มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 3/2566 (ครั้งที่ 59)
วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566
1. มาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
2. มาตรการบริหารจัดการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 มาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการฯ) เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG โดยมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) จัดทำคำขอรับงบประมาณเพื่อใช้สำหรับการดำเนินมาตรการดังกล่าว โดยยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ต่อเนื่องในช่วงเดือนเมษายน 2565 ถึงเดือนมีนาคม 2566 คราวละ 3 เดือน รวมจำนวน 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 กบง. เห็นชอบการขยายระยะเวลาโครงการฯ ในเดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2566 ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการเริ่มใช้สิทธิแก่ผู้ได้รับสิทธิจากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ก่อนสิ้นเดือนมีนาคม 2566 ให้โครงการดังกล่าวสิ้นสุดลงในวันที่จะเริ่มให้สิทธิ และมอบหมายให้ ธพ. จัดทำคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 357,500,000 บาท รวมทั้งมอบหมายให้ ธพ. ประสานบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ขอความร่วมมือขยายระยะเวลาช่วยเหลือส่วนลดราคา LPG แก่ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่ง ปตท. ดำเนินการอยู่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 ซึ่งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการและอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และให้กระทรวงพลังงาน (พน.) ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นคงเหลือที่ได้รับการจัดสรรตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 เป็นลำดับแรก โดยมีงบประมาณที่ได้รับอนุมัติเพิ่ม 234,301,200 บาท รวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 309,113,702 บาท โดยกรมบัญชีกลางเป็นผู้อนุมัติและดำเนินการแทน ธพ. ผ่านวิธีการ เบิกจ่ายเงินงบประมาณแทนกัน
2. ช่วงเดือนตุลาคม 2565 (วันที่ 25 ตุลาคม 2565) ถึงเดือนธันวาคม 2565 มีการใช้สิทธิส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน จำนวน 4,182,197 ราย ใช้งบประมาณ 227,687,497.89 บาท โดยเงินเหลือจ่าย 74,812,502.11 บาท นำไปใช้สำหรับดำเนินโครงการในเดือนมกราคม 2566 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 มีจำนวนผู้ใช้สิทธิ 4,318,458 ราย ใช้งบประมาณ 235,013,836.10 บาท จึงมีเงินเหลือสำหรับดำเนินโครงการอีก 74,099,866.01 บาท จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 โดยกรณีที่มีการเริ่มใช้สิทธิแก่ผู้ได้รับสิทธิจากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ก่อนสิ้นเดือนมีนาคม 2566 ให้โครงการดังกล่าวสิ้นสุดลงในวันที่จะเริ่มให้สิทธิ และเนื่องจากการใช้สิทธิในเดือนมกราคม 2566 สูงเป็นประวัติการณ์ โดยคาดว่างบประมาณที่เหลืออยู่จะไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือตลอดระยะเวลาโครงการ พน. จึงเตรียมจัดทำคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอีก 17,322,800 บาท สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 314,960 ราย รวมคาดการณ์การใช้งบประมาณ 326,436,502.11 บาท สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 5,935,209 ราย
3. โครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2566 หรือเมื่อเริ่มมีการให้สิทธิแก่ผู้ได้รับสิทธิจากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 แล้วแต่เงื่อนไขใดถึงก่อน จากนั้น พน. จะต้องจัดทำโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม สำหรับผู้รับสิทธิกลุ่มใหม่เสนอขออนุมัติจาก ครม. เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ยังไม่แล้วเสร็จ กระทรวงการคลังจึงเลื่อนการประกาศผลการลงทะเบียนโครงการออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด จึงยังไม่มีความชัดเจนว่าโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับกลุ่มปัจจุบันจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ทั้งนี้ หากไม่เร่งดำเนินการขยายระยะเวลาโครงการฯ ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2566 อาจทำให้การให้ความช่วยเหลือไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง พน. จึงจำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาโครงการฯ ออกไปก่อนอีก 3 เดือน ในกรณีที่มีการเริ่มใช้สิทธิแก่ผู้ได้รับสิทธิจากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน 2566 ให้โครงการฯ ดังกล่าวสิ้นสุดลงในวันที่ จะเริ่มให้สิทธิ โดยการขอขยายระยะเวลาโครงการฯ มีรายละเอียด ดังนี้ (1) เหตุผลและความจำเป็น เนื่องจากระยะเวลาโครงการฯ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2566 ขณะที่ราคาก๊าซ LPG ยังอยู่ในระดับสูง จึงต้องขอขยายระยะเวลาโครงการฯ ออกไปอีก 3 เดือน (เดือนเมษายน 2566 ถึงเดือนมิถุนายน 2566) (2) ขอบเขตการดำเนินงาน ยกระดับความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นจาก 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน อีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน โดยขยายระยะเวลาโครงการออกไปอีก 3 เดือน (3) ระยะเวลาดำเนินการเดือนเมษายน 2566 ถึงเดือนมิถุนายน 2566 ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการเริ่มใช้สิทธิแก่ผู้ได้รับสิทธิจากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน 2566 ให้โครงการฯ ดังกล่าวสิ้นสุดลงในวันที่จะเริ่มให้สิทธิ (4) วงเงินงบประมาณ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 393,192,745 บาท โดยคำนวณจากการใช้สิทธิในเดือนเมษายน 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20.45 และการใช้สิทธิในเดือนมกราคม 2566 เพียงเดือนเดียวสูงเป็นประวัติการณ์ จึงคาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิระหว่างเดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2566 ประมาณ 5,935,209 ราย และคาดว่าในช่วงเดือนเมษายน 2566 ถึงเดือนมิถุนายน 2566 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของผู้ใช้สิทธิร้อยละ 1.2045 คิดเป็นจำนวนผู้ใช้สิทธิประมาณ 7,148,959 ราย ใช้งบประมาณ 393,192,745 บาท (5) การขอรับจัดสรรงบประมาณ โดย พน. นำเรื่องเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาโครงการฯ โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ทั้งนี้ เนื่องจากวงเงินที่จะขอรับจัดสรรเกินกว่า 100 ล้านบาท เมื่อสำนักงบประมาณ (สงป.) ได้รับเรื่องจาก พน. แล้ว จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และหากเห็นชอบ สงป. จะแจ้งให้ พน. เสนอขออนุมัติต่อ ครม. ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ข้อ 9(3) โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการได้ภายในวันที่ 1 เมษายน 2566 ทั้งนี้ หากเริ่มมีการให้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐกับผู้รับสิทธิกลุ่มใหม่ ซึ่งจะทำให้โครงการเดิมสิ้นสุดลง ในการนี้ พน. จะจัดทำโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม สำหรับผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐกลุ่มใหม่ โดยเสนอขออนุมัติต่อ ครม. เพื่อสมทบเงินส่วนเพิ่ม โดยมีกรอบเป้าหมายวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม เท่ากับ 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ทั้งนี้ ธพ. จะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อประมาณการจำนวนผู้ใช้สิทธิจากผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐกลุ่มใหม่และเงินส่วนเพิ่ม รวมถึงแนวทาง การดำเนินโครงการโดยใช้แหล่งเงินงบประมาณจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่อไป
4. การช่วยเหลือส่วนลดราคา LPG แก่ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่ง ปตท. ดำเนินการอยู่ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2566 ขณะที่ราคา LPG ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับกระทรวงการคลังเลื่อนการประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ร่วมโครงการลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ออกไปไม่มีกำหนด จึงต้องประสานขอความร่วมมือ ปตท. ขยายระยะเวลาช่วยเหลือออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการเริ่มใช้สิทธิแก่ผู้ได้รับสิทธิจากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน 2566 ให้โครงการดังกล่าวสิ้นสุดลงในวันที่ จะเริ่มให้สิทธิ อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือส่วนลดราคา LPG แก่ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ไม่ควรดำเนินการต่อในระยะยาวเมื่อมีการเริ่มให้สิทธิแก่ผู้ได้รับสิทธิตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 แล้ว เนื่องจากมีความซ้ำซ้อนกับการให้ความช่วยเหลือส่วนลดราคาก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประกอบกับอาจไม่สามารถระบุตัวตนของร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่ใช้ก๊าซหุงต้มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกลุ่มใหม่ ที่ชัดเจนได้ เพราะการประกอบอาชีพดังกล่าวไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ อีกทั้งการเปิดรับลงทะเบียนใหม่ต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ขณะที่ผู้ที่ได้ลงทะเบียนไปแล้วอาจเปลี่ยนอาชีพในภายหลัง จึงยากแก่การตรวจสอบและมีความเสี่ยงที่จะมีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ
5. ประธานฯ ได้ขอให้ ธพ. เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณานำเสนอต่อ ครม. เพื่อขอความเห็นชอบในหลักการการขยายระยะเวลาโครงการฯ ในปัจจุบัน รวมทั้งขอความเห็นชอบในหลักการโครงการใหม่ไปในคราวเดียวกัน เพื่อประกอบการพิจารณาของ กกต. ได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น โดยผู้แทน ธพ. ได้รับไปดำเนินการและแจ้งว่า เนื่องจากต้องเร่งนำเรื่องเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาให้ทันตามกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการที่กำหนด จึงขอให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานรับรองมติการประชุมในที่ประชุม เพื่อให้ ธพ. รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบกรอบแนวทางมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
2. มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ดำเนินการ ดังนี้
2.1 นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ออกไปอีก 3 เดือน (เดือนเมษายน 2566 ถึงเดือนมิถุนายน 2566) ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการเริ่มใช้สิทธิ แก่ผู้ได้รับสิทธิจากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน 2566 ให้โครงการดังกล่าวสิ้นสุดลงในวันที่จะเริ่มให้สิทธิ โดยใช้แหล่งเงินงบประมาณจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้สำหรับดำเนินโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน สำหรับผู้ใช้สิทธิจำนวน 7,148,959 ราย รวมเงินงบประมาณ 393,192,745 บาท และจัดทำคำขอรับงบประมาณเสนอสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
2.2 เมื่อมีการเริ่มให้สิทธิแก่ผู้ได้รับสิทธิจากโครงการลงทะเบียนเพื่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ให้นำเรื่องเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม สำหรับผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐกลุ่มใหม่ ระหว่างเดือนเมษายน 2566 ถึงเดือนมิถุนายน 2566 เพื่อให้วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มรวมเป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน โดยใช้แหล่งเงินงบประมาณจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ทั้งนี้ ให้ ธพ. หารือกับกระทรวงการคลังเพื่อประมาณการจำนวนผู้ใช้สิทธิจากผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐกลุ่มใหม่และเงินส่วนเพิ่ม รวมทั้งแนวทางการดำเนินโครงการตามที่กระทรวงการคลังเห็นสมควร และให้จัดทำคำขอรับงบประมาณเสนอสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ มอบหมายให้ ธพ. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณานำเสนอต่อ ครม. เพื่อขอความเห็นชอบในหลักการตามข้อ 2.1 และข้อ 2.2 ไปในคราวเดียวกัน
3. มอบหมายให้ ธพ. ประสาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ขอความร่วมมือขยายระยะเวลาช่วยเหลือส่วนลดราคาก๊าซ LPG แก่ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่ง ปตท. ดำเนินการอยู่ ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการเริ่มใช้สิทธิแก่ผู้ได้รับสิทธิจากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน 2566 ให้โครงการดังกล่าวสิ้นสุดลงในวันที่ จะเริ่มให้สิทธิ
เรื่องที่ 2 มาตรการบริหารจัดการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบ ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสมเฉลี่ยที่ 2.00 บาทต่อลิตร โดยมีค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสมรายผลิตภัณฑ์ ดังนี้ น้ำมันเบนซิน อยู่ที่ 2.45 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 E10 และน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 อยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E20 อยู่ที่ 2.15 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E85 อยู่ที่ 3.65 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซล B7 อยู่ที่ 1.65 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซล B10 อยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซล B20 อยู่ที่ 1.70 บาทต่อลิตร ต่อมา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 กบง. ได้เห็นชอบให้ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงคงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร และได้เห็นชอบขยายระยะเวลาการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงออกไปอีก 6 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 รวมเป็นเวลา 18 เดือน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือนร้อนแก่ประชาชนและภาคธุรกิจจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วและราคาไบโอดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้น
2. ช่วงปลายปี 2564 ถึงปี 2565 สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันจากการผ่อนคลายสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในหลายประเทศทั่วโลก โดยในช่วงต้นปี 2565 ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและประเทศยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงาน ในตลาดโลกอยู่ในระดับสูงและมีความผันผวนอย่างรุนแรง โดยในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565 ราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 โดยอยู่ที่ประมาณ 180 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ก่อนจะเริ่มปรับตัวลดลงสู่ระดับ 110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เนื่องจากตลาดกังวลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะกดดันปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก
3. คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนและภาคธุรกิจภายใต้สถานการณ์ราคาพลังงานที่ยังคงผันผวนทั่วโลก จำนวน 6 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ช่วงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ลดภาษีลิตรละ 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รัฐสูญรายได้ 18,000 ล้านบาท ครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 5 ช่วงวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2566 ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รวมเป็นเวลา 8 เดือน รัฐสูญรายได้ 80,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ครม. เห็นชอบขยายเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีก เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน และภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หลังมาตรการเดิมสิ้นสุดลงในวันที่ 20 มกราคม 2566 ซึ่งเป็นการต่ออายุมาตรการเป็นครั้งที่ 6 โดยขยายระยะเวลาออกไปอีก 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 โดยอัตราภาษีสรรพสามิตกลุ่มน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 1.34 บาทต่อลิตร นอกจากนี้ ครม. ได้มีมาตรการบริหารราคาน้ำมันดีเซลโดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ และภาษีสรรพสามิต ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2565 โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันฯ มีอัตราชดเชยเฉลี่ยรายเดือนอยู่ที่ประมาณ 2 ถึง 7 บาทต่อลิตร ส่งผลทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีน้ำมันมีฐานะติดลบประมาณ 8,224 ล้านบาท และในช่วงไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ของปี 2565 ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการสำหรับมาตรการบริหารราคาน้ำมันดีเซลโดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ และภาษีสรรพสามิต ไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร โดยกองทุนน้ำมันฯ มีอัตราชดเชยเฉลี่ยสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 10 บาทต่อลิตร และทยอยลดการชดเชยลงอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง จนในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 สามารถจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ได้เฉลี่ยที่ 6 บาทต่อลิตร ส่งผลทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีน้ำมันมีรายรับประมาณ 516 ล้านบาทต่อวัน หรือ 14,455 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีน้ำมันมีฐานะติดลบน้อยลง จากสูงสุดติดลบ 88,788 ล้านบาท มาอยู่ที่ติดลบ 65,896 ล้านบาท ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ประกอบกับในช่วงปลายปี 2565 กองทุนน้ำมันฯ ดำเนินการกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท และในปี 2566 มีแผนจะดำเนินการกู้เงินอีกประมาณ 120,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ
4. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ติดตามค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงหลังการ ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงคงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า ค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.30 บาทต่อลิตร ในขณะที่ค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซินเฉลี่ยรายไตรมาสปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาส 4 ปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.66 บาทต่อลิตร ในช่วงไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 4 ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.81, 2.47, 3.17 และ 3.22 บาทต่อลิตร ตามลำดับ และในเดือนมกราคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.25 บาทต่อลิตร โดยผู้ค้าน้ำมันให้เหตุผลว่าต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ซื้อจากโรงกลั่นอยู่ในระดับสูงกว่าราคาอ้างอิงของ สนพ. ส่งผลให้ไม่สามารถปรับลดค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอลลงตามที่ภาครัฐขอความร่วมมือได้ ทั้งนี้ จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา และ ครม. ได้ขยายเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ 1.34 บาทต่อลิตร ออกไปอีกจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 ประกอบกับกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีน้ำมันมีรายรับประมาณ 516 ล้านบาทต่อวัน หรือ 14,455 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีน้ำมันมีฐานะติดลบน้อยลง ฝ่ายเลขานุการ จึงขอเสนอปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงเป็น 2 แนวทาง ดังนี้ แนวทางที่ 1 ปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสมเฉลี่ยอยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตร โดยมีค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และกลุ่มน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล เท่ากันอยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ การปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงส่งผลให้กองทุนน้ำมันมีรายรับในส่วนของน้ำมันดีเซลลดลงประมาณ 37.23 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 1,117 ล้านบาทต่อเดือน หรือแนวทางที่ 2 ปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เหมาะสมเฉลี่ยอยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตร โดยมีค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ 1.90 บาทต่อลิตร และกลุ่มน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอลอยู่ที่ 2.20 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ การปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้กองทุนน้ำมันมีรายรับในส่วนของน้ำมันดีเซลลดลงประมาณ 31.30 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 939 ล้านบาทต่อเดือน
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสมเฉลี่ยอยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตร ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารจัดการอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้ค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563