• Thailand (TH) language switcher
  • English (UK) language switcher

White Style normal-style white-yellow

decrease-font normal-font increase-font

Calendar  Youtube Youtube Facebook    
  • HOME
  • About Us
    • Company Profile
    • Vision / Mission / Value / Duty
    • Organization Structure
    • Contact US
    • Sitemap
  • Policy and Plan
    • Government Policy Statement
    • Thai Integrated Energy Blueprint TIEB
      • Thailand Power Development Plan
      • Thailand Energy Efficiency Development Plan
      • Alternative Energy Development Plan
      • Oil Plan
  • Related Laws
    • Acts / Royal ordinance
  • Energy Information Services
    • Energy Situation
      • Energy Situation in year 2015 and trend in year 2016
      • The energy situation in the first tenth months of 2015 and outlook for 2015
      • The energy situation in the first nine months of 2015 and outlook for 2015
      • The energy situation in the first eight months of 2015 and outlook for 2015
    • Xayaburi Hydroelectric Power Project
    • Thailand – Myanmar’s Energy Cooperation Projects
    • Electricity Trade between Thailand and Malaysia.
    • Power Purchased from Laos PDR.
    • Economic and Power Trading in the Greater Mekong Sub-region
    • Thailand energy report 2015
  • Energy Statistics
    • Summary Statistic
    • Petroleum Statistic
    • NGV Statistic
    • Coal and Lignite Statistic
    • Electricity Statistic
    • Energy Economy Statistic
    • Value Energy Statistic
    • Petroleum Price Statistic
    • CO2 Statistic
    • Indicators Statistic
Wednesday, 20 February 2019 14:08

 

eppo s

มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน

ครั้งที่ 1/2562 (ครั้งที่ 75)

วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2562 เวลา 09.00 น.

 


1. การให้ความช่วยเหลือราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน (กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร)ตลาดโลก

2. การให้ความช่วยเหลือราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะ

3. สรุปผลการตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561

4. การขอผ่อนผันนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฝากกระทรวงการคลัง

5. แนวทางการดำเนินการกับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ระบบ Cogeneration ที่สิ้นสุดอายุสัญญา


ผู้มาประชุม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน                                               ประธานกรรมการ

(นายศิริ จิระพงษ์พันธ์)

รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน                             กรรมการและเลขานุการ

(นายเพทาย หมุดธรรม)

แทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผน


เรื่องที่ 1 การให้ความช่วยเหลือราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน (กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร)

สรุปสาระสำคัญ

         1. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 ได้มีมติเห็นชอบ ขอความร่วมมือให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคา ขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน (ครัวเรือนรายได้น้อย ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร และอื่นๆ) ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีแนวทางอื่นมาทดแทน ต่อมา กบง. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ขอความร่วมมือ ปตท. ให้ขยายเวลาการสนับสนุนโครงการบรรเทาผลกระทบฯ เฉพาะกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ออกไปอีก 6 เดือน คือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ภายในกรอบวงเงิน 250 ล้านบาท และให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) นำเสนอแนวทางช่วยเหลือกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหารที่เหมาะสม ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป

         2. เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 ธพ. ได้มีหนังสือถึง ปตท. เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ ปตท. ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายโครงการบรรเทาผลกระทบฯ เฉพาะกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 และต่อมาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ปตท. ได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงพลังงาน แจ้งมติคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 เห็นชอบให้ขยายเวลาการสนับสนุนโครงการบรรเทาผลกระทบฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 ภายในกรอบวงเงิน 125 ล้านบาท ทั้งนี้ ความช่วยเหลือของ ปตท. จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2562 ธพ. จะขอความอนุเคราะห์ ปตท. ขยายระยะเวลาการช่วยเหลือออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561

         3. ตามที่ กบง. ได้มอบหมาย สนพ. ให้นำเสนอแนวทางช่วยเหลือในส่วนของก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน สนพ. ขอเรียนว่า ในร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ในวัตถุประสงค์ ข้อที่ 3 บรรเทาผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส ที่กระทรวงพลังงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5) เสร็จ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 ได้ตัดวัตถุประสงค์ข้อนี้ออก ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันฯ นี้ ไม่สามารถช่วยเหลือก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนได้ ซึ่งแนวทางการช่วยเหลือต่อไปกระทรวงพลังงานต้องผลักดันให้ช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อไป

มติของที่ประชุม

     มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานขอความร่วมมือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ขยายระยะเวลาการสนับสนุนโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน เฉพาะกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561

เรื่องที่ 2 การให้ความช่วยเหลือราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะ

สรุปสาระสำคัญ

         1. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ได้มีมติเห็นชอบ ให้ปรับราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะ จากเดิมอยู่ที่ 10.00 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 10.62 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2561 และขอความร่วมมือให้ ปตท. คงราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะ (ในเขตกรุงเทพฯ/ปริมณฑล: รถแท็กซี่/ตุ๊กตุ๊ก/รถตู้ ร่วม ขสมก. ในต่างจังหวัด: รถโดยสาร/มินิบัส/สองแถว ร่วม ขสมก. รถโดยสาร/รถตู้ ร่วม บขส. และรถแท็กซี่) ที่ 10.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2561 และเมื่อครบ 1 ปีแล้ว ให้ปรับราคาขายปลีก NGV ให้สะท้อนต้นทุน ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ปตท. ได้มีหนังสือว่าคณะกรรมการ ปตท. ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการให้ส่วนลดราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ภายในกรอบวงเงิน 2,900 ล้านบาท

         2. เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้มีหนังสือ ขอความร่วมมือให้ ปตท. ขยายระยะเวลาการให้ส่วนลดราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะออกไปจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ปตท. ได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงพลังงาน แจ้งว่าคณะกรรมการ ปตท. ได้มติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการให้ส่วนลดราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 ภายในกรอบวงเงิน 1,050 ล้านบาท และให้ยุติการสมัครเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป โดย ปตท. จะขอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงพลังงานและภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือและเร่งกำหนดแนวทางทดแทนการช่วยเหลือรูปแบบเดิม

มติของที่ประชุม

     1. มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ขอความร่วมมือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ขยายระยะเวลาการให้ส่วนลดราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะออกไปจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561

     2. มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพลังงานจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือต่อไป

เรื่องที่ 3 สรุปผลการตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561

สรุปสาระสำคัญ

         1. ระเบียบกระทรวงพลังงาน ว่าด้วยการฝากและการเบิกจ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2556 ข้อ 26 กำหนดให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงานจัดให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการดำเนินงานกองทุน การรับ-จ่ายและการควบคุมภายในของโครงการที่ได้รับเงินจากกองทุนแล้วรายงานให้ปลัดกระทรวงพลังงาน อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อนำเสนอคณะกรรมการทราบ และคำสั่งกระทรวงพลังงาน เรื่อง แต่งตั้งผู้ตรวจสอบภายในกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้แต่งตั้งผู้ตรวจสอบภายในสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพน.) เป็นผู้ตรวจสอบภายในกองทุนน้ำมันฯ เพื่อตรวจสอบการดำเนินงานกองทุนน้ำมันฯ แล้วรายงานให้ปลัดกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)

         2. เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 สบพน. ได้รายงานสรุปผลการตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันฯ ปีงบประมาณ 2561 ต่อปลัดกระทรวงพลังงาน สรุปได้ดังนี้ (1) การเบิก-จ่ายเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ของกรมสรรพสามิต พบว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินให้ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยหรือเงินคืน แต่สรุปไม่ได้ระบุอัตราและประกาศ กบง. ไว้ ซึ่ง สบพน. ได้ประสานขอข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการเบิกจ่ายเงินแล้ว (2) การเบิกจ่ายและติดตามการใช้จ่ายเงินงบบริหารของ สบพน. และกรมสรรพสามิต พบว่าการเบิกจ่ายเงินเป็นไปตามแผนการใช้จ่ายเงินที่ได้รับอนุมัติ และมีการส่งคืนเงินเหลือจ่ายพร้อมดอกผลให้กองทุนน้ำมันฯ ภายในระยะเวลาตามที่ระเบียบฯ กำหนดไว้ (3) การเบิกจ่ายและติดตามการใช้จ่ายเงินโครงการ ของกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รวม 7 โครงการ ได้แก่ โครงการที่ได้รับอนุมัติปีงบประมาณ 2561 จำนวน 4 โครงการ โดยมี ธพ. เป็นผู้รับผิดชอบ 3 โครงการ มีการทำสัญญาจ้างและเบิกจ่ายเงินแล้ว มีโครงการที่ สนพ. รับผิดชอบ 1 โครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างขอยกเลิกโครงการ และโครงการที่สิ้นสุดโครงการและส่งเงินคืนกองทุนน้ำมันฯ แล้ว 3 โครงการ แบ่งเป็นโครงการที่ ธพ. รับผิดชอบ1 โครงการ และ สนพ. รับผิดชอบ 2 โครงการ มีการเบิกจ่ายเงินและส่งคืนดอกผลให้กองทุนน้ำมันฯ แล้ว (4) หน่วยงานที่ได้รับเงินจากกองทุนน้ำมันฯ มีการจัดทำรายงานการรับ-จ่ายเงินส่งให้ สบพน. ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปเป็นประจำทุกเดือน ตามที่ระเบียบฯ กำหนด (5) มีการบันทึกบัญชีการเบิก-จ่ายเงิน และการคืนเงินคงเหลือพร้อมดอกผลของงบบริหารและงบโครงการ การบันทึกรายการเข้าระบบ GFMIS ซึ่งเป็นไปตาม ที่กรมบัญชีกลางกำหนดไว้ และ (6) มีระบบการควบคุมภายในเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินงบบริหารและโครงการที่เหมาะสม ดังนั้น ผลการตรวจสอบในภาพรวมสรุปได้ว่า กองทุนน้ำมันฯ มีการเบิกเงินงบบริหารและโครงการเป็นไปตามแผนการใช้เงินที่ได้รับอนุมัติ มีการปฏิบัติงานเป็นไปตามระเบียบกระทรวงพลังงานว่าด้วยการฝากและการเบิกจ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2556 มีความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน ด้านการเงิน และด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบอยู่ในระดับต่ำ และ มีการควบคุมภายในด้านการเบิก-จ่ายเงินและติดตามการใช้จ่ายเงินอยู่ในระดับที่เหมาะสม

มติของที่ประชุม

     ที่ประชุมรับทราบ

เรื่องที่ 4 การขอผ่อนผันนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฝากกระทรวงการคลัง

สรุปสาระสำคัญ

         1. คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ได้ออกประกาศกำหนดให้ทุนหมุนเวียน เปิดบัญชีและนำเงินฝากที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งรวมถึงกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติมอบหมายให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพน.) ขอยกเว้นการเปิดบัญชีและนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปฝากที่กรมบัญชีกลาง และขอฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐต่อไป และเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กบง. ได้มีหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง เพื่อขอยกเว้นการเปิดบัญชีและการนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปฝากที่กรมบัญชีกลาง และขอฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ตามมติ กบง. ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2561 กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือถึง สนพ. แจ้งว่าเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2561 คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนได้มีมติเห็นชอบให้นำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปจัดหาผลประโยชน์ได้ในวงเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อไว้ใช้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนน้ำมันฯ สำหรับเงินส่วนที่เหลือให้นำฝากกระทรวงการคลัง และ กบง. ในการประชุมเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 ได้มีมติมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำหนังสือขอผ่อนผันการเปิดบัญชีและนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปฝากที่กรมบัญชีกลาง โดยให้สามารถฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

         2. เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2561 สนพ. ได้มีหนังสือถึงกรมบัญชีกลางเพื่อขอผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2561 โดยได้ชี้แจงว่า กองทุนน้ำมันฯ มีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ กรณีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนน้ำมันฯ ทั้งนี้ หากสามารถนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ทั้งหมดไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแทนการฝากเงินกับกรมบัญชีกลาง จะทำให้มีรายรับจากดอกเบี้ยเงินฝากมาช่วยเพิ่มฐานะกองทุนน้ำมันฯ ให้มีกรอบวงเงินสำหรับการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเพิ่มขึ้น ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือถึง สนพ. แจ้งว่าเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ได้มีมติเห็นชอบให้ผ่อนผันการนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ฝากกระทรวงการคลัง โดยให้ สบพน. สามารถนำเงินกองทุนไปฝากธนาคารประเภทประจำ 3 เดือน ตามแผนการจัดหาประโยชน์ที่ดำเนินการอยู่ได้ และให้ สบพน. แจ้งแผนการนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปจัดหาผลประโยชน์ส่งให้กรมบัญชีกลางพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนวันครบกำหนดการฝากเงินในแต่ละรายการ ทั้งนี้ สนพ. ได้มีหนังสือแจ้ง สบพน. แล้วเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562

มติของที่ประชุม

     ที่ประชุมรับทราบ

เรื่องที่ 5 แนวทางการดำเนินการกับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ระบบ Cogeneration ที่สิ้นสุดอายุสัญญา

สรุปสาระสำคัญ

         1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ได้พิจารณา แนวทางการดำเนินการกับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ประเภทสัญญา Firm ระบบ Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญา และได้มีมติเห็นชอบหลักการและแนวทางการดำเนินการกับ SPP ประเภทสัญญา Firm ระบบ Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2560 - 2568 และมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ไปพิจารณาดำเนินการในรายละเอียด ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 กพช. ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการกับ SPP ระบบ Cogeneration กลุ่มที่ 1 ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 2560 - 2561 (ต่ออายุสัญญา) และกลุ่มที่ 2 ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 2562 - 2568 (ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการลังงาน (กกพ.) พิจารณาปรับปรุงรูปแบบสัญญา Firm ของ SPP ระบบ Cogeneration ให้สามารถลดปริมาณการขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ และพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การขอลดปริมาณการขายไฟฟ้าเข้าระบบล่วงหน้า ทบทวนการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับ IPP และ SPP และหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำรองให้มีความเหมาะสม

         2. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 กบง. ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงช่วงเวลาการสิ้นสุดอายุสัญญาของ กลุ่มที่ 1 จากเดิมตั้งแต่ปี 2560 - 2561 เป็น 2559 - 2561 และราคารับซื้อไฟฟ้ากรณี SPP ระบบ Cogeneration ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง กลุ่มที่ 1 (ต่ออายุสัญญา) และกลุ่มที่ 2 (สร้างโรงไฟฟ้าใหม่) โดยใช้ราคาถ่านหินอ้างอิงตามประกาศของ กฟผ. ณ อัตราแลกเปลี่ยน 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ สำหรับเงื่อนไขอื่น ให้ยึดตามมติ กพช. วันที่ 30 พฤษภาคม 2559 และ SPP ระบบ Cogeneration สามารถใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์เดิมที่ได้มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงก่อนวันสิ้นสุดอายุสัญญา หรือสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าให้ทัดเทียมกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ โดยไม่ต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด แต่จะต้องดำเนินการตามข้อกำหนดเหมือนกับกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และจะไม่ได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าในส่วนของค่าพลังไฟฟ้า (CP1= 0) ทั้งนี้ มอบ กกพ. สามารถพิจารณาปรับปรุงแนวทางการดำเนินการได้ ในกรณีมีปัญหาในทางปฏิบัติ ยกเว้นเฉพาะเรื่องอัตรารับซื้อไฟฟ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงจะต้องนำเสนอ กพช. ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 กบง. ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงช่วงเวลาการสิ้นสุดอายุสัญญาของ SPP ระบบ Cogeneration กลุ่มที่ 1 (ต่ออายุสัญญา) จากเดิมสิ้นสุดสัญญาภายในปี 2560 - 2561 เป็นภายในปี 2559 - 2561 และมอบหมายให้ กกพ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนหลักการพร้อมทั้งเสนอราคาและแนวทางที่เหมาะสมในการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ระบบ Cogeneration กลุ่มที่ 2 (ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่) ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 2562 - 2568 ทั้งเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน และนำเสนอ กบง. ก่อนเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ กบง. เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ได้มีมติยืนยันมติ กบง. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่องการปรับปรุงช่วงเวลาการสิ้นสุดอายุสัญญาของกลุ่มที่ 1 (ต่ออายุสัญญา) และเห็นชอบแนวทางการต่ออายุสัญญาจำนวน 25 โรง ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 704 MW และมอบหมายให้ กกพ. และ สนพ. ร่วมกันกำหนดแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ระบบ Cogeneration ทั้ง 25 โรง ตามประเภทเชื้อเพลิง และนำเสนอ กพช. ต่อไป

         3. เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 กกพ. ได้มีมติเห็นชอบตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 เรื่องการปรับปรุงช่วงเวลาการสิ้นสุดอายุสัญญาของ SPP ระบบ Cogeneration กลุ่มที่ 1 (ต่ออายุสัญญา) และเห็นชอบแนวทางการดำเนินการกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ระบบ Cogeneration ที่สิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 2562-2568 (ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่) ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 พบว่ามีโรงไฟฟ้าที่เข้าเงื่อนไขจำนวน 16 โรง นอกจากนี้โรงไฟฟ้าที่กำลังจะหมดอายุสัญญา และไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ทัน เห็นควรมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการต่ออายุสัญญาภายใต้หลักการตามมติ กพช. วันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ในกลุ่มที่ 1 (ต่ออายุสัญญา)

มติของที่ประชุม

     เห็นชอบแนวทางการดำเนินการกับ SPP ระบบ Cogeneration ที่สิ้นสุดอายุสัญญา ดังนี้

         1. กลุ่มต่ออายุสัญญา สำหรับโรงไฟฟ้า SPP ระบบ Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 2560 – 2561

         1.1เห็นควรให้เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาการปรับปรุงช่วงเวลาการสิ้นสุดอายุสัญญาของ SPP ระบบ Cogeneration กลุ่มต่ออายุสัญญาให้ครอบคลุม SPP ระบบ Cogeneration เป็นปี 2559 – 2561 เพื่อให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของมติ กพช. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม

         1.2เห็นควรให้กำหนดโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าให้สอดคล้องกับเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า และให้ใช้โครงสร้างราคารับซื้อสำหรับโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงตามที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 และเสนอให้ กพช. พิจารณา

         2. กลุ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ สำหรับโรงไฟฟ้า SPP ระบบ Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 2562 – 2568

         2.1เห็นควรให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ โดยใช้เชื้อเพลิงตามสัญญาเดิมและได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าสอดคล้องกับประเภทเชื้อเพลิง ทั้งนี้ สำหรับโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติให้ได้รับอัตรารับซื้อตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 และเห็นควรให้ใช้โครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าที่ใช้ ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ตามที่ กบง. ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 และเสนอให้ กพช. พิจารณา

         2.2สำหรับโรงไฟฟ้าที่กำลังจะสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2562 - 2564 และไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ทัน เห็นควรเสนอ กพช. พิจารณามอบหมายคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้าภายใต้หลักการตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 เพื่อให้สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ตามมติดังกล่าว


Read 4994 times Last modified on Wednesday, 20 February 2019 14:11
Tweet
back to top
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
กระทรวงพลังงาน
121/1-2 ถนนเพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร 0 2612 1555, โทรสาร 0 2612 1364
จากต่างประเทศ โทร +66 2612 1555, โทรสาร +66 2612 1364
Official Website : www.eppo.go.th

การปฎิเสธความรับผิดชอบ | นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์