มติคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
ครั้งที่ 3/2554 (ครั้งที่ 55)
วันอังคารที่ 13 ธันวาคม 2554 เวลา 14.00 น.
ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1. รายงานฐานะการเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2554
2. รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2553 และ 2552 ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบรับรองแล้ว
3. รายงานผลการดำเนินงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีบัญชี 2553
4. ขอความเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปี พ.ศ. 2555-2559
5. ขออนุมัติโครงการแผนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดของ กระทรวงพลังงาน
6. ขออนุมัติวงเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดทำรายงานการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานโดยละเอียด และรายงานเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงานของอาคารควบคุมมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ตามคำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 รายงานฐานะการเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2554
เลขานุการฯ ได้รายงานฐานะการเงินกองทุนฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2554
มติที่ประชุม
รับทราบรายงานฐานะการเงินกองทุนฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2554 ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ
เรื่องที่ 2 รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2553 และ 2552 ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบรับรองแล้ว
1. พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนจัดทำงบการเงินส่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้สอบบัญชีของกองทุน และให้ทำการตรวจสอบและรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของกองทุนภายใน 90 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี ให้ สตง. จัดทำรายงานผลการสอบและรับรองบัญชีและการเงินของกองทุนเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนภายใน 150 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
รายงานผลการสอบบัญชีและการเงินตามวรรคสอง ให้รัฐมนตรีเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบและจัดให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2. สตง. ได้ตรวจสอบรับรองบัญชีและงบการเงินกองทุนฯ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2553 และ 2552 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้รายงานผลการสอบบัญชีและการเงินของกองทุนฯ สรุปได้ดังนี้
2.1 งบแสดงฐานะการเงินของกองทุนฯ
สินทรัพย์สุทธิปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จำนวนเงิน 22,813.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 จำนวนเงิน 1,489.30 ล้านบาท
2.2 งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน
รายรับจากผู้ผลิตและผู้นำเข้า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จำนวนเงิน 4,464.11 ล้านบาท ลดลงจาก ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 จำนวนเงิน 7,214.66 ล้านบาท เนื่องจากได้มีการกำหนดอัตราการจัดเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2552
2.3 งบกระแสเงินสด
กระแสเงินสดปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จำนวนเงิน 857.88 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 จำนวนเงิน 7,441.03 ล้านบาท เนื่องจากได้มีการกำหนดอัตราการจัดเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ขณะเดียวกันก็มีรายจ่ายในการดำเนินโครงการต่างๆ เพิ่มขึ้น
มติที่ประชุม
รับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินกองทุนฯ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2553 และ 2552 ที่ สตง. ตรวจสอบรับรองแล้ว ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ
เรื่องที่ 3 รายงานผลการดำเนินงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีบัญชี 2553
1. "กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน" ได้เข้าสู่ระบบประเมินผลการดำเนินงาน ทุนหมุนเวียนของกรมบัญชีกลาง (บก.) ในปีบัญชี 2549 โดยมีประธานกรรมการกองทุนฯ เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงการประเมินทุนหมุนเวียน (กองทุนฯ) กับกระทรวงการคลัง
2. คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2553 ได้เห็นชอบเกณฑ์ประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ปี 2553 โดยเกณฑ์การประเมินผลฯ ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 4 ด้าน รวม 11 ตัวชี้วัด
3. กรมบัญชีกลาง ได้ส่งผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ประจำปีบัญชี 2553 โดยผลในภาพรวมอยู่ในระดับ 3.8121 คะแนน (ระดับดี) ซึ่งผลการประเมินฯ สรุปได้ดังนี้

มติที่ประชุม
รับทราบรายงานผลการดำเนินงานกองทุนฯ ประจำปีบัญชี 2553 ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ
เรื่องที่ 4 ขอความเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปี พ.ศ. 2555-2559
1. คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 ได้เห็นชอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน จัดทำแผนกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปี พ.ศ. 2555-2559 ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี และแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี
2. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ได้เห็นชอบแผนการดำเนินงานตามแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ. 2555-2564) และแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ. 2554-2573) ที่กระทรวงพลังงานปรับปรุงตามนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ซึ่งมีเป้าหมายลดระดับการใช้พลังงานต่อผลผลิตลงร้อยละ 25 ภายใน 20 ปี
3. คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2554 ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปี พ.ศ. 2555-2559 โดยมีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานคณะทำงาน
4. ผลการดำเนินงานของคณะทำงานฯ ได้เห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ในช่วงปี พ.ศ. 2555-2559 ดังนี้
4.1 โครงสร้างการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ
โครงสร้างของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ มีรูปแบบตามแผนการดำเนินงานเดิม เพื่อให้มีความต่อเนื่องของงาน ประกอบด้วยแผนงานรอง 3 แผน ได้แก่ แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แผนพลังงานทดแทน และแผนบริหารทางกลยุทธ์ ดังนี้
4.2 แนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ
การใช้จ่ายเงินกองทุนฯ จะสอดคล้องแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี แผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี และวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีแนวทางการใช้จ่ายเงินแยกตามแผนงาน ดังนี้
(1) แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ จะดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ซึ่งประกอบด้วยภาคขนส่ง ภาคอุสาหกรรม อาคารธุรกิจและที่อยู่อาศัย โดยมี 5 กลยุทธ์ คือ 1) กลยุทธ์ด้านการบังคับด้วยกฎระเบียบและมาตรฐาน 2) กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงาน 3) กลยุทธ์ด้านการสร้างความตระหนักและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม 4) กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 5) กลยุทธ์ด้านการพัฒนากำลังคนและความสามารถเชิงสถาบัน
(2) แผนพลังงานทดแทน แนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ จะดำเนินการตามแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ. 2555-2564) โดยมีแนวทางสำคัญ คือ 1) ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน 2) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงาน และ 3) รณรงค์สร้างจิตสำนึกและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้
4.3 หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการจัดสรรเงินกองทุนฯ สรุปได้ดังนี้
(1) ผู้มีสิทธิได้รับการสนับสนุนเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา หรือองค์กรเอกชนที่ไม่มุ่งค้ากำไรตามมาตรา 26 ของ พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
(2) การสนับสนุนค่าใช้จ่าย
- เป็นเงินช่วยเหลือให้เปล่าเพื่อการศึกษา วิจัย พัฒนา หรือการสาธิตขนาดเล็ก
- เป็นเงินช่วยเหลือสนับสนุนแก่หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา หรือองค์กรเอกชน ในการพัฒนาโครงการด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน
- เป็นเงินหมุนเวียน เงินช่วยเหลือสนับสนุน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ เห็นสมควร
(3) หน่วยงานที่รับจัดสรรเงินไปจากกองทุนฯ จะทำสัญญาหรือหนังสือยืนยันกับ สนพ. และ/หรือ พพ. เพื่อเป็นข้อผูกพันที่จะดำเนินงานให้ได้ผลตามเป้าหมายที่กำหนด และ สนพ. และ/หรือ พพ. มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหากหน่วยงานนั้นไม่สามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย
4.4 กรอบการจัดสรรเงินกองทุนฯ ในช่วงปี พ.ศ. 2555-2559
จากการวิเคราะห์ฐานะเงินกองทุนฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2554 กองทุนฯ มียอดเงินคงเหลือในบัญชี จำนวน 21,710 ล้านบาท ขณะที่มีรายจ่ายผูกพันที่จะต้องจ่ายในช่วงปี พ.ศ. 2555-2559 ประมาณ 9,710 ล้านบาท จึงทำให้กองทุนฯ มีวงเงินคงเหลือ จำนวน 12,000 ล้านบาท โดย กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ได้เห็นชอบแนวทางและหลักเกณฑ์การดำเนินงานโครงการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดของกระทรวงพลังงาน ในวงเงิน 10,000 ล้านบาท และจากการวิเคราะห์ระดับรายได้ของกองทุนฯ ในช่วงปี พ.ศ. 2555-2559 คาดว่ากองทุนฯ จะมีรายรับ ประมาณ 7,200-7,500 ล้านบาท/ปี รวมเงินรายได้ 5 ปี เป็นเงิน 37,000 ล้านบาท คณะทำงานฯ จึงเห็นชอบกรอบการจัดสรรเงินกองทุนฯ ในช่วงปี พ.ศ. 2555-2559 ในวงเงินปีละ 7,000 ล้านบาท โดยกำหนดสัดส่วนวงเงินการจัดสรรเงินกองทุนฯ ในแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แผนพลังงานทดแทน และแผนบริหารทางกลยุทธ์ เป็นร้อยละ 50 45 และ 5 ตามลำดับ ดังนี้ 4.5 แนวทางการจัดสรรเงินกองทุนฯ รายปี
การจัดสรรเงินกองทุนฯ รายปี จะดำเนินการตามแนวทาง/หลักเกณฑ์การพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนฯ ที่คณะอนุกรรมการกองทุนฯ กำหนด และจะเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป
มติที่ประชุม
เห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปี พ.ศ. 2555-2559 และ ให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอต่อ กพช. เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
เรื่องที่ 5 ขออนุมัติโครงการแผนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดของ กระทรวงพลังงาน
1. ตามที่ประเทศไทยประสบภาวะอุทกภัยอย่างร้ายแรง ส่งผลให้เครื่องจักร อุปกรณ์ของภาคส่วนต่างๆ เกิดความเสียหาย กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน กระทรวงพลังงานจึงได้มีแนวทางที่จะส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงเพื่อทดแทนเครื่องจักร อุปกรณ์ที่เสียหายจากอุทกภัย เพื่อเยียวยา ฟื้นฟู สร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชน ซึ่งจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในอนาคตของภาคเศรษฐกิจและประชาชนได้อย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ในพื้นที่ประสบอุทกภัยซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนได้เร็วและยั่งยืน
2. กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 เห็นชอบแนวทางและหลักเกณฑ์การดำเนินงานโครงการของกระทรวงพลังงาน ในวงเงิน 10,000 ล้านบาท และมอบหมายให้คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อดำเนินโครงการแผนการฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดของกระทรวงพลังงาน ให้เป็นไปตามมาตรา 28 (1) และ (2) ใน พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2555
แนวทางในการดำเนินการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย เป็นการช่วยเหลือการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ เครื่องจักร ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยให้เป็นเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ในภาคอาคาร และภาคอุตสาหกรรม ตามขอบข่ายการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ในมาตรา 7 สำหรับการช่วยเหลือฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม และมาตรา 17 ในการช่วยเหลือฟื้นฟูในภาคอาคารและที่อยู่อาศัย โดยมีมาตรการในการดำเนินงาน 3 ส่วน ดังนี้
(1) มาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงิน ประกอบด้วย
- การสนับสนุนด้านเงินทุนหมุนเวียน (ESCO FUND)
- การสนับสนุนเงินช่วยเหลือหรือเงินอุดหนุนในการซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพ
- การสนับสนุนด้านการลดอัตราดอกเบี้ย
(2) มาตรการด้านการเยียวยาและฟื้นฟู ประกอบด้วย
- การสนับสนุนการซ่อมแซมและปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องจักรของโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
- การสนับสนุน เพื่อปรับเปลี่ยนและส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง
- การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ
- การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
- การฟื้นฟู ปรับปรุง และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนสำหรับโครงการในพื้นที่ประสบอุทกภัย
(3) มาตรการด้านการให้คำปรึกษาและประชาสัมพันธ์ ประกอบด้วย
- การให้คำปรึกษาเพื่อฟื้นฟูปรับปรุงสภาพอุปกรณ์ เครื่องจักรของอาคารและโรงงานให้มีประสิทธิภาพ
- การประชาสัมพันธ์ การจัดทำสื่อ การเผยแพร่ความรู้ เพื่อฟื้นฟู ปรับปรุง และส่งเสริมด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน
3. สรุปสาระสำคัญของโครงการ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำรายละเอียดการของบประมาณของกองทุนฯ ภายใต้โครงการแผนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด โดยมีโครงการที่ขอรับงบประมาณของกองทุนฯ จำนวน 5 โครงการ ในวงเงินรวม 4,396,000,000 บาท ดังนี้
(1) โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพพลังงานภาคอาคารธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ดำเนินการโดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในวงเงิน 2,050,000,000 บาท เพื่อดำเนินการสนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ประสบอุทกภัยในปี 2554 ในการปรับเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง
(2) โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพพลังงานภาคครัวเรือน ในพื้นที่ประสบอุทกภัย (สินค้าเบอร์ 5 ช่วยเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย) ดำเนินการโดย พพ. ในวงเงิน 2,000,000,000 บาท และ สนพ. ในวงเงิน 100,000,000 บาท เพื่อดำเนินการสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไป ในพื้นที่ประสบอุทกภัยในปี 2554 ในการปรับเปลี่ยนไปใช้ วัสดุ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง
(3) โครงการให้คำปรึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจที่ประสบอุทกภัย ดำเนินการโดย พพ. ในวงเงิน 100,000,000 บาท เพื่อช่วยตรวจสอบระบบจ่ายพลังงาน เครื่องจักร อุปกรณ์ของสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัย รวมถึงถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์และเทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงาน
(4) โครงการปรับปรุงอาคารและอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงานของ พพ. ที่ถูกน้ำท่วม ดำเนินการโดย พพ. ในวงเงิน 46,000,000 บาท เพื่อปรับปรุงศูนย์ฝึกอบรมปฏิบัติการด้านการจัดการพลังงาน (Mini Plant) และศูนย์แสดงเทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงาน (Display Center) ที่เสียหายจากน้ำท่วมให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ
(5) โครงการสร้างความตระหนักการประหยัดพลังงาน ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน (สป.พน.) ในวงเงิน 100,000,000 บาท เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการแผนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดของกระทรวงพลังงานให้ประชาชนทราบ และปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงเรื่องการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่ามากยิ่งขึ้น
4. คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2554 ได้เห็นชอบโครงการตามที่หน่วยงานเสนอ ภายในวงเงินรวม 4,296,000,000 บาท และให้เพิ่มโครงการและงบประมาณสำหรับการประชาสัมพันธ์ ในวงเงิน 100,000,000 บาท (โครงการที่ 5 สร้างความตระหนักการประหยัดพลังงาน) เพื่อสร้างการรับรู้และจิตสำนึกในเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน ภายใต้โครงการแผนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดของกระทรวงพลังงาน และให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาต่อไป
มติที่ประชุม
1. ให้เปลี่ยนชื่อ "โครงการแผนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดของกระทรวงพลังงาน" เป็น "โครงการแผนการส่งเสริมประสิทธิภาพพลังงานเพื่อการฟื้นฟูเยียวยาประสบอุทกภัยหลังน้ำลดของกระทรวงพลังงาน"
2. อนุมัติเงินกองทุนฯ แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน งานส่งเสริมสาธิต ปีงบประมาณ 2555 ให้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ในวงเงินรวม 4,196,000,000 บาท ตามที่ กพช. เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ได้อนุมัติแนวทางและกรอบวงเงินไว้แล้ว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ดังนี้
(1) โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพพลังงานภาคอาคารธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ในวงเงิน 2,050,000,000 บาท
(2) โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพพลังงานภาคครัวเรือนในพื้นที่ประสบอุทกภัย (สินค้าเบอร์ 5 ช่วยเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย) กิจกรรมส่งเสริมสินค้าเบอร์ 5 ช่วยเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ในวงเงิน 2,000,000,000 บาท
(3) โครงการให้คำปรึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจที่ประสบอุทกภัย ในวงเงิน 100,000,000 บาท
(4) โครงการปรับปรุงอาคารและอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงานของ พพ. ที่ถูกน้ำท่วม ในวงเงิน 46,000,000 บาท
3. อนุมัติเงินกองทุนฯ แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน งานส่งเสริมสาธิต ปีงบประมาณ 2555 ให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนิน "โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพพลังงานภาคครัวเรือนในพื้นที่ประสบอุทกภัย (สินค้าเบอร์ 5 ช่วยเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย) กิจกรรมมหกรรมส่งเสริมสินค้าเบอร์ 5 ช่วยเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย" ในวงเงิน 100,000,000 บาท ตามที่ กพช. เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ได้อนุมัติแนวทางและกรอบวงเงินไว้แล้ว
4. อนุมัติเงินกองทุนฯ แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน งานประชาสัมพันธ์ ปีงบประมาณ 2555 ให้ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนิน "โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักการประหยัดพลังงาน" ในวงเงิน 100,000,000 บาท ตามที่ กพช. เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ได้อนุมัติแนวทางและกรอบวงเงินไว้แล้ว
เรื่องที่ 6 ขออนุมัติวงเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดทำรายงานการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานโดยละเอียด และรายงานเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงานของอาคารควบคุมมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ตามคำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก
1. คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้กำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ โดยกำหนดโครงสร้างของแผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 1 (ในช่วงปี 2538-2542) และระยะที่ 2 (ในช่วงปี 2543-2547) ประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานภาคบังคับ แผนงานภาคความร่วมมือ และแผนงานสนับสนุน
2. กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานตามแผนงานภาคบังคับ ซึ่งในแผนงานดังกล่าว มีการกำหนดโครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน เพื่อให้การสนับสนุนเจ้าของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในด้านการวางแผนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการลงทุนเพื่อให้เป็นไปตามแผนดังกล่าว โดยโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมสามารถยื่นข้อเสนอต่อ พพ. เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนฯ สำหรับใช้เป็น
(1) เงินช่วยเหลือให้เปล่าสำหรับทำรายงานการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย
(2) เงินอุดหนุนในการจัดทำรายงานการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานโดยละเอียด และรายงานการจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน ในวงเงินอุดหนุน 50% ของค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย
(3) เงินลงทุนในการอนุรักษ์พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ในข้อ (2) ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการออกแบบทางวิศวกรรมด้วย โดยอุดหนุนไม่เกิน 60% ของเงินลงทุน และไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อมาตรการในแผนอนุรักษ์พลังงาน
3. ทั้งนี้ อาคารควบคุมของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ กองทุนฯ จะให้ความช่วยเหลือในรูปของเงินให้เปล่าทั้งหมด (วงเงิน 100% ของค่าใช้จ่าย) ในการดำเนินการตามข้อ (1) (2) และ (3)
4. กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2538) ออกตามความใน พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 กำหนดให้เจ้าของอาคารควบคุมดำเนินการจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน โดยต้องมอบหมายให้ที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ พพ. เป็นผู้ช่วยดำเนินการให้
5. มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ได้เข้าร่วมโครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน โดยได้ว่าจ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด คิวตรอน คอนซัลแตนท์ เป็นที่ปรึกษา เพื่อดำเนินงาน ดังต่อไปนี้
(1) การจัดทำรายงานการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น ซึ่ง พพ. ได้ตรวจรายงานฉบับดังกล่าวแล้ว และเห็นว่ามหาวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินการอย่างครบถ้วนและถูกต้องตามกฎหมายกำหนด พพ. จึงได้สนับสนับสนุนเงินกองทุนฯ เป็นเงินช่วยเหลือให้เปล่า ในวงเงิน 472,948 บาท
(2) พพ. ได้ตรวจรายงานการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานโดยละเอียด และรายงานการจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงานของมหาวิทยาลัยฯ แล้ว แต่ไม่สามารถสนับสนุนเงินกองทุนฯ ในวงเงิน 1,130,690.30 บาท ได้ เนื่องจากคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (มีฐานะเป็นคณะอนุกรรมการ ที่คณะกรรมการกองทุนฯ แต่งตั้งขึ้น โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน) ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2548 มีมติระงับการสนับสนุนเงินกองทุนฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำรายงานการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น การจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และการลงทุนตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2548 เป็นต้นไป
6. มติคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่ให้ระงับการสนับสนุนเงินกองทุนฯ แก่เจ้าของอาคารควบคุม เป็นผลมาจากการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2547 ได้เห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน แนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและและลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ระยะที่ 3 ในช่วงปี 2548-2554) ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของแผนอนุรักษ์พลังงานจากเดิม ที่ประกอบด้วย 3 แผนงาน คือ แผนงานภาคบังคับ แผนงานภาคความร่วมมือ และแผนงานสนับสนุน เป็น 3 แผนงานใหม่ คือ แผนพลังงานทดแทน แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และแผนบริหารทางกลยุทธ์ คณะกรรมการกองทุนฯ จึงได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้เงินกองทุนฯ โดยการลดการช่วยเหลือเจ้าของโรงงานและอาคารควบคุม ทั้งในด้านการวางแผน และการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงการดำเนินงานที่เป็นหน้าที่และภารกิจของอาคารควบคุมที่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ก็ให้จัดสรรงบดำเนินการจากเงินงบประมาณเป็นหลักก่อน ทั้งนี้ ในการดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 3 คณะกรรมการกองทุนฯ ได้กำหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีอำนาจปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และการจัดสรรเงินตามแผนงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
7. คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2548 จึงได้มีมติระงับการสนับสนุนเงินกองทุนฯ สำหรับโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม โดยแจ้งให้ พพ. ทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(1) ให้ระงับการสนับสนุนเงินกองทุนฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำรายงาน การตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น การจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และการลงทุนตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนฯ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2537 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2539 แก่เจ้าของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2548 เป็นต้นไป
(2) ให้เจ้าของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงฉบับเดิม และ พพ. ได้รับรายงานก่อนวันที่คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ให้ความเห็นชอบการระงับการสนับสนุนเงินกองทุนฯ สำหรับโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม สามารถขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนฯ ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนฯ ฉบับเดิม โดยการอนุมัติเงินสนับสนุนดังกล่าวของปีงบประมาณ 2548 ให้ใช้เงินกองทุนฯ แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน งานส่งเสริมและสาธิต
(3) ให้ยกเลิกการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนตามเป้าหมายและแผนฯ ที่เจ้าของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมขอรับการสนับสนุนฯ ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนฯ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2537 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2539 เฉพาะในส่วนที่ยังไม่ได้รับแจ้งการอนุมัติค่าใช้จ่ายจาก พพ.
8. พพ. จึงได้ออกประกาศ ลงวันที่ 1 เมษายน 2548 เรื่อง ระงับการสนับสนุนเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ตามมติคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบโดยทั่วกัน
9. เนื่องจากมหาวิทยาลัยฯ ไม่สามารถจัดหางบประมาณจำนวน 1,130,690.30 บาท เพื่อมาจ่ายให้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด คิวตรอนฯ เป็นค่าจ้างสำหรับการจัดทำรายงานการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานโดยละเอียด และรายงานการจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงานได้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด คิวตรอนฯ จึงได้ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยฯ ต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก ตามคดีหมายเลขดำที่ 1346/2548 ให้มหาวิทยาลัยฯ จ่ายเงินตามสัญญาจ้างดำเนินงานดังกล่าว แต่เนื่องจากสัญญาจ้างนี้เป็นสัญญาที่เกี่ยวกับการให้บริการสาธารณะ จึงเป็นคดีปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลก คดีดังกล่าวจึงโอนจากศาลจังหวัดพิษณุโลกไปยังศาลปกครองพิษณุโลก
10. ห้างหุ้นส่วนจำกัด คิวตรอนฯ ได้ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยฯ ต่อศาลปกครองพิษณุโลก ตามคดีหมายเลขดำที่ 34/2550 ซึ่งการพิจารณาคดีได้ดำเนินการต่อเนื่องมา จนมีผลให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 3 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ พพ. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3
11. ศาลปกครองพิษณุโลกได้มีคำสั่งเรียกมายังคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ทำคำชี้แจงต่อศาลปกครองพิษณุโลก ตามคำสั่งเรียกให้ทำการชี้แจง ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2553 ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการระงับการสนับสนุนเงินกองทุนฯ สำหรับโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม แต่เนื่องจากคณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2548 ได้ยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่ 1/2547 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2547 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ จึงได้จัดทำคำชี้แจงในประเด็นดังกล่าวเสนอต่อศาลปกครองพิษณุโลก
12. ศาลปกครองพิษณุโลกได้มีคำสั่งเรียกมายังคณะกรรมการกองทุนฯ ให้เข้ามาเป็นคู่กรณีและทำคำให้การแก้คำฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลก ลงวันที่ 12 มกราคม 2554 โดยมีประเด็นตามคำขอท้ายคำฟ้องของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด คิวตรอนฯ ที่ศาลปกครองพิษณุโลกกำหนดให้คณะกรรมการกองทุนฯ ยื่นตอบภายใน 30 วัน
13. คณะกรรมการกองทุนฯ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 ได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน มีอำนาจทำการแทนคณะกรรมการกองทุนฯ ในคดีที่ศาลปกครองพิษณุโลกมีคำสั่งเรียกมาดังกล่าว
14. ในการดำเนินคดี สนพ. ได้ขอความอนุเคราะห์สำนักงานอัยการสูงสุดจัดพนักงานอัยการเพื่อแก้ต่างคดีแทนคณะกรรมการกองทุนฯ
15. อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครองพิษณุโลก ได้มีหนังสือแจ้ง สนพ. ถึงผลคดี โดยศาลปกครองพิษณุโลก เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 ได้มีคำพิพากษาว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (พพ.) นำเสนอขอความเห็นชอบรายงานและอนุมัติวงเงินที่จะให้การสนับสนุนจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (คณะกรรมการกองทุนฯ) และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม) ทราบผล ทั้งนี้อัยการผู้ดำเนินคดีพิจารณาแล้วเห็นว่า คำพิพากษาดังกล่าว ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว แม้อุทธรณ์ไปก็ยากที่จะชนะคดีได้ จึงมีคำสั่งไม่อุทธรณ์
16. พพ. และ สนพ. พิจารณาแล้ว มีความเห็นไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองพิษณุโลก ตามความเห็นของพนักงานอัยการผู้ดำเนินคดี
17. พพ. ได้ขอตั้งวงเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดทำรายงานการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานโดยละเอียด และรายงานเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงานของอาคารควบคุมมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม เป็นเงินทั้งสิ้น 867,992.17 บาท
ทั้งนี้ การประเมินวงเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าว เป็นไปตามหลักเกณฑ์การประเมินค่าใช้จ่าย ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ (เป็นคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการกองทุนฯ ในช่วงปี 2538-2547 มีอธิบดี พพ. เป็นประธาน) ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2542
มติที่ประชุม
อนุมัติเงินกองทุนฯ แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน งานส่งเสริมและสาธิต ปีงบประมาณ 2555 จำนวน 867,992.17 บาท ให้ พพ. เพื่อนำไปจัดสรรให้กับ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำรายงานการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานโดยละเอียด และรายงานเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงานของอาคารควบคุมมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม ตามคำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก