มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 4/2538 (ครั้งที่ 52)
วันพุธที่ 11 ตุลาคม 2538
1. ผลการดําเนินการในการแก้ไขกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
2. รายงานผลการดําเนินงานในการส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
3. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
4. รายงานผลการดําเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
5. รายงานผลการดําเนินงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
6. รายงานความก้าวหน้าการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM)
7. รายงานความคืบหน้าการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
8. การลดช่องว่างระหว่างราคาน้ำมันในเขตกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค
9. สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทานตะวัน
10. การรับซื้อไฟฟ้าโครงการห้วยเฮาะ
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(นายบรรหาร ศิลปอาชา)
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
(นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์)
เรื่องที่ 1 ผลการดําเนินการในการแก้ไขกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2537 ได้อนุมัติตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2537 (ครั้งที่ 47) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2537 ในเรื่อง ข้อเสนอการปรับปรุงกฎเกณฑ์และส่งเสริมการตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมอบหมายให้ กรมโยธาธิการดําเนินการปรับปรุงกฎเกณฑ์การจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกันต่อไป และมอบหมายให้กรมทางหลวงรับไปศึกษาและพิจารณาผ่อนคลายกฎเกณฑ์การจัดตั้งสถานีบริการ ในบริเวณทางโค้ง และบริเวณภูเขาหรือเนินเขา เพื่อให้มีการจัดตั้งสถานีบริการในบริเวณดังกล่าวได้
2. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ได้อนุมัติตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 49) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 ในเรื่อง ข้อเสนอเพิ่มเติมในการปรับปรุงกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมอบหมายให้ กรมโยธาธิการ ปรับปรุงกฎเกณฑ์การจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติมให้สอดคล้องกันต่อไป และมอบหมายให้กรมโยธาธิการและกรมควบคุมมลพิษร่วมกันจัดทําเงื่อนไขควบคุมการทิ้งเศษวัสดุและน้ำมัน รวมทั้งการระบายน้ำเสียจากสถานีบริการเพื่อมิให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม
3. กรมโยธาธิการได้ดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ตามข้อ 1 และ 2 แล้ว โดยได้ออก ประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 1 ประเภทที่ 2 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 มีสาระสําคัญดังนี้
3.1 กําหนดให้มีการจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นในบริเวณถนน ซอย ทางลัดหรือ ถนนในหมู่บ้านจัดสรรที่มีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร แต่ไม่ถึง 12.00 เมตรได้ นอกจาก กฎเกณฑ์เดิมที่กําหนดให้จัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงได้เฉพาะในถนนสาธารณะที่มีความกว้าง ไม่น้อยว่า 12.00 เมตร หรือถนนส่วนบุคคลที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 10.00 เมตรเท่านั้น โดยแยกกฎเกณฑ์ควบคุมความปลอดภัยสําหรับสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงออกเป็น 2 กฎเกณฑ์ คือ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งริมถนนสาธารณะที่มีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร หรือถนนส่วนบุคคลที่มีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร ให้ใช้กฎเกณฑ์ตามที่กําหนดไว้ในประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 1 และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งริมถนนที่มีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร แต่ไม่ถึง 12.00 เมตร ให้ใช้กฎเกณฑ์ตามที่กําหนดไว้ในประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ประเภทที่ 2
3.2 ลดหรือยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ไม่จําเป็นเพื่อเพิ่มพื้นที่อนุญาตจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น
3.3 เพิ่มกฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยสําหรับสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 2 ซึ่งจะ จัดตั้งในบริเวณซอย ทางลัด หรือถนนในหมู่บ้านจัดสรรซึ่งเป็นแหล่งชุมชนพักอาศัย โดยให้มีการติดตั้งอุปกรณ์เก็บไอระเหยของน้ำมัน (Vapour Recovery System) รวมทั้งจํากัดปริมาณการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ด้วย
3.4 เพิ่มกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมสําหรับสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 2 ที่จะจัดตั้ง ใหม่ต้องมีการติดตั้งถังใต้ดินแบบสองชั้น (Double Skin Tanks) และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภทที่จะจัดตั้งใหม่ต้องมีบ่อกักไขน้ำมันความจุไม่น้อยกว่า 1,500 ลิตร ต่อพื้นที่ไม่เกิน 1,500 ตารางเมตร ทั้งนี้เพื่อควบคุมการทิ้งเศษวัสดุและน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
4. ผลที่จะได้รับจากการปรับปรุงกฎเกณฑ์ดังกล่าว คือ
4.1 สถานีบริการในเขตกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ การลดพื้นที่ห้ามตั้งสถานีบริการโดย ให้สามารถตั้งได้ในบริเวณถนนขนาดเล็กความกว้าง ไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร แต่ไม่ถึง 12.00 เมตร จะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งสถานีบริการเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางในเขตกรุงเทพมหานคร และ เมืองใหญ่ และถึงแม้จะเพิ่มข้อกําหนดให้สถานีบริการริมถนนเล็กต้องติดตั้ง Double Skin Tanks และมี อุปกรณ์ Vapour Recovery Line เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ต้นทุนของอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สูงนักหากเปรียบเทียบกับราคาที่ดินที่ลดลง ซึ่งจะทําให้มีการจัดตั้งสถานีบริการริมถนนเล็กขึ้นใหม่ทดแทนสถานีบริการริมถนนใหญ่ที่เลิกกิจการไป และทําให้มีจํานวนสถานีบริการเพียงพอแก่ความต้องการ ก่อให้เกิดการแข่งขันด้านบริการและราคา เป็นผลให้ประชาชนในเมืองใหญ่ได้รับความสะดวกและบริการที่ดีขึ้นในราคาที่เหมาะสม
4.2 สถานีบริการในพื้นที่ที่ห่างไกล การลดพื้นที่ห้ามตั้งในเขตชุมชนเล็ก ๆ ในชนบท จะช่วยให้มีผู้สนใจมาลงทุนจัดตั้งสถานีบริการในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทําให้เกิดการแข่งขันด้านบริการและราคา ทําให้ประชาชนในท้องที่ห่างไกลหรือผู้เดินทางไปในพื้นที่ที่ห่างไกล สามารถหาที่เติมน้ำมันได้สะดวกขึ้น และได้รับบริการที่ดีขึ้นในราคาที่ลดลง
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 รายงานผลการดําเนินงานในการส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 ได้อนุมัติตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2538 (ครั้งที่ 51) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 ในเรื่อง การส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว และมีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว โดยให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้า) ร่วมกับ สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาในรายละเอียด และดําเนินการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ต่อไป โดยให้มีผลบังคับใช้ประมาณวันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป และให้กรมโยธาธิการแก้ไขประกาศกรมโยธาธิการเกี่ยวกับการกําหนดขนาดของหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการ โดยให้มีข้อยกเว้นสําหรับหัวจ่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ซึ่งผสมสารเคลือบบ่าวาล์วให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายนอกของท่อทางออกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็น ขนาดใหญ่เท่ากับหัวจ่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วในปัจจุบัน คือ ไม่น้อยกว่า 24.50 มิลลิเมตร หรือ 15/16 นิ้ว
2. สพช. และกรมทะเบียนการค้าได้ดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยได้จัดให้มีการประชุม ในรายละเอียดร่วมกับกรมโยธาธิการ และบริษัทผู้ค้าน้ำมันต่างๆ และได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ดําเนินการออกประกาศต่อไป ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ดําเนินการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2538) เรื่อง กําหนดคุณภาพของน้ำมันเบนซิน ลงวันที่ 8 กันยายน 2538 เพื่อยกเลิกคุณภาพน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วและกําหนดคุณภาพน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วชนิดใหม่ที่มีสารเคลือบบ่าวาล์วอยู่ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป นอกจากนี้ในส่วนของกรมโยธาธิการ ได้เชิญบริษัทผู้ค้าน้ำมันมาร่วมพิจารณายกร่างประกาศ กรมโยธาธิการเกี่ยวกับการกําหนดขนาดหัวจ่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ซึ่งผสมสารเคลือบบ่าวาล์วแล้ว และ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบร่างประกาศฯ ก่อนออกประกาศบังคับใช้ต่อไป
3. สถานการณ์การจําหน่ายในปัจจุบันนั้น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นผู้ค้าน้ำมัน รายแรกที่ยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีตะกั่วตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นการยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วเป็นการล่วงหน้าก่อนที่จะใช้เป็นมาตรการบังคับประมาณ 6 เดือน และในปัจจุบันผู้ค้าน้ำมันอื่น ๆ เช่น บริษัท สยามสหบริการ จํากัด บริษัท พี.ซี. สยามปิโตรเลียม จํากัด ได้ยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วแล้วเช่นกัน ซึ่งทําให้ปริมาณการจําหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ในเดือนสิงหาคม 2538 มีปริมาณ 438.14 ล้านลิตร คิดเป็นอัตราร้อยละ 83 ของการจําหน่ายน้ำมันเบนซินทั้งหมด โดยส่วนที่เหลือเป็นการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว เป็นปริมาณ 92.80 ล้านลิตร คิดเป็นอัตราร้อยละ 17 ของการจําหน่ายน้ำมันเบนซินทั้งหมด
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
1.1 ราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2538 (มกราคม-พฤษภาคม) ได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉลี่ยสูงขึ้นจากปี 2537 ถึง 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สาเหตุสําคัญที่ผลักดันให้ราคาสูงขึ้นในระยะนี้ คือ
• การลดปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปคลง 320,000 บาร์เรลต่อวัน และยืนยันจะไม่มี การปรับเพดานการผลิตเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบียและอิหร่านพยายามควบคุมการผลิตตาม โควต้าที่ได้รับ และประเทศไนจีเรียมีปริมาณการผลิตที่ลดลงเนื่องจากประสบปัญหาที่แหล่งผลิต
• อิรัคได้ปฏิเสธข้อเสนอของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ยินยอมให้อิรัค ทําการส่งออกน้ำมันในมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเวลา 6 เดือน
• โรงกลั่นน้ำมันยุโรปเริ่มเปิดดําเนินการในเดือนเมษายนหลังจากที่ปิดซ่อมบํารุง ทําให้ มีความต้องการน้ำมันดิบเพื่อใช้ในการกลั่นมากขึ้น ประกอบกับมีแรงซื้อจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐอเมริกา มากขึ้น เนื่องจากมีปริมาณการสํารองน้ำมันเบนซินอยู่น้อย จึงต้องเร่งกลั่นเพื่อรองรับฤดูร้อนซึ่งจะมีการใช้ น้ำมันเบนซินสําหรับรถยนต์มากขึ้น
• ในเดือนพฤษภาคม สหรัฐอเมริกาประกาศคว่ำบาตรอิหร่าน ทําให้สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนไปซื้อน้ำมันจากแหล่งอื่นมาทดแทนที่เคยซื้อจากอิหร่านถึง 500,000 บาร์เรลต่อวัน และอิหร่านยังไม่สามารถขายให้ผู้อื่นแทนสหรัฐอเมริกาได้ จึงเป็นผลทําให้ตลาดมีการแข่งขันการซื้อน้ำมันมากขึ้น
• สําหรับราคาในช่วงเดือนมิถุนายน-เดือนกันยายน 2538 ได้ปรับลดลง 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สาเหตุสําคัญที่ผลักดันให้ราคาลดลงในระยะนี้ คือ ปริมาณการผลิตน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจากทุกแหล่งทั่วโลก ทั้งจากประเทศผู้ผลิตกลุ่มโอเปคเองและนอกกลุ่มโอเปค ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ยังมีเชื้อเพลิงประเภทอื่นที่เป็นคู่แข่งสําคัญคือ ก๊าซธรรมชาติซึ่งมีราคาถูกกว่า ซึ่งการประชุมกลุ่มโอเปคในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันไม่น้อยเช่นกัน โดยโอเปคอาจพิจารณาเพิ่มโควต้าการผลิตในปีหน้าเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดด้วย ในขณะเดียวกัน จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกนอกกลุ่มโอเปคซึ่งมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นมากในเดือนกรกฎาคม เป็นผลทําให้ราคาน้ำมันดิบมีการปรับลดลงและมีแรงกดดันที่ทําให้ราคาลดลงไปอีก และจากสถานการณ์ของอิหร่านได้คลี่คลายลงเมื่อเริ่มขายน้ำมันให้กับลูกค้าในยุโรปแทนสหรัฐอเมริกาได้ และประเทศมาเลเซียหยุดซ่อมบํารุงโรงกลั่นในเดือนกรกฎาคม จึงทําให้มีน้ำมันดิบทาปีสของมาเลเซียเหลือออกสู่ตลาดมากขึ้น
1.2 ราคาน้ำมันสําเร็จรูป ราคาน้ำมันสําเร็จรูปโดยทั่วไปสูงขึ้นจากปี 2537 แต่ยังสูงขึ้นน้อยกว่า ราคาน้ำมันดิบ ทําให้โรงกลั่นน้ำมันมีรายได้ลดลง สาเหตุเกิดจากการขยายกําลังการกลั่นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ทําให้มีน้ำมันสําเร็จรูปออกสู่ตลาดมากขึ้น
1.3 ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นในประเทศ เปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามราคาน้ำมันสําเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ ในช่วงแคบๆ โดยมีการปรับราคาสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 แล้วปรับลดราคาลงในช่วงไตรมาส 3 ทั้งนี้ ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นในประเทศจะปรับขึ้น-ลงตามราคาน้ำมันสําเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ ในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
1.4 ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ เปลี่ยนแปลงตามราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น โดยจะมีการปรับราคาตามราคาขายส่งในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นราคาหรือลงราคา กล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะ “ขึ้นเร็วลงเร็ว”
1.5 แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2538 นี้ คาดว่าราคาน้ำมันในตลาด โลกจะไม่สูงขึ้นตามที่กลุ่มโอเปคคาดหวัง แต่อาจจะลดลงเนื่องจาก การคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญน้ำมัน คาดว่าการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปคในระยะต่อไป จะใกล้เคียงกับโควต้าแต่ปริมาณการผลิตน้ำมันโลกจะเพิ่มขึ้นจากการผลิตของประเทศนอกกลุ่มโอเปค ในหลายๆประเทศ เช่น บราซิล อาร์เจนตินา โคลัมเบีย มาเลเซีย สําหรับปริมาณการใช้จะเพิ่มขึ้นด้วย เช่นกัน โดยทาง International Energy Agency (IEA) คาดว่าปริมาณการใช้จะเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่การผลิตของกลุ่มนอกโอเปคจะเพิ่มขึ้น 0.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ Nymex and IPE Futures Markets ได้ประมาณราคาน้ำมันดิบ สําหรับไตรมาสที่ 4(2538) และไตรมาสที่ 1(2539) ว่าราคามีแนวโน้มลดลงกว่าปัจจุบัน และยังมีความไม่แน่นอนว่าอิรักจะกลับมาเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอีกครั้งหนึ่งหรือไม่ ถ้าอิรักกลับมาเป็นผู้ส่งออกน้ำมันได้อีก กลุ่มโอเปคจะต้องจัดสรรโควต้าการผลิตกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคงจะเป็นปัญหาพอสมควรกับการที่สมาชิกหลายประเทศที่ได้ผลิตน้ำมันเพิ่มมาถึง 5 ปี จะต้องลดการผลิตตัวเองลง จึงคาดว่าถ้าอิรักกลับมาผลิตน้ำมันส่งออกอีกครั้งหนึ่งจะทําให้ราคาน้ำมันขาดเสถียรภาพไประยะหนึ่ง อาจต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือนกว่าราคาจะกลับมามีเสถียรภาพขึ้นอีก แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น การผลิตของกลุ่มนอกโอเปค ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น
2. การกํากับดูแลการกําหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ได้มีมติให้มีการกํากับดูแลการกําหนดราคาจําหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ณ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศ และต่อมาคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 ได้มีมติเห็นชอบตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้กรมการค้าภายในและ สพช. ร่วมกันพิจารณาปรับปรุงมาตรการ ในการกํากับดูแลการกําหนดราคาและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งกรมการค้า ภายในและ สพช. ได้ประชุมหารือร่วมกันในวันที่ 28 มิถุนายน 2538 ผลการประชุมสรุปได้ดังนี้ มาตรการกํากับดูแลราคาและค่าการตลาด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ยังมีความเหมาะสมที่จะใช้ปฏิบัติต่อไปโดยไม่ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงแต่อย่างใด ซึ่งหาก สพช. ทําการกํากับดูแลการกําหนดราคาของสถานีบริการ แล้วพบว่าสถานีบริการกําหนดราคาขายปลีกเกินเหมาะสม สพช. จะเป็นผู้ดําเนินการแก้ไขโดยใช้มาตรการต่าง ๆ ที่กําหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรี หากไม่เป็นผล สพช. จะส่งเรื่องให้ กรมการค้าภายในเป็นผู้ดําเนินการ โดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติกําหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ.2522
3. ผลการดําเนินการกํากับดูแลการกําหนดราคาในปี 2538 (เดือนมกราคม - สิงหาคม) จากรายงานราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 15 ของทุกเดือนของสํานักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ พบว่ามีสถานีบริการจําหน่ายน้ำมันราคาเกินเหมาะสมโดยเฉลี่ยเดือนละ 79 สถานี หรือ ร้อยละ 1.29 ของจํานวนสถานีบริการทั่วประเทศ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับปี 2537 ซึ่งมีจํานวนสถานีบริการจําหน่ายน้ำมันราคาเกินเหมาะสม โดยเฉลี่ยต่อเดือน 117 สถานี หรือ ร้อยละ 2.37 ของสถานีบริการทั้งหมด จะเห็นว่าปริมาณลดลงประมาณหนึ่งในสาม และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคและรายผู้ค้าน้ำมันแล้วก็มีปริมาณลดลงมากเช่นกัน ซึ่งเป็นผลจากการกํากับดูแลราคาขายปลีกตามมติคณะรัฐมนตรีประสบผลสําเร็จมากขึ้น ทําให้การเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีก ณ สถานีบริการในต่างจังหวัดมีลักษณะ “ขึ้นเร็วลงเร็ว” มากขึ้น ประกอบกับสภาพการแข่งขันของตลาดน้ำมันในต่างจังหวัดสูงขึ้น เนื่องจากมีการก่อสร้างสถานีบริการเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีสถานีบริการของผู้ค้าน้ำมันรายย่อยอื่น ๆ เกิดขึ้นมาก และมีสถานีบริการหลายรายเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายการค้า โดยเปลี่ยนไปรับน้ำมันจากผู้ค้าน้ำมันที่สามารถขายน้ำมันให้ในราคาถูกที่สุด และทําให้สถานีบริการเหล่านี้สามารถขายน้ำมันได้ ในราคาต่ำกว่าสถานีบริการโดยทั่วไป รวมทั้งยังมีการแข่งขันกันด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ด้านคุณภาพน้ำมัน (การเพิ่มค่าออกเทน) รูปแบบของสถานีบริการที่ดูแปลกใหม่ สวยงาม และการบริการที่ดียิ่งขึ้น
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 รายงานผลการดําเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 49) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 ให้กําหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปดําเนินการ และรายงานผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมทุกครั้ง
2. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2538 (ครั้งที่ 51) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 ได้พิจารณาเรื่อง การดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย เพื่อกําหนดเขตต่อเนื่องในท้องทะเลบริเวณถัดออกไปจากน่านน้ำอาณาเขตเป็นระยะทางไม่เกิน 24 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งรวมทั้ง ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรในเขตต่อเนื่องเสนอ โดยมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาตรวจร่างต่อไป และให้กําหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม สําหรับคลังน้ำมันที่กรมสรรพสามิตไม่มีอํานาจติดตั้งมาตรวัด โดยให้กรมสรรพสามิตและกรมสรรพากรรับไปดําเนินการติดตั้งมาตรวัดในคลังน้ำมันที่อยู่ชายฝั่งก่อน โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายของกรมสรรพากรในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม และมอบหมายให้กรมโยธาธิการติดตามข้อมูลการก่อสร้างคลังน้ำมันชายฝั่ง ซึ่งหากมีการก่อสร้างคลังเพิ่มขึ้นให้แจ้งกรมสรรพสามิตและกรมสรรพากรทราบ เพื่อดําเนินการต่อไป
3. คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะ กรรมการฯ พร้อมกับพิจารณาร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. และร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งทางสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาเรียบร้อยแล้ว และโดยที่กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทําผิด พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมการกฎหมายทะเล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่างขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในเรื่องการดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และเห็นชอบ รางประกาศเขตต่อเนื่อง ของราชอาณาจักรไทย ที่สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว และให้นําความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประกาศต่อไป ส่วนร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณาแล้ว ให้ทางสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานํากลับไปพิจารณาประกอบกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติการฯที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอมาและนําเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
4. หน่วยงานต่าง ๆ ได้ดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว และได้รายงานผลการดําเนินการ แก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อทราบ ดังนี้
4.1 กรมศุลกากร
(1) ได้ดําเนินการตรวจสอบเรือขนส่งน้ำมันของ กฟผ. และ ปตท. เช่นเดียวกับเรือของผู้ค้าน้ำมันรายอื่นอย่างเคร่งครัด และได้มีหนังสือแจ้งให้ ปตท. และ กฟผ. ทราบแล้ว
(2) คณะทํางานเพื่อทําหน้าที่ตรวจสอบการลักลอบนําเข้าน้ำมัน ได้สั่งการให้กองป้องกัน และปราบปรามและด่านศุลกากร จัดกําลังเจ้าหน้าที่และเรือตรวจการณ์การขนส่งน้ำมันทั้งทางด้านทะเลอันดามัน และอ่าวไทย รวมทั้งจัดเพิ่มสายสืบเฝ้าตรวจสอบการขนส่งน้ำมันทางบก ทั้งคลังที่ได้รับอนุมัตินําเข้าและคลังที่ไม่ได้รับอนุมัติให้นําเข้า แต่ไม่พบการกระทําความผิดแต่อย่างใด
(3) ได้จัดเจ้าหน้าที่ไปทําการตรวจสอบเรือนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทุกลําอย่างเข้มงวดเป็น เวลา 1 เดือน หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนําสินค้าเข้ามาใน ราชอาณาจักร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2538 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2538 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งปรากฏว่าถูกต้องตามระเบียบของกรมศุลกากรทุกประการ
(4) กรมศุลกากรได้ออกคําสั่งทั่วไปกรมศุลกากร ที่ 13/2538 เรื่อง เพิ่มเติมประมวล ระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2530 หมวดที่ 17 บทที่ 08 ข้อที่ 02(ก) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการดําเนินคดี การลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 31 มีนาคม 2538 เพื่อปรับปรุงแนวทางการดําเนินคดีของกรม ศุลกากรให้รัดกุมยิ่งขึ้น
(5) นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้เพิ่มมาตรการสนับสนุน โดยจัดให้มีการติดตามและ ตรวจสอบเรือประมงดัดแปลงที่ถูกจับกุม และเจ้าของเรือหรือผู้มีสิทธิ์ที่ได้ยื่นคําร้องขอรับเรือของกลางไปเก็บ รักษาเองว่ามีการนําไปใช้เพื่อลักลอบนําเข้าหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าฝ่าฝืนกรมศุลกากรจะยึดเรือคืนและบังคับ สัญญาประกันทัณฑ์บน รวมทั้งดําเนินการสืบสวนติดตามพฤติกรรมเรือประมงดัดแปลงหรือเรือบรรทุกน้ำมัน ต่างประเทศ ที่เคยถูกจับกุมหรืออยู่ในข่ายต้องสงสัยด้วย
4.2 กรมสรรพสามิต
(1) จัดทําโครงการติดตั้งมาตรวัดและอุปกรณ์วัดน้ำมันด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อติดตั้ง ณ คลังชายฝั่ง โดยขณะนี้ได้ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกทางด้านเทคนิคแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอด้านราคาอยู่ ซึ่งคาดว่าจะตกลงผลการประกวดราคาและทําสัญญาได้ในเดือนตุลาคม 2538 ส่วนการ ติดตั้งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้ง 42 แห่ง ภายในเดือนพฤษภาคม 2539 นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังได้จัดตั้งห้อง Operation Room เพื่อรับรายงานการ เคลื่อนย้ายและขนส่งน้ำมันในทะเลจากโรงกลั่นน้ำมันไปยังคลังน้ำมันชายฝั่ง เพื่อป้องกันการลักลอบเดินเรือ ออกนอกเส้นทางเพื่อไปรับน้ำมันหนีภาษี ทั้งนี้กรมสรรพสามิตได้ประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะ กรมทะเบียนการค้าในการรับข้อมูลการนําเข้าที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ต้องแจ้งแก่กรมทะเบียนการค้า ตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนําสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 106) พ.ศ. 2538 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2538
(2) ได้ระดมกําลังเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมคลังน้ำมันชายฝั่งทั่วประเทศอย่างเข้มงวด โดยการ ซีลผนึกท่อทางรับ-จ่ายน้ำมัน รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตที่ประจําในโรงกลั่นน้ำมันแจ้งข้อมูลการจ่ายน้ำมันจากโรงกลั่นให้สรรพสามิตปลายทางทราบทุกครั้ง และทําการตรวจสารเพิ่มคุณภาพน้ำมันที่สถานีบริการชายฝั่งทุกแห่ง และแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสรรพสามิตว่าด้วยการเก็บและการขนย้ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว พ.ศ. 2537 ให้การขนส่งน้ำมันออกจากคลังหรือโอนย้ายน้ำมันระหว่างคลังตั้งแต่ 50,000 ลิตร ขึ้นไป ต้องแจ้งสรรพสามิต
(3) การดําเนินการดังกล่าว โดยเฉพาะการซีลผนึกท่อทางรับ-จ่ายคลังน้ำมัน รวมทั้งการ ปฏิบัติการอื่น ๆ มีผลให้การจัดเก็บภาษีผลิตภัณฑ์น้ำมันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2537 – สิงหาคม 2538 (10 เดือน) สูงกว่าปีก่อนในช่วงระยะเดียวกันถึงร้อยละ 18
4.3 กรมสรรพากร ได้มีการกําหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยระบบมิเตอร์หัวจ่าย โดยออกประกาศกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 60) เรื่อง กําหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย การออกใบกํากับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร และการเก็บรักษารายงานตาม มาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากนี้ได้กําหนดระบบการควบคุมการรับมอบน้ำมันให้รัดกุมยิ่งขึ้นด้วย และ กรมสรรพากรได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสถานีบริการน้ำมันต่างๆ โดยเน้นให้ ตรวจสอบภาษีสถานีบริการที่ไม่ยอมเข้าอยู่ในระบบมิเตอร์หัวจ่ายเป็นพิเศษด้วย
4.4 กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการขอความร่วมมือจากบริษัทน้ำมันที่มีโรงกลั่นในสิงคโปร์ ให้แจ้งรายละเอียดของเรือ บรรทุกน้ำมันที่รับน้ำมันจากโรงกลั่นในสิงคโปร์และมีจุดหมายปลายทางมายังประเทศไทยแล้ว และได้รับแจ้งข้อมูลจาก บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จํากัด เพียงรายเดียวซึ่งข้อมูลดังกล่าวตรงกับข้อมูลตามเงื่อนไข และได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนําสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2538 เพื่อกําหนดเงื่อนไขในการนําเข้าน้ำมันให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ทุกราย ต้องแจ้งรายละเอียดการนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทันทีที่เรือเดินทางออกจากประเทศสิงคโปร์ ปรากฏว่ารายละเอียดส่วนใหญ่ถูกต้อง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวกรมทะเบียนการค้าได้นําส่งแก่ สพช. และกรมสรรพสามิต เพื่อทราบด้วย รวมทั้งกรมทะเบียนการค้าได้ดําเนินโครงการตรวจสอบหาสารเติมแต่ง (Additives) ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจากสถานีบริการทั่วประเทศ ซึ่งปรากฏว่า จากผลการตรวจสอบน้ำมัน จํานวน 3,000 ตัวอย่างพบน้ำมันที่มีปริมาณสารเติมแต่งน้อยกว่าปริมาณที่บริษัทผู้ค้าได้แจ้งไว้แก่กระทรวงพาณิชย์ จํานวน 1,232 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 25 ของตัวอย่างทั้งหมดที่ตรวจสอบ โดยพบความผิดมากที่สุดในภาคใต้บริเวณจังหวัดชุมพร คิดเป็นร้อยละ 53.6 นครศรีธรรมราช ร้อยละ 44.6 สตูล ร้อยละ 41.2 ปัตตานี ร้อยละ 40.7 ตรัง ร้อยละ 39.5 และสุราษฎร์ธานี ร้อยละ 35.8
4.5 กรมเจ้าท่า ได้มีคําสั่งที่ 307/2538 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2538 ให้สํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคและ สํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาที่มีเขตอํานาจครอบคลุมพื้นที่ที่มีเรือประมง ให้จัดเวรตรวจสอบใบอนุญาตใช้เรือ ใบทะเบียนเรือไทย ประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือ และผู้ควบคุมเครื่องจักรของเรือประมงที่เข้าจอดเทียบท่า หรือแพปลา และหากพบผิดให้ลงโทษอย่างเฉียบขาด โดยให้รายงานผลต่อกรมเจ้าท่าทุกสัปดาห์
4.6 กระทรวงมหาดไทย ได้มีคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 140/2538 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอํานวยการป้องกัน ปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 31 มีนาคม 2538 เพื่อจัดรูปองค์การในการกํากับ และประสานการปฏิบัติงานให้บังเกิดผลอย่างแท้จริง
4.7 กรมตํารวจ ได้ดําเนินการออกคําสั่งปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย โดยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย “นม 001” เพื่อปฏิบัติการปราบปรามการค้าน้ำมันลักลอบนําเข้าในช่วง 17 มีนาคม - 30 กันยายน 2538 ไปแล้ว นั้น เนื่องจากกรมตํารวจได้ประเมินว่าสถานการณ์การลักลอบนําเข้า น้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมายในระยะต่อไปจะไม่รุนแรงเช่นที่ผ่านมา และสมควรที่กรมตํารวจจะได้ปรับแผนการในการป้องกันและปราบปรามให้เหมาะสม โดยได้อนุมัติให้ยกเลิกคําสั่งปฏิบัติการในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย “นม 001” และได้ออกแผน ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง “นม 002” โดยมอบหมายให้หน่วยงานปกติของกรมตํารวจรับผิดชอบในการดําเนินการแทน
4.8 กองทัพเรือ ได้มีคําสั่ง (เฉพาะ) ลับที่ 98/2538 ลงวันที่ 28 เมษายน 2538 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าน้ำมันในทะเล เพื่อจัดตั้งศูนย์อํานวยการเฉพาะกิจป้องกัน และปราบปรามการลักลอบค้าน้ำมันในทะเล โดยมุ่งเน้นการสืบหาข่าว การติดตามและจับกุมเรือประมงดัดแปลงเรือน้ำมันขนาดเล็ก หรือเรือบรรทุกน้ำมันที่จดทะเบียนในต่างประเทศที่มีการขนถ่ายน้ำมันนอกทะเลอาณาเขตของไทยด้วยเรือและอากาศยานที่มีอยู่
5. สถานการณ์ในปัจจุบันสรุปได้ ดังนี้
5.1 สรุปการจับกุมของหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่มกราคม - กันยายน 2538 ได้มีการจับกุม รวมทั้งสิ้น 63 ราย เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงปริมาณ 2,616,264 ลิตร โดยเป็นการจับกุมคดีลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง 25 ราย ได้ของกลางเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง 2,371,942 ลิตร และเป็นการจับกุมคดีอื่น ๆ เช่น ประกอบการค้าโดยไม่มีใบอนุญาตเป็นผู้ค้ามาตรา 6 ทวิ เป็นต้น จํานวน 38 ราย เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง 244,322 ลิตร ซึ่งการจับกุมในปี 2538 ในช่วงระยะเวลาเพียง 9 เดือนนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 2537 ซึ่งมีการจับกุมคดีลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งปี จํานวน 39 ราย ได้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นของกลาง 1,965,268 ลิตร โดยสามารถจับกุมได้เพิ่มขึ้นจํานวน 24 ราย เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงรวม 650,996 ลิตร คิดเป็นอัตราจับกุมเพิ่มร้อยละ 33
5.2 ปริมาณการจําหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 เป็นต้นมา มีแนวโน้ม แสดงว่าการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ลดลงในระดับหนึ่ง โดยในช่วงมกราคม - พฤษภาคม 2538 (รวม 5 เดือน) มีการจําหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วรวม 6,442 ล้านลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการจําหน่ายรวม 5,290 ล้านลิตร หรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 1,151 ล้านลิตร คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 22 แต่มี ข้อสังเกตว่าปริมาณการจําหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2538 และกรกฎาคม 2538 ได้เริ่มมีแนวโน้มลดลงโดยในเดือนกรกฎาคม 2538 ปริมาณการจําหน่ายรวม 1,294 ล้านลิตร ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2538 ซึ่งมีปริมาณ 1,352 ล้านลิตร หรือลดลงประมาณ 58 ล้านลิตร คิดเป็นอัตรา ร้อยละ 4 ทั้งนี้สาเหตุอาจจะเนื่องมาจากปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วได้ลดลง เพราะสภาวะฝนตกและน้ำท่วมทําให้การคมนาคมไปมาไม่สะดวกหรืออาจจะมีการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ หรือทั้งสองอย่าง
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. ให้กรมตํารวจรับไปดําเนินการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อปฏิบัติการป้องกันและปราบปราม การลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมายที่ได้ยุบไปแล้วขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และให้ดําเนินการกวดขัน ปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ให้เริ่มดําเนินการตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป และให้รายงานผลการดําเนินการให้ทราบในการประชุมครั้งต่อไป
3. มอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไป ดําเนินการพิจารณาที่จะให้มีหน่วยงานเอกชนทําหน้าที่ตรวจสอบพฤติการณ์ของคลังน้ำมันต่างๆ โดยให้ผู้ค้า น้ำมันสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดําเนินการ
เรื่องที่ 5 รายงานผลการดําเนินงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2535 มีเจตนารมย์ที่จะส่งเสริมให้เกิดวินัยในการอนุรักษ์พลังงานและให้มีการดําเนินการลงทุนในการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานและอาคาร โดยใช้มาตรการบังคับควบคู่ไปกับการให้สิ่งจูงใจ กล่าวคือได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประสงค์ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ในขณะเดียวกัน ก็มีบทลงโทษสําหรับโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่ละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่จะออกตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว บทบาทของภาครัฐบาลก็คือ การสร้างและใช้กลไกของรัฐในการให้การสนับสนุน และส่งเสริม การดําเนินการในการประหยัดพลังงานของผู้ใช้พลังงาน ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีสาระสําคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จะมีผลบังคับให้มีการดําเนินการอนุรักษ์พลังงานกับเฉพาะผู้ที่ถูกกําหนดเป็นโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมเท่านั้น โดยต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อกําหนดโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม
1.2 พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ให้อํานาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดยคําแนะนําของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการออกกฎกระทรวงเพื่อกําหนดให้เจ้าของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมต้องอนุรักษ์พลังงาน ตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานในโรงงาน/อาคารของตนให้เป็นไปตามมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง
1.3 พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กําหนดให้มีเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นผู้บริหารกองทุนฯ โดยเป็นเงินที่ได้มาจากเงินโอนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามที่นายกรัฐมนตรีกําหนด เงินที่ได้จากผู้ผลิตและผู้นําเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในอัตราที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกําหนด เงินที่ได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษการใช้ไฟฟ้า เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นคราว ๆ เงินที่ได้รับจากเอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ และดอกผลที่ได้จากกองทุนนี้
1.4 พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มาตรา 42 กําหนดว่าเมื่อพ้นสามปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 9 หรือมาตรา 19 ใช้บังคับ โรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุมที่ไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงต้องชําระค่าธรรมเนียมพิเศษการใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังได้กําหนดโทษอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูลเท็จ และการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงอีกด้วย
2. คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากําหนดอาคารควบคุมและกฎกระทรวง ที่เกี่ยวกับอาคารควบคุมดังกล่าวข้างต้นแล้ว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชกฤษฎีกา และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 112 ตอน 33 ก ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2538 แล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ส่วนกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับอาคารควบคุมรวม 3 ฉบับ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันอังคาร ที่ 19 กันยายน 2538 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะได้ลงนามใน กฎกระทรวงฯ และนําประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
3. ในส่วนของร่างพระราชกฤษฎีกากําหนดโรงงานควบคุมและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องนั้น อยู่ใน ขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณานโยบายอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อยุติและสามารถ นําเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้ในการประชุมครั้งต่อไป
4. คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้นําเสนอแผนงานอนุรักษ์พลังงาน แนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลําดับความสําคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 4/2537 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2537 และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ให้ออกระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการขอจัดสรร ขอเงินช่วยเหลือ หรือขอเงินอุดหนุนจากกองทุนฯ แล้ว สําหรับแผนงานอนุรักษ์พลังงานประกอบด้วย 3 แผนงาน 10 โครงการ ซึ่งแยกเป็นกลุ่มตามลักษณะของแผนการดําเนินงานได้ ดังนี้ แผนงานภาคบังคับ โดยมีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ แผนงานภาคความร่วมมือ โดยมีสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และแผนงานสนับสนุน โดยมีสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
มติของที่ประชุม
1. รับทราบรายงานผลการดําเนินงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณาแผนการปรับปรุงระบบผลิตและส่งกระแสไฟฟ้าเพื่อลดการสูญเสียพลังงาน ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์พลังงาน
เรื่องที่ 6 รายงานความก้าวหน้าการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM)
สรุปสาระสำคัญ
1. โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย คือ
1.1 โครงการประชาร่วมใจ ใช้หลอดประหยัดไฟฟ้า โดยบริษัทผู้ผลิตหลอดไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ ได้ยุติการผลิตและจําหน่ายหลอดฟลูออเรสเซนต์ ขนาด 20 วัตต์ และ 40 วัตต์ และทําการผลิตหลอดขนาด 18 วัตต์ และ 36 วัตต์ แทน ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2537 ซึ่งสามารถยุติการผลิตได้ก่อนกําหนดประมาณ 1 ปี และการส่งเสริมการใช้หลอดตะเกียบประหยัดไฟฟ้า โดยการเปลี่ยนหลอดไส้ธรรมดา (ขนาด 100 วัตต์, 60 วัตต์, 40 วัตต์) เป็นหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดตะเกียบ (ขนาด 11 วัตต์ หรือ 7 วัตต์) จํานวน 1,509,999 หลอด โดยสํานักงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (สจฟ.) จะเปลี่ยนหลอดไฟให้ก่อนและให้ผู้สนใจผ่อนชําระเงินผ่านใบเสร็จค่าไฟฟ้าโดยไม่เสียดอกเบี้ย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาดําเนินการ
1.2 โครงการประชาร่วมใจ ใช้ตู้เย็นประหยัดไฟฟ้า โดยการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าของตู้เย็นขนาด 5-6 คิวบิคฟุต ที่ผลิตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นไป ประสบผลสําเร็จ โดยประชาชนจะเลือกซื้อตู้เย็นที่ติดฉลาก แสดงระดับประสิทธิภาพในระดับสูง ส่วนผู้ผลิตก็ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพตู้เย็นเพื่อให้ได้ติดฉลากที่มีระดับ ประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายขอบเขตการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพตู้เย็นในทุกขนาดและทุกรุ่น
1.3 โครงการประชาร่วมใจ ใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟฟ้า โดยการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศขนาด 7,000- 24,000 บีทียู/ชั่วโมง สจฟ. อยู่ระหว่างประสานงานกับบริษัทผู้ผลิต เพื่อจัดลําดับการทดสอบ ปัจจุบันได้มี บริษัทผู้ผลิตและจําหน่ายเครื่องปรับอากาศยื่นความจํานงให้ทดสอบประสิทธิภาพเพื่อติดฉลาก จํานวน 40 บริษัท จาก 81 บริษัท และได้มีการทดสอบประสิทธิภาพแล้ว 12 บริษัท คาดว่าจะสามารถติดฉลากเครื่องปรับอากาศได้ในราวเดือนมกราคม 2539
2. โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม โดยโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจ หน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจ และโครงการ การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม จะมีแนวทางในการดําเนินการที่คล้ายกัน กล่าวคือ สจฟ. ได้ริเริ่มโครงการอาคารสีเขียว (Green Building) สําหรับอาคารของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ อาคารสํานักงานของเอกชนที่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงและประสงค์จะเข้าร่วมโครงการการ ประหยัดไฟฟ้า โดยอาคารที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีมาตรการประหยัดพลังงานไฟฟ้า อาทิ เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า มีการจัดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ (Load Management) และจัดการปรับปรุงระบบการป้องกันความร้อนเข้าสู่อาคาร เป็นต้น โดย สจฟ. จะเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าให้ก่อน และให้ผ่อนชําระคืนภายหลัง ทั้งนี้ จะมีการเสนอขอความร่วมมือให้ผู้ร่วมโครงการงดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลา ที่ กฟผ. ร้องขอ (Voluntary Interruption) ด้วย ปัจจุบันมีอาคารที่เข้าร่วมโครงการ 4 อาคาร ได้แก่ อาคารเซ็นทรัลพลาซ่า ธนาคารแห่งประเทศไทย โรงแรมในเครือดุสิตธานี และอาคาร The Nation นอกจากนี้ ยังมีโครงการทดลองระบบปรับอากาศด้วยระบบกักเก็บความเย็น (Thermal Energy Storage) ซึ่งหมายถึงระบบทําความเย็นเก็บไว้ในรูปของน้ำเย็นหรือน้ำแข็งในเวลากลางคืน และนําความเย็น มาใช้ในเวลากลางวัน โดย สจฟ. จะนํามาทดลองใช้ในโครงการสาธิตระยะแรกที่สํานักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย และห้องประชุมคณะรัฐมนตรี และในระยะที่สองจะนํามาทดลองใช้กับอาคารที่มีระบบ ปรับอากาศขนาดใหญ่ เช่น ห้างเซ็นทรัลพลาซ่า โรงแรมดุสิตธานี และอาคารในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นต้น คาดว่าจะสามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ในระยะ 10-15 ปี ในอนาคต
3.โครงการการจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้า (Load Management) เป็นการดําเนินการ ด้านเทคโนโลยีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการประหยัดพลังงานมาทดลองใช้ เช่น โครงการทดลองควบคุมการทํางานของเครื่องปรับอากาศโดยใช้ ระบบ Ripple Control ซึ่งเป็นระบบควบคุมจากศูนย์กลาง และโครงการทดลองระบบปรับอากาศด้วยระบบ กักเก็บความเย็น (Thermal Energy Storage) เป็นต้น
4. โครงการส่งเสริมทัศนคติประหยัดไฟฟ้า (Attitude Creation Program) มีแนวทางในการ ดําเนินงาน คือ ในระยะสั้นจะรณรงค์ให้มีการประหยัดไฟฟ้าในรูปของการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ส่วนในระยะยาวจะดําเนินการให้มีการเรียนการสอนเพื่อสร้างนิสัยประหยัดไฟฟ้าให้แก่เยาวชนไทย ซึ่งประกอบด้วย
4.1 โครงการส่งเสริมทัศนคติเยาวชน โดยการจัดทําชุดการเรียนและคู่มือเพื่อสร้างนิสัยในการประหยัดไฟฟ้า อยู่ในระหว่างการปรับปรุงต้นฉบับ ประสานงานและจัดพิมพ์ ติดต่อจัดจ้างทําอุปกรณ์ในศูนย์การเรียน เพื่อส่งเสริมการประหยัดไฟฟ้าสําหรับการเรียนการสอนในระดับอนุบาลและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และโครงการลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด และผู้บําเพ็ญประโยชน์ประหยัดไฟฟ้า อยู่ในระหว่างการเตรียมการจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทําหลักสูตร
4.2 โครงการอาคารสีเขียว โดยจัดทําข่าวเผยแพร่ข้อมูล และตราสัญลักษณ์ของโครงการอาคารสีเขียว เพื่อเผยแพร่ในรายการ วิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ รายการโทรทัศน์ และไทยสกายทีวี
5. โครงการประเมินศักยภาพและการประเมินผล (Project Assessment and Project Evaluation) เป็นการติดตามและประเมินผลโครงการเพื่อเป็นการยืนยันว่า การใช้เงินในการดําเนินงานตามโครงการ DSM มีผลในทางปฏิบัติจริงและคุ้มค่า นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาวางแผนก่อสร้าง โรงไฟฟ้าในอนาคตได้อีกด้วย ส่วนผลการพิจารณาทางด้านเทคนิคสําหรับการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อประเมินผล โครงการ (Independent Monitoring and Evaluation Agency : IMEA) ได้มีบริษัทที่ปรึกษา 4 แห่ง ยื่นข้อเสนอให้ กฟผ. พิจารณา ปรากฏว่า บริษัท Barakat and Chamberlin ได้รับคะแนนสูงสุด และได้เริ่ม ดําเนินงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2538 ที่ผ่านมา
6. การพิจารณาเพิ่มเป้าหมาย จากความก้าวหน้าของโครงการต่าง ๆ ที่ได้ดําเนินการมา ทําให้โครงการ DSM ซึ่งมีเป้าหมาย เดิมที่จะลดการใช้ไฟฟ้าในช่วง Peak 238 เมกะวัตต์ ในปี 2540 กําลังพิจารณาเพิ่มเป้าหมายการประหยัดไฟฟ้าใหม่ ซึ่งคาดว่าจะประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ถึง 3,400 ล้านหน่วย และประหยัดพลังไฟฟ้าได้ 1,400 เมกะวัตต์ โดยยังคงงบประมาณค่าใช้จ่ายโครงการตามเดิม
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า
2. มอบหมายให้สํานักงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า ประสานงานกับกระทรวงการคลัง ในการลดภาษีนําเข้าอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า และประสานงานกับสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์สําหรับโรงงานผลิตอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าในประเทศไทย
เรื่องที่ 7 รายงานความคืบหน้าการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
สรุปสาระสำคัญ
1. การรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)
1.1 รัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป. ลาว ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือ ด้านการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 ณ นครเวียงจันทน์ โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริม และร่วมมือกันพัฒนาไฟฟ้า ให้ได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2543 เพื่อจําหน่ายให้กับประเทศไทย และต่อมารัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ได้มีคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 116/2536 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2536 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้า ใน สปป. ลาว (คปฟ.-ล) และคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 135/2537 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2537 เรื่องแต่งตั้งกรรมการใน คปฟ.-ล เพื่อติดตามการดําเนินงาน และประสานความร่วมมือกับ สปป. ลาว ให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจ ขณะเดียวกัน รัฐบาล สปป. ลาว ได้แต่งตั้ง Committee for Energy and Electric Power (CEEP) เพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาโครงการ ดังกล่าว
1.2 ขณะนี้มีโครงการซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนารวม 10 โครงการ รวมกําลังผลิต ประมาณ 3,603 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการที่ได้ตกลงราคาค่าไฟฟ้าแล้ว 3 โครงการ และเป็นโครงการซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา 7 โครงการ ดังนี้ โครงการที่ได้ตกลงราคาค่าไฟฟ้าแล้ว รวม 3 โครงการ คือ 1) โครงการน้ำเทิน-หินบุน มีกําลังผลิตติดตั้ง 210 เมกะวัตต์ 2) โครงการน้ำเทิน 2 มีกําลังผลิตติดตั้ง 681 เมกะวัตต์ 3) โครงการห้วยเฮาะ มีกําลังผลิตจ่ายกระแสไฟฟ้า ณ จุดส่งมอบ 133 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจา รวม 7 โครงการ คือ 1) โครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา มีกําลังผลิตติดตั้ง 720 เมกะวัตต์ 2) โครงการเซคาตาม-เซคามาน 1 มีกําลังผลิตติดตั้ง 70 เมกะวัตต์ และ 360 เมกะวัตต์ 3) โครงการน้ำเทิน 1 มีกําลังผลิตติดตั้ง 540 เมกะวัตต์ 4) โครงการน้ำงึม 2 มีกําลังผลิตติดตั้ง 300 เมกะวัตต์ 5) โครงการน้ำเทิน 3 มีกําลังผลิตติดตั้ง 190 เมกะวัตต์ 6) โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย มีกําลังผลิตติดตั้ง 339 เมกะวัตต์ 7) โครงการน้ำเลิก มีกําลังผลิตติดตั้ง 60 เมกะวัตต์
2. การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย
2.1 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2538 อนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ เรื่อง การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย โดยให้มีการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากบริษัท Teknologi Tenaga Perlis ประเทศมาเลเซีย ในปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ในปี 2540 ในราคาที่เหมาะสม และมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อรับผิดชอบการเจรจาและการประสานงาน
2.2 รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ในฐานะประธานคณะกรรมการ พิจารณานโยบายพลังงาน ได้มีคําสั่งคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานที่ 5/2538 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย เพื่อรับผิดชอบการเจรจา และการประสานงานในการรับซื้อไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ จากบริษัท Teknologi Tenaga Perlis
2.3 คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการเจรจากับฝ่ายมาเลเซียครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2538 สรุปความคืบหน้าในการเจรจา ได้ดังนี้ บริษัท Teknologi Tenaga Perlis (TTP) จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศมาเลเซีย ขนาด 650 เมกะวัตต์ และเสนอขายกระแสไฟฟ้าให้ กฟผ. จํานวน 300 เมกะวัตต์ แบบ Firm Energy โดยกระแสไฟฟ้าจะส่งผ่านสายส่งไฟฟ้าไปที่ Substation Chuping, Alor Setar, Bedong และ Gurun HVDC Convertor Station ในประเทศมาเลเซียและผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูงระบบกระแสตรง EGAT-TNB HVDC Link ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงคลองแงะในประเทศไทย ซึ่ง TTP ประมาณว่า อัตราค่าไฟฟ้า จะอยู่ในระดับเท่ากับ 5.5 เซนต์สหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์- ชั่วโมง ซึ่งยังไม่รวมค่าส่งผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้ามาเลเซีย แต่ยังไม่มีข้อเสนอทางด้านราคาที่ชัดเจน เพราะรัฐบาลมาเลเซียยังไม่ได้กําหนดนโยบายเกี่ยวกับการใช้สายส่ง และอัตราค่าบริการสายส่ง ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ ขอให้ TTP พิจารณาราคาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยที่รวมค่าผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้ามาเลเซียเสนอคณะอนุกรรมการฯ ขณะเดียวกันให้ กฟผ. และ TTP ร่วมกัน พิจารณารายละเอียดทางด้านเทคนิค และการเชื่อมโยงระบบ โดยตั้งเป้าหมายให้มีการตกลงราคาและเงื่อนไข สําคัญๆ ในการซื้อขายไฟฟ้า ภายในปลายปี 2538 และให้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในช่วงกลางปี 2539
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 8 การลดช่องว่างระหว่างราคาน้ำมันในเขตกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค
สรุปสาระสำคัญ
1. จากนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายด้านพลังงานส่วนหนึ่งกําหนดให้มี การปรับปรุงและพัฒนาระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และให้น้ำมันมีราคาจําหน่ายปลีก ใกล้เคียงกันทั่วประเทศ สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) จึงได้จัดทําข้อเสนอ เพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลดังกล่าว โดยเสนอมาตรการดําเนินการเพื่อลดช่องว่างระหว่างราคาขายปลีกน้ำมันในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย 5 มาตรการ ดังนี้ มาตรการที่ 1 เกลี่ยค่าการตลาดกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด มาตรการที่ 2 ปรับปรุงบัญชีค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง มาตรการที่ 3 ปรับปรุงกฎเกณฑ์ส่งเสริมการตั้งสถานีบริการ มาตรการที่ 4 การขยายหรือสร้างโรงกลั่นในภูมิภาค และมาตรการที่ 5 ส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อ ซึ่งรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์) ได้พิจารณามาตรการดังกล่าวแล้ว เห็นชอบในหลักการและมอบหมายให้ สพช. นํามาตรการที่ 1 และ 2 ไปดําเนินการ เนื่องจากสามารถ กระทําได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบกฎเกณฑ์ของหน่วยงานใดทั้งสิ้น
2. สพช. ได้ดําเนินการตามมาตรการที่ 1 และ 2 แล้ว ดังนี้
2.1 การเกลี่ยค่าการตลาดกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด สพช. ร่วมกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่อีก 4 ราย คือ เชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ และบางจาก ได้ดําเนินการปรับราคา น้ำมันเพื่อเกลี่ยค่าการตลาดแล้ว 2 ครั้ง ดังนี้
2.2 ปรับปรุงบัญชีค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง สพช. ได้ทําการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่า ค่าขนส่งควรลดต่ำลงจากบัญชีค่าขนส่งที่ทางราชการใช้อยู่ในปัจจุบันในทุกจังหวัดประมาณลิตรละ 1-10 สตางค์ ยกเว้น 9 จังหวัดคือ เชียงใหม่ ลําพูน พะเยา อุบลราชธานี อํานาจเจริญ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และชุมพร ซึ่งควรสูงขึ้นลิตรละ 1-2 สตางค์ ทั้งนี้ สพช. ได้นําผลการศึกษาดังกล่าวประชุมหารือกับผู้ค้าน้ำมัน ผู้ขนส่งน้ำมัน รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว และมีความเห็นว่าควรนํามาใช้แทนบัญชีค่าขนส่งเดิมได้ ซึ่งขณะนี้ สพช. กําลังประสานงานกับ ปตท. เพื่อนําไปปรับราคาจําหน่ายในต่างจังหวัดต่อไป
3. สําหรับมาตรการที่เหลืออีก 3 มาตรการมีสาระสําคัญ โดยสรุป ดังนี้
3.1 ปรับปรุงกฎเกณฑ์ส่งเสริมการตั้งสถานีบริการ สถานีบริการในปัจจุบันส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเมือง และริมทางหลวงสายหลัก ส่วนในท้องที่อื่น ๆ โดยเฉพาะในชนบทห่างไกลและในเขตภูเขา ยังมีสถานีบริการ น้อยมากหรือไม่มีเลย สพช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมโยธาธิการ และกรมทางหลวง ได้ดําเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้สามารถตั้งสถานีบริการได้มากขึ้น
3.2 การขยายหรือสร้างโรงกลั่นในภูมิภาค การมีกําลังกลั่นน้ำมันในประเทศมากขึ้นจะช่วยเพิ่ม ปริมาณการผลิตน้ำมันในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น และทําให้ราคาจําหน่ายลดลงในทุกภูมิภาค นอกจากนี้ หากมีโรงกลั่นน้ำมันขึ้นในภูมิภาคใดจะทําให้ราคาน้ำมันในภูมิภาคนั้นๆ ลดลงได้มากที่สุด เพราะไม่ต้องเสียค่าขนส่ง หรือเสียในอัตราที่ต่ำลงกว่าเดิมมาก
3.3 ส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อ ท่อขนส่งน้ำมันเป็นกลไกที่สําคัญในการที่จะทําให้รัฐสามารถปรับราคาขายปลีกทั่วประเทศให้ใกล้เคียงกันมากขึ้นได้ ดังจะเห็นได้จากการมีท่อขนส่งน้ำมันในภาคกลาง ปัจจุบันคือ ท่อศรีราชา-ลําลูกกา-สระบุรี ของ บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จํากัด (THAPPLINE) และท่อ บางจาก-ดอนเมือง-บางปะอิน ของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด (FPT) ทําให้สามารถปรับราคาขายปลีกให้เท่ากันได้ถึง 13 จังหวัดในภาคกลาง คือ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดโดยรอบอีก 12 จังหวัด ดังนั้น จึงควรมีการพิจารณาขยายท่อส่งน้ำมันให้กว้างขวางออกไปยังภาคอื่น ๆ เพื่อให้ สามารถปรับราคาจําหน่ายให้ลดลงได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่ง สพช. ได้ทําการศึกษาในเบื้องต้นร่วมกับ บริษัทท่อทั้งสองบริษัทแล้ว ว่าควรมีการขยายท่อส่งน้ำมัน ดังนี้ ขยายท่อจากศรีราชาไปมาบตาพุดเพื่อรับน้ำมันจากโรงกลั่นใหม่ 2 โรงในจังหวัดระยอง ต่อท่อแยกจากท่อประธานช่วงศรีราชา-ลําลูกกาไปจ่ายน้ำมันให้สนามบินหนองงูเห่า คลังน้ำมันพระโขนง และคลังช่องนนทรี และขยายท่อจากสระบุรีไปภาคเหนือถึงพิษณุโลกหรือลําปาง และไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงขอนแก่น เพื่อจ่ายน้ำมันให้กับสถานีบริการและผู้ใช้น้ำมันในภาคดังกล่าว
อย่างไรก็ดี เนื่องจากกิจการท่อส่งน้ำมันเป็นกิจการที่ต้องลงทุนมาก และในระยะแรก มีปริมาณน้ำมันผ่านท่อน้อยอาจจะทําให้มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายอยู่ระยะหนึ่ง ดังนั้น รัฐจึงควรเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถผ่านพ้นการดําเนินการระยะแรกและมีรายได้พอเลี้ยงตัวเองได้ เช่น การส่งเสริมให้มี รถบรรทุกวิ่งเข้ารับน้ำมันได้โดยสะดวก การลดค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ค่าเช่าที่ดิน การแก้ไขสัญญากับ การรถไฟแห่งประเทศไทย ให้เอื้ออํานวยต่อการกู้เงินได้ง่ายขึ้นและการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น
มติของที่ประชุม
1. รับทราบแนวทางการดําเนินงานตามมาตรการที่ 1 และ 2 คือ
(1) การเกลี่ยค่าการตลาดกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
(2) ปรับปรุงบัญชีค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง
2. เห็นชอบในหลักการสําหรับมาตรการที่ 3, 4 และ 5 คือ
(1) ปรับปรุงกฎเกณฑ์ส่งเสริมการตั้งสถานีบริการ
(2) การขยายหรือสร้างโรงกลั่นในภูมิภาค
(3) ส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อ
โดยมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดําเนินการต่อไป
3. มอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไป พิจารณาความเหมาะสมของอัตราค่าผ่านท่อที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการลงทุนขยายเส้นท่อออกไปยังส่วนภูมิภาคต่อไป
เรื่องที่ 9 สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทานตะวัน
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 มอบหมายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เร่งรัดการจัดหาก๊าซธรรมชาติ โดยเร่งดําเนินการเจรจารับซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งสัมปทานในอ่าวไทย และจากแหล่งในต่างประเทศ เพื่อสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
2. ปตท. ได้ดําเนินการเจรจากับผู้รับสัมปทานแหล่งทานตะวันในแปลง B8/32 และได้ลงนาม ในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับผู้รับสัมปทานเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2538 โดยมีสาระสําคัญที่จะทําให้สัญญามีผลบังคับใช้ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้คือ (1) เงื่อนไขต่าง ๆ ที่ตกลงกันไว้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งจากทางรัฐบาลไทยด้วย (2) ทั้งสองฝ่ายลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2538 หรือหลังจากนั้น ถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงเลื่อนกําหนดการดังกล่าวออกไป ซึ่งต่อมาได้มีการลงนามในการแก้ไขบันทึกความเข้าใจ เพื่อเลื่อนกําหนดวันลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ซึ่ง ปตท. ได้ส่งร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ให้สํานักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2538
3. กระทรวงอุตสาหกรรมได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว เห็นควรให้เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะ กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ ปตท. ลงนามในร่างสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ได้ เนื่องจาก
3.1 ปตท. ต้องเร่งดําเนินการจัดหาก๊าซธรรมชาติทั้งในอ่าวไทยและต่างประเทศเพื่อสนองตอบ ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้
3.2 แหล่งก๊าซฯ ทานตะวัน สามารถสนองตอบความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นได้เร็วที่สุด และทันเวลา
3.3 เงื่อนไขต่าง ๆ ของสัญญาซื้อขายก๊าซฯ แหล่งทานตะวัน เป็นไปตามแบบของสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ปัจจุบันที่ ปตท. ถือปฏิบัติอยู่และเป็นประโยชน์ต่อ ปตท.
3.4 ราคาก๊าซฯ เริ่มต้นของแหล่งทานตะวันจะต่ำกว่าราคาซื้อขายก๊าซฯ เฉลี่ยจากแหล่งต่าง ๆ ในอ่าวไทยในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าราคาก๊าซจากแหล่งต่าง ๆ ในอนาคต เมื่อเทียบกับประมาณการ ของราคาน้ำมันที่ระดับต่าง ๆ
3.5 ผู้ขายยินยอมคุ้มครองความเสี่ยงของ ปตท. ในเรื่องการลงทุนท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยจ่ายเงินชดเชยให้ ปตท. กรณีที่ผู้ขายไม่สามารถส่งก๊าซให้ ปตท. ได้ครบจํานวนตามสัญญา
มติของที่ประชุม
1. รับทราบรายงานสรุปผลการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทานตะวันแปลง สัมปทาน B8/32
2. เห็นชอบตามข้อเสนอของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และให้ ปตท. รับไปดําเนินการ ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทานตะวันต่อไป เมื่อสัญญาฯ ดังกล่าวได้รับการแก้ไขจาก สํานักงานอัยการสูงสุดเรียบร้อยแล้ว (ถ้ามี)
เรื่องที่ 10 การรับซื้อไฟฟ้าโครงการห้วยเฮาะ
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้ร่วมกันลงนาม ในบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้า ใน สปป. ลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 ณ นครเวียงจันทน์ สปป. ลาว โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและร่วมมือกันพัฒนาไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2543 เพื่อจําหน่ายให้กับประเทศไทย และต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสาน ความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว (คปฟ.-ล) เพื่อติดตามการดําเนินงานและประสานความร่วมมือ กับ สปป. ลาว ให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
2. คปฟ.-ล ได้ดําเนินการเจรจาเพื่อซื้อไฟฟ้าจากโครงการห้วยเฮาะ ซึ่งมีกําลังผลิตจ่ายกระแสไฟฟ้า ณ จุดส่งมอบ (Contracted Capacity) 133.2 เมกะวัตต์ และกําหนดจะแล้วเสร็จปี 2541 โดยการเจรจาสามารถหาข้อยุติได้เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2538 และต่อมาเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2538 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ กฟผ. 03100/51319 ถึงสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เพื่อขอนําบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการห้วยเฮาะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบ
3. บันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการห้วยเฮาะมีสาระสําคัญสรุปได้ ดังนี้ (1) เป็นบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ บันทึกความเข้าใจระหว่าง กฟผ. กับกลุ่มผู้พัฒนาโครงการน้ำเทิน-หินบุนและน้ำเทิน 2 ซึ่งได้มีการลงนามไปแล้ว บันทึกความเข้าใจจะประกอบด้วยหลักการสําคัญในการซื้อขายไฟฟ้า เช่น อัตราค่าไฟฟ้า ปริมาณไฟฟ้าที่จะรับซื้อ ซึ่งจะเป็นสาระสําคัญของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่จะมีการเจรจาและลงนามกันต่อไป (2) บันทึกความเข้าใจจะมีผลบังคับใช้จนกระทั่งมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แต่เป็น ระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือนจากวันลงนาม ยกเว้นว่า ทั้ง 2 ฝ่าย ตกลงขยายระยะเวลา (3) กลุ่มผู้พัฒนาโครงการจะขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ณ จุดส่งมอบ (ชายแดนไทย-ลาว) โดยมีปริมาณพลังงานไฟฟ้าประเภท Firm จํานวน 563 ล้านหน่วยต่อปี Secondary Energy จํานวน 12 ล้านหน่วยต่อปี และมีปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญา 133.2 เมกะวัตต์ เป็นเวลาวันละ 13.5 ชั่วโมง ในช่วงวันจันทร์ถึงวันเสาร์ ของแต่ละสัปดาห์ (4) อัตราค่าไฟฟ้าจะเป็น ดังนี้ กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าที่ราคา 4.22 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย (ณ วันที่ 1 มกราคม 2537) หรือประมาณ 1.06 บาทต่อหน่วย และให้ปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี จนถึงวันเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าแต่ไม่เกินวันที่ 1 มกราคม 2542 และจะไม่มีการปรับราคาค่าไฟฟ้าจนกว่าจะมีการเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า ครบ 12 เดือน เมื่อครบกําหนด 12 เดือน นับจากวันเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า ให้ปรับราคาเพิ่มขึ้น ปีละร้อยละ 35 ของอัตราการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ และไทย ในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยร้อยละ 50 ของค่าไฟฟ้า จะชําระเป็นเงินสกุลบาท และอีกร้อยละ 50 ของค่าไฟฟ้า จะชําระเป็นเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลบาทและเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ เฉลี่ยของเดือนที่มีการลงนามในสัญญา (5) ในกรณีที่กลุ่มผู้พัฒนาโครงการจ่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. น้อยกว่าปริมาณตามสัญญา จะมีบทปรับ เช่น ในกรณี ที่ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายน้อยกว่าปริมาณตามสัญญาแต่มากกว่าร้อยละ 50 อัตราค่าไฟฟ้า จะลดลงเหลือประมาณ 3.65 เซนต์สหรัฐฯต่อหน่วย (6) สําหรับเรื่องกฎหมายที่ใช้ในการทําสัญญาในข้อ 6 ตาม MOU ระบุให้ใช้กฎหมายไทยเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับ MOU และสัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้น กลุ่มผู้พัฒนาโครงการห้วยเฮาะได้มีข้อโต้แย้ง โดยขอเสนอให้ใช้กฎหมายของประเทศที่เป็นกลาง
4. สพช. มีความเห็นว่าเห็นควรให้ความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ กฟผ. เสนอ ทั้งนี้เพราะอัตราค่าไฟฟ้าที่ตกลงกันได้อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงได้ของ กฟผ. (Avoided Cost) คือ ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่จะได้จากการผลิตไฟฟ้าโดยโครงการอื่นที่ กฟผ. จะดําเนินการ และอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่ได้ตกลงรับซื้อไปแล้วจากโครงการน้ำเทิน 2 และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ควรพิจารณากําหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้กฎหมายว่าจะยืนยันให้ใช้กฎหมายไทย หรือจะยอมให้ใช้กฎหมายประเทศที่สาม
มติของที่ประชุม
เห็นชอบประเด็นหลักของการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการห้วยเฮาะ แต่ทั้งนี้ให้ใช้กฎหมายประเทศที่สาม (เช่น กฎหมายอังกฤษ) เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับบันทึกความเข้าใจ และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยมอบหมายให้ กฟผ. รับไปลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับกลุ่มผู้พัฒนาโครงการต่อไป
เรื่องที่ 11 อัตราค่าไฟฟ้าสูงขึ้น
สรุปสาระสำคัญ
ที่ประชุมได้พิจารณาในประเด็นตามที่ประชาชนร้องเรียนมา ดังนี้
1. อัตราค่าไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมามีอัตราที่สูงขึ้น ตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ จึงควรมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมของสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติดังกล่าว เพื่อมิให้การไฟฟ้า ผลักภาระค่าใช้จ่ายบางประเภทที่ไม่เหมาะสมให้ผู้ใช้ไฟ รวมทั้ง ควรคํานึงถึงประสิทธิภาพการดําเนินการ และการให้บริการของการไฟฟ้าฯ เช่น ความสูญเสียในระบบ (Losses) และคุณภาพการบริการ ซึ่งหากไม่สามารถดําเนินการได้ การไฟฟ้าฯ ควรรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้
2. การประเมินผลการเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี ของการไฟฟ้าฯ ไม่ควรใช้กําไรเป็นหลักเพราะจะทําให้ การไฟฟ้าฯ มุ่งเน้นการหากําไรเพียงประการเดียว และผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ใช้ไฟ จึงควรพิจารณา การประเมินผลด้วยเครื่องชี้วัดอื่น ๆ ประกอบด้วย
3. อัตราค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากการใช้น้ำมันดีเซลในจํานวนที่สูงเกือบถึง 100 ล้านลิตร/เดือน ในขณะที่แต่เดิมได้วางแผนว่าจะใช้น้ำมันดีเซลไม่เกิน 3 ล้านลิตรต่อเดือน เท่านั้น จึงส่งผลให้ อัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลมีต้นทุนที่สูงกว่าเชื้อเพลิงอื่น การใช้น้ำมันดีเซลในปริมาณที่สูงเป็นเพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพิ่มสูงเกินกว่ากําลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงอื่น หากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะติดตั้งระบบกําจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) แล้วเสร็จก็จะสามารถลดการใช้น้ำมันดีเซลได้ส่วนหนึ่ง สําหรับในระยะยาวควรให้มีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาถูกกว่าเข้ามาในระบบเพื่อลดการใช้น้ำมันดีเซลให้มากที่สุด
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พิจารณาหาวิธีการในการลดอัตราค่าไฟฟ้า รวมทั้ง พิจารณาทบทวนสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยคํานึงถึงข้อพิจารณาของที่ประชุมดังกล่าว