มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 13/2560 (ครั้งที่ 46)
เมื่อวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2560 เวลา 14.00 น.
1. สถานการณ์พลังงานและแนวโน้มราคาพลังงานในตลาดโลก
2. หลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายทวารัฐ สูตะบุตร)
เรื่องที่ 1 สถานการณ์พลังงานและแนวโน้มราคาพลังงานในตลาดโลก
สรุปสาระสำคัญ
ทีม Prism บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้ (1) ราคาน้ำมันดิบช่วงเดือนตุลาคม 2560 มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากกลุ่มโอเปคมีท่าทีที่จะขยายระยะเวลาในการลดปริมาณการผลิตจากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2561 ไปเป็นสิ้นปี 2561 และเหตุความไม่สงบทางการเมืองระหว่างประเทศสหรัฐฯ กับประเทศอิหร่าน ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 ราคาน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากนักลงทุนเริ่มซื้อน้ำมันดิบล่วงหน้าเพิ่มมากขึ้น (2) ราคาก๊าซ LPG ยังอยู่ในระดับทรงตัว โดยราคา CP (Contract Price) ในเดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ 577.5 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน โดยปัจจัยที่กดดันราคาก๊าซ LPG คือ อุณหภูมิของหลายประเทศไม่ต่ำเท่าที่คาดการณ์ไว้ทำให้ปริมาณความต้องการก๊าซ LPG เพื่อสร้างความอบอุ่นไม่เพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่นมีนโยบายให้ปรับลดปริมาณสำรองก๊าซ LPG ลงจำนวน 10 วัน ทำให้มีการนำก๊าซ LPG ที่เหลือจากการที่จำนวนวันสำรองลดลงออกมาใช้ ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นลดการนำเข้าก๊าซ LPG ลง และท่อส่งก๊าซ LPG ของประเทศอินเดียได้มีการ ซ่อมบำรุงแล้วเสร็จพร้อมที่จะเดินระบบได้ (3) ราคาถ่านหินในภาพรวมยังมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศออสเตรเลียและโคลัมเบียประสบปัญหาไม่สามารถส่งออกถ่านหินได้ รวมทั้งปริมาณความต้องการของประเทศจีนยังอยู่ในระดับสูง และ (4) ราคาก๊าซ LNG ในเดือนตุลาคม 2560 ราคาตลาด Asian Spot และ NBP มีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ และปริมาณความต้องการของประเทศอินเดียสำหรับภาคไฟฟ้าและอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งปริมาณความต้องการของประเทศฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นเนื่องจากนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าแทนพลังงานนิวเคลียร์ ส่วนราคาตลาด Henry Hub ยังทรงตัวเนื่องจากอุณหภูมิของหลายประเทศไม่ต่ำลงเท่าที่คาดการณ์ ทั้งนี้ในภาพรวมคาดการณ์ว่าราคาก๊าซ LNG ยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 หลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบ เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดย (1) เปลี่ยนหลักเกณฑ์การอ้างอิงราคาก๊าซ LPG นำเข้าจากเดิมที่อ้างอิงด้วยราคา CP ที่ประกาศรายเดือนเป็นอ้างอิงด้วยราคา LPG Cargo จากข้อมูล Spot Cargo ( FOB Arab Gulf ) ของ Platts เฉลี่ยรายสัปดาห์แทนโดย ราคานำเข้าเท่ากับ LPG cargo + X (ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า) (2) กำหนดเพดานการอุดหนุนราคาก๊าซ LPG (Subsidy Cap) โดยจำกัดปริมาณเงินการชดเชยราคาสูงสุดในแต่ละเดือนให้ไม่เกินร้อยละ 5 ของฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของเดิม (ทั้งบัญชีน้ำมันและบัญชี LPG) (3) ปรับกลไกการอ้างอิงราคาก๊าซ LPG จากเดิมที่ใช้ราคาขายปลีกจากการคำนวณด้วยโครงสร้างราคาขายปลีกก๊าซ LPG เป็นการใช้ราคาขายปลีกของผู้ค้าแทน (4) มอบหมายสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ดำเนินการประเมินผลการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซ LPG เป็นรายอาทิตย์ รวบรวมข้อมูลราคาขายปลีกก๊าซ LPG ของภาคครัวเรือนและภาคขนส่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 7 และศึกษาค่าการตลาดที่เหมาะสมของก๊าซ LPG ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง (5) มอบหมายกรมธุรกิจพลังงานรวบรวมและตรวจสอบปริมาณและราคานำเข้าก๊าซ LPG ของผู้ค้าก๊าซเพื่อเปรียบเทียบกับราคา ณ โรงกลั่นที่คำนวณตามหลักเกณฑ์ Import Parity และรายงาน กบง. ต่อไป (6) มอบหมายสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน (พลังงานจังหวัด) ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลราคาขายปลีกก๊าซ LPG ของสถานีบริการ ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ และ (7) มอบหมายผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 7 แจ้งราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนและภาคขนส่งต่อสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
2. จากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การอ้างอิงราคาก๊าซ LPG นำเข้าจากเดิมที่อ้างอิงด้วยราคา CP ที่ประกาศรายเดือนเป็นอ้างอิงด้วยราคา LPG cargo เฉลี่ยรายสัปดาห์แทน พบว่า เมื่อราคาก๊าซ LPG Cargo และอัตราแลกเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละสัปดาห์ ทำให้ราคา ณ โรงกลั่นเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ภาษีและกองทุนน้ำมัน#2 คงที่ ส่งผลให้ราคาขายส่งเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เมื่อกำหนดให้ราคาขายปลีกคงที่ค่าการตลาดจะเปลี่ยนแปลงตามไปในแต่ละสัปดาห์ซึ่งจะมีโครงสร้างราคาคล้ายน้ำมันมากยิ่งขึ้น และจากความแตกต่างของ ค่าการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันของตลาดค้าปลีกก๊าซ LPG มากยิ่งขึ้น สำหรับการติดตามดูแลราคาขายปลีกของก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน สนพ. จะส่งโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ที่เปลี่ยนแปลงรายสัปดาห์ให้กรมการค้าภายใน เพื่อใช้ในการจัดทำราคาแนะนำรายสัปดาห์ต่อไป ส่วนการรวบรวมราคาขายปลีกก๊าซ LPG ของภาคครัวเรือและภาคขนส่งในเขตกรุงเทพฯ จากผู้ค้ามาตรา 7 สนพ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำโปรแกรมให้ผู้ค้ามาตรา 7 แจ้งราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนและภาคขนส่งผ่านทางหน้าเวปไซต์ ของ สนพ. และจะนำราคาขายปลีกแสดงหน้าเว็ปไซต์ ของ สนพ. เพื่อผู้บริโภคจะได้ใช้ประโยชน์ต่อไป ในส่วนของ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นกรุงเทพฯ) ได้มอบหมายให้พลังงานจังหวัดตรวจสอบราคาขายจริงของก๊าซ LPG ทั้งภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง โดย สนพ. ได้กำหนดแบบฟอร์มการตรวจสอบราคาขายปลีกก๊าซ LPG และรายละเอียดของการเก็บข้อมูล เพื่อให้พลังงานจังหวัดดำเนินการตามที่ กบง. มีมติมอบหมาย
3. เนื่องจากกลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติ (โรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ปตท.สผ. และบริษัทฯ ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) (UAC)) ใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นทรัพยากรในประเทศมาผลิตก๊าซ LPG ทำให้ต้นทุน ก๊าซ LPG ที่ผลิตได้ต่ำกว่าก๊าซ LPG ที่นำเข้าอย่างมีนัยสำคัญทำให้ผู้นำเข้าก๊าซ LPG ไม่สามารถแข่งขันกับ กลุ่มโรงแยกฯ ได้ และในทางกลับกันหากต้นทุนการนำเข้าก๊าซ LPG ต่ำกว่าต้นทุนก๊าซ LPG จากกลุ่มโรงแยก ก๊าซธรรมชาติ กองทุนน้ำมันฯ ต้องชดเชยให้กับกลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อไม่ให้โรงแยกก๊าซ LPG ขาดทุน ดังนั้นเพื่อให้ต้นทุนก๊าซ LPG จากทุกแหล่งจัดหามีต้นทุนที่ใกล้เคียงกันและแข่งขันกันได้ภายใต้ระบบการค้าเสรี ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอกลไกการบริหารจัดการโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ใหม่ ดังนี้ (1) หลักเกณฑ์การคำนวณอัตรากองทุน#1 ของกลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติ คือ อัตรากองทุน#1 ของโรงแยกก๊าซฯ1-3 เท่ากับ ราคานำเข้า – (ต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ1-3+ กรอบราคาสำหรับกำกับการแข่งขัน) โดยที่ โรงแยกก๊าซฯ1-3 คือ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สผ. สยาม จำกัด และบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งต้นทุนของโรงแยกก๊าซฯ1 – 3 เปลี่ยนแปลงทุกสามเดือน โดยกรอบราคาสำหรับกำกับการแข่งขัน ประกอบด้วย 1) กรอบราคาฯ เท่ากับ +0.67 บาทต่อกิโลกรัม กรณี (ราคานำเข้า – ต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ1-3 > +0.67) 2) กรอบราคาฯ เท่ากับ –0.67 บาทต่อกิโลกรัม กรณี (ราคานำเข้า – ต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ1-3 < –0.67) และ 3) กรอบราคาฯ เท่ากับ 0 บาทต่อกิโลกรัม กรณี (ราคานำเข้า – ต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ1-3 0.67) และราคานำเข้า คือ ราคา LPG cargo + X (ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า) โดยมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเป็นผู้ลงนามในประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย และอัตราเงินคืนกองทุนสำหรับก๊าซ ซึ่งอัตราในประกาศให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์เดิมอัตราเงินส่งเข้ากองทุนจะคงที่ตลอดทั้งเดือน แต่ตามหลักเกณฑ์ใหม่อัตราเงินส่งเข้ากองทุนจะเปลี่ยนแปลงทุกสัปดาห์ (2) กลไกการกำหนดอัตราเงินกองทุน#2 โดยเดือนพฤศจิกายน 2560 กองทุนน้ำมันในส่วน LPG ยังมีรายรับจากกองทุน#1 จากกลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติประมาณ 1,300 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกโดยผ่านกลไกกองทุน#2 ได้ ในอดีตที่ผ่านมา กบง. จะพิจารณาอัตรากองทุน# 2 โดยคำนึงถึงรายรับจากกองทุน#1 แนวโน้มสถานการณ์ราคาตลาดโลก ฐานะกองทุนน้ำมัน รวมถึงระดับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่เหมาะสม ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอความเห็นว่าการกำหนดอัตราเงินกองทุน#2 ยังคงต้องเป็นการพิจารณาของ กบง. เหมือนในอดีตที่ผ่านมา และ (3) กำหนดเพดานการอุดหนุนราคาก๊าซ LPG (Subsidy Cap) ซึ่ง ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2560 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีฐานะสุทธิ 36,879 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 32,230 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG 4,649 ล้านบาท คาดว่าเดือนพฤศจิกายน 2560 ต้องใช้เงินในการรักษาระดับราคาก๊าซ LPG ประมาณ 1,000 ล้านบาท ดังนั้นจากเงินที่มีอยู่ในบัญชี LPG จะสามารถใช้ได้ 4.5 เดือนเท่านั้น หากยังมีรายจ่ายระดับ 1,000 ล้านบาท ทุกเดือน และในเดือนที่ 4 สำนักงานบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องจัดทำแนวทางการใช้เงินของ LPG เมื่อเงิน ในบัญชี LPG ถูกใช้หมด โดยไปยืมเงินบัญชีน้ำมัน และมีการลงบัญชีบันทึกไว้ รวมทั้งรายงานให้ กบง. ทราบเป็นระยะๆ
มติของที่ประชุม
1. รับทราบกลไกการบริหารจัดการโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ใหม่
2. เห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณอัตรากองทุน#1 ดังนี้
กรณีที่ราคานำเข้าแตกต่างจากต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ เกินกว่า 0.67 บาทต่อกิโลกรัม ให้มีอัตรากองทุน#1 ของโรงแยกก๊าซฯ ดังนี้
ทั้งนี้กรณีที่ราคานำเข้าแตกต่างจากต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ ไม่เกิน 0.67 บาทต่อกิโลกรัม ให้อัตรากองทุน#1เท่ากับศูนย์
3. เห็นชอบมอบหมายให้ผู้ค้ามาตรา 7 แจ้งราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง เพื่อสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานจะนำราคาขายปลีกโชว์ขึ้นหน้าเวปไซต์ ของ สนพ. เพื่อผู้บริโภคจะได้ใช้ประโยชน์ต่อไป
4. เห็นชอบมอบหมายให้พลังงานจังหวัดตรวจสอบราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง
5. เห็นชอบมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย และอัตราเงินคืนกองทุนสำหรับก๊าซตามหลักเกณฑ์การคำนวณโครงสร้างราคาก๊าซ
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบการคำนวณอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) (UAC) โดยใช้ราคาต้นทุนการผลิตก๊าซ LPG ของโรงแยกก๊าซฯ ของตนเอง (Cost Plus) โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ศึกษาต้นทุนให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยในระหว่างนี้ให้ใช้ต้นทุนการผลิตก๊าซ LPG เท่ากับต้นทุนของบริษัท ปตท. สผ. สยาม จำกัด ไปพลางก่อน
2. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้รวบรวมและศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำหลักเกณฑ์คำนวณอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของ UAC ประกอบด้วย โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม Petroleum Production Plant (PPP) ของบริษัท UAC มีขนาดกำลังการผลิตรวมประมาณ 19,681 ตันต่อปี โดยนำก๊าซธรรมชาติที่เผาทิ้งในการผลิตน้ำมันดิบ (Associated Gas) จากแหล่งบูรพา ของบริษัท สยามโมเอโกะ จำกัด และแหล่งเสาเถียร ของบริษัท ปตท. สผ. จำกัด (มหาชน) มาแปรสภาพและแยกเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่างๆ ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) โดยมีสัดส่วนการผลิตเฉลี่ยของ CNG:LPG:NGL อยู่ที่ประมาณ 50:40:10 โดยมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 730 ล้านบาท ส่วนหลักเกณฑ์การคำนวณต้นทุนการผลิตก๊าซ LPG ได้พิจารณาดังนี้ (1) อัตราส่วนต้นทุนการผลิตก๊าซ LPG อยู่ที่ร้อยละ 40 โดยพิจารณาจากการปันส่วนต้นทุน (Cost Allocation) ต่อมวลของผลิตภัณฑ์ CNG:LPG:NGL ที่ 50:40:10 (2) ต้นทุนการผลิตรวม ซึ่งประกอบด้วย ค่าวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEC) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (Operation cost) (3) ปริมาณก๊าซ LPG โดยโรงงาน PPP มีความสามารถในการรับก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 1.8 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ตั้งแต่ต้นปี 2560 ไม่สามารถผลิตได้อย่างเต็มศักยภาพ เนื่องด้วยหลุมผลิตแหล่งบูรพาประสบปัญหาไม่สามารถจ่ายก๊าซฯ ที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบได้อย่างสม่ำเสมอ โดยในช่วงที่ผ่านมาโรงงาน PPP รับก๊าซฯ อยู่ประมาณ 1.2 - 1.4 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (ประมาณร้อยละ 60 - 77 ของความสามารถ) ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าแหล่งบูรพาจะกลับมาผลิตได้เต็มที่ในช่วงต้นปี 2561 และทำให้การใช้กำลังการผลิต (utilization rate) ปรับตัวดีขึ้น และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตและต้นทุนการผลิตไม่ผันผวนมากจนเกินไป ปริมาณก๊าซที่จะใช้ในการคำนวณต้นทุนการผลิตก๊าซ LPG ต่อหน่วย (บาทต่อกิโลกรัม) จึงคิดจากการใช้กำลังการผลิตที่ร้อยละ 70 ของความสามารถในการผลิตทั้งหมด (6,300 ตันต่อปี) หรือเท่ากับ 12 ตันต่อวัน (4) ระยะเวลา จะคำนวณทุกสามเดือนโดยใช้ค่าเฉลี่ยต้นทุนย้อนหลังสามเดือนก่อนหน้า เช่น ราคาต้นทุนในเดือนพฤศจิกายน 2560 – มกราคม 2561 จะใช้ต้นทุนจริงของเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2560 ซึ่งสอดคล้องกับการคำนวณต้นทุนของโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัทอื่น
3. จากหลักเกณฑ์การคำนวณข้างต้น ทำให้ต้นทุนจริงของการผลิตก๊าซ LPG ต่อหน่วยของ UAC ของไตรมาสที่ 1 – 4 ของปี 2560 อยู่ที่ 15.68 15.42 16.44 และ 15.85 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ สำหรับราคาต้นทุนก๊าซ LPG ประจำเดือนพฤศจิกายน 2560 – มกราคม 2561 อยู่ที่ 15.96 บาทต่อกิโลกรัม ประกอบด้วย ค่าเนื้อก๊าซธรรมชาติ 3.47 บาทต่อกิโลกรัม ค่า CAPEX 6.12 บาทต่อกิโลกรัม และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (Operation Cost) 6.37 บาทต่อกิโลกรัม โดยเฉลี่ยต้นทุนการผลิตของ UAC อยู่ที่ระดับราคา 16 บาทต่อกิโลกรัม สูงกว่าต้นทุนที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. สผ. สยาม และของบริษัท ปตท. ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 15 และ 13 บาทต่อกิโลกรัมตามลำดับ เนื่องด้วยขนาดกำลังการผลิต (capacity) ที่แตกต่างกันส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ UAC สูงกว่าของบริษัทอื่น โดยโรงงาน PPP ของบริษัท UAC ผลิตก๊าซ LPG อยู่ที่ประมาณ 360 ตันต่อเดือน ในขณะที่โรงแยกก๊าซฯ ของบริษัท ปตท.สผ.สยาม และบริษัท ปตท. ผลิตได้ในระดับ 6,500 และ 310,000 ตันต่อเดือนตามลำดับ หรือที่สัดส่วนการผลิต UAC:ปตท. สผ.สยาม:ปตท. ประมาณ 1:18:860
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบกำหนดต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) (UAC) เดือนพฤศจิกายน 2560 ให้เท่ากับต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. สผ. สยาม จำกัด
2. มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน รับข้อสังเกตของที่ประชุมไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนการผลิตก๊าซ LPG ของโรงแยกก๊าซฯ ของตนเอง (Cost Plus) ของบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) (UAC) และนำมาเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาอีกครั้ง
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบ เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ดังนี้ (1) เปลี่ยนหลักเกณฑ์การอ้างอิงราคาก๊าซ LPG นำเข้าจากเดิมที่อ้างอิงด้วยราคา CP ที่ประกาศรายเดือนเป็นอ้างอิงด้วยราคา LPG cargo จากข้อมูล Spot Cargo (FOB Arab Gulf) ของ Platts เฉลี่ยรายสัปดาห์แทนโดย ราคานำเข้าเท่ากับ LPG cargo + X (ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า) (2) กำหนดเพดานการอุดหนุนราคาก๊าซ LPG (Subsidy Cap) โดยจำกัดปริมาณเงินการชดเชยราคาสูงสุดในแต่ละเดือนให้ไม่เกินร้อยละ 5 ของฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของเดิม (ทั้งบัญชีน้ำมันและบัญชี LPG) และ (3) ปรับกลไกการอ้างอิงราคาก๊าซ LPG จากเดิมที่ใช้ราคาขายปลีกการคำนวณด้วยโครงสร้างราคาขายปลีกก๊าซ LPG เป็นการใช้ราคาขายปลีกของผู้ค้าแทน
2. สถานการณ์ก๊าซ LPG ในเดือนพฤศจิกายน 2560 สรุปได้ดังนี้ ปริมาณการผลิตภายในประเทศอยู่ที่ ประมาณ 525,918 ตัน ความต้องการใช้อยู่ที่ประมาณ 537,798 ตัน ปริมาณความต้องการใช้ไม่เพียงพออยู่ที่ 11,880 ตัน ซึ่งจะมีการนำเข้าก๊าซ LPG มาชดเชยปริมาณที่ขาด โดยคาดว่าปริมาณนำเข้าอยู่ที่ 47,500 ตัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการนำเข้ามาเพื่อการส่งออก (re - export) จำนวน 3,500 ตัน ส่วนปริมาณการส่งออกจากปริมาณการผลิตภายในประเทศประมาณ 35,600 ตัน
3. สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ในเดือนพฤศจิกายน 2560 สรุปได้ว่า ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ 577.50 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ราคาไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนตุลาคม 2560 ราคาก๊าซ LPG Cargo สัปดาห์ที่ 1 (วันที่ 30 ตุลาคม 2560 – 3 พฤศจิกายน 2560) อยู่ที่ 566.90 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.00 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ราคาก๊าซ LPG นำเข้า (LPG Cargo + X) อยู่ที่ 20.4776 บาทต่อกิโลกรัม (614 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2560 ที่ 0.2440 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับตันทุนการผลิตก๊าซ LPG ภายในประเทศระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2560 – มกราคม 2561 สรุปได้ดังนี้ ต้นทุนราคาก๊าซ LPG จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ 13.3723 บาทต่อกิโลกรัม (401 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเดือนก่อน 0.0674 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนราคาก๊าซ LPG จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. สผ. สยามจำกัด อยู่ที่ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม (434 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) ปรับตัวลงจากเดือนก่อน 0.6000 บาทต่อกิโลกรัม และต้นทุนก๊าซ LPG จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) (UAC) อยู่ที่ 15.96 บาทต่อกิโลกรัม (479 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) และสำหรับอัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ยสัปดาห์ที่ 1 (วันที่ 30 ตุลาคม 2560 – 3 พฤศจิกายน 2560) อยู่ที่ 33.3391 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่าลงจากจากสัปดาห์ก่อน 0.0422 บาทต่อ เหรียญสหรัฐฯ
4. จากสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกที่ทรงตัว และการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การอ้างอิงราคาก๊าซ LPG นำเข้าจากเดิมที่อ้างอิงด้วยราคา CP ที่ประกาศรายเดือน (CP+X) เป็นอ้างอิงด้วยราคา LPG Cargo (LPG Cargo +X) ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่น ที่อ้างอิงราคานำเข้า ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (Import Parity) ปรับลดลง 0.2440 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 20.7216 บาทต่อกิโลกรัม (621.9712 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) เป็น 20.4776 บาทต่อกิโลกรัม ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอแนวทางการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้ (1) ต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 มีราคาอยู่ที่ 13.3723 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อบวกกับอัตราเงินสำหรับส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ที่ 0.67 บาทต่อกิโลกรัม จะทำให้กรอบการกำหนดเพดานราคาขั้นสูงของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ 14.0423 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (Import Parity) 6.4353 บาทต่อกิโลกรัม จึงเห็นสมควรเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากโรงแยก ก๊าซธรรมชาติ ที่อัตรา 6.4353 บาทต่อกิโลกรัม (2) ต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท.สผ. สยาม จำกัด ในเดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ 14.5000 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อบวกกับอัตราเงินสำหรับส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่ 0.67 บาทต่อกิโลกรัม จะทำให้กรอบการกำหนดเพดานราคาขั้นสูงของโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. สผ.สยาม จำกัด อยู่ที่ 15.1700 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า ซึ่งเป็นราคาซื้อ ตั้งต้นของก๊าซ LPG อยู่ที่ 5.3076 บาทต่อกิโลกรัม จึงเห็นสมควรเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่อัตรา 1.3421 บาทต่อกิโลกรัม (เนื่องจากต้องหักภาษีและกองทุนฯ #2 เท่ากับ 3.9655 บาทกิโลกรัม) (3) ต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ UAC ในเดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ 15.9600 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อบวกกับอัตราเงินสำหรับส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ที่ 0.67 บาทต่อกิโลกรัม จะทำให้กรอบการกำหนดเพดานราคาขั้นสูงของโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ UAC อยู่ที่ 16.63 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG อยู่ที่ 3.8476 บาทต่อกิโลกรัม จึงเห็นสมควรเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่อัตรา 3.876 บาทต่อกิโลกรัม ประกอบกับกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนก๊าซ LPG ยังคงมีเงินสะสมอยู่ 4,649 ล้านบาท ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2560 ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอเสนอแนวทางการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา 2 แนวทาง ดังนี้ แนวทางที่ 1 คงราคาขายปลีก ที่ 21.15 บาทต่อกิโลกรัม โดยกองทุนน้ำมันฯ ปรับลดอัตราเงินชดเชย 0.2440 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมชดเชยที่ 6.5965 บาทต่อกิโลกรัม เป็นชดเชย 6.3525 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งส่งผลให้ราคาขายปลีกคงเดิมที่ 21.15 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายจ่าย 941 ล้านบาทต่อเดือน และแนวทางที่ 2 ปรับราคาขายปลีก เป็น 21.82 บาทต่อกิโลกรัม ปรับเพิ่มขึ้น 10 บาทต่อถัง 15 กก. โดยกองทุนน้ำมันฯ ปรับลดอัตราเงินชดเชย 0.8702 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมชดเชยที่ 6.5965 บาทต่อกิโลกรัม เป็นชดเชย 5.7263 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งส่งผลให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้น 0.67 บาทต่อกิโลกรัม จาก 21.15 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 21.82 บาทต่อกิโลกรัม (หรือ 10 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม) ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายจ่าย 720 ล้านบาทต่อเดือน
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบแนวทางการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ตามแนวทางที่ 1 คงราคาขายปลีก กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชย 6.5965 บาทต่อกิโลกรัม ดังนี้
(1) ให้กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนสำหรับก๊าซที่ผลิตในราชอาณาจักรโดยโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่จำหน่ายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง กิโลกรัมละ 6.4353 บาท ทั้งนี้ไม่รวมถึงก๊าซที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ของบริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร และก๊าซที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย
(2) ให้กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนสำหรับก๊าซที่ผลิตในราชอาณาจักรโดยโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ของบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ที่จำหน่ายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง กิโลกรัมละ 5.3076 บาท
(3) ให้กำหนดอัตราเงินชดเชยของกองทุนสำหรับก๊าซที่จำหน่ายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง กิโลกรัมละ 6.3525 บาท ทั้งนี้ไม่รวมถึงก๊าซที่ซื้อหรือได้มาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร
(4) ให้กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนสำหรับก๊าซที่ซื้อหรือได้มาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ของบริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร กิโลกรัมละ 1.3421 บาท
(5) กรณีก๊าซที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ให้กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนกิโลกรัมละ 0.70 บาท แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงก๊าซที่นำเข้า มาในราชอาณาจักรหรือก๊าซที่ผลิตจากก๊าซที่นำเข้ามาใช้ในราชอาณาจักรตามที่ได้แจ้งต่อกรมธุรกิจพลังงานก่อนนำเข้ามาในราชอาณาจักร
(6) กรณีก๊าซที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 และได้รับเงินชดเชยจากองทุนน้ำมันแล้วให้ส่งเงินชดเชยคืนกองทุน กิโลกรัมละ 6.3525 บาท
2. เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ฉบับที่ 26 พ.ศ. 2560 เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย และอัตราเงินคืนกองทุน สำหรับก๊าซ
ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานรับไปดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป