โครงการผลิตพลังงานทดแทนของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา


ความเป็นมาของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา

ตลอดระยะเวลากว่าห้าสิบสามปีนับตั้งแต่เถลิงถวัลยสิริราชสมบัติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 นั้น พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านต่างๆ ได้เป็นที่ประจักษ์แกพสกนิกรชาวไทยมาตลอด โดยเฉพาะพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พระองค์ได้ทรงศึกษาค้นคว้าความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางอำนวยประโยชน์ให้ประชาราษฎร์ได้อยู่ดีกินดีในโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการต่างๆ โดยโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ก็เป็นหนึ่งใน 3,000 กว่าโครงการที่ได้ริเริ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ

  1. เป็นโครงการทดลอง โดยเก็บข้อมูลไว้เพื่อศึกษาและเพื่อผู้ที่สนใจขอข้อมูลมาเพื่อศึกษา ถ้าต้องการจะทำตามหรือคิดว่าโครงการนี้ดีเป็นตัวอย่าง ก็ขอข้อมูลไปเพื่อพิจารณา และเริ่มกิจกรรมของหน่วยงานนั้น
  2. เป็นโครงการตัวอย่าง
  3. เป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร หมายถึง โครงการใดก็ตามที่จัดทำขึ้นนั้น ถ้าหากว่าขาดทุนก็ยังทำต่อไป แต่จะพิจารณาหาโครงการอื่นซึ่งสามารถที่จะทำกำไร นำมาสนับสนุนโครงการที่ขาดทุน เพราะฉะนั้นต้องไม่ท้อถอยต่อการที่จะทำแล้วขาดทุนต่อไป

โครงการส่วนพระองค์ฯ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

  1. แบบไม่ใช่ธุรกิจ โครงการแบบไม่ใช่ธุรกิจ หมายถึง โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากราชการหลายๆ หน่วยงาน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีรายรับและรายจ่ายประจำ เช่น การเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลาหมอเทศ ทำป่าไม้สาธิต หาข้าวทดลอง เลี้ยงโคนม การเลี้ยงขยายพันธุ์ปลานิล ปลูกข้าวไร่ จัดทำก๊าซชีวภาพ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชสวนพืชสมุนไพร อาคารวิจัยและพัฒนา
  2. แบบกึ่งธุรกิจ ไม่ใช่ธุรกิจเต็มตัว เป็นโครงการที่มีรายรับและรายจ่าย ที่เรียกว่ากึ่งธุรกิจก็เพราะว่าไม่มีการแจกผลกำไร ไม่แบ่ง เพราะนำผลกำไรมาขยายงาน โครงการแบบกึ่งธุรกิจ ได้แก่ โรงโคนม ศูนย์รวมนม โรงสีข้าวทดลอง โรงบดและอัดแกลบ ห้องปฎิบัติการทดลองเพื่อตรวจสอบคุณภาพของผลผลิต โรงผลิตน้ำผลไม้ โรงนมผงสวนดุสิต โรงนมเม็ด โรงเนยแข็ง โรงอบผลไม้ โรงบดและอัดแกลบ โรงกลั่นแอลกฮอล์เพื่อการค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น นำแอลกอฮอล์มาผสมกับน้ำมันเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ โรงหล่อเทียนหลวง โรงผลิตกระดาษสา โรงเห็ดและโรงอาหารปลา เป็นต้น และมีโครงการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต ค้นคว้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ของโครงการฯ ตลอดจนส่งเสริมเพิ่มความรู้ความสามารถให้กับเจ้าหน้าที่เป็นขวัญและกำลังใจเพื่อการวิจัยและพัฒนาของโครงการฯ

โครงการผลิตพลังงานทดแทนของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา

โครงการผลิตพลังงานทดแทนซึ่งดำเนินการโดยโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ได้แก่ โครงการผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง (แกลบอัดแท่ง) โครงการผลิตแก๊สโซฮอล์ และโครงการบ้านพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นโครงการที่พระบาทสำเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำริให้ริเริ่มขึ้นเพื่อการค้นคว้าพลังงานทดแทนอื่น แทนพลังงานจากน้ำมันและเชื้อเพลิงอื่น และใช่ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ให้ได้ผลคุ้มค่ามากที่สุด

โครงการผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง (แกลบอัดแท่ง)

ปกติหลังการสีข้าว จะได้แกลบซึ่งอาจนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ ทำเป็นปุ๋ย และเชื้อเพลิงได้ตามความต้องการ โดยเฉพาะการใช้งานแกลบเป็นเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและสะดวกต่อการใช้งานนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ว่า ควรมีการนำแกลบมาใช้งานให้เป็นประโยชน์ทั้งทางด้านการทำเป็นปุ๋ยสำหรับปรับปรุงสภาพดินและทำเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 จึงได้มีการทดลองนำแกลบมาอัดให้เป็นแท่งและแปรสภาพให้เป็นเชื้อเพลิงแท่ง เริ่มจากการนำแกลบที่ได้จากโรงสีข้าวตัวอย่างในสวนจิตรดามาทดลองใช้งาน โดยได้รับความร่วมมือในการวิจัยและค้นคว้าจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

แกลบที่ได้จากโรงสีข้าวตัวอย่างในสวนจิตรลดาจะถูกเลือกใช้เฉพาะส่วนที่มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 10 ขั้นตอนการผลิตเริ่มจากการขับแกลบให้ไหลผ่านสกรู แล้วจะมีเครื่องทำหน้าที่บดแกลบให้ละเอียดและทำให้แน่นผ่านกระบอก โดยกระบอกจะถูกเผาด้วยเศษแกลบอัดแท่งซึ่งมีความร้อนประมาณ 250-270 องศาเซลเซียสและเนื่องจากวัสดุแกลบประกอบด้วยสารเซลลูโลส ลิกนิน และคาร์โบไฮเดรต ดังนั้นเมื่อสารเซลลูโลสถูกความร้อนจากกระบอก สารเซลลูโลสจะหลอมละลายและเคลือบด้านนอกของแท่งแกลบให้แข็ง ทำให้แกลบเกาะกันเป็นแท่ง

ระหว่างการทำวิจัยและทดลองในเบื้องต้นพบว่ามีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น เช่น สกรูด้านหน้าของ เครื่องอัดแท่งสึกหรอเร็ว สารที่ทำให้สกรูสึกหรอเร็ว ได้แก่ สารซิลิกา เมื่อเดินเครื่องได้ประมาณ 21 ชั่วโมงจะต้องทำการถอดสกรูมาเชื่อมและพอกใหม่ ในปัจจุบันกำลังมีการศึกษาและวิจัยหาวิธีการที่จะทำให้สกรูใช้งานได้นานกว่าที่ใช้อยู่เดิม ขณะเดียวกันแกลบอัดแท่ง เมื่อนำมาทำให้เป็นเชื้อเพลิงจะมีควันมาก จึงต้องกำจัดควันโดยการนำแกลบอัดแท่งเข้าเตาเผาให้เป็นถ่าน แกลบอัดแท่งจะอยู่ในเตาเผาประมาณ 4 วันเมื่อได้ถ่านแล้วจึงนำถ่านออกจากเตา

เมื่อต้องการนำถ่านแกลบไปใช้งาน จะต้องนำถ่านแกลบมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อสะดวกในการบรรจุใส่ถุงเพื่อจำหน่าย ถ่านแกลบ 1 ถุง มีน้ำหนัก 2 กิโลกรัม จำหน่ายกิโลกรัมละ 5 บาท หรือ 1 ถุง ราคา 10 บาท โดยความร้อนที่ได้จากการใช้ถ่านแกลบมีดังนี้

ประโยชน์ที่ได้จากการนำแกลบมาแปรสภาพเป็นถ่านแกลบจึงมีอยู่หลายด้าน ทั้งในแง่ของการ นำแกลบซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงแท่งใช้แทนถ่านไม้ได้คุ้มค่า ช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ และไม่ทำลายสภาพสิ่งแวดล้อม

โครงการทดลองผลิตแก๊สโซฮอล์

งานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2528 ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา และมีพระราชกระแสรับสั่งให้ศึกษาต้นทุนการผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อย เพราะในอนาคตอาจเกินเหตุการณ์น้ำมันขาดแคลนหรืออ้อยราคาต่ำ การนำอ้อยมาแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงินทุนวิจัยในการดำเนินงาน 925,500 บาท เพื่อใช้ในการจัดสร้างอาคาร และอุปกรณ์ต่างๆ ในการทดลองนี้

วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารโครงการค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิงและเริ่มผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อย โดยสามารถผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ความบริสุทธิ์ 91% ได้ในอัตรา 2.8 ลิตรต่อชั่วโมง ต้นทุนการผลิต 56.2 บาทต่อลิตร ขณะที่เอทิลแอลกอฮอล์ความบริสุทธิ์ 95% ซึ่งผลิตจากกากน้ำตาลของกรมสรรพสามิตจำหน่ายในราคาประมาณ 24 บาทต่อลิตร

ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 ฝ่ายเทคนิคบริษัทสุราทิพย์ได้ช่วยปรับปรุงหอกลั่นแอลกอฮอล์ ให้สามารถกลั่นได้ความบริสุทธิ์ 95% ในอัตรา 5 ลิตรต่อชั่วโมง ใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการหมัก ซึ่งบริษัทสุราทิพย์น้อมเกล้าฯ ถวายเพื่อใช้ในการนี้เดือนละประมาณ 2 ตัน มีต้นทุนในการผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ความบริสุทธิ์ 94% จากกากน้ำตาลประมาณ 35 บาทต่อลิตร

เดือนตุลาคม พ.ศ. 2537 โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ร่วมกับบริษัทสุราทิพย์ขยายกำลังการผลิตแอลกอฮอล์เพื่อให้มีพอใช้ผสมกับเบนซินธรรมดาในอัตรา 1 : 4 เป็นแก๊สโซฮอล์ สำหรับรถยนต์ทุกคันของโครงการฯ ที่ใช้เบนซิน โครงการทดลองนี้จัดเป็นโครงการหนึ่งในหกโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลวโรกาสเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ 50 ปี ของสำนักพระราชวัง

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงงานผลิตแอลกอฮอล์เป็นเชื้อเพลิงที่บริษัทสุราทิพย์น้อมเกล้าฯ ถวายและดำเนินการ กลั่นตลอดมาจนถึงปัจจุบัน กำลังการผลิตหอกลั่นขนาด 25 ลิตรต่อชั่วโมง คิดเป็นต้นทุนการผลิตแบบธุรกิจทั่วไป 32 บาทต่อลิตร ถ้าคิดต้นทุนการผลิตแบบยกเว้นต้นทุนคงที่ราคา 12 บาทต่อลิตร (ทำการผลิต 4 ครั้งต่อเดือน) ได้แอลกอฮอล์ประมาณ 900 ลิตรต่อการกลั่น 1 ครั้ง ใช้กากน้ำตาลความหวาน 49% (โดยน้ำหนัก) ครั้งละ 3,6400 กิโลกรัม น้ำกากส่า (น้ำเสียจากหอกลั่น) จะใช้รดกองปุ๋ยหมักที่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2539 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ร่วมกับโครงการส่วนพระองค์ฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพของแอลกอฮอล์ที่ใช้เติมรถยนต์ โดยให้โครงการฯ ส่งแอลกอฮอล์ 95% ไปกลั่นซ้ำเป็นแอลกอฮอล์ 99% ที่ สถาบันวิจัยฯ แล้วนำกลับมาผสมกับเบนซินธรรมดาเป็นแก๊สโซฮอล์เติมให้กับรถยนต์ของโครงการฯ ที่ใช้เบนซินเป็นเชื้อเพลิง โดยสามารถเติมแก๊สโซฮอล์ได้จากสถานีบริการของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา

ปัจจุบันโครงการแก๊สโซฮอล์ใช้แอลกอฮอล์ 99% ผสมกับเบนซินธรรมดาในอัตราส่วน 1 : 9 และเติม corrosion inhibitor (เป็นสารเคมีประเภทอะมีนและกรดอินทรีย์) 15 มิลลิกรัม ต่อแก๊สโซฮอล์ 1 ลิตร

ส่วนโครงการดีโซฮอล์ได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2541 โดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ร่วมกับโครงการส่วนพระองค์ ทดลองผสมแอลกอฮอล์ 95% กับน้ำมันดีเซลและสารอีมัลซิไฟเออล์ (สารอิมัลซิไฟเออร์ประกอบด้วย PEOPS และ SB 407) ในอัตราส่วน 13 : 86 : 1 ซึ่งจะนำไปใช้กับรถเครื่องยนต์ดีเซล เช่น รถปิคอัพ รถแทรกเตอร์ ของโครงการฯ จากผลการทดลองพบว่าสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ดีพอสมควรและสามารถลดควันดำได้ประมาณ 50%

โครงการเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์

เมื่อปี พ.ศ. 2538 ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับสถาบันวิศวกรรมเกษตรสำหรับเมืองร้อนและกึ่งร้อน มหาวิทยาลัยโฮเฮนไฮม์ ภาคเอกชนสถาบันไอเซลเลนและบริษัทเกวุสมิลเลอร์ ประเทศเยอรมันนี ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบอุโมงค์ลมร้อน (tunnel solar dryer) โดยมีแผงรับความร้อนจากแสงอาทิตย์และมีพัดลมเป็นตัวเป่าลมร้อนที่เกิดขึ้นสามารถนำไปใช้อบผลิตผลทางการเกษตรต่างๆ เช่น เมล็ดธัญพืช เมล็ดถั่ว ผัก ผลไม้ พืชสมุนไพร ตลอดจนผลิตภัณฑ์เนื้อและผลิตภัณฑ์ประมง เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานไฟฟ้าในการอบแห้งผลิตภัณฑ์อบแห้งของโครงการส่วนพระองค์ฯ ได้แก่ การทำกล้วยตาก และผลไม้อบแห้งอื่นๆ

ในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มีกังหันลมสูบน้ำจำนวน 2 เครื่อง ติดตั้งที่บริเวณด้านหน้าโครงการส่วนพระองค์ฯ และบริเวณโรงเพาะเห็ด ขนาดความสูง 18 เมตร ขนาดความกว้างของใบพัด 20 ฟุต จำนวนใบพัด 45 ใบ ปริมาณน้ำที่สูบได้ 2,000-24,000 ลิตรต่อชั่วโมง (ที่ความเร็วลม 4-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ท่อดูดและส่งน้ำมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 นิ้ว ปัจจุบันกังหันลมทั้ง 2 เครื่องใช้สูบน้ำจากคลองรอบพระตำหนักเข้ามาที่บ่อเลี้ยงปลานิลที่ด้านหน้าโครงการฯ และนำน้ำจากคลองมาใช้ในการอุปโภคที่บริเวณโรงเพาะเห็ด

กังหันลมสูบน้ำในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา

โครงการบ้านพลังงานแสงอาทิตย์

โครงการบ้านพลังงานแสงอาทิตย์เป็นโครงการที่กระทรวงกลาโหม กรมการพลังงานทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพัฒนาพลังงานทหารได้จัดทำขึ้น เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังสวนจิตรลดา เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50 โดยใช้ชื่อโครงการว่า "โครงการพัฒนาระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์เฉลิมพระเกียรติ" สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์เป็นประธานในพิธีเปิดการใช้งานบ้านพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2539

วัตถุประสงค์ของโครงการบ้านพลังงานแสงอาทิตย์ คือ
  1. เพื่อปูพื้นฐานการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทดแทน โดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย
  2. เพื่อสาธิตการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ สาธิตการประจุกระแสไฟฟ้าตรงลงในแบตเตอรี่และสาธิตเทคโนโลยีการป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าสู้ระบบจำหน่ายของการไฟฟ้านครหลวง
  3. นำความร้อนจากแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ในการผลิตน้ำร้อน (solar thermal heater)

ในช่วงเริ่มแรกในปี พ.ศ. 2539 ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์นี้ ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์จำนวน 40 แผง กำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้ 2.2 กิโลวัตต์ติดตั้งอยู่บนหลังคาบ้าน แบตเตอรี่ขนาด 2 โวลต์ จำนวน 24 ลูก รวมจุกระแสไฟฟ้า 650 แอมแปร์ชั่วโมง เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าตรงเป็นกระแสสลับ 1 ชุด อุปกรณ์ควบคุม 1 ชุด มิเตอร์ไฟฟ้า 1 ชุด

ไฟฟ้าที่ได้จากเซลล์แสงอาทิตย์ในบ้านพลังงานแสงอาทิตย์นี้ สามารถใช้เพื่อประจุแบตเตอรี่ ใช้กับวิทยุ โทรทัศน์ ระบบแสงสว่าง เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ ได้

ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 เมื่อ "คณะกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 โดยการนำพลังงานทดแทนมาใช้เพื่ออนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ได้เข้าไปสำรวจบ้านพลังงานแสงอาทิตย์ พบว่าแบตเตอรี่ที่ใช้งานอยู่นั้น ได้เสื่อมประสิทธิภาพลง ดังนั้นคณะกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ จึงได้เข้าทำการปรับปรุงแก้ไขระบบเซลล์แสงอาทิตย์ให้สามารถใช้งานได้ดีขึ้นและเชื่อมต่อกับระบบสายส่งของการไฟฟ้านครหลวง หน่วยงานที่เข้าดำเนินการได้แก่

หน่วยงานที่รับหน้าที่เป็นผู้เข้าปรับปรุงระบบดังกล่าว ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโดยได้ดำเนินดังต่อไปนี้

ในเวลากลางวันที่มีแสงอาทิตย์เซลล์แสงอาทิตย์จะทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง จากการออกแบบระบบจะให้ไฟฟ้ากระแสตรง จากการออกแบบระบบจะให้ไฟฟ้ากระแสตรงขนาดแรงดัน 230 โวลต์ และกระแสไฟฟ้า 9.45 แอมแปร์ กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะไหลผ่านเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าและถูกเปลี่ยนเป็นไฟฟ้ากระแสสลับที่มีแรงดัน 220 โวลต์ และมีคุณสมบัติเหมือนกับกระแสไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม

ดังนั้นกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบนี้จึงสามารถใช้ได้กับเครื่องใช้ไฟฟ้ากระแสสลับที่มีอยู่ทุกชนิด โดยในกรณีที่กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเซลล์แสงอาทิตย์มีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในขณะนั้น กระแสไฟฟ้าส่วนเกินจะถูกขายคืนเข้าในระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ในทางกลับกันหากความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าในขณะนั้นมีมากกว่ากระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ กระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดก็จะถูกซื้อเสริมเข้ามาจากระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ตามปกติ ซึ่งการทำงานของระบบได้รับการออกแบบให้เป็นการทำงานแบบอัตโนมัติ ดังนั้นจึงไม่ต้องมีการปิด-เปิดระบบแต่อย่างใดในแต่ละวัน

ผลจาการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ซื้อจากระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ลดลงเท่ากับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบเซลล์แสงอาทิตย์ซึ่งเท่ากับว่าจะสามารถช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน ในการผลิตกระแสไฟฟ้าลง อันจะส่งผลให้มลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงดังกล่าวลดลงได้อีกทางหนึ่ง


ที่มา : พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย