มติคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
ครั้งที่ 1/2541 (ครั้งที่ 13)
วันพุธที่ 25 มีนาคม 2541 เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1. คำสั่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
2. รายงานผลการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
3. รายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับโครงการอาคารของรัฐ แผนงานภาคความร่วมมือ และแผนงานสนับสนุน
4. ขออนุมัติปรับแผนการดำเนินงานโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2541
5. ขออนุมัติโครงการประชาสัมพันธ์การรณรงค์ให้ผู้ใช้น้ำมันเปลี่ยนแปลงการใช้น้ำมันเบนซินคุณภาพสูงเกินความจำเป็น "ใช้เบนซินให้ถูกชนิดช่วยเศรษฐกิจของประเทศ"
6. โครงการแปรรูปมูลฝอยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
7. โครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นพลังงานทดแทนและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ส่วนที่ 2 เกษตรกรรายย่อย ระยะที่ 2
8. แนวทางในการให้การสนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
9. การขอคืนเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่ใช้ในการผลิตของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน)
10. การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคความร่วมมือ
รองนายกรัฐมนตรี (นายศุภชัย พานิชภักดิ์) ประธานกรรมการ
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์) กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 คำสั่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบถึงคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 368/2540 เรื่องมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 กำหนดให้รองนายกรัฐมนตรี (นายศุภชัย พานิชภักดิ์) เป็นประธานคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และเลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานด้วย
เรื่องที่ 2 รายงานผลการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงรายงานผลการตรวจสอบงบการเงินประจำปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2540 ซึ่งกรมบัญชีกลางได้จัดทำส่งให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพร้อมทั้งรายงานการรับ-จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งมีเงินคงเหลือในบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาประดิพันธ์ 14,039,741,384.87 บาท และรายงานเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯตามแผนงานภาคบังคับ แผนงานภาคความร่วมมือ และแผนงานสนับสนุน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2540 ของ สพช. บก. และ พพ. ซึ่งได้เบิกเงินเพื่อดำเนินงานตามแผนงานฯ ไปแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น 441,134,585.23 บาท
มติที่ประชุม
รับทราบผลการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ รับไปดำเนินการตามข้อสังเกตของที่ประชุม
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ โครงการอาคารของรัฐ แผนงานภาคความร่วมมือ และแผนงานสนับสนุน ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานของแผนงานภาคบังคับ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ ระหว่างปี 2538-2540 มีดังนี้
1.1 อาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน
- อาคารควบคุมได้แจ้งแต่งตั้งผู้รับผิดชอบด้านพลังงานแก่ พพ. แล้วจำนวน 811 ราย จากจำนวนทั้งสิ้น 1,071 ราย คิดเป็นจำนวนบุคลากร 1,291 คน
- อาคารควบคุมได้ส่งข้อมูลการใช้พลังงานให้แก่ พพ. ทุก 6 เดือน โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2539 (มกราคม-มิถุนายน) มีผู้ส่งข้อมูล จำนวน 529 ราย สำหรับในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2539 (กรกฎาคม-ธันวาคม) มีผู้ส่งข้อมูล จำนวน 336 ราย สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2540 (มกราคม-มิถุนายน) มีผู้ส่งข้อมูล จำนวน 324 ราย
- อาคารควบคุมได้ยื่นขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ เพื่อทำการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น จำนวนทั้งสิ้น 559 ราย และได้อนุมัติให้ดำเนินการแล้ว 436 ราย เป็นเงิน 109,553,453 บาท
- พพ.ได้อนุมัติให้มีการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงานในอาคารควบคุมไปแล้วรวมทั้งสิ้น 77 ราย
1.2 โรงงานควบคุมที่กำลังใช้งาน
- โรงงานควบคุมได้แจ้งแต่งตั้งผู้รับผิดชอบด้านพลังงานแก่ พพ. แล้วจำนวน 92 ราย จากจำนวนทั้งสิ้น 184 ราย คิดเป็นบุคลากร 175 คน
- พพ. ได้อนุมัติให้มีการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานควบคุมไปแล้วรวมทั้งสิ้น 11 ราย
1.3 โครงการโรงงานและอาคารที่อยู่ระหว่างการออกแบบหรือก่อสร้าง อยู่ในระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการโดยละเอียดเกี่ยวกับการพิจารณาการให้การสนับสนุนในโครงการดังกล่าว
2. ผลการดำเนินงานของโครงการอาคารของรัฐ แผนงานภาคความร่วมมือ และแผนงานสนับสนุน ซึ่งสรุปได้ดังนี้
2.1 คณะอนุกรรมการกำกับดูแลโครงการอาคารของรัฐ ได้มีมติอนุมัติโครงการที่เกี่ยวกับอาคารของรัฐรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 712,535,277 บาท
2.2 คณะอนุกรรมการฯและคณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติโครงการภายใต้แผนงานภาคความร่วมมือจำนวน 33 โครงการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 756,210,632 บาท
2.3 คณะอนุกรรมการและคณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติโครงการภายใต้แผนงานสนับสนุนโครงการพัฒนาบุคลากร และโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน รวมเป็นเงิน 1,011,290,324.1 บาท
มติที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ และมีมติให้คณะอนุกรรมการฯ ที่กำกับดูแลในแต่ละแผนงานรับไปดำเนินการตามข้อสังเกตของที่ประชุม
1. ความเป็นมา
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 2/2540 (ครั้งที่ 12) เมื่อวันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม 2540 ได้มีมติเห็นชอบในแผนปฏิบัติการโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบปีงบประมาณ 2541-2543 โดยให้มีการปรับปรุงแผนฯ ตามข้อสังเกตของที่ประชุม และอนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่ายโครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบ ในปีงบประมาณ 2541 ในวงเงิน 190,600,000 บาท และเห็นชอบให้ สพช. ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการโครงการประชาสัมพันธ์ โดยให้ สพช. ดำเนินการคัดเลือกผู้ที่จะรับทำโครงการประชาสัมพันธ์ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และให้ สพช. นำผลการพิจารณาคัดเลือกเสนอให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานสนับสนุน พิจารณาอนุมัติก่อนทำสัญญาในกรณีที่วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาอนุมัติก่อนทำสัญญาในกรณีที่วงเงินเกิน 5 ล้านบาท ซึ่ง สพช. ได้นำแผนปฏิบัติการที่ได้รับการอนุมัติแล้วจากคณะกรรมการกองทุนฯ มาดำเนินการ โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 7 ช่วง
สพช. ได้ดำเนินการปรับแผนการประชาสัมพันธ์เพื่อให้สอดคล้องกับข้อสังเกตของคณะกรรมการกองทุนฯ และให้เข้ากับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยตัดกิจกรรมบางกิจกรรมตามแผนงานเดิมและเพิ่มกิจกรรมใหม่ภายใต้ชื่อ "ไทยช่วยไทย ร่วมใจประหยัดพลังงาน" อีกทั้งได้เพิ่มเติมกิจกรรมพิเศษเพื่อให้การประชาสัมพันธ์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีกิจกรรมที่มีการปรับเปลี่ยน ดังนี้
แผนงานเดิมที่ตัดออก | งบประมาณ (บาท) |
1.ประกวดประพันธ์เพลงและร้องเพลง | 4,500,000 |
2.รองเท้าแตะและเสื้อนักเรียนเพื่อเยาวชนหาร 2 | 4,000,000 |
3.สารคดีทางวิทยุ | 5,000,000 |
4.สารคดีทางโทรทัศน์ | 5,000,000 |
5.สนับสนุนรายการวิทยุเรื่อง "น้ำมัน" | 2,000,000 |
6.การผลิตและเผยแพร่คอลัมน์ชุด "รอบรู้เรื่องน้ำมัน" | 4,000,000 |
7.ซื้อเวลาออกอากาศภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ 2 เรื่อง | 10,000,000 |
8.ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์และซื้อสื่อเพื่อเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ | 5,000,000 |
9.อื่นๆ และเงินที่ได้จากการต่อรองราคาลงของกิจกรรม ในช่วงที่ 1-3 | 5,342,334.20 |
รวม | 44,842,334.20 |
แผนงานใหม่ | งบประมาณ (บาท) |
1.ผลิตภาพยนตร์ "ไทยช่วยไทย ร่วมใจประหยัดพลังงาน" เรื่อง "บรรพบุรุษ" | 2,500,000 |
2.ผลิตภาพยนตร์ "ไทยช่วยไทย ร่วมใจประหยัดพลังงาน" เรื่อง บริจาค" | 3,000,000 |
3.ซื้อเวลาออกอากาศภาพยนตร์ทางโทรทัศน์เรื่อง "บรรพบุรุษ" | 5,000,000 |
4.ซื้อเวลาออกอากาศภาพยนตร์ทางโทรทัศน์เรื่อง "บริจาค" | 5,000,000 |
5.ผลิตและเผยแพร่รายการโทรทัศน์สำหรับเยาวชน "เพื่อนแก้ว" | 1,000,000 |
6.ซื้อเนื้อที่หนังสือพิมพ์เพื่อจัดทำคอลัมน์สารคดีพลังงาน | 850,000 |
7.ประชาสัมพันธ์รณรงค์กิจกรรมพิเศษวัน "ไทยช่วยไทย ร่วมใจประหยัดพลังงาน" | 5,000,000 |
8.ผลิตและเผยแพร่สารคดีทางโทรทัศน์ชุด "คุยกันให้ชัดเรื่องประหยัดพลังงาน" | 2,480,000 |
9.ผลิตและเผยแพร่สารคดีทางโทรทัศน์ชุด "พลังเกษตร...พลังหาร 2" | 1,000,000 |
10.ผลิตและเผยแพร่สารคดีสั้นทางโทรทัศน์ชุด "คิดก่อนใช้" | 3,000,000 |
11.ที่ปรึกษาเพื่อบริหารโครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ พพ. รับผิดชอบ | 3,836,000 |
12.จัดการประกวดการออกแบบเครื่องแต่งกายเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน | 1,500,000 |
13.ออกแบบจัดทำรูปเล่มเอกสารเผยแพร่เรื่องพลังงาน สิ่งแวดล้อมและการบริโภค | 198,000 |
14.อื่นๆ เพื่อดำเนินการต่อไป | 10,478,334.20 |
รวม | 44,842,334.20 |
มติที่ประชุม
อนุมัติให้ สพช. ปรับแผนการดำเนินงานโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2541 ตามที่เสนอ โดยให้ สพช. ดำเนินการคัดเลือกผู้ที่จะรับทำโครงการประชาสัมพันธ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 รับทราบผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเติมสารเติมแต่งที่ไม่จำเป็น ที่กำหนดให้มีการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเบนซิน เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากการเติมสารเติมแต่ง การผลิตน้ำมันที่มีค่าออกเทนสูงกว่ามาตรฐาน และการใช้น้ำมันอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
สพช. ร่วมกับกรมทะเบียนการค้า ได้เริ่มดำเนินการโครงการประชาสัมพันธ์การรณรงค์ให้ผู้ใช้น้ำมันเปลี่ยนแปลงการใช้น้ำมันเบนซินคุณภาพสูงเกินความจำเป็นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2541 โดยได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ในวงเงิน 10 ล้านบาท แต่เนื่องจากการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และความร่วมมือในการปฏิบัติในทันทีจากประชาชนทั้งประเทศ จำเป็นต้องใช้การประชาสัมพันธ์จากสื่อทุกสื่อ และมีการขยายผลที่มีประสิทธิภาพ จึงใคร่ขอรับการสนับสนุน งบประมาณเพิ่มเติมจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอีก 20 ล้านบาท
โดยมีกิจกรรมที่จะทำการประชาสัมพันธ์ตามโครงการฯ ดังนี้
ช่วงที่ 1 (กุมภาพันธ์-เมษายน 2541) ให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริงและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการเลือกใช้น้ำมันเบนซิน
- จัดทำภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์จำนวน 1 เรื่อง มีความยาวไม่ต่ำกว่า 45 วินาที โดยเน้นข้อเท็จจริงในการใช้น้ำมันเบนซินชนิดที่ถูกต้อง
- วางแผน ประสานงาน จัดซื้อสื่อโทรทัศน์ เพื่อเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาออกอากาศในเดือนเมษายนเป็นเวลา 1 เดือน
- จัดทำภาพยนตร์สารคดีหลังข่าวทางโทรทัศน์จำนวน 10 ตอนมีความยาวตอนละไม่ต่ำกว่า 5 นาที เพื่อครอบคลุมข้อเท็จจริงและขัอมูลที่ถูกต้องเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เบนซินให้ถูกประเภท เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง
- จัดทำชิ้นงาน วางแผน ประสานงานจัดซื้อสื่อเผยแพร่ทางสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสารเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด
- จัดทำวางแผน ประสานงานสารคดีวิทยุผ่านเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ 10 ตอน เผยแพร่อย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 1 เดือน
- จัดหาประสานงานเพื่อเชิญตัวแทนของ สพช.หรือผู้ที่ สพช. เห็นสมควรไปร่วมสัมภาษณ์หรือสนทนาผ่านสื่อต่างๆ เช่น ออกรายการทางโทรทัศน์หรือให้สัมภาษณ์ในรายการวิทยุ
ช่วงที่ 2 (พฤษภาคม-มิถุนายน) เป็นการตอกย้ำ และกระตุ้นเตือนให้ลงไปสู่ภาคปฏิบัติ
- จัดทำสติกเกอร์ "ใช้เบนซินให้ถูกชนิด ช่วยเศรษฐกิจของประเทศ"
- จัดทำโปสเตอร์ แผ่นพับ ให้ความรู้แก่ประชาชนว่ารถยนต์รุ่นไหน ยี่ห้ออะไร มีความต้องการออกเทนเท่าไหร่ และควรเลือกใช้น้ำมันเบนซินประเภทใด
- ขอความร่วมมือจากบริษัทค้าน้ำมันผ่านสถานีบริการต่างๆ กระจาย การเผยแพร่สื่อ สติกเกอร์ โปสเตอร์ แผ่นพับ ทั่วประเทศ
- ประสานงานกับสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์เพื่อลงบทสัมภาษณ์หรือบทความพิเศษ เพื่อตอกย้ำน้ำหนักของข่าวสารให้หนักแน่นยิ่งขึ้น อาทิ บทความ สารคดี และการขยายผลรูปแบบต่างๆ
มติที่ประชุม
อนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่ายโครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบ ในปีงบประมาณ 2541 เพิ่มเติม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์การรณรงค์ให้ผู้ใช้น้ำมันเปลี่ยนแปลงการใช้น้ำมันเบนซินคุณภาพสูงเกินความจำเป็น "ใช้เบนซินให้ถูกชนิด ช่วยเศรษฐกิจของประเทศ" ในวงเงิน 20,000,000 บาท (ยี่สิบล้านบาทถ้วน) โดยให้ สพช. ดำเนินการคัดเลือกผู้ที่จะรับทำโครงการประชาสัมพันธ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 แล้วทำสัญญากับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกได้เลย โดยไม่ต้องนำผลการพิจารณาคัดเลือกเสนอให้คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาอนุมัติก่อน
เรื่องที่ 6 โครงการแปรรูปมูลฝอยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า มูลนิธิชัยพัฒนาได้เสนอโครงการแปรรูปมูลฝอยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ภายใต้แผนงานภาคความร่วมมือโครงการส่งเสริมธุรกิจด้านการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคความร่วมมือพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 2/2541 (ครั้งที่ 18) เมื่อวันพฤหัสที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 ที่ประชุมได้พิจารณาโครงการฯ นี้แล้วมีมติเห็นชอบในการให้การสนับสนุนแก่โครงการนี้และให้นำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาต่อไป
โครงการนี้เป็นการสาธิตกระบวนการจัดการมูลฝอย โดยจะแสดงการกำจัดและการแปรรูปมูลฝอยโดยใช้เทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน รวมถึงการผสมผสานเทคโนโลยีให้เกิดกระบวนการจัดการแปรรูปมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดโดยเฉพาะผลที่ได้ในรูปพลังงาน โครงการจะตั้งอยู่บริเวณโรงปุ๋ยหมักเก่ารามอินทราบนพื้นที่ประมาณ 29 ไร่ ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งโครงการฯ จะเตรียมพื้นที่สำหรับรับมูลฝอยและการคัดแยกมูลฝอย โดยมีเครื่องแยกวัสดุและแม่เหล็กแยกโลหะ และจะถูกคัดแยกโดยอาศัยแรงงานคนอีกครั้งหนึ่ง จะได้มูลฝอยรีไซเคิล มูลฝอยอินทรีย์และมูลฝอยเชื้อเพลิง มูลฝอยที่ผ่านการคัดแยกจะเข้าสู่กระบวนการกำจัดในแต่ละกระบวนการ โดยมูลฝอยอินทรีย์จะนำเข้าสู่กระบวนการย่อยสลายโดยไม่ใช้ออกซิเจน ส่วนมูลฝอยเชื้อเพลิงที่ประกอบด้วยเศษกระดาษและพลาสติกผสม จัดเป็นมูลฝอยที่มีค่าความร้อนสูง ก็จะถูกส่งไปสู่กระบวนการเผาโดยผ่านแผงตะกรับ ผลที่ได้จากการเผาไหม้ในช่องเผาแรกนี้ จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ อากาศเสียและเถ้า ควันและอากาศเสียจากการเผาในช่องเผาแรก จะเข้าเคลื่อนตัวเข้าสู่ช่องเผาที่สอง เพื่อการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง อากาศเสียที่เกิดขึ้นจะผ่านการลดอุณหภูมิโดยเครื่องถ่ายเทความร้อน ทำให้อากาศเสียมีอุณหภูมิลดลงได้ตามต้องการ และเคลื่อนตัวเข้าสู่ห้องรวบรวมอากาศเสีย เพื่อกำจัดมลสารก่อนจะระบายออกจากปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศภายนอก ส่วนของเถ้าจะถูกส่งออกเพื่อนำไปฝังกลบ
นอกจากนั้นโครงการฯ ยังสาธิตการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล โดยการนำมูลฝอยมาเทกองในพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ แล้วใช้เครื่องจักรกลเกลี่ยและบดอัดให้ยุบตัวลง แล้วใช้ดินกลบทับและบดให้แน่นอีกครั้ง หลังจากนั้นนำมูลฝอยมาเกลี่ยและบดอัดเป็นชั้นๆ สลับด้วยชั้นดินกลบ เพื่อป้องกันปัญหาในด้านกลิ่น แมลง และน้ำฝนชะล้าง และเหตุรำคาญอื่นๆ กระบวนการฝังกลบมีมาตรการในการป้องกันหรือควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น การปูแผ่นพลาสติก กันซึม (Liner) เพื่อกันน้ำชะล้างมูลฝอยซึมลงสู่ชั้นใต้ดิน รวมทั้งกันน้ำใต้ดินซึมเข้าสู่พื้นที่ฝังกลบ การควบคุมก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้น เป็นต้น
โครงการฯ จัดเตรียมพื้นที่รับซื้อวัสดุรีไซเคิล เพื่อนำไปรวมกับวัสดุรีไซเคิลที่สามารถคัดแยกได้จากโครงการ และจะส่งขายต่อไปยังผู้รับซื้อรายใหญ่ ซึ่งจัดเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของโครงการ และการบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการภายในโครงการประมาณวันละ 100 ลูกบาศก์เมตร จะถูกสูบเข้าสูระบบบำบัดน้ำเสียแบบเครื่องกรองไร้อากาศและตะกอนเร่ง เพื่อบำบัดให้มีคุณภาพดีก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ใช้ในระบบหล่อเย็นเตาเผา ระบบย่อยสลายโดยไม่ใช้ออกซิเจน ใช้รดน้ำต้นไม้ภายในพื้นที่โครงการ หรือใช้ในห้องสุขภัณฑ์ต่างๆ
ประโยชน์ที่มีต่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมมีดังนี้
- 1. ประโยชน์ที่มีต่อการอนุรักษ์พลังงาน
- การแปรรูปมูลฝอย 50 ตันต่อวัน หรือประมาณ 18,250 ตัน/ปี ด้วยกระบวนการนำวัสดุ ได้แก่ พลาสติก กระดาษ เหล็กและแก้ว กลับมาใช้ใหม่ (Recycle) สามารถประหยัดพลังงานเทียบเท่าปริมาณน้ำมันดิบ ประมาณ 20,934 ตัน คิดมูลค่าการประหยัดพลังงานได้เป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 102,238,150 บาท และสามารถผลิตก๊าซชีวภาพ ประมาณ 1,100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งสามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 2.5 ล้านหน่วย/ปี คิดมูลค่าเป็นเงินได้ทั้งสิ้นประมาณ 25,760,000 บาท
- 2. ประโยชน์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
- สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ สำหรับภาคเกษตรกรรม ประมาณ 5,580 ตันต่อปี
- สามารถลดปัญหาน้ำเสียจากมูลฝอย กลิ่น ก๊าซมีเทนจากมูลฝอยและการแพร่เชื้อโรค ซึ่งเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางอ้อมได้อีกด้วย
มติที่ประชุม
1. อนุมัติให้การสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ แผนงานภาคความร่วมมือ โครงการส่งเสริมธุรกิจด้านการอนุรักษ์พลังงาน ให้มูลนิธิชัยพัฒนาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการแปรรูปมูลฝอยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในวงเงิน 189,420,000 บาท (หนึ่งร้อยแปดสิบเก้าล้านสี่แสนสองหมื่นบาทถ้วน) ตามรายละเอียดแผนงานของโครงการที่ปรากฏในสิ่งแนบเป็นแผ่นบันทึกข้อมูลชุดที่ 1 ชื่อแฟ้ม "WABIO"
2. ก่อนให้การสนับสนุนโครงการฯ มูลนิธิชัยพัฒนา จะต้องเสนอแผนงานและเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
2.1 แผนการประชาสัมพันธ์ทั้งก่อนและหลังการก่อสร้างโครงการฯ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ได้ทราบถึงกิจกรรมต่างๆ และผลที่ได้รับหลังจากการดำเนินโครงการฯ แล้ว
2.2 แผนการประเมินค่าทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อได้ดำเนินโครงการเสร็จสิ้นตามแผนงานแล้ว เพื่อใช้เป็นแบบอย่างในการประเมินความคุ้มทุนสำหรับโครงการที่มีลักษณะใกล้เคียงกันแต่ดำเนินงานในพื้นที่อื่น
2.3 หนังสือจากกรุงเทพมหานครในการยินยอมให้ใช้พื้นที่เพื่อดำเนินโครงการฯ และยินยอมให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมโครงการฯ ได้ทั้งก่อนและหลังการก่อสร้าง
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมครั้งที่ 1/2539 (ครั้งที่ 8) เมื่อวันพุธที่ 24 มกราคม 2539 ได้มีมติอนุมัติเงินกองทุนฯ ให้กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดำเนินการตามโครงการส่งเสริมก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ เพื่อเป็นพลังงานทดแทนและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ส่วนที่ 2: เกษตรกรรายย่อย โดยอนุมัติเงินกองทุนฯ ให้กรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการ ในวงเงิน 6,609,400 บาท และอนุมัติเงินกองทุนฯ ให้กับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการให้การสนับสนุนแก่เกษตรกรผู้ร่วมโครงการ ปริมาตรรวมของบ่อก๊าซชีวภาพ 5,000 ลูกบาศก์เมตร ในวงเงิน 4,043,800 บาท โดยกองทุนฯ จะจ่ายเงินอุดหนุนให้เกษตรกร ในอัตรา 9,500 บาท ต่อการลงทุนสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพขนาด 12 ลูกบาศก์เมตร ในปีแรก และในอัตรา 9,875 บาท ต่อการลงทุนสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพขนาด 12 ลูกบาศก์เมตร ในปีที่สอง
การดำเนินโครงการฯ ในระยะแรกมีเจ้าของฟาร์มซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อยประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการฯ เป็นจำนวนมาก กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ข้อปรับวิธีจ่ายเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ให้แก่เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ ตามอัตรามาตรฐาน ขนาดบ่อ ราคาก่อสร้างและเงินอุดหนุนเกษตรกรฯ ภายในวงเงิน 4,043,800 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนปริมาตรรวมของบ่อก๊าซชีวภาพ การดำเนินโครงการฯ ในระยะเวลา 2 ปี มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ เกินกว่าเป้าหมายเดิม คือ เพิ่มจาก 5,000 ม3 เป็น 6,028 ม3 ภายในวงเงินเท่าเดิม โดยสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 610,267 ม3 ทดแทน LPG ได้ 131,221 กก. ทดแทนไม้ฟืนได้ 762,878 กก. และจากการประเมินผลโครงการฯ เบื้องต้น ปรากฏว่าระบบดังกล่าวได้รับความพอใจทั้งในด้านผลตอบแทนจากการลงทุนและความสะดวกในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยประสงค์เข้าร่วมโครงการเกินเป้าหมายที่ได้วางไว้เป็นจำนวนมาก กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เสนอแผนของโครงการฯ ระยะที่ 2 ขนาดไม่เกิน 100 ม3 ให้ได้ปริมาตรรวมไม่ต่ำกว่า 22,000 ม3 ภายในระยะเวลา 4 ปี 6 เดือน ในวงเงิน 60,671,000 บาท
เลขานุการฯ ได้เสนอโครงการฯ ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคความร่วมมือ ในการประชุมครั้งที่ 3/2541 (ครั้งที่ 19) เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2541 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในการให้การสนับสนุนโครงการ แต่ได้มีข้อสังเกตุให้กรมส่งเสริมการเกษตรพิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายในการบริหาร โครงการฯ หมวดค่าตอบแทน ค่าใช้สอยและค่าวัสดุและค่าครุภัณฑ์บางรายการที่ไม่จำเป็นลง ก่อนนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณา ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการปรับปรุงตามมติของคณะอนุกรรมการฯ เรียบร้อยแล้ว ฝ่ายเลขานุการฯ จึงได้นำเสนอโครงการฯ ต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณา
มติที่ประชุม
เห็นชอบให้กรมส่งเสริมการเกษตรปรับรายละเอียดค่าใช้จ่ายของโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นพลังงานทดแทนและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ส่วนที่ 2 เกษตรกรรายย่อย ระยะที่ 2 โดยให้กรมส่งเสริมการเกษตรปรึกษากับสำนักงบประมาณเพื่อขอความเห็นในการจัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายของโครงการฯ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
เลขานุการฯ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จากการที่สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในช่วงของการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง เอกชนซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานหรืออาคารจึงได้ชะลอการลงทุนและการดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานตามแผนงานอนุรักษ์พลังงาน จึงเห็นว่าเพื่อให้การดำเนินการตามแผนงานอนุรักษ์พลังงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและบรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนงานที่วางไว้ จึงได้เสนอแนวทางในการใช้เงินจากเงินกองทุนฯ เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้เอกชนที่ประสงค์จะลงทุนทางด้านการอนุรักษ์พลังงานกู้ปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยดำเนินการควบคู่ไปกับแนวทางการให้เงินอุดหนุนจากกองทุนฯ ที่ได้ดำเนินการตามแผนงานอนุรักษ์พลังงานอยู่ก่อนแล้ว โดยให้ผู้ที่สนใจที่จะลงทุน เลือกแนวทางการรับการสนับสนุนอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ จะขอรับการสนับสนุนเป็นเงินอุดหนุนหรือเงินทุนหมุนเวียนก็ได้ โดยการให้การสนับสนุนตามวิธีการให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ แต่จะต้องไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการให้การสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากแนวทางเดิม และหากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากแนวทางเดิม ผู้กู้จะต้องเป็นผู้รับภาระในค่าใช้จ่ายนั้นเอง
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (นายพรเทพ เตชะไพบูลย์) ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า เห็นควรเร่งรัดให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานอนุรักษ์พลังงาน และเนื่องจากสภาพวิกฤตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันเห็นสมควรที่จะนำเงินกองทุนฯ มาใช้ในลักษณะเงินทุนหมุนเวียนให้กับโครงการต่างๆ ของภาคเอกชนกู้โดยไม่มีดอกเบี้ย และให้ยกเลิกคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเงินหมุนเวียนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นผู้บริหารเงินทุนหมุนเวียน โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้
1) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ประธานคณะอนุกรรมการ
2) ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม อนุกรรมการ
3) รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม อนุกรรมการ
4) เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ อนุกรรมการ
5) อธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน อนุกรรมการ
6) ผู้แทนกรมบัญชีกลาง อนุกรรมการ
7) ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด อนุกรรมการ
8) ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่าผลิตแห่งประเทศไทย อนุกรรมการ
9) ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม อนุกรรมการ
10)-12) ผู้ทรงคุณวุฒิ อนุกรรมการ
13) ผู้อำนวยการสำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน อนุกรรมการและเลขานุการ
14) ผู้อำนวยการส่วนกำกับการอนุรักษ์พลังงาน อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
มติที่ประชุม
1. เห็นชอบในหลักการของแนวทาง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้การสนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำร่างระเบียบหลักเกณฑ์ฯ เสนอประธานคณะกรรมการกองทุนฯ ลงนาม เพื่อประกาศใช้เป็นระเบียบต่อไป
2. เห็นชอบในหลักการให้ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ แทนการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเงินทุนหมุนเวียนฯ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ปรึกษาหารือกับผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เกี่ยวกับการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการฯ และเสนอให้คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาในโอกาสต่อไป
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือถึงกรมสรรพสามิตขอให้พิจารณาอนุมัติให้คืนเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 1,410,003.92 บาท และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจำนวน 3,290,009.14 บาท สำหรับน้ำมันเตาที่ผลิตได้ และนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในขบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ในช่วงเดือนมิถุนายน 2538 ถึงเดือนกันยายน 2539 ซึ่งกรมสรรพสามิตได้อนุมัติให้ยกเว้นภาษี และคืนเงินภาษีให้แก่บริษัทฯ ในส่วนที่ชำระไว้แล้ว จำนวนเงิน 26,915,152.31 บาท ตามประกาศกรมสรรพสามิตเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอยกเว้นภาษีน้ำมันเตาและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ผลิตได้และนำไปใช้ในกระบวนการผลิตภายในโรงงานอุตสาหกรรม ลงวันที่ 1 มกราคม 2535
กรมสรรพสามิต ได้มีหนังสือถึง สพช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ของคณะกรรมการฯ ที่ดูแลกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อพิจารณาคำขอคืนเงินของบริษัทฯ ที่ถูกเก็บเข้ากองทุนทั้งสอง
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า การคืนเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนฯ ที่จะเป็นผู้พิจารณา โดยฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ตาม พรบ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 กำหนดให้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อใช้ในราชอาณาจักร ซึ่งน้ำมันเตาที่ใช้ในขบวนการผลิตในโรงงานของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมิกัลไทย จำกัด (มหาชน) เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในราชอาณาจักร ดังนั้นจึงต้องมีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ซึ่ง พรบ.ฯ ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจแก่คณะกรรมการกองทุนฯ ในการพิจารณายกเว้นหรือผ่อนผันการส่งเงินเข้ากองทุนฯ สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่เข้าข่ายให้ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
มติที่ประชุม
ไม่ยกเว้นหรือผ่อนผันการส่งเงินเข้ากองทุนฯ ของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากน้ำมันเตาที่ใช้ในขบวนการผลิตในโรงงานของบริษัทฯ เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในราชอาณาจักร บริษัทฯ จึงต้องมีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตาม พรบ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535
เรื่องที่ 10 การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคความร่วมมือ
เลขานุการฯ แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมครั้งที่ 2/2537 (ครั้งที่ 3) เมื่อวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2537 ได้มีมติเห็นชอบในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 4 ชุด เพื่อกลั่นกรองงานก่อนนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ โดยมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการแต่ละชุด สามารถอนุมัติเงินได้ในวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท/ราย คณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวมีดังนี้
1) คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ มีหน้าที่กลั่นกรองงานเกี่ยวกับแผนงานภาคบังคับ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ ยกเว้นโครงการอาคารของรัฐ โดยมีอธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน เป็นประธาน และ พพ. เป็นฝ่ายเลขานุการฯ
2) คณะอนุกรรมการกำกับดูแลโครงการอาคารของรัฐ มีหน้าที่กลั่นกรองงานเกี่ยวกับโครงการอาคารของรัฐ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ โดยมีอธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน เป็นประธาน และ พพ. เป็นฝ่ายเลขานุการฯ
3) คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคความร่วมมือ มีหน้าที่กลั่นกรองงานเกี่ยวกับแผนงานภาคความร่วมมือ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ โดยมี ดร.จรวย บุญยุบล เป็นประธาน และ สพช. เป็นฝ่ายเลขานุการฯ
4) คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานสนับสนุน มีหน้าที่กลั่นกรองงานเกี่ยวกับแผนงานสนับสนุน ก่อนนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นประธาน และ สพช. เป็นฝ่ายเลขานุการฯ
ประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคความร่วมมือ (นายจรวย บุญยุบล) ได้มีหนังสือที่ กก.0042/2541 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 ขอลาออกจากคณะอนุกรรมการฯ ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไป
เพื่อให้การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการแผนงานภาคความร่วมมือ สามารถดำเนินงานต่อไป ฝ่ายเลขานุการฯ จึงใคร่ขอเสนอให้ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการฯ เป็นดังนี้
1. | เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ | ประธานอนุกรรมการ |
2. | ผู้แทนกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน | อนุกรรมการ |
3. | ผู้แทนกรมบัญชีกลาง | อนุกรรมการ |
4. | ผู้แทนศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย | อนุกรรมการ |
5. | ผู้อำนวยการสำนักงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย | อนุกรรมการ |
6. | นายปิยะวัติ บุญ-หลง | อนุกรรมการ |
7. | นายกฤษณพงษ์ กีรติกร | อนุกรรมการ |
8. | ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ | อนุกรรมการและเลขานุการ |
มติของที่ประชุม
เห็นชอบในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคความร่วมมือ ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ และให้มีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นอนุกรรมการฯ ด้วย