มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 2/2562 (ครั้งที่ 76)
วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2562 เวลา 09.00 น.
1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 (PDP2018)
2. กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. ....
3. แนวทางการสนับสนุนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ของกระทรวงพลังงาน
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายศิริ จิระพงษ์พันธ์)
รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายเพทาย หมุดธรรม)
แทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผน
สรุปสาระสำคัญ
คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562
ได้พิจารณาแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP2018) และมีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP2018) โดยให้มีการทบทวนใหม่ทุก 5 ปี
หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของแผนอย่างมีนัยสำคัญ (2) มอบหมายให้
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าของประเทศเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพของระบบส่งไฟฟ้าของประเทศ เป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid connection) ในภูมิภาค รวมถึงการเชื่อมโยงกับระบบจำหน่าย เพื่อให้สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในอนาคต (Grid Modernization) และเสนอให้กระทรวงพลังงาน พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
(3) มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาแนวทางการจัดหาโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในแผน PDP2018 ซึ่งครอบคลุมถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับซื้อไฟฟ้า ระยะเวลาดำเนินโครงการ พื้นที่ ปริมาณและราคารับซื้อไฟฟ้า เทคโนโลยีและเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้ ความพร้อมและการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว และการยอมรับชนิดของเชื้อเพลิงในด้านสิ่งแวดล้อมในการจัดหากำลังการผลิตที่เหมาะสม (4) เห็นชอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการตามแนวทางของ กบง. ในข้อ (3) และเสนอผลการดำเนินการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ กฟผ. ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป และ (5) มอบหมายให้ กบง. และ กกพ. ร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินการโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน ปีละ 100 เมกะวัตต์ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานได้ประชุมหารือ กับ กกพ. และ กฟผ. เพื่อเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานรับไปจัดทำแผนปฏิบัติการของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 (PDP2018) ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีมติไว้เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานพิจารณา
เรื่องที่ 2 ร่างประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. ....
สรุปสาระสำคัญ
1. จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานและผลการวิจัยในต่างประเทศที่ระบุว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ช่วยลดการปล่อย PM 2.5 ได้ประกอบกับสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ การเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 จะช่วยเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศได้ รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ยังจะช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์สามารถกำหนดแผนการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ให้รองรับการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ได้อย่างชัดเจนและเหมาะสม แต่เนื่องจากปัจจุบันการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 กำหนดให้จำหน่ายให้แก่ Fleet รถขนาดใหญ่เฉพาะกลุ่ม และต้องขอความเห็นชอบจากกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ก่อน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้ ธพ. ออกประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลร้อยละ 20 หรือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 เป็นการเร่งด่วน เพื่อให้สามารถจำหน่ายในสถานีบริการทั่วไปได้ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562
2. เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ธพ. ได้จัดประชุมหารือกับผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่และผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 เพื่อจำหน่ายเป็นการทั่วไป และได้ยกร่างประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. .... เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 เป็น 2 ช่องทาง ได้แก่ (1) การจำหน่ายให้กับกลุ่มรถขนส่ง ขนาดใหญ่ที่สมัครใจ และมีศักยภาพในการบำรุงรักษารถของตนเอง โดยเป็นรุ่นรถที่ค่ายรถยนต์รับรองให้ใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 หรือไม่รับรองก็ได้ แต่งต้องแจ้งความสมัครใจในการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 และผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จะขอความเห็นชอบจาก ธพ. ก่อนการจำหน่าย และ (2) การจำหน่ายในสถานีบริการผู้ค้าน้ำมันทั่วไป จะมีการให้ข้อมูลรุ่นรถที่ผู้ผลิตรถยนต์รับรองให้ใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ได้ และเงื่อนไขการรับรองที่ผู้ผลิตรถยนต์กำหนดให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบ โดยจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อรุ่นรถแนบท้ายประกาศ ธพ. รวมถึงจะมีการประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ ธพ. และจัดทำเอกสารให้ผู้ค้าน้ำมันประชาสัมพันธ์แนะนำรวมทั้งติดตั้งป้าย ณ สถานีบริการที่จำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ให้เห็นเด่นชัด
3. สาระสำคัญของร่างประกาศฯ มีดังนี้ (1) กำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 (2) กำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ใช้เฉพาะกับรถยนต์ที่ผู้ผลิตรถยนต์รับรองให้สามารถใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ได้ (3) กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ตามกรณีน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 แต่ปรับเปลี่ยนสัดส่วนผสมไบโอดีเซลเป็นร้อยละ 19 - 20 โดยปริมาตร โดยกำหนดให้เติมสีแดง และมีการระบุรายละเอียดรุ่นรถ/ปี ค.ศ. ที่ผลิต/เงื่อนไขในการรับรอง (ถ้ามี) ตามข้อมูลที่ผู้ผลิตรถจัดส่งให้ ธพ. เพื่อรับรองว่ารถยนต์สามารถใช้งานน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ได้ ตามแนบท้ายประกาศฯ ทั้งนี้ ธพ. ได้นำร่างประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. .... เผยแพร่บนเว็บไซต์เพื่อรับฟังความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 25 - 29 มกราคม 2562 และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 31 มกราคม 2562 เพื่อให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 แนวทางการสนับสนุนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ของกระทรวงพลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ได้มีมติมอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินงานในกิจการของรัฐในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) ในการพัฒนาท่าเรือก๊าซและท่าเรือสินค้าเหลว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และสินค้าเหลวของท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดซึ่งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการเร่งด่วนภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ที่มีแผนดำเนินการสรรหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในช่วงที่ 1 (การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ประกอบไปด้วย พื้นที่ถมทะเลหลังท่า พื้นที่บ่อเก็บตะกอนดินเลน งานส่วนท่าเรือก๊าซ และงานส่วนที่เกี่ยวข้องอื่น)
2. เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อขอความอนุเคราะห์ให้กระทรวงพลังงานพิจารณากำหนดนโยบายและแนวทางในการสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชนที่ได้รับสัมปทานในโครงการดังกล่าวจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของรัฐบาล ซึ่ง กระทรวงพลังงาน มีความเห็นว่า การส่งเสริมการลงทุนพัฒนาโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะยาว และเป็นการสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศตามเป้าหมายของกระทรวงพลังงาน ทั้งนี้ การออกใบอนุญาตในส่วนที่เกี่ยวข้อง (ใบอนุญาตเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ และใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ) ให้กับผู้รับสัมปทานโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี ดังกล่าวจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุน และเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติของประเทศ รวมทั้งทำให้การดำเนินโครงการภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกบรรลุตามเป้าหมายของรัฐบาล กระทรวงพลังงานจึงเห็นสมควรเสนอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง (ใบอนุญาตเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ และใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ) ให้กับภาคเอกชนที่ได้รับสัมปทานโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) จากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
สรุปสาระสำคัญ
1. จากสถานการณ์น้ำมันปาล์มดิบล้นตลาดและปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 กระทรวงพลังงานมีแนวทางในการช่วยลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว โดยการส่งเสริมใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ในรถบรรทุกขนาดใหญ่มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และลดค่าใช้จ่ายภาคขนส่ง รวมทั้งแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทั้งนี้ ธพ. จะมีการออกประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะ และคุณภาพของน้ำมันดีเซล สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป เพื่อให้สามารถจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ในสถานีบริการน้ำมันได้
2. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 มีมติเห็นชอบปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ชดเชยให้กับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ในอัตรา 4.00 บาทต่อลิตร เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ถูกกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปกติ 5 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 ต่อมา กบง. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 มีมติเห็นชอบปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ชดเชยให้กับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 เพิ่มขึ้น 0.50 บาทต่อลิตร เป็นอัตรา 4.50 บาทต่อลิตร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป โดยลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ที่ผู้ค้ามาตรา 7 จำหน่ายต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดี ธพ. ตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไม่รวมถึงลักษณะและคุณภาพน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ในรายละเอียดตามแนบท้ายประกาศ ธพ.
3. เพื่อให้ประกาศ กบง. เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ สอดคล้องกับประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะ และคุณภาพของน้ำมันดีเซลฯ จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ กบง. เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ทั้งนี้ ขอให้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานดำเนินการออกประกาศ กบง. พร้อมกับประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะ และคุณภาพของน้ำมันดีเซลมีผลบังคับใช้
มติของที่ประชุม
มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานออกประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนกองทุน และอัตราเงินกองทุนคืนสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้มีผลบังคับใช้พร้อมกับที่ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะ และคุณภาพของน้ำมันดีเซลมีผลบังคับใช้