มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 5/2566 (ครั้งที่ 61)
วันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2566
1. การกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว
2. การทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 การกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบหลักการแนวทางการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (บี100) ในสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภาวะปกติและภาวะวิกฤต ดังนี้ ภาวะปกติ ระยะสั้น (พ.ศ. 2565 ถึง พ.ศ. 2566) กำหนดให้มีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 2 เกรด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 สำหรับใช้กับรถบรรทุกขนาดใหญ่ และระยะยาว (พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป) กำหนดให้มีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 เกรดเดียว สำหรับภาวะวิกฤต คือ ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วสูงกว่า 30 บาทต่อลิตร โดยไม่มีการชดเชยราคาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แบ่งเป็น 2 กรณี คือ หากราคาไบโอดีเซลสูงกว่า 1.5 เท่า หรือ 2.5 เท่า ของราคา ณ โรงกลั่น ของน้ำมันดีเซลพื้นฐาน (บี0) ให้นำเสนอ กบง. พิจารณาปรับลดสัดส่วนผสมของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เป็นร้อยละ 5 หรือร้อยละ 3 ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 กบง. ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วให้เป็นไปตามสัดส่วนการผสม ดังนี้ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร และต่อมา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 กบง. ได้ขยายมติเห็นชอบการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลต่อไปอีกจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566
2. สถานการณ์ราคาไบโอดีเซล ไตรมาส 1 ปี 2566 ปรับตัวลดลง เฉลี่ยอยู่ที่ 33.78 บาท ต่อลิตร ไตรมาส 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เฉลี่ยอยู่ที่ 34.68 บาทต่อลิตร ไตรมาส 3 ปรับตัวลดลง เฉลี่ยอยู่ที่ 33.40 บาทต่อลิตร และไตรมาส 4 คาดว่าราคาจะทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 33.00 ถึง 34.00 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดิบตลาดโลก ด้านสถานการณ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มจากการพยากรณ์ ณ เดือนเมษายน 2566 คาดว่าปริมาณผลปาล์มน้ำมัน ปี 2566 จะอยู่ที่ 19.89 ล้านตันต่อปี โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 1.60 ล้านตันต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4 ผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) อัตราน้ำมันร้อยละ 18 ได้ประมาณ 2.90 แสนตันต่อเดือน รวมกับสต๊อกต้นงวดเฉลี่ย 5 เดือน ประมาณ 3.00 แสนตันต่อเดือน สูงกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศด้านการบริโภค อุตสาหกรรม และพลังงาน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 2.00 ถึง 2.22 แสนตันต่อเดือน ในขณะที่การส่งออกน้ำมันปาล์ม ของไทยชะลอตัวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นมา เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงและต่ำกว่าราคาของไทย ประกอบกับค่าเงินบาทที่ผันผวนอย่างต่อเนื่องเป็นอุปสรรคให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ส่งผลให้สต๊อก CPO คงเหลือมีแนวโน้มสูงกว่า 3.00 แสนตันต่อเดือน และสูงกว่าระดับสต๊อกปกติ 2.50 ถึง 3.00 แสนตันต่อเดือน ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศ
3. เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 กรมการค้าภายใน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม (คณะอนุกรรมการฯ) ได้มีหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เรื่อง การพิจารณาสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว โดยได้รายงานว่าได้ติดตามสถานการณ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม และขอความอนุเคราะห์ สนพ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กบง. เพื่อพิจารณาคงสัดส่วน การผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ต่อไปจนถึงเดือนธันวาคม 2566 ตามมติคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเห็นควรให้คงสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ต่อไป จนถึงเดือนธันวาคม 2566 เพื่อบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์มให้มีสต๊อก CPO คงเหลืออยู่ในระดับปริมาณ ที่เหมาะสม และได้มีหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) และ สนพ. เพื่อทราบรายงานสถานการณ์ปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์ม และมติคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวแล้ว
4. ฝ่ายเลขานุการฯ มีความเห็นว่า จากสถานการณ์ราคาไบโอดีเซลที่ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 32.19 บาทต่อลิตร สูงกว่าราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ซึ่งอยู่ที่ 27.30 บาทต่อลิตร อยู่ประมาณ 1.17 เท่า ซึ่งตามแนวทางการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในภาวะวิกฤติ กรณีราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลสูงกว่า 30 บาทต่อลิตร โดยไม่มีการชดเชยราคาจากกองทุนน้ำมันฯ และราคา ไบโอดีเซลสูงกว่า 1.50 เท่า ของราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ให้นำเสนอ กบง. พิจารณาปรับลดสัดส่วนผสมของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเป็นร้อยละ 5 (บี5) อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว อาจส่งผลให้สต๊อก CPO คงเหลือมีแนวโน้มสูงกว่า 3.00 แสนตันต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าระดับเหมาะสมที่ 2.50 ถึง 3.00 แสนตันต่อเดือน อันจะกระทบต่อเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศ และรายได้เกษตรกร ดังนั้น จึงเห็นควรให้คงสัดส่วนผสมไบโอดีเซลที่ร้อยละ 7 (บี7) ตามข้อเสนอของกรมการค้าภายในต่อไปจนถึงเดือนธันวาคม 2566 เพื่อบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์มให้มีสต๊อก CPO คงเหลืออยู่ในระดับปริมาณที่เหมาะสม
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน ในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วให้เป็นไปตามสัดส่วนการผสม ดังนี้ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
2. มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ออกประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. 2566 ให้สอดคล้องกับการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล ตามข้อ 1
3. มอบหมายให้กระทรวงพลังงานประสานฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) นำเสนอการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลตามข้อ 1 เพื่อทราบ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) อาจมีการทบทวนสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน ในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว หากสถานการณ์น้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศปรับลดลงและสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบมีแนวโน้มสูงขึ้นภายหลัง
เรื่องที่ 2 การทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม มีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 (2) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กองทุนน้ำมันฯ) ให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป และ (3) มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กำกับดูแลสถานีบริการ ก๊าซ LPG ไม่ให้มีการลักลอบเติมก๊าซ LPG สำหรับรถยนต์ลงในถังก๊าซหุงต้ม โดยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 และวันที่ 29 สิงหาคม 2566 กบน. ได้มีมติรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกก๊าซ LPG เพื่อให้ราคาขายปลีกไม่เกินที่ กบง. ได้กําหนดไว้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 และเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน โดยในส่วนของก๊าซ LPG บริหารราคา LPG โดยกระทรวงพลังงาน ผ่านกลไกกองทุนน้ำมันฯ ให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ สำหรับมาตรการช่วยเหลือส่วนลดค่าก๊าซหุงต้มให้กับผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเป้าหมาย เห็นควรดำเนินการโดยใช้กลไกของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
2. สถานการณ์ราคาพลังงานตลาดโลกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 คาดว่าจะมีแนวโน้ม ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบ รวมทั้งราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลในตลาดเอเชีย ปรับตัวสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคา LPG ปรับตัวสูงกว่า 600 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน และราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปรับตัวสูงกว่า 20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู อันจะส่งผลต่อราคาพลังงานของประเทศ รวมทั้งราคา LPG ที่อาจปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ได้ติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG เพื่อพิจารณาแนวทางบรรเทาผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้ก๊าซ พบว่าในเดือนมิถุนายน 2566 ถึงเดือนกันยายน 2566 ราคา LPG ตลาดโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 151.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 จาก 416.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน สู่ระดับ 567.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ณ วันที่ 8 กันยายน 2566 ทั้งนี้ จากราคาก๊าซ LPG Cargo เฉลี่ย 2 สัปดาห์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าค่าใช้จ่ายนำเข้า (X) ได้ปรับตัวลดลง และอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้าซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (Import Parity) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.0535 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 22.9282 บาทต่อกิโลกรัม (648.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) เป็น 22.9817 บาทต่อกิโลกรัม (652.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) โดยกองทุนน้ำมันฯ จ่ายเงินชดเชยเพิ่มขึ้นจาก 4.3973 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 4.4508 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ขนาดถัง 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 423 บาท
3. เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 กบน. เห็นชอบให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพราคาก๊าซ LPG โดยให้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ติดลบได้ไม่เกิน 48,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้โอนเงินในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูปไปใช้ในบัญชีกลุ่มก๊าซ LPG และให้โอนคืนบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป ในภายหลัง โดย ณ วันที่ 3 กันยายน 2566 กองทุนน้ำมันฯ มีฐานะกองทุนสุทธิ ติดลบ 57,132 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 12,390 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 44,742 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนการผลิตและจัดหา (กองทุนน้ำมันฯ #1) มีรายรับ 1,434 ล้านบาทต่อเดือน และในส่วนการจำหน่ายภาคเชื้อเพลิง (กองทุนน้ำมันฯ #2) มีรายจ่าย 1,308 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีก๊าซ LPG มีรายรับ 125 ล้านบาทต่อเดือน
4. เนื่องจากสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกยังคงผันผวนอยู่ในระดับสูง ครม. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ได้มีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน โดยในส่วนของก๊าซ LPG บริหารราคา LPG โดยกระทรวงพลังงาน ผ่านกลไกกองทุนน้ำมันฯ ตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ดังนั้น เพื่อให้เป็นไป ตามมติ ครม. ดังกล่าว ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเสนอคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ หากตรึง ราคาดังกล่าวจะทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG ติดลบอยู่ที่ประมาณ 44,367 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 เรื่อง มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคา ก๊าซ LPG ต่อไป