สรุปข่าวพลังงาน 2-6 พ.ย. 2562
ข่าว : ปี 62 จัดเก็บรายได้ปิโตรเลียม 1.6 แสนล. 38 แปลงพุ่งกระฉูดจากปีที่ผ่านมา 50%
นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน มีการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม ในปีงบประมาณ 2562 ระหว่างเดือนตุลาคม 2561-กันยายน 2562 จำนวนรวมทั้งสิ้น 166,332 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าภาคหลวง จำนวน 45,555 ล้านบาท เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ 1,151 ล้านบาท รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย จำนวน 12,688 ล้านบาท ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาการผลิต จำนวน 7,758 ล้านบาท รวมถึงภาษีเงินได้ปิโตรเลียมซึ่งจัดเก็บโดยกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง จำนวน 99,179 ล้านบาท โดยภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีการจัดเก็บอยู่ที่ 110,677 ล้านบาท จำนวน 55,655 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50.29%
สื่อหนังสือพิมพ์ : สยามธุรกิจ
สรุปข่าวพลังงาน 1 พ.ย. 2562
ข่าว : ขีดเส้น 2 เดือน คลอดเกณฑ์ซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเดินทางมาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ซึ่งนับเป็นอีกหน่วยงานที่จะมีส่วนสำคัญในการจัดทำแผนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และรับผิดชอบในการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP 2018) กองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กองทุนอนุรักษ์ฯ) เป็นต้น โดยจะต้องจัดทำแผนขับเคลื่อนงานในอนาคตให้ชัดเจน เพื่อเตรียมพร้อมต่อการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป
นอกจากนี้ได้กำชับให้ศึกษาแผนการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชนมีต้นทุนพลังงานที่มีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้ หรือต้องมีต้นทุนราคาพลังงานที่มีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะจะมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วย ซึ่งการศึกษาโครงการสร้างราคาน้ำมัน ยังไม่สามารถระบุได้ว่าผลสุดท้ายจะทำให้เกิดการปรับลดราคาน้ำมันลงมาหรือไม่ ถือเป็นการศึกษาเพื่อประเมินสถานการณ์ในอนาคต เช่น มองไป 3 ปีข้างหน้าราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไร เพื่อให้สามารถวางแผนบริหารจัดการต้นทุนราคาพลังงานให้เกิดสมดุล และไม่หวือหวาเกินไป
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเข้าตรวจเยี่ยมและมอบหมายนโยบายให้กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ว่า ได้สั่งการให้ พพ.เร่งรัดในการปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี 2561-2580 (AEDP2018) ที่มีการปรับรูปแบบการส่งเสริมพลังงานที่ได้รับความนิยม และลดสัดส่วนพลังงานที่ไม่ได้รับความนิยมลง โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนา กำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ที่กำลังปรับปรุงอยู่ในปัจจุบัน โดยในแผนจะรวมการส่งเสริมพลังงานชุมชนและโรงไฟฟ้าชุมชนเข้าไปด้วย นอกจากนี้ยังให้ พพ. เร่งจัดทำแผนขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนให้มีความชัดเจนภายในกลางเดือน พ.ย.นี้ หลังจากนั้นจะเชิญผู้ประกอบการเอกชนมาหารือร่วมกันอีกครั้ง ก่อนที่จะออกประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลงทุน รวมถึงการปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580 (AEDP 2018) ให้สอดคล้องกับนโยบายที่จะรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเข้าระบบเร็วขึ้น
สื่อหนังสือพิมพ์ : ข่าวหุ้น, ไทยโพสต์, ผู้จัดการรายวัย 360 องศา
สรุปข่าวพลังงาน 31 ต.ค. 2562
ข่าว : "สนพ." เล็งปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน สนอง"สนธิรัตน์"มอบของขวัญคนไทย คาดได้ข้อสรุป พ.ย. นี้
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. ได้รับนโยบายจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่องการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเพื่อเป็นหนึ่งในของขวัญปีใหม่สำหรับภาคประชาชน โดย สนพ. จะเร่งศึกษาเรื่องนี้เพราะจัดอยู่ในนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงพลังงาน ซึ่งการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน เบื้องต้นอาจจะต้องปรับปรุงสูตรการคำนวณราคาใหม่ โดยจะต้องไปดูเรื่องของการปรับราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันให้เหมาะสมและสอดรับกับสถานการณ์ของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ค่าขนส่ง หรือการอ้างอิงที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันยังอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ อีกทั้งโครงสร้างราคาน้ำมันยังเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น เช่น ภาษีสรรพสามิต กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งแต่ละหน่วยงานจึงต้องหารือในรายละเอียดร่วมกับ หน่วยงานอื่นด้วย ส่วนจะมีโอกาสปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันลงได้หรือไม่ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องรอข้อมูลที่ชัดเจนก่อน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน พ.ย. นี้
ส่วนความคืบหน้าการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP 2018) คาดว่าจะจัดทำเสร็จภายใน 3 เดือน (พ.ย.2562-ม.ค.2563) โดยเบื้องต้นในส่วนของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงรายภูมิภาคจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ยกเว้นหากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถเลื่อนแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ได้เร็วกว่าแผนเดิมในปี 2570 ก็อาจจะต้องปรับแผนในส่วนนี้ ขณะที่ในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน คาดว่าจะยังคงสัดส่วน 20% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวม แต่อาจปรับระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบเร็วขึ้นและกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพให้เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งจะอยู่ในสัดส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชน และอาจลดสัดส่วนการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนลงจากเดิมกำหนดไว้ประมาณ 1 หมื่นเมกะวัตต์ เนื่องจากโครงการนำร่องในปีแรกยังไม่ประสบความสำเร็จ มีประชาชนสมัครเข้าร่วมราว 1 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายปีนี้อยู่ที่ 100 เมกะวัตต์
วานนี้ (30 ต.ค.) สนพ.ได้จัดสัมมนา "สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่าย ไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต" โดยนายวัฒนพงษ์ ระบุว่าในอนาคตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะเริ่มเข้ามาสู่ระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศมากขึ้น โดยผ่านระบบการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด กระทรวงพลังงานจึงได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะเตรียมการ (ปี 2558-2559) ระยะสั้น (ปี 2560-2564) ระยะปานกลาง (ปี 2565-2574) และระยะยาว (ปี 2575-2579) เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะพัฒนาไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มั่นคงและเพียงพอ โดยคาดว่าโครงการนำร่องปี 2560-2564 จะช่วยลดกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ และเกิดไมโครกริดได้อย่างน้อย 3 แห่ง
สื่อหนังสือพิมพ์ : กรุงเทพธุรกิจ, ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, เดลินิวส์, ไทยโพสต์, ข่าวหุ้น, แนวหน้า
สรุปข่าวพลังงาน 30 ต.ค. 2562
ข่าว : โครงสร้างราคาน้ำมันต่างกันยัน ไทย-มาเลย์ ขายไม่เท่ากัน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปพลังงานในนามกลุ่มผีเสื้อกระพือปีก หัวใจหลักคือ ต้องการให้ราคาแก๊ส และน้ำมันในประเทศไทย เท่ากับราคาของมาเลเซีย ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงพลังงานได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปชี้แจง เพื่อทำความเข้าใจที่ตรงกันว่า โครงสร้างราคาน้ำมันของไทย และมาเลเซียแตกต่างกัน เนื่องจากโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยมีส่วนของภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งภาษีตัวนี้ทำให้เกิดความแตกต่างด้านราคา ซึ่งมาเลเซียไม่ได้เก็บภาษีส่วนนี้เพราะเป็นประเทศผู้ผลิต และส่งออกน้ำมันนอกจากนี้อีกส่วนคือเรามีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อรักษาเสถียรภาพน้ำมันเวลาราคาน้ำมันตลาดโลกมีความผันผวนลักษณะแบบนี้มาเลเซียไม่มี ต้องเข้าใจว่าพื้นฐานของเรากับมาเลเซียแตกต่างกันเพราะมาเลเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมัน แต่ไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน ฉะนั้นกลไกราคาไม่เหมือนกัน
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันในประเทศไทยไม่ได้แพงที่สุดในอาเซียน เราอยู่กลางๆ โดยประเทศที่ราคาน้ำมันถูกกว่าเรา มีเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย ส่วนประเทศอื่นๆที่แพงกว่าเช่น สิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ค้ารายใหญ่ของโลก จึงต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ หากไม่ได้เป็นผู้ผลิตน้ำมัน แต่ต้องนำเข้าน้ำมันเกือบ100% ทำให้เราเสียดุลการค้ามากในอนาคตอย่างไรก็ดีข้อคิดเห็นของพี่น้องกลุ่มต่างๆกระทรวงพลังงานจะนำมาดูแลอย่างดี เพื่อพิจารณาว่า จะสามารถปรับกลไกเดิมที่ทำกันไว้ให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนมากที่สุด
สื่อหนังสือพิมพ์ : สยามรัฐ
สรุปข่าวพลังงาน 29 ต.ค. 2562
ข่าว : รัฐจับมือค่ายรถยนต์ บริษัทน้ำมัน หนุนใช้ดีเซล B10 แทน B7 หวังทะลุเป้า 57 ล้านลิตรต่อวัน
กระทรวงพลังงานจับมือค่ายรถยนต์ โรงกลั่น ผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ผู้ผลิตไบโอดีเซล และตัวแทนชาวสวนปาล์ม สร้างความเชื่อมั่นน้ำมันดีเซลB10 ที่จะประกาศเป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศวันที่ 1 มกราคม 2563 นี้ เป็นต้นไป ตั้งเป้ายอดใช้สูงถึง 57 ล้านลิตรต่อวัน หวังช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของประเทศปัจจุบันหรือประมาณ 2.2 ล้านตัน/ปี และลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ประมาณ 1.8 ล้านลิตร/วัน ในขณะที่เตรียมความพร้อมส่งเสริมการให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นเกรดพื้นฐานกลุ่มเบนซิน เป็นเป้าต่อไป
สื่อออนไลน์ : energynewscenter, posttoday, thebangkokinsight, siamrath, tnnthailand, ryt9, mcot, gnews, springnews, todayhighlightnews, energy, bluechipthai
สรุปข่าวพลังงาน 26-28 ต.ค. 2562
ข่าว : 'สนธิรัตน์' นำทีมงานลงพื้นที่ เยี่ยมชมโครงการพลังงานสร้างอาชีพ
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2562 นายสนธิรัตน์สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน พร้อมด้วยคณะทำงานและผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เดินทางเยี่ยมชมโครงการพลังงานสร้างอาชีพแบบผสมผสาน ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและพลังงานทางเลือกกาญจนบุรี ที่ ต.ท่ามะขาม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติโดยใช้แนวคิดการเชื่อมโยงใช้พลังงานแบบผสมผสานในกระบวนการผลิตต่างๆ โดยใช้ทั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งพลังงานขยะ เพื่อมาบริหารจัดการในกิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ฯ อาทิ การตัดแต่งผักปลอดสารพิษส่งโรงพยาบาลการใช้ตู้เย็นพลังงานร่วมแสงอาทิตย์ร้านกาแฟพลังงานร่วมแสงอาทิตย์ โครงงาน ผลิตดินเผาใช้น้ำมันจากพลาสติกโครงงานผลิต น้ำแข็งจากพลังงานแสงอาทิตย์ โครงงานผลิตน้ำมันจากพลาสติก การแปลงเกษตรปลอดสารพิษโดยใช้น้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์
สื่อหนังสือพิมพ์ : แนวหน้า, ข่าวสด
สรุปข่าวพลังงาน 25 ต.ค. 2562
ข่าว : 'สนธิรัตน์' จี้โครงการเร่งด่วน ผุดโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ 2 โรง 7 หมื่น ล.
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงานแถลงผลการประชุมแผนขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ว่า มีโครงการเร่งด่วนจะต้องแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน อาทิ การจัดตั้ง โรงไฟฟ้าชุมชนโมเดล 1 ซึ่งเบื้องต้นจะสามารถกำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์และรูปแบบของ โรงไฟฟ้าชุมชนได้ภายในเดือน พฤศจิกายนนี้ โดยจะเร่งให้โครงการเร่งด่วนที่มีความพร้อม หรือ โครงการควิก วิน (Quick Win) สามารถเข้าระบบได้ในครึ่งปีแรกของปี 2563
ขณะที่ การส่งเสริมการใช้น้ำมัน B10 ที่มีส่วนผสมบี 100 ในสัดส่วน 10% เป็น น้ำมันดีเชลพื้นฐาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยในเดือนพฤศจิกายนนี้ ได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานเปิดตัวแคมเปญกระตุ้นการใช้ บี10 ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดความต้องการใช้ดีเซล บี10 อยู่ 57 ล้านลิตรต่อวัน ภายในไตรมาส 2 ปี 2563 รวมทั้งการกำกับการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน(PM2.5) ซึ่งได้ มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการ มาดูแล โดยจะเห็นความชัดเจนได้ภายใน 1-2 เดือน
นอกจากนี้ยังมีแผนการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี) การใช้และการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน การส่งเสริมรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แผนการบริหารเอทานอล ซึ่งแผนทั้งหมดจะต้องนำ กลับมานำเสนอรายละเอียดอีกครั้งภายในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รมว.พลังงาน ได้เร่งรัดให้ กฟผ. ปรับแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 โรง รวมกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ สร้างให้เร็วขึ้น 2-3 ปี จากเดิมสร้างเสร็จปี 2570 และ 2571 ก็ให้ปรับให้สร้างเสร็จปี 2568 และ 2569 คาดเงินลงทุนประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยการเร่งรัดเนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานได้เสนอให้เร่งก่อสร้าง หลังจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ถูกชะลอไปโดยไม่มีกำหนด ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าภาคใต้ไม่พอเพียง
สื่อหนังสือพิมพ์ : แนวหน้า, ข่าวหุ้น, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐ, แนวหน้า, ทันหุ้น, ไทยโพสต์
สรุปข่าวพลังงาน 23-24 ต.ค. 2562
ข่าว : กฟผ. ดีเดย์ 24 ต.ค. เชิญชวนเอกชนประมูลแอลเอ็นจี
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แบบตลาดจร (Spot) ว่า ตามที่ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 เห็นชอบให้ กฟผ. จัดหาก๊าซแอลเอ็นจี (LNG) แบบตลาดจร (Spot) ปริมาณไม่เกิน 200,000 ตัน สำหรับการทดสอบระบบการส่งเสริมการแข่งขัน ในกิจการก๊าซธรรมชาติ (TPA) นั้น
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พิจารณาความเหมาะสมด้านปริมาณและช่วงเวลาในการจัดหา LNG สำหรับการทดสอบระบบ ได้นำกลับมาเสนอ กบง. แล้วเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 ให้จัดหา LNG ปริมาณนำเข้า 2 ลำเรือ ลำเรือละ 65,000 ตัน ลำแรกนำเข้าประมาณธันวาคม 2562 และลำที่ 2 ประมาณเดือนเมษายน 2563 โดยให้มีการทดสอบระบบ TPA ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2562 นี้
ทั้งนี้ กฟผ. จึงได้ดำเนินการคัดเลือกและขึ้นทะเบียนผู้ผลิต หรือ ผู้ค้าที่มีคุณสมบัติสามารถเสนอราคา ต่อ กฟผ. และจัดเตรียมเอกสารสำหรับการจัดหา LNG แบบ Spot เสร็จแล้ว คาดว่าจะสามารถออกเอกสาร เชิญชวนผู้ค้าหรือผู้ผลิต LNG ซึ่งรวม ปตท. เทรดดิ้งด้วย ภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2562
สื่อหนังสือพิมพ์ : แนวหน้า, ไทยโพสต์, เดลินิวส์, มติชน
สรุปข่าวพลังงาน 22 ต.ค. 2562
ข่าว : เปิดโรงไฟฟ้าชุมชน ธ.ค. นี้
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ได้หารือรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนซึ่งพบว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก จึงตั้งอนุกรรมการฯ กบง.ขึ้นมากลั่นกรอง เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้รวดเร็ว ขณะเดียวกันได้มอบหมายกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) ร่วมกันจัดทำรายรูปแบบรายละเอียดของโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตามมติที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้มอบหมายตั้งแต่ 11 ก.ย.62
สื่อหนังสือพิมพ์ : สยามรัฐ, มติชน, แนวหน้า
สรุปข่าวพลังงาน 19-21 ต.ค. 2562
ข่าว : กบง. มอบ พพ. ร่วมกับ สกพ. จัดทำหลักเกณฑ์และรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชน ตั้งเป้าโรงแรกภายในปลายปี 62
กบง. มอบ พพ. ร่วมกับ กกพ. จัดทำหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน โดยเร่ง Quick win ปลายปี 62 และไฟเขียว กฟผ. นำเข้า LNG ลำแรก ธ.ค. 62 และมีมติให้แนวทางแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันนี้ (21 ต.ค.62) ว่า ที่ประชุม กบง. ได้หารือรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตามมติที่ กพช. ได้มอบหมายตั้งแต่ 11 กันยายน 2562 โดยเบื้องต้นที่กระทรวงพลังงานพิจารณาไว้ 3 รูปแบบ ได้แก่ (1) เป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน หรือบริษัทลูกของการไฟฟ้าทีมีความพร้อมอยู่แล้ว (2) เป็นการลงทุนเพื่อความมั่นคงปลายสาย หรือไฟฟ้าเข้าไม่ถึง โดยอาจจะพิจารณานำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กองทุนพัฒนาไฟฟ้า หรือรูปแบบ CSR จากภาคเอกชนต่างๆ (3) เป็นการลงทุนเพื่อนำของเสียมาจัดการให้เป็นประโยชน์เชิงพลังงาน เช่น ขยะ โดยมอบหมายกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และคณะกรรมการ กกพ. ร่วมกันจัดทำรายรูปแบบรายละเอียดมาเสนอ กบง. อีกครั้ง ภายในเดือน พ.ย. หรือ ธ.ค. 62 ทั้งนี้ เนื่องจากมีกระแสตอบรับดี ประกอบกับเป็นการนำเงินกระจายลงสู่ชุมชน ได้พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยเร็ว รวมทั้งการจัดการเรื่องการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ต่างๆ มาเป็นเชื้อเพลิงไฟฟ้า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ จะมีคณะอนุกรรมการภายใต้ กบง. มาช่วยพิจารณาหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้นไป
พร้อมนี้ กบง. ได้รับทราบแนวทางการทดลองนำเข้า LNG แบบ Spot ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามที่ กบง. เสนอ ซึ่งเป็นเรื่องการดูช่วงเวลาและปริมาณการนำเข้าที่เหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางให้ กฟผ. ดำเนินการต่อไป โดยจากข้อมูลที่ได้รับ จึงสรุปมีแนวทางเลือกปริมาณการนำเข้า 2 ลำเรือ ลำเรือละ 65,000 ตัน และช่วงเวลาการนำเข้าที่เหมาะสมลำแรกประมาณเดือนธันวาคม 2562 และลำที่ 2 ประมาณเดือนเมษายน 2563 ทั้งนี้ จากข้อมูลราคา LNG แบบ Spot ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 จะยังไม่สูงมากนัก และให้ กฟผ. และ กกพ. นำผลการนำเข้า LNG ลำแรกมารายงาน กบง. เพื่อจะได้ทราบผลกระทบจากการดำเนินการ รวมถึงการเปรียบเทียบต้นทุนค่าไฟฟ้า ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด
นอกจากนี้ กบง. ได้พิจารณาแนวทางปัญหาความเดือดร้อนของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล โดยให้ SPP ชีวมวล สามารถสมัครใจเลือกอยู่ในรูปแบบสัญญาเดิมต่อไปตามเงื่อนไขเดิม หรือให้สามารถเลือกที่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็น FiT ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งได้คำนึงถึงผลกระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าของประเทศในภาพรวม รวมทั้งผลกระทบต่อเนื่องที่อาจเกิดขึ้นกับ SPP ชีวมวลแบบ FiT (โครงการ SPP Hybrid Firm) ที่ได้มีการประกาศรับซื้อและดำเนินคัดเลือกเมื่อปี 2560 โดยวิธี Competitive Bidding ควบคู่กันไปด้วยแล้ว
สื่อออนไลน์ : ศูนย์บริการข้อมูลมติ กพช. / กบง, bangkokbiznews, posttoday, siamrath, mcot, energynewscenter