เศรษฐกิจพอเพียง...หนทางสู่การพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน


พระราชดำรัส


"...มาเร็ว ๆ นี้ .โครงการต่าง ๆ โรงงานเกิดขึ้นมามาก จนกระทั่งคนนึกว่าประเทศไทยนี้ จะเป็นเสือตัวเล็ก ๆ แล้วก็เป็นเสือตัวโตขึ้น. เราไปเห่อว่าจะเป็นเสือ.

ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ. สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน. แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง. อันนี้ก็เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง. อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรืออำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร. บางสิ่งบางอย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็มาบอกว่าล้าสมัย. จริง อาจจะล้าสมัย คนอื่นเขาต้องมีการเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจการค้าไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา. แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า ผลิตให้พอเพียงได้..."

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคล เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันพฤหัสบดีที่ ๔ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๐

เศรษฐกิจพอเพียง

"เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๒๕ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

ประมวลและกลั่นกรองจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งพระราชทานในวโรกาสต่าง ๆ รวมทั้งพระราชดำรัสอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

"เศรษฐกิจพอเพียง" แนวพระราชดำริซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พสกนิกร เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข บนหลักความ "มีเหตุผล", "พอประมาณ" และ "มีภูมิคุ้มกัน" ซึ่งมีเป้าหมายให้สังคมไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งการพัฒนาพลังงานของไทย

หลักของการมีเหตุผล

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นแหล่งพลังงานใหญ่ของโลกนับวันมีแต่จะหมดลง สวนทางกับความต้องการบริโภคน้ำมันที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ การคิดค้นพัฒนาแหล่งพลังงานอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยซึ่งมีแหล่งน้ำมันดิบของตนเองไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ต้องเสียเงินนำเข้าจากต่างประเทศในแต่ละปีนับแสนล้านบาท

แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเกี่ยวกับการพัฒนาพลังงาน เป็นตัวอย่างของการคิดค้นพัฒนาแหล่งพลังงานอื่น ๆ อย่างมีเหตุผล ดังจะเห็นได้จากเมื่อทรงมีพระราชดำริในเรื่องใด พระองค์ท่านจะทรงมีรับสั่งให้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ ผลดีผลเสีย ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ก่อนการดำเนินการทุกครั้ง

ยิ่งไปกว่านั้น แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังเป็นการมองอย่างองค์รวม ไม่ได้ทรงแยกคิดแยกแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียว ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนในเรื่องของการใช้พลังงานน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า การสร้างเขื่อนหรือฝายแต่ละแห่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระราชดำริให้ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำไปพร้อม ๆ กัน อันเป็นการจัดการ "น้ำ" เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสูด

นอกจากนั้นโครงการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็ก ซึ่งมุ่งผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนบริเวณดังกล่าวเป็นหลัก ลดการนำเข้าพลังงานจากภายนอกท้องถิ่น ซึ่งเป็นตัวอย่างการค้นหาและนำพลังงานที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และหากชุมชนสามารถพึ่งพาพลังงานที่ผลิตขึ้นได้เองภายในชุมชนหรือนำเข้าพลังงานจากภายนอกท้องถิ่นให้น้อยที่สุด ก็ย่อมช่วยให้การพัฒนาพลังงานในระดับประเทศมั่นคงและยั่งยืนตามไปด้วย

หลักการแห่งความมีเหตุผลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ทำให้ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลไปถึงอนาคตอย่างเช่นเรื่องน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เมื่อทรงมีพระราชดำริให้มีการศึกษาวิจัยนั้น น้ำมันราคาถูก แต่เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลว่าในอนาคตข้างหน้า น้ำมันมีแต่จะหมดไป ขณะที่คนต้องการใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น ราคาน้ำมันจึงจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน หากจะรอให้น้ำมันแพงเสียก่อน ค่อยมาคิดศึกษาวิจัยก็คงไม่ทันต่อความต้องการ จึงมีพระราชดำริให้เริ่มศึกษาตั้งแต่เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนเป็นการศึกษาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเป็นที่ประจักษ์ถึงคุณประโยชน์อเนกอนันต์ของแนวพระราชดำริดังกล่าว

การพัฒนาพลังงานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไบโอดีเซล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ก็ล้วนเกิดขึ้นบนหลักของความมีเหตุผลนี้เช่นเดียวกัน

หลักแห่งความพอประมาณ

การดำเนินการของโครงการอันเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นตามแนวพระราชดำรินั้นล้วนแต่ยึดหลักความพอประมาณทั้งสิ้น ซึ่งก็คือความพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป

พระราชดำริเกี่ยวกับโครงการพัฒนาพลังงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังน้ำ เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ฯลฯ ไม่ได้เน้นที่ขนาดความใหญ่โตของโครงการ แต่พิจารณาความเหมาะสมและพอเพียงต่อการใช้งานเป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธโครงการขนาดใหญ่ หากเป็นไปตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์ของคนเป็นจำนวนมาก

หลักแห่งความพอประมาณ ช่วยให้การพัฒนาพลังงานในประเทศไทยค่อยเติบโตอย่างมั่นคง นำไปสู่ความยั่งยืนได้ในที่สุด

เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

แนวพระราชดำริอันเกี่ยวเนื่องกับกิจการพัฒนาพลังงานที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศ เรื่องที่เห็นอย่างชัดเจนก็คือ แนวพระราชดำริให้ศึกษาวิจัยเรื่องน้ำมันแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนผู้คนในวงการพลังงานต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า หากไม่ใช่เพราะพระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว การนำน้ำมันแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลมาใช้ในประเทศไทยคงไม่ก้าวหน้ารวดเร็วเช่นในทุกวันนี้ และอาจต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์น้ำมันมากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน

ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาวิจัยและพัฒนาพลังงานตามแนวพระราชดำรินั้น มุ่งเน้นการคิดค้นพัฒนาทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น รวมทั้งเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยเป็นหลัก

จะเห็นได้ว่า การพัฒนาพลังงานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนและการพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง เพราะเป็นการพัฒนาที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศด้วยเทคโนโลยีอันเกิดจากการศึกษาวิจัยของไทยเอง จึงเหมาะสมกับการใช้งานอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน การใช้ทรัพยากรภายในประเทศไม่เพียงช่วยให้มีพลังงานใช้ภายในประเทศอย่างพอเพียงเท่านั้นยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ เท่ากับช่วยเพิ่มปริมาณเงินทุนหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศมากขึ้นด้วยเช่นกัน

การยึดหลัก "เศรษฐกิจพอเพียง" ในการพัฒนาพลังงาน จึงเป็นหนทางนำไปสู่การพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง


โครงการสนองแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสนับสนุนแนวพระราชดำริเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" จึงเกิดโครงการเพื่อสนองแนวพระราชดำริมากมายหลายโครงการ อันได้แก่


โครงการชีววิถี


"เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งช่วยพสกนิกรไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขและยั่งยืน

โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นโครงการเพื่อสนองแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจในการทำการเกษตรบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองด้วยการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์น้ำ ปศุสัตว์รวมไปถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดบรรยายและสาธิตเกี่ยวกับการทำเกษตร จัดทำเอกสาร หนังสือ เพื่อเผยแพร่ความรู้ชีววิถีแก่เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และผู้สนใจทั่วไป