โครงการนำพลังงานทดแทนไปใช้งานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ


ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบกระแสตรง พร้อมหอถังสูงโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)

ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบกระแสสลับพร้อมแบตเตอรี่ ประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 1,500 วัตต์ จำนวน 1 ชุด เครื่องสูบน้ำมอเตอร์กระแสสลับขนาด 1 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าจากกระแสตรงเป็นกระแสสลับขนาด 3 กิโลวัตต์ จำนวน 1 เครื่อง แบตเตอรี่ขนาด 130 แอมแปร์ชั่วโมง 12 โวลต์ จำนวน 20 ลูก อุปกรณ์ควบคุมการประจุแบตเตอรี่ 1 ชุด ขนาด 30 แอมแปร์ 48 โวลต์ อาคารโรงคลุมอุปกรณ์ 1 หลัง และท่อส่งน้ำ 1 ชุด

เครื่องสูบน้ำจะทำงานด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ถูกสะสมไว้ในแบตเตอรี่และจากเซลล์แสงอาทิตย์โดยผ่านเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าในช่วงกลางวัน หรือใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่สูบน้ำเมื่อต้องการ โดยสามารถสูบน้ำได้วันละประมาณ 45 ลูกบาศก์เมตร ที่ระยะหัวยกน้ำหนักรวม 12 เมตร และเป็นระบบที่ไม่มีหอถังสูบเก็บน้ำ เนื่องจากได้นำระบบแบตเตอรี่มาใช้เป็นอุปกรณ์สะสมพลังงาน ทำให้ระบบนี้สามารถนำพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ได้ในช่วงเวลาที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานเพื่อการสูบน้ำ เช่น ใช้กับแสงสว่าง โทรทัศน์ และอุปกรณ์ไฟฟ้ากระแสสลับอื่นๆ ที่มีขนาดและระยะเวลาการใช้งานที่เหมาะสมกับพลังงานที่เก็บสะสมไว้ในแบตเตอรี่ ระบบดังกล่าวติดตั้งในพื้นที่แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่

ระบบสูบน้ำด้วยกังหันลม โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน) และบริษัท อุสาพัฒนาเศรษฐกิจ จำกัด

จากข้อมูลลมบริเวณพื้นที่เขาหินซ้อน ความเร็วลมมีค่าเฉลี่ยประมาณ 7 กิโลกรัมต่อชั่วโมง วันละประมาณ 13 ชั่วโมง ดังนั้น โครงการฯ จึงนำกังหันลมสูบน้ำจำนวน 3 ระบบ มาติดตั้งใน 3 พื้นที่คือ พื้นที่แปลงเกษตรบริเวณอ่างเก็บนำห้วยเจ๊ก ศูนย์ส่งเสริมพืชสวนบริเวณห้วยน้ำโจน และโครงการพืชอายุสั้นบริเวณห้วยน้ำโจน

ระบบที่นำมาใช้งานแต่ละระบบประกอบด้วยกังหันลม ระบบส่งกำลังแบบเฟือง ขนาดความสูง 18 เมตร ความกว้างของใบพัด 14 ฟุต จำนวนใบพัด 30 ใบ เครื่องสูบน้ำแบบลูกสูบเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5 นิ้ว ระยะชัก 7 นิ้ว หอถังเหล็กสูง 12 เมตร ความจุ 12 ลูกบาศก์เมตร ท่อส่งนำเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 นิ้ว และท่อดูดน้ำเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว กังหันลมจะเริ่มทำงานที่ความเร็วลมประมาณ 4 กิโลเมตรต่อชั่งโมง จะสูบน้ำไปเก็บไว้ในหอถังสูงที่ระยะหัวยกน้ำประมาณ 18 เมตร โดยสูบน้ำได้วันละประมาณ 10-20 ลูกบาศก์เมตร ขึ้นอยู่กับความเร็วลม จากนั้นจึงปล่อยน้ำจากหอถังสูงผ่านระบบหัวฉีดย่อยหรือน้ำหยด ให้กับแปลงเกษตรกรรมต่อไป

ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมต่อสายส่งโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)

ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมต่อสายส่งนี้ติดตั้งที่อาคารศูนย์ประชาสัมพันธ์ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 2,100 วัตต์ อุปกรณ์ควบคุม 1 ชุด เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า 1 ชุด และวัตต์มิเตอร์แสดงผลการผลิตไฟฟ้า 1 ชุด

ในเวลากลางวันที่มีแสงอาทิตย์ เซลล์แสงอาทิตย์จะทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง จากการออกแบบระบบจะให้ไฟฟ้ากระแสตรงขนาดแรงดัน 220-240 โวลต์ และกระแสไฟฟ้า 6-8 แอมแปร์ ไฟฟ้ากระแสตรงที่ผลิตได้จะไหลผ่านเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าและถูกเปลี่ยนเป็นไฟฟ้ากระแสสลับที่มีแรงดัน 220 โวลต์ และมีคุณสมบัติเหมือนกับกระแสไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม ดังนั้น กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบนี้จึงสามารถใช้ได้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ทุกชนิด โดยในกรณีที่กระแสไฟฟ้า ที่ผลิตได้จากเซลล์แสงอาทิตย์มีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าส่วนเกินจะถูกขายคืนเข้าในระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ในทางกลับกันหากความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าในขณะนั้นมีมากกว่ากระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ กระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดก็จะถูกซื้อเสริมเข้ามาจากระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ตามปกติซึ่งการทำงานของระบบได้รับการออกแบบให้เป็นการทำงานแบบอัตโนมัติ ดังนั้นจึงไม่ต้องมีการปิด-เปิดระบบแต่อย่างใดในแต่ละวัน

ผลการติดตั้งระบบ ทำให้ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ซื้อจากระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ลดลงเท่ากับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งเท่ากับว่าจะสามารถช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงบรรพชีวิน เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน ในการผลิตกระแสไฟฟ้าลง อันจะส่งผลให้มลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงดังกล่าวลดลงได้อีกทางหนึ่ง

ย้ายและติดตั้งเพิ่มเติมระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ โดยบริษัท บีพีไทยโซลาร์ จำกัด

เครื่องสูบน้ำเดิมที่บริษัท บีพีไทยโซลาร์ จำกัด ได้ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2533 ที่สระ 1 อ่างเก็บน้ำที่ 4 ได้เกิดการชำรุด เนื่องจากสูบน้ำที่เป็นกรดและน้ำที่แห้งขอด โครงการฯ จึงย้ายเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งที่บริเวณอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 10 ซึ่งมีน้ำที่เป็นกรดอ่อนกว่าและทางบริษัท บีพีไทยโซลาร์ จำกัด ได้ติดตั้งระบบสูบน้ำเพิ่มเติมด้วย

ระบบประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 58 วัตต์ จำนวน 28 แผง รวม 1,624 วัตต์ เครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า 1 ชุด อุปกรณ์ควบคุม 1 ชุด ถังน้ำสูบ 1 ถัง และท่อโลหะส่งน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 นิ้ว เป็นระยะทาง 300 เมตร โดยเครื่องสูบน้ำจะทำงานด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน สูบน้ำไปเก็บในถังสูงได้วันละ 40-50 ลูกบาศก์เมตร ที่ระยะยกน้ำสูง 15 เมตร และใช้แรงโน้มถ่วงปล่อยน้ำสู่แปลงเกษตรทดลองผ่านหัวฉีดกระจายน้ำ

ระบบแสงไฟถนนด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ 10 ชุด โดยบริษัท บีพีไทยโซลาร์ จำกัด

ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ มีการติดตั้งระบบแสงไฟถนนด้วยเซลล์แสงอาทิตย์จำนวน 10 ระบบ แต่ละระบบประกอบด้วย เซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 75 วัตต์ อุปกรณ์ควบคุมแบตเตอรี่ หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ขนาด 18 วัตต์ และเสาไฟพร้อมโครงเหล็กยึดเซลล์แสงอาทิตย์

ลักษณะการทำงานของระบบ คือ เซลล์แสงอาทิตย์จะประจุกระแสไฟฟ้าลงในแบตเตอรี่ในเวลากลางวัน โดยผ่านอุปกรณ์ควบคุมที่ทำหน้าที่ประจุให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ ภายในเครื่องมีอุปกรณ์สั่งให้หลอดไฟสว่างเมื่อท้องฟ้าเริ่มมืด และสั่งให้หลอดไฟดับเมื่อท้องฟ้าเริ่มสว่างหรือเมื่อแบตเตอรี่มีไฟฟ้าไม่เพียงพอในช่วงที่มีแสงอาทิตย์น้อยเพื่อป้องกันไม่ให้แบตเตอรี่เสียหาย

ชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ โดยบริษัท สยามโซลาร์ แอนด์ อีเลคทรอนิคส์ จำกัด

ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ แต่เดิมยังไม่มีเครื่องล่อแมลงที่จะใช้กำจัดแมลงบางชนิดที่เป็นศูนย์พืช จึงได้นำชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์มาติดตั้งภายในบริเวณศูนย์ฯ ซึ่งอุปกรณ์ชนิดนี้ออกแบบและผลิตโดยคนไทย เป็นอุปกรณ์ที่เคลื่อนย้ายง่าย ติดตั้งสะดวก และมีต้นทุนการผลิตต่ำ ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 10 วัตต์ จำนวน 1 แผง หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 6 วัตต์ จำนวน 1 ชุด แบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์ 4 แอมแปร์ชั่วโมง จำนวน 1 ลูก เซนเซอร์วัดความสว่าง 1 ชุด ชุดตั้งเวลาการทำงานของหลอดไฟกับพัดลม 1 ชุด พัดลมขนาด 2 นิ้ว 1 เครื่องชุดแสดงผลความจุแบตเตอรี่ 1 ชุด ถุงผ้าดักแมลง 1 ถุง และขาตั้งแบบเคลื่อนย้ายได้ 1 ชุด

การทำงานของระบบเป็นไปโดยเซลล์แสงอาทิตย์จะประจุกระแสไฟฟ้าลงในแบตเตอรี่ในเวลากลางวัน เมื่อดวงอาทิตย์ตกดิน เซนเซอร์วัดความสว่างจะสั่งให้หลอดไฟสว่างและพัดลมหมุนเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เพราะโดยปกติแมลงจะออกมาเล่นไฟประมาณ 2 ชั่วโมง โดยในขณะที่หลอดไฟสว่างและพัดลมหมุนนั้น หากมีแมลงบินเข้าใกล้ก็จะถูกดูดให้ตกลงไปในถุง และแมลงที่ได้นี้สามารถนำไปใช้เลี้ยงปลาได้ นอกจากนี้ ชุดแสงไฟล่อแมลงยังสามารถติดตั้งไว้กลางบ่อเลี้ยงปลาเพื่อให้แมลงตกลงไปในบ่อปลาโดยตรงได้ด้วย

ชุดกรองน้ำดื่มระบบรีเวิร์สออสโมซิลทำงานด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ชุดกรองน้ำดื่มระบบรีเวิร์สออสโมซิสเป็นเครื่องฟอกน้ำจืด น้ำกร่อย หรือ น้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดบริสุทธิ์ โดยมีหลักในการทำงาน คือ ใช้เยื่อเมมเบรน (membrane) ซึ่งเป็นเยื่อบางๆ คล้ายแผ่นกระดาษแต่มีเนื้อละเอียดถึง 0.0001 ไม่ครอน ทำให้โมเลกุลของสารละลายในน้ำไม่สามารถลอดผ่านไปได้ โดยเยื้อเมมเบรนจะทำงานควบคู่กับเครื่องสูบน้ำแรงดันสูงที่ทำหน้าที่ผลักดันน้ำดิบให้ผ่านเยื่อเมมเบรนเครื่องสูบน้ำดังกล่าวทำงานด้วยไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์แสงอาทิตย์

ระบบที่นำมาติดตั้งนี้ประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 60 วัตต์ แบตเตอรี่ขนาด 624 วัตต์ต่อชั่วโมง ชุดควบคุม และเครื่องสูบน้ำแรงดันสูง โดยการทำงานจะเริ่มจากการเปิดวาล์วให้น้ำดิบเข้าสู่ระบบไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์จะเดินเครื่องสูบน้ำให้ทำงานเพื่อเพิ่มความดันให้น้ำดิบ อัดน้ำผ่านส่วนไส้กรองคาร์บอนทั้งชนิดเม็ดและชนิดผง ส่วนเยื่อกรองเมมเบรน และส่วนไส้กรองคาร์บอนอันสุดท้านจนได้เป็นน้ำบริสุทธิ์

เครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืชด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด

เครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืชด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ประกอบด้วยแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ 1 ชุด ถังสกัดสารไส้กรอง ท่อน้ำเข้าถังและท่อน้ำเข้าแผง วาล์วเช็คระดับน้ำขารับแผงและถัง เป็นอุปกรณ์ที่นำพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์มาใช้ ประโยชน์ในการต้มสกัดสารชีวภาพ ซึ่งมีอยู่ในสมุนไพรบางชนิด เช่น ตะไคร้ หอม สะเดา ข่า และอื่นๆ โดยการทำงานจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบแผงรับแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนจะถูกดูดซับและส่งถ่ายความร้อนให้กับน้ำที่อยู่ในระบบ ทำให้น้ำร้อนและลอยตัวขึ้นที่สูงแล้วไหลไปตามท่อหุ้มฉนวนเข้าสู่ถังสกัดสารกำจัดศัตรูพืชหรือหม้อต้มซึ่งใส่สมุนไพรไว้ ขณะเดียวกันน้ำส่วนล่างของหม้อต้มก็จะไหลไปตามท่อหุ้มฉนวนด้านตรงข้ามเข้าสู่แผงรับแสงอาทิตย์เพื่อรับพลังงานความร้อนจากแผงเป็นวัฏจักรเรียกว่า ระบบไหลเวียนตามธรรมชาติ น้ำในหม้อต้มจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 90 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลาวันละ 6-8 ชั่วโมง ก็จะได้น้ำสารสกัดจากพืชสมุนไพร 75-100 ลิตรต่อวัน เมื่อปล่อยให้เย็นก็สามารถนำน้ำสารสกัดไปฉีดพ่นพืชผักผลไม้ได้ทันที เพื่อป้องกันศัตรูพืชที่จะมาทำลาย

ระบบเครื่องขยายเสียงพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด

เครื่องขยายเสียงพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 6 วัตต์ 12 โวลต์ 0.3 แอมแปร์ จำนวน 1 แผง แบตเตอรี่แบบ sealed lead acid ขนาด 12 โวลต์ 0.7 แอมแปร์ จำนวน 1 ลูก และเครื่องขยายเสียง พร้อมไมโครโฟนแบบมีสายและแบบไร้สาย จำนวน 1 ชุด ชุดเครื่องขยายเสียงถูกดัดแปลงให้สามารถใช้ได้ทั้งไฟฟ้ากระแสตรงและไฟฟ้ากระแสสลับ มีขนาดกำลังขยาย 50 วัตต์ โดยสามารถใช้งานได้ทั้งไมโครโฟนแบบมีสายและแบบไร้สายซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าขนาด 0.5 แอมแปร์ และสามารถใช้งานในภาคสนามและเลือกใช้ตามความเหมาะสมได้อีกด้วย

เครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่

  1. ส่วนเซนเซอร์หรือไพรานอมิเตอร์ ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคคอนขนาด 1 ตารางเซนติเมตร และขั้วของเซลล์และอาทิตย์
  2. ส่วนอินติเกรตสัญญาณ ทำหน้าที่แสดงผลและอินติเกรตค่าความเข้มรังสีดวงอาทิตย์เป็นพลังงาน

ประโยชน์ของเครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ คือสามารถวัดค่าพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งทำให้ทราบประสิทธิภาพการทำงานของระบบพลังงานทดแทนที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ในอนาคตได้

มุ้งแอร์สุขภาพรุ่นประหยัดพลังงาน โดยนายศฤงคาร รัตนางศุ (สมาคมการประดิษฐ์ไทย)

มุ้งติดแอร์ ประกอบด้วยโครงเหล็กขนาดเล็กแบบถอดประกอยได้ มีหลังคาทรงโค้งคล้ายทรงโดมและมีทางเข้าออก โดยตัวมุ้งผลิตจากผ้าชนิดพิเศษและมีน้ำหนักเบาเป็นลักษณะ 2 ชั้น ชั้นนอกโปร่งและชั้นในทึบเพื่อเป็นฉนวนความร้อน โดยมีช่องแอร์สำหรับต่อเข้ากับเครื่องปรับอากาศเคลื่อนที่ขนาดเล็กที่มีระบบฟอกอากาศ ด้านหน้าพ่นลมเย็น ด้านหลังพ่นลมร้อนซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องทำความอุ่นให้กับมุ้งติดแอร์ได้ เครื่องปรับอากาศเคลื่อนที่ขนาดเล็กนี้สามารถนำมาใช้ทดแทนพัดลมซึ่งให้ลมเย็นกว่าพัดลมไอน้ำ และเนื่องจากเป็นเครื่องปรับอากาศเล็กจึงสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าน้อยมาก


ภายหลังจากที่โครงการฯ นำระบบพลังงานทดแทนติดตั้งที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว คุณเกรียงศักดิ์ หงษ์โต ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพลังงานทดแทน ดังนี้

ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการด้านพลังงานของประเทศไทย

คุณเกรียงศักดิ์ : "การจัดการด้านพลังงานที่ดีนั้น เราต้องย้อนไปมองถึงเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่เรามีอยู่เสียก่อน เพราะว่าแหล่งของพลังงานธรรมชาติก็คือทรัพยากร อย่างเช่น ถ้าเรามีป่าสมบูรณ์เราก็ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องการปรับปรุงดิน ตรงจุดนี้เองที่ทำให้ผมมองเห็นว่า เรายังขาดการจัดการทรัพยากรที่ดีและสอดคล้องกับภูมิศาสตร์บ้านเรา อย่างบ้านเรามีพลังงานธรรมชาติอยู่มากมายขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่องได้อย่างไร"

การแก้ปัญหาด้านพลังงานของประเทศไทยควรจะเป็นไปในแนวทางใด

คุณเกรียงศักดิ์ : "การแก้ปัญหาด้านพลังงานนั้นจะต้องแก้ตั้งแต่รากของปัญหา นั้นก็คือสำนึกในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพราะการจะเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยที่แต่เดิมเขาก็มีพลังงานใช้ มีไฟฟ้าใช้อย่างสะดวกสบายอยู่แล้วไม่ใช่เรื่องง่าย การแก้ปัญหาจึงต้องมองภาพรวมทั้งหมด ต้องมองทั้งกระบวนการจัดการ ผมเชื่อว่าทุกคนก็รับรู้อยู่แล้วว่า พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมนั้นมีมากมาย แล้วก็ดีแน่ๆ แต่การลงทุนในเบื้องต้นที่จะนำมาใช้นั้นสูงแค่ไหน การดูแลรักษาในเรื่องเทคโนโลยีจะเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้เรายังมีความรู้ความเข้าใจกันอยู่น้อยมาก จุดนี้เองที่เราจะต้องมีการพัฒนาต่อไป"

ความคาดหมายที่จะได้รับจากโครงการนำพลังงานทดแทนมาใช้งานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ

คุณเกรียงศักดิ์ : "วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ก็เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่เป็นพลังงานนำเข้าแต่การนำพลังงานธรรมชาติมาใช้ในประเทศของเรานั้นยังต้องมีการพัฒนาอีก เพื่อให้ในวันหนึ่งข้างหน้าการลงทุนติดตั้งจะได้มีราคาถูกลง และชาวบ้านที่มีรายได้ไม่มากนักสามารถนำไปใช้ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราก็สามารถนำมาใช้ในบางส่วนซึ่งก็ช่วยประหยัดไปได้มากเหมือนกัน แล้วลองคิดดูว่าถ้าคนจำนวน 60 ล้านคน ทั้งประเทศช่วยกัน เราจะสามารถประหยัดพลังงานที่ต้องนำเข้า ประหยัดรายจ่ายของประเทศไปได้มากแค่ไหน

"ส่วนตัวผมเองเห็นด้วยที่หน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามาร่วมกันทำตรงจุดนี้ เพื่อเทิดพระเกียรติในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษาของพระองค์ท่าน เพราะว่าจากตรงนี้เราจะได้เก็บตัวเลขข้อมูลที่ได้จากการใช้งาน เพื่อเผยแพร่ให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมหรือมาดูงานภายในศูนย์ ได้เรียนรู้ว่า ระบบพลังงานทดแทนเป็นอย่างไร ใช้ได้ผลแค่ไหน มีระบบการทำงานเป็นอย่างไร มีปัญหาอย่างไร มีข้อดีข้อเสียตรงไหน เพื่อจะเป็นทางเลือกให้กับเขาได้นำไปใช้หรือพัฒนาต่อไปได้"


ที่มา : พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย