ความเป็นมาของโครงการในพระราชดำริ


โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้นได้รับการริเริ่มขึ้นตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้ไม่นาน โดยงานสังคมสงเคราะห์ส่วนใหญ่จะเป็นพระราชดำรัสด้านการแพทย์ที่พระราชทานความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าในระยะแรกนั้นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีลักษณะการดำเนินการศึกษาค้นคว้าและทดลองเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อเตรียมพระองค์ด้านข้อมูลและความรู้ที่จะทรงนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาและเผยแพร่วิทยาการสู่เกษตรกร โดยเริ่มโครงการจากในเขตพื้นที่รอบๆ ที่ประทับในส่วนภูมิภาคก่อน จากนั้นจึงขยายขอบเขตออกไปสู่พื้นที่เกษตรกรรมที่กว้างขึ้น

ภายใต้หลักการทำงานที่สำคัญคือ โครงการฯ ต้องสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ราษฎรกำลังประสบอยู่ได้อย่างรีบด่วนและมีผลในระยะยาย โดยที่การพัฒนานั้นต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนตามความจำเป็นและประหยัด ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือ ประชาชนที่สามารถ "พึ่งพาตนเองได้" ในที่สุด ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ

โดยมีขั้นตอนในการดำเนินงานตั้งแต่การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน เช่น สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ แหล่งน้ำ และการประกอบอาชีพ ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลจริงจากประชาชนและเจ้าหน้าที่ประจำท้องถิ่น แล้วจึงทรงวางแผนพัฒนาและพระราชทานข้อเสนอแนะให้รัฐบาลร่วมดำเนินการตามพระราชดำริในโครงการต่างๆ โดยพระองค์เสด็จฯ ร่วมทรงงานกับหน่วยงานของรัฐทุกฝ่าย ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างจริงจัง ซึ่งแต่ละโครงการมีกำหนดเวลาในการปฏิบัติการให้เสร็จสิ้นในระยะเวลาอันสั้น หากเป็นโครงการระยะยาวจะมีเวลาดำเนินงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป

นอกเหนือจากการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว งานของโครงการฯ ยังมีลักษณะของงานวิชาการอีกด้วย กล่าวคือ จะมีโครงการวิจัย ค้นคว้าและทดลองของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในทุกภูมิภาค ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่วิทยาการที่ทันสมัยให้แก่เกษตรกรในการจัดทำโครงการต่างๆ ตามหลักวิชาการก่อน เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้และประโยชน์ที่คุ้มค่า จากนั้นจึงจะเสนอขออนุมัติโครงการและงบประมาณในการจัดทำ หากโครงการใดติดขัดด้านระเบียบ วิธีการ งบประมาณ เป็นผลให้เกิดความล่าช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานกองทุนส่วนพระองค์ เพื่อให้โครงการดำเนินการต่อไปได้และทันกับการแก้ไขปัญหาโดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เป็นหน่วยงานช่วยประสานงานและแผนงานต่างๆ ให้สอดคล้องกันโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงกำกับดูแล ตลอดจนทรงติดตามผลการดำเนินการและเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังโครงการฯ ทุกครั้งที่มีโอกาส เพื่อทอดพระเนตรความเจริญก้าวหน้าของโครงการฯ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ในโอกาสอันเป็นมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 คณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ตลอดจนหน่วยงานของรัฐและเอกชน จัดทำโครงการนำพลังงานทดแทนที่สะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานอื่น ไปใช่เสริมในกิจกรรมในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ โดยได้ดำเนินการโครงการ ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 แห่ง ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ จังหวัดจันทบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จังหวัดสกลนคร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จังหวัดนราธิวาส ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จังหวัดนราธิวาส ศูนย์การศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จังหวัดเพชรบุรี นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการ ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี โครงการเกษตรผสมผสานมูโนะอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จังหวัดนครพนม ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง และ สวนพลังงานแสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งหมด 14 แห่งด้วยกัน

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแต่ละศูนย์ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลายตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้ศูนย์ฯ เป็นแหล่งทำการศึกษา ค้นคว้าทดลอง วิจัย เพื่อแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ศูนย์ศึกษาฯ จึงเปรียบเสมือนเป็น "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" และ "ต้นแบบ" ของความสำเร็จที่จะเป็นแนวทางและตัวอย่างให้แก่พื้นที่อื่นๆ ได้นำไปให้ประโยชน์ในพื้นที่จริงได้

และเพื่อให้การดำเนินโครงการฯ มีแนวทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และทราบถึงความพร้อมของแต่ละหน่วยงานหรือองค์กรที่จะได้รับความร่วมมือทั้งทางด้านเครื่องมืออุปกรณ์และงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ การดำเนินการศึกษาและวางแผนจึงอยู่ในรูปของคณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ร่วมกันทำหน้าที่สำรวจข้อมูลและศึกษาความเหมาะสมในการนำพลังงานสะอาดไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ

คณะกรรมการศึกษาและวางแผนโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ได้ทำการศึกษาแผนแม่บทของศูนย์ศึกษาการพัฒนา และสำรวจพื้นที่จริงของแต่ละศูนย์ฯ ก่อน เพื่อศึกษาศักยภาพและความเหมาะสมของระบบพลังงานทดแทนแต่ละประเภทที่จะนำไปใช้ในแต่ละกิจกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำแผนงานหลักของโครงการใช้พลังงานสะอาดและอนุรักษ์ธรรมชาติตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพร้อมทั้งกำหนดความรับผิดชอบให้กับหน่วยงานและองค์กรที่เหมาะสมพร้อมจะรับงานต่างๆ ไปดำเนินการ และจากการศึกษาความเหมาะสมในเบื้องต้นดังกล่าว คณะกรรมการศึกษาและวางแผนฯ ได้สรุปและจัดทำแผนงานโดยมีกิจกรรมที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชนดำเนินงานร่วมกันในแต่ละศูนย์การศึกษาฯ และสถานที่อื่นๆ เสนอต่อคณะกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ รับไปดำเนินการต่อไป

เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลการศึกษาและความก้าวหน้าในการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของแต่ละศูนย์ฯ ควบคู่ไปกับการเผยแพร่เทคโนโลยีและรูปแบบการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานก๊าซชีวภาพ ซึ่งโครงการนี้จะมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ได้ศึกษาดูงานและเห็นการใช้งานของต้นแบบที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปขยายผลและใช้งานในวงกว้างขึ้น ตามความเหมาะสมของสภาพสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของแต่ละพื้นที่

การเผยแพร่ผลงานดังกล่าว ยังเป็นการรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงผลดีทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม หากมีการใช้พลังงานในรูปแบบอื่นที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาใช้แทนพลังงานจากฟอสซิล ขณะเดียวกันก็ทำให้ทราบถึงผลเสียหากมีการใช้พลังงานจากฟอสซิลอย่างไม่มีประสิทธิภาพไปด้วย นอกจากนี้ประชาชนยังได้รับทราบถึงผลประโยชน์และวิธีการใช้พลังงานรูปแบบอื่นรวมทั้งเครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการอนุรักษ์พลังงานและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ พร้อมกันนั้นยังเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของผู้บริโภค ให้มีส่วนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตและใช้พลังงานรวมทั้งบทบาทและการมีส่วนร่วมขององค์กรต่างๆ ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากการผลิตและใช้พลังงาน กระตุ้นความสนใจให้เกิดการใช้พลังงานและทรัพยากรอื่นที่ได้มาด้วยพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพรู้ถึงปัญหาและการแก้ไขปัญหาด้านการผลิตและใช้พลังงานของประเทศ

วัตถุประสงค์ของโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ

  1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542
  2. เพื่อสาธิตและประชาสัมพันธ์การใช้พลังงานทดแทนและพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานก๊าซชีวภาพ โดยนำระบบพลังงานทดแทนต่างๆ ไปติดตั้ง ณ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสถานที่ต่างๆ
  3. เพื่ออนุรักษ์พลังงานไทยตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้กำหนดให้ปี 2541-2542 เป็นปี "อนุรักษ์พลังงานไทย"
  4. เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งจะช่วยกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศและรักษาสิ่งแวดล้อม

คณะกรรมการผู้รับผิดชอบโครงการฯ

องค์กรผู้รับผิดชอบการจัดโครงการฯ ได้แก่ คณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (สพช.) ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนต่างๆ รวมกว่า 30 หน่วยงาน

งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ

งบประมาณของโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ นี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 125,603,070 บาท และงบจากส่วนราชการอื่นๆ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนอีก 16,370,601 บาท รวมทั้งสิ้น 141,973,671 บาท

การดำเนินงานนำความสำเร็จมาสู่โครงการฯ

โครงการฯ นี้เป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือด้านงบประมาณ บุคลากร วัสดุและอุปกรณ์ จากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ในการนำระบบพลังงานทดแทนแบบต่างๆ ไปติดตั้ง ณ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสถานที่ราชการต่างๆ รวม 14 แห่ง ในลักษณะของการสาธิตการใช้งานจริง เพื่อให้ประชาชนที่เข้าเยี่ยมชมศูนย์ฯ ต่างๆ ได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการใช้งาน การบำรุงรักษา การติดตั้ง อีกทั้งประโยชน์ที่จะได้รับและแนวทางในการนำไปใช้งานในท้องที่ของตนเอง

สำหรับระบบพลังงานทดแทนที่นำระบบผลิตมาใช้และติดตั้ง ได้แก่ ระบบเซลล์แสงอาทิตย์กังหันลมสำหรับสูบน้ำ เครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบผลิตก๊าซชีวภาพ โดยระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำการติดตั้งดังนั้นใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อสูบน้ำสำหรับปลูกป่าและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเพาะปลูกและปรับสภาพดินเปรี้ยวให้ดีขึ้น และยังใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าให้แสงสว่างในครัวเรือน ใช้สำหรับประจุแบตเตอรี่ ใช้ในการสื่อสารด้วยโทรศัพท์ความถี่ 470 MHz และโทรศัพท์ทางไกลผ่านดาวเทียม ตลอดจนใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับต่อเข้าระบบสายส่ง ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อเป่าลมลงบ่อเลี้ยงปลา นอกจากนี้ยังได้มีการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์ใหม่ๆ เช่น ชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ชุดกรองน้ำดื่มแบบรีเวิร์สออสโมซิสด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ และเครื่องขยายเสียงพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ใช้งานในโครงการฯ อีกด้วย

สำหรับกังหันลมใช้สูบน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ใช้เพาะปลูก และปลูกป่า ขณะที่เครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์นำมาใช้ในการผลิตน้ำร้อนสำหรับอุปโภคบริโภค และใช้เป็นเครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืชพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับระบบก๊าซชีวภาพที่นำมาติดตั้ง เป็นการผลิตก๊าซจากมูลช้างและมูลโค เพื่อใช้ในการหุงต้ม ผลิตกระแสไฟฟ้าและสูบน้ำ

อุปการณ์ประหยัดพลังงานและใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ ซึ่งติดตั้งร่วมอยู่ในโครงการฯ ด้วย ได้แก่ หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ประหยัดพลังงาน เครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ มุ้งแอร์สุขภาพรุ่นประหยัดพลังงานอุปกรณ์ช่วยแปลงสุขภัณฑ์ชักโครกให้ประหยัดน้ำ เตานึ่งก้อนเชื้อเห็ดประสิทธิภาพสูง อุปกรณ์ตรวจวัดกังหันลมและประเมินศักยภาพพลังงานลม สวนพลังงานแสงอาทิตย์ในมหาวิทยาลัยนเรศวร การเดินระบบสายส่งในพื้นที่ชนบทห่างไกล และเครื่องแปลงไฟฟ้ากระแสตรงเป็นกระแสสลับ

สำหรับระยะเวลาดำเนินโครงการฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2541 ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2543 โดยขั้นตอนการดำเนินการเริ่มตั้งแต่คณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร รวบรวมหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการฯ ร่วมเข้าปรึกษาหารือกับเลขาธิการ กปร. เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ก่อนจะวางแผนและออกเดินทางสำรวจสถานที่ติดตั้งระบบต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสรุปสถานที่และประเภทระบบต่างๆ ที่จะติดตั้ง พร้อมรายการบริจาคต่างๆ แล้วจึงจัดทำเป็นโครงการ เพื่อของบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และหน่วยงานต้นสังกัด พร้อมทั้งขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงทราบการดำเนินโครงการฯ จากนั้นจึงดำเนินการติดตั้งระบบต่างๆ และส่งมอบระบบฯ รวมทั้งจัดให้มีการอบรมสัมมนาให้ความรู้ในการติดตั้ง ดูแลบำรุงรักษาและซ่อมแซม ตลอดจนประสานงานให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้ดูแลในพื้นที่และประชาชนที่สนใจ

เมื่อมีการติดตั้งแต่ละโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายโครงการฯ และกราบบังคมทูลข้อมูลเพิ่มเติม จากนั้นจึงทำการประชาสัมพันธ์โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง และจัดทำเอกสารเผยแพร่โครงการ อาทิ หนังสือสรุปโครงการฯ "พลังของแผ่นดิน" ฉบับภาษาไทยและฉบับภาษาอังกฤษ แผ่นพับฉบับภาษาฉบับภาษาไทยและฉบับภาษาอังกฤษ โปสเตอร์ CD-ROM Web Site บอร์ดต่างๆ และวีดีทัศน์ ก่อนจะมีการติดตามและประเมินผลการติดตั้งโครงการต่อไป ซึ่งเป็นขั้นตอนดำเนินงานระยะสุดท้าย


  1. โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร
  2. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี และหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ
  3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ และหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ
  4. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมากจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส และหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ
  5. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงทรา และหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ
  6. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี และหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ
  7. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร และหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ
  8. โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย
  9. โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี
  10. โครงการเกษตรผสมผสานมูโนะ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส
  11. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
  12. โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จังหวัดนครพนม
  13. ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง
  14. สวนพลังงานแสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก