มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 3/2538 (ครั้งที่ 51)
วันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2538
1. การดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
2. การส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
3. ราคาน้ำมันและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง
4. รายงานสถานการณ์ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า (ปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ)
6. การขออนุมัติในหลักการให้ กฟผ. ขายโรงไฟฟ้าขนอม
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(นายชวน หลีกภัย)
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
(นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์)
เรื่องที่ 1 การดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 49) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 ให้กําหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดําเนินการและรายงานผลการดําเนินการต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมทุกครั้ง
2. หน่วยงานต่าง ๆ ได้รายงานผลการดําเนินการให้ สพช. ทราบรวมทั้งสิ้น 8 หน่วยงาน โดยมี รายละเอียด ดังนี้
2.1 กรมสรรพสามิต ได้จัดตั้งห้อง Operation Room ทําการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับรายงานการเคลื่อนย้ายและการขนส่งน้ำมันโดยทางเรือทั่วราชอาณาจักรในทันทีที่เริ่มมีการขนถ่ายน้ำมันออก จากโรงกลั่น หรือเมื่อมีการนําเข้าและติดตามการขนย้ายไปปลายทาง เพื่อป้องกันการเดินทางออกนอกเส้นทาง ไปรับน้ำมันหนีภาษี โดยได้ประสานงานกับ สพช. กรมศุลกากร และหน่วยงานอื่น ๆ และยังคงให้เจ้าพนักงาน สรรพสามิตทําการผนึกท่อทางรับ-จ่ายน้ำมันของคลังน้ำมันที่เป็นโรงอุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัติภาษี สรรพสามิต พ.ศ. 2527 และให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดปริมาณน้ำมันทุกครั้งที่นําเข้าในคลังน้ำมัน ซึ่งเป็นผลให้ การจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2537- เมษายน 2538 สูงกว่าเดือนเดียวกัน ของปีก่อนร้อยละ 12.49, 15.37, 23.91, 26.69, 28.33 และ 19.28 ตามลําดับ และเป็นผลให้การจัดเก็บภาษีน้ำมันในช่วง 6 เดือน (พฤศจิกายน 2537 - เมษายน 2538) สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.09 นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้กรมสรรพสามิตใช้เงินฝากค่าใช้จ่ายเก็บภาษีท้องถิ่น จํานวน 210 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อและติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ควบคุมการรับจ่ายน้ำมันในคลังน้ำมันต่าง ๆ แล้ว ซึ่งขณะนี้ กรมฯ ได้ออกประกวดราคาจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ดังกล่าว กําหนดยื่นซองในวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 และคาดว่าจะสามารถดําเนินการได้เสร็จประมาณเดือนพฤษภาคม 2539
2.2 กรมศุลกากร ในเดือนมีนาคม 2538 คณะทํางานเพื่อทําหน้าที่ตรวจสอบการลักลอบ นําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่กรมศุลกากรเป็นประธาน ได้ดําเนินการตรวจสอบการสําแดงการนําเข้าในใบขนสินค้า เปรียบเทียบกับการนําเข้าจริง และตรวจสอบคลังน้ำมันของบริษัทต่าง ๆ รวม 13 แห่งแล้วไม่พบว่ามีการกระทําผิดแต่อย่างใด และสามารถจับกุมผู้ลักลอบนําเข้าน้ำมันได้ 1 ราย บริเวณแหลมคอกวาง อําเภอสิชล นครศรีธรรมราช เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ปริมาณ 60,000 ลิตร สรุปผลการจับกุมและการดําเนินคดีของกรมศุลกากร ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2537 ปรากฏว่า สามารถจับกุมผู้กระทําความผิดได้ 21 ราย เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ปริมาณ 669,107 ลิตร และ น้ำมันเบนซินปริมาณ 2,440 ลิตร ซึ่งมีข้อสังเกตว่าผลคดีส่วนใหญ่ จะยึดของกลางคือน้ำมันที่จับกุมได้เป็นของ แผ่นดิน แต่เรือที่ใช้ในการกระทําความผิดไม่ได้มีการรับเรือตามมติคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้ทางกรมศุลกากรได้ดําเนินการปรับปรุงแนวทางการดําเนินคดีแล้ว โดยออกคําสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 13/2538 เรื่อง เพิ่มเติมประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2530 หมวดที่ 17 บทที่ 08 ข้อที่ 02 (ก) ว่าด้วย หลักเกณฑ์ในการดําเนินคดีการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว
2.3 กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดําเนินการยกร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตต่อเนื่องเพื่อป้องกันและปราบปราม การกระทําความผิด พ.ศ. …. เสร็จสิ้นแล้ว โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ได้ให้ความเห็นชอบ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้นําเสนอคณะกรรมการกฎหมายทะเลและเขตทางทะเลของประเทศไทยพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2538 ก่อนจะนําเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป สําหรับในส่วนของ คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรในเขตต่อเนื่อง ซึ่งดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเพิ่มอํานาจปฏิบัติการของพนักงานศุลกากรในเขตต่อเนื่องนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมชี้แจงประเด็นทางข้อกฎหมายอยู่ด้วย
2.4 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทะเบียนการค้าได้ขอความร่วมมือจากโรงกลั่นในสิงคโปร์ ให้แจ้งรายละเอียดของเรือบรรทุกน้ำมันที่รับน้ำมันจากสิงคโปร์และมีจุดหมายปลายทางมายังประเทศไทย ขณะนี้บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จํากัด และบริษัท เอสโซ่แสตนดาร์ดแห่งประเทศไทย จํากัด ได้รายงานข้อมูลดังกล่าวแล้ว และได้ส่งให้แก่ สพช. ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ เรื่อง การกําหนดเงื่อนไขการนําเข้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วซึ่งกําหนดให้ผู้ค้าตามมาตรา 6 ทุกราย ต้องแจ้งรายละเอียดการนําเข้าทันทีที่เรือเดินทางออกจากสิงคโปร์ โดยการร่างประกาศ กระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนําสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2538 ซึ่งได้มีมติเห็นชอบในร่างดังกล่าวและอนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ดําเนินการต่อไปได้ และขณะนี้อยู่ระหว่างการนําเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณาลงนาม
2.5 กองทัพเรือ ได้มีคําสั่งกองทัพเรือ (เฉพาะ) ลับที่ 98/2538 ลงวันที่ 28 เมษายน 2538 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าน้ำมันในทะเล โดยมุ่งเน้นการสืบหาข่าว การติดตามและจับกุม เรือประมงดัดแปลง เรือน้ำมันขนาดเล็ก หรือเรือบรรทุกน้ำมันที่จดทะเบียนในต่างประเทศที่มีการขนถ่ายน้ำมัน นอกทะเลอาณาเขตของไทย ด้วยเรือและอากาศยานที่มีอยู่
2.6 คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรในเขตต่อเนื่อง ซึ่งมีรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (นายชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์) เป็นประธานได้จัดทําข้อเสนอการกําหนดเขตต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยคณะอนุกรรมการฯ เห็นควรที่ประเทศไทยจะได้ประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย โดยกําหนดให้ “เขตต่อเนื่อง” อยู่ในบริเวณที่อยู่ถัดออกไปจากทะเลอาณาเขตจนถึงระยะ 24 ไมล์ทะเล ทั้งนี้ ในการประกาศเขตต่อเนื่องดังกล่าวต้องมีการประกาศเป็นพระบรมราชโองการและเพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถปฏิบัติงานปราบปรามการลักลอบ ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตต่อเนื่องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คณะอนุกรรมการฯ เห็นควรที่จะแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 เพื่อกําหนดมาตรการให้เรือที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม เช่น ห้ามเรือที่อยู่ในเขตต่อเนื่องหยุดจอดลอยลํา หรือจอดเรือโดยไม่มีเหตุอันควร หรือโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือขนถ่ายสิ่งของใด ๆ โดยไม่มีเหตุผลอันควรหรือโดยไม่ได้รับอนุญาตฯลฯ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้จัดทําร่างพระบรมราชโองการและร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสร็จเรียบร้อยแล้ว
2.7 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากการกําหนดเขตต่อเนื่องดังกล่าวจะส่งผลกระทบ ต่อประมงรายเล็ก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุม ครั้งที่ 2/2538 (ครั้งที่ 50) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2538 จึงได้มีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) รับไปดําเนินการหามาตรการเพื่อช่วยเหลือชาวประมงรายย่อย ซึ่งได้รับผลกระทบในเรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากมาตรการกําหนดเขตต่อเนื่องในพื้นที่ระหว่าง 12 ถึง 24 ไมล์ทะเล จากชายฝั่ง กรมประมงได้ดําเนินการตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว โดยได้นําข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2538 ซึ่งได้มีมติเห็นชอบให้กําหนดมาตรการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันของชาวประมงขนาดเล็ก โดยให้สามารถซื้อน้ำมันได้ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดลิตรละ 1.20 บาท โดยให้สมาคมประมงจัดตั้งสหกรณ์เพื่อการค้าน้ำมันสําหรับชาวประมง และรับซื้อน้ำมันจากผู้ค้าน้ำมันในราคาต้นทุนซึ่งลดค่าการตลาดลงลิตรละ 0.70 บาท โดยจะขายน้ำมันให้ชาวประมงในราคาต่ำกว่าทุนลิตรละ 0.50 บาท ซึ่งราคาขายน้ำมันของสหกรณ์ที่ขาดทุนนั้นจะได้รับการชดเชยจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ปีละ 350 ล้านบาท ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไข คือ น้ำมันที่จะใช้ต้องเติมสีและสาร (additive) จดทะเบียนเรือประมงที่เป็นสมาชิกทุกลํา เรือประมงทุกลําต้องมีสมุดปูมซึ่งระบุระยะเวลาทําการประมง เส้นทางในการทําการประมง ปริมาณน้ำมันที่เติม และปริมาณปลาที่จับได้ ปริมาณน้ำมันที่จะใช้ 700 ล้านลิตรต่อปี เจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ดําเนินการควบคุมดูแลการรับและขายน้ำมันของสหกรณ์เป็นประจํา
2.8 กระทรวงมหาดไทย ได้มีคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 140/2538 เรื่อง แต่งตั้ง คณะกรรมการอํานวยการป้องกันปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 31 มีนาคม 2538 เพื่อจัดรูปองค์กรในการกํากับและประสานการปฏิบัติงานให้บังเกิดผลอย่างแท้จริง ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการอํานวยการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมัน เชื้อเพลิง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ เพื่อทําหน้าที่กํากับและเร่งรัดการดําเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 2) คณะอนุกรรมการประสานการปฏิบัติป้องกันปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยฝ่ายบริหารเป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อทําหน้าที่กําหนดแนวทาง ประสานการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 3) คณะทํางานป้องกันปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดเป็นประธานคณะทํางาน เพื่อทําหน้าที่ดําเนินการวางมาตรการใช้กําลังป้องกันปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตพื้นที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่องและจริงจังให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี โดยในเดือนมีนาคม 2538 กองบังคับการตํารวจน้ำ กรมตํารวจ สามารถจับกุมผู้กระทําผิดลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทางทะเลได้ จํานวน 3 ราย เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ปริมาณรวม 513,000 ลิตร นอกจากนี้ ทางจังหวัดสระบุรี ได้ทําการตรวจค้นคลังน้ำมันของบริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จํากัด พบว่ามีการจําหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงรวม 3,516,315 ลิตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจึงได้ส่งเรื่องดําเนินคดี และ จังหวัดสตูล สามารถจับกุมน้ำมันลักลอบ จํานวน 24 ถัง รวม 700 ลิตร ได้จากเรือโดยสารที่เดินทางจากมาเลเซียมายังจังหวัดสตูล และในเดือนพฤษภาคม 2538 ศูนย์อํานวยการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย กรมตํารวจ ได้จับกุมเรือประมงดัดแปลงที่ลักลอบค้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 1 ราย เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ปริมาณ 30,000 ลิตร
2.9 กรมตํารวจ ได้มีคําสั่งปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยผิดกฎหมาย ลงวันที่ 17 มีนาคม 2538 เพื่อดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่เนื่องจากภารกิจ ดังกล่าวต้องมีค่าใช้จ่าย ดังนั้น กรมตํารวจจึงได้เสนอต่อ สพช. ให้ช่วยสนับสนุนเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 52,988,364 บาท ซึ่ง สพช. ได้มีหนังสือถึงสํานักงบประมาณเพื่อพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วยแล้ว
มติของที่ประชุม
1. รับทราบรายงานผลความคืบหน้าในการดําเนินการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. เห็นชอบในหลักการ (1) ร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย เพื่อกําหนดเขตต่อเนื่อง ในท้องทะเลบริเวณถัดออกไปจากน่านน้ำอาณาเขตเป็นระยะทางไม่เกิน 24 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง (2) ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และ (3) ร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้การปฏิบัติงานปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรในเขตต่อเนื่องเสนอ โดยมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาตรวจร่างต่อไป
3. เห็นชอบในหลักการให้จัดสรรงบประมาณให้แก่กรมตํารวจ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและ ปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย ในช่วงปีงบประมาณ 2538 และ 2539 ในวงเงิน 52,988,364 บาท ตามที่กรมตํารวจเสนอ โดยให้กรมตํารวจทําความตกลงในรายละเอียดกับสํานักงบประมาณ โดยตรงต่อไป
4. ให้กระทรวงมหาดไทยแก้ไขข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยที่ออกตามความในมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กําหนดแบ่งแยกอํานาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่มีอาณาเขตทางทะเลให้แน่นอนชัดเจน
เรื่องที่ 2 การส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
สรุปสาระสำคัญ
1. ตามที่รัฐบาลได้กําหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535- 2539) ให้ยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินพิเศษที่มีสารตะกั่วเจือปนภายในช่วงปลายของแผนฯ ซึ่งอยู่ในราว เดือนกันยายน 2539 นั้น ในระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการส่งเสริมการจําหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยได้มีการดําเนินการ ดังนี้
1.1 ในเดือนพฤษภาคม 2534 รัฐบาลได้กําหนดให้เริ่มมีการจําหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว โดยสมัครใจ ทั้งนี้ เพื่อรองรับนโยบายให้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลใหม่ขนาดตั้งแต่ 1600 ซีซีขึ้นไปต้องติดตั้ง Catalytic Converter ตั้งแต่ 1 มกราคม 2536 เป็นต้นไป และสําหรับรถยนต์ใหม่ขนาดต่ำกว่า 1600 ซีซี ให้ ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวเช่นกัน ตั้งแต่ 1 กันยายน 2536 เป็นต้นไป
1.2 สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้เร่งติดตามให้มีการกระจาย การจําหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงต่าง ๆ ให้ทั่วถึงทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่ง ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2537 มีจํานวนสถานีบริการที่มีการจําหน่ายน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่ว จํานวน ทั้งสิ้น 3,357 แห่ง ใน 75 จังหวัดทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 70 ของสถานีบริการทั้งหมดทั่วประเทศ
1.3 คณะรัฐมนตรีในการประชุม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537 ได้มีมติอนุมัติตามมติของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2537 (ครั้งที่ 45) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2537 ให้เปลี่ยนแปลงกําหนดเวลาบังคับให้น้ำมันเบนซินธรรมดาเป็นน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วให้เร็วขึ้นกว่าที่ได้กําหนดไว้เดิมที่ให้เป็นน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วในวันที่ 1 มกราคม 2538 ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2537) เรื่อง กําหนดคุณภาพของน้ำมันเบนซิน เพื่อให้น้ำมันเบนซินธรรมดาเป็นน้ำมัน ไร้สารตะกั่วทั้งหมด ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2537 ที่ผ่านมา โดยน้ำมันเบนซินธรรมดาไร้สารตะกั่วดังกล่าวที่ผู้ค้าน้ำมันจําหน่ายจะมีค่าออกเทน 92 RON ซึ่งรถยนต์ใหม่สามารถใช้เติมแทนน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วได้ และช่วยแก้ไขปัญหาการกระจายของสถานีบริการที่จําหน่ายน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วได้อีกด้วย เนื่องจากน้ำมันเบนซินธรรมดาไร้สารตะกั่วมีการจําหน่ายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทุกแห่งทั่วประเทศ
2. สถานการณ์ของน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วล่าสุด มีดังนี้
2.1 ปริมาณการจําหน่าย น้ำมันเบนซินพิเศษและธรรมดาไร้สารตะกั่วในเดือนมีนาคม 2538 มี ปริมาณ 352.13 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมีปริมาณการจําหน่าย 276.42 ล้านลิตร ประมาณ 75.71 ล้านลิตร คิดเป็นร้อยละ 27 โดยเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วมีปริมาณการจําหน่ายประมาณ 333.00 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณจําหน่าย 270.43 ล้านลิตร ประมาณ 62.57 ล้านลิตร คิดเป็นร้อยละ 23 และเบนซินธรรมดาไร้สารตะกั่ว มีปริมาณการจําหน่ายประมาณ 189.47 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณจําหน่าย 183.63 ล้านลิตร ประมาณ 5.84 ล้านลิตร คิดเป็น ร้อยละ 3
2.2 สัดส่วนการจําหน่าย น้ำมันเบนซินพิเศษและธรรมดาไร้สารตะกั่ว รวมกันในเดือนมีนาคม 2538 มีประมาณร้อยละ 67 ของความต้องการใช้น้ำมันเบนซินทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีสัดส่วน ประมาณร้อยละ 61 หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 โดยน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วมีสัดส่วนการจําหน่าย ประมาณร้อยละ 49 ของความต้องการใช้น้ำมันเบนซินพิเศษทั้งหมด
2.3 ปริมาณสารตะกั่ว ผลจากการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณสารตะกั่วที่ปล่อย ออกมาจากยานพาหนะลดลง โดยในเดือนมีนาคม 2538 มีปริมาณสารตะกั่วที่ปล่อยออกมา 26 เมตริกตัน ลดลงจากช่วงปี 2534 ซึ่งเริ่มนําน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วมาใช้ซึ่งมีปริมาณตะกั่ว 120 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 78
2.4 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วจะเพิ่มขึ้น แต่การใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วกลับไม่ลดลงและยังคงมีสัดส่วนการใช้สูงถึงร้อยละ 51 ของการใช้น้ำมันเบนซินพิเศษทั้งหมดในปัจจุบัน ทั้งนี้ มีสาเหตุเนื่องมาจากประชาชนผู้ใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วยังคงมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว โดยเกรงว่าเมื่อใช้แล้วจะทําให้เครื่องยนต์เร่งไม่ขึ้น บ่าวาล์วเสียหาย หรือ เครื่องสะดุด ฯลฯ
3. เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สพช. จึงได้ดําเนินการจัดทําโครงการประชาสัมพันธ์การใช้น้ำมันเบนซิน ไร้สารตะกั่วขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขทัศนคติของประชาชนกลุ่มที่ใช้รถยนต์ซึ่งมีบ่าวาล์วแข็งและสามารถใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วได้ให้กลับมาใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วแทน โดยมีกิจกรรมพอสรุปได้ ดังนี้
3.1 การสัมมนา สพช. ร่วมกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้จัดให้มีการสัมมนาเรื่อง “การยกเลิกน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว : ปัญหาและแนวทางแก้ไข” ขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม 2538 ที่ผ่านมา เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกสาขาและหาแนวทางการดําเนินการไปสู่การยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว ซึ่งจากผลการสัมมนาสรุปได้ว่า ทุกฝ่ายต่างเห็นด้วยให้ยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว และควรเลื่อนระยะเวลาบังคับใช้ให้เร็วขึ้นกว่าเดิมที่กําหนดไว้จากสิ้นปี 2539 เป็นเดือนมกราคม 2539 แทน ทั้งนี้ ในระยะแรกอาจกําหนดให้มีน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วเป็น 2 ชนิด คือน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วในปัจจุบันซึ่งมีสีเขียวที่สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทั่วไปและน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วผสมสารเคลือบ บ่าวาล์วซึ่งจะมีสีเขียวเช่นกัน ซึ่งทางการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จะได้นําออกจําหน่ายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2538 เพื่อใช้กับรถยนต์ซึ่งมีบ่าวาล์วอ่อน รวมทั้ง รถบ่าวาล์วแข็งที่ยังไม่กล้าใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วด้วย แต่ไม่ควรใช้กับรถยนต์ใหม่ที่ติดตั้ง Catalytic Converter เพราะสารเคลือบบ่าวาล์วจะไปเคลือบ Catalytic Converter อาจทําให้หมดสภาพเร็วขึ้นได้เล็กน้อย จึงจําเป็นที่จะต้องกําหนดมาตรการบังคับให้หัวจ่ายน้ำมันชนิดนี้ต้องมีขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 24.50 มิลลิเมตร หรือ 15/16 นิ้ว เท่ากับหัวจ่ายของ น้ำมันเบนซินชนิดมีสารตะกั่วเพื่อป้องกันรถใหม่ที่ติดตั้ง Catalytic Converter เข้าไปเติม
3.2 การประชาสัมพันธ์ สพช. ได้ดําเนินการประชาสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ใช้รถยนต์ที่สามารถใช้ น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วแต่ยังคงใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วอยู่ โดยจัดส่งนักศึกษาออกไปประจําตามสถานี บริการน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตกรุงเทพและปริมณฑล อําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อําเภอหาดใหญ่ จังหวัด สงขลา อําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และอําเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อชี้แจงทําความเข้าใจ
3.3 การออกสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ สพช. ได้จัดให้มีการออกสื่อโฆษณาทางวิทยุและ โทรทัศน์ส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วเพิ่มขึ้น ในช่วง 1 พฤษภาคม 20 มิถุนายน 2538 และขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนทั้งทางหนังสือพิมพ์ นิตยสารและวิทยุ ให้ช่วยเผยแพร่บทความชี้แจงให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วด้วย
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบในหลักการให้มีการยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว โดยให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้า) ร่วมกับ สพช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาในรายละเอียด และดําเนินการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ต่อไป โดยให้มีผลบังคับใช้ประมาณวันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป
2. ให้กรมโยธาธิการแก้ไขประกาศกรมโยธาธิการเกี่ยวกับการกําหนดขนาดของหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการ โดยให้มีข้อยกเว้นสําหรับหัวจ่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วซึ่งผสมสารเคลือบบ่าวาล์วให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายนอกของท่อทางออกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นขนาดใหญ่เท่ากับหัวจ่ายน้ำมันเบนซินที่มีตะกั่วในปัจจุบันคือไม่น้อยกว่า 24.50 มิลลิเมตร หรือ 15/16 นิ้ว
เรื่องที่ 3 ราคาน้ำมันและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ด้วยสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ส่งสําเนาหนังสือกระทรวงพาณิชย์ ด่วนที่สุด ที่ พณ 0405/311 ลงวันที่ 18 มกราคม 2538 เรื่อง ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) พิจารณา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณากําหนดมาตรการกํากับดูแลค่าการตลาดให้เหมาะสม เนื่องจากราคาได้ขยับสูงขึ้นเป็นลําดับ และผู้ค้าน้ำมันมีพฤติกรรมในการกําหนดค่าการตลาดเพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค หากค่าการตลาดยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงหรือมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก จะทําให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงสูงตามไปด้วย อันจะทําให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะเงินเฟ้อ กระทรวงพาณิชย์จึงได้เสนอว่า ควรได้มีการพิจารณากําหนดมาตรการกํากับดูแลค่าการตลาดให้เป็นไปโดยเหมาะสมต่อไป
2. สพช. ได้นําเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 15) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 และคณะกรรมการฯ ได้มีมติรับทราบผลการวิเคราะห์ของ สพช. และมอบหมายให้ สพช. รับไปหารือกับกรมการค้าภายในก่อนนําเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ต่อไป
3. สพช. ได้ประชุมหารือกับกรมการค้าภายใน ตามมติของคณะกรรมการฯ ข้างต้นแล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2538 โดยได้ชี้แจงในรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
3.1 ภายหลังราคาน้ำมันลอยตัวในปี 2534 เป็นต้นมา ราคาขายปลีกเฉลี่ยในแต่ละปีลดลงโดยตลอด ซึ่งการพิจารณารายได้ของผู้ค้าน้ำมันจะพิจารณาเพียงการเปลี่ยนแปลงของค่าการตลาด (Marketing Margin) ไม่ได้ เพราะจะไม่ทําให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของรายได้ทั้งหมด เนื่องจากรายได้จากการจําหน่ายน้ำมัน ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ค่าการกลั่น (Refining Margin) ซึ่งเป็นรายได้ของผู้ผลิตหรือผู้กลั่น และค่าการตลาด (Marketing Margin) ซึ่งเป็นรายได้ของผู้จําหน่ายทุกทอดรวมกัน รวมทั้งสถานีบริการด้วย ดังนั้น หากค่าการตลาดเปลี่ยนแปลงไปในทางสูงขึ้น มิได้หมายความว่าราคาขายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องสูงตามไปด้วยเสมอไป ทั้งนี้ค่าการตลาดก่อนและหลังราคาลอยตัว ไม่สามารถนํามาเปรียบเทียบกันได้โดยตรง เพราะภายหลังการลอยตัวตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา รัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ ซึ่งมีผลกระทบต่อต้นทุนและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงหลายประการ ดังนี้ (1) ต้นทุนของผู้ผลิตหรือนําเข้า เนื่องจากรัฐบาลได้ปรับปรุงข้อกําหนดคุณภาพของน้ำมัน เชื้อเพลิงให้สูงขึ้นเป็นระยะๆ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากยานพาหนะ รวมทั้งฝ่ายผู้ค้าน้ำมันเองก็ได้เพิ่มค่าออกเทนของน้ำมันเบนซินให้สูงขึ้นด้วยความสมัครใจ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วมากขึ้น (2) ต้นทุนของผู้จําหน่าย เนื่องจากรัฐบาลได้กําหนดให้ผู้ค้าน้ำมันเติมสารเติมแต่ง (Additive) ลงในน้ำมันก่อนจําหน่ายเพื่อลดมลพิษในไอเสียของรถยนต์ และเพิ่มอัตราสํารองของน้ำมันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ทําให้ต้นทุนการจําหน่ายสูงขึ้น ดังนั้น ก่อนที่จะทําการเปรียบเทียบราคาและค่าการตลาด ระหว่างก่อนลอยตัวกับหลังลอยตัวจะต้องมีการปรับต้นทุนต่าง ๆ ดังกล่าวเข้าไปในราคาและค่าการตลาดช่วงก่อนลอยตัวเสียก่อน จึงจะสามารถเปรียบเทียบกันได้บนพื้นฐานเดียวกัน โดยผลการเปรียบเทียบพบว่า หากรัฐยังคงควบคุมราคามาจนถึงปัจจุบัน ราคาขายปลีกจะสูงกว่ากรณีราคาลอยตัว โดยค่าการกลั่นและค่าการตลาดรวมกันหลังราคาลอยตัวต่ำกว่าช่วงก่อนราคาลอยตัว ดังนั้นค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ได้มาจากการขึ้นราคาขายปลีก แต่มาจากค่าการกลั่นซึ่งลดลงมากเนื่องจากนโยบายนําเข้าเสรีของรัฐบาล ซึ่งดําเนินการไปพร้อมกับการปล่อยราคาลอยตัว ทําให้โรงกลั่นน้ำมันมีอํานาจต่อรองราคาลดลงและสูญเสียรายได้ที่เคยได้รับให้แก่ผู้จําหน่ายในรูปของค่าการตลาดที่สูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้นก็มิได้ตกเป็นผลกําไรแก่ผู้จําหน่ายทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งเป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มสํารองและการเติมสารเติมแต่ง คงเหลือเป็นกําไรที่เพิ่มขึ้นสําหรับน้ำมันเบนซินพิเศษประมาณลิตรละ 25 สตางค์ และสําหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลิตรละ 22 สตางค์ ซึ่งแม้ในส่วนนี้ผู้บริโภคก็มีส่วนได้รับประโยชน์ด้วยดังนี้ (1) สภาพการแข่งขันในระดับการค้าปลีกเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยจํานวนสถานีบริการเพิ่มขึ้น และมีผู้ลงทุนจัดตั้งสถานีบริการภายใต้เครื่องหมายการค้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ในด้านราคาจําหน่าย ซึ่งโดยทั่วไปจะตั้งราคาต่ำกว่าสถานีบริการของผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ สภาพของสถานีบริการ ทั้งด้านความปลอดภัย ความสะอาดและการบริการที่ดีขึ้น และในระยะยาวการแข่งขันระหว่างสถานีบริการที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จะทําให้อัตราค่าการตลาดลดลง (2) ช่วยให้เกิดการขยายตัวของการจําหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วไปยังภูมิภาคต่าง ๆ อย่างทั่วถึงในระยะเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากค่าการตลาดอยู่ในระดับสูงพอสมควร จึงจูงใจให้มีการนําไปจําหน่ายได้ (3) ผลประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมในเมือง กล่าวคือ คุณภาพอากาศในเมืองดีขึ้น โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร อันเนื่องมาจากการที่น้ำมันมีคุณภาพดีขึ้นตามข้อกําหนดใหม่ที่เคร่งครัดมากขึ้น
3.2 ผลกระทบจากการลดลงอย่างมากของค่าการกลั่น (Refining Margin) ในช่วงหลังราคาลอยตัวทําให้ผู้ค้าน้ำมันเล็งเห็นว่าในอนาคตค่าการกลั่นและค่าการตลาดที่ได้รับ จะผันแปรตามราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งไม่แน่นอน หากต้องการจะให้ผลประโยชน์ที่ได้รับมีความแน่นอนมากขึ้น จะต้องได้รับทั้งค่าการกลั่นและค่าการตลาดรวมกัน แนวความคิดดังกล่าวทําให้ผู้ค้าน้ำมันเริ่มขยายกิจการให้มีลักษณะกลั่นเองและจําหน่ายเองมากขึ้น เช่น บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จํากัด และบริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) จํากัด ซึ่งปัจจุบันซื้อ น้ำมันจากบริษัท ไทยออยล์ จํากัด ได้ขออนุญาตจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันของตนเองขึ้นโดยแยกกิจการเป็นบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จํากัด และบริษัท สตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง จํากัด ตามลําดับ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น เกิดประโยชน์ต่อประเทศในด้านความมั่นคงของการจัดหา โดยประเทศไทยพึ่งพาการนําเข้าน้อยลง มีความเสี่ยงภัยต่อการขาดแคลนน้ำมันน้อยลง และในอนาคตหากมีการจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันเพื่อการส่งออก ก็จะทําให้ประเทศไทยเริ่มเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานยิ่งขึ้น และหากรัฐบาลยังคงควบคุมราคาขายปลีกมาจนถึงปัจจุบัน การขยายตัวด้านกําลังการกลั่นน้ำมันในประเทศดังกล่าวข้างต้นอาจไม่เกิดขึ้น
3.3 ในการปล่อยให้ราคาน้ำมันลอยตัว รัฐบาลได้คํานึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภคและได้กําหนด มาตรการไว้เรียบร้อยแล้ว โดยคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ได้มีมติให้มีการกํากับดูแล การกําหนดราคาจําหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ณ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศ ซึ่งมีสาระสําคัญสรุปได้ ดังนี้ (1) การรักษาระดับราคา ให้ ปตท. บริษัทบางจาก และผู้ค้าน้ำมันสอดส่องดูแลมิให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่แสดงเครื่องหมายการค้าของตน จําหน่ายน้ำมันในราคาสูงกว่าที่ผู้ค้าน้ำมันกําหนด (2) การรับแจ้งราคา ให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงในแต่ละจังหวัดแจ้งราคาจําหน่าย ณ วันที่ 15 ของทุกเดือนต่อสํานักงานพาณิชย์จังหวัดและสํานักงานพาณิชย์จังหวัดแจ้ง สพช. เพื่อวิเคราะห์และประเมินการเคลื่อนไหวของราคาขายปลีกและค่าการตลาด (3) การติดตามราคา ให้จังหวัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบดูแลการกําหนดราคาขายปลีกของ สถานีบริการในจังหวัด ในการพิจารณาว่าระดับราคาสูงเกินความเหมาะสมหรือไม่ ให้ดูจากราคาของสถานีบริการ ปตท. ข้างเคียง โดยความแตกต่างของราคาไม่ควรเกินลิตรละ 20 สตางค์ หรือใช้ราคาจําหน่ายใน กทม. ที่ผู้ค้าน้ำมันแจ้งบวกด้วยค่าขนส่งไปยังจังหวัดนั้นแทนราคา ปตท. ข้างเคียงก็ได้ (4) การดําเนินการ หากพบสถานีบริการที่จําหน่ายน้ำมันในราคาเกินเหมาะสมให้จังหวัดแจ้งกรมการค้าภายในและ สพช. เพื่อแจ้งให้ผู้ค้าน้ำมันเจ้าของเครื่องหมายการค้าดําเนินการให้ลดราคาลง หรือให้ ปตท. แทรกแซงราคา หากไม่สามารถแก้ไขได้ ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดกําหนดราคาสินค้าและป้องกัน การผูกขาดพิจารณาแก้ไขโดยใช้อํานาจตามกฎหมาย นอกจากนั้น สพช. ร่วมกับ ปตท. ได้เดินทางไปสํารวจสภาพการแข่งขันของสถานีบริการในท้องที่ห่างไกลในทุกภูมิภาคเป็นระยะตลอดมา เพื่อให้ทราบว่ามีการกําหนดราคาจําหน่ายสูงเอาเปรียบผู้บริโภค หรือไม่ โดยได้เชิญให้ผู้ค้าน้ำมันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมการค้าภายใน และกรมทะเบียนการค้าให้ส่งผู้แทนร่วมเดินทางไปด้วยทุกครั้ง
3.4 ผลการดําเนินการกํากับดูแลราคาและค่าการตลาดในปี 2537 ที่ผ่านมาพอสรุปได้ ดังนี้ (1) ปตท. บริษัทบางจาก และผู้ค้าน้ำมันได้สอดส่องดูแลการกําหนดราคาขายปลีกของสถานีบริการทั่วประเทศตามมติคณะรัฐมนตรีได้เป็นอย่างดี โดยสํานักงานพาณิชย์จังหวัด และ สพช. ตรวจพบ สถานีบริการซึ่งจําหน่ายน้ำมันในราคาสูงเกินเหมาะสมน้อยรายมาก จากจํานวนสถานีบริการทั่วประเทศโดยเฉลี่ย ในปี 2537 ทั้งหมด 4,768 ราย พบโดยเฉลี่ยเดือนละ 112 ราย หรือร้อยละ 2.4 สถานีบริการดังกล่าวมิได้กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทุกภาค ทําให้ผู้บริโภคไม่เดือดร้อนเพราะสามารถซื้อจากสถานีบริการอื่นที่อยู่ข้างเคียงได้ อย่างไรก็ดีเมื่อตรวจพบผู้ค้าน้ำมันก็ได้ให้ความร่วมมือในการดําเนินการให้สถานีบริการลดราคาจําหน่ายลงอย่างรวดเร็ว (2) นอกจากการกํากับดูแลมิให้ราคาขายปลีกของสถานีบริการสูงเกินเหมาะสมแล้ว สพช. ยังได้กํากับดูแลระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงของราคาขายปลีกตามราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นด้วย ซึ่งปรากฏว่าการ เปลี่ยนแปลงของราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินพิเศษและเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วอยู่ในลักษณะ “ขึ้นเร็วลงช้า” สพช. ได้นําเสนอปัญหาดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วมีมติให้ ปตท. และบริษัทบางจาก ปรับปรุงกลไกการกําหนดราคาขายปลีก ณ สถานีบริการให้สามารถปรับปรุงราคาขายปลีกตามราคาขายส่งได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และให้เจ้าหน้าที่สามารถดําเนินการไปได้โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหาร เพื่อให้มีความคล่องตัว ผลปรากฏว่าช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ โดยราคาขายปลีก ณ สถานีบริการของน้ำมันเบนซินพิเศษทั้ง 2 ชนิดเปลี่ยนแปลงตามราคาขายส่งในลักษณะ “ขึ้นเร็วลงเร็ว” โดย สพช. เห็นว่ามาตรการกํากับดูแลราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่รัฐกําหนดไว้ในปัจจุบันเหมาะสมดีแล้ว กล่าวคือช่วยให้ราคาจําหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในระดับที่เหมาะสมและสะท้อนถึงราคาในตลาดโลก รวมทั้งค่าการตลาดที่ผู้ค้าน้ำมันได้รับก็มิได้เพิ่มสูงขึ้นมากเกินสมควร เมื่อคํานึงถึงต้นทุนการผลิตจําหน่ายที่เพิ่มขึ้นจากกฎเกณฑ์ของรัฐ และผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากความปลอดภัย ความสะอาดและบริการที่ดีขึ้นของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเห็นได้ชัดเจน จึงไม่จําเป็นต้องมีการทบทวนมาตรการกํากับดูแลดังกล่าวแต่อย่างใด
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการวิเคราะห์ของ สพช. เกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง
2. เห็นชอบให้ สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และ กรมการค้าภายใน ร่วมกัน พิจารณาปรับปรุงมาตรการในการกํากับดูแลการกําหนดราคาน้ำมันและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง ให้มีความ เหมาะสมยิ่งขึ้น
3. ให้กรมโยธาธิการเร่งดําเนินการในการออกประกาศกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันขนาดเล็กเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในการขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไปแล้ว
เรื่องที่ 4 รายงานสถานการณ์ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า (ปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ)
สรุปสาระสำคัญ
1. เขตการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2538 ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขต กฟน. ประสบปัญหาจํานวนไฟฟ้าดับถาวรเฉลี่ย 1.83 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟหนึ่งราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม บางเขตยังมีปัญหาไฟฟ้าดับค่อนข้างสูง เช่น เขตบางใหญ่ และเขตบางพลี
2. เขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2538 จํานวนไฟฟ้าดับ ถาวรอยู่ในระดับ 3.87 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟหนึ่งราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเล็กน้อย เขตที่มีปัญหามาก เป็นเขตทางภาคใต้ สาเหตุมาจากต้นยาง เขตที่มีปัญหารองลงมาคือ เขตภาคกลาง เนื่องจากเป็นเขตที่มีการใช้ ไฟฟ้าสูง อุปกรณ์ไฟฟ้าชํารุดบ่อยและปัญหารถชนเสาไฟฟ้า
3. ในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีส่วนทําให้ระบบไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ. ขัดข้องนั้น ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2538 ปัญหาไฟฟ้าดับที่เป็นผลมาจาก กฟผ. ลดน้อยลง โดยสามารถคิดเป็นเวลาที่ระบบไฟฟ้าหยุดจ่ายไฟ ประมาณ 22.9 นาที ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 13.5
4. การแก้ไขปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ของคณะกรรมการปรับปรุงความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นแกนนํา ได้มีการประสานงานกันระหว่างการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และมีการปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้ดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน ทําให้ระบบไฟฟ้าของประเทศดีขึ้น
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ได้มีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ ในเรื่องข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยกําหนดให้ กรมสรรพสามิตติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าออกจากคลังและมาตรวัดน้ำมันคงเหลือแบบ Automatic Level Gauge ในคลังน้ำมันชายฝั่งทุกแห่ง และให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดผนึกมิให้เปิดเครื่องเข้าไปแก้ไขสัญญาณ ได้ และให้มีการรายงานผลการดําเนินงานการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงต่อคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมทุกครั้ง
2. ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2538 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2538 จากการรายงานผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการฯ ปรากฏว่ามีคลังน้ำมันบางแห่งไม่อยู่ในความควบคุมของกรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) รับไปรวบรวมจํานวนและรายชื่อคลังน้ำมันที่ไม่อยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยราชการใด เพื่อ กําหนดมาตรการในการควบคุมดูแลการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และให้นําเสนอคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติต่อไป
3. สพช. ได้ดําเนินการตามมติแล้ว โดยได้หารือร่วมกับกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมสรรพากร และกรมโยธาธิการ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 และจัดทําข้อเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้า น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานในการประชุม ครั้งที่ 2/2538 (ครั้งที่ 16) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2538 เพื่อพิจารณาสรุปได้ ดังนี้
3.1 ในข้อเท็จจริงแล้วไม่น่าจะมีคลังน้ำมันใดที่ไม่อยู่ในความควบคุมดูแลของทางราชการ เนื่องจากคลังน้ำมันทุกคลังต้องได้รับอนุญาตจากกรมโยธาธิการ ซึ่งเป็นพื้นฐานสําหรับควบคุมดูแลด้านความ ปลอดภัยของสถานที่เก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกแห่ง และนอกจากนี้ถ้าคลังใดเป็นคลังน้ำมันนําเข้าจะต้องอยู่ในความดูแลของกรมศุลกากรเพื่อควบคุมการชําระอากรขาเข้า หรือถ้าคลังใดมีการดําเนินการตามกฎหมาย สรรพสามิต เช่น มีการเติมสารเติมแต่ง ก็จะต้องอยู่ในความดูแลของกรมสรรพสามิตในฐานะดําเนินการผลิตอีกด้วย
3.2 ในปัจจุบันมีคลังน้ำมันชายฝั่งรวมทั้งสิ้น 71 แห่ง แต่อยู่ในความดูแลของกรมสรรพสามิต และสามารถติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้เพียง 40 แห่ง ส่วนอีก 31 แห่ง กรมสรรพสามิตไม่มีอํานาจเข้าไปติดตั้งมาตรวัดได้ เนื่องจากกรมสรรพสามิตมีอํานาจติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 เฉพาะคลังน้ำมันที่เข้าลักษณะเป็น “โรงอุตสาหกรรม” คือ คลังน้ำมันของโรงกลั่นน้ำมัน และคลังน้ำมันที่มีการเติมสารเติมแต่ง (Additive) เท่านั้น จึงทําให้มีช่องโหว่ให้มีการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ และทําให้การแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าตามมติคณะรัฐมนตรีไม่ได้ผล อย่างไรก็ตามคลังชายฝั่งทั้ง 31 แห่ง นั้น มีคลังน้ำมันที่ควรจะต้องติดตั้งมาตรวัดจํานวน 10 แห่ง โดยให้กรมโยธาธิการดําเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคลังที่สมควรติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงให้แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง
3.3 คลังน้ำมัน 10 แห่งดังกล่าว อาจใช้อํานาจตามกฎหมายของกรมสรรพากรกําหนดให้ติดตั้ง มาตรวัดได้ แต่เนื่องจากอํานาจของกรมสรรพากรไม่ใช่อํานาจบังคับให้ติดตั้ง แต่เป็นการกําหนดเป็นทางเลือก หนึ่งให้เจ้าของคลังน้ำมันเลือกที่จะใช้การติดมาตรวัดเป็นอุปกรณ์ในการรายงานข้อมูลการรับจ่ายและคงเหลือ ของน้ำมันในคลังต่อกรมสรรพากร โดยเจ้าของคลังน้ำมันทุกคลังมีสิทธิเลือกและไม่ได้จํากัดเฉพาะคลัง 10 แห่ง ดังกล่าว อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรอาจส่งเสริมให้เจ้าของคลังน้ำมันยอมรับการติดมาตรวัดให้มากขึ้นได้ โดยใช้ หลักการว่าคลังใดติดมาตรวัดจะถือว่ามีระบบควบคุมที่ดี กรมสรรพากรจะเข้าไปตรวจสอบภาษีอากรน้อยกว่า คลังที่ไม่ได้ติดมาตรวัด
4. เพื่อให้มาตรการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงในคลังน้ำมันชายฝั่งกระทําได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เห็นควรกําหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม สําหรับคลังน้ำมันที่กรมสรรพสามิต ไม่มีอํานาจติดตั้งมิเตอร์ได้เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้
4.1 ให้กรมสรรพสามิตและกรมสรรพากรรับไปดําเนินการให้มีการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ในคลังน้ำมันที่กรมสรรพสามิตไม่มีอํานาจติดตั้ง โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายของกรมสรรพากรตามแนวทาง ข้างต้น โดยให้เน้นการติดตั้งมาตรวัดในคลังน้ำมันซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งก่อน
4.2 ให้กรมโยธาธิการติดตามข้อมูลการก่อสร้างคลังน้ำมันชายฝั่ง หากมีคลังน้ำมันที่ก่อสร้างเสร็จเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันให้แจ้งกรมสรรพสามิตและกรมสรรพากรทราบ เพื่อดําเนินการให้มีการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป
มติของที่ประชุม
1. ให้กรมสรรพสามิต และกรมสรรพากรรับไปดําเนินการให้มีการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงในคลังน้ำมันที่กรมสรรพสามิตไม่มีอํานาจติดตั้ง โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายของกรมสรรพากรในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ให้เน้นการติดตั้งมาตรวัดในคลังน้ำมันซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งก่อน
2. ให้กรมโยธาธิการติดตามข้อมูลการก่อสร้างคลังน้ำมันชายฝั่งหากมีคลังน้ำมันที่ก่อสร้างเสร็จเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันให้แจ้งกรมสรรพสามิตและกรมสรรพากร เพื่อดําเนินการให้มีการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อไป
เรื่องที่ 6 การขออนุมัติในหลักการให้ กฟผ. ขายโรงไฟฟ้าขนอม
สรุปสาระสำคัญ
1. ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2534 และวันที่ 12 กันยายน 2535 ได้มีมติ กําหนดแนวทางการดําเนินงานในอนาคตของ กฟผ. และการเพิ่มบทบาทของเอกชนในการผลิตและจําหน่ายไฟฟ้า ซึ่ง กฟผ. ได้ดําเนินการตามมติดังกล่าวแล้ว โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผลิตไฟฟ้า จํากัด (บผฟ.) ขึ้น ซึ่งต่อมา แปรรูปเป็นบริษัทมหาชน จํากัด เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2537 และได้ขายโรงไฟฟ้าระยองให้แก่บริษัทผลิตไฟฟ้า ระยอง จํากัด (บฟร.) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บผฟ. รวมทั้งจัดทําสัญญาซื้อขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าระยอง โดยให้สิทธิ (Option) แก่ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. เจรจาซื้อโรงไฟฟ้าขนอมจาก กฟผ. ได้ ต่อมาฝ่ายบริหารฯ กฟผ. ได้นําเรื่องการขายโรงไฟฟ้าขนอมเสนอคณะกรรมการ กฟผ. พิจารณา ในการประชุม ครั้งที่ 5/2538 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2538 และมีมติอนุมัติในหลักการให้ขายโรงไฟฟ้าขนอม ทั้งหมดจํานวน 824 เมกะวัตต์ แก่ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. และให้ฝ่ายบริหารฯ ดําเนินการตามที่เสนอ ซึ่งในการดําเนินการดังกล่าว จําเป็นต้องขออนุมัติและขอรับการสนับสนุนในหลักการจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้สามารถดําเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ได้ครบถ้วนภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 กฟผ. จึงเสนอเรื่องให้สํานักนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณา เมื่อสํานักนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว จึงส่งเรื่องดังกล่าวมายังสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ สํานักนายกรัฐมนตรีได้นําเรียนรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายกร ทัพพะรังสี) ผู้สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี สําหรับ กฟผ. พิจารณาแล้ว ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาก่อนนําเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการต่อไป
2. ขั้นตอนในการดําเนินการซื้อขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม มีขั้นตอนหลัก ดังนี้
2.1 การขออนุมัติในหลักการจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ กฟผ. ดําเนินการขายทรัพย์สินของ โรงไฟฟ้าขนอมกับ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. และการขอแต่งตั้งคณะกรรมการประเมิน ราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจําหน่ายกิจการ หรือหุ้นที่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504
2.2 การเจรจาในรายละเอียดของสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอมและสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม ทั้งนี้ รวมถึงวิธีการประเมินราคาทรัพย์สิน ผลการประเมินราคาทรัพย์สิน วิธีการกําหนดอัตราค่าไฟฟ้า อัตราค่าไฟฟ้าและเงื่อนไขอื่น ๆ
2.3 การขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีขั้นสุดท้าย เพื่อให้มีการซื้อขายโรงไฟฟ้าขนอมเกิดขึ้น
3. สัญญาต่าง ๆ ประกอบด้วย
3.1 สัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม จะใช้สาระสําคัญตามสัญญาซื้อขายทรัพย์สิน ของโรงไฟฟ้าระยองระหว่าง กฟผ. กับ บฟร. เป็นแนวทางในการจัดทําสัญญาทรัพย์สินที่จะซื้อจะขาย คือ โรงไฟฟ้าขนอม ที่ดินและทรัพย์สินอื่น ๆ โดยจะซื้อขายในราคาที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
3.2 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม จะใช้สาระสําคัญตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่ง ผลิตจากโรงไฟฟ้าระยอง ระหว่าง กฟผ. กับ บฟร. เป็นแนวทางในการจัดทําสัญญา
4. การประเมินราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอมจะดําเนินการตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจําหน่ายกิจการหรือหุ้นที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504 หลังจากได้รับความเห็น ชอบในหลักการจาก ครม. แล้ว ทั้งนี้การประเมินราคาทรัพย์สินจะกระทําให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อให้การโอน ทรัพย์สินสามารถกระทําได้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 ตามกําหนดการ
5. การกําหนดอัตราค่าไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ตามลักษณะของต้นทุน ดังนี้ (1) ค่าความพร้อมผลิตไฟฟ้า (Availability Payment) คิดตามความพร้อมผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า เพื่อให้เพียงพอกับต้นทุนคงที่ของโรงไฟฟ้า และผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น โดยไม่ขึ้นกับปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ กฟผ. สั่งผลิต ต้นทุนคงที่ดังกล่าว ได้แก่ ค่าชําระคืนเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าบํารุงรักษาหลัก ค่าใช้จ่ายคงที่ในการผลิตและบํารุงรักษา และค่าประกันภัย เป็นต้น (2) ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Charge) คิดตามปริมาณพลังงานไฟฟ้าซึ่งได้ผลิตตามคําสั่งของ กฟผ. เพื่อให้เพียงพอกับต้นทุนผันแปร อันได้แก่ ค่าเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายผันแปรในการผลิตและบํารุงรักษา โดยไม่มีการตั้งเกณฑ์กําไรในส่วนของค่าพลังงานไฟฟ้า โดยปัจจัยสําคัญที่มีส่วนในการกําหนดอัตราค่าไฟฟ้า ได้แก่ ราคาขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม สาระสําคัญของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม ความต้องการผลตอบแทนของผู้ลงทุนใน บผฟ. อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ระยะเวลาคืนเงินกู้ อายุใช้งานของโรงไฟฟ้า ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า และสิทธิประโยชน์ ที่พึงได้รับจากการส่งเสริมการลงทุนโดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีอื่นใดตามที่กฎหมายอนุญาต โดยผลประโยชน์จูงใจที่สําคัญของ บผฟ. คือ บผฟ. จะมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมผลิตไฟฟ้าที่ได้ตกลงล่วงหน้า ระบบจูงใจนี้จะส่งผลให้ บผฟ. พัฒนาคุณภาพงานแบบธุรกิจเอกชน และสร้างความมั่นคงแก่ระบบผลิตไฟฟ้าโดยรวม
6. การขออนุมัติและการขอรับการสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรี
6.1 ขั้นตอนที่ 1 : การขออนุมัติและการขอรับการสนับสนุนในหลักการจากคณะรัฐมนตรี ในการดําเนินการเบื้องต้นนั้น กฟผ. จําเป็นต้องขออนุมัติและขอรับการสนับสนุนในหลักการจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้สามารถดําเนินการต่าง ๆ ที่จําเป็นได้ครบถ้วน ภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 ดังนี้
(1) ขออนุมัติในหลักการให้ กฟผ. ขายโรงไฟฟ้าขนอม (ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 1 ชุด ขนาด 674 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 2 เครื่อง ขนาด 2 x 75 เมกะวัตต์ รวมเป็นกําลังผลิตติดตั้งทั้งหมด 824 เมกะวัตต์) แก่ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. โดยใช้สาระสําคัญตามสัญญาซื้อขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าระยองระหว่าง กฟผ. กับ บฟร. เป็นแนวทางในการจัดทําสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม
(2) ขออนุมัติในหลักการให้ กฟผ. ซื้อไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม ซึ่งดําเนินกิจการ โดย บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. โดยใช้สาระสําคัญตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งผลิตจาก โรงไฟฟ้าระยองระหว่าง กฟผ. กับ บฟร. เป็นแนวทางในการจัดทําสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม
(3) ขออนุมัติให้ กฟผ. ทําสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สิน และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รวมทั้ง สัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายและการประกอบการโรงไฟฟ้าขนอมเป็นภาษาอังกฤษ
(4) ขอให้คณะรัฐมนตรีกำหนดนโยบายให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาในการ ส่งเสริมการลงทุนแก่ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. โดยให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีอื่น ๆ เป็นระยะเวลาสูงสุดตามที่กฎหมายอนุญาต
(5) ขอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจําหน่ายกิจการหรือหุ้นที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504 โดยขอให้แต่งตั้งผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และผู้แทน กฟผ. ร่วมเป็นกรรมการฯ ด้วย แล้วนําผลการประเมินราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยเสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
(6) ขอการสนับสนุนให้หน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ความอนุเคราะห์ให้ความร่วมมือ และอํานวยความสะดวกในการขอรับการอนุมัติและใบอนุญาตต่างๆ ที่จําเป็นในการซื้อขายและการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าขนอม เพื่อให้ทันกําหนดการโอนทรัพย์สิน ภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 ดังนี้
- ขอให้สํานักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมพิจารณาอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าขนอม และท่าเทียบเรือ
- ขอให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ สิ่งแวดล้อม พิจารณาอนุมัติออกใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุมในส่วนของ โรงไฟฟ้าขนอมให้ กฟผ. และโอนใบอนุญาตดังกล่าวให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือ บริษัทในเครือของ บผฟ.
- ขอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาอนุมัติออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานในโรงไฟฟ้าขนอมให้ กฟผ. และโอนใบอนุญาตดังกล่าวให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. ต่อไป
- ขอให้กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย พิจารณาอนุมัติออกสัมปทานในการประกอบ กิจการไฟฟ้าในส่วนของโรงไฟฟ้าขนอมให้ กฟผ. และโอนใบอนุญาตดังกล่าว ให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. เป็นระยะเวลา 25 ปี
- ขอให้กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทยพิจารณาอนุมัติออกใบอนุญาตตั้งถังน้ำมัน เชื้อเพลิง และเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของโรงไฟฟ้าขนอมให้ กฟผ. และโอน ใบอนุญาตดังกล่าวให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือ บริษัทในเครือของ บผฟ.
- ขอให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติให้ กฟผ. โอนสิทธิการเช่าที่ ราชพัสดุ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินอันเป็นบริเวณของโรงไฟฟ้าขนอมให้แก่ บฟร หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. ได้และให้กรมธนารักษ์เร่งดําเนินการต่าง ๆ ที่จําเป็นเพื่อให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือ บริษัทในเครือของ บผฟ. สามารถเช่าที่ราชพัสดุนั้น เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าอายุสัมปทานประกอบกิจการไฟฟ้า
- ขอให้กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พิจารณาอนุมัติออกใบอนุญาตให้ กฟผ. และโอนใบอนุญาตดังกล่าวให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือ บริษัทในเครือของ บผฟ. ต่อไป เพื่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลําน้ำได้ คือ เทียบเรือใน บริเวณโรงไฟฟ้าขนอมและฝายกั้นน้ำในคลองท่าตก ซึ่งยกระดับน้ำเพื่อสูบเข้าอ่างเก็บน้ำดิบสําหรับโรงไฟฟ้าขนอม
- ขอให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาอนุมัติให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัท ในเครือของ บผฟ. ใช้น้ำจากคลองท่าตกและทางน้ำสาธารณะอื่นในกิจการโรงไฟฟ้าขนอมได้
- ขอให้กรมที่ดินและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการดําเนินการเพิกถอนสภาพทางสาธารณะและลํารางสาธารณะ ซึ่งอยู่ในบริเวณโรงไฟฟ้าขนอม และอ่างเก็บน้ำ ซึ่งส่งให้แก่โรงไฟฟ้าขนอม และขายที่ดินอันเป็นทางสาธารณะที่ถูกเพิกถอนให้แก่ กฟผ.
- ขอให้กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือ บริษัทในเครือของ บผฟ. ใช้ที่ดินในบริเวณเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาชัยสน ได้เช่นเดียวกับที่ กฟผ. ขอใช้อยู่ในปัจจุบัน
6.2 ขั้นตอนที่ 2 : การขออนุมัติขั้นสุดท้ายจากคณะรัฐมนตรี ภายหลังจากการดําเนินการตามขั้นตอนที่ 1 และการจัดร่างสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอมเสร็จแล้ว ยังมีขั้นตอนการขออนุมัติจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีขั้นสุดท้ายดังนี้
(1) การขออนุมัติราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอมที่ กฟผ. จะขายและโอนให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. ตามสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม และการขออนุมัติอัตราค่าไฟฟ้าอันกําหนดโดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม
(2) การขออนุมัติให้ กฟผ. ขายและโอนโรงไฟฟ้าขนอมให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือ บริษัทในเครือของ บผฟ. ได้ตามร่างสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม และการขออนุมัติให้ กฟผ. ซื้อไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอมได้ตามร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม
มติของที่ประชุม
เห็นชอบในหลักการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ขายโรงไฟฟ้าขนอมให้แก่บริษัทผลิตไฟฟ้า จํากัด หรือบริษัทในเครือของบริษัทผลิตไฟฟ้า จํากัด ตามขั้นตอนการขออนุมัติและการขอรับการสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรี
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2534 อนุมัติข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ โดยมอบหมายให้บริษัท การบินไทย จํากัด(มหาชน) เป็นแกนกลางในการลงทุนโครงการขนส่งน้ำมันทางท่อ บางจาก-ดอนเมือง และให้ถือเป็นโครงการเร่งด่วน พร้อมทั้งกําหนดโครงสร้างของผู้ถือหุ้นของโครงการ และต่อมาได้มีการจัดตั้งบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด (Fuel Pipeline Transportation Limited : FPT) ขึ้น
2. ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2535 อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นอยู่ในบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด เพิ่มทุนจดทะเบียนในบริษัทฯ จาก 200 ล้านบาท เป็น 440 ล้านบาท ได้ตามอัตราส่วนการร่วมทุนของแต่ละรัฐวิสาหกิจ ตามข้อเสนอของ บริษัทฯ ที่ให้มีการขยายท่อขนส่งน้ำมันจากดอนเมืองไปจนถึงบางปะอิน
3. บริษัท FPT เพิ่มการลงทุนอีกครั้งหนึ่งโดยการสร้างคลังรับและจ่ายน้ำมันที่บางปะอินและเชียงรากน้อย เพื่อให้จ่ายน้ำมันได้ทั้งทางรถยนต์และรถไฟโดยไม่มีการเพิ่มทุน ในขณะที่ธนาคารไม่สามารถเปลี่ยนเงินกู้ระยะสั้นเป็นเงินกู้ระยะยาวได้ เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินเกิน 4 ต่อ 1 ตามที่กําหนดไว้ในสัญญา และบริษัทฯ ยังขาดเงินสดจากการก่อสร้างอีก 295 ล้านบาท ทําให้บริษัทฯประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินทั้งใน ระยะสั้นและระยะยาว บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด จึงจําเป็นต้องเพิ่มทุนอีกครั้งหนึ่งจาก 440 ล้านบาท เป็น 1,330 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่อีกจํานวน 8.9 ล้านหุ้น มีมูลค่าหุ้นละ 100 บาท
4. ปัญหาของผู้ถือหุ้นบริษัท FPT มีดังนี้
4.1 ผู้ถือหุ้นของ FPT บางส่วนเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ก่อนจึงจะเพิ่มทุนจดทะเบียนใน FPT ได้
4.2 ผู้ถือหุ้นของ FPT ที่มีปัญหาดังกล่าวมี 2 รายคือ
(1) บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ซึ่งคณะกรรมการบริหารของบริษัทฯ มีมติให้เพิ่มการถือหุ้นในบริษัท FPT จาก 44 ล้านบาท เป็น 133 ล้านบาท เพื่อคงสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท FPT ไว้ร้อยละ 10 ตามเดิม แต่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลานาน
(2) บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จํากัด (BAFS) ต้องการเพิ่มการถือหุ้นใน บริษัท FPT จากเดิมร้อยละ 10 เป็นไม่เกินร้อยละ 34.5
5. เนื่องจากปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท FPT จําเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน แต่บริษัท FPT ยังไม่สามารถรับความช่วยเหลือในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือที่เป็นบริษัทซึ่งมีรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ถือหุ้นได้ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เสียก่อน ดังนั้นผู้ถือหุ้นของบริษัท FPT 2 ราย คือ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) และบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จํากัด จึงได้มีหนังสือขอให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เร่งดําเนินการนําเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นการเร่งด่วน ดังนี้
5.1 ให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท FPT อีก 89 ล้านบาท เพื่อให้มีหุ้นเพิ่มจากเดิม 44 ล้านบาทเป็น 138 ล้านบาท ซึ่งจะทําให้มีสัดส่วนการถือหุ้นคงเดิมคือร้อยละ 10
5.2 ให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท BAFS 3 รายคือ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) การปิโตรเลียม แห่งประเทศไทย และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย นําเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท BAFS มาซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินวงเงินปันผลที่ได้รับ
6. สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้มีหนังสือสอบถามความเห็นไปยัง กระทรวงคมนาคมและกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวแล้ว โดยกระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) เพิ่มทุนในบริษัท FPT จาก 44 ล้านบาท เป็น 133 ล้านบาท และได้นําเรื่องนี้เสนอคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน เพื่อพิจารณาในการประชุม ครั้งที่ 2/2538 (ครั้งที่ 16) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2538 โดยที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า การขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นกิจการที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ปัญหามลภาวะเป็นพิษ จากยานพาหนะ รวมทั้งเพื่อลดอุบัติภัยจากการขนส่งทางรถบรรทุกและรถไฟในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัด ใกล้เคียง แต่ทั้งนี้ ควรหารือกระทรวงการคลังเพื่อขอความเห็นชอบก่อนนําเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและให้นําเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่ง สพช. ได้มีหนังสือสอบถามความเห็นจากกระทรวงการคลัง เพื่อประกอบการพิจาณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติแล้ว โดยกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท FPT อีก 89 ล้านบาท และเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย นําเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท BAFS ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ไม่เกินวงเงินปันผลที่ได้รับ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด อีก 89 ล้านบาท เพื่อให้มีหุ้นเพิ่มจากเดิม 44 ล้านบาท เป็น 133 ล้านบาท
2. เห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย นําเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จํากัด กลับมาซื้อหุ้นของ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จํากัด ได้ไม่เกินวงเงินปันผลที่ได้รับ