โครงการนำพลังงานทดแทนไปใช้งานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ


ระบบสูบน้ำเพื่อทำระบบป่าเปียกด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ บริเวณเขาบ่อขิง โดยกรมโยธาธิการ

กรมโยธาธิการได้เข้าไปสำรวจและออกแบบเพื่อติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ สำหรับใช้ในการทำระบบป่าเปียกในการฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณเขาบ่อขิง ซึ่งแต่เดิมยังไม่มีระบบสูบน้ำหรืออ่างเก็บน้ำบนยอดเขา และมักประสบกับปัญหาสภาพป่าค่อยข้างแห้งแล้งในช่วงฤดูแล้งเสมอ

ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่นำไปติดตั้งนี้ ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 2,200 วัตต์ เครื่องสูบน้ำมอเตอร์กระแสตรง 2 เครื่อง ชุดควบคุม 2 ชุด ถังเก็บน้ำคอนกรีตขนาด 20 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง และท่อส่งน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว เป็นระยะทาง 1,150 เมตร จำนวน 2 ท่อ ซึ่งในระบบนี้ เครื่องสูบน้ำจะทำงานในเวลากลางวันด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยทราบได้ประมาณ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่งผ่านท่อที่มีระยะยกน้ำสูง 110 เมตร ขึ้นไปเก็บไว้ในถังคอนกรีตบนยอดเขาบ่อขิง สำหรับให้น้ำแก่พื้นที่ป่าไม้บนภูเขา โดยระบบดังกล่าวมีความสามารถในการสูบน้ำได้ถึง 5,100 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

ระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตรด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด โดยกรมโยธาธิการ (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)

ก่อนการดำเนินการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในพื้นที่ที่พัฒนาแล้วจำนวน 240 ไร่ของสวนสมเด็จฯ มีเครื่องยนต์ดีเซลสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดไปเก็บไว้ในสระขนาด 6,400 ลูกบาศก์เมตร แล้วปล่อยน้ำโดยใช้แรงโน้มถ่วงเข้าสู่พื้นที่ด้านบนของสวนสมเด็จฯ แต่ปัจจุบันระบบเครื่องยนต์ดีเซลดังกล่าวไม่ได้ใช้งานเนื่องจากมีค่าเชื้อเพลิงที่สูงมาก เพราะเป็นระบบขนาดใหญ่ที่มีการสูบน้ำจำนวนมากและส่งน้ำไปในท่อระยะไกล

กรมโยธาธิการได้เข้าไปติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยพลังแสงอาทิตย์ที่ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 6,600 วัตต์ เครื่องสูบน้ำมอเตอร์กระแสสลับ (positive displacement) ขนาด 4.5 แรงม้า จำนวน 4 เครื่อง อุปกรณ์ควบคุม 1 ชุด เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าและท่อส่งน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว เป็นระยะทาง 1,600 เมตร จำนวน 1 ชุด โดยเครื่องสูบน้ำจะทำงานด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดไปเก็บไว้ในสระน้ำทางด้านบนของสวนสมเด็จฯ ที่มีความจุ 2,000 ลูกบาศก์เมตร มีระยะยกน้ำสูง 15 เมตร เพื่อปล่อยน้ำลงพื้นที่เกษตร และไม่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานรายวัน จึงทำให้ลดค่าดำเนินการและซ่อมบำรุงไปได้ อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม และไม่มีเสียงดังรบกวนจากเครื่องยนต์ดีเซล

ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร ที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)

จากการสำรวจพื้นที่ที่พัฒนาแล้ว 240 ไร่ในบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พบว่า มีปัญหาในระบบสูบน้ำเพื่อใช้ในโครงการ ซึ่งเดิมกรมชลประทานได้ขุดบ่อน้ำไว้ตามพื้นที่เกษตรต่างๆ เป็นจำนวน 5 บ่อหลัก ซึ่งสามารถรองรับปริมาณน้ำจากคลองชลประทานได้ โดยแต่ละบ่อใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 11 แรงม้า สูบน้ำได้วันละ 100 ลูกบาศก์เมตร เพื่อนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ แต่ยังมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำที่มีปริมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดปัญหามลภาวะจากการใช้เครื่องยนต์ดีเซลขึ้นอีกด้วย มหาวิทยาลัยนเรศวรจึงดำเนินการติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 5 ระบบขึ้นในพื้นที่ ได้แก่

ระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตรด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ บริเวณทฤษฎีใหม่ (น้ำชลประทาน) โดยบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด

ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 375 วัตต์ ประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์โซลาร์ตรอน ขนาด 75 วัตต์ จำนวน 5 แผง รวมเป็น 375 วัตต์ เครื่องปรับแรงดันไฟฟ้า MPPT ขนาด 400 วัตต์ จำนวน 1 ชุด และเครื่องสูบน้ำแบบผิวดิน CP-1600 จำนวน 1 ชุด ซึ่งได้ทำการติดตั้งโดยสูบน้ำจากแหล่งน้ำผิวดินไปเก็บไว้ในแทงก์น้ำปลอกคอนกรีต ขนาดความจุไม่น้อยกว่า 8 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีระดับความสูงของทางส่งน้ำที่ 15 เมตร สามารถสูบน้ำได้ประมาณ 15,000 ลิตร/วัน เพื่อนำไปใช้งานบริเวณแปลงเกษตรสาธิตทฤษฎีใหม่น้ำชลประทาน สวนสมเด็จพระศรีนทราบรมราชชนนี เพื่อการจัดสรรน้ำในการเพาะปลูก

ระบบสูบน้ำสำหรับประปาหมู่บ้านด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ โดยกรมโยธาธิการ

ระบบสูบน้ำสำหรับประปาหมู่บ้านด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์นี้ ติดตั้งอยู่หมู่บ้านชาวไทยมุสลิมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีประชากร 35 ครัวเรือน ซึ่งแต่เดิมมีระบบสูบน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคซึ่งใช้ไฟฟ้าจากระบบสายส่งในการเดินเครื่องสูบน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคอยู่แล้วแต่มีภาระด้านค่าไฟฟ้าสูง ทางกรมโยธาธิการ จึงได้ออกแบบและทำการติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 53 วัตต์ จำนวน 21 แผง รวม 1,113 วัตต์ เครื่องสูบน้ำมอเตอร์กระแสสลับ 1 เครื่อง เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า 1 ชุด อุปกรณ์ควบคุม 1 ชุด เพื่อทดแทนระบบเดิม โดยเครื่องสูบน้ำด้วยระบบเซลล์แสงอาทิตย์จะทำงานในเวลากลางวัน สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำส่งเข้าท่อประปาให้กับหมู่บ้านได้วันละ 23 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นปริมาณปีละ 8,100 ลูกบาศก์เมตร

ระบบไฟฟ้าแสงสว่างด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ โดยบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด

ระบบไฟฟ้าแสงสว่างด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 75 วัตต์ จำนวน 3 แผง รวมเป็น 225 วัตต์ อุปกรณ์ควบคุมบริเวณศาลาทรงงาน ขนาด 12 โวลต์ 6 แอมแปร์ จำนวน 1 ชุด อุปกรณ์ควบคุม บริเวณโรงเลี้ยงไก่ ขนาด 12 โวลต์ 10 แอมแปร์ จำนวน 1 ชุด แบตเตอรี่ชนิดเจล ขนาด 6 โวลต์ 150 แอมแปร์ชั่วโมง จำนวน 4 ลูก หลอดไฟประหยัดพลังงาน ขนาด 12 โวลต์ 7 วัตต์ จำนวน 9 หลอด และหลอดไฟประหยัดพลังงาน ขนาด 12 โวลต์ 11 วัตต์ จำนวน 6 หลอด โดยติดตั้งระบบดังกล่าวไว้ในบริเวณสวนสมเด็จฯ 2 จุด ด้วยกัน คือ ที่ศาลาทรงงาน และที่โรงเลี้ยงไก่ ทั้ง 2 จุดนี้สามารถใช้งานได้ 4 ชั่วโมง คือ เปิดทำงานโดยอัตโนมัติตอนช่วงหัวค่ำ 3 ชั่วโมง และจะทำงานอีกครั้งในช่วงเช้ามืดอีก 1 ชั่วโมง (การทำงานโดยอัตโนมัติเป็นผลมาจากการทำงานของอุปกรณ์ควบคุมการปรับกระแสไฟฟ้า)

ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมต่อสายส่ง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)

ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ เชื่อมต่อสายส่งนี้ติดตั้งที่อาคารห้องประชุมสำนักงานประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 2,100 วัตต์ อุปกรณ์ควบคุม 1 ชุด เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า 1 ชุด และวัตต์มิเตอร์แสดงผลการผลิตไฟฟ้า 1 ชุด

ในเวลาที่มีแสงอาทิตย์ เซลล์แสงอาทิตย์จะทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง จากการออกแบบระบบจะให้ไฟฟ้ากระแสตรงขนาดแรงดัน 220-240 โวลต์ และกระแสไฟฟ้า 6-8 แอมแปร์ ไฟฟ้ากระแสตรง ที่ผลิตได้จะไหลผ่านเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าและถูกเปลี่ยนเป็นไฟฟ้ากระแสสลับที่มีแรงดัน 220 โวลต์ และมีคุณสมบัติเหมือนกับกระแสไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม ดังนั้นกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบนี้จึงสามารถใช้ได้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ทุกชนิด โดยในกรณีที่กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเซลล์แสงอาทิตย์มีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในขณะนั้น กระแสไฟฟ้าส่วนเกินจะถูกขายคืนเข้าในระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ในทางกลับกันหากความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าในขณะนั้นมีมากกว่ากระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ กระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดก็จะถูกซื้อเสริมเข้ามาจากระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ตามปกติ ซึ่งการทำงานของระบบได้รับการออกแบบให้เป็นการทำงานแบบอัตโนมัติ ดังนั้น จึงไม่ต้องมีการปิด-เปิดระบบแต่อย่างใดในแต่ละวัน

ผลจากการติดตั้งระบบ ทำให้ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ซื้อจากระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ลดลงเท่ากับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งเท่ากับว่าจะสามารถช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงบรรพชีวิน เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน ในการผลิตกระแสไฟฟ้าลง อันจะส่งผลให้มลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงดังกล่าวลดลงได้อีกทางหนึ่ง

ชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ โดยบริษัท สยามโซลาร์ แอนด์ อีเลคทรอนิคส์ จำกัด

ลักษณะบ่อผลิตก๊าซชีวภาพเป็นบ่อแบบโดมคงที่ขนาด 8 ลูกบาศก์เมตร โดยใช้วัตถุดิบที่ใช้ในการหมักเพื่อผลิตเป็นก๊าซชีวภาพนั้น ใช้มูลจากคอกโคนมสาธิตจำนวน 6 ตัว สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณวันละ 3-5 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งพอเพียงที่จะนำมาใช้เป็นพลังงานในการต้มนมแพะและโคนมที่ผลิตได้ภายในศูนย์ฯ ใช้เป็นพลังงานในการกกลูกไก่และลูกเป็ด ทำให้ประหยัดพลังงานก๊าซหุงต้มเดือนละ 2 ถัง (ขนาด 15 กิโลกรัม) ส่วนพลังงานที่เหลือทางศูนย์ฯ จะเดินท่อก๊าซไปบ้านพักคนงานบริเวณโดยรอบเพื่อนำไปใช้ประโยชน์

ชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์นี้ออกแบบและผลิตโดยคนไทย เป็นอุปกรณ์ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายการติดตั้งสะดวก และมีต้นทุนการผลิตต่ำประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 10 วัตต์ จำนวน 1 แผง หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 6 วัตต์ จำนวน 1 ชุด แบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์ 4 แอมแปร์ชั่วโมง จำนวน 1 ลูก เซนเซอร์วัดความสว่าง 1 ชุด ชุดตั้งเวลาการทำงานของหลอดไฟกับพัดลม 1 ชุด พัดลมขนาด 2 นิ้ว 1 เครื่องชุดแสดงผลความจุแบตเตอรี่ 1 ชุด ถุงผ้าดักแมลง 1 ถุง และขาตั้งแบบเคลื่อนย้ายได้ 1 ชุด

สำหรับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ พบว่า ยังไม่มีเครื่องล่อแมลงที่จะใช้กำจัดแมลงบางชนิดที่เป็นศูตรูพืช จึงได้นำชุดอุปกรณ์นี้มาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว ซึ่งลักษณะการทำงานของระบบเป็นไปโดยเซลล์แสงอาทิตย์จะประจุกระแสไฟฟ้าลงในแบตเตอรี่ในเวลากลางวัน เมื่อดวงอาทิตย์ตกดินเซนเซอร์วัดความสว่างจะสั่งให้หลอดไฟสว่างและพัดลมหมุนเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ในขณะที่หลอดไฟสว่างและพัดลมหมุนนั้น หากมีแมลงบินเข้าใกล้ก็จะถูกดูดให้ตกลงไปในถุงผ้า แมลงที่จับได้นี้อาจนำไปใช้ประโยชน์เช่น นำไปเลี้ยงปลา นอกจากนี้ ชุดแสงไฟล่อแมลงยังสามารถติดตั้งไว้กลางบ่อเลี้ยงปลาเพื่อให้แมลงตกลงไปในบ่อปลาโดยตรงได้ด้วย

เครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืชด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด

เครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืชด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ประกอบด้วยแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ 1 ชุด ถังสกัดสารไส้กรอง ท่อน้ำเข้าถังและท่อน้ำเข้า แผงวาล์วเช็คระดับน้ำ ขารับแผงและถัง เป็นอุปกรณ์ที่นำพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์มาใช้ ประโยชน์ในการต้มสกัดสารชีวภาพ ซึ่งมีอยู่ในสมุนไพรบางชนิด เช่น ตะไคร้ หอม สะเดา ข่า และอื่นๆ โดยการทำงานจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบแผงรับแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนจะถูกดูดซับและส่งถ่ายความร้อนให้กับน้ำที่อยู่ในระบบ ทำให้น้ำร้อนและลอยตัวขึ้นที่สูงแล้วไหลไปตามท่อหุ้มฉนวนเข้าสู่ถังสกัดสารกำจัดศัตรูพืชหรือหม้อต้มซึ่งใส่สมุนไพรไว้ ขณะเดียวกันน้ำส่วนล่างของหม้อต้มก็จะไหลไปตามท่อหุ้มฉนวนด้านตรงข้ามเข้าสู่แผงรับแสงอาทิตย์เพื่อรับพลังงานความร้อนจากแผงเป็นวัฏจักรเรียกว่า ระบบไหลเวียนตามธรรมชาติ น้ำในหม้อต้มจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 90 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลาวันละ 6-8 ชั่วโมง ก็จะได้น้ำสารสกัดจากพืชสมุนไพร 75-100 ลิตรต่อวัน เมื่อปล่อยให้เย็นก็สามารถนำน้ำสารสกัดไปฉีดพ่นพืชผักผลไม้ได้ทันที เพื่อป้องกันศัตรูพืชที่จะมาทำลาย

เครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่

  1. ส่วนเซนเซอร์หรือไพรานอมิเตอร์ ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคคอนขนาด 1 ตารางเซนติเมตร และขั้วของเซลล์และอาทิตย์
  2. ส่วนอินติเกรตสัญญาณ ทำหน้าที่แสดงผลและอินติเกรตค่าความเข้มรังสีดวงอาทิตย์เป็นพลังงาน

ประโยชน์ของเครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ คือสามารถวัดค่าพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งทำให้ทราบประสิทธิภาพการทำงานของระบบพลังงานทดแทนที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ในอนาคตได้

มุ้งแอร์สุขภาพรุ่นประหยัดพลังงาน โดยนายศฤงคาร รัตนางศุ (สมาคมการประดิษฐ์ไทย)

มุ้งติดแอร์ ประกอบด้วยโครงเหล็กขนาดเล็กแบบถอดประกอยได้ มีหลังคาทรงโค้งคล้ายทรงโดมและมีทางเข้าออก โดยตัวมุ้งผลิตจากผ้าชนิดพิเศษและมีน้ำหนักเบาเป็นลักษณะ 2 ชั้น ชั้นนอกโปร่งและชั้นในทึบเพื่อเป็นฉนวนความร้อน โดยมีช่องแอร์สำหรับต่อเข้ากับเครื่องปรับอากาศเคลื่อนที่ขนาดเล็กที่มีระบบฟอกอากาศ ด้านหน้าพ่นลมเย็น ด้านหลังพ่นลมร้อนซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องทำความอุ่นให้กับมุ้งติดแอร์ได้ เครื่องปรับอากาศเคลื่อนที่ขนาดเล็กนี้สามารถนำมาใช้ทดแทนพัดลมซึ่งให้ลมเย็นกว่าพัดลมไอน้ำ และเนื่องจากเป็นเครื่องปรับอากาศเล็กจึงสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าน้อยมาก

ระบบเครื่องขยายเสียงพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด

เครื่องขยายเสียงพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 6 วัตต์ 12 โวลต์ 0.3 แอมแปร์ จำนวน 1 แผง ขนาด 12 โวลต์ 7 แอมแปร์ จำนวน 1 ลูก และเครื่องขยายเสียง พร้อมไมโครโฟนแบบมีสายและแบบไร้สาย จำนวน 1 ชุด ชุดเครื่องขยายเสียงถูกดัดแปลงให้สามารถใช้ได้ทั้งไฟฟ้ากระแสตรงและไฟฟ้ากระแสสลับ มีขนาดกำลังขยาย 50 วัตต์ โดยสามารถใช้งานได้ทั้งไมโครโฟนแบบมีสายและแบบไร้สายซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าขนาด 0.5 แอมแปร์ และสามารถใช้งานติดต่อกันเป็นเวลา 3 ชั่วโมงต่อวัน เหมาะสำหรับการใช้งานในภาคสนามและเลือกใช้ตามความเหมาะสมได้อีกด้วย

ชุดกรองน้ำดื่มระบบรีเวิร์สออสโมซิสทำงานด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ชุดกรองน้ำดื่มระบบรีเวิร์สออสโมซิสเป็นเครื่องฟอกน้ำจืด น้ำกร่อย หรือ น้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดบริสุทธิ์ โดยมีหลักในการทำงาน คือ ใช้เยื่อเมมเบรน (membrane) ซึ่งเป็นเยื่อบางๆ คล้ายแผ่นกระดาษ แต่มีเนื้อละเอียดถึง 0.0001 ไมครอน ทำให้โมเลกุลของสารละลายในน้ำไม่สามารถลอดผ่านไปได้ โดยเยื้อเมมเบรนจะทำงานควบคู่กับเครื่องสูบน้ำแรงดันสูงที่ทำหน้าที่ผลักดันน้ำดิบให้ผ่านเยื่อเมมเบรนเครื่องสูบน้ำดังกล่าวทำงานด้วยไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์แสงอาทิตย์

ระบบที่นำมาติดตั้งนี้ประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 60 วัตต์ แบตเตอรี่ขนาด 624 วัตต์ต่อชั่วโมง ชุดควบคุม และเครื่องสูบน้ำแรงดันสูง โดยการทำงานจะเริ่มจากการเปิดวาล์วให้น้ำดิบเข้าสู่ระบบไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์จะเดินเครื่องสูบน้ำให้ทำงานเพื่อเพิ่มความดันให้น้ำดิบ อัดน้ำผ่านส่วนไส้กรองคาร์บอนทั้งชนิดเม็ดและชนิดผง ส่วนเยื่อกรองเมมเบรน และส่วนไส้กรองคาร์บอนอันสุดท้ายจนได้เป็นน้ำบริสุทธิ์


พ.ต.ท. พีระพงศ์ ช่างสุพรรณ รองผู้กำกับการ 1 กอบบังคับการฝึกพิเศษ และรองหัวหน้ากองอำนวยการศูนย์ฯ ปฎิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงผลจากการนำโครงการพลังงานทดแทนมาใช้งานภายในศูนย์การพัฒนาห้วยทรายฯ ดังนี้

สภาพการใช้พลังงานที่มีอยู่เดิมภายในศูนย์

พ.ต.ท. พีระพงศ์ : "แต่เดิม ในศูนย์ฯ มีการใช้พลังงานทดแทนอยู่บ้างแล้ว คือ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยแรกเริ่มก็ติดตั้งกังหันลมไว้ 6 ตัว กระจายอยู่ตามบริเวณต่างๆ แล้วก็มีเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทางญี่ปุ่นนำมาติดตั้งให้ที่เขาเสวยกะปิเพื่อใช้ในระบบสูบน้ำขึ้นเขา แต่ปัญหาก็คือระบบเดิมนี้อาจจะยังมีเทคโนโลยีที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์จึงไม่สมบูรณ์จึงไม่สามารถจะดันน้ำขึ้นไปยอดเขาได้ ดังนั้นพื้นที่ที่รับน้ำจากจุดนี้ได้จึงมีน้อย ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ในส่วนของกังหันนั้นถือว่าได้ผลดี เพราะพื้นที่ที่ได้รับผลอยู่ในบริเวณไม่ไกลกัน และน้ำที่สูบได้ก็ใช้เฉพาะในแปลงงานต่างๆ ซึ่งการใช้พลังงานทดแทนที่นี่เน้นในเรื่องของระบบสูบน้ำ เพราะเราใช้เฉพาะในแปลงงานต่างๆ ซึ่งการใช้พลังงานทดแทนที่นี่เน้นในเรื่องของระบบสูบน้ำ เพราะเราใช้ในการฟื้นฟูระบบนิเวศเป็นหลัก

"แล้วเราก็มีการใช้ระบบเครื่องยนต์ดีเซลและระบบเครื่องยนต์เบนซินในการสูบน้ำ โดยระบบเครื่องยนต์เบนซินจะเป็นปั๊มน้ำขนาดเล็กที่เคลื่อนย้ายได้ง่าย ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิชัยพัฒนาแต่ปั๊มที่ใช้สูบน้ำประจำที่มีขนาดใหญ่และใช้ในแปลงที่ทำงานศึกษาด้านวิชาการเกษตรนั้น จะเป็นเครื่องยนต์ดีเซลเสียส่วนใหญ่"

การนำโครงการพลังงานทดแทนมาใช้งานภายในศูนย์ฯ เป็นไปในลักษณะใด

พ.ต.ท. พีระพงศ์ : "โครงการนี้นำมาใช้ทดแทนการใช้พลังงานในบางส่วนได้ โดยในศูนย์ของเราจะยังคงใช้ทั้ง 2 ระบบผสมผสานกัน อย่างที่สวนสมเด็จฯ ซึ่งเป็นจุดทดลองงานวิชาการเกษตรต่างๆ ได้แก่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร ทฤษฎีใหม่แบบน้ำฝนหรือชลประทาน เป็นงานที่ใช้น้ำค่อนข้างมาก แต่เดิมเราใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลักอยู่ ก็นำเอาพลังงานทดแทนนี้มาใช้แทนมากขึ้น และพยายามลดการใช้เครื่องยนต์ดีเซลลงเนื่องจากใช้งานหนัก แต่จะใช้เครื่องดีเซลตัวเก่าเพื่อเสริมเฉพาะในช่วงหน้าแล้งจัด คาดว่าจะสามารถลดการใช้น้ำมันดีเซลลงได้ไม่น้อยกว่า 80%"

ผลที่ได้รับจากการนำโครงการพลังงานทดแทนมาใช้งานภายในศูนย์ฯ

พ.ต.ท. พีระพงศ์ : "เมื่อประเมินผลจากจุดแรกที่ติดตั้งคือที่เขาบ่อขิงการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ จากโครงการนี้ ค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากมีระยะยกน้ำสูงถึง 100 เมตร และความยาวของท่อปั๊มซึ่งมีปั๊ม 2 ตัว ก็มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ทำให้สามารถสูบน้ำขึ้นไปถึงยอดเขาได้ อาจกล่าวได้ว่า ผลในด้านการใช้งานในระบบสูบน้ำนี้เป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง

"ในส่วนผลดีด้านอื่นๆ คงจะเป็นในด้านการประหยัดค่าใช้จ่ายพลังงาน แล้วก็เป็นพลังงานสีขาวที่ไม่ก่อมลพิษ ส่วนอีกประการที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มากเลยทีเดียว ก็คือ พลังงานทดแทนที่ติดตั้งในศูนย์ฯ จะเป็นรูปแบบการสาธิตที่คนทั่วไปสามารถเข้ามาดูงานและได้เห็นภาพการทำงานจริง เพราะที่นี่เป็นจุดหนึ่งที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก นักศึกษาตามสถาบันต่างๆ จะได้มาศึกษา ได้มาดูการดำเนินงานในพื้นที่จริงๆ และเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ รวมทั้งในส่วนของราชการด้วย ซึ่งส่วนราชการบางแห่งอาจจะมีปัญหาในด้านการใช้จ่ายเรื่องของน้ำมัน เรื่องของการทำงาน ก็อาจจะมาดูรูปแบบ และจะได้รู้ว่าจะติดต่อได้ที่ไหน มีการติดตั้งอย่างไร และใช้งบประมาณเท่าไร ในส่วนอื่นก็คงจะเป็นผลพลอยได้ อย่างป่าก็จะได้รับน้ำเพิ่มขึ้นจากระบบนี้"


ที่มา : พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย