา CPO และน้ำมันปาล์มขวดเพื่อการบริโภคในประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวด 1 ลิตร ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ประมาณ 68 ถึง 70 บาทต่อขวด ซึ่งกรมการค้าภายใน (คน.) ได้ขอความร่วมมือผู้เกี่ยวข้องคงราคาขายปลีกน้ำมันปาล์มขวด และกระทรวงพลังงานได้มีมาตรการบรรเทาผลกระทบโดยปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซล ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว จากน้ำมันดีเซล บี7 บี10 และบี20 เป็นน้ำมันดีเซล บี5 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 จนถึงปัจจุบัน
4. หากกองทุนน้ำมันฯ ไม่มีการชดเชยราคา วันที่ 13 มิถุนายน 2565 ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจะอยู่ที่ประมาณ 43.89 บาทต่อลิตร และราคาไบโอดีเซลอยู่ที่ 58.09 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซลพื้นฐานซึ่งอยู่ที่ 38.77 บาทต่อลิตร ประมาณ 1.5 เท่า โดยตามแนวทางการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภาวะวิกฤติ ตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 กรณีราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วสูงกว่า 30 บาทต่อลิตร โดยไม่มีการชดเชยราคาจากกองทุนน้ำมันฯ และราคาไบโอดีเซลสูงกว่า 1.5 เท่า ของราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ให้นำเสนอ กบง. พิจารณาปรับลดสัดส่วนผสมของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเป็นร้อยละ 5 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาไบโอดีเซล จะไม่สูงกว่า 1.5 เท่า ของน้ำมันดีเซลพื้นฐาน แต่การปรับลดสัดส่วนผสมของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเป็นร้อยละ 5 จะช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้น และช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนได้ ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเสนอให้ขยายมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ที่ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงช่วยลดภาระกองทุนน้ำมันฯ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยคงสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ร้อยละ 5 (บี5) และขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันให้คงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 ดังนี้
1.1 กำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันให้เป็นไปตามสัดส่วนการผสมของกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ดังนี้ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และไม่สูงกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร
1.2 ขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็วไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารจัดการอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็วแต่ละชนิดไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร
3. มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ออกประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. 2565 ให้สอดคล้องกับมาตรการบรรเทาผลกระทบ ตามข้อ 1.1
เรื่องที่ 6 ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 และวันที่ 9 มีนาคม 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง ตามลำดับและมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว และให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU ของโครงการปากลายในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม โดยต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ การเจรจาร่าง PPA โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง ดำเนินการภายใต้กรอบ Tariff MOU ซึ่งกำหนดให้ใช้ PPA โครงการไซยะบุรี และโครงการน้ำเทิน 1 เป็นต้นแบบ เนื่องจากเป็น PPA โครงการโรงไฟฟ้าเอกชนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ประเภท Run-of-River และ Reservoir ฉบับล่าสุดที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน (คณะอนุกรรมการประสานฯ) กพช. และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งได้ผ่านการตรวจพิจารณาของ อส. แล้ว โดย กฟผ. ได้ลงนาม Tariff MOU กับผู้พัฒนาโครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 และวันที่ 27 เมษายน 2565 ตามลำดับ และได้เจรจาร่าง PPA แล้วเสร็จ โดยลงนามย่อกำกับ (Initial) ร่าง PPA เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 และวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ตามลำดับ ต่อมา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 คณะอนุกรรมการประสานฯ ได้มีมติเห็นชอบร่าง PPA โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง ทั้งนี้ โครงการหลวงพระบางให้รับข้อสังเกตประเด็นเกี่ยวกับมูลค่าการลงทุนในระบบส่งของ กฟผ. โดยขอให้ กฟผ. เจรจา PPA ให้มีมาตรการรองรับกรณีการก่อสร้างโครงการมีปัญหาอันเนื่องมาจากรายงาน การประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก (Heritage Impact Assessment: HIA) และมอบหมายให้ กฟผ. เสนอ อส. ตรวจพิจารณาร่าง PPA รวมทั้งให้เสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. พิจารณามอบหมายให้ กฟผ. ลงนามใน PPA ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจาก อส. แล้ว
2. รายละเอียดโครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง
2.1 โครงการปากลาย กลุ่มผู้พัฒนาโครงการ (ในร่าง PPA เรียกว่า Generator) คือ Pak Lay Power Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนใน สปป. ลาว มีผู้ถือหุ้น ได้แก่ Sinohydro (Hong Kong) Holding Limited สัดส่วนร้อยละ 60 และ Gulf Energy Development Public Company Limited สัดส่วนร้อยละ 40 โครงการปากลายตั้งอยู่บนลำน้ำโขง ในแขวงไซยะบุรี เป็นเขื่อนชนิด Run-of-River ประกอบด้วยทางระบายน้ำล้น และโรงไฟฟ้าประเภท River bed Powerhouse กำลังผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ (14 x 55 เมกะวัตต์) ผลิตพลังงานไฟฟ้าและขายให้ กฟผ. ณ จุดส่งมอบชายแดนไทย – สปป. ลาว เชื่อมโยงมายังสถานีไฟฟ้าแรงสูงขอนแก่น 4 จำนวน 763 เมกะวัตต์ คิดเป็นพลังงานไฟฟ้า 3,246 ล้านหน่วยต่อปี
2.2 โครงการหลวงพระบาง กลุ่มผู้พัฒนาโครงการ คือ Luang Prabang Power Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนใน สปป. ลาว มีผู้ถือหุ้น ได้แก่ CK Power Public Company Limited สัดส่วนร้อยละ 42 PT (Sole) Company Limited สัดส่วนร้อยละ 38 Petro Vietnam Power Corporation สัดส่วนร้อยละ 10 และ Ch. Karnchang Public Company Limited สัดส่วนร้อยละ 10 โครงการหลวงพระบาง ตั้งอยู่บนลำน้ำโขง ในแขวงหลวงพระบาง เป็นเขื่อนชนิด Run-of-River ประกอบด้วย ทางระบายน้ำล้น และโรงไฟฟ้าประเภท On-Ground Reinforce Concrete Structure กำลังผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ (7 x 200 เมกะวัตต์ และ 3 x 20 เมกะวัตต์) ผลิตพลังงานไฟฟ้าและขายให้ กฟผ. ณ จุดส่งมอบชายแดนไทย – สปป. ลาว เชื่อมโยงมายังสถานีไฟฟ้าน่าน จำนวน 1,400 เมกะวัตต์ คิดเป็นพลังงานไฟฟ้า 5,328 ล้านหน่วยต่อปี โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงจุดเชื่อมโยงไปยังสถานีไฟฟ้าท่าวังผา จังหวัดน่าน เมื่อโครงการปากแบงบรรลุ Scheduled Energization Date หรือวันที่เร็วกว่าตามที่ กฟผ. แจ้ง
3. สาระสำคัญของร่าง PPA โครงการปากลาย
3.1 อายุสัญญาโครงการ 29 ปี นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD)
3.2 กำหนดวันจัดหาเงินกู้ (Scheduled Financial Close Date: SFCD) คือ วันที่ช้ากว่าระหว่าง 12 เดือน นับจากวันลงนาม หรือวันที่ 1 มีนาคม 2567 หากจัดหาเงินกู้ล่าช้ากว่า SFCD ต้องจ่ายค่าปรับให้ กฟผ. ในอัตรา 2,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวันสำหรับ 180 วันแรก และ 3,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวันสำหรับวันที่ 181 - วันที่ 540 กำหนดวันจ่ายไฟฟ้า (Scheduled Energization Date: SED) คือ ภายในวันที่ ช้ากว่าระหว่าง 78 เดือน นับจากวันเริ่มงานก่อสร้าง (EGAT Construction Obligation Commencement Date: ECOCD) หรือวันที่ 1 กรกฎาคม 2573 และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตามสัญญา (Scheduled Commercial Operation Date: SCOD) คือ ภายในวันที่ช้ากว่าระหว่าง 96 เดือน นับจาก ECOCD หรือวันที่ 1 มกราคม 2575 โดย Generator มีหน้าที่ก่อสร้างสายส่งฝั่งลาว ทั้งนี้ หากงานก่อสร้างล่าช้าฝ่ายที่ทำให้เกิดความล่าช้าจะต้องจ่ายค่าปรับ (Liquidated Damages: LD) แต่หากเกิดจากเหตุสุดวิสัย (Force Majeure: FM) ฝ่ายที่อ้างเหตุจะต้องจ่ายค่า Force Majeure Offset Amount (FMOA) โดยจะได้รับคืนภายหลัง ซึ่งแตกต่างจาก LD ที่ไม่มีการจ่ายคืน
3.3 เงื่อนไขการเดินระบบ (Operating Arrangements) คุณภาพไฟฟ้าต้องเป็นไปตาม Contracted Operating Characteristics (COCs) การเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าต้องสามารถตอบสนองคำสั่งของ กฟผ. ได้แบบ Fully Dispatchable และ Generator ไม่มีสิทธิ์ขายพลังงานไฟฟ้าให้บุคคลที่สาม ยกเว้นตามที่ได้รับความเห็นชอบจาก กฟผ. โดยพลังงานไฟฟ้าที่ กฟผ. ซื้อ ได้แก่ (1) Primary Energy (PE) คือ พลังงานไฟฟ้า ที่ Generator แจ้งขายได้ไม่เกิน 16 ชั่วโมงต่อวัน ตั้งแต่วันจันทร์ ถึงวันเสาร์ (2) Secondary Energy (SE) คือ พลังงานไฟฟ้าที่ Generator แจ้งขายได้ไม่เกิน 5.35 ชั่วโมงต่อวัน ในวันจันทร์ ถึงวันเสาร์ และไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ในวันอาทิตย์ และ (3) Excess Energy (EE) เป็นพลังงานไฟฟ้าที่เกินจาก PE และ SE โดย กฟผ. จะรับประกันซื้อ PE และ SE แต่ไม่รับประกันซื้อ EE ทั้งนี้ Generator ต้องรับประกันการผลิต PE ส่งให้ กฟผ. ไม่ต่ำกว่าเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง ในแต่ละเดือน โดยไม่รวมวันอาทิตย์ และเมื่อรวมทั้งปีแล้วต้องไม่ต่ำกว่าเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง โดยไม่รวมวันอาทิตย์ โดยมีราคารับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ (1) Test Energy เท่ากับ 0.570 บาทต่อหน่วย ทั้งช่วงก่อนและหลัง COD (2) PE (แบ่งจ่ายเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ : บาท สัดส่วน 50 : 50) ก่อน COD เท่ากับ 3.5269 เซนต์สหรัฐฯ และ 1.1286 บาท หลัง COD เท่ากับ 4.7025 เซนต์สหรัฐฯ และ 1.5048 บาท (3) SE ก่อน COD เท่ากับ 1.4672 บาท หลัง COD เท่ากับ 1.9562 บาท และ (4) EE ก่อน COD เท่ากับ 0.8888 บาท หลัง COD เท่ากับ 1.1850 บาท
3.4 การจ่ายเงินค่าพลังงานไฟฟ้า มีดังนี้ (1) กฟผ. จะจ่ายเงินค่าพลังงานไฟฟ้าให้ Generator แต่ละปีไม่เกินจำนวนพลังงานไฟฟ้าตามเป้าหมายรายปี โดยกรณีที่ Generator มีความพร้อมผลิตไฟฟ้า เกินเป้าหมายรายปี พลังงานไฟฟ้าส่วนเกินเป้าหมายจะถูกเก็บไว้ในบัญชี และ กฟผ. จะจ่ายเงินคืนให้ Generator ในปีที่ Generator มีความพร้อมต่ำกว่าเป้าหมาย (2) กรณีที่ กฟผ. สั่งเดินเครื่องน้อยกว่าค่าพลังงานไฟฟ้า ที่รับประกันซื้อรายเดือน กฟผ. ต้องจ่ายเงินเท่ากับที่รับประกันซื้อ (3) กรณีที่มี Dispatch Shortfall กฟผ. สามารถสะสมไว้ในบัญชี และมีสิทธิ์ Make-up หลังจากที่ซื้อพลังงานไฟฟ้าในส่วนที่รับประกันซื้อจนครบแล้วตลอดอายุสัญญา และ (4) ในเดือนสุดท้ายของ Relevant Period ที่ 2 ที่ 4 และปีสุดท้ายของ PPA หากมี Supply Excess PE Account และ Supply Access SE Account เหลือ ให้นำมาคูณด้วยอัตราค่าไฟ Excess Energy เพื่อนำมารวมเข้าไปใน Excess Revenue Account โดยค่าใน Dispatch Shortfall Payment Account จะถูกปรับค่าโดย Excess Revenue Account และจ่ายคืนให้กับ กฟผ. และหากยังคงมีเงินคงเหลือใน Excess Revenue Account หลังการปรับค่าแล้ว ให้จ่ายเงินคืนให้ กฟผ. อีกร้อยละ 25 ของจำนวนเงิน ที่เหลือใน Excess Revenue Account
3.5 การวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Security) ประกอบด้วย (1) Development Security (DS) คือ หลักประกันในช่วงพัฒนาโครงการ แบ่งเป็น DS1 จำนวน 10.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วันลงนามสัญญา จนถึงวันก่อน FCD และ DS2 จำนวน 25.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วัน FCD จนถึงวันก่อน COD (2) Performance Security (PS) คือ หลักประกันในช่วงการซื้อขายไฟฟ้า แบ่งเป็น PS1 จำนวน 23.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วัน COD จนถึงวันก่อนครบ 15 ปี นับจาก COD และ PS2 จำนวน 7.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ครบ 15 ปี นับจาก COD จนสิ้นสุดอายุสัญญา และ (3) Additional Security คือ สัญญาจดจำนองทรัพย์สินของโครงการเพื่อเป็นหลักประกันให้ กฟผ. ในวงเงิน 8,210 ล้านบาท โดย กฟผ. เป็นผู้รับผลประโยชน์ลำดับสองรองจากผู้ให้เงินกู้แก่โครงการ ซึ่ง Generator ต้องนำส่งสัญญาจดจำนองทรัพย์สินของโครงการ (Mortgage Contract Over Secured Property) ให้ กฟผ. ก่อนหรือ ณ วัน FCD
3.6 เหตุสุดวิสัย (Force Majeure: FM) ฝ่ายที่อ้าง FM สามารถหยุดปฏิบัติตามพันธะใน PPA ได้นานเท่าที่ FM เกิดขึ้น และจะได้รับการขยายเวลาสำหรับการปฏิบัติตามพันธะนั้นเท่ากับจำนวนวันที่เกิด FM แต่ต้องจ่าย FMOA ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งในอัตราที่กำหนดใน PPA โดยจะได้รับเงินคืนในภายหลังด้วยวิธีหักกลบ ลบหนี้กับค่าไฟฟ้ารายเดือน กรณีเกิด Political Force Majeure ฝ่ายที่ถูกกระทบมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้และต้องจ่าย Termination Payment ให้อีกฝ่ายหนึ่งตามที่กำหนดไว้ใน PPA แต่อีกฝ่ายจะมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาได้หากผลกระทบไม่ได้รับการแก้ไขนานเกิน 15 เดือน กรณีเกิด Non-Political Force Majeure หากผลกระทบไม่ได้รับการแก้ไขนานเกิน 24 เดือน ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาโดยไม่มีฝ่ายใดต้องจ่าย Termination Payment ทั้งนี้ กรณี กฟผ. ไม่สามารถจัดหาที่ดินก่อสร้างระบบส่งได้ ให้ถือเป็น FM เนื่องจาก EGAT Access Rights โดย กฟผ. มีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ แต่ Generator จะบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อผลกระทบไม่ได้รับการแก้ไขนานเกิน 730 วัน ทั้งนี้ กฟผ. ต้องเข้าซื้อโครงการเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา
3.7 การบอกเลิกสัญญา หากเกิดขึ้นก่อน FCD กรณีเลิกสัญญาเนื่องจาก กฟผ. ผิดสัญญา หรือเกิด Thai Political Force Majeure กฟผ. จะคืนหลักทรัพย์ค้ำประกัน กรณีเนื่องจาก Generator ผิดสัญญา หรือเกิด Lao Political Force Majeure กฟผ. จะยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งนี้ หากเกิดขึ้น หลัง FCD กรณีเลิกสัญญาเนื่องจาก กฟผ. ผิดสัญญา หรือเกิด Thai Political Force Majeure กฟผ. ต้องเข้าซื้อโครงการ กรณีเนื่องจาก Generator ผิดสัญญา หรือเกิด Lao Political Force Majeure กฟผ. มีสิทธิ์เลือกที่จะให้ Generator จ่ายค่า Termination Payment หรือ กฟผ. เข้าซื้อโครงการ ด้านการยุติข้อพิพาทให้ยุติโดยการเจรจาด้วยความสุจริต (Good Faith Discussion) ในลำดับแรกหากไม่สามารถตกลงกันได้ภายในช่วงเวลา ที่กำหนดให้นำเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) และหากมีข้อพิพาทเกี่ยวกับ Billing, Invoice หรือ Statement ให้ยุติข้อพิพาทโดยการไกล่เกลี่ยโดยคณะกรรมการที่เป็นผู้แทนของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายก่อน หากไม่สำเร็จให้ยุติปัญหาโดยอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ PPA นี้ใช้บังคับและตีความตามกฎหมายไทย
4. สาระสำคัญของร่าง PPA โครงการหลวงพระบาง
4.1 อายุสัญญาโครงการ 35 ปี นับจากวัน COD
4.2 กำหนดวัน SFCD คือ วันที่ช้ากว่าระหว่าง 2 เดือน นับจากวันลงนาม หรือวันที่ 1 มกราคม 2566 หากจัดหาเงินกู้ล่าช้ากว่า SFCD จะต้องจ่ายค่าปรับให้ กฟผ. ในอัตรา 4,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวันกำหนดวันพัฒนาโครงการ (Collective Substation: Pre-SED) คือ วันที่ช้ากว่าระหว่าง 60 เดือน นับจากวันที่ กฟผ. แจ้งการเข้ามาของผู้พัฒนาโครงการที่เชื่อมเข้าที่สถานีไฟฟ้าร่วมเดียวกันรายอื่นหรือวันที่ 31 มีนาคม 2570กำหนดวัน SED คือ ภายในวันที่ช้ากว่าระหว่าง 69 เดือน นับจาก ECOCD หรือวันที่ 1 ตุลาคม 2571 และกำหนดวัน SCOD คือ ภายในวันที่ช้ากว่าระหว่าง 84 เดือน นับจากวัน ECOCD หรือวันที่ 1 มกราคม 2573 โดยมีเงื่อนไขการก่อสร้างสายส่งฝั่งลาว และค่าปรับกรณีงานก่อสร้างล่าช้า เช่นเดียวกับโครงการปากลาย
4.3 เงื่อนไขการเดินระบบ และพลังงานไฟฟ้าที่ กฟผ. ซื้อ มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับโครงการ ปากลาย โดยมีราคารับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ (1) Test Energy เท่ากับ 0.570 บาทต่อหน่วย ทั้งช่วงก่อนและหลัง COD (2) PE SE และ EE ก่อน COD เท่ากับ 1.4000 บาท (3) PE หลัง COD (แบ่งจ่ายเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ : บาท สัดส่วน 50 : 50) เท่ากับ 4.5961 เซนต์สหรัฐฯ และ 1.4708 บาท (4) SE หลัง COD เท่ากับ 1.9120 บาท และ (5) EE หลัง COD เท่ากับ 1.4000 บาท
4.4 การจ่ายเงินค่าพลังงานไฟฟ้ามีเงื่อนไขเช่นเดียวกับโครงการปากลาย โดยมีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน ประกอบด้วย (1) หลักประกันในช่วงพัฒนาโครงการ แบ่งเป็น DS1 จำนวน 16.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วันลงนามสัญญา จนถึงวันก่อน FCD และ DS2 จำนวน 42.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วัน FCD จนถึงวันก่อน COD (2) หลักประกันในช่วงการซื้อขายไฟฟ้า แบ่งเป็น PS1 จำนวน 37.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วัน COD จนถึงวันก่อนครบ 18 ปี นับจาก COD และ PS2 จำนวน 12.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ครบ 18 ปี นับจาก COD จนสิ้นสุดอายุสัญญา และ (3) สัญญาจดจำนองทรัพย์สินของโครงการฯ เพื่อเป็นหลักประกันให้ กฟผ. วงเงิน 11,950 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขการรับผลประโยชน์เช่นเดียวกับโครงการปากลาย
4.5 เหตุสุดวิสัย การบอกเลิกสัญญา การยุติข้อพิพาท และกฎหมายที่ใช้บังคับสัญญา มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับโครงการปากลาย
มติของที่ประชุม
1. รับทราบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามใน PPA โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการแก้ไข PPA ที่ไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่ระบุไว้ในร่าง PPA และเงื่อนไขสำคัญ รวมทั้งการปรับกำหนดเวลาของแผนงาน (Milestones) ที่เกี่ยวข้องกับกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในช่วงก่อนการลงนาม PPA ให้อยู่ในอำนาจ การพิจารณาของคณะกรรมการ กฟผ. ในการแก้ไข
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. การประชุมทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของรัฐบาลไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 (ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: 37th AMEM) เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน ราชอาณาจักรกัมพูชา ได้แสดงเจตจํานงในการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากประเทศไทยเนื่องจากปริมาณความต้องการพลังงานไฟฟ้าของราชอาณาจักรกัมพูชามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าของราชอาณาจักรกัมพูชา (Electricite du Cambodge: EDC) เร่งดำเนินการโครงการเชื่อมโยงสายส่งและขายไฟฟ้าให้ราชอาณาจักรกัมพูชาผ่านสายส่งขนาด 230 กิโลโวลต์ ที่ปริมาณซื้อขาย 300 ถึง 1,000 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ กฟผ. ได้ศึกษาและพัฒนาโครงการระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับการขายไฟฟ้า ให้ราชอาณาจักรกัมพูชา (โครงการฯ) และได้เจรจาขายไฟฟ้าให้กับ EDC ในเงื่อนไขเกี่ยวกับการซื้อขายเชิงพาณิชย์ที่สอดคล้องความต้องการของผู้ซื้อไฟฟ้า และความเหมาะสมในการลงทุนโครงการฯ โดย EDC ต้องการให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) และลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) ภายในปี 2565 โดยเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 กฟผ. และ EDC ได้เจรจาเงื่อนไขเกี่ยวกับการซื้อขายเชิงพาณิชย์ และ MOU เพื่อการขายไฟฟ้าให้ราชอาณาจักรกัมพูชาแล้วเสร็จ และเสนอให้คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (คณะอนุกรรมการประสานฯ) พิจารณา
2. ร่าง MOU เพื่อการขายไฟฟ้าให้ราชอาณาจักรกัมพูชา มีสาระสำคัญ ดังนี้ (1) อายุสัญญา 30 ปี ปีสัญญา พ.ศ. 2569 – 2598 (2) อัตราค่าไฟฟ้าปีสัญญาที่ 1 - 5 (พ.ศ. 2569 - 2573) เท่ากับ 8.20 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย (US Cents/kWh) ปีสัญญาที่ 6 - 30 (พ.ศ. 2574 - 2598) เท่ากับ 8.95 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย และอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (Levelized Tariff) ตลอดอายุสัญญา เท่ากับ 8.80 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย โดยกรณีราคาเชื้อเพลิงอ้างอิงเฉลี่ยต่อปี (Brent Crude oil Price) ปรับตัวเกินช่วง 45 - 95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จะมีการปรับปรุงราคาค่าไฟฟ้า -/+ 0.07 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย ต่อราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลง -/+ 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (3) เงื่อนไขเกี่ยวกับการซื้อขายเชิงพาณิชย์ ประกอบด้วย จุดส่งมอบพลังงานไฟฟ้า (Delivery Point) ณ ชายแดนไทย และกัมพูชา ความต้องการรับซื้อไฟฟ้า (Contracted Capacity: CC) ปริมาณ 300 - 800 เมกะวัตต์ รับประกันการซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำ (Committed Energy: CE) ที่ร้อยละ 55 ของ CC โดยมีบทปรับกรณีซื้อไฟฟ้าไม่ถึงปริมาณขั้นต่ำ (Shortfall Penalty) ในกรณีที่พลังงานไฟฟ้าจริง (Net Delivery Energy: NDE) ต่ำกว่าพลังงานไฟฟ้าที่รับประกันซื้อ ดังนี้ กรณี NDE มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 97 ของ CE แต่น้อยกว่าร้อยละ 100 ของ CE จะไม่มีบทปรับ กรณี NDE มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 90 ของ CE แต่น้อยกว่าร้อยละ 97 ของ CE จะปรับร้อยละ 5 ของอัตราขายไฟฟ้า (Tariff Rate) กรณี NDE มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 80 ของ CE แต่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของ CE จะปรับร้อยละ 10 ของอัตราขายไฟฟ้า และกรณีที่ NDE น้อยกว่าร้อยละ 80 ของ CE จะปรับร้อยละ 15 ของอัตราขายไฟฟ้า โดยมีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตามสัญญา (Scheduled Commercial Operation Date: SCOD) วันที่ 1 มกราคม 2569 และ (4) การบริหารจัดการความเสี่ยง ประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงรายได้จริงต่ำกว่าที่ประมาณการ ดังนี้ กำหนดเงื่อนไข Committed Energy เพื่อการันตี CE ร้อยละ 55 ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละปี โดยมีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด 300 เมกะวัตต์ ในปี 2569 เพิ่มขึ้นปีละ 100 เมกะวัตต์ จนกระทั่งถึง 800 เมกะวัตต์ ในปี 2574 และคงที่ไปตลอดอายุสัญญาจนถึงปี 2598 กำหนดเงื่อนไข Shortfall Penalty กรณีซื้อไฟฟ้ารายปีไม่ถึง CE จะต้องจ่ายบทปรับซึ่งครอบคลุมการลงทุนโครงการฯ และกำหนดเงื่อนไข Termination Payment กรณีบอกเลิกสัญญาก่อนถึงอายุสัญญา จะต้องจ่ายค่าบอกเลิกสัญญาซึ่งครอบคลุมการลงทุนโครงการฯ และ 2) การบริหารจัดการความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง ดังนี้ กรณีราคาเชื้อเพลิงอ้างอิงเฉลี่ยต่อปี (Brent Crude Oil Price) ปรับตัวเกินช่วง 45 - 95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (เทียบเท่ากับราคา LNG ที่ 227 - 421 บาทต่อล้านบีทียู) จะมีการปรับปรุงราคาค่าไฟฟ้า -/+ 0.07 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย ต่อราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลง -/+ 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งครอบคลุมต้นทุนผันแปร และกรณีที่ราคาเชื้อเพลิงสูงกว่าเพดานบนไปมากกว่าร้อยละ 10 EDC มีสิทธิที่จะลดหรือหยุดการซื้อขายปริมาณไฟฟ้าในปีนั้นๆ ได้ และหากสูงกว่าเพดานบนไปมากกว่าร้อยละ 30 กฟผ. มีสิทธิที่จะลดหรือหยุดการซื้อขายปริมาณไฟฟ้าในปีนั้นๆ ได้ โดยปริมาณไฟฟ้าดังกล่าวจะนำไปรวมกับปีถัดไป และขยายจากปีสุดท้ายของสัญญาได้อีก 1 ปี
3. การเปรียบเทียบอัตราค่าไฟฟ้า ประกอบด้วย (1) อัตราค่าไฟฟ้าระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่ประชาชนไทยจ่ายเฉลี่ยเท่ากับ 3.9839 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็น 11.6020 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 29 เมษายน 2565 เท่ากับ 34.3380 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ) และอัตราค่าไฟฟ้าที่ประชาชนกัมพูชาจ่ายเฉลี่ยเท่ากับ 14.85 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย ประกอบด้วย ค่าผลิตไฟฟ้าประมาณ 8.80 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย และค่าระบบส่งและระบบจำหน่ายประมาณ 6.05 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย ซึ่งมีราคาสูงกว่าที่ประชาชนไทยจ่าย และ (2) อัตราค่าไฟฟ้าที่ กฟผ. ขายให้การไฟฟ้า ส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ EDC โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่ กฟผ. ขายให้ กฟภ. และ กฟน. เป็นอัตราขายส่งที่ขึ้นกับระดับแรงดัน แบ่งเป็นช่วงเวลา Peak และ Off - Peak ซึ่งคิดเป็นค่าเฉลี่ย เท่ากับ 2.7419 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็น 7.9850 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 29 เมษายน 2565 เท่ากับ 34.3380 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ) ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าที่ กฟผ. เสนอขายให้กับ EDC คิดเป็น Levelized Price เท่ากับ 8.80 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย ตลอดอายุสัญญา 30 ปี ซึ่งมีราคาสูงกว่าที่ กฟผ. ขายให้กับ กฟภ. และ กฟน.
4. การขายไฟฟ้าให้กับราชอาณาจักรกัมพูชาก่อให้เกิดประโยชน์ในระดับภูมิภาคอาเซียนและทวิภาคี ดังนี้ (1) ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดต้นทุนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความมั่นคงทางพลังงานเพิ่มขึ้น (2) ประชาชนกัมพูชามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้ และ (3) สร้างความเข้มแข็งแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาค ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งของไทยและภูมิภาคขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังก่อเกิดประโยชน์กับประเทศไทย ดังนี้ (1) เป็นการนำกำลังผลิตสำรองของประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (2) ลดค่าไฟฟ้าของไทยได้รวม 5,242 ถึง 27,210 ล้านบาท ขึ้นกับราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลก และส่งผ่านไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าทุกรายผ่านกลไกค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) และ (3) ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในการเป็นศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาคอาเซียน ขยายระบบโครงข่ายไฟฟ้าและการสื่อสารระหว่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้นำเข้าพลังงานสุทธิสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานในภูมิภาคได้
5. เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 คณะอนุกรรมการประสานฯ ได้มีมติเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าขายให้ราชอาณาจักรกัมพูชา และเห็นชอบร่าง MOU เพื่อการขายไฟฟ้าให้ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมอบหมายให้ กฟผ. เสนอสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ตรวจพิจารณาร่าง MOU เพื่อการขายไฟฟ้าให้ราชอาณาจักรกัมพูชา และให้เสนอ กบง. และ กพช. พิจารณา รวมทั้งมอบหมายให้ กฟผ. ลงนามใน MOU เพื่อการขายไฟฟ้า ให้ราชอาณาจักรกัมพูชาที่ผ่านการตรวจพิจารณาจาก อส. อย่างไรก็ดี คณะอนุกรรมการประสานฯ ได้มีข้อสังเกตว่า แม้ว่าอัตราค่าไฟฟ้าขายให้กับราชอาณาจักรกัมพูชาตามที่ กฟผ. เสนอจะมีอัตราสูงกว่าอัตรา ค่าไฟฟ้าขายส่งที่ กฟผ. ขายให้ กฟภ. และ กฟน. ในระดับแรงดันเดียวกัน แต่อาจที่จะต่ำกว่าอัตราค่าไฟฟ้า ที่ขายส่งให้กับ กฟภ. และ กฟน. ในระดับแรงดันเดียวกันได้ หากโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 ที่ได้พิจารณาแนวทาง การขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้าน และได้มีมติเห็นชอบให้ กฟผ. และ กฟภ. สามารถพิจารณาราคาขายไฟฟ้าให้แก่ประเทศประเทศเพื่อนบ้านในแต่ละจุด เป็นอัตราระดับเดียวกันกับอัตราที่จำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ในประเทศตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ณ เวลานั้น รวมค่าชดเชยรายได้ต่อหน่วยจำหน่าย โดยให้มีความยืดหยุ่นที่จะสามารถเจรจา และกำหนดรูปแบบราคาจำหน่ายไฟฟ้าในลักษณะแตกต่างจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าของประเทศไทยได้ เช่น อาจกำหนดเป็นอัตราคงที่ (Flat Rate) เป็นต้น โดยให้คงยึดหลักการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและคำนึงถึงต้นทุนการปรับปรุงหรือการก่อสร้างระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าไปยังชายแดน
มติของที่ประชุม
รับทราบข้อเสนออัตราค่าไฟฟ้าขายให้ราชอาณาจักรกัมพูชา และร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อการขายไฟฟ้าให้ราชอาณาจักรกัมพูชา และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทบทวน ความเหมาะสมของการขายไฟฟ้าให้ราชอาณาจักรกัมพูชา ภายหลังจากมีความชัดเจนของแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติแล้ว
เรื่องที่ 8 การเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 - 11
สรุปสาระสำคัญ
1. สถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและประเทศยูเครนที่ยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกมีความผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูงจากมาตรการ คว่ำบาตรรัสเซียของหลายประเทศทั่วโลก โดยทำให้เกิดการตึงตัวของอุปทานก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ส่งผลให้ราคา Asian Spot LNG ปรับตัวสูงขึ้นและยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ในเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับสูงถึง 39.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ก่อนจะปรับลดลงมาทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 22 - 23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ในปัจจุบัน ทั้งนี้ จากประมาณการแนวโน้มราคา LNG ปี 2564 ถึงปี 2569 พบว่า ตลาด LNG ยังคงมีแนวโน้มตึงตัวจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) คลี่คลาย ในขณะที่อุปทานเพิ่มเติมจากโครงการผลิต LNG ยังคงจำกัด เนื่องจากมีการลงทุนการก่อสร้างโครงการผลิตใหม่ลดลง ทำให้คาดว่าราคา LNG ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงจนถึงปี 2568 หรือปี 2569 โดยราคา LNG ที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก และจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาระค่าครองชีพของประชาชน
2. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 และคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบการเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการของแนวทาง การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติปี 2565 เพื่อรองรับการบริหารจัดการจัดหาก๊าซธรรมชาติในช่วงเปลี่ยนผ่านการให้สัมปทานก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งการเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ดังกล่าว จะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่สูงในปัจจุบัน
3. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เสนอมาตรการเลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 - 11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบ ต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากวิกฤตการณ์ราคาพลังงาน และยังเป็นการกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
3.1 ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะเดินเครื่องอยู่ทั้งสิ้น 7 เครื่อง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 - 13 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 4 - 7 (เครื่องที่ 14) กำลังผลิตตามสัญญารวม 2,220 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 กำลังผลิตตามสัญญา 270 เมกะวัตต์ มีกำหนดปลดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 กพช. ให้เลื่อนปลดเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 9 - 11 กำลังผลิตตามสัญญารวม 810 เมกะวัตต์ มีกำหนดปลดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 12 - 13 กำลังผลิตตามสัญญารวม 540 เมกะวัตต์ มีกำหนดปลดวันที่ 31 ธันวาคม 2568 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 4 - 7 (เครื่องที่ 14) กำลังผลิตตามสัญญา 600 เมกะวัตต์ มีกำหนดปลดในเดือนเมษายน 2592 นอกจากนี้ ในแผน PDP2018 Rev.1 ได้กำหนดให้มีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 - 9 (เครื่องที่ 15) กำลังผลิตตามสัญญา 600 เมกะวัตต์ เข้าระบบในวันที่ 1 มกราคม 2569
3.2 ด้านเทคนิค โรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 - 11 มีสภาพความพร้อมรองรับการเลื่อนแผนปลดโรงไฟฟ้าออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 โดย กฟผ. มีการบำรุงรักษาและตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ด้านระบบส่งไฟฟ้า มีระบบที่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง เชื่อถือได้ มีคุณภาพเพียงพอตามเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งการเลื่อนแผนปลดโรงไฟฟ้าไม่ส่งผลกระทบต่อแผนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ ด้านทรัพยากรน้ำในการผลิตไฟฟ้ามีความเพียงพอ โดยใช้น้ำจาก อ่างเก็บน้ำแม่จาง อ่างเก็บน้ำแม่ขาม และเพิ่มเติมจากเขื่อนกิ่วลม ตามแผนการใช้น้ำร่วมกับกรมชลประทาน โดยมีการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ไว้รองรับ
3.3 ด้านเชื้อเพลิง กฟผ. มีความสามารถในการผลิตลิกไนต์เพิ่มขึ้นอีก 12.5 ล้านตัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 – 11 ทั้งนี้ การเลื่อนแผนปลดโรงไฟฟ้าดังกล่าว จะช่วยลดการนำเข้า Spot LNG และต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าสุทธิประมาณ 37,900 ล้านบาท ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการจ่ายก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณ (G1/61) ที่ลดลงในช่วง ปี 2565 ถึงปี 2567 และช่วยลดผลกระทบต่อภาระค่า Ft ของภาคประชาชนลงได้
3.4 ด้านสิ่งแวดล้อม จากการเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 – 11 ส่งผลให้จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งไม่กระทบต่อเป้าหมาย การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ภายในปี 2573 โดย กฟผ. จะศึกษาศักยภาพการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และเร่งกำหนดการจ่ายไฟฟ้าให้เร็วขึ้นเพื่อชดเชยปริมาณ การปล่อย CO2 ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การเลื่อนปลดเครื่องโรงไฟฟ้าดังกล่าวมิได้เพิ่มกำลังการผลิตเกินกว่าข้อกำหนดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และยังสอดคล้องกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะในปัจจุบัน รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 – 9
4. เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวและมีความเห็นว่า แผนการเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 - 11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ตามที่ กฟผ. เสนอ สามารถเสริมสร้างเสถียรภาพความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าในภาวะวิกฤตการณ์ราคาพลังงาน และช่วยลดผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากการนำเข้า Spot LNG อย่างไรก็ดี การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงลิกไนต์จะส่งผลต่อปริมาณการปล่อย CO2 กฟผ. จึงควรจัดทำมาตรการรองรับผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งต้องควบคุมการผลิตไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ตามมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับฝ่ายเลขานุการฯ ที่มีความเห็นว่า ควรให้ความเห็นชอบแผนการเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะตามที่ กฟผ. เสนอ เนื่องจากเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากสถานการณ์ราคา LNG สูง ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้า และบรรเทาผลกระทบจากการผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณที่ลดลงในช่วงเปลี่ยนผ่านการให้สัมปทาน โดย กฟผ. ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดในรายงาน EHIA ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะในปัจจุบัน และโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 - 9 รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด รวมทั้งควรเร่งพิจารณาแนวทางหรือมาตรการชดเชย การเพิ่มขึ้นของ CO2 โดยเฉพาะศึกษาการพัฒนาโครงการด้านพลังงานสะอาดอื่นๆ และเทคโนโลยีดักจับ CO2 (Carbon Capture) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อย CO2 ในระยะยาวของประเทศต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการเลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 – 11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
2. มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาต่อไป
เรื่องที่ 9 การบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเร่งรัดดำเนินการป้องกัน ควบคุม แก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีข้างต้นใช้เป็นแนวทางในการบริหารราชการให้เกิดประสิทธิภาพ ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้รับทราบมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคโควิด – 19 มาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม และมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจ ในช่วงปี 2563 ของกระทรวงพลังงาน โดยรวมถึงการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าโดยการตรึงอัตราค่าไฟฟ้า ตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ต่อมา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบ มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ซึ่งมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตสำหรับมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานไฟฟ้าสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รับไปดำเนินการในทางปฏิบัติโดยให้คำนึงถึงผลกระทบต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและฐานะทางการเงินของการไฟฟ้าด้วย และต่อมาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยให้กระทรวงพลังงาน สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 กพช. ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณและการดำเนินการเกี่ยวกับราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของ กกพ. (Energy Pool Price) โดยมอบหมายให้ กกพ. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะที่เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว เป็นหน่วยงานกลาง (Clearing House) ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ การคำนวณและการดำเนินการเกี่ยวกับ Energy Pool Price ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการบริหารต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ในการผลิตไฟฟ้า
2. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ตั้งแต่ปี 2563 และปัญหาความขัดแย้ง ในภูมิภาคยุโรปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของประชาชน และราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงพลังงานและหน่วยงานภายใต้การกำกับจึงบริหารจัดการราคาพลังงานและกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและผู้ประกอบการตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft โดย กกพ. ได้มอบหมายให้ กฟผ. ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน และเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจช่วยรับภาระค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงซึ่งสูงขึ้นตั้งแต่งวดเดือนกันยายน 2564 ถึงเดือนธันวาคม 2564 จนถึงงวดเดือนพฤษภาคม 2565 ถึงเดือนสิงหาคม 2565 รวมเป็นเงินประมาณ 87,849 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มีนาคม 2565) โดย กกพ. ได้เห็นชอบค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft ขายปลีก และจะพิจารณาส่งผ่านค่าใช้จ่ายดังกล่าวในการพิจารณาค่า Ft ในระยะต่อไป ดังนี้ (1) เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เห็นชอบค่า Ft ขายปลีกเดือนกันยายน 2564 ถึงเดือนธันวาคม 2564 ติดลบ 15.32 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ กฟผ. เกิดภาระค่า Ft สะสม 38,943 ล้านบาท (2) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เห็นชอบค่า Ft ขายปลีกเดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนเมษายน 2565 เท่ากับ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย โดยทยอยปรับค่า Ft เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ส่งผลให้ กฟผ. เกิดภาระค่า Ft สะสม 22,244 ล้านบาท และ (3) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 เห็นชอบค่า Ft ขายปลีกเดือนพฤษภาคม 2565 ถึงเดือนสิงหาคม 2565 เท่ากับ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย โดยทยอยปรับค่า Ft เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ส่งผลให้ กฟผ. เกิดภาระค่า Ft สะสม 26,662 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดเดือนเมษายน 2565 พบว่าภาระค่า Ft งวดเดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนเมษายน 2565 ที่เกิดขึ้นจริงเป็นเงิน 63,016 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่ประมาณการไว้ ทำให้ กฟผ. มีภาระค่า Ft สะสมรวมเป็นเงิน 128,621 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 กกพ. ได้มีมติให้นำเงินบริหารค่า Ft 4,129 ล้านบาท เงินเรียกคืนเพื่อให้การไฟฟ้ามีฐานะการเงินตามเกณฑ์ที่กำหนดปี 2563 ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 1,000 ล้านบาท และเงินบริหารจัดการภาระ Take or Pay ของแหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา รวมดอกเบี้ย 13,601 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 18,730 ล้านบาท มาปรับลดค่า Ft ในงวดเดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนเมษายน 2565 ทำให้ กฟผ. มีภาระค่า Ft สะสม (ค่าจริงเบื้องต้น) งวดเดือนพฤษภาคม 2565 ถึงเดือนสิงหาคม 2565 รวมทั้งสิ้น 109,891 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2565)
3. การบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft ที่มอบหมายให้ กฟผ. ช่วยรับภาระค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นแทนประชาชนตั้งแต่งวดเดือนกันยายน 2564 ถึงเดือนธันวาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเงินประมาณ 87,849 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มีนาคม 2565) ส่งผลให้ กฟผ. ขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการ กฟผ. ได้มีมติเห็นชอบการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่า Ft ตามนโยบายของรัฐประจำปีงบประมาณ 2566 (วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566) ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท ประกอบด้วย สัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) กู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำ Trust Receipt (T/R) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม (Call Loan) หรือรูปแบบอื่นที่กระทรวงการคลังเห็นชอบ โดยขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ กฟผ. โดยเห็นควรให้ กฟผ. ปรับโครงสร้างหนี้ได้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น กรณีที่ กฟผ. เห็นว่าจะมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับชำระหนี้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมตามสภาพคล่องของ กฟผ. ตามสภาวะตลาดการเงินในขณะนั้นและประโยชน์ในการบริหารจัดการภาระหนี้ และให้นำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ กฟผ. ไปพิจารณาดำเนินการก่อนนำเสนอกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังเพื่อเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 กฟผ. ได้มีหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้เงินอุดหนุน กฟผ. สำหรับลดผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน และเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 กฟผ. ได้มีหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน เสนอพิจารณาการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่า Ft ตามนโยบายของรัฐประจำปีงบประมาณ 2566 ในวงเงิน 85,000 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการ กฟผ. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ได้มีมติเพื่อเสริมสภาพคล่องของ กฟผ. จากการรับภาระค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นแทนประชาชน และเพื่อให้ กฟผ. สามารถดำเนินภารกิจรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศต่อไป
4. กกพ. ได้มีความเห็น ดังนี้ (1) ราคาเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากที่ใช้ประมาณการค่า Ft ในช่วงเดือนกันยายน 2564 ถึงเดือนเมษายน 2565 มาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันและ LNG ที่จำเป็นต้องนำเข้าทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลงในช่วงปลายสัมปทาน ทำให้ กฟผ. มีภาระส่วนต่างของค่าใช้จ่ายในการผลิตและซื้อไฟฟ้าจริงที่สูงกว่าค่า Ft เรียกเก็บ (AF) จากการดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงพลังงานที่พิจารณาให้ กฟผ. ชะลอการนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาเรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้ไว้ก่อน ประมาณ 83,229 ล้านบาท จากค่า AF งวดเดือนกันยายน 2564 ถึงเดือนธันวาคม 2564 จำนวน 38,943 ล้านบาท และค่า AF งวดเดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนเมษายน 2565 จำนวน 44,286 ล้านบาท (2) ปัจจัยข้างต้นส่งผลให้ กฟผ. มีสภาพคล่องทางการเงินไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานปกติ และการดำเนินงานตามนโยบายของภาครัฐในการช่วยบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าจากการปรับค่า Ft งวดเดือนพฤษภาคม 2565 ถึงเดือนสิงหาคม 2565 ได้เพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนขยายโครงข่ายไฟฟ้าและโครงการตามแผนงานที่ได้รับความเห็นชอบไว้ได้ (3) กฟผ. จึงควรได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อรักษาขีดความสามารถในการดูแลความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ และทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักที่ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานแก่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในสถานการณ์ราคาพลังงานตลาดโลกที่มีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับฝ่ายเลขานุการฯ ที่มีความเห็นว่า กฟผ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน จากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เป็นวงกว้างตั้งแต่ปี 2563 และสถานการณ์ราคาพลังงานจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 จนส่งผลให้ กฟผ. ขาดสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับราคาค่าเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จึงเห็นสมควรนำเสนอการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่า Ft ตามนโยบายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2566 ของ กฟผ. กรอบวงเงิน 85,000 ล้านบาท ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามขั้นตอน โดยขอให้ กฟผ. ดำเนินการใช้จ่ายอย่างรอบคอบภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ช่วงปี 2563 – ปัจจุบัน ซึ่งมอบหมายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ช่วยรับภาระค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่สูงขึ้นตั้งแต่งวดเดือนกันยายน 2564 – เดือนธันวาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน มาเรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้ไว้ก่อน เพื่อช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 และวันที่ 29 มีนาคม 2565
2. มอบหมายให้กระทรวงพลังงานดำเนินการเสนอการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่า Ft ตามนโยบายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2566 ของ กฟผ. ในวงเงิน 85,000 ล้านบาท โดยขอให้กระทรวงการคลัง ค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ กฟผ. รวมทั้งให้ กฟผ. ปรับโครงสร้างหนี้ได้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น กรณีที่ กฟผ. เห็นว่าจะมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับชำระหนี้ ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องของ กฟผ. จากการรับภาระค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นแทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า และเพื่อให้สามารถดำเนินภารกิจรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศต่อไป
3. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาต่อไป
เรื่องที่ 10 แนวทางการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้พิจารณา อัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2558 ถึงปี 2562 และได้มีมติเห็นชอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558 ถึงปี 2562 ในปริมาณ 50 เมกะวัตต์ โดยให้นับเป็นส่วนเพิ่มจากเป้าหมายตามกรอบแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) โดยปัจจุบันมีโครงการที่สัญญาผูกพันกับภาครัฐแล้วจำนวน 7 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 40.43 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขาย 37.43 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้ว (COD) จำนวน 6 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 34.42 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขาย 28.28 เมกะวัตต์ และโครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วแต่ยังไม่ได้ขายไฟฟ้า จำนวน 1 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 3.00 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขาย 2.50 เมกะวัตต์ ต่อมา เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev. 1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) โดยได้ปรับกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ของโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จากเดิมปี 2567 ถึงปี 2568 เป็นปี 2569 ถึงปี 2570 โดยแบ่งปริมาณการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ในปี 2569 จำนวน 100 เมกะวัตต์ และปี 2570 จำนวน 100 เมกะวัตต์ และต่อมาเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 กพช. ได้รับทราบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ ดังกล่าว
2. เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนาม ในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า (Waste-to-Energy) และการส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า รวมทั้งส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม ภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ต่อมา เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า และการส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม (คณะกรรมการร่วมฯ) และต่อมา เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 คณะกรรมการร่วมฯ ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า (คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ) โดยประธานกรรมการร่วมฯ ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ได้มีมติเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษ จากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ตามที่ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมแจ้งว่าได้สอบถามข้อมูลจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมที่ดำเนินการอยู่ พบว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 6 บาทต่อหน่วย ซึ่งใกล้เคียงกับอัตรารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว และเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ได้รับทราบศักยภาพปริมาณขยะอุตสาหกรรมที่จะใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้าตามที่ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมเสนอ และให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาต่อไป
3. หลักการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 ตามมติคณะกรรมการร่วมฯ มีดังนี้ (1) รับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ขนาดการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ การส่งเสริมเป็นลักษณะ Non-Firm โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT (2) ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ามีเป้าหมายและกำหนดวัน SCOD ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) (3) อายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้า 20 ปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียน ในระบบเศรษฐกิจ เกิดการลงทุนใหม่ รองรับความทันสมัยจากการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและเครื่องจักร ซึ่งคิดระยะเวลาที่ภาครัฐให้การสนับสนุนครอบคลุม Loan Repayment แล้ว (4) หลักเกณฑ์การคัดเลือก โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมจะพิจารณาถึงความพร้อมด้านคุณสมบัติและเทคนิคร่วมกัน เพื่อให้ได้โครงการที่มีความเป็นไปได้สูงในการพัฒนาโครงการให้สำเร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามแผนที่กำหนด และตอบสนองนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยมีกรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกโครงการ ดังนี้ ด้านคุณสมบัติ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ไม่เป็นหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำและวางหลักค้ำประกันการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้ามูลค่าตามที่กำหนดซึ่งจะพิจารณากำหนดให้เหมาะสมกับมูลค่าโครงการ โครงการที่ยื่นข้อเสนอต้องเป็นโครงการใหม่และไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนในรูปแบบอื่นแล้ว หรือมีสัญญาผูกพันกับภาครัฐ หรือเป็นผู้ยื่นข้อเสนอ ที่หน่วยงานภาครัฐพิจารณาแล้วว่ามีปัญหาจากการรับซื้อไฟฟ้ารอบที่ผ่านๆ มา และยังไม่สามารถพัฒนาโครงการจนสำเร็จได้ ณ วันที่ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้ารอบนี้ เป็นต้น โดยผู้ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติขึ้นต้นเท่านั้น ที่ได้รับการพิจารณาด้านเทคนิคต่อไป และด้านเทคนิค จะมีการตรวจสอบและให้คะแนนความพร้อมในด้านต่างๆ อาทิ ความพร้อมด้านพื้นที่ ด้านเทคโนโลยี ด้านเชื้อเพลิง ด้านการเงิน และความเหมาะสมของแผนการดำเนินงาน เป็นต้น ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีคะแนนในแต่ละด้าน และคะแนนรวมไม่น้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ ที่กำหนดจึงจะได้รับการพิจารณาจัดเรียงคะแนนด้านเทคนิคเพื่อคัดเลือกต่อไป โดยผู้ที่มีคะแนนสูงสุด (มีความพร้อมมากที่สุด) จะได้รับการพิจารณาเป็นอันดับต้น จนกว่าจะครบเป้าหมายการรับซื้อ ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าในรายละเอียด ตามความเหมาะสม เพื่อให้เป็นไปตามกรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกและมีผลสัมฤทธิ์สอดคล้องกับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าตามแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) และ (5) เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย 1) ต้องใช้ขยะอุตสาหกรรมเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น โดยสามารถใช้ขยะอุตสาหกรรมที่เป็นของเสีย ทั้งอันตรายและไม่อันตราย ในส่วนของเชื้อเพลิงเสริมให้ใช้น้ำมันหรือชีวมวลได้ในช่วงการเริ่มต้นเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเท่านั้น 2) สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจะต้องอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมเท่านั้น 3) กำหนดกรรมสิทธิ์ในหน่วย Renewable Energy Certificate (REC) และ/หรือ Carbon Credit ที่เกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมเป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐ โดยให้มีการระบุการครอบครองกรรมสิทธิ์ของภาครัฐไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 4) กรณีที่ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามกำหนด ให้สามารถกำหนดเงื่อนไขหักหลักประกันตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ และ 5) ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมรายภาคแบ่งตามศักยภาพเชื้อเพลิงได้ โดยกำหนดกรอบการรับซื้อสูงสุดในส่วนของ 100 เมกะวัตต์แรก สำหรับภาคเหนือ 5 เมกะวัตต์ ภาคกลาง 40 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออก 60 เมกะวัตต์ ภาคตะวันตก 10 เมกะวัตต์ และภาคใต้ 10 เมกะวัตต์
4. อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมสำหรับปี 2565 ถึงปี 2573 คณะกรรมการร่วมฯ เห็นควรให้รับซื้อไฟฟ้าโดยใช้อัตราเดียวกับอัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 เมกะวัตต์ โดยมีอัตรา FiTF เท่ากับ 3.39 บาทต่อหน่วย FiTV,2560 2.69 บาทต่อหน่วย และ FiT 6.08 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี อัตรา FiT Premium 8 ปีแรก 0.70 บาทต่อหน่วย และ FiT Premium สำหรับโครงการ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดอายุโครงการ 0.50 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ประเมินผลกระทบค่าไฟฟ้าของปริมาณที่จะรับซื้อ 100 เมกะวัตต์ เปรียบเทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งรวมค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับ Ft ขายส่ง พบว่าจะเกิดผลกระทบค่าไฟฟ้า 1.09 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ (Policy expense) เฉลี่ย 2,600 ล้านบาทต่อปี
5. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงเหตุผลความจำเป็น และประโยชน์ที่จะได้รับจากการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมด้วยการใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ปริมาณ 200 เมกะวัตต์ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ (1) ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าปริมาณกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในปี 2563 มีกากอุตสาหกรรมอันตราย 1.29 ล้านตัน และกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย 16.63 ล้านตัน ซึ่งถูกนำไปกำจัดโดยโรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรม ที่ได้รับอนุญาต 1.27 ล้านตัน และ 6.44 ล้านตัน ตามลำดับ โดยกากอุตสาหกรรมบางส่วนอาจมีการซื้อขายภายในระหว่างโรงงานอุตสาหกรรม และส่วนที่เหลือไม่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมถึงมีการลักลอบทิ้งเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการกำจัดถูกกว่าค่ากำจัดกากอุตสาหกรรมไม่อันตรายและกากอุตสาหกรรมอันตราย จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงจากกลิ่นและสารโลหะหนักปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในดิน น้ำผิวดิน และแหล่งน้ำใต้ดิน (2) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการบริหารจัดการ ขยะอุตสาหกรรมด้วยการนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ 1) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกระบวนการจัดการกากอุตสาหกรรมที่เหลือทิ้งจากโรงงานต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี ป้องกันการลักลอบทิ้ง และสนับสนุนทางเลือกในการจัดการขยะตามหลักวิชาการแทนการฝังกลบซึ่งมีข้อจำกัดด้านพื้นที่และปัญหาการไม่ยอมรับของประชาชน 2) ลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับหลุมฝังกลบ ได้แก่ การลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนเพื่อสิ่งแวดล้อม การปิดโครงการ และการฟื้นฟูภายหลังปิดโครงการเป็นมูลค่า 1,400 ล้านบาท คิดที่อายุการทำงานของหลุมฝังกลบ 20 ปี และปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรมที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าปริมาณ 2 ล้านตันต่อปี และ 3) ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตพลังงานทดแทนเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลจากกำลังการผลิตไฟฟ้า 200 เมกะวัตต์ ได้ประมาณ 720,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เท่ากับการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของพื้นที่ป่าประมาณ 1,095,472 ไร่ ในระยะเวลา 20 ปี คิดเป็นมูลค่าจากการปลูกป่าและดูแลรักษาป่าประมาณ 15,993 ล้านบาท และ (3) เห็นควรเร่งผลักดันการดำเนินงานและเพิ่มสัดส่วนของการพัฒนาพลังงานจากขยะอุตสาหกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions) ที่จะถูกยกระดับเป็นร้อยละ 40 ในปี ค.ศ. 2030 อย่างไรก็ตาม จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า การกำจัดมลพิษที่มีประสิทธิภาพ และการสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนโดยรอบด้วย
6. กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงเหตุผลความจำเป็น และประโยชน์ที่จะได้รับจากการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมด้วยการนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าปริมาณ 200 เมกะวัตต์ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ (1) ปัจจุบันขยะอุตสาหกรรมถูกกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ และเผาทำลายในเตาเผา ซึ่งมีข้อจำกัดด้านการยอมรับจากชุมชน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง (2) ปริมาณขยะอุตสาหกรรม จะเพิ่มมากขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้เกิดปัญหาการกำจัดไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม (3) ปัจจุบันมีขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 9 ล้านตันต่อปี ก่อให้เกิดผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนี้ 1) ลดพื้นที่ฝังกลบ ลดการเผาทำลายในเตาเผาซึ่งมีค่าดำเนินการประมาณ 33,200 ล้านบาท และลดค่าดำเนินการโดยภาคเอกชนในการสร้างหลุมฝังกลบมูลค่า 30,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินกว่า 63,200 ล้านบาท 2) โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมสามารถผลิตไฟฟ้าทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้าจากต่างประเทศ 3) เพิ่มการจ้างงานประมาณ 110 ตำแหน่งต่อโรงไฟฟ้า 1 แห่ง ซึ่งจะมีเงินกระจายลงสู่ชุมชนกว่า 9,900 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการ 4) ลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่งขยะอุตสาหกรรมไปยังแหล่งกำจัด มูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท และ 5) เกิดการหมุนเวียนทรัพยากร ตามนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Circular Green Economy: BCG) ของรัฐบาล
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม และอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev. 1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ในปริมาณ 100 เมกะวัตต์ สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2569 ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานพิจารณา
2. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev. 1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ตามข้อ 1
3. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาต่อไป
กพช. ครั้งที่ 158 วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 3/2565 (ครั้งที่ 158)
วันพศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เวลา 13.30 น.
2. แผนสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 และมาตรการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ
4. อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1
5. อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 - 2573
6. ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการปากแบง
7. ร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) โครงการ เซกอง 4A และ 4B
9. การขอขยายกรอบการลงทุนของ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (พระราชบัญญัติฯ) ซึ่งตามความในมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้ กกพ. จัดทำรายงานประจำปีเสนอรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาทุกสิ้นปีงบประมาณ และเปิดเผยต่อสาธารณชน
2. สำนักงาน กกพ. ได้จัดทำรายงานประจำปีงบประมาณ 2563 สรุปผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้ดังนี้ (1) ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 โดยใช้วงเงินในการบริหารจัดการเพื่อบรรเทาผลกระทบค่าไฟฟ้า วงเงิน 26,702 ล้านบาท (2) กำกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เป็นไปตามแผน PDP 2018 และนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (3) ปรับปรุงระบบการอนุญาตแบบครบวงจร (One Stop Service : OSS) (4) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับอัตราค่าบริการพลังงานให้มีความโปร่งใส และได้มาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น (5) ปรับปรุงข้อบังคับเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม และกำกับผู้รับใบอนุญาตให้พัฒนากฎกติกาเกี่ยวกับ Third Party Access (TPA Codes) เพิ่มขึ้น (6) พัฒนางานกำกับกิจการพลังงานรองรับเทคโนโลยีด้านพลังงานและรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วผ่านโครงการ Energy Regulatory Commission Sandbox (ERC Sandbox) (7) คุ้มครองผู้ใช้พลังงาน โดย ออกประกาศหลักเกณฑ์ การคืนหลักประกันการใช้ไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก พ.ศ. 2563 (8) ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97 (3) และ (9) พัฒนาระบบการบริหารงานให้มีธรรมาภิบาลตามเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment: ITA) ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และพัฒนาระบบงานเข้าสู่มาตรฐาน ISO 9001: 2015
3. ในปีงบประมาณ 2563 กกพ. และสำนักงาน กกพ. ได้จัดเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุน และจัดสรรตามวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติฯ กำหนด ดังนี้ (1) เพื่อการชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งได้ให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส หรือเพื่อให้มีการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง หรือเพื่อส่งเสริมนโยบายในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ได้มีการชดเชยและอุดหนุนรวมเป็นเงิน 16,917 ล้านบาท (2) เพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า กกพ. ได้อนุมัติรวมจำนวน 8,266 โครงการ งบประมาณรวม 3,224.87 ล้านบาท (3) เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย รวม 13 โครงการ วงเงินงบประมาณ 137.67 ล้านบาท และ (4) เพื่อส่งเสริมสังคม และประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า กกพ. ได้อนุมัติจัดสรรเงินกองทุน 97(5) แล้ว 26 โครงการ งบประมาณ 476.47 ล้านบาท
4. งบการเงินของสำนักงาน กกพ. และกองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 และรายงานของผู้สอบบัญชี ทั้งนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบงบการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 เห็นว่าถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด โดย สำนักงาน กกพ. และกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีรายได้รวมทั้งสิ้น 20,559,523,262.08 บาท และมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานรวม 20,630,012,474.92 บาท โดยงบการเงินเฉพาะสำนักงาน กกพ. มีรายได้จากการดำเนินงาน 934,558,407.59 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 610,618,551.99 บาท รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ 323,939,855.60 บาท และเมื่อกันเงินเพื่อจัดสรรเป็นค่าก่อสร้างสำนักงาน กกพ. เป็นการถาวร และหักภาระต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น เงินกันเหลื่อมปี เงินประกันสัญญาเช่า และค่าซื้อครุภัณฑ์ต่างๆ แล้ว มีรายได้แผ่นดินนำส่งคลัง 183,386,407.10 บาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 แผนสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 และมาตรการส่งเสริม จากหน่วยงานภาครัฐ
สรุปสาระสำคัญ
1. การพัฒนาปิโตรเคมีระยะที่ 4 เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและสร้างฐานทางเศรษฐกิจใหม่ (New S-Curve) เป็น Big Rock ภายใต้การปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ (1) เป้าหมายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรปิโตรเลียมในการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมของไทย และสร้างรายได้ให้กับประชาชน พร้อมกับรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต (New S-curve) (2) ขั้นตอนและวิธีการดำเนินการปฏิรูป ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 ภายในปี 2564 และขั้นตอนที่ 2 พัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกโดยมีโครงการที่ได้รับการอนุมัติเพื่อการลงทุนระยะแรกภายในปี 2565 และ (3) กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้ร่วมกับสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยดำเนินการในขั้นตอนที่ 1 เรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 โดยได้ศึกษากรอบแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 4 ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกและพื้นที่ ที่มีศักยภาพเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต และได้รายงานผลการศึกษาให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ครั้งที่ 10/2564 ทราบเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานจัดทำแผนสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 4
2. การจัดทำแผนสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานได้มีการเก็บข้อมูล และประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำร่างแผนสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ (1) โครงการที่คาดว่าจะมีการลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 2565 -2569) พบว่า มีแผนที่จะลงทุนรวมเพื่อจัดทำแผนการลงทุนรวม 25 โครงการ โดยมีวงเงินการลงทุนประมาณ 400,000 ล้านบาท และมีการจ้างงาน ไม่น้อยว่า 2,230 อัตรา หรืออาจถึง 8,000 อัตราในกรณีที่นับรวมอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ทั้งนี้ พื้นที่การลงทุนของทั้ง 25 โครงการ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย นิคมอุตสาหกรรมผาแดง และนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (2) มาตรการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ 2.1) ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การทบทวน/จัดสรร Emission Quota การพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้รวดเร็วขึ้น และการส่งเสริมการลดการระบายก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์โดยการใช้เทคโนโลยีดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS) 2.2) ด้านการจัดหาที่ดินและค่าเช่าที่ดิน นิคมอุตสาหกรรม ให้มีความเหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ 2.3) การประกาศจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีสิทธิประโยชน์การลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ดังนี้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบางกิจกรรมได้นานสูงสุด 13 ปี) สิทธิประโยชน์ทางภาษี ตามประกาศกระทรวงการคลัง สิทธิพิเศษเฉพาะเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และศูนย์การให้บริการเบ็ดเสร็จ ครบวงจร (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกการลงทุนในการอนุมัติ อนุญาตตามกฎหมาย
3. เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่างต่อเนื่อง กระทรวงพลังงาน ได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยจะเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีองค์ประกอบรวม 13 ท่าน โดยมี ปลัดกระทรวงพลังงานและเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นประธานร่วม ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานและผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นเลขานุการร่วม โดยมีกรรมการประกอบด้วย เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุนหรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานหรือผู้แทน เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทน อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ หรือผู้แทน ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ผู้แทนประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมีประธานปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เป็นปรึกษา โดยมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ (1) เสนอแนะนโยบาย และแนวทางการดำเนินการ ตลอดจนจัดทำแผนปฏิบัติการสนับสนุนการลงทุนปิโตรเคมีระยะ 4 ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2565-2569 (2) ประสานงาน สนับสนุนการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการ ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ (3) มีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม (4) มีอำนาจเชิญภาคเอกชนเพื่อให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการ (5) จัดทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง และ (6) ดำเนินการอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 มีมติเห็นชอบร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า (คณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการฯ) และนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 โดยในการประชุมคณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการฯ ครั้งที่ 1/2564 (ครั้งที่ 1) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 มีมติเห็นชอบกรอบการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า ระยะ 5 ปี ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง (ปี 2565 - 2569) เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนบูรณาการฯ และเห็นชอบร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า (คณะอนุกรรมการจัดทำแผนบูรณาการฯ) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะประธานกรรมการจัดทำแผนบูรณาการฯ ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565
2. กรอบการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านพลังงานไฟฟ้า ระยะ 5 ปี ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง (แผนบูรณาการฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานด้านนโยบาย หน่วยงานด้านการกำกับดูแล และหน่วยงานด้านการปฏิบัติ ซึ่งแผนบูรณาการฯ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ (1) แผนบูรณาการลงทุนและการดำเนินงานของ 3 การไฟฟ้า (2) แผนการลงทุนรายหน่วยงาน และ (3) โครงการสำคัญตามนโยบายของรัฐบาลหรืออื่นๆ ตามที่ กพช. และคณะกรรมการแผนบูรณาการฯ เห็นสมควร โดยมีกรอบระยะเวลาของแผนบูรณาการฯ 5 ปี และทบทวนทุกๆ 5 ปี หรือกรณีที่สถานการณ์ต่างๆ เช่น เทคโนโลยี นโยบาย มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้โครงการลงทุนของ 3 การไฟฟ้าที่สำคัญ/จำเป็น หรือโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องกำหนดไว้ในแผนบูรณาการฯ จึงจะได้รับการพิจารณาจากกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงพลังงาน (พน.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.)
3. ขั้นตอนการจัดทำแผนบูรณาการฯ ได้แก่ (1) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า ระยะ 5 ปี ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง (คณะอนุกรรมการฯ) เพื่อจัดทำแผนบูรณาการฯ และกลั่นกรองรายละเอียดโครงการลงทุนภายใต้องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนหลักของแผนบูรณาการฯ และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ รวบรวมโครงการของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ที่อยู่ภายใต้องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนหลักของแผนบูรณาการฯ (2) พิจารณาข้อมูลโครงการของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ตามที่คณะอนุกรรมการฯ ได้ดำเนินการรวบรวม และพิจารณาให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณากลั่นกรองโครงการตามที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอ (3) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนบูรณาการฯ และ (4) นำเสนอแผนบูรณาการฯ ต่อ กพช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยคาดว่าจะนำเสนอ กพช. พิจารณาเห็นชอบภายในปี 2565
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
สรุปสาระสำคัญ
1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) กำหนดให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานงานหมุนเวียนจากโรงไฟฟ้าขยะปริมาณ 400 เมกะวัตต์ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ในปี 2565 โดยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบการทบทวนปรับปรุงแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 โดยกำหนดให้รับซื้อไฟฟ้า จากขยะชุมชนปริมาณ 400 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ปี 2567 – 2568 ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้พิจารณาการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 และได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอหลักการและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ FiT ปี 2565 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมภายใต้กรอบอัตราสูงสุดแล้วแต่กรณี เพื่อใช้เป็นอัตราในการประกาศรับซื้อไฟฟ้า แล้วรายงานให้ กบง. ทราบและออกระเบียบ การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 ให้เป็นไปตามข้อเสนอหลักการรับซื้อไฟฟ้า จากขยะชุมชนที่ได้รับความเห็นชอบ โดยมติดังกล่าวกำหนดสำหรับโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 23 โครงการ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 215 เมกะวัตต์ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มท.) ได้เสนอในที่ประชุม กพช. ขอให้พิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้าโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพิ่มเติมจากที่ กพช. ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 อีก 11 โครงการ รวมทั้งสิ้น 34 โครงการ ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าเดิมตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 โดย กพช. ได้มีมติมอบหมายให้ กบง. พิจารณาข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มเติมของ มท. และนำเสนอ กพช. ให้ความเห็นชอบ ซึ่งเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 กบง. ได้พิจารณาการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน ปี 2565 เพิ่มเติม โดยมีมติเห็นชอบเพิ่มเติมโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ อปท. มท. 11 โครงการ โดยใช้แนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564
2. กกพ. ได้วิเคราะห์อัตรารับซื้อไฟฟ้าสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนเสนอต่อกระทรวงพลังงาน (พน.) พิจารณาเพื่อออกระเบียบและประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าตามนโยบาย โดยการวิเคราะห์ของ กกพ. กรณีอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 เปรียบเทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง (Wholesale) รวมค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ขายส่ง พบว่า (1) กรณีให้การรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะชุมชนไม่เกิดผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าของประชาชนตามหลักการที่ กพช. กำหนด รัฐควรรับซื้อไฟฟ้าด้วยอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งรวมค่า Ft ขายส่ง (2) กรณีรัฐมีนโยบายสนับสนุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนให้ได้รับผลตอบแทนการลงทุนและกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ตามกรอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าสูงสุดที่ กพช. กำหนด จะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense) ทั้งนี้ จากข้อมูล ที่ มท. แจ้งความคืบหน้าโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจาก รมว.มท. จำนวน 32 โครงการในขณะนั้นมายังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) พบว่า โครงการที่ได้รับความเห็นชอบ 23 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้า 212.07 เมกะวัตต์ จะมีผลกระทบค่าไฟฟ้า 1.127 สตางค์ต่อหน่วยต่อปี มีต้นทุนค่าไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้นจาก Policy Expense ที่อายุโครงการ 20 ปี ประมาณ 50,000 ล้านบาท และโครงการที่ได้รับความเห็นชอบ 32 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้า 272.98 เมกะวัตต์ จะมีผลกระทบค่าไฟฟ้า 1.586 สตางค์ต่อหน่วยต่อปี และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจาก Policy Expense ประมาณ 70,000 ล้านบาท
3. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) มท. ได้มีข้อเสนอให้พิจารณายกเลิกมติ กพช. เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 โดยให้โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ อปท. จำนวน 34 โครงการ ดำเนินการตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 และวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 และหากจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ขอให้แจ้ง สถ. เพื่อแจ้งจังหวัดรับทราบและใช้ประกอบการศึกษาโครงการที่จะเสนอในอนาคต โดยมีความเห็นดังนี้ (1) โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐที่กำหนดให้การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ของประเทศเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งประเทศไทยมีขยะตกค้าง 5.3 ล้านตันต่อปี โดยการกำจัดขยะส่วนใหญ่ใช้วิธีฝังกลบโดยไม่มีการคัดแยกทำให้มีปัญหาในการจัดหาพื้นที่กำจัดขยะและการต่อต้านจากประชาชน ดังนั้น การจัดการโดยการเผาเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและลดปริมาณขยะได้อย่างรวดเร็ว โดยหากเป็นการเผาที่ไม่ได้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจะทำให้ อปท. มีค่ากำจัดขยะเกินกว่างบประมาณในการจัดการ (2) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP 2018) สนับสนุนการแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดย กพช. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 และวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ได้มีมติกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนสำหรับ VSPP และ SPP ตามลำดับ โดย มท. ได้กำหนดแนวทาง การรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอยของ อปท. ในการศึกษาและจัดทำโครงการเสนอต่อคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยของกระทรวงพิจารณา ทั้งนี้ อปท. ได้คัดเลือกเอกชนผู้ดำเนินการโดยใช้อัตรา รับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ตามมติ กพช. ดังกล่าวเป็นฐานการคำนวณต้นทุนโครงการ ดังนั้น หากอ้างอิงอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 อปท. จะต้องทบทวนโครงการใหม่ โดยใช้เวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 3 - 5 ปี ซึ่งมีผลกระทบต่อการจัดการขยะที่อาจทำให้มีขยะตกค้างสะสมมากกว่า 30,658,175 ตัน
4. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้มีความเห็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ จากโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าของ อปท. ดังนี้ (1) โครงการดังกล่าวสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย ของแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 - 2564 และร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ พ.ศ. 2565 - 2570 ที่ต้องการให้ขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของปริมาณที่เกิดขึ้น และขยะมูลฝอยตกค้างได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการร้อยละ 100 เมื่อสิ้นสุดแผน โดยจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยชุมชนควบคู่กับการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีขยะมูลฝอยสะสมจำนวนมากหรือมีข้อจำกัดในการหาพื้นที่ฝังกลบขยะ รวมทั้งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย พ.ศ. 2564 - 2573 สาขาพลังงาน ในส่วนของแผนงานการพัฒนาพลังงานจากขยะ ซึ่งคาดว่าจะมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 450 เมกะวัตต์ และศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจก 1.63 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) รวมถึงสาขาการจัดการของเสียชุมชน ในส่วนกิจกรรมการเผาขยะมูลฝอยในเตาเผาเพื่อผลิตพลังงาน มีศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจก 0.46 MtCO2eq โดยสามารถเทียบเท่าการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของพื้นที่ป่าที่มีอายุการเจริญเติบโตตั้งแต่ 5 - 20 ปี ซึ่งกรณีไม้โตช้าจะใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 3,160,625 ไร่ และกรณีไม้โตเร็วจะใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 488,688 ไร่ จึงต้องเร่งผลักดันการดำเนินงานและเพิ่มสัดส่วนของการพัฒนาพลังงานขยะให้สอดรับกับการยกระดับการบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ที่จะถูกยกระดับเป็นร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 หากได้รับการสนับสนุนด้านการเงินและเทคโนโลยีที่เหมาะสมและเพียงพอ และ (2) การพิจารณาดำเนินโครงการของ อปท. ต้องให้ความสำคัญกับสถานที่ตั้ง ความเหมาะสมของเทคโนโลยีที่ใช้กับปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม การยอมรับของประชาชน และผลประโยชน์ที่ อปท. จะได้รับ เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
5. กบง. ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 ได้พิจารณาเรื่องอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สถ. มท. ให้ความเห็นว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในส่วนผันแปร (FiTV) ซึ่งเป็นต้นทุนด้านเชื้อเพลิง ควรพิจารณาตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐาน (Core Inflation) โดยใช้อัตรา FiTV,2560 ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 และวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 เนื่องจากเชื้อเพลิงมีราคาเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ โดย กบง. มีมติเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 34 โครงการ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 282.98 เมกะวัตต์ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2568 – 2569 และมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าฯ พร้อมกับให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
6. อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เพื่อใช้สำหรับการออกระเบียบ และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้า จำนวน 34 โครงการ ปริมาณรับซื้อรวมไม่เกิน 282.98 เมกะวัตต์ ของโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ อปท. ที่ได้รับความเห็นชอบจาก รมว.มท. โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนมีรายละเอียด ดังนี้ (1) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับ VSPP ปี 2565 ที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 เมกะวัตต์ อัตรา FiTF FiTV,2560 และ FiT อยู่ที่ 2.39 2.69 และ 5.08 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี มี FiT Premium 8 ปีแรก อยู่ที่ 0.70 บาทต่อหน่วย และ (2) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับ SPP ปี 2565 ที่กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 แต่ไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ อัตรา FiTF FiTV,2560 และ FiT อยู่ที่ 1.81 1.85 และ 3.66 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี โดยอัตรา FiTv จะปรับเปลี่ยนต่อเนื่องทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐาน (Core inflation) โดยการประกาศของ กกพ.
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ภายใต้เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) โดยอัตราดังกล่าวใช้สำหรับจำนวน 34 โครงการ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 282.98 เมกะวัตต์ และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ เชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2568 – 2569
2. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ตามข้อ 1
เรื่องที่ 5 อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 - 2573
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ประกอบด้วยโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบติดตั้งบนหลังคาบ้าน และแบบติดตั้ง บนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 กพช. ได้เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปี 2558 เพื่อใช้เป็นอัตราเริ่มต้นในการแข่งขันด้านราคา จากนั้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 กพช. ได้เห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 และมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ทบทวนปรับปรุงแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ให้สอดคล้องกับข้อเสนอการดำเนินการระยะเร่งด่วน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศ โดยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 กบง. ได้เห็นชอบการทบทวนปรับปรุงแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 ซึ่งมีแผนการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน ได้แก่ การพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ และปรับลดสัดส่วน การรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วง 10 ปีข้างหน้า (ปี 2564 - 2573)
2. กระทรวงพลังงาน (พน.) โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ศึกษาการทบทวนต้นทุนในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและแนวทางการบริหารจัดการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และ พน. ได้จัดทำอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT สำหรับพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และพลังงานลม สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2565 – 2573 ให้สอดคล้องกับแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 และสามารถบรรลุเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ได้ตามที่กำหนด โดยจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายภาคพลังงานของประเทศ ในช่วงที่ทั่วโลกมีสถานการณ์วิกฤตพลังงานที่ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเชื้อเพลิง มีความผันผวนสูงและส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้น้อยลง นอกจากนี้ แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของหลายประเทศ โดยเฉพาะยุโรปที่ได้ออกนโยบายเร่งด่วนให้เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นการพึ่งพาตัวเองและลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการราคาค่าไฟฟ้าในอนาคตให้มีเสถียรภาพมากขึ้นได้ และ กบง. เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 มีมติเห็นชอบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านพลังงานในปัจจุบัน ศักยภาพของประเทศ ความเหมาะสมกับต้นทุนและแนวโน้มเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ และสอดคล้องกับหลักการจัดทำอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573
3. หลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 มีดังนี้ (1) รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ขนาดกำลังผลิตตามสัญญาไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ กลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ในรูปแบบสัญญา Non-Firm สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน พลังงานลม และก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และในรูปแบบสัญญา Partial - Firm สำหรับ Solar+BESS โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า ในรูปแบบ FiT (2) ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ามีเป้าหมายและกำหนดวัน SCOD ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม) (3) เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยมีอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้า 20 – 25 ปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดการลงทุนใหม่ รองรับความทันสมัย ของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและเครื่องจักร ซึ่งเป็นการคิดระยะเวลาที่ภาครัฐให้การสนับสนุนครอบคลุม Loan Repayment แล้ว (4) พน. สนพ. กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้หารือร่วมกันโดยมีข้อสรุปว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 จะใช้หลักเกณฑ์ การคัดเลือกที่พิจารณาถึงความพร้อมทั้งด้านราคา คุณสมบัติ และเทคนิคร่วมกัน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น ว่าโครงการที่ได้รับคัดเลือกจะมีความเป็นไปได้สูงในการพัฒนาโครงการให้สำเร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ได้ตามแผนที่กำหนด ด้วยราคาที่ไม่สร้างภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในระยะยาวให้ประเทศ โดยไม่ใช้วิธีการแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) ซึ่งอาจมีปัญหากรณีที่ผู้พัฒนาโครงการไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ได้ทันกำหนดวัน SCOD หรือมีปัญหาไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ไม่เป็นไปตามแผน โดยมีกรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกโครงการ ดังนี้ 1) การพิจารณาด้านราคา โดย พน. จะเป็นผู้กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าในอนาคตของเชื้อเพลิงแต่ละประเภท และเป็นราคาที่จะไม่สร้างภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในระยะยาวให้แก่ประเทศ โดยผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายต้องรับและปฏิบัติตามอัตราค่าไฟฟ้าที่กำหนด 2) ด้านคุณสมบัติ จะตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไข อาทิ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ไม่เป็นหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ และวางหลักค้ำประกันการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้ามูลค่าตามที่กำหนดโครงการที่ยื่นข้อเสนอต้องเป็นโครงการใหม่และไม่มีลักษณะต้องห้าม เป็นต้น โดยผู้ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเท่านั้นที่จะได้รับการพิจารณาด้านเทคนิคต่อไป 3) ด้านเทคนิค มีการตรวจสอบและให้คะแนนความพร้อมด้านต่าง ๆ อาทิ พื้นที่ เทคโนโลยี เชื้อเพลิง การเงิน ความเหมาะสมของแผนการดำเนินงาน เป็นต้น โดยต้องมีคะแนนในแต่ละด้านและคะแนนรวมไม่น้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดจึงจะได้รับการพิจารณาจัดเรียงคะแนนด้านเทคนิคเพื่อคัดเลือกต่อไป โดยผู้ที่มีคะแนนสูงสุด คือมีความพร้อมมากที่สุด จะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับต้น จนกว่าจะครบเป้าหมายการรับซื้อ และ 4) กรณีมีผู้ยื่นข้อเสนอหลายราย ณ จุดเชื่อมโยงเดียวกัน แต่บริเวณดังกล่าวยังไม่สามารถปรับปรุงระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้า ให้สอดคล้องกับแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ได้นั้น จะรับซื้อไฟฟ้าเรียงตามลำดับเชื้อเพลิง ดังนี้ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แบบ Solar+BESS และแบบติดตั้งบนพื้นดิน ทั้งนี้ กกพ. จะกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าตามความเหมาะสม เพื่อให้เป็นไปตามกรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกและมีผลสัมฤทธิ์ใกล้เคียงกับเป้าหมายตามแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม) และ (5) เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ มีดังนี้ 1) กำหนดให้กรรมสิทธิ์ ในหน่วย Renewable Energy Certificate (REC) ที่เกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐ โดยให้ระบุการครอบครองกรรมสิทธิ์ของภาครัฐไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 2) กรณีที่ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามกำหนด ให้สามารถกำหนดเงื่อนไขหักหลักประกันตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ และ 3) สำหรับเชื้อเพลิงประเภทก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงการเริ่มต้นเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเท่านั้น
4. อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 แยกตามประเภทเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า สรุปได้ดังนี้ (1) อัตรา FiT กำลังผลิตตามสัญญาทุกขนาดของก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) เท่ากับ 2.0724 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี (2) พลังงานลม เท่ากับ 3.1014 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 25 ปี (3) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน เท่ากับ 2.1679 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา รับซื้อไฟฟ้า 25 ปี และ (4) พลังงานแสงอาทิตย์แบบ Solar+BESS กำลังผลิตตามสัญญามากกว่า 10 - 90 เมกะวัตต์ เท่ากับ 2.8331 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 25 ปี โดยรูปแบบสัญญา Partial Firm ของแบบ Solar+BESS กำหนดให้มีรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ 1) ช่วงเวลา 9.00 น. - 16.00 น. ผลิตไฟฟ้าส่งจ่ายเข้าระบบและการไฟฟ้ารับซื้อในปริมาณร้อยละ 100 ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 2) ช่วงเวลา 18.01 น. - 06.00 น. มีความพร้อมส่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปริมาณพลังงานเท่ากับร้อยละ 60 ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญา ซื้อขายไฟฟ้า เป็นเวลา 2 ชั่วโมง (60% Contracted Capacity * 2 hrs.) โดยที่การไฟฟ้ารับซื้อทั้งหมดและสามารถสั่งจ่ายกำลังไฟฟ้าสูงสุดได้ไม่เกินร้อยละ 60 ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และ 3) ช่วงเวลา 06.01 น. - 09.00 น. และ 16.01 น. - 18.00 น. ผลิตไฟฟ้าส่งจ่ายเข้าระบบและการไฟฟ้ารับซื้อในปริมาณไม่เกิน ร้อยละ 100 ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ทั้งนี้ สำหรับโครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี) ให้ได้รับอัตรา FiT Premium 0.50 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการ
5. ประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากการดำเนินการ ได้แก่ (1) ส่งเสริมให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายการมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) (2) สร้างเสถียรภาพด้านราคาค่าไฟฟ้าจากการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในระยะยาวด้วยการกำหนดราคารับซื้อในระดับที่แข่งขันได้กับ Grid Parity (3) ส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของประเทศจากการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และ (4) สร้างแรงจูงใจให้เกิดการไหลเวียนเงินทุนจากต่างประเทศในการลงทุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย
6. กบง. ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 ได้พิจารณาเรื่องอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 - 2573 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าและข้อเสนออัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี พ.ศ. 2565 - 2573 สำหรับกลุ่ม ที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงตามที่เสนอ และพิจารณาให้ความเห็นว่าการจัดหากำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นครั้งสำคัญของการจัดหาพลังงานสะอาดทุกรูปแบบอย่างจริงจัง เพื่อให้ได้ราคาค่าไฟที่ไม่สร้างภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในระยะยาวให้กับประเทศ และผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีความชัดเจน มีความพร้อมในทุกด้านที่จะดำเนินการพัฒนาโครงการให้ได้ตามกำหนดเวลา ซึ่งจะทำให้นานาชาติเกิดความเชื่อมั่นในประเทศไทยว่าจะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้อย่างชัดเจนที่สุด ในส่วนของพลังงานสะอาดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและภาคประชาชน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรม ก็จะมีการดำเนินการรับซื้อต่อเนื่องตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ที่ได้เสนอไว้ โดยถึงแม้ว่าจะมีราคาสูงกว่า แต่ก็ได้พิจารณาถึงความคุ้มค่าจากการประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการแก้ไขปัญหาอื่นๆ เช่น สังคม สิ่งแวดล้อม และเป็นการสร้างรายได้กระจายสู่ท้องถิ่นช่วยลดการปลูกพืชที่ไม่เหมาะสม กับพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ การเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะทำให้การพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิง จากต่างประเทศลดน้อยลงไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาค่าไฟของประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้นและความผันผวนที่จะมีต่อผู้ใช้พลังงานภาคประชาชน ภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง จะลดน้อยลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
มติของที่ประชุม
1. รับทราบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม)
2. เห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff สำหรับปี พ.ศ. 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง
3. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าและกำกับดูแลการคัดเลือกตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ อาจพิจารณาทบทวนปริมาณเชื้อเพลิงรายปีที่กำหนดไว้ ได้ตามสถานการณ์หรือศักยภาพที่เหมาะสม หรือปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) ได้โดยมอบให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานพิจารณา
เรื่องที่ 6 ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการปากแบง
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) โครงการหลวงพระบางและโครงการปากแบง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว รวมทั้งเห็นชอบให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU ของโครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง ในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า ต่อมาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 กฟผ. ได้ลงนาม Tariff MOU กับผู้พัฒนาโครงการปากแบง ได้แก่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท China Datang Overseas Investment จำกัด และได้เจรจาจัดทำร่าง PPA กับผู้พัฒนาโครงการแล้วเสร็จ โดยได้จัดส่งให้คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (คณะอนุกรรมการประสานฯ) พิจารณาในการประชุมเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 โดยคณะอนุกรรมการประสานฯ ได้มีมติเห็นชอบร่าง PPA โครงการปากแบง และมอบหมายให้ กฟผ. เสนอ อส. ตรวจพิจารณาร่าง PPA โครงการปากแบง รวมทั้งให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. พิจารณามอบหมายให้ กฟผ. ลงนามใน PPA โครงการปากแบงที่ผ่านการตรวจพิจารณา จาก อส. แล้วต่อไป และเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 กบง. ได้มีมติดังนี้ (1) มอบหมายให้ กฟผ. ลงนาม PPA โครงการปากแบงที่ผ่านการพิจารณาจาก อส. แล้ว ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการแก้ไข PPA ที่ไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่ระบุไว้ในร่าง PPA และเงื่อนไขสำคัญ รวมทั้งการปรับกำหนดเวลาของแผนงาน (Milestones) ที่เกี่ยวข้องกับกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในช่วงก่อนการลงนาม PPA ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการ กฟผ. ในการแก้ไข และ (3) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. พิจารณาต่อไป
2. สรุปรายละเอียดโครงการปากแบง ดังนี้ ผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัท Pak Beng Power Company Limited (PBPC) เป็นบริษัทจดทะเบียนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) โดยมีผู้ถือหุ้น ได้แก่ บริษัท China Datang Overseas Investment Company Limited สัดส่วนร้อยละ 51 และบริษัท Gulf Energy Development Public Company Limited สัดส่วนร้อยละ 49 โครงการตั้งอยู่บน ลำน้ำโขง แขวงอุดมไซ ทางตอนเหนือของ สปป. ลาว เป็นโรงไฟฟ้าประเภทเขื่อนน้ำไหลผ่าน (Run-of-River) กำลังผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ (16 x 57 เมกะวัตต์) โดยสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าและจำหน่ายให้ กฟผ. ณ จุดส่งมอบชายแดนไทย - สปป. ลาว จำนวน 897 เมกะวัตต์ คิดเป็นพลังงานไฟฟ้า 3,666 ล้านหน่วยต่อปี ระบบส่งไฟฟ้าฝั่ง สปป.ลาว แรงดัน 500 กิโลโวลต์ (kV) ความยาว 60 กิโลเมตร จากโครงการปากแบงมายัง Collective Substation และสายส่งแรงดัน 500 กิโลโวลต์ ความยาว 10 กิโลเมตร จาก Collective Substation มายังจุดส่งมอบชายแดนไทย - สปป. ลาว เพื่อเชื่อมโยงกับระบบส่งของ กฟผ. โดยระบบส่งไฟฟ้าฝั่งไทย แรงดัน 500 กิโลโวลต์ ความยาว 50 กิโลเมตร จากจุดส่งมอบชายแดนไทย - สปป.ลาว มายังสถานีไฟฟ้าแรงสูงท่าวังผา
3. สรุปสาระสำคัญของร่าง PPA โครงการปากแบง ดังนี้ (1) คู่สัญญา คือ กฟผ. และบริษัท Pak Beng Power Company Limited (Generator) อายุสัญญา 29 ปี นับจากวันซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โดย Generator มีหน้าที่จัดหาเงินกู้ให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน นับจากวันลงนามสัญญา หรือภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 แล้วแต่วันใดจะเกิดขึ้นทีหลัง (Scheduled Financial Close Date: SFCD) หากจัดหาเงินกู้ล่าช้ากว่า SFCD จะต้องจ่ายค่าปรับให้ กฟผ. ในอัตรา 2,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน (2) Generator มีหน้าที่พัฒนาโครงการให้แล้วเสร็จทันกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) คือ วันที่เกิดขึ้นช้ากว่าระหว่าง 98 เดือน นับจากวันที่ กฟผ. เริ่มก่อสร้างสายส่งฝั่งไทย (EGAT Construction Obligation Commencement Date: ECOCD) และวันที่ 1 มกราคม 2576 และ กฟผ. มีหน้าที่ก่อสร้างสายส่งฝั่งไทย ณ วันที่เกิดขึ้นช้ากว่าระหว่าง SFCD และวันที่ Generator จัดหาเงินกู้ได้ (Financial Close Date: FCD) โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่เกิดขึ้นช้ากว่าระหว่าง 83 เดือนนับจาก ECOCD และวันที่ 1 ตุลาคม 2574 ทั้งนี้ ฝ่ายที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้าต้องจ่ายค่าปรับ (Liquidated Damages: LD) ตามอัตราที่กำหนด แต่หากความล่าช้านั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย (Force Majeure: FM) ฝ่ายที่อ้างเหตุต้องจ่ายค่า Force Majeure Offset Amount (FMOA) ตามอัตรา ที่กำหนด โดยจะได้รับคืนในภายหลัง ซึ่งแตกต่างจาก LD ที่ไม่มีการจ่ายคืน คุณภาพการผลิตไฟฟ้าของ Generator ต้องเป็นไปตาม Contracted Operating Characteristics (COCs) ที่ระบุไว้ใน PPA และการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าต้องสามารถตอบสนองคำสั่งของ กฟผ. ได้แบบ Fully Dispatchable ทั้งนี้ Generator ไม่มีสิทธิ์ขายพลังงานไฟฟ้า ให้บุคคลที่สาม ยกเว้นตามที่ได้รับความเห็นชอบจาก กฟผ.
4. การซื้อขายไฟฟ้าและราคารับซื้อไฟฟ้า แบ่งเป็น (1) พลังงานไฟฟ้าที่ กฟผ. ซื้อจากโครงการ ปากแบง ได้แก่ Primary Energy (PE) คือ พลังงานไฟฟ้าที่ Generator แจ้งขายได้ไม่เกิน 16 ชั่วโมงต่อวัน ตั้งแต่วันจันทร์ – วันเสาร์ Secondary Energy (SE) คือ พลังงานไฟฟ้าที่ Generator แจ้งขายได้ไม่เกิน 5.35 ชั่วโมงต่อวัน ในวันจันทร์ - วันเสาร์ และไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ในวันอาทิตย์ และ Excess Energy (EE) เป็นพลังงานไฟฟ้า ที่เกินจาก PE และ SE โดย กฟผ. จะรับประกันซื้อ PE และ SE แต่ไม่รับประกันซื้อ EE ทั้งนี้ Generator ต้องรับประกันการผลิต PE ส่งให้ กฟผ. ไม่ต่ำกว่าเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง (ไม่รวมวันอาทิตย์) ในแต่ละเดือน และเมื่อรวมทั้งปีแล้วต้องไม่ต่ำกว่าเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง (ไม่รวมวันอาทิตย์) และ (2) ราคารับซื้อไฟฟ้า ณ จุดส่งมอบชายแดนไทย - สปป. ลาว แบ่งเป็น 1) ระหว่างการทดสอบ 0.570 บาทต่อหน่วย 2) ระหว่าง Unit Operation Period (กฟผ. รับซื้อจากหน่วยผลิตไฟฟ้าที่ผ่านการทดสอบแล้วในช่วงก่อน COD) แบ่งเป็น PE เท่ากับ 3.5447 เซนต์สหรัฐฯ บวก 1.1343 บาทต่อหน่วย SE เท่ากับ 1.4746 บาทต่อหน่วย และ EE เท่ากับ 1.0217 บาทต่อหน่วย 3) ตั้งแต่ COD เป็นต้นไป แบ่งเป็น PE เท่ากับ 4.7263 เซนต์สหรัฐฯ บวก 1.5124 บาทต่อหน่วย SE เท่ากับ 1.9661 บาทต่อหน่วย และ EE เท่ากับ 1.3622 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ PE จ่ายเป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 50 และสกุลเงินบาท ร้อยละ 50 ส่วน SE และ EE จ่ายเป็นสกุลเงินบาททั้งหมด ด้านการจ่ายเงิน ค่าพลังงานไฟฟ้า มีดังนี้ (1) กฟผ. จะจ่ายเงินค่าพลังงานไฟฟ้าให้ Generator แต่ละปีไม่เกินจำนวนพลังงานไฟฟ้าตามเป้าหมายรายปี เท่ากับ 3,666 ล้านหน่วย แบ่งเป็น PE 2,586 ล้านหน่วย และ SE 1,080 ล้านหน่วย โดยกรณีที่ Generator มีความพร้อมผลิตไฟฟ้าเกินเป้าหมายรายปี พลังงานไฟฟ้าส่วนเกินเป้าหมายจะถูกเก็บไว้ในบัญชี และ กฟผ. จะจ่ายเงินคืนให้ Generator ในปีที่ Generator มีความพร้อมต่ำกว่าเป้าหมาย (2) กรณีที่ กฟผ. สั่งเดินเครื่องน้อยกว่าค่าพลังงานไฟฟ้าที่รับประกันซื้อรายเดือน กฟผ. ต้องจ่ายเงินเท่ากับที่รับประกันซื้อ และส่วนที่ซื้อไม่ครบสามารถสะสมไว้ในบัญชี Dispatch Shortfall โดย กฟผ. มีสิทธิ์ Make-up ได้ตลอดอายุสัญญา หลังจากที่ซื้อพลังงานไฟฟ้าส่วนที่รับประกันซื้อในสัปดาห์นั้นๆ จนครบแล้ว (3) กรณีที่มี Dispatch Shortfall กฟผ. สามารถสะสมไว้ในบัญชี และมีสิทธิ์ Make-up หลังจากที่ซื้อพลังงานไฟฟ้าในส่วนที่รับประกันซื้อจนครบแล้วตลอดอายุสัญญา และ (4) ในเดือนสุดท้ายของ Relevant Period ที่ 2 ที่ 4 และปีสุดท้ายของ PPA หากมี Supply Excess PE Account และ Supply Access SE Account เหลือ ให้นำมาคูณด้วยอัตราค่าไฟ Excess Energy เพื่อนำมารวมเข้าไปใน Excess Revenue Account โดยค่าใน Dispatch Shortfall Payment Account จะถูกปรับค่าโดย Excess Revenue Account และจ่ายคืนให้กับ กฟผ. และหากยังคงมีเงินคงเหลือใน Excess Revenue Account หลังการปรับค่าแล้ว ให้จ่ายเงินคืนให้ กฟผ. อีกร้อยละ 25 ของจำนวนเงินที่เหลือใน Excess Revenue Account
5. การวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Security) Generator ต้องวางหนังสือค้ำประกัน เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติหน้าที่ตาม PPA และการชำระหนี้ให้ กฟผ. ตลอดอายุสัญญาดังนี้ (1) Development Security (DS) คือ หลักประกันในช่วงพัฒนาโครงการ แบ่งเป็น DS1 จำนวน 11.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่ วันลงนามสัญญา จนถึงวันก่อน FCD และ DS2 จำนวน 29.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วัน FCD จนถึงวันก่อน COD (2) Performance Security (PS) คือ หลักประกันในช่วงการซื้อขายไฟฟ้า แบ่งเป็น PS1 จำนวน 26.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วัน COD จนถึงวันก่อนครบ 15 ปี นับจาก COD และ PS2 จำนวน 8.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ครบ 15 ปี นับจาก COD จนสิ้นสุดอายุสัญญา และ (3) Additional Security คือ สัญญาจดจำนองทรัพย์สินของโครงการเพื่อเป็นหลักประกันให้ กฟผ. ในวงเงิน 7,660 ล้านบาท โดย กฟผ. เป็นผู้รับผลประโยชน์ลำดับสองรองจากผู้ให้เงินกู้แก่โครงการ ซึ่ง Generator ต้องนำส่งสัญญาจดจำนองทรัพย์สินของโครงการให้ กฟผ. ก่อนหรือ ณ วัน FCD ส่วนกรณีเกิดเหตุสุดวิสัย ((Force Majeure: FM) ฝ่ายที่อ้าง FM สามารถหยุดปฏิบัติตามพันธะใน PPA ได้นานเท่าที่ FM เกิดขึ้น และจะได้รับการขยายเวลาสำหรับการปฏิบัติตามพันธะนั้นเท่ากับจำนวนวันที่เกิด FM แต่ต้องจ่าย FMOA ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งในอัตราที่กำหนดใน PPA โดยจะได้รับเงินคืนในภายหลัง ด้วยวิธีหักกลบลบหนี้กับค่าไฟฟ้ารายเดือน กรณีเกิด Political Force Majeure ฝ่ายที่ถูกกระทบมีสิทธิ์ บอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้และต้องจ่าย Termination Payment ให้อีกฝ่ายหนึ่งตามที่กำหนดไว้ใน PPA แต่อีกฝ่ายจะมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาได้หากผลกระทบไม่ได้รับการแก้ไขนานเกิน 15 เดือน กรณีเกิด Non-Political Force Majeure หากผลกระทบไม่ได้รับการแก้ไขนานเกิน 24 เดือน ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาโดยไม่มีฝ่ายใด ต้องจ่าย Termination Payment ทั้งนี้ กรณี กฟผ. ไม่สามารถจัดหาที่ดินก่อสร้างระบบส่งได้ ให้ถือเป็น FM เนื่องจาก EGAT Access Rights โดย กฟผ. มีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ แต่ Generator จะบอกเลิกสัญญาได้เมื่อผลกระทบไม่ได้รับการแก้ไขนานเกิน 730 วัน ทั้งนี้ กฟผ. ต้องเข้าซื้อโครงการเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา
6. การบอกเลิกสัญญา หากเกิดขึ้นในช่วงก่อน FCD เนื่องจาก กฟผ. ผิดสัญญา หรือเกิด Thai Political Force Majeure กฟผ. จะคืนหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่หาก Generator ผิดสัญญา หรือเกิด Lao Political Force Majeure กฟผ. จะยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งนี้หากเกิดขึ้นในช่วงหลัง FCD เนื่องจาก กฟผ. ผิดสัญญา หรือเกิด Thai Political Force Majeure กฟผ. ต้องเข้าซื้อโครงการ แต่หาก Generator ผิดสัญญา หรือเกิด Lao Political Force Majeure กฟผ. มีสิทธิ์เลือกที่จะให้ Generator จ่ายค่า Termination Payment หรือ กฟผ. เข้าซื้อโครงการ ด้านการยุติข้อพิพาท ให้ยุติโดยการเจรจาด้วยความสุจริต (Good Faith Discussion) ในลำดับแรก หากไม่สามารถตกลงกันได้ภายในช่วงเวลาที่กำหนดให้นำเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) โดยใช้กฎของ United Nations Commission on International Trade Law (UNCITRAL Rule) และดำเนินกระบวนการที่ประเทศไทย โดยใช้ภาษาอังกฤษ และหากมีข้อพิพาทเกี่ยวกับ Billing หรือ Invoice หรือ Statement เกิดขึ้น ให้ยุติข้อพิพาทโดยการไกล่เกลี่ยโดยคณะกรรมการที่เป็นผู้แทนของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายก่อน หากไม่สำเร็จให้ยุติปัญหาโดยอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ PPA นี้ใช้บังคับและตีความตามกฎหมายไทย
มติของที่ประชุม
รับทราบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการปากแบง และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามใน PPA โครงการปากแบง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการแก้ไข PPA ที่ไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่ระบุไว้ในร่าง PPA และเงื่อนไขสำคัญ รวมทั้งการปรับกำหนดเวลาของแผนงาน (Milestones) ที่เกี่ยวข้องกับกำหนดการจ่ายไฟฟ้า เชิงพาณิชย์ในช่วงก่อนการลงนาม PPA ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการ กฟผ. ในการแก้ไข โดยไม่ต้องนำกลับมาเสนอขอความเห็นชอบอีก
เรื่องที่ 7 ร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) โครงการ เซกอง 4A และ 4B
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการประสานการพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้มีหนังสือถึงคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (คณะอนุกรรมการประสานฯ) ขอให้พิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเซกอง 4A และ 4B โดยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 คณะอนุกรรมการประสานฯ ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอราคาค่าไฟฟ้าของโครงการเซกอง 4A และ 4B และมอบหมายให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เจรจาจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff Memorandum of Understanding: Tariff MOU) กับโครงการเซกอง 4A และ 4B และนำมาเสนอคณะอนุกรรมการประสานฯ พิจารณา โดยควรต้องระบุเงื่อนไขให้ผู้พัฒนาโครงการเลือกใช้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า รวมถึงการใช้บุคลากร การจ้างงาน และการบริการจากประเทศไทย (Local Content Requirement) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 เป็นลำดับแรก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเศรษฐกิจของประเทศ ต่อมาเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 คณะอนุกรรมการประสานฯ ได้พิจารณาร่าง Tariff MOU โครงการดังกล่าวตามที่ กฟผ. เสนอ และได้มีมติเห็นชอบร่าง Tariff MOU โครงการเซกอง 4A และ 4B และมอบหมายให้ กฟผ. เสนอสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ตรวจพิจารณาร่าง Tariff MOU โครงการเซกอง 4A และ 4B และเมื่อ อส. ตรวจพิจารณาแล้วเสร็จ เห็นควรให้ดำเนินการเจรจาร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับโครงการเซกอง 4A และ 4B อย่างไม่เป็นทางการคู่ขนานกันไป ระหว่างรอเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าและมอบหมายให้ กฟผ. ลงนาม Tarifff MOU ที่ ทั้งนี้ หาก กพช. พิจารณาร่าง Tariff MOU แล้ว มีความเห็นแตกต่างจากร่าง Tariff MOU ที่ อส. ได้เคยตรวจพิจารณาแล้ว ให้นำไปปรับปรุงในร่าง PPA ทั้งนี้ จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. พิจารณาเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าโครงการเซกอง 4A และ 4B และมอบหมายให้ กฟผ. ลงนามใน Tariff MOU โครงการเซกอง 4A และ 4B ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจาก อส. แล้ว และเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 กบง. ได้มีมติเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการเซกอง 4A และ 4B และมอบหมายให้ กฟผ. ลงนามใน Tariff MOU โครงการเซกอง 4A และ 4B ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจาก อส. แล้ว และเห็นชอบให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU โครงการเซกอง 4A และ 4B ในขั้นตอนการจัดทำร่าง PPA เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า และ มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. พิจารณาต่อไป
2. สรุปรายละเอียดโครงการเซกอง 4A และ 4B ดังนี้ ผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท Lao World Engineering and Construction จำกัด โครงการตั้งอยู่บนลำน้ำเซกอง แขวงเซกอง ทางตอนใต้ของ สปป. ลาว เป็นโรงไฟฟ้าประเภทอ่างเก็บน้ำ (Reservoir Hydro Power Plant) กำลังผลิตติดตั้ง 355 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขาย ณ จุดส่งมอบ 347.30 เมกะวัตต์พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 1,472.78 ล้านหน่วย อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 27 ปี กำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) วันที่ 1 มกราคม 2576 โดยส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว มายังจุดส่งมอบชายแดนไทย - สปป. ลาว เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีไฟฟ้าอุบลราชธานี 3 โดยมีข้อเสนออัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ณ ชายแดน รวมค่าก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าในฝั่งไทยของโครงการเซกอง 4A และ 4B เท่ากับ 2.7408 บาทต่อหน่วย
3. กฟผ. และผู้พัฒนาโครงการได้ร่วมกันจัดทำร่าง Tariff MOU โครงการเซกอง 4A และ 4B โดยใช้รูปแบบเดียวกับ Tariff MOU โครงการน้ำงึม 3 ที่คณะอนุกรรมการประสานฯ ได้เคยพิจารณาให้ความเห็นชอบ อส. ได้พิจารณาตรวจ และ กฟผ. ได้ลงนามใน Tariff MOU แล้ว โดยมีสาระสำคัญโดยสังเขป ดังนี้ (1) กฟผ. จะขอความเห็นชอบการลงนาม Tariff MOU จาก กพช. และผู้พัฒนาโครงการจะขอความเห็นชอบ จากกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ของรัฐบาล สปป. ลาว โดยทั้งสองฝ่ายจะขอความเห็นชอบการลงนาม Tariff MOU ภายใน 3 เดือนนับจากวันลงนาม และแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเป็นลายลักษณ์อักษร โดย Tariff MOU จะมีผลบังคับใช้หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานภาครัฐตามที่ระบุข้างต้น ยกเว้นเงื่อนไขเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ Tariff MOU จะมีผลบังคับใช้นับจากวันลงนาม Tariff MOU (2) Tariff MOU จะสิ้นสุดเมื่อมีเหตุการณ์ใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อน ได้แก่ เมื่อมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือ Tariff MOU มีอายุครบ 18 เดือนนับจากวันลงนาม หรือวันที่ช้ากว่าหากมีการตกลงต่ออายุ Tariff MOU ออกไป หรือทั้งสองฝ่ายตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อขอยกเลิกก่อนครบกำหนด (3) ผู้พัฒนาโครงการให้คำมั่นว่าจะเจรจากับรัฐบาล สปป. ลาว เพื่อให้ได้สัญญาสัมปทานซึ่งผ่านความเห็นชอบของ National Assembly สปป. ลาว เพื่อให้สามารถพัฒนาโครงการและผลิตไฟฟ้าขายให้ กฟผ. อย่างถูกต้องตามกฎหมายของ สปป. ลาว และสอดคล้องกับเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โดยทั้งสองฝ่ายจะใช้ PPA ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำประเภท Reservoir และประเภทเขื่อนน้ำไหลผ่าน (Run-of-River) โครงการล่าสุด เป็นพื้นฐานในการจัดทำ PPA (4) แต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในส่วนของตน และไม่สามารถเรียกร้องความเสียหายจากการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งได้ รวมถึงการยกเลิก Tariff MOU ยกเว้นหลักทรัพย์ค้ำประกันที่วางไว้หากไม่สามารถเจรจาเพื่อลงนามใน PPA ได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ใน Tariff MOU ซึ่งผู้พัฒนาโครงการจะต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงิน 35.5 ล้านบาท ก่อนหรือในวันที่ลงนาม Tariff MOU (5) สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะมีอายุ 27 ปี นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โดยอาจมีการต่ออายุสัญญาได้ หาก สปป. ลาว อนุมัติ และทั้งสองฝ่ายตกลง (6) โครงการมีกำลังผลิต 355 เมกะวัตต์ ขายให้ไทย ณ ชายแดน 347.30 เมกะวัตต์ และมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยรายปีของ Primary Energy (PE) 1,278.10 ล้านหน่วย และ Secondary Energy (SE) 194.68 ล้านหน่วย โดยช่วงหลัง COD กฟผ. จะรับประกันการรับซื้อเฉพาะ PE และ SE และช่วงก่อน COD หรือช่วง Unit Operation Period กฟผ. จะรับซื้อพลังงานไฟฟ้าที่บริษัทแจ้งพร้อมผลิต โดยใช้หลักการสั่งเดินเครื่องตามต้นทุนการผลิตต่ำสุด (Merit Order) และพิจารณาถึงความพร้อมของระบบ กฟผ. ทั้งนี้ บริษัทมีสิทธิ์แจ้งราคารายเดือนที่ต่ำกว่าราคาตามสัญญา (7) ผู้พัฒนาโครงการต้องส่งแผนบริหารจัดการน้ำรายเดือนและรายปีของเขื่อนเซกอง 4A และ 4B เพื่อรับรองว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าส่งให้ กฟผ. ตามเงื่อนไขในสัญญา และจะต้องดำเนินการตาม Local Content Requirement ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของราคาค่าก่อสร้างโครงการ (8) กฟผ. และผู้พัฒนาโครงการต้องหารือการนำระบบ Generator Shedding Scheme มาใช้เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้า โดยผู้พัฒนาโครงการต้องติดตั้งและทดสอบระบบก่อนวัน Scheduled Energizing Date รวมทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทั้งนี้ กฟผ. จะไม่บังคับใช้บทปรับและเงื่อนไขความไม่พร้อมหากมีการทำ Generator Shedding และ (9) Tariff MOU และ PPA จะถูกบังคับและตีความตามกฎหมายไทย
4. ภายหลังจาก กพช. เห็นชอบมอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่าง Tariff MOU โครงการเซกอง 4A และ 4B แล้ว กฟผ. จะต้องดำเนินการลงนาม Tariff MOU ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจาก อส. แล้วกับผู้ลงทุนโครงการเซกอง 4A และ 4B และเจรจารายละเอียดของร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) กับผู้ลงทุนโครงการเซกอง 4A และ 4B โดยยึดกรอบ Tariff MOU เป็นแนวทางในการเจรจา พร้อมทั้ง นำรายละเอียดร่าง PPA ที่ได้จากการเจรจาเสนอต่อคณะอนุกรรมการประสานฯ และ อส. พิจารณา ให้ความเห็นชอบในรายละเอียด เพื่อนำเสนอ กพช. พิจารณามอบหมายให้ กฟผ. ลงนามใน PPA ต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการเซกอง 4A และ 4B และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) โครงการเซกอง 4A และ 4B ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว
2. เห็นชอบให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU โครงการเซกอง 4A และ 4B ในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า
สรุปสาระสำคัญ
1. กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม โครงการผลิตพลังงานทดแทน เพื่อการเกษตร และโครงการระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน โดยใช้งบประมาณภาครัฐซึ่งเป็นการดำเนินการ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาไฟฟ้าให้กับราษฎรในพื้นที่ห่างไกลที่ระบบไฟฟ้าฐานเข้าไม่ถึงได้มีไฟฟ้าใช้ในการดำรงชีวิต และจ่ายเข้าระบบจำหน่ายของการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า และบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของประเทศ ซึ่งเป็นการเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนต่อปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศ สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ และยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ พร้อมทั้งทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น
2. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ พพ. ดำเนินการมีการจ่ายไฟฟ้า 2 ประเภท คือ โครงการจ่ายไฟฟ้าแบบอิสระ (Off-grid) และโครงการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้า (On-grid) โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 โครงการจ่ายไฟฟ้าแบบอิสระ (Off-grid) เป็นโครงการที่ พพ. จัดหาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพและเหมาะสม โดยผลิตและจ่ายไฟฟ้าแก่ประชาชน หรือหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ห่างไกล ที่ไม่มีระบบไฟฟ้าฐาน ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 0.015 – 0.335 เมกะวัตต์ต่อแห่ง ประกอบด้วยโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กมาก 76 แห่ง และโครงการระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน 2 แห่ง รวมกำลังผลิต 3.253 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าให้ราษฎรกว่า 6,700 ครัวเรือน อุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง และโครงการหลวง 1 แห่ง รวมพลังงานไฟฟ้า ที่ผลิตได้ประมาณ 2 ล้านหน่วยต่อปี ทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 0.445 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1,169 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
2.2 โครงการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้า (On-grid) ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ พพ. ผลิตไฟฟ้าและบำรุงรักษา 27 แห่ง รวมกำลังผลิต 61.321 เมกะวัตต์ โดยจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้าแล้ว ดังนี้ (1) จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟภ. ในอัตราคงที่ 1.091 บาทต่อหน่วย จำนวน 20 แห่ง กำลังผลิต 36.464 เมกะวัตต์ ตามข้อตกลงการประชุมพิจารณาการจ่ายไฟฟ้าระหว่าง พพ. และ กฟภ. โดยดำเนินการตั้งแต่ปี 2524 – 2547 และจำหน่ายไฟฟ้าในอัตรา 2.9219 - 3.9085 บาทต่อหน่วย จำนวน 5 แห่ง กำลังผลิต 2.857 เมกะวัตต์ ตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) แบบ Off-Peak และ On-Peak และ (2) จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้าของ กฟผ. ในอัตรา 2.3567 - 4.2243 บาทต่อหน่วย จำนวน 2 แห่ง กำลังผลิต 22 เมกะวัตต์ ตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) แบบ Off-Peak และ On-Peak ทั้งนี้ รวมพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 125 ล้านหน่วยต่อปี ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 27.69 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 70,800 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และนำส่งรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าแก่กระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี ส่วนที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเพิ่มอีก จำนวน 27 แห่ง รวมกำลังผลิต 5.001 เมกะวัตต์ โดยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับ กฟภ. รับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 1.091 บาทต่อหน่วย คงที่ตลอดอายุโครงการ ซึ่ง พพ. ได้จัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว และจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบต่อไป และส่วนที่ 3 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่จะดำเนินการในปี 2565 – 2573 ตามแผน PDP จำนวน 26 แห่ง กำลังผลิตรวม 94.447 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก 17 แห่ง รวมกำลังผลิต 31.017 เมกะวัตต์ และระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำในพื้นที่อ่างเก็บน้ำของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก 9 แห่ง รวมกำลังผลิต 63.430 เมกะวัตต์ โดยทุกโครงการผ่านการศึกษาความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์แล้ว
3. การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของ พพ. มีปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอ การดำเนินการ ดังนี้ ส่วนที่ 1 การนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดยโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว จำนวน 20 แห่ง และโครงการที่ กพช. มีมติให้รับซื้อไฟฟ้า จำนวน 27 แห่ง นั้น โครงการที่มีกำลังผลิตรวมต่อแห่งตั้งแต่ 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าและต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และตามประกาศ กกพ. เรื่อง การนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าประเภทใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2553 ตามชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ดี เมื่อจำหน่ายไฟฟ้าแล้ว พพ. ไม่สามารถแบ่งรายได้ดังกล่าวนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าได้ เนื่องจากไม่ชัดเจนว่าราคาจำหน่ายไฟฟ้าในอัตราคงที่ 1.091 บาทต่อหน่วย รวมเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าด้วยหรือไม่ รายได้ที่ส่วนราชการได้รับไว้ทั้งหมดจึงต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายการเงินการคลัง ดังนั้น พพ. จึงมีข้อเสนอกำหนดให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า 1.091 บาทต่อหน่วย เป็นอัตราที่รวมเงินส่วนที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนฯ ตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไว้ด้วย ดังนี้ (1) การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ประกอบด้วย ค่าพลังงานไฟฟ้า 1.071 บาทต่อหน่วย และเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ 0.02 บาทต่อหน่วย และ (2) การผลิตไฟฟ้าจากพลังลมหรือแสงอาทิตย์ ประกอบด้วย ค่าพลังงานไฟฟ้า 1.081 บาทต่อหน่วย และเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ 0.01 บาทต่อหน่วย และส่วนที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ที่ พพ. จะดำเนินการในปี 2565 – 2573 ตามแผน PDP จำนวน 26 แห่ง เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จยังไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ เนื่องจากยังไม่มีนโยบายให้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว ดังนั้น พพ. จึงเห็นควรให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการในอัตราคงที่ 1.091 บาทต่อหน่วยตลอดอายุโครงการ โดยเป็นโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่ครอบคลุมเงินส่วนที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนฯ ตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไว้ด้วย
4. กบง. เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 ได้พิจารณาเรื่อง การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ดำเนินการโดย พพ. ตามแผน PDP และได้มีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบกำหนดให้อัตราค่าไฟฟ้าที่รับซื้อจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ดำเนินการโดย พพ. ในอัตราคงที่ 1.091 บาทต่อหน่วยตลอดอายุโครงการ เป็นโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่รวมเงินส่วนที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไว้ด้วยแล้ว (2) มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กฟภ. และ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ พพ. ดำเนินการตามแผน PDP จำนวน 26 แห่ง กำลังผลิตรวม 94.447 เมกะวัตต์ ในอัตราคงที่ 1.091 บาทต่อหน่วยตลอดอายุโครงการ โดยเป็นโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่รวมเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไว้ด้วยแล้ว ทั้งนี้ที่ประชุม กบง.ได้เห็นควรพิจารณาให้กรรมสิทธิ์ Renewable Energy Certificate (REC) ที่เกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ดำเนินการโดย พพ. เป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐ และให้ พพ. ประสานขอคำปรึกษาจาก กฟผ. ในการดำเนินการโครงการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ เพื่อให้โครงการสัมฤทธิ์ผล และมีประสิทธิภาพสูงสุด
5. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้มีความเห็นว่า การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ดำเนินการโดย พพ. เป็นโครงการที่สอดคล้องกับแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (แผน AEDP) และเป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐตามเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2570 รวมทั้งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่มีราคาถูก
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าที่รับซื้อจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ดำเนินการโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในอัตราคงที่ 1.091 บาทต่อหน่วยตลอดอายุโครงการ เป็นโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่รวมเงินส่วนที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไว้ด้วยแล้ว ดังนี้
2. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ พพ. ดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) จำนวน 26 แห่ง กำลังผลิตรวม 94.447 เมกะวัตต์ ในอัตราคงที่ 1.091 บาทต่อหน่วยตลอดอายุโครงการ โดยเป็นโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่รวมเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไว้ด้วยแล้ว
3. เห็นชอบให้กรรมสิทธิ์ Renewable Energy Certificate (REC) ที่เกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ดำเนินการโดย พพ. เป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐ
เรื่องที่ 9 การขอขยายกรอบการลงทุนของ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 เรื่อง การจัดตั้งบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (บริษัท EGATi) เพื่อเป็นตัวแทนในการลงทุนโครงการที่เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่น ที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในต่างประเทศ โดยมีทุน จดทะเบียนเบื้องต้นจำนวน 50 ล้านบาท และอนุมัติให้บริษัท EGATi สามารถ (1) ลงทุนและร่วมลงทุน ในต่างประเทศ รวมทั้งพิจารณาจัดตั้งบริษัทในเครือเพื่อการลงทุนได้ตามความเหมาะสม และ (2) ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนในอนาคตได้ตามความเหมาะสม ภายใต้กลไกการกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน (พน.) โดยแผนธุรกิจของบริษัท EGATi ประจำปี 2564 – 2573 กำหนดให้มีการลงทุนในธุรกิจใหม่ (S3: New S-Curve Development Portfolio) ในสัดส่วนร้อยละ 9 ของรายได้รวมภายในปี 2573 โดยมีธุรกิจประเภทวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ด้านพลังงานหรือกองทุนด้านพลังงานเป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งช่วยตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ กฟผ. ในส่วนของ Energy Solution for the Better Life และตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ประกอบกับบริษัท EGATi ได้มีโอกาสเจรจากับบริษัท Idinvest Partners (บริษัท Idinvest) และได้รับการเชิญ ให้ลงทุนในกองทุน Idinvest Smart City II (ISC II) ซึ่งเป็นกองทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมประเภท New Energy, Mobility, Smart Supply, Property Tech และ Industrial Tech โดยบริษัท EGATi ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการลงทุนในกองทุน ISC II แล้วเสร็จและได้มีหนังสือถึง กฟผ. เพื่อขอให้พิจารณาเห็นชอบรายละเอียดการลงทุนในกองทุน ISC II ซึ่งได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท EGATi ในการประชุม ครั้งที่ 15/2563 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ คณะกรรมการ กฟผ. ในการประชุม ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบรายละเอียดการลงทุนในกองทุน ISC II ตามที่บริษัท EGATi เสนอ พร้อมทั้งนำเสนอ พน. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ซึ่งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 บริษัท EGATi ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบในการลงทุนโครงการ ISC II ของบริษัท EGATi ตามที่ได้มีการหารือ ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในประเด็นการลงทุนในกองทุน ISC II ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบัญชีและการเงินของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2548 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2550 ทั้งนี้ พน. เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ได้มีการประชุมหารือเพิ่มเติม เรื่อง การลงทุนในกองทุนISC II ของบริษัท EGATi โดย พน. เห็นสมควรให้ กฟผ. พิจารณากำหนดกรอบความร่วมมือในการลงทุนด้านธุรกิจนวัตกรรมของบริษัทในเครือให้มีความชัดเจนและพิจารณาดำเนินการนำเสนอ ครม. พิจารณาขยายกรอบการพิจารณาของ พน. ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 ในการลงทุนและร่วมทุนในต่างประเทศของบริษัท EGATi เพื่อให้ครอบคลุมถึงการลงทุนในกองทุนดังกล่าวอย่างชัดเจนและเหมาะสมต่อไป
2. คณะกรรมการ กฟผ. ในการประชุมครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ได้มอบหมายให้ กฟผ. และบริษัท EGATi กำหนดกรอบความร่วมมือในการลงทุนด้านธุรกิจนวัตกรรมระหว่างบริษัท EGATi และบริษัทในเครือของ กฟผ. ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และพิจารณาดำเนินการให้การลงทุนในกองทุนในลักษณะดังกล่าวอยู่ภายใต้กลไกการกำกับดูแลบริษัท EGATi ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 วาระ การจัดตั้งบริษัท EGATi ซึ่งกำหนดให้ กฟผ. เสนอ พน. พิจารณาการลงทุนของบริษัท EGATi ต่อมา กฟผ. เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ได้มีหนังสือ เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุน ISC II ของบริษัท EGATi ถึง พน. เสนอพิจารณาเห็นชอบการลงทุนในกองทุน ISC II ของบริษัท EGATi โดยเสนอขยายกรอบการพิจารณาการลงทุนของบริษัท EGATi ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 เพื่อให้บริษัท EGATi สามารถลงทุนในพันธบัตรหุ้นกู้ หลักทรัพย์อื่นของบริษัทใดๆ และกองทุนประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมทางด้านพลังงานไฟฟ้าหรือธุรกิจนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าที่เกี่ยวเนื่อง หรือต่อเนื่องกับกิจการ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในต่างประเทศ
3. การจัดตั้งบริษัท EGATi ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 มีการกำหนดกลไกการกำกับดูแลและเงื่อนไข ดังนี้ ข้อ 1 กำหนดกลไกในการกำกับดูแลเพื่อป้องกันปัญหาการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าไม่มี ความโปร่งใสในกรณีที่มีการซื้อไฟฟ้า กฟผ. จากโครงการของบริษัทฯ ในประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาการกีดกันภาคเอกชนหรือการเลือกปฏิบัติต่อผู้ลงทุนอื่น ในช่วงที่ยังไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน ให้ พน. แต่งตั้งคณะผู้ชำนาญการอิสระที่เป็นกลาง เป็นผู้พิจารณากลั่นกรองสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือข้อผูกพันอื่นระหว่าง กฟผ. กับบริษัท EGATi หรือกับโครงการ ที่บริษัท EGATi เข้าร่วมทุนด้วย ประกอบการพิจารณาของ กพช. (ยกเว้นโครงการที่ กพช. เห็นชอบไปแล้ว) ข้อ 2 ในการลงทุนและร่วมทุนในต่างประเทศของบริษัท EGATi ให้ กฟผ. ขอความเห็นชอบจาก พน. ก่อนเป็นรายโครงการ โดยโครงการที่มีประเด็นนโยบายพิเศษให้นำเสนอ กพช. ให้ความเห็นชอบ ข้อ 3 ในการเพิ่มทุน จดทะเบียนของบริษัท EGATi ในอนาคตให้ กฟผ. ขอความเห็นชอบจาก พน. ก่อน และเมื่อมีการจัดตั้ง กกพ. ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงานแล้ว ให้ กฟผ. นำเสนอการเพิ่มทุนฯ ต่อ กกพ. พิจารณาผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าขายส่งด้วย และข้อ 4 ในขณะที่บริษัท EGATi ยังมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ให้บริษัท EGATi ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กฏ ระเบียบ ข้อบังคับ และมติ ครม. ที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทั่วไป เพื่อให้ การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจมีความสอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
4. ด้วยแผนธุรกิจของบริษัท EGATi ประจำปี 2564 – 2573 กําหนดให้มีการลงทุนในธุรกิจใหม่ (S3: New S-Curve Development Portfolio) ในสัดส่วนร้อยละ 9 ของรายได้รวมภายในปี 2573 โดยมีธุรกิจประเภทวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ด้านพลังงานหรือกองทุนด้านพลังงานเป็นทางเลือกหนึ่ง ดังนั้นเพื่อให้บริษัท EGATi สามารถลงทุนในกองทุนตามแผนธุรกิจของบริษัท ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ กฟผ. ในการเพิ่มศักยภาพ เพื่อนำมาต่อยอดกับธุรกิจพลังงานในประเทศไทยผ่านบริษัท EGATi ดังนั้น กฟผ. จึงเห็นควรขอขยายกรอบกลไกการกำกับดูแลและเงื่อนไข เรื่องการลงทุนและการร่วมทุนโครงการของบริษัท EGATi ในมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 จากเดิม “ข้อ 2 ในการลงทุนและร่วมทุนในต่างประเทศของบริษัท EGATi ให้ กฟผ. ขอความเห็นชอบจาก พน. ก่อนเป็นรายโครงการ โดยโครงการที่มีประเด็นนโยบายพิเศษให้นำเสนอ กพช. ให้ความเห็นชอบ” เป็น “ข้อ 2 ในการลงทุนและร่วมทุนในต่างประเทศของบริษัท EGATi ให้ กฟผ. ขอความเห็นชอบจาก พน. ก่อนเป็นรายโครงการ ให้หมายรวมถึง การลงทุนในพันบัตร หุ้นกู้ หลักทรัพย์อื่นของบริษัทใดๆ และกองทุนประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมทางด้านพลังงานไฟฟ้าหรือธุรกิจนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าที่เกี่ยวเนื่องหรือต่อเนื่องกับกิจการของ กฟผ. ในต่างประเทศ” ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือรับรอง การจดทะเบียนบริษัท EGATi ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกให้ ณ วันที่ 2 มีนาคม 2564 ระบุวัตถุประสงค์ ของบริษัทในส่วนที่รองรับจากการขอขยายกรอบการลงทุนเพิ่มเติมของบริษัท ดังนี้ ข้อ (6) ลงทุนหรือเข้าหุ้น ในกิจการค้าใดๆ ไม่ว่าโดยวิธีการใดๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์และกิจการที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับวัตถุประสงค์ ของบริษัทหรือลงทุนในหลักทรัพย์หรือหลักประกันอื่น หรือเข้าร่วมกิจการหรือร่วมค้ากับบุคคลอื่นหรือให้บุคคลอื่นเข้าร่วมกิจการหรือร่วมค้าด้วย หรือเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์อยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของบริษัทเช่นกัน และ ข้อ (7) ลงทุนในหุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ และหลักทรัพย์อื่นของบริษัทใดๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์อยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของบริษัท ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการดำเนินการดังกล่าวมิได้ทำเป็นการค้า โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการขยายกรอบการพิจารณาการลงทุนของบริษัท EGATi ได้แก่ (1) ช่วยสร้างการเติบโตและตอบสนองต่อแผนธุรกิจของบริษัท EGATi ที่มีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนและมูลค่าเพิ่มที่เหมาะสมให้แก่บริษัท EGATi และ กฟผ. (2) สามารถสนับสนุน การดำเนินงานหรือส่งมอบสิทธิประโยชน์ในการลงทุนดังกล่าวให้กับ กฟผ. และบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ได้ในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ กฟผ. ในการเพิ่มศักยภาพเพื่อนำมาต่อยอดกับธุรกิจพลังงานในประเทศไทยผ่านบริษัท EGATi และ (3) ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ กฟผ. ในส่วนของ Energy Solution for the Better Life และตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างนวัตกรรมต่างๆ
5. พน. ได้พิจารณาข้อเสนอการขยายกรอบการลงทุนของบริษัท EGATi ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 แล้ว เห็นว่ายังคงสอดคล้องกับหลักการดำเนินธุรกิจตามมติ ครม. ดังกล่าว ซึ่งให้ บริษัท EGATi เป็นตัวแทนของ กฟผ. ในการลงทุนโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการของ กฟผ. ในต่างประเทศ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบริษัท EGATi ตามหนังสือรับรอง การจดทะเบียนบริษัท EGATi ลงวันที่ 2 มีนาคม 2564 อีกทั้งเป็นการรองรับรูปแบบธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้น โดยบริษัท EGATi สามารถลงทุนในพันธบัตรหุ้นกู้ หลักทรัพย์อื่นของบริษัทใดๆ และกองทุนประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมทางด้านพลังงานไฟฟ้าหรือธุรกิจนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าที่เกี่ยวเนื่องหรือต่อเนื่องกับกิจการ ของ กฟผ. ในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตและตอบสนองต่อแผนธุรกิจของบริษัท EGATi ที่มีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนและมูลค่าเพิ่มที่เหมาะสมให้แก่บริษัท EGATi และ กฟผ. ได้ในอนาคต ทั้งนี้ พน.จะกำกับดูแลและติดตามการลงทุนดังกล่าวให้มีความสอดคล้องหรือเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และเป็นไปตามระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป พร้อมเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบเพื่อให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุม ครม. พ.ศ. 2548 มาตรา 4 (9) ซึ่งระบุว่า เรื่องที่ขอทบทวนหรือยกเว้นการปฏิบัติตามมติของ ครม. ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศตาม (6) ต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบทบทวนมติคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2550 (ครั้งที่ 116) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 ข้อที่ 2 ในส่วนของกลไกการกำกับดูแลและเงื่อนไข เรื่องการลงทุนและการร่วมทุนโครงการของบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยขยายกรอบการพิจารณาการลงทุนและร่วมทุน เป็นดังนี้ “ในการลงทุนและร่วมทุนในต่างประเทศของบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยขอความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงานก่อนเป็นรายโครงการ โดยให้หมายรวมถึง การลงทุนในพันบัตร หุ้นกู้ หลักทรัพย์อื่นของบริษัทใดๆ และกองทุนประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมทางด้านพลังงานไฟฟ้าหรือธุรกิจนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าที่เกี่ยวเนื่องหรือต่อเนื่องกับกิจการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในต่างประเทศ และสำหรับโครงการที่มีประเด็นนโยบายพิเศษให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ”
2. มอบหมายกระทรวงพลังงาน นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
กบง.ครั้งที่ 9/2565 (ครั้งที่ 47) วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 9/2565 (ครั้งที่ 47)
วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
1. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤติพลังงาน
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤติพลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและประเทศยูเครน โดยปัจจุบันยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ ผู้ซื้อน้ำมันในหลายประเทศยังคงหลีกเลี่ยงการซื้อน้ำมันจากสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งทำให้อุปทานในตลาดโลกปรับตัวลดลง ขณะที่อุปสงค์ในตลาดมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในทวีปเอเชียมีแนวโน้มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับการกลับมาเปิดเมืองของหลายประเทศ ส่งผลให้ ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 108.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันเบนซินตลาดสิงคโปร์อยู่ที่ระดับ 157.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล (500 PPM) อยู่ที่ระดับ 138.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปกับราคาน้ำมันดิบ (Crack Spread) เริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากหลายประเทศออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ต่อสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก ทำให้อุปทานในตลาดตึงตัว ประกอบกับประเทศจีนลดการส่งออกน้ำมันเพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศ รวมถึงอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากการ เปิดประเทศในทวีปเอเชีย ส่งผลให้ส่วนต่างราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซล (500 PPM) กับราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยอยู่ที่ 38.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยอยู่ที่ 37.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปกับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะวิกฤติพลังงาน ดังกล่าว โดยเฉพาะส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลกับราคาน้ำมันดิบดูไบ ส่งผลให้กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันมีกำไรขั้นต้น จากการกลั่นไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน ในไตรมาส 1 ของปี 2565 อยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก และส่วนต่างราคาของน้ำมันสำเร็จรูปกับราคาน้ำมันดิบในครึ่งปีหลังของปี 2565 จะยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากอุปสงค์ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์และการเปิดประเทศ รวมถึงอุปทานตึงตัวจากโควตาการส่งออกที่ลดลงของประเทศจีน ซึ่งจะส่งผลต่อระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่อยู่ในระดับสูง
2. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอให้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤติพลังงาน ภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 2.7 ของคำสั่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ 3/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ลงวันที่ 31 มกราคม 2563 โดยมีองค์ประกอบ 7 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทน เป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ผู้แทนกรมการค้าภายใน เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มีอนุกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนกรมธุรกิจพลังงาน ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ (1) ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และส่วนต่างของราคาน้ำมันดิบกับน้ำมันสำเร็จรูป เพื่อพิจารณาต้นทุน กำไร จากการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศและการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศในช่วงวิกฤติราคาพลังงาน (2) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ มาตรการ และเงื่อนไขในการประมาณการต้นทุน กำไร จากการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ และการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศในช่วงวิกฤติราคาพลังงานให้มีความเหมาะสม (3) เสนอแนะแนวทาง มาตรการ และการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤติพลังงานให้มีความเหมาะสม (4) รายงานผลการดำเนินงานต่อ กบง. (5) ประสานงานและเชิญผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือบุคคลใดๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงข้อมูล ให้คำอธิบาย คำแนะนำ และจัดส่งเอกสารตามที่เห็นควร และ (6) ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
มติของที่ประชุม
เห็นชอบร่างคำสั่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ที่ .. /2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤติพลังงาน และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอประธานกรรมการบริหารนโยบายพลังงานพิจารณาลงนามต่อไป
กบง.ครั้งที่ 8/2565 (ครั้งที่ 46) วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2565
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 8/2565 (ครั้งที่ 46)
วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2565
1. ผลการดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565
2. อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1
3. อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 - 2573
4. ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการปากแบง
5. ร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) โครงการเซกอง 4A และ 4B
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 ผลการดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และวันที่ 6 มกราคม 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 โดยในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน (คณะอนุกรรมการฯ) ที่แต่งตั้งภายใต้ กบง. ติดตามแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติปี 2565 ตามมติ กพช. ซึ่งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 และวันที่ 9 มีนาคม 2565 กบง. และ กพช. ได้รับทราบความก้าวหน้าตามแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 แล้ว ตามลำดับ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการประชุมไปแล้ว 9 ครั้ง และรายงานผลดำเนินการในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 ได้เห็นชอบให้นำผลการดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ เสนอต่อ กบง. เพื่อทราบต่อไป
2. การดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 มีรายละเอียด ดังนี้
2.1. หลักการทำงานและแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติปี 2565 มีดังนี้ (1) กำหนดบทบาทการดำเนินการแต่ละหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่ โดยกระทรวงพลังงาน (พน.) จะเป็นหน่วยหลักในการติดตามการบริหารจัดการให้มีก๊าซธรรมชาติเพียงพอจากสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากแหล่งเอราวัณไม่สามารถผลิตก๊าซได้ตามเป้าหมายที่กำหนดภายในปี 2565 ในขณะที่การดำเนินการจัดหา/จัดสรรปริมาณนำเข้า LNG ในภาพรวมจะดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ซึ่งให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้จัดสรรปริมาณการนำเข้า LNG และกำกับดูแล และ (2) กำกับการดำเนินการโดยคำนึงถึงผลกระทบค่าไฟฟ้าที่จะมีต่อประชาชนน้อยที่สุด โดยพิจารณาลำดับการเลือกใช้ชนิดเชื้อเพลิงมาบริหารจัดการก่อนและหลังตามลำดับสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตต่ำสุด (Merit Order) ตามที่ กกพ. ให้ความเห็นชอบ
2.2. คณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมหารือ โดยมีผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้ (1) เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ที่ประชุมได้รับทราบรายงานการนำเข้า LNG Spot โดยสำนักงาน กกพ. รายงานว่า กกพ. ได้อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเข้า LNG Spot จำนวน 2 ลำเรือ ในวันที่ 29 เมษายน 2565 และวันที่ 28 พฤษภาคม 2565 โดย LNG ที่จัดหาได้มีราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซล ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำมันทดแทนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าลดลงค่อนข้างมาก จากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลสูงสุดเดิมในเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ 19 ล้านลิตรต่อวัน และเดือนมิถุนายน 2565 ที่ 10.3 ล้านลิตรต่อวัน หลังอนุมัติการนำเข้า LNG ดังกล่าวทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลเดือนพฤษภาคม 2565 ลดลงเหลือ 13.5 ล้านลิตรต่อวัน และเดือนมิถุนายน 2565 เหลือ 6.3 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งเป็นความสามารถที่ กฟผ. สามารถดำเนินการได้ในปัจจุบัน รวมทั้งอาจมีการนำเข้า LNG เพิ่มเติมได้ในอนาคต โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายให้สำนักงาน กกพ. จัดทำแผนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้าที่ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นที่ผู้ค้าน้ำมันต้องเตรียมการเพื่อจัดหาน้ำมัน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถร่วมกันดำเนินการให้เป็นไป ตามแผน นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการฯ นำประเด็นที่กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้หารือกับผู้ค้าน้ำมันและเห็นว่าควรพิจารณายกเว้นสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว นำเสนอต่อ กบง. และ (2) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 คณะอนุกรรมการฯ ได้รับทราบแผนการจัดหาเชื้อเพลิงในสภาวะวิกฤติราคาพลังงาน ตามที่ กกพ. ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 ซึ่งมีการกำหนดการนำเข้า LNG Spot ต้นทุนต่ำให้มากขึ้น โดยในเดือนพฤษภาคม 2565 จะพิจารณานำเข้า LNG Spot จำนวน 4 ลำ และมีการใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า 8.1 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่ง กกพ. จะทบทวนแผนเป็นรายเดือนโดยพิจารณาจากต้นทุนต่ำสุด ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้ขอให้สำนักงาน กกพ. จัดทำแผนการจัดหาเชื้อเพลิงในสภาวะวิกฤติราคาพลังงานอย่างชัดเจน เพื่อให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการร่วมกันให้เป็นไปตามแผนและลดผลกระทบที่จะเป็นภาระต่อประชาชน
3. ผลการทบทวนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยมีการปรับปรุงแนวทางบริหารจัดการตาม Merit order แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่ม 1 ต้นทุนต่ำ ได้แก่ (1) จัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเต็มความสามารถ โดยเร่งการผลิตก๊าซจากแหล่งอาทิตย์ การทำ CO2 Relaxation และเร่งการขุดเจาะหลุม Infill เป็นต้น (2) เลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 และ (3) รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิมชีวมวล ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการเปิดรับซื้อไฟฟ้า คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2565 โดยพบว่า การปรับปรุงแนวทางตาม (1) (2) และ (3) สามารถทดแทนการนำเข้า LNG Spot ได้ 0.33 ล้านตัน 0.28 ล้านตัน และ 0.17 ล้านตัน ตามลำดับ กลุ่ม 2 พิจารณาตามต้นทุน ได้แก่ (4) จัดหา LNG และ (5) เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า โดยสำนักงาน กกพ. จะมีการทบทวนแผน เป็นรายเดือน ซึ่งการปรับปรุงแนวทางตาม (4) และ (5) สามารถทดแทนการนำเข้า LNG Spot ได้ 2.162 ล้านตัน และ 1.64 ล้านตัน ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 ฉบับปรับปรุง ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ติดตามและให้ข้อเสนอแนะการบริหารจัดการเชื้อเพลิงทดแทนการนำเข้า LNG Spot โดยกระทรวงพลังงานสามารถจัดหาเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำทดแทนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติตามมติ กพช. เพื่อชดเชยก๊าซที่จะหายไปในช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งเอราวัณ 1.8 ล้านตัน และการจัดหา LNG เพื่อการแข่งขัน 2.7 ล้านตัน รวม 4.5 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนด โดย ณ วันที่ 20 เมษายน 2565 สามารถจัดหาเชื้อเพลิงทดแทนสะสมได้ 2.07 ล้านตัน เทียบเท่า LNG Spot สูงกว่าแผนที่กำหนด ณ สิ้นเดือนเมษายน 2565 ที่ 1.32 ล้านตัน เทียบเท่า LNG Spot ส่งผลให้ลดการจัดหา LNG ลงและเกิดความมั่นคงทางพลังงาน อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ราคา LNG Spot ที่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซลหรือน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้า กกพ. จะมีการทบทวนแผนรายเดือนเป็นระยะ ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดแผนการใช้น้ำมันและ LNG ที่เหมาะสมสำหรับเดือนมิถุนายน – ธันวาคม 2565 โดยหากได้ข้อสรุปสำนักงาน กกพ. จะแจ้งต่อกระทรวงพลังงานเพื่อปรับแผนต่อไป
4. การดำเนินการระยะต่อไป ประกอบด้วย (1) การติดตามการปรับปรุงแผนปฏิบัติการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 ของเดือนมิถุนายน - ธันวาคม 2565 โดยสำนักงาน กกพ. จะพิจารณาสรุปผล การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มจาก SPP และ/หรือ VSPP และแจ้งต่อกระทรวงพลังงานทราบเพื่อให้การกำกับดูแลและบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ และ (2) การยกเว้นสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว โดยเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 คณะอนุกรรมการฯ ได้รับทราบการขอยกเว้นสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายสำหรับการผลิตไฟฟ้าตามแผนการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 โดยมอบหมายให้ ธพ. ดำเนินการออกประกาศ ธพ. ว่าด้วยกำหนดชนิดและอัตรา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง และแจ้งมติดังกล่าวต่อผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ให้ยื่นขอความเห็นชอบเปลี่ยนแปลงปริมาณการค้าตามขั้นตอนต่อไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
สรุปสาระสำคัญ
1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) กำหนดให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานงานหมุนเวียนจากโรงไฟฟ้าขยะปริมาณ 400 เมกะวัตต์ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ในปี 2565 โดยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบการทบทวนปรับปรุงแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 โดยกำหนดให้รับซื้อไฟฟ้า จากขยะชุมชนปริมาณ 400 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ปี 2567 – 2568 ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้พิจารณาการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 และได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอหลักการและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT ปี 2565 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมภายใต้กรอบอัตราสูงสุดแล้วแต่กรณี เพื่อใช้เป็นอัตราในการประกาศรับซื้อไฟฟ้า แล้วรายงานให้ กบง. ทราบและออกระเบียบ การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 ให้เป็นไปตามข้อเสนอหลักการรับซื้อไฟฟ้า จากขยะชุมชนที่ได้รับความเห็นชอบ โดยมติดังกล่าวกำหนดสำหรับโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 23 โครงการ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 215 เมกะวัตต์ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มท.) ได้เสนอในที่ประชุม กพช. ขอให้พิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้าโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพิ่มเติมจากที่ กพช. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 อีก 11 โครงการ รวมทั้งสิ้น 34 โครงการ ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าเดิม ตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 โดย กพช. ได้มีมติมอบหมายให้ กบง. พิจารณาข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มเติมของ มท. และนำเสนอ กพช. ให้ความเห็นชอบ ซึ่งเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 กบง. ได้พิจารณาการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน ปี 2565 เพิ่มเติม โดยมีมติเห็นชอบเพิ่มเติมโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ อปท. มท. 11 โครงการ โดยใช้แนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564
2. กกพ. ได้วิเคราะห์อัตรารับซื้อไฟฟ้าสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนเสนอต่อกระทรวงพลังงาน (พน.) พิจารณาเพื่อออกระเบียบและประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าตามนโยบาย โดยการวิเคราะห์ของ กกพ. กรณีอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 เปรียบเทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง (Wholesale) รวมค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ขายส่ง พบว่า (1) กรณีให้การรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะชุมชนไม่เกิดผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าของประชาชนตามหลักการที่ กพช. กำหนด รัฐควรรับซื้อไฟฟ้าด้วยอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งรวมค่า Ft ขายส่ง (2) กรณีรัฐมีนโยบายสนับสนุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนให้ได้รับผลตอบแทนการลงทุนและกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ตามกรอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าสูงสุดที่ กพช. กำหนด จะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense)ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ มท. แจ้งความคืบหน้าโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจาก รมว.มท. จำนวน 32 โครงการในขณะนั้นมายังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) พบว่า โครงการที่ได้รับความเห็นชอบ 23 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้า 212.07 เมกะวัตต์ จะมีผลกระทบค่าไฟฟ้า 1.127 สตางค์ต่อหน่วยต่อปี มีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจาก Policy Expense ที่อายุโครงการ 20 ปี ประมาณ 50,000 ล้านบาท และโครงการที่ได้รับความเห็นชอบ 32 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้า 272.98 เมกะวัตต์ จะมีผลกระทบค่าไฟฟ้า 1.586 สตางค์ต่อหน่วยต่อปี และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจาก Policy Expense ประมาณ 70,000 ล้านบาท
3. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) มท. ได้มีข้อเสนอให้พิจารณายกเลิกมติ กพช. เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 โดยให้โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ อปท. จำนวน 34 โครงการ ดำเนินการตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 และวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 และหากจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ขอให้แจ้ง สถ. เพื่อแจ้งจังหวัดรับทราบและใช้ประกอบการศึกษาโครงการที่จะเสนอในอนาคต โดยมีความเห็นดังนี้ (1) โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐที่กำหนดให้การแก้ไขปัญหาขยะ มูลฝอยของประเทศเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งประเทศไทยมีขยะตกค้าง 5.3 ล้านตันต่อปี โดยการกำจัดขยะส่วนใหญ่ใช้วิธีฝังกลบโดยไม่มีการคัดแยกทำให้มีปัญหาในการจัดหาพื้นที่กำจัดขยะและการต่อต้านจากประชาชน ดังนั้น การจัดการโดยการเผาเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและลดปริมาณขยะได้อย่างรวดเร็ว โดยหากเป็นการเผาที่ไม่ได้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจะทำให้ อปท. มีค่ากำจัดขยะเกินกว่างบประมาณในการจัดการ และ (2) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP 2018) สนับสนุน การแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดย กพช. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 และวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ได้มีมติกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนสำหรับ VSPP และ SPP ตามลำดับ โดย มท. ได้กำหนดแนวทางการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอยของ อปท. ในการศึกษาและจัดทำโครงการเสนอต่อคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยของกระทรวงพิจารณา ทั้งนี้ อปท. ได้คัดเลือกเอกชนผู้ดำเนินการโดยใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ตามมติ กพช. ดังกล่าวเป็นฐานการคำนวณต้นทุนโครงการ ดังนั้น หากอ้างอิงอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 อปท. จะต้องทบทวนโครงการใหม่ โดยใช้เวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 3 - 5 ปี ซึ่งมีผลกระทบต่อการจัดการขยะที่อาจทำให้มีขยะตกค้างสะสมมากกว่า 30,658,175 ตัน
4. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้มีความเห็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ จากโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าของ อปท. ดังนี้ (1) โครงการดังกล่าวสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย ของแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 - 2564 และร่างแผนปฏิบัติการ ด้านการจัดการขยะของประเทศ พ.ศ. 2565 - 2570 ที่ต้องการให้ขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของปริมาณที่เกิดขึ้น และขยะมูลฝอยตกค้างได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการร้อยละ 100 ภายในสิ้นสุดแผน โดยจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาขยะ มูลฝอยชุมชนควบคู่กับการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีขยะมูลฝอยสะสมจำนวนมากหรือมีข้อจำกัด ในการหาพื้นที่ฝังกลบขยะ รวมทั้งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย พ.ศ. 2564 - 2573 สาขาพลังงาน ในส่วนของแผนงานการพัฒนาพลังงานจากขยะ ซึ่งคาดว่าจะมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 450 เมกะวัตต์ และศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจก 1.63 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) รวมถึงสาขาการจัดการของเสียชุมชน ในส่วนกิจกรรมการเผาขยะมูลฝอยในเตาเผา เพื่อผลิตพลังงาน มีศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจก 0.46 MtCO2eq โดยสามารถเทียบเท่าการดูดกลับก๊าซ เรือนกระจกของพื้นที่ป่าที่มีอายุการเจริญเติบโตตั้งแต่ 5 - 20 ปี ซึ่งกรณีไม้โตช้าจะใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 3,160,625 ไร่ และกรณีไม้โตเร็วจะใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 488,688 ไร่ จึงต้องเร่งผลักดันการดำเนินงานและเพิ่มสัดส่วนของการพัฒนาพลังงานขยะให้สอดรับกับการยกระดับการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ที่จะถูกยกระดับเป็นร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 หากได้รับการสนับสนุนด้านการเงินและเทคโนโลยีที่เหมาะสมและเพียงพอ และ (2) การพิจารณาดำเนินโครงการของ อปท. ต้องให้ความสำคัญกับสถานที่ตั้ง ความเหมาะสมของเทคโนโลยีที่ใช้กับปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม การยอมรับของประชาชน และผลประโยชน์ที่ อปท. จะได้รับ เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
5. ฝ่ายเลขานุการฯ มีความเห็นว่า ตามที่ กบง. เห็นชอบการทบทวนปรับปรุงแผนการเพิ่ม การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 โดยกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนปริมาณ 400 เมกะวัตต์ กำหนดวัน SCOD ในปี 2567 – 2568 ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการกำกับติดตามการดำเนินโครงการ จึงเห็นควรกำหนดวัน SCOD สำหรับโครงการกำจัดขยะ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ อปท. เป็นภายในปี 2568 - 2569 โดยให้ กกพ. กำกับติดตามการดำเนินโครงการ ให้เป็นไปตามแผนงานและสอดคล้องกับแผน PDP และแผน AEDP
6. สำนักงานโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้หารือร่วมกันและเห็นควรกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ตามกรอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าสูงสุดตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 เพื่อใช้สำหรับการออกระเบียบและประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้า ปริมาณรับซื้อรวมไม่เกิน 400 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ อปท. ที่ได้รับความเห็นชอบจาก รมว.มท. แล้ว มีจำนวน 34 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 282.98 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการของ มท. เพื่อให้ได้ปริมาณเสนอขายครบ 400 เมกะวัตต์ โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน ดังนี้ (1) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับ VSPP ปี 2565 ที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 เมกะวัตต์ อัตรา FiTF FiTV,2568 และ FiT อยู่ที่ 2.39 2.69 และ 5.08 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี มี FiT Premium 8 ปีแรก อยู่ที่ 0.70 บาทต่อหน่วย และ (2) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับ SPP ปี 2565 ที่กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 แต่ไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ อัตรา FiTF FiTV,2568 และ FiT อยู่ที่ 1.81 1.85 และ 3.66 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี โดยอัตรา FiTv จะปรับเปลี่ยน ตามประกาศของ กกพ.
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) โดยอัตราดังกล่าวใช้สำหรับ จำนวน 34 โครงการ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 282.98 เมกะวัตต์ และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ เชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2568 – 2569
2. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ตามข้อ 1
3. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณา ให้ความเห็นชอบต่อไป
เรื่องที่ 3 อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 - 2573
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ประกอบด้วยโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบติดตั้งบนหลังคาบ้าน และแบบติดตั้ง บนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 กพช. ได้เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปี 2558 เพื่อใช้เป็นอัตราเริ่มต้นในการแข่งขันด้านราคา จากนั้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 กพช. ได้เห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ เป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 และมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ทบทวนปรับปรุงแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ให้สอดคล้องกับข้อเสนอการดำเนินการระยะเร่งด่วน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ตามเป้าหมาย ที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศ โดยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 กบง. ได้เห็นชอบการทบทวนปรับปรุงแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 ซึ่งมีแผนการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน ได้แก่ การพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ และปรับลดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วง 10 ปีข้างหน้า (ปี 2564 - 2573)
2. กระทรวงพลังงาน (พน.) โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ศึกษาการทบทวนต้นทุนในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและแนวทางการบริหารจัดการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และ พน. ได้จัดทำอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT สำหรับพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และพลังงานลม สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2565 – 2573 ให้สอดคล้องกับแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 และสามารถบรรลุเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ได้ตามที่กำหนด โดยจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายภาคพลังงานของประเทศ ในช่วงที่ทั่วโลกมีสถานการณ์วิกฤตพลังงานที่ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันเชื้อเพลิงมีความผันผวนสูงและส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจต่างๆ ให้น้อยลง นอกจากนี้ แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของหลายประเทศ โดยเฉพาะยุโรปที่ได้ออกนโยบายเร่งด่วนให้เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นการพึ่งพาตัวเองและลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการราคาค่าไฟฟ้าในอนาคตให้มีเสถียรภาพมากขึ้นได้
3. พน. ได้ทบทวนปรับปรุงแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) (แผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม)) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านพลังงานในปัจจุบัน ศักยภาพของประเทศ ความเหมาะสมกับต้นทุนและแนวโน้มเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลด การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ และสอดคล้องกับหลักการจัดทำอัตรารับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 โดยมีหลักการสำคัญในการปรับปรุงแผน ดังนี้ (1) กำหนดลำดับประเภทพลังงานหมุนเวียนที่จะส่งเสริม (Priority) โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาลำดับประเภทพลังงานหมุนเวียนที่จะส่งเสริม ดังนี้ ด้านพื้นที่ตั้งโครงการ ส่งเสริมพลังน้ำขนาดเล็ก ก๊าซชีวภาพ ขยะชุมชน และพลังงานลม ตามลำดับ ด้านความต้องการของระบบไฟฟ้า ส่งเสริม Solar+BESS และด้านราคาต้นทุน ส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ชีวมวล และขยะอุตสาหกรรม ตามลำดับ (2) พิจารณาศักยภาพการพัฒนาโครงการของแต่ละประเภทเชื้อเพลิง โดยพิจารณาเชื้อเพลิงที่มีศักยภาพในการจ่ายไฟฟ้า เข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ได้เร็ว และมีอุปสรรคในการพัฒนาโครงการต่ำ และ (3) ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจาก Solar+BESS เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทที่มีความไม่แน่นอนสูงให้สามารถบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ แผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม) มีสาระสำคัญของการปรับปรุงแผน คือ การปรับกำหนดวัน SCOD ให้สอดคล้องกับสถานการณ์
4. หลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 มีดังนี้ (1) รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ขนาดกำลังผลิตตามสัญญาไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ กลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ในรูปแบบสัญญา Non-Firm สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน พลังงานลม และก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และในรูปแบบสัญญา Partial-Firm สำหรับ Solar+BESS โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า ในรูปแบบ FiT (2) ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ามีเป้าหมายและกำหนดวัน SCOD ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม) (3) เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยมีอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้า 20 – 25 ปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดการลงทุนใหม่ รองรับความทันสมัยของการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการคิดระยะเวลาที่ภาครัฐให้การสนับสนุนครอบคลุม Loan Repayment แล้ว (4) พน. สนพ. กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้หารือร่วมกันโดยมีข้อสรุปว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 จะใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกที่พิจารณาถึงความพร้อมทั้งด้านราคา คุณสมบัติ และเทคนิคร่วมกัน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นว่าโครงการที่ได้รับคัดเลือกจะมีความเป็นไปได้สูงในการพัฒนาโครงการให้สำเร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามแผนที่กำหนด ด้วยราคาที่ไม่สร้างภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในระยะยาวให้ประเทศ โดยไม่ใช้วิธีการแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) ซึ่งอาจมีปัญหากรณีที่ผู้พัฒนาโครงการไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันกำหนดวัน SCOD หรือมีปัญหาไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่เป็นไปตามแผน โดยมีกรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกโครงการ ดังนี้ 1) การพิจารณาด้านราคา โดย พน. จะเป็นผู้กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าในอนาคตของเชื้อเพลิงแต่ละประเภท และเป็นราคาที่จะไม่สร้างภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในระยะยาวให้แก่ประเทศ โดยผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายต้องรับและปฏิบัติตามอัตรา ค่าไฟฟ้าที่กำหนด 2) ด้านคุณสมบัติ จะตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไข อาทิ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคล ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ไม่เป็นหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำและวางหลักค้ำประกันการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้ามูลค่าตามที่กำหนดโครงการที่ยื่นข้อเสนอต้องเป็นโครงการใหม่และไม่มีลักษณะต้องห้าม เป็นต้น โดยผู้ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเท่านั้นที่จะได้รับการพิจารณาด้านเทคนิคต่อไป 3) ด้านเทคนิค มีการตรวจสอบและให้คะแนนความพร้อมด้านต่างๆ อาทิ พื้นที่ เทคโนโลยี เชื้อเพลิง การเงิน ความเหมาะสมของแผนการดำเนินงาน เป็นต้น โดยต้องมีคะแนนในแต่ละด้านและคะแนนรวมไม่น้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดจึงจะได้รับการพิจารณาจัดเรียงคะแนนด้านเทคนิคเพื่อคัดเลือกต่อไป โดยผู้ที่มีคะแนนสูงสุดคือมีความพร้อมมากที่สุด จะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับต้น จนกว่าจะครบเป้าหมายการรับซื้อ และ 4) กรณีมีผู้ยื่นข้อเสนอหลายราย ณ จุดเชื่อมโยงเดียวกัน แต่บริเวณดังกล่าวยังไม่สามารถปรับปรุงระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้า ให้สอดคล้องกับแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ได้นั้น จะรับซื้อไฟฟ้าเรียงตามลำดับเชื้อเพลิง ดังนี้ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แบบ Solar+BESS และแบบติดตั้งบนพื้นดิน ทั้งนี้ กกพ. จะกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าตามความเหมาะสม เพื่อให้เป็นไปตามกรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกและมีผลสัมฤทธิ์ใกล้เคียงกับเป้าหมายตามแผนการ รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม) และ (5) เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ มีดังนี้ 1) กำหนดให้กรรมสิทธิ์ในหน่วย Renewable Energy Certificate (REC) ที่เกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐ โดยให้ระบุการครอบครองกรรมสิทธิ์ของภาครัฐไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 2) กรณีที่ ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามกำหนด ให้สามารถกำหนดเงื่อนไขหักหลักประกันตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ และ 3) สำหรับเชื้อเพลิงประเภทก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงการเริ่มต้นเดินเครื่องโครงไฟฟ้าเท่านั้น
5. จากการพิจารณาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่แท้จริง ผลตอบแทนการลงทุน ที่เหมาะสมจากการศึกษาสมมติฐานทางการเงินและด้านเทคนิค รวมทั้งการพิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Solar+BESS ซึ่งมีรูปแบบการจ่ายไฟฟ้าที่ช่วยรองรับความผันผวนของระบบ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Load) ของประเทศ และสามารถสั่งจ่ายไฟฟ้าในเวลาที่ต้องการได้ จึงสามารถดำเนินการในรูปแบบสัญญา Partial Firm โดยกำหนดให้ระบบกักเก็บพลังงานมีความพร้อมส่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปริมาณพลังงานเท่ากับร้อยละ 60 ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นเวลา 2 ชั่วโมง (60% Contracted Capacity * 2 hrs.) โดยที่การไฟฟ้ารับซื้อทั้งหมดและสามารถสั่งจ่ายกำลังไฟฟ้าสูงสุดได้ไม่เกินร้อยละ 60 ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญา และรับซื้อในอัตราที่สามารถแข่งขันกับอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย (Grid Parity) ได้ ในส่วนของการพิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม อาจมีอัตรารับซื้อที่สูงกว่า Grid Parity แต่ต้องไม่สูงกว่าอัตราในช่วง Peak ตามอัตราตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Tariff: TOU) เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มี Peak เกิดขึ้นในช่วงเย็นระหว่างเวลา 19.00 น. – 22.00 น. ทั้งนี้ พน. ได้นำแนวทางดังกล่าวมาจัดทำข้อเสนออัตรารับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 แยกตามประเภทเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า สรุปได้ดังนี้ อัตรา FiT กำลังผลิตตามสัญญาทุกขนาดของก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) เท่ากับ 2.0724 บาท ต่อหน่วย พลังงานลม เท่ากับ 3.1014 บาทต่อหน่วย พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน เท่ากับ 2.1679 บาทต่อหน่วย และอัตรา FiT พลังงานแสงอาทิตย์แบบ Solar+BESS กำลังผลิตตามสัญญามากกว่า 10 - 90 เมกะวัตต์ เท่ากับ 2.8331 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 25 ปี โดยฝ่ายเลขานุการฯ มีความเห็นว่า ปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลได้ ประกอบกับมีผู้สนใจที่จะเข้าร่วมการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้ใช้ไฟฟ้ามากเกินควร อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับปี 2565 – 2573 จึงไม่ควรกำหนด FiT Premium เช่นในอดีต ที่ภาครัฐต้องการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน
6. ประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากการดำเนินการ ได้แก่ (1) ส่งเสริมให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายการมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) (2) สร้างเสถียรภาพด้านราคาค่าไฟฟ้าจากการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในระยะยาวด้วยการกำหนดราคารับซื้อในระดับที่แข่งขันได้กับ Grid Parity (3) ส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจากการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และ (4) สร้างแรงจูงใจให้เกิดการไหลเวียนเงินทุนจากต่างประเทศในการลงทุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม)
2. เห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง
3. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการออกระเบียบและประกาศ รับซื้อไฟฟ้า และกำกับดูแลการคัดเลือกตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ อาจพิจารณาทบทวนปริมาณเชื้อเพลิงรายปี ที่กำหนดไว้ได้ตามสถานการณ์หรือศักยภาพที่เหมาะสม หรือปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) ได้ โดยมอบให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานพิจารณา
4. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณา ให้ความเห็นชอบต่อไป
เรื่องที่ 4 ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการปากแบง
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) โครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว รวมทั้งเห็นชอบให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU ของโครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง ในขั้นตอน การจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า ต่อมาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 กฟผ. ได้ลงนาม Tariff MOU กับผู้พัฒนาโครงการปากแบง ได้แก่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท China Datang Overseas Investment จำกัด และได้เจรจาจัดทำร่าง PPA กับผู้พัฒนาโครงการแล้วเสร็จ โดยได้จัดส่งให้คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (คณะอนุกรรมการประสานฯ) พิจารณา ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 โดยคณะอนุกรรมการประสานฯ ได้มีมติเห็นชอบร่าง PPA โครงการปากแบง และมอบหมายให้ กฟผ. เสนอ อส. ตรวจพิจารณาร่าง PPA โครงการปากแบง รวมทั้งให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. พิจารณามอบหมายให้ กฟผ. ลงนามใน PPA โครงการปากแบงที่ผ่านการตรวจพิจารณาจาก อส. แล้วต่อไป
2. สรุปรายละเอียดโครงการปากแบง ดังนี้ ผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัท Pak Beng Power Company Limited (PBPC) เป็นบริษัทจดทะเบียนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) โดยมีผู้ถือหุ้น ได้แก่ บริษัท China Datang Overseas Investment Company Limited สัดส่วนร้อยละ 51 และบริษัท Gulf Energy Development Public Company Limited สัดส่วนร้อยละ 49 โครงการตั้งอยู่บน ลำน้ำโขง แขวงแขวงอุดมไซ ทางตอนเหนือของ สปป. ลาว เป็นโรงไฟฟ้าประเภทเขื่อนน้ำไหลผ่าน (Run-of-River) กำลังผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ (16 x 57 เมกะวัตต์) โดยสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าและจำหน่ายให้ กฟผ. ณ จุดส่งมอบชายแดนไทย - สปป. ลาว จำนวน 897 เมกะวัตต์ คิดเป็นพลังงานไฟฟ้า 3,666 ล้านหน่วยต่อปี ระบบส่งไฟฟ้าฝั่ง สปป.ลาว แรงดัน 500 กิโลโวลต์ (kV) ความยาว 60 กิโลเมตร จากโครงการปากแบงมายัง Collective Substation และสายส่งแรงดัน 500 กิโลโวลต์ ความยาว 10 กิโลเมตร จาก Collective Substation มายังจุดส่งมอบชายแดนไทย - สปป. ลาว เพื่อเชื่อมโยงกับระบบส่งของ กฟผ. โดยระบบส่งไฟฟ้าฝั่งไทย แรงดัน 500 กิโลโวลต์ ความยาว 50 กิโลเมตร จากจุดส่งมอบชายแดนไทย - สปป.ลาว มายังสถานีไฟฟ้าแรงสูงท่าวังผา
3. สรุปสาระสำคัญของร่าง PPA โครงการปากแบง ดังนี้ (1) คู่สัญญา คือ กฟผ. และบริษัท Pak Beng Power Company Limited (Generator) อายุสัญญา 29 ปี นับจากวันซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โดย Generator มีหน้าที่จัดหาเงินกู้ให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน นับจากวันลงนามสัญญา หรือภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 แล้วแต่วันใดจะเกิดขึ้นทีหลัง (Scheduled Financial Close Date: SFCD) หากจัดหาเงินกู้ล่าช้ากว่า SFCD จะต้องจ่ายค่าปรับให้ กฟผ. ในอัตรา 2,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน (2) Generator มีหน้าที่พัฒนาโครงการให้แล้วเสร็จทันกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) คือ วันที่เกิดขึ้นช้ากว่าระหว่าง 98 เดือนนับจากวันที่ กฟผ. เริ่มก่อสร้างสายส่งฝั่งไทย (EGAT Construction Obligation Commencement Date: ECOCD) และวันที่ 1 มกราคม 2576 และ กฟผ. มีหน้าที่ก่อสร้างสายส่งฝั่งไทย ณ วันที่เกิดขึ้นช้ากว่าระหว่าง SFCD และวันที่ Generator จัดหาเงินกู้ได้ (Financial Close Date: FCD) โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่เกิดขึ้นช้ากว่าระหว่าง 83 เดือนนับจาก ECOCD และวันที่ 1 ตุลาคม 2574 ทั้งนี้ ฝ่ายที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้าต้องจ่ายค่าปรับ (Liquidated Damages: LD) ตามอัตราที่กำหนด แต่หากความล่าช้านั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย (Force Majeure: FM) ฝ่ายที่อ้างเหตุต้องจ่ายค่า Force Majeure Offset Amount (FMOA) ตามอัตราที่กำหนด โดยจะได้รับคืนในภายหลัง ซึ่งแตกต่างจาก LD ที่ไม่มีการจ่ายคืน คุณภาพการผลิตไฟฟ้าของ Generator ต้องเป็นไปตาม Contracted Operating Characteristics (COCs) ที่ระบุไว้ใน PPA และการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าต้องสามารถตอบสนองคำสั่งของ กฟผ. ได้แบบ Fully Dispatchable ทั้งนี้ Generator ไม่มีสิทธิ์ขายพลังงานไฟฟ้าให้บุคคลที่สาม ยกเว้นตามที่ได้รับความเห็นชอบจาก กฟผ.
4. การซื้อขายไฟฟ้าและราคารับซื้อไฟฟ้า แบ่งเป็น (1) พลังงานไฟฟ้าที่ กฟผ. ซื้อจากโครงการปากแบง ได้แก่ Primary Energy (PE) คือ พลังงานไฟฟ้าที่ Generator แจ้งขายได้ไม่เกิน 16 ชั่วโมงต่อวัน ตั้งแต่วันจันทร์ – วันเสาร์ Secondary Energy (SE) คือ พลังงานไฟฟ้าที่ Generator แจ้งขายได้ไม่เกิน 5.35 ชั่วโมงต่อวัน ในวันจันทร์ - วันเสาร์ และไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ในวันอาทิตย์ และ Excess Energy (EE) เป็นพลังงานไฟฟ้าที่เกินจาก PE และ SE โดย กฟผ. จะรับประกันซื้อ PE และ SE แต่ไม่รับประกันซื้อ EE ทั้งนี้ Generator ต้องรับประกันการผลิต PE ส่งให้ กฟผ. ไม่ต่ำกว่าเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง (ไม่รวมวันอาทิตย์) ในแต่ละเดือน และเมื่อรวมทั้งปีแล้วต้องไม่ต่ำกว่าเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง (ไม่รวมวันอาทิตย์) และ (2) ราคารับซื้อไฟฟ้า ณ จุดส่งมอบชายแดนไทย - สปป. ลาว แบ่งเป็น 1) ระหว่างการทดสอบ 0.570 บาทต่อหน่วย 2) ระหว่าง Unit Operation Period (กฟผ. รับซื้อจากหน่วยผลิตไฟฟ้าที่ผ่านการทดสอบแล้วในช่วงก่อน COD) แบ่งเป็น PE เท่ากับ 3.5447 เซนต์สหรัฐฯ บวก 1.1343 บาทต่อหน่วย SE เท่ากับ 1.4746 บาทต่อหน่วย และ EE เท่ากับ 1.0217 บาทต่อหน่วย 3) ตั้งแต่ COD เป็นต้นไป แบ่งเป็น PE เท่ากับ 4.7263 เซนต์สหรัฐฯ บวก 1.5124 บาท ต่อหน่วย SE เท่ากับ 1.9661 บาทต่อหน่วย และ EE เท่ากับ 1.3622 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ PE จ่ายเป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 50 และสกุลเงินบาท ร้อยละ 50 ส่วน SE และ EE จ่ายเป็นสกุลเงินบาททั้งหมด ด้านการจ่ายเงินค่าพลังงานไฟฟ้า มีดังนี้ (1) กฟผ. จะจ่ายเงินค่าพลังงานไฟฟ้าให้ Generator แต่ละปีไม่เกินจำนวนพลังงานไฟฟ้าตามเป้าหมายรายปี เท่ากับ 3,666 ล้านหน่วย แบ่งเป็น PE 2,586 ล้านหน่วย และ SE 1,080 ล้านหน่วย โดยกรณีที่ Generator มีความพร้อมผลิตไฟฟ้าเกินเป้าหมายรายปี พลังงานไฟฟ้าส่วนเกินเป้าหมายจะถูกเก็บไว้ในบัญชี และ กฟผ. จะจ่ายเงินคืนให้ Generator ในปีที่ Generator มีความพร้อมต่ำกว่าเป้าหมาย (2) กรณีที่ กฟผ. สั่งเดินเครื่องน้อยกว่าค่าพลังงานไฟฟ้าที่รับประกันซื้อรายเดือน กฟผ. ต้องจ่ายเงินเท่ากับ ที่รับประกันซื้อ และส่วนที่ซื้อไม่ครบสามารถสะสมไว้ในบัญชี Dispatch Shortfall โดย กฟผ. มีสิทธิ์ Make-up ได้ตลอดอายุสัญญา หลังจากที่ซื้อพลังงานไฟฟ้าส่วนที่รับประกันซื้อในสัปดาห์นั้นๆ จนครบแล้ว (3) กรณีที่มี Dispatch Shortfall กฟผ. สามารถสะสมไว้ในบัญชี และมีสิทธิ์ Make-up หลังจากที่ซื้อพลังงานไฟฟ้าในส่วนที่รับประกันซื้อจนครบแล้วตลอดอายุสัญญา และ (4) ในเดือนสุดท้ายของ Relevant Period ที่ 2 ที่ 4 และปีสุดท้ายของ PPA หากมี Supply Excess PE Account และ Supply Access SE Account เหลือ ให้นำมาคูณด้วยอัตราค่าไฟ Excess Energy เพื่อนำมารวมเข้าไปใน Excess Revenue Account โดยค่าใน Dispatch Shortfall Payment Account จะถูกปรับค่าโดย Excess Revenue Account และจ่ายคืนให้กับ กฟผ. และหากยังคงมีเงินคงเหลือใน Excess Revenue Account หลังการปรับค่าแล้ว ให้จ่ายเงินคืนให้ กฟผ. อีกร้อยละ 25 ของจำนวนเงินที่เหลือใน Excess Revenue Account
5. การวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Security) Generator ต้องวางหนังสือค้ำประกัน เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติหน้าที่ตาม PPA และการชำระหนี้ให้ กฟผ. ตลอดอายุสัญญาดังนี้ (1) Development Security (DS) คือ หลักประกันในช่วงพัฒนาโครงการ แบ่งเป็น DS1 จำนวน 11.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วันลงนามสัญญา จนถึงวันก่อน FCD และ DS2 จำนวน 29.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วัน FCD จนถึงวันก่อน COD (2) Performance Security (PS) คือ หลักประกันในช่วงการซื้อขายไฟฟ้า แบ่งเป็น PS1 จำนวน 26.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วัน COD จนถึงวันก่อนครบ 15 ปี นับจาก COD และ PS2 จำนวน 8.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ครบ 15 ปี นับจาก COD จนสิ้นสุดอายุสัญญา และ (3) Additional Security คือ สัญญาจดจำนองทรัพย์สินของโครงการเพื่อเป็นหลักประกันให้ กฟผ. ในวงเงิน 7,660 ล้านบาท โดย กฟผ. เป็นผู้รับผลประโยชน์ลำดับสองรองจากผู้ให้เงินกู้แก่โครงการ ซึ่ง Generator ต้องนำส่งสัญญาจดจำนองทรัพย์สินของโครงการให้ กฟผ. ก่อนหรือ ณ วัน FCD ส่วนกรณีเกิดเหตุสุดวิสัย ((Force Majeure: FM) ฝ่ายที่อ้าง FM สามารถหยุดปฏิบัติตามพันธะใน PPA ได้นานเท่าที่ FM เกิดขึ้น และจะได้รับการขยายเวลาสำหรับการปฏิบัติตามพันธะนั้นเท่ากับจำนวนวันที่เกิด FM แต่ต้องจ่าย FMOA ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งในอัตราที่กำหนดใน PPA โดยจะได้รับเงินคืนในภายหลังด้วยวิธีหักกลบลบหนี้กับค่าไฟฟ้ารายเดือน กรณีเกิด Political Force Majeure ฝ่ายที่ถูกกระทบมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้และต้องจ่าย Termination Payment ให้อีกฝ่ายหนึ่งตามที่กำหนดไว้ใน PPA แต่อีกฝ่ายจะมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาได้หากผลกระทบไม่ได้รับการแก้ไขนานเกิน 15 เดือน กรณีเกิด Non-Political Force Majeure หากผลกระทบไม่ได้รับการแก้ไขนานเกิน 24 เดือน ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาโดยไม่มีฝ่ายใดต้องจ่าย Termination Payment ทั้งนี้ กรณี กฟผ. ไม่สามารถจัดหาที่ดินก่อสร้างระบบส่งได้ ให้ถือเป็น FM เนื่องจาก EGAT Access Rights โดย กฟผ. มีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ แต่ Generator จะบอกเลิกสัญญาได้เมื่อผลกระทบไม่ได้รับการแก้ไขนานเกิน 730 วัน ทั้งนี้ กฟผ. ต้องเข้าซื้อโครงการเมื่อมี การบอกเลิกสัญญา
6. การบอกเลิกสัญญา หากเกิดขึ้นในช่วงก่อน FCD เนื่องจาก กฟผ. ผิดสัญญา หรือเกิด Thai Political Force Majeure กฟผ. จะคืนหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่หาก Generator ผิดสัญญา หรือเกิด Lao Political Force Majeure กฟผ. จะยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งนี้หากเกิดขึ้นในช่วงหลัง FCD เนื่องจาก กฟผ. ผิดสัญญา หรือเกิด Thai Political Force Majeure กฟผ. ต้องเข้าซื้อโครงการ แต่หาก Generator ผิดสัญญา หรือเกิด Lao Political Force Majeure กฟผ. มีสิทธิ์เลือกที่จะให้ Generator จ่ายค่า Termination Payment หรือ กฟผ. เข้าซื้อโครงการ ด้านการยุติข้อพิพาท ให้ยุติโดยการเจรจาด้วยความสุจริต (Good Faith Discussion) ในลำดับแรก หากไม่สามารถตกลงกันได้ภายในช่วงเวลาที่กำหนดให้นำเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) โดยใช้กฎของ United Nations Commission on International Trade Law (UNCITRAL Rule) และดำเนินกระบวนการที่ประเทศไทย โดยใช้ภาษาอังกฤษ และหากมีข้อพิพาทเกี่ยวกับ Billing หรือ Invoice หรือ Statement เกิดขึ้น ให้ยุติข้อพิพาทโดยการไกล่เกลี่ยโดยคณะกรรมการที่เป็นผู้แทนของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายก่อน หากไม่สำเร็จให้ยุติปัญหาโดยอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ PPA นี้ใช้บังคับและตีความตามกฎหมายไทย
มติของที่ประชุม
1. มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการปากแบง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการแก้ไข PPA ที่ไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่ระบุไว้ในร่าง PPA และเงื่อนไขสำคัญ รวมทั้งการปรับกำหนดเวลาของแผนงาน (Milestones) ที่เกี่ยวข้องกับกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในช่วงก่อนการลงนาม PPA ให้อยู่ในอำนาจ การพิจารณาของคณะกรรมการ กฟผ. ในการแก้ไข โดยไม่ต้องนำกลับมาเสนอขอความเห็นชอบอีก
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาต่อไป
เรื่องที่ 5 ร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) โครงการเซกอง 4A และ 4B
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการประสานการพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้มีหนังสือถึงคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (คณะอนุกรรมการประสานฯ) ขอให้พิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเซกอง 4A และ 4B โดยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 คณะอนุกรรมการประสานฯ ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอราคาค่าไฟฟ้า ของโครงการเซกอง 4A และ 4B และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เจรจาจัดทำ ร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff Memorandum of Understanding: Tariff MOU) กับโครงการเซกอง 4A และ 4B และนำมาเสนอคณะอนุกรรมการประสานฯ พิจารณา โดยควรต้องระบุเงื่อนไขให้ผู้พัฒนาโครงการเลือกใช้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า รวมถึงการใช้บุคลากร การจ้างงาน และการบริการจากประเทศไทย (Local Content Requirement) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 เป็นลำดับแรก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเศรษฐกิจของประเทศ ต่อมาเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 คณะอนุกรรมการประสานฯ ได้พิจารณาร่าง Tariff MOU โครงการดังกล่าวตามที่ กฟผ. เสนอ และได้มีมติเห็นชอบร่าง Tariff MOU โครงการเซกอง 4A และ 4B และมอบหมายให้ กฟผ. เสนอสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ตรวจพิจารณาร่าง Tariff MOU โครงการดังกล่าว โดยเมื่อ อส. ตรวจพิจารณาแล้วเสร็จ เห็นควรให้เจรจาร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับโครงการเซกอง 4A และ 4B อย่างไม่เป็นทางการคู่ขนานกันไป ระหว่างรอเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าและมอบหมายให้ กฟผ. ลงนาม Tarifff MOU ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจาก อส. แล้ว โดยหาก กพช. มีความเห็นแตกต่างจากร่าง Tariff MOU ที่ อส. ได้เคยตรวจพิจารณาแล้ว ให้นำไปปรับปรุงในร่าง PPA ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า
2. สรุปรายละเอียดโครงการเซกอง 4A และ 4B ดังนี้ ผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท Lao World Engineering and Construction จำกัด โครงการตั้งอยู่บนลำน้ำเซกอง แขวงเซกอง ทางตอนใต้ของ สปป. ลาว เป็นโรงไฟฟ้าประเภทอ่างเก็บน้ำ (Reservoir Hydro Power Plant) กำลังผลิตติดตั้ง 355 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขาย ณ จุดส่งมอบ 347.30 เมกะวัตต์พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 1,472.78 ล้านหน่วย อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 27 ปี กำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) วันที่ 1 มกราคม 2576 โดยส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว มายังจุดส่งมอบชายแดนไทย - สปป. ลาว เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีไฟฟ้าอุบลราชธานี 3 โดยมีข้อเสนออัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ณ ชายแดน รวมค่าก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าในฝั่งไทยของโครงการเซกอง 4A และ 4B เท่ากับ 2.7408 บาทต่อหน่วย
3. กฟผ. และผู้พัฒนาโครงการได้ร่วมกันจัดทำร่าง Tariff MOU โครงการเซกอง 4A และ 4B โดยใช้รูปแบบเดียวกับ Tariff MOU โครงการน้ำงึม 3 ที่คณะอนุกรรมการประสานฯ ได้เคยพิจารณาให้ความเห็นชอบ อส. ได้พิจารณาตรวจ และ กฟผ. ได้ลงนามใน Tariff MOU แล้ว โดยมีสาระสำคัญโดยสังเขป ดังนี้ (1) กฟผ. จะขอความเห็นชอบการลงนาม Tariff MOU จาก กพช. และผู้พัฒนาโครงการจะขอความเห็นชอบ จากกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ของรัฐบาล สปป. ลาว โดยทั้งสองฝ่ายจะขอความเห็นชอบการลงนาม Tariff MOU ภายใน 3 เดือนนับจากวันลงนาม และแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเป็นลายลักษณ์อักษร โดย Tariff MOU จะมีผลบังคับใช้หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานภาครัฐตามที่ระบุข้างต้น ยกเว้นเงื่อนไขเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ Tariff MOU จะมีผลบังคับใช้นับจากวันลงนาม Tariff MOU (2) Tariff MOU จะสิ้นสุดเมื่อมีเหตุการณ์ใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อน ได้แก่ เมื่อมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือ Tariff MOU มีอายุครบ 18 เดือนนับจากวันลงนาม หรือวันที่ช้ากว่าหากมีการตกลงต่ออายุ Tariff MOU ออกไป หรือทั้งสองฝ่ายตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อขอยกเลิกก่อนครบกำหนด (3) ผู้พัฒนาโครงการให้คำมั่นว่าจะเจรจากับรัฐบาล สปป. ลาว เพื่อให้ได้สัญญาสัมปทานซึ่งผ่านความเห็นชอบของ National Assembly สปป. ลาว เพื่อให้ สามารถพัฒนาโครงการและผลิตไฟฟ้าขายให้ กฟผ. อย่างถูกต้องตามกฎหมายของ สปป. ลาว และสอดคล้องกับเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โดยทั้งสองฝ่ายจะใช้ PPA ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำประเภท Reservoir และประเภทเขื่อนน้ำไหลผ่าน (Run-of-River) โครงการล่าสุด เป็นพื้นฐานในการจัดทำ PPA (4) แต่ละฝ่าย จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในส่วนของตน และไม่สามารถเรียกร้องความเสียหายจากการกระทำของ อีกฝ่ายหนึ่งได้ รวมถึงการยกเลิก Tariff MOU ยกเว้นหลักทรัพย์ค้ำประกันที่วางไว้หากไม่สามารถเจรจา เพื่อลงนามใน PPA ได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน Tariff MOU ซึ่งผู้พัฒนาโครงการจะต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงิน 35.5 ล้านบาท ก่อนหรือในวันที่ลงนาม Tariff MOU (5) สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะมีอายุ 27 ปี นับจาก วันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โดยอาจมีการต่ออายุสัญญาได้ หาก สปป. ลาว อนุมัติ และทั้งสองฝ่ายตกลง (6) โครงการมีกำลังผลิต 355 เมกะวัตต์ ขายให้ไทย ณ ชายแดน 347.30 เมกะวัตต์ และมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยรายปีของ Primary Energy (PE) 1,278.10 ล้านหน่วย และ Secondary Energy (SE) 194.68 ล้านหน่วย โดยช่วงหลัง COD กฟผ. จะรับประกันการรับซื้อเฉพาะ PE และ SE และช่วงก่อน COD หรือช่วง Unit Operation Period กฟผ. จะรับซื้อพลังงานไฟฟ้าที่บริษัทแจ้งพร้อมผลิต โดยใช้หลักการสั่งเดินเครื่องตามต้นทุนการผลิตต่ำสุด (Merit Order) และพิจารณาถึงความพร้อมของระบบ กฟผ. ทั้งนี้ บริษัทมีสิทธิ์แจ้งราคารายเดือนที่ต่ำกว่าราคาตามสัญญา (7) ผู้พัฒนาโครงการต้องส่งแผนบริหารจัดการน้ำรายเดือนและรายปี ของเขื่อนเซกอง 4A และ 4B เพื่อรับรองว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าส่งให้ กฟผ. ตามเงื่อนไขในสัญญา และจะต้องดำเนินการตาม Local Content Requirement ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของราคาค่าก่อสร้างโครงการ (8) กฟผ. และผู้พัฒนาโครงการต้องหารือการนำระบบ Generator Shedding Scheme มาใช้เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้า โดยผู้พัฒนาโครงการต้องติดตั้งและทดสอบระบบก่อนวัน Scheduled Energizing Date รวมทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทั้งนี้ กฟผ. จะไม่บังคับใช้บทปรับและเงื่อนไขความไม่พร้อมหากมีการทำ Generator Shedding และ (9) Tariff MOU และ PPA จะถูกบังคับและตีความตามกฎหมายไทย
4. ภายหลังจาก กพช. เห็นชอบมอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่าง Tariff MOU โครงการเซกอง 4A และ 4B แล้ว กฟผ. จะต้องดำเนินการลงนาม Tariff MOU ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจาก อส. แล้วกับผู้ลงทุนโครงการเซกอง 4A และ 4B และเจรจารายละเอียดของร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) กับผู้ลงทุนโครงการเซกอง 4A และ 4B โดยยึดกรอบ Tariff MOU เป็นแนวทางในการเจรจา พร้อมทั้งนำรายละเอียดร่าง PPA ที่ได้จากการเจรจาเสนอต่อคณะอนุกรรมการประสานฯ และ อส. พิจารณาให้ความเห็นชอบในรายละเอียด เพื่อนำเสนอ กพช. พิจารณามอบหมายให้ กฟผ. ลงนามใน PPA ต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการเซกอง 4A และ 4B และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) โครงการเซกอง 4A และ 4B ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว
2. เห็นชอบให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU โครงการเซกอง 4A และ 4B ในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้อง ไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า
3. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม โครงการผลิตพลังงานทดแทน เพื่อการเกษตร และโครงการระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน โดยใช้งบประมาณภาครัฐซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาไฟฟ้าให้กับราษฎรในพื้นที่ห่างไกลที่ระบบไฟฟ้าฐานเข้าไม่ถึงได้มีไฟฟ้าใช้ในการดำรงชีวิต และจ่ายเข้าระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า และบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ซึ่งเป็นการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
2. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ พพ. ดำเนินการมีการจ่ายไฟฟ้า 2 ประเภท คือ โครงการจ่ายไฟฟ้าแบบอิสระ (Off-grid) และโครงการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้า (On-grid) โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1. โครงการจ่ายไฟฟ้าแบบอิสระ (Off-grid) เป็นโครงการที่ พพ. จัดหาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพและเหมาะสม โดยผลิตและจ่ายไฟฟ้าแก่ประชาชน หรือหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ห่างไกล ที่ไม่มีระบบไฟฟ้าฐาน ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 0.015 – 0.335 เมกะวัตต์ต่อแห่ง ประกอบด้วยโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ขนาดเล็กมาก 76 แห่ง และโครงการระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน 2 แห่ง รวมกำลังผลิต 3.253 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าให้ราษฎรกว่า 6,700 ครัวเรือน อุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง และโครงการหลวง 1 แห่ง รวมพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 2 ล้านหน่วยต่อปี ทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 0.445 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1,169 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
2.2. โครงการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้า (On-grid) ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ พพ. ผลิตไฟฟ้าและบำรุงรักษา 27 แห่ง รวมกำลังผลิต 61.321 เมกะวัตต์ โดยจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้าแล้ว ดังนี้ (1) จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟภ. ในอัตราคงที่ 1.091 บาทต่อหน่วย จำนวน 20 แห่ง กำลังผลิต 36.464 เมกะวัตต์ ตามข้อตกลงการประชุมพิจารณาการจ่ายไฟฟ้าระหว่าง พพ. และ กฟภ. โดยดำเนินการตั้งแต่ปี 2524 – 2547 และจำหน่ายไฟฟ้าในอัตรา 2.9219 - 3.9085 บาทต่อหน่วย จำนวน 5 แห่ง กำลังผลิต 2.857 เมกะวัตต์ ตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) แบบ Off-Peak และ On-Peak และ (2) จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้าของ กฟผ. ในอัตรา 2.3567 - 4.2243 บาท ต่อหน่วย จำนวน 2 แห่ง กำลังผลิต 22 เมกะวัตต์ ตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) แบบ Off-Peak และ On-Peak ทั้งนี้ รวมพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 125 ล้านหน่วยต่อปี ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 27.69 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 70,800 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และนำส่งรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าแก่กระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี ส่วนที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเพิ่มอีก จำนวน 27 แห่ง รวมกำลังผลิต 5.001 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับ กฟภ. รับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 1.091 บาทต่อหน่วย คงที่ตลอดอายุโครงการ ซึ่ง พพ. ได้จัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว และจะจ่ายไฟฟ้า เข้าระบบต่อไป และส่วนที่ 3 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่จะดำเนินการในปี 2565 – 2573 ตามแผน PDP จำนวน 26 แห่ง กำลังผลิตรวม 94.447 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก 17 แห่ง รวมกำลังผลิต 31.017 เมกะวัตต์ และระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก9 แห่ง รวมกำลังผลิต 63.430 เมกะวัตต์ โดยทุกโครงการผ่านการศึกษาความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์แล้ว
3. การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของ พพ. มีปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอการดำเนินการ ดังนี้ ส่วนที่ 1 การนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดยโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว จำนวน 20 แห่ง และโครงการที่ กพช. มีมติให้รับซื้อไฟฟ้า จำนวน 27 แห่ง นั้น โครงการที่มีกำลังผลิตรวมต่อแห่งตั้งแต่ 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไปต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า และต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และตามประกาศ กกพ. เรื่อง การนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าประเภทใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2553 ตามชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ดี เมื่อจำหน่ายไฟฟ้าแล้ว พพ. ไม่สามารถแบ่งรายได้ดังกล่าวนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าได้ เนื่องจากไม่ชัดเจนว่าราคาจำหน่ายไฟฟ้าในอัตราคงที่ 1.091 บาทต่อหน่วย รวมเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าด้วยหรือไม่ รายได้ที่ส่วนราชการได้รับไว้ทั้งหมดจึงต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายการเงินการคลัง ดังนั้น พพ. จึงมีข้อเสนอกำหนดให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า 1.091 บาทต่อหน่วย เป็นอัตราที่รวมเงินส่วนที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนฯ ตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไว้ด้วย ดังนี้ (1) การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ประกอบด้วย ค่าพลังงานไฟฟ้า 1.071 บาทต่อหน่วย และเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ 0.02 บาทต่อหน่วย และ (2) การผลิตไฟฟ้าจากพลังลมหรือแสงอาทิตย์ ประกอบด้วย ค่าพลังงานไฟฟ้า 1.081 บาทต่อหน่วย และเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ 0.01 บาทต่อหน่วย และส่วนที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ที่ พพ. จะดำเนินการในปี 2565 – 2573 ตามแผน PDP จำนวน 26 แห่ง เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จยังไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ เนื่องจากยังไม่มีนโยบายให้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว ดังนั้น พพ. จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการในอัตราคงที่ 1.091 บาทต่อหน่วยตลอดอายุโครงการ โดยเป็นโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่ครอบคลุมเงินส่วนที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนฯ ตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้การดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนตามแผน PDP บรรลุผลสำเร็จ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนของประเทศได้ตามเป้าหมายที่กำหนด
4. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้มีความเห็น ดังนี้ (1) การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ดำเนินการโดย พพ. เป็นโครงการที่สอดคล้องกับแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และสนับสนุนนโยบายภาครัฐตามเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2570 รวมทั้งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่มีราคาต่ำ และ (2) เห็นควรพิจารณาให้กรรมสิทธิ์ Renewable Energy Certificate (REC) ที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้า จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ดำเนินการโดย พพ. เป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าที่รับซื้อจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ดำเนินการโดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในอัตราคงที่ 1.091 บาทต่อหน่วยตลอดอายุโครงการ เป็นโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่รวมเงินส่วนที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ ในการผลิตไฟฟ้าไว้ด้วยแล้ว ดังนี้
2. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ พพ. ดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) จำนวน 26 แห่ง กำลังผลิตรวม 94.447 เมกะวัตต์ ในอัตราคงที่ 1.091 บาทต่อหน่วยตลอดอายุโครงการ โดยเป็นโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่รวมเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไว้ด้วยแล้ว
3. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาต่อไป
กบง.ครั้งที่ 7/2565 (ครั้งที่ 45) วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2565
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 7/2565 (ครั้งที่ 45)
วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2565
1. มาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินสำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 มาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินสำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ
สรุปสาระสำคัญ
1. สถานการณ์การเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในหลายประเทศทั่วโลกส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ในระดับสูง และทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันของไทยปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 E10 E20 และE85 เฉลี่ยเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 47.07 บาทต่อลิตร 39.34 บาทต่อลิตร 39.07 บาทต่อลิตร 38.26 บาทต่อลิตร และ 31.29 บาทต่อลิตร ตามลำดับ สูงว่าราคาเฉลี่ยเดือนมีนาคม 2564 ร้อยละ 37.89 ร้อยละ 48.17 ร้อยละ 48.56 ร้อยละ 52.71 และร้อยละ 49.65 ตามลำดับ ทั้งนี้ รัฐบาลตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อประชาชน โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบในหลักการของมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยให้ส่วนลดแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกประมาณ 157,000 ราย จำนวน 5 บาทต่อลิตร ไม่เกิน 250 บาทต่อคนต่อเดือน ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ถึงเดือนกรกฎาคม 2565 รวมเงินงบประมาณ 120 ล้านบาท โดยขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงพลังงานได้เห็นชอบสาระสำคัญและกรอบการดำเนินโครงการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ และมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานดำเนินโครงการดังกล่าว
2. โครงการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ มีรายละเอียดดังนี้
2.1 ขอบเขตการดำเนินงาน (1) ด้านการให้วงเงินช่วยเหลือ รัฐบาลจะสนับสนุนวงเงินร่วมจ่าย แก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะที่จดทะเบียนเป็นผู้ขับขี่ รถจักรยานยนต์รับจ้างกับกรมการขนส่งทางบก ในการเติมน้ำมันกลุ่มเบนซินกับสถานีบริการน้ำมันที่เข้าร่วมโครงการ จำนวนร้อยละ 50 ของค่าน้ำมันกลุ่มเบนซินดังกล่าว แต่ไม่เกิน 50 บาทต่อคนต่อวัน และไม่เกิน 250 บาทต่อคนต่อเดือน รวมทั้งสิ้น 750 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ 3 เดือน โดยกรณีมีวงเงินคงเหลือในเดือนใดจะไม่มีการสะสมวงเงินไปในเดือนถัดไป และ (2) ด้านเงื่อนไขการชำระเงินให้แก่สถานีบริการน้ำมัน ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่เข้าร่วมโครงการต้องชำระค่าน้ำมันกลุ่มเบนซินผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์บนแอปพลิเคชันฝั่งผู้ซื้อ ให้แก่สถานีบริการน้ำมันที่เข้าร่วมโครงการซึ่งรับชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน ฝั่งผู้ขาย กรณีรัฐโอนเงินสนับสนุนให้สถานีบริการน้ำมันไม่สำเร็จ รัฐจะโอนเงินให้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 หากพ้นกำหนดเวลาและการโอนเงินยังคงไม่สำเร็จรัฐจะไม่โอนเงินให้ และจะถือว่าสถานีบริการน้ำมันนั้น ไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการ
2.2 วัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน โดยมุ่งเป้ากลุ่มผู้ขับขี่ รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก
2.3 การกำหนดสิทธิ์และทบทวนสิทธิ์ (1) กำหนดสิทธิ์สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก และผ่านการตรวจสอบข้อมูลสถานะบุคคลไม่ปกติและเสียชีวิต โดยกรมการปกครอง เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกได้รายงานข้อมูลการจดทะเบียนสะสม รถจักรยานยนต์สาธารณะ (รย.17) เดือนกุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 155,348 คัน โดย ณ วันที่ 22 มีนาคม 2565 มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเป็นเชื้อเพลิง (หลังหักทะเบียนหมดอายุและถูก เพิกถอน) จำนวน 107,340 ราย และ ณ วันที่ 28 มีนาคม 2565 มีจำนวนผู้มีสิทธิ์ที่ผ่านการตรวจสอบสถานะบุคคลไม่ปกติและเสียชีวิตโดยกรมการปกครองทั้งสิ้น 106,655 ราย โดยโครงการจะไม่เพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิ์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกภายหลังจากวันที่ 22 มีนาคม 2565 และ (2) ทบทวนสิทธิ์โดยขอความอนุเคราะห์กรมการปกครองตรวจสอบข้อมูลผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่ง ทางบก ณ วันที่ 22 มีนาคม 2565 ทุก 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ของบุคคลไม่ปกติและเสียชีวิตระหว่างดำเนินโครงการ
2.4 ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 เดือน ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2565 ถึงเดือนกรกฎาคม 2565 วงเงินงบประมาณ 79.992 ล้านบาท โดยคำนวณจากส่วนลดค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันกลุ่มเบนซิน 250 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา 3 เดือน จากจำนวนผู้มีสิทธิ์ 106,655 ราย
2.5 การขอรับจัดสรรงบประมาณ โดยกระทรวงพลังงานจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ต่อสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ เนื่องจากวงเงินงบประมาณที่ขอรับจัดสรรไม่เกิน 100 ล้านบาท สำนักงบประมาณจะเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ข้อ 9 (2) โดยหากนายกรัฐมนตรีเห็นสมควร ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อน สำนักงบประมาณจะแจ้งให้กระทรวงพลังงานนำเรื่องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี โดยเสนอผ่านรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล
2.6 การเข้าร่วมโครงการ (1) กรมธุรกิจพลังงานเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และความยินยอมสำหรับผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการ และสถาบันการเงินเตรียมปรับปรุงระบบแอปพลิเคชันฝั่งผู้ซื้อและฝั่งผู้ขาย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถใช้งานระบบได้ (2) ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่เข้าร่วมโครงการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันฝั่งผู้ซื้อ และกดยืนยันสิทธิ์ เงื่อนไขผ่านแอปพลิเคชันฝั่งผู้ซื้อ โดยสามารถเติมเงินเข้าระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ผ่าน Mobile Banking Prompt Pay และตู้เอทีเอ็ม และสามารถชำระเงินโดยสแกน QR Code ณ สถานีบริการน้ำมัน และ (3) สถานีบริการน้ำมันแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการโดย Google Forms ผ่านเว็บไซต์กรมธุรกิจพลังงาน รวมทั้งดาวน์โหลดแอปพลิเคชันฝั่งผู้ขาย กดยืนยันสิทธิ์ เงื่อนไข และสร้าง QR Code เพื่อรับชำระเงินจากผู้ใช้สิทธิ์ โดยกรมธุรกิจพลังงานจะคัดกรองเฉพาะผู้ประกอบการที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 มาตรา 10 หรือมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543
2.7 การประชาสัมพันธ์ (1) ด้านผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ สื่อสารชื่อย่อโครงการ คือ วินเซฟ สัญลักษณ์เป็นภาพผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ และมีข้อความ สิทธิวินเซฟ สิทธิรัฐช่วยจ่าย 50% (ไม่เกิน 50 บาทต่อวัน) เมื่อเติมน้ำมันผ่านสถานีบริการที่เข้าร่วม โดยประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ facebook ของกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน สำนักงานพลังงานจังหวัด และช่องทางอื่นๆ (2) ด้านสถานีบริการน้ำมัน โดยประชุมขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันเพื่อพิจารณาเข้าร่วมโครงการ และแจ้งความประสงค์โดย Google Forms ผ่านเว็บไซต์กรมธุรกิจพลังงาน รวมทั้งขอความร่วมมือสำนักงานพลังงานจังหวัดประชาสัมพันธ์โครงการ และ (3) การประชาสัมพันธ์ภาพรวม โดยกระทรวงพลังงานจัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับโครงการ และสถาบันการเงิน จัดหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ ดูแลการใช้งานแอปพลิเคชันฝั่งผู้ซื้อและฝั่งผู้ขาย
2.8 การเปิดบัญชี เบิกจ่ายเงิน และกำหนดเริ่มต้นโครงการ โดยกรมธุรกิจพลังงานขอทำความตกลงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรมบัญชีกลาง เปิดบัญชีกระแสรายวันกับสถาบันการเงิน และเบิกจ่ายเงินแก่สถานีบริการน้ำมันเป็นรายวัน รวมทั้งแจ้งกรมสรรพากรเพื่อขอยกเว้นรายได้บุคคลธรรมดาให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ได้รับเงินจากโครงการ โดยมีกำหนดเริ่มต้นโครงการในวันที่ 8 พฤษภาคม 2565
3. เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการของมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยให้ส่วนลดแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกประมาณ 157,000 ราย จำนวน 5 บาทต่อลิตร ไม่เกิน 250 บาทต่อคนต่อเดือน ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ถึงเดือนกรกฎาคม 2565 รวมเงินงบประมาณ 120 ล้านบาท โดยขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น อย่างไรก็ดี การดำเนินมาตรการดังกล่าวจำเป็นต้องเสนอพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีในประเด็นดังนี้ (1) มาตรการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เปลี่ยนเป็นน้ำมันกลุ่มเบนซิน เพื่อให้ขอบเขตการช่วยเหลือค่าน้ำมันครอบคลุมทั้งน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์ (2) การกำหนดส่วนลด 5 บาทต่อลิตร เปลี่ยนเป็นการกำหนดกรอบเพดานไม่เกิน 50 บาทต่อคนต่อวัน และไม่เกิน 250 บาทต่อคนต่อเดือนแทน เนื่องจากในทางปฏิบัติ ไม่สามารถกำหนดส่วนลดเป็นหน่วยการวัดของสินค้า (หน่วยลิตร) ได้ ขณะที่การกำหนดกรอบเพดานต่อวัน 50 บาท จะช่วยลดความเสี่ยงในการสวมสิทธิ์ เนื่องจากถังน้ำมันของรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่มีความจุประมาณ 4 ถึง 5 ลิตร ซึ่งการเติมน้ำมันแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 250 บาท (3) จำนวนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะประมาณ 157,000 ราย เปลี่ยนเป็น 106,655 ราย ตามข้อมูลที่ปรับปรุงโดยกรมการขนส่งทางบก และกรมการปกครอง รวมเงินงบประมาณ 79.992 ล้านบาท และ (4) ขอให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ได้รับเงินจากโครงการ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบโครงการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ
2. มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานดำเนินโครงการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ และจัดทำคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้สำหรับดำเนินโครงการดังกล่าวในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ถึงเดือนกรกฎาคม 2565 รวมเงินงบประมาณ 79.992 ล้านบาท
3. มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 เกี่ยวกับรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ เป็นการช่วยเหลือค่าน้ำมันกลุ่มเบนซิน และกำหนดกรอบเพดานไม่เกิน 50 บาทต่อคนต่อวัน และไม่เกิน 250 บาทต่อคนต่อเดือน แทนการกำหนดส่วนลดจำนวน 5 บาทต่อลิตร รวมทั้งเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้รับสิทธิ์เป็น 106,655 ราย และยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ได้รับเงินจากโครงการ
กบง.ครั้งที่ 6/2565 (ครั้งที่ 44) วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2565
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 6/2565 (ครั้งที่ 44)
วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2565
1. การทบทวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ภายใต้แนวทางการบริหาร จัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้า รายเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิม และนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าประเภทชีวมวล หรืออื่นๆ นอกเหนือจากชีวมวล จากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อปีต่อปี ไม่เกิน 2 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm โดยกรณีที่ 1 โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 2.7187 บาทต่อหน่วย และกรณีที่ 2 โรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา และแบบทุ่นลอยน้ำ อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 1.00 บาทต่อหน่วย พลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นดิน และพลังงานลม อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.7292 บาทต่อหน่วย และพลังงานน้ำ ขนาดเล็ก/ขนาดเล็กมาก อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 1.0910 บาทต่อหน่วย และ (2) มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 กกพ. ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีความเห็นว่า หลักการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าโดยพิจารณาจากต้นทุนเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าชีวมวลประเภทเดียว อาจไม่สะท้อนต้นทุนและค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวภาพและขยะ เนื่องจากแต่ละประเภทเชื้อเพลิงมีต้นทุนและค่าบริการจัดการที่ต่างกัน ซึ่งการพิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้าแยกประเภทเชื้อเพลิงน่าจะมีความเหมาะสมและสะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้น โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ประชุมหารือในวันที่ 23 มีนาคม 2565 และมีข้อสรุปในการทบทวนอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ดังนี้ (1) ยังคงใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้าโดยคำนึงถึงต้นทุนตามประเภทเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและไม่เกินต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่หลีกเลี่ยงได้จากการใช้เชื้อเพลิงนำเข้าในราคาสูง ณ ปัจจุบัน (Avoided Cost) ซึ่งสำนักงาน กกพ. ได้รายงานค่า Avoided Cost โดยคิดจากราคาเฉลี่ย Spot LNG (PTT) ปี 2565 เท่ากับ 26.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู (USD/MMBtu) คิดเป็น 5.7786 บาทต่อหน่วย (บาท/kWh) ณ อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (2) เห็นควรใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้าเป็นอัตราเดียวสำหรับโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิง ได้แก่ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ โดยเชื้อเพลิงชีวมวล อัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจาก SPP และ/หรือ VSPP จากสัญญาเดิม และนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าประเภทชีวมวล จากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า จะพิจารณาจากต้นทุนค่าใช้จ่ายปฏิบัติงานและบำรุงรักษา (O&M) และค่าเชื้อเพลิง (Fuel Cost) ซึ่งค่า O&M ของโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งแบบ SPP และ VSPP อยู่ระหว่างร้อยละ 6 - 7.5 ของเงินลงทุนระบบ แต่หากคิดเฉพาะค่าใช้จ่าย O&M ที่เพิ่มขึ้น (Variable O&M หรือ Consumables) จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มประมาณร้อยละ 2.5 ของเงินลงทุนระบบ คิดเป็น 0.31 บาทต่อหน่วย ค่าเชื้อเพลิง (FiTv ปี 2565) เท่ากับ 1.8931 บาทต่อหน่วย ดังนั้น อัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมคือ 0.31 บวกกับ 1.8931 เท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย สำหรับเชื้อเพลิง ก๊าซชีวภาพ และขยะ เห็นควรรับซื้อในอัตราเดียวกับเชื้อเพลิงชีวมวล เท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย และ (3) โรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิง พิจารณาดังนี้ 1) พลังงานแสงอาทิตย์ กรณีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแบบติดตั้งบนหลังคาโดยรับซื้อไฟฟ้าส่วนเหลือจากการใช้เอง ประเมินจากต้นทุนการลงทุนในอดีตของระบบผลิตไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งของอาคารธุรกิจหรือโรงงานอุตสาหกรรม อยู่ที่ประมาณ 50,000 บาทต่อกิโลวัตต์ ระยะเวลาโครงการ 25 ปี คำนวณจากต้นทุนค่าดูแลบำรุงรักษาบางส่วนอย่างเดียว คิดประมาณร้อยละ 1.1 ของเงินลงทุนติดตั้งระบบ เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ ให้รวมถึงกรณีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการดำเนินการติดตั้งเพื่อใช้เอง 2) พลังงานแสงอาทิตย์ กรณี การติดตั้งบนพื้นดิน ประเมินจากต้นทุนการลงทุนในอดีตของระบบผลิตไฟฟ้า อยู่ที่ประมาณ 40,000 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาโครงการ 25 ปี คำนวนจากต้นทุนค่าดูแลบำรุงรักษาบางส่วนเพียงอย่างเดียว คิดประมาณร้อยละ 1.1 ของเงินลงทุนติดตั้งระบบ เท่ากับ 0.43 บาทต่อหน่วย เห็นควรรับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 0.50 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกับกรณีการติดตั้งบนหลังคา 3) พลังงานลม เห็นควรรับซื้อในอัตราเดียวกับกรณีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นดิน ในอัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย และ 4) ขอยกเลิก การรับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็ก/ขนาดเล็กมาก เนื่องจากไม่มีศักยภาพในการจำหน่ายไฟฟ้าส่วนเพิ่มในเงื่อนไขการรับซื้อนี้
3. สรุปอัตรารับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิง ได้แก่ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ อัตรา รับซื้อไฟฟ้าเท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิง ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาและทุ่นลอยน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน และพลังงานลม อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบยกเลิกมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เรื่อง การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565
2. เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิม และนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าประเภทชีวมวล หรืออื่นๆ นอกเหนือจากชีวมวล จากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง สามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อปีต่อปี ไม่เกิน 2 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ซึ่งมีอัตรารับซื้อไฟฟ้า ดังนี้
2.1 กรณีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ) จากสัญญาเดิมและนอกเหนือจากสัญญาเดิม อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย
2.2 กรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ และพลังงานลม) จากสัญญาเดิมและนอกเหนือจากสัญญาเดิม อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากสัญญาเดิมจะมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้า ในสัญญาเดิม
3. เห็นชอบให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็ก/ขนาดเล็กมาก ออกไปก่อน และมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานศึกษาความเหมาะสมในการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มดังกล่าว
4. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
เรื่องที่ 2 มาตรการประหยัดพลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียกับประเทศยูเครนที่ส่งผลให้ราคาพลังงานในปัจจุบันมีความผันผวน และคาดว่าอาจมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน กระทรวงพลังงาน จึงได้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ดังกล่าวโดยจะพิจารณากำหนดมาตรการประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะมาตรการด้านการลดการใช้ไฟฟ้า เพื่อสร้างความตระหนักรู้และแรงจูงใจของภาคประชาชนต่อการลดการใช้พลังงานของประเทศในสถานการณ์ที่ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูงเช่นปัจจุบัน
2. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการและดำเนินการส่งเสริมการประหยัดพลังงาน ให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการดำเนินการด้านการลดการใช้ไฟฟ้า รวมทั้งให้หน่วยงานที่มีแหล่งงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนมาตรการส่งเสริม การประหยัดพลังงานดังกล่าวให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนด
มติของที่ประชุม
เห็นชอบในหลักการการประหยัดพลังงานช่วงที่ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูง ดังนี้
1. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการและดำเนินการส่งเสริมการประหยัดพลังงาน ให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
2. มอบหมายให้หน่วยงานที่มีแหล่งงบประมาณ พิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อการสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการประหยัดพลังงาน