มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 49)
วันพุธที่ 11 มกราคม 2538
1. รายงานสถานการณ์ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า (ปัญหาไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับ)
2. ผลการดําเนินงานของการขนส่งน้ำมันทางท่อ
3. ผลการดําเนินงานในการลดปริมาณกํามะถันในน้ำมันเตา
4. รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าการตลาด
5. ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว
6. ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปของ IPP
7. โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
8. ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
9. ข้อเสนอเพิ่มเติมในการปรับปรุงกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(นายชวน หลีกภัย)
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
(นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์)
เรื่องที่ 1 รายงานสถานการณ์ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า (ปัญหาไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับ)
สรุปสาระสำคัญ
รายงานสถานการณ์ไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับในช่วงปีงบประมาณ 2537 ที่ผ่านมา ดังนี้
1. เขตการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในช่วงปีงบประมาณที่ผ่านมา ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขต กฟน. ประสบปัญหาจํานวนไฟฟ้าดับถาวรเฉลี่ย 6 ครั้ง ต่อผู้ใช้ไฟหนึ่งราย ซึ่งลดลงจากปีงบประมาณ 2536 ในอัตราเกือบร้อยละ 20 อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาไฟฟ้าดับนานขึ้นในเขต กฟน. ปัญหาหลักของไฟฟ้าดับในระบบ กฟน. ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากอุปกรณ์ชํารุด จากคน/สัตว์/รถยนต์ และจากภัยธรรมชาติ โดยในช่วงที่ผ่านมา มีพายุฝนค่อนข้าง มาก ฉะนั้น สาเหตุจากภัยธรรมชาติ เป็นสาเหตุที่สําคัญที่ทําให้ปัญหาไฟฟ้าดับไม่ได้ลดลงมากเท่าที่ควร บางเขต ปัญหาไฟฟ้าดับจะอยู่ในระดับค่อนข้างสูง เช่น เขตบางใหญ่ มีนบุรี บางพลี และนนทบุรี แต่เขตชั้นใน เช่น เขต วัดเลียบ ยานนาวา คลองเตย และสมุทรปราการ ปัญหาไฟฟ้าดับอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำ
2. เขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ปัญหาไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับดีขึ้น ในช่วงปีงบประมาณที่ผ่านมา จํานวนไฟฟ้าดับถาวร อยู่ในระดับ 9 ครั้งต่อผู้ใช้หนึ่งราย ซึ่งลดลงจาก 11 ครั้ง ต่อผู้ใช้ไฟหนึ่งราย ในปีงบประมาณ 2536 และระยะเวลาที่ไฟฟ้าดับก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยสาเหตุสําคัญที่ทําให้ไฟฟ้าดับในเขต กฟภ. ดีขึ้น เนื่องมาจากปัญหาไฟฟ้าดับจากส่วนของ กฟผ. ลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ส่วนสาเหตุที่มาจากระบบจําหน่ายของ กฟภ. ของปีที่แล้วอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2536 อย่างไรก็ตาม บางเขตยังมีปัญหาไฟฟ้าดับค่อนข้างมาก เช่น ภาคใต้ ปัญหาต้นยางโดนสายไฟเป็นหลัก บางเขตมีปัญหาไฟฟ้าดับเพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้ว เช่น ภาคเหนือ (เชียงใหม่, พิษณุโลก) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (อุบลราชธานี) เป็นต้น ซึ่งสาเหตุหลักมาจากพายุฝน โดยในปีที่แล้วได้เกิดพายุฝนค่อนข้างมาก
3. เขตการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สาเหตุไฟฟ้าดับที่เป็นผลมาจาก กฟผ. ในปีที่ผ่านมาดีขึ้น แต่ก็มีบางส่วนที่ยังมีไฟดับอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. โดยในรอบปีที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ 2 เหตุการณ์ คือ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2537 เกิดอุบัติเหตุจากคนงานทําการฉีดล้างลูกถ้วยด้วยวิธี HOT LINE ที่สถานีไฟฟ้าบางปะกงแล้วเกิดระเบิด ทําให้ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง และเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2537 เกิดจากระบบการทํางานของคอมพิวเตอร์ที่สถานีไฟฟ้าหนองจอกขัดข้อง ทําให้ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณค่อนข้างกว้างเช่นกัน
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 ผลการดําเนินงานของการขนส่งน้ำมันทางท่อ
สรุปสาระสำคัญ
1. ตามที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533 เห็นชอบให้ดําเนินโครงการท่อขนส่งน้ำมัน ศรีราชา-สระบุรี ความยาว 252 กิโลเมตร โดย ปตท. เป็นแกนกลางในการจัดตั้งบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จํากัด (Thai Petroleum Pipeline Co., Ltd.) หรือ THAPPLINE และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2534 ให้ดําเนินโครงการท่อขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นน้ำมันบางจากไปยังดอนเมืองและบางปะอิน ความยาว 69 กิโลเมตร โดยบริษัท การบินไทย จํากัด เป็นแกนกลางในการจัดตั้งบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด (Fuel Pipeline Transportation Co.,Ltd.) หรือ FPT เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดใน กทม. นั้น บัดนี้การดําเนินการได้เสร็จสิ้นลงแล้ว และได้เริ่มจ่ายน้ำมันแล้ว โดยปริมาณน้ำมันที่ขนส่งทางท่อในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำมันที่อาจเปลี่ยนมาขนส่งทางท่อได้ ปรากฏว่าในขณะนี้ใช้การขนส่งทางท่อแล้วร้อยละ 88 โดยขนทาง ท่อ THAPPLINE ร้อยละ 56 และ FPT ร้อยละ 32 แต่ถ้าเปรียบเทียบกับความสามารถสูงสุดในการขนส่งของท่อปริมาณการขนส่งในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 23 และ 35 ของท่อ THAPPLINE และ FPT ตามลําดับ เนื่องจาก การก่อสร้างท่อต้องวางแผนให้มีความสามารถในการขนส่งเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวในอนาคตได้ในระยะยาว
2. ในปัจจุบันยังมีปัญหาและอุปสรรคบางประการที่ทําให้ผู้ค้าน้ำมัน และผู้ขนส่งบางรายยังเลือกที่จะขนส่งโดยทางรถบรรทุกจากคลังกรุงเทพฯ ได้แก่
2.1 ปัญหาและอุปสรรคด้านธุรกิจ มีดังนี้ (1) เส้นทางเข้าออกจากคลังบางปะอินของ FPT ยังไม่สะดวกเนื่องจากเส้นทางวงแหวนรอบนอกที่จะเชื่อมระหว่างคลังบางปะอินกับถนนพหลโยธิน ยังไม่แล้วเสร็จในช่วงถนนเชิงสะพานลอยข้ามทางรถไฟ ทําให้รถบรรทุกน้ำมันที่จะเข้าไปคลังบางปะอินต้องใช้เส้นทางที่มีอยู่เดิมซึ่งเป็นทางอ้อมคดเคี้ยว และมีขนาดเล็ก (2) เส้นทางเข้าออกจากคลังลําลูกกาของ THAPPLINE ก็ยังไม่สะดวกเช่นกัน คือเป็นทางขนาดเล็ก แม้กรมทางหลวงมีแผนการที่จะขยายถนนดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ได้มีการดําเนินการแต่อย่างใด (3) อัตราค่าขนส่งน้ำมันทางท่อ ซึ่ง THAPPLINE และ FPT บวกเข้าไปในราคาน้ำมัน ในระยะแรกอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางรถบรรทุกจากกรุงเทพฯ แต่ในปัจจุบันบริษัทท่อ ทั้ง 2 ราย ได้ลดอัตราค่าขนส่งทางท่อแล้วเพื่อจูงใจให้มาใช้การขนส่งทางท่อมากขึ้น (4) แม้ว่าคณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบก (คจร.) จะได้มีมติจํากัดเวลาวิ่งของรถบรรทุกในกรุงเทพฯ ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนการขนส่งทางท่อได้มากแล้วก็ตาม แต่การที่ยังไม่ห้ามโดยสิ้นเชิงทําให้ยังมีรถบรรทุกน้ำมันเข้ามารับน้ำมันในกรุงเทพฯ ในเวลากลางคืน และยังเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งทางท่อ หากมีการห้ามวิ่งตลอดเวลาก็จะช่วยได้มากขึ้น
2.2 ปัญหาและอุปสรรคด้านความปลอดภัย โดยบริษัท FPT ได้แจ้งให้ สพช. ทราบถึงปัญหาความเสี่ยงภัยที่จะเกิดความเสียหายต่อท่อน้ำมัน ดังนี้คือ (1) การก่อสร้างโครงการรถไฟยกระดับของ Hopewell ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับแนวท่อน้ำมัน ได้มีการขุดดินจนเกิดความเสียหายต่อผิวภายนอกของท่อน้ำมัน (2) มีผู้พยายามขโมยน้ำมันโดยขุดอุโมงค์ใต้ดินจากบ้านเช่าซึ่งอยู่ใกล้แนวท่อไปยังท่อ และขณะที่เจ้าหน้าที่ตํารวจจับกุมได้โดยบังเอิญยังเหลือระยะทางอีกเพียง 1 เมตร จะถึงท่อน้ำมัน (3) มีประชาชนจํานวนมากบุกรุกพื้นที่ของหน่วยงานราชการดังกล่าว เข้ามาก่อสร้างบ้านเรือนจนบางครั้งคล่อมแนวท่อ ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่จะให้ความคุ้มครองความปลอดภัยของท่อโดยเฉพาะ คงมีเพียงร่างพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง ของกรมโยธาธิการซึ่งมีบทบัญญัติคุ้มครองท่อ โดยมีบทลงโทษทั้งปรับและจําคุก แต่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้น FPT จึงร้องขอให้รัฐเร่งดําเนินการออกพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยด่วน ซึ่ง สพช. ได้แจ้งให้กรมโยธาธิการทราบถึงปัญหาของบริษัทเพื่อให้มีการประสานงานกับรัฐสภาต่อไป
มติของที่ประชุม
รับทราบผลการดําเนินงานของโครงการขนส่งน้ำมันทางท่อทั้ง 2 โครงการ และอุปสรรคในการดําเนินงานในเรื่องความปลอดภัยของระบบท่อน้ำมัน และเส้นทางเข้าออกคลังน้ำมัน โดยเห็นควรให้มีการเร่งรัดการนําร่างพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. … เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และให้กรมทางหลวงเร่งรัดการก่อสร้างเส้นทางวงแหวนรอบนอกที่จะเชื่อมคลังบางปะอินของ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด (FPT) กับถนนพหลโยธิน และการขยายเส้นทางเข้าออกจากคลังลําลูกกาของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จํากัด (THAPPLINE) เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้การขนส่งทางท่อมากขึ้น
เรื่องที่ 3 ผลการดําเนินงานในการลดปริมาณกํามะถันในน้ำมันเตา
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2537 อนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้มีการแก้ไขปัญหาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่มีธาตุกํามะถันเจือปนอยู่ และมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งพื้นที่ที่มีการระบายก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากที่สุดรองจากแม่เมาะ คือในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยสรุปมติได้ ดังนี้
1.1 ให้มีการจําหน่ายน้ำมันเตาชนิดที่ 1-4 ที่มีกํามะถันไม่เกิน 2.0% และชนิดที่ 5 ที่มี กํามะถันไม่เกิน 0.5% ในเขตกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการทันที แต่ทั้งนี้ผู้ค้าน้ำมันทุกรายต้องปฏิบัติตามนี้ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2537 โดยให้กระทรวงพาณิชย์แก้ไขปรับปรุงประกาศกระทรวงพาณิชย์กําหนดคุณภาพของน้ำมันเตาให้สอดคล้องกัน การลดปริมาณกํามะถันดังกล่าวถือว่าเป็นการลดในระยะแรก ซึ่งในอนาคตจะพิจารณาขยายพื้นที่บังคับออกไปยังจังหวัดอื่น ๆ ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ เช่น ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร และ ปทุมธานี เป็นต้น
1.2 ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมรับไป พิจารณากําหนดมาตรฐานการระบายก๊าซ SO2 จากโรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ เพื่อ ให้สอดคล้องกับการลดปริมาณกํามะถันในน้ำมันเตา โดยอาจกําหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไป หรือพิจารณาใช้อํานาจตาม พรบ. โรงงาน พ.ศ. 2535 กําหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมในเขต กรุงเทพฯ และสมุทรปราการต้องใช้น้ำมันเตาตามคุณภาพที่กระทรวงพาณิชย์กําหนดเท่านั้น
1.3 ให้ ปตท. และ กฟผ. เร่งดําเนินการให้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือใช้น้ำมันเตากํามะถันไม่เกิน 2% และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ใช้น้ำมันเตา ซึ่งมีปริมาณกํามะถันไม่เกิน 2% และ 0.5% ในสัดส่วนที่ทําให้มีค่า เฉลี่ยของปริมาณกํามะถันไม่เกิน 1.7% โดยเร็วที่สุด และให้ ปตท. พิจารณาความเป็นไปได้ในการนําน้ำมันดิบ กํามะถันต่ำ เช่น Duri หรือน้ำมันประเภท LSWR มาใช้ในโรงไฟฟ้าพระนครใต้
1.4 มาตรการเพิ่มเติมกรณีปัญหารุนแรง ให้ กฟผ. ตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณที่อาจเกิด ปัญหามลพิษจากโรงไฟฟ้าพระนครใต้ และกรมควบคุมมลพิษตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณเขตอุตสาหกรรม ของจังหวัดสมุทรปราการ หากผลการตรวจวัดยืนยันความรุนแรงของปัญหาตามผลการศึกษาของ สพช. หรือรุนแรงกว่าได้กําหนดให้ดําเนินการ ดังนี้ ให้โรงไฟฟ้าพระนครใต้ใช้น้ำมันเตากํามะถันต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 1.7% และให้เพิ่มการใช้ก๊าซธรรมชาติในโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนโรงงานขนาดใหญ่ และโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้เพิ่มความสูงของปล่อง
2. ได้มีการดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว ดังนี้
2.1 กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2537) เรื่อง กําหนด คุณภาพน้ำมันเตา เพื่อให้มีการจําหน่ายน้ำมันเตาชนิดที่ 1-4 ที่มีกํามะถันไม่เกิน 2% และชนิดที่ 5 ที่มีกํามะถัน ไม่เกิน 0.5% ในเขตกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2537 ที่ผ่านมา
2.2 กฟผ. ได้เร่งใช้น้ำมันเตากํามะถันต่ำทันทีตามมติคณะรัฐมนตรี โดยได้ใช้น้ำมันเตากํามะถัน ไม่เกิน 2% ในโรงไฟฟ้าพระนครเหนือตั้งแต่เดือนเมษายน 2537 และใช้น้ำมันเตากํามะถันเฉลี่ยไม่เกิน 1.7% ในโรงไฟฟ้าพระนครใต้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2537 เป็นต้นมา
3. จากการดําเนินการดังกล่าว มีผลทําให้ปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเขตดังกล่าวลดลงอย่างมาก โดยลดลงจากระดับ 25,836 ตัน/เดือน ในปี 2536 เหลือเพียง 11,264 ตัน/เดือน ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2537 (กรกฎาคม พฤศจิกายน 2537) คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 56 โดยโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและพระนครใต้ ปริมาณลดลงจากระดับเฉลี่ยเดือนละ 18,244 ตัน/เดือนในปี 2536 เหลือเพียงเฉลี่ยเดือนละ 6,375 ตัน/เดือน ในปี 2537 คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 65 และโรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ ได้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศลดลง จากระดับเฉลี่ย 7,592 ตัน/เดือน ในปี 2536 เหลือเพียง 4,889 ตัน/เดือน ในปี 2537 คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 36
4. สําหรับการดําเนินการในระยะต่อไปนั้น ควรมีการดําเนินการ ดังนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ควรเร่งดําเนินการกําหนดมาตรฐานการระบายก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จากโรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการตามมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งควรเร่งใช้น้ำมันเตากํามะถันต่ำในโรงไฟฟ้าบางปะกงของ กฟผ. เนื่องจากในช่วงปี 2537 โรงไฟฟ้าบางปะกงได้มีการใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นเป็นจํานวนมาก เป็นผลให้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2537 ได้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศเป็นปริมาณสูงถึง 8,764 ตัน/เดือน คิดเป็นร้อยละ 55 ของปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตาทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ กฟผ. ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้เร่งให้ปตท.นําส่งน้ำมันเตากํามะถันต่ำไม่เกิน 2% เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าดังกล่าวแล้ว โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ควรเร่งทําการศึกษาขยายพื้นที่บังคับใช้น้ำมันเตากํามะถันต่ำออกไปจังหวัดอื่น ๆ ที่มีปัญหาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โดย สพช. จะทําการศึกษาถึงสภาพการใช้น้ำมันเตาและปัญหาของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบริเวณที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจํานวนมาก เช่น ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร และปทุมธานี เป็นต้น
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าการตลาด
สรุปสาระสำคัญ
รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงปลายเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2537 และผลการกํากับดูแลการกําหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงปี 2537 ดังนี้
1. รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
1.1 ราคาน้ำมันดิบ ราคาในเดือนตุลาคมเพิ่มสูงขึ้นช่วงต้นเดือนและปรับลดลงมาอยู่ในระดับ 15-17 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลในช่วงปลายเดือน และราคาได้ปรับสูงขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เป็น 16-18 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผลการประชุมกลุ่มโอเปคที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีมติที่จะรักษาเพดานการผลิตให้อยู่ในระดับเดิมไปจนตลอดปี 2538 สําหรับราคาในเดือนธันวาคม ได้ปรับลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ประมาณ 0.5-1.0 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล
1.2 ราคาน้ำมันสําเร็จรูป น้ำมันดีเซลหมุนเร็วราคาได้ปรับสูงขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เป็น 22 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล หลังจากที่ราคาได้ทรงตัวอยู่ในระดับ 20-21 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล มาตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคม ส่วนเดือนธันวาคมราคาได้ปรับลดลงเล็กน้อย น้ำมันเตาราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคม ต่อเนื่องถึงเดือนพฤศจิกายน ในระดับ 14 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และน้ำมันเบนซินราคาลดลงจาก 20-22 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลในเดือนตุลาคม เป็น 18-21 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลในเดือนธันวาคม เนื่องจากสหรัฐอเมริกาได้กําหนดคุณภาพน้ำมันเบนซินใหม่ทําให้น้ำมันเบนซินเก่าถูกระบายออกสู่ตลาด
1.3 ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นในประเทศ เปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันสําเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ คือราคาน้ำมันเบนซินพิเศษ เบนซินพิเศษไร้สารตะกั่ว และเบนซินธรรมดาได้ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของ เดือนตุลาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายนเป็น 7.0-7.7 บาท/ลิตร แล้วราคาได้ลดลงมากในเดือนธันวาคม ประมาณ 60-70 สต./ลิตร มาอยู่ในระดับ 6.3-7.0 บาท/ลิตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็วราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงสองเดือน ของปลายปี 2537 หลังจากที่ราคาได้ทรงตัวมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 12-15 สต./ลิตร เป็น 6.5 บาท/ลิตร สําหรับน้ำมันเตาราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ตามราคาน้ำมันในตลาดจรสิงคโปร์มาอยู่ในระดับ 3.4 บาท/ลิตร
1.4 ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ เปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น และโดยเฉลี่ยราคาขายปลีกในปี 2537 ยังต่ำกว่าราคาขายปลีกในปีที่แล้ว โดยกลุ่มเบนซินราคายังคงต่ำกว่า 52 สต./ลิตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ราคาต่ำกว่า 47 สต./ลิตร แต่น้ำมันเตาราคาสูงกว่า 20 สต./ลิตร
1.5 ค่าการตลาด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ค่าการตลาดอยู่ในระดับ 90 สต./ลิตร โดยมีการเปลี่ยน แปลงเพียงเล็กน้อยในช่วงต่ำกว่า 5 สต./ลิตร กลุ่มน้ำมันเบนซินในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ราคาขายส่ง หน้าโรงกลั่นเพิ่มสูงขึ้นแต่ราคาขายปลีกส่วนใหญ่มาเพิ่มในช่วงปลายเดือนตุลาคม และเดือนพฤศจิกายนทําให้ค่าการตลาดเดือนตุลาคมลดต่ำลง 20-30 สต./ลิตร จาก 1.41-1.45 บาท/ลิตร เหลือ 1.15-1.23 บาท/ลิตร และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เป็น 1.31-1.43 บาท/ลิตร แต่ในเดือนธันวาคม ซึ่งราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นลดลงอย่างรวดเร็ว แม้จะมีการลดราคาขายปลีกถึง 3 ครั้ง แต่ก็ยังทําให้ค่าการตลาดอยู่ในระดับ1.40-1.48 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าเดือนพฤศจิกายน 5-10 สต./ลิตร และจากผลการเปลี่ยนแปลงค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลและ เบนซินดังกล่าวทําให้ค่าการตลาดเฉลี่ยเดือนธันวาคมอยู่ในระดับ 1.12 บาท/ลิตร สูงกว่าปกติประมาณ 10 สต./ลิตร
2. ผลการกํากับดูแลการกําหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ณ สถานีบริการในต่างจังหวัด โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ให้มีการกํากับดูแลการกําหนดราคาขายปลีกของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีกรมการค้าภายใน สํานักงานพาณิชย์จังหวัด และ สพช. ร่วมกันติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ราคาขายปลีกในประเทศและค่าการตลาดอย่างใกล้ชิด โดยมี ปตท. และบางจากเป็นกลไกในการรักษาระดับราคาจําหน่ายที่เหมาะสม ซึ่งผลการดําเนินการในปี 2537 พบว่ามีจํานวนสถานีบริการโดยเฉลี่ย 150 สถานีต่อเดือน จากจํานวน 4,729 สถานีทั่วประเทศหรือประมาณร้อยละ 2 ที่จําหน่ายน้ำมันราคาเกินเหมาะสม สถานีบริการดังกล่าวกระจายตามจังหวัดต่าง ๆ มิได้กระจุกตัวอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง และกระจายตามผู้ค้าน้ำมันต่าง ๆ ด้วย ทําให้ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกซื้อน้ำมันจากสถานีบริการอื่นที่ราคาเหมาะสมได้ จํานวนสถานีบริการที่จําหน่ายราคาเกินเหมาะสมในช่วงครึ่งปีหลังลดน้อยลงมาก ทั้งนี้ เนื่องจากการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ค้าน้ำมันในการแก้ไขปัญหามีความคล่องตัวมากกว่าการดําเนินการในช่วงแรก ๆ ตอนต้นปี
3. การสํารวจสภาวะตลาด โดยสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสํารวจสภาวะของตลาดน้ำมันในส่วนภูมิภาคอย่างสม่ำเสมอ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการกํากับดูแลราคาน้ำมันตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในการสํารวจที่ผ่านมาโดยทั่วไปตลาดน้ำมันมีการแข่งขันกันมากขึ้น ในท้องที่ชนบทเริ่มมีสถานีบริการขนาดเล็กซึ่งไม่มีเครื่องหมายการค้าแพร่หลายมากขึ้น เรียกกันโดยทั่วไปว่าสถานีบริการแบบถังลอย เนื่องจากจะมีถังเก็บน้ำมันขนาดความจุประมาณหนึ่งหมื่นลิตรตั้งอยู่บนพื้นดิน (ถังลอย) ในบริเวณด้านข้างหรือด้านหลังของสถานีบริการและติดตั้งตู้จ่ายน้ำมันเพียงหนึ่งตู้ เพื่อจําหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพียงชนิดเดียวในราคาต่ำกว่าสถานีบริการของผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ ประมาณ 60-70 สต./ลิตร ในการสํารวจสภาวะตลาดครั้งล่าสุดในช่วงปลายปี 2537 ในท้องที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ปรากฏว่ามีการจัดตั้งสถานีบริการแบบถังลอยมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในบริเวณเส้นทางจากสระบุรีไปขอนแก่น นอกจากการแข่งขันในด้านราคาแล้ว ยังมีการแข่งขันในด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ด้านคุณภาพน้ำมัน (การเพิ่มค่าออกเทน) รูปแบบของสถานีบริการที่แปลกใหม่ สวยงาม การบริการที่ดีขึ้นและการจัดตั้งร้านสรรพสินค้าขนาดเล็กในสถานีบริการ เป็นต้น ในส่วนของสถานีบริการถังลอย ซึ่งจําหน่ายน้ำมันในราคาต่ำถึงแม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และช่วยเพิ่มการแข่งขันให้มากขึ้น แต่จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่สถานีบริการอื่น ๆ ถ้าการแข่งขันระหว่างสถานีบริการถังลอยและสถานีทั่วไปมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน สพช. จึงได้แจ้งให้กรมทะเบียนการค้า ส่งเจ้าหน้าที่ทําการตรวจสอบการขออนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมัน คุณภาพน้ำมัน และความเที่ยงตรงของมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการจําหน่ายของสถานีบริการถังลอยให้ถูกต้องตามกฎหมายและแจ้งให้กรมสรรพากรส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบการจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานีบริการถังลอยด้วย
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 5 ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป. ลาว ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 ณ นครเวียงจันทน์ โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและร่วม มือกันพัฒนาไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2543 เพื่อจําหน่ายให้กับประเทศไทย และต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว โดยมีผู้ว่าการ กฟผ. เป็นประธาน เพื่อติดตามการดําเนินงาน และประสานความร่วมมือกับ สปป. ลาว ให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
2. เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2537 ได้มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. และ กลุ่มผู้ลงทุนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ เทิน-หินบุน (ประกอบด้วยรัฐบาล สปป. ลาว กลุ่ม NORDIC แห่งประเทศสวีเดน นอร์เวย์ และบริษัท MDX ประเทศไทย) ซึ่งเป็นโครงการที่มีขนาดกําลังการผลิตติดตั้ง 210 เมกะวัตต์
3. ความก้าวหน้าของโครงการไฟฟ้าอื่น ๆ ใน สปป. ลาว มีดังนี้
3.1 โครงการน้ำเทิน 2 มีกําลังการผลิตติดตั้ง 600 เมกะวัตต์ ระยะเวลาดําเนินการตั้งแต่ปี 2538-2541 ผู้ลงทุนประกอบด้วยรัฐบาล สปป.ลาว บริษัท Transfield/ออสเตรเลีย การไฟฟ้าฝรั่งเศส และกลุ่ม บริษัท อิตาเลียน-ไทย/จัสมิน/ภัทรธนกิจ ซึ่งมีการเจรจาราคาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกรรมการฝ่ายไทย และกลุ่มผู้ลงทุนหลายครั้ง โดยจุดยืนของทั้งสองฝ่ายเบนเข้าหากัน และมีการเจรจาครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2537
3.2 โครงการห้วยเฮาะ มีกําลังการผลิตติดตั้ง 150 เมกะวัตต์ ระยะเวลาดําเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538-2541 โดยมีบริษัทแดวู แห่งประเทศไทย/เกาหลีใต้ และบริษัทล็อกซเล่ย์ จํากัด (มหาชน)/ประเทศไทย เป็นผู้ลงทุน ขณะนี้กลุ่มผู้ลงทุนฯ ได้เสนอราคาซื้อขายไฟฟ้าเท่ากับ 4.96 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และกรรมการฝ่ายไทยอยู่ระหว่างการพิจารณา Tariff Proposal และ Financial Analysis
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 6 ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปของ IPP
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2537 อนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่องแนวนโยบายในการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปของ Independent Power Producer (IPP) โดยมติดังกล่าวกําหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ร่วมกันร่างประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และจัดประชุมร่วมกับภาคเอกชน ผู้สนใจลงทุน และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้แนวข้อคิดเห็นที่จะนํามาปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศดังกล่าว และนําเสนอประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานเพื่อขอความเห็นชอบและประกาศใช้ต่อไป
2. กฟผ. และ สพช. ได้ร่วมกันดําเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย โดยร่างประกาศดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานแล้ว
3. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (Request for Proposals for Power Purchases from Independent Power Producers) โดยผู้สนใจลงทุนสามารถซื้อประกาศดังกล่าวและลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิยื่นข้อเสนอในการขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ได้ที่สํานักงานใหญ่ของ กฟผ. ในราคาชุดละ 100,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2537 ถึง 30 มิถุนายน 2538 (ณ วันที่ 4 มกราคม 2538 มีผู้ลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 68 ราย) ประกาศดังกล่าวประกอบด้วย ประกาศรับซื้อไฟฟ้า (Request for Proposals, RFP) เอกสารต้นแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Model Power Purchase Agreement: Model PPA) และเอกสารกําหนดมาตรฐานและเงื่อนไขทางเทคนิคเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าและการปฏิบัติการ (Grid Code)
4. ต่อมา กฟผ. มีหนังสือถึงรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ในฐานะ ประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานขอให้ดําเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อ เสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ซึ่ง สพช. จะได้เสนอให้ประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบาย พลังงานแต่งตั้งต่อไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 7 โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2537 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ได้เสนอเรื่อง การศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ต่อรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน เพื่อพิจารณาผลการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นของโครงการฯ และต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2537 การปิโตรเลียมแห่ง ประเทศไทย (ปตท.) ได้เสนอเรื่อง โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ถึง สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เพื่อทราบผลการศึกษาความเป็นไปได้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ รวมทั้ง ข้อเสนอรูปแบบการลงทุนของโครงการดังกล่าว
2. การศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นฯ สามารถแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ การศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคนิคเพื่อกําหนดโครงการที่มีศักยภาพ และการศึกษาในเรื่องเศรษฐศาสตร์และการเงินของโครงการที่มีศักยภาพตามขั้นตอนที่ 1 จํานวน 3 โครงการ ซึ่งสามารถสรุปผลการศึกษาได้ ดังนี้คือ
2.1 โครงการท่อขนส่งน้ำมันดิบ กระบี่-ขนอม เพื่อเป็นทางเลือกในการขนส่งน้ำมันดิบจาก ตะวันออกกลางไปตะวันออกไกล ซึ่งส่วนใหญ่ขนส่งผ่านทางช่องแคบมะละกาที่คาดว่าจะประสบปัญหาความคับคั่งของการขนส่ง ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า โครงการจะมีความเหมาะสมในกรณีระบบท่อขนาดที่ขนส่งน้ำมันได้ ประมาณวันละ 3 ล้านบาเรล ซึ่งเป็นปริมาณที่ประเทศตะวันออกไกล โดยเฉพาะญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี ตลอด จนโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศทุกแห่งจะต้องใช้บริการ ดังนั้นการเชิญชวนประเทศผู้ใช้ดังกล่าวเข้าร่วมลงทุนจึง เป็นประเด็นสําคัญที่จะต้องดําเนินการต่อไป
2.2 โครงการโรงกลั่นน้ำมันที่อําเภอขนอม เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เพื่อรองรับกับความ ต้องการใช้ในประเทศและส่งออก รวมทั้ง ผลิตแนฟทา (Naphtha) เป็นวัตถุดิบสําหรับโครงการปิโตรเคมี ซึ่งจาก ผลการศึกษาพบว่า ผลตอบแทนการลงทุนยังอยู่ในระดับปานกลาง ดังนั้น จึงได้มีการศึกษาแนวทางการลดต้นทุน โครงการ และปรับปรุงผลการผลิตเพื่อให้ผลตอบแทนดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันของประเทศใน ระยะปานกลางอยู่ในระดับที่จะต้องมีโรงกลั่นน้ำมัน
2.3 โครงการปิโตรเคมีที่ขนอม เพื่อผลิต Ethylene และ Propylene เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่คาดว่าจะต้องมีการนําเข้า Polyethylene และ Polypropylene ประมาณ 397,000 และ 107,000 ตัน ในปี 2545 ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า ผลการตอบแทนการลงทุนค่อนข้างดี โดยมีตลาดทั้งในประเทศ และประเทศข้างเคียงรองรับผลิตภัณฑ์จากโครงการได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาวะราคาของวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีความผันผวนสูง จึงควรมีการตรวจสอบข้อสมมุติฐานด้านราคาอย่างละเอียดต่อไป
3. ปตท. มีความเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นฯ ดังนี้
3.1 โครงการระบบท่อส่งน้ำมันดิบ กระบี่-ขนอม โดยผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า โครงการนี้จะมีความเหมาะสมเมื่อมีหลายประเทศมาร่วมใช้ ระบบท่อ คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี ดังนั้น การลงทุนจึงควรเป็นการร่วมกันระหว่างประเทศไทย และประเทศที่มาร่วมใช้ระบบท่อ ซึ่งจากการประชุมระหว่าง ปตท. กับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินของรัฐ กระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทน้ำมันของญี่ปุ่น สรุปได้ว่าโครงการนี้ได้รับความสนใจจากสถาบันการเงินและบริษัทน้ำมันของญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ดี ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งต้องหยิบยกขึ้นมาเจรจาในระดับทวิภาคี จึงเห็นควรให้มีการศึกษาในรายละเอียด (Feasibility Study) โดยจัดให้มีการเจรจาทาบทามประเทศผู้ซื้อขายน้ำมันดิบมาร่วมลงทุน และใช้บริการระบบท่อส่งน้ำมันควบคู่กันไป
3.2 โครงการโรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าโครงการนี้มีศักยภาพที่ดี โดยมีทั้งความต้องการใช้ภายในประเทศ และจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกล โดยเฉพาะจีนเป็นตลาดรองรับ อีกทั้งยังมีสถานที่ตั้งสามารถแข่งขันกับโรงกลั่นในประเทศสิงคโปร์ได้ จึงเห็นควรให้มีการศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันกับโรงกลั่นในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนแนวทางการลงทุนต่อไป อย่างไรก็ดี ในชั้นนี้ ปตท. เห็นว่าการจัดตั้งองค์กรเพื่อดําเนินโครงการโรงกลั่นน้ำมันมีทางเลือกอยู่หลายรูปแบบ ดังนี้ รูปแบบ 1 : หน่วยงานของรัฐและสถาบัน ร้อยละ 51 ผู้ค้าน้ำมันทั้งในและต่างประเทศ และบริษัทการค้า ร้อยละ 49 รูปแบบ 2 : หน่วยงานของรัฐและสถาบัน ร้อยละ 33 ผู้ค้าน้ำมันทั้งในและต่างประเทศ และบริษัทการค้าร้อยละ 67 รูปแบบ 3 : หน่วยงานของรัฐและสถาบัน ร้อยละ 30 ผู้ค้าน้ำมันในประเทศ ร้อยละ 25 ผู้ค้าน้ำมันต่างประเทศ ร้อยละ 25 และบริษัทการค้าร้อยละ 20 และรูปแบบ 4 : หน่วยงานของรัฐดําเนินการไปก่อนและหาผู้ร่วมทุนภายหลัง
3.3 โครงการปิโตรเคมีที่ขนอม ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ผลตอบแทนการลงทุนอยู่ในระดับที่ดี ประกอบกับความต้องการภายในประเทศยังมีแนวโน้มสูงกว่าการผลิตภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีความผันผวนมาก จึงควรมีการศึกษาในรายละเอียดของแนวโน้มราคาของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ตลอดจนแนวทางการลงทุนต่อไป
4. สพช. มีความเห็นว่า การลงทุนในโรงกลั่นน้ำมันแห่งใหม่ในภาคใต้จะใช้เงินลงทุนจํานวนที่สูงถึง 48,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นภาระอย่างมากต่อฐานะทางการเงินของ ปตท. โดยเฉพาะในกรณีที่ ปตท. จะเป็นผู้ ดําเนินการก่อนแล้วจึงให้มีผู้ร่วมทุนเอกชนในภายหลัง ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อฐานะการเงินของ ปตท. และช่วยระดมเงินทุนสําหรับโครงการ ควรให้มีการเร่งดําเนินการปรับโครงสร้าง ปตท. ให้เป็นเชิงธุรกิจ (Corporatization) และดําเนินการแปรรูป โดยการนําหุ้นของกิจการที่มีความเหมาะสมจําหน่ายในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนจากประชาชนและ/หรือลดการถือหุ้นในกิจการที่ไม่มีความจําเป็นต่อกลยุทธในการดําเนินธุรกิจในระยะยาวของ ปตท. ตามผลการศึกษาของ ปตท. เรื่อง “Refocusing PIT: Assessment of PTT's Business Strategies and Privatization Program” โดย McKinsey ทั้งนี้ สมควรให้ ปตท. กระทรวงอุตสาหกรรม สศช. และ สพช. เร่งดําเนินการร่วมกันพิจารณา และหาข้อยุติเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างและการแปรรูป ปตท. เพื่อนําเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2534
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้มีการศึกษาในรายละเอียด (Feasibility Study) 3 โครงการ ดังนี้คือ
(1) โครงการระบบท่อส่งน้ำมันดิบ กระบี่-ขนอม
(2) โครงการโรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
(3) โครงการปิโตรเคมีที่ขนอม
โดยให้ ปตท. นําผลการศึกษาโครงการทั้ง 3 เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาโดยด่วนต่อไป
2. เห็นชอบรูปแบบการจัดตั้งองค์กรรูปแบบที่ 4 ตามที่ ปตท. เสนอ โดยให้หน่วยงานของรัฐดําเนินการไปก่อนแล้วหาผู้ร่วมทุนภายหลัง เพื่อดําเนินการโครงการโรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ทั้งนี้ หากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาผลการศึกษาในรายละเอียดตามข้อ 1 แล้ว เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในการลงทุน ให้ ปตท. จัดทําข้อเสนอแนวทางการลงทุนเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง
เรื่องที่ 8 ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2537 (ครั้งที่ 47) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2537 ได้มีการพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และมีมติมอบหมายให้รัฐ มนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายพรเทพ เตชะไพบูลย์) รับไปพิจารณาทบทวนแนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
2. การดําเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติแล้ว โดย สพช. ได้ดําเนินการ ศึกษาและรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและได้จัดให้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องและผู้ค้าน้ำมันในวันที่ 27 กันยายน 2537 เพื่อพิจารณาข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมัน เชื้อเพลิงที่ สพช. จัดทําขึ้น โดยได้มีการพิจารณาทบทวนมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลกําหนดไว้และสมควรใช้ต่อไป รวมทั้ง ได้นําข้อเสนอแนะของคณะทํางานพิจารณาปรับปรุงแนวทางการดําเนินคดีของกรมศุลกากร และคณะ กรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร มาปรับปรุงข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำ มันเชื้อเพลิงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายพรเทพ เตชะไพบูลย์) ได้พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้ว และมีข้อเสนอเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ดําเนินการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรการที่คณะรัฐมนตรี กําหนดไว้แล้วต่อไป ดังนี้
1.1 ให้มีการตรวจสอบเรือขนส่งของ ปตท. และ กฟผ. เช่นเดียวกับผู้ค้าน้ำมันอื่น
1.2 ให้กรมเจ้าท่าตรวจสอบการดัดแปลงเรือประมงอย่างใกล้ชิดและเข้มงวด
1.3 ให้มีคณะทํางานเพื่อทําหน้าที่ตรวจสอบการลักลอบนําเข้าน้ำมัน โดยให้กรมศุลกากรเป็น เจ้าของเรื่องและประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1.4 ให้การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีใบกํากับการขนส่งของกรมทะเบียนการค้า กระทรวง พาณิชย์ กํากับไปกับยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งทุกครั้ง
2. เห็นชอบให้กําหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม ดังนี้
2.1 ให้กรมสรรพสามิตกําหนดให้มีการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าออกจากคลัง และมาตรวัดน้ำมันคงเหลือ แบบ Automatic Level Gauge ในคลังน้ำมันชายฝั่งทุกแห่ง และให้มีการปิดผนึกมิให้เปิดเครื่องเข้าไปแก้ไขสัญญาณได้
2.2 ให้มีการตรวจการณ์การขนส่งน้ำมันในทะเล และเฝ้าตรวจสอบพฤติการณ์การขนส่งน้ำมันทางบก ดังนี้ (1) ให้กองทัพเรือ กรมศุลกากรและกรมตํารวจ จัดกําลังเจ้าหน้าที่ตรวจลาดตระเวนการขนส่งน้ำมันในทะเล และ (2) ให้กรมศุลกากรและกรมตํารวจ จัดหาสายสืบเฝ้าตรวจสอบพฤติการณ์การขนส่งน้ำมันทางบกของคลังน้ำมันชายฝั่งทุกแห่ง ทั้งคลังที่ได้รับอนุมัติให้นําเข้าและคลังที่ไม่ได้รับอนุมัติให้นําเข้า
2.3 ให้เพิ่มการตรวจสอบการจับกุมบนบกอย่างเข้มงวด โดยให้กรมตํารวจจัดตั้งด่านตรวจสอบ รถบรรทุกน้ำมันต้องมีเอกสารใบกํากับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงติดไปกับรถบรรทุกน้ำมันทุกครั้งโดยก่อนทําการ ตรวจสอบให้มีการชี้แจงทําความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์การตรวจสอบแก่เจ้าหน้าที่ตํารวจผู้ปฏิบัติงานก่อน
2.4 ให้กรมสรรพากรส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มของคลังน้ำมันชาย ฝั่งทุกแห่ง ทั้งคลังที่ได้รับอนุมัติให้นําเข้าและคลังที่ไม่ได้รับอนุมัติให้นําเข้ารวมถึงสถานีบริการ โดยเฉพาะสถานี บริการขนาดเล็กหรือสถานีบริการประเภทถังลอยด้วย
2.5 การแจ้งการนําเข้า
(1) ให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้าและกรมการค้าต่างประเทศ) ขอความร่วมมือจากบริษัทน้ำมันที่มีโรงกลั่นในสิงคโปร์ให้แจ้งรายละเอียดของเรือบรรทุกน้ำมัน (Tanker) ที่รับน้ำมันจากโรงกลั่นในสิงคโปร์และมีจุดหมายปลายทางมายังประเทศไทยให้ สพช. เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่ามีการนําเข้าและเสียภาษีโดยถูกต้องทุกลําหรือไม่
(2) ให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้าและกรมการค้าต่างประเทศ) กําหนดเงื่อนไขการนําเข้า ให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ทุกราย ต้องแจ้งรายละเอียดการนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทันทีที่เรือเดินทางออกจากประเทศสิงคโปร์
(3) ภายหลังจากที่มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว ให้กรมศุลกากรดําเนินการตรวจสอบเรือนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทุกลําอย่างเข้มงวด เป็นเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ได้เริ่มดําเนินการตามมาตรการข้อ (1) และ (2) เพื่อดูว่าการกําหนดมาตรการดังกล่าวประสบผลสําเร็จเพียงใด
2.6 ให้กรมศุลกากรดําเนินการปรับปรุงแนวทางการดําเนินคดีของกรมศุลกากรให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยให้กรมศุลกากรดําเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้ให้ครบถ้วน และจัดทําเป็นคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ดังนี้
(1) ให้ศึกษารายละเอียดในสัญญาเช่าเรือและพยานแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อค้นข้อมูลที่แสดงให้เห็นได้ว่าเป็นการนําเรือไปใช้ผิดประเภทหรือผิดสัญญาหรือเป็นการเช่ากันจริงหรือไม่
(2) กรณีที่มีการดัดแปลงเรือ ต้องจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญ เช่น กรมเจ้าท่า ให้แสดงความเห็นว่ามีการดัดแปลงเรือเพื่อบรรทุกน้ำมันจนไม่สามารถนําเรือไปใช้จับปลาได้แล้ว และการดัดแปลงเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการให้เช่า ถ้าผู้ต้องหาต่อสู้ว่าน้ำมันมีไว้ใช้กับเครื่องยนต์เรือ ควรพิจารณาขนาดของถังเก็บน้ำมันเปรียบเทียบกับเรือขนาดเดียวกันว่ามีขนาดใหญ่ผิดปกติหรือไม่
(3) การรับเรือ ให้กรมศุลกากรขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน เช่น กรมเจ้าท่า กรมตํารวจ เพื่อให้มีการริบเรือของผู้กระทําผิดหรือทําให้ใช้เรือไม่ได้ เช่นการเพิกถอนทะเบียนเรือ เป็นต้น
(4) กรณีที่ผู้ถูกจับกุมอ้างว่าซื้อน้ำมันจากในประเทศ ให้กรมศุลกากรพิสูจน์หลักฐานการซื้อขายโดยตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีผู้ชายจริงหรือไม่และให้กรมทะเบียนการค้านําตัวอย่างน้ำมันไปตรวจสอบสารเติมแต่ง (Additive) เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นน้ำมันลักลอบนําเข้าหรือไม่ และน้ำมันนั้นมีคุณภาพถูกต้องตามที่ กระทรวงพาณิชย์ประกาศกําหนดหรือไม่ หากปรากฏว่าน้ำมันมีคุณภาพต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศกําหนด ให้กรมศุลกากรประสานงานกับกรมทะเบียนการค้าเพื่อดําเนินคดีผู้ถูกจับกุมและผู้ขายด้วย นอกจากนี้ให้กรมศุลกากรประสานงานกับกรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ขายน้ำมันด้วย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีผู้ร่วมมือรับเป็นผู้ขาย โดยหากกรมศุลกากรดําเนินการตามแนวทางข้างต้นไปแล้ว ปรากฏว่าการตรวจสารเติมแต่งยังไม่ชัดเจนพอที่จะใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าเป็นน้ำมันที่ลักลอบนําเข้าหรือเจ้าหน้าที่กรมทะเบียนการค้าไม่ สามารถที่จะยืนยันได้ ให้กรมศุลกากรเสนอรัฐบาลใช้มาตรการอื่น ๆ ที่เตรียมไว้ออกมาดําเนินการ เช่น การเติมสาร Marker ในน้ำมันที่ผลิตได้ในประเทศหรือนําเข้ามาในประเทศ
(5) การติดตามผลคดี ในชั้นสอบสวนให้กรมศุลกากรติดตามสอบถามเจ้าหน้าที่ตํารวจอยู่เสมอและในชั้นการพิจารณาของพนักงานอัยการให้กรมศุลกากรจัดส่งข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับคดีที่รวบรวมไว้แต่ต้นให้แก่พนักงานอัยการเพื่อใช้เปรียบเทียบกับสํานวนการสอบสวนของตํารวจ
(6) เพื่อให้การปรับปรุงแนวทางการดําเนินคดีของกรมศุลกากรมีผลครอบคลุมไปถึงการดําเนินคดีของหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย เช่น ตํารวจน้ำ จึงควรเสนอให้หน่วยงานอื่นที่มีการดําเนินคดีผู้ลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงต้องแจ้งให้กรมศุลกากรทราบเพื่อประสานงานให้การดําเนินคดีเป็นไปในแนวทางข้างต้น ทุกราย
(7) ให้ปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ซึ่งกําหนดให้กรมศุลกากรดําเนินคดีกับผู้ต้องหาลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้ถึงที่สุดทุกราย และมิให้ทําความตกลงระงับคดี โดยให้มีข้อยกเว้นไม่ต้องดําเนินคดีได้ ในกรณีที่กรมศุลกากรเห็นว่า ผู้กระทําผิดรายใดมีหลักฐานอ่อน และอาจมีปัญหาในการดําเนินคดีให้ถึงที่สุด โดยมีแนวทางปฏิบัติดังนี้ ให้กรมศุลกากรเสนอต่อคณะกรรมการเปรียบเทียบระงับคดี ซึ่งมีผู้แทนกรมตํารวจ และผู้แทนกระทรวงการคลังร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย โดยในการระงับคดีจะต้องทําการริบเรือด้วย เว้นแต่จะมีเหตุว่าขัดข้องต่อความเป็นธรรม ทั้งนี้ ให้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการเปรียบเทียบฯ ที่จะพิจารณาความเหมาะสมในการเปรียบเทียบความผิด แต่หากไม่รับเรือให้เจ้าของเรือทําหนังสือยืนยันต่อกรมศุลกากรเป็นเอกสารประกอบการระงับคดีว่าจะไม่นําเรือดังกล่าวไปใช้ในการกระทําความผิดหรือให้ผู้อื่นเช่าไปใช้ในการกระทําผิด หากกระทําผิดซ้ำยินยอมให้ริบเรือ
2.7 เพื่อให้การพิจารณาในชั้นของพนักงานอัยการเป็นไปอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น ให้สํานักงานอัยการ สูงสุดถือว่าคดีลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นคดีสําคัญ รัฐบาลมีนโยบายที่จะปราบปรามเป็นกรณีพิเศษ หาก พนักงานอัยการมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา บางข้อหา หรือสั่งไม่รับของกลาง ก่อนมีความเห็นและคําสั่ง ให้บันทึกความเห็นเสนออัยการสูงสุดก่อนมีคําสั่ง
2.8 ให้มีการขยายเขตน่านน้ำจากปัจจุบัน 12 ไมล์ทะเล เป็น 24 ไมล์ทะเล โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ศุลกากรมีอํานาจปฏิบัติการใน “เขตต่อเนื่อง” ระหว่าง 12-24 ไมล์ทะเล ได้
2.9 มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม รับไปหารือกับบริษัทผู้ค้าน้ำมันต่างๆ เพื่อให้ทราบถึง ข้อมูลหรือเบาะแสที่แท้จริงในการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จะเป็นประโยชน์และช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3. ให้กระทรวงมหาดไทย (กรมตํารวจ) กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และกรม สรรพากร) กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้าและกรมการค้าต่างประเทศ) สํานักงานอัยการสูงสุด กองทัพเรือ สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงการต่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า) สพช. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องรับไปดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวข้างต้นโดยด่วนอย่างเคร่งครัด และรายงานผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมทุกครั้ง
เรื่องที่ 9 ข้อเสนอเพิ่มเติมในการปรับปรุงกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในคราวประชุม เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มการแข่งขันในตลาดน้ำมัน โดยให้ดําเนินการกําหนดกฎเกณฑ์ในการตั้งสถานีบริการใต้อาคาร และแก้ไขกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการขนาดเล็กในท้องที่ที่ห่างไกล คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานจึงได้มีคําสั่งที่ 2/2536 แต่งตั้งคณะ อนุกรรมการพิจารณาการปรับปรุงกฎเกณฑ์และส่งเสริมการตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้น เพื่อดําเนินการ ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ดําเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และคณะรัฐมนตรีในคราว ประชุมเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2537 ได้มีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดําเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อ กําหนดให้สอดคล้องกันต่อไป
2. กรมโยธาธิการ ได้ดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยได้เชิญผู้ค้าน้ำมันและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อรับทราบแนวทางการปรับปรุงประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง มาตรฐานของแผนผัง รูปแบบ ลักษณะและความปลอดภัยของสถานที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ ซึ่งบริษัทผู้ค้าน้ำมันที่ร่วมประชุมได้ร้องขอให้เพิ่มเติมกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหลายประการ คณะอนุกรรมการฯ จึงได้จัดทําข้อเสนอเพิ่มเติมในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เสนอต่อประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) พิจารณา ซึ่งประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานได้พิจารณาแล้ว เห็นควรให้ปรับปรุงกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม
3. ผลจากการตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติมดังกล่าวข้างต้นจะช่วยลดพื้นที่ที่ต้องใช้ในการจัดตั้งสถานีบริการริมถนนใหญ่ลงได้อย่างมาก โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับระยะห่างของเครื่องล้างรถอัตโนมัติ ซึ่งจะทําให้เงินลงทุนในการจัดตั้งสถานีบริการต่ำลงและจะมีผู้สนใจลงทุนจัดตั้งสถานีบริการริมถนนใหญ่มากขึ้น และสําหรับสถานีบริการที่ตั้งริมถนนเล็กนั้นรายได้จากการดําเนินการจะเพิ่มขึ้นจากการให้บริการล้างรถโดยเครื่องล้างอัตโนมัติและบริการล้างอัดฉีดเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีผู้สนใจลงทุน จัดตั้งสถานีบริการริมถนนเล็กมากขึ้น
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ปรับปรุงกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติมตามที่ประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานเสนอ โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการรับไปดําเนินการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกัน ดังนี้
1.1 สถานีบริการที่ตั้งริมถนนใหญ่
(1) ในกรณีที่สถานีบริการจะมีการล้างรถโดยเครื่องล้างอัตโนมัติ ให้ลดระยะห่างของที่ล้างรถกับแนวเขตสถานีบริการลงจากไม่น้อยกว่า 5.00 เมตร เหลือเพียงไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร ได้ไม่เกิน 2 ด้าน แต่ยังให้คงความสูงของกําแพงกันไฟไม่น้อยกว่า 3.00 เมตร เช่นเดิม
(2) ผ่อนผันให้ติดตั้งถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงใต้ดินบริเวณใต้หลังคาคลุมแท่นปั๊มได้
(3) การใช้ท่อพลาสติคชนิดกันน้ำมันแทนท่อเหล็กนั้น ให้กระทําได้ทั้งระบบท่อดูด (Suction System) และระบบท่อแรงดัน (Pressurize System) แต่ท่อดังกล่าวต้องเป็นท่อ 2 ชั้นเท่านั้น
1.2 สถานีบริการที่ตั้งริมถนนเล็ก
(1) ในกรณีที่สถานีบริการที่ตั้งริมถนนเล็ก จะมีบริการล้างรถโดยเครื่องล้างรถอัตโนมัติ ให้มีข้อกําหนด ดังนี้ 1) กําหนดการจัดวางเครื่องล้างรถอัตโนมัติ เป็น 3 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 ทางเข้าออกตั้งฉากกับถนนด้านหน้าแนวอาคารล้างรถด้านช่องทางเข้าตั้งฉากกับถนนด้านสถานีบริการ ส่วนด้านช่องทางออกห่างจากแนวเขตด้านหลังของสถานีบริการไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร และด้านข้างห่างจากแนวเขตสถานีบริการไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร 1 ด้าน และไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร 1 ด้าน รูปแบบที่ 2 ทางเข้าออกขนานกับถนนด้านหน้า แนวอาคารล้างรถด้านช่องทางเข้าและทางออกขนานกับถนนด้านหน้าสถานีบริการ และห่างจากแนวเขตด้านข้างของสถานีบริการไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร และด้านข้างของอาคารล้างรถห่างจากแนวเขตด้านหลังของสถานีบริการไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร และรูปแบบที่ 3 ทางเข้าออกทํามุมกับถนนด้านหน้า ทางเข้าและทางออกของอาคารล้างรถทํามุมเฉียงกับถนนด้านหน้าสถานีบริการโดยมุมของอาคารห่างจากแนวเขตสถานีบริการไม่น้อยกว่า 4.00 เมตร 2 ด้าน และ ไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร 2 ด้าน 2) กําหนดให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 90 ตารางเมตร เพื่อใช้สําหรับจอดรถที่รอเข้าเครื่องล้างได้อย่างน้อย 3 คัน และรถที่ล้างเสร็จแล้ว และรอรับกลับอีกอย่างน้อย 3 คัน 3) กําหนดให้ความดังของเครื่องล้างรถไม่เกิน 60 เดซิเบล ในบรรยากาศโดยรอบสถานีบริการโดยวัดตามวิธีการของกรมควบคุมมลพิษ หรือให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้วัดให้ และ 4) กําหนดให้สถานีบริการที่มีบริการล้างรถโดยเครื่องอัตโนมัติจะต้องตั้งอยู่ริมถนนซึ่งมีท่อระบายน้ำริมถนนด้านหน้าสถานีบริการ และจํากัดเวลาการให้บริการล้างรถ โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการรับไปศึกษาพิจารณากําหนดเวลาการให้บริการที่เหมาะสมต่อไป
(2) การมีบริการอัดฉีด และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ให้มีข้อกําหนด ดังนี้ ให้มีหลุมเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง คานยกรถ และถังเก็บน้ำมันเครื่องใช้แล้ว ความจุไม่น้อยกว่า 4,000 ลิตร และให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 60 ตารางเมตร เพื่อใช้สําหรับรถที่มาจอดรอถ่ายน้ำมันเครื่องได้อย่างน้อย 2 คัน และรถที่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องแล้วรอรับกลับอีกอย่างน้อย 2 คัน
(3) ให้ก่อสร้างอาคารบริการ 2 ชั้นได้ แต่ห้ามใช้เป็นที่พักอาศัยหรือใช้เป็นสถานที่ประกอบอาหาร
2. มอบหมายให้กรมโยธาธิการและกรมควบคุมมลพิษร่วมกันพิจารณาจัดทําเงื่อนไขควบคุมการทิ้งเศษวัสดุและน้ำมันรวมทั้งการระบายน้ำเสียจากสถานีบริการ เพื่อมิให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม
สรุปสาระสำคัญ
1. สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ดูแลกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เพื่อให้สามารถนําดอกผลอันเกิดจากเงินกองทุน จํานวน 350 ล้านบาท ที่ได้รับจาก บริษัท เอสโซ่แสตนดาร์ด ประเทศไทย จํากัด ตามสัญญาโรงกลั่นน้ำมันมาใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านพลังงาน และปิโตรเลียม โดยมีระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 เป็นกรอบในการบริหารงานกองทุนฯ ทั้งนี้ โดยกําหนดให้มี คณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ทําหน้าที่พิจารณาจัดระเบียบ วางแนวทางและพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนฯ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้แทนจาก สพช. กระทรวงการคลัง กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2. ตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจาก สัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 ข้อ 10 และ ข้อ 13 กําหนดให้คณะกรรมการกองทุนฯ ดําเนินการดังนี้ 1) จัดทําแผนการใช้จ่ายเงินเป็นรายปีงบประมาณในช่วงสามปีข้างหน้า เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพิจารณาคําขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ และขอให้มีการทบทวนแผนการใช้จ่ายดังกล่าวอย่างน้อยทุกปี และ 2) จัดทํางบแสดงผลการรับจ่ายเงินในระหว่างปีงบประมาณ และงบแสดงฐานะการเงินของกองทุนฯ วันสิ้นปีงบประมาณ ส่งคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อทราบภายในสามสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
3. สพช. ได้จัดทํารายงานผลการดําเนินงาน ของคณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ในรอบปีงบประมาณ 2537 และแผนการจัดสรรเงินในปีงบประมาณ 2538-2540 ตามข้อกําหนด ของระเบียบดังกล่าว ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนฯ แล้ว โดยมีสาระสําคัญสรุปได้ดังนี้
3.1 ผลการดําเนินงานของคณะกรรมการกองทุนฯ ในรอบปีงบประมาณ 2537 โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ได้ดําเนินการให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานต่าง ๆ ในเรื่อง โครงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาและปรับปรุงกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง การลงทุน โดยเอกชนในการผลิตไฟฟ้าในรูปของ IPP การให้ทุนการศึกษาข้าราชการจํานวน 11 ทุน การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ บริโภคเข้าใจถึงการเลือกซื้อน้ำมันหล่อลื่น การจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์สํานักงาน และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายใน การเดินทางดูงาน ประชุม สัมมนา และการจัดประชุมสัมมนา ทั้งนี้การดําเนินงานของกองทุนฯ ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในการช่วยพัฒนาองค์กรที่ปฏิบัติงาน ด้านพลังงานและปิโตรเลียมให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และ ประสบการณ์เพิ่มขึ้น ช่วยสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานมากขึ้น รวมทั้ง มีส่วนช่วยในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย
3.2 รายงานสถานะการเงินของกองทุนฯ ในปีงบประมาณ 2537 โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ได้กําหนดวงเงินงบประมาณสําหรับปีงบประมาณ 2537 ไว้เป็นจํานวน 35 ล้านบาท โดยให้ความสําคัญเป็นลําดับแรกแก่ส่วนราชการที่ปฏิบัติงานด้านพลังงานและปิโตรลียมและหมวดการค้นคว้า วิจัย ศึกษา รวมทั้งให้ความสําคัญกับการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลเพิ่มขึ้น โดยลดความสําคัญในหมวดทุนการศึกษาลง ส่วนหมวดอื่น ๆ ให้ความสําคัญในระดับเดิม โดยในปีงบประมาณ 2537 ได้มีการนําเงินกองทุนฯ จํานวน 350 ล้านบาท และดอกผลคงเหลือจากปีก่อน นําฝากประจํากับธนาคารพาณิชย์ประเภท 12 เดือน, 6 เดือน และ 3 เดือน เพื่อให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ซึ่งในรอบ 1 ปี ของระยะเวลาการฝากจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2537 กองทุนฯ สามารถหาผลประโยชน์ได้ประมาณ 29.055 ล้านบาท และคณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติความช่วยเหลือให้แก่กิจกรรมต่าง ๆ ในรอบปีงบประมาณ 2537 เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 31.125 ล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายจริงเป็นจํานวน 8.115 ล้านบาท และขอผูกพันเพื่อใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2538 จํานวน 22.575 ล้านบาท ซึ่งฐานะการเงินของกองทุนฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2537 กองทุนฯ มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 384.127 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้กองทุนฯ อยู่เป็นจํานวน 1.32 ล้านบาท และมีเงินรายรับสูงกว่ารายจ่ายเป็นจํานวน 33.572 ล้านบาท
3.3 แผนการใช้จ่ายเงินดอกผลของกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2538-2540 ตามข้อกําหนดในระเบียบว่าด้วยการบริหารกองทุนฯ กําหนดให้มีการทบทวนแผนการใช้จ่ายเงินดอกผลของกองทุนฯ อย่างน้อยทุกปี หรือตามความจําเป็น ดังนั้น ในวาระที่คณะกรรมการกองทุนฯ ได้ดําเนินงานครบรอบ 1 ปี จึงเห็นสมควรให้มีการปรับแผนการใช้จ่ายเงินสําหรับปีงบประมาณ 2538-2540 ดังนี้
1) แนวทางการใช้จ่ายเงิน ปีงบประมาณ 2538-2540 ได้ใช้แนวทางเดิม ดังนี้
(1) ยังคงให้ความสําคัญเป็นลําดับแรกแก่ส่วนราชการที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับพลังงานและปิโตรเลียมโดยตรงเช่นเดียวกับปีก่อน
(2) ให้ความสําคัญเป็นลําดับแรกสําหรับการใช้จ่ายเงินเพื่อการค้นคว้า วิจัย ศึกษา เกี่ยวกับพลังงานและปิโตรเลียม
(3) ให้ความสําคัญกับการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
(4) เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเล็กน้อย และกองทุนฯ มีรายจ่ายหมวดทุนการศึกษามียอดสะสมเพิ่มขึ้น จึงจัดสรรเงินกองทุนฯ ในปีงบประมาณ 2538-2540 ประมาณปีละ 38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
2) แผนการใช้จ่ายเงินดอกผลของกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2538-2540 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 114 ล้านบาท
3) มาตรการในการบริหารเงินกองทุนฯ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตลอดระยะเวลา 3 ปี คือ ปีงบประมาณ 2538-2540 จึงเห็นควรให้คณะกรรมการกองทุนฯ จัดสรรเงินกองทุนสําหรับแผนงานและโครงการในปีงบประมาณ 2538-2540 ตามแผนการใช้จ่ายเงินข้างต้น วงเงินรวม 114 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอํานาจที่จะปรับปรุงการจัดสรรเงินตามแผนงานต่าง ๆ ได้ตามความจําเป็นและเหมาะสมภายในวงเงินรวมดังกล่าว ทั้งนี้ โดยสอดคล้องกับการขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนฯ การจัดลําดับความสําคัญ ตลอดจนรายได้ของกองทุนฯ ด้วย
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการดําเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ในปีงบประมาณ 2537
2. เห็นชอบแผนการใช้จ่ายเงินดอกผลของกองทุนฯ ประจําปีงบประมาณ 2538-2540 และมาตรการการบริหารเงินกองทุนฯ ตามที่คณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียมเสนอ