มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 8/2566 (ครั้งที่ 64)
วันอังคารที่ 26 ธันวาคม 2566
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
สรุปสาระสำคัญ
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 3/2566 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุป มติการประชุมได้ ดังนี้
1. เรื่อง รายงานผลการประเมินการปฏิบัติงานและการเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติงาน ตามแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดย กพช. ได้มีมติรับทราบรายงานผลการประเมินการปฏิบัติงานและการเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติงาน ตามแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
2. เรื่อง รายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดย กพช. ได้มีมติรับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)
3. เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ โดย กพช. ได้มีมีมติเห็นชอบ ดังนี้ (1) เห็นชอบแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ โดยปรับให้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่นำไปใช้ในการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (Gulf Gas) ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป จนกว่าการจัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 จะแล้วเสร็จ และได้รับความเห็นชอบจาก กพช. และ (2) มอบหมายให้ กกพ. และกระทรวงพลังงาน รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
4. เรื่อง แนวทางการพิจารณาอายุสัญญาการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดผลกระทบค่าไฟฟ้า โดย กพช. ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน หารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด และ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการหาแนวทางการกำหนดการสิ้นสุดของอายุสัญญาโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภท Non-Firm ในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ให้ได้ข้อยุติ และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. พิจารณาต่อไป
5. เรื่อง มาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน โดย กพช. ได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้ (1) เห็นชอบมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี จำนวน 20 เมกะวัตต์ โดยนับจากวันลงนามข้อตกลงเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้ ไม่เกินกว่าวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ในอัตรารับซื้อไฟฟ้า ประมาณ 1.85 บาท/kWh ตามสัญญาเดิม เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและบรรเทาสถานการณ์ราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง และ (2) มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการจัดทำข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี จำนวน 20 เมกะวัตต์ โดยนับจากวันลงนามข้อตกลงเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้ ไม่เกินกว่าวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ในอัตรารับซื้อไฟฟ้า ประมาณ 1.85 บาท/kWh ตามสัญญาเดิม
6. เรื่อง แนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว โดย กพช. ได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้ (1) เห็นชอบแนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (2) มอบหมายให้กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) นำเรียนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบแนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ตามที่ กพช. เห็นชอบต่อไป และ (3) มอบหมาย ธพ. ประสานกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการบริหารจัดการอุปทานน้ำมันปาล์มจากการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตามแนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว
7. เรื่อง แนวทางมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้นสำหรับงวดเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 โดย กพช. ได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้ (1) เห็นชอบแนวทางมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้นเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 โดยมอบหมายให้ กฟผ. และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) รับไปดำเนินการภายใต้การกำกับของ กกพ. เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป (2) เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง สำหรับงวดเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 โดยใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จาก ครม. วงเงินรวม 1,950 ล้านบาท เพื่อให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กฟผ. และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ สามารถดำเนินการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าตามมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป และ (3) มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงมหาดไทย กำกับและติดตามให้หน่วยงานในสังกัดที่มีอำนาจและหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า ไม่เกิน 300 หน่วย ต่อเดือน ตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว
มติของที่ประชุม
รับทราบมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2566 (ครั้งที่ 166) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบและมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยด่วนต่อไป และเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ครม. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยเห็นว่ามาตรการดังกล่าวเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล และให้กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง รอบคอบ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และด้านไฟฟ้า ให้แก่ประชาชนจะสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 2566 ในขณะที่สถานการณ์ราคาพลังงานตลาดโลกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงกว่า 90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดเอเชีย (น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล) ปรับตัวสูงกว่า 110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ปรับตัวสูงกว่า 600 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน และราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปรับตัวสูงกว่า 18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู อันจะส่งผลต่อราคาพลังงานของประเทศโดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าและการใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง รวมทั้งราคา LPG จะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก อันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป ดังนั้น เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 กระทรวงพลังงานจึงได้เสนอ เรื่อง มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ต่อ ครม. พิจารณา ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 และวันที่ 18 กันยายน 2566 เพื่อบรรเทาผลกระทบ ต่อประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางจากสถานการณ์ราคาพลังงาน และให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
2. ครม. ในการประชุมครั้งที่ 15/2566 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ได้พิจารณา เรื่อง มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน และได้มีมติ ดังนี้ (1) รับทราบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่าย ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และให้กระทรวงพลังงาน กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ตามหน้าที่และอำนาจ ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องต่อไป อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้กระทรวงพลังงาน กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมทั้งข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ไปประกอบการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย และ (3) ให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งปรับปรุงข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) ของงวดเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แล้วนำเสนอ กกพ. ตามขั้นตอนต่อไป
3. ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาของ ครม. มีดังนี้ (1) สงป. ได้มีความเห็นว่า เพื่อให้การช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นสมควรที่ ครม. จะพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ สำหรับมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า เห็นสมควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ดี การดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งรัดดำเนินการให้ทันต่อสถานการณ์อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ความพร้อม และความสามารถทางการเงินของภาครัฐ รวมถึงปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน รวมทั้งเร่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเห็นควรรายงานผลการดำเนินงานให้ ครม. ทราบเป็นระยะๆ เพื่อให้การดำเนินมาตรการดังกล่าวบรรลุผลสัมฤทธิ์ และมีความคุ้มค่าอย่างแท้จริง ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (2) สศช. ได้มีความเห็นว่า เห็นควรให้ความเห็นชอบในหลักการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวตามอำนาจ และหน้าที่ โดยให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็วตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนตามนัยมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 และเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 อย่างไรก็ดี เห็นควรมอบหมายกระทรวงพลังงาน กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถบริหารจัดการราคาพลังงานของประเทศให้อยู่ ในระดับที่เหมาะสมต่อไป และ (3) สคก. ได้มีความเห็นว่า มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน เป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรการลดภาระค่าใช้จ่าย ด้านไฟฟ้า ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 และเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 และจะสิ้นสุดลง ในเดือนธันวาคม 2566 ครม. จึงสามารถให้ความเห็นชอบแนวทางดังกล่าว และมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามแนวทางที่กระทรวงพลังงานเสนอได้ตามที่เห็นสมควร โดยกระทรวงพลังงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดต่อไป อนึ่ง สคก. ได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า สมควรที่ ครม. จะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางในการพัฒนาแหล่งพลังงานอื่นเพื่อใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) เพื่อให้สอดคล้องกับผลการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (Conference of the Parties: COP 28) อันจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างยั่งยืนด้วย
4. สาระสำคัญของมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอต่อ ครม. มีรายละเอียด ดังนี้
4.1 มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย (1) ราคาน้ำมันดีเซล บริหารราคาน้ำมันดีเซลในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังร่วมกันบริหารจัดการราคาขายปลีก โดยใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และ (2) ราคา LPG บริหารราคาในการตรึง ราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยกระทรวงพลังงานบริหารผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
4.2 มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ประกอบด้วย (1) ให้ กกพ. บริหารจัดการ ก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 (2) ให้กระทรวงพลังงานมอบหมายหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องปรับปรุงข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณอัตรา ค่า Ft ของงวดเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 ใหม่ เพื่อเสนอ กกพ. ดังนี้ 1) ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ร่วมกันรับภาระเงินคงค้างสะสม (Accumulated Factor) สำหรับงวดเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 แทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไปพลางก่อน 2) ให้รัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ (ปตท.) ดำเนินการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย กรณีที่ผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซธรรมชาติได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Shortfall) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และ 3) ให้ ปตท. ทบทวนปรับปรุงข้อมูลสมมติฐานปริมาณและราคาก๊าซธรรมชาติในการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อนำเสนอ กกพ. ให้อัตราค่าไฟฟ้าเป็นไปตามเป้าหมาย (3) ให้ กกพ. พิจารณาดำเนินการตรึงอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 ในอัตราไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วยต่อไป และ (4) ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของ กฟผ. และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 โดยให้กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า จำนวน 21 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ กำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
มติของที่ประชุม
รับทราบมติคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 15/2566 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 เรื่อง มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน