โครงการนำพลังงานทดแทนไปใช้งานที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จังหวัดนครพนม


ระบบสูบน้ำบาดาลด้วยไฟฟ้าจากเซลส์แสงอาทิตย์ โดยกรมทรัพยากรธรณี (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)

กรมทรัพยากรธรณี ได้นำระบบสูบน้ำบาดาลด้วยเซลล์แสงอาทิตย์มาติดตั้งที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) จังหวัดนครพนม ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 1,540 วัตต์ เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า 1 ชุด เครื่องสูบน้ำขนาด 2 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง อุปกรณ์ควบคุม 1 ชุด ถังเก็บน้ำหอถังสูง 12 เมตร ความจุ 12 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 ถัง ถังกรองสนิมเหล็ก 1 ถัง และระบบท่อน้ำประปา โดยติดตั้ง 2 ระบบ เพื่อใช้ใน 2 พื้นที่ ได้แก่

  1. โรงเรียน ตชด. ช่างกลปทุมวันอนุสรณ์ 8 ตั้งอยู่ที่บ้านโนนอุดมดี ตำบลดอนเตย อำเภอนาทม จังหวัดนครพนม ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีนักเรียน 66 คน ครู 15 คน เดิมใช้น้ำฝนและน้ำจากบ่อน้ำผิวดินเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร ปลูกผักสวนครัว และทำอาหารเที่ยงให้นักเรียน แต่มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง ทางกรมทรัพยากรธรณีจึงทำการเจาะบ่อบาดาลลึก 53 เมตร ได้น้ำคุณภาพดี 5 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สำหรับใช้อุปโภคบริโภคและกิจกรรมเกษตรภายในพื้นที่โรงเรียน
  2. โรงเรียน ตชด. คอนราดเฮงเคล บ้านท่าสะอาดและบ้านโนนขาม ตำบลนาใน อำเภอโนนสวรรค์ จังหวัดนครพนม เป็นพื้นที่ในโครงการพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีนักเรียน 61 คน ครู 10 คน กรมทรัพยากรธรณีได้เจาะบ่อบาดาลลึก 52 เมตร ได้น้ำคุณภาพดี 4.5 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สำหรับใช้อุปโภคบริโภคและกิจกรรมเกษตรภายในพื้นที่โรงเรียนและบ้านพักครู

นอกจากนี้ กองน้ำบาดาล กรมทรัพยากรธรณียังได้เจาะบ่อบาดาลเพิ่มให้อีก 4 บ่อ ด้วยงบประมาณของกรมทรัพยากรธรณี


สำหรับผลของการใช้งานระบบสูบน้ำบาดาลด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่โรงเรียน ตชด.ช่างกลปทุมวันอนุสรณ์ 8 และโรงเรียน ตชด. คอนราดเฮงเคล นั้น คุณศักดิ์ฉลาด ศรีวิชา หัวหน้าศูนย์น้ำบาดาล กรมทรัพยากรธรณี จังหวัดสกลนคร สังกัดฝ่ายพัฒนาน้ำบาดาล 3 ขอนแก่น ได้นำทีมงานเดินทางไปเยี่ยมชมการใช้งานของระบบในทั้งสองพื้นที่พร้อมทั้งให้ข้อมูลความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ โดยกล่าวถึงการติดตั้งระบบที่โรงเรียน ตชด. ช่างกลปทุมวันอนุสรณ์ 8 เป็นแห่งแรกว่า

"เดิมทีทางโรงเรียนได้รับการสนับสนุนบ่อบาดาลแรกที่ทางช่างกลปทุมวันมาเจาะให้เมื่อประมาณปี '36 เป็นบ่อขนาด 4 นิ้ว ความลึกประมาณ 30 เมตร แล้วก็ลงปั๊มลงไป แต่หลังจากที่ใช้งานไปแล้วพบว่า ค่อนข้างมีปัญหามาตลอด เพราะได้น้ำไม่พอใช้ คาดว่าคงจะเป็นเพราะระดับน้ำลดลง ทำให้น้ำแห้ง กรมทรัพย์ฯ เลยมาแก้ไขให้เมื่อปี '42 คือมาเจาะบ่อบาดาลขนาด 6 นิ้ว ลึก 53 เมตร ซึ่งทำให้ได้ปริมาณน้ำประมาณ 20 แกลลอน หรือ 5 คิวต่อชั่วโมง แต่ตอนแรกระบบที่ทำให้เป็นระบบที่ใช้ไฟฟ้า 220 โวลต์ โรงเรียนจึงต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อนำระบบเซลล์แสงอาทิตย์ มาใช้แทนก็ช่วยลดภาระเรื่องค่าไฟฟ้าลงได้มาก"

เมื่อเดินชมจุดติดตั้งระบบสูบน้ำบาดาลด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ และพื้นที่ของโรงเรียนซึ่งประกอบด้วยอาคารเรียน โรงครัว พื้นที่เลี้ยงสัตว์ และแปลงเกษตรต่างๆ แล้ว จ.ส.ต. กรกฎ ไกรสิทธุ์ ครูใหญ่ของโรงเรียนได้เล่าถึงผลของการใช้งานระบบให้ฟังว่า "เมื่อก่อนนี้เราสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้า น้ำที่ได้ก็ใช้ในโรงเรียน อาคารเรียน ห้องน้ำ เลี้ยงสัตว์แล้วก็แปลงเกษตร ที่นี้พอได้รับโครงการนี้มา ผมก็ให้คณะครูเขาตัดระบบประปาที่ใช้ไฟฟ้าไปเลย แล้วให้ใช้ระบบเซลล์แสงอาทิตย์แทน ระบบใหม่นี้ก็ทำให้เราได้น้ำที่สามารถใช้ได้ตลอด ไม่มีติดขัด ด้านเกษตรก็เพียงพอ แล้วเราก็กำลังจะต่อระบบเพิ่มขึ้นอีก เพราะตอนนี้มีเพียงระบบประปาของโรงเรียนเท่านั้นที่ต่อเข้ากับระบบเซลล์แสงอาทิตย์

"ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว ระบบใหม่นี่ดีกว่าระบบเดิม เพราะว่าน้ำจะแรงกว่า แล้วก็มีมากพอใช้ ระบบเดิมที่ใช้ไฟฟ้าพอใช้ไปนานๆ เครื่องก็จะเสีย น้ำก็ขึ้นไม่เต็มที่ น้ำไม่เพียงพอ ถ้าเราเลี้ยงเป็ดไก่ หรือปลูกผักมากๆ ก็จะไม่พอ"

ส่วนโรงเรียน ตชด. คอนราดเฮงเคล ซึ่งทีมงานได้เดินทางไปถึงเป็นแห่งที่สองนั้น คุณศักดิ์ฉลาดได้ให้ข้อมูลว่า "บ่อบาดาลที่เจาะให้ที่นี่ เป็นบ่อลึก 52 เมตร การผลิตน้ำ 4.5 คิวต่อชั่วโมง ลักษณะของที่นี่ก็คล้ายๆ กับที่โรงเรียน ตชด. ช่างกลปทุมวันฯ คือยังไม่ได้งบประมาณจาก สปช. เหมือนกัน พอได้ระบบนี้มา ก็ช่วยตัดปัญหาค่าไฟออกไป เพราะเดิมใช้ไฟฟ้าสูบน้ำ ซึ่งทางกรมทรัพย์ฯ เราก็คิดว่าจะใช้ 2 โรงเรียนนี้เป็นตัวอย่างของระบบ และเป็นตัวอย่างของเกษตรนำร่องให้เกษตรกรที่สนใจได้เข้ามาดูด้วย"

เมื่อสอบถามถึงผลการใช้งานระบบสูบน้ำบาดาลที่นำมาติดตั้งนี้ ด.ต. อรุณ สร้อยคำ ครูใหญ่โรงเรียน ตชด.คอนราดเฮงเคล กล่าวว่า "เท่าที่ใช้มาระบบก็ไม่มีปัญหาอะไร ดีกว่าแต่ก่อน แต่ก่อนโรงเรียนใช้น้ำจากประปาหมู่บ้านระบบที่มาติดนี่ก็ใช้ภายในโรงเรียน ใช้กับกิจกรรมเกษตร ใช้ดื่ม ใช้อาบ คุณภาพน้ำดี สามารถดื่มได้"


ที่มา : พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย