
มติกพช.กบง. (487)
กพช. ครั้งที่ 166 วันพุธที่ 13 ธันวาคม 2566
มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 3/2566 (ครั้งที่ 166)
วันพุธที่ 13 ธันวาคม 2566
3. แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ
4. แนวทางการพิจารณาอายุสัญญาการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดผลกระทบค่าไฟฟ้า
5. มาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน
6. แนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(นายเศรษฐา ทวีสิน)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
สรุปสาระสำคัญ
1. พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 มาตรา 14 (2) กำหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) รายงานผลการประเมินการปฏิบัติงานและการเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติงาน ตามแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
2. เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 กบน. เห็นชอบรายงานผลการประเมินการปฏิบัติงานและการเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติงานตามแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565 โดยสรุปได้ดังนี้ (1) อนุมัติแผนการดำเนินงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนของเงินงบบริหาร จำนวน 67,883,397.40 บาท (2) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย จำนวน 3 คณะ (3) ดำเนินการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อบริหารสภาพคล่องเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (4) อนุมัติการจ่ายเงินกองทุนเพื่อดำเนินการตามแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในประเทศ จำนวน 10 ครั้ง (5) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการส่งเงินเข้ากองทุนหรือได้รับเงินชดเชย และกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน ในส่วนของน้ำมัน จำนวน 143 ฉบับ และในส่วนของก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) 33 ฉบับ (6) คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ออกไปอีกสองปี จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2567 (7) ในเดือนกันยายน 2565 สภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเงินรับเฉลี่ย 987 ล้านบาท และ ณ วันที่ 25 กันยายน 2565 ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ มีจำนวน ติดลบ 124,216 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มน้ำมันติดลบ 82,674 ล้านบาท กลุ่มก๊าซ LPG ติดลบ 42,542 ล้านบาท และเงินเรี่ยไร 1,000 ล้านบาท และ (8) จัดหาเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง และการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การกู้เงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) และการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เป็นไม่เกิน 30,000 ล้านบาท และหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงิน และอนุมัติการกู้ยืมเงินของ สกนช. วงเงินไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท พร้อมทั้งอนุมัติหลักการร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... และหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษา เสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ในประเทศ (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ....
มติของที่ประชุม
รับทราบรายงานผลการประเมินการปฏิบัติงานและการเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรค การปฏิบัติงานตามแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (พระราชบัญญัติฯ) ซึ่งตามความในมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้ กกพ. จัดทำรายงานประจำปีเสนอรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาทุกสิ้นปีงบประมาณ และเปิดเผยต่อสาธารณชน
2. รายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของ กกพ. และ สำนักงาน กกพ. สรุปผลการดำเนินงานที่สำคัญได้ ดังนี้ (1) บริหารจัดการต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดผลกระทบค่าไฟฟ้า โดยคำนึงถึงการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพทางพลังงานของประเทศ จึงพิจารณาทยอยปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) เพื่อสะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเท่าที่จำเป็น และบริหารจัดการบนพื้นฐานการบรรเทาผลกระทบ ค่าครองชีพของประชาชนและคำนึงถึงศักยภาพการให้บริการพลังงานของผู้ให้บริการ ได้แก่ 1) เลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 8 ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 2) รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากจากกลุ่มสัญญาเดิม และกลุ่มที่ไม่มีสัญญากับการไฟฟ้า เชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ขยะ แสงอาทิตย์ และพลังงานลม และ 3) เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลเพื่อลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในช่วงที่มีความผันผวนและมีราคาสูง นอกจากนี้ ได้กำกับดูแลในการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า โดยการปรับอัตราค่าบริการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อผ่านระบบส่งก๊าซธรรมชาติ กำกับการนำส่งรายได้จากการส่งออก LNG งดเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(4) และมาตรา 97(5) เป็นการชั่วคราว และปรับลดอัตราค่าบริการรายเดือนให้เหมาะสมเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป (2) ออกระเบียบและประกาศการรับซื้อไฟฟ้าภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) สำหรับภาคประชาชน และการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 (3) ส่งเสริมการแข่งขันกิจการก๊าซธรรมชาติตามแนวทาง การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซระยะที่ 2 โดยออกประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลผู้บริหารระบบส่งและศูนย์ควบคุมการส่งก๊าซธรรมชาติ (TSO Regulatory Framework) กำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้สถานีแอลเอ็นจี กำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดราคา LNG (LNG Benchmark) (4) ออกประกาศหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Framework Guidelines) และกำหนดอัตราค่าบริการใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าสำหรับบุคคลที่สาม (Wheeling Charge) สำหรับการทดสอบในโครงการ ERC Sandbox (5) จัดทำแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น (6) ปรับปรุงกระบวนการอนุมัติอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service: OSS) โดยออกกฎหมายลำดับรองเพื่อการอนุญาตแบบ OSS และพัฒนาระบบ e-Licensing รองรับการอนุญาตประกอบกิจการพลังงานแบบ Online (7) ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อกำกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าเกี่ยวกับการใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงที่มีกำลังผลิตติดตั้ง ตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป และพัฒนาระบบการรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม (Self-Declaration Report) เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าสามารถรายงานข้อมูลได้สะดวก (8) ติดตามเร่งรัดการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กตามประกาศหลักเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 23.99 ล้านรายทั่วประเทศ วงเงินกว่า 33,689 ล้านบาท และ (9) พัฒนาระบบการบริหารงานองค์กรสู่ความโปร่งใสมีธรรมาภิบาล และมีการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล และพัฒนาระบบบริหารงานองค์กรและการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
3. สำนักงาน กกพ. ได้จัดเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุน และจัดสรรตามวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติฯ ดังนี้ (1) ชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าตามมาตรา 97(1) ซึ่งได้ให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส หรือเพื่อให้มีการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง หรือเพื่อส่งเสริมนโยบายในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค จำนวน 13,765 ล้านบาท (2) พัฒนาและฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าตามมาตรา 97(3) จำนวน 2,352.53 ล้านบาท (3) ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยตามมาตรา 97(4) ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบมุ่งเป้า แบบที่เชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (On-grid) จำนวน 427.23 ล้านบาท และโครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบมุ่งเป้า (หน่วยงานด้านการศึกษา) (Off-grid) จำนวน 164 แห่ง กรอบวงเงินงบประมาณ 95.00 ล้านบาท และ (4) ส่งเสริมสังคม และประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า ตามมาตรา 97(5) กรอบวงเงินงบประมาณ 800 ล้านบาท
4. งบการเงินของสำนักงาน กกพ. และกองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 และรายงานของผู้สอบบัญชี ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต โดยความเห็นชอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบงบการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 เห็นว่าถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยสำนักงาน กกพ. และกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีรายได้จากการดำเนินการรวมทั้งสิ้น 17,731,148,913.21 บาท และมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานรวม 16,921,468,267.05 บาท โดยงบการเงินเฉพาะสำนักงาน กกพ. มีรายได้จากการดำเนินงาน 969,206,854.95 บาท ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน รวม 614,527,115.13 บาท รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ 354,679,739.82 บาท ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. มีรายได้แผ่นดินนำส่งคลัง จำนวน 283,773,062.41 บาท ซึ่งรวมเงินงบประมาณที่เหลือจ่ายของปี 2562 - 2564 ด้วย
5. แผนการดำเนินงานสำนักงาน กกพ. และแผนการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประกอบด้วย แผนการดำเนินงานของสำนักงาน กกพ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการการกำกับกิจการพลังงาน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) พัฒนากฎระเบียบในการกำกับกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติรองรับนโยบายการส่งเสริมการแข่งขันและ การส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาระบบการตรวจติดตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรดิจิทัล และแผนการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 บริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์กองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 ของพระราชบัญญัติฯ โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าและการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
มติของที่ประชุม
รับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
เรื่องที่ 3 แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลมีนโยบายในการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ โดยมีการจัดสรรให้เป็นวัตถุดิบสำหรับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ (โรงแยกก๊าซฯ) เพื่อผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เป็นเชื้อเพลิงให้กับประเทศ และผลิตเป็นวัตถุดิบตั้งต้น (Feedstock) ให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอีกส่วนหนึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า ใช้ในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง แต่เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายให้อัตราค่าไฟฟ้าเท่ากันทั่วประเทศ ดังนั้น จึงต้องกำหนดต้นทุนก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลัก ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศเป็นราคาเดียวกันทั้งราคาในประเทศและราคานำเข้า (Pool Gas) ต่อมาในช่วงปี 2564 เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในต่างประเทศ (รัสเซียและยูเครน) ได้ส่งผลให้ราคาพลังงานโลกมีความผันผวนและปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีการปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่การผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอ่าวไทยมีกำลังการผลิตที่ลดลงจำเป็นต้องนำเข้า Spot LNG ที่มีราคาสูงเข้ามาทดแทนเป็นจำนวนมาก ทำให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าของประเทศ
2. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน (ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนเมษายน 2566) และได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ไปศึกษาหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ (Gas Separation Plant : GSP) ให้สอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยให้เหมาะสม และรายงานผลการศึกษาต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ทราบ และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้มีหนังสือเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ทราบผลการพิจารณาของ กกพ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 เรื่อง แนวทางการลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติเพื่อลดค่าไฟฟ้า ให้ประชาชน โดย กกพ. มีความเห็นว่าเพื่อให้การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเกิดประโยชน์สูงสุด สร้างความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ก๊าซในทุกภาคส่วน จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้มีการปรับราคา ก๊าซธรรมชาติที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซฯ โดยให้โรงแยกก๊าซฯ ใช้ราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ ด้วย ส่งผลให้ราคา Pool Gas โดยรวมลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง อีกทั้งเพื่อให้ ปตท. บริหารจัดการวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ มีดังนี้
3.1 การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติตามหลักเกณฑ์ปัจจุบัน คือ (1) ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยจะเข้าสู่โรงแยกก๊าซฯ โดยการซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง ปตท. กับโรงแยกก๊าซฯ ใช้ราคา Gulf Gas ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยของเนื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย บวกค่าจัดหา และค่าผ่านท่อในทะเล จากนั้นก๊าซธรรมชาติจะถูกแยกเป็น ก๊าซมีเทน (C1) อีเทน (C2) โพรเพน (C3) บิวเทน (C4) เพนเทน (C5) และสูงกว่า C5 (C5+) โดยก๊าซมีเทน จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โพรเพน และบิวเทน จะนำไปใช้ผลิตเป็นก๊าซ LPG หรือก๊าซหุงต้มเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ส่วนก๊าซ C2 ขึ้นไป ชนิดอื่น ๆ จะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบ ตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ผลิตเป็นเม็ดพลาสติกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ และ (2) ก๊าซมีเทนที่ออกจากโรงก๊าซธรรมชาติ จะถูกนำไปรวมกับก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา และ LNG นำเข้า เพื่อคำนวณเป็นราคา Pool Gas (ราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของเนื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งต่าง ๆ ) และนำไปจำหน่ายให้โรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโรงไฟฟ้าของเอกชน ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้กับประชาชน รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรม และภาคการขนส่งใช้เป็นเชื้อเพลิง
3.2 การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติตามข้อเสนอของ กกพ. เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ได้มีข้อเสนอให้มีการปรับราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซฯ จากเดิมใช้ราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (Gulf Gas) เปลี่ยนไปใช้ราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ ทำให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติมีราคาเดียว (Single Pool) ส่งผลให้ราคา Pool Gas เดิมมีราคาลดลง โดยต้นทุนก๊าซธรรมชาติ ที่ลดลงจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ ทั้งนี้ ข้อดีของการใช้ Single Pool คือ (1) ราคา Pool Gas ปรับลดลงได้ทันที ส่งผลให้ต้นทุนของก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าลดลง (2) ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติทุกกลุ่มใช้ก๊าซธรรมชาติในราคาเดียวกัน และ (3) สามารถดำเนินการได้ทันที โดยเสนอ กพช. พิจารณา และสำหรับข้อเสียของการใช้ Single Pool คือ (1) ต้นทุนของโรงแยกก๊าซฯ สูงขึ้น อาจส่งผลให้ผลประกอบการลดลง อย่างไรก็ดี ต้นทุนที่สูงขึ้นนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อภาคปิโตรเคมีที่รับก๊าซธรรมชาติจากโรงแยกก๊าซฯ เป็นวัตถุดิบตั้งต้น และ (2) ก๊าซ LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ มีราคาสูงขึ้น
3.3 การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติตามความเห็นของ สนพ. จากการพิจารณาแนวทางตามข้อเสนอของ กกพ. แล้ว พบว่า เป็นแนวทางที่สร้างความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติในทุกภาคส่วนและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ทำให้ราคา Pool Gas โดยรวมลดลง ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จะทำให้ราคาต้นทุนของก๊าซ LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ปรับสูงขึ้น จะทำให้จำนวนเงินที่ส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ สูญเสียรายได้ที่จะนำไปช่วยลดภาระในส่วนของราคา LPG ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ LPG ภาคเชื้อเพลิง โดยให้เฉพาะการผลิต LPG จากโรงแยกก๊าซฯ สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ใช้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับราคา Gulf Gas ทั้งนี้ ข้อดีของการใช้ Single Pool และการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ LPG ภาคเชื้อเพลิง คือ ราคา Pool Gas ปรับลดลงได้ทันที และต้นทุนราคาก๊าซ LPG ที่ลดลงจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้
3.4 สรุปการเปรียบเทียบประมาณการราคาก๊าซธรรมชาติและผลกระทบสำหรับรอบเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 พบว่า (1) การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติตามหลักเกณฑ์ปัจจุบัน ทำให้โรงแยกก๊าซฯ มีต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติต่ำกว่าผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติส่วนอื่น ๆ ส่วนผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ ในภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคการขนส่งใช้ราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคาก๊าซเฉลี่ยจากก๊าซมีเทน ที่ออกจากโรงแยกก๊าซฯ ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา และ LNG นำเข้า (2) การเปลี่ยนไปใช้แนวทางตามข้อเสนอของ กกพ. คือ Single Pool ทำให้ภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง มีภาระค่าใช้จ่ายลดลง เนื่องจากต้นทุนราคา Pool Gas โดยรวมลดลง และทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ แต่จะส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิต LPG จากโรงแยกก๊าซฯ สูงขึ้น ส่งผลให้จำนวนเงินที่โรงแยกก๊าซฯ ส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ลดลง และ ในส่วนของโรงแยกก๊าซฯ จะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน และ (3) การใช้ข้อเสนอ Single Pool พร้อมกับการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ LPG ภาคเชื้อเพลิง โดยกำหนดให้ก๊าซธรรมชาติที่นำไปผลิตเป็น LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ใช้ราคา Gulf Gas เพื่อให้คงราคาต้นทุนไว้คงเดิม ทำให้ราคา Pool Gas และทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อรายรับของกองทุนน้ำมันฯ ที่นำไปช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน
4. เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 กบง. ได้พิจารณาเรื่องแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และมีมติเห็นชอบ ดังนี้ (1) เห็นชอบแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติตามความเห็นของ สนพ. โดยปรับให้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซฯ เป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ ที่นำไปใช้ในการผลิตก๊าซ LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ เท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป จนกว่าการจัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซฯ จากอ่าวไทยที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซฯ ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 จะแล้วเสร็จ และได้รับความเห็นชอบจาก กพช. (2) มอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และ (3) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ โดยปรับให้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่นำไปใช้ในการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (Gulf Gas) ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป จนกว่าการจัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 จะแล้วเสร็จ และได้รับความเห็นชอบจาก กพช.
2. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและกระทรวงพลังงานรับไปดำเนินการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
เรื่องที่ 4 แนวทางการพิจารณาอายุสัญญาการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดผลกระทบค่าไฟฟ้า
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2543 ได้มีมติเห็นควรให้มีการออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนอกรูปแบบ กากหรือเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ก๊าซชีวภาพจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นเชื้อเพลิง โดยเฉพาะโครงการขนาดเล็ก
2. เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2545 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ร่างระเบียบว่าด้วยการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนานกับระบบของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ปริมาณพลังไฟฟ้าไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ และแบบคำขอจำหน่ายไฟฟ้าและการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า โดยเห็นควรให้เร่งจัดทำต้นแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน VSPP ภายหลังจากคณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานในอนาคตของการไฟฟ้าให้ความเห็นชอบต้นแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว ต่อมา เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 มีมติเห็นชอบร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ร่างระเบียบว่าด้วยการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนานกับระบบของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย สำหรับปริมาณพลังไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และมีมติให้มีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยใช้มาตรการจูงใจด้านราคาผ่านระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP และ VSPP ด้วยการกำหนดส่วนเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จากราคารับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบ SPP หรือ VSPP ตามประเภทเชื้อเพลิงและเทคโนโลยี ซึ่งเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบเอกสารประกอบการออกประกาศการขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP ซึ่งรวมถึงแบบคำขอจำหน่ายไฟฟ้าและการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า และต้นแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รวมทั้งมีมติเห็นชอบการกำหนดสัดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จากราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ซึ่งขายไฟฟ้าเข้าระบบตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP ต่อมา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2549 กพช. ได้มีมติเห็นชอบ Adder สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ซึ่งขายไฟฟ้าเข้าระบบตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP โดยกำหนดระยะเวลาสนับสนุน 7 ปี นับจากวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญา และกำหนด Adder แยกตามประเภทเชื้อเพลิง ทั้งนี้ ไม่รวมถึงผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนในการผลิตไฟฟ้ารูปแบบอื่น ๆ แล้ว โดยให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอภายในปี 2551 และเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยุติการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนโดยวิธีการเปิดประมูลแข่งขัน โดยให้มีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่านมาตรการสนับสนุนส่วน Adder
3. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 กพช. ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุง Adder สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP และ VSPP สำหรับโครงการพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยสมมติฐานการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตที่อายุโครงการ 20 ปี และขยายระยะเวลาสนับสนุนโครงการพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ จาก 7 ปี เป็น 10 ปี นับจากวันเริ่มต้นจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (สำหรับโครงการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงได้รับส่วนเพิ่มพิเศษตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2550) พร้อมทั้งได้เห็นชอบให้แก้ไขการกำหนดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับ SPP ประเภท Non-Firm และ VSPP เป็นอายุสัญญา 5 ปี และต่อเนื่องโดยอัตโนมัติ เนื่องจากเดิมกำหนดอายุสัญญาไว้ 1 ปี และต่ออายุสัญญาเป็นปี ๆ ทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาไม่สามารถจัดหาแหล่งเงินกู้ได้ เนื่องจาก ไม่เชื่อถือว่าโครงการจะมีรายได้อย่างมั่นคงเพียงพอที่จะชำระเงินต้นและดอกเบี้ย
4. เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 กพช. ได้มีมติเห็นควรให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปศึกษาทบทวน Adder ให้สอดคล้องกับการพัฒนาของเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และนำเสนอต่อ กพช. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป และต่อมา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 กพช. ได้มีมติเห็นชอบมาตรการการดำเนินการสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียน ตามมาตรการ Adder กรณียื่นคำร้องขายไฟฟ้าแล้วรอการพิจารณา เห็นควรปรับปรุงอัตรา Adder สำหรับผู้ประกอบการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ยื่นคำร้องขายไฟฟ้าแล้วแต่ยังไม่ได้รับการพิจารณารับซื้อไฟฟ้า ณ วันที่ กพช. มีมติเห็นชอบ ในอัตรา 6.50 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาสนับสนุน 10 ปี เนื่องจากต้นทุนโครงการลดลงมาก หากให้ Adder ที่อัตราเดิม 8 บาทต่อหน่วย ผู้ประกอบการจะได้รับผลตอบแทนในเกณฑ์สูงและกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าโดยรวม พร้อมทั้งได้เห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากระบบ Adder เป็นระบบ Feed-in Tariff (FiT) เนื่องจากมาตรการ FiT มีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟมากกว่า กล่าวคือ ทำให้จำนวนเงินสนับสนุนไม่เพิ่มขึ้นตามค่าไฟฐานและอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ให้มีการทบทวนรูปแบบและอัตราการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทุกปี และประกาศรับซื้อเป็นรอบ ๆ ต่อมา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 กพช. ได้พิจารณาเรื่องอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2558 (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์) โดยมีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการประกาศหยุดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Adder โดยให้มีผลถัดจากวันที่ กพช. มีมติ และเห็นชอบแนวทางการดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบ Adder เป็น FiT
5. ตามที่กระทรวงพลังงานได้มีนโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ผ่านมาตรการ Adder ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุน Adder จำนวน 576 สัญญา ปริมาณกำลังผลิตตามสัญญา 4,844.75 เมกะวัตต์ โดยพบปัญหาจากการดำเนินการคือ ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุน Adder ได้รับคืนเงินลงทุนและผลตอบแทนที่เหมาะสมในช่วงระยะเวลา 20 ปี ตามสมมติฐานการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตตามที่ กพช. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 แต่เนื่องจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากำหนดให้สามารถต่ออายุสัญญาได้โดยไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา โดยต้นแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจาก SPP และ VSPP ประเภทสัญญา Non–Firm ในรูปแบบ Adder กำหนดเรื่องการอายุของสัญญาและการเลิกสัญญาไว้ ดังนี้ (1) กรณี SPP กำหนดให้สัญญามีระยะเวลา 5 ปี และสามารถต่อสัญญาได้โดยการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวเป็นหนังสือแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบก่อนครบกำหนดอายุสัญญา และให้สัญญามีอายุต่อไปอีกคราวละ 5 ปี ในส่วนของเหตุแห่งการสิ้นสุดสัญญากำหนดไว้ในกรณีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ให้อีกฝ่ายหนึ่งทำหนังสือแจ้งให้ฝ่ายนั้นดำเนินการแก้ไข หากไม่แก้ไขให้อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ และ (2) กรณี VSPP กำหนดให้สัญญามีระยะเวลา 5 ปี และต่อเนื่องครั้งละ 5 ปี โดยอัตโนมัติและให้มีผลใช้บังคับจนกว่าจะมีการยุติสัญญาตามที่กำหนดไว้คือ ผู้ผลิตไฟฟ้ายื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการไฟฟ้าแสดงความประสงค์ที่จะยุติการซื้อขายไฟฟ้าโดยการเลิกสัญญา และหากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ให้อีกฝ่ายหนึ่งทำหนังสือแจ้งให้ฝ่ายนั้นดำเนินการแก้ไข หากไม่แก้ไขให้อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ จากข้อกำหนดดังกล่าวจะเห็นได้ว่า สัญญาสามารถต่ออายุออกไปได้ครั้งละ 5 ปี โดยไม่มีระยะเวลาสิ้นสุดแม้จะหมดระยะเวลาที่ได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) 7 ปี หรือ 10 ปี ตามประเภทเชื้อเพลิงไปแล้ว นอกจากนี้ อัตรารับซื้อไฟฟ้าในช่วงหลังจากสิ้นสุดการได้รับ Adder จะเป็นอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยทุกแรงดันที่ กฟผ. ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย รวมกับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft ขายส่งเฉลี่ย หรืออัตราค่าพลังงานไฟฟ้าขายส่ง ณ ระดับแรงดัน 11 - 33 กิโลโวลต์ ที่ กฟผ. ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย รวมกับค่าไฟฟ้า Ft ขายส่งเฉลี่ย ขึ้นอยู่กับประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่างอัตราปกติ TOU ซึ่งมีอัตราสูงถึง 4 – 5 บาทต่อหน่วย และปรับขึ้นลงตาม Ft ขายส่งเฉลี่ย ซึ่งรวมแล้วมีอัตราสูงกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ที่ภาครัฐรับซื้ออยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ส่งผลให้การไฟฟ้ายังคงมีภาระที่ต้องรับซื้อไฟฟ้าต่อไปและส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวม จากข้อกำหนดจะเห็นได้ว่า หากไม่มีการกำหนดวันสิ้นสุดของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสมมติฐานการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตที่ กพช. มีมติเห็นชอบ คือ 20 ปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์จะส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงเกินความจำเป็น
6. สนพ. กระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่และอำนาจในการศึกษาวิเคราะห์นโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ด้านพลังงาน วิเคราะห์แนวโน้ม และประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน พ.ศ. 2562 ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การสิ้นสุดอายุสัญญา สำหรับประเภทสัญญา Non-Firm ในรูปแบบ Adder ที่ไม่ได้ มีการระบุถึงระยะเวลาสิ้นสุดของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งต่างจากการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบ FiT ที่มีการระบุระยะเวลาสิ้นสุดของอายุสัญญา 20 – 25 ปี ส่งผลให้ภาครัฐต้องรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภทสัญญา Non-Firm ในรูปแบบ Adder ที่ไม่มีการระบุการสิ้นสุดของระยะเวลารับซื้อ ก่อให้เกิดภาระผูกพันในการรับซื้อและถูกส่งผ่านเป็นต้นทุนราคาค่าไฟฟ้าของประเทศ รวมทั้งไม่เป็นการส่งเสริมให้มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการผลิตสูงกว่าและมีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าต่ำกว่าในปัจจุบัน โดยกระทรวงพลังงาน (พน.) อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทบทวนแนวทางการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในด้านนโยบาย แต่เนื่องจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภทสัญญา Non-Firm รูปแบบ Adder มีผลบังคับใช้ระหว่างคู่สัญญาที่เป็นหน่วยงานภาครัฐกับเอกชน จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ในกรณีมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขระยะเวลาการสิ้นสุดของสัญญาหรือการบอกเลิกสัญญาอาจมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายและเกิดความไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติเกิดขึ้นได้
7. พน. ได้มีหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) เพื่อขอหารือในประเด็นดังนี้ (1) สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจาก SPP และ VSPP ประเภทสัญญา Non-Firm ในรูปแบบ Adder โดยในสัญญาระบุเงื่อนไขให้คู่สัญญาเอกชนสามารถต่อสัญญาได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีการระบุเวลาสิ้นสุดของสัญญา หากคู่สัญญาภาครัฐต้องผูกพันกับสัญญาตามเงื่อนไขข้อสัญญา โดยมีอัตราค่าพลังงานไฟฟ้าที่การไฟฟ้าจะรับซื้อเท่ากับอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งรวมกับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft ขายส่งเฉลี่ย ซึ่งในปัจจุบันต้นทุนพลังงานไฟฟาที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งรวมกับ Ft ขายส่งเฉลี่ย จะก่อให้เกิดภาระผูกพันในการรับซื้อและถูกส่งผ่านเป็นต้นทุนไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งหากภาครัฐมีนโยบายเปลี่ยนแปลงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ผู้ผลิตไฟฟ้าที่เป็นคู่สัญญาไม่ยินยอมตกลงแก้ไขสัญญาในส่วนของอัตรารับซื้อไฟฟ้าให้เป็นไปตามนโยบายรัฐที่เปลี่ยนแปลงไป ภาครัฐสามารถใช้สิทธิตามสัญญาหรือตามกฎหมายใด แจ้งไม่ต่อสัญญาหรือบอกเลิกสัญญาฝ่ายเดียวได้หรือไม่ เนื่องจากสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง ซึ่งภาครัฐสามารถพิจารณากำหนดแนวนโยบายการเปลี่ยนแปลงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ และ (2) กรณีที่ภาครัฐมีนโยบายให้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าต้องมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาที่ชัดเจนแต่เอกชนคู่สัญญาไม่ยินยอมตกลงแก้สัญญาให้มีระยะเวลาสิ้นสุดของสัญญา ภาครัฐมีอำนาจบังคับให้มีการแก้ไขสัญญาในเรื่องระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาได้หรือไม่ หากภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้ ภาครัฐจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร เพื่อให้กรณีดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุดแก่สาธารณะ ทั้งนี้ อส. ให้ความเห็นในกรณีดังกล่าวว่าภาครัฐจะมีวิธีการดำเนินการเป็นอย่างไรนั้น เป็นข้อหารือที่มิใช่กรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงขึ้นแน่นอนและเป็นที่ยุติแล้ว พน. ชอบที่จะเสนอประเด็นการเปลี่ยนแปลงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าและการกำหนดกรอบระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภทดังกล่าวไปยัง กพช. เพื่อพิจารณาให้เป็นที่ยุติก่อน
8. เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 กกพ. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นหน่วยงานของรัฐและโรงไฟฟ้า SPP และ VSPP มีการกำหนดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า เงื่อนไข อายุสัญญา หรือบทปรับระหว่างคู่สัญญาไว้ ซึ่งภาครัฐสามารถพิจารณากำหนดแนวนโยบายเปลี่ยนแปลงอัตรารับซื้อไฟฟ้าเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ ทั้งนี้ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตรา Adder หรือ FiT เนื่องจากเงื่อนไขของสัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับอัตรารับซื้อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออัตราค่าบริการอันเป็นลักษณะการอุดหนุนนเชิงนโยบาย (Policy Expenses: PE) ดังนั้น อัตราการรับซื้อใหม่ที่พ้นจากกำหนดเวลาเดิมที่ กพช. อนุมัติไว้ จึงต้องอยู่ในกำกับดูแลของภาครัฐ มิใช่สัญญาทางพาณิชย์ทั่วไป นอกจากนี้ เห็นควรให้มีการกำหนดเป็นกรอบนโยบายระบุระยะเวลาสิ้นสุดของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าด้วย โดยอาจพิจารณาอ้างอิงรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ FiT เช่น 25 ปี สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่ไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง เป็นต้น และมอบหมายให้การไฟฟ้าในฐานะคู่สัญญาเจรจากับ SPP หรือ VSPP เพื่อแก้ไขสัญญากันต่อไป ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจรากับคู่สัญญายังไม่มีข้อยุติ
9. เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 กบง. ได้พิจารณาเรื่องแนวทางการพิจารณาอายุสัญญาการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดผลกระทบค่าไฟฟ้า และมีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน หารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด และ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางการกำหนดการสิ้นสุดของอายุสัญญาโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภท Non-Firm ในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ให้ได้ข้อยุติ และนำเสนอ กบง. และ กพช. พิจารณาต่อไป และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป
มติของที่ประชุม
มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน หารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด และ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการหาแนวทางการกำหนดการสิ้นสุดของอายุสัญญาโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภท Non-Firm ในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ให้ได้ข้อยุติ และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาต่อไป
เรื่องที่ 5 มาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมครั้งที่ 7/2565 (ครั้งที่ 162) ได้มีมติมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเทินหินบุน เพิ่มเติม จำนวน 20 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตไฟฟ้าเดิม 440 เมกะวัตต์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ในอัตราค่าไฟฟ้าไม่มากกว่าสัญญาเดิม ซึ่ง กฟผ. ได้ดำเนินการตามมติ กพช. โดยได้ลงนามในหนังสือแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าร่วมกับบริษัท Theun-Hinboun Power Company (THPH) เพื่อรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม จำนวน 20 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ซึ่งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน (คณะอนุกรรมการฯ) ภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในการประชุมครั้งที่ 7/2566 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ได้พิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำระยะสั้นเพิ่มเติม จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ได้สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการไปแล้ว เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เนื่องจากพิจารณาจากข้อมูลที่ กฟผ. นำเสนอต้นทุนในการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนอยู่ที่ประมาณ 1.85 บาท ต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าแนวโน้มต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจาก Spot LNG ที่ระดับราคาสูงกว่า 3 บาท ต่อหน่วย โดยมอบหมายให้ กฟผ. พิจารณาจัดทำรายละเอียดข้อเสนอมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดการพึ่งพาการนำเข้า Spot LNG ซึ่งยังมีความเสี่ยงแนวโน้มราคาที่ผันผวนและอาจส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประเทศไทยในช่วงปี 2566 - 2567 ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณานำรายละเอียดที่ กฟผ. จัดทำซึ่งสอดคล้องตามมติคณะอนุกรรมการฯ เสนอต่อ กบง. โดยไม่ต้องนำเข้าคณะอนุกรรมการฯ อีกครั้ง ต่อไป
2. เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 กฟผ. ได้มีหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน ขอเสนอมาตรการขยายเวลารับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี โดยนับจากวันลงนามข้อตกลงเพิ่มเติม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หรือช่วงเวลาที่ กฟผ. พิจารณา โดย กฟผ. แจ้งว่าได้รับหนังสือจากบริษัท THPC เสนอให้ กฟผ. ขยายเวลาการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติมจำนวน 20 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 1 ปี ได้ โดยนับจากวันลงนามข้อตกลงเพิ่มเติม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หรือช่วงเวลาที่ กฟผ. พิจารณา โดยเสนอให้ใช้อัตราค่าไฟฟ้า รวมถึงเงื่อนไขการซื้อขายไฟฟ้าต่าง ๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และหนังสือแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายระหว่าง กฟผ. และบริษัท THPC ปัจจุบัน โดย กฟผ. พิจารณาเปรียบเทียบต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้าของหน่วยสุดท้าย (Short Run Marginal Cost) ณ เดือนกันยายน 2566 โดยช่วง Peak เท่ากับ 3.372 บาทต่อหน่วย และช่วง Off-Peak เท่ากับ 3.317 บาทต่อหน่วย ซึ่งยังเป็นต้นทุนที่สูง หากเปรียบเทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าของบริษัท THPC ที่มีราคาประมาณ 1.85 บาทต่อหน่วย ดังนั้น มาตรการการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติมระยะสั้น 1 ปี จะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและบรรเทาสถานการณ์ราคาพลังงานสูงของประเทศไทยได้ โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ (1) อายุสัญญา ระยะเวลา 1 ปี (วันลงนามข้อตกลง ถึง 31 ธันวาคม 2567 หรือช่วงเวลาตามที่จะพิจารณา) (2) ราคารับซื้อไฟฟ้า เป็นไปตาม PPA เดิม (ประมาณ 1.85 บาทต่อkWh ซึ่งถูกกว่าต้นทุนการผลิตหน่วยสุดท้าย ณ กันยายน 2566 ช่วง Peak 3.372 และช่วง Off-Peak 3.317 บาทต่อหน่วย) (3) เงื่อนไขการรับประกันการรับซื้อไฟฟ้า (Must Take) เป็นไปตาม PPA เดิม โดย 20 เมกะวัตต์ ส่วนเพิ่มของสัญญารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมนั้น จะไม่ถูกนำมาคำนวณเป็นพลังงานรับประกันการรับซื้อไฟฟ้า (4) ความจุสูงสุด 454 เมกะวัตต์ (Three Units) และ (5) ด้านระบบไฟฟ้า ไม่ทำให้ระบบไฟฟ้าของ กฟผ. มีปัญหาแรงดันต่ำหรือการจ่ายโหลดเกิดพิกัด ไม่ส่งผลกระทบต่อค่ากระแสไฟฟ้าลัดวงจร และไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแผนการผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ
3. เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 กบง. ได้พิจารณาเรื่องมาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน และมีมติเห็นชอบ ดังนี้ (1) รับทราบผลการดำเนินงานตามมาตรกาบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานสำหรับช่วงเดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนสิงหาคม 2566 (2) เห็นชอบมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี จำนวน 20 เมกะวัตต์ โดยนับจากวันลงนามข้อตกลงเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้ ไม่เกินกว่าวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ในอัตราค่าไฟฟ้าไม่มากกว่าสัญญาเดิม เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและบรรเทาสถานการณ์ราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง โดยมอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินการจัดทำข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมดังกล่าว และ (3) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. ให้ความเห็นชอบมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโครงการ เทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี ต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี จำนวน 20 เมกะวัตต์ โดยนับจากวันลงนามข้อตกลงเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้ ไม่เกินกว่าวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ในอัตรารับซื้อไฟฟ้า ประมาณ 1.85 บาท/kWh ตามสัญญาเดิม เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและบรรเทาสถานการณ์ราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง
2. มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการจัดทำข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี จำนวน 20 เมกะวัตต์ โดยนับจากวันลงนามข้อตกลงเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้ ไม่เกินกว่าวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ในอัตรารับซื้อไฟฟ้า ประมาณ 1.85 บาท/kWh ตามสัญญาเดิม
เรื่องที่ 6 แนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 เรื่อง แนวทางการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล ซึ่งเห็นชอบการบังคับใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี 7) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 เป็นทางเลือก ซึ่งกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้ออกประกาศกำหนดคุณภาพของน้ำมันดีเซล ตามมติ ครม. และมติ กพช. ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 (หรือน้ำมัน บี 7 ที่มีส่วนผสมไบโอดีเซลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (หรือน้ำมัน บี 10 ที่มีส่วนผสมไบโอดีเซลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 9 และไม่สูงกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 (หรือน้ำมัน บี 20 ที่มีส่วนผสมไบโอดีเซลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 19 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร) ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป
2. ธพ. มีแผนการบริหารจัดการชนิดน้ำมันในกลุ่มน้ำมันดีเซลตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการชนิดน้ำมัน ลดความสับสนของผู้บริโภค และลดต้นทุนการผลิตน้ำมัน ซึ่งในเบื้องต้นกำหนดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 เป็นหลัก (เกรดพื้นฐาน) เนื่องจากเป็นน้ำมันที่สามารถใช้กับรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 ซึ่งมีแผนจะผลิตจำหน่ายในวันที่ 1 มกราคม 2567 ได้ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ และกำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 เป็นทางเลือก สำหรับกลุ่มรถบรรทุกขนาดใหญ่ โดยไม่อุดหนุนราคา ทั้งนี้ หากในอนาคตผู้ผลิตรถยนต์มีการทดสอบหรือพัฒนาเทคโนโลยี และรับรองการใช้งานรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 ร่วมกับน้ำมันที่มีสัดส่วนผสมไบโอดีเซลมากขึ้น ก็จะมีการปรับเพิ่มสัดส่วนผสมของไบโอดีเซลในน้ำมันเกรดพื้นฐานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยียานยนต์ในอนาคตต่อไป โดยเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ธพ. ได้ประชุมร่วมกับผู้ค้าน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายด้านคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง และการบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 โดยที่ประชุมไม่มีข้อขัดข้องแนวทางดำเนินการเพื่อบังคับใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 และการบริหารจัดการชนิดน้ำมันในกลุ่มน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และร่างประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. .... ในการยกเลิกน้ำมันบี 10 ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้พิจารณาเรื่อง “การบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 และการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว” ซึ่งมีมติรับทราบแนวทางการบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 และการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และมอบหมายกรมธุรกิจพลังงานจัดส่งร่างประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. .... เสนอต่อคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของกระทรวงพลังงานพิจารณา ก่อนนำมาเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป
3. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ธพ. ได้เสนอร่างประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. .... ให้คณะกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของกระทรวงพลังงาน พิจารณา โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศตามที่ ธพ. เสนอ โดยให้ปรับแก้ไขข้อความในร่างประกาศตามความเห็นของที่ประชุม ซึ่ง ธพ. ได้ปรับแก้ข้อความในร่างประกาศดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ธพ. ได้ประชุมร่วมกับผู้ค้าน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 และการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการบังคับใช้น้ำมันยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และลดชนิดน้ำมันกลุ่มดีเซลในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567
4. เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 กบง. ได้พิจารณาเรื่องการบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 และการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วและมีมติเห็นชอบ ดังนี้ (1) เห็นชอบแนวทางการบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 และการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (2) มอบหมายให้ ธพ. ออกประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันของน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วให้เป็นไปตามสัดส่วนการผสม ดังนี้ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 และ (3) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอแนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ต่อ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป
5.แนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันกลุ่มดีเซลในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 มีกรอบดำเนินการ ดังนี้
5.1 จัดทำร่างประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. .... โดยยกเลิกมาตรฐานคุณภาพน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่มีส่วนผสมไบโอดีเซลร้อยละ 10 โดยปริมาตร (น้ำมัน บี 10) และกำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วมี 2 ประเภท ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (หรือน้ำมัน บี 7 ที่มีส่วนผสมไบโอดีเซลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร) กำหนดให้เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วชนิดพื้นฐานของประเทศ และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 (หรือน้ำมัน บี 20 ที่มีส่วนผสมไบโอดีเซลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 19 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร) เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วทางเลือก ทั้งนี้ ร่างประกาศดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของกระทรวงพลังงานเรียบร้อยแล้ว
5.2 การเตรียมการของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 11 (สถานีบริการน้ำมัน) โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 สถานีบริการน้ำมันจำหน่ายน้ำมันในกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว 2 ประเภท ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (หรือน้ำมัน บี 7) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 (หรือน้ำมัน บี 20) โดยในการดำเนินการ สถานีบริการน้ำมันจะต้องเปลี่ยนป้ายชื่อชนิดน้ำมันจากน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 จะต้องมีสัดส่วนผสมไบโอดีเซลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 19 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร
5.3 ระยะเวลาผ่อนผัน เนื่องจากจะมีการยกเลิกน้ำมันบี 10 ซึ่งมีสีม่วง คลังน้ำมันและสถานีบริการน้ำมันจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงถังเก็บน้ำมันไปจัดเก็บน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (น้ำมันบี 7) ซึ่งเป็นน้ำมันเกรดพื้นฐานตามประกาศฉบับใหม่แทน ซึ่งจะทำให้ในช่วงระยะเวลาที่มีการเปลี่ยนผ่านเกรดน้ำมัน น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (น้ำมันบี 7) จะมีสีผิดเพี้ยนไปจากที่กำหนดให้ต้องเป็นสีเหลือง จึงเห็นสมควรผ่อนผันเรื่องสีเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 ถึงเดือนกรกฎาคม 2567
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบแนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว
2. มอบหมายให้กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) นำเรียนคณะรัฐมนตรี เพื่อรับทราบแนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเห็นชอบต่อไป
3. มอบหมาย ธพ. ประสานกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการบริหารจัดการอุปทานน้ำมันปาล์มจากการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตามแนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการ ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนกันยายน – เดือนธันวาคม 2566 ในอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ต่อมา เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนกันยายน 2566 – เดือนธันวาคม 2566 ตามที่ผู้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจนำเสนอตามแนวทางมติ ครม. ในอัตรา 20.48 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับลดลงเป็น 3.99 บาทต่อหน่วย ต่อมา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 กกพ. ได้พิจารณาผลการรับฟังความคิดเห็นค่า Ft สำหรับงวดเดือนมกราคม 2566 – เดือนเมษายน 2567 โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน ร่วมกับการคำนึงถึงศักยภาพความมั่นคงในการบริการพลังงานของของผู้ใช้บริการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงมีมติเห็นชอบค่า Ft ขายปลีก สำหรับงวดเดือนมกราคม 2567 – เดือนเมษายน 2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเป็นกรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างของ กฟผ. ภายใน 2 ปี โดยคิดเป็นค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เท่ากับ 4.68 บาทต่อหน่วย
2. กระทรวงพลังงาน (พน.) จึงมีเป้าหมายบริหารจัดการอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม 2567 – เดือนเมษายน 2567 ให้ลดลงไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย ดังนั้น จึงต้องหาแนวทางลดค่าไฟฟ้าลง 48.00 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีแนวทางมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้นเดือนมกราคม 2567- เดือนเมษายน 2567 ดังนี้
2.1 การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย (1) การปรับราคาก๊าซธรรมชาติ เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งอื่น ๆ ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่นำไปใช้ในการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ใช้ต้นทุนราคา ก๊าซธรรมชาติเท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (Gulf Gas) ส่งผลให้ราคา Pool Gas โดยรวมลดลง ทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลง ซึ่งจะสามารถลดอัตราค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 11.50 สตางค์ต่อหน่วย (2) การส่งผ่าน Gulf Gas กรณีที่ผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซธรรมชาติได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Shortfall) ก๊าซธรรมชาติจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) โดยมอบหมายให้ กกพ. เรียกเก็บ Shortfall ก๊าซธรรมชาติจาก ปตท. จำนวน 4,300 ล้านบาท นำมาลดราคาก๊าซให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติทุกราย (ไม่รวมปริมาณโรงแยกก๊าซธรรมชาติ) ส่งผลให้ลดอัตราค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 4.48 สตางค์ต่อหน่วย และ (3) ให้ ปตท. ทบทวนปรับปรุงข้อมูลสมมติฐานปริมาณและราคาก๊าซธรรมชาติในการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับงวดเดือนมกราคม 2567 – เดือนเมษายน 2567 เพื่อนำเสนอ กกพ. ให้อัตราค่าไฟฟ้าเป็นไปตามเป้าหมาย
2.2 ให้ กฟผ. รับภาระเงินคงค้างสะสม (Accumulated Factor) สำหรับงวดเดือนมกราคม 2567 – เดือนเมษายน 2567 จำนวน 15,963 ล้านบาท แทนประชาชนไปพลางก่อน ซึ่งจะสามารถลดอัตราค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 25.37 สตางค์ต่อหน่วย
2.3 มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง พน. จึงเสนอให้ตรึงอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม 2567 – เดือนเมษายน 2567 เท่ากับงวดเดือนกันยายน 2566 – เดือนธันวาคม 2566 ที่อัตรา 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ประกอบด้วย ผู้ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และลูกค้าตรงของ กฟผ. และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ (กิจการไฟฟ้าสวัสดิการฯ) (ข้อมูล กกพ. ณ เดือนธันวาคม 2566) ซึ่งสามารถสรุปประมาณการจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าและหน่วยการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ดังนี้ (1) กฟน. และ กฟภ. มีผู้ใช้ไฟฟ้าและหน่วยการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่ไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จำนวน 17.77 ล้านราย คิดเป็นการใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 2,242.69 ล้านหน่วยต่อเดือน และสำหรับ กฟผ. และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการฯ มีผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จำนวนประมาณ 40,542 ราย (กฟผ. จำนวนประมาณ 3,680 ราย และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการฯ จำนวนประมาณ 36,862 ราย) คิดเป็นการใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 12.09 ล้านหน่วยต่อเดือน (2) ประมาณการงบประมาณสำหรับช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า จำนวน 21.19 สตางค์ต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 คิดเป็นงบประมาณรวมประมาณทั้งสิ้น 1,911.15 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบแนวทางมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้นเดือนมกราคม - เมษายน 2567 โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รับไปดำเนินการภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป
2. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง สำหรับงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2567 โดยใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จากคณะรัฐมนตรี วงเงินรวม 1,950 ล้านบาท เพื่อให้การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กฟผ. และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ สามารถดำเนินการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าตามมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป
3. มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงมหาดไทย กำกับและติดตามให้หน่วยงาน ในสังกัดที่มีอำนาจและหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า ไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว
กพช. ครั้งที่ 167 วันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2567
มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 1/2567 (ครั้งที่ 167)
วันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2567
2. การทบทวนหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ
3. การต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนจากรูปแบบ Adder เป็น Feed-in Tariff (FiT)
5. การทบทวนคณะกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(นายเศรษฐา ทวีสิน)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู)
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน (พน.) รับเรื่องมาตรการในการให้เอกชนสามารถทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ไปดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แล้วนำเสนอคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป และเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ครม. มีมติให้ พน. เร่งหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการในเรื่องมาตรการในการอนุญาตและส่งเสริมให้เอกชนสามารถทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้ากับผู้ผลิตพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนได้โดยตรง (Direct PPA) ให้เหมาะสมและชัดเจนโดยเร็ว แล้วนำเสนอต่อ กพช. ให้ทันการประชุมในคราวต่อไป ทั้งนี้ หากไม่สามารถพิจารณากำหนดมาตรการดังกล่าวทั้งระบบได้ทันตามกำหนดเวลาข้างต้น ให้พิจารณากำหนดเป็นมาตรการนำร่อง (Sandbox) แล้วนำเสนอ กพช. พิจารณา เพื่อทดลองใช้ดำเนินการเป็นกรณี ๆ ไป ตามความจำเป็นเหมาะสมก่อน ซึ่ง พน. โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จึงได้ศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หรือ Direct PPA รูปแบบต่าง ๆ รวมถึงได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อพิจารณาแนวทางการเปิดให้มีการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย (Direct PPA) ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยในระยะแรก
2. โครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศไทย ปัจจุบันเป็นแบบ Enhanced Single Buyer Model (ESB) หรือการไฟฟ้าเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว ตามที่ ครม. เห็นชอบเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 โดยมี กฟผ. เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า ส่งไฟฟ้า และเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน ได้แก่ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) รวมถึงรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ในขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายคือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โดย กฟผ. จะจำหน่ายไฟฟ้าผ่านระบบส่งไฟฟ้าให้แก่ กฟน. และ กฟภ. เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าภายในพื้นที่รับผิดชอบของการไฟฟ้า นอกจากนี้ กฟผ. ยังจำหน่ายไฟฟ้าบางส่วนโดยตรงให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่บางรายที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายไฟฟ้าได้ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator : SO) ทำหน้าที่ในการควบคุม บริหารและกำกับดูแลการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทั้งของ กฟผ. IPP SPP และที่รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพื่อให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคง สมดุล มีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ถูกที่สุด โดยมี กพช. เป็นผู้กำหนดนโยบายและแผนด้านพลังงานของประเทศ และมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานให้เป็นไปตามแนวนโยบายที่กำหนด โดย กกพ. มีอำนาจออกระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการกำกับกิจการพลังงานในเรื่องต่าง ๆ ตามที่พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ) กำหนด ซึ่งภายใต้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าแบบ ESB ภาครัฐสามารถกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าให้เป็นอัตราเดียวกัน ทั่วประเทศ (Uniform Tariff) ได้ เพื่อดูแลประชาชนทุกพื้นที่ให้มีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน มีการให้บริการไฟฟ้าสาธารณะ โดยใช้กลไกการชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ซึ่งมีต้นทุนการให้บริการและจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และมีการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัยกลุ่มเปราะบางหรือมีรายได้น้อย โดยให้ส่วนต่างระหว่างรายได้ค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อยกับต้นทุนทางบัญชีให้นับเป็นความต้องการรายได้ (Revenue Requirement) ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ตามมติ กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 อีกทั้ง ภาครัฐยังมีอำนาจในการบริหารจัดการและควบคุมสั่งการได้อย่างเด็ดขาด เพื่อควบคุมเสถียรภาพค่าไฟฟ้าของประเทศให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในช่วงวิกฤติพลังงาน
3. Direct PPA คือการที่ผู้ผลิตไฟฟ้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงกับผู้ใช้ไฟฟ้า โดยในต่างประเทศมีรูปแบบ Direct PPA 2 แบบ คือ 1) แบบที่มีการส่งมอบไฟฟ้าจริงทางกายภาพ (Physical Delivery PPA) โดยส่งมอบในพื้นที่ของผู้ใช้ไฟฟ้าเอง (On-Site PPA) หรือส่งมอบไฟฟ้าจากภายนอกพื้นที่ของผู้ใช้ไฟฟ้า (Off-Site PPA) แบ่งเป็นการส่งมอบไฟฟ้าผ่านสายส่งไฟฟ้าที่ดำเนินการเอง (Private Wire PPA) หรือการส่งมอบไฟฟ้าผ่านระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า (Bilateral หรือ Trilateral/Sleeved PPA) และ 2) แบบที่ไม่มีการส่งมอบไฟฟ้าจริงทางกายภาพ (Virtual/ Financial PPA) ซึ่งจะเป็นลักษณะของสัญญาทางการเงินที่มีการชดเชยส่วนต่างของราคา (Contract for Difference) ระหว่างราคาที่ตกลงกันและราคาซื้อขายไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในตลาดซื้อขายไฟฟ้า สัญญานี้จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาไฟฟ้าในตลาดซื้อขายไฟฟ้า สำหรับประเทศไทย ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วย บริษัทข้ามชาติที่มีการลงทุนและที่สนใจ จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และบริษัทส่งออกของไทย มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือไฟฟ้าสีเขียวที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามาจากแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้ เนื่องจากทั่วโลกเริ่มมีมาตรการส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าสะอาดซึ่งเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (Indirect Emission) อย่างจริงจัง เพื่อผลักดันให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการลดภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ สหภาพยุโรป ยังได้ออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งจะมีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในสหภาพยุโรปตามประเภทสินค้าที่กำหนด ดังนั้นรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Direct PPA ที่มีการส่งมอบไฟฟ้าจริงทางกายภาพ (Physical Delivery PPA) ซึ่งเป็นการส่งมอบไฟฟ้าพร้อมกับใบรับรองการผลิตไฟฟ้าสีเขียวของแหล่งผลิตไฟฟ้า (Bundled Renewable Energy Certificates: RECs) จึงสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยได้มากกว่าแบบที่ไม่มีการส่งมอบไฟฟ้าจริงทางกายภาพ (Virtual PPA) ทั้งนี้ สามารถสรุปรายละเอียดกลไกและรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Direct PPA ของประเทศไทย ทั้งในส่วนที่ดำเนินการมาแล้วและที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา ดังนี้
3.1 การซื้อขายไฟฟ้าโดยส่งมอบไฟฟ้าในพื้นที่ของผู้ใช้ไฟฟ้าเอง (On-Site PPA) เป็นการซื้อขายไฟฟ้าหลังมิเตอร์ (Behind-the-Meter) ที่ไม่มีการส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า ปัจจุบันสามารถดำเนินการได้โดยต้องมีการขอรับอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้าตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่ กกพ. ประกาศกำหนด ตัวอย่างเช่น Solar Rooftop ในอาคารหรือโรงงาน ขนาดกำลังผลิตติดตั้งตั้งแต่ 1,000 กิโลโวลต์-แอมแปร์ ขึ้นไป ต้องขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าและใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ขายไฟฟ้าให้กับโรงงานน้ำตาลต้องขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า ใบอนุญาตระบบจำหน่ายไฟฟ้า และใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Code) ของการไฟฟ้า เช่น ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าไหลย้อนกลับ แต่เนื่องจากการซื้อขายไฟฟ้าแบบ On-Site PPA โดยเฉพาะการติดตั้ง Solar Rooftop ได้รับความนิยมและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว ทั้งในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม โดยผู้ใช้ไฟฟ้ายังคงมีการรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าควบคู่กันไปเพื่อสำรองไว้ในช่วงที่โรงไฟฟ้าตามสัญญา On-Site PPA ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ภาครัฐจึงต้องทำหน้าที่ในการจัดหาไฟฟ้าให้เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าส่วนนี้และต้องวางแผนการจัดหาไฟฟ้าสำรองไว้ให้ตลอดเวลา ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าต้องปรับตัวสูงขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ และควรมีการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ให้สะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง เป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม และไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าของประชาชนที่อยู่ในระบบเดิม และมีมาตรการในการเก็บข้อมูลหรือรายงานจากผู้ใช้ไฟฟ้าทุกรายที่มีการซื้อขายไฟฟ้า เพื่อให้การวางแผนทางด้านพลังงานของประเทศมีความแม่นยำมากขึ้นและลดความเสี่ยงจากการเกิดไฟฟ้าดับได้
3.2 การซื้อขายไฟฟ้าโดยส่งมอบไฟฟ้าจากภายนอกพื้นที่ของผู้ใช้ไฟฟ้า (Off-Site PPA) ผ่านสายส่งไฟฟ้าที่ดำเนินการเอง (Private Wire PPA) เป็นการซื้อขายไฟฟ้าหลังมิเตอร์ (Behind-the-Meter) ที่ไม่มีการส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า ปัจจุบันไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ห้ามไม่ให้เอกชนดำเนินการ โดยต้องมีการขอรับอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้าตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ ซึ่งหากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กรายใดได้ดำเนินการขอรับใบอนุญาตจาก กกพ. และ กกพ. พิจารณาแล้วเห็นว่า มีคุณสมบัติตามระเบียบที่ กกพ. กำหนด รวมถึงได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตตามระเบียบดังกล่าวแล้ว กกพ. ย่อมมีอำนาจพิจารณาออกใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานประเภทระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่โรงไฟฟ้าเอกชนได้ ทั้งนี้ การพิจารณาออกใบอนุญาต กกพ. อาจกำหนดเงื่อนไขที่ให้คำนึงถึงผลกระทบต่อการดำเนินงานระบบจำหน่ายไฟฟ้าของหน่วยงานภาครัฐด้วยก็ได้ ในกรณีมีการก่อสร้างสายส่งหรือสายจำหน่ายไฟฟ้าจะต้องปฏิบัติตามประกาศ กกพ. เรื่อง หลักเกณฑ์ระยะห่างที่ปลอดภัยในการก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าของผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าตั้งแต่สองรายขึ้นไป พ.ศ. 2563 ภายใต้มาตรา 72 และ 75 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในระบบจำหน่ายไฟฟ้าและรักษาทรัพย์สินของผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า และในกรณีที่มีการปักเสาพาดสายผ่านในพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ของประชาชนจะต้องมีการขออนุญาตจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือขอใช้พื้นที่จากเจ้าของพื้นที่ด้วย ซึ่งการดำเนินการจะต้องไม่ขัดกับกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายผังเมือง และกฎหมายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มนี้มักต้องซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นไฟฟ้าสำรอง เมื่อแหล่งกำเนิดไฟฟ้าตามสัญญา Off-Site Private Wire PPA มีเหตุขัดข้องหรือสภาพอากาศไม่ดีทำให้ ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องวางแผนการจัดหาไฟฟ้าสำรองไว้ให้ตลอดเวลาและอาจส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าต้องปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่รับซื้อจากการไฟฟ้าจะมีความผันผวนมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อการวางแผนการจัดหาไฟฟ้าและการบริหารจัดการความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ จึงควรต้องมีการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง เป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า ทุกกลุ่มและไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าของประชาชนที่อยู่ในระบบเดิม และควรมีกลไกหรือมาตรการในการเก็บข้อมูลหรือรายงานจากผู้ใช้ไฟฟ้าทุกรายที่มีการซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะนี้ เพื่อให้การวางแผนทางด้านพลังงานของประเทศมีความแม่นยำมากขึ้นและลดความเสี่ยงจากการเกิดไฟฟ้าดับได้
3.3 การซื้อขายไฟฟ้าโดยส่งมอบไฟฟ้าจากภายนอกพื้นที่ของผู้ใช้ไฟฟ้า (Off-Site PPA) ผ่านระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า โดยมีการไฟฟ้าเป็นตัวกลางในการให้บริการรวบรวมการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องรับผิดชอบในการบริหารจัดการการผลิต การส่ง และการรับซื้อไฟฟ้าทั้งหมดด้วยตัวเอง (Trilateral/Sleeved PPA) เช่น อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) เป็นต้น โดยอัตราค่าบริการ UGT เป็นนโยบายที่ภาครัฐกำหนดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นกลไกในการตอบสนองและเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องการซื้อไฟฟ้าสีเขียวพร้อมใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC) ในบิลเดียวกัน (Bundled Electricity and REC) โดยที่ภาครัฐเป็นตัวกลางในการจัดหาและรวบรวมไฟฟ้าสีเขียว หรือไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียนซึ่งไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาเปิดให้บริการภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. ซึ่ง กกพ. ได้ออกประกาศ กกพ. เรื่อง หลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) พ.ศ. 2566 สำหรับการให้บริการไฟฟ้าสีเขียว ที่เป็นกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐ ภายใต้แนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 โดยกำหนดอัตราค่าบริการ UGT เป็น 2 รูปแบบ ดังนี้ 1) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบไม่เจาะจงแหล่งที่มา (UGT1) เป็นอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิม ในระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นการนำใบรับรอง REC ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าในการขอรับบริการ โดย ไม่มีการระบุรายชื่อโรงไฟฟ้าในสัญญาการให้บริการไฟฟ้า (Electricity Supply Agreement: ESA) ที่ผู้ซื้อไฟฟ้าทำกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ซึ่งอัตราค่าบริการที่เรียกเก็บจะเท่ากับอัตราค่าไฟฟ้าตามปกติบวกกับอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) ที่ครอบคลุมต้นทุนค่าใบรับรอง REC รวมถึงองค์ประกอบอื่นตามที่ กกพ. กำหนด ซึ่งการให้บริการรูปแบบนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยจะสามารถเข้าถึงบริการไฟฟ้าสีเขียวได้ด้วย และโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ายังคงเป็นไปตามโครงสร้างปกติของผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภท ภายใต้นโยบายที่กำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทเดียวกันใช้ไฟฟ้าในอัตราเท่ากันทั่วประเทศ (Uniform Tariff) และ 2) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว แบบเจาะจงแหล่งที่มา (UGT2) เป็นอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและใบรับรอง REC จากแหล่งเดียวกัน โดยผู้ใช้ไฟฟ้า ต้องเจาะจงกลุ่มโรงไฟฟ้า (Portfolio) ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของไฟฟ้าในการขอรับบริการ มีการระบุรายชื่อโรงไฟฟ้าในสัญญา ESA ที่ผู้ซื้อไฟฟ้าทำกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง โดยอัตราค่าบริการที่เรียกเก็บกำหนดจากต้นทุน การให้บริการพลังงานไฟฟ้าสีเขียวและใบรับรอง REC ของแต่ละกลุ่มโรงไฟฟ้า (Portfolio) รวมถึงองค์ประกอบอื่นตามที่ กกพ. กำหนด ซึ่งอาศัยหลักการแยกส่วนต้นทุนการให้บริการเป็น 2 ส่วน คือ ต้นทุนส่วนที่ผู้ใช้ไฟฟ้ายังคงรับบริการจากระบบไฟฟ้าเช่นเดียวกับผู้ใช้ไฟฟ้าในระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า และต้นทุนส่วนที่มาจากการใช้บริการกลุ่มโรงไฟฟ้า (Portfolio) ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าเลือกใช้
3.4 การซื้อขายไฟฟ้าโดยส่งมอบไฟฟ้าจากภายนอกพื้นที่ของผู้ใช้ไฟฟ้า (Off-Site PPA) ผ่านระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า โดยไม่มีการไฟฟ้าเป็นตัวกลางในการให้บริการรวบรวมการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการแจ้งปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าไปยังผู้ผลิตไฟฟ้าและแจ้งปริมาณไฟฟ้าที่ต้องส่งผ่านสายส่งไฟฟ้าไปยังผู้ให้บริการระบบส่งไฟฟ้าด้วยตนเองโดยไม่ผ่านตัวกลาง จึงเป็นการทำสัญญาสองฝ่ายระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้า (Bilateral PPA) ซึ่งต้องมีการเปิดให้บุคคลที่สามสามารถเข้ามาใช้หรือเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ได้ด้วย ซึ่ง พน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมการเพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Direct PPA ระหว่างเอกชนผ่านการขอใช้บริการ TPA ดังนี้ 1) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 กพช. ได้มีมติรับทราบการดำเนินโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (Energy Regulatory Commission Sandbox: ERC Sandbox) ของ กกพ. และเห็นชอบในหลักการให้มีการผ่อนปรนให้มีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชนผ่านโครงข่ายของการไฟฟ้า (Peer-to-Peer Energy Trading & Bilateral Trading) ภายใต้การกำกับของ กกพ. ร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ในพื้นที่การดำเนินโครงการ ERC Sandbox โดยกำหนดให้ใช้อัตราค่าบริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าตามที่ กกพ. กำหนด โดยมีกำลังผลิตติดตั้งรวมเพื่อใช้ในการทดสอบนวัตกรรมไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ ระยะเวลาแต่ละโครงการไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ หากแล้วเสร็จจะรายงานผลการดำเนินโครงการและผลการศึกษาเพื่อใช้ประกอบในการพิจารณากำหนดแนวทางการเปิดใช้ TPA ที่เหมาะสมต่อไป 2) กกพ. ได้ออกประกาศ กกพ. เรื่อง หลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access) พ.ศ. 2565 (TPA Framework) โดยให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง เป็นผู้มีหน้าที่ต้องจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA Code) รวมถึงอัตราค่าบริการ เสนอ กกพ. พิจารณาเห็นชอบ ปัจจุบัน สำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างการพิจารณาร่าง TPA Code ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และ 3) สนพ. ได้มีการศึกษารูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยอาศัยกลไกของตลาดซื้อขายไฟฟ้าและบทบาทของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในอนาคต และได้มีการหารือเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางการเปิดให้มีการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Direct PPA ที่เหมาะสมกับประเทศไทยในระยะแรก เพื่อประเมินถึงข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดและนำผลที่ได้ไปใช้ในการปรับปรุงก่อนพิจารณาขยายผลการดำเนินการในระยะต่อไป
4. ข้อเสนอแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบ Direct PPA ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือไฟฟ้าสีเขียว และให้ประเทศมีความพร้อมรองรับและดึงดูดการลงทุนจากบริษัทชั้นนำของโลกที่รัฐบาลได้เชิญชวนไว้และสนใจเข้ามาลงทุนในด้าน Data Center ซึ่งการลงทุนของบริษัทเหล่านี้ล้วนมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดทั้งสิ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการหรือกลไกเพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Direct PPA ผ่านการขอใช้บริการ TPA สำหรับ นักลงทุนที่ไม่ต้องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Direct PPA ด้วย UGT โดยการเปิดให้บุคคล ที่สามหรือภาคเอกชนสามารถมีการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ Direct PPA ผ่านการใช้บริการ TPA เป็นมาตรการของภาครัฐในการเปิดให้ภาคเอกชนสามารถมาขอใช้บริการ TPA เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Direct PPA ซึ่งจะเป็นรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสองฝ่ายระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้า โดยส่งไฟฟ้า ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA) หรือระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า ซึ่งจะต้องเสียค่าบริการ TPA ให้แก่เจ้าของระบบโครงข่ายไฟฟ้าตามที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ การเปิดให้มีการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ Direct PPA ผ่านการใช้บริการ TPA ถือเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับประเทศไทย จึงต้องมีการศึกษาและพิจารณาอย่างรอบคอบในทุกมิติ โดยในระยะแรกควรเป็นการดำเนินการในระยะทดลองหรือโครงการนำร่องที่มีการจำกัดปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าที่เหมาะสม โดยอาจพิจารณาจากบริษัทชั้นนำของโลกที่รัฐบาลได้เชิญชวนไว้และสนใจเข้ามาลงทุนในด้าน Data Center ซึ่งต้องเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ที่สร้างประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ และกำหนดขอบเขตการซื้อขายไฟฟ้าที่จำกัดและควบคุมได้ โดยจะต้องเป็นการดำเนินการในรูปแบบของการขายพลังงานไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง และไม่มีการขายพลังงานไฟฟ้ากลับมาให้ภาครัฐ เพื่อประเมินถึงข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดจากการดำเนินการ และนำผลที่ได้จากการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงก่อนพิจารณาขยายผลการดำเนินการ ในระยะต่อไป ซึ่งการดำเนินการต่าง ๆ จะกระทบต่อนโยบายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ (1) นโยบายโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ESB หรือการไฟฟ้าเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว ตามที่ ครม. เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 เห็นชอบตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 เรื่องการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและแนวทางการกำกับดูแล ในประเด็น ที่เกี่ยวกับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าแบบ ESB ซึ่งกำหนดให้ กฟผ. เป็นผู้ดำเนินการผลิตไฟฟ้า ผู้ส่งไฟฟ้า และเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว (Single buyer) โดยส่งกระแสไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ซึ่งจะกระทบต่อการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ Direct PPA ผ่านการใช้บริการ TPA ที่ไม่สามารถดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวระหว่างเอกชนได้ เนื่องจากจะขัดกับนโยบายโครงสร้างกิจการไฟฟ้าแบบ ESB และ (2) นโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ตามที่ กพช. เห็นชอบเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ซึ่งกำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทเดียวกันใช้ไฟฟ้าในอัตราเดียวทั่วประเทศ (Uniform Tariff) ซึ่งจะกระทบต่อการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ Direct PPA ผ่านการใช้บริการ TPA ที่ไม่สามารถกำหนดอัตราซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชน ที่แตกต่างกันได้ เนื่องจากจะขัดกับนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ดังนั้น ในการดำเนินการโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Direct PPA ผ่านการขอใช้บริการ TPA จะต้องมีการ ขอยกเว้นหรือผ่อนผันมติ ครม. และ กพช.
5. ฝ่ายเลขานุการฯ มีความเห็นว่า การเปิดให้มีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนแบบ Direct PPAผ่านการใช้บริการ TPA ซึ่งอาจพัฒนาเป็นตลาดไฟฟ้าเสรีได้ในอนาคตนั้น ถือเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับประเทศไทย ที่อาจส่งผลกระทบในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศที่มีผู้ได้รับผลกระทบ ผู้เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายหลายองค์กร จึงต้องมีการศึกษาและพิจารณาอย่างรอบคอบในทุกมิติ เพื่อให้ได้แนวทางและนโยบายที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศในปัจจุบันและอนาคต มีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าและประชาชนทั้งประเทศ ทั้งนี้ กลไกเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวผ่านข้อเสนออัตราค่าบริการ UGT เป็นมาตรการในระยะแรกที่ภาครัฐได้ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้มีการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Direct PPA ได้ในช่วงเร่งด่วน ในระยะแรกของการเปิดให้มีการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ Direct PPA ผ่านการขอใช้บริการ TPA ควรเป็นการดำเนินการในโครงการนำร่องที่มีการจำกัดปริมาณการซื้อขายไฟฟ้า ที่เหมาะสมและกำหนดขอบเขตการซื้อขายไฟฟ้าที่จำกัดและควบคุมได้ เนื่องจากการดำเนินการต่าง ๆ อาจกระทบต่อนโยบายโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ เพื่อประเมินถึงข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดจากการดำเนินการ เพื่อนำผลที่ได้จากการประเมินไปใช้ในการพิจารณาผลกระทบในทุกด้าน และพิจารณาการดำเนินการในระยะต่อไป ทั้งนี้ การพิจารณากลุ่มเป้าหมายในโครงการนำร่อง อาจให้ความสำคัญกับการลงทุนจากบริษัทชั้นนำของโลกที่รัฐบาลได้เชิญชวนไว้และสนใจเข้ามาลงทุนในด้าน Data Center ที่ไม่ต้องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Direct PPA ด้วยอัตราค่าบริการ UGT ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างประโยชน์แก่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบข้อเสนอแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) โดยกำหนดปริมาณกรอบเป้าหมายการดำเนินการ Direct PPA ไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์ โดยอนุญาตให้เฉพาะบริษัท Data Center ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามข้อกำหนดจากบริษัทแม่ และต้องเป็นการดำเนินการที่เท่าเทียมกันในทุกประเทศที่ไปลงทุน ซึ่งต้องเป็นการลงทุนขนาดใหญ่และไม่มีการขายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศ
2. เห็นชอบให้กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอยกเว้นมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 ที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 เรื่องการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและแนวทางการกำกับดูแล ในประเด็นที่เกี่ยวกับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า Enhanced Single Buyer (ESB) เฉพาะการดำเนินการโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA)
3. เห็นชอบให้ยกเว้นมติ กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 เรื่องนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2564 – 2568 ในประเด็นที่กำหนดให้อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภท ต้องเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ (Uniform Tariff) เฉพาะการดำเนินการโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA)
4. มอบหมาย พน. สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ร่วมกันจัดทำรายละเอียด หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข การดำเนินการโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ทั้งนี้ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 และให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป
5. มอบหมายคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จัดทำอัตราค่าบริการการใช้และเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ที่ครอบคลุมค่าบริการต่าง ๆ เช่น 1) ค่าบริการระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) 2) ค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Connection Charge) 3) ค่าบริการความมั่นคงระบบไฟฟ้า (System Security Charge หรือ Ancillary Services Charge) 4) ค่าบริการหรือค่าปรับในการปรับสมดุลหรือบริหารปริมาณไฟฟ้า (Imbalance Charge) 5) ค่าใช้จ่ายเชิงนโยบาย (Policy Expenses) และค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในภาพรวมทั้งประเทศ และสอดรับกับข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการด้วย ทั้งนี้ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 และให้นำเสนอ กบง. พิจารณาเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป
6. มอบหมาย พน. และ กกพ. ศึกษาผลกระทบจากการดำเนินการโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ที่มีผลต่อสถานภาพของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และผลกระทบที่มีต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทางด้านประชาชนและอุตสาหกรรม
เรื่องที่ 2 การทบทวนหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. เมื่อปี 2516 มีการค้นพบก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนมากในอ่าวไทย ทำให้รัฐบาลตัดสินใจดำเนินโครงการพัฒนาก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ และสร้างความมั่นคงทางพลังงานขึ้นภายในประเทศ โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ในปัจจุบัน) ดำเนินโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลเส้นที่ 1 สายประธาน จากแหล่งเอราวัณขึ้นฝั่งที่จังหวัดระยอง และวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกงและโรงไฟฟ้าพระนครใต้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยเริ่มส่งก๊าซธรรมชาติในปี 2524 ซึ่งตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ได้มีการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีการอนุมัติขยายโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติตามแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ฉบับที่ 1 ถึง 3 และแผนโครงสร้างพื้นฐาน ก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคง ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมด 5 พื้นที่ (Zone) ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 4 สิงหาคม 2564 ดังนี้ พื้นที่ 1 ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่ง (รวมท่อของบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด (TTM)) พื้นที่ 2 ระบบท่อส่ง ก๊าซธรรมชาติบนฝั่งที่ขนอม พื้นที่ 3 ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนฝั่ง พื้นที่ 4 ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนฝั่ง ที่จะนะ และพื้นที่ 5 ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนฝั่งที่น้ำพอง
2. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นโครงการที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูง เป็นกิจการที่อยู่ในลักษณะของการผูกขาด โดยการปิโตรเลียม แห่งประเทศไทย (บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ในปัจจุบัน) เป็นผู้ดำเนินการเพียงรายเดียว รัฐบาลจึงมีนโยบายในการกำหนดอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ โดยใช้หลักต้นทุนการให้บริการ (Cost of Service) ในลักษณะกิจการสาธารณูปโภค (Utility Tariff) และเห็นชอบหลักเกณฑ์ในการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ ดังนี้
2.1 ก่อนมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) (ปี 2535 – 2550) ซึ่งเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2535 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2535 เรื่องสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง กฟผ. กับ ปตท. โดยอัตราค่าผ่านท่อ เป็นอัตราตามที่ตกลงกันระหว่าง กฟผ. และ ปตท. และให้มีการคิดค่าขนส่งทางท่อ โดยใช้หลักต้นทุนการให้บริการ (Cost of Service) ในลักษณะของกิจการสาธารณูปโภค (Utility Tariff) และให้มีหลักเกณฑ์ การกำหนดค่าผ่านท่อที่โปร่งใส จากนั้นวันที่ 13 สิงหาคม 2539 ครม. ได้มีมติเห็นชอบตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 เรื่องนโยบายราคาก๊าซธรรมชาติและการกำกับดูแล โดยเห็นชอบแนวทางการกำกับดูแลการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าผ่านท่อ และกำหนดให้มีการกำกับดูแลโดย กพช. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) (สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในปัจจุบัน) ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2544 ครม. ได้มีมติเห็นชอบตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2544 เรื่องแนวทางการกำกับดูแลกิจการก๊าซธรรมชาติ และหลักการร่างประกาศ กพช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ และเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2544 กพช. ได้ออกประกาศ กพช. ฉบับที่ 1/2544 เรื่อง หลักเกณฑ์การกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 กพช. ได้พิจารณาเรื่อง การทบทวนหลักเกณฑ์นโยบายราคาก๊าซธรรมชาติและการกำกับดูแล และมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณราคาเฉลี่ยของเนื้อก๊าซธรรมชาติในเรื่องการปรับกลุ่มสำหรับการคำนวณราคาเนื้อก๊าซเฉลี่ย (Pool) และการกำหนดพื้นที่ (Zone) ในการคำนวณอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ และมีมติเห็นชอบ ให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติโดยมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้พิจารณาและให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์ใหม่ของการคำนวณอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ โดยให้มีผลบังคับใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติ และมอบหมายให้ สนพ. จัดทำคู่มือการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ ธันวาคม 2550 เพื่อสำหรับใช้ในการอ้างอิงในการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้น
2.2 เมื่อพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ) ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2550 และเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 พระมหากษัตริย์ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง กกพ. ดังนั้น ในการพิจารณาอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติจะเป็นไปตามขั้นตอนที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ และเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ครม. มีมติรับทราบมติ กพช. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ได้เห็นชอบการทบทวนการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (NG) และมอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และให้คงหลักเกณฑ์การคำนวณอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ (T) ตามคู่มือการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ ธันวาคม 2550 ทั้งนี้ ในส่วนของการประเมินมูลค่าสินทรัพย์และขยายอายุใช้งานใหม่ของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ในอนาคต ที่ผ่านมาได้กำหนดให้ดำเนินการประเมินโดย ปตท. โดยต้องได้รับความเห็นชอบจาก สนพ. และมอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้ดำเนินการประเมินมูลค่าทรัพย์สินและขยายอายุใช้งานใหม่ในอนาคตแทน ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 กพช. มีมติเห็นชอบการทบทวนนโยบายการกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติตามที่สำนักงาน กกพ. เสนอ โดยในกรณีการลงทุนเดิมของผู้รับใบอนุญาต จะยังคงระดับอัตราผลตอบแทนการลงทุนตลอดอายุโครงการเดิม เพื่อคงสิทธิหรือภาระผูกพันที่มีอยู่เดิมตามมติ กพช. ที่เห็นชอบไว้ก่อนหน้า สำหรับผลตอบแทนการลงทุนโครงการใหม่ในอนาคตกำหนดเป็นอัตราคงที่ตลอดอายุโครงการ โดยจะพิจารณาจากต้นทุนเงินทุนส่วนเพิ่มสำหรับโครงการใหม่เพื่อให้ได้อัตราผลตอบแทนที่เหมาะสมต่อไป และมอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป และเห็นชอบแนวทางการคำนวณอัตราค่าบริการขนส่งก๊าซธรรมชาติใหม่ ใช้หลักการ Building Block โดยคำนวณอัตราค่าบริการจากรายได้ที่ผู้รับใบอนุญาตควรได้รับ (Allowed Revenue) ที่สะท้อนเงินลงทุน ค่าใช้จ่าย และผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปต้นทุนเงินทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Weighted Average Cost of Capital : WACC) ที่ กกพ. เห็นชอบ และเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 กพช. มีมติเห็นชอบโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่สอดคล้องกับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 และเห็นชอบการทบทวนพื้นที่ (Zone) ในการคิดค่าบริการตามการใช้ระบบท่อส่งก๊าซของผู้ซื้อก๊าซ โดยคำนวณค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติพื้นที่ 1 ที่รวมค่าผ่านท่อในทะเลทั้งหมด ซึ่งนำค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติของ TTM นำมาคำนวณรวมในอัตราค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลของ ปตท. ด้วย ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงการแบ่งพื้นที่สำหรับการคิดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติในภายหลังให้เป็นไปตามที่ กกพ. กำหนด โดย กกพ. ได้มีการกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับผู้รับใบอนุญาตขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อผ่านระบบส่งก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย อัตราค่าบริการส่วนของต้นทุนคงที่ (Td) และอัตราค่าบริการ ส่วนของต้นทุนผันแปร (Tc) มาใช้ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา
3. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงและมีลักษณะของการผูกขาด โดยมี ปตท. เป็นผู้ดำเนินการเพียงรายเดียว การกำหนดอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติใช้หลักต้นทุนการให้บริการ (Cost of Service) ในลักษณะกิจการสาธารณูปโภค (Utility Tariff) และได้จัดทำคู่มือการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ ธันวาคม 2550 เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์การคำนวณอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งที่ผ่านมาการคำนวณอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่หมดอายุการใช้งาน ไม่สะท้อนการดำเนินการที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้น ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเห็นควรให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมด โดยให้หมายรวมถึงการลงทุนของผู้รับใบอนุญาตทั้งก่อนและหลังมีพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณาทบทวนสรุปได้ ดังนี้ 1) มูลค่าสินทรัพย์และขยายอายุการใช้งานใหม่ 2) ค่าใช้จ่ายการดำเนินการและค่าบำรุงรักษา 3) อัตราผลตอบแทนการลงทุนในส่วนของทุน (Internal Rate of Return on Equity, IRROE) 4) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาว 5) สัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของ (Debt To Equity) 6) คู่มือการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ ธันวาคม 2550 และ 7) มติ กพช. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559
4. เพื่อให้การกำหนดอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติมีความโปร่งใสเป็นธรรม สะท้อนค่าใช้จ่าย ที่เกิดขึ้นจริง ฝ่ายเลขานุการฯ เห็นควรให้ยกเลิกคู่มือการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่ง ก๊าซธรรมชาติ ธันวาคม 2550 และให้ยกเลิกมติ กพช. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 เรื่อง การทบทวนนโยบายการกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติที่กำหนดว่า กรณีการลงทุนเดิมของผู้รับใบอนุญาต จะยังคงระดับผลตอบแทนการลงทุนตลอดอายุโครงการเดิม เพื่อคงสิทธิหรือภาระผูกพันที่มีอยู่เดิมตามมติ กพช. ที่เห็นชอบ ไว้ก่อนหน้า ทั้งนี้ ให้ กกพ. เป็นผู้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ ต่อไป รวมทั้งเห็นควรให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติของระบบท่อส่ง ก๊าซธรรมชาติทั้งหมด ดังนี้ 1) มูลค่าสินทรัพย์สำหรับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ครบอายุการใช้งานตามแผนและมีการขยายอายุการใช้งานใหม่ ให้นำเฉพาะเงินลงทุนของสินทรัพย์ส่วนที่ขยายปรับปรุงหรือทดแทนของสินทรัพย์เดิมในการซ่อมแซมหรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อให้สินทรัพย์นั้นอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ตลอดอายุการใช้งาน มารวมเป็นมูลค่าของสินทรัพย์ได้ (Additional CAPEX) ตามราคาต้นทุน และ 2) หลักเกณฑ์ การคำนวณอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ ในส่วนของค่าใช้จ่ายดำเนินการและค่าบำรุงรักษา ให้พิจารณาค่าใช้จ่ายที่สะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง และกำหนดผลตอบแทนการลงทุนในรูปแบบต้นทุนเงินทุนถัวเฉลี่ย ถ่วงน้ำหนัก (Weighted Average Cost of Capital: WACC) ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม การลงทุนหรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในปัจจุบันและอนาคตของการประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติตามสภาวะตลาดก๊าซธรรมชาติของประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลโดย กกพ.
มติของที่ประชุม
รับทราบข้อเสนอหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ มอบหมายให้ ฝ่ายเลขานุการฯ รับไปพิจารณาทบทวนในรายละเอียดของข้อเสนอดังกล่าว โดยนำข้อสังเกตของที่ประชุม ไปประกอบการพิจารณา และนำมาเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาในการประชุมคราวต่อไป
เรื่องที่ 3 การต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนจากรูปแบบ Adder เป็น Feed-in Tariff (FiT)
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรูปแบบ Adder เป็น Feed-in Tariff (FiT) และมอบให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) รับไปดำเนินการตามแนวทางดังนี้ 1) ประกาศหยุดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Adder โดยมีผลถัดจากวันที่ กพช. มีมติ 2) โครงการที่ได้ดำเนินการยื่นคำร้อง ขอขายไฟฟ้าในรูปแบบ Adder แล้ว แต่มีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการภายใต้รูปแบบ FiT เห็นควรให้ดำเนินการดังนี้ (1) สำหรับกลุ่มโครงการที่ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ให้คงอยู่ในรูปแบบ Adder ต่อไป (2) สำหรับกลุ่มโครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว หรือเป็นโครงการที่ได้รับการอนุมัติตอบรับซื้อไฟฟ้าในปี 2557 สามารถปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบ FiT ได้ ทั้งนี้ โครงการที่จะเปลี่ยนรูปแบบได้ จะต้องเป็นโครงการที่ยัง ไม่เคยมีการต่ออายุโครงการหรือโครงการที่ไม่เลยกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ โดยจะต้องขอยกเลิกสัญญาเดิมโดยไม่มีการหักเงินค้ำประกัน และให้ยื่นคำร้องใหม่ในรูปแบบ FiT ภายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 กับสำนักงาน กกพ. โดยได้รับอัตรา FiT ตามอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2558 และให้มีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตามที่เคยได้ยื่นไว้ในระบบ Adder เดิม และ (3) สำหรับกลุ่มโครงการที่ยื่นคำร้องขอขายไฟฟ้าแล้ว แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติการตอบรับซื้อไฟฟ้า (ยังไม่มีข้อผูกพันกับภาครัฐ) สามารถปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบ FiT ได้ แต่ต้องยกเลิกคำร้องเดิมโดยไม่มีการหักเงินค้ำประกัน และยื่นคำร้องใหม่ในรูปแบบ FiT โดยการรับซื้อไฟฟ้าจะเป็นรูปแบบการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) เสมือนเป็นโครงการเสนอใหม่ ทั้งนี้ต้องยกเลิกคำร้องภายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 กับสำนักงาน กกพ.
2. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 กพช. ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวลตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 โดยให้โครงการชีวมวลในรูปแบบ Adder สามารถเลือกปรับรูปแบบ Adder เป็น FiT ได้ดังนี้ 1) สามารถเลือกที่จะอยู่ในรูปแบบ Adder อย่างเดิมต่อไป ได้ตามเงื่อนไขเดิม หรือ 2) สามารถเลือกที่จะเปลี่ยนเป็นรูปแบบ FiT ได้ โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ (1) ได้รับอัตรา FiT และ FiT Premium ตามที่ กพช. ได้มีมติไว้ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 (2) มีอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าคงเหลือในรูปแบบ FiT เท่ากับอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่กำหนดไว้ 20 ปี ปรับลดด้วยระยะเวลาที่ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ไปแล้วและปรับลดระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าอีก และ (3) ภายหลังสิ้นสุดอายุสัญญาในรูปแบบ FiT แล้ว ภาครัฐอาจสามารถที่จะพิจารณาต่ออายุสัญญาไปอีกตามจำนวนปีที่ถูกปรับลด โดยการพิจารณาต่ออายุสัญญาจะต้องมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ กพช. มีมติ โดยให้ฝ่ายเลขานุการฯ ทำหนังสือแจ้งมติมายังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยไม่ต้องรอการรับรองรายงานการประชุมของ กพช. และมอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการในส่วน ที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในรูปแบบ Adder หากเลือกสิทธิที่จะคงอยู่ ในรูปแบบ Adder หรือปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบ FiT แล้ว จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าได้อีกต่อไป
3. เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 วุฒิสภาได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่อง การปรึกษาหารือของสมาชิกวุฒิสภาก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนหรือปัญหาอื่นใดต่อประธานของที่ประชุมก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา เรื่อง การต่ออายุโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งมติ กพช. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 ได้มีมติว่าภายหลังที่สิ้นสุดสัญญา ให้สามารถต่ออายุโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่คำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะซึ่งโครงการนี้สามารถพิจารณาได้ว่ามีประโยชน์ต่อสาธารณะหลายด้าน ซึ่งหากโครงการดังกล่าวถูกระงับ โดยไม่ได้รับการต่ออายุ จะทำให้ประเทศสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจหลายหมื่นล้านบาท และหากต้องตั้งโรงไฟฟ้าใหม่ขึ้น ต้องใช้ระยะเวลา 3 ปี ทำให้เสียมูลค่าทางเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท จึงขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล เนื่องจากเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจชุมชน
4. เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 สมาคมโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนได้มีหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ขอให้พิจารณาต่ออายุสัญญาหรือขยายอายุสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่สิ้นสุดอายุสัญญา เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลแต่ละแห่งยังสามารถผลิตขายกระแสไฟฟ้าได้ ดังนั้นการไม่ต่อหรือขยายอายุสัญญาเป็นการเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์โรงไฟฟ้า
5. โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็น FiT จำนวนทั้งหมด 121 ราย มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,468.1 MW ปริมาณขายตามสัญญารวมทั้งหมด 767.4 MW โดยมีโรงไฟฟ้าที่จะหมดอายุสัญญา พ.ศ. 2567 - 2573 จำนวน 97 ราย กำลังติดตั้ง 1,223.1 MW ปริมาณขายตามสัญญา 619.8 MW และโรงไฟฟ้าที่จะหมดอายุสัญญา พ.ศ. 2574 – 2582 จำนวน 24 ราย กำลังติดตั้ง 245.0 MW ปริมาณขายตามสัญญา 147.6 MW
6. ข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้ากรณีการต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็น FiT ดังนี้
6.1 หลักการพิจารณาต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็น FiT มีการพิจารณาดังนี้ 1) การพิจารณาต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลต้องเป็นโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็น FiT ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 2) การพิจารณาต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจะพิจารณาต่ออายุสัญญาตามระยะเวลาที่ถูกปรับลด ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 (ต่ออายุได้ 27 – 56 เดือน) 3) การพิจารณาต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าวจะต้องไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน และ 4) การพิจารณาต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าวมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีศักยภาพระบบไฟฟ้ารองรับการดำเนินการดังกล่าวด้วย
6.2 อัตรารับซื้อไฟฟ้ากรณีการต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็น FiT โดยโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็น FiT ถูกปรับลดอายุสัญญาโครงการลงตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 หากภาครัฐพิจารณาให้ต่ออายุสัญญาโครงการตามจำนวนปีที่ถูกปรับลดลง โครงการดังกล่าวจะสามารถผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบเพิ่มได้ โดยไม่ต้องมีการลงทุนเครื่องจักรใหม่ เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้มีการผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) มาแล้ว แต่ยังไม่ครบอายุโครงการ (20 ปี) ตามอายุมาตรฐานของเครื่องจักร/โรงไฟฟ้า จึงอาจทำให้เครื่องจักรและโรงไฟฟ้ายังอยู่ ในสภาพที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากมีการต่ออายุสัญญาออกไป โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะไม่มีความเสี่ยงเรื่องการเงินและการดำเนินธุรกิจเนื่องจากได้รับการคืนทุนเงินลงทุนโครงการและได้รับผลตอบแทนจากการขายไฟฟ้าตามมาตรการรับซื้อไฟฟ้า FiT ตามที่กำหนดแล้ว ทำให้ภาครัฐสามารถที่จะพิจารณาอัตรา รับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ และไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ โดยกำหนดสมมติฐานในการพิจารณาการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ดังนี้ 1) ไม่นำต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า (CAPEX) มาพิจารณาประกอบการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT สำหรับโครงการที่ต่ออายุ เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้รับการคืนทุนเงินลงทุนโครงการและได้รับผลตอบแทนจากการขายไฟฟ้าตามมาตรการรับซื้อไฟฟ้า FiT ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 ไปแล้ว 2) มีการนำค่าใช้จ่ายการดำเนินการและค่าบำรุงรักษา (O&M) มาพิจารณาประกอบการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT สำหรับโครงการที่ต่ออายุ ในระดับที่เหมาะสม 3) กำหนดอัตรา FiTv ที่ประมาณ 1.97 บาทต่อหน่วย (อ้างอิงจากประกาศการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำหรับอัตรา FiTv ของชีวมวล ประจำปี 2567) เพื่อสะท้อนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง โดยให้ใช้อัตรา FiTv คงที่ 1.97 บาทต่อหน่วย สำหรับกำลังผลิตตามสัญญาทุกขนาดตลอดอายุสัญญาที่เหลือ 4) กำหนดค่าตัวประกอบโรงไฟฟ้า (Plant Factor) ร้อยละ 70 และ 5) กำหนดระดับผลตอบแทนเทียบกับค่าใช้จ่าย O&M ประมาณร้อยละ 8 ซึ่งจากสมมติฐานดังกล่าวได้นำมากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT สำหรับการต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็น FiT ในอัตราคงที่ 2.28 บาทต่อหน่วย สำหรับกำลังผลิตตามสัญญาทุกขนาดตลอดอายุสัญญาที่เหลือ
7. ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเห็นว่าควรที่จะต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบ Adder เป็น FiT ตามอายุสัญญาโครงการที่ถูกปรับลดลงตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 (ต่ออายุได้ 27 – 56 เดือน) เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบ Adder เป็น FiT ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 ถูกปรับลดอายุสัญญาโครงการลง โดยอาศัยหลักการมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV) ของโครงการ โดย NPV ของรายได้ที่ผู้ประกอบการได้รับในรูปแบบ FiT ต้องเท่ากับ NPV ของรายได้ที่พึงจะได้รับในรูปแบบ Adder จนกว่าจะครบอายุโครงการ 20 ปี อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว ยังสามารถผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบเพิ่มได้โดยไม่ต้องมีการลงทุนเครื่องจักรใหม่ เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้มีการผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) มาแล้วแต่ยังไม่ครบอายุโครงการ (20 ปี) จึงอาจทำให้เครื่องจักรและโรงไฟฟ้ายังอยู่ในสภาพที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมติ กพช. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 กำหนดว่าภายหลังสิ้นสุดอายุสัญญาในรูปแบบ FiT แล้ว ภาครัฐอาจสามารถที่จะพิจารณาต่ออายุสัญญาไปอีกตามจำนวนปีที่ถูกปรับลด โดยการพิจารณาต่ออายุสัญญาจะต้องมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะ เป็นสำคัญ ดังนั้นการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการด้วยอัตราที่ถูกลงดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า และอาจช่วยให้อัตราค่าไฟฟ้าถูกลง อีกทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงานอีกด้วย
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้ากรณีการต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็น Feed-in Tariff (FiT) และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. เห็นชอบให้กรรมสิทธิ์ในใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) หรือคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ที่เกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็น Feed-in Tariff (FiT) ที่ได้รับการต่ออายุสัญญา เป็นกรรมสิทธิ์ของการไฟฟ้าในฐานะผู้รับซื้อ หรือภาครัฐ
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550) มาตรา 23 กำหนดให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ออกกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง และวัสดุ อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริมการใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง และวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้ผู้ผลิตและ ผู้จำหน่ายเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง หรือวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน มีสิทธิขอรับการส่งเสริมและช่วยเหลือตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว
2. การจัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (ร่างกฎกระทรวงฯ) และร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ดำเนินการสำรวจข้อมูลด้านต่าง ๆ เช่น จำนวน รุ่น ปริมาณการใช้พลังงาน เพื่อนำมากำหนดเป็นกลุ่มตัวอย่างและจำนวนตัวอย่างที่ต้องสุ่มทำการทดสอบ รวมถึงแนวทางการหา ค่าประสิทธิภาพพลังงาน วิธีมาตรฐานการทดสอบ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงทำการทดสอบหาค่าประสิทธิภาพพลังงาน ประมวลผลการทดสอบตามหลักสถิติ โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นสูง (High Energy Efficiency Standards: HEPS) ประมาณร้อยละ 20 และกำหนดให้ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำ (Minimum Energy Efficiency Standards: MEPS) ประมาณร้อยละ 3 ทั้งนี้ จะดำเนินการปรับให้เหมาะสมกับแต่ละผลิตภัณฑ์โดยคำนึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น จำนวนยี่ห้อ ที่ผ่านเกณฑ์ เป็นต้น ซึ่งการจัดทำร่างกฎกระทรวงฯ และร่าง มอก. ต้องผ่านการพิจารณาของคณะทำงานวิชาการที่มีความรู้ความชำนาญตามสาขาต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการพิจารณาจัดทำร่างกฎกระทรวงฯ รวมทั้งการสัมมนารับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยมีขั้นตอนการพิจารณาดังต่อไปนี้ (1) คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย พพ. (2) คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน (3) คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย กระทรวงพลังงาน (4) คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) (5) กพช. (6) คณะรัฐมนตรี (7) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) (8) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงนาม และ (9) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา โดยร่าง มอก. ที่ผ่านคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน แล้ว พพ. จะนำส่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อพิจารณากำหนด มอก. คุณลักษณะที่ต้องการด้านประสิทธิภาพพลังงานต่อไป โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึง ปีปัจจุบัน พพ. ได้ศึกษาและจัดทำกฎกระทรวงแล้ว จำนวน 73 ฉบับ (73 ผลิตภัณฑ์) ซึ่งผลจากการศึกษาจะได้ HEPS นำมาจัดทำเป็นกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง หรือวัสดุ อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และ MEPS นำมาจัดทำเป็น มอก. คุณลักษณะที่ต้องการด้านประสิทธิภาพพลังงาน นำส่ง สมอ. ประกาศบังคับใช้ต่อไป ซึ่งปัจจุบัน พพ. ได้ส่งร่าง มอก. ให้กับ สมอ. และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 30 ฉบับ ในจำนวนนี้เป็นมาตรฐานบังคับ 5 ฉบับ และมาตรฐานทั่วไป 25 ฉบับ
3. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 กบง. ได้พิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 17 ฉบับ (17 ผลิตภัณฑ์) มีมติรับทราบ ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 17 ฉบับ (17 ผลิตภัณฑ์) และมอบหมาย พพ. จัดส่งร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของกระทรวงพลังงานพิจารณา ก่อนนำมาเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป ซึ่งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกระทรวงพลังงาน ได้พิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ จำนวน 17 ฉบับ (17 ผลิตภัณฑ์) และได้มีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงฯ จำนวน 7 ฉบับ (7 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียว หลอดแอลอีดีหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดี เครื่องเชื่อมไฟฟ้า คอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็น เครื่องดูดฝุ่นชนิดลากพื้น เครื่องทอดแบบน้ำมันท่วม และเครื่องดูดควันสำหรับเตาหุงต้ม ตามที่ พพ. เสนอ และให้ดำเนินการเสนอต่อ กบง. พิจารณาต่อไป (2) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงฯ จำนวน 3 ฉบับ (3 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องอัดอากาศแบบเกลียว และกระจก โดยให้ พพ. รับความเห็นและข้อสังเกตของคณะกรรมการ ไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎกระทรวงฯ ก่อนที่จะนำเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป และ (3) เห็นชอบให้ พพ. ถอนร่างกฎกระทรวงฯ จำนวน 7 ฉบับ (7 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ ฉนวนกันความร้อนอุณหภูมิต่ำ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตู้แช่เย็นแสดงสินค้าแบบกึ่งตั้ง ตู้แช่เย็นแสดงสินค้าแบบตั้ง เครื่องแช่เย็นและเครื่องแช่แข็งอย่างรวดเร็ว ยางนอกรถจักรยานยนต์ และเครื่องเป่าผม ออกจากวาระการประชุม และเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 กบง. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 7 ฉบับ (7 ผลิตภัณฑ์) ตามที่ พพ. เสนอ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช.พิจารณา ให้ความเห็นชอบต่อไป
4. ร่างกฎกระทรวงฯ แต่ละผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย หลักการและเหตุผล นิยาม ค่าประสิทธิภาพพลังงาน และมาตรฐานการทดสอบ ห้องทดสอบ โดยมีรายละเอียดการกำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานขั้นสูงของร่างกฎกระทรวงฯ ทั้ง 7 ผลิตภัณฑ์ ดังนี้
4.1 ร่างกฎกระทรวงกำหนดมอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียวที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามขนาดกำลังด้านออก และจำนวนขั้วของมอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียวที่ผู้ผลิตระบุ ดังนี้ (1) มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียว 2 ขั้ว ค่าประสิทธิภาพพลังงานของขนาดกำลังด้านออก 0.12 กิโลวัตต์ คือ ร้อยละ 53.6 ถึงร้อยละ 66.5 จนถึงขนาดกำลังด้านออก 7.50 กิโลวัตต์ คือ ร้อยละ 88.1 ถึงร้อยละ 91.7 และ (2) มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียว 4 ขั้ว ค่าประสิทธิภาพพลังงานของขนาดกำลังด้านออก 0.12 กิโลวัตต์ คือ ร้อยละ 59.1 ถึงร้อยละ 69.8 จนถึงขนาดกำลังด้านออก 7.50 กิโลวัตต์ คือ ร้อยละ 88.7 ถึงร้อยละ 92.6
4.2 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องดูดฝุ่นชนิดลากพื้นที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนด ค่าประสิทธิภาพพลังงานตั้งแต่ร้อยละ 21.70 ถึงร้อยละ 31.57
4.3 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องดูดควันสำหรับเตาหุงต้มที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามประเภทของเครื่องดูดควัน ดังนี้ (1) ประเภทระบบท่อดูดอากาศออกสู่ภายนอก (กระโจมกลางห้อง กระโจมติดผนัง มาตรฐาน และสลิมไลน์) ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 5 ถึง 9 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงต่อวัตต์ และ (2) ประเภทระบบหมุนเวียนอากาศภายในห้อง (มาตรฐาน และสลิมไลน์) ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 2.5 ถึง 9 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงต่อวัตต์
4.4 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องเชื่อมไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนด ค่าประสิทธิภาพพลังงานตามประเภทของเครื่องเชื่อมไฟฟ้า ดังนี้ (1) เครื่องเชื่อมไฟฟ้าประเภทอาร์ค ค่าประสิทธิภาพพลังงาน ร้อยละ 87 ถึงร้อยละ 95 (2) เครื่องเชื่อมไฟฟ้าประเภททิก ค่าประสิทธิภาพพลังงาน ร้อยละ 83 ถึงร้อยละ 95 และ (3) เครื่องเชื่อมไฟฟ้าประเภทมิก ค่าประสิทธิภาพพลังงาน ร้อยละ 87 ถึงร้อยละ 95
4.5 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องทอดแบบน้ำมันท่วมที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามประเภทและขนาดปริมาณน้ำมัน ดังนี้ (1) เครื่องทอดแบบน้ำมันท่วมประเภทใช้ไฟฟ้า ปริมาณน้ำมันที่ใช้ไม่เกิน 8.5 ลิตร และมากกว่า 8.5 ลิตร ถึง 30 ลิตร ค่าประสิทธิภาพพลังงานร้อยละ 76 ถึงร้อยละ 87 และร้อยละ 72 ถึงร้อยละ 82 ตามลำดับ และ (2) เครื่องทอดแบบน้ำมันท่วมประเภทใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ปริมาณน้ำมันที่ใช้ไม่เกิน 11 ลิตร และมากกว่า 11 ลิตร ถึง 30 ลิตร ค่าประสิทธิภาพพลังงาน ร้อยละ 43 ถึงร้อยละ 50 และร้อยละ 42 ถึงร้อยละ 47 ตามลำดับ
4.6 ร่างกฎกระทรวงกำหนดคอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะ ดังนี้ (1) อีวาพอเรเตอร์อุณหภูมิต่ำ ค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะ คือ 0.7911 + 0.7392 x [ขนาดทำความเย็น/(ขนาดทำความเย็น + 1.049)] ถึง 1.1555 + 0.7392 x [ขนาดทำความเย็น/(ขนาดทำความเย็น + 1.049)] และ (2) อีวาพอเรเตอร์อุณหภูมิปานกลาง ค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะ คือ 1.3774 + 1.2934 x [ขนาดทำความเย็น/(ขนาดทำความเย็น + 1.785)] ถึง 2.149 + 1.2934 x [ขนาดทำความเย็น/(ขนาดทำความเย็น + 1.785)]
4.7 ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลอดแอลอีดีหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดีที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงาน ตามค่าประสิทธิศักย์เริ่มต้น ค่าประสิทธิศักย์คงไว้ และดัชนีการทำให้เกิดสีทั่วไป ที่จำเพาะแตกต่างไปตามชนิดของหลอดหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดี ได้แก่ หลอดแอลอีดีแบบทรงเอ (LED Bulb) หลอดแอลอีดีแบบเอ็มอาร์ (LED MR) หลอดแอลอีดีแบบพาร์ (LED PAR) หลอดแอลอีดีแบบทีแปด (LED T8) ดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดีแบบโลว์เบย์และไฮเบย์ (LED Low/High Bay) และดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดี แบบสาดแสง (LED Flood Light) โดยกำหนดค่าประสิทธิศักย์เริ่มต้นต่ำสุดที่ 80 ถึง 85 ลูเมนต่อวัตต์ และสูงสุดที่ 120 ถึง 150 ลูเมนต่อวัตต์ จำเพาะตามชนิดของหลอดหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดี ค่าประสิทธิศักย์คงไว้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 หรือร้อยละ 96 ของประสิทธิศักย์เริ่มต้น จำเพาะตามชนิดของหลอดหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดี และดัชนีการทำให้เกิดสีทั่วไปที่ 70 หรือ 80 และค่า R9 มากกว่าศูนย์ หรือไม่ระบุ จำเพาะ ตามชนิดของหลอดหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดี
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 7 ฉบับ (7 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ (1) มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียวที่มีประสิทธิภาพสูง (2) เครื่องดูดฝุ่นชนิดลากพื้นที่มีประสิทธิภาพสูง (3) เครื่องดูดควันสำหรับเตาหุงต้มที่มีประสิทธิภาพสูง (4) เครื่องเชื่อมไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง (5) เครื่องทอดแบบน้ำมันท่วมที่มีประสิทธิภาพสูง (6) คอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพสูง และ (7) หลอดแอลอีดีหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดีที่มีประสิทธิภาพสูง
2. มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นำร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 7 ฉบับ
(7 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ (1) มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียวที่มีประสิทธิภาพสูง (2) เครื่องดูดฝุ่นชนิดลากพื้นที่มีประสิทธิภาพสูง (3) เครื่องดูดควันสำหรับเตาหุงต้มที่มีประสิทธิภาพสูง (4) เครื่องเชื่อมไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง (5) เครื่องทอดแบบน้ำมันท่วมที่มีประสิทธิภาพสูง (6) คอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพสูง และ (7) หลอดแอลอีดีหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดีที่มีประสิทธิภาพสูง เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างต่อไป
เรื่องที่ 5 การทบทวนคณะกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ สรุปสาระสำคัญ ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้ 1. พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 และ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2551 ตามมาตรา 5 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีองค์ประกอบรวมทั้งสิ้น 19 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 6 คือ เสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงานให้สอดคล้องกับนโยบาย และแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ รวมทั้งติดตาม ดูแล ประสาน สนับสนุนและเร่งรัดการดำเนินการของคณะกรรมการทั้งหลายที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อให้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ และประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ และมาตรา 9 กพช. อาจพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ กพช. มอบหมายได้
2. ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปี 2564 ยังคงมีคำสั่งคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดย กพช. จำนวนทั้งสิ้น 20 คณะ ได้แก่ (1) คณะกรรมการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพื่อทดแทนน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว
ในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม (2) คณะกรรมการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง (3) คณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพ กฟผ. (4) คณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติ
การประกอบกิจการไฟฟ้า (5) คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทดแทน (6) คณะกรรมการเพื่อเตรียมการศึกษาความเหมาะสมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ (7) คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ (8) คณะกรรมการกำกับดูแลและตรวจสอบการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวผิดประเภทและความปลอดภัย (9) คณะกรรมการติดตามตรวจสอบปริมาณก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (10) คณะกรรมการดำเนินการประชาสัมพันธ์การปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว
(11) คณะกรรมการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ของกลุ่มรถแท็กซี่จากการใช้
ก๊าซปิโตรเลียมเหลวมาเป็นก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (12) คณะกรรมการป้องกันและตรวจสอบการลักลอบจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (13) คณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (14) คณะกรรมการประสานงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานพลังงานนิวเคลียร์ (15) คณะกรรมการองค์การพลังงานโลกของประเทศไทย (16) คณะกรรมการบูรณาการนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง (17) คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (18) คณะกรรมการส่งเสริมเทคโนโลยีระบบการกักเก็บพลังงาน (19) คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน และ (20) คณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า
3. ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการภายใต้ กพช. (คณะกรรมการฯ) ได้มีการพิจารณาทบทวนสถานะ ความจำเป็น และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ แล้ว สรุปผลการพิจารณาได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 3.1 กลุ่มที่ 1 ภารกิจเสร็จสิ้น และ/หรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบท
ในปัจจุบัน จำนวน 17 คณะ ได้แก่ (1) คณะกรรมการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพื่อทดแทนน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลวในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม (2) คณะกรรมการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง (3) คณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพ กฟผ. (4) คณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการไฟฟ้า (5) คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทดแทน (6) คณะกรรมการเพื่อเตรียมการศึกษาความเหมาะสมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ (7) คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ (8) คณะกรรมการกำกับดูแลและตรวจสอบการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวผิดประเภทและความปลอดภัย (9) คณะกรรมการติดตามตรวจสอบปริมาณก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (10) คณะกรรมการดำเนินการประชาสัมพันธ์การปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (11) คณะกรรมการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ของกลุ่มรถแท็กซี่จากการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวมาเป็นก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (12) คณะกรรมการป้องกันและตรวจสอบการลักลอบจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (13) คณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้า
จากพลังงานหมุนเวียน (14) คณะกรรมการประสานงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานพลังงานนิวเคลียร์ (15) คณะกรรมการองค์การพลังงานโลกของประเทศไทย (16) คณะกรรมการบูรณาการนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง และ (17) คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
3.2 กลุ่มที่ 2 มีภารกิจที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง และ/หรือจำเป็นต้องปรับปรุงองค์ประกอบหรืออำนาจหน้าที่ให้เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน จำนวน 3 คณะ โดย (1) มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่
คงเดิม จำนวน 2 คณะ คือ คณะกรรมการส่งเสริมเทคโนโลยีระบบการกักเก็บพลังงาน และ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (2) ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ จำนวน 1 คณะ คือ คณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า
4. เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการภายใต้ กพช. เป็นไปอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเห็นควรดำเนินการ ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ภารกิจเสร็จสิ้น และ/หรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทในปัจจุบัน ให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ จำนวน 17 คณะ และกลุ่มที่ 2
มีภารกิจที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง และ/หรือจำเป็นต้องปรับปรุงองค์ประกอบหรืออำนาจหน้าที่ให้เหมาะสม
กับบริบทในปัจจุบัน ดำเนินการดังนี้ (1) ให้คงเดิมคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เนื่องจากมีภารกิจที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง จำนวน 2 คณะ คือ คณะกรรมการส่งเสริมเทคโนโลยีระบบการกักเก็บพลังงาน และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (2) ให้ยกเลิกและแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ใหม่ จำนวน 1 คณะ คือ คณะกรรมการจัดทำ
แผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้าง
มติของที่ประชุม 1. เห็นชอบให้ยกเลิกคณะกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จำนวน 18 คณะ 2. เห็นชอบให้คงเดิมคณะกรรมการภายใต้ กพช. จำนวน 2 คณะ และให้แต่งตั้งคณะกรรมการภายใต้ กพช. ใหม่ จำนวน 1 คณะ 3. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอร่างคำสั่งยกเลิกคณะกรรมการภายใต้ กพช. จำนวน 18 คณะ และร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า ต่อประธาน กพช. เพื่อพิจารณาลงนามต่อไป
กพช. ครั้งที่ 168 วันพุธที่ 4 กันยายน 2567
มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 2/2567 (ครั้งที่ 168)
วันพุธที่ 4 กันยายน 2567
การขอขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ
ผู้มาประชุม
รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(นายภูมิธรรม เวชยชัย)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู)
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้มีบทเฉพาะกาลมาตรา 55 บัญญัติไว้ว่ากรณีที่มีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการดำเนินการดังกล่าวต่อไปได้เป็นระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ ให้นำความในหมวด 4 การดำเนินงานของกองทุน และหมวด 7 บทกำหนดโทษ ที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับกับการดำเนินการนี้ด้วย และให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดำเนินการออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการ เพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยทุกรอบระยะเวลาหนึ่งปี โดยให้นำประกาศดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีอำนาจขยายระยะเวลาดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสองปี
2. เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบ การขอขยายระยะเวลาดำเนินการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปสองปี จากเดิมครบกำหนดวันที่ 24 กันยายน 2565 เป็นวันที่ 24 กันยายน 2567 และเห็นชอบแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2567 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพอออกไปสองปี จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2567 และเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการ เพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ
3. สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อพลิง (สกนช.) ดำเนินการตามแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ พ.ศ. 2566 – 2567 และได้ติดตามข้อมูลของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อประเมินสถานการณ์ พร้อมศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากการจ่ายชดเชยสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2567 และจากการประเมินผลกระทบหากมีการสนับสนุนให้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 เป็นน้ำมันฐานแม้ว่า ในปัจจุบันกองทุนไม่ได้มีการชดเชยในกลุ่มน้ำมันเบนซิน แต่หากราคาน้ำมันเบนซินและราคาเอทานอล ปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต อาจส่งผลทำให้ส่วนต่างราคาระหว่างแก๊สโซฮอล 95 E10 แก๊สโซฮอล E20 รวมถึงแก๊สโซฮอล E85 แคบลง ส่งผลให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 มากขึ้น จากการประเมินผลกระทบกับปริมาณความต้องการใช้เอทานอลในภาคขนส่ง อาจทำให้เกิดอุปทานส่วนเกินได้สูงสุดถึงร้อยละ 24 ซึ่งจะส่งผลกระทบกับผู้มีส่วนได้เสียในกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตร จึงเห็นความจำเป็นต้องขยายเวลาการจ่ายชดเชยต่อเนื่องอีก 2 ปี
4. สกนช. ได้จัดทำแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2569 และร่างประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการ เพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ กรณีขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ จากที่จะครบวันที่ 24 กันยายน 2567 ออกไปสองปีจนถึงวันที่ 24 กันยายน 2569 เพื่อให้การดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องตามนโยบายภาครัฐ โดยมีรายละเอียดดังนี้
4.1 หลักเกณฑ์การดำเนินการ ประกอบด้วย (1) การลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ให้เป็นไปตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 (2) น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ หมายความถึง น้ำมันเบนซินที่มีการผสมเอทานอล และน้ำมันดีเซลที่มีการผสมไบโอดีเซล B100 ในสัดส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย 1) น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 E10 น้ำมันแก๊สโซฮอล E20 และแก๊สน้ำมันโซฮอล E85 และ 2) น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 (ปัจจุบันน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา B10 (ยกเลิก) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ซึ่งทั้งนี้ น้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับการชดเชยฯ ก่อนวันที่ 24 กันยายน 2562 ประกอบด้วย น้ำมันแก๊สโซฮอล E20 น้ำมันแก๊สโซฮอล E85 น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (B10) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (B20) (3) เมื่อไม่มีการจ่ายเงินชดเชยให้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพแล้ว คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะกำหนดอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงตามนโยบายภาครัฐ โดยมีกรอบในการดำเนินงานดังต่อไปนี้ 1) กำหนดอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดให้เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค และไม่ควรใช้เพื่ออุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงข้ามกลุ่ม (Cross Subsidies) 2) ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปตามหลักการสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง หลีกเลี่ยงการแทรกแซงที่มีผลกระทบต่อกลไกตลาดเสรี และ 3) คำนึงถึงภาวะความผันผวนของต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก และรวมถึงมาตรการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพอื่น ๆ ของภาครัฐในช่วงนั้น ๆ และ (4) การลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ และการกำหนดอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเงินเพียงพอใช้ในการบริหารจัดการกองทุน ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562
4.2 วิธีการดำเนินงาน ดังนี้ (1) คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจัดทำประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการ เพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ภายในระยะเวลา 2 ปี นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ มอบให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจัดทำแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพรายปี และสามารถปรับแผนระหว่างปีได้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนดังกล่าว (2) คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะอนุมัติอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อดำเนินการตามแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการส่งเงินเข้ากองทุนหรือได้รับเงินชดเชยและกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนตามมาตรา 27 อัตราเงินชดเชยตามมาตรา 29 อัตราเงินคืน จากกองทุนตามมาตรา 31 และอัตราเงินชดเชยคืนกองทุนตามมาตรา 32 โดยจะออกเป็นระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศกำหนด และ (3) สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงออกประกาศกำหนดอัตราเงินกองทุนตามมติคณะกรรมการ บริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งติดตามให้เป็นไปตามแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ
4.3 มาตรการการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพประกอบด้วย (1) มาตรการลดการจ่ายเงินชดเชยให้กลุ่มน้ำมันเบนซิน โดยการกำหนดอัตราเงินกองทุนให้เหมาะสมในการบริหารจัดการเพื่อจูงใจให้ใช้น้ำมันฐาน ซึ่งภาครัฐส่งเสริมให้เป็นน้ำมันมาตรฐานสำหรับกลุ่มน้ำมันเบนซิน โดยพยายามไม่เข้าไปชดเชยน้ำมันเบนซินชนิดอื่นและปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด (2) มาตรการลดการจ่ายเงินชดเชยให้กลุ่มน้ำมันดีเซล โดยการกำหนดอัตราเงินกองทุนให้เหมาะสมในการบริหารจัดการเพื่อจูงใจ ให้ใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งภาครัฐส่งเสริมให้เป็นน้ำมันมาตรฐานสำหรับกลุ่มน้ำมันดีเซล และปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด และ (3) มาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านของน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ดำเนินการหารือสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาล ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันและสร้างความรู้ความเช้าใจเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพให้สามารถประยุกต์ในการใช้ร่วมกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น Sustainable Aviation Fuel (SAF) พลาสติกชีวภาพ ยา เครื่องสำอางค์ และอุตสาหกรรมเคมี เป็นต้น รวมถึงเร่งสื่อสารสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพสำเร็จลงอย่างมีประสิทธิภาพในปี พ.ศ. 2569
5. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้พิจารณาการขอขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ มีมติดังนี้ (1) เห็นชอบแนวทางการขอขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพจากที่จะครบกำหนดวันที่ 24 กันยายน 2567 ออกไปสองปีจนถึงวันที่24 กันยายน 2569 (2) เห็นชอบแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ และร่างประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการ เพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ (3) มอบหมายให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเสนอดำเนินการตามข้อ (1) และ (2) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีต่อไป รวมทั้งให้นำความเห็นและข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดำเนินการต่อไปด้วย
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการขอขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปสองปี จากเดิมครบกำหนดวันที่ 24 กันยายน 2567 เป็นวันที่ 24 กันยายน 2569
2. เห็นชอบแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ และร่างประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการเพื่อลด การจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ
3. มอบหมายให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเรื่องการขอขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ และแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ พร้อมร่างประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการเพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยนำข้อสังเกตของ ที่ประชุมเป็นข้อมูลประกอบในการนำเสนอเรื่องต่อ ครม. ต่อไป
กพช. ครั้งที่ 169 วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2567
มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 3/2567 (ครั้งที่ 169)
วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2567
3. รายงานผลการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการด้านนโยบายพลังงาน ประจำปี 2566
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(นางสาวแพทองธาร ชินวัตร)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนวทางการดำเนินโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement : Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access : TPA) (โครงการนำร่องฯ) โดยกำหนดปริมาณกรอบเป้าหมายไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์ โดยอนุญาตให้เฉพาะบริษัท Data Center ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามข้อกำหนดจากบริษัทแม่ และต้องเป็นการดำเนินการที่เท่าเทียมกันในทุกประเทศที่ไปลงทุนซึ่งต้องเป็นการลงทุนขนาดใหญ่และไม่มีการขายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศ พร้อมทั้งมอบหมายกระทรวงพลังงาน (พน.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกันจัดทำรายละเอียด หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการดำเนินการโครงการนำร่องฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 และให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป และมอบหมาย กกพ. จัดทำอัตราค่าบริการการใช้และเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access : TPA) ที่ครอบคลุมค่าบริการต่าง ๆ เช่น (1) ค่าบริการระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) (2) ค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Connection Charge) (3) ค่าบริการความมั่นคงระบบไฟฟ้า (System Security Charge หรือ Ancillary Services Charge) (4) ค่าบริการหรือค่าปรับในการปรับสมดุลหรือบริหารปริมาณไฟฟ้า (Imbalance Charge) (5) ค่าใช้จ่ายเชิงนโยบาย (Policy Expenses) และค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในภาพรวมทั้งประเทศ และสอดรับกับข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff : UGT) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการด้วย ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 และให้นำเสนอ กบง. พิจารณาเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป
2. เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 พน. กกพ. และ BOI ได้มีการประชุมหารือมาตรการ Direct PPA เพื่อหารือแนวทางการจัดทำรายละเอียด หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข การดำเนินการโครงการนำร่องฯ สรุปได้ดังนี้
2.1 หลักการนโยบายสำหรับโครงการนำร่องฯ ประกอบด้วย (1) กลุ่มเป้าหมายของโครงการนำร่องฯ จะต้องเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในด้าน Data Center โดยต้องเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ และเป็นการลงทุนใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมรองรับและดึงดูดการลงทุนจากบริษัทชั้นนำของโลกที่รัฐบาลได้เชิญชวนและสนใจเข้ามาลงทุนในด้าน Data Center ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการสร้างประโยชน์แก่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (2) การดำเนินการโครงการนำร่องฯ จะต้องเป็นการดำเนินการในรูปแบบของการขายพลังงานไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรงผ่านการขอใช้บริการ TPA และไม่มีการขายพลังงานไฟฟ้ากลับมาให้ภาครัฐ (3) ผู้ผลิตไฟฟ้า (Supply) สำหรับโครงการนำร่องฯ ต้องเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาครัฐ เช่น ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า หรือโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดสัญญากับการไฟฟ้าแล้ว เป็นต้น โดยต้องเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) หรือ พลังงานลม (Wind) ทั้งนี้สามารถใช้ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System) ร่วมด้วยได้ (4) กรอบเป้าหมายในการดำเนินการโครงการนำร่องฯ ปริมาณไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวได้ถูกบรรจุลงในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567 - 2580 (PDP2024) ในส่วนของกำลังผลิต (Supply) แล้ว โดยเมื่อได้มีการดำเนินการโครงการนำร่องฯ ไปแล้วในส่วนของ Supply ในปริมาณเท่าใดจะถูกนำออกจากร่างแผน PDP2024 และหากการดำเนินการโครงการนำร่องฯ ไม่ครบตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำนวน 2,000 เมกะวัตต์ ปริมาณในส่วนที่เหลือจะถูกนำไปรวมในร่างแผน PDP2024 ที่จะกำหนดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบของประเทศในรูปแบบปกติในอนาคตต่อไป และ (5) การจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA Code) และอัตราค่าบริการ TPA จะต้องมีการพิจารณาให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในภาพรวมทั้งประเทศ รวมถึงจะต้องสอดรับกับข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff : UGT) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการด้วย
2.2 การลงทุนขนาดใหญ่สำหรับโครงการด้าน Data center ได้มีการกำหนดเงื่อนไขมูลค่าเงินลงทุนต่อโครงการไว้ที่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป และจากข้อมูลการหารือของ BOI กับนักลงทุนในธุรกิจด้าน Data Center สำหรับการลงทุนขนาดใหญ่หรือระดับ Hyperscale ในปัจจุบัน พบว่า มีบริษัท Data Center ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดผ่านกลไก Direct PPA ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายการลงทุนในประเทศไทย หรือที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI แล้ว มีจำนวน 8 บริษัท โดยส่วนใหญ่จะมีพื้นที่การดำเนินการในบริเวณเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ซึ่งมีปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 1,700 เมกะวัตต์ และเบื้องต้นในปี 2569 คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดประมาณ 400 เมกะวัตต์ ซึ่งสอดคล้องกับกรอบปริมาณเป้าหมายของการดำเนินการโครงการนำร่องฯ ที่กำหนดไว้ 2,000 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะมีนักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุน Data Center ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กกพ. และ BOI จะมีการหารือกับนักลงทุน Data Center เพิ่มเติม ก่อนที่จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและพิจารณาอัตรา TPA สำหรับการดำเนินการโครงการนำร่องฯ ต่อไป
2.3 นอกจากกลไก Direct PPA จะสามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้แล้ว อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวหรือ UGT ที่ กกพ. อยู่ระหว่างการดำเนินการ ก็เป็นทางเลือกหนึ่งให้นักลงทุนที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้เช่นกัน โดย กกพ. ได้กำหนด UGT เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบไม่เจาะจงแหล่งที่มา (UGT1) และ (2) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบเจาะจงแหล่งที่มา (UGT2) ทั้งนี้ กกพ. มีกำหนดแผนที่จะประกาศอัตรา UGT1 ภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 และประกาศอัตรา UGT2 ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568
มติของที่ประชุม
รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการในการให้เอกชนสามารถทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA)
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบการทบทวนปรับปรุงแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ศึกษาแนวทางการส่งเสริมและศักยภาพของพลังงานสะอาดในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของประเทศ และนำเสนอ กบง. เพื่อพิจารณา ทั้งนี้อาจทบทวนปริมาณเชื้อเพลิงรายปีที่กำหนดไว้ในการทบทวนปรับปรุงแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ตามสถานการณ์หรือศักยภาพที่เหมาะสม โดยนำเสนอ กบง. เพื่อพิจารณา ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 กบง. มีมติเห็นชอบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) และเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและอัตรารับซื้อจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง
2. เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 และวันที่ 22 มิถุนายน 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน และพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับปี 2565 – 2573 ในปริมาณรวม 5,203 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม สำหรับปี 2569 ในปริมาณ 100 เมกะวัตต์ ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม) และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้า และกำกับดูแลการคัดเลือกตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ อาจพิจารณาทบทวนปริมาณเชื้อเพลิงรายปีที่กำหนดไว้ได้ตามสถานการณ์หรือศักยภาพที่เหมาะสม หรือปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) ได้ โดยมอบหมายให้ กบง. พิจารณา และต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 กบง. ได้เห็นชอบปรับปรุงกรอบหลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT กลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม สำหรับปี 2565 – 2573 ด้านคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของโครงการ และเห็นชอบให้ กกพ. สามารถพิจารณาปรับเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้ารายปี เฉพาะกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงได้ตามความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับผลคะแนนความพร้อมด้านเทคนิค ข้อเสนอขายไฟฟ้า กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) และศักยภาพระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ ไม่ให้เกินกรอบเป้าหมายรวมของแต่ละประเภทเชื้อเพลิงตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม)
3. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 กบง. มีมติรับทราบรายงานผลการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) โดยที่ประชุมได้มีความเห็นต่อผลการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าที่สะท้อนถึงความสนใจและศักยภาพของผู้ประกอบการในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จึงมีความเห็นให้พิจารณาแนวทางการบริหารจัดการเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ให้สามารถรองรับการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าที่มีปริมาณมากเพิ่มเติมได้ เพื่อเพิ่มปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้ตามแผนที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางในการดำเนินการต่อ กบง. เพื่อพิจารณา ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 กบง. ได้เห็นชอบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2) พร้อมทั้งเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม) และแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2) ทั้งนี้ มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายดำเนินโครงการก่อสร้างหรือปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าหรือส่วนที่เกี่ยวข้องซึ่งได้รับอนุมัติไว้แล้วที่ช่วยสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงจัดทำแผนพัฒนาระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อขออนุมัติต่อไป โดยมอบหมายให้ สนพ. นำเสนอ กพช. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 กพช. มีมติรับทราบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2) และเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 และมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้อาจพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) ได้ โดยมอบให้ กบง. พิจารณา และมอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม) และแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2) ทั้งนี้ มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายดำเนินโครงการก่อสร้างหรือปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าหรือส่วนที่เกี่ยวข้องซึ่งได้รับอนุมัติไว้แล้วที่ช่วยสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงจัดทำแผนพัฒนาระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อขออนุมัติต่อไป โดยมอบหมายให้ สนพ. นำเสนอ กพช. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
4. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 กบง. ได้พิจารณาข้อเสนอการปรับปรุงหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 และมีมติดังนี้
4.1 เห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ในข้อ 3 และข้อ 4 โดยสรุปได้ดังนี้ ข้อ 3 การรับซื้อไฟฟ้าให้ยึดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกโครงการและเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการตามหลักการเช่นเดียวกับที่ได้รับความเห็นชอบจาก กพช. เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และวันที่ 22 มิถุนายน 2565 สำหรับขยะอุตสาหกรรม และที่ได้รับความเห็นชอบจาก กบง. เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 และ ข้อ 4 การรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมตามตารางที่ 1 ในข้อ 2 ให้เริ่มดำเนินการเมื่อสำนักงาน กกพ. ทำการประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นการรับซื้อตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก กบง. เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 เสร็จสิ้น และมีแนวทางการดำเนินการ คือ (1) ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail) แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก ภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ กำหนดให้ กกพ. พิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากผลการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ที่ได้จัดทำไว้โดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขคำเสนอขายไฟฟ้า และมีปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน โดยให้พิจารณารับซื้อเรียงตามลำดับเชื้อเพลิง ดังนี้ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นรายสุดท้ายภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของแต่ละประเภทเชื้อเพลิง และยินยอมปรับลดปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่ให้เกินกว่ากรอบเป้าหมายที่คงเหลือนั้น ให้ กกพ. สามารถปรับเพิ่มปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายให้กับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้ารายดังกล่าวได้ไม่เกินกว่าปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายตามคำเสนอขายไฟฟ้าเดิม ถ้าหากโครงข่ายระบบไฟฟ้ามีศักยภาพที่สามารถรองรับได้ (2) การรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือหลังหักปริมาณที่ได้รับซื้อไปแล้วในข้อ 4 (1) ให้ดำเนินการในลำดับถัดมา โดยเปิดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ให้พิจารณารับซื้อเรียงตามลำดับเชื้อเพลิง ดังนี้ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และ ขยะอุตสาหกรรม และ (3) การรับซื้อไฟฟ้าจะพิจารณาตามศักยภาพของโครงข่ายระบบไฟฟ้าที่สามารถรองรับได้ โดยการประเมินความสามารถระบบไฟฟ้าให้ดำเนินการประเมินสำหรับการรับซื้อตามข้อ 4 (1) ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะดำเนินการประเมินสำหรับการรับซื้อตามข้อ 4 (2) ต่อไป ทั้งนี้หากมีข้อจำกัดในด้านศักยภาพของโครงข่ายไฟฟ้าในการรองรับและไม่สามารถดำเนินการปรับปรุงให้สามารถเชื่อมโยงเพื่อรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ ภาครัฐขอสงวนสิทธิ์ในการไม่ตอบรับข้อเสนอขายไฟฟ้า
4.2 มอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
มติของที่ประชุม
รับทราบรายงานการปรับปรุงหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 โดยขอให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก
เรื่องที่ 3 รายงานผลการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการด้านนโยบายพลังงาน ประจำปี 2566
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 และ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2551 ตามมาตรา 6 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ (1) เสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี (2) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงานให้สอดคล้องกับนโยบาย และแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ (3) ติดตาม ดูแล ประสาน สนับสนุนและเร่งรัดการดำเนินการของคณะกรรมการทั้งหลายที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อให้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ และ (4) ประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 มีคำสั่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ 3/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ลงวันที่ 31 มกราคม 2563 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ (1) เสนอแนะนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนา และมาตรการทางด้านพลังงาน (2) เสนอความเห็นเกี่ยวกับแผนงานและโครงการทางด้านพลังงานของหน่วยงานรวมทั้งเสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญของแผนงานและโครงการดังกล่าวด้วย (3) เสนอแนะนโยบายและมาตรการทางด้านราคาพลังงาน และกำกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (4) พิจารณาและเสนอความเห็นต่อ กพช. เกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง และมาตรการอื่นๆ ที่จะออกตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (5) ขอให้กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจหรือบุคคลใด ๆ เสนอรายละเอียดทางวิชาการ การเงิน สถิติ และเรื่องต่างๆ ที่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศได้ (6) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ กพช. หรือประธาน กพช. มอบหมาย และ (7) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการช่วยปฏิบัติงานในหน้าที่ตามความจำเป็น ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กพช. และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้ดำเนินการรวบรวมมติของคณะกรรมการด้านนโยบายพลังงาน (กพช. และ กบง.) ที่มีการประชุมในรอบปีปฏิทิน และนำมาเป็นข้อมูลในการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมติที่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่ได้รับมติเป็นรายปี โดยกำหนดให้จัดส่งผลการดำเนินการตามมติ กพช. และ กบง. ให้ฝ่ายเลขานุการฯ ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งผลการติดตามความก้าวหน้าดังกล่าว จะนำมาสรุปและจัดทำเล่มรายงานผลการดำเนินตามมติคณะกรรมการด้านนโยบายพลังงานประจำปี ก่อนนำส่งให้คณะกรรมการด้านนโยบายพลังงานได้รับทราบและเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป
2. ในปี 2566 สนพ. ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการด้านนโยบายพลังงาน จำนวนทั้งสิ้น 11 ครั้ง มีเรื่องเสนอเพื่อทราบ จำนวน 13 วาระ และเรื่องเพื่อพิจารณา จำนวน 38 วาระ โดยแบ่งเป็นการประชุม กพช. จำนวน 3 ครั้ง มีเรื่องเสนอเพื่อทราบ จำนวน 5 วาระ โดยดำเนินการแล้วเสร็จ 4 วาระ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 1 วาระ เรื่องเพื่อพิจารณา จำนวน 13 วาระ โดยดำเนินการแล้วเสร็จ 4 วาระ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 9 วาระ และเป็นการประชุม กบง. จำนวน 8 ครั้ง มีเรื่องเสนอเพื่อทราบ จำนวน 8 วาระ โดยดำเนินการแล้วเสร็จ 8 วาระ เรื่องเพื่อพิจารณา จำนวน 25 วาระ โดยดำเนินการแล้วเสร็จ 23 วาระ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 2 วาระ ซึ่งรายงานผลการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการด้านนโยบายพลังงาน ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 คณะกรรมการด้านนโยบายพลังงาน ประกอบด้วย อำนาจหน้าที่ องค์ประกอบของคณะกรรมการภายใต้ กพช และ กบง. คณะอนุกรรมการและคณะกรรมการที่แต่งตั้งภายใต้ กพช. และ กบง. ส่วนที่ 2 ผลการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการด้านนโยบายพลังงาน แบ่งตามมาตรการขับเคลื่อนด้านพลังงาน 7 มาตรการ สรุปได้ดังนี้ 1) มาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ (1) การช่วยเหลือค่าไฟฟ้างวดประจำเดือนมกราคมถึงเมษายน 2566 โดยเป็นเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นเงินรวม 2,344.587 ล้านบาท และเงินสนับสนุนจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นเงินรวม 3,192.926 ล้านบาท (2) ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารจัดการอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้ค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร ซึ่งข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มีการใช้เงินอุดหนุนกลุ่มน้ำมันสำเร็จรูป ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 คิดเป็นเงินประมาณ 32,366 ล้านบาท (3) ราคา NGV โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2566 ปตท. มีการช่วยเหลือราคา NGV สำหรับกลุ่มรถทั่วไป กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในโครงการ“เอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน” คิดเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 5,453 ล้านบาท และมีการขยายมาตรการช่วยเหลือราคา NGV ผ่านโครงการบัตรสิทธิประโยชน์สำหรับรถแท็กซี่ รถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก และรถทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 31 ธันวาคม 2568 และ (4) ราคาขายปลีก LPG มีการคงราคาขายปลีกก๊าซ LPG จาก 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2566 โดย กบน. ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารจัดการราคาก๊าซ LPG ซึ่งข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มีการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนกลุ่มก๊าซ LPG เป็นเงินรวมประมาณ 17,684 ล้านบาท 2) มาตรการบริหารจัดการเพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤติพลังงาน มีผลการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2566 ดังนี้ (1) การใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาตามมติ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สามารถดำเนินการได้ 615.1 ล้านลิตร (2) การเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 8 สามารถดำเนินการได้ 1,874.3 ล้านหน่วย (3) การนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้า สามารถดำเนินการได้ 563.67 ล้านหน่วย (4) การรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น สามารถดำเนินการได้ 155.12 ล้านหน่วย (5) การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำระยะสั้นเพิ่มเติมจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สามารถดำเนินการได้ 11.181 ล้านหน่วย (6) มาตรการขอความร่วมมือประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม สามารถดำเนินการได้ 115,671 ตันเทียบเท่า LNG (7) การเจรจาเพื่อลดการรับซื้อไฟฟ้าภาคสมัครใจจาก SPP Firm ประเภท Co-generation ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ สามารถดำเนินการได้ 7,108 ต้นเทียบเท่า LNG (8) การจัดหาก๊าซในประเทศและเพื่อนบ้านให้ได้มากที่สุด สามารถดำเนินการได้เฉลี่ยเดือนละ 168 MMscfd และ (9) การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคปิโตรเคมี และภาคอุตสาหกรรม สามารถดำเนินการได้ 153,810 ตันเทียบเท่า LNG 3) มาตรการบริหารจัดการด้านไฟฟ้า ได้แก่ (1) การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดย (1.1) โครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย กกพ. ออกประกาศเชิญชวนเพื่อให้การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา เป็นไปตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดภายใต้แผน PDP 2018 Rev.1 จำนวนไม่เกิน 90 MW อัตรารับซื้อไฟฟ้า 2.20 บาท/หน่วย ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี ซึ่งข้อมูล ณ 30 กันยายน 2566 มีบ้านอยู่อาศัยที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในปี 2565 – 2566 จำนวน 8,789 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 48,134 kW และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 4,829 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 26,467 kW (1.2) โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 กกพ. ได้เห็นชอบรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากที่ได้รับการคัดเลือก สำหรับขยะอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 จำนวน 13 ราย ปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 100 MW ซึ่งได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว และสำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 จำนวน 175 ราย ปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 4,852.26 MW แบ่งเป็น พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน จำนวน 24 ราย (994.06 MW) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 129 ราย (2,368 MW) ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว สำหรับพลังงานลม จำนวน 22 ราย (1,490.20 MW) ยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และปัจจุบัน กกพ. อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างระเบียบและร่างประกาศการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 (1.3) แนวนโยบายกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยภาครัฐ กบง. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณา เร่งรัด และติดตามการดำเนินงานตามแนวนโยบายกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยภาครัฐ เพื่อเร่งรัดติดตามและกำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 และ (1.4) กระทรวงพลังงาน (พน.) อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) เกี่ยวกับแนวทางการกำหนดการสิ้นสุดของอายุสัญญาโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภท Non-Firm ในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) (2) การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยโครงการเซกอง 4A และ 4B กฟผ. และผู้พัฒนาโครงการเซกอง 4A และ 4B ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการเซกอง 4A และ 4B เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 และโครงการน้ำงึม 3 อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันระหว่าง พน. กฟผ. และผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 ในการขอขยายอายุ Tariff MOU จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 และ (3) โครงสร้างราคาไฟฟ้า กกพ. ได้ดำเนินการตามนโยบายและการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2564 - 2568 และมอบหมายให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ดำเนินการประกาศใช้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าต่อไป 4) มาตรการบริหารจัดการด้านก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ (1) แนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 มีการดำเนินการของแต่ละหน่วยงาน ดังนี้ (1.1) กกพ. ได้มีการดำเนินการปรับ TPA Code ของ Terminal และ TSO Code ของระบบท่อแล้ว มีการออกใบอนุญาตบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติให้แก่ ปตท. อายุ 5 ปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต และมีเงื่อนไขในการประกอบกิจการ 13 ข้อ โดยมีเงื่อนไขที่กำหนดระยะเวลาให้ Pool Manager เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อเริ่มประกอบกิจการโดยเร็ว โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนมีนาคม 2567 มีการออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลผู้บริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ Pool Manager รวมทั้งออก Ring-Fencing Guideline เพื่อใช้ในการกำกับดูแล Pool Manager ซึ่งในระยะแรกภาคนโยบายยังให้ ปตท. เป็นผู้ดำเนินการไปก่อน แต่ต้องมีการแบ่งขอบเขตงานที่ชัดเจน มีการประกาศ กกพ. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลการบริหารจัดการ Bypass Gas ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ซึ่งระบุให้ Shipper บริหารจัดการ Bypass Gas ในปริมาณเท่าที่จำเป็น และควบคุมคุณภาพก๊าซธรรมชาติตามที่ กกพ. กำหนด และอยู่ระหว่างดำเนินการทบทวนโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 เพื่อให้เป็นไปตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อเสนอต่อ กกพ. กบง. กพช. ต่อไป (1.2) ปตท. ได้มีการออกประกาศเรื่องข้อกำหนดคุณภาพก๊าซธรรมชาติตามมติ กกพ. และอยู่ระหว่างยกร่างสัญญาซื้อก๊าซจาก Shipper และสัญญาขายก๊าซให้กับ Shipper ทุกรายในกลุ่ม Regulated Market ในกรณีที่สัญญาต้องผ่านความเห็นชอบจาก อส. อาจต้องจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อใช้ในการซื้อขายระหว่างกันชั่วคราวก่อน และ ปตท. จัดทำแนวทางการคำนวณราคา Pool Gas นำเสนอสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และ Shipper ทุกราย พิจารณาแล้ว และอยู่ระหว่างการแก้ไขร่างคู่มือการดำเนินงานและวิธีการคำนวณราคา Pool Gas นำเสนอสำนักงาน กกพ. เพื่อพิจารณาต่อไป (2) แนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ โดย กกพ. รับทราบข้อเสนอแนวทางการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับเดือนมกราคม - เมษายน 2567 ของ ปตท. โดยใช้หลักการในการคำนวณปริมาณก๊าซธรรมชาติสำหรับผลิต LPG เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง จะเป็นไปตามสัดส่วนของปริมาณการจำหน่าย LPG เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงต่อปริมาณการผลิตทั้งหมดของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ปตท. ตามที่ได้รายงานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติสำหรับเดือนมกราคม – เมษายน 2567 เป็นการดำเนินการเพียงชั่วคราว จนกว่าจะมีการจัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ตามมติ กพช. แล้วเสร็จ ซึ่งสำนักงาน กกพ.อยู่ระหว่างการทบทวนโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่ทบทวนใหม่ เพื่อเสนอ กบง. และ กพช. พิจารณาต่อไป 5) มาตรการบริหารจัดการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง โดย กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ออกประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล ฉบับที่ 15 ถึงฉบับที่ 17 พ.ศ. 2566 ที่กำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ทั้ง บี7 บี10 และ บี20 ให้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 ร้อยละ 10 และร้อยละ 20 โดยปริมาตร ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 และดำเนินการประชาสัมพันธ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการ ประชาชน และสื่อมวลชน ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ แผ่นพับ Infographic Clip Video สกู๊ปข่าว และการแถลงข่าว เผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น Social Media โทรทัศน์ และวิทยุ และอยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. .... ยกเลิกมาตรฐานคุณภาพน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่มีส่วนผสมไบโอดีเซลร้อยละ 10 โดยปริมาตร และกำหนดให้มีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 2 ประเภทได้แก่ น้ำมันดีเชลหมุนเร็วธรรมดา และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 โดยกำหนดวันบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 6) มาตรการบริหารจัดการด้านอนุรักษ์พลังงาน ได้แก่ (1) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนปฏิบัติการการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่ของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2575 (2) กบง. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 7 ฉบับ (7 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ (2.1) มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียวที่มีประสิทธิภาพสูง (2.2) เครื่องดูดฝุ่นชนิดลากพื้นที่มีประสิทธิภาพสูง (2.3) เครื่องดูดควันสำหรับเตาหุงต้มที่มีประสิทธิภาพสูง (2.4) เครื่องเชื่อมไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง (2.5) เครื่องทอดแบบน้ำมันท่วมที่มีประสิทธิภาพสูง (2.6) คอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพสูง (2.7) หลอดแอลอีดีหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดีที่มีประสิทธิภาพสูง และมอบหมายให้นำเสนอต่อ กพช. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป และ 7) มาตรการบริหารจัดการด้านอื่น ๆ ได้แก่ (1) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และพ.ศ. 2565 ของ กกพ. และสำนักงาน กกพ. (2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะประธาน กบง. ลงนามในคำสั่ง กบง. ที่ 1/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 คำสั่ง กบง. ที่ 2/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณา เร่งรัด และติดตามการดำเนินงานตามแนวนโยบายการกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยภาครัฐ คำสั่ง กบง. ที่ 1/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ และคำสั่ง กบง. ที่ 2/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน และส่วนที่ 3 มติคณะรัฐมนตรีที่คณะกรรมการนโยบายด้านพลังงานเห็นชอบ เป็นมติที่ ครม. ให้ความเห็นชอบตามแนวทางหรือมติที่คณะกรรมการนโยบายด้านพลังงานดำเนินการ
มติของที่ประชุม
รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการด้านนโยบายพลังงานประจำปี 2566
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 มาตรา 34/2 กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนจัดทำงบการเงินส่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลภายนอก ซึ่งคณะกรรมการกองทุนแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของกองทุน และให้ทำการตรวจสอบและรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของกองทุนภายใน 90 วัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้สอบบัญชีตามวรรคหนึ่งจัดทำรายงานผลการสอบและรับรองบัญชีและการเงินของกองทุนเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนภายใน 150 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบ และให้รัฐมนตรีเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบ และจัดให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2. เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 และวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) ได้ส่งรายงานการเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 และสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตามลำดับ และ สตง. ได้ตรวจสอบรายงานการเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 ตามหนังสือ ที่ ตผ 0040/1128 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 และสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 ตามหนังสือ ที่ ตผ 0040/883 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 และวันที่ 27 สิงหาคม 2567 คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (คณะกรรมการกองทุนฯ) ได้มีมติรับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 และสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566
3. ปีงบประมาณ 2565 สตง. ได้แสดงความเห็นว่า รายงานการเงินของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กองทุนฯ) สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 “รายงานการเงินไม่ถูกต้อง”โดยมีผลกระทบจากข้อบกพร่องในการจัดทำบัญชี และรายงานการเงินของกองทุนฯ จำนวน 4 ข้อ ดังนี้ (1) การตัดรายการค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า และรับรู้เป็นค่าใช้จ่าย จำนวน 86.13 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้าในส่วนของเงินคงเหลือที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานเบิกเงินกองทุนฯ สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติ ปีงบประมาณ 2560 - 2561 จำนวน 118.86 ล้านบาท ไม่มีเอกสารหลักฐานให้ตรวจสอบ จำนวน 7 โครงการ (2) การจัดประเภทค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า จำนวน 602.49 ล้านบาท แสดงรายการเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นทั้งจำนวน โดยไม่ได้จัดประเภทค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้าในส่วนที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์เกินกว่าระยะเวลา 12 เดือน เป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ตามข้อกำหนดของมาตรฐานการบัญชีภาครัฐฉบับที่ 1 เรื่อง การนำเสนอรายงานการเงิน ย่อหน้าที่ 62 (3) การบันทึกบัญชีเงินเหลือจ่ายของโครงการ สำหรับปี 2561 และ 2562 และการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายแผนงาน - โครงการ โดยแสดงรายการเป็นผลสะสมจากการแก้ไขข้อผิดพลาดปีก่อน กองทุนได้นำไปปรับปรุงกับยอดคงเหลือของรายได้สูง/(ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสมต้นงวดในรายงานการเงิน สำหรับปี 2565 เป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ ฉบับที่ 3 เรื่อง นโยบายการบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชีและข้อผิดพลาด ย่อหน้าที่ 43 (ข) ที่กำหนดให้ปรับย้อนหลัง และ (4) การบันทึกบัญชีตามสัญญาจ้างที่ปรึกษา เลขที่ ส.กทอ. 31/2563 โดยบันทึกรับรู้รายการจัดซื้อซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการต่างๆ เป็นค่าใช้จ่ายประเภทค่าใช้สอย - ค่าจ้างที่ปรึกษา ในปี 2564 ในขณะที่ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการต่าง ๆ และระบบบริหารจัดการเงินกองทุนฯ จัดเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ ฉบับที่ 31 เรื่อง สินทรัพย์ไม่มีตัวตน ส่งผลให้รายงานการเงินสำหรับปี 2565 และ 2564 ที่นำมาแสดงเปรียบเทียบ ไม่ได้แสดงรายการและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนและค่าตัดจำหน่าย และเปิดเผยข้อมูลค่าใช้สอย – ค่าจ้างที่ปรึกษาสูงไป โดยระหว่างปี 2566 ส.กทอ. ได้ดำเนินการแก้ไขตามรายงานข้อเสนอแนะของ สตง. จำนวน 4 ข้อ เรียบร้อยครบถ้วนในทุกประเด็น
4. สำหรับปีงบประมาณ 2566 รายงานการเงินของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 สตง. ได้แสดงความเห็นว่า รายงานถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยมีรายละเอียด ดังนี้ (1) งบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีหนี้สินและสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน 14,418.01 ล้านบาท (2) งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ 181.37 ล้านบาท และ (3) งบแสดงการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 มียอดคงเหลือของทุน 1,500.07 ล้านบาท มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสะสม 12,911.51 ล้านบาท และมีสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน คงเหลือ 14,411.58 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีมติรับทราบแล้ว ส.กทอ. จะนำเสนอ ครม. เพื่อทราบ และให้รัฐมนตรีเสนอกราบเรียนต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบ และจัดให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามที่พระราชบัญญัติกำหนดต่อไป
มติของที่ประชุม
รับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 และสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (พระราชบัญญัติฯ) ซึ่งตามความในมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้ กกพ. จัดทำรายงานประจำปีเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ทุกสิ้นปีงบประมาณ และเปิดเผยต่อสาธารณชน
2. กกพ. และสำนักงาน กกพ. ได้ดำเนินการตามแผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการด้านการกำกับกิจการพลังงาน ระยะที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570) ภายใต้วิสัยทัศน์ “กำกับกิจการพลังงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและส่งเสริมการแข่งขันให้เหมาะสมเป็นธรรม” จำแนกตาม 5 วัตถุประสงค์ ดังนี้ วัตถุประสงค์ที่ 1 ส่งเสริมให้มีบริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอ มีความมั่นคง ทั่วถึง และมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาต เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาดตามกรอบแผนพลังงานชาติในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านโครงการสำคัญ ได้แก่ 1) โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี พ.ศ. 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง 2) โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับขยะอุตสาหกรรม 3) โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT และ 4) โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) สำหรับภาคประชาชนกลุ่มบ้านอยู่อาศัย พร้อมทั้งส่งเสริมการให้บริการไฟฟ้าทั่วถึงตามนโยบายภาครัฐ ซึ่งได้กำกับดูแลการชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าซึ่งได้ให้บริการไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสหรือการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึงตามนโนบายของรัฐผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (1) และมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับโครงการขยายเขตไฟฟ้าไปยังพื้นที่เกาะ วัตถุประสงค์ที่ 2 ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงานอย่างเป็นธรรม ในอัตราค่าบริการที่เหมาะสมสะท้อนต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ โดยการปรับปรุงข้อกำหนดการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติแก่บุคคลที่สาม และปรับปรุงข้อกำหนดการให้บริการสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม เพื่อเปิดโอกาสผู้รับใบอนุญาตกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานกิจการก๊าซธรรมชาติได้อย่างเป็นธรรมและเกิดการแข่งขันในกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และเตรียมความพร้อมรองรับนโยบายการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าในอนาคตตามเป้าหมายที่กำหนดในแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน โดยออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม พ.ศ. 2565 และให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จัดทำข้อกำหนดเปิดใช้ระบบโครงข่ายในแก่บุคคลที่สาม (TPA Code) มีการเตรียมความพร้อมรองรับความต้องการไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นของภาคเอกชน และนโยบายการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) การบริหารจัดการต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดผลกระทบค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงานต่อเนื่อง โดยมีมาตรการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าโดยใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเพื่อทดแทนการนำเข้า LNG ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกและความสามารถในการขนส่งน้ำมันดีเซลให้กับโรงไฟฟ้า ร่วมกับการดำเนินมาตรการ Energy Pool Price จัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเป็นลำดับแรก รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากกลุ่มสัญญาเดิมและกลุ่มที่ไม่มีสัญญากับการไฟฟ้า เชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ขยะ แสงอาทิตย์ และพลังงานลม และเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 4 ที่ปลดแล้ว ตามความจำเป็น นอกจากนี้ยังมีการทบทวนอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับต้นทุน และปรับอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับผู้รับใบอนุญาตขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อผ่านระบบส่งก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับผู้รับใบอนุญาตเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับการส่งเสริมการแข่งขันกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 วัตถุประสงค์ที่ 3 กำกับการประกอบกิจการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการตรวจติดตามให้สถานประกอบกิจการพลังงานให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตและรายงานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย จำนวน 541 ราย และออกคำสั่งทางปกครองเพื่อให้ปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงาน จำนวน 9 ราย ตลอดจนได้เชื่อมโยงข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมกับระบบงานของหน่วยงานอนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการปฏิบัติงานตามภารกิจได้อย่างทันต่อสถานการณ์ วัตถุประสงค์ที่ 4 ปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาต ในการมีส่วนร่วม เข้าถึง ใช้ และจัดการด้านพลังงานภายใต้หลักเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยการจัดสัมมนาการสร้างเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ผู้ใช้พลังงานประจำเขต 13 แห่งทั่วประเทศ เพื่อระดมความคิดเห็น สร้างความรู้ความเข้าใจสิทธิและหน้าที่ในการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน บทบาทการกำกับกิจการพลังงาน ตลอดจนสร้างช่องทางการรับรู้ข่าวสารให้ทั่วถึงในวงกว้าง และกำกับติดตามเร่งรัดการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กตามประกาศหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง และวัตถุประสงค์ที่ 5 การบริหารจัดการองค์กรที่มีธรรมาภิบาล และได้มาตรฐานสากล โดยการพัฒนาระบบการบริหารงานองค์กรสู่ความโปร่งใสมีธรรมาภิบาล และมีการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล โดยได้รับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ระดับ A คะแนนเท่ากับ 92.61 และได้รับการรับรองระบบการจัดการตอตานการติดสินบนตามมาตรฐาน ISO 37001:2016 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 ตลอดจนรักษาระบบบริหารคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9001:2015 อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการพัฒนาระบบปฏิบัติการและการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิทัล และพัฒนาระบบการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการกำกับกิจการไฟฟ้าบนแพลตฟอร์ม “ERC Data Sharing”
3. สำนักงาน กกพ. ได้จัดเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุน และจัดสรรตามวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติฯ ดังนี้ (1) ชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้า โดยชดเชยแก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าในการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง จำนวน 12,000.00 ล้านบาท และอุดหนุนให้แก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าซึ่งได้ให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส จำนวน 1,210.15 ล้านบาท (2) พัฒนาและฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า จำนวน 6,107.29 ล้านบาท สำหรับนำไปพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าผ่านการประชาคมสำรวจความต้องการจากประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าอย่างมีส่วนร่วมร่วมกัน จำนวน 4,458.80 ล้านบาท (3) ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ตามมาตรา 97 (4) จำนวน 18.81 ล้านบาท และ (4) ส่งเสริมสังคม และประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า จำนวน 153.10 ล้านบาท
4. งบการเงินของสำนักงาน กกพ. และกองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบงบการเงิน พร้อมแจ้งผลการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ซึ่งเห็นว่าถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยงบการเงินของสำนักงาน กกพ. มีรายได้จากการดำเนินงาน 1,012.42 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน 710.29 ล้านบาท เมื่อหักภาระเงินกันไว้เหลื่อมปีแล้วมีเงินนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวน 236.53 ล้านบาท สำหรับกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีรายได้จากเงินนำส่งรวม 15,733.50 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายจำนวน 17,260.40 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2566 มีการเปลี่ยนแปลงอัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าตามมาตรา 97 (4) และมาตรา 97 (5) เป็นอัตรา 0.00 (ศูนย์) บาทต่อหน่วยจำหน่ายสุทธิ จากเดิมมีอัตรา 0.005 และ 0.002 บาทต่อหน่วยจำหน่ายสุทธิ และมีการปรับอัตราการเบิกค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนสำหรับชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
5. แผนการดำเนินงานสำนักงาน กกพ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภายใต้แผนฏิบัติการการกำกับกิจการพลังงาน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงและพัฒนากฎระเบียบเพื่อการกำกับและส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงานตามนโยบายภาครัฐ การกำกับกิจการพลังงานเชิงรุก การสร้างกลไกการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ในการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และการกำกับกิจการพลังงานและการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การให้บริการที่ทันสมัย สะดวก รวดเร็ว เกิดความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ และแผนการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามวัตถุประสงค์กองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 ของพระราชบัญญัติฯ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มุ่งเน้นการจัดสรรงบประมาณ เพื่อการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ เมื่อ กพช. มีมติรับทราบแล้ว สำนักงาน กกพ. จะนำเสนอ ครม. สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และเปิดเผยต่อสาธารณชนตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
มติของที่ประชุม
รับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 มาตรา 14 (2) กำหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีหน้าที่และอำนาจรายงานผลการประเมินการปฏิบัติงานและการเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติการตามแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
2. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 กบน. มีมติเห็นชอบรายงานผลการประเมินการปฏิบัติงานและการเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติงานตามแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปีงบประมาณ 2566 โดยสรุปได้ดังนี้ (1) อนุมัติแผนการดำเนินงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นจำนวนเงิน 128,904,729.78 บาท ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานกองทุนหรือการบริหารกองทุนของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) และค่าใช้จ่ายในกิจการอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับการจัดการกิจการของกองทุน (2) ดำเนินการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพ โดยการปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อบริหารการจัดการราคาขายปลีกประเภทน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา (3) อนุมัติการจ่ายเงินกองทุนเพื่อดำเนินการตามแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามมาตรา 5 ในส่วนของก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาขายปลีก LPG ในประเทศปรับตัวสูงขึ้น อยู่ในระดับที่เกินกว่าระดับราคาที่เหมาะสมสำหรับถัง 15 กิโลกรัม และเห็นชอบให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคา ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ติดลบได้ไม่เกิน 48,000 ล้านบาท (4) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการส่งเงินเข้ากองทุนหรือได้รับเงินชดเชยและกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน ตามมาตรา 27 อัตราเงินชดเชยตามมาตรา 29 อัตราเงินคืนจากกองทุนตามมาตรา 31 และอัตราเงินชดเชยคืนกองทุนตามมาตรา 32 โดยได้ประกาศในส่วนของน้ำมัน จำนวน 187 ฉบับ และในส่วนของก๊าซ LPG จำนวน 29 ฉบับ (5) สภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนกันยายน 2566 มีประมาณการรายจ่ายเฉลี่ย 11,073 ล้านบาท และ ณ วันที่ 24 กันยายน 2566 ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ มีจำนวน ติดลบ 64,419 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นกลุ่มน้ำมันติดลบ 19,570 ล้านบาท กลุ่มก๊าซ LPG ติดลบ 44,849 ล้านบาท และเงินกู้ยืม 55,000 ล้านบาท และ (6) บริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 1 เพิ่มเติมอีก 80,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 110,000 ล้านบาท และปรับแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้เงินกู้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ฐานะทางการเงินของกองทุน และแผนการบริหารหนี้สาธารณะ พร้อมทั้งออกหนังสือชี้ชวนเพื่อให้สถาบันการเงินยื่นข้อเสนอ วงเงินกู้รวม 110,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับข้อเสนอจากสถาบันการเงินทั้งสิ้น 105,333 ล้านบาท และได้ลงนามในสัญญากู้ยืมกับสถาบันการเงิน เป็นวงเงินรวม 105,333 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 สกนช. ได้เบิกเงินกู้ยืมแล้วจำนวน 55,000 ล้านบาท และมีวงเงินกู้ยืมที่สามารถเบิกได้อีกเป็นจำนวน 50,333 ล้านบาท มีระยะเวลาเบิกเงินกู้ตามสัญญา ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 31 มีนาคม 2567
มติของที่ประชุม
รับทราบรายงานผลการประเมินการปฏิบัติงานและการเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติการตามแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปีงบประมาณ 2566
เรื่องที่ 7 สถานภาพโครงการน้ำงึม 3
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 ได้เจรจาจัดทำร่าง PPA แล้วเสร็จ และได้มีการลงนามย่อกำกับ (Initial) ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (คณะอนุกรรมการประสานฯ) มีมติเห็นชอบร่าง PPA โครงการน้ำงึม 3 และมอบหมายให้ กฟผ. เสนอสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ตรวจพิจารณาร่าง PPA โครงการน้ำงึม 3 ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 และวันที่ 9 มีนาคม 2566 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ตามลำดับ มีมติรับทราบหลักการร่าง PPA โครงการน้ำงึม 3 และมอบหมายให้ กฟผ. ลงนามใน PPA ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจาก อส. แล้ว ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการแก้ไข PPA ที่ไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่ระบุไว้ในร่าง PPA และเงื่อนไขสำคัญ รวมทั้งการปรับกำหนดเวลาของแผนงาน (Milestones) ที่เกี่ยวกับกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในช่วงก่อนการลงนาม PPA ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการ กฟผ. ในการแก้ไข ซึ่งเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 อส. ตรวจพิจารณาร่าง PPA แล้วเสร็จ ต่อมาในวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 ได้ยืนยันเห็นชอบการแก้ไขร่าง PPA ตามผลการพิจารณาของ อส. แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การลงนาม PPA จะสามารถดำเนินการได้ภายหลังจากผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 ได้ดำเนินการลงนามสัญญาสัมปทานกับรัฐบาล สปป. ลาว และนำส่ง First Security และเอกสารแสดงอำนาจผู้ลงนาม PPA มายัง กฟผ. รวมทั้ง กฟผ. จะต้องตรวจสอบเอกสารดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 ยังไม่ได้ดำเนินการในข้างต้น ส่งผลให้ไม่สามารถลงนาม PPA ได้ ภายในระยะเวลาของบันทึกความเข้าใจในการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566
2. สำหรับการขอขยาย Tariff MOU เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 ผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 ได้มีหนังสือถึง กฟผ. ขอใช้สิทธิขยายอายุ Tariff MOU ตามเงื่อนไข Clause 2(b)(ii) ของ Tariff MOU ออกไป 60 วัน ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 10 ธันวาคม 2566 และ กฟผ. ได้รับทราบการใช้สิทธิดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 ได้มีหนังสือถึง กฟผ. เพื่อขอขยายอายุ Tariff MOU อีก 18 เดือน จากวันที่ 10 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้มีระยะเวลาเพียงพอในการจัดทำแผนบรรเทาผลกระทบต่อโครงการและเจรจาเงื่อนไขกับ Export-Import Bank of China (CEXIM) โดย กฟผ. พิจารณาแล้วเห็นว่า การขยายระยะเวลา Tariff MOU ดังกล่าว เป็นกรณีที่ไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขในการใช้สิทธิขยายระยะเวลาไว้อย่างชัดเจน เช่น เงื่อนไข Clause 2(b)(ii) ของ Tariff MOU ที่กำหนดให้สิทธิผู้พัฒนาโครงการสามารถขยายระยะเวลาได้ ซึ่งในการพิจารณาขยายระยะเวลาใน Tariff MOU ตามกรณีเหตุผลและเงื่อนไขอื่นเป็นระยะเวลาอีก 18 เดือนเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาถึงความต้องการและแผนการผลิตไฟฟ้าจากภาคนโยบายประกอบด้วย หลังจากนั้น กฟผ. ได้มีหนังสือถึง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) นำส่งข้อเสนอการขอขยายอายุ Tariff MOU ของโครงการน้ำงึม 3 เป็นระยะเวลาอีก 18 เดือน เพื่อขอให้พิจารณาและนำเรียนเสนอคณะอนุกรรมการประสานฯ
3. เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 สนพ. ได้มีการประชุมหารือร่วมกับ กฟผ. ถึงกรณีการขอขยายอายุ Tariff MOU โดยที่ประชุมรับทราบว่า ปัจจุบันโครงการน้ำงึม 3 ได้เลยกำหนดระยะเวลา Tariff MOU แล้ว และ กฟผ. ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 เพื่อขอใช้สิทธิในการยึดเงินค้ำประกัน (MOU Security) จึงทำให้ที่ประชุมสรุปได้ว่า Tariff MOU ของโครงการน้ำงึม 3 สิ้นสุดอายุแล้ว ทั้งนี้ หากโครงการน้ำงึม 3 ยังมีความประสงค์จะขายไฟฟ้ามายังประเทศไทย จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าใหม่อีกครั้งตามหลักเกณฑ์การพิจารณารับซื้อไฟฟ้าของคณะอนุกรรมการประสานฯ โดยรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) จะต้องเสนอโครงการน้ำงึม 3 มาให้คณะอนุกรรมการประสานฯ พิจารณาใหม่อีกครั้ง ต่อมา สนพ. ได้มีหนังสือที่ พน 0603/255 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ถึง กฟผ. เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมถึงสถานะปัจจุบันของ Tariff MOU ของโครงการน้ำงึม 3 ถือว่าสิ้นสุดแล้วหรือไม่ และ กฟผ. ได้มีการแจ้งผลการพิจารณาสถานะ Tariff MOU ดังกล่าวให้ผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 ทราบแล้วหรือไม่ รวมทั้งขอทราบแผนการดำเนินงานในการพัฒนาโครงการน้ำงึม 3 หลังจากขอขยาย Tariff MOU โดย กฟผ. ได้มีหนังสือที่ กฟผ. S21300/9164 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ชี้แจงว่า สถานะ Tariff MOU โครงการน้ำงึม 3 ได้ครบกำหนดแล้วเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566 และ กฟผ. ได้ใช้สิทธิริบหลักประกันเต็มจำนวนตามเงื่อนไข Clause 7 ของ Tariff MOU เนื่องจากผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 ไม่สามารถลงนาม PPA ได้ภายในระยะเวลาของ Tariff MOU โดย กฟผ. ได้มีหนังสือแจ้งธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ให้ชำระเงินตามหนังสือ MOU Security ซึ่ง กฟผ. ได้รับเงินค้ำประกันครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ กฟผ. ได้มีหนังสือแจ้งผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ว่าจะนำข้อเสนอของผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 ในการขอขยาย Tariff MOU ระยะเวลา 18 เดือน นำเรียน สนพ. เพื่อจะได้นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการประสานฯ ต่อไป ทั้งนี้ กฟผ. ได้แจ้งให้ผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 ทราบแล้วว่า Tariff MOU ได้ครบกำหนดแล้วเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566 และ กฟผ. ขอใช้สิทธิริบหลักประกันเต็มจำนวนตามเงื่อนไข Clause 7 ของ Tariff MOU โดย กฟผ. ได้มีหนังสือที่ กฟผ. S21300/13333 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2567 จัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานในการพัฒนาโครงการน้ำงึม 3 ตามที่ได้รับจากผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ (1) หลังจากได้ข้อสรุปเรื่อง PPA กับ กฟผ. แล้ว ผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 จะต้องดำเนินการโอนหุ้นและสินทรัพย์จากรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ไปยัง Chaleun Sekong Energy Co., Ltd. (CSE) และบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรายใหม่ของโครงการ อีกทั้งจะต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ เพื่อสนับสนุนโครงการน้ำงึม 3 ทดแทน CEXIM ที่เป็นผู้สนับสนุนรายเดิม และจะต้องแก้ไขสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการน้ำงึม 3 (EPC) เพื่อให้ EPC สามารถดำเนินก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลาที่ตกลงกันไว้ แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ส่งผลให้ผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 ไม่สามารถลงนาม PPA ภายในระยะเวลาของ Tariff MOU จึงขอขยาย Tariff MOU ระยะเวลา 18 เดือน ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2568 (2) ผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 แจ้งว่า หลังจากได้หารือกับ EPC และส่วนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการน้ำงึม 3 แล้ว ขอยืนยันว่า จะดำเนินการก่อสร้างโครงการน้ำงึม 3 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2570 - มิถุนายน 2570 โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถกลับมาดำเนินการก่อสร้างได้อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2567 - มีนาคม 2568 ซึ่งส่งผลให้โครงการน้ำงึม 3 มีกำหนดแล้วเสร็จ หลังจากกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ที่ระบุไว้ใน Tariff MOU และร่าง PPA ที่ได้มีการตกลงกันแล้ว ทั้งนี้ ผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 เสนอให้ กฟผ. และ สนพ. เสนอ SCOD ใหม่ สำหรับโครงการน้ำงึม 3 โดยพิจารณาจากเป้าหมายตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) เพื่อให้โครงการน้ำงึม 3 จ่ายไฟฟ้าไปยังระบบส่งของ กฟผ. เป็นไปอย่างราบรื่น
4. วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 คณะอนุกรรมการประสานฯ มีมติรับทราบสถานะ Tariff MOU ของโครงการน้ำงึม 3 ว่าได้ครบกำหนดอายุแล้ว เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566 เนื่องจากผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 ไม่สามารถลงนาม PPA ได้ ภายในระยะเวลาของ Tariff MOU ดังกล่าว โดย กฟผ. ได้แจ้งให้ผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 ทราบแล้วว่า Tariff MOU ได้ครบกำหนดอายุแล้ว และ กฟผ. ขอใช้สิทธิริบหลักประกัน ซึ่ง กฟผ. ได้รับเงินค้ำประกันครบถ้วนแล้ว เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ดังนั้น คณะอนุกรรมการประสานฯ จึงไม่มีอำนาจในการพิจารณาขยาย Tariff MOU ของโครงการน้ำงึม 3 ทั้งนี้ หากโครงการน้ำงึม 3 ยังคงมีความต้องการที่จะขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทย จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าใหม่อีกครั้งตามหลักเกณฑ์การพิจารณารับซื้อไฟฟ้าของคณะอนุกรรมการประสานฯ โดยรัฐบาล สปป. ลาว จะต้องเสนอโครงการน้ำงึม 3 มาให้คณะอนุกรรมการประสานฯ พิจารณาตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ของคณะอนุกรรมการประสานฯ ใหม่อีกครั้ง และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 กบง. มีมติรับทราบสถานภาพโครงการน้ำงึม 3 ของสถานะ Tariff MOU ของโครงการน้ำงึม 3 ได้ครบกำหนดอายุแล้วเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ หากโครงการน้ำงึม 3 ยังคงมีความต้องการที่จะขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทย จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าใหม่อีกครั้งตามหลักเกณฑ์การพิจารณารับซื้อไฟฟ้าของคณะอนุกรรมการประสานฯ โดยรัฐบาล สปป. ลาว จะต้องเสนอโครงการน้ำงึม 3 มาให้คณะอนุกรรมการประสานฯ พิจารณาตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ของคณะอนุกรรมการประสานฯ ใหม่อีกครั้ง
มติของที่ประชุม
รับทราบสถานภาพโครงการน้ำงึม 3
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 มาตรา 4 (6) กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีอำนาจหน้าที่กำหนดการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 35 มาตรา 36 และมาตรา 37 และมาตรา 28 (4) กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีอำนาจหน้าที่เสนออัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานต่อ กพช. โดยประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 ได้ประกาศอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตรา 0.0050 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี และอัตรา 0.0500 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 2 ปี ถัดไป ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567
2. สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้พิจารณากำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร และก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นก๊าซหุงต้มหรือก๊าซไฮโดรคาร์บอนเหลว พ.ศ. 2567 ดังนี้ (1) กำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร ซึ่งมีคุณภาพเป็นไปตามที่กรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ที่อัตรา 0.0500 บาทต่อลิตร ขอเริ่มใช้ 1 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป และ (2) กำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นก๊าซหุงต้มหรือก๊าซไฮโดรคาร์บอนเหลวที่ซื้อหรือได้มาซึ่งก๊าซจากผู้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมซึ่งเป็นผู้ผลิตได้จากการแยกก๊าซธรรมชาติ ตามระเบียบที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำหนดในอัตรา 0.0000 บาทต่อกิโลกรัม ขอเริ่มใช้ 1 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
3. เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักรในอัตรา 0.0500 บาทต่อลิตร และก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นก๊าซหุงต้มหรือก๊าซไฮโดรคาร์บอนเหลว ในอัตรา 0.0000 บาทต่อกิโลกรัม โดยเริ่มใช้ 1 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร ในอัตรา 0.0500 บาทต่อลิตร และก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นก๊าซหุงต้มหรือก๊าซไฮโดรคาร์บอนเหลว ในอัตรา 0.0000 บาทต่อกิโลกรัม โดยเริ่มใช้ 1 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป
2. เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักรและก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นก๊าซหุงต้มหรือก๊าซไฮโดรคาร์บอนเหลว พ.ศ. 2567 และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติลงนามต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2544 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 6/2544 (ครั้งที่ 87) ที่ให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดูแลงานด้านการกำหนดนโยบายและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมแทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และรับไปดำเนินการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ยุติการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้จ่าย ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2546 ทั้งนี้ ให้ กค. ประสานงานกับสำนักงบประมาณในการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2546 เป็นต้นไป โดย กค. ได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิตเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการดำเนินการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในหมวดงบรายจ่ายอื่น ประกอบด้วย ค่าครุภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม และค่าเช่ารถยนต์สําหรับใช้ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม โดยงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 - 2567 สรุปได้ดังนี้ 236.8048 ล้านบาท 366.8048 ล้านบาท 445.3288 ล้านบาท 293.1843 ล้านบาท 292.2094 ล้านบาท 311.6908 ล้านบาท 327.2721 ล้านบาท และ 359.4748 ล้านบาท ตามลำดับ
2. หน่วยงานที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2546 มีจำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองทัพเรือ โดยผลการเบิกจ่ายย้อนหลังในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 - 2567 สรุปได้ดังนี้ 166.6917 ล้านบาท (ร้อยละ 70.39) 278.1397 ล้านบาท (ร้อยละ 75.83) 299.0719 ล้านบาท (ร้อยละ 67.16) 256.1272 ล้านบาท (ร้อยละ 87.36) 195.5865 ล้านบาท (ร้อยละ 66.93) 185.8197 ล้านบาท (ร้อยละ 59.62) 197.0553 ล้านบาท (ร้อยละ 60.21) และ 164.2322 ล้านบาท (ร้อยละ 45.69) ตามลำดับ
3. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2566 สภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ข้อสังเกตในเรื่องเกี่ยวกับการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ดังนี้ (1) การจัดสรรงบประมาณตามภารกิจของหน่วยงานยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เช่น โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ในการป้องกันปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายทางทะเลที่ผู้ใช้งานคือ ตำรวจน้ำ แต่มีการตั้งงบประมาณไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมสรรพสามิต ซึ่งการจัดสรรงบประมาณโดยหน่วยรับงบประมาณกับผู้ใช้งานควรเป็นหน่วยงานเดียวกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนของภารกิจแต่ละหน่วยงาน ดังนั้น ควรให้หน่วยรับงบประมาณที่ใช้ประโยชน์จากเรือตรวจการณ์ซึ่งคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้จัดทำคำของบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณเนื่องจากเป็นผู้ใช้งาน (2) กรมสรรพสามิตควรทบทวนมติ ครม. ที่ให้หน่วยงานเสนอคำของบประมาณแทนหน่วยงานอื่น แต่หน่วยงานกลับได้รับงบประมาณน้อยกว่าหน่วยงานอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามผู้ค้าน้ำมันเถื่อน นอกจากนี้ ในปีงบประมาณพ.ศ. 2567 กรมบัญชีกลางแจ้งว่า คณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของหน่วยรับงบประมาณ ในคราวการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 และครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 มีมติกำหนดมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จึงขอให้หน่วยงานภาครัฐติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งเมื่อพิจารณางบประมาณที่ได้รับจัดสรรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมของหน่วยงานโดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนซึ่งหน่วยงานเบิกแทนกันได้รับจัดสรรงบประมาณในวงเงินที่สูง แต่กรมสรรพสามิตไม่สามารถควบคุมได้ส่งผลต่อการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายตามมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายภาครัฐไม่เป็นไปตามเป้าหมายและไม่สะท้อนการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายที่แท้จริงของกรมสรรพสามิต และในภาพรวมของประเทศ ดังนั้น เพื่อให้การขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นการปฏิบัติตามข้อสังเกตคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2566 สภาผู้แทนราษฎร และมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด และสะท้อนการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายที่แท้จริง กรมสรรพสามิตจึงเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2544 ให้หน่วยงานที่มีความประสงค์ขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ดำเนินการจัดทำคำขอรับการจัดงบประมาณโดยตรงตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป
4. เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร ได้พิจารณาแนวทางการจัดทำคำของบประมาณในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 โดยมีมติเห็นชอบให้แต่ละหน่วยงานที่มีความประสงค์ขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ดำเนินการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณโดยตรงตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป และมอบหมายให้สำนักบริหารการคลังและรายได้ กรมสรรพสามิต เป็นหน่วยงานในการจัดทำหนังสือเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2544 ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ กพช. มีความเห็นว่า การขอทบทวนมติดังกล่าว เป็นการขอทบทวนมติเฉพาะเรื่องการขอรับการจัดสรรงบประมาณ และเป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 - 2566 สภาผู้แทนราษฎร และมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด รวมถึงสะท้อนการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงของแต่ละหน่วยงาน ทั้งนี้ กค. โดยกรมสรรพสามิต ควรประสานหน่วยงานที่มีความประสงค์ขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม เตรียมดำเนินการจัดทำคำของบประมาณเพื่อให้ทันปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ของสำนักงบประมาณ
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2544 ที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2544 (ครั้งที่ 87) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 ในประเด็นเรื่องการปรับองค์กรในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม จาก “ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไป ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบดูแลงานด้านการกำหนดนโยบายและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมแทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และรับไปดำเนินการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ยุติการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังประสานงานกับสำนักงบประมาณในการจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไป” เป็น “ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบดูแลงานด้านการกำหนดนโยบายและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม และให้หน่วยงานที่มีความประสงค์ขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมดำเนินการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณโดยตรงตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป”
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. วันที่ 4 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่สอดคล้องกับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ดำเนินการตามมติที่ กพช. มอบหมาย ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 กพช. ได้พิจารณา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กกพ. และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ไปศึกษาหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยให้เหมาะสม และรายงานผลการศึกษาต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ทราบต่อไป
2. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 กพช. ได้มีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบในหลักการการทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในรายละเอียด โดยสามารถสรุปสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ ดังนี้ (1) หลักการการทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. ในด้านปริมาณ คุณภาพ และราคา (Regulated Market) ประกอบด้วย ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPPs) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPPs) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPPs) รวมถึงผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรม และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่มีการใช้ก๊าซธรรมชาติจาก Pool Gas ของประเทศ ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ทุกราย ในกลุ่ม Regulated Market ขายก๊าซธรรมชาติ และ/หรือก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่จัดหาได้ให้กับผู้บริหารจัดการ Pool Gas ของประเทศ (Pool Manager) เพื่อนำไปรวมเป็น Pool Gas ของประเทศ และซื้อก๊าซธรรมชาติออกจาก Pool Gas ตามปริมาณที่จัดหาและนำเข้า Pool Gas ตลอดจนมอบหมายให้ ปตท. เป็น Pool Manager โดยให้จัดตั้งเป็นหน่วยงานที่แยกเป็นอิสระจาก ปตท. โดยมอบหมายให้ กกพ. ทำหน้าที่พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามรูปแบบการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และดำเนินการทบทวนโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่ทบทวนใหม่ เพื่อเสนอ กบง. และ กพช. พิจารณา กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. ในด้านปริมาณ และคุณภาพ (Partially Regulated Market) ประกอบด้วย ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติที่ไม่มีการใช้ก๊าซธรรมชาติจาก Pool Gas ของประเทศ และ (2) มอบหมายให้ กบง. เป็นผู้ติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 สามารถปฏิบัติได้เป็นรูปธรรมต่อไป ทั้งนี้ หากไม่สามารถดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้ ให้ กบง. จัดทำข้อเสนอแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ใหม่ และนำเสนอ กพช. อีกครั้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 กพช. ได้มีมติเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ โดยปรับให้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่นำไปใช้ในการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (Gulf Gas) ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป จนกว่าการจัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 จะแล้วเสร็จ และได้รับความเห็นชอบจาก กพช. โดยมอบหมายให้ กกพ. และกระทรวงพลังงานรับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
3. ตามประกาศของ กกพ. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับผู้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2564 ที่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 กำหนดให้โครงสร้างราคาขายส่งสำหรับกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติไปยังกลุ่มลูกค้า เป็นไปตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ที่สอดคล้องกับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 และในกรณีที่มีนโยบายในการทบทวนโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ ให้ กกพ. สามารถปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ตามความเหมาะสม โดยสามารถสรุปโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ราคาก๊าซธรรมชาติที่ขายให้กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย(1) ราคาเฉลี่ยก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย (2) ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (S) และ (3) ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติในทะเล (Zone 1) ทั้งนี้ ได้คำนวณค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติในทะเล (Zone 1) ที่รวมค่าผ่านท่อในทะเลทั้งหมด (รวมค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติของบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย ประเทศไทย จำกัด) ตามแนวทางที่ กกพ. ได้นำเสนอต่อ กบง. เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 กลุ่มที่ 2 ราคาก๊าซธรรมชาติที่ Shipper ปตท. ขายในกลุ่ม Old Supply ประกอบด้วย (1) ราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซ (รวมค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติในทะเล) ก๊าซธรรมชาติจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) ณ ชายแดน และก๊าซ LNG (รวมค่าบริการสถานี LNG ในการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซ) หรือ Pool Gas (2) ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (S) และ (3) ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติบนบก (Zone 2 – Zone 4) ทั้งนี้ สำหรับโรงไฟฟ้าน้ำพอง ราคาเฉลี่ยเนื้อก๊าซให้เป็นไปตามที่ ปตท. รับซื้อจากผู้รับสัมปทาน ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติบนบก (Zone 5) และกลุ่มที่ 3 ราคาก๊าซธรรมชาติที่ New Shipper ขายไฟฟ้าให้โรงไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบใน Regulated Market ประกอบด้วย (1) ราคา LNG (2) ค่าบริการสถานี LNG ในการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซ (3) ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และ (4) ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติบนบก (Zone 3) โดยการกำกับราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติแต่ละแหล่งอยู่ภายใต้การดูแลจากภาคนโยบายตามราคาสัมปทานของผู้ผลิตแต่ละแหล่งและการเปลี่ยนแปลงดัชนีอ้างอิงในตลาดโลก สำหรับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการสถานี LNG ในการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซ ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และอัตราค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ เมื่อมีการนำเนื้อก๊าซเข้ามาในระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามมาตรา 64 และ 65 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อกำกับต้นทุนที่จะส่งผ่านค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้พลังงานขั้นสุดท้าย (End Users)
4. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 กพช. มีมติเห็นชอบในหลักการการทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 โดยกำหนดกลุ่มลูกค้า และโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ดังนี้ กลุ่มลูกค้าก๊าซธรรมชาติสำหรับการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติ กลุ่ม Regulated Market และกลุ่ม Partially Regulated Market โดยมีโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ดังนี้ (1) ราคาก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย ราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติ (Pool Gas) ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติบนบก (2) ราคา Pool Gas เป็นราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาและปริมาณของก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซในประเทศ ก๊าซธรรมชาติจากการนำเข้ามาจากเมียนมา และก๊าซธรรมชาติจากการนำเข้ามาในรูปแบบ LNG (3) ราคาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซในประเทศ เป็นราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยซึ่งรวมอัตราค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติในทะเล (4) ราคาก๊าซธรรมชาติจากการนำเข้ามาจากเมียนมา เป็นราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติซึ่งรวมค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติเพื่อนำส่งก๊าซธรรมชาติมายังประเทศไทย (5) ราคาก๊าซธรรมชาติจากการนำเข้ามาในรูปแบบ LNG เป็นราคา LNG ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้า และค่าบริการสถานี LNG (6) อัตราค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติที่ Shipper รายใหม่ต้องไปจองใช้บริการท่อก๊าซธรรมชาติจากผู้บริหารระบบส่งและศูนย์ควบคุมการส่งก๊าซธรรมชาติ (Transmission System Operator: TSO) ให้คำนวณเฉพาะค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติบนบกเท่านั้น (ไม่รวมค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติในทะเล) โดยมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการทบทวนโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่ทบทวนใหม่ เพื่อเสนอ กบง. และ กพช. พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ มอบหมายให้ ปตท. เป็น Pool Manager โดยให้จัดตั้งเป็นหน่วยงานที่แยกเป็นอิสระจาก ปตท. และมีกระบวนการแบ่งขอบเขตงานที่ชัดเจน (Ring Fenced) มีหน้าที่ทำสัญญาเพื่อรับซื้อก๊าซธรรมชาติจาก Shipper ทุกรายในกลุ่ม Regulated Market คำนวณราคาก๊าซเฉลี่ย และทำสัญญาเพื่อขายก๊าซให้กับ Shipper ทุกราย ในกลุ่ม Regulated Market ในราคาเดียวกัน (Pool Gas) ตามปริมาณก๊าซที่ Shipper นั้น ๆ จัดหาและนำเข้า Pool Gas
5. เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 กกพ. ได้เห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติตามมติ กพช. เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 และวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ดังนี้
5.1 ปรับปรุงชื่อราคาก๊าซธรรมชาติในองค์ประกอบของสูตรราคาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอ่าวไทย จากเดิมที่ใช้ Gulf Gas เป็น Gulf Price และราคาก๊าซธรรมชาติในกลุ่ม Regulated Market ในราคาเดียวกัน จากเดิมที่ใช้ Pool Gas เป็น Pool Price เพื่อให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
5.2 ปรับปรุงสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ กพช. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งกำหนดให้ ปตท. ทำหน้าที่เป็น Pool Manager และมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ที่ให้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่นำไปใช้ในการผลิต LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป จนกว่าการจัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 จะแล้วเสร็จ
5.3 ปรับปรุงสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติในแต่ละเดือนตามการปรับปรุงสูตรการคำนวณราคาข้อ 5.1 และข้อ 5.2 ให้คำนวณตามสูตรการคำนวณและนิยามของตัวแปรตามองค์ประกอบของโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ดังนี้ (1) ราคาเฉลี่ยเนื้อก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (Gulf Price) ให้คำนวณราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาและปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ Shipper รับซื้อก๊าซธรรมชาติจากผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยทุกสัญญาที่หักปริมาณก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นเชื้อเพลิงที่ TSO ใช้ดำเนินการเกี่ยวกับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล ตามสูตร โดยที่ i คือ สัญญาผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (2) ราคาเฉลี่ยของเนื้อก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา (Myanmar Price) ให้คำนวณราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาและปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ Shipper รับซื้อจากผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในเมียนมา ตามปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ส่งมอบมายังประเทศไทย ซึ่งรวมค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการนำเข้า ทั้งนี้ ให้หักปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติของ TSO ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงของสถานีเพิ่มความดัน Saiyok Compressor Station (SCS) เพื่อจัดส่งให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ สำหรับนำไปคำนวณในราคา Pool Price ตามสูตร
โดยที่ j คือ สัญญาผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในเมียนมา (3) ราคาเฉลี่ยของเนื้อก๊าซ LNG (LNG Price) ให้คำนวณราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาและปริมาณก๊าซธรรมชาติจากการนำเข้ามาในรูปแบบ LNG ซึ่งจัดหาโดย Shipper ในกลุ่ม Regulated Market ที่จัดส่งให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติของ Shipper ทุกราย โดยราคา LNG ของ Shipper แต่ละรายให้ใช้วิธีการคำนวณแบบ Moving Average ตามราคาและปริมาณนำเข้าและคงค้างในถังเก็บแต่ละเดือนของ Shipper รายนั้น ๆ ทั้งนี้ ราคา LNG นำเข้าที่นำมาใช้ในการคำนวณให้รวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้าตามหลักเกณฑ์ที่ กพช. กำหนด ตามสูตร
โดยที่ k คือ Shipper ที่นำเข้า LNG และ (4) ราคาเฉลี่ยของเนื้อก๊าซธรรมชาติ (Pool Price) สำหรับกลุ่ม Regulated Market ให้ Pool Manager คำนวณราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาและปริมาณขายก๊าซธรรมชาติของ Shipper ในกลุ่ม Regulated Market ทุกราย ซึ่งเป็นผลรวมของมูลค่าก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย เมียนมา และ LNG ที่ Shipper จัดส่งให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ หารด้วยผลรวมของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ Shipper ทุกรายในกลุ่ม Regulated Market จัดส่งให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติของ Shipper โดยมีรายละเอียดมูลค่าและปริมาณก๊าซธรรมชาติที่นำมาคำนวณในแต่ละเดือน ตามสูตร Pool Price = [CGulf + CMMR + CLNG] / Qpool โดยที่ 1) มูลค่าก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย (CGulf) คือ มูลค่าก๊าซธรรมชาติที่ Shipper รับซื้อจากผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยทุกสัญญา ตามปริมาณก๊าซธรรมชาติที่จัดส่งให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยคำนวณจาก Gulf Price รวมค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อผ่านระบบส่งก๊าซธรรมชาติ สำหรับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่ง (Tdzone1 และ Tczone1) ตามอัตราที่ กกพ. กำหนด คูณกับปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ Shipper จัดส่งให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ ไม่รวมปริมาณก๊าซธรรมชาติส่วนที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติใช้ในการผลิตก๊าซ LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 กำหนด ตามสูตร CGulf = (Gulf Price + TdZone1 + TcZone1) x (QGulf – QLPG) 2) มูลค่าก๊าซธรรมชาติเมียนมา (CMMR) คือ มูลค่าเนื้อก๊าซธรรมชาติที่ Shipper จัดหาจากเมียนมา ตามปริมาณก๊าซธรรมชาติที่จัดส่งให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ ตามสูตร CMMR = Myanmar Price x QMMR 3) มูลค่าก๊าซธรรมชาติเหลว (CLNG) คือ มูลค่า LNG ที่ Shipper ในกลุ่ม Regulated Market จัดหาตามปริมาณก๊าซธรรมชาติที่จัดส่งให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการให้บริการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซส่วนของต้นทุนคงที่ (Ld) และส่วนของต้นทุนผันแปร (Lc) ตามสูตร
และ 4) ปริมาณก๊าซธรรมชาติ (Qpool) คำนวณจากผลรวมปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ Shipper ทุกรายในกลุ่ม Regulated Market จัดส่งให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติของ Shipper ซึ่งไม่รวมปริมาณก๊าซธรรมชาติที่โรงแยกก๊าซธรรมชาตินำไปใช้ผลิตก๊าซ LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 กำหนด ตามสูตร Qpool = (QGulf – QLPG) + QMMR + QLNG โดยในกรณีเกิดวิกฤตราคาพลังงานให้นำราคาและปริมาณเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา ก๊าซ LNG หรือเชื้อเพลิงอื่นที่มีมูลค่าเทียบเท่าค่าความร้อนของก๊าซธรรมชาติที่ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่ง กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 หรือที่ กพช. กำหนดเพิ่มเติมให้นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. แทนการนำเข้า LNG ส่วนเพิ่ม เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าพลังงานโดยรวมของประเทศไทยตามที่ กกพ. กำหนด (หน่วยเป็นบาทต่อล้านบีทียู) ทั้งนี้ การคำนวณราคาเฉลี่ยของเนื้อก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้า กฟผ. ที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ให้เป็นไปตามราคาเฉลี่ยเนื้อก๊าซธรรมชาติที่ ปตท. รับซื้อจากผู้รับสัมปทานในแต่ละเดือน
5.4 การทบทวนองค์ประกอบของโครงสร้างราคาขายส่งก๊าซธรรมชาติสำหรับกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติไปยังกลุ่มผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ (Wholesale Price: W) จำแนกตามกลุ่มลูกค้าได้ 3 กลุ่ม โดยมีข้อเสนอทบทวนสูตรการคำนวณราคาขายส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้เป็นไปตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ดังนี้ กลุ่มที่ 1 กลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย (1) การซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง Shipper กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ส่วนนำไปใช้ในการผลิตก๊าซ LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ตามสูตร Wโรงแยกก๊าซ (LPG) = Gulf Price + [S1,โรงแยกก๊าซ + S2,โรงแยกก๊าซ] + [Tdzone1 + Tczone1] และ (2) การซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง Shipper กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ส่วนที่เหลือจากการนำไปใช้ในการผลิตก๊าซ LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงตามข้อ (1) ตามสูตร Wโรงแยกก๊าซ (OTHERS) = Pool Price + [S1,โรงแยกก๊าซ + S2,โรงแยกก๊าซ] กลุ่มที่ 2 กลุ่ม Regulated Market ประกอบด้วย (1) การซื้อขายก๊าซระหว่าง Shipper กับโรงไฟฟ้า กฟผ. / IPP ในพื้นที่ Zone 3 ตามสูตร Wกฟผ./IPP = Pool Price + [S1,กฟผ/IPP + S2,กฟผ/IPP] + [Tdzone 3 + Tczone 3] (2) การซื้อขายก๊าซระหว่าง Shipper กับ SPP ในพื้นที่ Zone 3 ตามสูตร WSPP = Pool Price + [S1,SPP + S2,SPP] + [Tdzone 3 + Tczone 3] (3) การซื้อขายก๊าซระหว่าง ปตท. กับ IPP ที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ตามสูตร Wขนอม = Pool Price +[S1,ขนอม + S2,ขนอม] + [Tdzone 2 + Tczone 2] (4) การซื้อขายก๊าซระหว่าง Shipper กับโรงไฟฟ้า กฟผ. ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ตามสูตร Wจะนะ = Pool Price + [S1,จะนะ + S2,จะนะ] + [Tdzone 4 + Tczone 4] (5) การซื้อขายก๊าซระหว่าง ปตท. กับโรงไฟฟ้า กฟผ. ที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ตามสูตร Wน้ำพอง =(WHตามข้อตกลงระหว่าง ปตท. กับผู้รับสัมปทาน) +[S1,น้ำพอง + S2,น้ำพอง] + [Tdzone 5 + Tczone 5] (6) การซื้อขายก๊าซระหว่าง ปตท. กับผู้ค้า NGV ในพื้นที่ Zone 3 ตามสูตร WNGV = Pool Price + [S1,NGV + S2,NGV] + [Tdzone 3 + Tczone 3] และ (7) การซื้อขายก๊าซระหว่าง Shipper กับผู้ค้าปลีกก๊าซธรรมชาติ ในพื้นที่ Zone 3 ตามสูตร Wผู้ค้าปลีก = Pool Price + [S1,ผู้ค้าปลีก + S2,ผู้ค้าปลีก] + [Tdzone 3 + Tczone 3] โดยค่า Td และ Tc สำหรับผู้ใช้ก๊าซกลุ่มนี้สามารถกำหนดเป็นอัตราเดียวกันหรือแตกต่างกันได้ตามที่ กกพ. กำหนด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติในภาพรวมของประเทศ และกรณีมีการซื้อขายก๊าซระหว่าง Shipper กับผู้ค้า NGV และผู้ค้าปลีกก๊าซธรรมชาติตามข้อ (6) และข้อ (7) ในพื้นที่ Zone 2 Zone 4 และ Zone 5 ให้คำนวณโดยใช้ค่าผ่านท่อตามพื้นที่ดังกล่าวในการคำนวณ และกลุ่มที่ 3 กลุ่ม Partially Regulated Market ที่ไม่มีการใช้ก๊าซธรรมชาติจาก Pool Price ของประเทศ กำหนดให้มีการจัดเก็บอัตราค่าบริการจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ และอัตราค่าบริการส่งก๊าซทางท่อตามหลักเกณฑ์ที่ กกพ. กำหนด และในส่วนของแนวทางกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับ Pool Manager ในระยะเริ่มต้น เห็นควรกำหนดให้ ปตท. เป็น Pool Manager ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยไม่มีการกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในระยะเริ่มต้น จนกว่าจะมีการจัดตั้งหน่วยงาน Pool Manager ที่แยกเป็นอิสระจาก ปตท. แล้วเสร็จ สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินงานของ Pool Manager ในระหว่างที่ยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าบริการ ให้เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อผ่านระบบส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่ง กกพ. จะพิจารณากำหนดอัตราค่าบริการสำหรับการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติต่อไป
6. เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 กบง. ได้พิจารณาการปรับปรุงสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และได้มีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ตามที่ กกพ. เสนอ (2) มอบหมายให้ กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติเป็นไปตามนโยบายของ กพช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ต่อไป และ (3) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 และวันที่ 13 ธันวาคม 2566 และให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานรับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. ให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำข้อสังเกตของที่ประชุมไปประกอบการจัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และนำเสนอต่อ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 มาตรา 23 กำหนดให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ออกกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง และวัสดุ อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริมการใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง และวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง หรือวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน มีสิทธิขอรับการส่งเสริมและช่วยเหลือตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว
2. การจัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (ร่างกฎกระทรวงฯ) และร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ดำเนินการสำรวจข้อมูลด้านต่าง ๆ เช่น จำนวน รุ่น ปริมาณการใช้พลังงาน เพื่อนำมากำหนดเป็นกลุ่มตัวอย่างและจำนวนตัวอย่างที่ต้องสุ่มทำการทดสอบ รวมถึงแนวทางการหาค่าประสิทธิภาพพลังงาน วิธีมาตรฐานการทดสอบ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงทำการทดสอบหาค่าประสิทธิภาพพลังงาน ประมวลผลการทดสอบตามหลักสถิติ โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นสูง (High Energy Efficiency Standards: HEPS) ประมาณร้อยละ 20 และกำหนดให้ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำ (Minimum Energy Efficiency Standards: MEPS) ประมาณร้อยละ 3 ทั้งนี้ จะดำเนินการปรับให้เหมาะสมกับแต่ละผลิตภัณฑ์โดยคำนึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น จำนวนยี่ห้อที่ผ่านเกณฑ์ เป็นต้น ซึ่งการจัดทำร่างกฎกระทรวงฯ และร่าง มอก. ต้องผ่านการพิจารณาของคณะทำงานวิชาการที่มีความรู้ความชำนาญตามสาขาต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการพิจารณาจัดทำร่างกฎกระทรวงฯ รวมทั้งการสัมมนารับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยมีขั้นตอนการพิจารณาดังต่อไปนี้ (1) คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย พพ. (2) คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน (3) คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย กระทรวงพลังงาน (4) คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) (5) กพช. (6) คณะรัฐมนตรี (7) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) (8) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงนาม และ (9) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา โดยร่าง มอก. ที่ผ่านคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน แล้ว พพ. จะนำส่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อพิจารณากำหนด มอก. คุณลักษณะที่ต้องการด้านประสิทธิภาพพลังงานต่อไป โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปีปัจจุบัน พพ. ได้ศึกษาและจัดทำกฎกระทรวงแล้ว จำนวน 73 ฉบับ (73 ผลิตภัณฑ์) ซึ่งผลจากการศึกษาจะได้ HEPS นำมาจัดทำเป็นกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง หรือวัสดุ อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และ MEPS นำมาจัดทำเป็น มอก. คุณลักษณะที่ต้องการด้านประสิทธิภาพพลังงาน นำส่ง สมอ. ประกาศบังคับใช้ต่อไป ซึ่งปัจจุบัน พพ. ได้ส่งร่าง มอก. ให้กับ สมอ. และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 30 ฉบับ ในจำนวนนี้เป็นมาตรฐานบังคับ 5 ฉบับ และมาตรฐานทั่วไป 25 ฉบับ
3. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติรับทราบร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 17 ฉบับ (17 ผลิตภัณฑ์) และมอบหมายให้ พพ. จัดส่งร่างกฎกระทรวงฯ เสนอต่อคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของกระทรวงพลังงาน (คณะกรรมการฯ) พิจารณา ก่อนนำมาเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป โดยเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ จำนวน 17 ฉบับ (17 ผลิตภัณฑ์) ตามที่ พพ. เสนอ และได้มีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงฯ จำนวน 7 ฉบับ (7 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียว หลอดแอลอีดีหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดี เครื่องเชื่อมไฟฟ้า คอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็น เครื่องดูดฝุ่นชนิดลากพื้น เครื่องทอดแบบน้ำมันท่วม และเครื่องดูดควันสำหรับเตาหุงต้ม และให้ดำเนินการเสนอต่อ กบง. พิจารณาต่อไป (2) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงฯ จำนวน 3 ฉบับ (3 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องอัดอากาศแบบเกลียว และกระจก โดยให้ พพ. รับความเห็นและข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎกระทรวงฯ ก่อนที่จะนำเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป และ (3) เห็นชอบให้ พพ. ถอนร่างกฎกระทรวงฯ จำนวน 7 ฉบับ (7 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ ฉนวนกันความร้อนอุณหภูมิต่ำ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตู้แช่เย็นแสดงสินค้าแบบกึ่งตั้ง ตู้แช่เย็นแสดงสินค้าแบบตั้ง เครื่องแช่เย็นและเครื่องแช่แข็งอย่างรวดเร็ว ยางนอกรถจักรยานยนต์ และเครื่องเป่าผม ออกจากวาระการประชุม และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 กบง. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 3 ฉบับ (3 ผลิตภัณฑ์) ตามที่ พพ. เสนอ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
4. ร่างกฎกระทรวงฯ แต่ละผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย หลักการและเหตุผล นิยาม ค่าประสิทธิภาพพลังงาน และมาตรฐานการทดสอบ ห้องทดสอบ โดยมีรายละเอียดการกำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานขั้นสูงของร่างกฎกระทรวงฯ 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง เครื่องอัดอากาศแบบเกลียวที่มีประสิทธิภาพสูง และ กระจกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ดังนี้
4.1 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามชนิดและขนาดของเครื่องปรับอากาศที่ผู้ผลิตระบุ ดังนี้ (1) เครื่องปรับอากาศชนิดความสามารถทำความเย็นคงที่ ขนาดไม่เกิน 8,000 วัตต์ และขนาดมากกว่า 8,000 วัตต์ แต่ไม่เกิน 12,000 วัตต์ ค่าอัตราส่วนประสิทธิภาพพลังงานตามฤดูกาล (Seasonal Energy Efficiency Ratio: SEER) 13.17 – 14.38 บีทียูต่อชั่วโมงต่อวัตต์ และ 12.54 – 13.48 บีทียูต่อชั่วโมงต่อวัตต์ ตามลำดับ ค่าตัวประกอบสมรรถนะทำความเย็นตามฤดูกาล (Cooling Seasonal Performance Factor: CSPF) 3.86 – 4.22 วัตต์ชั่วโมงต่อวัตต์ชั่วโมง และ 3.68 – 3.95 วัตต์ชั่วโมงต่อวัตต์ชั่วโมง ตามลำดับ และ (2) เครื่องปรับอากาศชนิดความสามารถทำความเย็นปรับเปลี่ยนได้ ขนาดไม่เกิน 8,000 วัตต์ และขนาดมากกว่า 8,000 วัตต์ แต่ไม่เกิน 12,000 วัตต์ ค่า SEER 17.06 – 25.59 บีทียูต่อชั่วโมงต่อวัตต์ และ 16.03 – 21.63 บีทียูต่อชั่วโมงต่อวัตต์ ตามลำดับ และค่า CSPF 5.00 – 7.50 วัตต์ชั่วโมงต่อวัตต์ชั่วโมง และ 4.70 – 6.34 วัตต์ชั่วโมงต่อวัตต์ชั่วโมง ตามลำดับ
4.2 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องอัดอากาศแบบเกลียวที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามขนาดกำลังด้านออกที่กำหนด และความดันอากาศอัดที่ผู้ผลิตระบุ ดังนี้ (1) เครื่องอัดอากาศแบบเกลียว ระบายความร้อนด้วยอากาศ กำหนดค่ากำลังจำเพาะของขนาดกำลังด้านออก 2.2 กิโลวัตต์ สำหรับความดันอากาศอัดในช่วง 0.7 ถึง 1.25 เมกะพาสคาล ที่ 7.5 - 6.9 ถึง 9.7 - 8.2 กิโลวัตต์ต่อลูกบาศก์เมตรต่อนาที ตามลำดับ จนถึงขนาดกำลังด้านออก 315 กิโลวัตต์ ในช่วง 0.7 ถึง 1.25 เมกะพาสคาล ที่ 5.4 - 4.8 ถึง 7.6 - 6.0 กิโลวัตต์ต่อลูกบาศก์เมตรต่อนาที ตามลำดับ และ (2) เครื่องอัดอากาศแบบเกลียว ระบายความร้อนด้วยน้ำ กำหนดค่ากำลังจำเพาะของขนาดกำลังด้านออก 7.5 กิโลวัตต์ สำหรับความดันอากาศอัดในช่วง 0.7 ถึง 1.25 เมกะพาสคาล ที่ 6.2 - 5.3 ถึง 8.1 - 7.1 กิโลวัตต์ต่อลูกบาศก์เมตรต่อนาที ตามลำดับ จนถึงขนาดกำลังด้านออก 630 กิโลวัตต์ ในช่วง 0.7 ถึง 1.25 เมกะพาสคาล ที่ 5.3 - 4.5 ถึง 7.2 - 6.3 กิโลวัตต์ต่อลูกบาศก์เมตรต่อนาที ตามลำดับ ทั้งนี้ ค่าประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องอัดอากาศแบบเกลียวทั้งสองรูปแบบที่ไม่ได้ระบุขนาดกำลังด้านออก ให้คำนวณหาค่ากำลังจำเพาะจากสมการที่กำหนด
4.3 ร่างกฎกระทรวงกำหนดกระจกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงาน ตามค่าสัมประสิทธิ์การส่งผ่านความร้อนจากรังสีอาทิตย์ (Solar Heat Gain Coefficient: SHGC)ค่าการส่องผ่านของแสงธรรมชาติต่อค่าสัมประสิทธิ์การส่งผ่านความร้อนจากรังสีอาทิตย์ (Light to Solar Gain: LSG) และค่าสัมประสิทธิ์การถ่ายเทความร้อนรวม (U-Value) ที่จำเพาะแตกต่างไปตามกลุ่มและประเภทของกระจกได้แก่ (1) กลุ่มกระจกพื้นฐาน ประเภทกระจกแผ่น กระจกโฟลตใส กระจกโฟลตสีตัดแสง และกระจกสีเขียว กำหนดค่า SHGC และค่า LSG ที่ 0.53 – 0.47 และ 1.20 – 1.30 ตามลำดับ (2) กลุ่มกระจกแปรรูปแผ่นเดี่ยว กลุ่มที่ 1 ประเภท กระจกเทมเปอร์ และกระจกอบแข็งด้วยความร้อน กำหนดค่า SHGC และค่า LSG ที่ 0.53 – 0.47 และ 1.20 – 1.30 ตามลำดับ (3) กลุ่มกระจกแปรรูปแผ่นเดี่ยว กลุ่มที่ 2 ประเภทกระจกเปล่งรังสีความร้อนต่ำ กระจกสะท้อนแสง และกระจกนิรภัยหลายชั้น กำหนดค่า SHGC และค่า LSG ที่ 0.50 - 0.46 และ 1.20 – 1.30 ตามลำดับ และ (4) กลุ่มกระจกฉนวนความร้อน ประเภทกระจกฉนวนความร้อน กำหนดค่า SHGC ค่า LSG และค่า U-Value ที่ 0.40 - 0.33 1.20 – 1.60 และ 2.25 – 1.97 ตามลำดับ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 3 ฉบับ (3 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องอัดอากาศแบบเกลียว และกระจก
2. มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นำร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 3 ฉบับ (3 ผลิตภัณฑ์) เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างต่อไป
กพช. ครั้งที่ 170 วันพุธที่ 25 ธันวาคม 2567
มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 4/2567 (ครั้งที่ 170)
วันพุธที่ 25 ธันวาคม 2567
1. การขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม
2. การขยายเวลามาตรการการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมการทำหน้าที่ประธาน
(นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 การขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้พิจารณา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 และได้มีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบการพิจารณารับซื้อไฟฟ้านอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าประเภทชีวมวลหรืออื่น ๆ นอกจากชีวมวล จากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อปีต่อปี ไม่เกิน 2 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ที่กรอบราคารับซื้อไฟฟ้าสูงสุดไม่เกินต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่หลีกเลี่ยงได้จากการใช้เชื้อเพลิงนำเข้าในราคาสูงสุด ณ ปัจจุบัน (Avoided Cost) (2) มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ร่วมกันกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้า และเงื่อนไขอื่น ๆ สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีการผลิตและใช้เองอยู่แล้วในปัจจุบันและมีพลังงานส่วนเหลือที่จะจำหน่ายเข้าสู่ระบบให้มีความเหมาะสม เป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า โดยคำนึงถึงประเภทเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าต่อไป และ (3) มอบหมายให้ กบง. พิจารณาและบริหารการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มให้มีความเหมาะสมเป็นไปตามนโยบาย โดยคำนึงถึงประเภทเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้ทันต่อสถานการณ์ และรายงานให้ กพช. ทราบต่อไป โดยต่อมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 กบง. ได้พิจารณา เรื่อง การทบทวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 และได้มีมติเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิม และนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าประเภทชีวมวล หรืออื่น ๆ นอกเหนือจากชีวมวล จากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ. และ กฟภ. หรือ กฟน. สามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อปีต่อปีไม่เกิน 2 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ (1) กรณีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย และ (2) กรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ และพลังงานลม) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากสัญญาเดิมจะมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม
2. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 กพช. ได้พิจารณาเรื่อง มาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน และได้มอบหมายให้ กกพ. พิจารณาดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของมติ กบง. เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 โดยขยายกรอบระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากปี 2565 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 2 ปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ต่อมา เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 คณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน มีมติเห็นชอบการขยายมาตรการบริหารจัดการพลังงานที่จะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ดังนี้ (1) มอบหมาย พพ. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนข้อมูลระยะเวลาคืนทุน ตัวเลขผลกระทบมาตรการรับซื้อคืนไฟฟ้าส่วนเกินโซลาร์หลังคาภาคอุตสาหกรรม 1 บาทต่อหน่วย ต่ออัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) และปรับปรุงรายละเอียดมาตรการตามข้อเสนอแนะของที่ประชุม รวมทั้งจัดทำรายละเอียดมาตรการรับซื้อคืนไฟฟ้าส่วนเกินโซลาร์หลังคาภาคอุตสาหกรรม 1 บาทต่อหน่วย ระยะเวลามาตรการ 2 ปี และประสาน สนพ. เพื่อนำเสนอ กบง. และ กพช. พิจารณาต่อไป และ (2) มอบหมาย พพ. ประสาน สนพ. นำเสนอวาระการขอขยายเวลามาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจาก SPP และ/หรือ VSPP สัญญาเดิม ระยะสั้น 2 ปี (วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569) และขยายสัญญาปีต่อปี และกำหนดเงื่อนไขสิทธิ์บอกเลิกสัญญาหากพบข้อจำกัดด้านศักยภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Capacity) และในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าเป็น 1.00 บาทต่อหน่วย เพื่อให้เกิดการจูงใจในการเข้าร่วมโครงการมากขึ้น ต่อ กบง. และ กพช. พิจารณาต่อไป
3. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 กบง. ได้พิจารณามาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ระยะที่ 2 ภายใต้มาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน โดยมีมติดังนี้ (1) เห็นชอบมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ระยะที่ 2 ภายใต้มาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจาก SPP และ/หรือ VSPP จากสัญญาเดิม และนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง สามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อไม่เกิน 2 ปี (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2569) ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ทั้งนี้ กำหนดเงื่อนไขให้สิทธิ์แก่การไฟฟ้าสามารถบอกเลิกสัญญาได้ หากพบข้อจำกัดด้านศักยภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Capacity) โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าสำหรับกรณีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย และสำหรับกรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ (แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 1.00 บาทต่อหน่วย และประเภทพลังงานลม อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากสัญญาเดิมจะมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม (2) มอบหมายให้ กกพ. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และ (3) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ กพช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
4. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มที่ผ่านมา มีผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เข้าร่วมโครงการประมาณ 20 ราย รวมกำลังการผลิตประมาณ 25 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีผู้ที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบอยู่ 1 ราย ซึ่งค่อนข้างน้อย พพ. จึงได้วิเคราะห์สาเหตุและเสนอแนะการปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จูงใจมากขึ้น ซึ่ง พพ. ประเมินแล้วพบว่าการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดการติดตั้งเท่ากับ 800 กิโลวัตต์ ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ หากมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนเพิ่มด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้า 1.00 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าไม่เกิน 2 ปี พบว่า จะมีระยะเวลาคืนทุน ประมาณ 6 ปี และอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return: IRR) ประมาณร้อยละ 14 ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจยื่นขอรับสิทธิลดหย่อนภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จะทำให้ระยะเวลาคืนทุนลดลงและค่า IRR เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ราคารับซื้อไฟฟ้า 1.00 บาทต่อหน่วย เทียบกับราคา Marginal Cost (บาทต่อหน่วย) จะไม่มีผลกระทบกับราคาค่าไฟฟ้า
5. เพื่อให้การดำเนินมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มที่จะสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และจูงใจให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้าร่วมโครงการมากขึ้น พพ. จึงเห็นสมควรเสนอขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจาก SPP และ/หรือ VSPP จากสัญญาเดิม และนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ. และ กฟภ. หรือ กฟน. สามารถรองรับได้ โดยรับซื้อตั้งแต่ปี 2568 – 2569 ไม่เกิน 2 ปี (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2569) ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ทั้งนี้ การไฟฟ้าสามารถบอกเลิกสัญญาได้ หากพบข้อจำกัดด้านศักยภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Capacity) โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าสำหรับกรณีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย และสำหรับกรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ (แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 1.00 บาทต่อหน่วย และประเภทพลังงานลม อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากสัญญาเดิมจะมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม ยกเว้นกรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแล้ว ยังเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยเฉพาะกรณี SPP ชีวมวล และยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจร (Spot LNG) ซึ่งในปี 2567 คาดว่าจะมีการนำเข้าถึง 97 ลำเรือ รวมทั้งเกิดประโยชน์จากการลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งในภาวะปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลแนวโน้มราคาไฟฟ้าต่อหน่วยของการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง LNG (LNG Unit Cost) เฉลี่ยปี 2567 พบว่า อัตรารับซื้อไฟฟ้าสูงสุดของการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ซึ่งอยู่ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย ยังคงต่ำกว่าประมาณการต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจาก LNG เฉลี่ยปี 2567 ซึ่งอยู่ที่ 2.60 บาทต่อหน่วย โดยเป็นไปตามกรอบราคารับซื้อไฟฟ้า Avoided Cost ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิม และนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง สามารถรองรับได้ โดยรับซื้อตั้งแต่ปี 2568 – 2569 ไม่เกิน 2 ปี (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2569) ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ทั้งนี้ กำหนดเงื่อนไขให้สิทธิ์แก่การไฟฟ้าสามารถบอกเลิกสัญญาได้ หากพบข้อจำกัดด้านศักยภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Capacity) โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้า ตามประเภทพลังงาน ดังต่อไปนี้
1.1 กรณีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย
1.2 กรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
(1) ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ (แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 1.00 บาทต่อหน่วย
(2) ประเภทพลังงานลม อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากสัญญาเดิมจะมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม ยกเว้นกรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์
2. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
เรื่องที่ 2 การขยายเวลามาตรการการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเทินหินบุน เพิ่มเติม จำนวน 20 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตไฟฟ้าเดิม 440 เมกะวัตต์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ในอัตราค่าไฟฟ้าไม่มากกว่าสัญญาเดิม โดย กฟผ. ได้ดำเนินงานตามมติ กพช. โดยได้ลงนามในหนังสือแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าร่วมกับโครงการเทินหินบุน เพื่อรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจำนวน 20 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ต่อมา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 กพช. ได้มีมติเห็นชอบมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี จำนวน 20 เมกะวัตต์ โดยนับจากวันลงนามข้อตกลงเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้ ไม่เกินกว่าวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าประมาณ 1.85 บาทต่อหน่วยตามสัญญาเดิม เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและบรรเทาสถานการณ์ราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง และมอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินการจัดทำข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติมตามมติ กพช. ดังกล่าว โดยต่อมา กฟผ. ได้ดำเนินงานตามมติ กพช. โดยได้ลงนามในหนังสือแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าร่วมกับโครงการเทินหินบุน เพื่อรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจำนวน 20 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
2. เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 บริษัท Theun-Hinboun Power Company จำกัด (THPC) ได้มีหนังสือถึง กฟผ. เสนอให้พิจารณาขยายเวลารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม จำนวน 20 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 หรือช่วงเวลาตามที่พิจารณาเห็นว่าเหมาะสม โดยเสนอให้ใช้หลักการเดิมตามที่กำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และ THPC ฉบับปัจจุบัน ต่อมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 คณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ได้มีมติให้ กฟผ. ประสานสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เสนอวาระการขยายเวลามาตรการการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. พิจารณาต่อไป โดยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 กบง. ได้มีเห็นชอบมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี ภายใต้มาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน จำนวน 20 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามโครงสร้างสัญญาปัจจุบัน โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินการจัดทำข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
3. การขยายเวลามาตรการการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี ภายใต้มาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568) โดยมีรายละเอียด ดังนี้ (1) อายุสัญญา ระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 (2) ราคารับซื้อไฟฟ้า เป็นไปตามโครงสร้างสัญญาปัจจุบันที่กำหนดให้จ่ายเป็นสกุลบาทที่ 0.9083 บาทต่อหน่วย และสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่ 0.02595 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหน่วย โดยเมื่อคำนวนอัตราแลกเปลี่ยน 37.0105 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567) คิดเป็นอัตรารับซื้อไฟฟ้ารวมประมาณ 1.87 บาทต่อหน่วย (3) เงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากหลักการเดิมตามที่ระบุในข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2566 และ (4) ไม่กระทบต่อระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ กฟผ. พิจารณาแล้วพบว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติมระยะสั้น ในด้านเทคนิคไม่ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้า รวมทั้งในด้านต้นทุนจะสามารถลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ เนื่องจากการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนจะมีต้นทุนที่ถูกกว่าต้นทุนการผลิตหน่วยสุดท้าย (Short Run Marginal Cost) โดย ณ เดือนมิถุนายน 2567 Short Run Marginal Cost ช่วง Peak มีราคา 2.261 บาทต่อหน่วย และช่วง Off-Peak 2.152 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ ปัจจุบันสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางยังไม่มีเสถียรภาพและราคาเชื้อเพลิงยังมีความผันผวน ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติมระยะสั้นจะช่วยลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีราคาผันผวนได้
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี จำนวน 20 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามโครงสร้างสัญญาปัจจุบัน
2. มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดำเนินการจัดทำข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567 – 2580 (ร่างแผน PDP2024) ได้พิจารณาเสนอให้มีการขยายอายุการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ขนาดกำลังผลิตตามสัญญารวม 650 เมกะวัตต์ ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2574 เพื่อให้สอดคล้องกับอายุสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าน้ำพอง ระยะเวลา 10 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2574) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระบวนการจัดทำร่างแผน PDP2024 ยังไม่แล้วเสร็จ ส่งผลให้สถานะของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 จะต้องยึดกำหนดการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ซึ่งเป็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับปัจจุบัน โดยตามแผน PDP2018 Rev.1 โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
2. เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 เป็นโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้แหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำพอง - สินภูฮ่อม ที่มีต้นทุนราคาในการผลิตไฟฟ้าถูก ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลวแบบตลาดจร (Spot LNG) และจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศได้ ดังนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้มีหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ขอให้เสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาขยายการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ระยะเวลา 1 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568) ซึ่งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 กบง. ได้มีมติเห็นชอบการขยายอายุการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ระยะเวลา 1 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568) โดยมอบหมายให้ กฟผ. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. พิจารณาต่อไป
3. การขอขยายอายุการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 มีรายละเอียดดังนี้ (1) ด้านเทคนิค โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 มีความพร้อมรองรับการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามกรอบระยะเวลาการขอขยายอายุการเดินเครื่อง โดย กฟผ. มีแผนการบำรุงรักษา และตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ระบบส่งไฟฟ้ามีความพร้อมให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง เชื่อถือได้ มีคุณภาพเพียงพอตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยการบริหารจัดการอุปกรณ์ระบบส่งไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งการขยายอายุการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ระยะเวลา 1 ปี ไม่ส่งผลกระทบต่อแผนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ (2) ด้านเชื้อเพลิง กฟผ. มีความพร้อมด้านเชื้อเพลิงเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าจากการขยายอายุการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ระยะเวลา 1 ปี โดยเป็นการใช้ทรัพยากรภายในประเทศของแหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำพอง - สินภูฮ่อม ที่มีต้นทุนถูกได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด ช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิง Spot LNG โดยสามารถลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าสุทธิประมาณ 5,263 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดการเปรียบเทียบต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ดังนี้ 1) โรงไฟฟ้าน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ต้นทุนผลิตไฟฟ้า 1.8844 บาทต่อหน่วย ประมาณการหน่วยผลิตไฟฟ้า 4,266 กิกะวัตต์ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายดำเนินงานรวมต้นทุนค่าเชื้อเพลิง 8,039 ล้านบาท 2) โรงไฟฟ้า Marginal เชื้อเพลิง Spot LNG ต้นทุนผลิตไฟฟ้า 3.1181 บาทต่อหน่วย ประมาณการหน่วยผลิตไฟฟ้า 4,266 กิกะวัตต์ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายดำเนินงานรวมต้นทุนค่าเชื้อเพลิง 13,302 ล้านบาท ทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าสุทธิลดลง 5,263 ล้านบาท และ (3) ด้านสิ่งแวดล้อม กฟผ. ดำเนินการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน Monitor) และนำส่งผลรายงาน Monitor ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ทุก 6 เดือน เพื่อติดตามตรวจสอบและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐาน ดังนั้น การขยายอายุการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ระยะเวลา 1 ปี จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นจากเดิม เนื่องจากการดำเนินงานและรายละเอียดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพองไม่มีการเปลี่ยนแปลง
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการขยายอายุการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ระยะเวลา 1 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568)
2. มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 มาตรา 28 (1) กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีอำนาจหน้าที่เสนอแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 25 ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และมาตรา 4 (4) กำหนดให้ กพช. มีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนตามมาตรา 28 (1)
2. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้พิจารณาแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และได้มีมติดังนี้ (1) เห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (2) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ นำเสนอต่อ กพช. พิจารณาต่อไป และ (3) มอบหมายให้สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) ออกประกาศยุทธศาสตร์การจัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายหลังที่ กพช. เห็นชอบต่อไป
3. แนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีรายละเอียดดังนี้
3.1 แนวทางการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวงเงินรวม 3,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการวิเคราะห์จากผลการศึกษา ทบทวน ผลการดำเนินงาน ผลลัพธ์การจัดสรรเงินที่ผ่านมา รวมถึงข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประมาณการรายรับ - รายจ่ายเงินกองทุนฯ โดยแบ่งการจัดสรรเงินตามมาตรา 25 (1) – 25 (4) ดังนี้ 500 500 2,250 และ 250 ล้านบาท ตามลำดับ
3.2 หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในแต่ละมาตรา ดังนี้
3.2.1 มาตรา 25 (1) เป็นเงินหมุนเวียน เงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนสำหรับการลงทุนและดำเนินงาน ในการอนุรักษ์พลังงาน หรือการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานที่มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อ ดังนี้ (1) การสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานราชการลงทุนและดำเนินการด้านการลดการใช้พลังงานตามมาตรการลดใช้พลังงานในหน่วยงานราชการ เพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเด็นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานทดแทน โดยลดความเข้มข้นของการใช้พลังงาน ซึ่งมีแนวทางดำเนินการให้หน่วยงานราชการลงทุนติดตั้งหรือใช้วัสดุอุปกรณ์หรือเครื่องจักรอุปกรณ์ประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงหรือเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในหน่วยงาน (2) การดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนและดำเนินการด้านการอนุรักษ์พลังงานด้วยบริษัทจัดการพลังงาน (Energy Service Company : ESCO) ในหน่วยงานราชการ ซึ่งหน่วยงานราชการดำเนินการด้วยกลไกบริษัทจัดการพลังงาน โดยทำสัญญารับประกันผลประหยัดพลังงาน และมีการตรวจวัดและพิสูจน์ผลประหยัด (M&V) เพื่อรับประกันผลตอบแทนของโครงการให้กับหน่วยงานราชการ และ (3) การสนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในพื้นที่พิเศษ ได้แก่ โครงการพระราชดำริ (ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) หรือศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง (ศปร.) หรือเขตพระราชฐาน ซึ่งพื้นที่พิเศษไม่รวมโครงการในพระบรมราชูปถัมภ์) ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้ (1) สนับสนุนในลักษณะเงินหมุนเวียน เงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุน รูปแบบของการร่วมจ่าย (Co-pay) ไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายจริงหรือราคากลาง สำหรับการลงทุนและดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงาน หรือการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานสำหรับหน่วยงานราชการ (2) สำหรับการลงทุนและดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงานหรือการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานในพื้นที่พิเศษ ได้แก่ โครงการพระราชดำริ (ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กปร. หรือ ศปร. หรือเขตพระราชฐาน ซึ่งพื้นที่พิเศษไม่รวมโครงการในพระบรมราชูปถัมภ์) โดยสนับสนุนในลักษณะเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนตามค่าใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกินมาตรฐานราคากลางอ้างอิงตามหลักเกณฑ์ราคากลางเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ และผู้ขอรับการสนับสนุนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่พิเศษหรือไม่ได้รับผิดชอบดูแลพื้นที่พิเศษโดยตรง ต้องมีเอกสารร้องขอเพื่อดำเนินโครงการจากหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่พิเศษโดยตรง หากไม่แสดงเอกสารดังกล่าว ส.กทอ. ขอสงวนสิทธิ์ไม่พิจารณาข้อเสนอโครงการที่หน่วยงานยื่นขอรับการสนับสนุน และ (3) หน่วยงานผู้ขอรับการสนับสนุนสำหรับการลงทุนและดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงานหรือการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน ต้องเป็นหน่วยงานราชการ
3.2.2 มาตรา 25 (2) เป็นเงินหมุนเวียน เงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนสำหรับการลงทุนและดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงาน หรือเพื่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานที่มีลักษณะสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานด้วยการจัดการการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ และการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูงขึ้น ทั้งในรูปของอุปกรณ์/เครื่องใช้ เครื่องจักร กระบวนการผลิต และระบบควบคุมที่มีประสิทธิภาพใน 5 สาขาเศรษฐกิจหลักที่มีการใช้พลังงานมาก ได้แก่ (1) อุตสาหกรรม (2) ธุรกิจการค้า (3) บ้านอยู่อาศัย (4) เกษตรกรรม และ (5) ขนส่ง โดยให้ความช่วยเหลือด้านการลงทุนแก่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน กระตุ้นและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถลดต้นทุนด้านพลังงาน มีการใช้งานอุปกรณ์ประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง และเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้ (1) เป็นเงินหมุนเวียน เงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนแก่เอกชนสำหรับการลงทุนและดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงาน หรือเพื่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน โดยสนับสนุนในลักษณะเงินหมุนเวียน เงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุน ในรูปแบบของการร่วมจ่าย (Co-pay) ไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายจริงหรือราคากลาง โดยการขอรับการสนับสนุนต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกำหนด และ (2) เป็นเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยในการลงทุนและดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงานตามนโยบายของกระทรวงพลังงานให้ธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ โดยการขอรับการสนับสนุนต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกำหนด
3.2.3 มาตรา 25 (3) เป็นเงินช่วยเหลือหรือเงินอุดหนุนให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา หรือองค์กรเอกชนตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 โดยองค์กรเอกชนที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือหรือเงินอุดหนุนตามมาตรา 25 (3) ต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องโดยตรงกับการอนุรักษ์พลังงานหรือการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน และมิได้มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองหรือมุ่งค้าหากําไรจากการประกอบกิจกรรมดังกล่าว เพื่อดำเนินการ โดยแบ่งเป็นหมวด ก. – จ. ดังนี้
ก. โครงการทางด้านการอนุรักษ์พลังงานหรือโครงการที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน เป็นเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนโครงการทางด้านการอนุรักษ์พลังงาน หรือโครงการที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานที่มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ดังนี้ (1) การอนุรักษ์พลังงาน แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 1.1) ด้านการสนับสนุนนโยบาย ที่เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงพลังงาน เพื่อดำเนินโครงการทางด้านการอนุรักษ์พลังงาน การสำรวจ รวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ และการจัดทำข้อมูลเพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายและแผน และการขับเคลื่อนด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงานตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพลังงานชาติ นโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงพลังงาน หรือตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และการรวบรวมข้อมูล จัดเก็บข้อมูลและพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศด้านการอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศด้านการอนุรักษ์พลังงาน 1.2) ด้านการกำกับ ดูแล หรือบังคับใช้ภายใต้ข้อกฎหมาย ที่เป็นการกำกับ ดูแล บังคับภายใต้ข้อกฎหมาย ระเบียบ มาตรฐาน ข้อกำหนดการปฏิบัติหรือการสนับสนุนการใช้กฎหมาย ระเบียบ กฎกระทรวง มาตรฐาน ข้อกำหนดการปฏิบัติด้านการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อบังคับและสนับสนุนให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร/โรงงานควบคุม การใช้เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง การดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน หรือแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก นโยบายอนุรักษ์พลังงาน หรือนโยบายพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ที่มีลักษณะการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน ข้อกำหนด ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามมาตรฐานในประเทศหรือมาตรฐานสากล การดำเนินการผลักดันหรือเตรียมความพร้อมออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน ข้อกำหนดการปฏิบัติ หรือแผนงานเชิงนโยบาย หรือข้อกำหนดการสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายที่ส่งผลต่อการอนุรักษ์พลังงาน และ 1.3) ด้านการสนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ผ่านหน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรง ให้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร โดยใช้ศักยภาพด้านพลังงานของชุมชนอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการเข้าถึงการใช้พลังงานแบบพึ่งพาตนเอง และ (2) การป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ 2.1) ด้านการสนับสนุนนโยบาย ซึ่งเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงพลังงาน เพื่อดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน และ 2.2) ด้านการกำกับ ดูแล หรือบังคับใช้ภายใต้ข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นการกำกับ ดูแล บังคับภายใต้ข้อกฎหมาย ระเบียบ มาตรฐาน ข้อกำหนดการปฏิบัติหรือการสนับสนุนการใช้กฎหมาย ระเบียบ กฎกระทรวง มาตรฐาน ข้อกำหนดการปฏิบัติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน การดำเนินการผลักดันหรือเตรียมความพร้อมออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน ข้อกำหนดการปฏิบัติ หรือแผนงานเชิงนโยบาย หรือข้อกำหนดการสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายที่ส่งผลต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน และการแก้ปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากการอนุรักษ์พลังงาน และการติดตามหรือประเมินผลตามที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับมาตรฐาน ข้อกำหนดการปฏิบัติ หรือแผนงาน เชิงนโยบาย หรือข้อกำหนดการสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้ (1) การอนุรักษ์พลังงาน โดยการสนับสนุนด้านนโยบาย และการกำกับ ดูแล หรือบังคับใช้ภายใต้ข้อกฎหมาย จะสนับสนุนในลักษณะเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนตามค่าใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกินมาตรฐานราคากลางอ้างอิงตามหลักเกณฑ์ราคากลางเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ สำหรับการสนับสนุนด้านการสนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร จะสนับสนุนในลักษณะเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนในรูปแบบของการร่วมจ่าย (Co-pay) ตามสัดส่วนหรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกำหนดในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ผ่านหน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรง ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ทั้งนี้ หน่วยงานผู้ขอรับการสนับสนุนต้องมีลักษณะ ดังนี้ ด้านการสนับสนุนนโยบาย ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีภารกิจในการขับเคลื่อนนโยบายและแผนงานที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน หรือมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ และการจัดทำข้อมูลสถิติด้านพลังงาน หรือมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา จัดทำ หรือผลักดันมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงาน ด้านการกำกับ ดูแล หรือบังคับใช้ภายใต้ข้อกฎหมาย ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีภารกิจกำกับ ดูแล เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน ข้อกำหนดการปฏิบัติเกี่ยวกับด้านพลังงาน โดยต้องแสดงรายละเอียดอำนาจหน้าที่หรือภารกิจตามกฎหมายของหน่วยงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ และด้านการสนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีภารกิจโดยตรง ให้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร โดยให้การสนับสนุนในรูปแบบของการร่วมจ่าย (Co-pay) ตามสัดส่วนหรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกำหนดในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย และ (2) การป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน โดยการสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน สนับสนุนในลักษณะเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนตามค่าใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกินมาตรฐานราคากลางอ้างอิงตามหลักเกณฑ์ราคากลางเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ หน่วยงานผู้ขอรับการสนับสนุนต้องมีลักษณะ ดังนี้ ด้านการสนับสนุนนโยบาย ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีภารกิจในการขับเคลื่อนนโยบายและแผนงาน ที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน หรือมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา จัดทำ หรือผลักดันมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน และด้านการกำกับ ดูแล หรือบังคับใช้ภายใต้ข้อกฎหมาย ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีภารกิจกำกับ ดูแล เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน ข้อกำหนดการปฏิบัติเกี่ยวกับด้านพลังงาน โดยต้องแสดงรายละเอียดอำนาจหน้าที่หรือภารกิจตามกฎหมายของหน่วยงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ
ข. การค้นคว้า วิจัย การศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนา การส่งเสริมและการอนุรักษ์พลังงาน การป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานและเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและวางแผนพลังงาน เป็นเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนการค้นคว้า วิจัย การศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนา การส่งเสริมและการอนุรักษ์พลังงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน และเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและวางแผนพลังงานที่มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ดังนี้ (1) การวิจัยเพื่อสร้างงานต้นแบบ (Prototype) หรือนวัตกรรม ซึ่งจะส่งผลต่อการนำไปสาธิตต้นแบบสร้างนวัตกรรม และขยายผลเชิงพาณิชย์ได้ โดยมีระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (Technology Readiness Levels: TRLs) ตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป (2) การวิจัยเชิงนโยบายที่มีผลทำให้หน่วยงานรัฐสามารถนำไปออกระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมาย ให้กิจการประเภทเดียวกันต้องปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง และต้องมีโอกาสนำไปขยายผล หรือบังคับที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง (3) การวิจัย พัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงานที่มีศักยภาพขยายผล หรือผลักดันในเชิงธุรกิจ (4) การวิจัยที่แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานที่มีปัญหา มาจากผู้ประกอบการ และพร้อมนำผลการวิจัยไปดำเนินการและขยายผล (5) การวิจัยที่มีโอกาสนำไปขยายผลในรูปแบบการบรรจุในหลักสูตรเพื่อการศึกษา หรือบังคับใช้ในหน่วยงานของตนเองหรือที่มีแนวโน้มนำมาสู่การอนุรักษ์พลังงานที่เป็นรูปธรรม อย่างต่อเนื่อง และ (6) การวิจัย พัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงานในระดับชุมชน ทั้งนี้ โครงการค้นคว้า วิจัย การศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนา การส่งเสริม และการอนุรักษ์พลังงาน การป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน ควรคำนึงถึงศักยภาพการอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้ (1) โครงการที่ขอรับการสนับสนุนต้องไม่ซ้ำซ้อนหรือเคยมีโครงการที่มีลักษณะเช่นเดียวกันวิจัยมาก่อน และต้องไม่เป็นโครงการที่มีลักษณะการดำเนินโครงการวัตถุประสงค์หลักเพื่อการประกอบกิจการไฟฟ้า หรือการป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการไฟฟ้า (2) การรับการสนับสนุนทุนวิจัย การดำเนินโครงการวิจัย เป็นไปตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 (3) ผลการวิจัยที่เกิดภายใต้การสนับสนุนเงินจากกองทุนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 (4) หน่วยงานผู้ขอรับการสนับสนุนต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันการศึกษา ที่มีภารกิจเพื่อส่งเสริม สนับสนุน หรือขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงานเพื่อส่งเสริม สนับสนุน หรือขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม
ค. โครงการสาธิต หรือโครงการริเริ่มที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานหรือการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน เป็นเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนโครงการด้านสาธิต หรือโครงการริเริ่มที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานหรือการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานที่มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ดังนี้ (1) การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบ การบริหาร วิธีการ หรือรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยนำไปดำเนินการ หรือยังไม่มีผลลัพธ์เชิงประจักษ์อย่างชัดเจน หรือมีลักษณะสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ เพื่อแสดงถึงความคุ้มค่า มีโอกาสนำมาเผยแพร่ เป็นตัวอย่างและขยายผลหรือการสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายได้ ในวงกว้าง (2) การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบ การบริหาร วิธีการ หรือรูปแบบที่เคยดำเนินการมาแล้ว และเป็นเรื่องที่รับทราบอย่างแพร่หลายหรือใช้งานเชิงพาณิชย์ ต้องมีเหตุผลถึงความแตกต่างและความจำเป็นที่ต้องดำเนินการพัฒนา หรือสาธิต (3) นวัตกรรมจากงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จ และมีความประสงค์จะพัฒนาไปเป็นต้นแบบสำหรับการขยายผลเชิงประจักษ์ (4) การแก้ปัญหาอุปสรรคที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และต้องเป็นเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ที่ยังไม่เคยมีผลของการแก้ปัญหาในการเพิ่มประสิทธิภาพอันเป็นที่ประจักษ์ และยอมรับอย่างกว้างขวางมาก่อน และ (5) มีลักษณะสาธิตในพื้นที่เฉพาะ มีศักยภาพที่แตกต่างกันมีลักษณะการบริหารจัดการในสังคมที่แตกต่างกัน และยังไม่เคยดำเนินการในพื้นที่นั้นมาก่อน ใช้เป็นต้นแบบนำไปขยายผลให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ ให้การสนับสนุนบางส่วนหรือเต็มจำนวน ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่จะนำมาสาธิตในโครงการ โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนไทย ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้ หน่วยงานผู้ขอรับการสนับสนุนต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันการศึกษา ที่มีภารกิจเพื่อส่งเสริม สนับสนุน หรือขับเคลื่อนงานวิจัย นวัตกรรม และสาธิต หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงานเพื่อส่งเสริม สนับสนุน หรือขับเคลื่อนงานวิจัย นวัตกรรม และสาธิต
ง. การศึกษา การฝึกอบรม และการประชุมเกี่ยวกับพลังงาน เป็นเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนการศึกษา การฝึกอบรม และการประชุมเกี่ยวกับพลังงานที่มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ดังนี้ (1) การพัฒนาบุคลากร เครือข่ายพลังงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกลไกของการพัฒนาหรือสนับสนุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้หมายรวมถึงการสนับสนุนทุนวิจัย ทุนการศึกษา แก่นักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีการศึกษาเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน (2) การพัฒนาหลักสูตรหรือพัฒนาสื่อ หรือจัดฝึกอบรมให้แก่บุคลากรของกระทรวงพลังงาน ตลอดจนประชาชนทั่วไป เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และผู้นำชุมชน ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน และนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ได้ต่อไป เช่น หลักสูตรฝึกอบรม การดูงาน การจัดทำสื่อการเรียนรู้ เป็นต้น (3) การจัดประชุมสัมมนาด้านวิชาการเกี่ยวกับพลังงานเพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับความรู้ ความเข้าใจ หรือเพื่อเปิดโอกาสให้ปรึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าสัมมนาเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน หรือการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน (4) การให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากรของหน่วยงานของรัฐ และสถาบันการศึกษาในการศึกษาต่อในประเทศ (ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก) และการศึกษาต่อในต่างประเทศ (ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก) และการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงาน (5) การให้ทุนอุดหนุนการวิจัยสำหรับนักศึกษาเพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน หันมาให้ความสนใจในการทำวิจัยด้านการจัดการพลังงาน เทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์พลังงาน และ (6) การพัฒนาวิทยาลัยพลังงานของกระทรวงพลังงาน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของพลังงานต่อการดำเนินชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การจัดหาพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ และกระตุ้นความสนใจในการวิเคราะห์แนวทางเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในอนาคต ปลูกฝังให้มีจิตสำนึกในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้ (1) โครงการควรมีกิจกรรมประเมินผลการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ หรือผลกระทบด้านการอนุรักษ์พลังงานที่เกิดขึ้น (2) โครงการประเภททุนการศึกษา และทุนอุดหนุนการวิจัยจะให้การสนับสนุนผ่านหน่วยงานที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงาน เพื่อดำเนินการให้แก่บุคลากรของหน่วยงานของรัฐ และสถาบันการศึกษา และ (3) หน่วยงานผู้ขอรับการสนับสนุนต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันการศึกษา
จ. การโฆษณา การเผยแพร่ข้อมูล และการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการพัฒนาการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน เป็นเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนการโฆษณา การเผยแพร่ข้อมูล และการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการพัฒนาการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานที่มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ดังนี้ (1) กิจกรรมเผยแพร่นโยบาย มาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพ หรือผลงานโครงการที่เกี่ยวกับด้านพลังงานที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน และเป็นเป้าหมายในการนำไปสู่การขยายผลหรือทำให้ประชาชนเข้าใจ หรือมีทัศนคติที่ดีต่อกระทรวงพลังงาน (2) กิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึก และสร้างความตระหนักเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การผลิตและการใช้พลังงานทดแทน (3) กิจกรรมเผยแพร่การผลิตและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ประสบความสำเร็จ และ (4) สื่อที่จะใช้ต้องสอดคล้องและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย สามารถวัดผลการรับสื่อได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้ (1) สื่อที่จะใช้ต้องสอดคล้องและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย สามารถวัดผลการรับสื่อได้อย่างชัดเจน (2) การประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ ควรมีข้อมูลสำรวจหรือประเมินระดับความรู้ในประเด็นต่าง ๆ ของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดเนื้อหาที่จะสื่อสารให้ความรู้ กำหนดเป้าหมายระดับความรู้ที่คาดหวังและเป็นข้อมูลอ้างอิงในการประเมินผลหลังการประชาสัมพันธ์ (3) กรณีหน่วยงานภายในกระทรวงพลังงานขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ต้องผ่านคณะกรรมการหรือคณะทำงานที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงานก่อน เพื่อกำหนดกรอบ แนวทาง แผนการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ให้เป็นไปตามนโยบาย มาตรการ แผนงานด้านประชาสัมพันธ์ของกระทรวงพลังงาน โดยแสดงเอกสารผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ เพื่อยืนยันข้อมูล เช่น มติการประชุม หรือรายงานการประชุม หรือการแจ้งผลการพิจารณา หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ณ วันที่ยื่นข้อเสนอโครงการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ยกเว้นโครงการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของ ส.กทอ. ที่ให้เสนอผ่านคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมาย และ (4) หน่วยงานผู้ขอรับการสนับสนุนต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงด้านพลังงาน หรือที่มีหน้าที่โดยตรงกับงานสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และให้ข้อมูลข่าวสารด้านพลังงาน
3.2.4 มาตรา 25 (4) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ และตามบันทึกข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ระหว่างกระทรวงการคลังกับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กำหนดให้กองทุนเป็น “ทุนหมุนเวียนที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการ” และเร่งรัดให้มีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 และโดยที่ ส.กทอ. เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และคณะอนุกรรมการ ที่คณะกรรมการแต่งตั้ง และมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานต่าง ๆ ในภารกิจที่เกี่ยวกับกองทุน จึงมีความจำเป็นในการใช้งบประมาณเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการกองทุน อาทิ การดำเนินงานตามภารกิจ การจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลเพื่อรองรับการบริหารจัดการเงินกองทุนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพการปฏิบัติงานของพนักงานกองทุน ค่าเช่าหรือค่าย้ายที่ตั้งสำนักงาน รวมทั้งการบริหารทรัพยากรบุคคลที่จะต้องมีการทบทวนสวัสดิการและสิทธิประโยชน์สำหรับพนักงานกองทุนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน และพัฒนากองทุนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 โดยมีหลักเกณฑ์ในการสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ (1) การใช้จ่ายเงินตามแผนการบริหารจัดการ ส.กทอ. ได้แก่ 1) งบบุคลากร 2) งบดำเนินงาน 3) งบลงทุน และ 4) งบรายจ่ายอื่น (2) การใช้จ่ายเงินในโครงการที่ต้องดำเนินการตามแผนบริหารจัดการ ส.กทอ. ประจำปี แผนปฏิบัติการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลประจำปี และแผนปฏิบัติการดิจิทัลประจำปี (3) การใช้จ่ายเงินในการบริหารจัดการสารสนเทศและดิจิทัล เช่น การจัดให้มีระบบการบริหารจัดการสารสนเทศที่สนับสนุนการตัดสินใจของคณะกรรมการและ/หรือผู้บริหารกองทุน (EIS/MIS) ระบบสารสนเทศที่สนับสนุนผู้ใช้บริการภายในกองทุน ระบบสารสนเทศที่สนับสนุนผู้ใช้บริการภายนอกกองทุน และตอบสนองต่อนโยบายด้านดิจิทัล รวมทั้งนโยบายต่าง ๆ ที่สำคัญของภาครัฐ และ (4) การใช้จ่ายเงินในการบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management : HRM) และการพัฒนาทรัพยากรบุคคล (Human Resource Development : HRD) สภาพแวดล้อมที่สนับสนุนงานด้านทรัพยากรบุคคล (HR Enabler) ได้แก่ การสร้างความผูกพันและความพึงพอใจของบุคลากร (Employee Engagement & Satisfaction) เช่น อัตราค่าตอบแทนพนักงาน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์สำหรับพนักงาน ความปลอดภัย/สุขอนามัย/สภาพแวดล้อมในการทำงาน (Safety/Health/ Environment : SHE) ระบบสารสนเทศที่สนับสนุนงานด้านทรัพยากรบุคคล (HR Information System : HRIS) ซึ่งมีเงื่อนไขตามลักษณะงานและให้ลำดับความสำคัญ ดังนี้ (1) เพื่อขับเคลื่อนภารกิจของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (2) เพื่อขับเคลื่อนภารกิจของ ส.กทอ. (3) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ และ (4) ส.กทอ. และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นผู้รับการสนับสนุน
มติของที่ประชุม
เห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
ประธานฯ ได้แจ้งต่อที่ประชุมทราบว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ขอให้ที่ประชุมพิจารณาหารือเกี่ยวกับเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in-Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยกับประชาชนเรื่องความถูกต้องของกระบวนการ และวิธีการดำเนินงานรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและราชการ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2565 – 2573 ปริมาณรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ให้ความเห็นชอบไว้ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 โดยเป็นการชะลอการลงนามสัญญากับ 3 การไฟฟ้าไว้ก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง
2. เห็นชอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดำเนินการตามข้อ 1
3. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็น ข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของ กพช. และให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในเรื่องดังกล่าวได้
กพช. ครั้งที่ 52 วันพุธที่ 11 ตุลาคม 2538
มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 4/2538 (ครั้งที่ 52)
วันพุธที่ 11 ตุลาคม 2538
1. ผลการดําเนินการในการแก้ไขกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
2. รายงานผลการดําเนินงานในการส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
3. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
4. รายงานผลการดําเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
5. รายงานผลการดําเนินงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
6. รายงานความก้าวหน้าการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM)
7. รายงานความคืบหน้าการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
8. การลดช่องว่างระหว่างราคาน้ำมันในเขตกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค
9. สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทานตะวัน
10. การรับซื้อไฟฟ้าโครงการห้วยเฮาะ
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(นายบรรหาร ศิลปอาชา)
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
(นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์)
เรื่องที่ 1 ผลการดําเนินการในการแก้ไขกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2537 ได้อนุมัติตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2537 (ครั้งที่ 47) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2537 ในเรื่อง ข้อเสนอการปรับปรุงกฎเกณฑ์และส่งเสริมการตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมอบหมายให้ กรมโยธาธิการดําเนินการปรับปรุงกฎเกณฑ์การจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกันต่อไป และมอบหมายให้กรมทางหลวงรับไปศึกษาและพิจารณาผ่อนคลายกฎเกณฑ์การจัดตั้งสถานีบริการ ในบริเวณทางโค้ง และบริเวณภูเขาหรือเนินเขา เพื่อให้มีการจัดตั้งสถานีบริการในบริเวณดังกล่าวได้
2. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ได้อนุมัติตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 49) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 ในเรื่อง ข้อเสนอเพิ่มเติมในการปรับปรุงกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมอบหมายให้ กรมโยธาธิการ ปรับปรุงกฎเกณฑ์การจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติมให้สอดคล้องกันต่อไป และมอบหมายให้กรมโยธาธิการและกรมควบคุมมลพิษร่วมกันจัดทําเงื่อนไขควบคุมการทิ้งเศษวัสดุและน้ำมัน รวมทั้งการระบายน้ำเสียจากสถานีบริการเพื่อมิให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม
3. กรมโยธาธิการได้ดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ตามข้อ 1 และ 2 แล้ว โดยได้ออก ประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 1 ประเภทที่ 2 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 มีสาระสําคัญดังนี้
3.1 กําหนดให้มีการจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นในบริเวณถนน ซอย ทางลัดหรือ ถนนในหมู่บ้านจัดสรรที่มีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร แต่ไม่ถึง 12.00 เมตรได้ นอกจาก กฎเกณฑ์เดิมที่กําหนดให้จัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงได้เฉพาะในถนนสาธารณะที่มีความกว้าง ไม่น้อยว่า 12.00 เมตร หรือถนนส่วนบุคคลที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 10.00 เมตรเท่านั้น โดยแยกกฎเกณฑ์ควบคุมความปลอดภัยสําหรับสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงออกเป็น 2 กฎเกณฑ์ คือ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งริมถนนสาธารณะที่มีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร หรือถนนส่วนบุคคลที่มีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร ให้ใช้กฎเกณฑ์ตามที่กําหนดไว้ในประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 1 และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งริมถนนที่มีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร แต่ไม่ถึง 12.00 เมตร ให้ใช้กฎเกณฑ์ตามที่กําหนดไว้ในประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ประเภทที่ 2
3.2 ลดหรือยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ไม่จําเป็นเพื่อเพิ่มพื้นที่อนุญาตจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น
3.3 เพิ่มกฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยสําหรับสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 2 ซึ่งจะ จัดตั้งในบริเวณซอย ทางลัด หรือถนนในหมู่บ้านจัดสรรซึ่งเป็นแหล่งชุมชนพักอาศัย โดยให้มีการติดตั้งอุปกรณ์เก็บไอระเหยของน้ำมัน (Vapour Recovery System) รวมทั้งจํากัดปริมาณการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ด้วย
3.4 เพิ่มกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมสําหรับสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 2 ที่จะจัดตั้ง ใหม่ต้องมีการติดตั้งถังใต้ดินแบบสองชั้น (Double Skin Tanks) และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภทที่จะจัดตั้งใหม่ต้องมีบ่อกักไขน้ำมันความจุไม่น้อยกว่า 1,500 ลิตร ต่อพื้นที่ไม่เกิน 1,500 ตารางเมตร ทั้งนี้เพื่อควบคุมการทิ้งเศษวัสดุและน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
4. ผลที่จะได้รับจากการปรับปรุงกฎเกณฑ์ดังกล่าว คือ
4.1 สถานีบริการในเขตกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ การลดพื้นที่ห้ามตั้งสถานีบริการโดย ให้สามารถตั้งได้ในบริเวณถนนขนาดเล็กความกว้าง ไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร แต่ไม่ถึง 12.00 เมตร จะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งสถานีบริการเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางในเขตกรุงเทพมหานคร และ เมืองใหญ่ และถึงแม้จะเพิ่มข้อกําหนดให้สถานีบริการริมถนนเล็กต้องติดตั้ง Double Skin Tanks และมี อุปกรณ์ Vapour Recovery Line เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ต้นทุนของอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สูงนักหากเปรียบเทียบกับราคาที่ดินที่ลดลง ซึ่งจะทําให้มีการจัดตั้งสถานีบริการริมถนนเล็กขึ้นใหม่ทดแทนสถานีบริการริมถนนใหญ่ที่เลิกกิจการไป และทําให้มีจํานวนสถานีบริการเพียงพอแก่ความต้องการ ก่อให้เกิดการแข่งขันด้านบริการและราคา เป็นผลให้ประชาชนในเมืองใหญ่ได้รับความสะดวกและบริการที่ดีขึ้นในราคาที่เหมาะสม
4.2 สถานีบริการในพื้นที่ที่ห่างไกล การลดพื้นที่ห้ามตั้งในเขตชุมชนเล็ก ๆ ในชนบท จะช่วยให้มีผู้สนใจมาลงทุนจัดตั้งสถานีบริการในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทําให้เกิดการแข่งขันด้านบริการและราคา ทําให้ประชาชนในท้องที่ห่างไกลหรือผู้เดินทางไปในพื้นที่ที่ห่างไกล สามารถหาที่เติมน้ำมันได้สะดวกขึ้น และได้รับบริการที่ดีขึ้นในราคาที่ลดลง
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 รายงานผลการดําเนินงานในการส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 ได้อนุมัติตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2538 (ครั้งที่ 51) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 ในเรื่อง การส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว และมีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว โดยให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้า) ร่วมกับ สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาในรายละเอียด และดําเนินการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ต่อไป โดยให้มีผลบังคับใช้ประมาณวันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป และให้กรมโยธาธิการแก้ไขประกาศกรมโยธาธิการเกี่ยวกับการกําหนดขนาดของหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการ โดยให้มีข้อยกเว้นสําหรับหัวจ่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ซึ่งผสมสารเคลือบบ่าวาล์วให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายนอกของท่อทางออกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็น ขนาดใหญ่เท่ากับหัวจ่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วในปัจจุบัน คือ ไม่น้อยกว่า 24.50 มิลลิเมตร หรือ 15/16 นิ้ว
2. สพช. และกรมทะเบียนการค้าได้ดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยได้จัดให้มีการประชุม ในรายละเอียดร่วมกับกรมโยธาธิการ และบริษัทผู้ค้าน้ำมันต่างๆ และได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ดําเนินการออกประกาศต่อไป ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ดําเนินการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2538) เรื่อง กําหนดคุณภาพของน้ำมันเบนซิน ลงวันที่ 8 กันยายน 2538 เพื่อยกเลิกคุณภาพน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วและกําหนดคุณภาพน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วชนิดใหม่ที่มีสารเคลือบบ่าวาล์วอยู่ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป นอกจากนี้ในส่วนของกรมโยธาธิการ ได้เชิญบริษัทผู้ค้าน้ำมันมาร่วมพิจารณายกร่างประกาศ กรมโยธาธิการเกี่ยวกับการกําหนดขนาดหัวจ่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ซึ่งผสมสารเคลือบบ่าวาล์วแล้ว และ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบร่างประกาศฯ ก่อนออกประกาศบังคับใช้ต่อไป
3. สถานการณ์การจําหน่ายในปัจจุบันนั้น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นผู้ค้าน้ำมัน รายแรกที่ยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีตะกั่วตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นการยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วเป็นการล่วงหน้าก่อนที่จะใช้เป็นมาตรการบังคับประมาณ 6 เดือน และในปัจจุบันผู้ค้าน้ำมันอื่น ๆ เช่น บริษัท สยามสหบริการ จํากัด บริษัท พี.ซี. สยามปิโตรเลียม จํากัด ได้ยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วแล้วเช่นกัน ซึ่งทําให้ปริมาณการจําหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ในเดือนสิงหาคม 2538 มีปริมาณ 438.14 ล้านลิตร คิดเป็นอัตราร้อยละ 83 ของการจําหน่ายน้ำมันเบนซินทั้งหมด โดยส่วนที่เหลือเป็นการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว เป็นปริมาณ 92.80 ล้านลิตร คิดเป็นอัตราร้อยละ 17 ของการจําหน่ายน้ำมันเบนซินทั้งหมด
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
1.1 ราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2538 (มกราคม-พฤษภาคม) ได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉลี่ยสูงขึ้นจากปี 2537 ถึง 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สาเหตุสําคัญที่ผลักดันให้ราคาสูงขึ้นในระยะนี้ คือ
• การลดปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปคลง 320,000 บาร์เรลต่อวัน และยืนยันจะไม่มี การปรับเพดานการผลิตเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบียและอิหร่านพยายามควบคุมการผลิตตาม โควต้าที่ได้รับ และประเทศไนจีเรียมีปริมาณการผลิตที่ลดลงเนื่องจากประสบปัญหาที่แหล่งผลิต
• อิรัคได้ปฏิเสธข้อเสนอของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ยินยอมให้อิรัค ทําการส่งออกน้ำมันในมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเวลา 6 เดือน
• โรงกลั่นน้ำมันยุโรปเริ่มเปิดดําเนินการในเดือนเมษายนหลังจากที่ปิดซ่อมบํารุง ทําให้ มีความต้องการน้ำมันดิบเพื่อใช้ในการกลั่นมากขึ้น ประกอบกับมีแรงซื้อจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐอเมริกา มากขึ้น เนื่องจากมีปริมาณการสํารองน้ำมันเบนซินอยู่น้อย จึงต้องเร่งกลั่นเพื่อรองรับฤดูร้อนซึ่งจะมีการใช้ น้ำมันเบนซินสําหรับรถยนต์มากขึ้น
• ในเดือนพฤษภาคม สหรัฐอเมริกาประกาศคว่ำบาตรอิหร่าน ทําให้สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนไปซื้อน้ำมันจากแหล่งอื่นมาทดแทนที่เคยซื้อจากอิหร่านถึง 500,000 บาร์เรลต่อวัน และอิหร่านยังไม่สามารถขายให้ผู้อื่นแทนสหรัฐอเมริกาได้ จึงเป็นผลทําให้ตลาดมีการแข่งขันการซื้อน้ำมันมากขึ้น
• สําหรับราคาในช่วงเดือนมิถุนายน-เดือนกันยายน 2538 ได้ปรับลดลง 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สาเหตุสําคัญที่ผลักดันให้ราคาลดลงในระยะนี้ คือ ปริมาณการผลิตน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจากทุกแหล่งทั่วโลก ทั้งจากประเทศผู้ผลิตกลุ่มโอเปคเองและนอกกลุ่มโอเปค ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ยังมีเชื้อเพลิงประเภทอื่นที่เป็นคู่แข่งสําคัญคือ ก๊าซธรรมชาติซึ่งมีราคาถูกกว่า ซึ่งการประชุมกลุ่มโอเปคในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันไม่น้อยเช่นกัน โดยโอเปคอาจพิจารณาเพิ่มโควต้าการผลิตในปีหน้าเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดด้วย ในขณะเดียวกัน จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกนอกกลุ่มโอเปคซึ่งมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นมากในเดือนกรกฎาคม เป็นผลทําให้ราคาน้ำมันดิบมีการปรับลดลงและมีแรงกดดันที่ทําให้ราคาลดลงไปอีก และจากสถานการณ์ของอิหร่านได้คลี่คลายลงเมื่อเริ่มขายน้ำมันให้กับลูกค้าในยุโรปแทนสหรัฐอเมริกาได้ และประเทศมาเลเซียหยุดซ่อมบํารุงโรงกลั่นในเดือนกรกฎาคม จึงทําให้มีน้ำมันดิบทาปีสของมาเลเซียเหลือออกสู่ตลาดมากขึ้น
1.2 ราคาน้ำมันสําเร็จรูป ราคาน้ำมันสําเร็จรูปโดยทั่วไปสูงขึ้นจากปี 2537 แต่ยังสูงขึ้นน้อยกว่า ราคาน้ำมันดิบ ทําให้โรงกลั่นน้ำมันมีรายได้ลดลง สาเหตุเกิดจากการขยายกําลังการกลั่นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ทําให้มีน้ำมันสําเร็จรูปออกสู่ตลาดมากขึ้น
1.3 ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นในประเทศ เปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามราคาน้ำมันสําเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ ในช่วงแคบๆ โดยมีการปรับราคาสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 แล้วปรับลดราคาลงในช่วงไตรมาส 3 ทั้งนี้ ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นในประเทศจะปรับขึ้น-ลงตามราคาน้ำมันสําเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ ในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
1.4 ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ เปลี่ยนแปลงตามราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น โดยจะมีการปรับราคาตามราคาขายส่งในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นราคาหรือลงราคา กล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะ “ขึ้นเร็วลงเร็ว”
1.5 แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2538 นี้ คาดว่าราคาน้ำมันในตลาด โลกจะไม่สูงขึ้นตามที่กลุ่มโอเปคคาดหวัง แต่อาจจะลดลงเนื่องจาก การคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญน้ำมัน คาดว่าการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปคในระยะต่อไป จะใกล้เคียงกับโควต้าแต่ปริมาณการผลิตน้ำมันโลกจะเพิ่มขึ้นจากการผลิตของประเทศนอกกลุ่มโอเปค ในหลายๆประเทศ เช่น บราซิล อาร์เจนตินา โคลัมเบีย มาเลเซีย สําหรับปริมาณการใช้จะเพิ่มขึ้นด้วย เช่นกัน โดยทาง International Energy Agency (IEA) คาดว่าปริมาณการใช้จะเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่การผลิตของกลุ่มนอกโอเปคจะเพิ่มขึ้น 0.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ Nymex and IPE Futures Markets ได้ประมาณราคาน้ำมันดิบ สําหรับไตรมาสที่ 4(2538) และไตรมาสที่ 1(2539) ว่าราคามีแนวโน้มลดลงกว่าปัจจุบัน และยังมีความไม่แน่นอนว่าอิรักจะกลับมาเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอีกครั้งหนึ่งหรือไม่ ถ้าอิรักกลับมาเป็นผู้ส่งออกน้ำมันได้อีก กลุ่มโอเปคจะต้องจัดสรรโควต้าการผลิตกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคงจะเป็นปัญหาพอสมควรกับการที่สมาชิกหลายประเทศที่ได้ผลิตน้ำมันเพิ่มมาถึง 5 ปี จะต้องลดการผลิตตัวเองลง จึงคาดว่าถ้าอิรักกลับมาผลิตน้ำมันส่งออกอีกครั้งหนึ่งจะทําให้ราคาน้ำมันขาดเสถียรภาพไประยะหนึ่ง อาจต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือนกว่าราคาจะกลับมามีเสถียรภาพขึ้นอีก แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น การผลิตของกลุ่มนอกโอเปค ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น
2. การกํากับดูแลการกําหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ได้มีมติให้มีการกํากับดูแลการกําหนดราคาจําหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ณ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศ และต่อมาคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 ได้มีมติเห็นชอบตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้กรมการค้าภายในและ สพช. ร่วมกันพิจารณาปรับปรุงมาตรการ ในการกํากับดูแลการกําหนดราคาและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งกรมการค้า ภายในและ สพช. ได้ประชุมหารือร่วมกันในวันที่ 28 มิถุนายน 2538 ผลการประชุมสรุปได้ดังนี้ มาตรการกํากับดูแลราคาและค่าการตลาด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ยังมีความเหมาะสมที่จะใช้ปฏิบัติต่อไปโดยไม่ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงแต่อย่างใด ซึ่งหาก สพช. ทําการกํากับดูแลการกําหนดราคาของสถานีบริการ แล้วพบว่าสถานีบริการกําหนดราคาขายปลีกเกินเหมาะสม สพช. จะเป็นผู้ดําเนินการแก้ไขโดยใช้มาตรการต่าง ๆ ที่กําหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรี หากไม่เป็นผล สพช. จะส่งเรื่องให้ กรมการค้าภายในเป็นผู้ดําเนินการ โดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติกําหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ.2522
3. ผลการดําเนินการกํากับดูแลการกําหนดราคาในปี 2538 (เดือนมกราคม - สิงหาคม) จากรายงานราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 15 ของทุกเดือนของสํานักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ พบว่ามีสถานีบริการจําหน่ายน้ำมันราคาเกินเหมาะสมโดยเฉลี่ยเดือนละ 79 สถานี หรือ ร้อยละ 1.29 ของจํานวนสถานีบริการทั่วประเทศ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับปี 2537 ซึ่งมีจํานวนสถานีบริการจําหน่ายน้ำมันราคาเกินเหมาะสม โดยเฉลี่ยต่อเดือน 117 สถานี หรือ ร้อยละ 2.37 ของสถานีบริการทั้งหมด จะเห็นว่าปริมาณลดลงประมาณหนึ่งในสาม และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคและรายผู้ค้าน้ำมันแล้วก็มีปริมาณลดลงมากเช่นกัน ซึ่งเป็นผลจากการกํากับดูแลราคาขายปลีกตามมติคณะรัฐมนตรีประสบผลสําเร็จมากขึ้น ทําให้การเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีก ณ สถานีบริการในต่างจังหวัดมีลักษณะ “ขึ้นเร็วลงเร็ว” มากขึ้น ประกอบกับสภาพการแข่งขันของตลาดน้ำมันในต่างจังหวัดสูงขึ้น เนื่องจากมีการก่อสร้างสถานีบริการเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีสถานีบริการของผู้ค้าน้ำมันรายย่อยอื่น ๆ เกิดขึ้นมาก และมีสถานีบริการหลายรายเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายการค้า โดยเปลี่ยนไปรับน้ำมันจากผู้ค้าน้ำมันที่สามารถขายน้ำมันให้ในราคาถูกที่สุด และทําให้สถานีบริการเหล่านี้สามารถขายน้ำมันได้ ในราคาต่ำกว่าสถานีบริการโดยทั่วไป รวมทั้งยังมีการแข่งขันกันด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ด้านคุณภาพน้ำมัน (การเพิ่มค่าออกเทน) รูปแบบของสถานีบริการที่ดูแปลกใหม่ สวยงาม และการบริการที่ดียิ่งขึ้น
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 รายงานผลการดําเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 49) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 ให้กําหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปดําเนินการ และรายงานผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมทุกครั้ง
2. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2538 (ครั้งที่ 51) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 ได้พิจารณาเรื่อง การดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย เพื่อกําหนดเขตต่อเนื่องในท้องทะเลบริเวณถัดออกไปจากน่านน้ำอาณาเขตเป็นระยะทางไม่เกิน 24 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งรวมทั้ง ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรในเขตต่อเนื่องเสนอ โดยมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาตรวจร่างต่อไป และให้กําหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม สําหรับคลังน้ำมันที่กรมสรรพสามิตไม่มีอํานาจติดตั้งมาตรวัด โดยให้กรมสรรพสามิตและกรมสรรพากรรับไปดําเนินการติดตั้งมาตรวัดในคลังน้ำมันที่อยู่ชายฝั่งก่อน โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายของกรมสรรพากรในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม และมอบหมายให้กรมโยธาธิการติดตามข้อมูลการก่อสร้างคลังน้ำมันชายฝั่ง ซึ่งหากมีการก่อสร้างคลังเพิ่มขึ้นให้แจ้งกรมสรรพสามิตและกรมสรรพากรทราบ เพื่อดําเนินการต่อไป
3. คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะ กรรมการฯ พร้อมกับพิจารณาร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. และร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งทางสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาเรียบร้อยแล้ว และโดยที่กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทําผิด พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมการกฎหมายทะเล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่างขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในเรื่องการดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และเห็นชอบ รางประกาศเขตต่อเนื่อง ของราชอาณาจักรไทย ที่สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว และให้นําความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประกาศต่อไป ส่วนร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณาแล้ว ให้ทางสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานํากลับไปพิจารณาประกอบกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติการฯที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอมาและนําเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
4. หน่วยงานต่าง ๆ ได้ดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว และได้รายงานผลการดําเนินการ แก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อทราบ ดังนี้
4.1 กรมศุลกากร
(1) ได้ดําเนินการตรวจสอบเรือขนส่งน้ำมันของ กฟผ. และ ปตท. เช่นเดียวกับเรือของผู้ค้าน้ำมันรายอื่นอย่างเคร่งครัด และได้มีหนังสือแจ้งให้ ปตท. และ กฟผ. ทราบแล้ว
(2) คณะทํางานเพื่อทําหน้าที่ตรวจสอบการลักลอบนําเข้าน้ำมัน ได้สั่งการให้กองป้องกัน และปราบปรามและด่านศุลกากร จัดกําลังเจ้าหน้าที่และเรือตรวจการณ์การขนส่งน้ำมันทั้งทางด้านทะเลอันดามัน และอ่าวไทย รวมทั้งจัดเพิ่มสายสืบเฝ้าตรวจสอบการขนส่งน้ำมันทางบก ทั้งคลังที่ได้รับอนุมัตินําเข้าและคลังที่ไม่ได้รับอนุมัติให้นําเข้า แต่ไม่พบการกระทําความผิดแต่อย่างใด
(3) ได้จัดเจ้าหน้าที่ไปทําการตรวจสอบเรือนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทุกลําอย่างเข้มงวดเป็น เวลา 1 เดือน หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนําสินค้าเข้ามาใน ราชอาณาจักร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2538 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2538 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งปรากฏว่าถูกต้องตามระเบียบของกรมศุลกากรทุกประการ
(4) กรมศุลกากรได้ออกคําสั่งทั่วไปกรมศุลกากร ที่ 13/2538 เรื่อง เพิ่มเติมประมวล ระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2530 หมวดที่ 17 บทที่ 08 ข้อที่ 02(ก) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการดําเนินคดี การลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 31 มีนาคม 2538 เพื่อปรับปรุงแนวทางการดําเนินคดีของกรม ศุลกากรให้รัดกุมยิ่งขึ้น
(5) นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้เพิ่มมาตรการสนับสนุน โดยจัดให้มีการติดตามและ ตรวจสอบเรือประมงดัดแปลงที่ถูกจับกุม และเจ้าของเรือหรือผู้มีสิทธิ์ที่ได้ยื่นคําร้องขอรับเรือของกลางไปเก็บ รักษาเองว่ามีการนําไปใช้เพื่อลักลอบนําเข้าหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าฝ่าฝืนกรมศุลกากรจะยึดเรือคืนและบังคับ สัญญาประกันทัณฑ์บน รวมทั้งดําเนินการสืบสวนติดตามพฤติกรรมเรือประมงดัดแปลงหรือเรือบรรทุกน้ำมัน ต่างประเทศ ที่เคยถูกจับกุมหรืออยู่ในข่ายต้องสงสัยด้วย
4.2 กรมสรรพสามิต
(1) จัดทําโครงการติดตั้งมาตรวัดและอุปกรณ์วัดน้ำมันด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อติดตั้ง ณ คลังชายฝั่ง โดยขณะนี้ได้ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกทางด้านเทคนิคแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอด้านราคาอยู่ ซึ่งคาดว่าจะตกลงผลการประกวดราคาและทําสัญญาได้ในเดือนตุลาคม 2538 ส่วนการ ติดตั้งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้ง 42 แห่ง ภายในเดือนพฤษภาคม 2539 นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังได้จัดตั้งห้อง Operation Room เพื่อรับรายงานการ เคลื่อนย้ายและขนส่งน้ำมันในทะเลจากโรงกลั่นน้ำมันไปยังคลังน้ำมันชายฝั่ง เพื่อป้องกันการลักลอบเดินเรือ ออกนอกเส้นทางเพื่อไปรับน้ำมันหนีภาษี ทั้งนี้กรมสรรพสามิตได้ประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะ กรมทะเบียนการค้าในการรับข้อมูลการนําเข้าที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ต้องแจ้งแก่กรมทะเบียนการค้า ตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนําสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 106) พ.ศ. 2538 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2538
(2) ได้ระดมกําลังเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมคลังน้ำมันชายฝั่งทั่วประเทศอย่างเข้มงวด โดยการ ซีลผนึกท่อทางรับ-จ่ายน้ำมัน รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตที่ประจําในโรงกลั่นน้ำมันแจ้งข้อมูลการจ่ายน้ำมันจากโรงกลั่นให้สรรพสามิตปลายทางทราบทุกครั้ง และทําการตรวจสารเพิ่มคุณภาพน้ำมันที่สถานีบริการชายฝั่งทุกแห่ง และแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสรรพสามิตว่าด้วยการเก็บและการขนย้ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว พ.ศ. 2537 ให้การขนส่งน้ำมันออกจากคลังหรือโอนย้ายน้ำมันระหว่างคลังตั้งแต่ 50,000 ลิตร ขึ้นไป ต้องแจ้งสรรพสามิต
(3) การดําเนินการดังกล่าว โดยเฉพาะการซีลผนึกท่อทางรับ-จ่ายคลังน้ำมัน รวมทั้งการ ปฏิบัติการอื่น ๆ มีผลให้การจัดเก็บภาษีผลิตภัณฑ์น้ำมันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2537 – สิงหาคม 2538 (10 เดือน) สูงกว่าปีก่อนในช่วงระยะเดียวกันถึงร้อยละ 18
4.3 กรมสรรพากร ได้มีการกําหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยระบบมิเตอร์หัวจ่าย โดยออกประกาศกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 60) เรื่อง กําหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย การออกใบกํากับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร และการเก็บรักษารายงานตาม มาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากนี้ได้กําหนดระบบการควบคุมการรับมอบน้ำมันให้รัดกุมยิ่งขึ้นด้วย และ กรมสรรพากรได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสถานีบริการน้ำมันต่างๆ โดยเน้นให้ ตรวจสอบภาษีสถานีบริการที่ไม่ยอมเข้าอยู่ในระบบมิเตอร์หัวจ่ายเป็นพิเศษด้วย
4.4 กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการขอความร่วมมือจากบริษัทน้ำมันที่มีโรงกลั่นในสิงคโปร์ ให้แจ้งรายละเอียดของเรือ บรรทุกน้ำมันที่รับน้ำมันจากโรงกลั่นในสิงคโปร์และมีจุดหมายปลายทางมายังประเทศไทยแล้ว และได้รับแจ้งข้อมูลจาก บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จํากัด เพียงรายเดียวซึ่งข้อมูลดังกล่าวตรงกับข้อมูลตามเงื่อนไข และได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนําสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2538 เพื่อกําหนดเงื่อนไขในการนําเข้าน้ำมันให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ทุกราย ต้องแจ้งรายละเอียดการนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทันทีที่เรือเดินทางออกจากประเทศสิงคโปร์ ปรากฏว่ารายละเอียดส่วนใหญ่ถูกต้อง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวกรมทะเบียนการค้าได้นําส่งแก่ สพช. และกรมสรรพสามิต เพื่อทราบด้วย รวมทั้งกรมทะเบียนการค้าได้ดําเนินโครงการตรวจสอบหาสารเติมแต่ง (Additives) ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจากสถานีบริการทั่วประเทศ ซึ่งปรากฏว่า จากผลการตรวจสอบน้ำมัน จํานวน 3,000 ตัวอย่างพบน้ำมันที่มีปริมาณสารเติมแต่งน้อยกว่าปริมาณที่บริษัทผู้ค้าได้แจ้งไว้แก่กระทรวงพาณิชย์ จํานวน 1,232 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 25 ของตัวอย่างทั้งหมดที่ตรวจสอบ โดยพบความผิดมากที่สุดในภาคใต้บริเวณจังหวัดชุมพร คิดเป็นร้อยละ 53.6 นครศรีธรรมราช ร้อยละ 44.6 สตูล ร้อยละ 41.2 ปัตตานี ร้อยละ 40.7 ตรัง ร้อยละ 39.5 และสุราษฎร์ธานี ร้อยละ 35.8
4.5 กรมเจ้าท่า ได้มีคําสั่งที่ 307/2538 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2538 ให้สํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคและ สํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาที่มีเขตอํานาจครอบคลุมพื้นที่ที่มีเรือประมง ให้จัดเวรตรวจสอบใบอนุญาตใช้เรือ ใบทะเบียนเรือไทย ประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือ และผู้ควบคุมเครื่องจักรของเรือประมงที่เข้าจอดเทียบท่า หรือแพปลา และหากพบผิดให้ลงโทษอย่างเฉียบขาด โดยให้รายงานผลต่อกรมเจ้าท่าทุกสัปดาห์
4.6 กระทรวงมหาดไทย ได้มีคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 140/2538 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอํานวยการป้องกัน ปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 31 มีนาคม 2538 เพื่อจัดรูปองค์การในการกํากับ และประสานการปฏิบัติงานให้บังเกิดผลอย่างแท้จริง
4.7 กรมตํารวจ ได้ดําเนินการออกคําสั่งปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย โดยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย “นม 001” เพื่อปฏิบัติการปราบปรามการค้าน้ำมันลักลอบนําเข้าในช่วง 17 มีนาคม - 30 กันยายน 2538 ไปแล้ว นั้น เนื่องจากกรมตํารวจได้ประเมินว่าสถานการณ์การลักลอบนําเข้า น้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมายในระยะต่อไปจะไม่รุนแรงเช่นที่ผ่านมา และสมควรที่กรมตํารวจจะได้ปรับแผนการในการป้องกันและปราบปรามให้เหมาะสม โดยได้อนุมัติให้ยกเลิกคําสั่งปฏิบัติการในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย “นม 001” และได้ออกแผน ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง “นม 002” โดยมอบหมายให้หน่วยงานปกติของกรมตํารวจรับผิดชอบในการดําเนินการแทน
4.8 กองทัพเรือ ได้มีคําสั่ง (เฉพาะ) ลับที่ 98/2538 ลงวันที่ 28 เมษายน 2538 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าน้ำมันในทะเล เพื่อจัดตั้งศูนย์อํานวยการเฉพาะกิจป้องกัน และปราบปรามการลักลอบค้าน้ำมันในทะเล โดยมุ่งเน้นการสืบหาข่าว การติดตามและจับกุมเรือประมงดัดแปลงเรือน้ำมันขนาดเล็ก หรือเรือบรรทุกน้ำมันที่จดทะเบียนในต่างประเทศที่มีการขนถ่ายน้ำมันนอกทะเลอาณาเขตของไทยด้วยเรือและอากาศยานที่มีอยู่
5. สถานการณ์ในปัจจุบันสรุปได้ ดังนี้
5.1 สรุปการจับกุมของหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่มกราคม - กันยายน 2538 ได้มีการจับกุม รวมทั้งสิ้น 63 ราย เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงปริมาณ 2,616,264 ลิตร โดยเป็นการจับกุมคดีลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง 25 ราย ได้ของกลางเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง 2,371,942 ลิตร และเป็นการจับกุมคดีอื่น ๆ เช่น ประกอบการค้าโดยไม่มีใบอนุญาตเป็นผู้ค้ามาตรา 6 ทวิ เป็นต้น จํานวน 38 ราย เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง 244,322 ลิตร ซึ่งการจับกุมในปี 2538 ในช่วงระยะเวลาเพียง 9 เดือนนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 2537 ซึ่งมีการจับกุมคดีลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งปี จํานวน 39 ราย ได้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นของกลาง 1,965,268 ลิตร โดยสามารถจับกุมได้เพิ่มขึ้นจํานวน 24 ราย เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงรวม 650,996 ลิตร คิดเป็นอัตราจับกุมเพิ่มร้อยละ 33
5.2 ปริมาณการจําหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 เป็นต้นมา มีแนวโน้ม แสดงว่าการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ลดลงในระดับหนึ่ง โดยในช่วงมกราคม - พฤษภาคม 2538 (รวม 5 เดือน) มีการจําหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วรวม 6,442 ล้านลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการจําหน่ายรวม 5,290 ล้านลิตร หรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 1,151 ล้านลิตร คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 22 แต่มี ข้อสังเกตว่าปริมาณการจําหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2538 และกรกฎาคม 2538 ได้เริ่มมีแนวโน้มลดลงโดยในเดือนกรกฎาคม 2538 ปริมาณการจําหน่ายรวม 1,294 ล้านลิตร ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2538 ซึ่งมีปริมาณ 1,352 ล้านลิตร หรือลดลงประมาณ 58 ล้านลิตร คิดเป็นอัตรา ร้อยละ 4 ทั้งนี้สาเหตุอาจจะเนื่องมาจากปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วได้ลดลง เพราะสภาวะฝนตกและน้ำท่วมทําให้การคมนาคมไปมาไม่สะดวกหรืออาจจะมีการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ หรือทั้งสองอย่าง
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. ให้กรมตํารวจรับไปดําเนินการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อปฏิบัติการป้องกันและปราบปราม การลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมายที่ได้ยุบไปแล้วขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และให้ดําเนินการกวดขัน ปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ให้เริ่มดําเนินการตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป และให้รายงานผลการดําเนินการให้ทราบในการประชุมครั้งต่อไป
3. มอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไป ดําเนินการพิจารณาที่จะให้มีหน่วยงานเอกชนทําหน้าที่ตรวจสอบพฤติการณ์ของคลังน้ำมันต่างๆ โดยให้ผู้ค้า น้ำมันสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดําเนินการ
เรื่องที่ 5 รายงานผลการดําเนินงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2535 มีเจตนารมย์ที่จะส่งเสริมให้เกิดวินัยในการอนุรักษ์พลังงานและให้มีการดําเนินการลงทุนในการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานและอาคาร โดยใช้มาตรการบังคับควบคู่ไปกับการให้สิ่งจูงใจ กล่าวคือได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประสงค์ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ในขณะเดียวกัน ก็มีบทลงโทษสําหรับโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่ละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่จะออกตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว บทบาทของภาครัฐบาลก็คือ การสร้างและใช้กลไกของรัฐในการให้การสนับสนุน และส่งเสริม การดําเนินการในการประหยัดพลังงานของผู้ใช้พลังงาน ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีสาระสําคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จะมีผลบังคับให้มีการดําเนินการอนุรักษ์พลังงานกับเฉพาะผู้ที่ถูกกําหนดเป็นโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมเท่านั้น โดยต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อกําหนดโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม
1.2 พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ให้อํานาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดยคําแนะนําของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการออกกฎกระทรวงเพื่อกําหนดให้เจ้าของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมต้องอนุรักษ์พลังงาน ตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานในโรงงาน/อาคารของตนให้เป็นไปตามมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง
1.3 พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กําหนดให้มีเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นผู้บริหารกองทุนฯ โดยเป็นเงินที่ได้มาจากเงินโอนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามที่นายกรัฐมนตรีกําหนด เงินที่ได้จากผู้ผลิตและผู้นําเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในอัตราที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกําหนด เงินที่ได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษการใช้ไฟฟ้า เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นคราว ๆ เงินที่ได้รับจากเอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ และดอกผลที่ได้จากกองทุนนี้
1.4 พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มาตรา 42 กําหนดว่าเมื่อพ้นสามปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 9 หรือมาตรา 19 ใช้บังคับ โรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุมที่ไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงต้องชําระค่าธรรมเนียมพิเศษการใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังได้กําหนดโทษอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูลเท็จ และการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงอีกด้วย
2. คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากําหนดอาคารควบคุมและกฎกระทรวง ที่เกี่ยวกับอาคารควบคุมดังกล่าวข้างต้นแล้ว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชกฤษฎีกา และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 112 ตอน 33 ก ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2538 แล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ส่วนกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับอาคารควบคุมรวม 3 ฉบับ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันอังคาร ที่ 19 กันยายน 2538 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะได้ลงนามใน กฎกระทรวงฯ และนําประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
3. ในส่วนของร่างพระราชกฤษฎีกากําหนดโรงงานควบคุมและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องนั้น อยู่ใน ขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณานโยบายอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อยุติและสามารถ นําเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้ในการประชุมครั้งต่อไป
4. คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้นําเสนอแผนงานอนุรักษ์พลังงาน แนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลําดับความสําคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 4/2537 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2537 และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ให้ออกระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการขอจัดสรร ขอเงินช่วยเหลือ หรือขอเงินอุดหนุนจากกองทุนฯ แล้ว สําหรับแผนงานอนุรักษ์พลังงานประกอบด้วย 3 แผนงาน 10 โครงการ ซึ่งแยกเป็นกลุ่มตามลักษณะของแผนการดําเนินงานได้ ดังนี้ แผนงานภาคบังคับ โดยมีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ แผนงานภาคความร่วมมือ โดยมีสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และแผนงานสนับสนุน โดยมีสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
มติของที่ประชุม
1. รับทราบรายงานผลการดําเนินงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณาแผนการปรับปรุงระบบผลิตและส่งกระแสไฟฟ้าเพื่อลดการสูญเสียพลังงาน ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์พลังงาน
เรื่องที่ 6 รายงานความก้าวหน้าการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM)
สรุปสาระสำคัญ
1. โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย คือ
1.1 โครงการประชาร่วมใจ ใช้หลอดประหยัดไฟฟ้า โดยบริษัทผู้ผลิตหลอดไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ ได้ยุติการผลิตและจําหน่ายหลอดฟลูออเรสเซนต์ ขนาด 20 วัตต์ และ 40 วัตต์ และทําการผลิตหลอดขนาด 18 วัตต์ และ 36 วัตต์ แทน ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2537 ซึ่งสามารถยุติการผลิตได้ก่อนกําหนดประมาณ 1 ปี และการส่งเสริมการใช้หลอดตะเกียบประหยัดไฟฟ้า โดยการเปลี่ยนหลอดไส้ธรรมดา (ขนาด 100 วัตต์, 60 วัตต์, 40 วัตต์) เป็นหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดตะเกียบ (ขนาด 11 วัตต์ หรือ 7 วัตต์) จํานวน 1,509,999 หลอด โดยสํานักงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (สจฟ.) จะเปลี่ยนหลอดไฟให้ก่อนและให้ผู้สนใจผ่อนชําระเงินผ่านใบเสร็จค่าไฟฟ้าโดยไม่เสียดอกเบี้ย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาดําเนินการ
1.2 โครงการประชาร่วมใจ ใช้ตู้เย็นประหยัดไฟฟ้า โดยการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าของตู้เย็นขนาด 5-6 คิวบิคฟุต ที่ผลิตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นไป ประสบผลสําเร็จ โดยประชาชนจะเลือกซื้อตู้เย็นที่ติดฉลาก แสดงระดับประสิทธิภาพในระดับสูง ส่วนผู้ผลิตก็ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพตู้เย็นเพื่อให้ได้ติดฉลากที่มีระดับ ประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายขอบเขตการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพตู้เย็นในทุกขนาดและทุกรุ่น
1.3 โครงการประชาร่วมใจ ใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟฟ้า โดยการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศขนาด 7,000- 24,000 บีทียู/ชั่วโมง สจฟ. อยู่ระหว่างประสานงานกับบริษัทผู้ผลิต เพื่อจัดลําดับการทดสอบ ปัจจุบันได้มี บริษัทผู้ผลิตและจําหน่ายเครื่องปรับอากาศยื่นความจํานงให้ทดสอบประสิทธิภาพเพื่อติดฉลาก จํานวน 40 บริษัท จาก 81 บริษัท และได้มีการทดสอบประสิทธิภาพแล้ว 12 บริษัท คาดว่าจะสามารถติดฉลากเครื่องปรับอากาศได้ในราวเดือนมกราคม 2539
2. โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม โดยโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจ หน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจ และโครงการ การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม จะมีแนวทางในการดําเนินการที่คล้ายกัน กล่าวคือ สจฟ. ได้ริเริ่มโครงการอาคารสีเขียว (Green Building) สําหรับอาคารของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ อาคารสํานักงานของเอกชนที่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงและประสงค์จะเข้าร่วมโครงการการ ประหยัดไฟฟ้า โดยอาคารที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีมาตรการประหยัดพลังงานไฟฟ้า อาทิ เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า มีการจัดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ (Load Management) และจัดการปรับปรุงระบบการป้องกันความร้อนเข้าสู่อาคาร เป็นต้น โดย สจฟ. จะเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าให้ก่อน และให้ผ่อนชําระคืนภายหลัง ทั้งนี้ จะมีการเสนอขอความร่วมมือให้ผู้ร่วมโครงการงดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลา ที่ กฟผ. ร้องขอ (Voluntary Interruption) ด้วย ปัจจุบันมีอาคารที่เข้าร่วมโครงการ 4 อาคาร ได้แก่ อาคารเซ็นทรัลพลาซ่า ธนาคารแห่งประเทศไทย โรงแรมในเครือดุสิตธานี และอาคาร The Nation นอกจากนี้ ยังมีโครงการทดลองระบบปรับอากาศด้วยระบบกักเก็บความเย็น (Thermal Energy Storage) ซึ่งหมายถึงระบบทําความเย็นเก็บไว้ในรูปของน้ำเย็นหรือน้ำแข็งในเวลากลางคืน และนําความเย็น มาใช้ในเวลากลางวัน โดย สจฟ. จะนํามาทดลองใช้ในโครงการสาธิตระยะแรกที่สํานักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย และห้องประชุมคณะรัฐมนตรี และในระยะที่สองจะนํามาทดลองใช้กับอาคารที่มีระบบ ปรับอากาศขนาดใหญ่ เช่น ห้างเซ็นทรัลพลาซ่า โรงแรมดุสิตธานี และอาคารในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นต้น คาดว่าจะสามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ในระยะ 10-15 ปี ในอนาคต
3.โครงการการจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้า (Load Management) เป็นการดําเนินการ ด้านเทคโนโลยีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการประหยัดพลังงานมาทดลองใช้ เช่น โครงการทดลองควบคุมการทํางานของเครื่องปรับอากาศโดยใช้ ระบบ Ripple Control ซึ่งเป็นระบบควบคุมจากศูนย์กลาง และโครงการทดลองระบบปรับอากาศด้วยระบบ กักเก็บความเย็น (Thermal Energy Storage) เป็นต้น
4. โครงการส่งเสริมทัศนคติประหยัดไฟฟ้า (Attitude Creation Program) มีแนวทางในการ ดําเนินงาน คือ ในระยะสั้นจะรณรงค์ให้มีการประหยัดไฟฟ้าในรูปของการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ส่วนในระยะยาวจะดําเนินการให้มีการเรียนการสอนเพื่อสร้างนิสัยประหยัดไฟฟ้าให้แก่เยาวชนไทย ซึ่งประกอบด้วย
4.1 โครงการส่งเสริมทัศนคติเยาวชน โดยการจัดทําชุดการเรียนและคู่มือเพื่อสร้างนิสัยในการประหยัดไฟฟ้า อยู่ในระหว่างการปรับปรุงต้นฉบับ ประสานงานและจัดพิมพ์ ติดต่อจัดจ้างทําอุปกรณ์ในศูนย์การเรียน เพื่อส่งเสริมการประหยัดไฟฟ้าสําหรับการเรียนการสอนในระดับอนุบาลและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และโครงการลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด และผู้บําเพ็ญประโยชน์ประหยัดไฟฟ้า อยู่ในระหว่างการเตรียมการจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทําหลักสูตร
4.2 โครงการอาคารสีเขียว โดยจัดทําข่าวเผยแพร่ข้อมูล และตราสัญลักษณ์ของโครงการอาคารสีเขียว เพื่อเผยแพร่ในรายการ วิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ รายการโทรทัศน์ และไทยสกายทีวี
5. โครงการประเมินศักยภาพและการประเมินผล (Project Assessment and Project Evaluation) เป็นการติดตามและประเมินผลโครงการเพื่อเป็นการยืนยันว่า การใช้เงินในการดําเนินงานตามโครงการ DSM มีผลในทางปฏิบัติจริงและคุ้มค่า นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาวางแผนก่อสร้าง โรงไฟฟ้าในอนาคตได้อีกด้วย ส่วนผลการพิจารณาทางด้านเทคนิคสําหรับการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อประเมินผล โครงการ (Independent Monitoring and Evaluation Agency : IMEA) ได้มีบริษัทที่ปรึกษา 4 แห่ง ยื่นข้อเสนอให้ กฟผ. พิจารณา ปรากฏว่า บริษัท Barakat and Chamberlin ได้รับคะแนนสูงสุด และได้เริ่ม ดําเนินงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2538 ที่ผ่านมา
6. การพิจารณาเพิ่มเป้าหมาย จากความก้าวหน้าของโครงการต่าง ๆ ที่ได้ดําเนินการมา ทําให้โครงการ DSM ซึ่งมีเป้าหมาย เดิมที่จะลดการใช้ไฟฟ้าในช่วง Peak 238 เมกะวัตต์ ในปี 2540 กําลังพิจารณาเพิ่มเป้าหมายการประหยัดไฟฟ้าใหม่ ซึ่งคาดว่าจะประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ถึง 3,400 ล้านหน่วย และประหยัดพลังไฟฟ้าได้ 1,400 เมกะวัตต์ โดยยังคงงบประมาณค่าใช้จ่ายโครงการตามเดิม
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า
2. มอบหมายให้สํานักงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า ประสานงานกับกระทรวงการคลัง ในการลดภาษีนําเข้าอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า และประสานงานกับสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์สําหรับโรงงานผลิตอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าในประเทศไทย
เรื่องที่ 7 รายงานความคืบหน้าการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
สรุปสาระสำคัญ
1. การรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)
1.1 รัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป. ลาว ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือ ด้านการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 ณ นครเวียงจันทน์ โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริม และร่วมมือกันพัฒนาไฟฟ้า ให้ได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2543 เพื่อจําหน่ายให้กับประเทศไทย และต่อมารัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ได้มีคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 116/2536 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2536 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้า ใน สปป. ลาว (คปฟ.-ล) และคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 135/2537 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2537 เรื่องแต่งตั้งกรรมการใน คปฟ.-ล เพื่อติดตามการดําเนินงาน และประสานความร่วมมือกับ สปป. ลาว ให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจ ขณะเดียวกัน รัฐบาล สปป. ลาว ได้แต่งตั้ง Committee for Energy and Electric Power (CEEP) เพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาโครงการ ดังกล่าว
1.2 ขณะนี้มีโครงการซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนารวม 10 โครงการ รวมกําลังผลิต ประมาณ 3,603 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการที่ได้ตกลงราคาค่าไฟฟ้าแล้ว 3 โครงการ และเป็นโครงการซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา 7 โครงการ ดังนี้ โครงการที่ได้ตกลงราคาค่าไฟฟ้าแล้ว รวม 3 โครงการ คือ 1) โครงการน้ำเทิน-หินบุน มีกําลังผลิตติดตั้ง 210 เมกะวัตต์ 2) โครงการน้ำเทิน 2 มีกําลังผลิตติดตั้ง 681 เมกะวัตต์ 3) โครงการห้วยเฮาะ มีกําลังผลิตจ่ายกระแสไฟฟ้า ณ จุดส่งมอบ 133 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจา รวม 7 โครงการ คือ 1) โครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา มีกําลังผลิตติดตั้ง 720 เมกะวัตต์ 2) โครงการเซคาตาม-เซคามาน 1 มีกําลังผลิตติดตั้ง 70 เมกะวัตต์ และ 360 เมกะวัตต์ 3) โครงการน้ำเทิน 1 มีกําลังผลิตติดตั้ง 540 เมกะวัตต์ 4) โครงการน้ำงึม 2 มีกําลังผลิตติดตั้ง 300 เมกะวัตต์ 5) โครงการน้ำเทิน 3 มีกําลังผลิตติดตั้ง 190 เมกะวัตต์ 6) โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย มีกําลังผลิตติดตั้ง 339 เมกะวัตต์ 7) โครงการน้ำเลิก มีกําลังผลิตติดตั้ง 60 เมกะวัตต์
2. การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย
2.1 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2538 อนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ เรื่อง การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย โดยให้มีการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากบริษัท Teknologi Tenaga Perlis ประเทศมาเลเซีย ในปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ในปี 2540 ในราคาที่เหมาะสม และมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อรับผิดชอบการเจรจาและการประสานงาน
2.2 รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ในฐานะประธานคณะกรรมการ พิจารณานโยบายพลังงาน ได้มีคําสั่งคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานที่ 5/2538 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย เพื่อรับผิดชอบการเจรจา และการประสานงานในการรับซื้อไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ จากบริษัท Teknologi Tenaga Perlis
2.3 คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการเจรจากับฝ่ายมาเลเซียครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2538 สรุปความคืบหน้าในการเจรจา ได้ดังนี้ บริษัท Teknologi Tenaga Perlis (TTP) จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศมาเลเซีย ขนาด 650 เมกะวัตต์ และเสนอขายกระแสไฟฟ้าให้ กฟผ. จํานวน 300 เมกะวัตต์ แบบ Firm Energy โดยกระแสไฟฟ้าจะส่งผ่านสายส่งไฟฟ้าไปที่ Substation Chuping, Alor Setar, Bedong และ Gurun HVDC Convertor Station ในประเทศมาเลเซียและผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูงระบบกระแสตรง EGAT-TNB HVDC Link ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงคลองแงะในประเทศไทย ซึ่ง TTP ประมาณว่า อัตราค่าไฟฟ้า จะอยู่ในระดับเท่ากับ 5.5 เซนต์สหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์- ชั่วโมง ซึ่งยังไม่รวมค่าส่งผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้ามาเลเซีย แต่ยังไม่มีข้อเสนอทางด้านราคาที่ชัดเจน เพราะรัฐบาลมาเลเซียยังไม่ได้กําหนดนโยบายเกี่ยวกับการใช้สายส่ง และอัตราค่าบริการสายส่ง ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ ขอให้ TTP พิจารณาราคาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยที่รวมค่าผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้ามาเลเซียเสนอคณะอนุกรรมการฯ ขณะเดียวกันให้ กฟผ. และ TTP ร่วมกัน พิจารณารายละเอียดทางด้านเทคนิค และการเชื่อมโยงระบบ โดยตั้งเป้าหมายให้มีการตกลงราคาและเงื่อนไข สําคัญๆ ในการซื้อขายไฟฟ้า ภายในปลายปี 2538 และให้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในช่วงกลางปี 2539
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 8 การลดช่องว่างระหว่างราคาน้ำมันในเขตกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค
สรุปสาระสำคัญ
1. จากนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายด้านพลังงานส่วนหนึ่งกําหนดให้มี การปรับปรุงและพัฒนาระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และให้น้ำมันมีราคาจําหน่ายปลีก ใกล้เคียงกันทั่วประเทศ สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) จึงได้จัดทําข้อเสนอ เพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลดังกล่าว โดยเสนอมาตรการดําเนินการเพื่อลดช่องว่างระหว่างราคาขายปลีกน้ำมันในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย 5 มาตรการ ดังนี้ มาตรการที่ 1 เกลี่ยค่าการตลาดกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด มาตรการที่ 2 ปรับปรุงบัญชีค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง มาตรการที่ 3 ปรับปรุงกฎเกณฑ์ส่งเสริมการตั้งสถานีบริการ มาตรการที่ 4 การขยายหรือสร้างโรงกลั่นในภูมิภาค และมาตรการที่ 5 ส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อ ซึ่งรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์) ได้พิจารณามาตรการดังกล่าวแล้ว เห็นชอบในหลักการและมอบหมายให้ สพช. นํามาตรการที่ 1 และ 2 ไปดําเนินการ เนื่องจากสามารถ กระทําได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบกฎเกณฑ์ของหน่วยงานใดทั้งสิ้น
2. สพช. ได้ดําเนินการตามมาตรการที่ 1 และ 2 แล้ว ดังนี้
2.1 การเกลี่ยค่าการตลาดกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด สพช. ร่วมกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่อีก 4 ราย คือ เชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ และบางจาก ได้ดําเนินการปรับราคา น้ำมันเพื่อเกลี่ยค่าการตลาดแล้ว 2 ครั้ง ดังนี้
2.2 ปรับปรุงบัญชีค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง สพช. ได้ทําการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่า ค่าขนส่งควรลดต่ำลงจากบัญชีค่าขนส่งที่ทางราชการใช้อยู่ในปัจจุบันในทุกจังหวัดประมาณลิตรละ 1-10 สตางค์ ยกเว้น 9 จังหวัดคือ เชียงใหม่ ลําพูน พะเยา อุบลราชธานี อํานาจเจริญ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และชุมพร ซึ่งควรสูงขึ้นลิตรละ 1-2 สตางค์ ทั้งนี้ สพช. ได้นําผลการศึกษาดังกล่าวประชุมหารือกับผู้ค้าน้ำมัน ผู้ขนส่งน้ำมัน รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว และมีความเห็นว่าควรนํามาใช้แทนบัญชีค่าขนส่งเดิมได้ ซึ่งขณะนี้ สพช. กําลังประสานงานกับ ปตท. เพื่อนําไปปรับราคาจําหน่ายในต่างจังหวัดต่อไป
3. สําหรับมาตรการที่เหลืออีก 3 มาตรการมีสาระสําคัญ โดยสรุป ดังนี้
3.1 ปรับปรุงกฎเกณฑ์ส่งเสริมการตั้งสถานีบริการ สถานีบริการในปัจจุบันส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเมือง และริมทางหลวงสายหลัก ส่วนในท้องที่อื่น ๆ โดยเฉพาะในชนบทห่างไกลและในเขตภูเขา ยังมีสถานีบริการ น้อยมากหรือไม่มีเลย สพช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมโยธาธิการ และกรมทางหลวง ได้ดําเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้สามารถตั้งสถานีบริการได้มากขึ้น
3.2 การขยายหรือสร้างโรงกลั่นในภูมิภาค การมีกําลังกลั่นน้ำมันในประเทศมากขึ้นจะช่วยเพิ่ม ปริมาณการผลิตน้ำมันในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น และทําให้ราคาจําหน่ายลดลงในทุกภูมิภาค นอกจากนี้ หากมีโรงกลั่นน้ำมันขึ้นในภูมิภาคใดจะทําให้ราคาน้ำมันในภูมิภาคนั้นๆ ลดลงได้มากที่สุด เพราะไม่ต้องเสียค่าขนส่ง หรือเสียในอัตราที่ต่ำลงกว่าเดิมมาก
3.3 ส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อ ท่อขนส่งน้ำมันเป็นกลไกที่สําคัญในการที่จะทําให้รัฐสามารถปรับราคาขายปลีกทั่วประเทศให้ใกล้เคียงกันมากขึ้นได้ ดังจะเห็นได้จากการมีท่อขนส่งน้ำมันในภาคกลาง ปัจจุบันคือ ท่อศรีราชา-ลําลูกกา-สระบุรี ของ บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จํากัด (THAPPLINE) และท่อ บางจาก-ดอนเมือง-บางปะอิน ของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด (FPT) ทําให้สามารถปรับราคาขายปลีกให้เท่ากันได้ถึง 13 จังหวัดในภาคกลาง คือ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดโดยรอบอีก 12 จังหวัด ดังนั้น จึงควรมีการพิจารณาขยายท่อส่งน้ำมันให้กว้างขวางออกไปยังภาคอื่น ๆ เพื่อให้ สามารถปรับราคาจําหน่ายให้ลดลงได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่ง สพช. ได้ทําการศึกษาในเบื้องต้นร่วมกับ บริษัทท่อทั้งสองบริษัทแล้ว ว่าควรมีการขยายท่อส่งน้ำมัน ดังนี้ ขยายท่อจากศรีราชาไปมาบตาพุดเพื่อรับน้ำมันจากโรงกลั่นใหม่ 2 โรงในจังหวัดระยอง ต่อท่อแยกจากท่อประธานช่วงศรีราชา-ลําลูกกาไปจ่ายน้ำมันให้สนามบินหนองงูเห่า คลังน้ำมันพระโขนง และคลังช่องนนทรี และขยายท่อจากสระบุรีไปภาคเหนือถึงพิษณุโลกหรือลําปาง และไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงขอนแก่น เพื่อจ่ายน้ำมันให้กับสถานีบริการและผู้ใช้น้ำมันในภาคดังกล่าว
อย่างไรก็ดี เนื่องจากกิจการท่อส่งน้ำมันเป็นกิจการที่ต้องลงทุนมาก และในระยะแรก มีปริมาณน้ำมันผ่านท่อน้อยอาจจะทําให้มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายอยู่ระยะหนึ่ง ดังนั้น รัฐจึงควรเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถผ่านพ้นการดําเนินการระยะแรกและมีรายได้พอเลี้ยงตัวเองได้ เช่น การส่งเสริมให้มี รถบรรทุกวิ่งเข้ารับน้ำมันได้โดยสะดวก การลดค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ค่าเช่าที่ดิน การแก้ไขสัญญากับ การรถไฟแห่งประเทศไทย ให้เอื้ออํานวยต่อการกู้เงินได้ง่ายขึ้นและการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น
มติของที่ประชุม
1. รับทราบแนวทางการดําเนินงานตามมาตรการที่ 1 และ 2 คือ
(1) การเกลี่ยค่าการตลาดกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
(2) ปรับปรุงบัญชีค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง
2. เห็นชอบในหลักการสําหรับมาตรการที่ 3, 4 และ 5 คือ
(1) ปรับปรุงกฎเกณฑ์ส่งเสริมการตั้งสถานีบริการ
(2) การขยายหรือสร้างโรงกลั่นในภูมิภาค
(3) ส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อ
โดยมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดําเนินการต่อไป
3. มอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไป พิจารณาความเหมาะสมของอัตราค่าผ่านท่อที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการลงทุนขยายเส้นท่อออกไปยังส่วนภูมิภาคต่อไป
เรื่องที่ 9 สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทานตะวัน
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 มอบหมายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เร่งรัดการจัดหาก๊าซธรรมชาติ โดยเร่งดําเนินการเจรจารับซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งสัมปทานในอ่าวไทย และจากแหล่งในต่างประเทศ เพื่อสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
2. ปตท. ได้ดําเนินการเจรจากับผู้รับสัมปทานแหล่งทานตะวันในแปลง B8/32 และได้ลงนาม ในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับผู้รับสัมปทานเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2538 โดยมีสาระสําคัญที่จะทําให้สัญญามีผลบังคับใช้ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้คือ (1) เงื่อนไขต่าง ๆ ที่ตกลงกันไว้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งจากทางรัฐบาลไทยด้วย (2) ทั้งสองฝ่ายลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2538 หรือหลังจากนั้น ถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงเลื่อนกําหนดการดังกล่าวออกไป ซึ่งต่อมาได้มีการลงนามในการแก้ไขบันทึกความเข้าใจ เพื่อเลื่อนกําหนดวันลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ซึ่ง ปตท. ได้ส่งร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ให้สํานักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2538
3. กระทรวงอุตสาหกรรมได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว เห็นควรให้เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะ กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ ปตท. ลงนามในร่างสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ได้ เนื่องจาก
3.1 ปตท. ต้องเร่งดําเนินการจัดหาก๊าซธรรมชาติทั้งในอ่าวไทยและต่างประเทศเพื่อสนองตอบ ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้
3.2 แหล่งก๊าซฯ ทานตะวัน สามารถสนองตอบความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นได้เร็วที่สุด และทันเวลา
3.3 เงื่อนไขต่าง ๆ ของสัญญาซื้อขายก๊าซฯ แหล่งทานตะวัน เป็นไปตามแบบของสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ปัจจุบันที่ ปตท. ถือปฏิบัติอยู่และเป็นประโยชน์ต่อ ปตท.
3.4 ราคาก๊าซฯ เริ่มต้นของแหล่งทานตะวันจะต่ำกว่าราคาซื้อขายก๊าซฯ เฉลี่ยจากแหล่งต่าง ๆ ในอ่าวไทยในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าราคาก๊าซจากแหล่งต่าง ๆ ในอนาคต เมื่อเทียบกับประมาณการ ของราคาน้ำมันที่ระดับต่าง ๆ
3.5 ผู้ขายยินยอมคุ้มครองความเสี่ยงของ ปตท. ในเรื่องการลงทุนท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยจ่ายเงินชดเชยให้ ปตท. กรณีที่ผู้ขายไม่สามารถส่งก๊าซให้ ปตท. ได้ครบจํานวนตามสัญญา
มติของที่ประชุม
1. รับทราบรายงานสรุปผลการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทานตะวันแปลง สัมปทาน B8/32
2. เห็นชอบตามข้อเสนอของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และให้ ปตท. รับไปดําเนินการ ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทานตะวันต่อไป เมื่อสัญญาฯ ดังกล่าวได้รับการแก้ไขจาก สํานักงานอัยการสูงสุดเรียบร้อยแล้ว (ถ้ามี)
เรื่องที่ 10 การรับซื้อไฟฟ้าโครงการห้วยเฮาะ
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้ร่วมกันลงนาม ในบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้า ใน สปป. ลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 ณ นครเวียงจันทน์ สปป. ลาว โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและร่วมมือกันพัฒนาไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2543 เพื่อจําหน่ายให้กับประเทศไทย และต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสาน ความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว (คปฟ.-ล) เพื่อติดตามการดําเนินงานและประสานความร่วมมือ กับ สปป. ลาว ให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
2. คปฟ.-ล ได้ดําเนินการเจรจาเพื่อซื้อไฟฟ้าจากโครงการห้วยเฮาะ ซึ่งมีกําลังผลิตจ่ายกระแสไฟฟ้า ณ จุดส่งมอบ (Contracted Capacity) 133.2 เมกะวัตต์ และกําหนดจะแล้วเสร็จปี 2541 โดยการเจรจาสามารถหาข้อยุติได้เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2538 และต่อมาเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2538 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ กฟผ. 03100/51319 ถึงสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เพื่อขอนําบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการห้วยเฮาะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบ
3. บันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการห้วยเฮาะมีสาระสําคัญสรุปได้ ดังนี้ (1) เป็นบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ บันทึกความเข้าใจระหว่าง กฟผ. กับกลุ่มผู้พัฒนาโครงการน้ำเทิน-หินบุนและน้ำเทิน 2 ซึ่งได้มีการลงนามไปแล้ว บันทึกความเข้าใจจะประกอบด้วยหลักการสําคัญในการซื้อขายไฟฟ้า เช่น อัตราค่าไฟฟ้า ปริมาณไฟฟ้าที่จะรับซื้อ ซึ่งจะเป็นสาระสําคัญของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่จะมีการเจรจาและลงนามกันต่อไป (2) บันทึกความเข้าใจจะมีผลบังคับใช้จนกระทั่งมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แต่เป็น ระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือนจากวันลงนาม ยกเว้นว่า ทั้ง 2 ฝ่าย ตกลงขยายระยะเวลา (3) กลุ่มผู้พัฒนาโครงการจะขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ณ จุดส่งมอบ (ชายแดนไทย-ลาว) โดยมีปริมาณพลังงานไฟฟ้าประเภท Firm จํานวน 563 ล้านหน่วยต่อปี Secondary Energy จํานวน 12 ล้านหน่วยต่อปี และมีปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญา 133.2 เมกะวัตต์ เป็นเวลาวันละ 13.5 ชั่วโมง ในช่วงวันจันทร์ถึงวันเสาร์ ของแต่ละสัปดาห์ (4) อัตราค่าไฟฟ้าจะเป็น ดังนี้ กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าที่ราคา 4.22 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย (ณ วันที่ 1 มกราคม 2537) หรือประมาณ 1.06 บาทต่อหน่วย และให้ปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี จนถึงวันเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าแต่ไม่เกินวันที่ 1 มกราคม 2542 และจะไม่มีการปรับราคาค่าไฟฟ้าจนกว่าจะมีการเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า ครบ 12 เดือน เมื่อครบกําหนด 12 เดือน นับจากวันเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า ให้ปรับราคาเพิ่มขึ้น ปีละร้อยละ 35 ของอัตราการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ และไทย ในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยร้อยละ 50 ของค่าไฟฟ้า จะชําระเป็นเงินสกุลบาท และอีกร้อยละ 50 ของค่าไฟฟ้า จะชําระเป็นเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลบาทและเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ เฉลี่ยของเดือนที่มีการลงนามในสัญญา (5) ในกรณีที่กลุ่มผู้พัฒนาโครงการจ่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. น้อยกว่าปริมาณตามสัญญา จะมีบทปรับ เช่น ในกรณี ที่ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายน้อยกว่าปริมาณตามสัญญาแต่มากกว่าร้อยละ 50 อัตราค่าไฟฟ้า จะลดลงเหลือประมาณ 3.65 เซนต์สหรัฐฯต่อหน่วย (6) สําหรับเรื่องกฎหมายที่ใช้ในการทําสัญญาในข้อ 6 ตาม MOU ระบุให้ใช้กฎหมายไทยเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับ MOU และสัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้น กลุ่มผู้พัฒนาโครงการห้วยเฮาะได้มีข้อโต้แย้ง โดยขอเสนอให้ใช้กฎหมายของประเทศที่เป็นกลาง
4. สพช. มีความเห็นว่าเห็นควรให้ความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ กฟผ. เสนอ ทั้งนี้เพราะอัตราค่าไฟฟ้าที่ตกลงกันได้อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงได้ของ กฟผ. (Avoided Cost) คือ ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่จะได้จากการผลิตไฟฟ้าโดยโครงการอื่นที่ กฟผ. จะดําเนินการ และอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่ได้ตกลงรับซื้อไปแล้วจากโครงการน้ำเทิน 2 และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ควรพิจารณากําหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้กฎหมายว่าจะยืนยันให้ใช้กฎหมายไทย หรือจะยอมให้ใช้กฎหมายประเทศที่สาม
มติของที่ประชุม
เห็นชอบประเด็นหลักของการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการห้วยเฮาะ แต่ทั้งนี้ให้ใช้กฎหมายประเทศที่สาม (เช่น กฎหมายอังกฤษ) เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับบันทึกความเข้าใจ และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยมอบหมายให้ กฟผ. รับไปลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับกลุ่มผู้พัฒนาโครงการต่อไป
เรื่องที่ 11 อัตราค่าไฟฟ้าสูงขึ้น
สรุปสาระสำคัญ
ที่ประชุมได้พิจารณาในประเด็นตามที่ประชาชนร้องเรียนมา ดังนี้
1. อัตราค่าไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมามีอัตราที่สูงขึ้น ตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ จึงควรมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมของสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติดังกล่าว เพื่อมิให้การไฟฟ้า ผลักภาระค่าใช้จ่ายบางประเภทที่ไม่เหมาะสมให้ผู้ใช้ไฟ รวมทั้ง ควรคํานึงถึงประสิทธิภาพการดําเนินการ และการให้บริการของการไฟฟ้าฯ เช่น ความสูญเสียในระบบ (Losses) และคุณภาพการบริการ ซึ่งหากไม่สามารถดําเนินการได้ การไฟฟ้าฯ ควรรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้
2. การประเมินผลการเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี ของการไฟฟ้าฯ ไม่ควรใช้กําไรเป็นหลักเพราะจะทําให้ การไฟฟ้าฯ มุ่งเน้นการหากําไรเพียงประการเดียว และผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ใช้ไฟ จึงควรพิจารณา การประเมินผลด้วยเครื่องชี้วัดอื่น ๆ ประกอบด้วย
3. อัตราค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากการใช้น้ำมันดีเซลในจํานวนที่สูงเกือบถึง 100 ล้านลิตร/เดือน ในขณะที่แต่เดิมได้วางแผนว่าจะใช้น้ำมันดีเซลไม่เกิน 3 ล้านลิตรต่อเดือน เท่านั้น จึงส่งผลให้ อัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลมีต้นทุนที่สูงกว่าเชื้อเพลิงอื่น การใช้น้ำมันดีเซลในปริมาณที่สูงเป็นเพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพิ่มสูงเกินกว่ากําลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงอื่น หากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะติดตั้งระบบกําจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) แล้วเสร็จก็จะสามารถลดการใช้น้ำมันดีเซลได้ส่วนหนึ่ง สําหรับในระยะยาวควรให้มีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาถูกกว่าเข้ามาในระบบเพื่อลดการใช้น้ำมันดีเซลให้มากที่สุด
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พิจารณาหาวิธีการในการลดอัตราค่าไฟฟ้า รวมทั้ง พิจารณาทบทวนสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยคํานึงถึงข้อพิจารณาของที่ประชุมดังกล่าว
กพช. ครั้งที่ 50 วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2538
มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 2/2538 (ครั้งที่ 50)
วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2538
1. การดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
2. การดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติ
3. การเปลี่ยนแปลงอัตราอากรศุลกากรสําหรับวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน
4. รายงานความคืบหน้าการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM)
5. แผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2538- 2554)
6. การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย
7. การรับซื้อไฟฟ้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2
8. การประเมินผลโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและการปรับราคาขายส่งระหว่างการไฟฟ้า
9. การกําหนดเขตต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(นายชวน หลีกภัย)
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
(นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์)
เรื่องที่ 1 การดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 49) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 ให้กําหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดําเนินการ และรายงานผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมทุกครั้ง
2. หน่วยงานต่าง ๆ ได้รายงานผลการดําเนินการให้ สพช. ทราบรวมทั้งสิ้น 11 หน่วยงาน ดังนี้
2.1 กระทรวงการคลัง
(1) กรมสรรพสามิต ได้ดําเนินการระดมกําลังเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมคลังน้ำมันชายฝั่งทั้ง 42 แห่งทั่วประเทศอย่างเข้มงวด ทั้งคลังน้ำมันที่นําเข้ามาจากต่างประเทศและคลังน้ำมันที่รับจากโรงกลั่นหรือคลังอื่นๆ ภายในประเทศ และให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตที่ประจําในโรงกลั่นน้ำมันแจ้งข้อมูลการจ่ายน้ำมันจากโรงกลั่น ให้สรรพสามิตปลายทางทราบทุกครั้ง รวมทั้ง ทําการตรวจสารเพิ่มคุณภาพน้ำมันที่สถานีบริการชายฝั่งทุกแห่ง และแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสรรพสามิตให้การขนส่งน้ำมันออกจากคลัง หรือโอนย้ายน้ำมันระหว่างคลังตั้งแต่ 50,000 ลิตรขึ้นไป ต้องแจ้งสรรพสามิต ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ทําให้การจัดเก็บภาษีผลิตภัณฑ์น้ำมันในเดือนพฤศจิกายน 2537-กุมภาพันธ์ 2538 สูงกว่าปีก่อนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ถึงร้อยละ 7.96, 13.46, 28.41, และ 29.36 ตามลําดับ และมีการจัดเก็บภาษีน้ำมันในช่วง 4 เดือน (พฤศจิกายน 2537-กุมภาพันธ์ 2538) สูงกว่าปีก่อน ระยะเดียวกันถึงร้อยละ 19.80 นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งห้อง Operation Room เพื่อรับรายงานการเคลื่อนย้ายและขนส่งน้ำมันทั่วราชอาณาจักรตลอด 24 ชั่วโมง และได้จัดทําโครงการการติดตั้งมาตรวัด และอุปกรณ์วัดน้ำมันด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อติดตั้ง ณ คลังชายฝั่งทั้งหมด
(2) กรมศุลกากร ได้ให้คณะทํางานเพื่อทําหน้าที่ตรวจสอบการลักลอบนําเข้าน้ำมันทําการ ตรวจสอบคลังน้ำมันบริเวณภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง ภาคเหนือตอนบน และภาคอีสาน รวม 37 แห่ง และจัดกําลังเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนตรวจตราการขนส่งน้ำมันทางทะเลทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รวมทั้ง ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบปริมาณน้ำมันที่นําเข้า และเพิ่มสายสืบเพื่อเฝ้าตรวจสอบพฤติการณ์การขนส่งน้ำมันทางบกของคลังต่าง ๆ ด้วย โดยผลการดําเนินการในช่วงเดือนกันยายน 2537-มกราคม 2538 ปรากฏว่า สามารถจับกุมเรือที่ลักลอบนําเข้าได้ 4 ลํา เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว รวม 435,108 ลิตร และ การตรวจสอบอื่น ๆ ไม่พบความผิดแต่อย่างใด
(3) กรมสรรพากร ได้ขยายขอบเขตการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานีบริการน้ำมัน เชื้อเพลิงให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามตัวเลขของมิเตอร์หัวจ่าย ซึ่งเป็นระบบที่มีการควบคุมทาง เทคนิคที่ดีทําให้มีสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขอเข้าอยู่ในระบบมิเตอร์หัวจ่ายในช่วงเดือนกรกฎาคม 2537- 15 กุมภาพันธ์ 2538 จํานวนทั้งสิ้น 2,407 ราย คิดเป็นร้อยละ 91.31 ของสถานีบริการน้ำมันทั้งหมดที่ควรเข้าอยู่ในโครงการ และได้ขยายโครงการให้สถานีบริการน้ำมันทั้งสิ้นในประเทศต้องเข้าอยู่ในระบบด้วย พร้อมกันนี้ได้กําหนดมาตรการให้มีการตรวจสอบภาษีสถานีบริการที่ไม่ยอมเข้าอยู่ในระบบมิเตอร์หัวจ่ายเป็นพิเศษ และสำหรับการดําเนินการในช่วงที่ผ่านมาได้มีการออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีเงินได้ จากคลังน้ำมันบางแห่งที่เสียภาษีไม่ครบถ้วนและถูกต้อง และทําผิดบทบัญญัติของกฎหมาย รวม 7 ราย
2.2 กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดําเนินการแต่งตั้งผู้แทนจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรในเขตต่อเนื่องแล้ว
2.3 กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือจากบริษัทน้ำมันที่มีโรงกลั่นในสิงคโปร์ ให้แจ้ง รายละเอียดของเรือบรรทุกน้ำมันที่รับน้ำมันจากโรงกลั่นในสิงคโปร์และมีจุดหมายปลายทางมายังประเทศไทย แล้ว แต่ได้รับคําชี้แจงว่า มาตรการดังกล่าวมีข้อจํากัดเนื่องจากโรงกลั่นในสิงคโปร์จะจําหน่ายน้ำมันโดยผ่าน พ่อค้าคนกลางต่าง ๆ ทําให้ไม่สามารถทราบจุดหมายปลายทางของน้ำมันได้ และได้กําหนดเงื่อนไขในการนําเข้า น้ำมันของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ทุกราย ต้องแจ้งรายละเอียดการนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทันทีที่เรือเดินทางออกจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งกําลังอยู่ระหว่างการนําเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีก่อนดําเนินการต่อไป รวมทั้งได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมตํารวจ กรมศุลกากร เพื่อให้สามารถดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในการตรวจสอบใบกํากับการขนส่ง และการเติมสารเติมแต่งได้ต่อไป
2.4 กระทรวงมหาดไทย
(1) กระทรวงมหาดไทย ได้ดําเนินการปรับปรุงคําสั่งแต่งตั้งคณะทํางานป้องกันปราบปราม การลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในเขต 14 จังหวัดภาคใต้ โดยให้กรมตํารวจ กรมโยธาธิการ และผู้ว่าราชการ จังหวัดวางมาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสถานี บริการแบบถังลอยและให้รายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุกเดือน ให้กรมตํารวจจัดหน่วยเฝ้าระวังอย่าง ต่อเนื่องและจริงจังในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล และให้ตรวจตราใบกํากับน้ำมันอย่างเข้มงวด และให้กรมโยธาธิการสํารวจข้อมูลสถานีบริการแบบถังลอย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกํากับดูแลและตรวจสอบต่อไป
(2) กรมตํารวจ ได้ดําเนินการโดยสั่งการให้หน่วยรับผิดชอบ คือ ตํารวจภาค 8,9 กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง กองบังคับการตํารวจน้ำ กองตํารวจทางหลวง เพิ่มความเข้มงวดในการ ปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในเขต 14 จังหวัดภาคใต้ และให้ตํารวจภาค 1-9 เพิ่มความเข้มงวดในการปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งให้การสนับสนุนกรมโยธาธิการในการสํารวจ จํานวนสถานีบริการน้ำมันแบบถังลอย ทั้งนี้ ให้กองบังคับการตํารวจน้ำ จัดทําโครงการขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณ เสนอให้คณะทํางานซึ่งแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทยทราบ และให้ตํารวจภาค 1-9 กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง กองบังคับการตํารวจน้ำ กองตํารวจทางหลวง กําชับหน่วยปฏิบัติเพิ่มความระมัดระวังในการเก็บรักษาของกลางอย่าให้มีการสูญหายเป็นอันขาด และให้รายงานผลการดําเนินการโดยตรงต่อสํานักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ทราบทุกระยะ 1 เดือน ด้วย โดยสําเนาส่งกรมตํารวจ ส่วนผลการจับกุมปราบปรามในช่วงมิถุนายน 2537-มกราคม 2538 ปรากฏว่าสามารถจับกุมการกระทําการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 8 ราย เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วทั้งหมดจํานวน 990,000 ลิตร
2.5 กองทัพเรือ ได้กําหนดมาตรการกรณีตรวจพบการลักลอบและนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามา ในราชอาณาจักรให้ดําเนินการตามที่กฎหมายกําหนดไว้ และหากตรวจพบการลักลอบนอกทะเลอาณาเขต ให้แสดงท่าที่ให้เห็นว่าทราบการปฏิบัติดังกล่าว ตลอดจนถ่ายภาพและรวบรวมข่าวสารข้อมูลไว้ หากเป็นเรือไทยให้ขึ้น ตรวจเยี่ยม ตรวจค้น โดยผลการดําเนินการในปีงบประมาณ 2537 สามารถจับกุมเรือประมงดัดแปลงที่ลักลอบค้าน้ำมันในทะเล จํานวน 6 ลํา เป็นปริมาณ 199,000 ลิตร และในปีงบประมาณ 2538 จนถึงปัจจุบัน สามารถจับกุมเรือประมงดัดแปลงได้จํานวน 5 ลํา เป็นปริมาณ 289,000 ลิตร
2.6 สํานักงานอัยการสูงสุด ได้ถือว่าคดีลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นคดีที่มีความสําคัญยิ่ง อย่างหนึ่งและได้มีนโยบายที่จะปราบปรามเป็นพิเศษ โดยได้แจ้งมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้พนักงานอัยการถือปฏิบัติแล้ว
2.7 กระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่าได้มีคําสั่งให้สํานักงานเจ้าท่าภูมิภาค และสํานักงานเจ้าท่า ภูมิภาคสาขาจัดเวรตรวจสอบเรือประมงที่เข้าจอดเทียบท่าหรือแพปลาว่า ได้มีการดัดแปลงตัวเรือเป็นเรือบรรทุก น้ำมันหรือไม่ ตลอดจนตรวจสอบใบอนุญาตใช้เรือ ใบทะเบียนเรือไทย ประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือ และผู้ ควบคุมเครื่องจักร หากพบว่ามีการกระทําผิดกฎหมายให้ดําเนินการลงโทษอย่างเฉียบขาด พร้อมทั้งให้ทํารายงานเสนอกรมเจ้าท่าทุกสัปดาห์ และสําเนาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบด้วย
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบและมีมติ ดังนี้
1. ให้ สพช. รับไปรวบรวมจํานวนและรายชื่อคลังน้ำมัน ที่ไม่ได้อยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วย ราชการใด เพื่อกําหนดมาตรการในการควบคุมดูแลการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และให้นําเสนอ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติต่อไป
2. ให้กระทรวงมหาดไทยดําเนินการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ
เรื่องที่ 2 การดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ดําเนินการเร่งรัดการ จัดหาก๊าซธรรมชาติ ทั้งจากแหล่งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้ง ดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการ การนําเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศ โดยใน ปัจจุบัน ปตท. ได้ดําเนินการตามมติดังกล่าวแล้วมีความคืบหน้ามาเป็นลําดับ
2. แนวทางในการดําเนินการตามมติดังกล่าว ปตท. จะเป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อสนองความ ต้องการในราคาที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงชนิดอื่นได้ โดยการจัดหาก๊าซธรรมชาติจะต้องสร้าง ตลาดรองรับขนาดใหญ่ที่มีความต้องการในระยะยาว เช่น กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งราคา จําหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระจะเป็นราคาที่ประกอบด้วยราคาเนื้อก๊าซ และค่าบริการผ่านท่อ ส่วนราคาจําหน่ายให้อุตสาหกรรมจะเป็นราคาที่แข่งขันกับเชื้อเพลิงทดแทนชนิดอื่น โดยราคาจําหน่าย LPG และวัตถุดิบให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะอิงตามราคาตลาดสากล
3. ผลการดําเนินงาน มีดังนี้
3.1 ความก้าวหน้าการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ระหว่าง ปตท. กับ กฟผ. ปัจจุบัน อยู่ระหว่างจัดทําร่างสัญญาซื้อขาย ซึ่งหลักการส่วนใหญ่ของสัญญาสามารถทําการตกลงกันได้แล้ว โดยยังมี ประเด็นที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคือ ระยะเวลาของสัญญา ผลตอบแทนจากการจัดหา และหลักการคิดคํานวณ ค่าเนื้อก๊าซ คาดว่าจะสามารถเจรจาแล้วเสร็จได้ประมาณกลางปี 2538
3.2 การจัดหาก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่ (1) แหล่งภายในประเทศ เช่น จากแหล่งยูโนแคล 1,2 และ 3 แหล่งบงกช แหล่งไพลิน แหล่งทานตะวัน และแหล่ง JDA (2) การนําเข้าจากสหภาพพม่า จากแหล่ง YADANA และแหล่ง YETAGUN (3) โครงการนําเข้า LNG ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อจัดหาจากหลายประเทศ เช่น กาตาร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน และออสเตรเลีย เพื่อให้สามารถนําเข้าได้ภายในปี 2544 (4) โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ มีโครงการที่อยู่ระหว่างการดําเนินงาน คือโครงการวางท่อคู่ขนานในทะเล จากแหล่งเอราวัณ-ระยอง โครงการวางท่อคู่ขนานบนบกช่องระยอง-บางปะกง โครงการวางท่อจากบางปะกง-วังน้อย และโครงการวางท่อชายแดนไทย/สหภาพพม่า-โรงไฟฟ้าราชบุรีจากแหล่ง YADANA
3.3 การสนับสนุนการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้กับโครงการ Independent Power Producer (IPP) จากการดําเนินงานจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับกับความต้องการได้อย่างเพียงพอ ทําให้มีปริมาณก๊าซธรรมชาติเหลือให้กับโครงการ IPP ประมาณ 123 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน ในปี 2542 และเพิ่มขึ้นเป็น 350 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน ในปี 2546 โดยจะต้องมีการนําเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตั้งแต่ปี 2544 ในปริมาณความต้องการใน ระยะแรก 1 ล้านตัน/ปี และเพิ่มขึ้นเป็น 3 และ 5 ล้านตัน/ปี ในปี 2547-2548 ตามลําดับ ซึ่งเพียงพอที่จะใช้ในการผลิตไฟฟ้าจํานวน 2,400 เมกะวัตต์ ในปี 2545 และเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2538 ปตท. ได้จัดให้มีการสัมมนาเพื่อให้ผู้สนใจในโครงการ IPP ทราบข้อมูลการจัดหาและความเป็นไปได้ในการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในโครงการดังกล่าวโดยคาดว่าจะสามารถจัดทําร่าง Heads of Agreement ในการซื้อขาย และประมาณราคาซื้อขายเบื้องต้นได้ประมาณต้นเดือนเมษายน ศกนี้
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 การเปลี่ยนแปลงอัตราอากรศุลกากรสําหรับวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2537 (ครั้งที่ 14) เมื่อวันที่ กรกฎาคม 2537 ได้พิจารณาเรื่อง การจัดเก็บอากรศุลกากรจากการนําเข้าวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และมีมติมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) รับไปประสานงานกับกรมศุลกากร และสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและหาข้อยุติเกี่ยวกับการจัดเก็บอากรศุลกากรจากการนําเข้าวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อนําเสนอคณะกรรมการฯ ต่อไป
2. สพช. ได้ดําเนินการตามมติของคณะกรรมการฯ ในข้อ 1 แล้ว โดยได้หารือร่วมกับกรมศุลกากร สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมทะเบียนการค้า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2537 โดยได้นําประเด็นการจัดเก็บ อากรศุลกากรของผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในลักษณะเช่นเดียวกันไปหารือด้วย คือ น้ำมันองค์ประกอบ Reformate เพื่อใช้ในการผลิตน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน เช่น Long Residue และน้ำมันดิบปรุงแต่ง ซึ่งกรมศุลกากร สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้รับข้อหารือของ สพช. ไปพิจารณา
3. กระทรวงการคลังได้ดําเนินการเปลี่ยนแปลงอัตราอากรศุลกากรสําหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิง โดยได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก. 17/2537 เรื่อง ยกเลิกการลดและการยกเว้นอากร, การลดอัตราอากรศุลกากรและกําหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2537 โดยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราอากรศุลกากรดังกล่าว น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการจัดเก็บอากรศุลกากรสําหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงได้เกือบทั้งหมด เนื่องจากประเด็นส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนกัน คือ มีการจัดเก็บอากรในอัตราที่สูงเกินควร ดังนั้น การลดอัตราอากรศุลกากรให้เหลือต่ำเพียงร้อยละ 1 น่าจะแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด และสําหรับในกรณีของน้ำมันดิบปรุงแต่งซึ่งกระทรวงการคลังได้พิจารณาให้เก็บอากรในอัตราต่ำเพียงร้อยละ 1 นั้นก็น่าจะแก้ไขปัญหาและยอมรับได้เช่นกัน เพราะน้ำมันดิบปรุงแต่งมีส่วนผสมของน้ำมันสําเร็จรูป จึงไม่ควรถือเป็นน้ำมันดิบซึ่งได้รับการยกเว้นอากรทั้งหมด แต่ควรถือเป็นน้ำมันกึ่งสําเร็จรูป ซึ่งทางกระทรวงการคลังได้พิจารณากําหนดอัตราอากรศุลกากรของสินค้ากึ่งสําเร็จรูปโดยทั่วไปไว้เท่ากันตามราคาร้อยละ 1 ของมูลค่านําเข้า ส่วนปัญหาการจัดเก็บอากรศุลกากรสําหรับผลิตภัณฑ์ Reformate ที่นําเข้าก่อน วันที่ 1 มกราคม 2538 ควรที่กรมศุลกากรจะได้พิจารณาต่อไปตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่เดิม
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 รายงานความคืบหน้าการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM)
สรุปสาระสำคัญ
ความคืบหน้าของแผนงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าในแต่ละโครงการสรุปได้ ดังนี้
1. โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย คือ
1.1 โครงการประชาร่วมใจใช้หลอดประหยัดไฟฟ้า โดยบริษัทผู้ผลิตหลอดไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ ได้ยุติการผลิตหลอดฟลูออเรสเซนต์ ขนาด 20 วัตต์ และ 40 วัตต์ และทําการผลิตหลอดขนาด 18 วัตต์ และ 36 วัตต์ ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2537 ซึ่งสามารถยุติการผลิตได้ก่อนกําหนดประมาณ 1 ปี ในส่วนของ กฟผ. ได้ดําเนินการจ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์ โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า ระยะที่ 2 งบประมาณ 100 ล้านบาท ปรากฏว่า บริษัท ลีโอเบอร์เนทท์ จํากัด ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ดําเนินการ และได้นําภาพยนตร์ พร้อมทั้งสื่อโฆษณาต่าง ๆ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ และสื่อมวลชน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2538 เป็นต้นไป สำหรับกิจกรรมส่งเสริมการใช้หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ แบบหลอดตะเกียบ 2x11 วัตต์ แทนหลอดฟลูออเรสเซนต์ 32 วัตต์ แบบวงกลม และกิจกรรมส่งเสริมการใช้หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ 9 หรือ 11 วัตต์ แบบหลอดตะเกียบ แทนหลอดไส้ธรรมดา กฟผ. ได้จัดทําโครงการล้านดวงใจ ล้านดวงไฟ ร่วมใจภักดิ์ ร่วมประหยัดไฟ ซึ่งจะจัดกิจกรรมเปลี่ยนหลอดไส้ธรรมดา เป็นหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ จํานวน 1,509,999 หลอด รวมทั้งจะขอให้ภาคเอกชนลดการใช้ไฟฟ้าในกรณีจําเป็นจํานวนหนึ่งด้วย (Volunteer Interruptible Load) ส่วนกิจกรรมส่งเสริมการใช้บัลลาสต์ประหยัดไฟฟ้า กฟผ. ได้จัดประชุมร่วมกับการไฟฟ้า ทั้ง 3 และได้เสนอให้ปรับปรุงระเบียบการไฟฟ้าฝ่ายจําหน่าย ในการกําหนดให้ผู้ใช้ไฟรายใหม่ใช้เฉพาะบัลลาสต์ ประหยัดไฟฟ้าเท่านั้น โดยจะมีการประสานงานในรายละเอียดระหว่าง 3 การไฟฟ้า และสํานักงานมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ต่อไป
1.2 โครงการประชาร่วมใจ ใช้ตู้เย็นประหยัดไฟฟ้า โดย กฟผ. ได้จัดประชุมร่วมกับบริษัทผู้ผลิตและจําหน่ายตู้เย็นรายใหญ่ในประเทศดําเนินการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าของตู้เย็นขนาด 5-6 คิว ที่ผลิตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นไป โดยการกําหนดระดับประสิทธิภาพจะกําหนดจากระดับ 1-5 และการทดสอบประสิทธิภาพ กําหนดให้สํานักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นหน่วยงานกลางเป็นผู้ทดสอบช่วงปีแรก นอกจากนี้ได้กําหนดให้มีการรณรงค์ด้านการโฆษณา โดยใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท
1.3 โครงการประชาร่วมใจ ใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟฟ้า โดย กฟผ. ได้ประชุมร่วมกับบริษัทผู้ผลิตและผู้จําหน่ายเครื่องปรับอากาศ รวม 23 บริษัท เพื่อแจ้งให้ทราบว่า กฟผ. จะดําเนินการให้มีการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศที่จําหน่ายในประเทศไทย ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อพิจารณากําหนดระดับประสิทธิภาพต่อไป
2. โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจ ราชการ และรัฐวิสาหกิจ โดย กฟผ. ได้ประสานงานกับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม และศูนย์การค้า เพื่อเข้า โครงการล้านดวงใจ ล้านดวงไฟ ร่วมใจภักดิ์ ร่วมประหยัดไฟฟ้า โดย กฟผ. จะเปลี่ยนหลอดไส้ธรรมดาเป็นหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งภายใต้โครงการล้านดวงใจฯ จะมีการขอความร่วมมือไปยังโรงแรม ศูนย์การค้าและอาคาร ธุรกิจทั่วประเทศ ให้ลดการใช้ไฟฟ้าลงประมาณ 10-15% ในกรณีที่ระบบไฟฟ้ามีความจําเป็น เป็นเวลาปีละไม่เกิน 30 ชั่วโมง (ไม่เกิน 15 วัน) ครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยจะแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ชั่งโมง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด
3. โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม โดย กฟผ. อยู่ระหว่างจัดทําแผนการดําเนินงานในรายละเอียดสําหรับโครงการส่งเสริมการใช้มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง และจะมีการดําเนินการในเรื่องการจัดฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้เกี่ยวกับมอเตอร์ไฟฟ้าทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ตลอดจนศึกษาดูงานจากโรงงานต่าง ๆ และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมอเตอร์ประสิทธิภาพสูงต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้แทนจําหน่ายมอเตอร์ประสิทธิภาพสูง สำหรับการดำเนินงานภายใต้โครงการล้านดวงใจฯ จะมีการขอความร่วมมือไปยังโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ใช้ไฟฟ้าประมาณ 1,000 กิโลวัตต์ขึ้นไป ให้ลดการใช้ไฟฟ้าลงประมาณ 5-10% ในกรณีที่ระบบไฟฟ้ามีความจําเป็น เป็นเวลาปีละไม่เกิน 30 ชั่วโมง (ไม่เกิน 15 วัน) ครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยจะแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด
4. โครงการการจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้า โดย กฟผ. ได้ดําเนินโครงการทดลองควบคุมการทํางานของเครื่องปรับอากาศ โดยใช้ระบบ Ripple Control ซึ่งจะสามารถควบคุมการปิดเปิดเครื่องปรับอากาศจากศูนย์สั่งการใน กฟผ. ได้ รวมทั้ง กฟผ. ได้รับความร่วมมือจาก Tokyo Electric Power Company ประเทศญี่ปุ่น ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทดลองระบบปรับอากาศด้วยระบบกักเก็บความเย็น (Thermal Energy Storage) สําหรับอาคารธุรกิจและราชการ ซึ่งจะเป็นระบบปรับอากาศทําความเย็นเก็บไว้ในรูปของน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง ในช่วง เวลา 21.30 น. ถึง 08.00 น. และนําความเย็นดังกล่าวมาใช้ในช่วงเวลากลางวันหรือช่วงหัวค่ำ คาดว่าจะสามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน หรือหัวค่ำได้ประมาณร้อยละ 20-30 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละอาคาร หรือจะสามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ร้อยละ 5-10 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งระบบ คือประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ในเวลา 10-15 ปี ในอนาคต
5. โครงการส่งเสริมทัศนคติประหยัดไฟฟ้า โดย กฟผ. ร่วมกับคณะทํางานพัฒนาชุดการเรียนเพื่อสร้างนิสัยในการประหยัดไฟฟ้าของกระทรวงศึกษาธิการและกรุงเทพมหานคร พัฒนาชุดการเรียนสําหรับระดับอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายรวม 6 ระดับ ในขณะนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างจัดพิมพ์ร่างต้นฉบับชุดการเรียนดังกล่าว เพื่อส่งให้ที่ปรึกษาคณะทํางานฯ พิจารณาภาพรวม หลังจากนั้น กฟผ. จะได้จัดทําต้นฉบับเพื่อเผยแพร่ต่อไป ขณะเดียวกัน สํานักงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า อยู่ระหว่างดําเนินงานโครงการลูกเสือ/เนตรนารี ประหยัดไฟฟ้า โดยประสานงานกับฝ่ายลูกเสือและยุวกาชาด กองโรงเรียน กรุงเทพมหานคร กองลูกเสือและ กองยุวกาชาด กรมพลศึกษา เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การเป็นลูกเสือ/เนตรนารีประหยัดไฟฟ้า
6. โครงการประเมินศักยภาพและการประเมินผล โดยการจ้างบริษัทที่ปรึกษาสําหรับการประเมินผล กฟผ. ได้เชิญบริษัทที่ปรึกษาตามที่ธนาคารโลกได้ให้รายชื่อไว้มาร่วมประกวดราคา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทางด้านเทคนิค สำหรับรายงานการสํารวจการรับรู้และทัศนคติต่อโครงการประชาร่วมใจใช้หลอดประหยัดไฟฟ้า กฟผ. ได้ดําเนินการสํารวจการรับรู้และทัศนคติต่อการใช้หลอดประหยัดไฟฟ้า โดยจัดทําแบบสอบถามการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟประเภทบ้านอยู่อาศัยตอบ พบว่าประชาชนรู้จักโครงการประชาร่วมใจประหยัดไฟฟ้า ร้อยละ 67 จากสื่อโฆษณาโทรทัศน์ รู้จักหลอดประหยัดไฟฟ้า (หลอดผอม) ร้อยละ 95 จากสื่อโฆษณาโทรทัศน์ และวิทยุ โดยจะเลือกซื้อหลอดผอม ร้อยละ 90 และครัวเรือนมีการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาประมาณ 18.30- 21.30 น. (PEAK LOAD) ร้อยละ 69.30
7. การดําเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน โดยสํานักงาน การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (สจพ.) ได้ดําเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 15) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 ดังนี้
7.1 การประหยัดพลังงานที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล การศึกษาการใช้ไฟฟ้าของกลุ่มศูนย์การค้าเซ็นทรัล พบว่ามีความต้องการพลังไฟฟ้า ในระดับ 50 เมกะวัตต์ โดยจ่ายค่าไฟฟ้าประมาณปีละ 400 ล้านบาท และบริษัทเซ็นทรัล ยินดีให้ความร่วมมือในการประหยัดไฟฟ้า โดยยินดีจะลดความต้องการใช้ไฟฟ้าลงร้อยละ 10 เมื่อระบบไฟฟ้ามีความจําเป็น และยินดีให้ กฟผ. เข้าทดลองเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า เช่น หลอดไฟฟ้า และบัลลาสต์ โดยหากพิสูจน์ได้ว่าการดําเนินการดังกล่าวทําให้ประหยัดไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย บริษัทยินดีที่จะร่วมโครงการประหยัดไฟฟ้ากับ กฟผ. ทุกโครงการ
7.2 การศึกษาการใช้ไฟฟ้าของอาคารในสํานักนายกรัฐมนตรี สจพ. ได้ศึกษาการใช้ไฟฟ้าของตึกไทยคู่ฟ้า ตึกบัญชาการใหม่ และตึกสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์การใช้ไฟฟ้าทั้ง 3 อาคาร ระหว่างวันที่ 5-12 มีนาคม 2538 สรุปข้อมูลที่สําคัญได้ดังนี้ (1) ตึกไทยคู่ฟ้า ห้องทํางาน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี มีแสงสว่างบนโต๊ะทํางานเพียง 270 Lux ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานถึง 40% (มาตรฐานมากกว่า 450 Lux) ดังนั้น จึงจะต้องทําการปรับปรุง ส่วนหลอดไฟที่ตึกไทยคู่ฟ้าเกือบทั้งหมดเป็นหลอดไส้ (Incandescent) ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้ามาก ค่าไฟฟ้าของตึกไทยคู่ฟ้าประมาณปีละ 1 ล้านบาท การประหยัดไฟฟ้าอาจดําเนินการได้โดยการเปลี่ยนให้เป็นหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (Compact Fluorescent) ซึ่งจะทําให้ประหยัดไฟฟ้าได้ถึง ร้อยละ 70 ต่อหลอด และเมื่อเปลี่ยนหลอดได้ทั้งหมด ตึกไทยคู่ฟ้าจะประหยัดไฟฟ้าได้ประมาณร้อยละ 40 (จาก 274 กิโลวัตต์ เหลือ 165 กิโลวัตต์) หรือประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 400,000 บาทต่อปี (2) ตึกบัญชาการใหม่ เป็นตึกที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด ประมาณปีละ 2.5 ล้านบาท การใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากเครื่องปรับอากาศ (ถึงร้อยละ 60) โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี โดยการประหยัดพลังงานในเบื้องต้น อาจดําเนินการได้จากการเปิดเครื่องปรับอากาศห้องประชุมคณะรัฐมนตรีให้เหมาะสม เนื่องจากในปัจจุบันมีการเปิดตั้งแต่เที่ยงคืนของคืนก่อนวันประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนั้นจึงอาจมีการปรับปรุงโดยเปลี่ยนแปลงระบบปรับอากาศและแสงสว่างให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น (3) ตึกสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นตึกที่มีค่าไฟฟ้าประมาณปีละ 1.2 ล้านบาท การประหยัดไฟฟ้าจะดําเนินการได้จากระบบแสงสว่างและระบบปรับอากาศ โดยการดําเนินการประหยัดพลังงานสําหรับทําเนียบรัฐบาลในระยะแรก จะดําเนินการได้ในส่วนของตึกไทยคู่ฟ้า เป็นลําดับแรก
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบการรายงานความคืบหน้าการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
1. ให้หน่วยราชการทั่วประเทศร่วมมือส่งเสริมการประหยัดไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยให้มีการใช้หลอด คอมแพคฟลูออเรสเซนต์แบบประหยัดพลังงานแทนหลอดไส้ธรรมดาในสถานที่ราชการ และมอบหมายให้สํานัก งบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณ เพื่อการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าดังกล่าวให้แก่หน่วยราชการทั่วประเทศ
2. ให้รายงานความคืบหน้าของการดําเนินงานให้ที่ประชุมทราบในการประชุมครั้งต่อไป
เรื่องที่ 5 แผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2538- 2554)
สรุปสาระสำคัญ
1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดทําแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. (พ.ศ. 2538-2554) ซึ่ง กฟผ. จะปรับปรุงแผนฯ ทุกระยะ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ครั้งหลังสุดที่ได้มีการจัดทําแผนฯ เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ขณะนี้สถานการณ์บางอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะนโยบายในการให้เอกชนขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ในรูป Independent Power Producer (IPP) กฟผ. จึงได้ดําเนินการปรับปรุงแผนระยาวขึ้นใหม่ เพื่อใช้เป็นกรอบในการดําเนินการลงทุนในการจัดหาไฟฟ้าในระยะยาว
2. แผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าที่ปรับใหม่ ประกอบด้วย 2 แผน คือ แผนหลักและแผนทางเลือก ทดแทน แผนหลักเป็นแผนที่ไม่รวมการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศลาว ส่วนแผนทางเลือก ทดแทนเป็นแผนที่รวมการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว ระหว่างปี 2541-2544 รวมปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า 1,611 เมกะวัตต์ แผนทางเลือกทดแทนจะแตกต่างจากแผนหลัก คือ เมื่อมีการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว โครงการที่ กฟผ. ดําเนินการเองบางโครงการจะถูกชะลอออกไป
3. แผนหลักและแผนทางเลือกทดแทนดังกล่าว ได้มีการยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าหลายโครงการ โดยเป็นโครงการที่ไม่สามารถดําเนินการได้ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแก่งกรุง โครงการแม่ลามาหลวง และ โครงการอ่าวไผ่ นอกจากนี้ได้มีการผนวกโครงการที่เพิ่งได้รับอนุมัติเมื่อเร็ว ๆ นี้บางโครงการ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรี และโครงการใหม่ ๆ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ สุราษฎร์ธานี ในระดับ 300 เมกะวัตต์ การเพิ่มสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลล์ เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP ในระดับ 300 เมกะวัตต์ ด้วย ทั้งนี้ แผนที่ออกมาเป็นทั้งแผนหลักและแผนทางเลือกทดแทน โดยแผนหลักคาดว่าจะใช้เงินลงทุนจํานวน 192,500 ล้านบาท ในช่วงแผนฯ 7 และเพิ่มเป็น 253,500 ล้านบาท ในช่วงแผนฯ 8 ในกรณีแผนทางเลือกทดแทนนั้น เงินลงทุนน้อยกว่าแผนหลักเล็กน้อย
4. คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ได้ให้ความเห็นชอบในแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ดังกล่าว ในกรณี “แผนหลัก” และ “แผนทางเลือกทดแทน” เพื่อใช้เป็นกรอบในการดําเนินการของ กฟผ. ต่อไป นอกจากนี้ได้มีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้ 1) เห็นควรให้ สพช. และ กฟผ. ทําการศึกษาความเหมาะสมของสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านโดยรวม เพื่อให้มีการกระจายแหล่งและชนิดของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟฟ้าอย่างเหมาะสม และนําเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาพลังงานในอนาคตต่อไป และ 2) เห็นควรเพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนตามประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในรูปของ Independent Power Producer (IPP) อีกร้อยละ 10 ของปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนตามประกาศเดิม เพื่อทดแทนโครงการโรงไฟฟ้าแม่ขามที่ กฟผ. ยกเลิกโครงการแล้ว โดยให้คณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรับไปดําเนินการต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าในกรณี “แผนหลัก” ในช่วง พ.ศ. 2538-2554 ตามที่ กฟผ. เสนอ เพื่อใช้เป็นกรอบในการลงทุนทางด้านการขยายระบบผลิตและระบบส่งของประเทศ
2. เห็นชอบ “แผนทางเลือกทดแทน” เป็นกรอบในการดําเนินการของ กฟผ. ตามที่ กฟผ. เสนอ โดยให้ กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดําเนินการในการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการต่าง ๆ ในประเทศลาว เพื่อให้สามารถทําความตกลงรับซื้อไฟฟ้าได้ในปริมาณรวมกันประมาณ 1,600 เมกะวัตต์ ภายในปี 2544 และเพื่อให้ กฟผ. ชะลอโครงการในแผนหลักตามแนวทางแผนทางเลือกทดแทน
3. ให้ใช้แผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าในข้อ 1 และ 2 เป็นกรอบในการพิจารณารายละเอียดของ โครงการในช่วง พ.ศ. 2538-2544 โดยไม่ต้องเสนอขออนุมัติในระดับนโยบายอีก ยกเว้นโครงการที่มีประเด็นนโยบายพิเศษ โดยมีขั้นตอนการเสนอและอนุมัติโครงการให้ยึดถือตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติไปแล้วเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 ดังนี้
(1) ให้ กฟผ. เสนอรายละเอียดของโครงการแต่ละโครงการที่จะดําเนินการในช่วงปี 2538- 2544 ดังกล่าวข้างต้น ต่อสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดย ให้ สศช. รับพิจารณาเฉพาะโครงการที่อยู่ในแผนหลักหรือแผนทางเลือกทดแทนเท่านั้น
(2) ในขณะเดียวกันให้ กฟผ. จัดทําและเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อขอความเห็นชอบ ไปยังสํานักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แห่งชาติ พ.ศ. 2535
(3) สผ. เสนอความเห็นต่อ สศช.
(4) สศช. พิจารณาอนุมัติโครงการ โดยคํานึงถึงความเห็นของ สผ.
(5) หากไม่มีประเด็นนโยบายที่สําคัญและเป็นโครงการที่กําหนดให้ กฟผ. เป็นผู้ดําเนินการเอง ให้ สศช. นําเสนอกระทรวงการคลังเพื่อดําเนินการจัดหาเงินกู้ต่อไป และนําเสนอคณะรัฐมตรีและคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อทราบ
(6) หากเป็นโครงการที่มีประเด็นนโยบายที่สําคัญให้นําเสนอคณะรัฐมตรีพิจารณาโดยผ่าน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นโครงการที่ไม่ได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. หรือเป็นโครงการเร่งด่วน เห็นควรให้ กฟผ. นําเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อบรรจุไว้ในแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
4. ให้ สพช. และ กฟผ. ทําการศึกษาความเหมาะสมของสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจาก ประเทศเพื่อนบ้านโดยรวม เพื่อให้มีการกระจายแหล่งและชนิดของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าอย่างเหมาะสม และนําเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาพลังงานในอนาคตต่อไป
5. ให้เพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ตามประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในรูปของ Independent Power Producer (IPP) อีกร้อยละ 10 ของปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนตามประกาศเดิม เพื่อทดแทนโครงการโรงไฟฟ้าแม่ขามที่ กฟผ. ยกเลิกโครงการแล้ว โดยให้คณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน รับไปดําเนินการต่อไป
เรื่องที่ 6 การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย
สรุปสาระสำคัญ
1. บริษัทผลิตไฟฟ้าในประเทศมาเลเซีย ได้แก่ บริษัท YTL Coporation Berhad (YTL) บริษัท Perlis IPP (Teknologi Tenaga Perlis TTP) และ Tanaga National Berhad (TNB) แสดงความจํานงต้องการผลิตไฟฟ้าประมาณ 300 เมกะวัตต์ ขายให้ประเทศไทย ซึ่งต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีหนังสือลงวันที่ 27 มีนาคม 2538 ถึงสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) แจ้งให้ทราบว่ารัฐบาลมาเลเซียได้ให้สิทธิแก่ TTP ในการขายไฟฟ้าปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ให้แก่ประเทศไทย
2. จากรายละเอียดความคืบหน้าโครงการความร่วมมือตามข้อเสนอของสภาธุรกิจ ภายใต้โครงการ พัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMTGT) ในเดือนมิถุนายน 2537 ภาคเอกชนทั้งสามประเทศ ได้แก่ SPMS ประเทศมาเลเซีย กลุ่มชินวัตรประเทศไทย และ Bukaka Teknik Utama ประเทศอินโดนีเซีย ได้ลงนามใน MOU ร่วมกันที่เมดาน เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกําลังผลิต 2 x 150 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดสตูล และประสงค์จะได้รับการอนุมัติให้เจรจาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ได้
3. ตามแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. พ.ศ. 2538-2554 แสดงให้เห็นว่า ความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของภาคใต้ จะต้องดําเนินโครงการต่างๆ ดังนี้ 1) ปี 2540 โครงการสายส่งเชื่อมโยง ไทย-มาเลเซีย ระยะที่ 2 ขนาดกําลังผลิต 300 เมกะวัตต์ เพื่อเพิ่มการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ 2) ปี 2543 โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน กระบี่ สุราษฎร์ธานี ใช้น้ำมัน/ก๊าซ เป็นเชื้อเพลิง ขนาดกําลังผลิต 300 เมกะวัตต์ และ 3) ปี 2545 โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนภาคใต้ ใช้น้ำมัน ก๊าซ เป็นเชื้อเพลิง ขนาดกําลังผลิต 300 เมกะวัตต์
4. กฟผ. ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าเอกชน ในรูปของ Independent Power Producer (IPP) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องเป็นผู้เสนอสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าเอง ทั้งนี้อาจเป็นภาคใต้ของประเทศไทยก็ได้ โดยมีขนาดกําลังผลิตและระยะเวลา ดังนี้ ปีงบประมาณ 2539-2543 กําลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ปีงบประมาณ 2544 กําลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ และปีงบประมาณ 2545 กําลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 3,800 เมกกะวัตต์
5. คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานในการประชุม ครั้งที่ 1/2538 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 ได้พิจารณาเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย และมีมติที่จะขอความเห็นชอบจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ดังนี้ 1) การเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย ปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ในปี 2540 ควรดําเนินการเจรจาเช่นเดียวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อรับผิดชอบการเจรจาการประสานงาน และ กําหนดแนวทางการเจรจา โดยกําหนดให้เจรจากับ TTP 2) การรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ได้ดําเนินการเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่จะมีเพิ่มขึ้นในปี 2543 และ 2545 โดยให้ผู้ลงทุนยื่นข้อเสนอได้ตามประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปของ IPP ซึ่งได้มีประกาศเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 และ 3) มอบหมายให้ ปตท. รับไปดําเนินการศึกษาความเหมาะสม และความเป็นไปได้ในการรับซื้อก๊าซธรรมชาติตามข้อเสนอใหม่ของมาเลเซีย
มติของที่ประชุม
1. ให้มีการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากบริษัท Teknologi Tenaga Perlis (TTP) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าที่รัฐบาลมาเลเซียมอบหมายให้ผลิตไฟฟ้าขายให้กับไทยในปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ในปี 2540 ในราคาที่เหมาะสม โดยมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง เพื่อรับผิดชอบการ เจรจาและการประสานงาน โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้
องค์ประกอบ
(1) ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นประธานอนุกรรมการ
(2) เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นอนุกรรมการ
(3) อธิบดีกรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นอนุกรรมการ
(4) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นอนุกรรมการ
(5) ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายพัฒนาธุรกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
2. การรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ให้ผู้สนใจ ลงทุนยื่นข้อเสนอได้ตามประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปของ Independent Power Producer (IPP) ซึ่งได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537
3. มอบหมายให้ ปตท. รับไปดําเนินการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการรับซื้อก๊าซ ธรรมชาติ ตามข้อเสนอใหม่ของมาเลเซีย
เรื่องที่ 7 การรับซื้อไฟฟ้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป.ลาว ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือด้าน การพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 ณ นครเวียงจันทน์ โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและ ร่วมมือกันพัฒนาไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2543 เพื่อจําหน่ายให้กับประเทศไทย และ ต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว (คปฟ.-ล) โดยมีผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นประธาน เพื่อติดตามการดําเนินงานและประสานความร่วมมือกับ สปป.ลาว ให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
2. คณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้า สปป.ลาว ได้ดําเนินการเจรจาเพื่อซื้อไฟฟ้าจาก โครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2 ซึ่งมีขนาดกําลังผลิตติดตั้ง 600 เมกะวัตต์ ระยะเวลาดําเนินการปี 2538- 2541 และดําเนินการโดยรัฐบาล สปป.ลาว และกลุ่มผู้ร่วมลงทุนพัฒนาโครงการฯ ได้แก่ บริษัท Transfield (ออสเตรเลีย) การไฟฟ้าฝรั่งเศส (EDF) บริษัทอิตาเลียนไทย จํากัด บริษัทจัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด และบริษัทภัทรธนกิจ จํากัด การเจรจาสามารถตกลงกันได้ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538 โดยมีข้อยุติคือ อัตราค่าไฟฟ้า 4.55 เซนต์สหรัฐต่อหน่วย (ณ วันที่ 1 มกราคม 2537) โดยให้ปรับราคาได้ร้อยละ 3 ต่อปี ในระหว่างการก่อสร้าง และร้อยละ 35 ของอัตราเพิ่มของดัชนีราคาผู้บริโภค ในระหว่างการดําเนินการผลิต ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงได้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. (Avoided Cost) คปฟ.-ล จึงเห็นสมควรยอมรับได้ และได้มีพิธีลงนามข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้า (Heads of Agreement) ของโครงการฯ น้ำเทิน 2 ระหว่างรัฐบาล สปป.ลาว คปฟ.-ล กฟผ. และกลุ่มผู้ลงทุน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2538 ณ นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
3. เนื่องจากข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้า (Heads of Agreement) ดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงมีหนังสือลงวันที่ 23 มีนาคม 2538 ถึงสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เพื่อขอนําข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้า เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) เห็นชอบให้ สพช. นําเสนอ กพช. พิจารณา
4. ข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2 มีสาระสําคัญสรุปได้ดังนี้
4.1 ข้อตกลงดังกล่าวให้เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาล สปป.ลาว คปฟ.-ล กฟผ. และกลุ่มผู้ลงทุน
4.2 กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าที่ราคา 4.55 เซนต์สหรัฐต่อหน่วย (ณ วันที่ 1 มกราคม 2537) หรือ ประมาณ 1.14 บาทต่อหน่วย
4.3 ในระหว่างก่อสร้าง ให้ปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี แต่ไม่เกิน 5 ปี จนถึงวันเริ่มผลิต และจ่ายไฟฟ้าได้ ให้ปรับราคาไฟฟ้าได้ร้อยละ 35 ของอัตราเพิ่มดัชนีราคาผู้บริโภค และเป็นราคาซื้อขายไฟฟ้า สําหรับปีแรก ทั้งนี้ วันที่เริ่มผลิตและจ่ายไฟฟ้าได้ ต้องไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2543
4.4 หลังจากเริ่มผลิตและจ่ายไฟฟ้า ให้ปรับราคาไฟฟ้าได้ทุกปีในอัตราร้อยละ 35 ของดัชนีราคาผู้บริโภค
4.5 กฟผ. รับประกันความเสี่ยงอันเนื่องมาจากฝนแล้ง ร้อยละ 50 กล่าวคือ ปีใด กฟผ. ซื้อ พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่า 2,432 ล้านหน่วย (ร้อยละ 50 ของพลังงานที่จะต้องซื้อขายทั้งปี) และไม่มีน้ำเหลือ สําหรับผลิตไฟฟ้าอีก โดยพิสูจน์ได้ว่าเนื่องมาจากฝนแล้ง กฟผ. จะชําระค่าพลังงานไฟฟ้าจนครบ 2,432 ล้านหน่วย
4.6 ถ้าปีใด กฟผ. ซื้อพลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 4,864 ล้านหน่วย (พลังงานไฟฟ้าที่จะซื้อขายทั้งปี) กฟผ. จะจ่ายค่าพลังงานไฟฟ้าส่วนที่เกิน ณ ราคาร้อยละ 80 ของราคาค่าไฟฟ้าปกติในปีนั้น
4.7 การชําระค่าไฟฟ้าจะชําระเป็นเงินสกุลบาทร้อยละ 50 ของค่าไฟฟ้า และอีกร้อยละ 50 ของ ค่าไฟฟ้าจะชําระเป็นเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลบาท และเงินสกุลดอลล่าร์ สหรัฐของเดือนที่มีการลงนามในสัญญา
4.8 ข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้านี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลไทย
มติของที่ประชุม
เห็นชอบกับข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2
เรื่องที่ 8 การประเมินผลโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและการปรับราคาขายส่งระหว่างการไฟฟ้า
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2534 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อัตราค่าไฟฟ้าสะท้อนถึงต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์มากที่สุด และเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าน้อยลงในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบไฟฟ้า (Peak)
2. การปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2534 ประกอบด้วยสาระสําคัญ 2 ประการคือ 1) มีการปรับปรุงราคาขายส่งระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าฝ่ายจําหน่าย โดยลดราคาที่ กฟผ. จําหน่ายให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จาก 1.4777 บาท/หน่วย เหลือ 1.4682 บาท/หน่วย และลดราคาที่ กฟผ. จําหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จาก 1.0399 บาท/ หน่วย เหลือ 0.9630 บาท/หน่วย และ 2) มีการขยายขอบเขตโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าแบบ Time of Day Rate (TOD) ให้ครอบคลุมถึงผู้ใช้ไฟประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งมีผลทําให้ปัจจุบันมีธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ติดตั้งมิเตอร์ TOD แล้วรวมทั้งสิ้น 1,333 ราย มีการใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 1,900 GWH/เดือน และความต้องการพลังไฟฟ้าประมาณ 4,000 MW กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้ TOD Rate มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมซีเมนต์ อุตสาหกรรมเหล็กและเคมีภัณฑ์
3. การประเมินผลการดําเนินการตามการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2534 มีดังนี้
3.1 ผลกระทบของสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติต่อราคาไฟฟ้าขายปลีก ในช่วงปี 2535-2537 ได้มีการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2535 โดยค่า Ft ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา มีค่าเฉลี่ยเปลี่ยนแปลงอยู่ระหว่าง 2.92-6.17 สตางค์/หน่วย ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่า Ft คือ การนําภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ในเดือนมกราคม 2535 การใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากที่ได้วางแผนไว้ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำและความจําเป็นที่จะต้องลดการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อรักษาคุณภาพอากาศให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเตาในปี 2537
3.2 ผลกระทบของอัตรา TOD ต่อการลดความต้องการพลังไฟฟ้าของระบบ โดยเหตุที่โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOD Rate จะมีอัตราที่สูงมากในช่วง Peak (18.30 น.-21.30 น.) เมื่อเทียบกับช่วง Partial Peak (8.00 น.-18.30 น.) และ Off-Peak (21.30 น.- 8.00 น.) ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของระบบไฟฟ้าของประเทศในช่วง Peak ลดลงถึง 700 MW ผู้ใช้ไฟที่ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วง Peak สามารถประหยัดค่าพลังไฟฟ้าได้เดือนละประมาณ 120-150 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน กฟผ. ก็สามารถลดการลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในระยะยาวได้ประมาณ 21,000 ล้านบาท และโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOD มีผลกระทบต่อลักษณะความต้องการใช้ไฟฟ้าของระบบ จนทําให้ลักษณะ Load Curve ของระบบเปลี่ยนแปลงไป โดยในปัจจุบันจะเหลือเพียงช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง (08.00 น.-21.30 น.) และช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าต่ำ (21.30 น.- 08.00 น.) เพียง 2 ช่วง เท่านั้น
3.3 ผลกระทบต่อฐานะการเงินของการไฟฟ้า โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบันที่ประกาศใช้ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2534 มีผลทําให้ฐานะการเงินของการไฟฟ้าฝ่ายจําหน่ายที่เกิดขึ้นจริงในช่วงปี 2535- 2537 ดีกว่าที่ประมาณการมาก กล่าวคือ กฟน. มีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน (ROR on Revalued Asset) เฉลี่ยจริงสูงถึงร้อยละ 9.49 เทียบกับการประมาณการไว้ที่ระดับร้อยละ 7.06 ส่วน กฟภ. มีอัตรา ROR เฉลี่ยจริงร้อยละ 14.05 เทียบกับการประมาณการไว้ที่ร้อยละ 7.45 อย่างไรก็ตาม กฟผ. มีอัตรา ROR เฉลี่ยจริง เพียงร้อยละ 5.91 โดยประมาณการไว้ที่ระดับร้อยละ 8.08 ทั้งนี้เป็นผลจากการลดราคาขายส่งที่จําหน่ายให้ กฟน. และ กฟภ. ซึ่งมีผลให้ราคาขายส่งเฉลี่ยลดลงจาก 1.2471 บาท/หน่วย เหลือเพียง 1.2067 บาท/หน่วย เพื่ออุดหนุน กฟภ. ในการขยายระบบการจําหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ชนบทห่างไกล
3.4 การเปรียบเทียบอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยกับต่างประเทศ จากการศึกษาเปรียบเทียบ ค่าไฟฟ้าของประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย ธุรกิจขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่าอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยมิได้สูงไปกว่าประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ (ใช้ในช่วงหัวค่ำน้อย) จะสามารถซื้อไฟฟ้าได้ในอัตราที่ต่ำกว่า ตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาของวัน TOD Rate นอกจากนี้ หากพิจารณาแนวโน้มค่าไฟฟ้าในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (รวม Ft แล้ว) ของ กฟน. มีอัตราอยู่ระหว่าง 1.77-1.92 บาท/หน่าย และอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของ กฟภ. มีอัตราอยู่ ระหว่าง 1.59-1.74 บาท/หน่าย อาจกล่าวได้ว่าอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเกือบไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.72 ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน
4. การประเมินผลโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบันพบว่า ยังมีประเด็นปัญหาที่จะต้องดําเนินการ แก้ไข เพื่อให้นโยบายราคาไฟฟ้ามีความเหมาะสมยิ่งขึ้นดังนี้
4.1 ฐานะการเงินของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง มีความแตกต่างกันอย่างมาก จากผลของการลดราคา ขายส่งไฟฟ้าที่ กฟผ. จําหน่ายให้แก่ กฟภ. เพื่อช่วยอุดหนุน กฟภ. สําหรับการลงทุนขยายระบบไฟฟ้าไปในพื้นที่ชนบทห่างไกล ประกอบกับความต้องการไฟฟ้าในเขตความรับผิดชอบของ กฟภ. มีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นสูงมาก ทําให้ต้นทุนต่อหน่วยจําหน่ายต่ำกว่าที่ได้ประมาณการไว้เดิม ทําให้ฐานะการเงินของ กฟภ. ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2535-2537) มีความมั่นคงมากกว่า กฟผ. และ กฟน. ค่อนข้างมาก
4.2 การขยายขอบเขต TOD Rate ประสบความสําเร็จค่อนข้างมากจนมีผลให้มีการเปลี่ยนแปลง ลักษณะการใช้ไฟฟ้าของระบบไฟฟ้าของประเทศจาก 3 ช่วงเวลา เป็น 2 ช่วงเวลา ที่มีช่วง Peak ในช่วงเวลาที่ ยาวขึ้น คือ 8.00 น.-21.30 น. ทําให้มีความจําเป็นต้องมีการปรับช่วงเวลาในอัตรา TOD เพื่อให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับลักษณะการใช้ไฟฟ้าของระบบยิ่งขึ้นและควรให้มีการขยายผลการใช้อัตรา TOD ให้ครอบคลุมไปสู่ผู้ใช้ไฟกลุ่มอื่นที่ไม่ใช้อัตรา TOD ในปัจจุบัน
5. จากประเด็นปัญหาในข้อ 4 ควรจะได้มีการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ดังนี้
5.1 พิจารณาปรับราคาขายส่งและราคาขายปลีกเพื่อให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งมีฐานะการเงินที่มั่นคงตามเกณฑ์ที่กําหนด
5.2 ขยายขอบเขตของ TOD Rate และการนํา TOD Rate ประเภทใหม่มาใช้ให้สอดคล้องกับ ลักษณะการใช้ไฟฟ้าของระบบในปัจจุบันที่มีเพียง 2 ช่วงคือ Peak (8.00 น. - 21.30 น.) และ Off-Peak (21.30 น. - 8.00 น.) ซึ่งในขณะนี้ สพช. ร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้ทําการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของการขยายขอบเขตอัตรา TOD Rate ตามแนวทางดังกล่าวแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรึกษาหารือกับกลุ่มผู้ใช้ไฟที่จะเข้าข่ายอัตรา TOD ใหม่ เพื่อให้รับทราบเหตุผลความจําเป็นของการขยายขอบเขตอัตรา TOD ดังกล่าว พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางที่จะช่วยให้ผู้ใช้ไฟลดการใช้ไฟฟ้าในช่วง Peak ของระบบ เช่น การเสนอวิธีประหยัดไฟฟ้าตามแนวทางการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน และการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น ซึ่งการดําเนินการดังกล่าวจะทําให้การขยายขอบเขตอัตรา TOD Rate เป็นที่ยอมรับและเกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป
6. ข้อเสนอการปรับราคาขายส่งระหว่างการไฟฟ้า มีดังนี้
6.1 ควรให้มีการใช้ราคาขายส่งระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและการไฟฟ้าฝ่ายจําหน่าย เดือนมกราคม 2538 เพื่อให้ ROR ของภาคไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ดังนี้ กฟน. 1.4865 บาท/หน่วย และ กฟภ. 1.0910 บาท/หน่วย
6.2 การประมาณการฐานะการเงินของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ภายใต้ข้อสมมติฐานการปรับราคาขายส่งเดือน ม.ค. 2538 ปรากฏว่า ฐานะการเงินของการไฟฟ้าในปี 2538 ใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่กําหนด โดย ROR ของภาค ไฟฟ้าในปี 2538 เท่ากับ 7.77% สําหรับอัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้อยู่ในระดับ 25-38% และปรากฏว่า ผลการประมาณการอัตราส่วนทางการเงินที่สําคัญ เช่น อัตราส่วนกําไรสุทธิต่อส่วนทุน Return on Equity (ROE) อยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะยอมรับได้ โดยเฉพาะ ROE ในปี 2538 ของการไฟฟ้าทั้งสามอยู่ระหว่าง 19-22%
6.3 จากเหตุผลในข้อ 6.1 และ 6.2 จึงพอสรุปได้ว่าการปรับราคาขายปลีกเพื่อให้ฐานะการเงินของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง อยู่ในเกณฑ์ที่กําหนด ยังไม่มีความจําเป็นสําหรับปี 2538 แต่ควรจะต้องมีการพิจารณา ทบทวนฐานะการเงินในปี 2539-2540 ซึ่งจะดําเนินการได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้นเมื่อการศึกษาเรื่อง Rationalization of Bulk Supply Tariff to MEA and PEA แล้วเสร็จ
มติของที่ประชุม
1. รับทราบการประเมินผลการดําเนินงานภายใต้การปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2534 และแนวทางการดําเนินงานในการขยายขอบเขตอัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาของวัน เพื่อให้อัตรา TOD ครอบคลุมถึงผู้ใช้ไฟรายใหญ่มากขึ้น อันจะทําให้นโยบายราคามีผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของระบบให้มีความสม่ำเสมอมากขึ้น ซึ่งจะทําให้การลงทุนของระบบไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป
2. ให้มีการกําหนดราคาขายส่งไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และการไฟฟ้าฝ่ายจําหน่ายใหม่ โดยให้มีผลใช้ บังคับตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 เป็นต้นไป ดังนี้
(1) กําหนดให้ราคาขายส่งไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และ กฟน. เป็น 1.4865 บาทต่อหน่วย
(2) กําหนดให้ราคาขายส่งไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และ กฟภ. เป็น 1.0910 บาทต่อหน่วย
3. มอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมบัญชีกลาง และสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทบทวนความเหมาะสมของหลักเกณฑ์การพิจารณาฐานะการเงินของการไฟฟ้าที่ใช้ในการกําหนดอัตราค่าไฟฟ้า เพื่อให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวสะท้อนถึงฐานะการเงินของการไฟฟ้าอย่างแท้จริง และครอบคลุมถึงประสิทธิภาพการดําเนินงานของการไฟฟ้าด้วย รวมทั้งโครงสร้างราคาขายส่งและวิธีการอุดหนุน กฟภ. โดยกําหนดเป็นหัวข้อในการศึกษาเรื่อง Rationalization of Bulk Supply Tariff to MEA and PEA ซึ่งเป็นการศึกษาภายใต้เงื่อนไข เงินกู้ของธนาคารโลกสําหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลําตะคองแบบสูบกลับ และอยู่ภายใต้การกํากับการศึกษา ของ สพช. เมื่อการศึกษาแล้วเสร็จควรให้มีการพิจารณาฐานะการเงินของการไฟฟ้าในปี 2539-2540 ตาม หลักเกณฑ์ใหม่ และนําเสนอผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติต่อไป
เรื่องที่ 9 การกําหนดเขตต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) รับไปดําเนินการหามาตรการเพื่อช่วย เหลือชาวประมงรายย่อย ซึ่งจะได้รับผลกระทบในเรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากมาตรการการกําหนดเขตต่อเนื่องในพื้นที่ระหว่าง 12 ถึง 24 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง และให้นําผลการพิจารณาเสนอต่อคณะกรรมการฯ โดยด่วน เพื่อประกอบการพิจารณากําหนดเขตต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป
กพช. ครั้งที่ 51 วันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2538
มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 3/2538 (ครั้งที่ 51)
วันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2538
1. การดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
2. การส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
3. ราคาน้ำมันและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง
4. รายงานสถานการณ์ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า (ปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ)
6. การขออนุมัติในหลักการให้ กฟผ. ขายโรงไฟฟ้าขนอม
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(นายชวน หลีกภัย)
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
(นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์)
เรื่องที่ 1 การดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 49) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 ให้กําหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดําเนินการและรายงานผลการดําเนินการต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมทุกครั้ง
2. หน่วยงานต่าง ๆ ได้รายงานผลการดําเนินการให้ สพช. ทราบรวมทั้งสิ้น 8 หน่วยงาน โดยมี รายละเอียด ดังนี้
2.1 กรมสรรพสามิต ได้จัดตั้งห้อง Operation Room ทําการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับรายงานการเคลื่อนย้ายและการขนส่งน้ำมันโดยทางเรือทั่วราชอาณาจักรในทันทีที่เริ่มมีการขนถ่ายน้ำมันออก จากโรงกลั่น หรือเมื่อมีการนําเข้าและติดตามการขนย้ายไปปลายทาง เพื่อป้องกันการเดินทางออกนอกเส้นทาง ไปรับน้ำมันหนีภาษี โดยได้ประสานงานกับ สพช. กรมศุลกากร และหน่วยงานอื่น ๆ และยังคงให้เจ้าพนักงาน สรรพสามิตทําการผนึกท่อทางรับ-จ่ายน้ำมันของคลังน้ำมันที่เป็นโรงอุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัติภาษี สรรพสามิต พ.ศ. 2527 และให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดปริมาณน้ำมันทุกครั้งที่นําเข้าในคลังน้ำมัน ซึ่งเป็นผลให้ การจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2537- เมษายน 2538 สูงกว่าเดือนเดียวกัน ของปีก่อนร้อยละ 12.49, 15.37, 23.91, 26.69, 28.33 และ 19.28 ตามลําดับ และเป็นผลให้การจัดเก็บภาษีน้ำมันในช่วง 6 เดือน (พฤศจิกายน 2537 - เมษายน 2538) สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.09 นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้กรมสรรพสามิตใช้เงินฝากค่าใช้จ่ายเก็บภาษีท้องถิ่น จํานวน 210 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อและติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ควบคุมการรับจ่ายน้ำมันในคลังน้ำมันต่าง ๆ แล้ว ซึ่งขณะนี้ กรมฯ ได้ออกประกวดราคาจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ดังกล่าว กําหนดยื่นซองในวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 และคาดว่าจะสามารถดําเนินการได้เสร็จประมาณเดือนพฤษภาคม 2539
2.2 กรมศุลกากร ในเดือนมีนาคม 2538 คณะทํางานเพื่อทําหน้าที่ตรวจสอบการลักลอบ นําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่กรมศุลกากรเป็นประธาน ได้ดําเนินการตรวจสอบการสําแดงการนําเข้าในใบขนสินค้า เปรียบเทียบกับการนําเข้าจริง และตรวจสอบคลังน้ำมันของบริษัทต่าง ๆ รวม 13 แห่งแล้วไม่พบว่ามีการกระทําผิดแต่อย่างใด และสามารถจับกุมผู้ลักลอบนําเข้าน้ำมันได้ 1 ราย บริเวณแหลมคอกวาง อําเภอสิชล นครศรีธรรมราช เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ปริมาณ 60,000 ลิตร สรุปผลการจับกุมและการดําเนินคดีของกรมศุลกากร ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2537 ปรากฏว่า สามารถจับกุมผู้กระทําความผิดได้ 21 ราย เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ปริมาณ 669,107 ลิตร และ น้ำมันเบนซินปริมาณ 2,440 ลิตร ซึ่งมีข้อสังเกตว่าผลคดีส่วนใหญ่ จะยึดของกลางคือน้ำมันที่จับกุมได้เป็นของ แผ่นดิน แต่เรือที่ใช้ในการกระทําความผิดไม่ได้มีการรับเรือตามมติคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้ทางกรมศุลกากรได้ดําเนินการปรับปรุงแนวทางการดําเนินคดีแล้ว โดยออกคําสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 13/2538 เรื่อง เพิ่มเติมประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2530 หมวดที่ 17 บทที่ 08 ข้อที่ 02 (ก) ว่าด้วย หลักเกณฑ์ในการดําเนินคดีการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว
2.3 กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดําเนินการยกร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตต่อเนื่องเพื่อป้องกันและปราบปราม การกระทําความผิด พ.ศ. …. เสร็จสิ้นแล้ว โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ได้ให้ความเห็นชอบ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้นําเสนอคณะกรรมการกฎหมายทะเลและเขตทางทะเลของประเทศไทยพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2538 ก่อนจะนําเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป สําหรับในส่วนของ คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรในเขตต่อเนื่อง ซึ่งดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเพิ่มอํานาจปฏิบัติการของพนักงานศุลกากรในเขตต่อเนื่องนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมชี้แจงประเด็นทางข้อกฎหมายอยู่ด้วย
2.4 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทะเบียนการค้าได้ขอความร่วมมือจากโรงกลั่นในสิงคโปร์ ให้แจ้งรายละเอียดของเรือบรรทุกน้ำมันที่รับน้ำมันจากสิงคโปร์และมีจุดหมายปลายทางมายังประเทศไทย ขณะนี้บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จํากัด และบริษัท เอสโซ่แสตนดาร์ดแห่งประเทศไทย จํากัด ได้รายงานข้อมูลดังกล่าวแล้ว และได้ส่งให้แก่ สพช. ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ เรื่อง การกําหนดเงื่อนไขการนําเข้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วซึ่งกําหนดให้ผู้ค้าตามมาตรา 6 ทุกราย ต้องแจ้งรายละเอียดการนําเข้าทันทีที่เรือเดินทางออกจากสิงคโปร์ โดยการร่างประกาศ กระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนําสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2538 ซึ่งได้มีมติเห็นชอบในร่างดังกล่าวและอนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ดําเนินการต่อไปได้ และขณะนี้อยู่ระหว่างการนําเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณาลงนาม
2.5 กองทัพเรือ ได้มีคําสั่งกองทัพเรือ (เฉพาะ) ลับที่ 98/2538 ลงวันที่ 28 เมษายน 2538 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าน้ำมันในทะเล โดยมุ่งเน้นการสืบหาข่าว การติดตามและจับกุม เรือประมงดัดแปลง เรือน้ำมันขนาดเล็ก หรือเรือบรรทุกน้ำมันที่จดทะเบียนในต่างประเทศที่มีการขนถ่ายน้ำมัน นอกทะเลอาณาเขตของไทย ด้วยเรือและอากาศยานที่มีอยู่
2.6 คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรในเขตต่อเนื่อง ซึ่งมีรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (นายชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์) เป็นประธานได้จัดทําข้อเสนอการกําหนดเขตต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยคณะอนุกรรมการฯ เห็นควรที่ประเทศไทยจะได้ประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย โดยกําหนดให้ “เขตต่อเนื่อง” อยู่ในบริเวณที่อยู่ถัดออกไปจากทะเลอาณาเขตจนถึงระยะ 24 ไมล์ทะเล ทั้งนี้ ในการประกาศเขตต่อเนื่องดังกล่าวต้องมีการประกาศเป็นพระบรมราชโองการและเพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถปฏิบัติงานปราบปรามการลักลอบ ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตต่อเนื่องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คณะอนุกรรมการฯ เห็นควรที่จะแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 เพื่อกําหนดมาตรการให้เรือที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม เช่น ห้ามเรือที่อยู่ในเขตต่อเนื่องหยุดจอดลอยลํา หรือจอดเรือโดยไม่มีเหตุอันควร หรือโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือขนถ่ายสิ่งของใด ๆ โดยไม่มีเหตุผลอันควรหรือโดยไม่ได้รับอนุญาตฯลฯ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้จัดทําร่างพระบรมราชโองการและร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสร็จเรียบร้อยแล้ว
2.7 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากการกําหนดเขตต่อเนื่องดังกล่าวจะส่งผลกระทบ ต่อประมงรายเล็ก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุม ครั้งที่ 2/2538 (ครั้งที่ 50) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2538 จึงได้มีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) รับไปดําเนินการหามาตรการเพื่อช่วยเหลือชาวประมงรายย่อย ซึ่งได้รับผลกระทบในเรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากมาตรการกําหนดเขตต่อเนื่องในพื้นที่ระหว่าง 12 ถึง 24 ไมล์ทะเล จากชายฝั่ง กรมประมงได้ดําเนินการตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว โดยได้นําข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2538 ซึ่งได้มีมติเห็นชอบให้กําหนดมาตรการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันของชาวประมงขนาดเล็ก โดยให้สามารถซื้อน้ำมันได้ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดลิตรละ 1.20 บาท โดยให้สมาคมประมงจัดตั้งสหกรณ์เพื่อการค้าน้ำมันสําหรับชาวประมง และรับซื้อน้ำมันจากผู้ค้าน้ำมันในราคาต้นทุนซึ่งลดค่าการตลาดลงลิตรละ 0.70 บาท โดยจะขายน้ำมันให้ชาวประมงในราคาต่ำกว่าทุนลิตรละ 0.50 บาท ซึ่งราคาขายน้ำมันของสหกรณ์ที่ขาดทุนนั้นจะได้รับการชดเชยจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ปีละ 350 ล้านบาท ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไข คือ น้ำมันที่จะใช้ต้องเติมสีและสาร (additive) จดทะเบียนเรือประมงที่เป็นสมาชิกทุกลํา เรือประมงทุกลําต้องมีสมุดปูมซึ่งระบุระยะเวลาทําการประมง เส้นทางในการทําการประมง ปริมาณน้ำมันที่เติม และปริมาณปลาที่จับได้ ปริมาณน้ำมันที่จะใช้ 700 ล้านลิตรต่อปี เจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ดําเนินการควบคุมดูแลการรับและขายน้ำมันของสหกรณ์เป็นประจํา
2.8 กระทรวงมหาดไทย ได้มีคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 140/2538 เรื่อง แต่งตั้ง คณะกรรมการอํานวยการป้องกันปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 31 มีนาคม 2538 เพื่อจัดรูปองค์กรในการกํากับและประสานการปฏิบัติงานให้บังเกิดผลอย่างแท้จริง ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการอํานวยการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมัน เชื้อเพลิง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ เพื่อทําหน้าที่กํากับและเร่งรัดการดําเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 2) คณะอนุกรรมการประสานการปฏิบัติป้องกันปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยฝ่ายบริหารเป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อทําหน้าที่กําหนดแนวทาง ประสานการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 3) คณะทํางานป้องกันปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดเป็นประธานคณะทํางาน เพื่อทําหน้าที่ดําเนินการวางมาตรการใช้กําลังป้องกันปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตพื้นที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่องและจริงจังให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี โดยในเดือนมีนาคม 2538 กองบังคับการตํารวจน้ำ กรมตํารวจ สามารถจับกุมผู้กระทําผิดลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทางทะเลได้ จํานวน 3 ราย เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ปริมาณรวม 513,000 ลิตร นอกจากนี้ ทางจังหวัดสระบุรี ได้ทําการตรวจค้นคลังน้ำมันของบริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จํากัด พบว่ามีการจําหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงรวม 3,516,315 ลิตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจึงได้ส่งเรื่องดําเนินคดี และ จังหวัดสตูล สามารถจับกุมน้ำมันลักลอบ จํานวน 24 ถัง รวม 700 ลิตร ได้จากเรือโดยสารที่เดินทางจากมาเลเซียมายังจังหวัดสตูล และในเดือนพฤษภาคม 2538 ศูนย์อํานวยการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย กรมตํารวจ ได้จับกุมเรือประมงดัดแปลงที่ลักลอบค้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 1 ราย เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ปริมาณ 30,000 ลิตร
2.9 กรมตํารวจ ได้มีคําสั่งปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยผิดกฎหมาย ลงวันที่ 17 มีนาคม 2538 เพื่อดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่เนื่องจากภารกิจ ดังกล่าวต้องมีค่าใช้จ่าย ดังนั้น กรมตํารวจจึงได้เสนอต่อ สพช. ให้ช่วยสนับสนุนเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 52,988,364 บาท ซึ่ง สพช. ได้มีหนังสือถึงสํานักงบประมาณเพื่อพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วยแล้ว
มติของที่ประชุม
1. รับทราบรายงานผลความคืบหน้าในการดําเนินการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. เห็นชอบในหลักการ (1) ร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย เพื่อกําหนดเขตต่อเนื่อง ในท้องทะเลบริเวณถัดออกไปจากน่านน้ำอาณาเขตเป็นระยะทางไม่เกิน 24 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง (2) ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และ (3) ร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้การปฏิบัติงานปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรในเขตต่อเนื่องเสนอ โดยมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาตรวจร่างต่อไป
3. เห็นชอบในหลักการให้จัดสรรงบประมาณให้แก่กรมตํารวจ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและ ปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย ในช่วงปีงบประมาณ 2538 และ 2539 ในวงเงิน 52,988,364 บาท ตามที่กรมตํารวจเสนอ โดยให้กรมตํารวจทําความตกลงในรายละเอียดกับสํานักงบประมาณ โดยตรงต่อไป
4. ให้กระทรวงมหาดไทยแก้ไขข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยที่ออกตามความในมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กําหนดแบ่งแยกอํานาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่มีอาณาเขตทางทะเลให้แน่นอนชัดเจน
เรื่องที่ 2 การส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
สรุปสาระสำคัญ
1. ตามที่รัฐบาลได้กําหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535- 2539) ให้ยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินพิเศษที่มีสารตะกั่วเจือปนภายในช่วงปลายของแผนฯ ซึ่งอยู่ในราว เดือนกันยายน 2539 นั้น ในระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการส่งเสริมการจําหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยได้มีการดําเนินการ ดังนี้
1.1 ในเดือนพฤษภาคม 2534 รัฐบาลได้กําหนดให้เริ่มมีการจําหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว โดยสมัครใจ ทั้งนี้ เพื่อรองรับนโยบายให้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลใหม่ขนาดตั้งแต่ 1600 ซีซีขึ้นไปต้องติดตั้ง Catalytic Converter ตั้งแต่ 1 มกราคม 2536 เป็นต้นไป และสําหรับรถยนต์ใหม่ขนาดต่ำกว่า 1600 ซีซี ให้ ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวเช่นกัน ตั้งแต่ 1 กันยายน 2536 เป็นต้นไป
1.2 สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้เร่งติดตามให้มีการกระจาย การจําหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงต่าง ๆ ให้ทั่วถึงทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่ง ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2537 มีจํานวนสถานีบริการที่มีการจําหน่ายน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่ว จํานวน ทั้งสิ้น 3,357 แห่ง ใน 75 จังหวัดทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 70 ของสถานีบริการทั้งหมดทั่วประเทศ
1.3 คณะรัฐมนตรีในการประชุม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537 ได้มีมติอนุมัติตามมติของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2537 (ครั้งที่ 45) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2537 ให้เปลี่ยนแปลงกําหนดเวลาบังคับให้น้ำมันเบนซินธรรมดาเป็นน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วให้เร็วขึ้นกว่าที่ได้กําหนดไว้เดิมที่ให้เป็นน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วในวันที่ 1 มกราคม 2538 ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2537) เรื่อง กําหนดคุณภาพของน้ำมันเบนซิน เพื่อให้น้ำมันเบนซินธรรมดาเป็นน้ำมัน ไร้สารตะกั่วทั้งหมด ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2537 ที่ผ่านมา โดยน้ำมันเบนซินธรรมดาไร้สารตะกั่วดังกล่าวที่ผู้ค้าน้ำมันจําหน่ายจะมีค่าออกเทน 92 RON ซึ่งรถยนต์ใหม่สามารถใช้เติมแทนน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วได้ และช่วยแก้ไขปัญหาการกระจายของสถานีบริการที่จําหน่ายน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วได้อีกด้วย เนื่องจากน้ำมันเบนซินธรรมดาไร้สารตะกั่วมีการจําหน่ายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทุกแห่งทั่วประเทศ
2. สถานการณ์ของน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วล่าสุด มีดังนี้
2.1 ปริมาณการจําหน่าย น้ำมันเบนซินพิเศษและธรรมดาไร้สารตะกั่วในเดือนมีนาคม 2538 มี ปริมาณ 352.13 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมีปริมาณการจําหน่าย 276.42 ล้านลิตร ประมาณ 75.71 ล้านลิตร คิดเป็นร้อยละ 27 โดยเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วมีปริมาณการจําหน่ายประมาณ 333.00 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณจําหน่าย 270.43 ล้านลิตร ประมาณ 62.57 ล้านลิตร คิดเป็นร้อยละ 23 และเบนซินธรรมดาไร้สารตะกั่ว มีปริมาณการจําหน่ายประมาณ 189.47 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณจําหน่าย 183.63 ล้านลิตร ประมาณ 5.84 ล้านลิตร คิดเป็น ร้อยละ 3
2.2 สัดส่วนการจําหน่าย น้ำมันเบนซินพิเศษและธรรมดาไร้สารตะกั่ว รวมกันในเดือนมีนาคม 2538 มีประมาณร้อยละ 67 ของความต้องการใช้น้ำมันเบนซินทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีสัดส่วน ประมาณร้อยละ 61 หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 โดยน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วมีสัดส่วนการจําหน่าย ประมาณร้อยละ 49 ของความต้องการใช้น้ำมันเบนซินพิเศษทั้งหมด
2.3 ปริมาณสารตะกั่ว ผลจากการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณสารตะกั่วที่ปล่อย ออกมาจากยานพาหนะลดลง โดยในเดือนมีนาคม 2538 มีปริมาณสารตะกั่วที่ปล่อยออกมา 26 เมตริกตัน ลดลงจากช่วงปี 2534 ซึ่งเริ่มนําน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วมาใช้ซึ่งมีปริมาณตะกั่ว 120 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 78
2.4 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วจะเพิ่มขึ้น แต่การใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วกลับไม่ลดลงและยังคงมีสัดส่วนการใช้สูงถึงร้อยละ 51 ของการใช้น้ำมันเบนซินพิเศษทั้งหมดในปัจจุบัน ทั้งนี้ มีสาเหตุเนื่องมาจากประชาชนผู้ใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วยังคงมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว โดยเกรงว่าเมื่อใช้แล้วจะทําให้เครื่องยนต์เร่งไม่ขึ้น บ่าวาล์วเสียหาย หรือ เครื่องสะดุด ฯลฯ
3. เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สพช. จึงได้ดําเนินการจัดทําโครงการประชาสัมพันธ์การใช้น้ำมันเบนซิน ไร้สารตะกั่วขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขทัศนคติของประชาชนกลุ่มที่ใช้รถยนต์ซึ่งมีบ่าวาล์วแข็งและสามารถใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วได้ให้กลับมาใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วแทน โดยมีกิจกรรมพอสรุปได้ ดังนี้
3.1 การสัมมนา สพช. ร่วมกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้จัดให้มีการสัมมนาเรื่อง “การยกเลิกน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว : ปัญหาและแนวทางแก้ไข” ขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม 2538 ที่ผ่านมา เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกสาขาและหาแนวทางการดําเนินการไปสู่การยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว ซึ่งจากผลการสัมมนาสรุปได้ว่า ทุกฝ่ายต่างเห็นด้วยให้ยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว และควรเลื่อนระยะเวลาบังคับใช้ให้เร็วขึ้นกว่าเดิมที่กําหนดไว้จากสิ้นปี 2539 เป็นเดือนมกราคม 2539 แทน ทั้งนี้ ในระยะแรกอาจกําหนดให้มีน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วเป็น 2 ชนิด คือน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วในปัจจุบันซึ่งมีสีเขียวที่สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทั่วไปและน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วผสมสารเคลือบ บ่าวาล์วซึ่งจะมีสีเขียวเช่นกัน ซึ่งทางการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จะได้นําออกจําหน่ายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2538 เพื่อใช้กับรถยนต์ซึ่งมีบ่าวาล์วอ่อน รวมทั้ง รถบ่าวาล์วแข็งที่ยังไม่กล้าใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วด้วย แต่ไม่ควรใช้กับรถยนต์ใหม่ที่ติดตั้ง Catalytic Converter เพราะสารเคลือบบ่าวาล์วจะไปเคลือบ Catalytic Converter อาจทําให้หมดสภาพเร็วขึ้นได้เล็กน้อย จึงจําเป็นที่จะต้องกําหนดมาตรการบังคับให้หัวจ่ายน้ำมันชนิดนี้ต้องมีขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 24.50 มิลลิเมตร หรือ 15/16 นิ้ว เท่ากับหัวจ่ายของ น้ำมันเบนซินชนิดมีสารตะกั่วเพื่อป้องกันรถใหม่ที่ติดตั้ง Catalytic Converter เข้าไปเติม
3.2 การประชาสัมพันธ์ สพช. ได้ดําเนินการประชาสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ใช้รถยนต์ที่สามารถใช้ น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วแต่ยังคงใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วอยู่ โดยจัดส่งนักศึกษาออกไปประจําตามสถานี บริการน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตกรุงเทพและปริมณฑล อําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อําเภอหาดใหญ่ จังหวัด สงขลา อําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และอําเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อชี้แจงทําความเข้าใจ
3.3 การออกสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ สพช. ได้จัดให้มีการออกสื่อโฆษณาทางวิทยุและ โทรทัศน์ส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วเพิ่มขึ้น ในช่วง 1 พฤษภาคม 20 มิถุนายน 2538 และขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนทั้งทางหนังสือพิมพ์ นิตยสารและวิทยุ ให้ช่วยเผยแพร่บทความชี้แจงให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วด้วย
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบในหลักการให้มีการยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว โดยให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้า) ร่วมกับ สพช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาในรายละเอียด และดําเนินการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ต่อไป โดยให้มีผลบังคับใช้ประมาณวันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป
2. ให้กรมโยธาธิการแก้ไขประกาศกรมโยธาธิการเกี่ยวกับการกําหนดขนาดของหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการ โดยให้มีข้อยกเว้นสําหรับหัวจ่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วซึ่งผสมสารเคลือบบ่าวาล์วให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายนอกของท่อทางออกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นขนาดใหญ่เท่ากับหัวจ่ายน้ำมันเบนซินที่มีตะกั่วในปัจจุบันคือไม่น้อยกว่า 24.50 มิลลิเมตร หรือ 15/16 นิ้ว
เรื่องที่ 3 ราคาน้ำมันและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ด้วยสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ส่งสําเนาหนังสือกระทรวงพาณิชย์ ด่วนที่สุด ที่ พณ 0405/311 ลงวันที่ 18 มกราคม 2538 เรื่อง ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) พิจารณา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณากําหนดมาตรการกํากับดูแลค่าการตลาดให้เหมาะสม เนื่องจากราคาได้ขยับสูงขึ้นเป็นลําดับ และผู้ค้าน้ำมันมีพฤติกรรมในการกําหนดค่าการตลาดเพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค หากค่าการตลาดยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงหรือมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก จะทําให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงสูงตามไปด้วย อันจะทําให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะเงินเฟ้อ กระทรวงพาณิชย์จึงได้เสนอว่า ควรได้มีการพิจารณากําหนดมาตรการกํากับดูแลค่าการตลาดให้เป็นไปโดยเหมาะสมต่อไป
2. สพช. ได้นําเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 15) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 และคณะกรรมการฯ ได้มีมติรับทราบผลการวิเคราะห์ของ สพช. และมอบหมายให้ สพช. รับไปหารือกับกรมการค้าภายในก่อนนําเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ต่อไป
3. สพช. ได้ประชุมหารือกับกรมการค้าภายใน ตามมติของคณะกรรมการฯ ข้างต้นแล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2538 โดยได้ชี้แจงในรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
3.1 ภายหลังราคาน้ำมันลอยตัวในปี 2534 เป็นต้นมา ราคาขายปลีกเฉลี่ยในแต่ละปีลดลงโดยตลอด ซึ่งการพิจารณารายได้ของผู้ค้าน้ำมันจะพิจารณาเพียงการเปลี่ยนแปลงของค่าการตลาด (Marketing Margin) ไม่ได้ เพราะจะไม่ทําให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของรายได้ทั้งหมด เนื่องจากรายได้จากการจําหน่ายน้ำมัน ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ค่าการกลั่น (Refining Margin) ซึ่งเป็นรายได้ของผู้ผลิตหรือผู้กลั่น และค่าการตลาด (Marketing Margin) ซึ่งเป็นรายได้ของผู้จําหน่ายทุกทอดรวมกัน รวมทั้งสถานีบริการด้วย ดังนั้น หากค่าการตลาดเปลี่ยนแปลงไปในทางสูงขึ้น มิได้หมายความว่าราคาขายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องสูงตามไปด้วยเสมอไป ทั้งนี้ค่าการตลาดก่อนและหลังราคาลอยตัว ไม่สามารถนํามาเปรียบเทียบกันได้โดยตรง เพราะภายหลังการลอยตัวตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา รัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ ซึ่งมีผลกระทบต่อต้นทุนและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงหลายประการ ดังนี้ (1) ต้นทุนของผู้ผลิตหรือนําเข้า เนื่องจากรัฐบาลได้ปรับปรุงข้อกําหนดคุณภาพของน้ำมัน เชื้อเพลิงให้สูงขึ้นเป็นระยะๆ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากยานพาหนะ รวมทั้งฝ่ายผู้ค้าน้ำมันเองก็ได้เพิ่มค่าออกเทนของน้ำมันเบนซินให้สูงขึ้นด้วยความสมัครใจ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วมากขึ้น (2) ต้นทุนของผู้จําหน่าย เนื่องจากรัฐบาลได้กําหนดให้ผู้ค้าน้ำมันเติมสารเติมแต่ง (Additive) ลงในน้ำมันก่อนจําหน่ายเพื่อลดมลพิษในไอเสียของรถยนต์ และเพิ่มอัตราสํารองของน้ำมันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ทําให้ต้นทุนการจําหน่ายสูงขึ้น ดังนั้น ก่อนที่จะทําการเปรียบเทียบราคาและค่าการตลาด ระหว่างก่อนลอยตัวกับหลังลอยตัวจะต้องมีการปรับต้นทุนต่าง ๆ ดังกล่าวเข้าไปในราคาและค่าการตลาดช่วงก่อนลอยตัวเสียก่อน จึงจะสามารถเปรียบเทียบกันได้บนพื้นฐานเดียวกัน โดยผลการเปรียบเทียบพบว่า หากรัฐยังคงควบคุมราคามาจนถึงปัจจุบัน ราคาขายปลีกจะสูงกว่ากรณีราคาลอยตัว โดยค่าการกลั่นและค่าการตลาดรวมกันหลังราคาลอยตัวต่ำกว่าช่วงก่อนราคาลอยตัว ดังนั้นค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ได้มาจากการขึ้นราคาขายปลีก แต่มาจากค่าการกลั่นซึ่งลดลงมากเนื่องจากนโยบายนําเข้าเสรีของรัฐบาล ซึ่งดําเนินการไปพร้อมกับการปล่อยราคาลอยตัว ทําให้โรงกลั่นน้ำมันมีอํานาจต่อรองราคาลดลงและสูญเสียรายได้ที่เคยได้รับให้แก่ผู้จําหน่ายในรูปของค่าการตลาดที่สูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้นก็มิได้ตกเป็นผลกําไรแก่ผู้จําหน่ายทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งเป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มสํารองและการเติมสารเติมแต่ง คงเหลือเป็นกําไรที่เพิ่มขึ้นสําหรับน้ำมันเบนซินพิเศษประมาณลิตรละ 25 สตางค์ และสําหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลิตรละ 22 สตางค์ ซึ่งแม้ในส่วนนี้ผู้บริโภคก็มีส่วนได้รับประโยชน์ด้วยดังนี้ (1) สภาพการแข่งขันในระดับการค้าปลีกเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยจํานวนสถานีบริการเพิ่มขึ้น และมีผู้ลงทุนจัดตั้งสถานีบริการภายใต้เครื่องหมายการค้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ในด้านราคาจําหน่าย ซึ่งโดยทั่วไปจะตั้งราคาต่ำกว่าสถานีบริการของผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ สภาพของสถานีบริการ ทั้งด้านความปลอดภัย ความสะอาดและการบริการที่ดีขึ้น และในระยะยาวการแข่งขันระหว่างสถานีบริการที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จะทําให้อัตราค่าการตลาดลดลง (2) ช่วยให้เกิดการขยายตัวของการจําหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วไปยังภูมิภาคต่าง ๆ อย่างทั่วถึงในระยะเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากค่าการตลาดอยู่ในระดับสูงพอสมควร จึงจูงใจให้มีการนําไปจําหน่ายได้ (3) ผลประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมในเมือง กล่าวคือ คุณภาพอากาศในเมืองดีขึ้น โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร อันเนื่องมาจากการที่น้ำมันมีคุณภาพดีขึ้นตามข้อกําหนดใหม่ที่เคร่งครัดมากขึ้น
3.2 ผลกระทบจากการลดลงอย่างมากของค่าการกลั่น (Refining Margin) ในช่วงหลังราคาลอยตัวทําให้ผู้ค้าน้ำมันเล็งเห็นว่าในอนาคตค่าการกลั่นและค่าการตลาดที่ได้รับ จะผันแปรตามราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งไม่แน่นอน หากต้องการจะให้ผลประโยชน์ที่ได้รับมีความแน่นอนมากขึ้น จะต้องได้รับทั้งค่าการกลั่นและค่าการตลาดรวมกัน แนวความคิดดังกล่าวทําให้ผู้ค้าน้ำมันเริ่มขยายกิจการให้มีลักษณะกลั่นเองและจําหน่ายเองมากขึ้น เช่น บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จํากัด และบริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) จํากัด ซึ่งปัจจุบันซื้อ น้ำมันจากบริษัท ไทยออยล์ จํากัด ได้ขออนุญาตจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันของตนเองขึ้นโดยแยกกิจการเป็นบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จํากัด และบริษัท สตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง จํากัด ตามลําดับ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น เกิดประโยชน์ต่อประเทศในด้านความมั่นคงของการจัดหา โดยประเทศไทยพึ่งพาการนําเข้าน้อยลง มีความเสี่ยงภัยต่อการขาดแคลนน้ำมันน้อยลง และในอนาคตหากมีการจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันเพื่อการส่งออก ก็จะทําให้ประเทศไทยเริ่มเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานยิ่งขึ้น และหากรัฐบาลยังคงควบคุมราคาขายปลีกมาจนถึงปัจจุบัน การขยายตัวด้านกําลังการกลั่นน้ำมันในประเทศดังกล่าวข้างต้นอาจไม่เกิดขึ้น
3.3 ในการปล่อยให้ราคาน้ำมันลอยตัว รัฐบาลได้คํานึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภคและได้กําหนด มาตรการไว้เรียบร้อยแล้ว โดยคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ได้มีมติให้มีการกํากับดูแล การกําหนดราคาจําหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ณ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศ ซึ่งมีสาระสําคัญสรุปได้ ดังนี้ (1) การรักษาระดับราคา ให้ ปตท. บริษัทบางจาก และผู้ค้าน้ำมันสอดส่องดูแลมิให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่แสดงเครื่องหมายการค้าของตน จําหน่ายน้ำมันในราคาสูงกว่าที่ผู้ค้าน้ำมันกําหนด (2) การรับแจ้งราคา ให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงในแต่ละจังหวัดแจ้งราคาจําหน่าย ณ วันที่ 15 ของทุกเดือนต่อสํานักงานพาณิชย์จังหวัดและสํานักงานพาณิชย์จังหวัดแจ้ง สพช. เพื่อวิเคราะห์และประเมินการเคลื่อนไหวของราคาขายปลีกและค่าการตลาด (3) การติดตามราคา ให้จังหวัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบดูแลการกําหนดราคาขายปลีกของ สถานีบริการในจังหวัด ในการพิจารณาว่าระดับราคาสูงเกินความเหมาะสมหรือไม่ ให้ดูจากราคาของสถานีบริการ ปตท. ข้างเคียง โดยความแตกต่างของราคาไม่ควรเกินลิตรละ 20 สตางค์ หรือใช้ราคาจําหน่ายใน กทม. ที่ผู้ค้าน้ำมันแจ้งบวกด้วยค่าขนส่งไปยังจังหวัดนั้นแทนราคา ปตท. ข้างเคียงก็ได้ (4) การดําเนินการ หากพบสถานีบริการที่จําหน่ายน้ำมันในราคาเกินเหมาะสมให้จังหวัดแจ้งกรมการค้าภายในและ สพช. เพื่อแจ้งให้ผู้ค้าน้ำมันเจ้าของเครื่องหมายการค้าดําเนินการให้ลดราคาลง หรือให้ ปตท. แทรกแซงราคา หากไม่สามารถแก้ไขได้ ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดกําหนดราคาสินค้าและป้องกัน การผูกขาดพิจารณาแก้ไขโดยใช้อํานาจตามกฎหมาย นอกจากนั้น สพช. ร่วมกับ ปตท. ได้เดินทางไปสํารวจสภาพการแข่งขันของสถานีบริการในท้องที่ห่างไกลในทุกภูมิภาคเป็นระยะตลอดมา เพื่อให้ทราบว่ามีการกําหนดราคาจําหน่ายสูงเอาเปรียบผู้บริโภค หรือไม่ โดยได้เชิญให้ผู้ค้าน้ำมันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมการค้าภายใน และกรมทะเบียนการค้าให้ส่งผู้แทนร่วมเดินทางไปด้วยทุกครั้ง
3.4 ผลการดําเนินการกํากับดูแลราคาและค่าการตลาดในปี 2537 ที่ผ่านมาพอสรุปได้ ดังนี้ (1) ปตท. บริษัทบางจาก และผู้ค้าน้ำมันได้สอดส่องดูแลการกําหนดราคาขายปลีกของสถานีบริการทั่วประเทศตามมติคณะรัฐมนตรีได้เป็นอย่างดี โดยสํานักงานพาณิชย์จังหวัด และ สพช. ตรวจพบ สถานีบริการซึ่งจําหน่ายน้ำมันในราคาสูงเกินเหมาะสมน้อยรายมาก จากจํานวนสถานีบริการทั่วประเทศโดยเฉลี่ย ในปี 2537 ทั้งหมด 4,768 ราย พบโดยเฉลี่ยเดือนละ 112 ราย หรือร้อยละ 2.4 สถานีบริการดังกล่าวมิได้กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทุกภาค ทําให้ผู้บริโภคไม่เดือดร้อนเพราะสามารถซื้อจากสถานีบริการอื่นที่อยู่ข้างเคียงได้ อย่างไรก็ดีเมื่อตรวจพบผู้ค้าน้ำมันก็ได้ให้ความร่วมมือในการดําเนินการให้สถานีบริการลดราคาจําหน่ายลงอย่างรวดเร็ว (2) นอกจากการกํากับดูแลมิให้ราคาขายปลีกของสถานีบริการสูงเกินเหมาะสมแล้ว สพช. ยังได้กํากับดูแลระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงของราคาขายปลีกตามราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นด้วย ซึ่งปรากฏว่าการ เปลี่ยนแปลงของราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินพิเศษและเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วอยู่ในลักษณะ “ขึ้นเร็วลงช้า” สพช. ได้นําเสนอปัญหาดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วมีมติให้ ปตท. และบริษัทบางจาก ปรับปรุงกลไกการกําหนดราคาขายปลีก ณ สถานีบริการให้สามารถปรับปรุงราคาขายปลีกตามราคาขายส่งได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และให้เจ้าหน้าที่สามารถดําเนินการไปได้โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหาร เพื่อให้มีความคล่องตัว ผลปรากฏว่าช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ โดยราคาขายปลีก ณ สถานีบริการของน้ำมันเบนซินพิเศษทั้ง 2 ชนิดเปลี่ยนแปลงตามราคาขายส่งในลักษณะ “ขึ้นเร็วลงเร็ว” โดย สพช. เห็นว่ามาตรการกํากับดูแลราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่รัฐกําหนดไว้ในปัจจุบันเหมาะสมดีแล้ว กล่าวคือช่วยให้ราคาจําหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในระดับที่เหมาะสมและสะท้อนถึงราคาในตลาดโลก รวมทั้งค่าการตลาดที่ผู้ค้าน้ำมันได้รับก็มิได้เพิ่มสูงขึ้นมากเกินสมควร เมื่อคํานึงถึงต้นทุนการผลิตจําหน่ายที่เพิ่มขึ้นจากกฎเกณฑ์ของรัฐ และผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากความปลอดภัย ความสะอาดและบริการที่ดีขึ้นของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเห็นได้ชัดเจน จึงไม่จําเป็นต้องมีการทบทวนมาตรการกํากับดูแลดังกล่าวแต่อย่างใด
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการวิเคราะห์ของ สพช. เกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง
2. เห็นชอบให้ สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และ กรมการค้าภายใน ร่วมกัน พิจารณาปรับปรุงมาตรการในการกํากับดูแลการกําหนดราคาน้ำมันและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง ให้มีความ เหมาะสมยิ่งขึ้น
3. ให้กรมโยธาธิการเร่งดําเนินการในการออกประกาศกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันขนาดเล็กเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในการขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไปแล้ว
เรื่องที่ 4 รายงานสถานการณ์ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า (ปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ)
สรุปสาระสำคัญ
1. เขตการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2538 ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขต กฟน. ประสบปัญหาจํานวนไฟฟ้าดับถาวรเฉลี่ย 1.83 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟหนึ่งราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม บางเขตยังมีปัญหาไฟฟ้าดับค่อนข้างสูง เช่น เขตบางใหญ่ และเขตบางพลี
2. เขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2538 จํานวนไฟฟ้าดับ ถาวรอยู่ในระดับ 3.87 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟหนึ่งราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเล็กน้อย เขตที่มีปัญหามาก เป็นเขตทางภาคใต้ สาเหตุมาจากต้นยาง เขตที่มีปัญหารองลงมาคือ เขตภาคกลาง เนื่องจากเป็นเขตที่มีการใช้ ไฟฟ้าสูง อุปกรณ์ไฟฟ้าชํารุดบ่อยและปัญหารถชนเสาไฟฟ้า
3. ในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีส่วนทําให้ระบบไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ. ขัดข้องนั้น ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2538 ปัญหาไฟฟ้าดับที่เป็นผลมาจาก กฟผ. ลดน้อยลง โดยสามารถคิดเป็นเวลาที่ระบบไฟฟ้าหยุดจ่ายไฟ ประมาณ 22.9 นาที ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 13.5
4. การแก้ไขปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ของคณะกรรมการปรับปรุงความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นแกนนํา ได้มีการประสานงานกันระหว่างการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และมีการปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้ดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน ทําให้ระบบไฟฟ้าของประเทศดีขึ้น
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ได้มีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ ในเรื่องข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยกําหนดให้ กรมสรรพสามิตติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าออกจากคลังและมาตรวัดน้ำมันคงเหลือแบบ Automatic Level Gauge ในคลังน้ำมันชายฝั่งทุกแห่ง และให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดผนึกมิให้เปิดเครื่องเข้าไปแก้ไขสัญญาณ ได้ และให้มีการรายงานผลการดําเนินงานการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงต่อคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมทุกครั้ง
2. ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2538 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2538 จากการรายงานผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการฯ ปรากฏว่ามีคลังน้ำมันบางแห่งไม่อยู่ในความควบคุมของกรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) รับไปรวบรวมจํานวนและรายชื่อคลังน้ำมันที่ไม่อยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยราชการใด เพื่อ กําหนดมาตรการในการควบคุมดูแลการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และให้นําเสนอคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติต่อไป
3. สพช. ได้ดําเนินการตามมติแล้ว โดยได้หารือร่วมกับกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมสรรพากร และกรมโยธาธิการ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 และจัดทําข้อเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้า น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานในการประชุม ครั้งที่ 2/2538 (ครั้งที่ 16) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2538 เพื่อพิจารณาสรุปได้ ดังนี้
3.1 ในข้อเท็จจริงแล้วไม่น่าจะมีคลังน้ำมันใดที่ไม่อยู่ในความควบคุมดูแลของทางราชการ เนื่องจากคลังน้ำมันทุกคลังต้องได้รับอนุญาตจากกรมโยธาธิการ ซึ่งเป็นพื้นฐานสําหรับควบคุมดูแลด้านความ ปลอดภัยของสถานที่เก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกแห่ง และนอกจากนี้ถ้าคลังใดเป็นคลังน้ำมันนําเข้าจะต้องอยู่ในความดูแลของกรมศุลกากรเพื่อควบคุมการชําระอากรขาเข้า หรือถ้าคลังใดมีการดําเนินการตามกฎหมาย สรรพสามิต เช่น มีการเติมสารเติมแต่ง ก็จะต้องอยู่ในความดูแลของกรมสรรพสามิตในฐานะดําเนินการผลิตอีกด้วย
3.2 ในปัจจุบันมีคลังน้ำมันชายฝั่งรวมทั้งสิ้น 71 แห่ง แต่อยู่ในความดูแลของกรมสรรพสามิต และสามารถติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้เพียง 40 แห่ง ส่วนอีก 31 แห่ง กรมสรรพสามิตไม่มีอํานาจเข้าไปติดตั้งมาตรวัดได้ เนื่องจากกรมสรรพสามิตมีอํานาจติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 เฉพาะคลังน้ำมันที่เข้าลักษณะเป็น “โรงอุตสาหกรรม” คือ คลังน้ำมันของโรงกลั่นน้ำมัน และคลังน้ำมันที่มีการเติมสารเติมแต่ง (Additive) เท่านั้น จึงทําให้มีช่องโหว่ให้มีการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ และทําให้การแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าตามมติคณะรัฐมนตรีไม่ได้ผล อย่างไรก็ตามคลังชายฝั่งทั้ง 31 แห่ง นั้น มีคลังน้ำมันที่ควรจะต้องติดตั้งมาตรวัดจํานวน 10 แห่ง โดยให้กรมโยธาธิการดําเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคลังที่สมควรติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงให้แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง
3.3 คลังน้ำมัน 10 แห่งดังกล่าว อาจใช้อํานาจตามกฎหมายของกรมสรรพากรกําหนดให้ติดตั้ง มาตรวัดได้ แต่เนื่องจากอํานาจของกรมสรรพากรไม่ใช่อํานาจบังคับให้ติดตั้ง แต่เป็นการกําหนดเป็นทางเลือก หนึ่งให้เจ้าของคลังน้ำมันเลือกที่จะใช้การติดมาตรวัดเป็นอุปกรณ์ในการรายงานข้อมูลการรับจ่ายและคงเหลือ ของน้ำมันในคลังต่อกรมสรรพากร โดยเจ้าของคลังน้ำมันทุกคลังมีสิทธิเลือกและไม่ได้จํากัดเฉพาะคลัง 10 แห่ง ดังกล่าว อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรอาจส่งเสริมให้เจ้าของคลังน้ำมันยอมรับการติดมาตรวัดให้มากขึ้นได้ โดยใช้ หลักการว่าคลังใดติดมาตรวัดจะถือว่ามีระบบควบคุมที่ดี กรมสรรพากรจะเข้าไปตรวจสอบภาษีอากรน้อยกว่า คลังที่ไม่ได้ติดมาตรวัด
4. เพื่อให้มาตรการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงในคลังน้ำมันชายฝั่งกระทําได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เห็นควรกําหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม สําหรับคลังน้ำมันที่กรมสรรพสามิต ไม่มีอํานาจติดตั้งมิเตอร์ได้เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้
4.1 ให้กรมสรรพสามิตและกรมสรรพากรรับไปดําเนินการให้มีการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ในคลังน้ำมันที่กรมสรรพสามิตไม่มีอํานาจติดตั้ง โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายของกรมสรรพากรตามแนวทาง ข้างต้น โดยให้เน้นการติดตั้งมาตรวัดในคลังน้ำมันซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งก่อน
4.2 ให้กรมโยธาธิการติดตามข้อมูลการก่อสร้างคลังน้ำมันชายฝั่ง หากมีคลังน้ำมันที่ก่อสร้างเสร็จเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันให้แจ้งกรมสรรพสามิตและกรมสรรพากรทราบ เพื่อดําเนินการให้มีการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป
มติของที่ประชุม
1. ให้กรมสรรพสามิต และกรมสรรพากรรับไปดําเนินการให้มีการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงในคลังน้ำมันที่กรมสรรพสามิตไม่มีอํานาจติดตั้ง โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายของกรมสรรพากรในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ให้เน้นการติดตั้งมาตรวัดในคลังน้ำมันซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งก่อน
2. ให้กรมโยธาธิการติดตามข้อมูลการก่อสร้างคลังน้ำมันชายฝั่งหากมีคลังน้ำมันที่ก่อสร้างเสร็จเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันให้แจ้งกรมสรรพสามิตและกรมสรรพากร เพื่อดําเนินการให้มีการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อไป
เรื่องที่ 6 การขออนุมัติในหลักการให้ กฟผ. ขายโรงไฟฟ้าขนอม
สรุปสาระสำคัญ
1. ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2534 และวันที่ 12 กันยายน 2535 ได้มีมติ กําหนดแนวทางการดําเนินงานในอนาคตของ กฟผ. และการเพิ่มบทบาทของเอกชนในการผลิตและจําหน่ายไฟฟ้า ซึ่ง กฟผ. ได้ดําเนินการตามมติดังกล่าวแล้ว โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผลิตไฟฟ้า จํากัด (บผฟ.) ขึ้น ซึ่งต่อมา แปรรูปเป็นบริษัทมหาชน จํากัด เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2537 และได้ขายโรงไฟฟ้าระยองให้แก่บริษัทผลิตไฟฟ้า ระยอง จํากัด (บฟร.) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บผฟ. รวมทั้งจัดทําสัญญาซื้อขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าระยอง โดยให้สิทธิ (Option) แก่ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. เจรจาซื้อโรงไฟฟ้าขนอมจาก กฟผ. ได้ ต่อมาฝ่ายบริหารฯ กฟผ. ได้นําเรื่องการขายโรงไฟฟ้าขนอมเสนอคณะกรรมการ กฟผ. พิจารณา ในการประชุม ครั้งที่ 5/2538 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2538 และมีมติอนุมัติในหลักการให้ขายโรงไฟฟ้าขนอม ทั้งหมดจํานวน 824 เมกะวัตต์ แก่ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. และให้ฝ่ายบริหารฯ ดําเนินการตามที่เสนอ ซึ่งในการดําเนินการดังกล่าว จําเป็นต้องขออนุมัติและขอรับการสนับสนุนในหลักการจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้สามารถดําเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ได้ครบถ้วนภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 กฟผ. จึงเสนอเรื่องให้สํานักนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณา เมื่อสํานักนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว จึงส่งเรื่องดังกล่าวมายังสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ สํานักนายกรัฐมนตรีได้นําเรียนรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายกร ทัพพะรังสี) ผู้สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี สําหรับ กฟผ. พิจารณาแล้ว ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาก่อนนําเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการต่อไป
2. ขั้นตอนในการดําเนินการซื้อขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม มีขั้นตอนหลัก ดังนี้
2.1 การขออนุมัติในหลักการจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ กฟผ. ดําเนินการขายทรัพย์สินของ โรงไฟฟ้าขนอมกับ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. และการขอแต่งตั้งคณะกรรมการประเมิน ราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจําหน่ายกิจการ หรือหุ้นที่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504
2.2 การเจรจาในรายละเอียดของสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอมและสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม ทั้งนี้ รวมถึงวิธีการประเมินราคาทรัพย์สิน ผลการประเมินราคาทรัพย์สิน วิธีการกําหนดอัตราค่าไฟฟ้า อัตราค่าไฟฟ้าและเงื่อนไขอื่น ๆ
2.3 การขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีขั้นสุดท้าย เพื่อให้มีการซื้อขายโรงไฟฟ้าขนอมเกิดขึ้น
3. สัญญาต่าง ๆ ประกอบด้วย
3.1 สัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม จะใช้สาระสําคัญตามสัญญาซื้อขายทรัพย์สิน ของโรงไฟฟ้าระยองระหว่าง กฟผ. กับ บฟร. เป็นแนวทางในการจัดทําสัญญาทรัพย์สินที่จะซื้อจะขาย คือ โรงไฟฟ้าขนอม ที่ดินและทรัพย์สินอื่น ๆ โดยจะซื้อขายในราคาที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
3.2 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม จะใช้สาระสําคัญตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่ง ผลิตจากโรงไฟฟ้าระยอง ระหว่าง กฟผ. กับ บฟร. เป็นแนวทางในการจัดทําสัญญา
4. การประเมินราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอมจะดําเนินการตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจําหน่ายกิจการหรือหุ้นที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504 หลังจากได้รับความเห็น ชอบในหลักการจาก ครม. แล้ว ทั้งนี้การประเมินราคาทรัพย์สินจะกระทําให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อให้การโอน ทรัพย์สินสามารถกระทําได้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 ตามกําหนดการ
5. การกําหนดอัตราค่าไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ตามลักษณะของต้นทุน ดังนี้ (1) ค่าความพร้อมผลิตไฟฟ้า (Availability Payment) คิดตามความพร้อมผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า เพื่อให้เพียงพอกับต้นทุนคงที่ของโรงไฟฟ้า และผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น โดยไม่ขึ้นกับปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ กฟผ. สั่งผลิต ต้นทุนคงที่ดังกล่าว ได้แก่ ค่าชําระคืนเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าบํารุงรักษาหลัก ค่าใช้จ่ายคงที่ในการผลิตและบํารุงรักษา และค่าประกันภัย เป็นต้น (2) ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Charge) คิดตามปริมาณพลังงานไฟฟ้าซึ่งได้ผลิตตามคําสั่งของ กฟผ. เพื่อให้เพียงพอกับต้นทุนผันแปร อันได้แก่ ค่าเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายผันแปรในการผลิตและบํารุงรักษา โดยไม่มีการตั้งเกณฑ์กําไรในส่วนของค่าพลังงานไฟฟ้า โดยปัจจัยสําคัญที่มีส่วนในการกําหนดอัตราค่าไฟฟ้า ได้แก่ ราคาขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม สาระสําคัญของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม ความต้องการผลตอบแทนของผู้ลงทุนใน บผฟ. อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ระยะเวลาคืนเงินกู้ อายุใช้งานของโรงไฟฟ้า ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า และสิทธิประโยชน์ ที่พึงได้รับจากการส่งเสริมการลงทุนโดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีอื่นใดตามที่กฎหมายอนุญาต โดยผลประโยชน์จูงใจที่สําคัญของ บผฟ. คือ บผฟ. จะมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมผลิตไฟฟ้าที่ได้ตกลงล่วงหน้า ระบบจูงใจนี้จะส่งผลให้ บผฟ. พัฒนาคุณภาพงานแบบธุรกิจเอกชน และสร้างความมั่นคงแก่ระบบผลิตไฟฟ้าโดยรวม
6. การขออนุมัติและการขอรับการสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรี
6.1 ขั้นตอนที่ 1 : การขออนุมัติและการขอรับการสนับสนุนในหลักการจากคณะรัฐมนตรี ในการดําเนินการเบื้องต้นนั้น กฟผ. จําเป็นต้องขออนุมัติและขอรับการสนับสนุนในหลักการจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้สามารถดําเนินการต่าง ๆ ที่จําเป็นได้ครบถ้วน ภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 ดังนี้
(1) ขออนุมัติในหลักการให้ กฟผ. ขายโรงไฟฟ้าขนอม (ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 1 ชุด ขนาด 674 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 2 เครื่อง ขนาด 2 x 75 เมกะวัตต์ รวมเป็นกําลังผลิตติดตั้งทั้งหมด 824 เมกะวัตต์) แก่ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. โดยใช้สาระสําคัญตามสัญญาซื้อขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าระยองระหว่าง กฟผ. กับ บฟร. เป็นแนวทางในการจัดทําสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม
(2) ขออนุมัติในหลักการให้ กฟผ. ซื้อไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม ซึ่งดําเนินกิจการ โดย บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. โดยใช้สาระสําคัญตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งผลิตจาก โรงไฟฟ้าระยองระหว่าง กฟผ. กับ บฟร. เป็นแนวทางในการจัดทําสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม
(3) ขออนุมัติให้ กฟผ. ทําสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สิน และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รวมทั้ง สัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายและการประกอบการโรงไฟฟ้าขนอมเป็นภาษาอังกฤษ
(4) ขอให้คณะรัฐมนตรีกำหนดนโยบายให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาในการ ส่งเสริมการลงทุนแก่ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. โดยให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีอื่น ๆ เป็นระยะเวลาสูงสุดตามที่กฎหมายอนุญาต
(5) ขอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจําหน่ายกิจการหรือหุ้นที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504 โดยขอให้แต่งตั้งผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และผู้แทน กฟผ. ร่วมเป็นกรรมการฯ ด้วย แล้วนําผลการประเมินราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยเสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
(6) ขอการสนับสนุนให้หน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ความอนุเคราะห์ให้ความร่วมมือ และอํานวยความสะดวกในการขอรับการอนุมัติและใบอนุญาตต่างๆ ที่จําเป็นในการซื้อขายและการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าขนอม เพื่อให้ทันกําหนดการโอนทรัพย์สิน ภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 ดังนี้
- ขอให้สํานักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมพิจารณาอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าขนอม และท่าเทียบเรือ
- ขอให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ สิ่งแวดล้อม พิจารณาอนุมัติออกใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุมในส่วนของ โรงไฟฟ้าขนอมให้ กฟผ. และโอนใบอนุญาตดังกล่าวให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือ บริษัทในเครือของ บผฟ.
- ขอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาอนุมัติออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานในโรงไฟฟ้าขนอมให้ กฟผ. และโอนใบอนุญาตดังกล่าวให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. ต่อไป
- ขอให้กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย พิจารณาอนุมัติออกสัมปทานในการประกอบ กิจการไฟฟ้าในส่วนของโรงไฟฟ้าขนอมให้ กฟผ. และโอนใบอนุญาตดังกล่าว ให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. เป็นระยะเวลา 25 ปี
- ขอให้กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทยพิจารณาอนุมัติออกใบอนุญาตตั้งถังน้ำมัน เชื้อเพลิง และเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของโรงไฟฟ้าขนอมให้ กฟผ. และโอน ใบอนุญาตดังกล่าวให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือ บริษัทในเครือของ บผฟ.
- ขอให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติให้ กฟผ. โอนสิทธิการเช่าที่ ราชพัสดุ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินอันเป็นบริเวณของโรงไฟฟ้าขนอมให้แก่ บฟร หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. ได้และให้กรมธนารักษ์เร่งดําเนินการต่าง ๆ ที่จําเป็นเพื่อให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือ บริษัทในเครือของ บผฟ. สามารถเช่าที่ราชพัสดุนั้น เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าอายุสัมปทานประกอบกิจการไฟฟ้า
- ขอให้กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พิจารณาอนุมัติออกใบอนุญาตให้ กฟผ. และโอนใบอนุญาตดังกล่าวให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือ บริษัทในเครือของ บผฟ. ต่อไป เพื่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลําน้ำได้ คือ เทียบเรือใน บริเวณโรงไฟฟ้าขนอมและฝายกั้นน้ำในคลองท่าตก ซึ่งยกระดับน้ำเพื่อสูบเข้าอ่างเก็บน้ำดิบสําหรับโรงไฟฟ้าขนอม
- ขอให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาอนุมัติให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัท ในเครือของ บผฟ. ใช้น้ำจากคลองท่าตกและทางน้ำสาธารณะอื่นในกิจการโรงไฟฟ้าขนอมได้
- ขอให้กรมที่ดินและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการดําเนินการเพิกถอนสภาพทางสาธารณะและลํารางสาธารณะ ซึ่งอยู่ในบริเวณโรงไฟฟ้าขนอม และอ่างเก็บน้ำ ซึ่งส่งให้แก่โรงไฟฟ้าขนอม และขายที่ดินอันเป็นทางสาธารณะที่ถูกเพิกถอนให้แก่ กฟผ.
- ขอให้กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือ บริษัทในเครือของ บผฟ. ใช้ที่ดินในบริเวณเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาชัยสน ได้เช่นเดียวกับที่ กฟผ. ขอใช้อยู่ในปัจจุบัน
6.2 ขั้นตอนที่ 2 : การขออนุมัติขั้นสุดท้ายจากคณะรัฐมนตรี ภายหลังจากการดําเนินการตามขั้นตอนที่ 1 และการจัดร่างสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอมเสร็จแล้ว ยังมีขั้นตอนการขออนุมัติจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีขั้นสุดท้ายดังนี้
(1) การขออนุมัติราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอมที่ กฟผ. จะขายและโอนให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. ตามสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม และการขออนุมัติอัตราค่าไฟฟ้าอันกําหนดโดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม
(2) การขออนุมัติให้ กฟผ. ขายและโอนโรงไฟฟ้าขนอมให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือ บริษัทในเครือของ บผฟ. ได้ตามร่างสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม และการขออนุมัติให้ กฟผ. ซื้อไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอมได้ตามร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม
มติของที่ประชุม
เห็นชอบในหลักการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ขายโรงไฟฟ้าขนอมให้แก่บริษัทผลิตไฟฟ้า จํากัด หรือบริษัทในเครือของบริษัทผลิตไฟฟ้า จํากัด ตามขั้นตอนการขออนุมัติและการขอรับการสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรี
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2534 อนุมัติข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ โดยมอบหมายให้บริษัท การบินไทย จํากัด(มหาชน) เป็นแกนกลางในการลงทุนโครงการขนส่งน้ำมันทางท่อ บางจาก-ดอนเมือง และให้ถือเป็นโครงการเร่งด่วน พร้อมทั้งกําหนดโครงสร้างของผู้ถือหุ้นของโครงการ และต่อมาได้มีการจัดตั้งบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด (Fuel Pipeline Transportation Limited : FPT) ขึ้น
2. ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2535 อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นอยู่ในบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด เพิ่มทุนจดทะเบียนในบริษัทฯ จาก 200 ล้านบาท เป็น 440 ล้านบาท ได้ตามอัตราส่วนการร่วมทุนของแต่ละรัฐวิสาหกิจ ตามข้อเสนอของ บริษัทฯ ที่ให้มีการขยายท่อขนส่งน้ำมันจากดอนเมืองไปจนถึงบางปะอิน
3. บริษัท FPT เพิ่มการลงทุนอีกครั้งหนึ่งโดยการสร้างคลังรับและจ่ายน้ำมันที่บางปะอินและเชียงรากน้อย เพื่อให้จ่ายน้ำมันได้ทั้งทางรถยนต์และรถไฟโดยไม่มีการเพิ่มทุน ในขณะที่ธนาคารไม่สามารถเปลี่ยนเงินกู้ระยะสั้นเป็นเงินกู้ระยะยาวได้ เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินเกิน 4 ต่อ 1 ตามที่กําหนดไว้ในสัญญา และบริษัทฯ ยังขาดเงินสดจากการก่อสร้างอีก 295 ล้านบาท ทําให้บริษัทฯประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินทั้งใน ระยะสั้นและระยะยาว บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด จึงจําเป็นต้องเพิ่มทุนอีกครั้งหนึ่งจาก 440 ล้านบาท เป็น 1,330 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่อีกจํานวน 8.9 ล้านหุ้น มีมูลค่าหุ้นละ 100 บาท
4. ปัญหาของผู้ถือหุ้นบริษัท FPT มีดังนี้
4.1 ผู้ถือหุ้นของ FPT บางส่วนเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ก่อนจึงจะเพิ่มทุนจดทะเบียนใน FPT ได้
4.2 ผู้ถือหุ้นของ FPT ที่มีปัญหาดังกล่าวมี 2 รายคือ
(1) บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ซึ่งคณะกรรมการบริหารของบริษัทฯ มีมติให้เพิ่มการถือหุ้นในบริษัท FPT จาก 44 ล้านบาท เป็น 133 ล้านบาท เพื่อคงสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท FPT ไว้ร้อยละ 10 ตามเดิม แต่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลานาน
(2) บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จํากัด (BAFS) ต้องการเพิ่มการถือหุ้นใน บริษัท FPT จากเดิมร้อยละ 10 เป็นไม่เกินร้อยละ 34.5
5. เนื่องจากปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท FPT จําเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน แต่บริษัท FPT ยังไม่สามารถรับความช่วยเหลือในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือที่เป็นบริษัทซึ่งมีรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ถือหุ้นได้ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เสียก่อน ดังนั้นผู้ถือหุ้นของบริษัท FPT 2 ราย คือ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) และบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จํากัด จึงได้มีหนังสือขอให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เร่งดําเนินการนําเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นการเร่งด่วน ดังนี้
5.1 ให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท FPT อีก 89 ล้านบาท เพื่อให้มีหุ้นเพิ่มจากเดิม 44 ล้านบาทเป็น 138 ล้านบาท ซึ่งจะทําให้มีสัดส่วนการถือหุ้นคงเดิมคือร้อยละ 10
5.2 ให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท BAFS 3 รายคือ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) การปิโตรเลียม แห่งประเทศไทย และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย นําเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท BAFS มาซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินวงเงินปันผลที่ได้รับ
6. สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้มีหนังสือสอบถามความเห็นไปยัง กระทรวงคมนาคมและกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวแล้ว โดยกระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) เพิ่มทุนในบริษัท FPT จาก 44 ล้านบาท เป็น 133 ล้านบาท และได้นําเรื่องนี้เสนอคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน เพื่อพิจารณาในการประชุม ครั้งที่ 2/2538 (ครั้งที่ 16) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2538 โดยที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า การขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นกิจการที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ปัญหามลภาวะเป็นพิษ จากยานพาหนะ รวมทั้งเพื่อลดอุบัติภัยจากการขนส่งทางรถบรรทุกและรถไฟในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัด ใกล้เคียง แต่ทั้งนี้ ควรหารือกระทรวงการคลังเพื่อขอความเห็นชอบก่อนนําเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและให้นําเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่ง สพช. ได้มีหนังสือสอบถามความเห็นจากกระทรวงการคลัง เพื่อประกอบการพิจาณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติแล้ว โดยกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท FPT อีก 89 ล้านบาท และเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย นําเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท BAFS ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ไม่เกินวงเงินปันผลที่ได้รับ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด อีก 89 ล้านบาท เพื่อให้มีหุ้นเพิ่มจากเดิม 44 ล้านบาท เป็น 133 ล้านบาท
2. เห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย นําเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จํากัด กลับมาซื้อหุ้นของ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จํากัด ได้ไม่เกินวงเงินปันผลที่ได้รับ
กพช. ครั้งที่ 49 วันพุธที่ 11 มกราคม 2538
มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 49)
วันพุธที่ 11 มกราคม 2538
1. รายงานสถานการณ์ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า (ปัญหาไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับ)
2. ผลการดําเนินงานของการขนส่งน้ำมันทางท่อ
3. ผลการดําเนินงานในการลดปริมาณกํามะถันในน้ำมันเตา
4. รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าการตลาด
5. ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว
6. ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปของ IPP
7. โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
8. ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
9. ข้อเสนอเพิ่มเติมในการปรับปรุงกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(นายชวน หลีกภัย)
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
(นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์)
เรื่องที่ 1 รายงานสถานการณ์ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า (ปัญหาไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับ)
สรุปสาระสำคัญ
รายงานสถานการณ์ไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับในช่วงปีงบประมาณ 2537 ที่ผ่านมา ดังนี้
1. เขตการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในช่วงปีงบประมาณที่ผ่านมา ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขต กฟน. ประสบปัญหาจํานวนไฟฟ้าดับถาวรเฉลี่ย 6 ครั้ง ต่อผู้ใช้ไฟหนึ่งราย ซึ่งลดลงจากปีงบประมาณ 2536 ในอัตราเกือบร้อยละ 20 อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาไฟฟ้าดับนานขึ้นในเขต กฟน. ปัญหาหลักของไฟฟ้าดับในระบบ กฟน. ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากอุปกรณ์ชํารุด จากคน/สัตว์/รถยนต์ และจากภัยธรรมชาติ โดยในช่วงที่ผ่านมา มีพายุฝนค่อนข้าง มาก ฉะนั้น สาเหตุจากภัยธรรมชาติ เป็นสาเหตุที่สําคัญที่ทําให้ปัญหาไฟฟ้าดับไม่ได้ลดลงมากเท่าที่ควร บางเขต ปัญหาไฟฟ้าดับจะอยู่ในระดับค่อนข้างสูง เช่น เขตบางใหญ่ มีนบุรี บางพลี และนนทบุรี แต่เขตชั้นใน เช่น เขต วัดเลียบ ยานนาวา คลองเตย และสมุทรปราการ ปัญหาไฟฟ้าดับอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำ
2. เขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ปัญหาไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับดีขึ้น ในช่วงปีงบประมาณที่ผ่านมา จํานวนไฟฟ้าดับถาวร อยู่ในระดับ 9 ครั้งต่อผู้ใช้หนึ่งราย ซึ่งลดลงจาก 11 ครั้ง ต่อผู้ใช้ไฟหนึ่งราย ในปีงบประมาณ 2536 และระยะเวลาที่ไฟฟ้าดับก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยสาเหตุสําคัญที่ทําให้ไฟฟ้าดับในเขต กฟภ. ดีขึ้น เนื่องมาจากปัญหาไฟฟ้าดับจากส่วนของ กฟผ. ลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ส่วนสาเหตุที่มาจากระบบจําหน่ายของ กฟภ. ของปีที่แล้วอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2536 อย่างไรก็ตาม บางเขตยังมีปัญหาไฟฟ้าดับค่อนข้างมาก เช่น ภาคใต้ ปัญหาต้นยางโดนสายไฟเป็นหลัก บางเขตมีปัญหาไฟฟ้าดับเพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้ว เช่น ภาคเหนือ (เชียงใหม่, พิษณุโลก) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (อุบลราชธานี) เป็นต้น ซึ่งสาเหตุหลักมาจากพายุฝน โดยในปีที่แล้วได้เกิดพายุฝนค่อนข้างมาก
3. เขตการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สาเหตุไฟฟ้าดับที่เป็นผลมาจาก กฟผ. ในปีที่ผ่านมาดีขึ้น แต่ก็มีบางส่วนที่ยังมีไฟดับอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. โดยในรอบปีที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ 2 เหตุการณ์ คือ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2537 เกิดอุบัติเหตุจากคนงานทําการฉีดล้างลูกถ้วยด้วยวิธี HOT LINE ที่สถานีไฟฟ้าบางปะกงแล้วเกิดระเบิด ทําให้ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง และเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2537 เกิดจากระบบการทํางานของคอมพิวเตอร์ที่สถานีไฟฟ้าหนองจอกขัดข้อง ทําให้ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณค่อนข้างกว้างเช่นกัน
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 ผลการดําเนินงานของการขนส่งน้ำมันทางท่อ
สรุปสาระสำคัญ
1. ตามที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533 เห็นชอบให้ดําเนินโครงการท่อขนส่งน้ำมัน ศรีราชา-สระบุรี ความยาว 252 กิโลเมตร โดย ปตท. เป็นแกนกลางในการจัดตั้งบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จํากัด (Thai Petroleum Pipeline Co., Ltd.) หรือ THAPPLINE และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2534 ให้ดําเนินโครงการท่อขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นน้ำมันบางจากไปยังดอนเมืองและบางปะอิน ความยาว 69 กิโลเมตร โดยบริษัท การบินไทย จํากัด เป็นแกนกลางในการจัดตั้งบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด (Fuel Pipeline Transportation Co.,Ltd.) หรือ FPT เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดใน กทม. นั้น บัดนี้การดําเนินการได้เสร็จสิ้นลงแล้ว และได้เริ่มจ่ายน้ำมันแล้ว โดยปริมาณน้ำมันที่ขนส่งทางท่อในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำมันที่อาจเปลี่ยนมาขนส่งทางท่อได้ ปรากฏว่าในขณะนี้ใช้การขนส่งทางท่อแล้วร้อยละ 88 โดยขนทาง ท่อ THAPPLINE ร้อยละ 56 และ FPT ร้อยละ 32 แต่ถ้าเปรียบเทียบกับความสามารถสูงสุดในการขนส่งของท่อปริมาณการขนส่งในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 23 และ 35 ของท่อ THAPPLINE และ FPT ตามลําดับ เนื่องจาก การก่อสร้างท่อต้องวางแผนให้มีความสามารถในการขนส่งเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวในอนาคตได้ในระยะยาว
2. ในปัจจุบันยังมีปัญหาและอุปสรรคบางประการที่ทําให้ผู้ค้าน้ำมัน และผู้ขนส่งบางรายยังเลือกที่จะขนส่งโดยทางรถบรรทุกจากคลังกรุงเทพฯ ได้แก่
2.1 ปัญหาและอุปสรรคด้านธุรกิจ มีดังนี้ (1) เส้นทางเข้าออกจากคลังบางปะอินของ FPT ยังไม่สะดวกเนื่องจากเส้นทางวงแหวนรอบนอกที่จะเชื่อมระหว่างคลังบางปะอินกับถนนพหลโยธิน ยังไม่แล้วเสร็จในช่วงถนนเชิงสะพานลอยข้ามทางรถไฟ ทําให้รถบรรทุกน้ำมันที่จะเข้าไปคลังบางปะอินต้องใช้เส้นทางที่มีอยู่เดิมซึ่งเป็นทางอ้อมคดเคี้ยว และมีขนาดเล็ก (2) เส้นทางเข้าออกจากคลังลําลูกกาของ THAPPLINE ก็ยังไม่สะดวกเช่นกัน คือเป็นทางขนาดเล็ก แม้กรมทางหลวงมีแผนการที่จะขยายถนนดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ได้มีการดําเนินการแต่อย่างใด (3) อัตราค่าขนส่งน้ำมันทางท่อ ซึ่ง THAPPLINE และ FPT บวกเข้าไปในราคาน้ำมัน ในระยะแรกอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางรถบรรทุกจากกรุงเทพฯ แต่ในปัจจุบันบริษัทท่อ ทั้ง 2 ราย ได้ลดอัตราค่าขนส่งทางท่อแล้วเพื่อจูงใจให้มาใช้การขนส่งทางท่อมากขึ้น (4) แม้ว่าคณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบก (คจร.) จะได้มีมติจํากัดเวลาวิ่งของรถบรรทุกในกรุงเทพฯ ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนการขนส่งทางท่อได้มากแล้วก็ตาม แต่การที่ยังไม่ห้ามโดยสิ้นเชิงทําให้ยังมีรถบรรทุกน้ำมันเข้ามารับน้ำมันในกรุงเทพฯ ในเวลากลางคืน และยังเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งทางท่อ หากมีการห้ามวิ่งตลอดเวลาก็จะช่วยได้มากขึ้น
2.2 ปัญหาและอุปสรรคด้านความปลอดภัย โดยบริษัท FPT ได้แจ้งให้ สพช. ทราบถึงปัญหาความเสี่ยงภัยที่จะเกิดความเสียหายต่อท่อน้ำมัน ดังนี้คือ (1) การก่อสร้างโครงการรถไฟยกระดับของ Hopewell ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับแนวท่อน้ำมัน ได้มีการขุดดินจนเกิดความเสียหายต่อผิวภายนอกของท่อน้ำมัน (2) มีผู้พยายามขโมยน้ำมันโดยขุดอุโมงค์ใต้ดินจากบ้านเช่าซึ่งอยู่ใกล้แนวท่อไปยังท่อ และขณะที่เจ้าหน้าที่ตํารวจจับกุมได้โดยบังเอิญยังเหลือระยะทางอีกเพียง 1 เมตร จะถึงท่อน้ำมัน (3) มีประชาชนจํานวนมากบุกรุกพื้นที่ของหน่วยงานราชการดังกล่าว เข้ามาก่อสร้างบ้านเรือนจนบางครั้งคล่อมแนวท่อ ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่จะให้ความคุ้มครองความปลอดภัยของท่อโดยเฉพาะ คงมีเพียงร่างพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง ของกรมโยธาธิการซึ่งมีบทบัญญัติคุ้มครองท่อ โดยมีบทลงโทษทั้งปรับและจําคุก แต่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้น FPT จึงร้องขอให้รัฐเร่งดําเนินการออกพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยด่วน ซึ่ง สพช. ได้แจ้งให้กรมโยธาธิการทราบถึงปัญหาของบริษัทเพื่อให้มีการประสานงานกับรัฐสภาต่อไป
มติของที่ประชุม
รับทราบผลการดําเนินงานของโครงการขนส่งน้ำมันทางท่อทั้ง 2 โครงการ และอุปสรรคในการดําเนินงานในเรื่องความปลอดภัยของระบบท่อน้ำมัน และเส้นทางเข้าออกคลังน้ำมัน โดยเห็นควรให้มีการเร่งรัดการนําร่างพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. … เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และให้กรมทางหลวงเร่งรัดการก่อสร้างเส้นทางวงแหวนรอบนอกที่จะเชื่อมคลังบางปะอินของ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด (FPT) กับถนนพหลโยธิน และการขยายเส้นทางเข้าออกจากคลังลําลูกกาของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จํากัด (THAPPLINE) เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้การขนส่งทางท่อมากขึ้น
เรื่องที่ 3 ผลการดําเนินงานในการลดปริมาณกํามะถันในน้ำมันเตา
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2537 อนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้มีการแก้ไขปัญหาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่มีธาตุกํามะถันเจือปนอยู่ และมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งพื้นที่ที่มีการระบายก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากที่สุดรองจากแม่เมาะ คือในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยสรุปมติได้ ดังนี้
1.1 ให้มีการจําหน่ายน้ำมันเตาชนิดที่ 1-4 ที่มีกํามะถันไม่เกิน 2.0% และชนิดที่ 5 ที่มี กํามะถันไม่เกิน 0.5% ในเขตกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการทันที แต่ทั้งนี้ผู้ค้าน้ำมันทุกรายต้องปฏิบัติตามนี้ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2537 โดยให้กระทรวงพาณิชย์แก้ไขปรับปรุงประกาศกระทรวงพาณิชย์กําหนดคุณภาพของน้ำมันเตาให้สอดคล้องกัน การลดปริมาณกํามะถันดังกล่าวถือว่าเป็นการลดในระยะแรก ซึ่งในอนาคตจะพิจารณาขยายพื้นที่บังคับออกไปยังจังหวัดอื่น ๆ ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ เช่น ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร และ ปทุมธานี เป็นต้น
1.2 ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมรับไป พิจารณากําหนดมาตรฐานการระบายก๊าซ SO2 จากโรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ เพื่อ ให้สอดคล้องกับการลดปริมาณกํามะถันในน้ำมันเตา โดยอาจกําหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไป หรือพิจารณาใช้อํานาจตาม พรบ. โรงงาน พ.ศ. 2535 กําหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมในเขต กรุงเทพฯ และสมุทรปราการต้องใช้น้ำมันเตาตามคุณภาพที่กระทรวงพาณิชย์กําหนดเท่านั้น
1.3 ให้ ปตท. และ กฟผ. เร่งดําเนินการให้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือใช้น้ำมันเตากํามะถันไม่เกิน 2% และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ใช้น้ำมันเตา ซึ่งมีปริมาณกํามะถันไม่เกิน 2% และ 0.5% ในสัดส่วนที่ทําให้มีค่า เฉลี่ยของปริมาณกํามะถันไม่เกิน 1.7% โดยเร็วที่สุด และให้ ปตท. พิจารณาความเป็นไปได้ในการนําน้ำมันดิบ กํามะถันต่ำ เช่น Duri หรือน้ำมันประเภท LSWR มาใช้ในโรงไฟฟ้าพระนครใต้
1.4 มาตรการเพิ่มเติมกรณีปัญหารุนแรง ให้ กฟผ. ตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณที่อาจเกิด ปัญหามลพิษจากโรงไฟฟ้าพระนครใต้ และกรมควบคุมมลพิษตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณเขตอุตสาหกรรม ของจังหวัดสมุทรปราการ หากผลการตรวจวัดยืนยันความรุนแรงของปัญหาตามผลการศึกษาของ สพช. หรือรุนแรงกว่าได้กําหนดให้ดําเนินการ ดังนี้ ให้โรงไฟฟ้าพระนครใต้ใช้น้ำมันเตากํามะถันต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 1.7% และให้เพิ่มการใช้ก๊าซธรรมชาติในโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนโรงงานขนาดใหญ่ และโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้เพิ่มความสูงของปล่อง
2. ได้มีการดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว ดังนี้
2.1 กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2537) เรื่อง กําหนด คุณภาพน้ำมันเตา เพื่อให้มีการจําหน่ายน้ำมันเตาชนิดที่ 1-4 ที่มีกํามะถันไม่เกิน 2% และชนิดที่ 5 ที่มีกํามะถัน ไม่เกิน 0.5% ในเขตกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2537 ที่ผ่านมา
2.2 กฟผ. ได้เร่งใช้น้ำมันเตากํามะถันต่ำทันทีตามมติคณะรัฐมนตรี โดยได้ใช้น้ำมันเตากํามะถัน ไม่เกิน 2% ในโรงไฟฟ้าพระนครเหนือตั้งแต่เดือนเมษายน 2537 และใช้น้ำมันเตากํามะถันเฉลี่ยไม่เกิน 1.7% ในโรงไฟฟ้าพระนครใต้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2537 เป็นต้นมา
3. จากการดําเนินการดังกล่าว มีผลทําให้ปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเขตดังกล่าวลดลงอย่างมาก โดยลดลงจากระดับ 25,836 ตัน/เดือน ในปี 2536 เหลือเพียง 11,264 ตัน/เดือน ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2537 (กรกฎาคม พฤศจิกายน 2537) คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 56 โดยโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและพระนครใต้ ปริมาณลดลงจากระดับเฉลี่ยเดือนละ 18,244 ตัน/เดือนในปี 2536 เหลือเพียงเฉลี่ยเดือนละ 6,375 ตัน/เดือน ในปี 2537 คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 65 และโรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ ได้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศลดลง จากระดับเฉลี่ย 7,592 ตัน/เดือน ในปี 2536 เหลือเพียง 4,889 ตัน/เดือน ในปี 2537 คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 36
4. สําหรับการดําเนินการในระยะต่อไปนั้น ควรมีการดําเนินการ ดังนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ควรเร่งดําเนินการกําหนดมาตรฐานการระบายก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จากโรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการตามมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งควรเร่งใช้น้ำมันเตากํามะถันต่ำในโรงไฟฟ้าบางปะกงของ กฟผ. เนื่องจากในช่วงปี 2537 โรงไฟฟ้าบางปะกงได้มีการใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นเป็นจํานวนมาก เป็นผลให้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2537 ได้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศเป็นปริมาณสูงถึง 8,764 ตัน/เดือน คิดเป็นร้อยละ 55 ของปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตาทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ กฟผ. ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้เร่งให้ปตท.นําส่งน้ำมันเตากํามะถันต่ำไม่เกิน 2% เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าดังกล่าวแล้ว โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ควรเร่งทําการศึกษาขยายพื้นที่บังคับใช้น้ำมันเตากํามะถันต่ำออกไปจังหวัดอื่น ๆ ที่มีปัญหาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โดย สพช. จะทําการศึกษาถึงสภาพการใช้น้ำมันเตาและปัญหาของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบริเวณที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจํานวนมาก เช่น ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร และปทุมธานี เป็นต้น
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าการตลาด
สรุปสาระสำคัญ
รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงปลายเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2537 และผลการกํากับดูแลการกําหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงปี 2537 ดังนี้
1. รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
1.1 ราคาน้ำมันดิบ ราคาในเดือนตุลาคมเพิ่มสูงขึ้นช่วงต้นเดือนและปรับลดลงมาอยู่ในระดับ 15-17 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลในช่วงปลายเดือน และราคาได้ปรับสูงขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เป็น 16-18 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผลการประชุมกลุ่มโอเปคที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีมติที่จะรักษาเพดานการผลิตให้อยู่ในระดับเดิมไปจนตลอดปี 2538 สําหรับราคาในเดือนธันวาคม ได้ปรับลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ประมาณ 0.5-1.0 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล
1.2 ราคาน้ำมันสําเร็จรูป น้ำมันดีเซลหมุนเร็วราคาได้ปรับสูงขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เป็น 22 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล หลังจากที่ราคาได้ทรงตัวอยู่ในระดับ 20-21 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล มาตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคม ส่วนเดือนธันวาคมราคาได้ปรับลดลงเล็กน้อย น้ำมันเตาราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคม ต่อเนื่องถึงเดือนพฤศจิกายน ในระดับ 14 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และน้ำมันเบนซินราคาลดลงจาก 20-22 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลในเดือนตุลาคม เป็น 18-21 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลในเดือนธันวาคม เนื่องจากสหรัฐอเมริกาได้กําหนดคุณภาพน้ำมันเบนซินใหม่ทําให้น้ำมันเบนซินเก่าถูกระบายออกสู่ตลาด
1.3 ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นในประเทศ เปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันสําเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ คือราคาน้ำมันเบนซินพิเศษ เบนซินพิเศษไร้สารตะกั่ว และเบนซินธรรมดาได้ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของ เดือนตุลาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายนเป็น 7.0-7.7 บาท/ลิตร แล้วราคาได้ลดลงมากในเดือนธันวาคม ประมาณ 60-70 สต./ลิตร มาอยู่ในระดับ 6.3-7.0 บาท/ลิตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็วราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงสองเดือน ของปลายปี 2537 หลังจากที่ราคาได้ทรงตัวมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 12-15 สต./ลิตร เป็น 6.5 บาท/ลิตร สําหรับน้ำมันเตาราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ตามราคาน้ำมันในตลาดจรสิงคโปร์มาอยู่ในระดับ 3.4 บาท/ลิตร
1.4 ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ เปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น และโดยเฉลี่ยราคาขายปลีกในปี 2537 ยังต่ำกว่าราคาขายปลีกในปีที่แล้ว โดยกลุ่มเบนซินราคายังคงต่ำกว่า 52 สต./ลิตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ราคาต่ำกว่า 47 สต./ลิตร แต่น้ำมันเตาราคาสูงกว่า 20 สต./ลิตร
1.5 ค่าการตลาด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ค่าการตลาดอยู่ในระดับ 90 สต./ลิตร โดยมีการเปลี่ยน แปลงเพียงเล็กน้อยในช่วงต่ำกว่า 5 สต./ลิตร กลุ่มน้ำมันเบนซินในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ราคาขายส่ง หน้าโรงกลั่นเพิ่มสูงขึ้นแต่ราคาขายปลีกส่วนใหญ่มาเพิ่มในช่วงปลายเดือนตุลาคม และเดือนพฤศจิกายนทําให้ค่าการตลาดเดือนตุลาคมลดต่ำลง 20-30 สต./ลิตร จาก 1.41-1.45 บาท/ลิตร เหลือ 1.15-1.23 บาท/ลิตร และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เป็น 1.31-1.43 บาท/ลิตร แต่ในเดือนธันวาคม ซึ่งราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นลดลงอย่างรวดเร็ว แม้จะมีการลดราคาขายปลีกถึง 3 ครั้ง แต่ก็ยังทําให้ค่าการตลาดอยู่ในระดับ1.40-1.48 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าเดือนพฤศจิกายน 5-10 สต./ลิตร และจากผลการเปลี่ยนแปลงค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลและ เบนซินดังกล่าวทําให้ค่าการตลาดเฉลี่ยเดือนธันวาคมอยู่ในระดับ 1.12 บาท/ลิตร สูงกว่าปกติประมาณ 10 สต./ลิตร
2. ผลการกํากับดูแลการกําหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ณ สถานีบริการในต่างจังหวัด โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ให้มีการกํากับดูแลการกําหนดราคาขายปลีกของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีกรมการค้าภายใน สํานักงานพาณิชย์จังหวัด และ สพช. ร่วมกันติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ราคาขายปลีกในประเทศและค่าการตลาดอย่างใกล้ชิด โดยมี ปตท. และบางจากเป็นกลไกในการรักษาระดับราคาจําหน่ายที่เหมาะสม ซึ่งผลการดําเนินการในปี 2537 พบว่ามีจํานวนสถานีบริการโดยเฉลี่ย 150 สถานีต่อเดือน จากจํานวน 4,729 สถานีทั่วประเทศหรือประมาณร้อยละ 2 ที่จําหน่ายน้ำมันราคาเกินเหมาะสม สถานีบริการดังกล่าวกระจายตามจังหวัดต่าง ๆ มิได้กระจุกตัวอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง และกระจายตามผู้ค้าน้ำมันต่าง ๆ ด้วย ทําให้ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกซื้อน้ำมันจากสถานีบริการอื่นที่ราคาเหมาะสมได้ จํานวนสถานีบริการที่จําหน่ายราคาเกินเหมาะสมในช่วงครึ่งปีหลังลดน้อยลงมาก ทั้งนี้ เนื่องจากการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ค้าน้ำมันในการแก้ไขปัญหามีความคล่องตัวมากกว่าการดําเนินการในช่วงแรก ๆ ตอนต้นปี
3. การสํารวจสภาวะตลาด โดยสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสํารวจสภาวะของตลาดน้ำมันในส่วนภูมิภาคอย่างสม่ำเสมอ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการกํากับดูแลราคาน้ำมันตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในการสํารวจที่ผ่านมาโดยทั่วไปตลาดน้ำมันมีการแข่งขันกันมากขึ้น ในท้องที่ชนบทเริ่มมีสถานีบริการขนาดเล็กซึ่งไม่มีเครื่องหมายการค้าแพร่หลายมากขึ้น เรียกกันโดยทั่วไปว่าสถานีบริการแบบถังลอย เนื่องจากจะมีถังเก็บน้ำมันขนาดความจุประมาณหนึ่งหมื่นลิตรตั้งอยู่บนพื้นดิน (ถังลอย) ในบริเวณด้านข้างหรือด้านหลังของสถานีบริการและติดตั้งตู้จ่ายน้ำมันเพียงหนึ่งตู้ เพื่อจําหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพียงชนิดเดียวในราคาต่ำกว่าสถานีบริการของผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ ประมาณ 60-70 สต./ลิตร ในการสํารวจสภาวะตลาดครั้งล่าสุดในช่วงปลายปี 2537 ในท้องที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ปรากฏว่ามีการจัดตั้งสถานีบริการแบบถังลอยมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในบริเวณเส้นทางจากสระบุรีไปขอนแก่น นอกจากการแข่งขันในด้านราคาแล้ว ยังมีการแข่งขันในด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ด้านคุณภาพน้ำมัน (การเพิ่มค่าออกเทน) รูปแบบของสถานีบริการที่แปลกใหม่ สวยงาม การบริการที่ดีขึ้นและการจัดตั้งร้านสรรพสินค้าขนาดเล็กในสถานีบริการ เป็นต้น ในส่วนของสถานีบริการถังลอย ซึ่งจําหน่ายน้ำมันในราคาต่ำถึงแม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และช่วยเพิ่มการแข่งขันให้มากขึ้น แต่จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่สถานีบริการอื่น ๆ ถ้าการแข่งขันระหว่างสถานีบริการถังลอยและสถานีทั่วไปมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน สพช. จึงได้แจ้งให้กรมทะเบียนการค้า ส่งเจ้าหน้าที่ทําการตรวจสอบการขออนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมัน คุณภาพน้ำมัน และความเที่ยงตรงของมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการจําหน่ายของสถานีบริการถังลอยให้ถูกต้องตามกฎหมายและแจ้งให้กรมสรรพากรส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบการจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานีบริการถังลอยด้วย
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 5 ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป. ลาว ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 ณ นครเวียงจันทน์ โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและร่วม มือกันพัฒนาไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2543 เพื่อจําหน่ายให้กับประเทศไทย และต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว โดยมีผู้ว่าการ กฟผ. เป็นประธาน เพื่อติดตามการดําเนินงาน และประสานความร่วมมือกับ สปป. ลาว ให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
2. เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2537 ได้มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. และ กลุ่มผู้ลงทุนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ เทิน-หินบุน (ประกอบด้วยรัฐบาล สปป. ลาว กลุ่ม NORDIC แห่งประเทศสวีเดน นอร์เวย์ และบริษัท MDX ประเทศไทย) ซึ่งเป็นโครงการที่มีขนาดกําลังการผลิตติดตั้ง 210 เมกะวัตต์
3. ความก้าวหน้าของโครงการไฟฟ้าอื่น ๆ ใน สปป. ลาว มีดังนี้
3.1 โครงการน้ำเทิน 2 มีกําลังการผลิตติดตั้ง 600 เมกะวัตต์ ระยะเวลาดําเนินการตั้งแต่ปี 2538-2541 ผู้ลงทุนประกอบด้วยรัฐบาล สปป.ลาว บริษัท Transfield/ออสเตรเลีย การไฟฟ้าฝรั่งเศส และกลุ่ม บริษัท อิตาเลียน-ไทย/จัสมิน/ภัทรธนกิจ ซึ่งมีการเจรจาราคาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกรรมการฝ่ายไทย และกลุ่มผู้ลงทุนหลายครั้ง โดยจุดยืนของทั้งสองฝ่ายเบนเข้าหากัน และมีการเจรจาครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2537
3.2 โครงการห้วยเฮาะ มีกําลังการผลิตติดตั้ง 150 เมกะวัตต์ ระยะเวลาดําเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538-2541 โดยมีบริษัทแดวู แห่งประเทศไทย/เกาหลีใต้ และบริษัทล็อกซเล่ย์ จํากัด (มหาชน)/ประเทศไทย เป็นผู้ลงทุน ขณะนี้กลุ่มผู้ลงทุนฯ ได้เสนอราคาซื้อขายไฟฟ้าเท่ากับ 4.96 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และกรรมการฝ่ายไทยอยู่ระหว่างการพิจารณา Tariff Proposal และ Financial Analysis
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 6 ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปของ IPP
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2537 อนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่องแนวนโยบายในการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปของ Independent Power Producer (IPP) โดยมติดังกล่าวกําหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ร่วมกันร่างประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และจัดประชุมร่วมกับภาคเอกชน ผู้สนใจลงทุน และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้แนวข้อคิดเห็นที่จะนํามาปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศดังกล่าว และนําเสนอประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานเพื่อขอความเห็นชอบและประกาศใช้ต่อไป
2. กฟผ. และ สพช. ได้ร่วมกันดําเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย โดยร่างประกาศดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานแล้ว
3. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (Request for Proposals for Power Purchases from Independent Power Producers) โดยผู้สนใจลงทุนสามารถซื้อประกาศดังกล่าวและลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิยื่นข้อเสนอในการขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ได้ที่สํานักงานใหญ่ของ กฟผ. ในราคาชุดละ 100,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2537 ถึง 30 มิถุนายน 2538 (ณ วันที่ 4 มกราคม 2538 มีผู้ลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 68 ราย) ประกาศดังกล่าวประกอบด้วย ประกาศรับซื้อไฟฟ้า (Request for Proposals, RFP) เอกสารต้นแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Model Power Purchase Agreement: Model PPA) และเอกสารกําหนดมาตรฐานและเงื่อนไขทางเทคนิคเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าและการปฏิบัติการ (Grid Code)
4. ต่อมา กฟผ. มีหนังสือถึงรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ในฐานะ ประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานขอให้ดําเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อ เสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ซึ่ง สพช. จะได้เสนอให้ประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบาย พลังงานแต่งตั้งต่อไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 7 โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2537 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ได้เสนอเรื่อง การศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ต่อรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน เพื่อพิจารณาผลการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นของโครงการฯ และต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2537 การปิโตรเลียมแห่ง ประเทศไทย (ปตท.) ได้เสนอเรื่อง โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ถึง สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เพื่อทราบผลการศึกษาความเป็นไปได้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ รวมทั้ง ข้อเสนอรูปแบบการลงทุนของโครงการดังกล่าว
2. การศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นฯ สามารถแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ การศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคนิคเพื่อกําหนดโครงการที่มีศักยภาพ และการศึกษาในเรื่องเศรษฐศาสตร์และการเงินของโครงการที่มีศักยภาพตามขั้นตอนที่ 1 จํานวน 3 โครงการ ซึ่งสามารถสรุปผลการศึกษาได้ ดังนี้คือ
2.1 โครงการท่อขนส่งน้ำมันดิบ กระบี่-ขนอม เพื่อเป็นทางเลือกในการขนส่งน้ำมันดิบจาก ตะวันออกกลางไปตะวันออกไกล ซึ่งส่วนใหญ่ขนส่งผ่านทางช่องแคบมะละกาที่คาดว่าจะประสบปัญหาความคับคั่งของการขนส่ง ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า โครงการจะมีความเหมาะสมในกรณีระบบท่อขนาดที่ขนส่งน้ำมันได้ ประมาณวันละ 3 ล้านบาเรล ซึ่งเป็นปริมาณที่ประเทศตะวันออกไกล โดยเฉพาะญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี ตลอด จนโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศทุกแห่งจะต้องใช้บริการ ดังนั้นการเชิญชวนประเทศผู้ใช้ดังกล่าวเข้าร่วมลงทุนจึง เป็นประเด็นสําคัญที่จะต้องดําเนินการต่อไป
2.2 โครงการโรงกลั่นน้ำมันที่อําเภอขนอม เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เพื่อรองรับกับความ ต้องการใช้ในประเทศและส่งออก รวมทั้ง ผลิตแนฟทา (Naphtha) เป็นวัตถุดิบสําหรับโครงการปิโตรเคมี ซึ่งจาก ผลการศึกษาพบว่า ผลตอบแทนการลงทุนยังอยู่ในระดับปานกลาง ดังนั้น จึงได้มีการศึกษาแนวทางการลดต้นทุน โครงการ และปรับปรุงผลการผลิตเพื่อให้ผลตอบแทนดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันของประเทศใน ระยะปานกลางอยู่ในระดับที่จะต้องมีโรงกลั่นน้ำมัน
2.3 โครงการปิโตรเคมีที่ขนอม เพื่อผลิต Ethylene และ Propylene เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่คาดว่าจะต้องมีการนําเข้า Polyethylene และ Polypropylene ประมาณ 397,000 และ 107,000 ตัน ในปี 2545 ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า ผลการตอบแทนการลงทุนค่อนข้างดี โดยมีตลาดทั้งในประเทศ และประเทศข้างเคียงรองรับผลิตภัณฑ์จากโครงการได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาวะราคาของวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีความผันผวนสูง จึงควรมีการตรวจสอบข้อสมมุติฐานด้านราคาอย่างละเอียดต่อไป
3. ปตท. มีความเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นฯ ดังนี้
3.1 โครงการระบบท่อส่งน้ำมันดิบ กระบี่-ขนอม โดยผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า โครงการนี้จะมีความเหมาะสมเมื่อมีหลายประเทศมาร่วมใช้ ระบบท่อ คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี ดังนั้น การลงทุนจึงควรเป็นการร่วมกันระหว่างประเทศไทย และประเทศที่มาร่วมใช้ระบบท่อ ซึ่งจากการประชุมระหว่าง ปตท. กับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินของรัฐ กระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทน้ำมันของญี่ปุ่น สรุปได้ว่าโครงการนี้ได้รับความสนใจจากสถาบันการเงินและบริษัทน้ำมันของญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ดี ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งต้องหยิบยกขึ้นมาเจรจาในระดับทวิภาคี จึงเห็นควรให้มีการศึกษาในรายละเอียด (Feasibility Study) โดยจัดให้มีการเจรจาทาบทามประเทศผู้ซื้อขายน้ำมันดิบมาร่วมลงทุน และใช้บริการระบบท่อส่งน้ำมันควบคู่กันไป
3.2 โครงการโรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าโครงการนี้มีศักยภาพที่ดี โดยมีทั้งความต้องการใช้ภายในประเทศ และจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกล โดยเฉพาะจีนเป็นตลาดรองรับ อีกทั้งยังมีสถานที่ตั้งสามารถแข่งขันกับโรงกลั่นในประเทศสิงคโปร์ได้ จึงเห็นควรให้มีการศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันกับโรงกลั่นในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนแนวทางการลงทุนต่อไป อย่างไรก็ดี ในชั้นนี้ ปตท. เห็นว่าการจัดตั้งองค์กรเพื่อดําเนินโครงการโรงกลั่นน้ำมันมีทางเลือกอยู่หลายรูปแบบ ดังนี้ รูปแบบ 1 : หน่วยงานของรัฐและสถาบัน ร้อยละ 51 ผู้ค้าน้ำมันทั้งในและต่างประเทศ และบริษัทการค้า ร้อยละ 49 รูปแบบ 2 : หน่วยงานของรัฐและสถาบัน ร้อยละ 33 ผู้ค้าน้ำมันทั้งในและต่างประเทศ และบริษัทการค้าร้อยละ 67 รูปแบบ 3 : หน่วยงานของรัฐและสถาบัน ร้อยละ 30 ผู้ค้าน้ำมันในประเทศ ร้อยละ 25 ผู้ค้าน้ำมันต่างประเทศ ร้อยละ 25 และบริษัทการค้าร้อยละ 20 และรูปแบบ 4 : หน่วยงานของรัฐดําเนินการไปก่อนและหาผู้ร่วมทุนภายหลัง
3.3 โครงการปิโตรเคมีที่ขนอม ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ผลตอบแทนการลงทุนอยู่ในระดับที่ดี ประกอบกับความต้องการภายในประเทศยังมีแนวโน้มสูงกว่าการผลิตภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีความผันผวนมาก จึงควรมีการศึกษาในรายละเอียดของแนวโน้มราคาของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ตลอดจนแนวทางการลงทุนต่อไป
4. สพช. มีความเห็นว่า การลงทุนในโรงกลั่นน้ำมันแห่งใหม่ในภาคใต้จะใช้เงินลงทุนจํานวนที่สูงถึง 48,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นภาระอย่างมากต่อฐานะทางการเงินของ ปตท. โดยเฉพาะในกรณีที่ ปตท. จะเป็นผู้ ดําเนินการก่อนแล้วจึงให้มีผู้ร่วมทุนเอกชนในภายหลัง ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อฐานะการเงินของ ปตท. และช่วยระดมเงินทุนสําหรับโครงการ ควรให้มีการเร่งดําเนินการปรับโครงสร้าง ปตท. ให้เป็นเชิงธุรกิจ (Corporatization) และดําเนินการแปรรูป โดยการนําหุ้นของกิจการที่มีความเหมาะสมจําหน่ายในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนจากประชาชนและ/หรือลดการถือหุ้นในกิจการที่ไม่มีความจําเป็นต่อกลยุทธในการดําเนินธุรกิจในระยะยาวของ ปตท. ตามผลการศึกษาของ ปตท. เรื่อง “Refocusing PIT: Assessment of PTT's Business Strategies and Privatization Program” โดย McKinsey ทั้งนี้ สมควรให้ ปตท. กระทรวงอุตสาหกรรม สศช. และ สพช. เร่งดําเนินการร่วมกันพิจารณา และหาข้อยุติเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างและการแปรรูป ปตท. เพื่อนําเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2534
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้มีการศึกษาในรายละเอียด (Feasibility Study) 3 โครงการ ดังนี้คือ
(1) โครงการระบบท่อส่งน้ำมันดิบ กระบี่-ขนอม
(2) โครงการโรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
(3) โครงการปิโตรเคมีที่ขนอม
โดยให้ ปตท. นําผลการศึกษาโครงการทั้ง 3 เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาโดยด่วนต่อไป
2. เห็นชอบรูปแบบการจัดตั้งองค์กรรูปแบบที่ 4 ตามที่ ปตท. เสนอ โดยให้หน่วยงานของรัฐดําเนินการไปก่อนแล้วหาผู้ร่วมทุนภายหลัง เพื่อดําเนินการโครงการโรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ทั้งนี้ หากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาผลการศึกษาในรายละเอียดตามข้อ 1 แล้ว เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในการลงทุน ให้ ปตท. จัดทําข้อเสนอแนวทางการลงทุนเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง
เรื่องที่ 8 ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2537 (ครั้งที่ 47) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2537 ได้มีการพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และมีมติมอบหมายให้รัฐ มนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายพรเทพ เตชะไพบูลย์) รับไปพิจารณาทบทวนแนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
2. การดําเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติแล้ว โดย สพช. ได้ดําเนินการ ศึกษาและรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและได้จัดให้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องและผู้ค้าน้ำมันในวันที่ 27 กันยายน 2537 เพื่อพิจารณาข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมัน เชื้อเพลิงที่ สพช. จัดทําขึ้น โดยได้มีการพิจารณาทบทวนมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลกําหนดไว้และสมควรใช้ต่อไป รวมทั้ง ได้นําข้อเสนอแนะของคณะทํางานพิจารณาปรับปรุงแนวทางการดําเนินคดีของกรมศุลกากร และคณะ กรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร มาปรับปรุงข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำ มันเชื้อเพลิงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายพรเทพ เตชะไพบูลย์) ได้พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้ว และมีข้อเสนอเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ดําเนินการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรการที่คณะรัฐมนตรี กําหนดไว้แล้วต่อไป ดังนี้
1.1 ให้มีการตรวจสอบเรือขนส่งของ ปตท. และ กฟผ. เช่นเดียวกับผู้ค้าน้ำมันอื่น
1.2 ให้กรมเจ้าท่าตรวจสอบการดัดแปลงเรือประมงอย่างใกล้ชิดและเข้มงวด
1.3 ให้มีคณะทํางานเพื่อทําหน้าที่ตรวจสอบการลักลอบนําเข้าน้ำมัน โดยให้กรมศุลกากรเป็น เจ้าของเรื่องและประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1.4 ให้การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีใบกํากับการขนส่งของกรมทะเบียนการค้า กระทรวง พาณิชย์ กํากับไปกับยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งทุกครั้ง
2. เห็นชอบให้กําหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม ดังนี้
2.1 ให้กรมสรรพสามิตกําหนดให้มีการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าออกจากคลัง และมาตรวัดน้ำมันคงเหลือ แบบ Automatic Level Gauge ในคลังน้ำมันชายฝั่งทุกแห่ง และให้มีการปิดผนึกมิให้เปิดเครื่องเข้าไปแก้ไขสัญญาณได้
2.2 ให้มีการตรวจการณ์การขนส่งน้ำมันในทะเล และเฝ้าตรวจสอบพฤติการณ์การขนส่งน้ำมันทางบก ดังนี้ (1) ให้กองทัพเรือ กรมศุลกากรและกรมตํารวจ จัดกําลังเจ้าหน้าที่ตรวจลาดตระเวนการขนส่งน้ำมันในทะเล และ (2) ให้กรมศุลกากรและกรมตํารวจ จัดหาสายสืบเฝ้าตรวจสอบพฤติการณ์การขนส่งน้ำมันทางบกของคลังน้ำมันชายฝั่งทุกแห่ง ทั้งคลังที่ได้รับอนุมัติให้นําเข้าและคลังที่ไม่ได้รับอนุมัติให้นําเข้า
2.3 ให้เพิ่มการตรวจสอบการจับกุมบนบกอย่างเข้มงวด โดยให้กรมตํารวจจัดตั้งด่านตรวจสอบ รถบรรทุกน้ำมันต้องมีเอกสารใบกํากับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงติดไปกับรถบรรทุกน้ำมันทุกครั้งโดยก่อนทําการ ตรวจสอบให้มีการชี้แจงทําความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์การตรวจสอบแก่เจ้าหน้าที่ตํารวจผู้ปฏิบัติงานก่อน
2.4 ให้กรมสรรพากรส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มของคลังน้ำมันชาย ฝั่งทุกแห่ง ทั้งคลังที่ได้รับอนุมัติให้นําเข้าและคลังที่ไม่ได้รับอนุมัติให้นําเข้ารวมถึงสถานีบริการ โดยเฉพาะสถานี บริการขนาดเล็กหรือสถานีบริการประเภทถังลอยด้วย
2.5 การแจ้งการนําเข้า
(1) ให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้าและกรมการค้าต่างประเทศ) ขอความร่วมมือจากบริษัทน้ำมันที่มีโรงกลั่นในสิงคโปร์ให้แจ้งรายละเอียดของเรือบรรทุกน้ำมัน (Tanker) ที่รับน้ำมันจากโรงกลั่นในสิงคโปร์และมีจุดหมายปลายทางมายังประเทศไทยให้ สพช. เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่ามีการนําเข้าและเสียภาษีโดยถูกต้องทุกลําหรือไม่
(2) ให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้าและกรมการค้าต่างประเทศ) กําหนดเงื่อนไขการนําเข้า ให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ทุกราย ต้องแจ้งรายละเอียดการนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทันทีที่เรือเดินทางออกจากประเทศสิงคโปร์
(3) ภายหลังจากที่มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว ให้กรมศุลกากรดําเนินการตรวจสอบเรือนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทุกลําอย่างเข้มงวด เป็นเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ได้เริ่มดําเนินการตามมาตรการข้อ (1) และ (2) เพื่อดูว่าการกําหนดมาตรการดังกล่าวประสบผลสําเร็จเพียงใด
2.6 ให้กรมศุลกากรดําเนินการปรับปรุงแนวทางการดําเนินคดีของกรมศุลกากรให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยให้กรมศุลกากรดําเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้ให้ครบถ้วน และจัดทําเป็นคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ดังนี้
(1) ให้ศึกษารายละเอียดในสัญญาเช่าเรือและพยานแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อค้นข้อมูลที่แสดงให้เห็นได้ว่าเป็นการนําเรือไปใช้ผิดประเภทหรือผิดสัญญาหรือเป็นการเช่ากันจริงหรือไม่
(2) กรณีที่มีการดัดแปลงเรือ ต้องจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญ เช่น กรมเจ้าท่า ให้แสดงความเห็นว่ามีการดัดแปลงเรือเพื่อบรรทุกน้ำมันจนไม่สามารถนําเรือไปใช้จับปลาได้แล้ว และการดัดแปลงเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการให้เช่า ถ้าผู้ต้องหาต่อสู้ว่าน้ำมันมีไว้ใช้กับเครื่องยนต์เรือ ควรพิจารณาขนาดของถังเก็บน้ำมันเปรียบเทียบกับเรือขนาดเดียวกันว่ามีขนาดใหญ่ผิดปกติหรือไม่
(3) การรับเรือ ให้กรมศุลกากรขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน เช่น กรมเจ้าท่า กรมตํารวจ เพื่อให้มีการริบเรือของผู้กระทําผิดหรือทําให้ใช้เรือไม่ได้ เช่นการเพิกถอนทะเบียนเรือ เป็นต้น
(4) กรณีที่ผู้ถูกจับกุมอ้างว่าซื้อน้ำมันจากในประเทศ ให้กรมศุลกากรพิสูจน์หลักฐานการซื้อขายโดยตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีผู้ชายจริงหรือไม่และให้กรมทะเบียนการค้านําตัวอย่างน้ำมันไปตรวจสอบสารเติมแต่ง (Additive) เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นน้ำมันลักลอบนําเข้าหรือไม่ และน้ำมันนั้นมีคุณภาพถูกต้องตามที่ กระทรวงพาณิชย์ประกาศกําหนดหรือไม่ หากปรากฏว่าน้ำมันมีคุณภาพต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศกําหนด ให้กรมศุลกากรประสานงานกับกรมทะเบียนการค้าเพื่อดําเนินคดีผู้ถูกจับกุมและผู้ขายด้วย นอกจากนี้ให้กรมศุลกากรประสานงานกับกรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ขายน้ำมันด้วย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีผู้ร่วมมือรับเป็นผู้ขาย โดยหากกรมศุลกากรดําเนินการตามแนวทางข้างต้นไปแล้ว ปรากฏว่าการตรวจสารเติมแต่งยังไม่ชัดเจนพอที่จะใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าเป็นน้ำมันที่ลักลอบนําเข้าหรือเจ้าหน้าที่กรมทะเบียนการค้าไม่ สามารถที่จะยืนยันได้ ให้กรมศุลกากรเสนอรัฐบาลใช้มาตรการอื่น ๆ ที่เตรียมไว้ออกมาดําเนินการ เช่น การเติมสาร Marker ในน้ำมันที่ผลิตได้ในประเทศหรือนําเข้ามาในประเทศ
(5) การติดตามผลคดี ในชั้นสอบสวนให้กรมศุลกากรติดตามสอบถามเจ้าหน้าที่ตํารวจอยู่เสมอและในชั้นการพิจารณาของพนักงานอัยการให้กรมศุลกากรจัดส่งข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับคดีที่รวบรวมไว้แต่ต้นให้แก่พนักงานอัยการเพื่อใช้เปรียบเทียบกับสํานวนการสอบสวนของตํารวจ
(6) เพื่อให้การปรับปรุงแนวทางการดําเนินคดีของกรมศุลกากรมีผลครอบคลุมไปถึงการดําเนินคดีของหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย เช่น ตํารวจน้ำ จึงควรเสนอให้หน่วยงานอื่นที่มีการดําเนินคดีผู้ลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงต้องแจ้งให้กรมศุลกากรทราบเพื่อประสานงานให้การดําเนินคดีเป็นไปในแนวทางข้างต้น ทุกราย
(7) ให้ปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ซึ่งกําหนดให้กรมศุลกากรดําเนินคดีกับผู้ต้องหาลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้ถึงที่สุดทุกราย และมิให้ทําความตกลงระงับคดี โดยให้มีข้อยกเว้นไม่ต้องดําเนินคดีได้ ในกรณีที่กรมศุลกากรเห็นว่า ผู้กระทําผิดรายใดมีหลักฐานอ่อน และอาจมีปัญหาในการดําเนินคดีให้ถึงที่สุด โดยมีแนวทางปฏิบัติดังนี้ ให้กรมศุลกากรเสนอต่อคณะกรรมการเปรียบเทียบระงับคดี ซึ่งมีผู้แทนกรมตํารวจ และผู้แทนกระทรวงการคลังร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย โดยในการระงับคดีจะต้องทําการริบเรือด้วย เว้นแต่จะมีเหตุว่าขัดข้องต่อความเป็นธรรม ทั้งนี้ ให้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการเปรียบเทียบฯ ที่จะพิจารณาความเหมาะสมในการเปรียบเทียบความผิด แต่หากไม่รับเรือให้เจ้าของเรือทําหนังสือยืนยันต่อกรมศุลกากรเป็นเอกสารประกอบการระงับคดีว่าจะไม่นําเรือดังกล่าวไปใช้ในการกระทําความผิดหรือให้ผู้อื่นเช่าไปใช้ในการกระทําผิด หากกระทําผิดซ้ำยินยอมให้ริบเรือ
2.7 เพื่อให้การพิจารณาในชั้นของพนักงานอัยการเป็นไปอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น ให้สํานักงานอัยการ สูงสุดถือว่าคดีลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นคดีสําคัญ รัฐบาลมีนโยบายที่จะปราบปรามเป็นกรณีพิเศษ หาก พนักงานอัยการมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา บางข้อหา หรือสั่งไม่รับของกลาง ก่อนมีความเห็นและคําสั่ง ให้บันทึกความเห็นเสนออัยการสูงสุดก่อนมีคําสั่ง
2.8 ให้มีการขยายเขตน่านน้ำจากปัจจุบัน 12 ไมล์ทะเล เป็น 24 ไมล์ทะเล โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ศุลกากรมีอํานาจปฏิบัติการใน “เขตต่อเนื่อง” ระหว่าง 12-24 ไมล์ทะเล ได้
2.9 มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม รับไปหารือกับบริษัทผู้ค้าน้ำมันต่างๆ เพื่อให้ทราบถึง ข้อมูลหรือเบาะแสที่แท้จริงในการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จะเป็นประโยชน์และช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3. ให้กระทรวงมหาดไทย (กรมตํารวจ) กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และกรม สรรพากร) กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้าและกรมการค้าต่างประเทศ) สํานักงานอัยการสูงสุด กองทัพเรือ สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงการต่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า) สพช. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องรับไปดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวข้างต้นโดยด่วนอย่างเคร่งครัด และรายงานผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมทุกครั้ง
เรื่องที่ 9 ข้อเสนอเพิ่มเติมในการปรับปรุงกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในคราวประชุม เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มการแข่งขันในตลาดน้ำมัน โดยให้ดําเนินการกําหนดกฎเกณฑ์ในการตั้งสถานีบริการใต้อาคาร และแก้ไขกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการขนาดเล็กในท้องที่ที่ห่างไกล คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานจึงได้มีคําสั่งที่ 2/2536 แต่งตั้งคณะ อนุกรรมการพิจารณาการปรับปรุงกฎเกณฑ์และส่งเสริมการตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้น เพื่อดําเนินการ ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ดําเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และคณะรัฐมนตรีในคราว ประชุมเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2537 ได้มีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดําเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อ กําหนดให้สอดคล้องกันต่อไป
2. กรมโยธาธิการ ได้ดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยได้เชิญผู้ค้าน้ำมันและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อรับทราบแนวทางการปรับปรุงประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง มาตรฐานของแผนผัง รูปแบบ ลักษณะและความปลอดภัยของสถานที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ ซึ่งบริษัทผู้ค้าน้ำมันที่ร่วมประชุมได้ร้องขอให้เพิ่มเติมกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหลายประการ คณะอนุกรรมการฯ จึงได้จัดทําข้อเสนอเพิ่มเติมในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เสนอต่อประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) พิจารณา ซึ่งประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานได้พิจารณาแล้ว เห็นควรให้ปรับปรุงกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม
3. ผลจากการตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติมดังกล่าวข้างต้นจะช่วยลดพื้นที่ที่ต้องใช้ในการจัดตั้งสถานีบริการริมถนนใหญ่ลงได้อย่างมาก โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับระยะห่างของเครื่องล้างรถอัตโนมัติ ซึ่งจะทําให้เงินลงทุนในการจัดตั้งสถานีบริการต่ำลงและจะมีผู้สนใจลงทุนจัดตั้งสถานีบริการริมถนนใหญ่มากขึ้น และสําหรับสถานีบริการที่ตั้งริมถนนเล็กนั้นรายได้จากการดําเนินการจะเพิ่มขึ้นจากการให้บริการล้างรถโดยเครื่องล้างอัตโนมัติและบริการล้างอัดฉีดเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีผู้สนใจลงทุน จัดตั้งสถานีบริการริมถนนเล็กมากขึ้น
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ปรับปรุงกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติมตามที่ประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานเสนอ โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการรับไปดําเนินการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกัน ดังนี้
1.1 สถานีบริการที่ตั้งริมถนนใหญ่
(1) ในกรณีที่สถานีบริการจะมีการล้างรถโดยเครื่องล้างอัตโนมัติ ให้ลดระยะห่างของที่ล้างรถกับแนวเขตสถานีบริการลงจากไม่น้อยกว่า 5.00 เมตร เหลือเพียงไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร ได้ไม่เกิน 2 ด้าน แต่ยังให้คงความสูงของกําแพงกันไฟไม่น้อยกว่า 3.00 เมตร เช่นเดิม
(2) ผ่อนผันให้ติดตั้งถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงใต้ดินบริเวณใต้หลังคาคลุมแท่นปั๊มได้
(3) การใช้ท่อพลาสติคชนิดกันน้ำมันแทนท่อเหล็กนั้น ให้กระทําได้ทั้งระบบท่อดูด (Suction System) และระบบท่อแรงดัน (Pressurize System) แต่ท่อดังกล่าวต้องเป็นท่อ 2 ชั้นเท่านั้น
1.2 สถานีบริการที่ตั้งริมถนนเล็ก
(1) ในกรณีที่สถานีบริการที่ตั้งริมถนนเล็ก จะมีบริการล้างรถโดยเครื่องล้างรถอัตโนมัติ ให้มีข้อกําหนด ดังนี้ 1) กําหนดการจัดวางเครื่องล้างรถอัตโนมัติ เป็น 3 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 ทางเข้าออกตั้งฉากกับถนนด้านหน้าแนวอาคารล้างรถด้านช่องทางเข้าตั้งฉากกับถนนด้านสถานีบริการ ส่วนด้านช่องทางออกห่างจากแนวเขตด้านหลังของสถานีบริการไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร และด้านข้างห่างจากแนวเขตสถานีบริการไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร 1 ด้าน และไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร 1 ด้าน รูปแบบที่ 2 ทางเข้าออกขนานกับถนนด้านหน้า แนวอาคารล้างรถด้านช่องทางเข้าและทางออกขนานกับถนนด้านหน้าสถานีบริการ และห่างจากแนวเขตด้านข้างของสถานีบริการไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร และด้านข้างของอาคารล้างรถห่างจากแนวเขตด้านหลังของสถานีบริการไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร และรูปแบบที่ 3 ทางเข้าออกทํามุมกับถนนด้านหน้า ทางเข้าและทางออกของอาคารล้างรถทํามุมเฉียงกับถนนด้านหน้าสถานีบริการโดยมุมของอาคารห่างจากแนวเขตสถานีบริการไม่น้อยกว่า 4.00 เมตร 2 ด้าน และ ไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร 2 ด้าน 2) กําหนดให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 90 ตารางเมตร เพื่อใช้สําหรับจอดรถที่รอเข้าเครื่องล้างได้อย่างน้อย 3 คัน และรถที่ล้างเสร็จแล้ว และรอรับกลับอีกอย่างน้อย 3 คัน 3) กําหนดให้ความดังของเครื่องล้างรถไม่เกิน 60 เดซิเบล ในบรรยากาศโดยรอบสถานีบริการโดยวัดตามวิธีการของกรมควบคุมมลพิษ หรือให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้วัดให้ และ 4) กําหนดให้สถานีบริการที่มีบริการล้างรถโดยเครื่องอัตโนมัติจะต้องตั้งอยู่ริมถนนซึ่งมีท่อระบายน้ำริมถนนด้านหน้าสถานีบริการ และจํากัดเวลาการให้บริการล้างรถ โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการรับไปศึกษาพิจารณากําหนดเวลาการให้บริการที่เหมาะสมต่อไป
(2) การมีบริการอัดฉีด และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ให้มีข้อกําหนด ดังนี้ ให้มีหลุมเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง คานยกรถ และถังเก็บน้ำมันเครื่องใช้แล้ว ความจุไม่น้อยกว่า 4,000 ลิตร และให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 60 ตารางเมตร เพื่อใช้สําหรับรถที่มาจอดรอถ่ายน้ำมันเครื่องได้อย่างน้อย 2 คัน และรถที่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องแล้วรอรับกลับอีกอย่างน้อย 2 คัน
(3) ให้ก่อสร้างอาคารบริการ 2 ชั้นได้ แต่ห้ามใช้เป็นที่พักอาศัยหรือใช้เป็นสถานที่ประกอบอาหาร
2. มอบหมายให้กรมโยธาธิการและกรมควบคุมมลพิษร่วมกันพิจารณาจัดทําเงื่อนไขควบคุมการทิ้งเศษวัสดุและน้ำมันรวมทั้งการระบายน้ำเสียจากสถานีบริการ เพื่อมิให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม
สรุปสาระสำคัญ
1. สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ดูแลกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เพื่อให้สามารถนําดอกผลอันเกิดจากเงินกองทุน จํานวน 350 ล้านบาท ที่ได้รับจาก บริษัท เอสโซ่แสตนดาร์ด ประเทศไทย จํากัด ตามสัญญาโรงกลั่นน้ำมันมาใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านพลังงาน และปิโตรเลียม โดยมีระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 เป็นกรอบในการบริหารงานกองทุนฯ ทั้งนี้ โดยกําหนดให้มี คณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ทําหน้าที่พิจารณาจัดระเบียบ วางแนวทางและพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนฯ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้แทนจาก สพช. กระทรวงการคลัง กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2. ตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจาก สัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 ข้อ 10 และ ข้อ 13 กําหนดให้คณะกรรมการกองทุนฯ ดําเนินการดังนี้ 1) จัดทําแผนการใช้จ่ายเงินเป็นรายปีงบประมาณในช่วงสามปีข้างหน้า เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพิจารณาคําขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ และขอให้มีการทบทวนแผนการใช้จ่ายดังกล่าวอย่างน้อยทุกปี และ 2) จัดทํางบแสดงผลการรับจ่ายเงินในระหว่างปีงบประมาณ และงบแสดงฐานะการเงินของกองทุนฯ วันสิ้นปีงบประมาณ ส่งคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อทราบภายในสามสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
3. สพช. ได้จัดทํารายงานผลการดําเนินงาน ของคณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ในรอบปีงบประมาณ 2537 และแผนการจัดสรรเงินในปีงบประมาณ 2538-2540 ตามข้อกําหนด ของระเบียบดังกล่าว ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนฯ แล้ว โดยมีสาระสําคัญสรุปได้ดังนี้
3.1 ผลการดําเนินงานของคณะกรรมการกองทุนฯ ในรอบปีงบประมาณ 2537 โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ได้ดําเนินการให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานต่าง ๆ ในเรื่อง โครงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาและปรับปรุงกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง การลงทุน โดยเอกชนในการผลิตไฟฟ้าในรูปของ IPP การให้ทุนการศึกษาข้าราชการจํานวน 11 ทุน การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ บริโภคเข้าใจถึงการเลือกซื้อน้ำมันหล่อลื่น การจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์สํานักงาน และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายใน การเดินทางดูงาน ประชุม สัมมนา และการจัดประชุมสัมมนา ทั้งนี้การดําเนินงานของกองทุนฯ ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในการช่วยพัฒนาองค์กรที่ปฏิบัติงาน ด้านพลังงานและปิโตรเลียมให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และ ประสบการณ์เพิ่มขึ้น ช่วยสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานมากขึ้น รวมทั้ง มีส่วนช่วยในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย
3.2 รายงานสถานะการเงินของกองทุนฯ ในปีงบประมาณ 2537 โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ได้กําหนดวงเงินงบประมาณสําหรับปีงบประมาณ 2537 ไว้เป็นจํานวน 35 ล้านบาท โดยให้ความสําคัญเป็นลําดับแรกแก่ส่วนราชการที่ปฏิบัติงานด้านพลังงานและปิโตรลียมและหมวดการค้นคว้า วิจัย ศึกษา รวมทั้งให้ความสําคัญกับการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลเพิ่มขึ้น โดยลดความสําคัญในหมวดทุนการศึกษาลง ส่วนหมวดอื่น ๆ ให้ความสําคัญในระดับเดิม โดยในปีงบประมาณ 2537 ได้มีการนําเงินกองทุนฯ จํานวน 350 ล้านบาท และดอกผลคงเหลือจากปีก่อน นําฝากประจํากับธนาคารพาณิชย์ประเภท 12 เดือน, 6 เดือน และ 3 เดือน เพื่อให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ซึ่งในรอบ 1 ปี ของระยะเวลาการฝากจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2537 กองทุนฯ สามารถหาผลประโยชน์ได้ประมาณ 29.055 ล้านบาท และคณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติความช่วยเหลือให้แก่กิจกรรมต่าง ๆ ในรอบปีงบประมาณ 2537 เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 31.125 ล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายจริงเป็นจํานวน 8.115 ล้านบาท และขอผูกพันเพื่อใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2538 จํานวน 22.575 ล้านบาท ซึ่งฐานะการเงินของกองทุนฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2537 กองทุนฯ มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 384.127 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้กองทุนฯ อยู่เป็นจํานวน 1.32 ล้านบาท และมีเงินรายรับสูงกว่ารายจ่ายเป็นจํานวน 33.572 ล้านบาท
3.3 แผนการใช้จ่ายเงินดอกผลของกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2538-2540 ตามข้อกําหนดในระเบียบว่าด้วยการบริหารกองทุนฯ กําหนดให้มีการทบทวนแผนการใช้จ่ายเงินดอกผลของกองทุนฯ อย่างน้อยทุกปี หรือตามความจําเป็น ดังนั้น ในวาระที่คณะกรรมการกองทุนฯ ได้ดําเนินงานครบรอบ 1 ปี จึงเห็นสมควรให้มีการปรับแผนการใช้จ่ายเงินสําหรับปีงบประมาณ 2538-2540 ดังนี้
1) แนวทางการใช้จ่ายเงิน ปีงบประมาณ 2538-2540 ได้ใช้แนวทางเดิม ดังนี้
(1) ยังคงให้ความสําคัญเป็นลําดับแรกแก่ส่วนราชการที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับพลังงานและปิโตรเลียมโดยตรงเช่นเดียวกับปีก่อน
(2) ให้ความสําคัญเป็นลําดับแรกสําหรับการใช้จ่ายเงินเพื่อการค้นคว้า วิจัย ศึกษา เกี่ยวกับพลังงานและปิโตรเลียม
(3) ให้ความสําคัญกับการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
(4) เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเล็กน้อย และกองทุนฯ มีรายจ่ายหมวดทุนการศึกษามียอดสะสมเพิ่มขึ้น จึงจัดสรรเงินกองทุนฯ ในปีงบประมาณ 2538-2540 ประมาณปีละ 38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
2) แผนการใช้จ่ายเงินดอกผลของกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2538-2540 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 114 ล้านบาท
3) มาตรการในการบริหารเงินกองทุนฯ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตลอดระยะเวลา 3 ปี คือ ปีงบประมาณ 2538-2540 จึงเห็นควรให้คณะกรรมการกองทุนฯ จัดสรรเงินกองทุนสําหรับแผนงานและโครงการในปีงบประมาณ 2538-2540 ตามแผนการใช้จ่ายเงินข้างต้น วงเงินรวม 114 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอํานาจที่จะปรับปรุงการจัดสรรเงินตามแผนงานต่าง ๆ ได้ตามความจําเป็นและเหมาะสมภายในวงเงินรวมดังกล่าว ทั้งนี้ โดยสอดคล้องกับการขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนฯ การจัดลําดับความสําคัญ ตลอดจนรายได้ของกองทุนฯ ด้วย
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการดําเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ในปีงบประมาณ 2537
2. เห็นชอบแผนการใช้จ่ายเงินดอกผลของกองทุนฯ ประจําปีงบประมาณ 2538-2540 และมาตรการการบริหารเงินกองทุนฯ ตามที่คณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียมเสนอ
กพช. ครั้งที่ 155 วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 3/2564 (ครั้งที่ 155)
วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เวลา 14.00 น.
2. รายงานผลการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ของคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปีงบประมาณ 2564
8. การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT)
9. ทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563-2567
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
สรุปสาระสำคัญ
1. พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 มาตรา 34/2 กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดทำงบการเงินส่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือบุคคลภายนอกซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯ แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของ สตง. เป็นผู้สอบบัญชีของกองทุนภายใน 90 วัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ และให้ สตง. หรือผู้สอบบัญชีจัดทำรายงานผลการสอบและรับรองบัญชีและการเงินของกองทุนเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนฯ ภายใน 150 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ จากนั้นให้รัฐมนตรีเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบ และจัดให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติรับทราบรายงานผู้สอบบัญชีและงบการเงินกองทุน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 และวันที่ 30 กันยายน 2563
2. สตง. ได้ตรวจสอบงบการเงินกองทุนฯ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 และวันที่ 30 กันยายน 2563 ตามที่สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) จัดส่ง โดยมีรายละเอียด ดังนี้ (1) งบแสดงฐานะการเงินของกองทุนฯ ปี 2562 และ ปี 2563 กองทุนฯ มีสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน 28,085.17 ล้านบาท และ 26,328.54 ล้านบาท ตามลำดับ และ (2) งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินปี 2562 และ ปี 2563 กองทุนฯ มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ 6,358.40 ล้านบาท และ 1,758.88 ล้านบาท ตามลำดับ โดย สตง. ได้มีความเห็นในรายงานผลการสอบบัญชีว่า รายงานการเงินดังกล่าวแสดงฐานะการเงินของกองทุนฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 และวันที่ 30 กันยายน 2563 และผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันเดียวกัน ถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด ยกเว้นผลกระทบของเรื่องที่กล่าวไว้ในวรรคเกณฑ์ในการแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข การแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ
3. ปีงบประมาณ 2562 กองทุนฯ มีการเบิกค่าใช้จ่ายแผนงาน โครงการ จำนวน 626 โครงการ เป็นเงินจำนวน 10,903.75 ล้านบาท โดยปรับปรุงลดยอดบัญชีค่าใช้จ่ายแผนงาน โครงการ และรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้าในส่วนที่ ส.กทอ. จ่ายเงินให้กับผู้ได้รับการสนับสนุน จำนวน 93 โครงการ เป็นเงินจำนวน 191.59 ล้านบาท คงเหลือที่ไม่ได้ปรับปรุงรายการบัญชี จำนวน 533 โครงการ เป็นเงินจำนวน 10,623.23 ล้านบาท ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 ส.กทอ. รายงานการรับจ่ายเงินกองทุน ดังนี้ (1) ในส่วนที่ ส.กทอ. จ่ายเงินให้กับผู้ได้รับการสนับสนุน จำนวน 356 โครงการ เป็นค่าใช้จ่ายแผนงาน โครงการ เป็นเงิน 681.47 ล้านบาท ที่จะต้องรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า ณ สิ้นปีงบประมาณ เป็นเงิน 295.55 ล้านบาท ไม่ส่งรายงานการรับจ่ายเงินกองทุน จำนวน 9 โครงการ และ (2) โครงการที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เบิกจ่ายเงิน จำนวน 168 โครงการ เป็นเงิน 9,931.94 ล้านบาท ในส่วนปีงบประมาณ 2563 กองทุนฯ มีการเบิกค่าใช้จ่ายแผนงาน โครงการ จำนวน 699 โครงการ เป็นเงินจำนวน 5,374.28 ล้านบาท โดยปรับปรุงลดยอดบัญชีค่าใช้จ่ายแผนงาน โครงการ และรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้าในส่วนที่ ส.กทอ. จ่ายเงินให้กับผู้ได้รับการสนับสนุน จำนวน 315 โครงการ เป็นเงินจำนวน 353.77 ล้านบาท คงเหลือที่ไม่ได้ปรับปรุงรายการบัญชี จำนวน 384 โครงการ เป็นเงินจำนวน 3,578.68 ล้านบาท ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ส.กทอ. รายงานการรับจ่ายเงินกองทุน ดังนี้ (1) ในส่วนที่ ส.กทอ. จ่ายเงินให้กับผู้ได้รับการสนับสนุน จำนวน 113 โครงการ เป็นค่าใช้จ่ายแผนงาน โครงการ เป็นเงิน 579.64 ล้านบาท ที่จะต้องรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า ณ สิ้นปีงบประมาณ เป็นเงิน 43.83 ล้านบาท ไม่ส่งรายงานการรับจ่ายเงินกองทุน หรือส่งรายงานไม่ถูกต้อง จำนวน 229 โครงการ เป็นเงิน 1,947.22 ล้านบาท และ (2) โครงการที่ พพ. และ สนพ. เบิกจ่ายเงิน จำนวน 42 โครงการ เป็นเงิน 1,083.03 ซึ่ง ส.กทอ. อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลที่ปิดโครงการและส่งคืนเงินกองทุนในปีงบประมาณ 2563 และปีงบประมาณ 2564 และขอข้อมูลโครงการที่ยังไม่ปิดโครงการหรืออยู่ระหว่างดำเนินโครงการ เพื่อประกอบการชี้แจงตามข้อเสนอแนะการตรวจสอบการเงินของ สตง. สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 และสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 ต่อไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสั่งการของประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไปดำเนินการต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 มาตรา 14 (2) กำหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) รายงานผลการประเมินการปฏิบัติงานและการเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติงาน ตามแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
2. ปีงบประมาณ 2564 ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 กบน. รายงานผลการประเมินการปฏิบัติงานฯ โดยสรุปได้ดังนี้ (1) อนุมัติงบประมาณการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปีงบประมาณ 2565 จำนวน 206,698,814.40 บาท (2) อนุมัติการจ่ายเงินกองทุนเพื่อดำเนินการตามแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในประเทศ จำนวน 3 ครั้ง (3) ประกาศการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนจากกองทุน และอัตราเงินชดเชยคืนกองทุนสำหรับก๊าซ LPG จำนวน 26 ฉบับ (4) จัดเตรียมมาตรการจากสถานการณ์ที่กองทุนเริ่มขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยจัดทำร่างหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินของกองทุนหากมีความจำเป็นต้องกู้เงิน และโครงการการช่วยเหลือราคา LPG ภาคครัวเรือน เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อขอรับการสนับสนุนโครงการตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และ (5) สภาพคล่องกองทุนฯ เดือนกันยายน 2564 มีเงินจ่ายออกเดือนละ 2,237 ล้านบาท ฐานะกองทุนฯ สุทธิ 11,441 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มน้ำมัน 28,872 ล้านบาท และกลุ่มก๊าซ LPG ติดลบ 17,431 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสั่งการของประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไปดำเนินการต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4(4) ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ตามมาตรา 28 (1) ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีหน้าที่เสนอแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ต่อ กพช.
2. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2565 - 2567 ตามที่สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) เสนอ ดังนี้ (1) ปรับลดการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันเชื้อเพลิงจาก 0.10 บาทต่อลิตร เป็น 0.05 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (2) ปรับกรอบการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2565 - 2567 จากประมาณการรายรับที่คาดว่าจะลดลงเนื่องจากมาตรการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ และเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าที่อาจทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสำหรับรถยนต์ลดลง โดยคงเหลือกรอบการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีละ 4,000 ล้านบาท ภายในวงเงินรวม 12,000 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และการจัดสรรเงินตามแผนงานและกลุ่มงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมภายในวงเงินรวมดังกล่าว
3. โครงสร้างของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2565 - 2567 ในวงเงินปีละ 4,000 ล้านบาท วงเงินรวมทั้งหมด 12,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 แผนงาน ได้แก่ แผนงานที่ 1 แผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน วงเงินปีละ 3,850 ล้านบาท ประกอบด้วย กลุ่มงานตามกฎหมาย 100 ล้านบาท กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน 250 ล้านบาท กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ 150 ล้านบาท กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูลข่าวสาร 150 ล้านบาท กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร 150 ล้านบาท กลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมขนาดเล็ก (SMEs) อาคาร บ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ และพื้นที่พิเศษ 1,060 ล้านบาท และกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก 1,990 ล้านบาท และแผนงานที่ 2 แผนบริหารจัดการ ส.กทอ. วงเงิน 150 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน ดังนี้ 1) การสร้างงานและสร้างรายได้ด้านพลังงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 เรื่อง กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งได้กำหนดหลักการมุ่งเน้นการฟื้นฟูและสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก มุ่งเน้นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างอาชีพสามารถรองรับแรงงานส่วนเกินที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน การบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งในด้านกำลังคน แผนงานโครงการและการลงทุน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่และภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม เช่น ภาคเอกชน มูลนิธิ และภาควิชาการ และ 2) การเตรียมความพร้อมผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานตามกฎกระทรวงพลังงาน เรื่อง กำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2563 หรือ Building Energy Code (BEC) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 โดยมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ต้องจัดเตรียมงบประมาณในการสร้างความพร้อมการกำกับดูแลในระยะยาว ทั้งนี้ ประมาณการกระแสเงินสดสำหรับกรอบการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ จากการกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนฯ สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2565 - 2567 ในอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร โดยประมาณการสถานะเงินกองทุนฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 และ ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 ที่ 26,662 ล้านบาท 18,822 ล้านบาท 14,455 ล้านบาท และ 12,005 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีกรอบระยะเวลาการดำเนินการจัดสรรเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2565 ถึงปี 2567 คาดว่าจะสามารถเริ่มต้นโครงการประจำปี 2565 ได้ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2565
4. ฝ่ายเลขานุการฯ ขอเสนอให้ กพช. พิจารณาดังนี้ (1) ขอความเห็นชอบการกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันดีเซลหมุนช้า และน้ำมันเตา ในอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 ปี และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำร่างประกาศ กพช. เพื่อเสนอประธาน กพช. พิจารณาลงนามต่อไป และ (2) ขอความเห็นชอบร่างแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2567 และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และการจัดสรรเงินตามแผนและกลุ่มงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ภายในวงเงินรวม 12,000 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันดีเซลหมุนช้า และน้ำมันเตา ในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี และอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 2 ปี ถัดไป โดยเมื่อครบ 3 ปีแล้วคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานใหม่ให้เหมาะสมต่อไป
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ลงนามในประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 ต่อไป
3. เห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2567 และให้คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมีอำนาจปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และการจัดสรรเงินตามแผนและกลุ่มงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ภายในวงเงินรวม 12,000 ล้านบาท
4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสั่งการของประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไปดำเนินการต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 มาตรา 23 กำหนดให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ออกกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง และวัสดุ อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริมการใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง และวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง หรือวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน มีสิทธิขอรับการส่งเสริมและช่วยเหลือตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบันกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ศึกษาและจัดทำกฎกระทรวงแล้ว จำนวน 73 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลจากการศึกษาจะได้มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นสูง (High Energy Efficiency Standards : HEPS) นำมาจัดทำเป็นกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง หรือวัสดุ อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำ (Minimum Energy Efficiency Standards : MEPS) นำมาจัดทำเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) คุณลักษณะที่ต้องการด้านประสิทธิภาพพลังงาน นำส่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศบังคับใช้ต่อไป ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีเห็นชอบและได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 38 ฉบับ (38 ผลิตภัณฑ์)
2. การออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง หรือออกกฎกระทรวงกำหนดวัสดุ อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จะเป็นมาตรฐานอ้างอิงสำหรับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์ของตนเอง ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวจะนำมาใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง ดำเนินการ โดย พพ. ติดฉลากแล้ว 19 ผลิตภัณฑ์ และฉลากประหยัดไฟฟ้า เบอร์ 5 ซึ่งดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ติดฉลากแล้ว 19 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ พพ. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านมาตรฐานกับ สมอ. โดยด้านการกำหนดมาตรฐาน ให้ พพ. จัดทำร่าง มอก. คุณลักษณะที่ต้องการด้านประสิทธิภาพพลังงาน หรือร่างมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำ แล้วนำส่ง สมอ. เพื่อพิจารณากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบัน พพ. ได้ส่งร่าง มอก. ให้กับ สมอ. แล้ว จำนวน 61 ฉบับ โดย สมอ. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 23 ฉบับ ในจำนวนนี้เป็นมาตรฐานบังคับ 4 ฉบับ และมาตรฐานทั่วไป 19 ฉบับ
3. พพ. ได้จัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (ร่างกฎกระทรวงฯ) และร่าง มอก. โดยร่าง มอก. ต้องผ่านการพิจารณาของคณะทำงานวิชาการที่มีความรู้ ความชำนาญในแขนงต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดทำร่างฯ และการสัมมนารับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดกระบวนการ ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ (1) คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย พพ. โดยผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 และวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 (2) คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน โดยผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 และวันที่ 15 กันยายน 2559 (3) คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย กระทรวงพลังงาน โดยผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 และวันที่ 10 สิงหาคม 2560 (4) คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 (5) กพช. พิจารณาเห็นชอบ (6) คณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบ(7) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจร่างกฎกระทรวงฯ (8) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงนามเสนอลงประกาศราชกิจจานุเบกษา (9) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา โดยร่าง มอก. ที่ผ่านขั้นตอนที่ 2 คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน แล้ว พพ. จะนำส่ง สมอ. เพื่อพิจารณากำหนด มอก. คุณลักษณะที่ต้องการด้านประสิทธิภาพพลังงานต่อไป
4. พพ. ขอเสนอร่างกฎกระทรวงฯ จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ ดังนี้ (1) ร่างกฎกระทรวงกำหนดปั๊มความร้อนแบบดึงความร้อนจากอากาศถ่ายเทให้แก่น้ำที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... ค่าประสิทธิภาพพลังงานของปั๊มความร้อน ให้กำหนดตามขนาดกำลังความร้อนของปั๊มความร้อนที่ผู้ผลิตระบุ โดยขนาดกำลังความร้อน 4 ถึง 36 กิโลวัตต์ความร้อน ให้กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงาน 3.0 ถึง 4.0 (2) ร่างกฎกระทรวงกำหนดฟิล์มติดกระจกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. .... ค่าประสิทธิภาพพลังงานของฟิล์มติดกระจก ให้กำหนดตั้งแต่ 0.45 ถึง 0.30 (3) ร่างกฎกระทรวงกำหนดฉนวนอุตสาหกรรมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. .... ค่าประสิทธิภาพพลังงานของฉนวนอุตสาหกรรม ให้กำหนดตามชนิด ความหนาแน่น และความหนาของฉนวนอุตสาหกรรมที่ผู้ผลิตระบุ ดังนี้ ชนิดที่ 1 ฉนวนใยแก้ว ความหนาแน่นมากกว่าหรือเท่ากับ 48 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ความหนา 25 มิลลิเมตร ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 0.57 ถึง 0.74 ตารางเมตรเคลวินต่อวัตต์ ความหนาแน่นน้อยกว่าหรือเท่ากับ 24 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ความหนา 50 มิลลิเมตร ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 0.91 ถึง 1.25 ตารางเมตรเคลวินต่อวัตต์ ความหนาแน่น 32 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ความหนา 50 มิลลิเมตร ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 1.01 ถึง 1.25 ตารางเมตรเคลวินต่อวัตต์ และความหนาแน่นมากกว่าหรือเท่ากับ 48 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ความหนา 50 มิลลิเมตร ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 1.19 ถึง 1.59 ตารางเมตรเคลวินต่อวัตต์ ชนิดที่ 2 ฉนวนใยหิน ความหนาแน่นมากกว่าหรือเท่ากับ 80 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ความหนา 25 มิลลิเมตร ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 0.58 ถึง 0.81 ตารางเมตรเคลวินต่อวัตต์ และความหนาแน่นมากกว่าหรือเท่ากับ 80 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ความหนา 50 มิลลิเมตร ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 1.12 ถึง 1.41 ตารางเมตรเคลวินต่อวัตต์ (4) ร่างกฎกระทรวงกำหนดเตารังสีอินฟราเรดที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... ค่าประสิทธิภาพพลังงานของเตารังสีอินฟราเรด ให้กำหนดตั้งแต่ร้อยละ 55 ถึงร้อยละ 74 และ (5) ร่างกฎกระทรวงกำหนดพัดลมอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... ค่าประสิทธิภาพพลังงานของพัดลมอุตสาหกรรม ให้กำหนดตั้งแต่ FEG67 ถึง FEG90
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 5 ฉบับ (5 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ ปั๊มความร้อนแบบดึงความร้อนจากอากาศถ่ายเทให้แก่น้ำที่มีประสิทธิภาพสูง ฟิล์มติดกระจกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ฉนวนอุตสาหกรรมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เตารังสีอินฟราเรดที่มีประสิทธิภาพสูง และพัดลมอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพสูง และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานนำร่างกฎกระทรวงฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างต่อไป
2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสั่งการของประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไปดำเนินการต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาว (LNG SPA) ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กับบริษัท PETRONAS LNG LTD. (PLL) ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 และให้ ปตท. ลงนามในสัญญา LNG SPA กับบริษัท PLL ภายหลังจากที่ร่างสัญญาได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องปรับปรุงข้อความในสัญญาดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เห็นควรให้ ปตท. สามารถปรับปรุงข้อความได้โดยไม่ต้องนำกลับมาเสนอขอความเห็นชอบจาก กพช. และคณะรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ปตท. ได้ลงนามสัญญา LNG SPA กับบริษัท PLL โดยมีคู่สัญญา ได้แก่ ผู้ขาย คือ บริษัท PETRONAS LNG LTD. และผู้ซื้อ คือ ปตท. ปริมาณซื้อขายรายปี (Annual Contracted Quantity: ACQ) ในปี 2560 ไม่เกินจำนวน 0.36 ล้านตันต่อปี ปี 2561 จำนวน 0.8 ล้านตันต่อปี และตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป จำนวน 1.2 ล้านตันต่อปี กำหนดส่งมอบตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 โดยปีสัญญามกราคมถึงธันวาคม อายุสัญญา 15 ปี และขยายได้อีก 5 ปี โดยคู่สัญญาเห็นชอบร่วมกัน ในส่วน Contract Price หากราคา Japan Crude Cocktail (JCC) ต่ำกว่า 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ใช้สูตรอ้างอิงราคาน้ำมันดิบ และหาก JCC มากกว่าหรือเท่ากับ 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ใช้สูตรอ้างอิงราคาน้ำมันดิบและราคาก๊าซธรรมชาติ (hybrid) ทั้งนี้ การเจรจาทบทวนสูตรราคา (Price Review) 2 ครั้งในปีที่ 5 และปีที่ 10 ของอายุสัญญา คือ ปี 2565 และปี 2570
2. การเจรจาทบทวนราคา LNG ของ ปตท. กับบริษัท PLL มีดังนี้ (1) จากสถานการณ์ราคา LNG ตลาดโลกตั้งแต่ปี 2560 ถึงปี 2563 ที่มีแนวโน้มคลายตัวลง เนื่องจากมีอุปทาน LNG เพิ่มขึ้นจากโครงการผลิต LNG ใหม่ในประเทศออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ตลาด LNG อยู่ในสภาวะอุปทานมากกว่าอุปสงค์ ปตท. จึงเห็นโอกาสเจรจา Price Review กับบริษัท PLL ภายใต้เงื่อนสัญญา เพื่อปรับลดราคา LNG จากสัญญาซื้อขายระยะยาวลงตามสถานการณ์ตลาด และจากประมาณการแนวโน้มราคาในปี 2564 ถึงปี 2569 พบว่าตลาด LNG มีแนวโน้มตึงตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศต่างๆ มีแนวโน้มจัดการการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ดีขึ้น ส่งผลให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกทั้งประเทศผู้ซื้อรายใหญ่โดยเฉพาะจีนมีนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติและ LNG ทดแทนการใช้ถ่านหิน ทำให้ตลาดมีความต้องการใช้ LNG สูงขึ้น ในทางกลับกัน ตลาดมีอุปทานเพิ่มเติมจากโครงการผลิต LNG อย่างจำกัด เนื่องจากมีการลงทุนก่อสร้างโครงการผลิตใหม่ลดลง ราคา LNG จึงมีแนวโน้มสูงขึ้นจนถึงปี 2568 หรือปี 2569 โดยบริษัท PLL อาจขอเจรจา Price Review ครั้งที่ 2 ในปี 2569 เพื่อปรับราคา LNG เพิ่มขึ้นตามสภาวะตลาด (2) วันที่ 30 ธันวาคม 2563 ปตท. ได้ยื่นหนังสือ Price Review Notice ให้บริษัท PLL เพื่อขอเจรจาทบทวนสูตรราคา ครั้งที่ 1 ตามเงื่อนไขสัญญา เนื่องจากประเมินว่าจะสามารถปรับลดราคาลงได้ (3) เงื่อนไขในสัญญา LNG SPA ระบุว่าหากคู่สัญญาไม่สามารถตกลงราคาใหม่ได้ภายใน 180 วัน นับจากวันที่ยื่นหนังสือ Price Review Notice คือวันที่ 30 มิถุนายน 2564 คู่สัญญามีสิทธิ์ขอเข้าสู่กระบวนการ Expert หรือ Arbitration ซึ่งเงื่อนไขสัญญากำหนดให้สามารถเปลี่ยนแปลงราคาสุดท้ายได้ไม่เกินบวก/ลบ ร้อยละ 7 จากราคาเดิม ปตท. และบริษัท PLL จึงได้เสนอเจรจาลดราคาลงจากเดิมร้อยละ 7 ซึ่งเทียบเท่าส่วนลดสูงสุดของกระบวนการ Expert หรือ Arbitration เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการดังกล่าวซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และอาจส่งผลต่อธุรกิจและความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท. และบริษัท PLL ในอนาคต โดยมีข้อสรุปผลการเจรจาในการปรับลดสูตรราคา LNG SPA ลงเฉลี่ยร้อยละ 7 และคงระดับ Kink Point ที่ JCC เท่ากับ 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ปตท. และบริษัท PLL ต้องลงนามแก้ไขสัญญาภายในปี 2564 เพื่อให้ราคาใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงกำหนด Price Review ครั้งต่อไป (4) ผลการเจรจาครั้งนี้สามารถลดต้นทุนการจัดหา LNG ลงประมาณ 900 ถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือรวมประมาณ 4,500 ถึง 5,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2565 ถึงปี 2569 หรือลดต้นทุนค่า Ft ประมาณ 0.42 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเป็นประโยชน์กับประเทศ (5) วันที่ 19 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการ ปตท. ได้เห็นชอบผลการเจรจา Price Review และการแก้ไขสัญญากับบริษัท PLL และให้ ปตท. ขอความเห็นชอบจากภาครัฐต่อไป และ (6) เนื่องด้วยการจัดหาสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวของ ปตท. กับบริษัท PLL ได้รับความเห็นชอบจาก กพช. และคณะรัฐมนตรี ดังนั้น การแก้ไขสัญญาใหม่ตามเงื่อนไข Price Review จึงต้องให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาก่อนขอความเห็นชอบจาก กพช. ต่อไป
3. เมื่อที่ 27 ตุลาคม 2564 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณาเรื่องการทบทวนราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Price Review) จากสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวกับบริษัท PETRONAS LNG LTD. และมีความเห็นดังนี้ (1) การทบทวนราคาก๊าซธรรมชาติเหลวจากสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวระหว่างบริษัท PETRONAS LNG LTD. กับ ปตท. เป็นไปตามเงื่อนไขการทบทวนราคา LNG ตามกรอบและช่วงเวลาที่กำหนดในสัญญา LNG SPA ซึ่ง ปตท. ได้เจรจาปรับลดราคาได้สูงสุดตามกรอบของเงื่อนไขสัญญาที่ได้กำหนดไว้แล้ว คือ ลดลงร้อยละ 7 (2) เพื่อให้การพิจารณาให้ความเห็นโครงการ/การปฏิบัติตามสัญญาต่างๆ ในครั้งต่อๆ ไป เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ละเอียด รอบคอบ เห็นควรให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการ/สัญญาต่างๆ ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้ความเห็น และ (3) ให้ ปตท. นำเสนอแนวทางการเจรจาก่อนเริ่มต้นการเจรจาสัญญาในครั้งต่อไป ซึ่ง กบง. ในการประชุมเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้ ปตท. ลงนามแก้ไขสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวกับบริษัท PETRONAS LNG LTD. ตามผลการเจรจา Price Review ภายหลังจากที่ร่างสัญญาดังกล่าวได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการปรับปรุงข้อความในสัญญาที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เห็นควรให้ ปตท. สามารถปรับปรุงข้อความได้โดยไม่ต้องนำกลับมาเสนอขอความเห็นชอบจาก กบง. และ กพช. และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ลงนามแก้ไขสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวกับบริษัท PETRONAS LNG LTD. ตามผลการเจรจาทบทวนราคา (Price Review) ภายหลังจากที่ร่างสัญญาดังกล่าวได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการปรับปรุงข้อความในสัญญาที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เห็นควรให้ ปตท. สามารถปรับปรุงข้อความได้โดยไม่ต้องนำกลับมาเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
2. ให้กระทรวงพลังงานรับข้อสั่งการของประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไปดำเนินการต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561 - 2580 (Gas Plan 2018) ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดทำแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับ Gas Plan 2018 รวมถึงศึกษาทบทวนโครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน [F-1] เพื่อให้การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยภายใต้ Gas Plan 2018 ประเทศไทยจะมี LNG Terminal ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติที่ได้รับอนุมัติแล้วรวมทั้งสิ้น 4 โครงการ กำลังการแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซรวมอยู่ที่ 34.8 ล้านตันต่อปีในปี 2570 และสามารถขยายกำลังการแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซได้ถึง 47.5 ล้านตันต่อปี โดยมีรายละเอียด ดังนี้ (1) โครงการ LNG Terminal มาบตาพุด จังหวัดระยอง [T-1] กำลังการแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซ 11.5 ล้านตันต่อปี (2) โครงการ LNG Terminal บ้านหนองแฟบ จังหวัดระยอง [T-2] กำลังการแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซ 7.5 ล้านตันต่อปี สามารถขยายได้ถึง 15 ล้านตันต่อปี กำหนดแล้วเสร็จปี 2565 (3) โครงการ FSRU ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน [F-1] กำลังการแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซ 5 ล้านตันต่อปี กำหนดแล้วเสร็จปี 2567 และ (4) โครงการ LNG Terminal พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 [T-3] ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง กำลังการแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซ 10.8 ล้านตันต่อปี สามารถขยายได้ถึง 16 ล้านตันต่อปี
2. เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าตามแผน PDP 2018 (Rev.1) ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับรูปแบบการลงทุนจากโครงการ FSRU ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน [F-1] ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เป็นร่วมลงทุนกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ในสัดส่วน 50:50 ในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ตำบลหนองแฟบจังหวัดระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี [T-2] และให้ ปตท. เป็นผู้ดำเนินการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าตามแผน PDP 2018 (Rev.1) ซึ่งจากมติดังกล่าวส่งผลให้ Gas Plan 2018 ของประเทศไทยมีโครงการ LNG Terminal ที่ได้รับอนุมัติแล้วรวมทั้งสิ้น 3 โครงการมีกำลังการแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซลดลง 5 ล้านตันต่อปี โดยเหลืออยู่ที่ 29.8 ล้านตันต่อปีในปี 2570ทั้งนี้ สามารถขยายกำลังการแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซได้ถึง 42.5 ล้านตันต่อปี
3. โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีรายละเอียดการดำเนินการ ดังนี้ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดทำรายละเอียดการดำเนินการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดให้ครอบคลุมพื้นที่โครงการ และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนดำเนินโครงการในขั้นตอนต่อไป ซึ่งตามเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมทุนตามมติคณะรัฐมนตรี กนอ. ประสงค์จะร่วมลงทุนกับเอกชนแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 งานส่วนโครงสร้างพื้นฐาน และงานส่วนการก่อสร้างท่าเรือ ในส่วนของงานท่าเรือก๊าซ (LNG Terminal) และการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้อง และช่วงที่ 2 จะเริ่มคัดเลือกเอกชน เมื่อ กนอ. และคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมต่อมา เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เกี่ยวกับผลการคัดเลือกเอกชน และผลการเจรจาโครงการ โดยเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกเป็นคู่สัญญาในการพัฒนาโครงการ ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ ซึ่งปัจจุบันคือบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด จากนั้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการลงทุนโครงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตามโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งรวมถึงโครงการ LNG terminal ในพื้นที่โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562 และวันที่ 15 ตุลาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงพลังงานเพื่อขอความอนุเคราะห์ให้กระทรวงพลังงานบรรจุโครงการ LNG Terminal ดังกล่าวไว้ในแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงของประเทศเป็นการเร่งด่วนภายในเดือนตุลาคม 2564 รวมทั้งพิจารณาให้การสนับสนุนและดำเนินงานส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การออกใบอนุญาตประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง การอนุมัติอัตราค่าบริการ และการตกลงใช้บริการ LNG Terminal เพื่อให้เอกชนคู่สัญญาสามารถพัฒนาโครงการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างต่อเนื่อง และให้โครงการเร่งด่วนใน EEC Project List สามารถดำเนินการได้ตามกำหนดและเปิดใช้บริการได้ภายในปี 2569 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศและเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
4. โครงการ LNG Terminal พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 [T-3] ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง มีรายละเอียดดังนี้ (1) ผู้พัฒนาโครงการ ได้แก่ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ภายใต้สัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) กับ กนอ. (2) สถานที่ตั้ง ในพื้นที่ถมทะเลท่าเรือก๊าซ ของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง (3) ความสามารถในการแปรสภาพก๊าซ 10.8 ล้านตันต่อปี สามารถขยายได้ถึง 16 ล้านตันต่อปี (4) วงเงินลงทุนของโครงการ ประมาณ 35,000 ล้านบาท และ (5) กำหนดแล้วเสร็จ ปี 2569 คือ 5 ปี ภายหลังจากเริ่มงานถมทะเลตามขอบเขตสัญญาร่วมลงทุน
5. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณาเรื่อง โครงการ LNG Terminal พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 [T-3] ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง และมีความเห็น ดังนี้ (1) โครงการ LNG Terminal พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 [T-3] ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง ได้บรรจุอยู่ใน Gas Plan 2018 ซึ่งได้พิจารณาความเหมาะสมของการใช้ (Demand) และการจัดหา (Supply) ด้าน LNG ของประเทศไว้แล้ว (2) การพิจารณาในประเด็นโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงของประเทศ ควรมีการเชื่อมโยงระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติและมีแผนรองรับการเชื่อมโยงโครงข่ายให้เกิดความคล่องตัวในการใช้งานร่วมกับ Terminal อื่นๆ ด้วย และ (3) กกพ. จะกำกับดูแลการอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน อัตราค่าบริการ มาตรฐานทางวิศวกรรมและความปลอดภัย และด้านอื่นๆ ของโครงการดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 กำหนด
6. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ได้มีมติดังนี้ (1) เห็นชอบให้บรรจุโครงการ LNG Terminal พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 [T-3] ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง กำลังการแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซ 10.8 ล้านตันต่อปี (ขยายได้ถึง 16 ล้านตันต่อปี) ในแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงของประเทศ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป (2) เห็นชอบให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาในประเด็นดังต่อไปนี้ (2.1) มอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการ LNG Terminal พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 [T-3] ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง ตามแผนดำเนินงานของ EEC และสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด และ (2.2) มอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการกำกับดูแลและบริหารจัดการ LNG Terminal อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการจัดหา LNG ของประเทศ ให้มีการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพและมีความมั่นคง เหมาะสม และเป็นธรรม ต่อทั้งผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ และผู้ใช้พลังงาน ทั้งรายเก่าและรายใหม่ รวมถึงการสร้างระบบเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส ทันสถานการณ์ และสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันตามความเห็นของฝ่ายเลขานุการฯ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้บรรจุโครงการ LNG Terminal พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 [T-3] ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง กำลังการแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซ 10.8 ล้านตันต่อปี (ขยายได้ถึง 16 ล้านตันต่อปี) ในแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงของประเทศ และให้กระทรวงพลังงานนำความเห็นของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป
2. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินงาน ดังนี้
2.1 ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการ LNG Terminal พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 [T-3] ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง ตามแผนดำเนินงานของ EEC และสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
2.2 ดำเนินการกำกับดูแลและบริหารจัดการ LNG Terminal อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการจัดหา LNG ของประเทศ ให้มีการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความมั่นคง เหมาะสม และเป็นธรรม ต่อทั้งผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ และผู้ใช้พลังงาน ทั้งรายเก่าและรายใหม่ รวมถึงการสร้างระบบเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส ทันสถานการณ์ และสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้มีความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและ สปป. ลาว เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว (MOU) ซึ่งจะมีการดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นใน สปป. ลาวและเชื่อมโยงผ่านระบบส่งไฟฟ้าระหว่างประเทศ โดยปัจจุบันมีกรอบปริมาณความร่วมมือในการซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 9,000 เมกะวัตต์ และมีสถานภาพการซื้อขายไฟฟ้า โดยมีโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 5,421เมกะวัตต์ จำนวน 10 โครงการ และโครงการที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 514 เมกะวัตต์ จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการน้ำเทิน 1 รวมปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว ทั้งสิ้น 5,935 เมกะวัตต์ และคงเหลือปริมาณไฟฟ้าที่สามารถรับซื้อเพิ่มเติมจาก สปป. ลาว ประมาณ 3,065 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป. ลาว ได้มีหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน แจ้งความประสงค์เสนอขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ จำนวน 5 โครงการ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 4,200 เมกะวัตต์ และขอให้พิจารณาขยายปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้ MOU เพื่อรองรับข้อเสนอขายไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้พิจารณากรอบแผนพลังงานชาติและพิจารณาการขยายกรอบ MOU ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ และมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) บริหารจัดการและพิจารณาทบทวนปรับปรุงแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ให้สอดคล้องกับข้อเสนอการดำเนินการในระยะเร่งด่วน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และรับทราบข้อเสนอของ สปป. ลาว ในการขอให้พิจารณาขยายกรอบปริมาณการรับซื้อใน MOU และให้กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการตามกรอบปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าภายใต้ MOU ฉบับปัจจุบัน ทั้งนี้ ในอนาคตหากมีความจำเป็นต้องขยายกรอบปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าให้กระทรวงพลังงานเสนอ กพช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
2. คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (คณะอนุกรรมการประสานฯ) ได้พิจารณาข้อเสนอขายไฟฟ้าของโครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบางแล้ว และได้มีมติเห็นชอบว่าทั้ง 4 โครงการมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป. ลาว และเห็นชอบข้อเสนออัตราค่าไฟฟ้า โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการเจรจาจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) ซึ่งการเจรจาจัดทำร่าง Tariff MOU สำหรับโครงการประเภท Run off river ต้องระบุเงื่อนไขให้ผู้พัฒนาโครงการรับผิดชอบในการเยียวยาผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้าด้วย ต่อมา กฟผ. ได้เจรจาและจัดทำร่าง Tariff MOU กับผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง และโครงการปากลายแล้วเสร็จ และคณะอนุกรรมการประสานฯ ได้มีมติเห็นชอบร่าง Tariff MOU ของทั้ง 3 โครงการ และมอบหมายให้ กฟผ. ลงนามใน Tariff MOU ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว อย่างไรก็ดี ภายใต้กรอบ MOU ปัจจุบันสามารถรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมได้อีก 3,065 เมกะวัตต์ ซึ่งปริมาณเสนอขายไฟฟ้าของโครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง และโครงปากลาย รวมทั้งสิ้น 2,128 เมกะวัตต์ ทำให้มีปริมาณไฟฟ้าคงเหลือที่รับซื้อได้อีกเพียง 937 เมกะวัตต์ ซึ่งน้อยกว่าปริมาณเสนอขายไฟฟ้าของโครงการหลวงพระบางที่เสนอขาย 1,400 เมกะวัตต์ จึงอาจจะเสนอ กพช. พิจารณาขยายกรอบ MOU ในส่วนที่เกิน 9,000 เมกะวัตต์ คู่ขนานกันไป ทั้งนี้ สำหรับโครงการน้ำงึม 3 ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ดำเนินโครงการโดยใช้เงินกู้จากรัฐบาลจีนทั้งหมด โดยหลังจากลงนาม Tariff MOU แล้ว EDL จะขายหุ้นโครงการให้กับนักลงทุน ซึ่งตามแผนแล้วบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) จะเข้าไปซื้อหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 25 แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบมูลค่าที่แท้จริงของโครงการ คณะอนุกรรมการประสานฯ จึงมีข้อเสนอแนะให้ผู้พัฒนาโครงการน้ำงึม 3 จัดทำ Full Due Diligence ให้แล้วเสร็จก่อน จึงให้ กฟผ. ดำเนินการลงนาม Tariff MOU เพื่อเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทย
3. องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้มีหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน แจ้งว่าคณะกรรมการมรดกโลกเรียกร้องขอให้ สปป. ลาว หยุดการก่อสร้างโครงการหลวงพระบางจนกว่าจะมีการจัดทำการประเมินผลกระทบมรดกโลก (Heritage Impact Assessment : HIA) เสนอ World Heritage Center พิจารณาก่อนดำเนินโครงการ จึงขอความอนุเคราะห์ประเทศไทยดำเนินการให้สอดคล้องอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติปี พ.ศ. 2515 ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ประชุมหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และมีมติให้กระทรวงพลังงานสามารถดำเนินการเจรจา Tariff MOU ในรายละเอียดไปพลางก่อน คู่ขนานกับที่ สปป. ลาว จัดทำและเสนอ HIA ต่อคณะกรรมการมรดกโลก คณะอนุกรรมการประสานฯ จึงได้มีมติให้ กฟผ. ดำเนินการเจรจาร่าง Tariff MOU กับโครงการหลวงพระบาง คู่ขนานกับการที่ สปป. ลาว จัดทำรายงาน HIA เสนอต่อ World Heritage Center เพื่อให้ Advisory Bodies พิจารณาก่อนที่จะดำเนินโครงการ จากนั้นจึงเสนอให้ กพช. มอบหมายให้ กฟผ. ลงนาม Tariff MOU กับโครงการหลวงพระบางต่อไป
4. เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 กบง. ได้พิจารณาร่าง Tariff MOU โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป. ลาว และการขยายกรอบ MOU ระหว่างไทยกับ สปป. ลาว และได้มีมติเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง โครงการปากลาย และมอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่าง Tariff MOU โครงการดังกล่าวที่ผ่านการตรวจพิจารณาจาก อส. แล้ว ทั้งนี้ โครงการน้ำงึม 3 ผู้พัฒนาโครงการต้องจัดทำ Full Due diligence ให้แล้วเสร็จก่อน กฟผ. จึงจะลงนาม Tariff MOU ได้ โดยให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU โครงการดังกล่าวในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม แต่ต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า รวมทั้งเห็นชอบการขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้ MOU จาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 9,500 เมกะวัตต์ และให้นำเสนอ กพช. พิจารณาต่อไป
5. สรุปรายละเอียดโครงการและการดำเนินการเกี่ยวกับการเจรจาและจัดทำ Tariff MOU ดังนี้ (1) โครงการน้ำงึม 3 ผู้พัฒนาโครงการ คือ Chaleun Sekong Energy Co., Ltd. (CSE) ร่วมกับ EGATi และ EDL ตั้งอยู่บนแม่น้ำงึม แขวงไซยสมบูรณ์ สปป. ลาว กำลังผลิตติดตั้ง 480 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้า ณ จุดส่งมอบ 468.78 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าประเภทอ่างเก็บน้ำ (Reservoir) พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 2,083 ล้านหน่วย อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 27 ปี กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) วันที่ 1 มกราคม 2569 (2) โครงการปากแบง ผู้พัฒนาโครงการ คือ China Datang Overseas Investment Co., Ltd. (CDTO) และ Gulf Energy Development Public Co., Ltd. (GULF) ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง แขวงอุดมไซย สปป. ลาว กำลังผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขาย ณ จุดส่งมอบ 897 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าประเภท Run off river พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 4,525 ล้านหน่วย อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 29 ปี กำหนด SCOD วันที่ 31 ธันวาคม 2571 (3) โครงการปากลาย ผู้พัฒนาโครงการ คือ Sinohydro (Hong Kong) Holding Limited (SHK) และ GULF ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง แขวงไซยะบุรี สปป. ลาว กำลังผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขาย ณ จุดส่งมอบ 763 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าประเภท Run off river พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 4,010 ล้านหน่วย อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 29 ปี กำหนด SCOD วันที่ 1 มกราคม 2575 และ (4) โครงการหลวงพระบาง ผู้พัฒนาโครงการ คือ CK Power, PT (Sole) Company Limited, Ch.Karnchang และ Petro Vietnam Power Corporation ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง สปป. ลาว กำลังผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขาย ณ จุดส่งมอบ 1,400 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าประเภท Run off river พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 6,577 ล้านหน่วย อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 35 ปี กำหนด SCOD วันที่ 1 มกราคม 2573
6. โครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง และโครงการปากลาย กฟผ. ดำเนินการเจรจาและจัดทำร่าง Tariff MOU กับผู้พัฒนาแล้วเสร็จ และร่าง Tariff MOU ดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของ อส. แล้ว สำหรับโครงการหลวงพระบาง คณะอนุกรรมการประสานฯ ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนออัตราค่าไฟฟ้า โดยราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (PE+SE) Levelised Tariff excluding UOP เท่ากับ 2.6382 บาทต่อล้านหน่วย(GWh) และมอบหมายให้ กฟผ. ไปดำเนินการเจรจาร่าง Tariff MOU กับโครงการหลวงพระบาง คู่ขนานกับที่ สปป. ลาว จัดทำรายงาน HIA เสนอต่อ World Heritage Center เพื่อให้ Advisory Bodies พิจารณาก่อนที่จะดำเนินโครงการ จากนั้นจึงเสนอให้ กพช. มอบหมายให้ กฟผ. ลงนาม Tariff MOU กับโครงการหลวงพระบางต่อไป โดยสรุปข้อเสนออัตราค่าไฟฟ้ามีดังนี้ (1) โครงการน้ำงึม 3 ปริมาณเสนอขาย 468.78 เมกะวัตต์ กำหนด COD เดือนมกราคม 2569 ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ณ ชายแดน รวมค่าก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าในฝั่งไทย 2.8934 บาทต่อหน่วย (2) โครงการปากแบง ปริมาณเสนอขาย 897 เมกะวัตต์ COD เดือนธันวาคม 2571 ค่าไฟฟ้า 2.7962 บาทต่อหน่วย และ (3) โครงการปากลาย ปริมาณเสนอขาย 763 เมกะวัตต์ COD เดือนมกราคม 2575 ค่าไฟฟ้า 2.9426 บาทต่อหน่วย
7. ภายหลังจาก กพช. เห็นชอบมอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่าง Tariff MOU กับโครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง และโครงการปากลายแล้ว กฟผ. จะต้องดำเนินการดังนี้ (1) ลงนามTariff MOU ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจาก อส. แล้วกับผู้ลงทุนโครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง และโครงการปากลาย ทั้งนี้ สำหรับโครงการน้ำงึม 3 ผู้ลงทุนจะต้องจัดทำ Full Due Diligence ให้แล้วเสร็จก่อน ถึงจะสามารถลงนาม Tariff MOU และ (2) ดำเนินการเจรจาในรายละเอียดของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) กับผู้ลงทุนโครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง โครงการปากลาย โดยยึดกรอบ Tariff MOU เป็นแนวทางในการดำเนินการเจรจา พร้อมทั้งนำรายละเอียดร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ได้จากการเจรจาเสนอต่อคณะอนุกรรมการประสานฯ และ อส. พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อนำเสนอ กพช. พิจารณามอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป
8. ฝ่ายเลขานุการฯ มีความเห็น ดังนี้ (1) กพช. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และ กกพ. ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าให้ครบตามกรอบ MOU ฉบับปัจจุบันก่อน แล้วจึงเสนอ กพช. พิจารณาขยายกรอบปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณไฟฟ้าคงเหลือภายใต้กรอบ MOU ที่สามารถรับซื้อเพิ่มเติมได้อีก 3,065 เมกะวัตต์ แต่หลังจากที่ กพช. เห็นชอบให้ กฟผ. ลงนาม Tariff MOU กับโครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง และโครงการปากลาย ซึ่งมีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายรวมทั้งสิ้น 2,128 เมกะวัตต์แล้ว จะทำให้มีปริมาณไฟฟ้าคงเหลือที่รับซื้อได้ตามกรอบ MOU เดิมอีกเพียง 937 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการประสานฯ ได้มอบหมายให้ กฟผ. ไปเจรจาร่าง Tariff MOU กับโครงการหลวงพระบางคู่ขนานกับการที่ สปป. ลาว จัดทำรายงาน HIA เสนอต่อ World Heritage Center เพื่อให้ Advisory Bodies พิจารณาก่อนที่จะดำเนินโครงการ จากนั้นจึงเสนอให้ กพช. มอบหมายให้ กฟผ. ลงนาม Tariff MOU กับโครงการหลวงพระบางต่อไป และ (2) การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังน้ำจาก สปป. ลาว สอดคล้องตามกรอบแผนพลังงานชาติ ที่จะทำให้ภาคพลังงานสามารถบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ และเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ สปป. ลาว ตามที่ได้ขอรับการสนับสนุนในการรักษาเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับ สปป. ลาว ดังนั้น จึงเห็นควรขอความเห็นชอบการขยายกรอบ MOU จาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 9,500 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับการเสนอขายไฟฟ้าของโครงการหลวงพระบาง โดยปริมาณดังกล่าวไม่เกินเกณฑ์ปริมาณความมั่นคงในการรับซื้อไฟฟ้าจาก 1 ประเทศ ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 13 ของกำลังผลิตทั้งหมด ณ ปลายแผน PDP2018 Rev.1 จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง โครงการปากลาย และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในร่าง Tariff MOU ทั้ง 3 ฉบับ ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว ทั้งนี้ สำหรับโครงการน้ำงึม 3 จะต้องดำเนินการจัดทำ Full Due diligence ให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะสามารถลงนามได้
2. เห็นชอบให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU ของโครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง โครงการปากลาย ในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เพื่อให้มีผลทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบอัตราค่าไฟ
3. เห็นชอบการขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว จาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์ ตามผลการหารือในที่ประชุมที่เห็นว่าข้อเสนอการขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ จาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 9,500 เมกะวัตต์ ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอนั้น จะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ของประเทศไทยได้อย่างจำกัด และครอบคลุมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแค่บางส่วน ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้พิจารณาข้อเสนอเดิมที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เคยเสนอในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ที่เสนอขอขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ เป็น 10,500 เมกะวัตต์ โดยข้อเสนอดังกล่าวได้มีการพิจารณาครอบคลุมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่อยู่ระหว่างการดำเนินการกับ สปป.ลาว ทั้งหมดและสอดคล้องกับข้อเสนอของ สปป.ลาว ซึ่งจะเป็นการปิดความเสี่ยงในการขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ในอนาคต และรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ไฟฟ้าจากพลังน้ำมีต้นทุนต่ำกว่าพลังงานสะอาดประเภทอื่น ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศในอนาคตเมื่อประเทศไทยมีระดับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ การขยายกรอบดังกล่าวยังอยู่ภายใต้กรอบความมั่นคงทางพลังงาน ที่กำหนดให้รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศใดประเทศหนึ่งได้ไม่เกินร้อยละ 13 ของกำลังการผลิตทั้งหมดในระบบ
เรื่องที่ 8 การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT)
สรุปสาระสำคัญ
1. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ. 2555 - 2564) หรือ AEDP 2012 - 2021 กำหนดเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประเภทเชื้อเพลิงขยะ 400 เมกะวัตต์ และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 - 2579 (AEDP 2015) กำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประเภทเชื้อเพลิงขยะชุมชนเพิ่มเป็น 500 เมกะวัตต์
2. เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2549 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะโดยให้ส่วนเพิ่มราคาซื้อไฟฟ้า (Adder) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP)ในอัตรา 2.50 บาทต่อหน่วย และต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 กพช. ได้เปลี่ยนรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าจาก Adder เป็น Feed-in Tariff (FiT) โดยเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับ VSPP ที่ผลิตไฟฟ้าจากขยะ ดังนี้ (1) ขยะ (การจัดการขยะแบบผสมผสาน) กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 6.34 บาทต่อหน่วย กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 1 แต่ไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 5.82 บาทต่อหน่วย และกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 5.08 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี มี FiT Premium 2 ส่วนคือ สำหรับโครงการกลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาพในช่วง 8 ปีแรก อยู่ที่ 0.70 บาทต่อหน่วย และสำหรับโครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี) อยู่ที่ 0.50 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการ และ (2) ขยะ (หลุมฝังกลบ) อัตรา FiT อยู่ที่ 5.60 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 10 ปี มี FiT Premium สำหรับโครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ที่ 0.50 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการ
3. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 กพช. มีมติให้รับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนโดยไม่ต้องผ่านการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) ต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติกำหนดวัน SCOD เป็นภายในปี 2562 แต่เนื่องจากมีการออกพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทยที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 กำหนดวัน SCOD ดังกล่าวจึงได้เลื่อนเป็นภายในปี 2564 ต่อมาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศ กกพ. เรื่อง การจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2559 (สำหรับ VSPP) โดยได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 11 โครงการ และมีกำหนด SCOD ภายในปี 2564
4. ในส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนสำหรับ SPP เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 กพช. ได้พิจารณาข้อเสนอขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (อบจ. นนทบุรี) เกี่ยวกับโครงการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 และผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 โดยเห็นชอบให้ อบจ. นนทบุรี ดำเนินโครงการตามขั้นตอนแห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และ กพช. มีมติเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ 3.66 บาทต่อหน่วย และในส่วนของการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนสำหรับ SPP เป็นการทั่วไป กพช. มีมติเห็นชอบในหลักการดังนี้ (1) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ (2) ส่งเสริมลักษณะ Non-firm (3) อัตรา FiT สำหรับ SPP จากเชื้อเพลิงขยะชุมชน ไม่ควรสูงไปกว่าเพดานของอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการประเภท SPP Hybrid Firm (ในปัจจุบันคือ 3.66 บาทต่อหน่วย ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560) เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้า โดยผู้พัฒนาโครงการอาจสามารถเสนอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแนวทางการสนับสนุนให้หน่วยงานท้องถิ่นจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย (Tipping Fee) ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เพื่อให้สามารถสนับสนุนค่า Tipping Fee ให้สอดคล้องกับกรอบอัตรา FiT สำหรับ SPP จากเชื้อเพลิงขยะชุมชนที่เสนอให้ กพช. พิจารณากำหนดต่อไป (4) การรับซื้อไฟฟ้าไม่ต้องผ่านกระบวนการแข่งขันด้านราคา (5) กำหนดวัน SCOD ภายในปี 2563 ต่อมา กบง. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 ได้พิจารณาข้อมูลการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะที่ได้ดำเนินการจนถึงเดือนพฤษภาคม 2561 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 447.48 เมกะวัตต์ และมีมติกำหนดปริมาณรับซื้อไฟฟ้าโครงการ อบจ. นนทบุรี 20 เมกะวัตต์ รวมเป็น 467.48 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไปตามกรอบของแผน AEDP 2015 ที่ 500 เมกะวัตต์ และเห็นชอบให้เลื่อนกำหนดวัน SCOD สำหรับ SPP ที่มีกำหนดวัน SCOD ภายในปี 2563 เป็นภายในปี 2565 โดยยังคงอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 กบง. ได้มีมติเห็นชอบหลักการ และข้อเสนออัตรารับซื้อไฟฟ้าในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 สำหรับ VSPP และ SPP รวมทั้งมอบหมาย กกพ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ กพช. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
5. กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 - 2564) ซึ่งการนำขยะมูลฝอยมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เป็นแนวทางหนึ่งในการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ โดยมีผลพลอยได้เป็นพลังงานไฟฟ้า ต่อมา กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 และคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 มีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ซึ่งกำหนดให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะปริมาณ 400 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ในปี 2565
6. เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) มีหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน แจ้งข้อมูลการดำเนินโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายการจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน โดยโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 รวม 21 โครงการ กำลังผลิตติดตั้งรวม 198.30 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 178.32 และต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 สถ. แจ้งปรับเพิ่มเป็น 23 โครงการ กำลังผลิตติดตั้งรวม 237.80 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 212.07 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน แจ้งสรุปผลการปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรีในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล) โดยคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 มีมติเห็นชอบตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ซึ่งมีข้อสั่งการที่เกี่ยวกับกระทรวงพลังงาน คือ ผลการดำเนินการและปัญหาของโรงเตาเผาขยะมูลฝอยชุมชน และมีข้อสั่งการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะปริมาณ 400 เมกะวัตต์ ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1โดยให้ สนพ. กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (FiT) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าขยะในปี 2564 เพื่อให้สามารถรับซื้อได้ภายในปี 2565
7. กระทรวงพลังงานขอเสนอหลักการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 ดังนี้ (1) การรับซื้อไฟฟ้าไม่ต้องผ่านกระบวนการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) สอดคล้องตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 โดยต้องเป็นโครงการที่สอดคล้องกับ Roadmap หรือแผนแม่บทระดับชาติของรัฐบาล และต้องผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย และได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 (2) การส่งเสริมจะเป็นในลักษณะ Non-firm ทั้ง SPP และ VSPP เนื่องจากปัญหาการจัดหาเชื้อเพลิงขยะที่ไม่แน่นอนอาจส่งผลให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอ (3) การพิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT จะสะท้อนต้นทุนของโรงไฟฟ้าขยะ ทั้งค่าก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบำรุงรักษา (O&M) ตลอดอายุการใช้งานโรงไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดเตรียมขยะสำหรับการผลิตไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายในการควบคุมมลพิษ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าจะได้รับค่ากำจัดขยะ (Tipping Fee) จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรซึ่งแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้ต้นทุนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงสุทธิแตกต่างกัน ดังนั้น การพิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้าจะต้องคำนึงถึงข้อจำกัดดังกล่าว ร่วมกับประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าและการกำจัดขยะของโครงการโรงไฟฟ้าขยะ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุดในภาพรวม (4) กำหนดให้มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายในปี 2567 - 2568 ตามการทบทวนปรับปรุงแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2573 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก กบง. เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 215 เมกะวัตต์ โดยพิจารณาจากโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แบ่งเป็น VSPP ปริมาณ 115 เมกะวัตต์ และ SPP ปริมาณ 100 เมกะวัตต์ (ข้อมูลตามหนังสือของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น วันที่ 25 พฤษภาคม 2564) และ (5) การรับซื้อไฟฟ้าจะต้องพิจารณาถึงความพร้อมในด้านต่างๆ ได้แก่ ที่ดิน ปริมาณเชื้อเพลิง เทคโนโลยี ระบบสายส่ง/สายจำหน่าย แหล่งเงินทุน และประสบการณ์ของผู้พัฒนาโครงการ เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จได้ตามเป้าหมายภายใต้แผนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนตามแผน PDP และเป็นไปตามแนวทางการบริหารจัดการขยะมูลฝอยตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 - 2564)
8. ข้อเสนออัตรารับซื้อไฟฟ้าจากจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 เนื่องจากโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของกรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นการพิจารณาความเหมาะสมของโครงการจากผลการศึกษา ซึ่งหลายโครงการได้ลงนามสัญญากับภาคเอกชนให้ดำเนินโครงการแล้ว และ กบง. ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 ได้มอบหมายให้ กกพ. ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าสำหรับโครงการที่มีความพร้อมในระยะถัดไป จึงเห็นควรให้กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT ไม่เกินกรอบอัตราสูงสุดตามที่ กพช. เคยมีมติในเรื่องนี้ไว้แล้ว ดังนี้ (1) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับ VSPP สำหรับปี 2565 อ้างอิงอัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ FiT ตาม มติ กพช. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 เมกะวัตต์ อัตรา FiTF FiTV,2567 และ FiT อยู่ที่ 2.39 2.69 และ 5.08บาทต่อหน่วย ตามลำดับ ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี มี FiT Premium 8 ปีแรก อยู่ที่ 0.70 บาทต่อหน่วยและ (2) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับ SPP สำหรับปี 2565 อ้างอิงอัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ FiT ตาม มติ กพช. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ที่กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 แต่ไม่เกิน 50เมกะวัตต์ อัตรา FiTF FiTV,2567 และ FiT อยู่ที่ 1.81 1.85 และ 3.66 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี ในส่วนของการประกาศรับซื้อไฟฟ้า เห็นควรมอบหมายให้ กกพ. พิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสม ภายใต้กรอบอัตราสูงสุดในข้อ (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี โดยคำนึงถึงต้นทุนโครงการประกอบกับปัจจัยด้านอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศในภาพรวม เพื่อใช้เป็นอัตราในการประกาศรับซื้อไฟฟ้าทั้งนี้ อัตราที่ กกพ. ประกาศข้างต้นให้ใช้กับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 โดยโครงการที่ได้ผลการคัดเลือกเอกชนแล้วให้มีกำหนดวัน SCOD ภายในปี 2567 ส่วนโครงการที่ยังไม่ได้ผลการคัดเลือกเอกชนให้มี SCOD ภายในปี 2568 ทั้งนี้ กำหนดให้มีอายุสัญญา 20 ปี นับจาก SCOD หรือวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วแต่วันใดเกิดขึ้นก่อน
9. การดำเนินโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการมอบให้เอกชนดำเนินการหรือร่วมดำเนินการตามมาตรา 34/1 ของพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 โดยเอกชนจะได้ค่ากำจัดขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีแหล่งที่มาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรืองบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าของประชาชนโดยรวม ดังนั้น เพื่อมิให้เป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า หากจะมีโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มเติมจากรายชื่อโครงการที่กระทรวงมหาดไทยรายงานการดำเนินงานผ่าน กกพ. มาในครั้งนี้ หรือเป็นโครงการใหม่ที่จะมีในอนาคต ควรให้ กพช. กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า และ กกพ. ออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าก่อน เพื่อนำอัตราและเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าไปพิจารณาประกอบการกำหนดค่ากำจัดขยะที่มีความเหมาะสมและดำเนินการคัดเลือกโครงการต่อไป ทั้งนี้ ตามนัยของมติ กพช. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบข้อเสนอหลักการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565
2. เห็นชอบข้อเสนอกรอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าสูงสุดจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT ปี 2565 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP)
3. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมภายใต้กรอบอัตราสูงสุดในข้อ 2 (แล้วแต่กรณี) โดยคำนึงถึงต้นทุนโครงการประกอบกับปัจจัยด้านอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศในภาพรวม เพื่อใช้เป็นอัตราในการประกาศรับซื้อไฟฟ้าแล้วรายงานให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ทราบ และดำเนินการออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 ให้เป็นไปตามข้อเสนอหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนที่ได้รับความเห็นชอบตามข้อ 1 ต่อไป
4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสั่งการของประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไปดำเนินการต่อไป
เรื่องที่ 9 ทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563-2567
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563 – 2567 ตามที่พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 มาตรา 14 (1) กำหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เสนอแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
2. เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (อบน.) ได้มีมติเห็นชอบให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563 - 2567 ในแนวทางการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรองรับกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้ ตามมาตรา 26 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 โดย สกนช. ได้ทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ฯ ดังกล่าว และเห็นควรแก้ไขหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้ (1) ตัดข้อความการระบุวงเงินกู้ในข้อ 4 จากเดิม “4. การบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้ (จำนวนเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท) แล้วต้องไม่เกินจำนวน 40,000 ล้านบาท ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562...” แก้ไขเป็น “4. การบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้แล้วต้องไม่เกินจำนวน 40,000 ล้านบาท ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562...” และ (2) แก้ไขข้อ 5 5) จากเดิม “5) กรณีฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ 20,000 ล้านบาท ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหยุดการชดเชย” แก้ไขเป็น “5) กรณีฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ 20,000 ล้านบาท หรือติดลบตามจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 26 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหยุดการชดเชย” ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 กบน. ได้มีมติเห็นชอบการทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ฯ ดังกล่าว และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ กบน. นำเสนอต่อ กพช. พิจารณาต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563 – 2567 ในหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเสนอ ดังนี้
(1) ตัดข้อความการระบุวงเงินกู้ในข้อ 4 “...จำนวนเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท...” ออก
(2) แก้ไขข้อ 5 5) เป็น “5) กรณีฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ 20,000 ล้านบาท หรือติดลบตามจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 26 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหยุดการชดเชย”
2. ให้กระทรวงพลังงานรับข้อสั่งการของประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไปดำเนินการต่อไป