Emergency Demand Response Program : EDRP
ขอเชิญผู้ใช้ไฟฟ้ากิจการขนาดใหญ่เข้าร่วมมาตรการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า
(Emergency Demand Response Program : EDRP)
รองรับการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติแหล่งยาดานา ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม – 2 เมษายน 2560
ตามแผนการทำงานของผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งยาดานา ช่วงวันที่ 25 มี.ค. – 2 เม.ย. 2560 ทำให้ต้องมีการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตกทั้งหมด ซึ่งส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยจำเป็นต้องใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซฯ และส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนเนื่องจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้น คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2560 จึงได้มีมติมอบหมายคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินมาตรการ Demand Response โดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ
รายละเอียดของโครงการเพื่อใช้มาตรการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Emergency Demand Response Program : EDRP) สำหรับรองรับผลกระทบจากแผนการดำเนินงานของผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตก ดังนี้
1. วัตถุประสงค์และเป้าหมาย : ใช้มาตรการ EDRP เพื่อทดแทนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซลของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรี และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมไตรเอนเนอร์จี้ กำลังการผลิตรวม 400 เมกะวัตต์
2. วันและเวลาดำเนินมาตรการ : ระหว่างวันที่ 27 – 31 มีนาคม 2560 เวลา 9.00 – 22.00 น.
(วันจันทร์ – วันศุกร์) โดยผู้เข้าร่วมโครงการสามารถระบุจำนวนวันได้
3. ผู้ใช้ไฟฟ้าเป้าหมาย : ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 4 กิจการขนาดใหญ่
4. พื้นที่และเป้าหมายการรับสมัครเชิงพื้นที่ : ประกอบด้วย (1) พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการบริเวณสถานีไฟฟ้าพระนครใต้ เทพารักษ์ ธนบุรีใต้ บางพลี รวม 200 เมกะวัตต์ และ (2) พื้นที่ภาคกลาง บริเวณจังหวัดราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวม 200 เมกะวัตต์
5. อัตราค่าชดเชย : 3 บาทต่อกิโลวัตต์ – ชั่วโมง
6. หน่วยงานดำเนินการ : สำนักงาน กกพ. และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง
7. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าฐาน (Baseline) : คำนวณค่าเฉลี่ยจากข้อมูลลักษณะการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้า (Load profile) ระหว่างเวลา 9.00 – 22.00 น. เป็นเวลา 10 วันก่อนวันและเวลาดำเนินการ (ไม่รวมวันเสาร์ – อาทิตย์)
8. เงื่อนไขการคำนวณค่าชดเชย : ปริมาณไฟฟ้าที่ลดได้ทั้งหมดจะคิดเฉพาะปริมาณไฟฟ้าที่อยู่ต่ำกว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าฐานเท่านั้น หากช่วงเวลาใดมีการใช้ไฟฟ้าเกินกว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าฐานจะนำปริมาณไฟฟ้าส่วนเกินนั้นมาหักออกจากปริมาณไฟฟ้าที่ลดได้ทั้งหมดแล้ว จึงนำไปคำนวณค่าชดเชยจากอัตราค่าชดเชยที่กำหนดไว้
9. การรับสมัคร : การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เชิญผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 4 กิจการขนาดใหญ่ในพื้นที่เป้าหมายร่วมการสัมมนาชี้แจงทำความเข้าใจโครงการและรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการในวันสัมมนา โดย กฟน. และ PEA จัดเตรียมแบบฟอร์มการรับสมัคร และข้อมูล Load profile สำหรับประกอบการตัดสินใจสมัคร
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.erc.or.th/ERCWeb2/Front/News/NewsDetail.aspx?rid=13662&CatId=1&&muid=36