โครงการนำพลังงานทดแทนไปใช้งานที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ


ระบบประจุแบตเตอรี่ด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบรวมศูนย์ 2 ระบบ โดยกรมโยธาธิการ

โครงการฯ ได้ติดตั้งระบบประจุแบตเตอรี่ด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบรวมศูนย์ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 790 วัตต์ชุดควบคุม 1 ชุด แบตเตอรี่ 65 แอมแปร์ชั่วโมง 12 โวลต์ จำนวน 5 ลูก โรงประจุแบตเตอรี่ขนาด 12 ตารางเมตร จำนวน 1 หลัง และหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 18 วัตต์ จำนวน 5 ชุด เป็นระบบที่มีลักษณะการทำงานคือ ในเวลากลางวัน คนงานปลูกป่าจะต้องนำแบตเตอรี่ไปประจุไฟฟ้าที่โรงประจุ โดยโครงการฯ ได้จัดตั้งให้ราษฎรมาช่วยกันดูแลการประจุ

การใช้งาน การดูแลรักษา และหลังจากกลับจากทำงานแล้ว คนงานก็จะนำแบตเตอรี่ที่ประจุเต็มแล้วกลับไปใช้งานที่บ้านของตน โดยมีการกำหนดรอบการประจุและวิธีใช้งานเพื่อป้องกันไม่ให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพ ซึ่งแบตเตอรี่ 1 ลูกสามารถใช้กับหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 1-2 หลอด ได้ประมาณ 3-5 ชั่วโมง

ระบบดังกล่าวติดตั้งในพื้นที่ 2 แห่ง แห่งละ 1 ระบบ ในโครงการปลูกป่าพระราชทาน 4,000 ไร่ ได้แก่

  1. ปางสี่ เป็นพื้นที่ที่เดิมไม่มีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ เข้าไปไม่ถึง และคนงานปลูกป่าจำนวน 10 ครัวเรือน ต้องใช้น้ำมันก๊าดเพื่อให้แสงสว่างในเวลากลางคืน
  2. ปางสำนักงาน มีคนงานปลูกป่าประมาณ 10 ครัวเรือนอาศัยอยู่ เดิมใช้เครื่องยนต์ดีเซลผลิตไฟฟ้าระหว่างเวลา 18.00-22.00 น. ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายและเกิดความสกปรกจากน้ำมันเชื้อเพลิงที่ชาวบ้านต้องรับภาระด้วยกัน นอกจากนี้ ในอาคารสำนักงานยังต้องใช้เครื่องยนต์ดีเซลผลิตไฟฟ้าเพื่อประจุแบตเตอรี่ของวิทยุสื่อสารอีกด้วย

ระบบประจุแบตเตอรี่ด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 3 กิโลวัตต์ แบบรวมศูนย์ โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)

พื้นที่ปางสองในโครงการปลูกป่าพระราชทาน 4,000 ไร่ มีราษฎรอาศัยอยู่ประมาณ 30 ครัวเรือน และจะมีการย้ายเข้ามารวมกลุ่มกันจนครบ 80 ครัวเรือนในอนาคต ปัจจุบันเป็นพื้นที่ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง ราษฎรต้องใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดสำหรับให้แสงสว่าง

ดังนั้นโครงการฯ จึงติดตั้งระบบประจุแบตเตอรี่ด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบรวมศูนย์จำนวน 1 ระบบมีขนาดผลิตกำลังไฟฟ้ารวม 3,000 วัตต์ ซึ่งประกอบด้วยชุดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 75 วัตต์ต่อแผง จำนวน 40 แผง ชุดโครงสร้างรองรับแผงเซลล์แสงอาทิตย์จำนวน 2 ชุด สามารถรองรับแผงเซลล์ฯ ได้ 20 แผงต่อชุด ตู้ควบคุมการประจุแบตเตอรี่ขนาด 10 ช่อง จำนวน 2 ตู้ แบตเตอรี่ขนาด 130 แอมแปร์ชั่วโมง 12 โวลต์ จำนวน 40 ลูก เป็นแบบตะกั่วกรดชนิด deep discharge และอุปกรณ์แสดงสถานภาพการใช้งานของแบตเตอรี่จำนวน 40 ลูก แต่ละตัวทนกระแสไฟฟ้าได้ 10 แอมแปร์ โดยติดตั้งระบบฯ ในพื้นที่ส่วนกลาง และจัดตั้งองค์กรของหมู่บ้านเพื่อรองรับการบริหารการใช้งานระบบฯ ในลักษณะคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ของหมู่บ้าน เพื่อทำหน้าที่ดูแลการประจุแบตเตอรี่ การแบ่งกลุ่มครัวเรือนในการประจุแบตเตอรี่ การควบคุมการใช้งาน และการบำรุงรักษา

การใช้งานของระบบ ราษฎรแต่ละครัวเรือนจะต้องนำแบตเตอรี่ไปประจุไฟฟ้าที่โรงประจุแบตเตอรี่ในตอนเช้า แล้วนำแบตเตอรี่ไปใช้งานที่บ้านในตอนเย็น เพื่อใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในครัวเรือน ระยะเวลาการนำแบตเตอรี่มาประจุในแต่ละรอบประมาณ 4 วันต่อครั้ง สำหรับแบตเตอรี่ 1 ลูก สามารถใช้กับหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 2 หลอด ได้ประมาณวันละ 5 ชั่วโมง

ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมต่อสายส่ง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)

ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมต่อสายส่งนี้ติดตั้งที่อาคารสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ดอยตุง ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 2,100 วัตต์ อุปกรณ์ควบคุม 1 ชุด เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า 1 ชุด และวัตต์มิเตอร์แสดงผลการผลิตไฟฟ้า 1 ชุด

ในเวลาที่มีแสงอาทิตย์ เซลล์แสงอาทิตย์จะทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรงจากการออกแบบระบบจะให้ไฟฟ้ากระแสตรงขนาดแรงดัน 220-240 โวลต์ และกระแสไฟฟ้า 6-8 แอมแปร์ ไฟฟ้ากระแสตรงที่ผลิตได้จะไหลผ่านเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าถูกเปลี่ยนเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ ที่มีแรงดัน 220 โวลต์ และมีคุณสมบัติเหมือนกับกระแสไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม

ดังนั้นกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบนี้จึงสามารถใช้ได้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ทุกชนิด โดยในกรณีที่กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเซลล์แสงอาทิตย์มีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในขณะนั้น กระแสไฟฟ้าส่วนเกินจะถูกขายคืนเข้าในระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ในทางกลับกันหากความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าในขณะนั้นมีมากกว่ากระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ กระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดก็จะถูกซื้อเสริมไฟฟ้าที่ผลิตได้ กระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดก็จะถูกซื้อเสริมเข้ามาจากระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ตามปกติ ซึ่งการทำงานของระบบได้รับการออกแบบให้เป็นการทำงานแบบอัตโนมัติ ดังนั้นจึงไม่ต้องมีการปิด-เปิดระบบแต่อย่างใดในแต่ละวัน

ผลจากการติดตั้งระบบ ทำให้ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ซื้อจากระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ลดลงเท่ากับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งเท่ากับว่าจะสามารถช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงบรรพชีวิน เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน ในการผลิตกระแสไฟฟ้าลง อันจะส่งผลให้มลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงดังกล่าวลดลงได้อีกทางหนึ่ง

โทรศัพท์สาธารณะเคลื่อนที่ระบบ 470 เมกะเฮร์ต ด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ โดยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย

องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 470 เมกะเฮิร์ต ที่ทำงานด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ มาติดตั้งที่ปางสำนักงานโครงการปลูกป่าพระราช 4,000 ไร่ ซึ่งแต่เดิมไม่มีโทรศัพท์ใช้และต้องใช้วิทยุสื่อสารของสำนักงานดอยตุง

โดยระบบดังกล่าวประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ 1 แผง ชุดควบคุม 1 ชุด แบตเตอรี่ 1 ลูก และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 470 เมกะเฮิร์ต 1 เครื่อง เป็นระบบโทรศัพท์ที่สามารถใช้ติดต่อได้ทั่วประเทศ โดยสามารถประจุไฟฟ้าลงแบตเตอรี่ของตนเอง และสามารถใช้ไฟฟ้าได้ตลอดวัน โดยจำกัดตามขนาดของแบตเตอรี่และอุปกรณ์ควบคุม ดังนั้น จึงเป็นระบบที่ผู้ใช้ต้องมีจิตสำนึกในการประหยัดพลังงาน เพราะต้องควบคุมการใช้งานด้วยตนเอง

เครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่

  1. ส่วนเซนเซอร์หรือไพรานอมิเตอร์ ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคคอนขนาด 1 ตารางเซนติเมตร และขั้วของเซลล์และอาทิตย์
  2. ส่วนอินติเกรตสัญญาณ ทำหน้าที่แสดงผลและอินติเกรตค่าความเข้มรังสีดวงอาทิตย์เป็นพลังงาน

ประโยชน์ของเครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ คือสามารถวัดค่าพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งทำให้ทราบประสิทธิภาพการทำงานของระบบพลังงานทดแทนที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ในอนาคตได้

ชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ โดยบริษัท สยามโซลาร์ แอนด์ อีเลคทรอนิคส์ จำกัด

ชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 10 วัตต์ จำนวน 1 แผง หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 6 วัตต์ จำนวน 1 ชุด แบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์ 4 แอมแปร์ชั่วโมง จำนวน 1 ลูก เซนเซอร์วัดความสว่าง 1 ชุด ชุดตั้งเวลาการทำงานของหลอดไฟกับพัดลม 1 ชุด พัดลมขนาด 2 นิ้ว 1 เครื่องชุดแสดงผลความจุแบตเตอรี่ 1 ชุด ถุงผ้าดักแมลง 1 ถุง และขาตั้งแบบเคลื่อนย้ายได้ 1 ชุด

ระบบจะทำงานโดยเซลล์แสงอาทิตย์จะประจุกระแสไฟฟ้าลงในแบตเตอรี่ในเวลากลางวัน เมื่อดวงอาทิตย์ตกดิน เซนเซอร์วัดความสว่างจะสั่งให้หลอดไฟสว่างและพัดลมหมุนเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เพราะโดยปกติแมลงจะออกมาเล่นไฟประมาณ 2 ชั่วโมง ในขณะที่หลอดไฟสว่างและพัดลมหมุนนั้น หากมีแมลงบินเข้าใกล้ก็จะถูกดูดให้ตกลงไปในถุง และแมลงที่ได้นี้สามารถนำไปใช้เลี้ยงปลาได้ นอกจากนี้ ชุดแสงไฟล่อแมลงยังสามารถติดตั้งไว้กลางบ่อเลี้ยงปลาเพื่อให้แมลงตกลงไปในบ่อปลาโดยตรงได้ด้วย

เครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืชด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด

เครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืชด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ประกอบด้วยแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ 1 ชุด ถังสกัดสารไส้กรอง ท่อน้ำเข้าถังและท่อน้ำเข้าแผง วาล์วเช็คระดับน้ำ ขารับแผงและถัง เป็นอุปกรณ์ที่นำพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์มาใช้ ประโยชน์ในการต้มสกัดสารชีวภาพ ซึ่งมีอยู่ในสมุนไพรบางชนิด เช่น ตะไคร้ หอม สะเดา ข่า และอื่นๆ โดยการทำงานจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบแผงรับแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนจะถูกดูดซับและส่งถ่ายความร้อนให้กับน้ำที่อยู่ในระบบ ทำให้น้ำร้อนและลอยตัวขึ้นที่สูงแล้วไหลไปตามท่อหุ้มฉนวนเข้าสู่ถังสกัดสารกำจัดศัตรูพืชหรือหม้อต้มซึ่งใส่สมุนไพรไว้ ขณะเดียวกันน้ำส่วนล่างของหม้อต้มก็จะไหลไปตามท่อหุ้มฉนวนด้านตรงข้ามเข้าสู่แผงรับแสงอาทิตย์เพื่อรับพลังงานความร้อนจากแผงเป็นวัฏจักรเรียกว่า ระบบไหลเวียนตามธรรมชาติ น้ำในหม้อต้มจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 90 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลาวันละ 6-8 ชั่วโมง ก็จะได้น้ำสารสกัดจากพืชสมุนไพร 75-100 ลิตรต่อวัน เมื่อปล่อยให้เย็นก็สามารถนำน้ำสารสกัดไปฉีดพ่นพืชผักผลไม้ได้ทันที เพื่อป้องกันศัตรูพืชที่จะมาทำลาย

ระบบเครื่องขยายเสียงพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด

ระบบประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 6 วัตต์ 12 โวลต์ 0.3 แอมแปร์ จำนวน 1 แผง แบตเตอรี่แบบ sealed lead acid ขนาด 12 โวลต์ 0.7 แอมแปร์ จำนวน 1 ลูก และเครื่องขยายเสียง พร้อมไมโครโฟนแบบมีสายและแบบไร้สาย จำนวน 1 ชุด ชุดเครื่องขยายเสียงถูกดัดแปลงให้สามารถใช้ได้ทั้งไฟฟ้ากระแสตรงและไฟฟ้ากระแสสลับ มีขนาดกำลังขยาย 50 วัตต์ โดยสามารถใช้งานได้ทั้งไมโครโฟนแบบมีสายและแบบไร้สายซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าขนาด 0.5 แอมแปร์ และสามารถใช้งานติดต่อกันเป็นเวลา 3 ชั่วโมงต่อวัน เหมาะสำหรับการใช้งานในภาคสนามและเลือกใช้ตามความเหมาะสมได้อีกด้วย

อุปกรณ์ช่วยแปลงสุขภัณฑ์ชักโครกให้ประหยัดน้ำ โดยนายศฤงคาร รัตนางศุ (สมาคมการประดิษฐ์ไทย)

โครงการฯ ได้นำอุปกรณ์ช่วยแปลงสุขภัณฑ์ชักโครกให้ประหยัดน้ำ ไปติดตั้งที่บ้านพักรับรองในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ จำนวน 72 ชุด เป็นอุปกรณ์ที่เน้นการประหยัดน้ำในสุขภัณฑ์ชักโครกช่วยควบคุมการทำงานของเครื่องสุขภัณฑ์ให้ใช้น้ำเพียงครึ่งเดียวก็เพียงพอ ทำให้สามารถเปลี่ยนเครื่องสุขภัณฑ์ที่ใช้น้ำเปลืองมาเป็นสุขภัณฑ์ที่ประหยัดน้ำแทน

สุขภัณฑ์ชักโครกเป็นอุปกรณ์ที่ใช้น้ำสะอาดมากที่สุดในครัวเรือนโดยเฉพาะน้ำประปา ปัจจุบันมีการออกแบบเครื่องสุขภัณฑ์ชักโครกที่ประหยัดน้ำด้วยเครื่องสุขภัณฑ์เอง แต่ถ้านำเอาอุปกรณ์ช่วยแปลงสุขภัณฑ์ชักโครกใส่เข้าไปควบคุมการทำงานของเครื่องสุขภัณฑ์ จะยิ่งประหยัดน้ำมันมากขึ้น และถ้ายิ่งนำไปใช้กับเครื่องสุขภัณฑ์รุ่นเก่าๆ ที่ใช้น้ำเปลืองมากๆ ก็จะช่วยประหยัดน้ำได้มากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถเปลี่ยนเครื่องสุขภัณฑ์รุ่นเก่าๆ มาเป็นสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำอย่างง่ายดาย แทนที่จะต้องทุบของเก่าทิ้ง แล้วติดตั้งสุขภัณฑ์ชักโครกรุ่นใหม่ ซึ่งจะเห็นว่าสิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย


ดร. ฤกษ์ ศยามานนท์ รองผู้อำนวยการโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงระบบพลังงานทดแทนดังกล่าว ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ลักษณะการนำระบบพลังงานทดแทนมาใช้ในโครงการปลูกป่าพระราชทาน 4,000 ไร่

ดร. ฤกษ์ : "ผมว่าในด้านภาคปฏิบัติควรจะนำพลังงานทดแทนไปใช้ในพื้นที่ที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง เพราะว่าเทคโนโลยีนี้ แม้จะมีการพัฒนามาบ้างแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะเอามาใช้ทดแทนไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะนำพลังงานทดแทนมาใช้จึงควรจะใช้ในพื้นที่ที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง อย่างที่ดอยตุงเราก็เลือกให้นำไปใช้กับโครงการปลูกป่ายังชีพ ซึ่งยังไม่มีระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าไปถึง"

ความคาดหมายถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการนำระบบพลังงานทดแทนมาใช้ในพื้นที่โครงการฯ

ดร.ฤกษ์ : "โครงการฯของเราเองก็อยากจะให้นำมาทดลองใช้ในลักษณะการวิจัยเพื่อดูว่าใช้ประโยชน์ได้แค่ไหน แล้วก็จะทำให้นำไปพัฒนาให้ระบบดีขึ้น ใช้ได้นานขึ้น ประหยัดขึ้น ใช้งานได้เพิ่มมากขึ้น เราถึงได้ให้นำไปติดตั้งในพื้นที่ที่ไฟฟ้ายังไม่มี และก็ยังต้องใช้การปั่นไฟอยู่ ซึ่งการปั่นไฟก็ต้องใช้เครื่องยนต์ ทำให้เกิดสิ่งที่เสียหายก็คือ สิ้นเปลืองพลังงาน ซึ่งเราทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่า น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหลายที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันวันหนึ่งก็ต้องหมดไป เราจึงต้องนำพลังงานทดแทนมาใช้ แม้จะเป็นส่วนนิดเดียวก็ตาม นอกจากนี้พลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้กันอยู่ก็ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารตัวอื่นด้วย ทำให้อากาศเสีย เกิดมลภาวะต่างๆ"

ความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำระบบพลังงานทดแทนมาใช้ในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ

ดร.ฤกษ์ : "สำหรับเรื่องพลังงานทดแทนเวลานี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น การนำมาใช้ที่นี่จะเป็นการวิจัยและพัฒนามากกว่าจะใช้ทดแทนจริงๆ แต่เราก็ยินดีมากที่มีการนำโครงการฯ นี้เข้ามาร่วมในโครงการพระราชดำริเพราะว่าเป็นโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่เจริญพระชนมายุครบ 72 พรรษาซึ่งโครงการพัฒนาดอยตุงก็อยู่ภายใต้สถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนกัน เป็นโครงการของสมเด็จย่า เราในฐานะข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดของพระองค์ท่านก็มีความยินดีที่จะร่วมโครงการฯ

"ประการที่สอง โครงการพัฒนาดอยตุงฯนี้เป็นไปในแนวทางอนุรักษ์ และมีการจัดการเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ อย่างเรื่องดิน หรือเรื่องน้ำ รวมถึงเรื่องของคนด้วย อย่างที่ดอยตุงมีชาวเข่าหลายเผ่า ซึ่งเราต้องการจะอนุรักษ์วิถีชีวิตวัฒนธรรมแบบเดิมของเขาไว้ เมื่อเราเข้ามาพัฒนาก็ต้องดูถึงเรื่องต่างๆ เหล่านี้ด้วยว่า ผลของการพัฒนาจะทำให้มรดกที่สืบทอดกันมาชั่วลูกชั่วหลานของเขาถูกทำลายไปหรือเปล่า"

ระบบพลังงานทดแทนจะสามารถขยายไปสู่สังคมในวงกว้างได้อย่างไร

ดร.ฤกษ์ : "การที่โครงการได้เข้ามาติดตั้งระบบต่างๆ ก็ถือว่าได้มาเริ่มต้นในจุดหนึ่งแล่ว ก็ต้องมีการพัฒนาต่อไป ไม่ใช่อีก 10 ปี ก็ยังอยู่เท่านี้ หรือว่าค่อยๆ ทรุดลงไป ผมไม่ต้องการให้เป็นอย่างนั้นผมต้องการให้วโรกาส 72 พรรษานี่เป็นการจุดประกายในเรื่องนี้ ซึ่งผมว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านก็ทรงสนพระทัยในเรื่องนี้และทรงมองถึงในเรื่องนี้เหมือนกันว่า โครงการนี้ได้รับการจุดประกายขึ้น แล้วก็มีการเจริญขึ้นมาเรื่อง ไม่ได้หายไป"


ที่มา : พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย