มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 3/2567 (ครั้งที่ 67)
วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567
1. แผนการจัดหา Spot LNG ปี 2567
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู)
เรื่องที่ 1 แผนการจัดหา Spot LNG ปี 2567
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้พิจารณา เรื่อง แนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ได้รับทราบมติ กพช. ดังนี้ (1) เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการ ก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในรายละเอียดต่อไป โดยมอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) พิจารณาปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติ และความสามารถที่เหลือที่จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาระ Take or Pay และให้นำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. เพื่อพิจารณาปริมาณการนำเข้า LNG ในระยะที่ 2 ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2564 และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำกับดูแล และ (2) มอบหมาย กบง. เป็นผู้พิจารณาและดำเนินการตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขัน ในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ในทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมต่อไป ต่อมา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 กบง. ได้พิจารณาสถานการณ์การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ และการทบทวนปริมาณการนำเข้า LNG ปี 2565 - 2567 และมีมติเห็นชอบความสามารถในการนำเข้า LNG สำหรับปี 2565 - 2567 รวม 4.5 5.2 และ 5.0 ล้านตัน ตามลำดับ ทั้งนี้ หากพบว่าปริมาณความสามารถในการนำเข้า LNG มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากตัวเลขดังกล่าว ให้ ชธ. และ ปตท. เสนอต่อ กบง. เพื่อพิจารณาทบทวน โดยมอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้บริหารจัดการปริมาณการนำเข้า LNG ปี 2565 - 2567 และกำกับดูแลต่อไป และต่อมา เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 กบง. ได้รับทราบรายงานผลการนำเข้า LNG ปี 2566 จำนวน 6.2 ล้านตัน ตามที่ ชธ. เสนอ
2. กกพ. ดำเนินการกำกับดูแลบริหารจัดการการนำเข้า LNG ที่ผ่านมา ดังนี้ (1) การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในช่วงที่มีปัญหารอยต่อสัมปทานก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยจากสถานการณ์พลังงานโลก และภาวะการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติที่ส่งผลต่อประมาณการอัตราค่าไฟฟ้า กกพ. ได้พิจารณามาตรการบริหารจัดการเสถียรภาพค่าไฟฟ้า อาทิ การนำเงินบริหารจัดการอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เก็บรักษาก่อนหน้านี้ และเงินเรียกคืนฐานะทางการเงินของการไฟฟ้าปี 2563 มาช่วยบรรเทาผลกระทบการเพิ่มขึ้นของค่า Ft นอกจากนี้ กกพ. ได้หารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน เพื่อพิจารณา แนวทางการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มเติม โดยได้นำเงินผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการภาระการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ที่มากกว่าความต้องการ ทำให้เกิดภาระผูกพันต้องจ่ายเงินค่าก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าตามปริมาณในสัญญาไปก่อน (Take or Pay) ของแหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมาในอดีต ซึ่งเมื่อมีการเรียกปริมาณก๊าซธรรมชาติ (Make up) ที่จ่ายเงินไว้แล้วมาใช้ในภายหลัง โดยราคาก๊าซธรรมชาติที่จ่ายไปในอดีตถูกกว่าราคาปัจจุบัน ทำให้เกิดผลประโยชน์จากการเรียก Make up ณ ปี 2563 มาลดราคาก๊าซธรรมชาติเพื่อลดราคาค่าไฟฟ้าเพิ่ม และ (2) การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในช่วงวิกฤตราคาพลังงานปี 2565 ซึ่งเกิดภาวะพลังงานตึงตัว (Energy Crisis) ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง กกพ. จึงได้พิจารณาแนวทางเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาสถานการณ์ ก๊าซธรรมชาติขาดแคลน โดยพิจารณาร่วมกับผู้รับใบอนุญาต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กฟผ. ปตท. และกระทรวงพลังงาน ดำเนินการเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ออกไปจนถึงธันวาคม 2565 รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) กลุ่มชีวมวล และให้มีการผลิตไฟฟ้า จากเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสามารถช่วยลดการนำเข้า LNG ในรูปแบบตลาดจร (Spot LNG) ได้ประมาณ 2.1 ล้านตันต่อปี ทำให้สามารถลดการนำเข้า Spot LNG จาก 4.5 ล้านตันต่อปี เหลือเพียง 2.4 ล้านตันต่อปี
3. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 กพช. ได้มอบหมายให้ กกพ. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณาการดำเนินการให้เป็นไปตามรูปแบบการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 โดยในการพิจารณาปริมาณการนำเข้า LNG มอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้กำกับดูแลและบริหารจัดการใช้ ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งรวมถึงการกำหนดปริมาณการเรียกใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่เหมาะสม และปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ต้องทำการสำรองไว้ (Swing Gas) และให้ กกพ. กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ Bypass Gas ได้ในกรณีมีความจำเป็น เช่น ทดสอบระบบ การควบคุมคุณภาพก๊าซธรรมชาติให้อยู่ในเกณฑ์ ที่กำหนด และกรณีที่อาจกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน เป็นต้น ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) โดยคณะอนุกรรมการกำกับการจัดหาและบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติของประเทศ (Regulatory Sub-Committee for Pool Gas Provision and Management: PPM) (อนุกรรมการ PPM) ซึ่งมีผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ชธ. และกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เป็นองค์ประกอบ ได้พิจารณาแผนการจัดหา Spot LNG ตามที่ ปตท. ในฐานะผู้รับใบอนุญาตบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Pool Manager) เสนอ โดยในปี 2567 มีแผนการนำเข้า LNG ส่วนเพิ่ม 4.7 ล้านตัน ลดลงจากมติ กบง. เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ที่เห็นชอบความสามารถในการนำเข้า LNG ที่ 5.0 ล้านตัน เนื่องจากมีการเรียกรับก๊าซ จากอ่าวไทยได้เพิ่มขึ้น และมีการจัดหา LNG เพิ่มเติมด้วยสัญญาระยะสั้นโดยผู้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่ง ก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใหม่ ตามแนวทางการเปิดเสรีระยะที่ 2 ทั้งนี้ กกพ. ได้พิจารณาถึงความมั่นคง ในการจัดหาพลังงานเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ รวมถึงดำเนินการ ตามนโยบายการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 โดยได้เห็นชอบให้ Shipper กฟผ. และ Shipper หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จัดหา LNG ในรูปแบบสัญญาระยะสั้น (Short Term) จำนวน 15 ลำเรือ และ 8 ลำเรือ ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับแผนความต้องการใช้และการจัดหา (Demand – Supply) ของ Shipper ส่งผลให้มีแผนการจัดหา Spot LNG ส่วนเพิ่มในปี 2567 จำนวนทั้งสิ้น 79 ลำเรือ
4. กกพ. เห็นว่าเพื่อดำเนินการตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ที่มอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้กำกับดูแลและบริหารจัดการใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งรวมถึงการกำหนดปริมาณการเรียกใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่เหมาะสม และปริมาณ Swing Gas เพื่อความมั่นคงของระบบพลังงานของประเทศ จึงเห็นควรเสนอให้มีการเรียกรับก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและทางท่อในปริมาณก๊าซที่ผู้ขายจะต้องส่งมอบ ตามสัญญาให้แก่ผู้ซื้อในแต่ละวัน (Daily Contract Quantity: DCQ) และใช้ Swing Gas ตามความสามารถ ที่ผู้ขายรับรองว่าจะส่งก๊าซให้ได้ในแต่ละวัน (Contractual Delivery Capacity: CDC) ในกรณีที่มีความต้องการใช้ก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าแผนการจัดหาเชื้อเพลิงที่ได้เตรียมไว้ หรือจากสถานการณ์ต่าง ๆ ตามที่ กกพ. เห็นควร เพื่อเพิ่มความมั่นคงของระบบพลังงาน ซึ่งจะช่วยลดการออกจัดหา Spot LNG ที่เป็นเที่ยวเรือเร่งด่วน (Prompt Cargo) ซึ่งมีความเสี่ยงเชิงราคาที่อาจสูงกว่าราคา JKM (Japan-Korea Marker) ณ เวลานั้น และความเสี่ยง เชิงปริมาณที่อาจไม่สามารถจัดหา Spot LNG ได้เนื่องจากระยะเวลาอันสั้น โดยได้แจ้งให้ ปตท. ในฐานะ Shipper ดำเนินการตามมติ กพช. ดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ จากข้อมูลการจัดหาก๊าซธรรมชาติของแหล่งในประเทศที่ได้รับจาก ชธ. พบว่าแหล่งอ่าวไทยมี Swing Gas ประมาณ 191 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงจากการจัดหา Spot LNG Prompt Cargo ได้ประมาณ 1.7 ลำต่อเดือน ซึ่งสอดคล้องกับความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของ Demand – Supply ที่พบในการพิจารณาการจัดหา Spot LNG ของอนุกรรมการ PPM ที่ผ่านมา
มติของที่ประชุม
รับทราบแผนการจัดหา Spot LNG ปี 2567
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) และเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและอัตรารับซื้อจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ต่อมา เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 และวันที่ 22 มิถุนายน 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน และพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับปี 2565 – 2573 ในปริมาณรวม 5,203 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม สำหรับปี 2569 ในปริมาณ 100 เมกะวัตต์ ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม) และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้า และกำกับดูแลการคัดเลือกตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ อาจพิจารณาทบทวนปริมาณเชื้อเพลิงรายปีที่กำหนดไว้ได้ตามสถานการณ์หรือศักยภาพที่เหมาะสม หรือปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) ได้ โดยมอบหมายให้ กบง. พิจารณา และต่อมา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 กบง. ได้เห็นชอบปรับปรุงกรอบหลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT กลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม สำหรับปี 2565 – 2573 ด้านคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของโครงการ และเห็นชอบให้ กกพ. สามารถพิจารณาปรับเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้ารายปี เฉพาะกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงได้ตามความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับผลคะแนนความพร้อมด้านเทคนิค ข้อเสนอขายไฟฟ้า กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) และศักยภาพระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ ไม่ให้เกินกรอบเป้าหมายรวมของแต่ละประเภทเชื้อเพลิงตามแผนการเพิ่ม การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม)
2. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 กบง. ได้รับทราบรายงานผลการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) โดยที่ประชุมได้มีความเห็นต่อผลการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าที่สะท้อนถึงความสนใจและศักยภาพของผู้ประกอบการในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จึงมีความเห็นให้พิจารณาแนวทางการบริหารจัดการเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ให้สามารถรองรับการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าที่มีปริมาณมากเพิ่มเติมได้ เพื่อเพิ่มปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลด ก๊าซเรือนกระจกและมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้ตามแผนที่กำหนดไว้ โดยต่อมา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 กบง. ได้เห็นชอบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2) และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 กพช. ได้รับทราบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2) และเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 และมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้อาจพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) ได้ โดยมอบให้ กบง. พิจารณา
3. เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 สำนักงาน กกพ. ได้มีหนังสือถึง สนพ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ กพช. แจ้งว่า สำนักงาน กกพ. ได้นำกรอบนโยบายไปจัดทำร่างระเบียบการจัดหาไฟฟ้า และรับฟังความคิดเห็นหลักการสำคัญของการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง รอบขยายการรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่ 1 ตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติการประกอบ กิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ปรากฏว่ามีข้อคิดเห็นต่อหลักการรับซื้อไฟฟ้าตามมติ กพช. ข้อ 3 (4) ที่กำหนดว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม ต้องไม่เกี่ยวข้อง (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) หรือมีสถานะเป็นผู้เรียกร้อง ผู้ร้องเรียน ผู้อุทธรณ์ ผู้ฟ้องร้อง หรือผู้ร้องสอด ให้หน่วยงานภาครัฐ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งหมายรวมถึง กพช. กกพ. และกระทรวงพลังงาน ต้องรับผิดในทางวินัย ทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว โดยผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจะต้องยืนยันความไม่เกี่ยวข้องหรือยืนยันสถานะดังกล่าวตลอดเวลา” ซึ่งพิจารณาว่าอาจเป็นการจำกัดสิทธิไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และหลักการตามมติ กพช. ข้อ 4 (2) ที่ให้รับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมรอบที่ 2 (รอบ Resit) กำหนดให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ไม่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบเดิมเท่านั้น สามารถดำเนินการปรับปรุงแก้ไขคำเสนอขายไฟฟ้าให้ครบถ้วนและยื่น คำเสนอขายไฟฟ้าใหม่ ว่าอาจเข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากไม่เปิดโอกาสให้ผู้ยื่นขอเสนอไฟฟ้ารายใหม่เข้าร่วมแข่งขัน ซึ่ง กกพ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติให้กระทรวงพลังงานพิจารณายืนยันว่าจะให้ กกพ. ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามหลักการการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 หรือไม่ อย่างไร
4. ข้อเสนอปรับปรุงข้อความของหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ในข้อ 3 และข้อ 4 มีรายละเอียดดังนี้
4.1 ข้อ 3 จากเดิม “3. การรับซื้อไฟฟ้าให้ยึดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกโครงการ และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการตามหลักการเช่นเดียวกับที่ได้รับความเห็นชอบจาก กพช. เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และวันที่ 22 มิถุนายน 2565 สำหรับขยะอุตสาหกรรม และที่ได้รับความเห็นชอบจาก กบง. เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ทั้งนี้ กำหนดให้เพิ่มเติมเงื่อนไขของผู้ยื่นข้อเสนอที่สำคัญ ดังนี้” แก้ไขเป็น “3. การรับซื้อไฟฟ้าให้ยึดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกโครงการและเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการตามหลักการเช่นเดียวกับที่ได้รับความเห็นชอบจาก กพช. เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และวันที่ 22 มิถุนายน 2565 สำหรับขยะอุตสาหกรรม และที่ได้รับความเห็นชอบจาก กบง. เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565”
4.2 ข้อ 3 (1) จากเดิม “ผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม ต้องเป็นผู้ยื่นคำเสนอ ขายไฟฟ้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail) หรือไม่ได้รับการคัดเลือกภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน1 ซึ่งเป็นการรับซื้อตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก กบง. เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565” แก้ไขเป็น ยกเลิกข้อความ ข้อ 3 (1) ทั้งหมด
4.3 ข้อ 3 (2) จากเดิม “ผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม ต้องใช้หนังสือแสดงผล การตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าฉบับเดิมที่ได้ใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าภายใต้ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน1” แก้ไขเป็น ยกเลิกข้อความข้อ 3 (2) ทั้งหมด
4.4 ข้อ 3 (3) จากเดิม “ผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม สามารถเปลี่ยนแปลงปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายได้ แต่ต้องไม่สูงเกินกว่าปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายตามคำเสนอขายไฟฟ้าที่ได้ยื่นไว้ภายใต้ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน1 ทั้งนี้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเภทเชื้อเพลิง ที่ตั้งโครงการ จุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า ระดับแรงดันที่เชื่อมต่อ และรูปแบบการเชื่อมต่อตามที่ระบุในหนังสือแสดงผลการตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าฉบับเดิมได้” แก้ไขเป็น ยกเลิกข้อความข้อ 3 (3) ทั้งหมด
4.5 ข้อ 3 (4) จากเดิม “ผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม ต้องไม่เกี่ยวข้อง (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) หรือมีสถานะเป็นผู้เรียกร้อง ผู้ร้องเรียน ผู้อุทธรณ์ ผู้ฟ้องร้อง หรือผู้ร้องสอด ให้หน่วยงานภาครัฐคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน1 ซึ่งหมายรวมถึง กพช. กกพ. และกระทรวงพลังงาน ต้องรับผิดในทางวินัย ทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว โดยผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจะต้องยืนยันความไม่เกี่ยวข้องหรือยืนยันสถานะดังกล่าวตลอดเวลา” แก้ไขเป็น ยกเลิกข้อความข้อ 3 (4) ทั้งหมด
4.6 ข้อ 4 จากเดิม “4. การรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมตามตารางที่ 1 ในข้อ 2 ให้เริ่มดำเนินการเมื่อสำนักงาน กกพ. ทำการประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน1เสร็จสิ้น และมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้” แก้ไขเป็น “4. การรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมตามตารางที่ 1 ในข้อ 2 ให้เริ่มดำเนินการเมื่อสำนักงาน กกพ. ทำการประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน1 ซึ่งเป็นการรับซื้อตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก กบง. เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 เสร็จสิ้น และมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้”
4.7 ข้อ 4 (1) จากเดิม “4 (1) ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail) แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก ภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน1 ทั้งนี้ กำหนดให้ กกพ. พิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากผลการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ที่ได้จัดทำไว้โดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขคำเสนอขายไฟฟ้า และมีปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนพื้นดิน โดยให้พิจารณารับซื้อเรียงตามลำดับเชื้อเพลิง ดังนี้ 1) พลังงานลม และ 2) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นรายสุดท้ายภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน1 ของแต่ละประเภทเชื้อเพลิง และยินยอมปรับลดปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่ให้เกินกว่ากรอบเป้าหมายที่คงเหลือนั้น ให้ กกพ. สามารถปรับเพิ่มปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายให้กับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้ารายดังกล่าวได้ไม่เกินกว่าปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายตามคำเสนอขายไฟฟ้าเดิม ถ้าหากโครงข่ายระบบไฟฟ้ามีศักยภาพที่สามารถรองรับได้” แก้ไขเป็น คงข้อความตามข้อ 4 (1) ตามเดิม
4.8 ข้อ 4 (2) จากเดิม “4 (2) การรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือหลังหักปริมาณที่ได้รับซื้อไปแล้วในข้อ 4 (1) ให้ดำเนินการในลำดับถัดมา โดยเปิดโอกาสให้ผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail) หรือไม่ได้รับการคัดเลือกภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน1 หรือไม่ได้รับการคัดเลือกในการรับซื้อตามข้อ 4 (1) สามารถปรับปรุงแก้ไขคำเสนอขายไฟฟ้าที่ได้ยื่นไว้แล้วให้ครบถ้วนได้ ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ กกพ. กำหนด รวมถึงเงื่อนไขของผู้ยื่นข้อเสนอในข้อ 3 ทั้งนี้ ให้พิจารณารับซื้อเรียงตามลำดับเชื้อเพลิง ดังนี้ 1) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 2) พลังงานลม 3) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และ 4) ขยะอุตสาหกรรม สำหรับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน ภายใต้ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน1 สามารถเปลี่ยนแปลงประเภทเชื้อเพลิงเป็นพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน เพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมส่วนที่เหลือนี้ได้” แก้ไขเป็น “4 (2) การรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือหลังหักปริมาณที่ได้รับซื้อไปแล้ว ในข้อ 4 (1) ให้ดำเนินการในลำดับถัดมา โดยเปิดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ให้พิจารณารับซื้อ เรียงตามลำดับเชื้อเพลิง ดังนี้ 1) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 2) พลังงานลม 3) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และ 4) ขยะอุตสาหกรรม”
4.9 ข้อ 4 (3) จากเดิม “4 (3) การรับซื้อไฟฟ้าจะพิจารณาตามศักยภาพของโครงข่าย ระบบไฟฟ้าที่สามารถรองรับได้ โดยการประเมินความสามารถระบบไฟฟ้าให้ดำเนินการประเมินสำหรับการรับซื้อ ตามข้อ 4 (1) ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะดำเนินการประเมินสำหรับการรับซื้อตามข้อ 4 (2) ต่อไป ทั้งนี้หากมีข้อจำกัดในด้านศักยภาพของโครงข่ายไฟฟ้าในการรองรับและไม่สามารถดำเนินการปรับปรุงให้สามารถเชื่อมโยงเพื่อรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ ภาครัฐขอสงวนสิทธิ์ในการไม่ตอบรับข้อเสนอขายไฟฟ้า” แก้ไขเป็น คงข้อความ ตามข้อ 4 (3) ตามเดิม
ทั้งนี้ “ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน1” ตามหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ในที่นี้ได้แก่ (1) ระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 (2) ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 สำหรับก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) สำหรับพลังงานลม สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน และสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน พ.ศ. 2565 จำนวน 4 ฉบับ ลงวันที่ 30 กันยายน 2565 และที่ประกาศเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 - 4 ของแต่ละประเภทเชื้อเพลิง เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 และวันที่ 1 มีนาคม 2566 ตามลำดับ (3) ระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 และ (4) ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 สำหรับเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม (ปี 2569) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2565 และที่ประกาศเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566
5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความเห็นเกี่ยวกับหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 ดังนี้
5.1 สำนักงาน กกพ. โดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการประกอบกิจการพลังงาน ได้มีความเห็น ดังนี้ (1) การเปิดรับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบและประกาศรอบแรกนั้นเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนั้นสถานะและสิทธิของผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าที่ไม่ผ่านการคัดเลือกในชั้น Scoring (ผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า ที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ หรือไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail)) จึงสิ้นผลไป ตามกรอบระยะเวลาของการคัดเลือกโครงการที่ระเบียบและประกาศกำหนด ประกอบกับกฎหมายมิได้กำหนดรับรองสถานะและสิทธิของผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้านั้นให้คงสภาพไว้แต่แรก จึงต้องถือว่าเป็นผู้ไม่ผ่านทั้งหมด การเปิดให้มีการคัดเลือกเฉพาะกลุ่มที่ไม่ผ่านในรอบที่ผ่านมาโดยไม่คำนึงถึงผู้เข้าแข่งขันรายใหม่ที่อาจมี ความพร้อมมากกว่า อาจถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากเป็นการเปิดให้เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น และ (2) การกำหนดเงื่อนไขข้อ 3 (4) เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้รับรองและคุ้มครองไว้
5.2 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นว่า การพิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2542 นั้น มีลักษณะเป็นการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติหรือมีข้อเท็จจริงที่ยุติ และเป็นปัญหาในระดับที่หน่วยงาน ผู้รักษาการหรือรับผิดชอบตามกฎหมายได้พิจารณาแล้วไม่อาจแก้ไขปัญหาได้และมีผลทำให้การบริหารราชการแผ่นดินไม่อาจดำเนินการได้ แต่ข้อหารือของ สนพ. ในเรื่องนี้ เป็นการหารือเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับแนวทาง การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 อันเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กพช. ที่จะพิจารณาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขเพิ่มเติมมติที่เกี่ยวกับหลักการดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ด้านพลังงานในปัจจุบัน รวมทั้งนโยบายและแผนการบริหาร และพัฒนาพลังงานของประเทศตามพระราชบัญญัติ กพช. พ.ศ. 2535 กรณีนี้จึงยังไม่มีปัญหาข้อกฎหมายในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงหรือมีเหตุโต้แย้งจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยถูกต้องต่อไปได้ ในชั้นนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงไม่อาจรับข้อหารือนี้ไว้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นได้
5.3 ฝ่ายเลขานุการฯ ได้มีความเห็นว่า เนื่องจาก มติ กพช. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 เป็นการปรับปรุงขยายกรอบปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของพลังงานสะอาดและรองรับนโยบายไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) และให้สามารถรองรับจำนวนผู้พร้อมเสนอขายไฟฟ้าจำนวนมาก ดังนั้นการคัดเลือกผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า ในข้อ 4 (1) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและผ่านการพิจารณาความพร้อมในทุกองค์ประกอบแล้ว จึงมีความยุติธรรมเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เป็นภาระทั้งต่อหน่วยงานภาครัฐและผู้ยื่น คำเสนอขายไฟฟ้า ทั้งนี้ เพื่อให้การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ไม่ขัดต่อกฎ ระเบียบ หรือกฎหมายต่าง ๆ เห็นควรยกเลิกข้อความตามข้อ 3 (4) ที่ห้ามผู้ยื่นข้อเสนอโครงการฟ้องร้องหรือร้องเรียนหน่วยงานภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่ของทางภาครัฐ ที่อาจเป็นการจำกัดสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่กำหนดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยไว้ และเห็นควรแก้ไขข้อความในข้อ 4 (2) ให้เป็นการเปิดรับซื้อไฟฟ้าเป็นการทั่วไป รวมทั้งจะต้องยกเลิกข้อความในข้อ 3 (1) ถึงข้อ 3 (3) ด้วย เนื่องจากข้อความดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์กรณีที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail) หรือไม่ได้รับการคัดเลือกภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน1 สามารถปรับปรุงแก้ไข คำเสนอขายไฟฟ้าที่ได้ยื่นไว้แล้วให้ครบถ้วนได้ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในข้อ 3 (1) ถึงข้อ 3 (3) ดังนั้น เมื่อมีการแก้ไขหลักการรับซื้อที่เปิดโอกาสให้มีการรับซื้อเป็นการทั่วไปแล้วก็ควรยกเลิกข้อความดังกล่าวด้วย
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบข้อเสนอปรับปรุงหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573
2. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ในปริมาณรวม 9,996 เมกะวัตต์ โดยเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้รับทราบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ดังกล่าว และได้เห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ในปริมาณรวม 5,203 เมกะวัตต์ ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 335 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 1,000 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2,368 เมกะวัตต์ และวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ได้เห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม สำหรับปี 2569 ในปริมาณ 100 เมกะวัตต์ และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้า และกำกับดูแลการคัดเลือกตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ อาจพิจารณาทบทวนปริมาณเชื้อเพลิงรายปีที่กำหนดไว้ได้ตามสถานการณ์หรือศักยภาพที่เหมาะสม หรือปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) ได้ โดยมอบหมายให้ กบง. พิจารณา ต่อมา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 กบง. ได้เห็นชอบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2) ในปริมาณรวม 12,704 เมกะวัตต์ โดยเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 กพช. ได้รับทราบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2) และเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และขยะอุตสาหกรรม สำหรับปี 2565 – 2573 ในปริมาณรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ รวมทั้งมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดย กกพ. สามารถพิจารณาปรับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้ารายปี เฉพาะกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงได้ตามความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับผลคะแนนความพร้อมด้านเทคนิค ข้อเสนอขายไฟฟ้า กำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) และศักยภาพระบบไฟฟ้า โดยไม่ให้เกินกรอบเป้าหมายรวมของแต่ละประเภทเชื้อเพลิง ทั้งนี้ อาจพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) ได้ โดยมอบหมายให้ กบง. พิจารณา
2. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้รับรายงานการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 ที่ดำเนินการตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 และวันที่ 22 มิถุนายน 2565 จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ดังนี้ (1) กกพ. ได้ออกระเบียบและประกาศเชิญชวน การรับซื้อไฟฟ้าตามมติ กพช. โดยมีผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามลำดับคะแนนความพร้อมสำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม รวมจำนวน 175 ราย และ 13 ราย ตามลำดับ (2) ผู้ผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ครบถ้วนแล้ว ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (BESS) จำนวน 24 ราย และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 129 ราย ที่ได้รับการคัดเลือกอยู่ระหว่างทยอยลงนาม PPA ตามกรอบระยะเวลาที่ กกพ. ประกาศกำหนด ยกเว้นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม จำนวน 22 ราย ยังไม่สามารถลงนาม PPA ได้ เนื่องจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งลงวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ทุเลาการบังคับตามประกาศสำนักงาน กกพ. เรื่อง รายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 เฉพาะการคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมจำนวน 22 ราย ตามมติ กกพ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ไว้เป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดและอยู่ระหว่างการพิจารณา ทำให้การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ และ (3) โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่ได้รับการคัดเลือกที่ต้องชะลอการดำเนินการ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว ซึ่งมีกำหนด SCOD ในปี 2568 และ 2569 แจ้งว่าไม่สามารถ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ตามกำหนด SCOD ตามแผน นอกจากนี้ โครงการที่มีกำหนด SCOD ในปีถัด ๆ ไป อาจได้รับผลกระทบและไม่สามารถ COD ได้ตามกำหนด SCOD และอาจส่งผลต่อการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) แบบเจาะจงที่มา (UGT2) เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการจัดหาไฟฟ้า สีเขียวด้วยเช่นกัน
3. สนพ. ได้รับรายงานเพิ่มเติมจากสำนักงาน กกพ. ว่า ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งลงวันที่ 5 มีนาคม 2567 เกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาเพิ่มเติมในคดีหมายเลขดำที่ 2219/2566 กรณีบริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด เป็นผู้ฟ้องคดี และสำนักงาน กกพ. เป็นผู้ถูกฟ้องคดี โดยมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติ กกพ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจำนวน 175 ราย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี และทุเลาการบังคับตามประกาศสำนักงาน กกพ. เรื่อง รายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบ FiT ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 5 เมษายน 2566 สำหรับพลังงานลม จำนวน 22 ราย และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมติ กกพ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 โดยอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล
4. ต่อมา สนพ. ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจาก สำนักงาน กกพ. เกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ดังนี้ (1) ผู้ยื่นขอ ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกสำหรับพลังงานลม กำหนด SCOD ปี 2568 – 2573 ได้มีหนังสือแจ้งถึงผลกระทบจากการชะลอการลงนาม PPA จำนวน 16 โครงการ (2) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีหนังสือ แจ้งผลกระทบจากการชะลอการดำเนินการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าเพื่อเพิ่มศักยภาพระบบไฟฟ้าและรองรับ การเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ได้รับการคัดเลือกพลังงานลม โดยหากมีการชะลอการดำเนินงานไปจนถึงภายในเดือนมิถุนายน 2567 จะส่งผลกระทบต่อ SCOD ล่าช้าไปจากกำหนดเดิมประมาณ 1 ปี สำหรับ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในโครงการพลังงานลมจำนวน 9 โครงการ ที่มีกำหนด SCOD เดิมปี 2568 - 2571 และกรณีมีการชะลอการดำเนินงานออกไปภายหลังเดือนมิถุนายน 2567 จะส่งผลกระทบต่อ SCOD สำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในโครงการพลังงานลมทั้ง 22 โครงการ (3) กระทรวงพลังงานได้มีหนังสือยืนยันความจำเป็น ที่ประเทศไทยจะต้องมีพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการส่งเสริมโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็นภารกิจสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนของประเทศที่ไม่สามารถชะลอหรือหยุดชะงักได้ เพื่อให้ประเทศมีศักยภาพในการแข่งขัน มีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยถูกลง ลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศในปี 2573 ตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) รวมทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว (UGT) และ (4) ความคืบหน้าเรื่องที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติ กกพ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี และทุเลาการบังคับตามประกาศสำนักงาน กกพ. สำหรับพลังงานลม จำนวน 2 คดี ดังนี้ 1) กรณีคดีของ บริษัท วินด์ ขอนแก่น 2 จำกัด โดยเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งกลับคำสั่งของ ศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติ กกพ. ที่พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจำนวน 175 ราย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี และประกาศสำนักงาน กกพ. ดังกล่าว สำหรับพลังงานลม จำนวน 22 ราย ซึ่งสำนักงาน กกพ. มีหนังสือ แจ้งคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้ กฟผ. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แล้ว และ 2) กรณีคดีของ บริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด โดยเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2219/2566 ระหว่าง บริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด กับสำนักงาน กกพ. และ กกพ. โดยศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติ กกพ. ที่พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจำนวน 175 ราย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี และประกาศสำนักงาน กกพ. ดังกล่าว สำหรับพลังงานลม จำนวน 22 ราย ซึ่งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 สำนักงาน กกพ. ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว
5. ข้อเสนอหลักการการปรับเลื่อนกำหนด SCOD สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม) จากการที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2566 กรณีบริษัท วินด์ ขอนแก่น 2 จำกัด และได้มีคำสั่งเพิ่มเติมลงวันที่ 5 มีนาคม 2567 กรณีบริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด ทุเลาการบังคับตามประกาศสำนักงาน กกพ. เฉพาะการคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม จำนวน 22 ราย ตามมติ กกพ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงทำให้มีการชะลอการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องใด ๆ ตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าฯ สำหรับผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกสำหรับโครงการพลังงานลม จำนวน 22 ราย ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งทุเลาฯ ดังกล่าว เช่น การลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบไฟฟ้าและรองรับการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ได้รับการคัดเลือกในโครงการพลังงานลม เป็นต้น โดยต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 กลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นกรณีบริษัท วินด์ ขอนแก่น 2 จำกัด เป็นให้ยกคำขอของผู้ฟ้องคดีแล้ว และสำนักงาน กกพ. ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลาฯ กรณีบริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ดังนั้น กรณีศาลปกครองสูงสุดได้ยกเลิกคำสั่งทุเลาฯ แล้ว จึงเห็นควรให้ปรับเลื่อนกำหนด SCOD โครงการพลังงานลมในรายที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง ศาลปกครองดังกล่าว เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่ได้รับการคัดเลือก โดยควรมอบหมายให้ กกพ. พิจารณาปรับกรอบระยะเวลาการเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และปรับเลื่อนกำหนด SCOD สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลงไปของแต่ละโครงการได้ตามสมควร ทั้งนี้ ไม่ให้เกินกรอบภายในปี 2573 เพื่อให้ไม่กระทบต่อแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของประเทศที่มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ในปี 2573 ตาม NDC รวมทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว (UGT) และไม่กระทบต่อเสถียรภาพทางด้านราคาค่าไฟฟ้าในระยะยาวของประเทศ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบข้อเสนอหลักการการปรับเลื่อนกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครอง
2. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาปรับกรอบระยะเวลาการเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และปรับเลื่อนกำหนด SCOD สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่ได้รับผลกระทบ จากคำสั่งศาลปกครองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของแต่ละโครงการได้ตามสมควร ทั้งนี้ ไม่ให้เกินกรอบภายในปี 2573
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอ ดังนี้ PNGV = Pool Gas + [Ld+Lc] + [S1,NGV + S2,NGV] + [TdZone 3 + TcZone 3] + ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ โดยที่ (1) Pool Gas คือ ราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งประกอบด้วยก๊าซจากอ่าวไทยที่เหลือจากการจ่ายให้โรงแยก ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และก๊าซจากแหล่งอื่น ๆ ในอนาคต (2) Ld และ Lc คือ อัตราค่าบริการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ ในส่วน Demand Charge (Ld) และ Commodity Charge (Lc) สำหรับสถานี LNG (LNG Receiving Terminal Tariff) ที่ผู้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ใช้บริการ (3) S คือ อัตราค่าบริการสำหรับ การจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ โดยที่ S1 คือ ค่าใช้จ่ายในการจัดหาและค้าส่งก๊าซ รวมค่าตอบแทนในการดำเนินการ และ S2 คือ ค่าความเสี่ยงในการรับประกันคุณภาพก๊าซ การส่งก๊าซให้ได้ตามปริมาณที่กำหนด ภายใต้สัญญาซื้อขายก๊าซระหว่างผู้จัดหาและผู้ผลิต และสัญญาซื้อขายก๊าซระหว่างผู้จำหน่ายและผู้ใช้ รวมถึงความเสี่ยงอื่น ๆ (4) TdZone 3 และ TcZone 3 คือ อัตราค่าบริการส่งก๊าซทางท่อสำหรับระบบท่อบนฝั่ง (Zone 3) ในส่วน Demand Charge (Td) และในส่วน Commodity Charge (Tc) และ (5) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ คือ ค่าใช้จ่ายในส่วนของการลงทุนและค่าใช้จ่ายสถานีก๊าซ NGV ของสถานีแม่ สถานีลูก และสถานีแนวท่อ รวมค่าขนส่งภายในรัศมี 50 กิโลเมตร และค่าใช้จ่ายการปรับปรุงคุณภาพก๊าซ
2. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 กพช. ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณและดำเนินการเกี่ยวกับราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) (Energy Pool Price) โดยหลักเกณฑ์ Energy Pool Price หมายถึง การนำต้นทุนค่าใช้จ่ายน้ำมันเตาหรือน้ำมันดีเซล และ LNG นำเข้าของกลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. ในด้านปริมาณ คุณภาพและราคา (Regulated Market) มาเฉลี่ยกับก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas เพื่อให้ต้นทุนการผลิตของภาคไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมในกลุ่ม Regulated Market อยู่ในทิศทางและแนวปฏิบัติเดียวกัน ซึ่งมีการใช้เชื้อเพลิงคิดเป็นหน่วยราคาต่อความร้อน (บาทต่อล้านบีทียู) และช่วยลดภาระอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ที่ส่งผลถึงผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง ต่อมา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 กพช. ได้เห็นชอบแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ โดยปรับให้ใช้ราคาก๊าซที่เข้า และออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ ยกเว้นก๊าซที่นำไปใช้ในการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซเท่ากับ ราคาก๊าซจากอ่าวไทย (Gulf Gas) ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป จนกว่าการจัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 จะแล้วเสร็จ และได้รับความเห็นชอบจาก กพช.
3. การดำเนินงานตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีดังนี้ (1) กกพ. ได้ออกประกาศ กกพ. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Pool Manager) พ.ศ. 2566 โดยได้กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของ Pool Manager ทั้งนี้ Pool Manager เริ่มคำนวณราคา Pool Gas ตามมติ กพช. ดังกล่าวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นไป ทำให้ราคา Pool Gas มีการเปลี่ยนแปลง (2) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) มีหนังสือถึง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอแนวทาง การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 ของ ปตท. ซึ่งส่งผลให้ราคา Pool Gas ที่ใช้คำนวณต้นทุนราคาขายปลีก NGV เปลี่ยนแปลงไป โดยในช่วงเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 ปตท. ได้คำนวณราคาขายปลีก NGV จากราคา Pool Gas ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ที่ Shipper ปตท. แจ้ง และ (3) ปตท. ได้รับแจ้งราคา Pool Gas ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ในเดือนมิถุนายน 2567 และพบว่ามีส่วนต่างระหว่างต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 และเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ในช่วงเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 ปตท. จึงได้ขอประสานหารือแนวทางบริหารจัดการส่วนต่างดังกล่าวนี้ต่อไป
4. ราคาขายปลีกก๊าซ NGV ตามสูตรโครงสร้าง ณ เดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 18.55 บาทต่อกิโลกรัม โดยจากประมาณการราคาขายปลีกก๊าซ NGV ในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ถึงเดือนธันวาคม 2567 คาดการณ์ว่าราคาอาจปรับขึ้นอยู่ในช่วง 19.36 ถึง 19.66 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ประชุมหารือร่วมกับ ปตท. เพื่อพิจารณาแนวทางการกำหนดราคาขายปลีก NGV โดยมีความเห็นร่วมกันว่า ให้นำส่วนต่างต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดจากการดำเนินงานตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ในช่วงเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 มาปรับต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ ในโครงสร้างราคาขายปลีก NGV โดยให้ราคาขายปลีก NGV อยู่ที่ 18.59 บาทต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2567 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2567 และนำส่วนต่างคงเหลือมาปรับราคาขายปลีก NGV ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2567 จนครบวงเงินของส่วนต่างต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ ยังคงมาตรการช่วยเหลือจาก ปตท. ในกลุ่มรถแท็กซี่ กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ และกลุ่มรถบรรทุก ตามมติคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้นำส่วนต่างต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดจากผลการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ วันที่ 13 ธันวาคม 2566 ในช่วงเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 มาปรับต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติในโครงสร้างราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับ ยานยนต์ (NGV) ดังนี้
1.1 ให้ราคาขายปลีก NGV อยู่ที่ราคา 18.59 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2567 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2567 (เป็นระยะเวลา 2 เดือน)
1.2 ราคาขายปลีก NGV ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2567 ให้นำส่วนต่างคงเหลือมาปรับลดราคาจนครบวงเงินของส่วนต่างต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ
2. มอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รับไปดำเนินการตามข้อ 1 และรายงานผล การดำเนินการให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานทราบต่อไป