มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 2/2538 (ครั้งที่ 50)
วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2538
1. การดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
2. การดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติ
3. การเปลี่ยนแปลงอัตราอากรศุลกากรสําหรับวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน
4. รายงานความคืบหน้าการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM)
5. แผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2538- 2554)
6. การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย
7. การรับซื้อไฟฟ้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2
8. การประเมินผลโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและการปรับราคาขายส่งระหว่างการไฟฟ้า
9. การกําหนดเขตต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(นายชวน หลีกภัย)
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
(นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์)
เรื่องที่ 1 การดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 49) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 ให้กําหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดําเนินการ และรายงานผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมทุกครั้ง
2. หน่วยงานต่าง ๆ ได้รายงานผลการดําเนินการให้ สพช. ทราบรวมทั้งสิ้น 11 หน่วยงาน ดังนี้
2.1 กระทรวงการคลัง
(1) กรมสรรพสามิต ได้ดําเนินการระดมกําลังเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมคลังน้ำมันชายฝั่งทั้ง 42 แห่งทั่วประเทศอย่างเข้มงวด ทั้งคลังน้ำมันที่นําเข้ามาจากต่างประเทศและคลังน้ำมันที่รับจากโรงกลั่นหรือคลังอื่นๆ ภายในประเทศ และให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตที่ประจําในโรงกลั่นน้ำมันแจ้งข้อมูลการจ่ายน้ำมันจากโรงกลั่น ให้สรรพสามิตปลายทางทราบทุกครั้ง รวมทั้ง ทําการตรวจสารเพิ่มคุณภาพน้ำมันที่สถานีบริการชายฝั่งทุกแห่ง และแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสรรพสามิตให้การขนส่งน้ำมันออกจากคลัง หรือโอนย้ายน้ำมันระหว่างคลังตั้งแต่ 50,000 ลิตรขึ้นไป ต้องแจ้งสรรพสามิต ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ทําให้การจัดเก็บภาษีผลิตภัณฑ์น้ำมันในเดือนพฤศจิกายน 2537-กุมภาพันธ์ 2538 สูงกว่าปีก่อนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ถึงร้อยละ 7.96, 13.46, 28.41, และ 29.36 ตามลําดับ และมีการจัดเก็บภาษีน้ำมันในช่วง 4 เดือน (พฤศจิกายน 2537-กุมภาพันธ์ 2538) สูงกว่าปีก่อน ระยะเดียวกันถึงร้อยละ 19.80 นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งห้อง Operation Room เพื่อรับรายงานการเคลื่อนย้ายและขนส่งน้ำมันทั่วราชอาณาจักรตลอด 24 ชั่วโมง และได้จัดทําโครงการการติดตั้งมาตรวัด และอุปกรณ์วัดน้ำมันด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อติดตั้ง ณ คลังชายฝั่งทั้งหมด
(2) กรมศุลกากร ได้ให้คณะทํางานเพื่อทําหน้าที่ตรวจสอบการลักลอบนําเข้าน้ำมันทําการ ตรวจสอบคลังน้ำมันบริเวณภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง ภาคเหนือตอนบน และภาคอีสาน รวม 37 แห่ง และจัดกําลังเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนตรวจตราการขนส่งน้ำมันทางทะเลทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รวมทั้ง ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบปริมาณน้ำมันที่นําเข้า และเพิ่มสายสืบเพื่อเฝ้าตรวจสอบพฤติการณ์การขนส่งน้ำมันทางบกของคลังต่าง ๆ ด้วย โดยผลการดําเนินการในช่วงเดือนกันยายน 2537-มกราคม 2538 ปรากฏว่า สามารถจับกุมเรือที่ลักลอบนําเข้าได้ 4 ลํา เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว รวม 435,108 ลิตร และ การตรวจสอบอื่น ๆ ไม่พบความผิดแต่อย่างใด
(3) กรมสรรพากร ได้ขยายขอบเขตการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานีบริการน้ำมัน เชื้อเพลิงให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามตัวเลขของมิเตอร์หัวจ่าย ซึ่งเป็นระบบที่มีการควบคุมทาง เทคนิคที่ดีทําให้มีสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขอเข้าอยู่ในระบบมิเตอร์หัวจ่ายในช่วงเดือนกรกฎาคม 2537- 15 กุมภาพันธ์ 2538 จํานวนทั้งสิ้น 2,407 ราย คิดเป็นร้อยละ 91.31 ของสถานีบริการน้ำมันทั้งหมดที่ควรเข้าอยู่ในโครงการ และได้ขยายโครงการให้สถานีบริการน้ำมันทั้งสิ้นในประเทศต้องเข้าอยู่ในระบบด้วย พร้อมกันนี้ได้กําหนดมาตรการให้มีการตรวจสอบภาษีสถานีบริการที่ไม่ยอมเข้าอยู่ในระบบมิเตอร์หัวจ่ายเป็นพิเศษ และสำหรับการดําเนินการในช่วงที่ผ่านมาได้มีการออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีเงินได้ จากคลังน้ำมันบางแห่งที่เสียภาษีไม่ครบถ้วนและถูกต้อง และทําผิดบทบัญญัติของกฎหมาย รวม 7 ราย
2.2 กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดําเนินการแต่งตั้งผู้แทนจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรในเขตต่อเนื่องแล้ว
2.3 กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือจากบริษัทน้ำมันที่มีโรงกลั่นในสิงคโปร์ ให้แจ้ง รายละเอียดของเรือบรรทุกน้ำมันที่รับน้ำมันจากโรงกลั่นในสิงคโปร์และมีจุดหมายปลายทางมายังประเทศไทย แล้ว แต่ได้รับคําชี้แจงว่า มาตรการดังกล่าวมีข้อจํากัดเนื่องจากโรงกลั่นในสิงคโปร์จะจําหน่ายน้ำมันโดยผ่าน พ่อค้าคนกลางต่าง ๆ ทําให้ไม่สามารถทราบจุดหมายปลายทางของน้ำมันได้ และได้กําหนดเงื่อนไขในการนําเข้า น้ำมันของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ทุกราย ต้องแจ้งรายละเอียดการนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทันทีที่เรือเดินทางออกจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งกําลังอยู่ระหว่างการนําเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีก่อนดําเนินการต่อไป รวมทั้งได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมตํารวจ กรมศุลกากร เพื่อให้สามารถดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในการตรวจสอบใบกํากับการขนส่ง และการเติมสารเติมแต่งได้ต่อไป
2.4 กระทรวงมหาดไทย
(1) กระทรวงมหาดไทย ได้ดําเนินการปรับปรุงคําสั่งแต่งตั้งคณะทํางานป้องกันปราบปราม การลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในเขต 14 จังหวัดภาคใต้ โดยให้กรมตํารวจ กรมโยธาธิการ และผู้ว่าราชการ จังหวัดวางมาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสถานี บริการแบบถังลอยและให้รายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุกเดือน ให้กรมตํารวจจัดหน่วยเฝ้าระวังอย่าง ต่อเนื่องและจริงจังในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล และให้ตรวจตราใบกํากับน้ำมันอย่างเข้มงวด และให้กรมโยธาธิการสํารวจข้อมูลสถานีบริการแบบถังลอย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกํากับดูแลและตรวจสอบต่อไป
(2) กรมตํารวจ ได้ดําเนินการโดยสั่งการให้หน่วยรับผิดชอบ คือ ตํารวจภาค 8,9 กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง กองบังคับการตํารวจน้ำ กองตํารวจทางหลวง เพิ่มความเข้มงวดในการ ปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในเขต 14 จังหวัดภาคใต้ และให้ตํารวจภาค 1-9 เพิ่มความเข้มงวดในการปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งให้การสนับสนุนกรมโยธาธิการในการสํารวจ จํานวนสถานีบริการน้ำมันแบบถังลอย ทั้งนี้ ให้กองบังคับการตํารวจน้ำ จัดทําโครงการขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณ เสนอให้คณะทํางานซึ่งแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทยทราบ และให้ตํารวจภาค 1-9 กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง กองบังคับการตํารวจน้ำ กองตํารวจทางหลวง กําชับหน่วยปฏิบัติเพิ่มความระมัดระวังในการเก็บรักษาของกลางอย่าให้มีการสูญหายเป็นอันขาด และให้รายงานผลการดําเนินการโดยตรงต่อสํานักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ทราบทุกระยะ 1 เดือน ด้วย โดยสําเนาส่งกรมตํารวจ ส่วนผลการจับกุมปราบปรามในช่วงมิถุนายน 2537-มกราคม 2538 ปรากฏว่าสามารถจับกุมการกระทําการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 8 ราย เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วทั้งหมดจํานวน 990,000 ลิตร
2.5 กองทัพเรือ ได้กําหนดมาตรการกรณีตรวจพบการลักลอบและนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามา ในราชอาณาจักรให้ดําเนินการตามที่กฎหมายกําหนดไว้ และหากตรวจพบการลักลอบนอกทะเลอาณาเขต ให้แสดงท่าที่ให้เห็นว่าทราบการปฏิบัติดังกล่าว ตลอดจนถ่ายภาพและรวบรวมข่าวสารข้อมูลไว้ หากเป็นเรือไทยให้ขึ้น ตรวจเยี่ยม ตรวจค้น โดยผลการดําเนินการในปีงบประมาณ 2537 สามารถจับกุมเรือประมงดัดแปลงที่ลักลอบค้าน้ำมันในทะเล จํานวน 6 ลํา เป็นปริมาณ 199,000 ลิตร และในปีงบประมาณ 2538 จนถึงปัจจุบัน สามารถจับกุมเรือประมงดัดแปลงได้จํานวน 5 ลํา เป็นปริมาณ 289,000 ลิตร
2.6 สํานักงานอัยการสูงสุด ได้ถือว่าคดีลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นคดีที่มีความสําคัญยิ่ง อย่างหนึ่งและได้มีนโยบายที่จะปราบปรามเป็นพิเศษ โดยได้แจ้งมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้พนักงานอัยการถือปฏิบัติแล้ว
2.7 กระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่าได้มีคําสั่งให้สํานักงานเจ้าท่าภูมิภาค และสํานักงานเจ้าท่า ภูมิภาคสาขาจัดเวรตรวจสอบเรือประมงที่เข้าจอดเทียบท่าหรือแพปลาว่า ได้มีการดัดแปลงตัวเรือเป็นเรือบรรทุก น้ำมันหรือไม่ ตลอดจนตรวจสอบใบอนุญาตใช้เรือ ใบทะเบียนเรือไทย ประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือ และผู้ ควบคุมเครื่องจักร หากพบว่ามีการกระทําผิดกฎหมายให้ดําเนินการลงโทษอย่างเฉียบขาด พร้อมทั้งให้ทํารายงานเสนอกรมเจ้าท่าทุกสัปดาห์ และสําเนาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบด้วย
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบและมีมติ ดังนี้
1. ให้ สพช. รับไปรวบรวมจํานวนและรายชื่อคลังน้ำมัน ที่ไม่ได้อยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วย ราชการใด เพื่อกําหนดมาตรการในการควบคุมดูแลการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และให้นําเสนอ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติต่อไป
2. ให้กระทรวงมหาดไทยดําเนินการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ
เรื่องที่ 2 การดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ดําเนินการเร่งรัดการ จัดหาก๊าซธรรมชาติ ทั้งจากแหล่งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้ง ดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการ การนําเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศ โดยใน ปัจจุบัน ปตท. ได้ดําเนินการตามมติดังกล่าวแล้วมีความคืบหน้ามาเป็นลําดับ
2. แนวทางในการดําเนินการตามมติดังกล่าว ปตท. จะเป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อสนองความ ต้องการในราคาที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงชนิดอื่นได้ โดยการจัดหาก๊าซธรรมชาติจะต้องสร้าง ตลาดรองรับขนาดใหญ่ที่มีความต้องการในระยะยาว เช่น กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งราคา จําหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระจะเป็นราคาที่ประกอบด้วยราคาเนื้อก๊าซ และค่าบริการผ่านท่อ ส่วนราคาจําหน่ายให้อุตสาหกรรมจะเป็นราคาที่แข่งขันกับเชื้อเพลิงทดแทนชนิดอื่น โดยราคาจําหน่าย LPG และวัตถุดิบให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะอิงตามราคาตลาดสากล
3. ผลการดําเนินงาน มีดังนี้
3.1 ความก้าวหน้าการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ระหว่าง ปตท. กับ กฟผ. ปัจจุบัน อยู่ระหว่างจัดทําร่างสัญญาซื้อขาย ซึ่งหลักการส่วนใหญ่ของสัญญาสามารถทําการตกลงกันได้แล้ว โดยยังมี ประเด็นที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคือ ระยะเวลาของสัญญา ผลตอบแทนจากการจัดหา และหลักการคิดคํานวณ ค่าเนื้อก๊าซ คาดว่าจะสามารถเจรจาแล้วเสร็จได้ประมาณกลางปี 2538
3.2 การจัดหาก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่ (1) แหล่งภายในประเทศ เช่น จากแหล่งยูโนแคล 1,2 และ 3 แหล่งบงกช แหล่งไพลิน แหล่งทานตะวัน และแหล่ง JDA (2) การนําเข้าจากสหภาพพม่า จากแหล่ง YADANA และแหล่ง YETAGUN (3) โครงการนําเข้า LNG ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อจัดหาจากหลายประเทศ เช่น กาตาร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน และออสเตรเลีย เพื่อให้สามารถนําเข้าได้ภายในปี 2544 (4) โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ มีโครงการที่อยู่ระหว่างการดําเนินงาน คือโครงการวางท่อคู่ขนานในทะเล จากแหล่งเอราวัณ-ระยอง โครงการวางท่อคู่ขนานบนบกช่องระยอง-บางปะกง โครงการวางท่อจากบางปะกง-วังน้อย และโครงการวางท่อชายแดนไทย/สหภาพพม่า-โรงไฟฟ้าราชบุรีจากแหล่ง YADANA
3.3 การสนับสนุนการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้กับโครงการ Independent Power Producer (IPP) จากการดําเนินงานจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับกับความต้องการได้อย่างเพียงพอ ทําให้มีปริมาณก๊าซธรรมชาติเหลือให้กับโครงการ IPP ประมาณ 123 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน ในปี 2542 และเพิ่มขึ้นเป็น 350 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน ในปี 2546 โดยจะต้องมีการนําเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตั้งแต่ปี 2544 ในปริมาณความต้องการใน ระยะแรก 1 ล้านตัน/ปี และเพิ่มขึ้นเป็น 3 และ 5 ล้านตัน/ปี ในปี 2547-2548 ตามลําดับ ซึ่งเพียงพอที่จะใช้ในการผลิตไฟฟ้าจํานวน 2,400 เมกะวัตต์ ในปี 2545 และเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2538 ปตท. ได้จัดให้มีการสัมมนาเพื่อให้ผู้สนใจในโครงการ IPP ทราบข้อมูลการจัดหาและความเป็นไปได้ในการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในโครงการดังกล่าวโดยคาดว่าจะสามารถจัดทําร่าง Heads of Agreement ในการซื้อขาย และประมาณราคาซื้อขายเบื้องต้นได้ประมาณต้นเดือนเมษายน ศกนี้
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 การเปลี่ยนแปลงอัตราอากรศุลกากรสําหรับวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2537 (ครั้งที่ 14) เมื่อวันที่ กรกฎาคม 2537 ได้พิจารณาเรื่อง การจัดเก็บอากรศุลกากรจากการนําเข้าวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และมีมติมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) รับไปประสานงานกับกรมศุลกากร และสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและหาข้อยุติเกี่ยวกับการจัดเก็บอากรศุลกากรจากการนําเข้าวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อนําเสนอคณะกรรมการฯ ต่อไป
2. สพช. ได้ดําเนินการตามมติของคณะกรรมการฯ ในข้อ 1 แล้ว โดยได้หารือร่วมกับกรมศุลกากร สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมทะเบียนการค้า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2537 โดยได้นําประเด็นการจัดเก็บ อากรศุลกากรของผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในลักษณะเช่นเดียวกันไปหารือด้วย คือ น้ำมันองค์ประกอบ Reformate เพื่อใช้ในการผลิตน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน เช่น Long Residue และน้ำมันดิบปรุงแต่ง ซึ่งกรมศุลกากร สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้รับข้อหารือของ สพช. ไปพิจารณา
3. กระทรวงการคลังได้ดําเนินการเปลี่ยนแปลงอัตราอากรศุลกากรสําหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิง โดยได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก. 17/2537 เรื่อง ยกเลิกการลดและการยกเว้นอากร, การลดอัตราอากรศุลกากรและกําหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2537 โดยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราอากรศุลกากรดังกล่าว น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการจัดเก็บอากรศุลกากรสําหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงได้เกือบทั้งหมด เนื่องจากประเด็นส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนกัน คือ มีการจัดเก็บอากรในอัตราที่สูงเกินควร ดังนั้น การลดอัตราอากรศุลกากรให้เหลือต่ำเพียงร้อยละ 1 น่าจะแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด และสําหรับในกรณีของน้ำมันดิบปรุงแต่งซึ่งกระทรวงการคลังได้พิจารณาให้เก็บอากรในอัตราต่ำเพียงร้อยละ 1 นั้นก็น่าจะแก้ไขปัญหาและยอมรับได้เช่นกัน เพราะน้ำมันดิบปรุงแต่งมีส่วนผสมของน้ำมันสําเร็จรูป จึงไม่ควรถือเป็นน้ำมันดิบซึ่งได้รับการยกเว้นอากรทั้งหมด แต่ควรถือเป็นน้ำมันกึ่งสําเร็จรูป ซึ่งทางกระทรวงการคลังได้พิจารณากําหนดอัตราอากรศุลกากรของสินค้ากึ่งสําเร็จรูปโดยทั่วไปไว้เท่ากันตามราคาร้อยละ 1 ของมูลค่านําเข้า ส่วนปัญหาการจัดเก็บอากรศุลกากรสําหรับผลิตภัณฑ์ Reformate ที่นําเข้าก่อน วันที่ 1 มกราคม 2538 ควรที่กรมศุลกากรจะได้พิจารณาต่อไปตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่เดิม
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 รายงานความคืบหน้าการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM)
สรุปสาระสำคัญ
ความคืบหน้าของแผนงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าในแต่ละโครงการสรุปได้ ดังนี้
1. โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย คือ
1.1 โครงการประชาร่วมใจใช้หลอดประหยัดไฟฟ้า โดยบริษัทผู้ผลิตหลอดไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ ได้ยุติการผลิตหลอดฟลูออเรสเซนต์ ขนาด 20 วัตต์ และ 40 วัตต์ และทําการผลิตหลอดขนาด 18 วัตต์ และ 36 วัตต์ ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2537 ซึ่งสามารถยุติการผลิตได้ก่อนกําหนดประมาณ 1 ปี ในส่วนของ กฟผ. ได้ดําเนินการจ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์ โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า ระยะที่ 2 งบประมาณ 100 ล้านบาท ปรากฏว่า บริษัท ลีโอเบอร์เนทท์ จํากัด ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ดําเนินการ และได้นําภาพยนตร์ พร้อมทั้งสื่อโฆษณาต่าง ๆ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ และสื่อมวลชน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2538 เป็นต้นไป สำหรับกิจกรรมส่งเสริมการใช้หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ แบบหลอดตะเกียบ 2x11 วัตต์ แทนหลอดฟลูออเรสเซนต์ 32 วัตต์ แบบวงกลม และกิจกรรมส่งเสริมการใช้หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ 9 หรือ 11 วัตต์ แบบหลอดตะเกียบ แทนหลอดไส้ธรรมดา กฟผ. ได้จัดทําโครงการล้านดวงใจ ล้านดวงไฟ ร่วมใจภักดิ์ ร่วมประหยัดไฟ ซึ่งจะจัดกิจกรรมเปลี่ยนหลอดไส้ธรรมดา เป็นหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ จํานวน 1,509,999 หลอด รวมทั้งจะขอให้ภาคเอกชนลดการใช้ไฟฟ้าในกรณีจําเป็นจํานวนหนึ่งด้วย (Volunteer Interruptible Load) ส่วนกิจกรรมส่งเสริมการใช้บัลลาสต์ประหยัดไฟฟ้า กฟผ. ได้จัดประชุมร่วมกับการไฟฟ้า ทั้ง 3 และได้เสนอให้ปรับปรุงระเบียบการไฟฟ้าฝ่ายจําหน่าย ในการกําหนดให้ผู้ใช้ไฟรายใหม่ใช้เฉพาะบัลลาสต์ ประหยัดไฟฟ้าเท่านั้น โดยจะมีการประสานงานในรายละเอียดระหว่าง 3 การไฟฟ้า และสํานักงานมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ต่อไป
1.2 โครงการประชาร่วมใจ ใช้ตู้เย็นประหยัดไฟฟ้า โดย กฟผ. ได้จัดประชุมร่วมกับบริษัทผู้ผลิตและจําหน่ายตู้เย็นรายใหญ่ในประเทศดําเนินการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าของตู้เย็นขนาด 5-6 คิว ที่ผลิตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นไป โดยการกําหนดระดับประสิทธิภาพจะกําหนดจากระดับ 1-5 และการทดสอบประสิทธิภาพ กําหนดให้สํานักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นหน่วยงานกลางเป็นผู้ทดสอบช่วงปีแรก นอกจากนี้ได้กําหนดให้มีการรณรงค์ด้านการโฆษณา โดยใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท
1.3 โครงการประชาร่วมใจ ใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟฟ้า โดย กฟผ. ได้ประชุมร่วมกับบริษัทผู้ผลิตและผู้จําหน่ายเครื่องปรับอากาศ รวม 23 บริษัท เพื่อแจ้งให้ทราบว่า กฟผ. จะดําเนินการให้มีการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศที่จําหน่ายในประเทศไทย ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อพิจารณากําหนดระดับประสิทธิภาพต่อไป
2. โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจ ราชการ และรัฐวิสาหกิจ โดย กฟผ. ได้ประสานงานกับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม และศูนย์การค้า เพื่อเข้า โครงการล้านดวงใจ ล้านดวงไฟ ร่วมใจภักดิ์ ร่วมประหยัดไฟฟ้า โดย กฟผ. จะเปลี่ยนหลอดไส้ธรรมดาเป็นหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งภายใต้โครงการล้านดวงใจฯ จะมีการขอความร่วมมือไปยังโรงแรม ศูนย์การค้าและอาคาร ธุรกิจทั่วประเทศ ให้ลดการใช้ไฟฟ้าลงประมาณ 10-15% ในกรณีที่ระบบไฟฟ้ามีความจําเป็น เป็นเวลาปีละไม่เกิน 30 ชั่วโมง (ไม่เกิน 15 วัน) ครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยจะแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ชั่งโมง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด
3. โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม โดย กฟผ. อยู่ระหว่างจัดทําแผนการดําเนินงานในรายละเอียดสําหรับโครงการส่งเสริมการใช้มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง และจะมีการดําเนินการในเรื่องการจัดฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้เกี่ยวกับมอเตอร์ไฟฟ้าทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ตลอดจนศึกษาดูงานจากโรงงานต่าง ๆ และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมอเตอร์ประสิทธิภาพสูงต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้แทนจําหน่ายมอเตอร์ประสิทธิภาพสูง สำหรับการดำเนินงานภายใต้โครงการล้านดวงใจฯ จะมีการขอความร่วมมือไปยังโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ใช้ไฟฟ้าประมาณ 1,000 กิโลวัตต์ขึ้นไป ให้ลดการใช้ไฟฟ้าลงประมาณ 5-10% ในกรณีที่ระบบไฟฟ้ามีความจําเป็น เป็นเวลาปีละไม่เกิน 30 ชั่วโมง (ไม่เกิน 15 วัน) ครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยจะแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด
4. โครงการการจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้า โดย กฟผ. ได้ดําเนินโครงการทดลองควบคุมการทํางานของเครื่องปรับอากาศ โดยใช้ระบบ Ripple Control ซึ่งจะสามารถควบคุมการปิดเปิดเครื่องปรับอากาศจากศูนย์สั่งการใน กฟผ. ได้ รวมทั้ง กฟผ. ได้รับความร่วมมือจาก Tokyo Electric Power Company ประเทศญี่ปุ่น ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทดลองระบบปรับอากาศด้วยระบบกักเก็บความเย็น (Thermal Energy Storage) สําหรับอาคารธุรกิจและราชการ ซึ่งจะเป็นระบบปรับอากาศทําความเย็นเก็บไว้ในรูปของน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง ในช่วง เวลา 21.30 น. ถึง 08.00 น. และนําความเย็นดังกล่าวมาใช้ในช่วงเวลากลางวันหรือช่วงหัวค่ำ คาดว่าจะสามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน หรือหัวค่ำได้ประมาณร้อยละ 20-30 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละอาคาร หรือจะสามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ร้อยละ 5-10 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งระบบ คือประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ในเวลา 10-15 ปี ในอนาคต
5. โครงการส่งเสริมทัศนคติประหยัดไฟฟ้า โดย กฟผ. ร่วมกับคณะทํางานพัฒนาชุดการเรียนเพื่อสร้างนิสัยในการประหยัดไฟฟ้าของกระทรวงศึกษาธิการและกรุงเทพมหานคร พัฒนาชุดการเรียนสําหรับระดับอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายรวม 6 ระดับ ในขณะนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างจัดพิมพ์ร่างต้นฉบับชุดการเรียนดังกล่าว เพื่อส่งให้ที่ปรึกษาคณะทํางานฯ พิจารณาภาพรวม หลังจากนั้น กฟผ. จะได้จัดทําต้นฉบับเพื่อเผยแพร่ต่อไป ขณะเดียวกัน สํานักงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า อยู่ระหว่างดําเนินงานโครงการลูกเสือ/เนตรนารี ประหยัดไฟฟ้า โดยประสานงานกับฝ่ายลูกเสือและยุวกาชาด กองโรงเรียน กรุงเทพมหานคร กองลูกเสือและ กองยุวกาชาด กรมพลศึกษา เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การเป็นลูกเสือ/เนตรนารีประหยัดไฟฟ้า
6. โครงการประเมินศักยภาพและการประเมินผล โดยการจ้างบริษัทที่ปรึกษาสําหรับการประเมินผล กฟผ. ได้เชิญบริษัทที่ปรึกษาตามที่ธนาคารโลกได้ให้รายชื่อไว้มาร่วมประกวดราคา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทางด้านเทคนิค สำหรับรายงานการสํารวจการรับรู้และทัศนคติต่อโครงการประชาร่วมใจใช้หลอดประหยัดไฟฟ้า กฟผ. ได้ดําเนินการสํารวจการรับรู้และทัศนคติต่อการใช้หลอดประหยัดไฟฟ้า โดยจัดทําแบบสอบถามการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟประเภทบ้านอยู่อาศัยตอบ พบว่าประชาชนรู้จักโครงการประชาร่วมใจประหยัดไฟฟ้า ร้อยละ 67 จากสื่อโฆษณาโทรทัศน์ รู้จักหลอดประหยัดไฟฟ้า (หลอดผอม) ร้อยละ 95 จากสื่อโฆษณาโทรทัศน์ และวิทยุ โดยจะเลือกซื้อหลอดผอม ร้อยละ 90 และครัวเรือนมีการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาประมาณ 18.30- 21.30 น. (PEAK LOAD) ร้อยละ 69.30
7. การดําเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน โดยสํานักงาน การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (สจพ.) ได้ดําเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 15) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 ดังนี้
7.1 การประหยัดพลังงานที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล การศึกษาการใช้ไฟฟ้าของกลุ่มศูนย์การค้าเซ็นทรัล พบว่ามีความต้องการพลังไฟฟ้า ในระดับ 50 เมกะวัตต์ โดยจ่ายค่าไฟฟ้าประมาณปีละ 400 ล้านบาท และบริษัทเซ็นทรัล ยินดีให้ความร่วมมือในการประหยัดไฟฟ้า โดยยินดีจะลดความต้องการใช้ไฟฟ้าลงร้อยละ 10 เมื่อระบบไฟฟ้ามีความจําเป็น และยินดีให้ กฟผ. เข้าทดลองเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า เช่น หลอดไฟฟ้า และบัลลาสต์ โดยหากพิสูจน์ได้ว่าการดําเนินการดังกล่าวทําให้ประหยัดไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย บริษัทยินดีที่จะร่วมโครงการประหยัดไฟฟ้ากับ กฟผ. ทุกโครงการ
7.2 การศึกษาการใช้ไฟฟ้าของอาคารในสํานักนายกรัฐมนตรี สจพ. ได้ศึกษาการใช้ไฟฟ้าของตึกไทยคู่ฟ้า ตึกบัญชาการใหม่ และตึกสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์การใช้ไฟฟ้าทั้ง 3 อาคาร ระหว่างวันที่ 5-12 มีนาคม 2538 สรุปข้อมูลที่สําคัญได้ดังนี้ (1) ตึกไทยคู่ฟ้า ห้องทํางาน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี มีแสงสว่างบนโต๊ะทํางานเพียง 270 Lux ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานถึง 40% (มาตรฐานมากกว่า 450 Lux) ดังนั้น จึงจะต้องทําการปรับปรุง ส่วนหลอดไฟที่ตึกไทยคู่ฟ้าเกือบทั้งหมดเป็นหลอดไส้ (Incandescent) ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้ามาก ค่าไฟฟ้าของตึกไทยคู่ฟ้าประมาณปีละ 1 ล้านบาท การประหยัดไฟฟ้าอาจดําเนินการได้โดยการเปลี่ยนให้เป็นหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (Compact Fluorescent) ซึ่งจะทําให้ประหยัดไฟฟ้าได้ถึง ร้อยละ 70 ต่อหลอด และเมื่อเปลี่ยนหลอดได้ทั้งหมด ตึกไทยคู่ฟ้าจะประหยัดไฟฟ้าได้ประมาณร้อยละ 40 (จาก 274 กิโลวัตต์ เหลือ 165 กิโลวัตต์) หรือประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 400,000 บาทต่อปี (2) ตึกบัญชาการใหม่ เป็นตึกที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด ประมาณปีละ 2.5 ล้านบาท การใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากเครื่องปรับอากาศ (ถึงร้อยละ 60) โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี โดยการประหยัดพลังงานในเบื้องต้น อาจดําเนินการได้จากการเปิดเครื่องปรับอากาศห้องประชุมคณะรัฐมนตรีให้เหมาะสม เนื่องจากในปัจจุบันมีการเปิดตั้งแต่เที่ยงคืนของคืนก่อนวันประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนั้นจึงอาจมีการปรับปรุงโดยเปลี่ยนแปลงระบบปรับอากาศและแสงสว่างให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น (3) ตึกสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นตึกที่มีค่าไฟฟ้าประมาณปีละ 1.2 ล้านบาท การประหยัดไฟฟ้าจะดําเนินการได้จากระบบแสงสว่างและระบบปรับอากาศ โดยการดําเนินการประหยัดพลังงานสําหรับทําเนียบรัฐบาลในระยะแรก จะดําเนินการได้ในส่วนของตึกไทยคู่ฟ้า เป็นลําดับแรก
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบการรายงานความคืบหน้าการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
1. ให้หน่วยราชการทั่วประเทศร่วมมือส่งเสริมการประหยัดไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยให้มีการใช้หลอด คอมแพคฟลูออเรสเซนต์แบบประหยัดพลังงานแทนหลอดไส้ธรรมดาในสถานที่ราชการ และมอบหมายให้สํานัก งบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณ เพื่อการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าดังกล่าวให้แก่หน่วยราชการทั่วประเทศ
2. ให้รายงานความคืบหน้าของการดําเนินงานให้ที่ประชุมทราบในการประชุมครั้งต่อไป
เรื่องที่ 5 แผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2538- 2554)
สรุปสาระสำคัญ
1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดทําแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. (พ.ศ. 2538-2554) ซึ่ง กฟผ. จะปรับปรุงแผนฯ ทุกระยะ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ครั้งหลังสุดที่ได้มีการจัดทําแผนฯ เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ขณะนี้สถานการณ์บางอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะนโยบายในการให้เอกชนขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ในรูป Independent Power Producer (IPP) กฟผ. จึงได้ดําเนินการปรับปรุงแผนระยาวขึ้นใหม่ เพื่อใช้เป็นกรอบในการดําเนินการลงทุนในการจัดหาไฟฟ้าในระยะยาว
2. แผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าที่ปรับใหม่ ประกอบด้วย 2 แผน คือ แผนหลักและแผนทางเลือก ทดแทน แผนหลักเป็นแผนที่ไม่รวมการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศลาว ส่วนแผนทางเลือก ทดแทนเป็นแผนที่รวมการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว ระหว่างปี 2541-2544 รวมปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า 1,611 เมกะวัตต์ แผนทางเลือกทดแทนจะแตกต่างจากแผนหลัก คือ เมื่อมีการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว โครงการที่ กฟผ. ดําเนินการเองบางโครงการจะถูกชะลอออกไป
3. แผนหลักและแผนทางเลือกทดแทนดังกล่าว ได้มีการยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าหลายโครงการ โดยเป็นโครงการที่ไม่สามารถดําเนินการได้ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแก่งกรุง โครงการแม่ลามาหลวง และ โครงการอ่าวไผ่ นอกจากนี้ได้มีการผนวกโครงการที่เพิ่งได้รับอนุมัติเมื่อเร็ว ๆ นี้บางโครงการ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรี และโครงการใหม่ ๆ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ สุราษฎร์ธานี ในระดับ 300 เมกะวัตต์ การเพิ่มสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลล์ เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP ในระดับ 300 เมกะวัตต์ ด้วย ทั้งนี้ แผนที่ออกมาเป็นทั้งแผนหลักและแผนทางเลือกทดแทน โดยแผนหลักคาดว่าจะใช้เงินลงทุนจํานวน 192,500 ล้านบาท ในช่วงแผนฯ 7 และเพิ่มเป็น 253,500 ล้านบาท ในช่วงแผนฯ 8 ในกรณีแผนทางเลือกทดแทนนั้น เงินลงทุนน้อยกว่าแผนหลักเล็กน้อย
4. คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ได้ให้ความเห็นชอบในแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ดังกล่าว ในกรณี “แผนหลัก” และ “แผนทางเลือกทดแทน” เพื่อใช้เป็นกรอบในการดําเนินการของ กฟผ. ต่อไป นอกจากนี้ได้มีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้ 1) เห็นควรให้ สพช. และ กฟผ. ทําการศึกษาความเหมาะสมของสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านโดยรวม เพื่อให้มีการกระจายแหล่งและชนิดของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟฟ้าอย่างเหมาะสม และนําเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาพลังงานในอนาคตต่อไป และ 2) เห็นควรเพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนตามประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในรูปของ Independent Power Producer (IPP) อีกร้อยละ 10 ของปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนตามประกาศเดิม เพื่อทดแทนโครงการโรงไฟฟ้าแม่ขามที่ กฟผ. ยกเลิกโครงการแล้ว โดยให้คณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรับไปดําเนินการต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าในกรณี “แผนหลัก” ในช่วง พ.ศ. 2538-2554 ตามที่ กฟผ. เสนอ เพื่อใช้เป็นกรอบในการลงทุนทางด้านการขยายระบบผลิตและระบบส่งของประเทศ
2. เห็นชอบ “แผนทางเลือกทดแทน” เป็นกรอบในการดําเนินการของ กฟผ. ตามที่ กฟผ. เสนอ โดยให้ กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดําเนินการในการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการต่าง ๆ ในประเทศลาว เพื่อให้สามารถทําความตกลงรับซื้อไฟฟ้าได้ในปริมาณรวมกันประมาณ 1,600 เมกะวัตต์ ภายในปี 2544 และเพื่อให้ กฟผ. ชะลอโครงการในแผนหลักตามแนวทางแผนทางเลือกทดแทน
3. ให้ใช้แผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าในข้อ 1 และ 2 เป็นกรอบในการพิจารณารายละเอียดของ โครงการในช่วง พ.ศ. 2538-2544 โดยไม่ต้องเสนอขออนุมัติในระดับนโยบายอีก ยกเว้นโครงการที่มีประเด็นนโยบายพิเศษ โดยมีขั้นตอนการเสนอและอนุมัติโครงการให้ยึดถือตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติไปแล้วเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 ดังนี้
(1) ให้ กฟผ. เสนอรายละเอียดของโครงการแต่ละโครงการที่จะดําเนินการในช่วงปี 2538- 2544 ดังกล่าวข้างต้น ต่อสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดย ให้ สศช. รับพิจารณาเฉพาะโครงการที่อยู่ในแผนหลักหรือแผนทางเลือกทดแทนเท่านั้น
(2) ในขณะเดียวกันให้ กฟผ. จัดทําและเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อขอความเห็นชอบ ไปยังสํานักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แห่งชาติ พ.ศ. 2535
(3) สผ. เสนอความเห็นต่อ สศช.
(4) สศช. พิจารณาอนุมัติโครงการ โดยคํานึงถึงความเห็นของ สผ.
(5) หากไม่มีประเด็นนโยบายที่สําคัญและเป็นโครงการที่กําหนดให้ กฟผ. เป็นผู้ดําเนินการเอง ให้ สศช. นําเสนอกระทรวงการคลังเพื่อดําเนินการจัดหาเงินกู้ต่อไป และนําเสนอคณะรัฐมตรีและคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อทราบ
(6) หากเป็นโครงการที่มีประเด็นนโยบายที่สําคัญให้นําเสนอคณะรัฐมตรีพิจารณาโดยผ่าน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นโครงการที่ไม่ได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. หรือเป็นโครงการเร่งด่วน เห็นควรให้ กฟผ. นําเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อบรรจุไว้ในแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
4. ให้ สพช. และ กฟผ. ทําการศึกษาความเหมาะสมของสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจาก ประเทศเพื่อนบ้านโดยรวม เพื่อให้มีการกระจายแหล่งและชนิดของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าอย่างเหมาะสม และนําเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาพลังงานในอนาคตต่อไป
5. ให้เพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ตามประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในรูปของ Independent Power Producer (IPP) อีกร้อยละ 10 ของปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนตามประกาศเดิม เพื่อทดแทนโครงการโรงไฟฟ้าแม่ขามที่ กฟผ. ยกเลิกโครงการแล้ว โดยให้คณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน รับไปดําเนินการต่อไป
เรื่องที่ 6 การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย
สรุปสาระสำคัญ
1. บริษัทผลิตไฟฟ้าในประเทศมาเลเซีย ได้แก่ บริษัท YTL Coporation Berhad (YTL) บริษัท Perlis IPP (Teknologi Tenaga Perlis TTP) และ Tanaga National Berhad (TNB) แสดงความจํานงต้องการผลิตไฟฟ้าประมาณ 300 เมกะวัตต์ ขายให้ประเทศไทย ซึ่งต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีหนังสือลงวันที่ 27 มีนาคม 2538 ถึงสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) แจ้งให้ทราบว่ารัฐบาลมาเลเซียได้ให้สิทธิแก่ TTP ในการขายไฟฟ้าปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ให้แก่ประเทศไทย
2. จากรายละเอียดความคืบหน้าโครงการความร่วมมือตามข้อเสนอของสภาธุรกิจ ภายใต้โครงการ พัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMTGT) ในเดือนมิถุนายน 2537 ภาคเอกชนทั้งสามประเทศ ได้แก่ SPMS ประเทศมาเลเซีย กลุ่มชินวัตรประเทศไทย และ Bukaka Teknik Utama ประเทศอินโดนีเซีย ได้ลงนามใน MOU ร่วมกันที่เมดาน เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกําลังผลิต 2 x 150 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดสตูล และประสงค์จะได้รับการอนุมัติให้เจรจาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ได้
3. ตามแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. พ.ศ. 2538-2554 แสดงให้เห็นว่า ความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของภาคใต้ จะต้องดําเนินโครงการต่างๆ ดังนี้ 1) ปี 2540 โครงการสายส่งเชื่อมโยง ไทย-มาเลเซีย ระยะที่ 2 ขนาดกําลังผลิต 300 เมกะวัตต์ เพื่อเพิ่มการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ 2) ปี 2543 โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน กระบี่ สุราษฎร์ธานี ใช้น้ำมัน/ก๊าซ เป็นเชื้อเพลิง ขนาดกําลังผลิต 300 เมกะวัตต์ และ 3) ปี 2545 โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนภาคใต้ ใช้น้ำมัน ก๊าซ เป็นเชื้อเพลิง ขนาดกําลังผลิต 300 เมกะวัตต์
4. กฟผ. ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าเอกชน ในรูปของ Independent Power Producer (IPP) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องเป็นผู้เสนอสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าเอง ทั้งนี้อาจเป็นภาคใต้ของประเทศไทยก็ได้ โดยมีขนาดกําลังผลิตและระยะเวลา ดังนี้ ปีงบประมาณ 2539-2543 กําลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ปีงบประมาณ 2544 กําลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ และปีงบประมาณ 2545 กําลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 3,800 เมกกะวัตต์
5. คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานในการประชุม ครั้งที่ 1/2538 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 ได้พิจารณาเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย และมีมติที่จะขอความเห็นชอบจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ดังนี้ 1) การเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย ปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ในปี 2540 ควรดําเนินการเจรจาเช่นเดียวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อรับผิดชอบการเจรจาการประสานงาน และ กําหนดแนวทางการเจรจา โดยกําหนดให้เจรจากับ TTP 2) การรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ได้ดําเนินการเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่จะมีเพิ่มขึ้นในปี 2543 และ 2545 โดยให้ผู้ลงทุนยื่นข้อเสนอได้ตามประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปของ IPP ซึ่งได้มีประกาศเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 และ 3) มอบหมายให้ ปตท. รับไปดําเนินการศึกษาความเหมาะสม และความเป็นไปได้ในการรับซื้อก๊าซธรรมชาติตามข้อเสนอใหม่ของมาเลเซีย
มติของที่ประชุม
1. ให้มีการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากบริษัท Teknologi Tenaga Perlis (TTP) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าที่รัฐบาลมาเลเซียมอบหมายให้ผลิตไฟฟ้าขายให้กับไทยในปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ในปี 2540 ในราคาที่เหมาะสม โดยมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง เพื่อรับผิดชอบการ เจรจาและการประสานงาน โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้
องค์ประกอบ
(1) ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นประธานอนุกรรมการ
(2) เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นอนุกรรมการ
(3) อธิบดีกรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นอนุกรรมการ
(4) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นอนุกรรมการ
(5) ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายพัฒนาธุรกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
2. การรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ให้ผู้สนใจ ลงทุนยื่นข้อเสนอได้ตามประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปของ Independent Power Producer (IPP) ซึ่งได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537
3. มอบหมายให้ ปตท. รับไปดําเนินการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการรับซื้อก๊าซ ธรรมชาติ ตามข้อเสนอใหม่ของมาเลเซีย
เรื่องที่ 7 การรับซื้อไฟฟ้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป.ลาว ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือด้าน การพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 ณ นครเวียงจันทน์ โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและ ร่วมมือกันพัฒนาไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2543 เพื่อจําหน่ายให้กับประเทศไทย และ ต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว (คปฟ.-ล) โดยมีผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นประธาน เพื่อติดตามการดําเนินงานและประสานความร่วมมือกับ สปป.ลาว ให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
2. คณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้า สปป.ลาว ได้ดําเนินการเจรจาเพื่อซื้อไฟฟ้าจาก โครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2 ซึ่งมีขนาดกําลังผลิตติดตั้ง 600 เมกะวัตต์ ระยะเวลาดําเนินการปี 2538- 2541 และดําเนินการโดยรัฐบาล สปป.ลาว และกลุ่มผู้ร่วมลงทุนพัฒนาโครงการฯ ได้แก่ บริษัท Transfield (ออสเตรเลีย) การไฟฟ้าฝรั่งเศส (EDF) บริษัทอิตาเลียนไทย จํากัด บริษัทจัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด และบริษัทภัทรธนกิจ จํากัด การเจรจาสามารถตกลงกันได้ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538 โดยมีข้อยุติคือ อัตราค่าไฟฟ้า 4.55 เซนต์สหรัฐต่อหน่วย (ณ วันที่ 1 มกราคม 2537) โดยให้ปรับราคาได้ร้อยละ 3 ต่อปี ในระหว่างการก่อสร้าง และร้อยละ 35 ของอัตราเพิ่มของดัชนีราคาผู้บริโภค ในระหว่างการดําเนินการผลิต ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงได้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. (Avoided Cost) คปฟ.-ล จึงเห็นสมควรยอมรับได้ และได้มีพิธีลงนามข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้า (Heads of Agreement) ของโครงการฯ น้ำเทิน 2 ระหว่างรัฐบาล สปป.ลาว คปฟ.-ล กฟผ. และกลุ่มผู้ลงทุน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2538 ณ นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
3. เนื่องจากข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้า (Heads of Agreement) ดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงมีหนังสือลงวันที่ 23 มีนาคม 2538 ถึงสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เพื่อขอนําข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้า เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) เห็นชอบให้ สพช. นําเสนอ กพช. พิจารณา
4. ข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2 มีสาระสําคัญสรุปได้ดังนี้
4.1 ข้อตกลงดังกล่าวให้เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาล สปป.ลาว คปฟ.-ล กฟผ. และกลุ่มผู้ลงทุน
4.2 กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าที่ราคา 4.55 เซนต์สหรัฐต่อหน่วย (ณ วันที่ 1 มกราคม 2537) หรือ ประมาณ 1.14 บาทต่อหน่วย
4.3 ในระหว่างก่อสร้าง ให้ปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี แต่ไม่เกิน 5 ปี จนถึงวันเริ่มผลิต และจ่ายไฟฟ้าได้ ให้ปรับราคาไฟฟ้าได้ร้อยละ 35 ของอัตราเพิ่มดัชนีราคาผู้บริโภค และเป็นราคาซื้อขายไฟฟ้า สําหรับปีแรก ทั้งนี้ วันที่เริ่มผลิตและจ่ายไฟฟ้าได้ ต้องไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2543
4.4 หลังจากเริ่มผลิตและจ่ายไฟฟ้า ให้ปรับราคาไฟฟ้าได้ทุกปีในอัตราร้อยละ 35 ของดัชนีราคาผู้บริโภค
4.5 กฟผ. รับประกันความเสี่ยงอันเนื่องมาจากฝนแล้ง ร้อยละ 50 กล่าวคือ ปีใด กฟผ. ซื้อ พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่า 2,432 ล้านหน่วย (ร้อยละ 50 ของพลังงานที่จะต้องซื้อขายทั้งปี) และไม่มีน้ำเหลือ สําหรับผลิตไฟฟ้าอีก โดยพิสูจน์ได้ว่าเนื่องมาจากฝนแล้ง กฟผ. จะชําระค่าพลังงานไฟฟ้าจนครบ 2,432 ล้านหน่วย
4.6 ถ้าปีใด กฟผ. ซื้อพลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 4,864 ล้านหน่วย (พลังงานไฟฟ้าที่จะซื้อขายทั้งปี) กฟผ. จะจ่ายค่าพลังงานไฟฟ้าส่วนที่เกิน ณ ราคาร้อยละ 80 ของราคาค่าไฟฟ้าปกติในปีนั้น
4.7 การชําระค่าไฟฟ้าจะชําระเป็นเงินสกุลบาทร้อยละ 50 ของค่าไฟฟ้า และอีกร้อยละ 50 ของ ค่าไฟฟ้าจะชําระเป็นเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลบาท และเงินสกุลดอลล่าร์ สหรัฐของเดือนที่มีการลงนามในสัญญา
4.8 ข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้านี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลไทย
มติของที่ประชุม
เห็นชอบกับข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2
เรื่องที่ 8 การประเมินผลโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและการปรับราคาขายส่งระหว่างการไฟฟ้า
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2534 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อัตราค่าไฟฟ้าสะท้อนถึงต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์มากที่สุด และเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าน้อยลงในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบไฟฟ้า (Peak)
2. การปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2534 ประกอบด้วยสาระสําคัญ 2 ประการคือ 1) มีการปรับปรุงราคาขายส่งระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าฝ่ายจําหน่าย โดยลดราคาที่ กฟผ. จําหน่ายให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จาก 1.4777 บาท/หน่วย เหลือ 1.4682 บาท/หน่วย และลดราคาที่ กฟผ. จําหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จาก 1.0399 บาท/ หน่วย เหลือ 0.9630 บาท/หน่วย และ 2) มีการขยายขอบเขตโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าแบบ Time of Day Rate (TOD) ให้ครอบคลุมถึงผู้ใช้ไฟประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งมีผลทําให้ปัจจุบันมีธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ติดตั้งมิเตอร์ TOD แล้วรวมทั้งสิ้น 1,333 ราย มีการใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 1,900 GWH/เดือน และความต้องการพลังไฟฟ้าประมาณ 4,000 MW กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้ TOD Rate มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมซีเมนต์ อุตสาหกรรมเหล็กและเคมีภัณฑ์
3. การประเมินผลการดําเนินการตามการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2534 มีดังนี้
3.1 ผลกระทบของสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติต่อราคาไฟฟ้าขายปลีก ในช่วงปี 2535-2537 ได้มีการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2535 โดยค่า Ft ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา มีค่าเฉลี่ยเปลี่ยนแปลงอยู่ระหว่าง 2.92-6.17 สตางค์/หน่วย ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่า Ft คือ การนําภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ในเดือนมกราคม 2535 การใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากที่ได้วางแผนไว้ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำและความจําเป็นที่จะต้องลดการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อรักษาคุณภาพอากาศให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเตาในปี 2537
3.2 ผลกระทบของอัตรา TOD ต่อการลดความต้องการพลังไฟฟ้าของระบบ โดยเหตุที่โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOD Rate จะมีอัตราที่สูงมากในช่วง Peak (18.30 น.-21.30 น.) เมื่อเทียบกับช่วง Partial Peak (8.00 น.-18.30 น.) และ Off-Peak (21.30 น.- 8.00 น.) ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของระบบไฟฟ้าของประเทศในช่วง Peak ลดลงถึง 700 MW ผู้ใช้ไฟที่ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วง Peak สามารถประหยัดค่าพลังไฟฟ้าได้เดือนละประมาณ 120-150 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน กฟผ. ก็สามารถลดการลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในระยะยาวได้ประมาณ 21,000 ล้านบาท และโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOD มีผลกระทบต่อลักษณะความต้องการใช้ไฟฟ้าของระบบ จนทําให้ลักษณะ Load Curve ของระบบเปลี่ยนแปลงไป โดยในปัจจุบันจะเหลือเพียงช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง (08.00 น.-21.30 น.) และช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าต่ำ (21.30 น.- 08.00 น.) เพียง 2 ช่วง เท่านั้น
3.3 ผลกระทบต่อฐานะการเงินของการไฟฟ้า โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบันที่ประกาศใช้ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2534 มีผลทําให้ฐานะการเงินของการไฟฟ้าฝ่ายจําหน่ายที่เกิดขึ้นจริงในช่วงปี 2535- 2537 ดีกว่าที่ประมาณการมาก กล่าวคือ กฟน. มีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน (ROR on Revalued Asset) เฉลี่ยจริงสูงถึงร้อยละ 9.49 เทียบกับการประมาณการไว้ที่ระดับร้อยละ 7.06 ส่วน กฟภ. มีอัตรา ROR เฉลี่ยจริงร้อยละ 14.05 เทียบกับการประมาณการไว้ที่ร้อยละ 7.45 อย่างไรก็ตาม กฟผ. มีอัตรา ROR เฉลี่ยจริง เพียงร้อยละ 5.91 โดยประมาณการไว้ที่ระดับร้อยละ 8.08 ทั้งนี้เป็นผลจากการลดราคาขายส่งที่จําหน่ายให้ กฟน. และ กฟภ. ซึ่งมีผลให้ราคาขายส่งเฉลี่ยลดลงจาก 1.2471 บาท/หน่วย เหลือเพียง 1.2067 บาท/หน่วย เพื่ออุดหนุน กฟภ. ในการขยายระบบการจําหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ชนบทห่างไกล
3.4 การเปรียบเทียบอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยกับต่างประเทศ จากการศึกษาเปรียบเทียบ ค่าไฟฟ้าของประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย ธุรกิจขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่าอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยมิได้สูงไปกว่าประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ (ใช้ในช่วงหัวค่ำน้อย) จะสามารถซื้อไฟฟ้าได้ในอัตราที่ต่ำกว่า ตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาของวัน TOD Rate นอกจากนี้ หากพิจารณาแนวโน้มค่าไฟฟ้าในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (รวม Ft แล้ว) ของ กฟน. มีอัตราอยู่ระหว่าง 1.77-1.92 บาท/หน่าย และอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของ กฟภ. มีอัตราอยู่ ระหว่าง 1.59-1.74 บาท/หน่าย อาจกล่าวได้ว่าอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเกือบไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.72 ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน
4. การประเมินผลโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบันพบว่า ยังมีประเด็นปัญหาที่จะต้องดําเนินการ แก้ไข เพื่อให้นโยบายราคาไฟฟ้ามีความเหมาะสมยิ่งขึ้นดังนี้
4.1 ฐานะการเงินของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง มีความแตกต่างกันอย่างมาก จากผลของการลดราคา ขายส่งไฟฟ้าที่ กฟผ. จําหน่ายให้แก่ กฟภ. เพื่อช่วยอุดหนุน กฟภ. สําหรับการลงทุนขยายระบบไฟฟ้าไปในพื้นที่ชนบทห่างไกล ประกอบกับความต้องการไฟฟ้าในเขตความรับผิดชอบของ กฟภ. มีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นสูงมาก ทําให้ต้นทุนต่อหน่วยจําหน่ายต่ำกว่าที่ได้ประมาณการไว้เดิม ทําให้ฐานะการเงินของ กฟภ. ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2535-2537) มีความมั่นคงมากกว่า กฟผ. และ กฟน. ค่อนข้างมาก
4.2 การขยายขอบเขต TOD Rate ประสบความสําเร็จค่อนข้างมากจนมีผลให้มีการเปลี่ยนแปลง ลักษณะการใช้ไฟฟ้าของระบบไฟฟ้าของประเทศจาก 3 ช่วงเวลา เป็น 2 ช่วงเวลา ที่มีช่วง Peak ในช่วงเวลาที่ ยาวขึ้น คือ 8.00 น.-21.30 น. ทําให้มีความจําเป็นต้องมีการปรับช่วงเวลาในอัตรา TOD เพื่อให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับลักษณะการใช้ไฟฟ้าของระบบยิ่งขึ้นและควรให้มีการขยายผลการใช้อัตรา TOD ให้ครอบคลุมไปสู่ผู้ใช้ไฟกลุ่มอื่นที่ไม่ใช้อัตรา TOD ในปัจจุบัน
5. จากประเด็นปัญหาในข้อ 4 ควรจะได้มีการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ดังนี้
5.1 พิจารณาปรับราคาขายส่งและราคาขายปลีกเพื่อให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งมีฐานะการเงินที่มั่นคงตามเกณฑ์ที่กําหนด
5.2 ขยายขอบเขตของ TOD Rate และการนํา TOD Rate ประเภทใหม่มาใช้ให้สอดคล้องกับ ลักษณะการใช้ไฟฟ้าของระบบในปัจจุบันที่มีเพียง 2 ช่วงคือ Peak (8.00 น. - 21.30 น.) และ Off-Peak (21.30 น. - 8.00 น.) ซึ่งในขณะนี้ สพช. ร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้ทําการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของการขยายขอบเขตอัตรา TOD Rate ตามแนวทางดังกล่าวแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรึกษาหารือกับกลุ่มผู้ใช้ไฟที่จะเข้าข่ายอัตรา TOD ใหม่ เพื่อให้รับทราบเหตุผลความจําเป็นของการขยายขอบเขตอัตรา TOD ดังกล่าว พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางที่จะช่วยให้ผู้ใช้ไฟลดการใช้ไฟฟ้าในช่วง Peak ของระบบ เช่น การเสนอวิธีประหยัดไฟฟ้าตามแนวทางการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน และการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น ซึ่งการดําเนินการดังกล่าวจะทําให้การขยายขอบเขตอัตรา TOD Rate เป็นที่ยอมรับและเกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป
6. ข้อเสนอการปรับราคาขายส่งระหว่างการไฟฟ้า มีดังนี้
6.1 ควรให้มีการใช้ราคาขายส่งระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและการไฟฟ้าฝ่ายจําหน่าย เดือนมกราคม 2538 เพื่อให้ ROR ของภาคไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ดังนี้ กฟน. 1.4865 บาท/หน่วย และ กฟภ. 1.0910 บาท/หน่วย
6.2 การประมาณการฐานะการเงินของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ภายใต้ข้อสมมติฐานการปรับราคาขายส่งเดือน ม.ค. 2538 ปรากฏว่า ฐานะการเงินของการไฟฟ้าในปี 2538 ใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่กําหนด โดย ROR ของภาค ไฟฟ้าในปี 2538 เท่ากับ 7.77% สําหรับอัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้อยู่ในระดับ 25-38% และปรากฏว่า ผลการประมาณการอัตราส่วนทางการเงินที่สําคัญ เช่น อัตราส่วนกําไรสุทธิต่อส่วนทุน Return on Equity (ROE) อยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะยอมรับได้ โดยเฉพาะ ROE ในปี 2538 ของการไฟฟ้าทั้งสามอยู่ระหว่าง 19-22%
6.3 จากเหตุผลในข้อ 6.1 และ 6.2 จึงพอสรุปได้ว่าการปรับราคาขายปลีกเพื่อให้ฐานะการเงินของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง อยู่ในเกณฑ์ที่กําหนด ยังไม่มีความจําเป็นสําหรับปี 2538 แต่ควรจะต้องมีการพิจารณา ทบทวนฐานะการเงินในปี 2539-2540 ซึ่งจะดําเนินการได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้นเมื่อการศึกษาเรื่อง Rationalization of Bulk Supply Tariff to MEA and PEA แล้วเสร็จ
มติของที่ประชุม
1. รับทราบการประเมินผลการดําเนินงานภายใต้การปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2534 และแนวทางการดําเนินงานในการขยายขอบเขตอัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาของวัน เพื่อให้อัตรา TOD ครอบคลุมถึงผู้ใช้ไฟรายใหญ่มากขึ้น อันจะทําให้นโยบายราคามีผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของระบบให้มีความสม่ำเสมอมากขึ้น ซึ่งจะทําให้การลงทุนของระบบไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป
2. ให้มีการกําหนดราคาขายส่งไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และการไฟฟ้าฝ่ายจําหน่ายใหม่ โดยให้มีผลใช้ บังคับตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 เป็นต้นไป ดังนี้
(1) กําหนดให้ราคาขายส่งไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และ กฟน. เป็น 1.4865 บาทต่อหน่วย
(2) กําหนดให้ราคาขายส่งไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และ กฟภ. เป็น 1.0910 บาทต่อหน่วย
3. มอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมบัญชีกลาง และสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทบทวนความเหมาะสมของหลักเกณฑ์การพิจารณาฐานะการเงินของการไฟฟ้าที่ใช้ในการกําหนดอัตราค่าไฟฟ้า เพื่อให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวสะท้อนถึงฐานะการเงินของการไฟฟ้าอย่างแท้จริง และครอบคลุมถึงประสิทธิภาพการดําเนินงานของการไฟฟ้าด้วย รวมทั้งโครงสร้างราคาขายส่งและวิธีการอุดหนุน กฟภ. โดยกําหนดเป็นหัวข้อในการศึกษาเรื่อง Rationalization of Bulk Supply Tariff to MEA and PEA ซึ่งเป็นการศึกษาภายใต้เงื่อนไข เงินกู้ของธนาคารโลกสําหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลําตะคองแบบสูบกลับ และอยู่ภายใต้การกํากับการศึกษา ของ สพช. เมื่อการศึกษาแล้วเสร็จควรให้มีการพิจารณาฐานะการเงินของการไฟฟ้าในปี 2539-2540 ตาม หลักเกณฑ์ใหม่ และนําเสนอผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติต่อไป
เรื่องที่ 9 การกําหนดเขตต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) รับไปดําเนินการหามาตรการเพื่อช่วย เหลือชาวประมงรายย่อย ซึ่งจะได้รับผลกระทบในเรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากมาตรการการกําหนดเขตต่อเนื่องในพื้นที่ระหว่าง 12 ถึง 24 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง และให้นําผลการพิจารณาเสนอต่อคณะกรรมการฯ โดยด่วน เพื่อประกอบการพิจารณากําหนดเขตต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป