โครงการนำพลังงานทดแทนไปใช้งานที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง


ระบบผลิตก๊าซชีวภาพ จากมูลช้าง โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)

โรงช้างต้น ซึ่งมีช้างสำคัญ 6 เชือก มีมูลช้างประมาณวันละ 250-300 กิโลกรัม และไม่เคยนำมูลช้างปริมาณมากเช่นนี้ไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ จึงได้ติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้ประโยชน์จากมูลช้าง โดยจะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังได้พลังงานในรูปของก๊าซชีวภาพ เป็นผลพลอยได้ที่สำคัญอีก ระบบฯดังหล่าวประกอบด้วยบ่อเติมมูล บ่อหมักมูลแบบโดมคงที่ขนาด 50 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 บ่อ บ่อมูลล้น และลานตากมูลล้าน

การทำงานของระบบจะเริ่มต้นโดยการนำมูลช้างและน้ำมาผสมเป็นเนื้อเดียวกันที่บ่อเติมมูลแล้วปล่อยลงสู่บ่อหมัก เพื่อให้เกิดการย่อยสลายโดยแบคทีเรียชนิดไม่ใช้ออกซิเจน และได้ก๊าซชีวภาพ ประมาณวันละ 15-20 ลูกบาศก์เมตร องค์ประกอบหลักเป็นก๊าซมีเทน นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มอาหารและเดินเครื่องยนต์สูบน้ำเพื่อการเกษตร ส่วนมูลที่ถูกย่อยสลายแล้วจะไหลลงสู่บ่อมูลล้น เข้าลานตากมูลเพื่อนำไปทำปุ๋ยบำรุงดิน หรืออัดเป็นแท่งเพาะชำต่อไป

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้นำระบบผลิตก๊าซชีวภาพดังหล่าวมาใช้ ณ โรงเลี้งช้าง ซึ่งมีช้างสำหรับลานแสดงจำนวน 47 เชือก สามารถเก็บมูลได้ประมาณวันละ 1,500-2,000 กิโลกรัม โดยใช้ระบบบ่อหมักแบบโดมคงที่ขนาด 100 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 บ่อ ซึ่งสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณวันละ 75-100 ลูกบาศก์เมตร ก๊าซที่ได้นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มอาหาร และเดินเครื่องยนต์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนมูลที่ย่อยสลายแล้วก็นำไปเป็นปุ๋ยบำรุงดินเช่นกัน

ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลส์แสงอาทิตย์เพื่อแสงสว่างแบบแยกตามบ้าน โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)

โรงเรียนฝึกควาญช้างที่อยู่ทางด้านหลังของศูนย์ฯ ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง จึงต้องใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดเพื่อแสงสว่าง ในเรือนโรงเรียน 1 หลัง และบ้านพัก 2 หลัง

ดังนั้น โครงการฯ จึงได้นำระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลส์แสงอาทิตย์เพื่อแสงสว่างแบบแยกตามบ้านจำนวน 4 ระบบ ไปติดตั้งให้เรือนโรงเรียน 2 ระบบ และบ้านพักหลังละ 1 ระบบ ซึ่งแต่ละระบบประกอบด้วยแผงเซลส์แสงอาทิตย์ขนาด 75 วัตต์ จำนวน 2 แผง ติดตั้งบนเสาเหล็กอาบสังกะสีสูง 3 เมตร แบตเตอรี่ขนาด 100 แอมแปร์ชั่วโมง 12 โวลต์ จำนวน 2 ลูก อุปกรณ์ควบคุมการประจุแบตเตอรี่ 1 ชุด ขนาด 2 แอมแปร์ 12 โวลต์ และหลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนต์ขนาด 18 วัตต์ จำนวน 4 หลอด ขั้นตอนการทำงานของระบบ คือ เวลากลางวันที่มีแสงแดด เซลส์แสงอาทิตย์ จะประจุไฟฟ้าลงในแบตเตอรี่เพื่อเก็บไว้ใช้ในเวลากลางคืน พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ ของแต่ละระบบประมาณ 450-520 วัตต์ชั่วโมงต่อวัน เป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรงที่สามารถใช้กับหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์เพื่อแสงสว่างทั้ง 4 หลอด ได้ประมาณวันละ 5 ชั่วไมง และยังสามารถนำไปใช้กับอุปกรณ์โสตทัศน์ที่ใช้กระแสไฟฟ้ากระแสตรง เช่น เครื่องขยายเสียง วิทยุเทป และโทรทัศน์ เป็นต้น

ระบบสูบน้ำบาดาลด้วยไฟฟ้าจากเซลส์แสงอาทิตย์ โดยกรมทรัพยากรธรณี (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)

เนื่องจากศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยมีน้ำผิวดินจำกัดและประสบปัญหาขาดแคลนในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งแต่เดิมมีการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากบ่อเปิด หรือใช้รถบรรทุกน้ำจากบ่อบาดาลระดับตื้นโดยใช้ระบบมือโยกมาใช้ กรมทรัพยากรธรณีจึงนำระบบสูบน้ำบาดาลด้วยเซลส์แสงอาทิตย์ ประกอบด้วยเซลส์แสงอาทิตย์ขนาด 1,540 วัตต์ เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า 1 ชุด เครื่องสูบน้ำขนาด 2 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง อุปกรณ์ควบคุม 1 ชุด ถังเก็บน้ำหอถังสูง 12 เมตร ความจุ 12 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 ถัง ถังกรองสนิมเหล็ก 1 ถัง และระบบท่อส่งน้ำประปา มาติดตั้งที่ โรงเรียนฝึกควาญช้างโดยเครื่องสูบน้ำจะทำงานด้วยไฟฟ้าจากเซลส์แสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน เพื่อสูบน้ำไปเก็บในหอถังสูง แล้วใช้แรงโน้มถ่วงในการส่งน้ำผ่านท่อน้ำ ซึ่งระบบดังกล่าว สามารถสูบน้ำได้ 8,452 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

นอกจากระบบสูบน้ำบาดาลด้วยเซลส์แสงอาทิตย์แล้ว กรมทรัพยากรธรณียังดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลโดยไม่ใช่เซลส์แสงอาทิตย์ ในพื้นที่ 3 แห่งของศูนย์ฯ คือ

  1. บริเวณหน้าศูนย์อำนวยการ จำนวน 2 บ่อ
  2. บริเวณปากทางเข้าศูนย์ฯ หรือบริเวณโรงช้างต้นจำนวน 2 บ่อ โดยเจาะที่ 70 เมตร และ 130 เมตร และติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 0.5 แรงม้า และ 2 แรงม้า ตามลำดับ บ่อดังกล่าวได้น้ำช่วง 30-40 เมตร ปริมาณ 2 ลูกบาศก์เมตร และ 7 ลูกบาศก์เมตร
  3. สวนป่าทุ่งเกวียนจำนวน 1 บ่อ

คุณนิปกรณ์ สิงหพุทธางกูร หัวหน้าโครงการอนุรักษ์ช้างไทย ได้ให้สัมภาษณ์และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบพลังงานทดแทนที่นำมาติดตั้งในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ลักษณะการใช้นำระบบพลังงานทดแทนมาใช้ในศูนย์ฯ เป็นไปในลักษณะใด

คุณนิปกรณ์ : "ที่นี่จริงๆ แล้วก็มีไฟฟ้าเข้าถึง แต่ว่าไฟฟ้าจะค่อนข้างตก เพราะเป็นแค่สายไฟฟ้าสองสาย ซึ่งไฟสองสายนี่ถ้าพูดไป จะใช้ในกิจกรรมดำเนินงานของตัวศูนย์ฯ เองก็ไม่เพียงพออยู่แล้วระบบพลังงานทดแทนที่เข้ามาเสริมก็ช่วยให้ได้ประโยชน์อีกเยอะอย่างระบบผลิตไฟฟ้าแสงสว่างด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ไม่เพียงแต่จะทำให้เจ้าหน้าที่และควาญช้างในหมู่บ้านมีไฟฟ้าแสงสว่างใช้ แต่ยังทำให้ความรู้สึก ความคุ้นเคยเดิมของควาญช้าง ที่เมื่อก่อนเขาเคยอยู่หมู่บ้านที่ห่างไกลและไม่มีไฟฟ้าใช้อยู่แล้ว ระบบนี้ก็เป็นเหมือนนิมิตหมายใหม่ที่ดีอย่างหนึ่งคือ เหมือนกับเขาได้กลับเข้าสู่บรรยากาศเดิมๆ และได้ใช้ไฟจากธรรมชาติจริงๆ

"แล้วที่ของเรานี่ก็เป็นเหมือนที่สาธารณะ เป็นที่สำหรับสังคม อย่างที่สวนป่าทุ่งเกวียนนี่ ตอนนี้เรามีเด็กมาเข้าค่ายตั้งแค้มป์กันเยอะ ก็มีปัญหาเรื่องน้ำอยู่มากเพราะว่าน้ำไม่เพียงพอสำหรับใช้ อย่างถ้าใช้เฉพาะเจ้าหน้าที่มันก็พออยู่ แต่สำหรับการบริการนักท่องเที่ยว หรือเด็กที่มาเข้าค่ายลูกเสือเนตรนารีนี่เรื่องน้ำก็จำเป็นมาก พอดีได้โครงการฯ เข้ามาติดตั้งระบบสูบน้ำบาดาลก็ช่วยได้เยอะ จากแต่เดิมเราใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นแค่น้ำดิบเอามากรอง เราก็สามารถสูบน้ำมาจากใต้ดินขึ้นมาใช้เพิ่มเติมได้"

ระบบพลังงานทดแทนสามารถตอบสนองการใช้ประโยชน์ของศูนย์ฯ ในด้านใดบ้าง

คุณนิปกรณ์ : "ในความจำเป็นของที่นี่มีความต้องการพื้นฐานอยู่แล้วที่ว่า เราต้องการจะนำมูลช้างมาใช้ประโยชน์อย่างอื่น อย่างในลักษณะของการนำมาบำรุงต้นไม้ แต่ในขั้นตอนจริงๆ แล้ว มูลช้างโดยตัวมันเองนี่จะนำไปใช้โดยตรงได้ไม่สมบูรณ์แบบ เมื่อมีระบบผลิตก๊าซชีวภาพเข้ามาใช้นี่จึงเป็นสิ่งที่ตรงประเด็นที่สุด เพราะว่านอกจากจะทำให้เรามีที่เก็บมูลช้างเป็นที่แล้ว การนำมูลช้างไปทำเป็นปุ๋ยก็ต้องผ่านการหมักก๊าซชีวภาพนี่เสียก่อน ซึ่งถ้าเราไม่มีระบบน้ำนี้เข้ามาช่วย เราคงจะต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดการเรื่องมูลช้างอยู่มาก ดังนั้น ผมคิดว่าระบบนี้ช่วยเราแบ่งเบาภาระเรื่องนี้ของเราไปได้มาก

"แล้วนอกจากจะทำให้เราจัดการเรื่องมูลสัตว์และได้ผลผลิตเป็นปุ๋ยมักแล้ว เราก็ยังได้ก๊าซเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้อีก นำไปใช้เสริมในเรื่องของไฟฟ้าได้และทำให้เราลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ลงไปได้ ซึ่งแต่เดิมศูนย์ฯ เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ ถ้าไม่มีโครงการฯ นี้เข้ามา ก็คงจะต้องแก้ไขกันไปอีกนาน

"ในส่วนของระบบผลิตไฟฟ้าแสงสว่างด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ที่โรงเรียนฝึกควาญช้าง ก็สามารถสร้างความกลมกลืนกับธรรมชาติด้วย เพราะว่าเราคิดว่าถ้าปักเสาพาดสายไฟฟ้าเข้าไป สภาพคงจะไม่สวยเลย มันจะขัดกับธรรมชาติ แล้วก็ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ระบบตรงนี้จึงทำให้เราได้บรรยากาศของการเป็นทั้งโรงเรียนฝึกควาญ เป็นที่ฝึกช้าง และตรงจุดนั้นเราจะทำเป็นที่ฝึกช้างเล็กด้วย ซึ่งเราจะไม่มีการสร้างอาคารใหญ่โตตอนนี้ก็มีอาคารที่ทำการชั่วคราว แล้งก็บ้านพักควาญอยู่ แต่เดิมไม่มีไฟฟ้าใช้เลย แต่ระบบนี้เข้ามาช่วยให้มีแสงสว่างสำหรับให้พวกควาญใช้ เท่านี้เราก็พอใจแล้ว"

ความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบพลังงานทดแทนกับการสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่ประชาชน

คุณนิปกรณ์ : "ในความคิดเห็นของผมสิ่งที่สำคัญมากก็คือ ระบบพลังงานทดแทนที่นำมาติดตั้งที่นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเกื้อกูลกันและการอยู่ร่วมกันของคนและช้างได้ จึงช่วยสร้างจิตสำนึกของการอนุรักษ์ธรรมชาติและช้างไทยได้ตามวัตถุประสงค์ของศูนย์ฯ ที่ได้ตั้งไว้"


การติดตั้งระบบพลังงานทดแทนภายในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ที่เห็นผลเป็นรูปธรรมได้มากน้อยเพียงใดนั้น คุณสวัสดิ์ ตวงรัตน์หรดี หัวหน้าโครงการศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ได้แสดงความคิดเห็นไว้ ดังต่อไปนี้

ประโยชน์ที่ทางศูนย์ ฯ ได้รับจากการใช้งานระบบผลิตก๊าซชีวภาพด้วยมูลช้าง

คุณสวัสดิ์ : "สำหรับระบบผลิตก๊าซชีวภาพโดยใช้มูลช้าง ผมคิดว่าเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะว่าในศูนย์ฯ ของเรานี่มีช้างอยู่ 47 เชือก และเราจะมีมูลช้างถึงวันละ 1.5-2 ตัน ซึ่งมูลช้างนี่จะเหลือเยอะ บางทีเราก็เอาไปใส่ต้นไม้หรือทำปุ๋ยหมักบ้าง แต่ด้วยความที่มันมีมากเราก็เลยปล่อยให้ใครที่อยากได้ก็มาตักเอาไปแล้วบางทีก็เหลือเพราะมันมีเยอะมาก เราก็คิดว่าในอนาคตอาจจะมีปัญญาที่เกิดจากมูลช้าง และเราจะกำจัดอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะว่ามูลช้างใหม่ๆ จะมีความเค็ม แล้วถ้ามันไหลลงแม่น้ำลำห้วยไปถึงที่ที่ราษฎรอาศัยอยู่อาจจะทำให้ราษฎรเดือดร้อน เช่น อาจจะทำให้น้ำเสีย ก็พอดีโครงการฯ นำระบบนี้เข้ามา ซึ่งตรงกับความต้องการของเราพอดีว่า เราจะทำอย่างไรให้มูลช้างก่อเกิดประโยชน์มากที่สุดก็ด้วยการนำมาผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อเอามาใช้เป็นก๊าซหุงต้มภายในหมู่บ้านควาญช้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่หรือว่าควาญช้างเหล่านี้มีรายได้ไม่มากนัก ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซหุงต้มได้

" ส่วนก๊าซที่ผลิตได้อีกส่วนหนึ่งเราก็นำมาผลิตไฟฟ้า เพื่อจะลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของศูนย์ฯเพราะทุกวันนี้ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยมีภาระเรื่องค่าไฟฟ้าเยอะถึงประมาณเดือนละ 16,000-18,000 บาท จึงคิดว่าก๊าซที่ผลิตได้และเหลือจากการใช้เป็นก๊าซหุงต้ม และเรานำมาผลิตไฟฟ้าก็จะทำให้ที่นี่ลดค่าใช้จ่ายลงไปบ้าง

"นอกจากนี้ มูลช้างที่ผลิตก๊าซออกมาแล้วยังสามารถนำไปเป็นปุ๋ยได้เลย เพราะว่าความเค็มไม่มีแล้ว ซึ่งเรามีความคิดที่ต่อเนื่องไปอีกว่า ถ้านำมูลช้างที่ผลิตก๊าซแล้วมาทำเชื้อเพลิงเขียวล่อจะได้หรือเปล่าอย่างผมทราบว่าประเทศอินเดียเขาทำได้ เขาเอามูลวัวมูลควายมาผสมดินแล้วทำเป็นเชื้อเพลิงใช้ในครัวเรือนได้ถ้าเราทำมูลช้างเป็นเชื้อเพลิงเขียวได้ เริ่มแรกอาจจะเอามาให้เจ้าหน้าที่ที่นี่ลองใช้ดูว่าดีไหม และต่อไปถ้าเราผลิตได้มากขึ้น ก็อาจจะเปิดจำหน่ายให้ประโยชน์ให้ประชาชนทั่วไปเอาไปใช้ ส่วนหนึ่งเพื่อลดการใช้ถ่านไม้ แม้จะช่วยลดได้บางส่วน อาจจะนิดเดียวก็ยังดี ก็จะเป็นการช่วยลดการใช้ไม้จากป่าธรรมชาติมาทำฟืน

"และน้ำที่เหลือจากการผลิตก๊าซชีวภาพนี่ ส่วนหนึ่งจะไหลกลับเข้าไปละลายมูลช้าง อีกส่วนจะเป็นน้ำที่มีจุลินทรีย์ต่างๆ เราก็สามารถสูบน้ำไปรดต้นไม้ได้ แล้วก็มีอาจารย์บางคนที่เขามาศึกษาบอกว่าน่าจะต่อเนื่องต่อไปได้ เช่น นำไปผลิตเป็นสาหร่ายเกลียวทองสำหรับเป็นอาหารช้าง ซึ่งเราอาจจะมีโครงการศึกษาต่อไปอีก ระบบพลังงานทดแทนจึงถือว่าเป็นความคิดที่เป็นประโยชน์ต่อศูนย์ฯ มาก เพราะเราสามารถใช้สิ่งที่เมื่อก่อนศูนย์ฯ ไม่ต้องการมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด"

ประโยชน์ที่ทางศูนย์ ได้รับจากการใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์

คุณสวัสดิ์ : "ส่วนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อแสงสว่างหรือนำไปใช้เพื่อสูบน้ำ ก็เป็นสิ่งที่เราคิดมานานแล้วเหมือนกันแต่ยังไม่สามารถทำได้ เพราะว่าทางศูนย์ฯ เราค่อนข้างได้งบประมาณที่จำกัด แล้วความรู้ที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเรายังไม่มี พอดีทางโครงการฯ นี้เข้ามาพอดี ซึ่งเราคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะพลังงานแสงอาทิตย์นี่มีอยู่เหลือเฟือ อีกอย่างหนึ่ง ตอนเราตั้งโรงเรียนฝึกควาญช้างนี่ เราต้องการจะคงความเป็นธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด จึงไม่มีการเดินสายไฟฟ้า ก็พอดีโครงการฯ นี้มาสอดรับพอดี เป็นรูปแบบการใช้พลังงานที่เป็นธรรมชาติที่สุดโดยการใช้เซลล์แสงอาทิตย์"

ความคิดเห็นเกี่ยวกับการขยายผลการใช้ระบบพลังงานทดแทนต่อไปในวงกว้าง

คุณสวัสดิ์ : "การนำระบบพลังงานทดแทนมาใช้ที่นี่ เราก็สามารถเผยแพร่ให้ประชาชนที่มาชมการแสดงหรือว่าผ่านมาดู ได้เห็นว่าพลังงานแสงอาทิตย์สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนได้ หรือสามารถผลิตก๊าซชีวภาพมาใช้เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ แล้วก็ยังมีผลทางอ้อมคือ เราจะได้ช่วยประหยัดการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯ ลง ช่วยทำให้การใช้ทรัพยากรหรือวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าน้อยลง แม้ที่นี่จะเป็นเพียงหน่วยเล็ก ๆ แต่ก็อาจจะเป็นหน่วยนำร่องที่เป็นตัวอย่างให้กับที่อื่นต่อไป"


ที่มา : พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย