ราชสดุดี ๖๐ ปี
ทรงพัฒนาพลังงานไทย


จากการบรรยายและเสวนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี จัดขึ้นเพื่อเป็นพระราชสดุดี โดยกระทรวงพลังงานด้วยความร่วมมือของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย


เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาพลังงาน


เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2549 กระทรวงพลังงานร่วมมือกับสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จัดเสวนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในหัวข้อ "เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาพลังงาน" ณ ห้องประชุมใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นวิทยากร ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

"พลังงานเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องใกล้ตัว เพราะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา ลองสังเกตดูสิครับ ทุกวันนี้เราเข้านอนด้วยสภาพจิตใจไม่ค่อยปกติ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อตื่นขึ้นมาค่าน้ำมันจะขึ้นไปอีกหรือเปล่า พรุ่งนี้ลิตรละเท่าไหร่ก็ยังไม่รู้ เมื่อเริ่มเข้าทำงานราชการนั้น น้ำมันลิตรละ 3-4 บาทเท่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าหลังเกษียณมาหกเจ็ดปี ราคาน้ำมันจะขึ้นมา 4 ลิตร 100 บาทแล้ว.....

แต่เดิมหลักชาวพุทธเราเคยกล่าวว่าสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตคือปัจจัยสี่ แต่พอมาเหลียวดูทุกวันนี้ ไม่ว่าการก่อสร้างบ้านอยู่อาศัย อาหารการกิน เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ล้วนแต่ใช้พลังงานเป็นส่วนประกอบที่สำคัญทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เราบริโภคก็ต้องอาศัยพลังงานในการปรุงแต่งทำให้เราได้สิ่งที่เป็นความสะดวกสบายต่างๆ....

ธรรมชาติให้เราอยู่ตลอดเวลา แต่เราก็มาสร้างบ้านหลบเสีย ปิดม่าน เปิดไฟฟ้า เปิดแอร์ ตั้งสติสักนิดเถอะครับ ผมคิดว่าเราใช้ชีวิตอย่างสิ้นเปลืองมากๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงเสนอเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมาให้เลือกใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิตบ้าง ไม่ใช่ให้ไปปลูกถั่ว ปลูกงาอย่างที่หลายคนเข้าใจ ไม่ใช่รัดเข็มขัดจนกลับไปเป็นคนยากจน พระองค์ท่านเพียงอยากให้เรามีชีวิตโดยใช้ปัญญา อย่าให้กิเลสตัณหาเป็นตัวนำอยู่ตลอดเวลาเพระกิเลสตัณหานั้นผลักดันให้เรามีความต้องการมากเกินเหตุที่ควรจะเป็นในชีวิตจริงๆ เสียด้วยซ้ำ"

"
เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีหลักสำคัญ
3 ประการ คือ ความมีเหตุผล พอประมาณ และมีภูมิคุ้มกันตนเอง
"


ความหมายของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีหลักสำคัญ 3 ประการ คือ ความมีเหตุผล พอประมาณ และมีภูมิคุ้มกันตนเอง ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ขยายความว่า

"คำแรก พระองค์ท่านรับสั่งว่า ทำอะไรด้วยเหตุผล อยู่ไปตามกระแส ตามอารมณ์ ไม่ใช่โลกของโลกาภิวัตน์อย่างนี้ ก็ไหลตามเขาไป โดยไม่ดูสภาพตัวเอง ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนการพัฒนาที่แล้วๆ มา....

คำว่ามีเหตุผลนี่ พระเจ้าอยู่หัวทรงตีความลึกซึ้ง พระองค์ท่านรับสั่งว่าโปรดเดินไปโรงเรียน พอเก็บหอมรอมริบได้ก็ซื้อจักยานขี่ไป รถคันแรกที่ทรงซื้อก็รถเก่าๆ ทรงซ่อมด้วยพระองค์เอง ทรงทำสีด้วยพระองค์เอง ทรงรู้จักค่าของเงิน อะไรที่ถูกและเรียบง่าย มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับชีวิตนี่คือหลักการของพระองค์ท่าน ทรงทำให้ดูตลอด 60 ปี จนกระทั่งทุกวันนี้ ใจเรานี่ไม่ได้ยึดติดกับพระเจ้าอยู่หัวจริงเลย ชื่นชมเหมือนเรากราบไหว้พระพุทธรูป

ลองไปดูภาพเก่าๆสิ ให้ผ่านมา 10 ปี 20 ปี จะสังเกตอย่างหนึ่งว่า ฉลองพระองค์ใช้พระองค์เดิม สองฉลองพระบาทคู่หนึ่งไม่กี่ร้อย ไม่เห็นต้องเอาแฟชั่นอะไรเลย ฉลองพระบาทใบ ไม่รู้ราชาศัพท์รองเท้าผ้าใบว่าอย่างไร ผมก็เรียกฉลองพระบาทใบ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตั้งแต่รุ่นเก่า พระองค์ท่านทรงพิจารณาเรื่องการใช้งาน คือ มันทำหน้าที่ได้ พระองค์ท่านก็ทรงใช้ พระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ด้วยความประหยัด ทรงใช้อย่างมีสติ คือประโยชน์มีแค่นี้ ใช้แค่นี้ ดินสอนี่ทรงใช้จนกระทั่งกุดเลย...

คำที่สอง ที่พระองค์ท่านรับสั่งไว้ คือ ทำอย่างไรพอประมาณ แม้แต่สุภาษิตไทยยังมีเลยครับ ประมาณตน คือ อย่าทำอะไรเกินตัว ผมอยากขยายความไปว่าก่อนจะทำอะไรนั้น ตรวจสอบศักยภาพของเราเสียก่อนว่าทุนของเราอยู่ตรงไหนอย่าไปตามกระแส ที่แล้วมาเราพัฒนาโดยไม่ได้ดูศักยภาพ เราอาศัยศักยภาพของคนอื่นมาพัฒนาประเทศของเราทั้งนั้น...

คำที่สาม คือ ทำอะไรให้มีภูมิคุ้มกัน ตราบใดที่พลังงานยังต้องพึ่งการนำเข้าในจำนวนที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่งทำอย่างไรจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันตัวนี้ให้ได้ กระทบอะไรก็ให้กระทบแต่พอสมควร เจ็บปวดนิดหน่อยดีกว่าล้มตาย เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ปีหน้าปีต่อไปจะเป็นอย่างไร ยิ่งโลกไม่สงบอยู่อย่างนี้ เราจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร ภูมิคุ้มกันเกือบไม่มีเลย เพราะฉะนั้นคำว่าภูมิคุ้มกันเป็นคำที่ต้องควรคำนึง บริษัท ห้างร้านองค์กรทุกองค์กรนั้นใช้คำว่า Risk Management หรือการบริหารความเสี่ยง...

ความจริงพระองค์ท่านทรงนำโลกอยู่ แต่ทรงใช้คำไทยโบราณ ไม่มีในคำศัพท์ภาษาฝรั่ง แต่มา ณ วันนี้ ฝรั่งก็ตามท่าน Risk Management นั่นคือ ภูมิคุ้มกันนั่นเอง ระวังอย่าให้เกิดความเสี่ยง คนไทยเราไม่มีใครพยายามแปลไปรอฝรั่งมาพูด พอพูด พอพูดทีก็โอ้โห...ตื่นเต้นกันทั้งบ้านทั้งเมือง พยายามแปลเป็นภาษาไทย อย่าง Good Governance นะ แปลกันใหญ่ว่า ธรรมาภิบาล พระเจ้าอยู่หัวเคยรับสั่งเมื่อ 60 ปีมาแล้วว่า 'เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม' คำว่า ธรรมสั้นๆ คือทำดี ถูกต้อง แต่ไม่มีใครสนใจ พระปฐมบรมราชโองการ 'เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม' ...

เมื่อกลางวัน ถ้าใครรับประทานอาหารมากเกินไป คุณรู้สึกอึดอัดไหม เมื่อกลางวันนี้ผมรีบมา กลัวไม่ทันรับประทานได้นิดเดียว เลยเป็นเด็กน้อยผู้หิวโหย หิวเกินไปก็ไม่ดี เหมือนรับสั่งที่เรียบง่ายของพระองค์ท่านว่า 'ให้มันพอเพียง' ไม่ให้ขาดไม่ให้เกิน เกินไปก็ทรมาน ให้มันพอดีเท่านั้น ถ้าบริโภคมากเกินไปจะเกิดอาการที่เรียกว่า 'จมไม่ลง' สำนวนไทยที่นี่หมด แต่เด็กๆ รุ่นใหม่ไม่ค่อยใช้ ไปใช้สุภาษิตแปล แต่ของไทยลืมหมด"


แนวพระราชดำริในด้านการพัฒนาพลังงาน

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานมาตั้งแต่คนทั่วไปยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นแนวพระราชดำริที่ทรงมองอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทุกคน

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยเรื่อง 'น้ำ' มาแต่แรกเริ่ม แม้กระทั่งเมื่อตอนไปเข้าเฝ้าๆ เมื่อไม่นานมานี้ พระองค์ก็ทรงรับสั่งถึงเขื่อนภูมิพล ซึ่งได้ประโยชน์หลากหลาย น้ำก็ได้ใช้ในการเกษตร ระหว่างน้ำผ่านเขื่อนลงไปก็นำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้ด้วย น่ามหัศจรรย์ใจอย่างยิ่งที่มีกระแสต่อต้านไม่ให้มีการใช้เขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า นักอนุรักษ์นี่ขอให้เป็นนักอนุรักษ์จริงๆ อย่าเป็นนัก 'อ' เฉยๆ ใครทำอะไรก็จะค้านหมด อย่างที่เคยคุยกับท่านผู้อำนวยการเขื่อนป่าสักฯว่า...

"
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการ
พัฒนาพลังงานมาตั้งแต่คนทั่วไปยังไม่ตระหนัก
ถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ยิ่งไปกว่านั้นยัง
เป็นแนวพระราชดำริที่ทรงมองอย่างรอบด้าน
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทุกคน
"

กว่าจะสร้างได้เลือดตาแทบกระเด็น สามารถเก็บกักน้ำได้ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ไม่ยอมให้ผลิตกระแสไฟฟ้า จะให้ใช้เพื่อการเกษตรอย่างเดียว แล้วน้ำที่ผ่านออกมาทุกวัน มันเป็นพลังงานที่ปล่อยให้สูญเปล่า จะติดตั้งเครื่องไฟฟ้าจะเสียเงินเพิ่มไปอีกสักเท่าไหร่ น้ำก็ต้องผ่านออกมามาอยู่ดี จะไปทางไหนก็ทำได้ทั้งนั้น มีเขื่อนอีกหลายเขื่อนที่สามารถทำไฟฟ้าได้ ไฟฟ้าเล็กไฟฟ้าน้อยก็สร้างเถอะครับ เพราะมันใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หลายฝ่ายก็ออกมาบอกว่าไม่ยอมให้สร้าง...

สายพระเนตรของพระองค์ท่านคือ สายตาที่เต็มไปด้วยปัญญา พยายามเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว พระองค์ท่านรับสั่งว่า ดูรอบๆ สิ เหลียวไปดูภูมิประเทศสิ เขาออกแบบไว้เรียบร้อยหมดแล้ว บริเวณลุ่มนั้น ฝนตกลงมาน้ำก็จะขังน้ำอยู่พอน้ำลดก็จะไหลลงไปที่ต่างๆ แตกซ่านเซ็นเป็นลำธารเล็กลำธารน้อย รวมกันเป็นแม่น้ำใหญ่ ไหลลงมหาสมุทร ออกทะเลไป พอน้ำเอ่อขึ้นมาอีก ก็ไปรดน้ำต้นไม้ที่อยู่ในป่าในดง ต้นไม้แตกใบออกมา ร่วงหล่นย่อยสลายเป็นปุ๋ย พอฝนตกลงมาชะล้างเอาหน้าดิน ปุ๋ยต่างๆ ก็ส่งมาตามลำธาร ส่งมาตามแม่น้ำ ไหลมากองที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เราปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงดูประเทศทั้งประเทศ ระบบธรรมชาติออกแบบไว้เรียบร้อยหมดเลย แต่มาโดนมนุษย์ทำลายหมด แย่งชิงที่กันปล่อยให้ตื้นเขิน นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ ลองสังเกตให้ดีๆ วงจรชีวิตถูกออกแบบเอาไว้เรียบร้อยแล้ว...

พระองค์ท่านเสด็จไปทางเหนือ ซึ่งแห้งแล้ง มีการตัดไม้ทำลายป่า ฝนตกทีก็ไหลลงมาหมด พระองค์ท่านทรงคิดว่าตรงนั้นทำไฟฟ้าได้ไหม ไหลลงไปช่องเล็กๆ ทำโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก พยายามบังคับน้ำให้ผ่านท่อเล็กๆ แล้วผลิตป้อนใช้ในบริเวณนั้น พยายามปรับตามสภาพแวดล้อมให้เอื้อประโยชน์ พอเสด็จพระราชดำเนินไปอีก ก็เจอตะบันน้ำซึ่งชาวบ้านใช้กันมานานแล้ว ใช้พลังน้ำในตัวเอง ไม่มีพลังงานไปสร้างพลังงาน คนสมัยใหม่นำพลังงานไปใช้เพื่อให้เกิดพลังงาน แต่ที่นั่นใช้พลังน้ำในตัวเอง ตะบันน้ำนั้น พลังน้ำจะกระแทกเครื่องมือให้หมุน ปรากฏว่าสามารถยกน้ำขึ้นไปได้ 5-10 เมตร แล้วไหลผ่านท่อชลประทานไป กังหันน้ำชัยพัฒนาก็ได้ความคิดจาก 'หลุก' นี่เอง ชาวบ้านสร้างเป็นหลุมไว้กลางลำธาร พอน้ำในลำธารไหลผ่าน หลุกมันก็ตักขึ้นมาเทใส่ท่อ ส่งน้ำไปถึงหมู่บ้าน แล้วมันก็หมุนโดยใช้พลังงานในกระแสน้ำที่มีอยู่แล้วนั่นเอง นำของเรียบง่ายที่อยู่รอบตัวมาใช้ กระแสน้ำอยู่รอบตัว แต่เอาปัญญาเข้าไปใส่ ก็สามารถสนองตอบความต้องการของชีวิตได้"


โครงการพระราชดำริอันเกี่ยวเนื่องกับกิจการพลังงาน

ไม่พียงการพระราชทานแนวพระราชดำริเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระราชทานโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดได้กลายเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่งของการพัฒนาพลังงานในปัจจุบัน

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานั้นทรงสนพระทัยเรื่องนี้อย่างมาก ถ้าใครเคยได้เข้าไปที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พระองค์ท่านทรงทำให้สิ่งของเหลือนำมาใช้ได้ มีโรงสี มีแกลบ ก็นำมาทำเป็นถ่าน มีตัวประสานอัดเป็นแท่งกลับไปใช้เป็นพลังงานได้ ทรงเลี้ยงวัว มีมูลวัวออกมาก็ทำเป็นก๊าซชีวภาพ เข้าไปเดินเครื่องในโรงงานผลิตภัณฑ์ต่างๆ เกือบจะเรียกได้ว่าช่วยเหลือตัวเองพร้อมกันไปหมด ทำอย่างนี้เรียกว่า ใช้ปัญญานำเพราะไม่มีของเหลือออกไปเลย

"
ไม่เพียงการพระราชทานแนวพระราชดำริเท่านั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระราชทาน
โครงการตัวอย่าง ผลการศึกษาวิจัยมากมาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการส่วนพระองค์
สวนจิตรลดาได้กลายเป็นรากฐานที่สำคัญ
อย่างยิ่งของการพัฒนาพลังงานในปัจจุบัน
"

ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ สกลนคร พระท่านเก่ง ใช้ปัญญานำ ตอนนั้นเสด็จพระราชดำเนินผ่านถานพระเด็กรุ่นใหม่คงไม่รู้จักถานพระ ไม่ใช่ฐานรองรับพระพุทธรูป แต่หมายถึงห้องน้ำ ส้วม ศัพท์โบราณเรียกว่าถาน ถานพระเรียงกันเป็นแถวพระท่านก็ให้ไปเก็บรวบรวมมาใส่เพื่อต่อท่อมาลงในหลุมก๊าซชีวภาพ แล้วก็ต่อท่อเข้าโรงครัว พระองค์ท่านเสด็จฯ มาถึงก็รับสั่งถามเจ้าอาวาสว่า.. "พระคุณเจ้า...ถานพระที่ใช้ถ่ายของเสียที่ถ่ายออกมาเป็นธรรมะหรือเป็นอธรรม" เจ้าอาวาสก็ตอบว่าเป็นอธรรม พระองค์ท่าก็เสด็จพระราชดำเนินไปตามท่อ ไปถึงบ่อชีวภาพที่กำลังเดือดปุดๆ ตรัสถาม "พระคุณเจ้า ตรงนี้เป็นธรรมะหรืออธรรม" พระคุณเจ้าก็กราบทูลว่า ยังเป็นอธรรมอยู่เพราะเป็นของบูด ของเสีย ของเน่า เมื่อพระองค์ท่านเสร็จพระราชดำเนินต่อไปตามท่อนั้น เข้าไปในครัว ปรากฏว่ากำลังต้มน้ำอยู่ เพื่อจะชงชาถวายพระองค์ท่านก็ตรัสถามอีก... "พระคุณเจ้าตอนนี้เป็นอธรรมหรือธรรมะ" พระคุณเจ้ากราบทูลว่าเป็นธรรมะแล้ว เพราะว่าเกิดประโยชน์ขึ้นแล้ว...

ธรรมะสอนอะไร เรื่องนี้สอนให้คนเราใช้ชีวิตครบวงจร ต้องใช้ให้ครบประโยชน์จึงเกิดขึ้นได้ บริโภคเข้าไป ถ่ายออกมา มีกระบวนการแปรสภาพออกมาเป็นก๊าซนำมาใช้ได้อีก มูลยังอยู่ในบ่อนั้น เมื่อล้างบ่อชีวภาพ มันอาจย่อยสลายไปหมด ก็นำไปใส่เป็นปุ๋ยที่ต้นไม้ ต้นไม้นั้นก็เกิดงอกงาม เป็นพลังงานให้ต้นไม้ ต้นไม้แตกกิ่งก้านสาขา แตกใบออกมาร่วงหล่น ไม้บางอันก็ถูกนำไปเผาเป็นถ่านต่อกันไปไม่รู้จบ เราเรียกกันอย่างง่ายๆ ว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นเอง...

การทำอะไรให้ยั่งยืนคือการทำให้ครบวงจร ทำอะไรที่เมื่อบริโภคแล้วได้ชดเชยกลับมา เราก็จะมีใช้ไม่รู้จบ นี่คือความหมายสั้นๆ ของคำว่าพัฒนาอย่างยั่งยืน...

พระองค์ท่านรับสั่งว่า "น้ำมันดินหมดแล้ว" คำว่าปิโตรเลียมทรงใช้คำโบราณว่าน้ำมันดิน หมายความว่าขุดลงไปถึงดิน นำมากลั่นใช้ พอน้ำมันดินจะหมดแล้ว จริงๆ แล้วยังมีแหล่งพลังงานอื่นอีกมากมาย แสงแดด สายลม จากธรรมชาติทั้งหมด...

ตอนนี้มาบอกให้ปลูกป่าทั่วประเทศเพื่อทำไบโอดีเซล คิดวันนี้ทำวันนี้ อีก 5 ปีเป็นอย่างเร็วถึงจะได้ใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ใช้แทนน้ำมันดีเซล มีสิทธิบัตรเตรียมการไว้ก่อนแล้ว เอทานอล พระองค์ท่านก็ทรงผลักดันมาก่อน จำได้ว่าวันหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน รับสั่งเรียกผมไปสั่งว่า "ไปดูซิ น้ำมันปาล์มนี่ทำดีเซลได้ไหม" จนกระทั้งเวลานี้มีปั๊มแล้ว ถึงจะเป็นโครงการทดลองแต่ก็เติมได้ มีปั๊มขึ้นมาถึง 2 ปั๊มในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองที่จังหวัดนราธิวาส และที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์...

ถ้าใครติดตามข่าวจะเห็นว่าเมื่อ 2-3 วันมานี้ สมเด็จพระเทพฯ ทรงไปเติมให้เอง รถเมล์วิ่งอยู่ที่หาดใหญ่มาเติมพระองค์ท่านทรงเติมให้เองเลย ได้ข่าวว่ากลับบ้าน สูบน้ำมันออกแล้วตั้งบนโต๊ะบูชา ไม่กล้าใช้ สงสัยใส่เป็นขวดเล็กขวดน้อยแจกเป็นเครื่องรางของขลังไปแล้ว ตอนที่เริ่มวิจัยผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน เพราะตอนนั้นดีเซลลิตรละไม่กี่บาทพระองค์ท่านรับสั่งว่าทำไปเถอะ แล้วไม่ต้องประกาศให้คนค้านว่าทำแล้วไม่คุ้ม พระองค์ท่านว่าทำไปเถิด แล้วเดี๋ยววันหนึ่งจะรู้เอง แล้ววันนี้ก็มาถึงอย่างรวดเร็ว

น้ำมันแพงทุกวันนี้ แม้กระทั้งน้ำมันพืชก็แพง ต้องยอมรับว่ามีระบบภาษีเข้ามา โครงการพระราชดำริก็เลยมุ่งไปแก้ปัญหาที่คนก่อน ให้เกษตรกรเล็กๆ รวมกลุ่มกัน พื้นที่ไหนเหมาะปลูกปาล์มได้ก็ปลูกปาล์ม พื้นที่ไหนปลูกสบู่ดำได้ก็ปลูกสบู่ดำ มีปลูกพืชเยอะแยะไปหมด แถวชุมพรใช้น้ำมันมะพร้าวกันมาตั้งนานแล้ว แต่เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีเข้าไปช่วยนานๆ ทีก็ต้องเอาเครื่องมาล้างที เพราะมันมีอะไรเข้าไปเกาะเครื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าไป เพื่อให้แต่ละกลุ่มเกษตรกรช่วยตัวเองให้ได้ก่อน สุดท้ายจะช่วยลดการนำเข้าได้ดี"

ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล สรุปทิ้งท้ายถึงวิกฤติพลังงานในปัจจุบัน ซึ่งหากดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงก็จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ และไม่ใช่แต่เฉพาะสังคมไทยเท่านั้น ยังหมายรวมไปถึงสังคมโลกอีกด้วย

"คุณไปดูเถอะนะ ชีวิตทุกวันนี้มันยุ่ง ต้องเปิดไฟ ต้องเปิดแอร์ แล้วอยู่แค่คนเดียวสองคน ยิ่งโลกสมัยใหม่มีแค่ครอบครัวเล็กๆ เป็นครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ สังคมถึงได้บิดเบี้ยวอยู่ทุกวันนี้ สมัยก่อนนี่ตกเย็นนั่งพร้อมหน้าพร้อมตากัน ปู่ย่าตาทวด พ่อแม่ลูกหลาน นั่งกินข้าวร่วมกัน ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันโดยไม่รู้ตัว ต่างฝ่ายก็ผ่านประสบการณ์ของตัวมาทั้งนั้น ปู่ย่าตาทวดก็เล่าให้ลูกหลานฟัง ถ่ายทอดข่าวสารให้คนแก่รับทราบ เป็นสังคมที่สมบูรณ์มากที่สุด เดี๋ยวนี้มีแต่สังคมกับพ่อแม่ ได้ยินเสียงพ่อแม่จากโทรศัพท์ กลับจากงานดึก งานสังคม ลูกไปนอนแล้ว ไม่เคยพบปะกันเลย ลองถามตัวเองสิครับว่าวันๆ หนึ่งได้เจอลูกบ้างไหม สักกี่ครั้ง กี่นาที ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่าทำไมสังคมถึงปั่นป่วนอยู่ทุกวันนี้ สังคมที่ไม่ได้ใช้ปัญญาเป็นเครื่องนำทางจึงเกิดทุกข์ เพราะฉะนั้นกลับมาเถอะครับ กลับมาหาความสงบ ความเรียบง่าย ชาติบ้านเมืองต้องการการรักษา และต้องรักษาด้วยปัญญา รักษาด้วยสติ รักษาด้วยความเรียบง่าย อะไรที่มันเลยเถิดไปนั้น มันสร้างความทุกข์ให้ทั้งสิ้น

ขอจบท้ายด้วยว่าโลกกำลังโกรธเรา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า "เราไปรังแกธรรมชาติมากๆ เข้า เขาจึงสอนเรา" แล้วเวลานี้สอนแล้ว สอนรวดเดียวไม่กี่นาทีห้าแสนชีวิต ดินถล่มที่ฟิลิปปินส์ยังขุดไม่เจออีกพันกว่า ต้นตอทั้งหลายทั้งปวงมาจากการทำร้ายธรรมชาติ โลกเคลื่อนตัวมันก็มีสาเหตุทั้งนั้น ทดลองระเบิดปรมาณู เขาห้ามทดลองในอากาศก็ขุดหลุมลงไปทดลองในทะเล ทดลองในดิน ผลสุดท้ายโลกก็แบกรับภาระจากการกระทำของมนุษย์ เพราะฉะนั้นขอให้เอาสติกลับคืนมา เอาปัญญากลับคืนมา มาสู่โลกของความพอดี เศรษฐกิจพอเพียง...

คำว่าพอเพียงไม่ใช่ขาดแคลน ไม่ใช่ตระหนี่ถี่เหนียว แต่พอด้วยเหตุด้วยผลที่อยากแนะนำให้เราทุกคนแสวงหาคำว่าประโยชน์สุขอยู่ในความร่ำรวยที่ยั่งยืน อยู่ด้วยความสุขอันเป็นเป้าหมายปลายทางของชีวิต แล้วคิดว่าโลกคงจะสงบการทะเลาะเบาะแว้งในบ้านเมืองก็จะลดน้อยถอยลงไป เพราะเราอยู่บนความพอดี ผมขอจบเพียงแค่นี้ และขอให้ทุกคนมีความสุข ขอบคุณครับ"

"
คำว่าพอเพียงไม่ใช่ขาดแคลน
ไม่ใช่ตระหนี่ถี่เหนี่ยว
แต่พอด้วยเหตุผล
"

 


ที่มา : พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย