การพัฒนาพลังงานทดแทน


"ประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๔ เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในอิหร่าน มีการสู้รบกัน น้ำมันขาดแคลนและราคาพุ่งสูงมาก ประเทศไทยตอนนั้นยังพึ่งพาน้ำมันยิ่งกว่าตอนนี้อีก ก๊าซธรรมชาติก็ยังไม่ได้ขุดขึ้นมาใช้ ช่วงนั้นลำบากมากเรื่องราคาน้ำมัน...

จำได้ว่าเริ่มมีข่าวโครงการพระราชดำริแล้ว ในขณะที่รัฐบาลยังไม่คิดกันเลย เพราะคิดแต่ว่าราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงเพราะการเมือง ทุกคนคิดว่าเดี๋ยวเลิกรบราคาก็ถูกลงเอง ปี ๒๕๒๘-๒๕๒๙ ราคาถูกลง ทุกคนก็สบายใจว่าคงไม่มีปัญหาอะไร ตอนนั้นก็โครงการพระราชดำริเรื่องเอทานอลและ ไบโอดีเซลก็มีการวิจัยทดลองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลเพิ่งจะมามองเรื่องนี้ช่วงปี ๒๕๔๐ ถ้าจำไม่ผิดเป็นเรื่องของพืชผลการเกษตรราคาตกต่ำ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์มขายไม่ออก ถึงได้เริ่มหันมามองว่าเอามาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้ไหน...

"ประมาณปีพ.ศ. ๒๕๒๔ เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในอิหร่าน มีการสู้รบกัน น้ำมันขาดแคลนและราคาพุ่งสูงมาก ประเทศไทยตอนนั้นยังพึ่งพาน้ำมันยิ่งกว่าตอนนี้อีก ก๊าซธรรมชาติก็ยังไม่ได้ขุดขึ้นมาใช้ ช่วงนั้นเราลำบากมากเนื่องน้ำมัน"

เรื่องเอทานอล มีนักวิชาการบางท่านเริ่มทำ แต่สิ่งที่พวกเราเห็นกันต่อเนื่องมาตลอดคือ โครงการพระราชดำริมีการพัฒนาไม่เคยหยุดหย่อน พัฒนาต่อเนื่อง ต้องถือว่าผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการพระราชดำริคือองค์ความรู้แห่งเดียวของเมืองไทยที่มีอย่างต่อเนื่อง พัฒนาจากสิ่งที่เรามีอยู่ จากวัสดุในเมืองไทย และนำมาใช้กับรถยนต์ในเมืองไทย ไม่ใช่ จากตำราต่างประเทศ...

นอกจากนั้นเมื่อรัฐบาลเริ่มพัฒนาโครงการนี้อย่างจริงจัง คนไทยก็เชื่อว่ามันทำได้ เพราะโครงการส่วนพระองค์ทดลองใช้มานานแล้ว ผมว่ารัฐบาลได้ประโยชน์เต็มๆ เพราะเมื่อถึงเวลาที่ตนเองมาส่งเสริม ไม่ต้องพูดมาก กระแสยอมรับมีอยู่แล้ว ประเทศเพื่อนบ้านเรายังติดขัดกันอยู่เลย เพราะประชาชนไม่เชื่อว่าใช้แล้วรถไม่พัง การที่เรามีองค์ความรู้ต่อเนื่องกันมามีส่วนส่งเสริมกับภาวการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน...

ถ้าเราไม่ได้มีพื้นฐานทีได้ศึกษากันไว้เลย ต้องช้ากว่านี้แน่นอน ถ้าเราไม่รู้จักแก๊สโซฮอล์หรือไบโอดีเซลเลย ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน มาเริ่มต้นกันใหม่ มันก็ต้องไปเริ่มจากพืช ว่าจะเอาพืชอะไรมาผลิตแอลกอฮอล์ แล้วคุณสมบัติควรจะต้องเป็นอย่างไร เติมเครื่องยนต์แล้วมีผลเสียอะไรหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ต้องมีประสบการณ์จริงเท่านั้น จึงจะนำไปยืนยันกับผู้คนได้ อันนี้ชัดเจนว่าองค์ความรู้ที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นพื้นฐานคือองค์ความรู้จากประสบการณ์ที่เป็นผลมาจากโครงการพระราชดำริทั้งนั้น แถมเมื่อเริ่มต้นออกสู่ตลาด อาจพูดได้ว่าเหมือนน้ำมันพระราชทาน เพราะน้ำมันที่ผสม ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๕ เปอร์เซ็นต์ มีแหล่งเดียวที่ผลิตในประเทศไทย คือขอรับไปจากโครงการพระราชดำรินี่ละครับ"

ดร.ส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ เสริมว่า

"เราจะพบว่าพระองค์ท่านทรงทำการวิจัยค้นคว้ามาโดยตลอด บางช่วงราคาน้ำมันลงไป พระองค์ท่านก็ไม่ได้หยุดยั้งยังทรงให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างโรงงานขึ้นในสวนจิตรลดา เชื่อหรือไม่ เมื่อประเทศเผชิญวิกฤติราคาน้ำมันครั้งที่ ๓ ปั๊มในสวนจิตรลดาเป็นปั๊มแรกที่นำเอทานอลมาผสมและจำหน่ายบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน หลังจากนั้นจึงเป็นภาคเอกชนค่อยๆเกิดตามมา ผมจึงเรียนว่าจะไม่ประทับใจต่อพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านได้อย่างไร"

" องค์ความรู้ที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นพื้นฐานคือองค์ความรู้จากประสบการณ์ที่เป็นผลมาจากโครงการพระราชดำริทั้งนั้น "


 


การดำเนินการพัฒนาพลังงานเพื่อสนองแนวพระราชดำริ

เอทานอล

นโยบายเกี่ยวกับแก๊สโซฮอล์ของกระทรวงพลังงานเริ่มในปี พ.ศ.๒๕๔๖ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ปี พ.ศ.๒๕๔๗ - ๒๕๔๗ ทดลองใช้เอทานอลสาร MTBE ในน้ำมันเบนซิน ออกเทน ๙๕ โดยกำหนดให้ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ จะใช้แอลกอฮอล์ ๓ ล้านลิตรต่อวัน สำหรับการผสมในอัตราส่วนร้อยละ ๑๐ ในแก๊สโซฮอล์ ๙๕ และ ๙๑

สำหรับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทน้ำมันที่ดำเนินการสนองแนวพระราชดำริเรื่องแก๊สโซฮอลล์ ดร.ส่งเกียรติอธิบายว่า "เราประสานงานกับภาครัฐบาลมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องการจัดหาเอทานอล ปตท. เริ่มจำหน่ายแก๊สโซฮอล์แห่งแรกที่สถานีบริการของ ปตท. สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๔ ปัจจุบันใน พ.ศ. ๒๕๔๙ ปตท. มีสถานีบริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์มากที่สุด จำนวน ๑,๑๙๗ สถานีปริมาณจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ทั้ง ๙๑ และ ๙๕ รวมกันประมาณ ๓.๗ ล้านลิตรต่อวัน"

ไบโอดีเซล

คณะรัฐมนตรีกำหนดให้ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ - ๒๕๔๘ มีการทดลองตลาดไบโอดีเซล B2 และ B5 ปัจจุบันมีความต้องการใช้ไบโอดีเซล B5 รวมวันละ ๕๐๐,๐๐๐ ลิตร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดหาเมทิล เอสเตอร์ B100 จากผู้ผลิตรายย่อยในปริมาณวันละ ๑๖,๖๐๐ ลิตร นำมาผสมได้ไบโอดีเซล B5 วันละ ๓๐๐,๐๐๐ ลิตร

และในปี พ.ศ.๒๕๕๐ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะสามารถจัดหาเมทิล เอสเตอร์ B100 จากโรงงานบริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด (TOL) ที่มีกำลังผลิตเมทิล เอสเตอร์ B100 ๒๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี หรือประมาณวันละ ๖๐๐,๐๐๐ ลิตร ซึ่งสามารถนำไปผลิตไบโอดีเซล B5 ได้วันละ ๑๒ ล้านลิตรและเมื่อรวมกับกำลังผลิตของบริษัท ทักษิณปาล์ม จำกัด และบริษัท ไบโอเอ็นเนอยี่พลัส จำกัด จะทำให้สามารถผลิตไบโอดีเซล B5 ได้วันละ ๒๒ ล้านลิตร ปัจจุบันบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีการจำหน่ายดีเซลทั้งหมดประมาณวันละ ๑๖ ล้านลิตร

"และในปีพ.ศ. ๒๕๕๐ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะสามารถจัดหาเมทิล เอสเตอร์ B100 จากโรงงานบริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด (TOL) ที่มีกำลังผลิตเมทิลเอสเตอร์ B100 ๒๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี หรือประมาณวันละ ๖๐๐,๐๐๐ ลิตร ซึ่งสามารถนำไปผลิตไบโอดีเซล B5 ได้วันละ ๑๒ ล้านลิตร"

ส่วนไบโอดีเซลจะมีปัญหาเรื่องปริมาณวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตไบโอดีเซลเหมือนกับเอทานอลหรือไม่ คุณเมตตาระบุว่า

"เรามีบทเรียนจากเอทานอล คงไม่เกิดกรณีอย่างนั้นอีก มันเป็นเรื่องของการจัดการสองด้าน ขณะที่เราส่งเสริมการปลูกพืช ให้มีโรงงานเกิดขึ้นมา เราก็ต้องไปจัดการด้านการจำหน่าย เตรียมหาผู้จำหน่ายรองรับไว้ด้วย ภาครัฐต้องบริหารให้เท่ากัน...

ช่วงแรกๆ การบริหารจัดหาให้มีโรงงานผลิตออกมา ในขณะที่ภาคจำหน่ายยังรองรับไม่หมด ก็มีเสียงบ่นโวยวายมาจากโรงงานว่ารัฐบาลไม่จริงใจ พอเราส่งเสริมด้านการจำหน่าย กลายเป็นว่าความต้องการมากกว่ากำลังผลิต ทำให้ราคาสูงขึ้น ก็มีเสียงบ่นว่าโรงงานถือโอกาส นั่นเป็นบทเรียนที่ได้จากแก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซลก็คงมีปัญหาบ้าง แต่คงน้อยกว่า เพราะเรารู้แล้วว่าต้องทำอย่างไร"

สำหรับกรณีปัญหาเรื่องการนำพืชอาหารมาทำเป็นเชื่อเพลิงส่งผลกระทบต่อปริมาณอาหารหรือไม่ คุณเมตตาอธิบายว่า

"ผมเชื่อว่าถ้าพืชถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงจริงๆ มันจะเกิดจากแยกตัวของการปลูกจะไม่เกี่ยวกัน สังเกตจากตอนนี้ อ้อย น้ำตาลในสหรัฐฯ ในบราซิล ชนิดนำมาบริโภคกับนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงก็ไม่เหมือนกัน ผมเชื่อว่าอย่างปาล์มก็คงไม่เหมือนกัน น้ำมันปาล์มที่เราใช้บริโภคคุณภาพดีเกินไป ควรหาปาล์มต้นทุนต่ำกว่านี้ ทำให้ถูกที่สุด...

ทางเลือกในการบริโภคอาหารมีหลากหลาย แต่ทางเลือกของเชื้อเพลิงมันจำกัดกว่า ผมว่าต้องเผื่อแผ่กันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่มองว่ามันเป็นอาหารก็ต้องนึกว่าจำเป็นต้องเอาไปแทนที่เชื้อเพลิงบางส่วนก็ต้องเอาไป ส่วนผู้บริโภคอาหารก็หาอย่างอื่นทดแทนไป อาหารนี่ทางเลือกสูงมาก ไม่อย่างนั้นประเทศผู้ผลิตอาหารไม่เสียเปรียบอย่างทุกวันนี้ ไม่เคยมีอำนาจต่อรองเหนือใครเลย เพราะว่าผู้ซื้อมีทางเลือกมหาศาล อาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้างในช่วงแรก แต่ผมเชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งมันจะแยกตัวกัน"

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐานและทดสอบคุณภาพของไบโอดีเซลกับภาครัฐมาโดยตลอด และกำลังดำเนินการก่อสร้างโรงงานต้นแบบของตนเองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไบโอดีเซลให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ

ส่วนการพัฒนาพลังงานทดแทนในอนาคตมีทิศทางเป็นอย่างไรนั้นในฐานะบริษัทผู้ผลิตน้ำมัน ดร.ส่งเกียรติสรุปว่า

"ผมเรียกว่าอีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า น้ำมันก็ยังมีอยู่ แต่จะเป็นน้ำมันที่ไม่ใช่น้ำมันที่ผลิตอยู่ในปัจจุบัน มันจะเป็นน้ำมันจากก๊าซธรรมชาติก็ได้ มีโรงงานที่ผลิตแล้วที่กาตาร์ นำก๊าซธรรมชาติมาเปลี่ยนเป็นน้ำมันดีเซล ที่สะอาดมาก สีใสเหมือนน้ำเลย ถ่านหินก็สามารถนำมาทำเป็นน้ำมันดีเซลได้เช่นกัน แล้วก็ได้ก๊าซธรรมชาติมาด้วย ทาร์แซนด์ (tar sands) ที่แคนาดาซึ่งมีมากมายมหาศาล ก็นำมาทำน้ำมันได้ เซลล์ออยล์ที่จีนแดงไปร่วมลงทุนกับบริษัทในแคนาดาเริ่มผลิตอยู่ ส่วนแหล่งน้ำมันในทะเลต่อไปจะมาจากความลึกระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐ เมตร ถ้าน้ำมันยังราคาสูงต่อไป จะมีแหล่งน้ำมันมาจากที่ลึกมาก เรียกว่าซูเปอร์ดีป คือ ๒,๐๐๐ เมตร หรือถ้าเกิน ๑๐๐ ปีขึ้นไป หาอะไรไม่ได้แล้ว ใต้ทะเลลึกยังมีดีไฮเดรตแก๊ส คือก๊าซมีเทน ซึ่งถูกแรงกดดันของน้ำทะเลและอุณหภูมิของน้ำทะเล ทำให้ก๊าซธรรมชาติเป็นน้ำแข็งอยู่ใต้ทะเลลึก

ถ้านำเอาขึ้นมาเปลี่ยนเป็นน้ำมัน อีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า รถยนต์ก็ยังเป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน แต่อยู่ที่ราคาจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา เช่น รถยนต์ไฮบริด รถยนต์ขนาดเล็ก แต่ว่ายังคงใช้น้ำมัน แต่จะเป็นน้ำมันที่เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ...

ปตท. มองว่าเราต้องศึกษาเรื่องเทคโนโลยีหาทางเรียนรู้วิธีของเราสถาบันวิจัยและเทคโนโลยีของปตท. กำลังจะติดตั้ง fuel cell ที่ศูนย์วิจัยวังน้อย เพื่อผลิตไฮโดรเจน และนำไฮโดรเจนไปผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณปีหน้าจะเริ่มทดลองเดินเครื่อง ส่วนเรื่องน้ำมันเราเชื่อว่ายังอยู่ได้อีก ๑๐๐ ปี แต่จะมาจากหลากหลายรูปแบบ ส่วนราคาคงอยากให้น้ำมันราคาอยู่ในระดับ ๒๐ - ๓๐ เหรียญต่อบาร์เรลอีก"

การพัฒนาพลังงานทดแทนอื่นๆ จึงมีความจำเป็นต่อโลกในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


โครงการตามแนวพระราชดำริ อันเกี่ยวเนื่องกับกิจการพลังงาน


๖๐ ปีที่ทรงครองราชย์ คือ ๖๐ ปีแห่งพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรทั่วแผ่นดิน ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพื้นฐาน สร้างแนวคิด และศึกษาวิจัยหาวิธีผลิตพลังงานต่างๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งช่วยบรรเทาวิกฤติการณ์พลังงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างไม่ได้ผลเป็นรูปธรรม

แนวพระราชดำริอันเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาพลังงานนั้นครอบคลุมทุกด้าน อันได้แก่

พลังน้ำ...พลังแห่งน้ำพระราชหฤทัย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถในเรื่องเกี่ยวกับ "น้ำ" ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือนแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านทรงเน้นการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์และยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับชุมชนในละแวกใกล้เคียงในพื้นที่ชนบทห่างไกล เสริมการทำงานของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ของภาครัฐ

พลังงานชีวภาพ...พลังแห่งพระปรีชาญาณ

ในขณะที่คนทั่วไปมองว่าการนำพืชมาทำเป็นเชื้อเพลิงไม่คุ้มค่า แต่ด้วยสายพรนะเนตรอันยาวไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสให้โครงการส่วนพระองค์ศึกษาวิจัยการนำพืชมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงมานานกว่า ๒๐ ปี ทำให้ประเทศไทยมีทางเลือกมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตพลังงานในปัจจุบัน

พลังงานทดแทน...พลังแห่งสายพระเนตร

การพัฒนาพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เชื้อเพลิงอัดแท่ง ระบบผลิตน้ำเย็นโดยใช้พลังงานความร้อนจากแกลบ ล้วนแต่มีตัวอย่างกระจายอยู่ในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในภูมิภาคต่างๆ เพื่อปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาและนำไปปรับใช้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนเอง