
คณะกรรมการและอนุกรรมการ (2552)
Children categories
ครั้งที่ 29 - วันจันทร์ ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2551
มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 4/2551 (ครั้งที่ 29)
วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2551 เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุมบุญรอด-นิธิพัฒน์ ชั้น 11 อาคาร 7 กระทรวงพลังงาน
1. แนวทางการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบปัญหาราคาน้ำมันแพง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (พลโทหญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ) เป็นประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายวีระพล จิรประดิษฐกุล) เป็นกรรมการและเลขานุการ
ประธานฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมฯ ทราบว่าการประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมนัดพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพง ทั้งนี้เนื่องจาก สนพ. ได้รายงานให้ทราบ เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วกับราคาน้ำมันดิบ ในช่วงปี 2549 - 2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ จึงได้หารือกับโรงกลั่นในเครือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่าจะมีแนวทางช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างไร ซึ่งเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2551 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยรองปลัดกระทรวงพลังงาน (นายณอคุณ สิทธิพงศ์) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูงของโรงกลั่นได้มาพบและรายงานให้ทราบถึงแนวทางการช่วยเหลือที่กลุ่มโรงกลั่นในเครือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สามารถช่วยเหลือกับประชาชน โดยมีรายละเอียดคือ โรงกลั่นทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ โรงกลั่นพีทีทีเออาร์ โรงกลั่นไออาร์พีซี โรงกลั่นไทยออยล์ และโรงกลั่นบางจาก จะร่วมกันบริจาคโดยจัดสรรน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในปริมาณ 122 ล้านลิตร/เดือน เป็นเวลา 6 เดือนรวม 732 ล้านลิตร ในราคาที่ต่ำกว่าราคาดีเซลหมุนเร็วปกติในอัตรา 3 บาท/ลิตร รวมเป็นมูลค่า 2,196 ล้านบาท โดยน้ำมันดังกล่าวจะช่วยเหลือกลุ่มประชาชนหรือสาขาอาชีพที่มีรายได้ต่ำ และได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มประมง กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้รถโดยสารประจำทาง เป็นต้น ซึ่งในรายละเอียดของแนวทางการช่วยเหลือจะขอนำมาปรึกษาหารือในวันนี้ และในนามของกระทรวงพลังงาน ขอขอบคุณโรงกลั่นทั้ง 4 แห่งในเครือของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
เรื่องที่ 1 แนวทางการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบปัญหาราคาน้ำมันแพง
สรุปสาระสำคัญ
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือนพฤษภาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 119.46 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาเฉลี่ยเดือนมกราคม 2551 จำนวน 32.1 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยครึ่งหนึ่งของจำนวนที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมถึง 16.05 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล สาเหตุจากประเทศจีนต้องนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการใช้ถ่านหิน อันเนื่องจากเหมืองหลายแห่งปิดทำการด้วยเหตุแผ่นดินไหว ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเฉลี่ยเดือนพฤษภาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 158.63 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาเฉลี่ยของเดือนมกราคม 2551 จำนวน 52.93 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล สูงกว่าน้ำมันดิบที่สูงขึ้นเพียง 32.1 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจากจีนได้เพิ่มปริมาณการนำเข้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วมากขึ้นเพื่อใช้แทนน้ำมันเตาและถ่านหิน ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91, แก๊สโซฮอล 95, 91 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วของไทยปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 40.09, 38.99, 35.39, 34.59 และ 39.04 บาทต่อลิตร ตามลำดับ
2. กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในบางสาขาอาชีพที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาราคาน้ำมันแพงแล้ว ดังนี้
2.1 กลุ่มเรือประมง โดยกลุ่มเรือประมงชายฝั่งจะใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดราคาน้ำมันม่วงให้ต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบนบกลิตรละ 2 บาท ส่วนกลุ่มเรือประมงน้ำลึกจะจำหน่ายน้ำมันเขียวในราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลบนบกสำหรับเรือประมงขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ในบริเวณเขตต่อเนื่องซึ่งห่างจากชายฝั่ง 12-24 ไมล์ทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ทั้งนี้ราคาน้ำมันเขียวจะได้รับการยกเว้นภาษีอากร และไม่เก็บเงินเข้ากองทุนต่างๆ ทำให้ราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินบนบกลิตรละ 5-6 บาท
2.2 กลุ่มธุรกิจการขนส่ง รถกระบะและรถตู้ที่ไม่สามารถดัดแปลงหรือปรับแต่งเครื่องยนต์ให้เปลี่ยนไปใช้ NGV ยังสามารถเลือกใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 ได้ซึ่งกระทรวงพลังงานจะใช้การบริหารกองทุนน้ำมันฯ ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 ถูกกว่าน้ำมันดีเซลลิตรละ 0.70 บาท
2.3 กลุ่มเกษตรกร ส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลิตรละ 0.70 บาท ให้มีการจำหน่ายอย่างทั่วถึงในสถานีบริการของ ปตท. และ บางจาก รวมทั้งส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซลชุมชนสำหรับเครื่องจักรกลการเกษตรในพื้นที่ชนบททั่วไป
3. แนวทางการช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาราคาน้ำมันแพง
3.1 แนวทางการจัดหาน้ำมัน จากสถานการณ์ราคาน้ำมันพบว่าราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือกับ 4 โรงกลั่นในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้แก่ โรงกลั่นพีทีทีเออาร์ โรงกลั่นไออาร์พีซี โรงกลั่นไทยออยล์ และโรงกลั่นบางจาก ร่วมกันจัดสรรน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในปริมาณ 122 ล้านลิตรต่อเดือน เป็นเวลา 6 เดือน (มิถุนายน - พฤศจิกายน 2551) รวม 732 ล้านลิตร ในราคาที่ต่ำกว่าราคาดีเซลหมุนเร็วปกติ 3 บาทต่อลิตร รวมเป็นมูลค่า 2,196 ล้านบาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มประชาชนหรือสาขาอาชีพที่มีรายได้ต่ำ เช่น กลุ่มประมง กลุ่มเกษตรกร และผู้ใช้รถโดยสารประจำทาง เป็นต้น
3.2 แนวทางดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มประชาชนหรือสาขาอาชีพที่มีรายได้ต่ำที่ได้รับความเดือดร้อนโดยสามารถติดต่อมาที่ สนพ. หรือหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ และให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเป็นผู้นำเสนอขอรับความช่วยเหลือต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยข้อเสนอที่ได้รับความเห็นชอบจาก กบง. ไปแล้ว กบง. จะพิจารณาติดตามและประเมินผลทุกๆ เดือน และมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) และ สนพ. เป็นผู้ประสานการดำเนินงาน
4. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2551 ผู้แทนกระทรวงคมนาคมได้ยื่นข้อเสนอทางวาจาต่อกระทรวงพลังงาน เพื่อให้ กบง. พิจารณา ช่วยเหลือลดราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วให้กับรถหมวด 1 (รถโดยสารในเมือง เช่น ขสมก. และรถร่วมบริการ) และหมวด 4 (รถโดยสารในเขตจังหวัด (ชานเมือง)) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 14,636 คัน ซึ่งมีปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วประมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน โดยผ่านจุดจำหน่ายน้ำมันของสถานีบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เท่านั้น อันเนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้ทุเลาการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารชั่วคราว จึงทำให้รถโดยสารหยุดเดินรถประท้วง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้รถโดยสาร
5. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้พิจารณาข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมข้างต้นแล้วเห็นควรให้ความช่วยเหลือ โดยมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
5.1 การจัดหาน้ำมัน : กระทรวงพลังงานโดย ปตท. จัดหาน้ำมันดีเซลจำนวนประมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน ตามที่กระทรวงคมนาคมร้องขอ ให้กับรถหมวด 1 และ หมวด 4 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยน้ำมันดีเซลที่จำหน่ายเป็นน้ำมันดีเซลคุณภาพปกติที่จำหน่ายในสถานีบริการทั่วไป และถูกกว่าราคาจำหน่ายในสถานีบริการปกติ 3.00 บาท/ลิตร มีปริมาณการจำหน่ายประมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มจำหน่ายน้ำมันในโครงการฯ จนกว่าจะได้ข้อยุติของศาลปกครองในกรณีการขอปรับขึ้นค่าโดยสาร
5.2 การจัดสรรน้ำมัน จะจัดสรรให้กับรถ ขสมก. และ รถร่วม ขสมก. เฉพาะรถหมวด 1 และ หมวด 4 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนประมาณ 14,636 คัน หรือคิดเป็นประชาชนที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน โดยมีปริมาณความต้องการใช้น้ำมันประมาณ 30 ล้านลิตรต่อเดือน โดยมอบให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินงาน ติดตาม และกำกับดูแลการจำหน่ายน้ำมันของสถานีบริการของ ขสมก. ให้กับรถหมวด 1 และ หมวด 4 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนประมาณ 14,636 คัน
5.3 เนื่องจากจุดจำหน่ายน้ำมันในปัจจุบันของ ขสมก. มี 24 แห่งสามารถรองรับความต้องการใช้ได้น้ำมันดีเซลได้ 0.4 ล้านลิตรต่อวัน แต่จากการที่กระทรวงพลังงานมีแนวทางช่วยเหลือ รถหมวด 1 และ หมวด 4 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านลิตรต่อวัน และต้องมีรถขนส่งน้ำมันวิ่งในช่วงกลางวัน จึงมีความจำเป็นต้องขออนุญาตสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นกรณีพิเศษให้รถขนส่งน้ำมันสามารถวิ่งนอกช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนดได้
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการช่วยเหลือที่กระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือกับ 4 โรงกลั่นในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้แก่ โรงกลั่นพีทีทีเออาร์ โรงกลั่นไออาร์พีซี โรงกลั่นไทยออยล์ และโรงกลั่นบางจาก ได้ร่วมกันบริจาค โดยการจัดสรรน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในปริมาณ 122 ล้านลิตรต่อเดือน เป็นเวลา 6 เดือน (มิถุนายน - พฤศจิกายน 2551) รวม 732 ล้านลิตร ในราคาที่ต่ำกว่าราคาดีเซลหมุนเร็วปกติ 3 บาทต่อลิตร รวมเป็นมูลค่า 2,196 ล้านบาท โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเป็นผู้พิจารณาจัดสรรแทนกระทรวงพลังงาน และให้การช่วยเหลือกลุ่มประชาชนหรือสาขาอาชีพที่มีรายได้ต่ำและได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มประมง กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้รถโดยสารประจำทาง เป็นต้น โดยให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประสานงานกับโรงกลั่นทั้ง 4 แห่ง ในการจัดหาน้ำมันดังกล่าว
2. เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาราคาน้ำมันแพง โดยให้การช่วยเหลือกลุ่มประชาชนหรือสาขาอาชีพที่มีรายได้ต่ำ เช่น ชาวประมง เกษตรกร และ ผู้ใช้รถโดยสารประจำทาง เป็นต้น โดยกลุ่มประชาชนหรือสาขาอาชีพที่มีรายได้ต่ำที่ได้รับความเดือดร้อนติดต่อมาที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานหรือหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ และให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเป็นผู้นำเสนอขอรับความช่วยเหลือต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยข้อเสนอที่ได้รับความเห็นชอบไปแล้ว คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานจะพิจารณาติดตามและประเมินผลทุกๆ เดือน
ทั้งนี้ มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานและสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเป็นผู้ประสานการดำเนินงาน
3. เห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม โดยให้ความช่วยเหลือลดราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วให้กับรถหมวด 1 (รถโดยสารในเมือง เช่น ขสมก. และรถร่วมบริการ) และหมวด 4 (รถโดยสารในเขตจังหวัด (ชานเมือง)) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนประมาณ 14,600 คัน ซึ่งมีปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วประมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน โดยผ่านจุดจำหน่ายน้ำมันของสถานีบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ดังนี้
3.1 การจัดหาน้ำมัน : กระทรวงพลังงานโดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดหาน้ำมันจำนวนประมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน ตามที่กระทรวงคมนาคมร้องขอให้กับรถหมวด 1 และ หมวด 4 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
3.2 ราคาน้ำมันดีเซล : น้ำมันดีเซลที่จำหน่ายเป็นน้ำมันดีเซลคุณภาพปกติที่จำหน่ายในสถานีบริการทั่วไป และถูกกว่าราคาจำหน่ายในสถานีบริการปกติ 3.00 บาทต่อลิตร
3.3 ปริมาณการจำหน่าย : ประมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มจำหน่ายน้ำมันในโครงการฯ จนกว่าจะได้ข้อยุติของศาลปกครองในกรณีการขอปรับขึ้นค่าโดยสารหรือเท่าที่จำนวนน้ำมันที่ได้รับการจัดสรรหมดลง แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน
3.4 การจัดสรรน้ำมัน : จัดสรรให้กับรถ ขสมก. และ รถร่วม ขสมก. เฉพาะรถหมวด 1 และ หมวด 4 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนประมาณ 14,600 คัน หรือคิดเป็นประชาชนที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน โดยมีปริมาณความต้องการใช้น้ำมันประมาณ 30 ล้านลิตรต่อเดือน
3.5 การบริหารจัดการ : มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินงาน ติดตาม และกำกับดูแลการจำหน่ายน้ำมันของสถานีบริการของ ขสมก. หรือสถานีบริการที่ ขสมก. รับรอง ให้กับรถหมวด 1 และหมวด 4 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนประมาณ 14,600 คัน
3.6 มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามมติข้างต้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และให้นำผลการดำเนินงานเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานในการประชุมครั้งต่อไป
ครั้งที่ 28 - วันศุกร์ ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 3/255 (ครั้งที่ 28)
วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เวลา 9.30 น.
ณ ห้องประชุมบุญรอด-นิธิพัฒน์ ชั้น 11 อาคาร 7 กระทรวงพลังงาน
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (มีนาคม - 9 พฤษภาคม 2551)
2. รายงานผลการประชุมคณะอนุกรรมการประสานการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงาน
3. หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินชดเชยสำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) นำเข้า
4. แนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (พลโทหญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ) ประธานกรรมการ
รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายชวลิต พิชาลัย) กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ประธานฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมฯ ทราบว่าจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม 2551 ซึ่งกระทรวงพลังงานจะได้นำเสนอเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาพลังงาน เช่น เรื่องการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งปัจจุบันยังขาดการสนับสนุนทางด้านแรงจูงใจ มาตรการแก้ไขปัญหา NGV และการส่งเสริมการใช้ E85 ให้เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (มีนาคม - 9 พฤษภาคม 2551)
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยเดือนมีนาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 96.76 และ 103.26 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 6.74 และ 8.53 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากข่าวค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนตัวและข่าวกลุ่มคนร้ายติดอาวุธได้ลอบวางระเบิดท่อส่งน้ำมันในประเทศอิรัก ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันของอิรักลดลงอย่างรุนแรง ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ เฉลี่ยเดือนเมษายน 2551 อยู่ที่ระดับ 103.41 และ 109.98 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 6.66 และ 6.71 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับจากตลาดที่ยังกังวลต่อการอ่อนตัวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องและข่าวกลุ่มก่อการร้ายโจมตีท่อส่งน้ำมันของบริษัท Royal Dutch Shell ในประเทศไนจีเรีย และต่อมาในช่วงวันที่ 1-9 พฤษภาคม 2551 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 112.92 และ 118.18 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากข่าวค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนตัวลงและไนจีเรียได้ลดการส่งออกน้ำมันดิบลงในเดือนพฤษภาคม 2551 ที่ระดับ 1.63 ล้านบาร์เรล/วัน หลังเกิดเหตุการณ์พนักงานบริษัทน้ำมันประท้วงและก่อการวินาศกรรมแหล่งผลิต
2. ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเดือนมีนาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 109.78, 109.17 และ 126.19 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 4.71, 5.04 และ 14.99 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบและจากข่าว PetroChina ของจีนงดส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือนเมษายน 2551 และจะปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในเดือนเมษายน ประกอบกับข่าวประเทศชิลีมีแผนนำเข้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าปริมาณ 7.8 ล้านบาร์เรล ส่งมอบในเดือนมิถุนายน - ตุลาคม 2551 และในเดือนเมษายน 2551 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 118.08, 117.09 และ 138.33 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วตามราคาน้ำมันดิบและอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในเวียดนาม จีนและอินโดนีเซีย และต่อมาในช่วงวันที่ 1-9 พฤษภาคม 2551 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 123.48, 122.79 และ 144.97 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบและ IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates ของสิงคโปร์ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 ลดลง 0.31 ล้านบาร์เรล ประกอบกับข่าวประเทศอินโดนีเซียอาจเพิ่มการตรึงราคาน้ำมันในประเทศเนื่องจากราคาตลาดโลกอยู่ในระดับสูง
3. เดือนมีนาคม 2551 ผู้ค้าน้ำมันได้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95, 91, แก๊สโซฮอล 95 (E10), แก๊สโซฮอล 91 เพิ่มขึ้น 1.00 บาทต่อลิตร และปรับราคาแก๊สโซฮอล 95 (E20) เพิ่มขึ้น 0.50 บาทต่อลิตร, น้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 1.50 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 เพิ่มขึ้น 0.80 บาทต่อลิตร และ ในเดือนเมษายน 2551 ผู้ค้าน้ำมันได้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95, 91, แก๊สโซฮอล 95 (E10), แก๊สโซฮอล 91 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 เพิ่มขึ้น 1.50 บาทต่อลิตร ปรับราคาแก๊สโซฮอล 95 (E20) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 2.00 บาทต่อลิตร และในช่วงวันที่ 1-12 พฤษภาคม 2551 ผู้ค้าน้ำมันได้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.50 บาทต่อลิตร จำนวน 2 ครั้ง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91, แก๊สโซฮอล 95 (E10), (E20), 91 ดีเซลหมุนเร็ว และดีเซลหมุนเร็ว บี 5 ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 37.59, 36.49, 33.59, 31.59, 32.79, 34.44 และ 33.74 บาทต่อลิตร ตามลำดับ
4. แนวโน้มราคาน้ำมันเดือนมิถุนายน 2551 คาดว่าราคาน้ำมันยังคงมีความผันผวนในทิศทางที่สูงขึ้น ซึ่งราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 115-125 และ 120-130 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของจีนและอินเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความต้องการจากประเทศในตะวันออกกลาง และจากความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นในไนจีเรีย การเมืองในอิรักและกรณีพิพาทระหว่างอิหร่านและสหรัฐเกี่ยวกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์ สำหรับราคาน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในตลาดจรสิงคโปร์เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 125-135 และ 140-160 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบและการเข้ามาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าของกองทุนเก็งกำไร (Hedge Fund) ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าจากภาวะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง
5. สำหรับสถานการณ์ก๊าซ LPG ช่วงเดือนพฤษภาคม 2551 ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น42 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน มาอยู่ที่ระดับ 851 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ตามราคาน้ำมันดิบตลอดโลกและความต้องการก๊าซ LPG จากธุรกิจปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น รัฐบาลกำหนดราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นอยู่ที่ระดับ 10.9960 บาทต่อกิโลกรัม ราคาขายส่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ระดับ 13.6863 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ระดับ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ในเดือนเมษายน 2551 ได้นำเข้า ก๊าซ LPG 20,000 ตัน ณ ระดับราคา 27.1799 บาทต่อกิโลกรัม อัตราเงินชดเชยก๊าซ LPG นำเข้าอยู่ที่ระดับ 16.1839 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นเงินประมาณ 323.68 ล้านบาท สำหรับราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกในช่วงเดือนมิถุนายน 2551 คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 805-820 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ปริมาณนำเข้า ก๊าซ LPG เดือนพฤษภาคมและมิถุนายนอยู่ที่ประมาณ 13,000 และ 19,000 ตัน ตามลำดับ
6. สถานการณ์น้ำมันแก๊สโซฮอล ในช่วงต้นปี 2551 มีปริมาณจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลอยู่ที่ระดับ 7.4 ล้านลิตรต่อวัน และในเดือนเมษายน 2551 มีปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 8.1 ล้านลิตรต่อวัน โดยมีสถานีบริการ 3,963 แห่ง ปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 และ 91 อยู่ที่ 33.59 บาทต่อลิตร และ 32.79 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ส่วนการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล E20 เริ่มจำหน่ายเดือนมกราคม 2551 ราคาขายปลีกอยู่ที่ 31.59 บาทต่อลิตร บ.บางจาก และ ปตท. มีสถานีบริการในกรุงเทพและปริมณฑล 15 แห่ง และ 27 แห่ง ตามลำดับ ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล E20 ในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคมและเมษายน 2551 เท่ากับ 9,000 16,000 29,000 และ 47,000 ลิตรต่อวัน ตามลำดับ และกำลังการผลิตและปริมาณการผลิตเอทานอลจริงเท่ากับ 1.57 และ 0.89 ล้านลิตรต่อวัน ตามลำดับ จากผู้ประกอบการที่ผลิต เอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง 10 ราย โดยราคาเอทานอลแปลงสภาพไตรมาส 2 ในปี 2551 อยู่ที่ลิตรละ 17.54 บาท
7. สำหรับน้ำมันไบโอดีเซล เดือนเมษายน 2551 มีกำลังการผลิตรวม 2.18 ล้านลิตรต่อวัน และราคาไบโอดีเซลในประเทศเฉลี่ยเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม 2551 อยู่ที่ 40.94, 38.29 และ 38.11 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ส่วนปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 เดือนมีนาคมและเมษายนมีจำนวน 7.52 และ 8.30 ล้านลิตรต่อวัน ตามลำดับ ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 อยู่ที่ 33.74 บาทต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 0.70 บาทต่อลิตร
8. ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2551 มีเงินสดในบัญชี 15,662 ล้านบาท มีหนี้สิน ค้างชำระ 11,980 ล้านบาท แยกเป็นหนี้พันธบัตร 8,800 ล้านบาท ภาระดอกเบี้ยพันธบัตร 258 ล้านบาท และหนี้ค้างชำระเงินชดเชย 2,426 ล้านบาท หนีชดเชยก๊าซ LPG 107 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ 3,682 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 รายงานผลการประชุมคณะอนุกรรมการประสานการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีคำสั่งที่ 10/2550 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2550 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานที่มีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานร่วม ทำหน้าที่เสนอแนะนโยบาย และแนวทางแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการด้านพลังงาน ซึ่งเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2551 คณะอนุกรรมการประสานการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานได้จัดประชุมครั้งที่ 1/2551 เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้านพลังงาน
2. ประชุมคณะอนุกรรมการประสานการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงาน และความก้าวหน้าในการดำเนินการสรุปได้ดังนี้
2.1 ปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการฯ ที่ประชุมได้มีมติให้ปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการฯ ใหม่ โดยให้เพิ่มอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นอนุกรรมการ รวมทั้งให้เปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ เพื่อความเหมาะสมและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานยิ่งขึ้น โดยประธาน กบง. ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ได้ปรับปรุงใหม่แล้วเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2551
2.2 การขอยกเว้นการจัดทำ EIA ก่อนการสำรวจปิโตรเลียมโดยวิธีวัดคลื่นไหวสะเทือน โดยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2551 สผ. ได้ยกร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยกำหนดให้มีโครงการที่ต้องจัดทำ EIA จำนวน 34 โครงการ ซึ่งไม่นับรวมโครงการสำรวจปิโตรเลียมโดยวิธีวัดคลื่นไหวสะเทือนเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศดังกล่าวและให้นำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป และที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) ร่วมกับ สผ. นำเสนอรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมโดยวิธีวัดคลื่นไหวสะเทือนที่ได้ผ่านการสัมมนาและมีการปรับปรุงแล้วเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ เพื่อให้ความเห็นชอบด้วย ซึ่งปัจจุบันคาดว่าจะสามารถเสนอรายละเอียดต่อคณะอนุกรรมการฯ ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2551 เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนให้ ชธ.นำไปใช้โดยอาศัยอำนาจตามกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2514) ออกตามความใน พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาตรา 14(1)
2.3 การจัดตั้งโรงไฟฟ้า และระบบส่งไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2550-2564 (PDP 2007) และการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ประชุมได้มีมติดังนี้ (1) เห็นชอบแนวทางดำเนินการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมอบให้ฝ่ายเลขานุการฯ ปรับแก้และเพิ่มเติมแนวทางดำเนินการตามข้อสังเกตที่ประชุม ตลอดจนมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามแนวทางการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดผลทางปฏิบัติ ต่อไป (2) มอบให้กระทรวงพลังงานเป็นเจ้าภาพดำเนินการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินในลักษณะ Clean Coal ต่อประชาชน รวมทั้งภาพรวมของแผนและทิศทางการพัฒนาพลังงาน โดยบรรจุในแผนประชาสัมพันธ์ของกระทรวงพลังงานและดำเนินการให้เกิดผลโดยเร็ว และ (3) มอบหมายให้กระทรวงพลังงานโดย สนพ. กำหนดพื้นที่สำหรับพัฒนาโรงไฟฟ้าในอนาคตสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ในรอบต่อไป โดยให้พิจารณาจากเกณฑ์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ ความเหมาะสมทางด้านเทคนิคในการจัดตั้งโรงไฟฟ้า และความเหมาะสมด้านการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
2.4 การทบทวนการกำหนดประเภท ขนาด โครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กที่ต้องจัดทำ EIA ที่ประชุมได้มีมติมอบให้ พพ. ประสานกับ สผ. และกรมป่าไม้ พิจารณาทบทวนการกำหนด ประเภท ขนาด โครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กที่ต้องจัดทำ EIA หรือ IEE เป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กที่มีกำลังผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ไม่ต้องจัดทำ EIA ให้ได้ข้อยุติ แล้วนำเสนอ กบง. เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ให้ความเห็นชอบและกำหนดบังคับใช้ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อยุติสามารถนำเสนอคณะอนุกรรมการฯ ภายในเดือนมิถุนายน 2551
2.5 การกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติ (Code of Practice) สำหรับระบบขนส่งก๊าซธรรมชาติ ทางท่อ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ ธพ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการอนุมัติโครงการที่ใช้ COP และบังคับใช้ COP และมอบหมาย ธพ. ร่วมกับ สผ. นำเสนอคณะกรรมการกำกับการศึกษา COP พิจารณาทบทวนลักษณะของโครงการและพื้นที่ที่สามารถใช้ COP แทนการจัดทำ EIA ให้ได้ข้อยุติ ตลอดจนให้ศึกษาการแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบก่อนให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ นำเสนอ กก.วล. พิจารณาเพื่อให้สามารถนำไปใช้ภายในกลางปี 2551 ปัจจุบัน ธพ.ร่วมกับ สผ. นำเสนอคณะกรรมการกำกับการศึกษา COP พิจารณาทบทวนลักษณะของโครงการและพื้นที่ที่สามารถใช้ COP แทนการจัดทำ EIA จนได้ข้อยุติ และนำร่าง COP ประกาศในระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Focus Group) ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำเสนอ COP ที่มีการปรับปรุงต่อคณะอนุกรรมการฯ ภายในเดือนมิถุนายน 2551
2.6 การปรับลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันเตา ที่ประชุมมีมติเห็นควรชะลอเรื่องการปรับลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันเตาไปก่อน และมอบให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ตรวจสอบและเฝ้าระวังปัญหาก๊าซ SO2ในบรรยากาศ และหากพบว่าแนวโน้มของก๊าซ SO2 จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพบรรยากาศโดยรวมให้เสนอแนะการปรับลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันเตา
2.7 การควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้ คพ. รับไปดำเนินการติดตามตรวจสอบสภาพปัญหาจากไอระเหยน้ำมันเชื้อเพลิง และเสนอแนะมาตรการและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาการควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมไอระเหยน้ำมันในรถยนต์เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายต่อไป ปัจจุบัน คพ. อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนเก็บตัวอย่างอากาศเพื่อวิเคราะห์หาสารประกอบอินทรีย์ระเหย (VOCs) เพื่อติดตามประเมินผลกระทบที่เกิดจากกิจกรรมในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
2.8 การผลิตไฟฟ้าจากขยะและการกำจัดของเสีย ที่ประชุมได้มีมติมอบให้ คพ. ยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน และดำเนินการให้เกิดผลทางปฏิบัติ ต่อไป ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินชดเชยสำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) นำเข้า
สรุปสาระสำคัญ
1. ในการประชุม กบง. เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ได้มติดังนี้ 1) เห็นชอบให้ขยายเวลาการดำเนินการตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2550 โดยให้คงราคา ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG เท่ากับต้นทุนการผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ร้อยละ 95 บวกราคาส่งออกก๊าซ LPG ร้อยละ 5 ของเดือนมีนาคม 2551 ไว้ จนถึงเดือนกรกฎาคม 2551 หลังจากนั้น ให้มีการพิจารณาดำเนินการปรับสูตรราคา ณ โรงกลั่นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ 2) เห็นชอบให้รักษาระดับราคาก๊าซ LPG โดยให้คงราคาก๊าชหุงต้มไว้ ณ ระดับราคาตามราคาอิงตลาดโลกในข้อ 1) แต่สำหรับก๊าช LPG ที่นำไปใช้ในทางอื่นๆ ทั้งหมด ให้ปรับเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ ทั้งนี้ เพื่อนำเงินที่ได้จากอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ไปชำระหนี้เงินชดเชยการนำเข้าก๊าซ LPG จากต่างประเทศ และลดความต้องการใช้ ก๊าซ LPG โดยให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) รับไปดำเนินการกำหนดรายละเอียดในหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติต่อไป 3) เห็นชอบให้จ่ายเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG จากการนำเข้าตามปริมาณสัดส่วนที่ขาด ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นไป 4) มอบหมายให้ ธพ. และสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพน.) ร่วมกันจัดระบบการจ่ายเงินชดเชยสำหรับ ก๊าซ LPG ที่นำเข้ามาใช้ ในประเทศ รวมทั้งการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากการใช้ก๊าซ LPG ที่มิใช่การใช้ในภาคครัวเรือน โดยให้ ธพ. เป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบปริมาณการนำเข้าและปริมาณการใช้ก๊าซ LPG ที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ทั้งนี้ให้ สบพน. เป็นผู้รับผิดชอบด้านการจ่ายเงินชดเชย 5) มอบหมายให้ สนพ. รับไปดำเนินการออกประกาศ กบง. เพื่อกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ อัตราเงินชดเชยและอัตราเงินกองทุนคืนสำหรับก๊าซ LPG ที่ผลิต จำหน่ายและนำเข้ามาใช้ในประเทศ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป และ 6) มอบให้ประธาน กบง. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติแทนคณะกรรมการฯ ตามข้อ 1) ข้อ 2) และข้อ 3) ได้ตามความเหมาะสม
2. การที่ภาครัฐได้กำหนดให้ราคาก๊าซ LPG อยู่ในระดับที่ต่ำ ส่งผลให้ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในภาครถยนต์และภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การผลิตลดลงเนื่องจากผู้ผลิตมีแผนปิดซ่อมบำรุงประจำปี ประกอบกับโรงกลั่นได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตโดยใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงแทน น้ำมันเตา เนื่องจากราคาจำหน่ายในประเทศมีราคาต่ำ และจากประมาณการการผลิตและการใช้ก๊าซ LPG ของ ธพ. พบว่าในเดือนเมษายน 2551 ปริมาณก๊าซ LPG จะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จำเป็นต้องมีการนำเข้า ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ค้าตามมาตรา 7 (บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)) ในการนำเข้าก๊าซ LPG เพื่อใช้ในประเทศในเดือนเมษายน 2551 ปริมาณ 20,000 ตัน
3. หลักเกณฑ์การคำนวณอัตราเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG จากการนำเข้า โดยที่อัตราเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG จากการนำเข้าจะเท่ากับส่วนต่างระหว่างราคาก๊าซ LPG นำเข้าและราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นที่ทำในราชอาณาจักร ซึ่งการคำนวณราคาก๊าซ LPG นำเข้าจะเท่ากับ
ราคาก๊าซ LPG นำเข้า = CP + Premium +ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
โดยที่
1) CP = ราคาประกาศเปโตรมิน ณ ราสทานูรา ซาอุดิอาระเบียเป็นสัดส่วนระหว่างโพรเพนกับบิวเทน 60 ต่อ 40 ณ เดือนที่มีการนำเข้า
2) Premium = ค่าขนส่งและค่าธรรมเนียม ณ เดือนที่นำเข้า
3) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ได้แก่ Insurance, Loss, Demurrage, Import duty, Surveyor/witness fee & Lab expenses, Management Fee และ Depot Operating Expenses
4) อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขายให้ลูกค้าธนาคารทั่วไป ที่ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เฉลี่ยเดือนก่อนหน้าเดือนที่นำเข้า
ในการคำนวณราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นที่ทำในราชอาณาจักร จะใช้หลักเกณฑ์การกำหนดราคา ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG ตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2550 และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551
4. ประมาณการคำนวณราคานำเข้าก๊าซ LPG ตามหลักเกณฑ์ในข้อ 3 พบว่าในเดือนเมษายน 2551 ปริมาณนำเข้าก๊าซ LPG 20,000 ตัน จะมีต้นทุนราคานำเข้าก๊าซ LPG เท่ากับ 860.6891 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ณ ที่อัตราแลกเปลี่ยน 31.5792 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ดังนั้นต้นทุนราคานำเข้าก๊าซ LPG เดือนเมษายน 2551 จะเท่ากับ 27.1799 บาท/กิโลกรัม และจากมติ กบง. เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ได้กำหนดให้คงราคา ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG ตั้งแต่มีนาคม 2551 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2551 ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG ของเดือนเมษายน 2551 เท่ากับราคาในเดือนมีนาคม 2551 คือ 10.9960 บาท/กิโลกรัม และจากการคำนวณอัตราเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG จากการนำเข้ากองทุนน้ำมันฯ จะต้องรับภาระในการจ่ายเงินชดเชยการนำเข้าก๊าซ LPG 20,000 ตันจากต่างประเทศ ณ เดือนเมษายน 2551 ในอัตรากิโลกรัมละ 16.1839 บาท คิดเป็นเงินประมาณ 323.68 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณอัตราเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG จากการนำเข้า
อัตราเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG จากการนำเข้า เท่ากับ ส่วนต่างระหว่างราคาก๊าซ LPG นำเข้าและราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นที่ทำในราชอาณาจักร
2. เห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซ LPG นำเข้า
ราคาก๊าซ LPG นำเข้า = CP + Premium + ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
โดยที่
1) CP = ราคาประกาศเปโตรมิน ณ ราสทานูรา ซาอุดิอาระเบียเป็นสัดส่วนระหว่าง โพรเพนกับบิวเทน 60 ต่อ 40 ณ เดือนที่มีการนำเข้า
2) Premium = ค่าขนส่งและค่าธรรมเนียม ณ เดือนที่นำเข้า
3) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
Insurance
Loss
Demurrage
Import duty
Surveyor / witness fee & Lab expenses
Management Fee
Depot Operating Expenses
4) อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขายให้ลูกค้าธนาคารทั่วไป ที่ประกาศโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย เฉลี่ยเดือนก่อนหน้าเดือนที่นำเข้า
ทั้งนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นไป โดยให้เป็นไปตามมติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
เรื่องที่ 4 แนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
สรุปสาระสำคัญ
1. จากมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 เรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้ออกประกาศกำหนดเงื่อนไขการจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวไปนอกราชอาณาจักร ปี 2551 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ผู้ที่ส่งออกได้ต้องเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เท่านั้น โดยต้องขอรับหนังสือรับรองจากกรมธุรกิจพลังงาน เพื่อไปแสดงต่อ เจ้าพนักงานศุลกากรทุกครั้งในการส่งออกและให้ส่งออกได้ ณ ท่า หรือด่านศุลกากรที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งประกาศฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2551 เป็นต้นไป
2. เดือนมีนาคม 2551 ผู้ค้าน้ำมันไม่สามารถนำเข้าก๊าซ LPG ตามปริมาณส่วนที่ขาดได้ จึงจำเป็น ต้องนำปริมาณก๊าซ LPG ที่โรงกลั่นน้ำมันใช้เองออกจำหน่าย และให้โรงกลั่นน้ำมันเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่นแทนก๊าซ LPG เช่น ก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมันเตา การกำหนดเงื่อนไขการส่งออกตามข้อ 1 อาจส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดประเทศไทยและต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซ LPG จากไทย โดยเฉพาะ สปป.ลาว ที่ไม่มีทางออกทะเล ในการนี้ สปป.ลาว ได้มีคำร้องผ่านอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ เวียงจันทน์ ระบุว่า สปป.ลาวไม่สามารถจัดหาก๊าซ LPG จากที่อื่นได้นอกจากไทย โดยมีปริมาณนำเข้าปีละประมาณ 2,500 - 3,000 เมตริกตัน หรือประมาณเดือนละ 200-250 เมตริกตัน รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอื่นที่มีชายแดนติดไทย เช่น พม่ามีการนำเข้าประมาณเดือนละ 35 เมตริกตัน
3. ธพ. ได้เจรจากับโรงกลั่น เพื่อให้นำก๊าซ LPG ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงกลั่นออกมาจำหน่าย ในประเทศให้มากที่สุดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นไป ประมาณเดือนละ 10,000 เมตริกตัน ซึ่ง โรงกลั่นให้ความร่วมมือ โดยขอให้ภาครัฐจ่ายเงินชดเชยราคาต้นทุนที่สูงขึ้นให้ ดังนี้
เปรียบเทียบจำนวนเงินที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรับภาระจ่ายชดเชยส่วนต่างของราคา
หน่วย : เหรียญสหรัฐฯ/เมตริกตัน
ชนิดเชื้อเพลิง | ราคาต้นทุนเชื้อเพลิงอื่น | ราคา ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG (เดือนมีนาคม 2551) | จำนวนเงินที่กองทุนฯ รับภาระจ่ายชดเชยส่วนต่างของราคา |
ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ราคาตลาดโลก | 870 - 950 | 332.75 | 537.25 - 617.25 |
ก๊าซธรรมชาติ (NG) | 450 | 332.75 | 117.25 |
น้ำมันเตา | 523.88 | 332.75 | 191.13 |
4. การใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นทดแทนการใช้ก๊าซ LPG ในโรงกลั่นน้ำมันมีอัตราจ่ายเงินชดเชยต่ำกว่าเงินชดเชยการนำเข้าก๊าซ LPG ทำให้ประเทศจะได้รับผลประโยชน์มากกว่าการนำเข้าก๊าซ LPG รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนก๊าซ LPG ของประเทศได้เร็วกว่าการนำเข้า คือตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป และการส่งออกก๊าซ LPG ไปประเทศเพื่อนบ้านจะต้องไม่สร้างภาระจ่ายเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ โดยผู้ค้าที่จะส่งออกไปจำหน่ายต้องขออนุญาตปริมาณส่งออกล่วงหน้า เพื่อนำมารวมในปริมาณนำเข้า และปริมาณส่วนนี้จะไม่ได้รับเงินชดเชยนำเข้า
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการจ่ายชดเชยราคาของเชื้อเพลิงอื่นที่นำมาใช้ทดแทนก๊าซ LPG เช่น ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันเตาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นไป โดยมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานรับไปพิจารณากำหนดแนวทางการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวต่อไป
2. เห็นชอบให้ไม่มีการชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่นำเข้ามาเพื่อส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ รายงานผลการชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานทราบทุกครั้งการประชุมด้วย
สรุปสาระสำคัญ
1. ในการประชุม กบง. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2550 ได้อนุมัติเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการประชาสัมพันธ์ ปี 2551 ให้กับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน (สป.พน.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) รวมเป็นเงินจำนวน 213 ล้านบาท
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รับทราบงบประมาณประชาสัมพันธ์ ปี 2551 ที่กระทรวงพลังงานได้รับจัดสรรจากเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ และได้มอบนโยบายให้แต่ละหน่วยงาน ใช้เงินตามความจำเป็น แต่ให้มีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผล สอดรับกับนโยบายหลัก 5 ข้อด้านพลังงานของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 และตามมติที่ประชุมผู้บริหารของกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551 ที่ได้มีมาตรการประหยัดพลังงานเพื่อประชาชนจำนวน 11 มาตรการใหม่ เพื่อเร่งรัดส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีการประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม
3. เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2551 ในการประชุมคณะกรรมการบริหารงานประชาสัมพันธ์ของกระทรวงพลังงาน ได้พิจารณาการบริหารจัดการทรัพยากรด้านงบประชาสัมพันธ์ใหม่ เนื่องจากงบประมาณโครงการประชาสัมพันธ์บางส่วนยังไม่มีภาระผูกพันเป็นจำนวน 105.5 ล้านบาท และขณะนี้ได้เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2551 ซึ่งคาดว่าการใช้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจะไม่ทันเวลา คณะกรรมการบริหารงานประชาสัมพันธ์ฯ จึงเห็นควรให้ สป.พน. สนพ. และ ธพ. ปรับแผนงานโครงการประชาสัมพันธ์และนำเงินงบประมาณรวม 105.5 ล้านบาท ส่งคืนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปก่อน ดังต่อไปนี้
หน่วยงาน/โครงการ | จำนวนเงิน (ล้านบาท) | |
อนุมัติ | ส่งคืน | |
1. สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน | ||
1.1 โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านนโยบายพลังงาน | 50 | 42.5 |
2. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน | ||
2.1 โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล ระยะที่ 3 | 50 | 20.0 |
2.2 โครงการประชาสัมพันธ์การปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG | 40 | 10.0 |
2.3 โครงการประชาสัมพันธ์สนับสนุนประสานผลักดันนโยบายและแผนพัฒนาพลังงานสู่การปฏิบัติ | 30 | 30.0 |
2.4 โครงการประชาสัมพันธ์พลังงานตามสถานการณ์ | 30 | - |
2.5 การประเมินผลโครงการประชาสัมพันธ์ ปีงบประมาณ 2551 | 3 | 3 |
3. กรมธุรกิจพลังงาน | ||
3.1 โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านพลังงานตามภารกิจและยุทธศาสตร์ของกรมธุรกิจพลังงาน | 10 | - |
รวม 3 หน่วยงาน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น | 213 | 105.5 |
รวม 3 หน่วยงาน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น (หลังส่งเงินคืนกองทุนฯ) | 107.5 |
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
ครั้งที่ 27 - วันพฤหัสบดี ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 2/2551 (ครั้งที่ 27)
วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เวลา 9.00 น.
ณ ห้องประชุมบุญรอด - นิธิพัฒน์ ชั้น 11 อาคาร 7 กระทรวงพลังงาน
1. แนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
2. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (มกราคม - 25 กุมภาพันธ์ 2551)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (พลโทหญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ) ประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายวีระพล จิรประดิษฐกุล) กรรมการและเลขานุการ
ประธานฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุม กบง. ครั้งแรกของรัฐบาล ชุดปัจจุบัน และได้สอบถามฝ่ายเลขานุการฯ เกี่ยวกับงานที่ยังค้างอยู่ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ได้ชี้แจงว่าจากการประชุมฯ ครั้งที่ผ่านมา กบง. ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริม การแปรรูปขยะเป็นน้ำมัน โดยนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยอุดหนุนราคารับซื้อน้ำมันที่ผลิตได้จากการแปรรูปขยะในอัตราไม่เกิน 7 บาทต่อลิตร แต่เนื่องจากต้องมีการแก้ไขคำสั่งนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับนิยามของน้ำมันเชื้อเพลิงให้ครอบคลุมการผลิตน้ำมันจากขยะ ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ จะได้ดำเนินการแก้ไขคำสั่งนายกรัฐมนตรีตามมติ กบง. ต่อไป
เรื่องที่ 1 แนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2550 ได้พิจารณาเรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซ LPG และมีมติเห็นชอบการยกเลิกการชดเชยราคาก๊าซ LPG โดยให้ปรับขึ้นราคาขายส่ง และให้ยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากการส่งออกก๊าซ LPG และยังคงนโยบายราคาก๊าซ ณ คลังเท่ากันทั่วประเทศ โดยเก็บเงินเข้ากองทุนฯ จากก๊าซ LPG ในระดับที่เพียงพอสำหรับชดเชยค่าขนส่งไปยังคลังก๊าซภูมิภาค และเห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดราคา ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG โดยกำหนดเพดานที่ต้นทุนการผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ร้อยละ 60 บวกราคาส่งออกก๊าซ LPG ร้อยละ 40 โดยให้ทยอยปรับสัดส่วนการผลิตระหว่างโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นน้ำมันไปสู่ระดับจริง คือ 60 ต่อ 40 รวมทั้งได้มอบอำนาจให้ประธาน กบง. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม
2. เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 รัฐบาลได้ยกเลิกการชดเชยราคาก๊าซ LPG โดยให้ปรับราคาขายส่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.20 บาทต่อกิโลกรัม จากราคา 16.81 บาท เป็น 18.01 บาทต่อกิโลกรัม วันที่ 4 มกราคม 2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะประธาน กบง. ได้เห็นชอบการปรับสูตรราคา ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG เท่ากับ ต้นทุนการผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ร้อยละ 95 บวกราคาส่งออกก๊าซ LPG ร้อยละ 5 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 7 มกราคม 2551 และวันที่ 30 มกราคม 2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เห็นชอบให้ราคา ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG ของเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ตามหลักเกณฑ์ฯ ซึ่งทำให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ปรับตัวเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 20 สตางค์ จากราคา 18.01 เป็น 18.21 บาทต่อกิโลกรัม และเดือนมีนาคม 2551 ราคาขายปลีกก๊าซ LPG จะเป็น 18.13 บาทต่อกิโลกรัม
3. ประมาณการใช้ก๊าซ LPG ในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2551 อยู่ที่ระดับ 11.87 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.81 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ขณะที่ประมาณการผลิตอยู่ที่ระดับ 11.20 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ลดลงจากปีก่อน 0.26 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ทั้งนี้เนื่องจากผู้ผลิตมีแผนปิดซ่อมบำรุงประจำปี ประกอบกับโรงกลั่นได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตโดยใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันเตา และจากราคาจำหน่ายในประเทศมีราคาต่ำ ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณการผลิตก๊าซ LPG จะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จำเป็นต้องมีการนำเข้าเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยคาดว่าในช่วง 4 เดือนแรกของ ปี 2551 ต้องนำเข้าก๊าซ LPG ประมาณ 81 ล้านกิโลกรัม
4. เพื่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยรักษาระดับราคาพลังงานให้อยู่ระดับ ที่เหมาะสม ฝ่ายเลขานุการฯ จึงมีข้อเสนอดังนี้
4.1 เห็นควรให้ขยายเวลาการดำเนินการโดยให้คงราคา ณ โรงกลั่นตามสูตรการคำนวณของเดือนมีนาคม 2551 ไว้ก่อน เนื่องจากการส่งเสริมการใช้ NGV ให้เป็นทางเลือกของผู้ใช้ LPG ต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง โดยคาดว่าจะมีความพร้อมประมาณเดือนกรกฎาคม 2551
4.2 ให้รักษาระดับราคาก๊าซ LPG โดยให้คงราคาก๊าชหุงต้มไว้ ณ ระดับราคาตามราคา อิงตลาดโลกในข้อ 1 แต่สำหรับก๊าช LPG ที่นำไปใช้ในทางอื่นๆ ทั้งหมด ให้ปรับเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ ทั้งนี้ เพื่อนำเงินที่ได้จากอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ไปชำระหนี้เงินชดเชยการนำเข้าก๊าช LPG จากต่างประเทศ และลดความต้องการใช้ก๊าช LPG โดยให้กรมธุรกิจพลังงานรับไปดำเนินการกำหนดรายละเอียดในหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติต่อไป
4.3 เห็นชอบให้จ่ายเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG จากการนำเข้าตามปริมาณสัดส่วนที่ขาด ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นไป
4.4 มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานและสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน ร่วมกันจัดระบบการจ่ายเงินชดเชยสำหรับก๊าซ LPG ที่นำเข้ามาใช้ในประเทศ รวมทั้งการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากการใช้ก๊าซ LPG ที่มิใช่การใช้ในภาคครัวเรือน โดยให้กรมธุรกิจพลังงานเป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบปริมาณการนำเข้าและปริมาณการใช้ก๊าซ LPG ที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ทั้งนี้ให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงานเป็นผู้รับผิดชอบด้านการจ่ายเงินชดเชย
4.5 มอบหมายให้ สนพ. รับไปดำเนินการออกประกาศ กบง. เพื่อกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ อัตราเงินชดเชยและอัตราเงินกองทุนคืนสำหรับก๊าซ LPG ที่ผลิต จำหน่ายและนำเข้ามาใช้ในประเทศ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
4.6 มอบหมายให้ประธาน กบง. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติแทน กบง. ตามข้อ 4.1 ข้อ 4.2 และข้อ 4.3 ได้ตามความเหมาะสม
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ขยายเวลาการดำเนินการตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2550 เรื่อง แนวทาง การแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว โดยให้คงราคา ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG เท่ากับ ต้นทุนการผลิตจาก โรงแยกก๊าซฯ ร้อยละ 95 บวกราคาส่งออกก๊าซ LPG ร้อยละ 5 ของเดือนมีนาคม 2551 ไว้ จนถึงเดือนกรกฎาคม 2551 หลังจากนั้น ให้มีการพิจารณาดำเนินการปรับสูตรราคา ณ โรงกลั่นของก๊าซ LPG ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
2. เห็นชอบให้รักษาระดับราคาก๊าซ LPG โดยให้คงราคาก๊าชหุงต้มไว้ ณ ระดับราคาตามราคาอิงตลาดโลกในข้อ 1 แต่สำหรับก๊าช LPG ที่นำไปใช้ในทางอื่นๆ ทั้งหมด ให้ปรับเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ ทั้งนี้ เพื่อนำเงินที่ได้จากอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปชำระหนี้ เงินชดเชยการนำเข้าก๊าช LPG จากต่างประเทศ และให้ลดความต้องการใช้ก๊าช LPG โดยมอบให้ กรมธุรกิจพลังงานรับไปดำเนินการกำหนดรายละเอียดในหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติต่อไป
3. เห็นชอบให้จ่ายเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG จากการนำเข้าตามปริมาณสัดส่วนที่ขาด ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นไป
4. มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานและสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน ร่วมกันจัดระบบการจ่ายเงินชดเชยสำหรับก๊าซ LPG ที่นำเข้ามาใช้ในประเทศ และการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากการใช้ก๊าซ LPG ที่มิใช่การใช้ในภาคครัวเรือน โดยมอบให้กรมธุรกิจพลังงานเป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบปริมาณการนำเข้าและปริมาณการใช้ก๊าซ LPG ที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ทั้งนี้ให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงานเป็นผู้รับผิดชอบด้านการจ่ายเงินชดเชย
5. มอบหมายให้ สนพ. รับไปดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เพื่อกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราเงินชดเชยและอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ คืนสำหรับก๊าซ LPG ที่ผลิต จำหน่าย และนำเข้ามาใช้ในประเทศ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
6. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธาน กบง. เป็นผู้พิจารณา ให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติแทน กบง. ตามข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 ได้ตามความเหมาะสม
7. มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานรับไปจัดทำข้อเสนอจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและตรวจสอบการนำก๊าซหุงต้มไปจำหน่ายในสาขาอื่น และคณะกรรมการป้องกันการลักลอบจำหน่ายก๊าซ LPG เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติต่อไป
เรื่องที่ 2 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (มกราคม - 25 กุมภาพันธ์ 2551)
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยเดือนมกราคม 2551 อยู่ที่ระดับ 87.37 และ 92.03 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 1.79 และ 0.78 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากข่าวไนจีเรียส่งออกน้ำมันดิบเดือนมีนาคม ลดลง 420,000 บาร์เรลต่อวัน และโรงกลั่น Aruba (255,000 บาร์เรลต่อวัน) ในสหรัฐฯ ปิดฉุกเฉินอย่างไม่มีกำหนดจากเหตุเพลิงไหม้ รวมทั้งข่าวกลุ่มโอเปค จะยังไม่พิจารณาเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน และต่อมาในช่วงวันที่ 1 - 25 กุมภาพันธ์ ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 89.13 และ 93.61 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากความวิตกว่าอุปทานน้ำมันดิบอาจตึงตัวจากข่าวบริษัทน้ำมัน Lukoil ของรัสเซียหยุดการส่งน้ำมันดิบทางท่อส่งน้ำมันปริมาณ 520,000 ตัน ไปยังเยอรมมีในเดือนกุมภาพันธ์ ประกอบกับพายุไซโคลน Nicholas พัดผ่านบริเวณแหล่งผลิตน้ำมันดิบในประเทศออสเตรเลีย ทำให้ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว รวมทั้งสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิรัก
2. ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเดือนมกราคม 2551 อยู่ที่ระดับ 100.51, 99.56 และ 105.70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 2.13, 2.47 และ 0.01 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบและจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง รวมทั้งจีนมีแผนลดปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินเพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูกาลแข่งขันกีฬาโอลิมปิคฤดูร้อน และในช่วงวันที่ 1-25 กุมภาพันธ์ ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และน้ำมันดีเซลได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 103.59, 102.59 และ 109.71 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบและจาก Formosa Petrochemical Corp. ของไต้หวันจะปิดซ่อมบำรุงตามแผน CDU (180,000 บาร์เรลต่อวัน) ประกอบกับข่าวเกาหลีใต้ลดส่งออกน้ำมันดีเซล เนื่องจากโรงกลั่นลดปริมาณการกลั่นน้ำมันดิบในเดือนมีนาคม
3. เดือนมกราคม 2551 ผู้ค้าน้ำมันได้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95, แก๊สโซฮอล 95 (E10), (E20), แก๊สโซฮอล 91 ลดลง 0.10 บาทต่อลิตร และปรับลดราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 0.20 บาท/ลิตร และปรับเพิ่มราคาน้ำมันเบนซิน 91 ขึ้นอีก 0.20 บาทต่อลิตร และในช่วงวันที่ 1-27 กุมภาพันธ์ 2551 ผู้ค้าน้ำมันได้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.40 บาทต่อลิตร จำนวน 1 ครั้ง และปรับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 เพิ่มขึ้น 0.30 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 แก๊สโซฮอล 95 (E10), (E20), 91 ดีเซลหมุนเร็ว และดีเซลหมุนเร็ว บี 5 ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 อยู่ที่ระดับ 33.19, 32.09, 29.19, 27.19, 28.39, 29.54 และ 29.04 บาทต่อลิตร ตามลำดับ
4. แนวโน้มราคาน้ำมันเดือนมีนาคม 2551 คาดว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับสูง ซึ่งราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 83 - 88 และ 88 - 93 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากความกังวลเกี่ยวกับ Supply Disruption และค่าเงินดอลล่าห์ที่อ่อนตัวทำให้ Trader & Hedge Funds เข้าซื้อขายเพื่อเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้า และข่าวโอเปคมีแนวโน้มไม่เพิ่มปริมาณการผลิต ขณะที่ความต้องการในตลาดใช้น้ำมันของสหรัฐฯ และจีนยังอยู่ในระดับสูง สำหรับราคาน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในตลาดจรสิงคโปร์เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 98 - 105 และ 105 - 112 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบและความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นของประเทศสหรัฐฯ และจีน
5. สำหรับสถานการณ์ LPG ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกปรับตัวลดลง70 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน มาอยู่ที่ระดับ 802 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ตามราคาน้ำมันดิบตลอดโลกในช่วงเดือนมกราคม 2551 แต่ความต้องการใช้เพื่อความอบอุ่นและจากธุรกิจปิโตรเคมียังคงมีจำนวนมาก ราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นอยู่ในระดับ 18.21 บาทต่อกิโลกรัม อัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของก๊าซ LPG ที่จำหน่าย ในประเทศอยู่ในระดับ 0.3033 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็น 42.51 ล้านบาทต่อเดือน สำหรับราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกในช่วงเดือนมีนาคม 2551 คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 795 - 805 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน
6. สถานการณ์น้ำมันแก๊สโซฮอล เดือนกุมภาพันธ์ 2551 การผลิตและจำหน่ายเอทานอลมีปริมาณรวม 0.967 และ 0.81 ล้านลิตรต่อวัน ตามลำดับ จากผู้ประกอบการที่ผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง 7 ราย โดยราคาเอทานอลแปลงสภาพไตรมาส 1 - 4 ในปี 2550 อยู่ที่ลิตรละ 19.33, 18.62, 16.82 บาท และ 15.29 บาท ตามลำดับ และราคาเอทานอล ไตรมาส 1 ปี 2551 ลิตรละ 17.28 บาท ขณะที่มีปริมาณ เอทานอลสำรองของผู้ค้าน้ำมันรวม 22.39 ล้านลิตร ส่วนปริมาณการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 (E10) เดือนมกราคมและในช่วงวันที่ 1-16 กุมภาพันธ์ 2551 ปริมาณ 5.27 และ 5.53 ล้านลิตรต่อวัน ตามลำดับ จากบริษัทค้าน้ำมันที่จำหน่าย จำนวน 15 บริษัท และสถานีบริการ 3,822 แห่ง โดยที่ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ในช่วงเวลาเดียวกันมีปริมาณ 1.44 และ 1.60 ล้านลิตรต่อวัน จากบริษัทค้าน้ำมันที่จำหน่ายจำนวน 4 บริษัท และสถานีบริการน้ำมัน 1,127 แห่ง ปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 (E10) และ 91 (E20), 91 อยู่ที่ 22.19, 27.19 และ 28.09 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซิน 95 และ 91 อยู่ที่ 4.00, 6.00 และ 3.50 บาทต่อลิตร ตามลำดับ
7. สำหรับน้ำมันไบโอดีเซล เดือนกุมภาพันธ์ 2551 มีกำลังการผลิตรวม 2.185 ล้านลิตรต่อวัน และราคาไบโอดีเซลในประเทศเฉลี่ยเดือนมกราคม และ กุมภาพันธ์ 2551 อยู่ที่ 38.93 และ 40.67 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ส่วนปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2550 มีจำนวน 4.89 และ 4.75 ล้านลิตรต่อวัน ตามลำดับ ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 อยู่ที่ 29.04 บาทต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 0.50 บาทต่อลิตร
8. ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 มีเงินสดในบัญชี 13,519 ล้านบาท มีหนี้สิน ค้างชำระ 10,129 ล้านบาท แยกเป็นหนี้พันธบัตร 8,800 ล้านบาท ภาระดอกเบี้ยพันธบัตร 388 ล้านบาท และหนี้ค้างชำระเงินชดเชย 941 ล้านบาท หนีชดเชยก๊าซ LPG 107 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ 3,390 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
ครั้งที่ 37 - วันจันทร์ ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551
มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 12/2551 (ครั้งที่ 37)
เมื่อวันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เวลา 13.30 น.
ณ ห้องประชุมบุญรอด - นิธิพัฒน์ อาคาร 7 ชั้น 11 กระทรวงพลังงาน
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
2. มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การส่งเสริมการใช้ E85 ของประเทศไทยแบบบูรณาการ
3. มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
4. ข้อเสนอการปรับระดับเพดานอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
5. แผนการใช้จ่ายเงินบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปีงบประมาณ 2552
6. แนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) มาตรการด้านราคา และการกำกับดูแล
7. แผนงานการจูงใจให้กลุ่มรถแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซ LPG เปลี่ยนมาใช้ก๊าซ NGV
8. แผนงานการประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
ปลัดกระทรวงพลังงาน (นายพรชัย รุจิประภา) กรรมการ เป็นประธานในที่ประชุม
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายวีระพล จิรประดิษฐกุล) กรรมการและเลขานุการ
ปลัดกระทรวงพลังงาน (นายพรชัย รุจิประภา) ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าเนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ติดเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี จึงได้ มอบให้ปลัดกระทรวงพลังงานทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์ เท็กซัส เฉลี่ยเดือนกันยายน 2551 อยู่ที่ระดับ 95.90 และ 103.61 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ปรับตัวลดลงจากเดือนที่แล้ว 16.95 และ 12.97 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย จะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันของโลกลดลง และสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในยุโรป ประสบปัญหาทางการเงินส่งผลให้รัฐบาลต้องเข้าช่วยเหลือ รวมทั้งข่าวท่าขนส่งน้ำมัน Dos Bocas ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าขนส่งน้ำมันหลักของประเทศเม็กซิโกกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ หลังจากปิดดำเนินการ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์ เท็กซัส เฉลี่ยเดือนตุลาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 62.42 และ 76.62 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ปรับตัวลดลงจากเดือนที่แล้ว 28.48 และ 26.99 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ จากข่าว GDP ของประเทศสหรัฐฯ ในไตรมาส 3 ปี 2551 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.3 รุนแรงที่สุดในรอบ 7 ปี และท่าขนถ่ายน้ำมันของเม็กซิโกทั้ง 3 แห่ง กลับมาดำเนินการได้ตามปกติภายหลังปิดฉุกเฉิน เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2551 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์ เท็กซัสปรับตัวลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 49.84 และ 57.41 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์ เท็กซัส ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2550 รวมทั้งข่าวรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของอิรักรายงานว่า ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศอิรักเดือนตุลาคม 2551 เพิ่มขึ้น 60,000 บาร์เรล/วัน มาอยู่ที่ 1.7 ล้านบาร์เรล/วัน และต่อมาในช่วงวันที่ 1 - 10 ธันวาคม 2551 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์ เท็กซัสปรับตัวลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 41.56 และ 44.61 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ จากข่าวโอเปคไม่ปรับลดปริมาณการผลิต ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2551 และตลาดวิตกกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายภูมิภาคทั่วโลก จะทวีความรุนแรงขึ้น และอาจใช้เวลานานในการฟื้นตัว
2. ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเดือนกันยายน 2551 อยู่ที่ระดับ 107.10, 104.82 และ 118.93 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงจากเดือนที่แล้ว 8.40, 9.16 และ 13.24 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบและข่าวจีนที่มีแผนส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือนตุลาคม 2551 ที่ระดับ 1.78 ล้านบาร์เรล รวมทั้งเวียดนามยังคงชะลอการนำเข้าน้ำมันดีเซลในเดือนตุลาคม 2551 และ ในเดือนตุลาคม 2551 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 79.49, 77.19 และ 83.98 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงจากเดือนที่แล้วตามราคาน้ำมันดิบ และความกังวลเกี่ยวกับอุปทานที่มีมากเกินความต้องการหลังจากโรงกลั่นต่างๆ จากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวันและอินเดียส่งออกน้ำมันเบนซินมากขึ้น ประกอบกับเวียดนามอาจลดปริมาณการนำเข้า ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2551 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 48.41, 47.45 และ 68.77 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบและอุปสงค์น้ำมันเบนซินในภูมิภาคเบาบาง และอุปสงค์น้ำมันดีเซลในออสเตรเลียมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทดแทน และต่อมาในช่วงวันที่ 1 - 10 ธันวาคม 2551 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 38.48, 37.02 และ 58.73 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบและจากจีนมีแผนส่งออกน้ำมันดีเซลเดือนธันวาคม 2551 ปริมาณ 1.12 ล้านบาร์เรล เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศเบาบาง
3. เดือนกันยายน 2551 ผู้ค้าน้ำมันได้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 0.10 บาท/ลิตร, เบนซิน 91, แก๊สโซฮอล 95 E10, E20, แก๊สโซฮอล 91 ลดลง 1.10 บาท/ลิตร, น้ำมันดีเซลหมุนเร็วและดีเซล หมุนเร็ว B5 ลดลง 2.30 บาท/ลิตร เดือนตุลาคม 2551 ผู้ค้าน้ำมันได้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 6.00 บาท/ลิตร, เบนซิน 91 ลดลง 6.60 บาท/ลิตร, แก๊สโซฮอล 95 E10, E20, แก๊สโซฮอล 91 ลดลง 4.40 บาท/ลิตร, น้ำมันดีเซลหมุนเร็วและดีเซลหมุนเร็ว B5 ลดลง 7.90 และ 8.20 บาท/ลิตร ตามลำดับ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2551 ผู้ค้าน้ำมันได้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 4.40 บาท/ลิตร, เบนซิน 91 ลดลง 5.60 บาท/ลิตร, แก๊สโซฮอล 95 E10, E20, แก๊สโซฮอล 91 ลดลง 5.00 บาท/ลิตร, ส่วนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วและดีเซลหมุนเร็ว B5 ลดลง 1.80 และ 2.30 บาท/ลิตร ตามลำดับ และในช่วงวันที่ 1 - 11 ธันวาคม 2551 ผู้ค้าน้ำมันได้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 0.60 บาท/ลิตร, เบนซิน 91 ลดลง 1.60 บาท/ลิตร, แก๊สโซฮอล 95 E10, E20, แก๊สโซฮอล 91 ลดลง 1.40 บาท/ลิตร, ส่วนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วและดีเซลหมุนเร็ว B5 ลดลงชนิดละ 1.20 บาท/ลิตร ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91, แก๊สโซฮอล 95 E10, E20, แก๊สโซฮอล 91, ดีเซลหมุนเร็วและดีเซลหมุนเร็ว B5 ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 26.59, 21.39, 16.89, 16.09, 15.59, 19.84 และ 18.34 บาท/ลิตร ตามลำดับ
4. สำหรับสถานการณ์ก๊าซ LPG ช่วงเดือนธันวาคม 2551 ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกปรับตัวลดลง 152 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน มาอยู่ที่ระดับ 338 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ตามปริมาณน้ำมันดิบและอุปทานในตลาดมีมาก ขณะที่อุปสงค์โดยเฉพาะจากภาคธุรกิจปิโตรเคมีลดลง ราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นในประเทศอยู่ที่ระดับ 10.9960 บาท/กิโลกรัม ปริมาณการนำเข้าก๊าซ LPG ณ พฤศจิกายน 2551 อยู่ที่ระดับ 93,460.97 ตัน ราคาก๊าซ LPG นำเข้าอยู่ที่ระดับ 21.0553 บาท/กิโลกรัม อัตราเงินชดเชยก๊าซ LPG นำเข้าอยู่ที่ระดับ 10.593 บาท/กิโลกรัม คิดเป็นเงินประมาณ 940.15 ล้านบาท โดยมีการนำเข้าก๊าซ LPG ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน - 30 พฤศจิกายน 2551 รวมทั้งสิ้น 446,414.46 ตัน คิดเป็นหนี้ชดเชย 7,947.68 ล้านบาท
5. สถานการณ์น้ำมันแก๊สโซฮอล ในเดือนพฤศจิกายน 2551 มีผู้ประกอบการผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง 11 ราย แต่ผลิต 9 ราย มีกำลังการผลิตรวม 1.57 ล้านลิตร/วัน ผลิตจริง 0.92 ล้านลิตร/วัน และราคา เอทานอลแปลงสภาพไตรมาส 4 ปี 2551 อยู่ที่ 22.11 บาท/ลิตร ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2551 มีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล 10.5 และ 10.9 ล้านลิตรต่อวัน ตามลำดับ โดยมีสถานีบริการรวม 4,171 แห่ง ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2551 ราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 และ 91 อยู่ที่ 16.89 และ 16.09 บาท/ลิตร ต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซิน 95 และ 91 อยู่ที่ 9.70 และ 5.30 บาท/ลิตร ตามลำดับ และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล E20 ในช่วงเวลาเดียวกันมีปริมาณ 0.11 และ 0.12 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ โดยมีสถานีบริการน้ำมันแก๊สโซฮอล E20 จำนวน 180 แห่ง ราคาขายปลีกอยู่ที่ 15.59 บาท/ลิตร ต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 11.00 บาท/ลิตร
6. สำหรับน้ำมันไบโอดีเซล ในเดือนพฤศจิกายน 2551 มีผู้ผลิตไบโอดีเซล 10 ราย กำลังการผลิตรวม 2.90 ล้านลิตร/วัน ปริมาณความต้องการเฉลี่ย 1.34 ล้านลิตร/วัน ราคาไบโอดีเซลในประเทศเฉลี่ยเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2551อยู่ที่ 25.11 และ 21.11 บาท/ลิตร ตามลำดับ การจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B5 ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2551 มีปริมาณ 13.34 และ 14.11 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ โดยมีสถานีบริการรวม 2,866 แห่ง ส่วนน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B5 ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B5 เท่ากับ 0.20 บาท/ลิตร มีราคาขายปลีกที่สถานี ปตท. ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 อยู่ที่ 20.14 บาท/ลิตร ซึ่งต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 1.50 บาท/ลิตร
7. ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2551 มีเงินสดในบัญชี 16,097 ล้านบาท มีหนี้สินกองทุน 7,787 ล้านบาท แยกเป็นหนี้ค้างชำระเงินชดเชย 7,461 ล้านบาท และงบบริหารและโครงการซึ่งได้อนุมัติแล้ว 326 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 8,310 ล้านบาท โดยที่ยังมีหนี้นำเข้า LPG จาก ปตท. ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2551 อยู่ประมาณ 7,948 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การส่งเสริมการใช้ E85 ของประเทศไทยแบบบูรณาการ
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 คณะรัฐมนตรีได้รับทราบผลการหารือและศึกษาดูงานเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ณ สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ระหว่างวันที่ 8 -15 มิถุนายน 2551 ของกระทรวงพลังงาน ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการผลิตการใช้ E85 กระทรวงพลังงานได้นำเสนอร่างวาระแห่งชาติการส่งเสริมการใช้ E85 ของประเทศไทยแบบบูรณาการ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นควรให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
2. ตั้งแต่ปี 2547 รัฐบาลได้ส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล โดยทดแทนการใช้ MTBE ในน้ำมันเบนซิน 95 และทดแทนเนื้อน้ำมันในเบนซิน 91 มีเป้าหมายการใช้เอทานอล 2.4 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี 2554 โดยไทย มีวัตถุดิบที่เหลือจากการบริโภค อุตสาหกรรมในประเทศและการส่งออก สนับสนุนการผลิตเอทานอลขั้นต่ำ 2.95 ล้านลิตรต่อวัน ณ เดือนกันยายน 2551 ความต้องการใช้แก๊สโซฮอลอยู่ที่ระดับ 9.72 ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็น เอทานอล 0.97 ล้านลิตรต่อวัน และจากมาตรการสนับสนุนเอทานอลของภาครัฐ ส่งผลให้มีโรงงานได้รับอนุญาต 47 ราย กำลังผลิตรวม 12.3 ล้านลิตรต่อวัน โดยเดือนกันยายน 2551 มีการผลิต 11 ราย กำลังผลิต 1.58 ล้านลิตรต่อวัน สามารถผลิตจริง 8 ราย กำลังผลิตเฉลี่ย 0.85 ล้านลิตรต่อวัน นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2552 อีก 9 ราย กำลังผลิตเฉลี่ย 2.19 ล้านลิตรต่อวัน รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 3.77 ล้านลิตรต่อวัน มีสถานีบริการจำหน่ายแก๊สโซฮอล 4,132 แห่ง ปริมาณการจำหน่าย 291.69 ล้านลิตร หรือเฉลี่ย 9.72 ล้านลิตรต่อวัน
3. กระทรวงพลังงานได้กำหนด Road Map การส่งเสริมการใช้ E85 โดยในปี 2551 - 2552 เริ่มทดลอง Fleet และนำเข้ารถยนต์ FFV เชิงพาณิชย์ประมาณ 1,000 คัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และ เปิด Line การผลิตรถ FFV ในประเทศตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป การส่งเสริมการใช้ E85 ตาม Road Map ข้างต้น จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ 447,377 ล้านบาท ภายใน 10 ปีข้างหน้า
4. สำหรับแนวทางส่งเสริมการใช้ E85 ประกอบด้วยมาตรการ ดังนี้
4.1 มาตรการด้านภาษีรถยนต์ ปี 2551 - 2552 ลดอากรนำเข้ารถยนต์ FFV (Flexible Fuel Vehicle) จากร้อยละ 80 เหลือร้อยละ 60 จำนวน 1,000 คัน ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ FFV ขนาดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 2,000 ซีซี จากร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 22 และขนาดความจุกระบอกสูบมากกว่า 2,000 ซีซี จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 27
4.2 มาตรการส่งเสริมวัตถุดิบ การผลิตเอทานอล และน้ำมัน E85 ครบวงจร เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมการใช้ E85 และเพิ่มประสิทธิภาพในระยะยาว โดยส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตอ้อยเป็น 15 ตัน/ไร่ และ มันสำปะหลังเป็น 5 ตัน/ไร่ เพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกในพื้นที่รกร้างว่างเปล่าและที่ราชพัสดุ พิจารณาราคา เอทานอลให้สอดคล้องกับวัตถุดิบในประเทศ กำหนดราคา E85 ให้มีราคาขายปลีกต่ำกว่าแก๊สโซฮอล 95 (E10) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 สนับสนุนการผลิตน้ำมัน E85 ครบวงจร รวมทั้งจัดทำโครงการ Fleet รถยนต์ E85 ตลอดจนสนับสนุนเงินทุนส่งเสริมจากรัฐในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์วัตถุดิบและการใช้เซลลูโลสเป็นวัตถุดิบ ในการผลิตเอทานอล การพัฒนารถยนต์ FFV เป็นต้น
4.3 เพื่อให้การส่งเสริมการใช้ E85 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเป็นรูปธรรม ควรให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการตามแผนงาน/โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการการส่งเสริมการใช้ E85 แบบครบวงจรให้แล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนด
5. เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 กพช. ได้มีการพิจารณาเรื่อง การส่งเสริมการใช้ E85 ของประเทศไทยแบบบูรณาการ และได้มีมติดังนี้
5.1 เห็นชอบให้มีการส่งเสริมการใช้น้ำมัน E85 เป็นวาระแห่งชาติ และมอบหมายให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เกิดผลทางปฏิบัติในระยะเวลาที่กำหนดตามแผนปฏิบัติการการส่งเสริมการใช้ E85 ครบวงจร โดยให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินงานและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
5.2 เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ลดอากรนำเข้า จากร้อยละ 80 เหลือเป็นร้อยละ 60 สำหรับรถยนต์ Flex Fuel Vehicle (FFV) ขนาดไม่เกิน 2,000 ซีซี และไม่เกิน 2,500 ซีซี จำนวนไม่เกิน 2,000 คัน ที่จะนำเข้าประเทศไทย ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2552
5.3 เห็นชอบให้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยภาระภาษีสรรพสามิตรถยนต์ FFV อัตราร้อยละ 3 ให้กับรถยนต์ FFV ขนาดไม่เกิน 2,000 ซีซี และไม่เกิน 2,500 ซีซี ที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักร จำนวนไม่เกิน 2,000 คัน ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 และใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยภาระภาษีสรรพสามิตรถยนต์ FFV อัตราร้อยละ 3 ให้กับรถยนต์ FFV ที่ผลิต และต้องจำหน่ายภายในราชอาณาจักร ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 และหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2553 เป็นต้นไป มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาโครงสร้างภาษีสรรพสามิตของรถยนต์ FFV ให้สอดคล้องกับโครงสร้างภาษีรถยนต์ประเภทอื่นทั้งระบบต่อไป
ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 แล้ว
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2550 ได้มีมติเห็นชอบการยกเลิกการชดเชยราคาก๊าซ LPG และยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากการส่งออกก๊าซ LPG ยังคงนโยบายราคาก๊าซ ณ คลังเท่ากันทั่วประเทศต่อไป โดยเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากก๊าซ LPG ในระดับที่เพียงพอสำหรับชดเชยค่าขนส่งไปยังคลังก๊าซภูมิภาคและเห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG โดยกำหนดเพดานที่ต้นทุนการผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ร้อยละ 60 บวกราคาส่งออกก๊าซ LPG ร้อยละ 40 โดยให้ทยอยปรับสัดส่วนการผลิตระหว่างโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นน้ำมันไปสู่ระดับจริง คือร้อยละ 60 ต่อร้อยละ 40 รวมทั้งได้มอบอำนาจให้ประธาน กบง. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม
2. เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธาน กบง. ได้เห็นชอบยกเลิกการชดเชยราคาก๊าซ LPG โดยปรับราคาขายส่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.20 บาท/กิโลกรัม จากราคา 16.81 บาท เป็น 18.01 บาท/กิโลกรัม ต่อมาในวันที่ 4 มกราคม 2551 ได้เห็นชอบการปรับสูตรราคา ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG เท่ากับ ต้นทุนการผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ร้อยละ 95 บวกราคาส่งออกก๊าซ LPG ร้อยละ 5 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2551 และในวันที่ 30 มกราคม 2551 ได้เห็นชอบราคา ณ โรงกลั่น ก๊าซ LPG ของเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ทำให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ปรับตัวเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 20 สตางค์ จากราคา 18.01 เป็น 18.21 บาท/กิโลกรัม
3. ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 กบง. ได้มีมติ ดังนี้ (1) ให้คงราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่น เท่ากับต้นทุนการผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ร้อยละ 95 บวกราคาส่งออกร้อยละ 5 ของเดือนมีนาคม 2551 ไว้จนถึงประมาณเดือนกรกฎาคม 2551 แล้วจึงจะพิจารณาดำเนินการปรับสูตรราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นให้เหมาะสมกับสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง (2) ให้คงราคาก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือนไว้ ณ ระดับราคาเดือนมีนาคม 2551 ส่วนก๊าซ LPG ที่นำไปใช้ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม (ยกเว้นปิโตรเคมี) ให้ปรับเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อนำเงินที่ได้จากอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ไปชำระหนี้เงินชดเชยการนำเข้าก๊าซ LPG (3) ให้จ่ายเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG จากการนำเข้าตามปริมาณที่นำเข้าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นไป และ (4) ให้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและตรวจสอบการนำก๊าซ LPG ไปจำหน่ายในสาขาอื่น และคณะกรรมการป้องกันการลักลอบจำหน่ายก๊าซ LPG และเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเรื่อง 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน และมีมติให้ชะลอการปรับราคาก๊าซ LPG ในภาคครัวเรือนเพื่อลดแรงกดดันค่าใช้จ่ายในภาคครัวเรือน จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงานเป็นระยะเวลา 6 เดือน (1 สิงหาคม 2551 - 31 มกราคม 2552)
4. ปัจจุบันราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่น ประกอบด้วย ราคาของโรงแยกก๊าซฯ และราคาส่งออก (ราคา ณ โรงกลั่นน้ำมัน) ในสัดส่วนร้อยละ 95 ต่อ 5 ซึ่งเป็นระดับราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตในประเทศที่สัดส่วน ร้อยละ 60 ต่อ 40 และราคาตลาดโลก ทั้งนี้ราคาขายปลีกอยู่ที่ระดับ 18.13 บาท/กิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าต้นทุน การผลิตจริงในประเทศที่ระดับ 23.24 บาท/กิโลกรัม และราคาตลาดโลกที่ระดับ 24.48 บาท/กิโลกรัม ขณะที่การจัดหาก๊าซ LPG ในประเทศมาจากโรงแยกก๊าซฯ ประมาณร้อยละ 60 และจากโรงกลั่นน้ำมันประมาณ ร้อยละ 40 ส่วนความต้องการใช้หลักจะอยู่ในภาคครัวเรือนประมาณร้อยละ 46 และในภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมและภาคปิโตรเคมีร้อยละ 17, 15 และ 22 ตามลำดับ
5. การที่รัฐบาลกำหนดราคาขายปลีก LPG อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนที่ควรจะเป็น ทำให้ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม ส่งผลให้ปริมาณการผลิต LPG ในประเทศไม่เพียงพอ และต้องนำเข้าโดย ปตท. ตั้งแต่เดือนเมษายน - ตุลาคม 2551 จำนวน 375,953 ตัน คิดเป็นภาระชดเชยการนำเข้าของ ปตท. ประมาณ 7,423 ล้านบาท ขณะเดียวกันขีดความสามารถในการนำเข้า ขนส่ง และกระจายก๊าซ LPG ไปยังคลังภูมิภาคจำกัดไม่พอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น และเพื่อแก้ไขปัญหา ควรปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ให้สะท้อนราคาที่แท้จริงมากขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มออกไปอีก 6 เดือน จึงพิจารณาปรับขึ้นราคาเฉพาะก๊าซ LPG ที่ใช้ในรถยนต์และอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหา 1) การส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากการใช้ก๊าซ LPG ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมอาจไม่ครบถ้วน 2) การลักลอบนำก๊าซ LPG จากโรงบรรจุก๊าซไปจำหน่ายในสถานีบริการหรือโรงงานอุตสาหกรรม และ 3) การนำถังก๊าซ LPG ในครัวเรือนไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและยานพาหนะ รวมทั้งการลักลอบถ่ายเทก๊าซ LPG จากถังในครัวเรือนไปใช้ในยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรม
6. สำหรับมาตรการการแก้ไขปัญหาก๊าซ LPG ประกอบด้วย
6.1 มาตรการด้านราคา แบ่งเป็น 1) การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น โดยปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ให้สะท้อนราคาที่แท้จริงและสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 คือ ปรับขึ้นราคา ก๊าซ LPG เฉพาะในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม 2) แนวทางการเพิ่มส่วนต่างราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในภาคครัวเรือนกับภาคขนส่งและอุตสาหกรรมโดยใช้วิธีการปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ 3) แนวทาง การลดภาระจากการนำเข้าก๊าซ LPG และ 4) เร่งความพร้อมของสถานีบริการก๊าซ NGV และมีมาตรการจูงใจ ให้กลุ่มรถแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซ LPG เปลี่ยนมาใช้ก๊าซ NGV มากขึ้น
6.2 มาตรการจูงใจ เพื่อชะลอความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการใช้ที่ประหยัดและเพื่อทดแทนน้ำมันในภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรม โดยการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจและรณรงค์ให้ใช้ก๊าซ LPG อย่างประหยัด
6.3 การเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับก๊าซ LPG ของคลังนำเข้าและขยายขีดความสามารถของการขนส่งและการกระจายก๊าซ LPG ของคลังภูมิภาค รวมทั้งปรับเพิ่มอัตราการสำรองตามกฎหมายของก๊าซ LPG ในปัจจุบัน ที่ระดับร้อยละ 0.5 ของปริมาณการค้าให้สูงขึ้นในอัตราเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศได้มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศแล้ว
6.4 แนวทางการแก้ไขปัญหาจากการกำหนดราคาก๊าซ LPG เป็น 2 ราคา LPG ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เป็น 2 ระยะ เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ไม่ครบถ้วน 2) กำหนดให้ติดตั้งมิเตอร์ที่โรงบรรจุก๊าซทุกแห่งและเปรียบเทียบปริมาณก๊าซ LPG ที่บรรจุลงในถังก๊าซ LPG กับปริมาณที่โรงบรรจุรับก๊าซ LPG จากผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนำก๊าซ LPG จากโรงบรรจุก๊าซไปจำหน่ายในสถานีบริการหรือโรงงานอุตสาหกรรม และ 3) การแก้ไขปัญหาการนำถังก๊าซ LPG ในครัวเรือน ไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะและการถ่ายเทก๊าซ LPG จากถังก๊าซ LPG
7. เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 กพช. ได้มีการพิจารณาเรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และได้มีมติดังนี้
7.1 เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซ LPG
7.1.1 แนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซ LPG ในส่วนของมาตรการราคา
1) เห็นชอบให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การกำหนดราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่น โดยวิธีการกำหนดเพดานให้ประกอบด้วยต้นทุนการผลิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 60 บวกราคาส่งออกก๊าซ LPG ร้อยละ 40 และกำหนดราคาฐานตามต้นทุนการผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2550
2) เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซ LPG ในส่วนของมาตรการราคา ดังนี้ (1) หลักการการจัดสรรปริมาณก๊าซ LPG ที่ผลิตได้ในประเทศ ให้กับปริมาณความต้องการในภาคครัวเรือนและปิโตรเคมีเป็นลำดับแรก ส่วนปริมาณการผลิตก๊าซ LPG ที่เหลือจากการจัดสรรข้างต้นจะถูกนำไปจัดสรรให้กับภาคขนส่งและอุตสาหกรรมเป็นลำดับต่อไป ทั้งนี้ หากปริมาณการผลิตก๊าซ LPG ที่เหลือจากการจัดสรรในลำดับแรกไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการใช้ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม ให้มีการนำเข้าก๊าซ LPG จากต่างประเทศมารองรับในส่วนที่ขาด (2) หลักการการกำหนดส่วนต่างระหว่างราคาก๊าซ LPG ในภาคครัวเรือนกับภาคขนส่งและอุตสาหกรรม เท่ากับ 6 บาท/กิโลกรัม หรือ 3.24 บาท/ลิตร โดยให้ กบง. พิจารณาทบทวนการคำนวณตามหลักการการกำหนดส่วนต่างระหว่างราคาก๊าซ LPG ในภาคครัวเรือนกับภาคขนส่งและอุตสาหกรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และ (3) แนวทางการเพิ่มส่วนต่างราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในภาคครัวเรือนกับภาคขนส่งและอุตสาหกรรมโดยวิธีการปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับก๊าซ LPG ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นเดือนละ 2 บาท/กิโลกรัม (1.08 บาท/ลิตร) เป็นเวลา 3 เดือนโดยเดือนแรกเพิ่มขึ้น 2 บาท/กิโลกรัม เดือนที่สองเพิ่มขึ้นเป็น 4 บาท/กิโลกรัม และเดือนที่สามเพิ่มขึ้นเป็น 6 บาท/กิโลกรัม และตั้งแต่เดือนที่สี่เป็นต้นไป ให้ใช้อัตราที่เพิ่มขึ้นเป็น 6 บาท/กิโลกรัม โดยทยอยปรับเพิ่มส่วนต่างระหว่างราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในภาคครัวเรือนกับภาคขนส่งและอุตสาหกรรมให้เท่ากับ 6 บาท/กิโลกรัม (3.24 บาท/ลิตร) โดยมอบหมายให้ กบง. รับไปดำเนินการพิจารณาในรายละเอียดต่อไป
3) เมื่อการดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซ LPG ในส่วนของมาตรการราคาโดยเฉพาะการชำระหนี้จากการชดเชยการนำเข้าก๊าซ LPG ได้หมดแล้ว มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ทบทวนและนำเสนอ กพช. พิจารณาหลักการในการคำนวณราคาก๊าซ LPG ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้นต่อไป
4) เห็นชอบมาตรการจูงใจให้กลุ่มรถแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซ LPG เปลี่ยนมาใช้ก๊าซ NGV จำนวนไม่เกิน 20,000 คัน ให้แล้วเสร็จภายในเวลาประมาณ 4 เดือน ดังนี้ (1) จัดสรรจำนวนรถแท็กซี่ที่ประสงค์จะเปลี่ยนมาใช้ก๊าซ NGV ประมาณ 5,000 คัน/เดือน แยกเป็นรถแท็กซี่ใหม่ 800 คัน/เดือน และรถแท็กซี่เก่า 4,200 คัน/เดือน (2) สำหรับรถแท็กซี่ใหม่ทาง ปตท. จะออกค่าถังก๊าซ NGV 28,000 บาท/คัน และกองทุนน้ำมันฯ โดยกระทรวงพลังงานจะออกค่าติดตั้ง 12,000 บาท/คัน (3) รถแท็กซี่เก่าที่ติดตั้งก๊าซ LPG ปตท. จะออกค่าติดตั้งและค่าถังก๊าซ NGV 40,000 บาท/คัน และกองทุนน้ำมันฯ โดยกระทรวงพลังงานจะออกค่าชดเชยอุปกรณ์ก๊าซ LPG เก่า 3,000 บาท/คัน โดยรถแท็กซี่เก่าต้องคืนซากอุปกรณ์ก๊าซ LPG ให้กับกระทรวงพลังงานเพื่อนำไปทำลายซากต่อไป
7.1.2 แนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซ LPG ในส่วนของมาตรการจูงใจ โดยประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทั้งในภาคครัวเรือน ขนส่งและอุตสาหกรรมใช้ก๊าซ LPG อย่างประหยัดและให้ประชาชนเข้าใจถึงระบบการกำหนดราคาก๊าซ LPG รวมทั้งรณรงค์ในประเด็นราคาขายปลีกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตามตลาดโลก ประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและจูงใจให้กลุ่มรถแท็กซี่ที่มีการใช้ LPG ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้ก๊าซ NGV ให้ได้ภายในเดือนเมษายน 2552 บริหารและจัดการ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงความก้าวหน้าการขยายระบบเครือข่ายการให้บริการ NGV อย่างทั่วถึงความสะดวกสบายของรถที่ใช้ NGV ที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
7.1.3 เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับก๊าซ LPG ของคลังนำเข้าและขยายขีดความสามารถของการขนส่งและการกระจายก๊าซ LPG ของคลังภูมิภาค รวมทั้ง ปรับเพิ่มอัตราการสำรองตามกฎหมายของ ก๊าซ LPG จากในปัจจุบัน ที่ระดับร้อยละ 0.5 ของปริมาณการค้า ให้สูงขึ้นในอัตราที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศได้มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศแล้ว ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาขีดความสามารถในการนำเข้า ขนส่ง และกระจายก๊าซ LPG ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ
7.1.4 แนวทางการแก้ไขปัญหาจากการกำหนดราคาก๊าซ LPG เป็น 2 ราคา ดังนี้
1) กำหนดวิธีการคำนวณปริมาณจำหน่ายก๊าซ LPG ที่ได้รับการยกเว้นการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เป็น 2 ระยะ ดังนี้ (1) ช่วง 6 เดือนแรก ใช้ปริมาณจำหน่ายก๊าซ LPG ในปี 2550 เฉลี่ยรายเดือน คำนวณปริมาณก๊าซ LPG ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ (2) ช่วงหลังจาก 6 เดือนไปแล้ว กำหนดให้โรงบรรจุก๊าซทุกแห่งติดตั้งมิเตอร์เพื่อตรวจสอบปริมาณก๊าซ LPG ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ทั้งนี้ อาจกำหนดให้เติมสาร Marker ในก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนด้วยได้
2) กำหนดให้ติดตั้งมิเตอร์ที่โรงบรรจุก๊าซทุกแห่งและเปรียบเทียบปริมาณก๊าซ LPG ที่บรรจุลงในถังก๊าซ LPG กับปริมาณที่โรงบรรจุรับก๊าซ LPG จากผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนำก๊าซ LPG จากโรงบรรจุก๊าซไปจำหน่ายในสถานีบริการหรือโรงงานอุตสาหกรรม และใช้บทลงโทษผู้กระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งนายกฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3) การแก้ไขปัญหาการนำถังก๊าซ LPG ในครัวเรือน ไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะและการถ่ายเทก๊าซ LPG จากถังก๊าซ LPG ดังนี้ (1) ออกกฎหมายควบคุมการใช้ถังก๊าซ LPG ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยใช้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2552 (2) ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอันตรายจากการใช้ถังก๊าซ LPG ผิดประเภทและการถ่ายเทก๊าซ และ (3) ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีโดยเคร่งครัด ตามความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งนายกรัฐมนตรี
7.2 มอบหมายให้ สนพ. กรมธุรกิจพลังงาน และกรมการค้าภายใน รับผิดชอบในการติดตามและกำกับดูแลค่าการตลาดของก๊าซ LPG ที่ใช้ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคต่อไปโดยเร็ว แล้วรายงานผลการดำเนินการให้ กบง. ทราบต่อไป
7.3 เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการต่างๆ ภายใต้ กพช. จำนวน 5 คณะ ดังนี้ 1) คณะกรรมการป้องกันและตรวจสอบการลักลอบจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวไปยังประเทศเพื่อนบ้าน 2) คณะกรรมการกำกับดูแลและตรวจสอบการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวผิดประเภทและความปลอดภัย 3) คณะกรรมการติดตามตรวจสอบปริมาณก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 4) คณะกรรมการดำเนินการประชาสัมพันธ์การปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว และ 5) คณะกรรมการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ของกลุ่มรถแท็กซี่จากการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวมาเป็นก๊าซธรรมชาติในรถยนต์
7.4 มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เกิดผลทางปฏิบัติในระยะเวลาที่กำหนดตามตารางแสดงแผนปฏิบัติงานการแก้ไขปัญหาก๊าซ LPG
ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 แล้ว
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 ข้อเสนอการปรับระดับเพดานอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ในการประชุม กบง. เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2549 ได้มีมติเห็นชอบปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซลเพิ่มขึ้นอีก 1.50 บาท/ลิตร จากระดับเพดานสูงสุด 2.50 บาท/ลิตร เป็น 4.00 บาท/ลิตร ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2551 ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B2 ในอัตรา 1.00, 0.90 และ 0.50 บาท/ลิตร ตามลำดับ และปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E20 ลงอีก 0.15 บาท/ลิตร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ เป็นเครื่องมือ ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาน้ำมันในปัจจุบันที่ยังไม่เอื้อต่อการส่งเสริมพลังงานทดแทน เพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณปาล์มน้ำมันที่มีมากกว่าความต้องการ และยังส่งผลทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีเสถียรภาพพอที่จะใช้ในการบริหารระดับราคามิให้เพิ่มสูงขึ้นโดยฉับพลันหลังสิ้นสุดนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน
2. ผลการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2551โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2551 เมื่อพิจารณาโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2551 พบว่า กลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอลมีโครงสร้างราคาเป็นไปตามหลักการบริหารจัดการการจัดโครงสร้างราคาน้ำมันเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยที่ค่าการตลาดของน้ำมันแก๊สโซฮอล E20 (4.3074 บาท/ลิตร) มากกว่า ค่าการตลาดของน้ำมันแก๊สโซฮอล E10 (4.1749 บาท/ลิตร) และราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล E20 (22.59 บาท/ลิตร) ถูกกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล E10 (23.89 บาท/ลิตร) ส่วนกลุ่มน้ำมันไบโอดีเซลมีโครงสร้างราคาเป็นไปตามหลักการบริหารจัดการการจัดโครงสร้างราคาน้ำมันเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B5 (3.4547 บาท/ลิตร) มากกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B2 (2.7358 บาท/ลิตร) และราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B5 ถูกกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B2 เท่ากับ 1.00 บาท/ลิตร แต่ในช่วง 4 สัปดาห์ ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนราคาเอทานอลยังอยู่ในระดับเดิม ทำให้โครงสร้างราคา ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2551 ไม่เป็นไปตามหลักการการส่งเสริมพลังงานทดแทนข้างต้น
3. แนวทางในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
3.1 เนื่องจากราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลในตลาดโลกมีการปรับขึ้น-ลง อย่างรวดเร็ว ส่วนราคาเอทานอลและไบโอดีเซลมีการปรับขึ้น-ลง ทำให้โครงสร้างราคาน้ำมันไม่เป็นไปตามหลักการเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนตาม จึงต้องทบทวนการกำหนดหลักเกณฑ์โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แต่เนื่องจากการกำหนดหลักเกณฑ์โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ดังนั้นจึงเห็นควรให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้เป็นไปตามหลักการส่งเสริมพลังงานทดแทน
3.2 จากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ค้าน้ำมันไม่สามารถปรับลดราคาขายปลีกได้ทัน โดยการปรับราคาจะปรับได้ไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน 95 น้ำมันเบนซิน 91 อยู่ในระดับสูง ดังนั้นเพื่อทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันเบนซิน 91 อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเพิ่มเสถียรภาพของกองทุนน้ำมันฯ ในการบริหารจัดการการส่งเสริมพลังงานทดแทน จึงเห็นควรปรับระดับเพดานอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ จาก 4.00 บาท/ลิตร เป็น 7.00 บาท/ลิตร และขอปรับเพิ่มอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันเบนซิน 95 จากเดิม 4.00 บาท/ลิตร เป็น 7.00 บาท/ลิตร และน้ำมันแก๊สโซฮอล E20 จากเดิม 0.15 บาท/ลิตร เป็นอัตราชดเชย 0.30 บาท/ลิตร ซึ่งจากการปรับอัตราเงิน ส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ตามโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่ ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 101 ล้านบาท/วัน เป็น 103 ล้านบาท/วัน
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
2. เห็นชอบให้ขยายเพดานอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และน้ำมันแก๊สโซฮอล เพิ่มขึ้น 3.00 บาท/ลิตร จากเดิม 4.00 บาท/ลิตร เป็น 7.00 บาท/ลิตร
3. เห็นชอบให้ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 3.00 บาท/ลิตร จากเดิม 4.00 บาท/ลิตร เป็น 7.00 บาท/ลิตร และน้ำมันแก๊สโซฮอล E20 ปรับลดลง 0.45บาท/ลิตร จากเดิมอัตราส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ 0.15 บาท/ลิตร เป็นอัตราชดเชย 0.30 บาท/ลิตร
ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานรับไปดำเนินการต่อไป
เรื่องที่ 5 แผนการใช้จ่ายเงินบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปีงบประมาณ 2552
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2550 ได้มีมติอนุมัติงบบริหารกองทุนน้ำมันฯ ประจำปีงบประมาณ 2551-2555 ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน (สป.พน.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพน.) รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 173,679,300 บาท พร้อมทั้งเงินสนับสนุนในงบค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในปีงบประมาณ 2551 เป็นเงิน 350 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2552 - 2555 จำนวนเงินปีละ 300 ล้านบาท โดยเงินเหลือจ่ายดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในปีถัดไปได้ สำหรับปีงบประมาณ 2551 กบง. ได้อนุมัติงบบริหารกองทุนน้ำมันฯ ให้แก่ สป.พน. สนพ. กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และ สบพน. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2551 เป็นเงิน ดังนี้ 8,125,400 บาท, 20,532,400 บาท, 2,111,200 บาท, 867,200 บาท และ 1,486,800 บาท ตามลำดับ รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 41,093,000 บาท และงบค่าใช้จ่ายอื่น จำนวน 350 ล้านบาท ภายใต้กรอบงบประมาณปี 2551 - 2555 ที่ กบง. ได้อนุมัติ
2. ตามแผนการใช้จ่ายของกองทุนน้ำมันฯ ปีงบประมาณ 2551-2555 ในงบบริหารกองทุนน้ำมันฯ ทั้ง 5 หน่วยงานที่ได้รับเงินสนับสนุน ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยมีผลการใช้จ่ายเงินตามที่ได้รับอนุมัติของปีงบประมาณ 2551 ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2551 ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 24,780,410 บาท เงินคงเหลือ 16,312,590 บาท และในปี 2551 หน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงพลังงาน ได้แก่ สป.พน. กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) และ สนพ. ได้จัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันฯ ในการใช้แก้ปัญหาภาวะราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย กบง. ได้อนุมัติเงินรวมเป็นเงิน 317.93 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 กบง. ได้มีมติให้ระงับการเบิกจ่ายเงินในโครงการเกี่ยวกับประชาสัมพันธ์บางส่วนของปีงบประมาณ 2551 ได้แก่ 1) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านนโยบายพลังงาน 2) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล ระยะที่ 3 3) โครงการประชาสัมพันธ์การปรับโครงสร้างราคา LPG 4) โครงการประชาสัมพันธ์สนับสนุนประสานผลักดันนโยบายและแผนพัฒนาพลังงานสู่การปฏิบัติ และ 5) การประเมินผลโครงการประชาสัมพันธ์ ตามที่คณะกรรมการบริหารงานประชาสัมพันธ์ของกระทรวงพลังงานเสนอ
3. ผลการดำเนินโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันฯ พบว่า โครงการที่ถูกระงับการเบิกจ่าย 5 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการด้านประชาสัมพันธ์ ทำให้มีเงินส่งคืนกองทุนน้ำมันฯ จำนวน 105.5 ล้านบาท และโครงการที่เสร็จสิ้นแล้ว 1 โครงการ คือ โครงการพัฒนาช่างผู้ชำนาญการในการดัดแปลงและติดตั้งอุปกรณ์ระบบเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ ส่วนโครงการอื่นอยู่ระหว่างดำเนินการ
4. ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2551 มียอดเงินคงเหลือตามบัญชี 16,097 ล้านบาท มีหนี้สินกองทุน 7,787 ล้านบาท แยกเป็นหนี้ค้างชำระเงินชดเชย 7,461 ล้านบาท และงบบริหารโครงการซึ่งได้อนุมัติแล้ว 326 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ 8,310 ล้านบาท
5. สำหรับปีงบประมาณ 2552 หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการบริหารกองทุนน้ำมันฯ ได้ขอปรับปรุงแผน การใช้จ่ายเงินงบบริหารกองทุนน้ำมันฯ ประจำปีงบประมาณ 2552 ใหม่ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 41,619,400 บาท มีรายละเอียดดังนี้ คือ
5.1 สป.พน. ได้ขอปรับเพิ่มงบในหมวดค่าจ้างชั่วคราว และหมวดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ พร้อมทั้งขอตัดรายจ่ายค่าจ้างเหมาบริการผู้ประสานงานในพื้นที่ออก ส่วนงบรายจ่ายอื่น ได้ขอเพิ่มโครงการศึกษาวิจัยและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ เนื่องจากกระทรวงพลังงานจะต้องเป็นเจ้าภาพ การประชุมระหว่างประเทศในปี 2552 ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน ทำให้ยอดเงินรวมขอรับการสนับสนุนของ สป.พน. เพิ่มขึ้นเป็นเงินปีละ 23.2147 ล้านบาท (เดิม 8.1254 ล้านบาท) หรือยอดรวมปี 2552 - 2555 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 92.8558 ล้านบาท
5.2 สนพ. ในปีงบประมาณ 2552 ได้ขอปรับลดทุกหมวดรายจ่ายลง โดยในหมวดรายจ่ายอื่นๆ ได้ปรับลดค่าเดินทางไปราชการต่างประเทศ ค่าจ้างที่ปรึกษาด้านพลังงานลง ทำให้ สนพ. จะมีค่าใช้จ่ายเป็นเงิน ปีละ 12.5952 ล้านบาท (เดิม 20.5324 ล้านบาท) หรือยอดรวมปี 2552 - 2555 เป็นจำนวนเงิน 50.3808 ล้านบาท
5.3 กรมสรรพสามิต ได้ขอปรับเพิ่มงบลงทุนในหมวดครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง โดยขอจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์เลเซอร์ชุดใหม่เพิ่ม จำนวนเงินรวม 0.5050 ล้านบาท และขอเพิ่มหมวดค่าจ้างชั่วคราวเพิ่มขึ้น 1 ตำแหน่ง ทำให้ยอดเงินค่าใช้จ่ายรวมของกรมสรรพสามิต ในปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 2.6068 ล้านบาท (เดิม 1.8011 ล้านบาท) และมียอดรวมปี 2552 - 2555 เป็นจำนวนเงิน 8.8762 ล้านบาท
5.4 กรมศุลกากร ได้ขอปรับจำนวนเงินในหมวดค่าจ้างชั่วคราวตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2551 และวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ทำให้มียอดค่าใช้จ่ายรวมในปี 2552 เพิ่มขึ้น เป็นจำนวนเงิน 0.9119 ล้านบาท (เดิม 0.8672 ล้านบาท) และมียอดรวมปี 2552 - 2555 เป็นจำนวนเงิน 3.6476 ล้านบาท
5.5 สบพน. ได้ของบประมาณเพื่อดำเนินการจ้างบุคลากรตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ จำนวน 1 ตำแหน่ง ทำให้ สบพน. มียอดค่าใช้จ่ายรวมในปี 2552 เป็นจำนวนเงิน 1.4868 ล้านบาท (เท่ากับปีงบประมาณ 2551) โดยมียอดรวมปี 2552-2555 เป็นจำนวนเงิน 6.3181 ล้านบาท
6. สำหรับการขอรับเงินสนับสนุนโครงการในปี 2552 มีหน่วยงานในกระทรวงพลังงาน คือ กรมธุรกิจพลังงาน ได้จัดทำโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุน จำนวน 2 โครงการ ซึ่งเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2551 อบน. ได้มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันฯ งบค่าใช้จ่ายอื่น ปีงบประมาณ 2552 เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ในโครงการต่างๆ จำนวน 2 โครงการ จำนวนเงินรวม 7,120,750 บาท โดยมีรายละเอียดดังนี้
6.1 โครงการฝึกอบรมช่างติดตั้งระบบก๊าซธรรมชาติสำหรับรถใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรม ช่างติดตั้งระบบก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ให้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนส่งใช้ก๊าซธรรมชาติกับรถยนต์ขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น ดำเนินการโดยจัดฝึกอบรมภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้แก่บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป จำนวน 15 รุ่นๆ ละ 45 คน ใช้ระยะเวลาฝึกอบรม 5 วัน โดยใช้สถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงาน ศรีราชา เป็นสถานที่ฝึกอบรม วงเงินงบประมาณรวม 4,520,750 บาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 - ธันวาคม 2552
6.2 โครงการวันแม่ถึงวันพ่อ 116 วัน สร้างสามัคคี ตรวจ NGV 1,160 คัน มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบถัง อุปกรณ์ และการติดตั้งอุปกรณ์ NGV ในรถยนต์โดยสารสาธารณะ จำนวน 1,160 คัน ให้ปลอดภัย และเพื่อป้องกันอุบัติภัยอันเกิดจากถัง อุปกรณ์ NGV ในรถยนต์โดยสารสาธารณะในส่วนภูมิภาค ที่มีจำนวนผู้ตรวจและทดสอบไม่เพียงพอ ดำเนินการโดยจัดจ้างผู้ตรวจและทดสอบรถที่ใช้ NGV เพื่อตรวจและทดสอบรถยนต์โดยสารสาธารณะ ซึ่งมีจำนวนรถที่จะตรวจสอบรวม 12 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา ลำปาง นครศรีธรรมราช และกรุงเทพฯ เป็นต้น วงเงินงบประมาณรวม 2,600,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน
7. สำหรับการใช้จ่ายเงินของกองทุนน้ำมันฯ ในปี 2552 - 2555 ประกอบด้วย เงินสนับสนุนให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนน้ำมันฯ รวม 5 หน่วยงาน และค่าใช้จ่ายอื่น มียอดรวมเป็นเงินประมาณ 162.8855 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น สป.พน.จำนวน 92.8588 ล้านบาท สนพ. จำนวน 50.3808 ล้านบาท กรมสรรพสามิต จำนวน 8.8762 ล้านบาท กรมศุลกากร จำนวน 3.6476 ล้านบาท สบพน. จำนวน 6.3181 ล้านบาท ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการออกพันธบัตร จำนวน 0.8040 ล้านบาท
8. เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2551 และวันที่ 17 ตุลาคม 2551 คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้พิจารณาเรื่อง แผนการใช้จ่ายเงินบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปีงบประมาณ 2552 - 2555และได้มีมติดังนี้
8.1 รับทราบการใช้จ่ายเงินงบบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปีงบประมาณ 2551 ของหน่วยงานต่างๆ
8.2 เห็นชอบแผนการใช้จ่ายเงินในการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปีงบประมาณ 2552 - 2555 ให้หน่วยงานต่างๆ เป็นจำนวนเงินรวม 162.8855 ล้านบาท พร้อมทั้งเงินสนับสนุนในงบค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในปีงบประมาณ 2552 - 2555 จำนวนเงินปีละ 300 ล้านบาท โดยเงินเหลือจ่ายดังกล่าวสามารถนำไปใช้ ในปีถัดไปได้ ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป
8.3 เห็นชอบอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง งบค่าใช้จ่ายอื่น ปีงบประมาณ 2552 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ของกรมธุรกิจพลังงาน จำนวน 2 โครงการ จำนวนเงินรวม 7,120,750 บาท ดังต่อไปนี้ 1) โครงการฝึกอบรมช่างติดตั้งระบบก๊าซธรรมชาติสำหรับรถใหญ่ วงเงิน 4,520,750 บาท มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 - ธันวาคม 2552 และ 2) โครงการวันแม่ถึงวันพ่อ 116 วัน สร้างสามัคคี ตรวจ NGV 1,160 คัน ปลอดภัย วงเงิน 2,600,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน นับถัดจากวันที่ลงนามในหนังสือสัญญา โดยให้สามารถถัวจ่ายระหว่างรายการและแยกดำเนินการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ทั้งนี้ให้เบิกจ่ายตามที่ใช้จ่ายจริงภายในวงเงินที่ได้รับการสนับสนุน
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการใช้จ่ายเงินงบบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปีงบประมาณ 2551 ของหน่วยงานต่างๆ
2. อนุมัติแผนการใช้จ่ายเงินงบบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปีงบประมาณ 2552 - 2555 ให้หน่วยงานต่างๆ เป็นจำนวนเงินรวม 162.8855 ล้านบาท (หนึ่งร้อยหกสิบสองล้านแปดแสนแปดหมื่นห้าพัน ห้าร้อยบาทถ้วน) พร้อมทั้งสนับสนุนเงินในงบค่าใช้จ่ายอื่น ในปีงบประมาณ 2552 - 2555 ปีละ 300 ล้านบาท รวม 1,200 ล้านบาท (หนึ่งพันสองร้อยล้านบาทถ้วน) โดยเงินเหลือจ่ายดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในปีถัดไปได้
3. อนุมัติงบบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปีงบประมาณ 2552 ให้หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 41,619,400 บาท (สี่สิบเอ็ดล้านหกแสนหนึ่งหมื่นเก้าพันสี่ร้อยบาทถ้วน) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
การอนุมัติงบบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปีงบประมาณ 2552
หน่วย : ล้านบาท
หน่วยงาน | หมวด ค่าจ้าง ชั่วคราว |
หมวด ค่าตอบแทน ใช้สอย และวัสดุ |
หมวด ค่าครุภัณฑ์ |
หมวด รายจ่าย อื่นๆ |
ค่าใช้จ่าย ในการออก พันธบัตร |
รวม |
1. สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน | 1.8309 | 12.1678 | - | 9.2160 | - | 23.2147 |
2. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน | 0.3399 | 5.6553 | - | 6.6000 | - | 12.5952 |
3. กรมสรรพสามิต | 1.0882 | 1.0016 | 0.5050 | 0.0120 | - | 2.6068 |
4. กรมศุลกากร | 0.5396 | 0.3723 | - | - | - | 0.9119 |
5. สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน | 0.9900 | 0.4968 | - | - | 0.8040 | 2.2908 |
รวม |
4.7886 | 19.6938 | 0.5050 | 15.8280 | 0.8040 | 41.6194 |
4. อนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง งบค่าใช้จ่ายอื่น ปีงบประมาณ 2552 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ของกรมธุรกิจพลังงาน จำนวน 2 โครงการ จำนวนเงินรวม 7,120,750 บาท (เจ็ดล้านหนึ่งแสนสองหมื่นเจ็ดร้อยห้าสิบบาทถ้วน) ดังต่อไปนี้
4.1 โครงการฝึกอบรมช่างติดตั้งระบบก๊าซธรรมชาติสำหรับรถใหญ่ วงเงิน 4,520,750 บาท (สี่ล้านห้าแสนสองหมื่นเจ็ดร้อยห้าสิบบาทถ้วน) ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 - ธันวาคม 2552
4.2 โครงการวันแม่ถึงวันพ่อ 116 วัน สร้างสามัคคี ตรวจ NGV 1,160 คัน ปลอดภัย วงเงิน 2,600,000 บาท (สองล้านหกแสนบาทถ้วน) ระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน นับถัดจากวันที่ลงนามในหนังสือสัญญา
โดยให้สามารถถัวจ่ายระหว่างรายการและแยกดำเนินการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ทั้งนี้ให้เบิกจ่ายตามที่ใช้จ่ายจริงภายในวงเงินที่ได้รับการสนับสนุน
เรื่องที่ 6 แนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) มาตรการด้านราคา และการกำกับดูแล
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยมีรายละเอียดตามเรื่องที่ 3.3 ข้อ 7
2. เพื่อรองรับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 ซึ่งได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลวโดยเฉพาะในส่วนมาตรการราคา ได้กำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวแยกออกตามประเภทการใช้โดยเฉพาะในส่วนของปัญหาการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ไม่ครบถ้วน ปัญหาการลักลอบนำก๊าซปิโตรเลียมเหลวจากโรงบรรจุก๊าซไปจำหน่ายในสถานีบริการหรือโรงงานอุตสาหกรรม และปัญหาการนำก๊าซปิโตรเลียมเหลวในครัวเรือนไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะ ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขและเพิ่มเติมคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ในประเด็นสำคัญๆ ดังนี้ 1) คำนิยามศัพท์ 2) การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนหรืออัตราเงินชดเชยสำหรับก๊าซ ให้สามารถกำหนดอัตราเงินสำหรับก๊าซแยกตามประเภทการใช้ได้ 3) การกำหนดบทบาทและหน้าที่ของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ในประเด็นส่งเงินเข้ากองทุน และการติดตั้งมาตรวัดปริมาณการจ่ายก๊าซจากถังเก็บก๊าซ 4) การกำหนดบทบาทและหน้าที่ของ ธพ. และผู้ว่าราชการจังหวัดในประเด็นตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนเงินที่ผู้ค้าน้ำมันนำส่งเข้ากองทุน และการกำหนดบทปรับเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาก๊าซ LPG
3. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบร่างคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ .../2551 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และขอความเห็นชอบให้ประธาน กบง. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ สนพ. ประกาศกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ตามแนวทางการเพิ่มส่วนต่างราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในภาคครัวเรือนกับภาคขนส่งและอุตสาหกรรมโดยวิธีการปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับก๊าซ LPG ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นเดือนละ 2 บาท/กิโลกรัม (1.08 บาท/ลิตร) โดยเดือนแรกเพิ่มขึ้น 2 บาท/กิโลกรัม เดือนที่สองเพิ่มขึ้นเป็น 4 บาท/กิโลกรัม และเดือนที่สามเพิ่มขึ้นเป็น 6 บาท/กิโลกรัม และตั้งแต่เดือนที่สี่เป็นต้นไปให้ใช้อัตราที่เพิ่มขึ้นเป็น 6 บาท/กิโลกรัม
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบร่างคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ .../2551 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง
2. เห็นชอบให้ประธานกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานประกาศกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมตามแนวทางการเพิ่มส่วนต่างราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในภาคครัวเรือนกับภาคขนส่งและอุตสาหกรรมโดยวิธีการปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับก๊าซ LPG ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 2 บาท/กิโลกรัม (1.08 บาท/ลิตร) หลังจากนั้นมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณาทบทวนและปรับปรุงข้อสมมติฐานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และนำเสนอต่อประธานกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเพื่อพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ หลังจากนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีฯ แล้ว มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานนำเรื่องเสนอต่อประธานกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเพื่อพิจารณากำหนดวันปรับเพิ่ม อัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับก๊าซ LPG ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 2 บาท/กิโลกรัม (1.08 บาท/ลิตร) ต่อไป
เรื่องที่ 7 แผนงานการจูงใจให้กลุ่มรถแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซ LPG เปลี่ยนมาใช้ก๊าซ NGV
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในส่วนของมาตรการจูงใจให้กลุ่มรถแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซ LPG เปลี่ยนมาใช้ NGV จำนวน 20,000 คัน ในระยะเวลา 4 เดือน ดังนี้ 1) จัดสรรจำนวนรถแท็กซี่ที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนมาใช้ NGV ประมาณ 5,000 คัน/เดือน แยกเป็นรถแท็กซี่ใหม่จำนวน 800 คัน/เดือน และรถแท็กซี่เก่าจำนวน 4,200 คัน/เดือน เป็นเวลา 4 เดือน 2) สำหรับรถแท็กซี่ใหม่ทาง ปตท. จะออกค่าถัง NGV 28,000 บาท/คัน และกองทุนน้ำมันฯ โดยกระทรวงพลังงานจะออกค่าติดตั้ง 12,000 บาท/คัน 3) สำหรับรถแท็กซี่เก่าที่ติดตั้งก๊าซ LPG ปตท. จะออกค่าติดตั้งและค่าถัง NGV 40,000 บาท/คัน และกองทุนน้ำมันฯ จะออกค่าชดเชย 3,000 บาท/คัน โดยรถแท็กซี่เก่าต้องคืนซากอุปกรณ์ก๊าซ LPG ให้กับกระทรวงพลังงานเพื่อนำไปทำลายซากต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 กพช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ของกลุ่มรถแท็กซี่จากการใช้ก๊าซปิโตรเลียมมาเป็นก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการรถแท็กซี่ จากการดำเนินการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม
2. เพื่อรองรับมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น และเพื่อให้สามารถดำเนินการปรับราคาก๊าซ LPG ได้ทันที ตามมาตรการจูงใจให้กลุ่มรถแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซ LPG เปลี่ยนมาใช้ NGV จำนวน 20,000 คัน ในระยะเวลา 4 เดือน ทาง ปตท. จะรับภาระในการให้เงินช่วยเหลือประมาณ 190.4 ล้านบาท/เดือน (รวม 761.6 ล้านบาท) และกองทุนน้ำมันฯ รับภาระให้เงินช่วยเหลือประมาณ 22.2 ล้านบาท/เดือน (คิดเป็นเงิน 88.8 ล้านบาท)
3. คณะกรรมการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ได้พิจารณาแผนงานการจูงใจให้กลุ่มรถแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซ LPG เปลี่ยนมาใช้ NGV ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการรถแท็กซี่ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และเห็นควรนำเสนอแผนงานการจูงใจให้กลุ่มรถแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซ LPG เปลี่ยนมาใช้ NGV ต่อ กบง. เพื่อพิจารณา ดังนี้
3.1 ให้ ธพ. และ ปตท. เตรียมความพร้อมทางด้านการติดตั้งอุปกรณ์ NGV โดยร่วมกันจัดทำบัญชีรายชื่ออู่ติดตั้ง NGV มาตรฐาน เพื่อสามารถติดตามและตรวจสอบในประเด็น ดังนี้ คือ 1) ตรวจสอบมาตรฐานของอู่ติดตั้ง NGV ให้มีมาตรฐานตามที่ได้กำหนดไว้ และตรวจสอบให้มีความพร้อมในการรองรับรถแท็กซี่ที่จะเข้ามาติดตั้ง NGV ได้ 2) ตรวจสอบมาตรฐานอุปกรณ์ NGV (ชุด Kit และถัง) โดยจัดทำรายละเอียดมาตรฐานของอุปกรณ์ NGV (ชุด Kit และถังก๊าซ NGV) เพื่อให้สามารถดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานของอุปกรณ์ได้ 3) กำหนดให้มีช่างติดตั้งที่ผ่านการฝึกอบรม 4) กำหนดให้มีผู้ตรวจและทดสอบที่ได้การรับรองจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งสามารถออกใบรับรองการติดตั้ง และ 5) การติดตามการบริการหลังการขาย โดยกำหนดให้อู่ติดตั้งจะต้องรับผิดชอบในกรณีที่เกิดปัญหาจากการติดตั้ง
3.2 เมื่อได้รับการติดตั้ง NGV แล้วเสร็จ ให้ ธพ. เป็นผู้บริหารจัดการในส่วนเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ทั้งในส่วน 3,000 บาท สำหรับรถแท็กซี่เก่า และ 12,000 บาท สำหรับรถแท็กซี่ใหม่ โดย ธพ. เป็นผู้จัดทำรายละเอียดการดำเนินการเพื่อเสนอต่อ สบพน. ต่อไป
3.3 ให้สมาคมผู้ประกอบการรถแท็กซี่เป็นผู้ดำเนินการในการบริหารจัดการจำนวนรถแท็กซี่จะปรับเปลี่ยนจาก LPG เป็น NGV ในแต่ละวัน
3.4 ให้ สนพ. ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อจูงใจให้กลุ่มรถแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซ LPG เปลี่ยนมาใช้ก๊าซ NGV
3.5 ให้คณะกรรมการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ของกลุ่มรถแท็กซี่จากการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวมาเป็นก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ เป็นผู้ติดตามและประเมินผลและรายงานให้ กบง. ทราบเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ
4. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอ กบง. เพื่อขอความเห็นชอบอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันฯ สำหรับแผนงานการจูงใจให้กลุ่มรถแท็กซี่เปลี่ยนมาใช้ก๊าซ NGV ในวงเงิน 88.8 ล้านบาท และแผนการดำเนินการของแผนงานฯ ดังกล่าว
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบแผนงานการจูงใจให้กลุ่มรถแท็กซี่เปลี่ยนมาเป็นรถแท็กซี่ NGV ตามที่เสนอโดยคณะกรรมการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ของกลุ่มรถแท็กซี่จากการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวมาเป็นก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ ตามข้อ 3 (ในส่วนสรุปสาระสำคัญ)
2. อนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง งบค่าใช้จ่ายอื่น ประจำปีงบประมาณ 2552 ในวงเงิน 88.8 ล้านบาท (แปดสิบแปดล้านแปดแสนบาทถ้วน) สำหรับแผนงานการจูงใจให้กลุ่มรถแท็กซี่เปลี่ยนมาเป็นรถแท็กซี่ NGV
เรื่องที่ 8 แผนงานการประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในส่วนของการประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทั้งในภาคครัวเรือน ขนส่งและอุตสาหกรรมใช้ก๊าซ LPG อย่างประหยัดและให้เข้าใจระบบการกำหนดราคาก๊าซ LPG รวมทั้งการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและจูงใจให้กลุ่มรถแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซ LPG ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาเป็น NGV ภายในเดือนเมษายน 2552 ตลอดจนบริหารจัดการและประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงความก้าวหน้าการขยายระบบเครือข่ายการให้บริการ NGV อย่างทั่วถึง ต่อมา เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 กพช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการประชาสัมพันธ์การปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว เพื่อติดตามความก้าวหน้าการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ภาครัฐจะประกาศปรับโครงสร้างก๊าซปิโตรเลียมเหลว รวมถึงให้เข้าใจในสถานการณ์พลังงานและมาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐไปยังประชาชน
2. เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551 คณะกรรมการดำเนินการประชาสัมพันธ์การปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว ได้พิจารณาจัดทำแผนงานการประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อรองรับกับแนวทางการประชาสัมพันธ์ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยที่ประชุมฯ ได้รับทราบแผนงานและโครงการการประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับ LPG ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ของ สนพ. และ ธพ. พร้อมทั้งมีความเห็นว่าโครงการประชาสัมพันธ์ของ สนพ. มีข้อจำกัดที่จะรองรับกับแนวทางประชาสัมพันธ์ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 โดยเฉพาะในส่วนขอบเขตงานและกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งระยะเวลาดำเนินโครงการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในเดือนมกราคม 2552 ในขณะที่โครงการประชาสัมพันธ์ของ ธพ. เป็นโครงการเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านพลังงานโดยรวม โดยมีงาน LPG เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ประชุมฯ จึงเห็นควรให้จัดทำแผนงานการประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อรองรับกับแนวทางการประชาสัมพันธ์ตามมติดังกล่าวเป็นการเฉพาะ โดยมอบหมายให้ สนพ. เป็นผู้ดำเนินการจัดทำรายละเอียด เพื่อเสนอ กบง. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
3. สนพ. ได้จัดทำแผนงานการประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) มีระยะเวลา 6 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจและยอมรับนโยบายการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG เป็น 2 ราคา และส่งเสริมการใช้ก๊าซ LPG ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์มาตรการของรัฐในด้านต่างๆ อาทิ การป้องกันก๊าซขาดแคลน การกักตุน ลักลอบ บทลงโทษ มาตรการช่วยเหลือของรัฐ ต่อกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนเพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีทยอยการปรับขึ้นราคา LPG ในอนาคต ต่อกลุ่มเป้าหมายภาคขนส่งและอุตสาหกรรมที่ใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิง ผู้ประกอบการแท็กซี่ ภาคครัวเรือน และกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานภายให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
4. สำหรับแผนงานการประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) จะใช้งบประมาณรวมทั้งหมด 30 ล้านบาท ดำเนินการโดยผ่านสื่อต่างๆ ดังนี้
4.1 ผลิตสารคดีโทรทัศน์ ความยาว 2 นาที จำนวน 25 ตอน แทรกในรายการโทรทัศน์ เผยแพร่ ไม่น้อยกว่า 100 ครั้ง และซื้อเวลาในรายการโทรทัศน์ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญหรือพิธีกรชี้แจงให้รายละเอียดข้อมูล ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง (งบประมาณ 10 ล้านบาท)
4.2 ผลิตสารคดีวิทยุ ความยาว 1 นาที จำนวน 25 ตอน ในคลื่นกลุ่มผู้นำความคิด กลุ่มผู้ขับขี่แท็กซี่ กลุ่มประชาชนในต่างจังหวัดทุกภูมิภาค เผยแพร่ไม่น้อยกว่า 300 ครั้ง (งบประมาณ 3 ล้านบาท)
4.3 เปิดคอลัมน์ถาม - ตอบ ในสื่อหนังสือพิมพ์ ขนาด 4 x 6 นิ้ว จำนวนไม่น้อยกว่า 40 ครั้ง (งบประมาณ 6 ล้านบาท)
4.4 สกู๊ปในสื่อสิ่งพิมพ์ ขนาดจูเนียร์ เพจ ขาว - ดำ 20 ครั้ง ใน หนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ (งบประมาณ 2 ล้านบาท)
4.5 จัด press visit ดังนี้ 1) เยี่ยมชมโรงงานบรรจุก๊าซเพื่อชี้แจงการติดตั้งมิเตอร์ป้องกันการลักลอบก๊าซ LPG ในต่างจังหวัด 2 ครั้ง 2) ตรวจสถานีบริการน้ำมัน เพื่อตรวจสอบคุณภาพก๊าซและมาตรฐานของสถานีบริการก๊าซ NGV ใน กทม. 1 ครั้ง ต่างจังหวัด 1 ครั้ง 3) รายงานผลการตรวจคุณภาพของอู่ติดตั้ง NGV โดยกรมการขนส่งทางบกและกรมธุรกิจพลังงาน และ 4) จัดสัมมนาไปยังกลุ่มเป้าหมายอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซ LPG และได้รับผลกระทบโดยตรงเพื่อสร้างความเข้าใจ และยอมรับนโยบายการปรับราคา รวมถึงรับทราบมาตรการการช่วยเหลือจากภาครัฐ และวิธีประหยัดพลังงาน (งบประมาณ 4 ล้านบาท)
4.6 ดำเนินงานสื่อมวลชนสัมพันธ์อื่นๆ อาทิ 1) จัดส่ง Fact Sheet ข้อมูลความรู้ LPG เพื่อสร้างความเข้าใจแก่สื่อต่างๆ 2) จัดส่ง Fact Sheet ให้พลังงานจังหวัดทุกจังหวัด รับทราบข้อมูลความรู้ LPG และประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนในท้องที่ และ 3) จัดผู้บริหารให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ ครอบคลุม สื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งพิมพ์ (งบประมาณ 3 ล้านบาท)
4.7 ผลิตและเผยแพร่ โปสเตอร์ แผ่นพับ ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และผู้ที่อาจได้รับผลกระทบในอนาคต เพื่อให้รู้วิธีเตรียมพร้อมและใช้ก๊าซอย่างประหยัดและถูกวิธี ทั้งนี้จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ กรมขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานการคุ้มครองผู้บริโภค ปตท. สมาคมผู้ค้าปลีกก๊าซ LPG สำนักเขตการศึกษาทั่วประเทศ เป็นต้น (งบประมาณ 2 ล้านบาท)
4.8 เผยแพร่ข้อมูล สร้างความเข้าใจผ่านเว็บไซต์ อาทิ เว็บไซต์ของกระทรวงพลังงาน สนพ. และเว็บไซต์หน่วยงานราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง และการประชาสัมพันธ์อื่นๆ ตามสถานการณ์
5. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอ กบง. เพื่อขอความเห็นชอบแผนงานการประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับแผนงานฯ ดังกล่าว ในวงเงิน 30 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบแผนงานการประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในข้อ 4 (ในส่วนสรุปสาระสำคัญ) ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแผนงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานดำเนินการปรับแก้ไขแผนงานดังกล่าวได้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตามความเหมาะสม
2. อนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง งบค่าใช้จ่ายอื่น ประจำปีงบประมาณ 2552 สำหรับแผนงานการประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในวงเงิน 30 ล้านบาท (สามสิบล้านบาทถ้วน) โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน
ครั้งที่ 36 - วันศุกร์ ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2551
มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 11/2551 (ครั้งที่ 36)
วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุมบุญรอด - นิธิพัฒน์ อาคาร 7 ชั้น 11 กระทรวงพลังงาน
1. การรักษาเสถียรภาพกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล) เป็นประธานในที่ประชุม
รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายชวลิต พิชาลัย) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ประธานฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานพิจารณาปรับอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ให้เหมาะสมเพื่อเตรียมรองรับการสิ้นสุดการดำเนินงานตามนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล และกระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงพลังงานให้ช่วยดูแลเรื่องพืชพลังงานซึ่งมีผลผลิตล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำ เกษตรกรได้รับ ความเดือดร้อน โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันและมันสำปะหลัง ประกอบกับเกิดความผันผวนของราคาน้ำมัน ในตลาดโลก ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศอยู่ในระดับที่ไม่เหมาะสม และค่าการตลาดของน้ำมันในปัจจุบันอยู่ระดับสูง ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล จึงได้ขอนัดประชุม กบง. ในครั้งนี้ เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ ได้แจ้งขอถอนวาระที่ 4.1 เรื่อง แผนการใช้จ่ายเงินบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปีงบประมาณ 2552 - 2555 ออก เพื่อให้คณะกรรมการมีเวลาพิจารณาวาระที่ 3.1 อย่างละเอียด
เรื่องที่ 1 การรักษาเสถียรภาพกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน โดยลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม 2552 ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้แถลงนโยบายพลังงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.1 นโยบายการกำกับดูแลพลังงานให้มีความเหมาะสม มีเสถียรภาพสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุนโดยเฉพาะในประเด็นการกำกับนโยบายราคาและโครงสร้างราคาน้ำมัน ให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและดูแลความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันที่สูงมากจนผิดปกติในปัจจุบัน
1.2 นโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนโดยเฉพาะเอทานอลและไบโอดีเซลเพื่อเป็นพลังงานที่คนไทยพึ่งพาตัวเองได้ ยกระดับราคาสินค้าเกษตร ช่วยลดการนำเข้าน้ำมัน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและเป็นทางเลือกพลังงานที่สำคัญในภาวะน้ำมันแพง
2. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ครม. ได้มีมติมอบให้กระทรวงพลังงานรับไปพิจารณาเพิ่มอัตราเงิน ส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อเสริมสร้างให้กองทุนน้ำมันฯ มีเสถียรภาพพอที่จะรองรับกับกำหนดการสิ้นสุดนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน ซึ่งจะมีการกลับมาใช้อัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันตามเดิม ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 โดยกองทุนน้ำมันฯ จะบริหารจัดการเพื่อทำให้ราคาขายปลีกน้ำมัน ในประเทศไม่ปรับตัวสูงขึ้นทันที
3. กระทรวงพลังงานได้พิจารณาโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ วันที่ 22 ตุลาคม 51 ซึ่งได้พบปัญหาในการดำเนินการเพื่อสนองนโยบายตามข้อ 1 ดังนี้ คือ 1) ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันในปัจจุบันสูงมากกว่าค่าการตลาดที่เหมาะสม และ 2) โครงสร้างราคาน้ำมันในปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการส่งเสริมพลังงานทดแทน ทั้ง เอทานอลและไบโอดีเซล ทั้งนี้ หลักการการจัดโครงสร้างราคาน้ำมันเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทนควรเป็น ดังนี้
3.1 การจูงใจผู้จำหน่ายเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทนมีหลักการ ดังนี้ 1) ค่าการตลาดของน้ำมัน ที่เป็นพลังงานทดแทนต้องสูงกว่าน้ำมันปกติ และ 2) น้ำมันที่มีส่วนผสมของพลังงานทดแทนมาก ต้องมี ค่าการตลาดสูงกว่าน้ำมันที่มีส่วนผสมของพลังงานทดแทนน้อย
3.2 การจูงใจผู้ใช้เพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทนมีหลักการ ดังนี้ 1) ราคาขายปลีกของน้ำมันที่เป็นพลังงานทดแทนต้องต่ำกว่าน้ำมันปกติ และ 2) น้ำมันที่มีส่วนผสมของพลังงานทดแทนมาก ต้องมีราคา ขายปลีกต่ำกว่าน้ำมันที่มีส่วนผสมของพลังงานทดแทนน้อย แต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างราคาน้ำมันในปัจจุบันกลับไม่เป็นไปตามหลักการข้างต้น
4. เพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณปาล์มน้ำมันที่มีมากกว่าความต้องการ จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีผู้ใช้ ไบโอดีเซลมากขึ้น โดยการเพิ่มส่วนต่างราคาราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B2 กับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B5 ให้มากขึ้นกว่าปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 0.70 บาทต่อลิตร
5. เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาน้ำมันในปัจจุบันที่ยังไม่เอื้อต่อการส่งเสริมพลังงานทดแทน ปัญหาปริมาณปาล์มน้ำมันที่มีมากกว่าความต้องการ จึงเห็นควรให้ใช้กองทุนน้ำมันฯ เป็นเครื่องมือในการบริหารและจัดการอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ โดยการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ตามสถานการณ์ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม กรณีค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่าการตลาดที่เหมาะสม เห็นควรมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกรมการค้าภายในติดตามและดูแลค่าการตลาดให้มีความเหมาะสมต่อไป
6. เมื่อใช้กองทุนน้ำมันฯ เป็นเครื่องมือในการบริหารและจัดการอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน ฯ เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาน้ำมันปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการส่งเสริมพลังงานทดแทน และแก้ไขปัญหาปริมาณปาล์มน้ำมันที่มีจำนวนมากกว่าความต้องการ ซึ่งช่วยส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีเสถียรภาพพอที่จะใช้ในการบริหารระดับราคาไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นโดยฉับพลันหลังสิ้นสุดนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนฯ ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอมีข้อเสนอดังนี้
6.1 ขอความเห็นชอบปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B2 ในอัตรา 1.00, 0.90 และ 0.50 บาทต่อลิตร ตามลำดับ และ ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E20 ลงอีก 0.15 บาทต่อลิตร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป ทั้งนี้ จากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ จะส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับสุทธิเพิ่มขึ้น 24.32 ล้านบาทต่อวัน จากระดับปัจจุบัน 80.60 ล้านบาทต่อวัน เป็น 104.92 ล้านบาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 729.58 ล้านบาทต่อเดือน จากระดับปัจจุบัน 2,417.90 ล้านบาท ต่อเดือน เป็น 3,147.48 ล้านบาทต่อเดือน
6.2 ขอความเห็นชอบในหลักการการใช้กองทุนน้ำมันฯ เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ ตามหลักการการจัดโครงสร้างราคาน้ำมันเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทนตามข้อ 3 โดยมอบหมายให้ประธาน กบง. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติแทนคณะกรรมการฯ ในการเปลี่ยนแปลงอัตราเงินนำส่งกองทุนน้ำมันฯ ครั้งละไม่เกิน 0.50 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ มอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 น้ำมัน แก๊สโซฮอล 91 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B2 ในอัตรา 1.00, 0.90 และ 0.50 บาทต่อลิตร ตามลำดับ และปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E20 ลงอีก 0.15 บาทต่อลิตร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป ทั้งนี้ มอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป