เขื่อนภูมิพล : เปิดศักราช...แห่งการพัฒนาพลังงานไทย


ข้าพเจ้ามีความยินดี ที่ได้เห็นการก่อสร้างเขื่อนภูมิพลสำเร็จเรียบร้อย พร้อมที่จะเปิดได้แล้ว

ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงถึงการก่อสร้างเขื่อนนี้ และประโยชน์อันจะพึงได้รับทั้งในด้านพลังไฟฟ้า การเกษตร การคมนาคม และอื่นๆ นั้น น่าปีติยิ่งนัก แสดงให้เห็นว่า เขื่อนนี้สามารถอำนวยความผาสุกสมบูรณ์ ให้บังเกิดแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง นับเป็นงานสำคัญอย่างยิ่งในโครงการทะนุบำรุงบ้านเมือง ให้มีความเจริญก้าวหน้า

ปรากฏว่า เขื่อนนี้สามารถกักน้ำฤดูฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง ช่วยป้องกันอุทกภัยไปในตัว ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นต้นมา แม้จะมีพายุใต้ฝุ่นนำฝนเข้ามาในประเทศไทย เขื่อนนี้ก็ยังกักน้ำฝนที่จะไหลบ่าลงมาเป็นภัยแก่ราษฎรไว้ได้แล้วระบายน้ำออกใช้ให้เป็นประโยชน์ในฤดูแล้ง ทั้งนี้เป็นการแสดงผลให้ประจักษ์เป็นอย่างดีมาแล้ว

ความสำเร็จที่เห็นอยู่นี้ ปรากฏขึ้นได้ก็เพราะทางราชการได้เล็งเห็นการณ์ไกลประกอบด้วยบรรดาเจ้าหน้าที่มีความสามารถอย่างดียิ่ง ตั้งใจดำเนินงานมาจนเป็นผลสำเร็จเรียบร้อย และก่อนหน้าที่จะวางโครงการสร้างเขื่อนนี้ กรมชลประทานก็ได้ตระเตรียมการเก็บสถิติในเรื่องน้ำมาแล้วเป็นเวลานานปี ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้ขอบใจ และชมเชยเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายตั้งแต่ผู้ใหญ่ ตลอดจนถึงผู้น้อย ที่ได้ร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะข้าราชการและผู้ปฏิบัติงานของกรมชลประทานซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งในการก่อสร้างนี้

ได้เวลาอันเป็นมงคลฤกษ์แล้ว ข้าพเจ้าขอเปิดเขื่อนภูมิพล ขอให้เขื่อนนี้จงสถิตสถาพร อำนวยความสุขความเจริญแก่อาณาประชาราษฎร สมดังปณิธานทุกประการ.

พระราชดำรัส ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนภูมิพล วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๗


พลังน้ำ - พลังแห่งน้ำพระราชหฤทัย


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยเรื่อง "น้ำ" เป็นอันดับต้นๆ เพราะทรงทราบว่าเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศพระองค์ทรงมีพระราชดำริมากมายเกี่ยวกับการจัดการ "น้ำ" เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำในการทำการเกษตรอย่างพอเพียง

ในเวลาเดียวกันพระองค์ยังทรงมีพระราชดำริให้นำ "น้ำ" ที่กักเก็บเอาไว้มาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการใช้ทรัพยากรอย่างองค์รวมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

พระราชอัจฉริยภาพเกี่ยวกับน้ำและการจัดการน้ำ อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในด้านวิศวกรรมศาสตร์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ดังที่ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา บรรยายไว้ในหนังสือ " ทำเป็นธรรม" ว่า...เมื่อพระชันษาประมาณ ๓ พรรษา เริ่มสนพระทัยและโปรดที่จะทำบ่อน้ำเล็ก ๆ ให้มีทางน้ำไหลไปตามต้องการ ทรงช่วยกันทำกับพระเชษฐา (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ) ทำคลอง ทำเขื่อนเก็บน้ำ และรอบ ๆ บ่อหากิ่งไม้มาปักเป็นการปลูกต้นไม้ และประมาณ ๗-๘ พรรษา จึงได้ทรงสังเกตเห็นในการที่ผู้ใหญ่นำน้ำใส่อ่างให้เด็กเล็ก วิธีที่จะนำน้ำจากที่แห่งหนึ่งมาสู่ที่อีกแห่งโดยทำให้ที่รับน้ำต่ำกว่า และทางให้น้ำไหลมาตามทางตลอดทาง ทำทางให้เรียบกันน้ำซึม โดยใช้ดินเหนียวปะหน้าและถูให้เรียบใช้วัสดุที่กลมกลิ้งให้เรียบ เพื่อน้ำจะได้ไหลได้สะดวก ไม่มีก้อนดินหรือหินขรุขระกีดขวาง และทรงจำวิธีที่เขาได้จนบัดนี้... พลอากาศตรี กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เล่าถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงพระเยาว์ว่า

"เมื่อทรงเป็นพระอนุชา พระเจ้าอยู่หัวทรงมีรถไฟเล็ก เป็นรถไฟไฟฟ้า พระองค์ท่านทรงประดิษฐ์ระบบการจ่ายไฟให้รถไฟเล็กวิ่งด้วยพระองค์เอง พระเจ้าอยู่หัวทรงมีความสนพระทัยและเข้าพระทัยเรื่องเกี่ยวกับการช่าง เรื่องไฟฟ้าเป็นอย่างดีมาตั้งยังทรงพระเยาว์"

หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเปลี่ยนจากทรงศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์มาทรงศึกษาด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์แต่พระองค์ท่านก็ยังทรงศึกษาหาความรู้ในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาทุกข์สุขของราษฎร

"พระองค์ท่านทรงมีความรู้เรื่องเขื่อนว่าผลิตไฟฟ้าได้อย่างไร ถ้าสร้างเขื่อนที่นี่ต้องเป็นเขื่อนกว้างยาวเท่าไหร่ ถ้าปล่อยน้ำขนาดนี้ ควรใช้เครื่องกำเนินไฟฟ้าขนาดเท่าใด เขื่อนควรสูงเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ปัจจุบันพระองค์ท่านทรงติดตามเรื่องระดับน้ำในเขื่อนอยู่ตลอดเวลา บางครั้งพระองค์ท่านก็ทรงมีความเห็นว่าเขื่อนแห่งนี้ปล่อยน้ำมากไปหรือน้อยไป เพราะเขื่อนบางเขื่อนหากเก็บน้ำไว้มากเกินไป ไม่ปล่อยไป ปีถัดมาฝนตกหนัก ก็จะไม่มีพื้นที่ให้เก็บน้ำ แต่ถ้าปล่อยน้ำมากเกินไป หน้าแล้งก็อาจไม่มีน้ำให้เกษตรกรทำการเกษตรได้"

แนวพระราชดำริอันเกี่ยวกับการใช้พลังงานน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเน้นการก่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อเก็บกักน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในชุมชนใกล้เคียง ซึ่งจะเป็นการเสริมการทำงานของเขื่อนขนาดใหญ่ที่จัดทำโดยภาครัฐ ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้แต่ละชุมชนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พึ่งพาตนเองได้ และเป็นตัวอย่างในการพัฒนาพลังงานในทุกภาคส่วนของประเทศ

ด้วยน้ำพระทัยและพระปรีชาสามารถแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การพัฒนาพลังน้ำในประเทศจึงเติบโตอย่างมั่นคงและเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปอย่างแท้จริง


โครงการไฟฟ้าพลังน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

๑. โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ จังหวัดยะลา
๒. โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยาง จังหวัดเชียงใหม่
๓. โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านขุนกลาง จังหวัดเชียงใหม่
๔. โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่
๕. เขื่อนพรมธารา จังหวัดชัยภูมิ
๖. โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนห้วยกุ่ม จังหวัดชัยภูมิ
๗. โรงฟ้าพลังน้ำคลองช่องกล่ำ จังหวัดสระแก้ว
๘. โรงไฟฟ้าพลังน้ำไอกะเปาะ จังหวัดนราธิวาส
๙. โรงไฟฟ้าพลังน้ำทุ่งเพล จังหวัดจันทบุรี


โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ จังหวัดยะลา

ในการก่อสร้างเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรกของภาคใต้ตอนล่างนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบากในการก่อสร้าง เนื่องด้วยในขณะนั้นยังมีการต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย โดยในระหว่างการก่อสร้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่เขื่อนแห่งนี้หลายครั้งด้วยพระราชประสงค์จะพระราชทานกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน และทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า

"...คนที่เข้าถึงพื้นที่ได้ ย่อมมีโอกาสทำงานสำเร็จ..."

ในวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างเขื่อนบางลาง พระองค์ได้เสด็จฯฝายละแอ ซึ่งเป็นฝายทดน้ำขนาดเล็กจากคลองละแอ ที่สร้างด้วยการเจาะอุโมงค์ขนาดเล็กและต่อท่อส่งน้ำไปให้ประชาชนในหมู่บ้านสันติใช้ พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กราบบังคมทูลว่า น้ำประปาไหลแรง เพราะต่อน้ำลงมาจากที่สูง ทำให้ก๊อกน้ำเสียเป็นประจำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งว่า

"ถ้าน้ำแรง...ทำไมไม่คิดทำไฟฟ้าด้วย"

จากแนวพระราชดำริดังกล่าว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติขึ้นบริเวณเหนือเขื่อนบางลาง โดยติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด ๑,๒๗๕ กิโลวัตต์ จำนวน ๑ เครื่อง และติดตั้งท่อส่งน้ำยาว ๑,๘๐๐ เมตร สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕

โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันตินับเป็นโรงไฟฟ้าใต้ภูเขาแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการควบคุมด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงด้วยการเดินเครื่องในระบบอัตโนมัติ สามารถสั่งการและควบคุมการเดินเครื่องโดยตรงจากโรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง สามารถอำนวยประโยชน์แก่ราษฎรในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยาง จังหวัดเชียงใหม่

เป็นโรงไฟฟ้าอีกแห่งหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระราชอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการนำพลังงานน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเป็นอย่างดี พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เล่าว่า

"พระองค์ท่านทรงมีความรู้ว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำสามารถทำได้สองแบบ แบบแรกได้จากการที่น้ำไหลจากที่สูงลงมาพัดกังหันเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ส่วนอีกแบบหนึ่งคือ น้ำไหลในทางราบ ซึ่งหากไหลอยู่ตลอดเวลาก็ทำให้กังหันเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุนได้เช่นกัน เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นทางน้ำไหลอยู่ตลอดเวลาที่บ้านยาง จึงทรงมีพระราชดำริให้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการสร้างไฟฟ้าที่นี่ ทรงมีพระราชประสงค์ให้ผลิตไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานของโรงงานแปรรูปผลไม้ เพราะเวลานั้นยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึงหมู่บ้านดังกล่าว"

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศจึงก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยางในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เมื่อแล้วเสร็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๗

โรงไฟฟ้าบ้านยางสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ ๐.๔ ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง นอกจากช่วยให้โรงงานแปรรูปผลไม้สามารถดำเนินงานได้แล้ว ยังช่วยจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่หมู่บ้านยางและหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย

โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านขุนกลาง จังหวัดเชียงใหม่

เป็นโรงไฟฟ้าสร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงมีพระราชดำริให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยศึกษาและพัฒนาพลังน้ำของน้ำตกสิริภูมิ ซึ่งอยู่บนดอยอินทนนท์ในเขตหมู่บ้านขุนกลาง มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งให้กับหมู่บ้านชาวไทยภูเขาและพื้นที่การเกษตรของโครงการหลวงบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่

โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เดิมเป็นฝายกั้นน้ำขนาดเล็ก ปิดกั้นลำน้ำแม่งัด ในพื้นที่ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๑๖ ได้เกิดอุทกภัยขึ้น ทำให้ฝายได้รับความเสียหายจนใช้การไม่ได้กรมชลประทานจึงได้พิจารณาดำเนินการซ่อมแซมฝาย

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโครงการดังกล่าว และทรงมีพระราชดำริว่า "โครงการประเภทไหนถ้าพิจารณาดูแล้วเห็นว่าสามารถอำนวยประโยชน์ได้มากกว่า ก็สมควรจะเลือกสร้างโครงการประเภทนั้น" กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมมือกันก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลในปี พ.ศ.๒๕๒๐ โดยกรมชลประทานดำเนินการสร้างเขื่อน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดูแลเรื่องโรงไฟฟ้า แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ตัวเขื่อนมีลักษณะเป็นเขื่อนดินถมสูง ๕๙ เมตร ยาว ๑,๙๕๐ เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุ ๒๖๕ ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำ ให้พื้นที่เพาะปลูกได้ ๑๘๘,๐๐๐ ไร่

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำและติดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด ๔,๕๐๐ กิโลวัตต์ จำนวน ๒ เครื่อง รวม ๙,๐๐๐ กิโลวัตต์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละประมาณ ๒๙ ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามว่า "เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล" เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๙ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๙

เขื่อนพรมธารา จังหวัดชัยภูมิ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการก่อสร้างเขื่อนจุฬาภรณ์ ทรงมีพระราชดำริว่า ลำห้วยซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำพรมเหนือเขื่อนจุฬาภรณ์เป็นลำห้วยขนาดใหญ่ มีน้ำไหลตลอดปี สมควรศึกษารายละเอียดเพื่อพิจารณาก่อสร้างเขื่อนหรือฝายขนาดเล็กและเจาะอุโมงค์ผันน้ำลงมายังเขื่อนจุฬาภรณ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงทำการศึกษาและก่อสร้างเขื่อนพรมธาราขึ้น ทำให้สามารถผันน้ำมาลงเขื่อนจุฬาภรณ์ได้ถึงปีละ ๒ ล้านลูกบาศก์เมตรส่งผลให้เขื่อนจุฬาภรณ์สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นอีกปีละประมาณ ๒ ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

เขื่อนพรมธาราจึงแสดงให้เห็นถึงพระราชอัจฉริยภาพในการประดิษฐ์ คิดค้น ดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด

โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนห้วยกุ่ม จังหวัดชัยภูมิ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนจุฬาภรณ์ ทรงมีพระราชดำริให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนอีกแห่งบริเวณใต้เขื่อนจุฬาภรณ์ห่างออกไปประมาณ ๔๐ กิโลเมตร เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกร พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เล่าถึงการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นว่า

"พอกราบบังคมทูลว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม ที่เสด็จมาเปิดเขื่อนเล็ก ๆ พระองค์ท่านก็ทรงมีรับสั่งว่า 'นี่คือเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดของฉันแล้ว' "

เขื่อนห้วยกุ่มนอกจากช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรบริเวณลำน้ำพรมตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ ๘๐,๐๐๐ ไร่แล้ว ยังเป็นเขื่อนที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละประมาณ ๑๓,๐๐๐ กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงอีกด้วย เป็นอีกโครงการพระราชดำริที่ทรงคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวอย่างของการใช้ทรัพยากรเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

โรงไฟฟ้าพลังน้ำคลองช่องกล่ำ จังหวัดสระแก้ว

เดิมบริเวณดังกล่าวซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเชิงเขาบรรทัดแถบชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดสระแก้ว มีสภาพป่าเสื่อมโทรมถูกบุกรุกทำลาย ราษฎรประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร และในเวลานั้นยังเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบกับผู้ก่อการร้ายอีกด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ก่อสร้างเขื่อนช่องกล่ำตอนบน เขื่อนช่องกล่ำตอนล่าง และเขื่อนท่ากระบาก โดยแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๒๔

เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ ทรงมีพระราชดำริให้พิจารณานำน้ำที่ระบายจากเขื่อนมาใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าก่อนระบายน้ำไปใช้ในการเกษตรและทรงมีพระราชดำริให้เพิ่มความสูงของเขื่อนคลองช่องกล่ำตอนบนอีก ๒ เมตร หรือตามความเหมาะสม เพื่อให้อ่างเก็บน้ำมีความจุมากขึ้นและสามารถเพิ่มกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้นตามไปด้วย

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงพัฒนาสร้างเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำคลองช่องกล่ำตอนบนที่ตำบลหนองน้ำใส อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้กับเครื่องสีข้าวและไฟฟ้าแสงสว่างสาธารณะในหมู่บ้าน ๓ แห่ง คือ คลองทราย คลองคันโท และท่ากระบาก ของจังหวัดสระแก้ว

โรงไฟฟ้าพลังน้ำไอกะเปาะ จังหวัดนราธิวาส

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนสมาชิกนิคมพัฒนาภาคใต้ ณ สำนักสงฆ์โต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส หลังจากทอดพระเนตรนาขั้นบันได นาข้าวไร่ บริเวณหมู่บ้านภูเขาทอง และการทดลองปลูกข้าวที่โครงการฝายทดน้ำโต๊ะโมะแล้ว พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำเกี่ยวกับการชลประทานและงานต่าง ๆ ทรงแนะให้พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างฝายเก็บน้ำไอกะเปาะพร้อมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อนำไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องสีข้าวขนาด ๒๕ กิโลวัตต์ ที่ราษฎรน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสำหรับติดตั้งบริเวณสำนักสงฆ์ต่อไป นอกจากนั้น กำลังไฟฟ้าส่วนที่เหลือสามารถนำไปใช้ในหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียง อันได้แก่ หมู่บ้านไอกะเปาะ หมู่บ้านโต๊ะโมะ และหมู่บ้านลำธารทองได้อีกด้วย

หลังจากศึกษาความเป็นไปได้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน (สำนักงานพลังงานแห่งชาติในเวลานั้น) จึงเริ่มก่อสร้างฝายเก็บน้ำไอกะเปาะและโรงไฟฟ้าพลังน้ำตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๒๖ และแล้วเสร็จในเดือน กันยายน พ.ศ.๒๕๒๗

โรงไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล จังหวัดจันทบุรี

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนคิรีธาร อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เดิมชื่อโครงการห้วยสะพานหิน ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดกลางของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน คุณสิริพร ไศละสูต อดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เล่าถึงการถวายรายงานในครั้งนั้นว่า

"เมื่อถวายรายงานว่า หลังจากนี้กรมจะสร้างฝายยางเพื่อกั้นน้ำและปล่อยน้ำไปช่วยทางจังหวัดตราดพระองค์รับสั่งว่า "ยังไม่วิกฤติ ยังน้อย คนที่ต้องช่วยเขาก่อนจะอยู่ทางด้านทุ่งเพล เพราะขาดน้ำมากกว่า"...

สิ่งที่พระองค์ท่านรับสั่งเป็นเรื่องที่เราคาดไม่ถึง ในสายพระเนตรของพระเจ้าอยู่หัว ทุกคนคือราษฎร พระองค์ท่านไม่ได้โปรดใครเป็นพิเศษเป็นการเฉพาะ แต่ทรงมองถึงเหตุและความจำเป็น ในขณะที่เราเห็นว่าการสร้างฝายแห่งหนึ่งดีกว่า พระองค์ท่านไม่ได้รับสั่งให้เราหยุดทำ แต่รับสั่งให้ไปพิจารณาว่าควรทำอีกแห่งหนึ่งด้วย...

พระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้หมายความว่าพระองค์ท่านรับสั่งให้ไปทำ แต่เหมือนพระองค์ท่านพระราชทานคำแนะนำ และทรงกระตุ้นผู้ปฏิบัติงานให้ทบทวนว่าทำงานละเอียดรอบคอบแล้วหรือไม่ การที่พระองค์ท่านทรงมีแนวพระราชดำริ ผู้นำไปปฏิบัติต้องคิดพิจารณาต่อด้วย ถ้าศึกษาแล้วไม่คุ้ม ทำไม่ได้ พระองค์ก็ไม่ทรงว่าอะไร เท่าที่เคยรับพระราชดำริมา ยังไม่มีพระราชดำริใดที่ทำไม่ได้หรือทำแล้วไม่คุ้ม"

ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กำลังก่อสร้าง อยู่ในเขตกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ และอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี มีขนาดกำลังผลิตรวม ๙.๘ เมกะวัตต์ เมื่อแล้วเสร็จสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ ๒๘.๑๖ ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

"เรียกได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเอตทัคคะทางด้านน้ำและฝน ทุกวันนี้แทนที่หน่วยงานราชการจะถวายรายงานพระองค์ท่าน แต่กลายเป็นพระองค์ท่านมีพระราชดำริและพระราชทานคำแนะนำแก่หน่วยงานราชการต่าง ๆ"

ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ ผู้ก่อตั้งและอดีตเลขาธิการการพลังงานแห่งชาติ

"...พระองค์ท่านทรงห่วงใยประชาชนที่ยากลำบาก เช่น ชาวเขา ชาวบ้านในชนบท ที่ยังขาดปัจจัยด้านน้ำและไฟฟ้า ทรงมีพระราชดำริให้มีการสร้างฝายเล็ก ๆ ขึ้น เพราะ "น้ำ"เป็นปัจจัยที่จำเป็นด้านอุปโภคบริโภค "ไฟฟ้า"เองก็มีใช้กันในเมือง แต่ชนบทยังขาดแคลน ทรงเห็นว่าน่าจะใช้น้ำไปเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเล็ก ๆ เพื่อให้ชาวบ้านในชนบท ได้มีไฟฟ้าใช้ กฟผ.นำแนวพระราชดำริมาพัฒนาจัดทำเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ...

พระองค์ทรงดูแลทุกข์สุขของประชาชนที่ขาดปัจจัยพื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่องน้ำ ในยามปกติจะทรงขอทราบข้อมูลเรื่องน้ำในเขื่อนเป็นประจำ ดูเรื่องน้ำที่จะใช้อุปโภคบริโภค รวมถึงในยามที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยก็มีโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ เช่น โครงการแก้มลิง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน...

จะเห็นได้ว่าพระองค์ท่านทรงห่วงใยแลดูแลทุกข์สุขของประชาชน ซึ่งกฟผ.ได้น้อมนำแนวทางของพระองค์ท่านมาใช้ในการดำเนินงานเพื่อสร้างความผาสุกให้กับประชาชน และ กฟผ. เองก็ได้ร่วมให้การช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนทุกครั้ง หรือในยามปกติ กฟผ. ก็จะดูแลช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษา ศาสนา สาธารณสุข อยู่เป็นประจำ"

คุณไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย


ที่มา : พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย