TOU
Introduction
อัตราค่าไฟฟ้า ตามช่วงเวลา ของการใช้ หรือ ทีโอยู (Time of Use Rate - TOU) เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2540 โดยขณะนั้นกำหนดช่วง On Peak ตั้งแต่วันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 09.00-22.00 น. และช่วง Off Peak ตั้งแต่วันจันทร์-เสาร์ เวลา 22.00-09.00 น. และวันอาทิตย์ทั้งวัน โดยกำหนดให้ อัตราค่าไฟฟ้า ทีโอยู เป็นอัตราเลือก สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายเดิม แต่เป็นอัตราบังคับ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหม่ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ตั้งแต่ 355,000 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป หรือใช้พลังไฟฟ้า เกินกว่า 2,000 กิโลวัตต์ขึ้นไป ปรากฏว่า ในช่วง 3 ปี (จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2543) มีผู้ใช้ไฟฟ้า ใช้อัตราค่าไฟฟ้า ทีโอยู ทั้งสิ้น 562 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้า ที่สมัครใจ เลือกใช้อัตราค่าไฟฟ้า ทีโอยู
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2543 รัฐบาลได้ประกาศ โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ และได้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้า ทีโอยู ให้มีช่วง Off Peak มากขึ้น คือ เพิ่มวันเสาร์ และวันหยุดราชการ (ยกเว้นวันหยุดชดเชย) ทั้งวันด้วย และกำหนดให้เป็นอัตราเลือก สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายเดิม แต่เป็นอัตราบังคับ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า กิจการเฉพาะอย่าง (กิจการโรงแรม) และผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหม่ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ตั้งแต่ 250,000 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป หรือใช้พลังไฟฟ้าเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ขึ้นไป ผลปรากฏว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (สิ้นเดือนกันยายน 2544) มีผู้ใช้ไฟฟ้า ใช้อัตราค่าไฟฟ้า ทีโอยู เพิ่มขึ้นเป็น 2,920 ราย ผู้ใช้ไฟฟ้า ทีโอยู เหล่านี้ ส่วนใหญ่ มีความพึงพอใจ กับอัตราค่าไฟฟ้า ทีโอยู (เนื่องจาก ทำให้ค่าไฟฟ้า ของตนลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าเดิม
Rate
คือ อัตราการจัดเก็บค่าไฟฟ้าที่ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาการใช้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ
- On Peak ตั้งแต่วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00-22.00 น.
- Off Peak ตั้งแต่วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 22.00-09.00 น.
และวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดราชการ (ไม่รวมวันหยุดชดเชย) ทั้งวัน
อัตราค่าไฟฟ้าทีโอยูที่กำหนดใช้ในปัจจุบัน สะท้อนถึงต้นทุนไฟฟ้าอย่างแท้จริง กล่าวคือ ในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง (On Peak) ค่าไฟฟ้าจะสูง เนื่องจากการไฟฟ้า ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง / สายจำหน่าย ให้เพียงพอ ต่อความต้องการไฟฟ้าในช่วงนี้ และต้องใช้เชื้อเพลิงทุกชนิด (ทั้งถูกและแพง) ในการผลิตไฟฟ้า แต่ในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าต่ำ (Off Peak) ค่าไฟฟ้าจะต่ำ เนื่องจาก การไฟฟ้าไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้า และระบบสายส่ง / สายจำหน่าย (สร้างไว้แล้วในช่วง On Peak) จึงไม่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าในส่วนนี้ มีเพียงต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้า สามารถเลือกใช้เชื้อเพลิง ที่ถูกมาผลิตไฟฟ้า จึงทำให้ต้นทุนพลังงานไฟฟ้า ในช่วง Off Peak ต่ำกว่าช่วง On Peak มากกว่าครึ่งหนึ่ง
ทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์จาก TOU
อัตรา TOU สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้ เมื่อมีการบริหารการใช้ไฟฟ้าที่ดีและเหมาะสม เช่น
1. หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ หรือเครื่องจักร ที่ก่อให้เกิดความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) ในช่วง On Peak (09.00-22.00 น.) เพื่อลดค่าพลังไฟฟ้า (Demand Charge)
2. ในกรณีที่กิจการนั้นมีการทำงาน 2 กะ พิจารณาเลื่อนขบวนการผลิต 1 กะ ให้ไปอยู่ในช่วง Off Peak (22.00-09.00 น.) เพื่อลดค่าความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า ในช่วง On Peak ซึ่งค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Charge) ในช่วง Off Peak จะถูกกว่าช่วง On Peak กว่าร้อยละ 55
3. ทำงานวันเสาร์วันอาทิตย์และวันหยุดราชการ อย่างเต็มที่ แทนวันทำงานปกติ เนื่องจากวันดังกล่าว ไม่ต้องเสียค่าพลังไฟฟ้า และค่าพลังงานไฟฟ้า จะถูกกว่าวันปกติในช่วง On Peak กว่าร้อยละ 65
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรคำนึงถึง การนำเอาเทคโนโลยี ในการประหยัดพลังงาน ที่เหมาะสม มาใช้ควบคู่กัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า
แล้วใครได้ประโยชน์
1. อุตสาหกรรมที่มีการผลิตอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง และมีการใช้พลังงาน อย่างสม่ำเสมอ (Load Factor สูง)
2. โรงแรมและกิจการให้เช่าพักอาศัย ซึ่งเสียค่าไฟฟ้าในอัตราปกติ ที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้า ในช่วงกลางคืน สูงกว่ากลางวัน
3. ผู้ใช้ไฟฟ้า ที่สามารถปรับเปลี่ยนเวลาทำงาน ให้มาอยู่ในช่วง Off Peak ได้ โดยไม่ส่งผลกระทบ ต่อกระบวนการผลิต
4. ผู้ใช้ไฟฟ้าแบบ ทีโอยู รายเดิม
ผู้ใช้ไฟฟ้าจะทำการคำนวณ และเปรียบเทียบค่าไฟฟ้าแบบ ทีโอดี และแบบ ทีโอยู ได้อย่างไร?
อัตราค่าไฟฟ้า ทีโอดี เคยเป็นพระเอกในช่วงปี 2535-2539 ได้ช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ในช่วงเวลา 18.30-21.30 น. ลงได้ประมาณ 700 เมกะวัตต์ มีผลทำให้ความต้องการไฟฟ้า ในช่วงกลางวัน ขยับตัวสูงขึ้นมาในระดับเดียวกับช่วงเวลา 18.30-21.30 น. ทำให้ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ของประเทศ เปลี่ยนมาเป็นช่วงเวลา 9.00-22.00 น. ดังนั้น สถานการณ์ปัจจุบัน อัตราค่าไฟฟ้า ทีโอยู จึงมีความเหมาะสมมากกว่าอัตราค่าไฟฟ้า ทีโอดี อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ไฟฟ้าอัตรา ทีโอดี เดิม ยังคงมีสิทธิ์ใช้อัตรานี้อยู่ และมีสิทธิ์ที่จะเลือกใช้อัตรา ทีโอยู ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า
โดยปกติ อัตราค่าฟ้า ทีโอยู จะเหมาะสมกับผู้ใช้ไฟฟ้ากิจการขนาดใหญ่ ซึ่งมีการใช้ไฟฟ้ามากตลอดวัน เนื่องจากได้ประโยชน์ จากค่าไฟฟ้าในช่วง Off Peak จึงทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้า ทีโอดี สมัครใจเลือกใช้อัตรา ทีโอยู เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในช่วงปี 2540-2543 (ช่วง 3 ปี) มีผู้ใช้ไฟฟ้า ทีโอดี เปลี่ยนมาใช้ ทีโอยู ประมาณ 500 ราย แต่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 จนถึงเดือนกันยายน 2544 (ภายใน 1 ปี) มีผู้ใช้ไฟฟ้า ทีโอดี เปลี่ยนมาใช้อัตราค่าไฟฟ้า ทีโอยู เพิ่มขึ้นถึง 230 ราย ทำให้ปัจจุบัน เหลือผู้ใช้ไฟฟ้า ทีโอดี ประมาณ 1,690 ราย และนับวัน ผู้ใช้ไฟฟ้า ทีโอดี จะเปลี่ยนมาใช้ ทีโอยู มากขึ้น