โครงการนำพลังงานทดแทนไปใช้งานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ระบบน้ำบาดาลด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ โดยกรมทรัพยากรธรณี (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)
กรมพรัพยากรธรณีได้นำระบบสูบน้ำบาดาลด้วยเซลล์แสงอาทิตย์มาติดตั้งที่ศูนย์ฯ ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 1,540 วัตต์ เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า 1 ชุด เครื่องสูบน้ำขนาด 2 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง อุปกรณ์ควบคุม 1 ชุด หอถังเก็บน้ำสูง 12 เมตร ความจุ 12 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 ถัง ถังกรองสนิมเหล็ก 1 ถัง และระบบท่อส่งน้ำประปา โดยติดตั้ง 2 ระบบเพื่อใช้ใน 2 พื้นที่ ได้แก่
1. พื้นที่ศูนย์ ซึ่งมีความต้องการน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค โดยแต่เดิมใช้เครื่องสูบน้ำด้วยมอเตอร์ ขนาด 1 แรงม้า สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่อยู่ห่างจากอาคารอำนวยการไปประมาณ 200 เมตร และมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง จึงทำการเจาะบ่อน้ำบาดาลลึก 66 เมตร และสูบน้ำด้วย ไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ได้น้ำคุณภาพดี 4.54 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สำหรับใช้กับอาคารต่างๆ ภายในศูนย์ฯ บ้านพักรับรอง และกิจกรรมการเกษตรใกล้เคียงได้
2. งานปศุสัตว์ เดิมสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่อยู่ห่างไป 2 กิโลเมตร ผ่านท่อพีวีซีด้วยแรงโน้มถ่วงแต่เนื่องจากระบบกรองน้ำมีคุณภาพต่ำจึงได้น้ำค่อนข้างขุ่น กรมทรัพยากรธรณีจึงได้ทำการเจาะบ่อ บาดาลลึก 42 เมตร และสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ได้น้ำคุณภาพดี 4.54 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สำหรับใช้ในงานปศุสัตว์และแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่อยู่ใกล้เคียง
นอกจากนี้ กองน้ำบาดาล กรมทรัพยากรธรณี ยังได้เจาะบ่อบาดาลเพิ่มให้อีก 2 บ่อ ด้วยงบประมาณของกรมทรัพยากรธรณี
ระบบสูบน้ำประปาหมู่บ้านด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ศูนย์ประสานงานโครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดมุกดาหารโดยกรมโยธาธิการ (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)
กรมโยธาธิการได้เข้าไปสำรวจและออกแบบเอติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและกิจกรรมการเกษตรภายในพื้นที่ของศูนย์ประสานงานโครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยบางทรายตอนบนฯ จังหวัดมุกดาหาร เป็นระบบที่ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 3,500 วัตต์ เครื่องสูบน้ำมอเตอร์กระแสสลับ 2 เครื่อง เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า 2 ชุด ชุดควบคุม 2 ชุด และท่อส่งน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 นิ้ว จำนวน 2 ท่อ โดยเครื่องสูบน้ำจะทำงานในเวลากลางวันด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยพุงได้ประมาณ 80 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่งผ่านท่อที่มีระยะยกน้ำสูง 50 เมตร ระยะทาง 2,300 เมตร ขึ้นไปเก็บไว้ในหอถังสูงที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ สำหรับให้น้ำแก่พื้นที่เกษตรกรรมต่างๆ ของศูนย์ฯ และใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร โดยโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากกองกำกับการ ตชด. 23 ค่ายศรีสกุลวงศ์
ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมต่อสายส่งโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)
ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมต่อสายส่งนี้ติดตั้งที่อาคารสำนักงาน ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 2,100 วัตต์ อุปกรณ์ควบคุม 1 ชุด เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า 1 ชุด และวัตต์มิเตอร์แสดงผลการผลิตไฟฟ้า 1 ชุดในเวลาที่มีแสงอาทิตย์ เซลล์แสงอาทิตย์จะทำหน้าที่เปลี่ยน พลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง จากการออกแบบระบบจะให้ไฟฟ้ากระแสตรงขนาดแรงดัน 220-240 โวลต์ และกระแสไฟฟ้า 6-8 แอมแปร์ ไฟฟ้ากระแสตรงที่ผลิตได้จะไหลผ่านเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าและถูกเปลี่ยนเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ ที่มีแรงดัน 220 โวลต์ และมีคุณสมบัติเหมือนกับ กระแสไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม ดังนั้น กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบนี้จึงสามารถใช้ได้กับ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มี อยู่ทุกชนิดโดยในกรณีที่มีกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเซลล์แสงอาทิตย์มีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในขณะนั้นกระแสไฟฟ้าส่วนเกินจะถูกขายคืนเข้าในระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ในทางกลับกันหากความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าในขณะนั้นมีมากกว่ากระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ กระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดก็จะถูกซื้อเสริมเข้ามาจากระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ตามปกติ ซึ่งการทำงานของระบบได้รับการออกแบบให้เป็นการทำงานแบบอัตโนมัติ ดังนั้นจึงไม่ต้องมีการปิด-เปิดระบบแต่อย่างใดในแต่ละวัน
ผลจากการติดตั้งระบบ ทำให้ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ซื้อจากระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯลดลง เท่ากับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบเซลล์แสงอาทิตย์ซึ่งเท่ากับว่าจะสามารถช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงบรรพชีวินเช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน ในการผลิตกระแสไฟฟ้าลง อันจะส่งผลให้มลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงดังกล่าวลดลงได้อีกทางหนึ่ง
โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)
เตานึ่งก้อนเชื้อเห็ดประสิทธิภาพสูง ใช้สำหรับนึ่งก้อนเชื้อเห็ดที่อยู่ภายในถุงพลาสติกเพื่อฆ่าเชื้อปนเปื้อนต่างฟ ก่อนที่จะนำไปทำการเพาะเห็ด ประกอบด้วยเตาซึ่งเป็นเป็นเตาฟืนชนิดมีตะแกรงรังผึ้ง ขนาดห้องเผาไหม้ 0.18 ลูกบบาศก์เมตร ทำด้วยวัสดุทนไฟและเก็บความร้อนได้ดี หม้อต้มไอน้ำเป็นชนิดมีท่อไฟในตัว ขนาดบรรจุ 230 ลิตร ทำด้วยวัสดุที่นำความร้อนได้ดี ตู้อบก้อนเชื้อเห็บ ขนาดความจุ 2.4 ลูกบาศก์เมตร ผิวด้านนอกหุ้มด้วยฉนวนเพื่อลดการสูญเสียความร้อนพร้อมอุปกรณ์วัดความดันและควบคุมความดันอย่างละ 1 ชุด จากการออกแบบตามหลักวิชาการดังกล่าวทำให้มีประสิทธิภาพเชิงความร้อนของเตามีค่าประมาณร้อยละ 33 และประหยัดไม้ฟืนได้ประมาณร้อยละ 49 เมื่อเปรียบเทียบกับเตารูปแบบเดิมที่มีการใช้อยู่ในศูนย์ และสะดวกในการใช้งาน
การทำงานของเตานึ่งก้อนเชื้อเห็ดประสิทธิภาพสูง คือ ไอน้ำจากหม้อต้มไอน้ำจะถูกดันเข้าไปยังตู้อบจนกระทั่งอุณหภูมิในตู้อบเท่ากับ 95-100 องศาเซลเซียส ทำการอบต่อไปอีก 1 ชั่วโมง 30 นาที แล้วปล่อยให้เย็นก่อนนำไปใช้เพาะเห็ด
เครื่องสกัดสารจำกัดศัตรูพืชด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
เครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืชด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ในการต้มสกัดสารชีวภาพ ซึ่งมีอยู่ในสมุนไพรบางชนิด เช่น ตะไคร้ หอม สะเดา ข่า เป็นต้น อุปกรณ์นี้ประกอบด้วยแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ ถังสกัดสาร ไส้กรอง ท่อน้ำเข้าถังและเข้าแผง วาล์วเช็คระดับน้ำและขาตั้งรองรับแผงและถังสกัดสาร
การทำงานจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบแผงรับแสงอาทิตย์ ซึ่งถูกออกแบบการวางให้ด้านหนึ่งเอียงขึ้น เพื่อให้การทำงานของระบบเป็นไปอย่างสมบูรณ์ พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์จะถูกดูดซับและส่งถ่ายความร้อนให้กับน้ำที่อยู่ในระบบ เมื่อน้ำเริ่มร้อนก็จะเกิดการเคลื่อนที่ไปยังด้านบนของแผงผ่านไปตามท่อที่หุ้มไว้ด้วยฉนวนเข้าไปทางด้านบนของถังสกัดสารกำจัดศัตรูพืชหรือหม้อต้มซึ่งใส่สมุนไพรไว้ ทำให้น้ำที่อยู่ส่วนล่างของหม้อต้มก็จะไหลไปตามท่อหุ้มฉนวนเข้าไปในระบบทางอีกด้านหนึ่งของแผง การไหลเวียนของน้ำนี้จะเป็น ระบบไหลเวียนตามธรรมชาติ ซึ่งจะเกิดขึ้นตลอดเวลาที่แผงได้รับแสงอาทิตย์ จะทำให้น้ำในหม้อต้มจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 90 องศาเซลเซียส ทำให้สารสกัดชีวภาพในพืชสมุนไพรถูกสกัดออกมาละลายอยู่ในน้ำ ในแต่ละวันการสกัดจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาวันละ 6-8 ชั่วโมง ทำให้เกษตรกรมีน้ำสารสกัดไว้ใช้งานได้วันละ 75-100 ลิตร ซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและลดภาระการต้มสกัดสารได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การใช้สารสกัดชีวภาพฉีดพ่นพืชผักแทนการใช้ยาปราบศัตรูพืชที่เป็นสารเคมี ยังให้ความปลอดภัยทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค อีกทั้งยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการนำเข้ายาปราบศัตรูพืชจากต่างประเทศอีกด้วย
เครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่
1. ส่วนเซนเซอร์หรือไพรานอมิเตอร์ ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคคอนขนาด 1 ตารางเซนติเมตร และขั้วของเซลล์และอาทิตย์
2. ส่วนอินติเกรตสัญญาณ ทำหน้าที่แสดงผลและอินติเกรตค่าความเข้มรังสีดวงอาทิตย์เป็นพลังงาน
ประโยชน์ของเครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ คือสามารถวัดค่าพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งทำให้ทราบประสิทธิภาพการทำงานของระบบพลังงานทดแทนที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ในอนาคตได้
ชุดกรองน้ำดื่มระบบรีเวิร์สออสโมซิสทำงานด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ระบบไฟฟ้าแสงสว่างด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 75 วัตต์ จำนวน 3 แผง รวมเป็น 225 วัตต์ อุปกรณ์ควบคุมบริเวณศาลาทรงงาน ขนาด 12 โวลต์ 6 แอมแปร์ จำนวน 1 ชุด อุปกรณ์ควบคุม บริเวณโรงเลี้ยงไก่ ขนาด 12 โวลต์ 10 แอมแปร์ จำนวน 1 ชุด แบตเตอรี่ชนิดเจล ขนาด 6 โวลต์ 150 แอมแปร์ชั่วโมง จำนวน 4 ลูก หลอดไฟประหยัดพลังงาน ขนาด 12 โวลต์ 7 วัตต์ จำนวน 9 หลอด และหลอดไฟประหยัดพลังงาน ขนาด 12 โวลต์ 11 วัตต์ จำนวน 6 หลอด โดยติดตั้งระบบดังกล่าวไว้ในบริเวณสวนสมเด็จฯ 2 จุด ด้วยกัน คือ ที่ศาลาทรงงาน และที่โรงเลี้ยงไก่ ทั้ง 2 จุดนี้สามารถใช้งานได้ 4 ชั่วโมง คือ เปิดทำงานโดยอัตโนมัติตอนช่วงหัวค่ำ 3 ชั่วโมง และจะทำงานอีกครั้งในช่วงเช้ามืดอีก 1 ชั่วโมง (การทำงานโดยอัตโนมัติเป็นผลมาจากการทำงานของอุปกรณ์ควบคุมการปรับกระแสไฟฟ้า)
ชุดกรองน้ำดื่มระบบรีเวิร์สออสโมซิสเป็นเครื่องฟอกน้ำจืด น้ำกร่อย หรือ น้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดบริสุทธิ์ โดยมีหลักในการทำงาน คือ ใช้เยื่อเมมเบรน (membrane) ซึ่งเป็นเยื่อบางๆ คล้ายแผ่นกระดาษแต่มีเนื้อละเอียดถึง 0.0001 ไมครอน ทำให้โมเลกุลของสารละลายในน้ำไม่สามารถลอดผ่านไปได้ โดยเยื้อเมมเบรนจะทำงานควบคู่กับเครื่องสูบน้ำแรงดันสูงที่ทำหน้าที่ผลักดันน้ำดิบให้ผ่านเยื่อเมมเบรนเครื่องสูบน้ำดังกล่าวทำงานด้วยไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์แสงอาทิตย์
ระบบที่นำมาติดตั้งนี้ประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 60 วัตต์ แบตเตอรี่ขนาด 624 วัตต์ต่อชั่วโมง ชุดควบคุม และเครื่องสูบน้ำแรงดันสูง โดยการทำงานจะเริ่มจากการเปิดวาล์วให้น้ำดิบเข้าสู่ระบบไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์จะเดินเครื่องสูบน้ำให้ทำงานเพื่อเพิ่มความดันให้น้ำดิบ อัดน้ำผ่านส่วนไส้กรองคาร์บอนทั้งชนิดเม็ดและชนิดผง ส่วนเยื่อกรองเมมเบรน และส่วนไส้กรองคาร์บอนอันสุดท้ายจนได้เป็นน้ำบริสุทธิ์
ชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ โดยบริษัท สยามโซลาร์ แอนด์ อีเลคทรอนิคส์ จำกัด
แต่เดิมที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ยังไม่มีเครื่องล่อแมลงที่จะใช้กำจัดแมลงบางชนิดที่เป็นศูนย์พืช จึงได้นำชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์มาติดตั้งภายในบริเวณศูนย์ฯ อุปกรณ์ชนิดนี้ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 10 วัตต์ จำนวน 1 แผง หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 6 วัตต์ จำนวน 1 ชุด แบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์ 4 แอมแปร์ชั่วโมง จำนวน 1 ลูก เซนเซอร์วัดความสว่าง 1 ชุด ชุดตั้งเวลาการทำงานของหลอดไฟกับพัดลม 1 ชุด พัดลมขนาด 2 นิ้ว 1 เครื่องชุดแสดงผลความจุแบตเตอรี่ 1 ชุด ถุงผ้าดักแมลง 1 ถุง และขาตั้งแบบเคลื่อนย้ายได้ 1 ชุด
เซลล์แสงอาทิตย์จะประจุกระแสไฟฟ้าลงในแบตเตอรี่ในเวลากลางวัน เมื่อดวงอาทิตย์ตกดิน เซนเซอร์วัดความสว่างจะสั่งให้หลอดไฟสว่างและพัดลมหมุนเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เพราะโดยปกติแมลงจะออกมาเล่นไฟประมาณ 2 ชั่วโมง โดยในขณะที่หลอดไฟสว่างและพัดลมหมุนนั้น หากมีแมลงบินเข้าใกล้ก็จะถูกดูดให้ตกลงไปในถุง และแมลงที่ได้นี้สามารถนำไปใช้เลี้ยงปลาได้ นอกจากนี้ ชุดแสงไฟล่อแมลงยังสามารถติดตั้งไว้กลางบ่อเลี้ยงปลาเพื่อให้แมลงตกลงไปในบ่อปลาโดยตรงได้ด้วย
ระบบเครื่องขยายเสียงพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด
ระบบประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 6 วัตต์ 12 โวลต์ 0.3 แอมแปร์ จำนวน 1 แผง แบตเตอรี่แบบ sealed lead acid ขนาด 12 โวลต์ 0.7 แอมแปร์ จำนวน 1 ลูก และเครื่องขยายเสียง พร้อมไมโครโฟนแบบมีสายและแบบไร้สาย จำนวน 1 ชุด ชุดเครื่องขยายเสียงถูกดัดแปลงให้สามารถใช้ได้ทั้งไฟฟ้ากระแสตรงและไฟฟ้ากระแสสลับ มีขนาดกำลังขยาย 50 วัตต์ โดยสามารถใช้งานได้ทั้งไมโครโฟนแบบมีสายและแบบไร้สายซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าขนาด 0.5 แอมแปร์ และสามารถใช้งานติดต่อกันเป็นเวลา 3 ชั่วโมงต่อวัน เหมาะสำหรับการใช้งานในภาคสนามและเลือกใช้ตามความเหมาะสมได้อีกด้วย
คุณเสน่ห์ แก้วบุญเรือง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการนำโครงการพลังงานทดแทนมาใช้งานภายในศูนย์การพัฒนาภูพานฯ ดังนี้
ผลของโครงการระบบพลังงานทดแทนที่ติดตั้งภายในศูนย์ฯ
คุณเสน่ห์ : "ระบบหลักที่ติดตั้งในศูนย์ฯ เป็นระบบสูนน้ำด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งที่ศูนย์ฯ เรามีอ่างเก็บน้ำอยู่ 2 ตัว แต่เพราะเรามีกิจกรรมต่างๆ มากมาย น้ำจึงไม่เพียงพอ เพราะส่วนหนึ่งเราต้องส่งไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ทั้งปศุสัตว์และการเกษตร แปลงทดสอบทดลองต่างๆ อีกส่วนก็เป็นน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคซึ่งต้องผ่านระบบกรองของประชาชนมาใช้ในส่วนของอาคารต่างๆ ในศูนย์ และบ้านพัก ซึ่งบางปีถ้าน้ำในอ่างไม่มากก็ไม่เพียงพอ พอได้ระบบสูบน้ำบาดาลด้วยเซลล์แสงอาทิตย์มาช่วยก็รู้สึกว่าดีขึ้นประหยัดน้ำลงได้ส่วนหนึ่ง และน้ำที่สูบขึ้นมาก็มีคุณภาพดี สะอาด ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำขาดแคลนสำหรับน้ำอาบน้ำกินในศูนย์ฯ
"สำหรับปัญหาของระบบนี้ก็มีบ้าง อย่างครั้งแรกที่เจาะลงไปลึกประมาณ 60 เมตร ปรากฏว่าไม่เจอน้ำ เจอแต่หินเจอแต่อะไรต่างๆ ก็ถอย ก็มาเจาะที่บ่อสอง ห่างประมาณ 200 เมตร เจาะลงไปไม่ถึง 40 เมตร ก็ได้น้ำสะอาด"
ที่มา : พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย