การนำพลังงานทดแทนไปใช้งานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี


ความเป็นมาของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 28 ของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2524 อยู่ในท้องที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอแก่งกระจาน และอำเภอท่ายาง ของจังหวัดเพชรบุรี และในปี พ.ศ. 2527 กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชาวอำเภอหัวหิน ได้ขอให้ทางการผนวกพื้นที่ป่าในเขตตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นป่ารอยต่อของจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานฯ

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีพื้นที่ 2,925 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,821,875 ไร่ สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดิบ มีสภาพธรรมชาติที่ หลากหลาย ทั้งภูเขา แม่น้ำ น้ำตก อ่างเก็บน้ำ ถ้ำ และมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม นอกจากนี้ ยังเป็นป่าต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของทะเลสาบแก่งกระจานอีกด้วย

สำหรับทะเลสาบแก่งกระจานมีเนื้อที่ประมาณ 45 ตารางกิโลเมตร กักเก็บน้ำได้ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2509 เป็นอ่างเก็บน้ำที่เกิดจากการสร้างเขื่อนแก่งกระจานซึ่งเป็นเขื่อนดินแห่งแรกของประเทศ เพื่อกั้นแม่น้ำเพชรบุรีและกักเก็บน้ำไว้ก่อนส่งต่อไปให้เขื่อนเพชรระบายสู่พื้นที่ชลประทานผลจากการสร้างเขื่อนทำให้น้ำท่วมพื้นทีเหนือเขื่อนจนภูเขาบริเวณนั้นจมน้ำ ยอดเขากลายเป็นเกาะต่างๆ ประมาณ 30-40 เกาะ ซึ่งทำให้ทะเลสาบแห่งนี้มีทิวทัศน์ที่มีความสวยงามแปลกตากว่าทะเลสาบหลังเขื่อนแห่งอื่นๆ

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ในพื้นที่บ้านกร่างในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จัดตั้งขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เพื่อให้เป็นสถานที่ฝึกอบรมทางด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชนและราษฎร ภายในบริเวณประกอบด้วยอาคารสำนักงาน อาคารพิพิธภัณฑ์ อาคารฝึกอบรม และมีพื้นที่สำหรับกางเต็นต์พักแรมของนักท่องเที่ยว

ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบอิสระ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นที่ที่ระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯ ยังเข้าไปไม่ถึง และเดิมใช้การปั่นไฟฟ้าจากเครื่องยนต์ดีเซล ทำให้เกิดปัญหาเสียงดังรบกวนสัตว์ป่าและเกิดมลภาวะจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โครงการฯ จึงนำระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบอิสระมาติดตั้งใน 2 จุด คือ

  1. อาคารพิพิธภัณฑ์ ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบอิสระ ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาด 2,720 วัตต์ ชุดควบคุม (50 แอมแปร์) จำนวน 1 ชุด เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า 48 โวลต์ (สูงสุด 3,000 วัตต์) จำนวน 1 ชุด และแบตเตอรี่ 804 แอมแปร์ชั่วโมง 2 โวลต์ จำนวน 24 ลูก ในเวลากลางวัน เซลล์แสงอาทิตย์จะผลิตไฟฟ้ากระแสตรงประจุลงในแบตเตอรี่เวลาใช้งานก็จะใช้งานผ่านเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าเป็นกระแสสลับ และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 5.6 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อวัน
  2. อาคารฝึกอบรม ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบอิสระ ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาด 3,900 วัตต์ ชุดควบคุม (50 แอมแปร์) จำนวน 1 ชุด เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า 48 โวลต์ 3,000 วัตต์ จำนวน 2 ชุด และแบตเตอรี่ 804 แอมแปร์ชั่วโมง 2โวลต์ จำนวน 48 ลูก ในเวลากลางวัน เซลล์แสงอาทิตย์จะผลิตไฟฟ้ากระแสตรงประจุลงในแบตเตอรี่ เวลาใช้งานก็จะใช้งานผ่านเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าเป็นกระแสสลับ และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 8 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อวัน

ระบบสูบน้ำแบบต่อตรงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดิมใช้เครื่องยนต์ดีเซลในการสูบน้ำ ซึ่งทำให้เกิดเสียงดังรบกวนสัตว์ป่า และก่อมลภาวะจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โครงการฯ จึงนำระบบสูบน้ำแบบต่อตรงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์มาติดตั้งประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 2,250 วัตต์ ชุดควบคุม 1 ชุด เครื่องสูบน้ำมอเตอร์กระแสตรง (Multiple displacement) 1 เครื่อง ถังเก็บน้ำความจุ 40 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 ถัง และท่อส่งน้ำความยาว 600 เมตร ระยะยกน้ำสูง 66 เมตร โดยเครื่องสูบน้ำจะทำงานเฉพาะในเวลากลางวันด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์สูบน้ำได้วันละ 12 ลูกบาศก์เมตร ไปเก็บในถังเก็บน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค


สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบพลังงานทดแทนที่นำมาติดตั้งที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนี้ คุณปัญญา ปรีดีสนิท หัวหน้าอุทยานฯ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ ดังนี้

ประโยชน์ที่ได้รับจากการนำระบบพลังงานทดแทนมาติดตั้งในศูนย์ศึกษาการพัฒนาการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

คุณปัญญา : อย่างเมื่อก่อนที่ผมจะมาอยู่ที่นี่ ผมเคยอยู่ทางเหนือ แล้วก็ไปที่อุทยานแม่ปิง รุ่นน้องผมเป็นหัวหน้าที่นั่น เขาก็เอาระบบเซลล์แสงอาทิตย์มาติดตั้งไว้ สามารถเปิดแอร์ได้เลย ซึ่งเขาก็บอกว่าดี ไม่ต้องหนวกหู ไม่ต้องเปลืองเงิน ไม่เปลืองไฟด้วย เสียค่าติดตั้งทีเดียวก็ใช้ไปนาน ขอให้แดดจัด ๆ เท่านั้นเอง

" ผมก็ว่ามันเหมาะที่จะนำมาใช้ในป่ามากเลย เพราะว่าหนึ่งคือทำให้ไม่ต้องใช้น้ำมันดีเซลซึ่งทำให้เกิดมลภาวะต่างๆ สองไม่ต้องมีเสียงดัง ไม่ต้องใช้เครื่องปั่นที่มีเสียงดังสนั่นหวั่นไหว รบกวนพวกสัตว์หรือพวกคนที่เข้าไฟพักแรม ส่วนตัวผมคิดว่าดีมากเลย เพราะมันไม่เป็นภาระด้วย ไม่เหมือนเครื่องปั่นไฟฟ้านี่เป็นภาระน่าดูเลย ไหนค่าน้ำมัน ไหนจะเครื่องเสีย เสียงก็ดัง แต่ถ้าเป็นระบบเซลล์แสงอาทิตย์นี่แน่นอนว่าอายุการใช้งานมันนานกว่า เพียงแต่มีคนดูแลที่รู้จักระบบเท่านั้น แล้วอีกอย่าง ที่นี่เวลาหน้าร้อนนี่แดดร้อนมากเลย เซลล์แสงอาทิตย์มาใช้กับที่นี่ก็น่าจะใช้ได้ผลดี"

ความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบพลังงานทดแทนรูปแบบอื่นที่น่าจะนำมาใช้ในอุทยานฯ

คุณปัญญา : " ตอนนี้ที่นี้เรามีโครงการหนึ่ง คือโครงการอพยพพวกกระหร่างจากบ้านบางกลอยมาไว้ที่โป่งลึก โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ พระราชทานเงิน 5 แสนบาท เพื่อให้อพยพพวกกระหร่างมา มีประมาณ 47 ครอบครัว แล้วเราก็ปลูกบ้านให้เขา แบบที่เขาอยู่ดั้งเดิมนะ เพราะเราต้องการจะอนุรักษ์ประเพณีเขาไว้อย่างเดิมทุกอย่าง เสร็จแล้วเราก็มีระบบส่งน้ำโดยใช้กังหัน...เป็นกังหันน้ำทีนี้ปรากฏว่าพอเอากังหันมาแล้วยังติดตั้งไม่ได้ เพราะขาดงบประมาณสำหรับทำรางน้ำ คือกังหันตัวนี้ต้องมีรางน้ำสำหรับมาหมุนตัวกังหัน แล้วก็มีลมช่วยอีกทางหนึ่ง ระบบนี้ผมว่าก็น่าจะใช้ได้ดีคือการใช้กังหันปั่นน้ำขึ้นมาใช้

" ส่วนกังหันลมที่ตัวใหญ่ ๆ และใช้ลมหมุนนี่ สำหรับป่าที่นี่คงจะใช้ลำบากเพราะป่ามันทึบ ไม่ค่อยมีลม แต่พลังน้ำนี่ได้เพราะน้ำเราเยอะ ทำให้เป็นระบบกังหันน้ำอย่างที่เราจะเอามาใช้นี่น่าจะได้ผลดี"

ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการด้านพลังงานของประเทศ

คุณปัญญา : ผมว่ามันจำเป็นที่สุดเลยในขณะนี้ เพราะต่อไปน้ำมันก็จะหายาก แพงด้วย น้ำมันนี่มันหมดไปจากโลกเราได้นะ ไม่ได้มีตลอด สักวันหนึ่งมันจะต้องหมด เพราะอย่างตะวันออกกลางนี่ เขาก็ขุดมาใช้กันใหญ่เลย หรืออย่างประเทศไทยเรานี่ใช้ก๊าซใช่ไหม เราใช้ก๊าซจากพม่า จากมาเลเซีย ซึ่งถ้าเราปรับปรุงระบบพลังงานแสงอาทิตย์ให้ดี เราก็จะสบายในอนาคต

" แต่ปัญหาของเราอยู่ที่คนไทยยังไม่นิยมใช้ อาจจะเป็นเพราะว่าไม่รู้จักเทคโนโลยีกันจริง ๆ ยิ่งชาวบ้านทั่วไปนี่เขาไม่รู้หรอก แล้วค่าติดตั้งปัจจุบันก็ยังแพง เรื่องเทคนิคต่างๆ เขาก็ยังไม่รู้ว่ามันจะได้แค่ไหนจะดีอย่างไร อีกอย่างเราไม่มีการโฆษณากันให้แพร่หลาย คนก็เลยไม่เข้าใจว่าระบบนี้เป็นอย่างไร เพราะผมว่าถ้าคนใช้กันเยอะขึ้น ราคาค่าติดตั้งก็คงจะถูกลง "


คุณสุทัศน์ ทรัพย์ภู่ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ กจ. 4 บ้านกร่าง ซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบพลังงานทดแทนดังกล่าว ได้กล่าวถึงผลของการใช้งานระบบ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ลักษณะการใช้ประโยชน์จากระบบพลังงานทดแทนที่นำมาติดตั้ง

คุณสุทัศน์ : "ระบบที่เราใช้ก็มี ระบบสูบน้ำซึ่งจะสูบน้ำเฉพาะเวลาที่มีแสงอาทิตย์ สูบน้ำจากลำธารใกล้ ๆ ที่นี่ไปเก็บไว้บนถังบนยอดเขา น้ำที่ได้ก็ใช้กับทุกจุดภายในศูนย์ฯ ได้เลย ส่วนระบบฟ้านี่เป็นการเก็บในแบตเตอรี่ กลางคืนเราก็ใช้ไฟฟ้าได้ ซึ่งแบตเตอรี่นี่จะเก็บไฟฟ้า 48 โวลต์ และจะประจุอยู่ตลอดเวลาเรื่องไฟฟ้านี่ไม่มีปัญหาเลย อย่างฝนตกสามวันไม่เป็นปัญหา เพราะเราใช้หลอดประหยัดด้วย แล้วเราก็คำนวณไว้ว่า 3 กิโลวัตต์ สำหรับทั้ง 4 อาคารรวมทั้ง เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างหม้อหุงข้าว วิทยุสื่อสาร หรือเครื่องสไลด์ เรียกว่าสามารถเปิดใช้พร้อมกันได้เลย นอกจากนี้ เราก็ยังใช้กับตู้เย็นที่ใช้เก็บเซรุ่มสำหรับฉีดเวลางูกัดเพราะว่าการเดินทางจากที่นี่ไปโรงพยาบาลไกลมาก เราจึงต้องมีเซรุ่มเก็บไว้"

มีการดูแลระบบพลังงานทดแทนอย่างไร

คุณสุทัศน์ : "การดูแลก็ไม่ยากนะ เพียงแต่คอยทำความสะอาดแผง อย่างหน้าแล้งเราก็ต้องคอยระวังเรื่องฝุ่นที่มาเกาะ เพราะจะทำให้แผงรับแสงได้น้อยลง มีประสิทธิภาพน้อยลง เราก็ใช้น้ำฉีดทำความสะอาดส่วนแบตเตอรี่ที่ใช้ก็เป็นแบตเตอรี่แห้งที่ใช้สำหรับเซลล์แสงอาทิตย์ ทำให้เราไม้ต้องมีปัญหาต้องมาเติมน้ำกลั่นแล้วอายุการใช้งานก็นานกว่าเป็น 10 ปีเลย ซึ่งเราก็พียงแต่ดูแลขั้วแบตฯ ไม่ให้เกิดสนิมเท่านั้น"

เปรียบเทียบกับระบบพลังงานที่ใช้อยู่เดิมเป็นอย่างไร

คุณสุทัศน์ : "เทียบกับระบบเดิมนี่ดีกว่าเยอะ เพราะเดิมเราต้องใช้น้ำมันกับเครื่องปั่นไฟ แล้วก็มีเสียงดังรบกวน สัตว์ป่าหนีหมด แต่พอเราใช้ระบบนี้ ซึ่งเราใช้แทนระบบเครื่องปั่นไฟฟ้าได้ทั้งหมดเลย ทั้งใช้ฉายสไลด์เกี่ยวกับอนุรักษ์ ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า แสงสว่าง ชาร์จแบตเตอรี่วิทยุก็ได้ระบบนี้ไม่มีเสียงดัง พวกสัตว์ป่าก็กลับมาให้เห็นเยอะเลย แล้วก็ไม่เกิดมลพิษอย่างเครื่องปั่นไฟที่มีควัน คราบสกปรก ส่วนการติดตั้งก็ไม่ต้องทำลายธรรมชาติ เพราะเราติดตั้งไว้ที่ระเบียงหรือบนหลังคา ระบบนี้ไม่ไปรบกวนสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติที่มี หรืออย่างการใช้งานกับหม้อหุงข้าวไฟฟ้าก็ทำให้เราไม่ต้องไปหาฟืน ไม่ต้องใช้ถ่านหุงข้าวอีก"


ที่มา : พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย